วันอาทิตย์, มิถุนายน 25, 2549

น่าสมเพช หรือ โรแมนติก?


ระหว่างอาสาเป็นคนขับรถพยาบาลในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศอิตาลี หนุ่มน้อยวัย 18 ปีนาม เออร์เนส เฮมมิ่งเวย์ ได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิด จนทำให้เขาต้องเข้าไปนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ที่นั่น เขาได้พบกับรักแรกและรักแท้เพียงหนึ่งเดียว แอ็กเนส ฟอน คูโรวสกี้ พยาบาลสาววัย 26 ปี ชาวอเมริกัน ซึ่งทำหน้าที่คอยดูแลเขา เฮมมิ่งเวย์ตกหลุมรักเธอตั้งแต่แรกพบ ส่วนเธอเองก็ดูจะมีใจให้เขาไม่น้อย เขาอยากแต่งงานกับเธอ แต่ด้วยอายุที่แตกต่างกันหลายปี เธอจึงตอบปฏิเสธ หลังจากเฮมมิ่งเวย์หายดีแล้ว เขายังคงเขียนจดหมายหาเธอเป็นประจำ จากนั้น ในวันที่ 7 มีนาคม 1919 เธอก็เขียนจดหมายหาเขาเพื่อบอกเลิกความสัมพันธ์


em>เออร์นี่ หนูน้อยที่รัก

ฉันเขียนจดหมายฉบับนี้ในตอนกลางดึก หลังจากได้ทบทวนเกี่ยวกับตัวเองอยู่นาน ฉันไม่อยากทำร้ายจิตใจเธอ แต่ฉันมั่นใจว่าจดหมายฉบับนี้จะไม่ทำอันตรายแก่เธอเป็นการถาวร

ก่อนเธอจากไป ฉันพยายามชักจูงตัวเองให้เชื่ออยู่พักใหญ่ว่าความสัมพันธ์ของเราเป็นรักแท้ แต่ดูเหมือนเราจะเห็นแตกต่างกันอยู่เสมอ และความขัดแย้งเหล่านั้นก็ทำให้ฉันอ่อนล้า จนกระทั่งตัดสินใจยอมแพ้ในที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เธอกระทำการอันสิ้นหวัง

ตอนนี้หลังจากเราได้แยกห่างกันมาสองสามเดือน ฉันจึงรู้ว่าฉันยังชอบเธออยู่มาก แต่ในฐานะแม่มากกว่าคนรัก มันไม่ผิดหรอกหากจะบอกว่าฉันยังเด็กอยู่ แต่ฉันไม่ใช่เด็กแล้ว และก็จะเติบใหญ่มากขึ้นทุกวัน

ฉะนั้น หนูน้อย (เธอยังคงเป็นหนูน้อยสำหรับฉันและจะเป็นเสมอไป) เธอจะยกโทษให้ฉันได้ไหม หากฉันทรยศเธอ เธอก็รู้ว่าฉันไม่ใช่คนเลวร้ายและไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายเธอ ตอนนี้ฉันตระหนักแล้วว่ามันเป็นความผิดของฉันตั้งแต่แรกที่ทำให้เธอห่วงใยฉัน และฉันก็เสียใจอย่างสุดซึ้ง แต่ฉันยังคงแก่เกินไปสำหรับเธอและจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป นั่นคือความจริง ฉันคงไม่มีวันลืมได้ว่าเธอยังเป็นแค่เด็กชาย... เป็นหนูน้อยคนหนึ่ง

สักวันฉันคงได้ภูมิใจในตัวเธอ ฉันรู้ดี และหนูน้อยที่รักของฉัน ฉันแทบจะทนรอให้วันนั้นมาถึงแทบไม่ไหว แต่มันไม่ใช่เรื่องดีที่จะเร่งตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพการงาน

ฉันพยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายให้เธอเข้าใจว่าฉันคิดอะไรอยู่ระหว่างการเดินทางจากพาดัวไปยังมิลาน แต่เธอทำตัวเหมือนเด็กนิสัยเสีย และฉันก็ไม่อาจทำร้ายจิตใจเธอต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เมื่อได้อยู่ห่างไกลจากเธอ ฉันกลับมีความกล้ามากขึ้น

สิ่งที่ฉันจะบอกเกิดขึ้นอย่างฉับพลันสำหรับฉันเหมือนกัน นั่นคือ ฉันกำลังจะแต่งงานในเร็ววันนี้ ฉันเฝ้าหวังและสวดภาวนาว่าหลังจากเธอได้คิดใคร่ครวญทุกอย่างโดยรอบคอบแล้ว เธอจะให้อภัยฉัน และเริ่มต้นอาชีพอันยอดเยี่ยมของเธอ

ด้วยรักและชื่นชม
เพื่อนของเธอ
แอ็กกี้

คำตอบของเฮมมิ่งเวย์ไม่ได้รับการเผยแพร่ เนื่องจากแฟนหนุ่มของแอ็กเนสได้เผาจดหมายทุกฉบับของเฮมมิ่งเวย์ทิ้งไปแล้ว แต่ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เฮมมิ่งเวย์เขียนถึงเพื่อนของเขา ชายหนุ่มได้สารภาพว่าเขาพยายามจะลืมเธอด้วยการดื่มเหล้าอย่างหนักและสานสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตา

เขาแต่งงานหลายครั้ง (ภรรยาคนแรกของเขามีอายุมากกว่าแอ็กเนสเสียด้วยซ้ำ) แต่ยอมรับว่าภรรยาทุกคนล้วนเป็นเพียงตัวแทนของแอ็กเนส เฮมมิ่งเวย์เสียชีวิตด้วยการยิงตัวตายขณะมีวัยได้ 61 ปี โดยที่จดหมายหลายฉบับของแอ็กเนสยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

ความทรงจำเกี่ยวกับแอ็กเนสไม่เคยเลือนหายไปจากใจของเฮมมิ่งเวย์ เธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครเอก แคทเธอรีน เบคลีย์ ในนิยายคลาสสิกของเฮมมิ่งเวย์เรื่อง A Farewell to Arms (1929) รวมไปถึงตัวละครในเรื่องสั้นอีกสองเรื่อง คือ A Very Short Story และ The Snows of Kilimanjaro

ในฉากจบของ In Love and War (1996) หนังอิงชีวประวัติวัยหนุ่มของเฮมมิ่งเวย์กำกับโดย ริชาร์ด แอทเทนโบโรว์ แอ็กเนส (แซนดร้า บูลล็อค) ได้เดินทางมาพบเออร์เนส (คริส โอ’ดอนเนลล์) ที่กระท่อมกลางป่าเพื่อสารภาพรักกับเขา และถามหาโอกาสที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ แต่เขากลับตอบปฏิเสธ

หนังไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าเพราะเหตุใด แต่เราคนดูสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่า เออร์เนสยังคงรักแอ็กเนสอยู่ไม่เสื่อมคลาย เพียงแต่ความหยิ่งทะนงและศักดิ์ศรีลูกผู้ชายในตัวของนักเขียน ผู้ได้รับสมญานามว่า “ลูกผู้ชายขนานแท้” ได้ผลักดันให้เขาต้องการเอาชนะคะคานกลับคืน โดยหารู้ไม่ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผู้แพ้กลับกลายเป็นตัวเขานั่นเอง


