วันพุธ, กรกฎาคม 19, 2549

แก๊งชะนีกับอีแอบ: ความต่างระหว่างเกลือกับน้ำตาล


“คนสมัยนี้ทำไมดูยากจัง” นิ่ม (อรปรียา หุ่นศาสตร์) ถึงกับสบถออกมาอย่างหงุดหงิดในฉากหนึ่งของหนังเรื่อง แก๊งชะนีกับอีแอบ หลังจากเธอและพรรคพวกไม่สามารถหาหลักฐานชัดๆ มาพิสูจน์ได้ว่า ก้อง (เธียนชัย ชัยสวัสดิ์) เป็นอีแอบและไม่ควรจะแต่งงานกับ แป้ง (มีสุข แจ้งมีสุข) เพื่อนรักของพวกเธอ คาดว่าคำพูดข้างต้นของนิ่มไม่เพียงจะโดนใจบรรดาหญิงสาววิตกจริตทั้งหลาย ที่กำลังนึกสงสัยในตัวแฟนหนุ่ม คนรัก ว่าที่เจ้าบ่าว หรือ “เพื่อนสนิท” ของตนเท่านั้น แต่มันยังน่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากเหล่าชาวเกย์อีกด้วย

เรื่องตลกอยู่ตรงที่ คำว่า “ดูยาก” นั้นไม่ได้หมายถึงเกย์สมัยนี้ “แอ๊บแมน” เก่งขึ้น แต่เป็นเพราะผู้ชายยุคนี้ “แต๋วแตก” มากขึ้นต่างหาก

ปรากฏการณ์ “เมโทรเซ็กช่วล” ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้ เริ่มทำให้ “เกย์ดาร์” ของเหล่ารักร่วมเพศเกิดอาการแปรปรวนและทำงานไม่แม่นยำเช่นเคย ทุกวันนี้ ผู้ชายที่แต่งตัวเนี้ยบ ทำผมหวือหวา ออกกำลังกายในฟิตเนส และดูแลสภาพผิวของตนอย่างทะนุถนอม หาใช่เกย์เสมอไป ยิ่งไปกว่านั้น ความคลุมเครือดังกล่าวยังเริ่มกินความครอบคลุมไปถึงรสนิยม บุคลิก น้ำเสียง และภาษาท่าทางอีกด้วย

เพราะเหตุนี้เอง แบบทดสอบต่างๆ นาๆ ซึ่งพี่บี๋ (ไมเคิล เชาวนาศัย) แนะนำกับกลุ่มแก๊งชะนี จึงไม่อาจยืนยันอะไรให้แน่ชัดลงไปได้ ความจริง มันออกจะเชยหรือตกรุ่นไปแล้วด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับแนวคิด “เกย์สวมตุ้มหู” กับ “เกย์นิ้วก้อยกระดก” ของพวกสาวๆ นั่นแหละ หนังสามารถเฉลยให้ก้องเป็นหรือไม่เป็นอีแอบได้มากพอๆ กัน โดยคนดูจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจแม้เพียงนิด เนื่องจากมาตรฐานความเป็นชายได้เปลี่ยนแปลงไปมากและจะเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกไม่รู้จบ ด้วยเหตุนี้ บทสรุปของหนังจึงหาใช่บทพิสูจน์ว่าแบบทดสอบของพี่บี๋เชื่อถือได้ ตรงกันข้าม มันเพียงแต่แสดงให้เห็นว่าพวกแก๊งชะนี “โชคดี” เท่านั้น

แน่นอน แบบทดสอบดังกล่าวจะเชื่อถือได้อย่างไรในเมื่อมันกำลังสับสนบทบาททางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก กับรสนิยมทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ความเป็นชาย หรือพฤติกรรมที่สังคมยอมรับว่ามีความเป็นชายมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สไตล์บางอย่างที่ถูกมองว่ามีความเป็นหญิงในปัจจุบันอาจเคยเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ชายยุคโบราณ เช่น การแต่งหน้า การสวมเครื่องประดับ หรือการเข้าถึงดนตรีและศิลปะ แต่เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นหญิงเริ่มกินพื้นที่ครอบคลุมพฤติกรรมต่างๆ มากขึ้น สิ่งที่ได้รับการยอมรับว่า “แมน” ก็เริ่มถูกจำกัดมากขึ้นด้วย ผู้ชายคนใดร้องว้าย หรือกันคิ้ว หรือนิ้วก้อยกระดกเวลายกแก้วน้ำขึ้นดื่มจะถูกมองอย่างสงสัยว่าเป็นเกย์ ซึ่งผูกพันกับความเป็นหญิงอย่างแน่นแฟ้นในทันที รวมไปถึงการทาครีมบำรุงผิว สวมเสื้อผ้าพอดีตัว หรือการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเปิดเผย

เมโทรเซ็กช่วลเปรียบเสมือนปฏิกิริยาตอบโต้ปรากฏการ์ดังกล่าว ผู้ชายบางคนอาจรู้สึกเหมือนถูกกักขังอยู่ในขอบเขตอันคับแคบแห่งบทบาททางเพศ จึงพยายามเดินไต่ไปบนเส้นแบ่งที่เลือนลางลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันผู้หญิงเองก็เริ่มรุกคืบเข้ามาในขอบเขตของเพศชายมากขึ้น เมื่อพวกเธอทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้และมีทัศนคติแข็งกร้าวในเรื่องเพศ

จะว่าไปแล้ว กลุ่มแก๊งชะนีในหนังก็ดูไม่ต่างจากกลุ่มสี่สาวใน Sex and the City เท่าไหร่ พวกเธออาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีอาชีพการงานมั่นคง มีเงินจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย และกล้าจะเป็นฝ่ายรุกในเกมแห่งเพศ ดังเช่นกรณีของนิ่มและ เจ๊ฝ้าย (พิมลวรรณ ศุภยางค์) ในคืนวันลอยกระทง โดยสำหรับรายแรก บทสรุปดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อพิจารณาจากลักษณะงานของเธอ (ช่วงต้นเรื่อง คนดูจะเห็นเธอถ่ายเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยตัวเองของผู้หญิงไปให้เพื่อนสาว ส่วนในช่วงกลางเรื่อง คนดูก็จะเห็นโต๊ะทำงานของเธอซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่วยตัวเองและตำราท่าร่วมเพศ)

วิบากกรรมของพวกแก๊งชะนี (ความยากลำบากในการแยกแยะว่าผู้ชายคนไหนเป็นเกย์ หรือไม่ได้เป็นเกย์) เปรียบเสมือนการเล่นตลกของชะตากรรม กล่าวคือ การรุกคืบของผู้หญิงยุคใหม่ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งปรากฏการณ์เมโทรเซ็กช่วล (นอกเหนือจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม) ซึ่งต่อมาได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ชายกับเกย์ ที่เป็นเหมือนต้นแบบของเมโทรเซ็กช่วลอีกที ค่อยๆ เลือนลางลงอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อต้องเลือกระหว่าง เรโทรเซ็กช่วล (retrosexual) หรือผู้ชายยุคเก่า (คุณสมบัติสำคัญได้แก่ หลีกเลี่ยงความเป็นหญิงทุกรูปแบบ แสดงออกทางอารมณ์อย่างจำกัด ไขว่คว้าความสำเร็จและสถานะ พึ่งพิงตนเอง เข้มแข็ง ก้าวร้าว และเกลียดกลัวรักร่วมเพศ) กับเมโทรเซ็กช่วล ดูเหมือนบรรดาผู้หญิงยุคใหม่จะยังพิสมัยฝ่ายแรกมากกว่า เห็นได้จากทัศนคติของ ป๋อม (พัชรศรี เบญจมาศ) ตอนเห็น ออฟ (ดาวิเด โดริโก้) แต่งตัวเต็มยศเพื่อหวังจะเอาชนะใจเธอ หรือบุคลิกของบรรดาตัวละครผู้ชายคนอื่นๆ ที่พวกแก๊งชะนีหลงรักอย่าง เคนจัง (ยาโน คาซูกิ) พี่โจ้ (กนิษฐ์ สารสิน) และ เฮียเพ้ง (มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร) ซึ่งล้วนแตกต่างจากก้องเหมือนมาจากดาวคนละดวง โดยในกรณีของพี่โจ้ เราจะเห็นความแตกต่างดังกล่าวอย่างชัดเจนในฉากที่เขาและก้องไปเดินช็อปปิ้งยกทรงเป็นเพื่อนผู้หญิง โดยคนหนึ่งจะแสดงความเห็นและอารมณ์เพียงน้อยนิด ด้วยใบหน้าเบื่อๆ เซ็งๆ เล็กน้อย ขณะที่อีกคนกลับหยอกล้อและสะดวกใจในการหยิบจับโน่นนี่โดยไม่เขินอาย