การฟันฝ่าประสบการณ์ชีวิตอันโชกโชนนับแต่ออกทะเล เป็นนักข่าว นักมวย นักสู้วัวกระทิง จนถึงพรานล่าสัตว์ ทำให้เฮมมิ่งเวย์ได้รับสมญานามข้างต้น แต่หากมองในมุมกลับ ทั้งหมดดูเหมือนเพียงความพยายามของเฮมมิ่งเวย์ที่จะลบคำสบประมาทของแอ็กเนส ผู้มีวัยวุฒิสูงกว่าและชอบเรียกเขาว่า “หนูน้อย” มันคือความพยายามที่จะกลบเกลื่อนปมด้อย “อ่อนหัด” ซึ่งแอ็กเนสนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการตัดสัมพันธ์เขา

เฮมมิ่งเวย์เคยเขียนประโยคคลาสสิกเอาไว้ใน The Old Man and the Sea ผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลพูลิทเซอร์และรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมว่า “มนุษย์เรานั้นถูกทำลายได้ แต่แพ้ไม่ได้” ทว่าชีวิตจริงของเขากลับตรงกันข้าม เฮมมิ่งเวย์เสียชีวิตไปพร้อมกับความสิ้นหวัง เมื่อชีวิตของเขาต้องทนทุกข์ทรมานมาตลอดเพียงเพราะการตัดสินใจผิดพลาดแค่ครั้งเดียว ชื่อเสียง เงินทอง การยอมรับ และรางวัลอันทรงคุณค่าทั้งหลาย ไม่อาจทำให้เขาค้นพบความสงบสุขแห่งชีวิตได้ และผู้หญิงทั้งหลายที่ผ่านมาในชีวิตของเขา ก็ไม่อาจเทียบเท่าได้กับรักแรกอันบริสุทธิ์...

ความรักที่เขาไม่มีวันลืม แม้กระทั่งในนาทีสุดท้ายของชีวิต

วันพุธ, มิถุนายน 21, 2549

Over the Hedge: เมื่อไหร่มนุษย์จะรู้จักพอ



เมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีของประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “ผมพอแล้ว” ซึ่งหากวิเคราะห์ตามสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น มันคงจะหมายความเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากว่าท่านต้องการวางมือจากอำนาจ หลังถูกประชาชนเรือนแสนออกมาเดินขบวนขับไล่เพราะพวกเขาเห็นว่าท่านกำลังสร้างความฉิบหายวายป่วงให้กับประเทศชาติ

แต่ประชาชนจะเชื่อถือคำพูดของท่านหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากก่อนหน้านี้ สมัยที่ท่านยังเป็นแค่พ่อค้าเหลี่ยมจัดธรรมดาคนหนึ่ง ท่านก็เคยให้สัญญาเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนมาแล้วในทำนองว่า ท่านจะไม่โกงกินเพราะท่านร่ำรวยและมีเงินมากพอแล้ว

ห้าปีผ่านไป เมื่อทรัพย์สินร้อยล้านของท่านกลับเพิ่มมูลค่าเป็นหลายพันล้านภายในเวลาอันรวดเร็วผ่านการฉ้อฉลทางนโยบาย การใช้อำนาจเพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง ตลอดจนการขายสมบัติส่วนรวมแล้วนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเองอย่างหน้าด้านๆ เหล่าประชาชนผู้เคยไร้เดียงสาทั้งหลายจึงเริ่มตระหนักในสัจธรรมข้อหนึ่ง นั่นคือ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว พวกมันไม่เคยรู้จักคำว่า “พอ”

หายนะของนายกรัฐมนตรีท่านนั้นเริ่มต้นขึ้นจากความไม่รู้จักพอ เช่นเดียวกับเจ้าแร็คคูน อาร์เจ (บรูซ วิลลิส) ซึ่งแอบเข้าไปขโมยเสบียงอาหารของหมีจอมโหด วินเซนต์ (นิค โนลตี้) ถึงในถ้ำ แต่กลับถูกจับได้เพราะความโลภในมันฝรั่งอบกรอบแสนอร่อยยี่ห้อ สปัดดี้ (ที่ถูกออกแบบให้ดูเหมือนพริงเกิ้ลส์) ซึ่งมีสโลแกนเหมาะเจาะกับสังคมบริโภคนิยมเป็นอย่างยิ่งว่า “Because enough just isn’t enough”

หลายคนอาจเห็นเป็นเรื่องประหลาดที่หนังการ์ตูนอย่าง Over the Hedge ซึ่งมีรายได้ก้อนโตจากการทำ cross-promotion ร่วมกับร้านฟาสต์ฟู้ด ซูเปอร์มาร์เก็ต และบริษัทผลิตอาหารหลายแห่งเช่นเดียวกับหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ กลับตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมบริโภคนิยม ทั้งที่ตัวของมันเองก็มีส่วนกระตุ้นการบริโภคของผู้คนแบบเกินพอดีเช่นกัน แต่อย่างน้อยแง่มุมดังกล่าวก็น่าจะสร้างความเพลิดเพลินให้กลุ่มคนดูผู้ใหญ่ได้บ้างไม่มากก็น้อย เมื่อเทียบกับมุกตลกประเภทเสียงเรอเป็นเอบีซี ซึ่งพุ่งเป้าไปยังเด็กเล็กๆ มากกว่า โดยแก๊กทีเด็ดของหนังอยู่ตรงตอนที่อาร์เจแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ ของมนุษย์ให้เหล่าสัตว์ป่าเข้าใจ ตั้งแต่เครื่องออกกำลังกาย (เพื่อมนุษย์จะได้กินได้มากขึ้น) ไปจนถึงรถ SUV (ปรกติแล้วจะใช้บรรทุกคนแค่คนเดียว)

ความเหมือนกันอีกประการระหว่างอาร์เจกับนายกรัฐมนตรีท่านนั้น นอกเหนือจากนิสัยเจ้าเล่ห์เหลี่ยมจัดชนิดเหนือเมฆแล้ว ก็คือ ทั้งสองล้วนมีภาพลักษณ์ของ “คนรุ่นใหม่” ที่ปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้อย่างกลมกลืน หรือจะพูดว่าพวกเขาล้วนตกเป็นทาสของระบบทุนนิยมอย่างหน้ามืดตามัวก็ได้เช่นกัน นั่นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ในอเมริกาและแคนาดา แร็คคูนถือเป็นสัตว์ป่าที่ปรับตัวเข้ากับชีวิตชานเมืองได้อย่างราบรื่น เมื่อมนุษย์เริ่มลุกไล่เข้าไปในอาณาเขตของสัตว์ป่ามากขึ้น จนคนส่วนใหญ่มองเห็นพวกมันไม่ต่างจากหนู หรือแมลงสาบ เพราะนิสัยชอบคุ้ยถังขยะเพื่อหาเศษอาหาร ในฉากแรกของ Over the Hedge คนดูจะได้เห็นอาร์เจหาของกินจากเครื่องขายขนมอัตโนมัติ แทนการกินแมลง เบอร์รี่ หรือไข่เฉกเช่นแร็คคูนทั่วไป ต่อมาไม่นานเราก็เริ่มค้นพบว่ามันเป็นแร็คคูนที่เสพติดอาหารขยะจำพวกขนมถุงกรุบกรอบและชอบแบกถุงกอล์ฟใส่สัมภาระส่วนตัวไปไหนมาไหน (คงเป็นแค่ความบังเอิญที่กอล์ฟดันเป็นกีฬาสุดโปรดของนายกฯ ท่านนั้นเช่นกัน) มันใช้ชีวิตใกล้ชิดกับพวกมนุษย์และเริ่มตกเป็นทาสของวัตถุเช่นเดียวกับมนุษย์ยุคใหม่ทั่วๆ ไป

หลังจากถูกวินเซนต์ หมีโลกาภิวัฒน์ ยื่นคำขาดให้หาอาหารขยะทั้งหมดมาคืนภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ อาร์เจจึงวางแผนล่อหลอกให้บรรดาสัตว์ป่าไร้เดียงสากลุ่มหนึ่งมาเป็นผู้ช่วยขโมยอาหารจากเหล่ามนุษย์ พวกมันประกอบไปด้วยพ่อเม่น (ยูจีน เลวี่ย์) แม่แม่น (แคทเธอรีน โอ’ฮาร่า) กับลูกๆ อีกสามตัว กระรอกไฮเปอร์ (สตีฟ คาเรลล์) สกั๊งค์สาว (วันดา ไซคส์) พอสซั่มพ่อ (วิลเลี่ยม แชทเนอร์) กับลูกสาว (เอวิล ลาวีน) และเต่า เวิร์น (แกร์รี่ แชนด์ลิ่ง) ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม

ภายใต้การนำของสัตว์อายุยืนที่นิยมหดหัวเข้ากระดองเวลาเจอภัย มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่สัตว์ป่ากลุ่มนี้จะเป็นตัวแทนของโลกยุคเก่า ซึ่งให้ความสำคัญกับความรัก ความสามัคคีภายในครอบครัว แล้วใช้ชีวิตเรียบง่าย พอเพียง แทนความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และมันก็ไม่น่าแปลกอีกเช่นกันที่จู่ๆ พวกมันจะรู้สึกตะลึงลานกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที หลังลืมตาตื่นจากการจำศีลช่วงฤดูหนาว แล้วพบว่าพื้นที่ป่าได้ถูกตัดถางมาสร้างเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่พร้อมรั้วพุ่มไม้ซึ่งสูงลิ่วและกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา

“วิสัยทัศน์” คือ จุดขายเพื่อเอาชนะใจมวลชนของอาร์เจแบบเดียวกับนายกฯ ท่านนั้น เขาช่วยอธิบายปรากฏการณ์รั้วพุ่มไม้ให้พวกสัตว์ป่าไร้เดียงสาเข้าใจ เขาพูดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน เขาเสนอไอเดียหวือหวาแหวกแนวจนใครๆ ต่างพากันเชื่อว่าเขา “เก่งกาจ” และเหมาะกับการเป็นผู้นำมากกว่าตาเฒ่าเวิร์น แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เริ่มปลูกฝังวัฒนธรรมบริโภคนิยมให้กับเหล่าสัตว์ป่า ดังจะเห็นได้ว่าทันทีที่พวกมันลิ้มลองรสชาติของ “ชิป” หรือข้าวโพดอบกรอบ และบรรดาสารพันอาหารขยะอีกมากมาย เปลือกไม้ที่พวกมันเคยกินเป็นประจำก็ไม่ “พอ” อีกต่อไป เช่นเดียวกัน โพรงท่อนซุงอันเรียบง่ายและเคยเป็นบ้านอันอบอุ่นมาตลอดเวลาหลายปีก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยโซฟา ทีวีจอยักษ์ เกมกด ฯลฯ

ปากของเขาบอกว่าจะทำเพื่อกลุ่ม (วางแผนขโมยอาหารจากพวกมนุษย์สำหรับใช้เป็นเสบียงในช่วงฤดูหนาว) แต่ใจของเขากลับหวังเพียงประโยชน์ส่วนตน (นำอาหารเหล่านั้นไปคืนให้วินเซนต์เพื่อตัวเองจะได้ไม่ถูกกิน) จริยธรรมและคุณธรรมไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเขา แถมเขายังโน้มนำคนอื่นให้เห็นชอบตามบรรทัดฐานอันเว้าๆ แหว่งๆ ดังกล่าวอีกด้วยจนนำไปสู่ความแตกแยกแห่งหมู่คณะ เช่น เมื่อเวิร์นพยายามจะนำอาหารกลับไปคืนเจ้าของที่แท้จริง พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยต่อพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลของอาร์เจ แต่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดนอกจากสัญชาตญาณ เขากลับถูกทุกคนตำหนิและถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกขี้อิจฉา จนสุดท้าย กระทั่งตัวเวิร์นเองก็ยังพาลเห็นด้วยว่าตนทำผิดที่พยายามจะนำอาหารพวกนั้นไปคืน

ทุกอย่างดูจะวิปริตพลิกแพลงไปหมด จากขาวเป็นดำ จากถูกเป็นผิด ภายใต้การนำของเจ้าอาร์เจจอมเหลี่ยมจัด!!

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างแร็คคูนเจ้าเล่ห์กับนายกฯ เจ้าเล่ห์ คือ อย่างน้อยอาร์เจก็ตระหนักในบาปกรรมของตน รู้สึกขัดแย้ง สับสนในใจ ก่อนจะเริ่มสำนึกผิดและพยายามไถ่บาปในท้ายที่สุด เมื่อเขาค้นพบว่าอาหาร/สมบัติมากมายเพียงใดก็หาได้สำคัญเทียบเท่าความรัก ความไว้วางใจซึ่งเหล่าสัตว์ป่าตัวอื่นๆ มอบให้เขา ความไว้วางใจซึ่งถูกเขานำไปใช้หาประโยชน์ใส่ตนอย่างเห็นแก่ได้

แน่นอน สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ลงเอยอย่างสุขสันต์ใน Over the Hedge เมื่อหมีใจร้ายผู้หลงใหลอาหารขยะถูกจับเข้ากรง ส่วนเหล่ามนุษย์ใจร้ายผู้หลงใหลการบริโภคสิ่งของฟุ่มเฟือยก็ถูกตำรวจจับเข้าคุกโทษฐานใช้เครื่องมือดักจับสัตว์ที่ผิดกฎหมาย และวิถีชีวิตดั้งเดิมอันเรียบง่ายของเวิร์นก็ได้รับการฟื้นฟู เชิดชู เหนือวิถีแห่งโลกาภิวัฒน์และทุนนิยม ที่เน้นย้ำประโยชน์สุขแห่งวัตถุภายนอกเหนือคุณค่าทางจิตใจ (พวกสัตว์ป่าทั้งหลายไม่เรียกร้องต้องการขนมกรุบกรอบ หรือน้ำอัดลม และถั่วที่เจ้ากระรอก แฮมมี่ หามาได้ก็น่าจะมากพอสำหรับการจำศีลตลอดฤดูหนาว)

แต่การคาดหวังตอนจบแบบเดียวกันในโลกแห่งความจริงคงเป็นเรื่องยาก ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักคำว่าพอ

วันจันทร์, มิถุนายน 19, 2549

A History of Violence: ความดีงามคือภาพลวงตา?



เรื่องราวของชายธรรมดาคนหนึ่งที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องแสดงวีรกรรม ต่อสู้กับเหล่าวายร้ายจอมโหด และกระทั่งลงมือฆ่าคนเป็นครั้งแรก คือ พล็อตคลาสสิกที่ฮอลลีวู้ดหลงรักมาเนิ่นนานนับแต่ Die Hard จนถึง Firewall โดยเป้าหมายหลักของหนังประเภทนี้ คือ ดึงคนดูให้คอยลุ้นเอาใจช่วยตัวเอกให้รอดพ้นอันตราย พร้อมกับนึกชื่นชมความสามารถ ความฉลาดหลักแหลมของเขา โดยไม่ทัน ‘ฉุกคิด’ ถึงความเป็นไปได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันพยายามจะโน้มน้าวคุณให้หลงลืมโลกแห่งความเป็นจริงชั่วขณะ แล้วเพลิดเพลินไปกับการคลี่คลายของปมวิกฤติเบื้องหน้านั่นเอง

หลังจาก A History of Violence เดินเรื่องมาได้ครึ่งทาง ทุกอย่างทำท่าเหมือนจะพุ่งตรงไปตามเส้นทางของหนังแอ็กชั่นป็อปคอร์น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนดูได้เห็น ทอม สตอล ชายหนุ่มธรรมดาในเมืองบ้านนอกเล็กๆ ฟาดหัวโจรใจเหี้ยมด้วยหม้อต้มกาแฟ แย่งปืนมา แล้วยิงโจรอีกคนตาย ก่อนจะหันกลับมายิงแสกหน้าโจรคนแรกอย่างคล่องแคล่ว แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างกลับสื่อนัยให้เห็นว่าผู้กำกับ เดวิด โครเนนเบิร์ก ไม่ได้ต้องการเพียงสร้างหนังสนุกตามแนวทางเท่านั้น และความรู้สึกดังกล่าวก็เกิดขึ้นก่อนเรื่องราวจะดำเนินมาถึงบทเฉลย ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของทอมด้วยซ้ำ

ในฉากการเผชิญหน้าระหว่างทอมกับสองโจร โครเนนเบิร์กได้สอดแทรกช็อตชวนสยองขั้นรุนแรงเข้ามาประมาณไม่กี่วินาที เป็นภาพโคลสอัพใบหน้าเหวอะหวะของโจรคนที่โดนยิงแสกหน้า ซึ่งเผยให้เห็นเศษเนื้อแดงฉาน เลือด กระดูกเปลือยเปล่า และอาการดิ้นกระตุกครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะสิ้นลม

บางคนอาจคิดว่าโครเนนเบิร์กจงใจแทรกช็อตนั้นเข้ามาเพียงเพื่อช็อกคนดูตามประสานักทำหนังที่มี “ประวัติ” ความรุนแรง(1)

แต่นั่นคือเหตุผลทั้งหมดจริงๆ หรือ

แน่นอน ช็อตดังกล่าวช็อกคนดูอย่างได้ผล แต่อาการช็อกที่ว่าหาได้เกิดจากความสยองระยะประชิดของภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะมันคือการตีแสกหน้าคนดู ด้วยการสะท้อนถึง ‘ผลลัพธ์’ แบบจะๆ ของความรุนแรง ซึ่งหนังแอ็กชั่นฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่มักมองข้าม หรือบางครั้งอาจถึงขั้นถ่ายทอดให้ดูโรแมนติก สวยงาม

ภาพนั้นตามกลับมาหลอกหลอนและรบกวนจิตใจคนดูอยู่ลึกๆ เมื่อทอมได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษชั่วข้ามคืน กล่าวคือ ใจหนึ่งเราอยากชื่นชม ยกย่องการกระทำของทอม (เหมือนพนักงานคนอื่นๆ ในร้านอาหารที่เขาช่วยชีวิตไว้) แต่ภาพใบหน้าเละเทะจากแผลกระสุนได้ช่วยลดทอนอารมณ์ฮึกเหิมลงหลายระดับ ด้วยการเผยให้เห็นแง่มุมอัปลักษณ์ของความรุนแรงอย่างหมดเปลือก

อีกฉากที่ให้อารมณ์ใกล้เคียงกัน คือ ตอนแจ๊ค ลูกชายของทอม ซ้อมบ๊อบบี้ นักเลงประจำโรงเรียนที่ตามรังควานเขามาตลอด จนลงไปนอนเลือดสาดบนพื้นทางเดินหน้าตู้ล็อกเกอร์ โดยใจหนึ่งคนดูอาจรู้สึกสะใจที่แจ๊คกล้าลุกขึ้นต่อสู้กับความชั่วร้าย แต่ท่าทีแข็งกร้าว เกรี้ยวกราดของแจ๊ค ตลอดจนผลลัพธ์ที่รุนแรงเกินคาด (บ๊อบบี้ต้องไปนอนโรงพยาบาล ส่วนครอบครัวสตอลก็อาจจะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง) ทำให้เรานึกตั้งคำถามต่ออารมณ์ ‘สะใจ’ นั้น

โครเนนเบิร์กเข้าใจดีว่าความรุนแรง ‘ปลุกเร้า’ มนุษย์ (นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่หลายคนเลือกชะลอรถเวลาเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนน) และเขาก็ใช้มันตอบสนองแรงกระหายดังกล่าวในเบื้องลึกของคนดูอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ต้องการให้คนดูหนีห่างจากโลกแห่งความจริงเหมือนหนังฮอลลีวู้ดเรื่องอื่นๆ เพราะทุกครั้งที่เกิดความรุนแรง ย่อมมีผลลัพธ์ตามมา และส่วนใหญ่มันก็ไม่ค่อยน่าพิสมัยเท่าไหร่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง โครเนนเบิร์กไม่เพียงแค่อยากให้เราสนุกกับความรุนแรงบนจอเท่านั้น แต่เขายังอยากให้เราตั้งคำถามด้วยว่าทำไมเราถึง ‘สนุก’ ไปกับความสยองเหล่านั้น

นั่นคือเหตุผลว่าทำไม นักวิจารณ์ชื่อดัง มโนห์รา ดากิส แห่ง นิวยอร์ก ไทมส์ ถึงขนานนามให้ A History of Violence เป็นหนัง ‘feel- good, feel-bad’ แห่งปี

เป็นไปได้ไหมว่าเราทุกคนล้วนเคยมี ‘ประวัติ’ ความรุนแรงเช่นเดียวกับ ทอม สตอล... เป็นไปได้ไหมว่าเราทุกคนล้วนมีวิญญาณ ‘ฆาตกร’ ซุกซ่อนอยู่ รอวันที่จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา

เหตุการณ์ยิงกันในร้านอาหารกลายเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ให้แจ๊คยืนหยัดต่อสู้กับนักเลงประจำโรงเรียนและก้าวไปไกลกว่านั้นในฉากการเผชิญหน้าระหว่างพ่อของเขากับ คาร์ล ฟอการ์ตี้ หรือกระทั่ง อีดี้ สตอล ตัวละครที่ดูเหมือนจะขาวสะอาด ก็ยังไม่วายได้รับผลกระทบ เมื่อด้านมืดของเธอถูกปลดปล่อยออกมาอย่างดุเดือดในฉากที่เธอร่วมรักด้วยลีลาดิบเถื่อนกับทอม/โจอี้บนบันไดบ้าน คนดูรู้สึกช็อกกับการแปลงสภาพจากสถานะแม่/ภรรยามาเป็นผู้หญิงเร่าร้อน หื่นกระหายของอีดี้มากพอๆ กับตัวเธอเอง ใจหนึ่งเธออาจนึกรังเกียจทอม/โจอี้ สามี/อาชญากรที่ฆ่าคนเพื่อเงินและความสนุก แต่อีกใจหนึ่งเธอก็ตระหนักถึงความเย้ายวนของสามี ‘คนใหม่’ อย่างไม่อาจปฏิเสธ และเผลอปล่อยตัวปล่อยใจไปกับมัน

ฉากเซ็กซ์บนขั้นบันไดให้ความอารมณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับฉากเซ็กซ์บนเตียงตอนต้นเรื่อง เมื่ออีดี้แต่งตัวเป็นเชียร์ลีดเดอร์ แล้วแสร้งรับบทเด็กสาววัยรุ่น ที่กำลังแอบมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มในบ้านพ่อแม่ ตอนนั้น ทอมยังเป็นสามีที่น่ารัก เป็นพ่อที่ยอดเยี่ยม และเป็น “ผู้ชายที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยรู้จักมา” ในสายตาของอีดี้ แต่ความจริง คือ ไม่ใช่ ทอม สตอล เท่านั้นที่ ‘เพอร์เฟ็กต์’ ผู้กำกับโครเนนเบิร์กดูเหมือนจะพยายามทำให้ทุกอย่างสวยงาม ลงตัวไปหมด เมืองที่พวกสตอลอาศัยอยู่เป็นเมืองเงียบสงบ ร่มรื่น ผู้คนยิ้มแย้ม เป็นกันเอง ไม่มีแม็คโดนัลด์ วอลมาร์ท ไม่มีขอทาน ไม่มีพวกเร่ร่อน ไม่มีคนร้าย ไม่มียาเสพติด และปัญหาเดียวที่ทอมต้องรับมือ คือ เก็บขยะสองสามชิ้นที่มีคนมาวางทิ้งไว้หน้าร้านอาหารเขา

มันดูเหมือนเมืองสวยงามในนิทานมากกว่าเมืองจริงๆ เช่นเดียวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวสตอลซึ่งอบอุ่น รักใคร่อย่างน่าอิจฉา โดยในฉากเปิดตัวพวกเขา คนดูจะได้เห็นทุกคนตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อปลอบโยนซาร่าห์ ที่ฝันเห็นปีศาจและกรีดร้องลั่นด้วยความเป็นห่วง ไม่เว้นแม้กระทั่งพี่ชายวัยรุ่น ซึ่งช่วยแก้ไขสถานการณ์อย่างเข้าอกเข้าใจ

“ปีศาจไม่มีอยู่จริงหรอก” ทอมปลอบลูกสาว

แต่คำพูดของทอมขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากในฉากเปิดเรื่องก่อนหน้า โครเนนเบิร์กได้แสดงให้คนดูประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่าปีศาจมีอยู่จริง เมื่อสองโจรชั่วลงมือฆ่าแม่บ้าน พนักงานประจำเคาน์เตอร์ และเด็กหญิงตัวเล็กๆ อย่างไม่อินังขังขอบ คราบเลือดที่สาดกระจายไปทั่ว หรือสภาพศพอันน่าหดหู่ หาได้ชวนขนลุกมากไปกว่าท่าทางไม่แยแส หรือหน้าตาอันไร้อารมณ์ของคนร้าย ตลอดจนความไร้เหตุผลแห่งพฤติกรรมรุนแรงดังกล่าว มันดูเหมือนว่าพวกเขาเคยทำแบบเดียวกันนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จนไม่รู้สึกผิด หรือตื่นเต้นกับมันอีกต่อไป การฆ่าเป็นแค่กิจวัตรน่าเบื่อสำหรับพวกเขา

การตัดอย่างรวดเร็วจากภาพโจรยิงเด็กหญิงในฉากเปิดเรื่องไปยังภาพของซาร่าห์กรีดร้องกลางดึก ทำให้นักดูหนังคาดเดาได้ไม่ยากว่า อีกไม่นาน โลกทั้งสอง (โจรกับครอบครัวสตอล) ซึ่งเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามระหว่างดำกับขาว จะต้องเวียนมาบรรจบกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับบรรดาหนังแอ็กชั่นหลายเรื่องที่นำแสดงโดย แฮร์ริสัน ฟอร์ด หรือ บรูซ วิลลิส แต่ความแตกต่างสำคัญ คือ โครเนนเบิร์กไม่ได้พยายามรักษาภาพลักษณ์ขาวสะอาดของโลกแห่งความชอบธรรมเอาไว้เหมือนในหนังแอ็กชั่นเหล่านั้น ตรงกันข้าม แทนที่จะตอกย้ำอุดมคติอันเลื่อนลอย เขากลับเรียกร้องให้เราหันมาสำรวจตัวเอง โดยใช้โลกแห่งความชั่วร้ายเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ให้ตะกอนที่ซ่อนลึกอยู่ในความงดงาม ความสงบนิ่ง ค่อยๆ ผุดขึ้นสู่ผิวน้ำ... บางครั้งปีศาจอาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

ทัศนคติของโครเนนเบิร์กค่อนข้างมืดหม่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับใครก็ตามที่คุ้นเคยกับผลงานในอดีตของเขา กระนั้นก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว โครเนนเบิร์กไม่ได้ทอดทิ้งศรัทธา หรือความหวังอย่างสิ้นเชิง จริงอยู่ เขาอาจมองเห็นความวิปริตในตัวมนุษย์ และนำมันมาตีแผ่อย่างปราศจากการประนีประนอม แต่ลึกๆ แล้ว เขายังเชื่อว่ามนุษย์สามารถค้นพบความสุขได้ หากเราเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อด้อยเหล่านั้น เช่น ‘นัยยะ’ ของฉากสุดท้าย เมื่อทอมเดินทางกลับถึงบ้านหลังเสร็จสิ้น ‘ภารกิจ’

แทนการต้อนรับอย่างอบอุ่นแบบหนังฮอลลีวู้ดทั่วไป สิ่งที่คนดูได้เห็นในฉากนี้กลับเป็น ความอึดอัด สับสน และไม่แน่ใจ ภาพครอบครัวสตอลที่สวยงามเกินจริงในช่วงต้นเรื่องถูกกระชากออก และไม่มีทางที่พวกเขาจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก ทุกอย่างดูหดหู่ สิ้นหวัง เหมือนไร้ทางออก แต่แล้วจู่ๆ โดยไม่พูดอะไรสักคำ ซาร่าห์ ตัวละครซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุดจากเหตุการณ์ทั้งหมด กลับลุกไปหยิบจานมาวางบนโต๊ะอาหารให้ ‘พ่อ’ ของเธอ จากนั้นไม่นาน แจ๊คก็สานต่อท่าทีดังกล่าวด้วยการยกเนื้ออบไปวางให้ทอม

สำหรับอีดี้ ทอม สตอล ในตอนนี้หาใช่ ทอม สตอล คนเดิมที่เธอเคยรู้จักและหลงรักอีกต่อไป แต่ความจริง คือ เขายังคงเป็นสามีเธอและพ่อของลูกๆ และเมื่อทั้งสองสบตากัน เธอยังคงมองเห็นความอ่อนโยน อบอุ่น ในแววตาของเขา (การแสดงอันลุ่มลึกของ วีโก้ มอร์เทนเซน กับ มาเรีย เบลโล ช่วยถ่ายทอดอารมณ์ดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยบทสนทนาใดๆ เลย)

หนังไม่ได้สรุปชัดเจนว่าเธอทำใจ ‘ยอมรับ’ ตัวตนแท้จริงของเขาได้ไหม แต่บางทีเราอาจค้นหาคำตอบ หรือความเป็นไปได้ ได้จากเรื่องราวที่พนักงานร้านอาหารเล่าให้ทอมฟังในช่วงต้นเรื่อง เกี่ยวกับอดีตแฟนสาวซึ่ง ‘ประสาทหลอน’ คิดว่าเขาเป็นฆาตกร แล้วลอบทำร้ายเขากลางดึก แต่สุดท้าย เขากลับตัดสินใจแต่งงานกับเธอและอยู่กินด้วยกันเป็นเวลาหลายปี

เหตุผลของเขาน่ะหรือ มันเรียบง่ายมาก นั่นคือ “ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์!”

หมายเหตุ

(1) เดวิด โครเนนเบิร์ก เริ่มต้นอาชีพผู้กำกับด้วยการทำหนังสยองขวัญทุนต่ำ ความหลงใหลใน ‘เรือนร่าง’ ของเขาค่อนข้างขึ้นชื่อ จนหลายคนขนานนามผลงานของเขาว่าเป็นหนังสยองขวัญทางเรือนร่าง (Body Horror) เนื่องจากมันมักจะเต็มไปด้วยภาพคนหัวระเบิด (Scanners) คนถูกยัดวิดีโอเข้าทางช่องท้อง (Videodrome) คนกลายร่างเป็นแมลงวัน (The Fly) คนร่วมรักกับแผลตามร่างกาย (Crash) ฯลฯ

Match Point: จักรวาลที่ไร้ระเบียบแบบแผน



ใครก็ตามที่คุ้นเคยกับผลงานภาพยนตร์ในอดีตของ วู้ดดี้ อัลเลน คงไม่แปลกใจเมื่อได้เห็น คริส วิลตัน (โจนาธาน ไรส์ เมเยอร์ส) นอนอ่านนิยายสุดคลาสสิกเรื่อง Crime and Punishment (อาชญากรรมและการลงทัณฑ์) ในฉากหนึ่งของ Match Point

วู้ดดี้ อัลเลน เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ และเคยสร้างหนังเรื่องหนึ่งโดยอ้างอิงถึงผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นดังกล่าวด้วย นั่นคือ Crimes and Misdemeanors (อาชญากรรมและโทษสถานเบา) ซึ่งนักวิจารณ์ภาพยนตร์บางคนมองว่าเป็นต้นแบบของ Match Point เนื่องจากความคล้ายคลึงกันของพล็อตเรื่อง (ชายชั่ววางแผนฆ่าเมียน้อยเพื่อปกปิดไม่ให้เรื่องราวความสัมพันธ์หลุดไปเข้าหูเมียหลวง) ตลอดจนบทสรุปอันร้ายกาจและมืดหม่นเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์

ความแตกต่างระหว่าง Crime and Misdemeanors กับ Match Point อยู่ตรงที่เรื่องแรกดูเหมือนจะรักษาระยะห่างระหว่างตัวละครกับคนดูอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องหลังกลับพยายามชักนำคนดูให้กลายเป็น ‘ผู้สมรู้ร่วมคิด’ ในอาชญากรรมอย่างชัดเจน

ใน Match Point อัลเลนยืนกรานที่จะเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านมุมมองของคริสโดยตลอด (บางครั้งถึงขั้นพาคนดูเข้าไปอยู่ในความคิดของเขา) เริ่มตั้งแต่เมื่อเขาตัดสินใจแขวนแร็กเก็ตมาทำงานเป็นครูสอนเทนนิสในสปอร์ตคลับ ไปจนถึงการลงหลักปักฐานกับ ‘ถังข้าวสาร’ โคลอี้ (เอมิลี มอร์ติเมอร์) และลักลอบคบชู้กับนักแสดงสาวชาวอเมริกัน โนล่า (สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน) ที่สำคัญ อัลเลนยังระมัดระวังที่จะไม่วาดภาพคริสให้เป็นพวกนักฉวยโอกาสอย่างโจ่งแจ้งอีกด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อดึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจจากคนดู ข้อมูลเรื่องที่คริสมีรากเหง้ามาจากครอบครัวไอริชระดับล่างและใช้เทนนิสเป็นเครื่องมือฉุดตัวเองจากความยากจนข้นแค้นได้รับการตอกย้ำอยู่สองสามครั้ง เช่นเดียวกับความพยายามจะ เป็น ‘เจ้ามือ’ จ่ายค่าเครื่องดื่มและตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของเขา รวมไปถึงท่าทีไม่ค่อยเต็มใจ (อย่างน้อยก็ในช่วงแรกๆ) ที่จะรับตำแหน่งงานซึ่ง อเล็ก (ไบรอัน ค็อกซ์) พ่อของโคลอี้ จัดใส่พานมาถวายให้

รายละเอียดปลีกย่อยทั้งหลายข้างต้นทำให้เรารู้สึกว่าคริสไม่ได้ ‘ชั่วร้าย’ หรือเป็นนักไต่เต้าโดยสันดาน สถานการณ์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ‘โชคชะตา’ เพียงแค่พัดพาให้เขาต้องมารับบทหนูตกถังข้าวสารเท่านั้น

แต่ขณะเดียวกันอัลเลนก็ไม่ลืมที่จะสอดแทรกนัยยะบางอย่างเพื่อบ่งบอก ‘ธาตุแท้’ ของคริสเอาไว้ด้วย จริงอยู่ คริสอาจเชื่อว่าดวงหรือโชคชะตามีบทบาทสำคัญยิ่ง แต่เขาก็หาได้ใช้ชีวิตไปตามยถากรรมไม่ ตรงกันข้าม เขาเป็นคนประเภทที่เลือกจะ ‘เปิดโอกาส’ ให้ตัวเอง แล้วปล่อยให้ดวงทำงานของมันไปต่างหาก

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองดวงดีหรือไม่ ถ้าคุณไม่เคยซื้อล็อตเตอรี่เลยสักงวด

ฉากที่คริสนอนอ่านนิยายเรื่อง Crime and Punishment จากนั้นก็หยิบคู่มือวิเคราะห์ผลงานเขียนของดอสโตเยฟสกี้ขึ้นมาอ่านต่อทันทีสะท้อนให้เห็นปรัชญาการดำรงชีวิตของคริสอย่างชัดเจน เขาฟันฝ่าความยากจนมาเป็นนักเทนนิส มุ่งมั่น ‘ศึกษา’ ผลงานเขียนของดอสโตเยฟสกี้ ฟังเพลงโอเปร่า และสมัครเป็นครูสอนเทนนิสในสปอร์ตคลับสุดหรู ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองพร้อมสำหรับก้าวกระโดดทางชนชั้น แน่นอนว่าโชคชะตาชักนำให้คริสได้รู้จักกับครอบครัวฮิววิทท์ แต่เครดิตส่วนหนึ่งคงต้องยกให้กับ ‘งานหนัก’ ซึ่งคริสลงแรงและสละเวลาให้ กล่าวคือ คริสได้พบโคลอี้หลังจาก ทอม (แม็ทธิว กู๊ด) ทราบว่าคริสชอบโอเปร่า (และโชคชะตาก็ลิขิตให้พวกฮิววิทท์เหลือตั๋วโอเปร่าหนึ่งใบพอดีเพราะใครบางคนมาไม่ได้) ส่วนอเล็กก็รู้สึกชื่นชอบคริสเพราะความรอบรู้เกี่ยวกับดอสโตเยฟสกี้ของฝ่ายหลัง

ด้วยเหตุนี้เอง ระหว่างบทสนทนาในร้านอาหารช่วงต้นเรื่อง คริสจึงยอมรับว่า ‘งานหนัก’ เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แต่มนุษย์มักไม่ค่อยอยากจะยอมรับว่าโชคชะตานั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะหวาดกลัวการไร้อำนาจควบคุม ส่วนโคลอี้กลับบอกปัดสมมุติฐานของคริสในทันที โดยกล่าวว่าเธอไม่เชื่อเรื่องดวง แต่เชื่อในการทำงานหนัก อารมณ์ขันร้ายๆ ของอัลเลนซ่อนลึกอยู่ในบทสนทนาดังกล่าว เมื่อบุคคลที่ก้าวขึ้นปกป้อง ‘ศักยภาพในการกำหนดชะตากรรมตัวเองของมนุษย์’ กลับกลายเป็นโคลอี้ คุณหนูผู้คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาจากท้องและไม่เคยสัมผัสกับ ‘งานหนัก’ ตลอดทั้งชีวิต ที่สำคัญ กระทั่งสามี เธอยังต้องอาศัยเงินพ่อในการซื้อหามาครอบครองเสียด้วยซ้ำ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าโคลอี้ไม่ได้โชคดีเกิดมารวย คริสคงตัดสินใจแตกต่างออกไป

ถึงตรงนี้ คนดูเริ่มตระหนักแล้วว่าคริสไม่ได้ ‘อินโนเซนต์’ เสียทีเดียว แต่กระนั้นความทะเยอทะยานของเขาก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรประณามหยามเหยียด เรายังสามารถติดตามเรื่องราวได้โดยไม่รู้สึกผิดอะไร จนกระทั่ง วู้ดดี้ อัลเลน ก้าวไปไกลยิ่งกว่าด้วยการเรียกร้องให้คนดู ‘เอาใจช่วย’ ฆาตกร

เมื่อ Match Point เยื้องย่างเข้าสู่ขอบเขตของหนังเขย่าขวัญ อารมณ์ลุ้นระทึกส่วนใหญ่มักเกิดจากการตั้งคำถามว่าคริสจะถูกจับได้หรือไม่ ซึ่งใช้ได้ผลในหลายๆ ฉาก เช่น เมื่อคริสแอบไปขโมยปืนในห้องใต้ดิน หรือเมื่อโคลอี้ตรงไปรื้อกระเป๋าเทนนิสของคริส หรือเด่นชัดที่สุด คือ เมื่อคริสพยายามโยนหลักฐานที่เชื่อมโยงเขากับการฆาตกรรมลงแม่น้ำ แต่แหวนเจ้ากรรมวงหนึ่งกลับกระเด้งไปถูกรั้วกั้นและตกลงบนพื้นแทน

ฉากเปิดเรื่องเกี่ยวกับลูกเทนนิสกระทบขอบตาข่ายดูเหมือนจะช่วยล่อหลอกคนดูอย่างแยบยลให้หลงทางไปทิศหนึ่ง ทั้งที่อัลเลนได้เตรียมตอนจบอีกแบบเอาไว้แล้ว ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง แต่ในเวลาเดียวกันมันกลับช่วยตอกย้ำทัศนคติดั้งเดิมของเขาต่อโลกและชีวิตได้อย่างชัดเจน

ขณะที่ตัวเอกของดอสโตเยฟสกี้ใน Crime and Punishment ต้องเผชิญหน้ากับบทลงโทษอันหนักหน่วงทั้งทางกฎหมายและจิตวิญญาณในตอนท้าย (1) ตัวเอกของ วู้ดดี้ อัลเลน ใน Crime and Misdemeanors และ Match Point กลับไม่ต้องทนรับบทลงโทษใดๆ เลย

อย่างไรก็ตาม ความร้ายกาจของอัลเลนหาได้อยู่ตรงการที่เขาปล่อยให้คริสรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายอย่างน่าอัศจรรย์เท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงการตีแผ่ขั้นตอน ‘ชำระบาป’ ของคริสอีกด้วย เมื่อเขาแก้ต่างต่อหน้าดวงวิญญาณเหยื่อ (หรือภาพในจินตนาการ) ว่า มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะซุกซ่อนความรู้สึกผิดเอาไว้ เพราะหาไม่แล้วการดำรงชีวิตต่อไปก็จะลำบากยากเข็ญ และด้วยหลักเหตุผลดังกล่าว คริส เช่นเดียวกับ จูดาห์ (มาร์ติน แลนเดา) ใน Crime and Misdemeanors ซึ่งจ้างวานคนไปฆ่าเมียน้อย (แองเจลิก้า ฮุสตัน) จึงสามารถรอดพ้นบทลงโทษทางจิตวิญญาณไปได้

อัลเลนไม่ศรัทธาว่าโลก/จักรวาลมีระบบระเบียบหรือแบบแผนทางศีลธรรมจรรยาอันชัดเจน ตายตัว เขาไม่เชื่อว่าคนดีจะได้ดีและคนเลวจะถูกกรรมสนองเสมอไป ในฉากพูดคุยกับดวงวิญญาณตอนท้ายเรื่อง โนล่าเตือนคริสให้เตรียมรับผลกรรมเพราะแผนของเขานั้นเต็มไปด้วยช่องโหว่ แต่คริสโต้กลับตอบว่าเขายินดีจะรับผลกรรมดังกล่าว เพราะหากทุกอย่างคลี่คลายไปในทางนั้นจริง นั่นย่อมหมายความว่าโลกของเรายังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ยังมีกฎเกณฑ์บางอย่างให้เรายึดมั่นได้ แต่ในฉากถัดมา อัลเลนกลับตบหน้าคนดูฉาดใหญ่ด้วยการให้โชคชะตา ความเฮง ดวง หรือพลังเหนือธรรมชาติบางอย่างที่ไม่อาจควบคุม ปราศจากหลักเกณฑ์ และเต็มไปด้วยการสุ่มเดา เกื้อหนุนคริสให้รอดพ้นความผิดอย่างเหลือเชื่อ

มุมมองดังกล่าว (อไนยนิยม หรือทฤษฎีที่ไม่อาจรู้ได้) แม้ว่าจะเหมือนจริง (realism) แต่ขณะเดียวกันก็โหดเหี้ยมเกินทน ฉะนั้น ในสายตาของอัลเลน มนุษย์จึงพยายามสร้างจินตนาการขึ้นมาในรูปของหนัง นิยาย หรือละครโอเปร่าเพื่อปลอบประโลม

ใน Crime and Misdemeanors จูดาห์ได้เสนอให้ คลิฟฟ์ (อัลเลน) สร้างหนังเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่ก่อเหตุฆาตกรรมและไม่ถูกจับได้ แต่คลิฟฟ์กลับปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าการฆาตกรรมย่อมต้องส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวง หาไม่แล้วมันก็จะปราศจากโศกนาฏกรรม และหากไม่มีโศกนาฏกรรม มันก็ไม่ใช่หนัง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ จูดาห์กำลังตีประเด็นของ ‘เรื่องแต่ง’ ไม่แตก มนุษย์ ‘สรรค์สร้าง’ จินตนาการขึ้นมาก็เพื่อจะได้หลุดเข้าไปใช้ชีวิต (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง ขณะพวกเขากำลังนั่งดูหนังหรืออ่านหนังสือเรื่องนั้นๆ) ในโลกที่ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในโลกที่ศีลธรรมได้รับการยกย่องเชิดชู ในโลกที่คนบาปสำนึกผิดหรือถูกลงโทษ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมในหนัง พระเอกจึงมักจะลงเอยกับนางเอกและพวกผู้ร้ายก็มักจะถูกผลกรรมตามสนอง

อัลเลนตระหนักในจุดประสงค์ของนิยายเป็นอย่างดี หลายครั้งเขาจึงยืนกรานที่จะจบหนังแบบ ‘แฮปปี้ เอ็นดิ้ง’ ท่ามกลางความไม่น่าจะเป็นไปได้ ราวกับจะบอกว่า “นี่คือสิ่งที่พวกคุณทุกคนต้องการไม่ใช่หรือ” เช่น ใน Hannah and Her Sisters ซึ่งเล่าเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง (ไมเคิล เคน) ที่แอบคบชู้กับน้องเมีย (บาร์บาร่า เฮอร์ชีย์) โดยในโลกแห่งความเป็นจริง สถานการณ์ดังกล่าวคงลงเอยด้วยการหย่าร้าง บาดแผลทางอารมณ์ และคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล (ไม่เชื่อลองดูชีวิตจริงของอัลเลนเป็นตัวอย่าง) แต่ในหนัง ทุกอย่างกลับลงเอยอย่างมีความสุขสำหรับทุกตัวละคร ถึงขนาดที่อดีตสามีของพี่สาวคนโต (อัลเลน) ยังสามารถตกร่องปล่องชิ้นกับน้องสาวคนสุดท้อง (ไดแอนน์ วีสต์) ไปได้

ถึงแม้จะเน้นทำหนังตลกเป็นอาชีพ แต่ลึกๆ แล้วมุมมองของอัลเลนต่อสารัตถะแห่งชีวิตนั้นค่อนข้างมืดหม่น หดหู่

ดังเช่นชะตากรรมของตัวละครเอกใน The Purple Rose of Cairo ซึ่งเป็นแม่บ้านยุคเศรษฐกิจตกต่ำ (มีอา ฟาร์โรว์) ที่ถูกสามีใจร้ายกดขี่ไม่เว้นแต่ละวัน โดยความสุขเพียงอย่างเดียวของเธอคือการได้หลบไปดูหนังสุดโปรดเรื่อง The Purple Rose of Cairo ซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเอกรูปหล่อในหนัง (เจฟฟ์ เดเนี่ยลส์) ก็กระโดดออกจากจอเงินมาช่วยเหลือเธอ... มนุษย์สามารถหลบหนีจากโลกแห่งความจริงได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับความเลวร้ายทั้งหลายอยู่ดี ดังนั้น มันจึงไม่แปลกหากเราจะได้ยินคริสใน Match Point ยกคำกล่าวว่า “การไม่ต้องเกิดมาเลยถือเป็นบุญอันประเสริฐ” ขึ้นมาแก้ต่าง เมื่อดวงวิญญาณของ คุณนายอีสต์บี้ (มาร์กาเร็ต ไทแซ็ค) เอ่ยถึงลูกในท้องของโนล่าที่ต้องมาตายไปด้วยโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่

Match Point เปรียบเสมือนภาพผสมระหว่างโลกแห่งความจริงอันโหดเหี้ยมกับโลกแห่งแฟนตาซีอันปลอบประโลม กล่าวคือ คนดูจะได้เห็นฆาตกรลอยนวลโดยไม่ถูกจับและไม่รู้สึกผิด แต่ขณะเดียวกัน พระเอกที่เราคอยลุ้นเอาใจช่วยมาตลอดก็ได้ลงเอยกับนางเอก มีลูกสมดังใจหมาย และร่ำรวยเงินทอง

บรรยากาศสุขสันต์ในฉากสุดท้ายของเรื่องถือเป็น ‘แฮ็ปปี้ เอ็นดิ้ง’ แบบที่พวกเราทุกคนต้องการไม่ใช่หรือ!?!

หมายเหตุ

(1)ก่อนที่ราสโคลนิคอฟ ตัวเอกใน Crime and Punishment จะถูกกฎหมายเอาผิดแล้วส่งตัวไปทำงานหนักที่ไซบีเรีย เขาต้องจำทนกับความทุกข์ทรมานทางอารมณ์อันเลวร้ายที่เกิดจากการก่ออาชญากรรมและพยายามหลบเลี่ยงบทลงทัณฑ์ทางกฎหมาย เขาหวาดระแวง ตื่นตระหนก และถึงขั้นหดหู่ สิ้นหวัง ซึ่งในสายตาของดอสโตเยฟสกี้ นี่คือบทลงทัณฑ์ที่เลวร้ายกว่าการทำงานหนักในไซบีเรียมากมายนัก