มาร์ค ซิมป์สัน นักข่าวชาวอังกฤษผู้คิดค้นคำว่าเมโทรเซ็กช่วลขึ้นเคยเขียนว่าวิธีจับแอบเมโทรเซ็กช่วลนั้นง่ายนิดเดียว นั่นคือ เพียงแค่ “มองดู” พวกเขา เพราะความเป็นเมโทรเซ็กช่วลนั้นสามารถวัดกันได้ง่ายๆ โดยภาพลักษณ์ภายนอกและพฤติกรรมบางอย่าง มันเป็นเรื่องของการท้าทายบทบาททางเพศดั้งเดิม (ผู้ชายต้องเล่นหุ่นยนต์ ผู้หญิงต้องเล่นตุ๊กตา ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ผู้หญิงต้องอ่อนไหว ฯลฯ) มันเป็นเรื่องของการหลงตัวเอง มันเป็นเรื่องของไลฟ์ สไตล์ ซึ่งไม่ซับซ้อนและยากต่อการจัดแบ่งประเภทมากเท่ารสนิยมหรือตัวตนทางเพศ

พวกแก๊งชะนีเองก็ดูเหมือนจะตระหนักดีในระดับหนึ่งว่า หลักฐานทุกอย่างที่พวกเธอได้มานั้นเพียงแค่พิสูจน์ให้เห็นว่าก้องเป็นเมโทรเซ็กช่วล หาใช่โฮโมเซ็กช่วล ดังนั้น พวกเธอจึงไม่กล้าเอ่ยปากบอกแป้งตรงๆ ถ้าคุณลักษณะภายนอกสามารถบ่งชี้ตัวตนภายในได้แล้วละก็ เดวิด เบคแฮม คงใกล้เคียงกับรักร่วมเพศมากกว่าสองตัวเอกใน Brokeback Mountain อยู่หลายช่วงตัว

แล้วข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ “รักร้อน” ในห้องล็อกเกอร์สมัยที่ก้องยังเป็นเด็กอยู่ล่ะ พอจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของรักร่วมเพศได้ไหม

อาจจะได้ แต่ก็เบาหวิวเหลือทน

เซ็กซ์ระหว่างเด็กชายวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในโรงเรียนชายล้วน แบบสำรวจพฤติกรรมทางเพศของต่างประเทศก็เคยระบุว่าผู้ชายแท้ๆ หรือ heterosexual เกินครึ่งล้วนเคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราต้องยอมรับ ก็คือ ในปัจจุบันตัวตนทางเพศดูเหมือนจะเริ่มแบ่งแยกให้ชัดเจนได้ยากขึ้นทุกที

จากงานเขียนของ ไมเคิล บาร์ทอส ในหนังสือ Meaning of Sex Between Men ผู้ชายหลายคน ขณะถูกสัมภาษณ์สำหรับงานวิจัยเรื่องเอดส์ ไม่เรียกตัวเองว่ารักร่วมเพศ ถึงแม้เขาจะเคยแอบหลบเมียและลูกๆ ออกไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเป็นครั้งคราว โดยผู้ถูกสัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรที่ผมจะมีเซ็กซ์กับผู้ชายเป็นครั้งคราว สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ ผมแต่งงานแล้วและมีความสุขกับชีวิต... กิจกรรมยามบ่ายในบางวันของผมไม่ใช่ธุระกงการของใคร” อีกคนปฏิเสธการถูกตีตราว่าเป็นรักร่วมเพศอย่างชัดเจนกว่า “ผมไม่ใช่เกย์ เพศสัมพันธ์กับผู้ชายเป็นสิ่งที่ผมทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ มันกินเวลาในชีวิตของผมเพียงน้อยนิด ส่วนเวลาที่เหลือผมเป็นผู้ชายรักต่างเพศธรรมดาที่แต่งงานแล้วและมีครอบครัว”

พวกเขาเป็นอีแอบที่ไม่ยอมรับความจริงใช่ไหม แล้วคนที่ตีตราตัวเองว่าเป็นไบเซ็กช่วลล่ะ พวกเขากำลังหลอกตัวเองด้วยหรือเปล่า ถ้าการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายทำให้คุณเป็นรักร่วมเพศ งั้นบรรดาผู้ชายขายตัวในบาร์เกย์ก็ย่อมต้องเป็นรักร่วมเพศทั้งหมดน่ะสิ

ต่อประเด็น “ตัวตนแห่งรักร่วมเพศ” หนังเรื่อง แก๊งชะนีกับอีแอบ ดูเหมือนจะตั้งตนอยู่กึ่งกลางระหว่างสองแนวคิดหลัก คือ essentialist (เชื่อว่าตัวตนทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ มีมาแต่กำเนิด เป็นอิสระจากวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม) กับ constructionist (เชื่อว่าตัวตนทางเพศนั้นยืดหยุ่นได้ โดยมีผลมาจากสภาพสังคม อิทธิพลภายนอกและวัฒนธรรม) กล่าวคือ มันให้ความสำคัญต่อการสืบเชื้อสายทางกรรมพันธุ์ (มีคุณน้าเป็นเกย์สาวที่ชอบจัดดอกไม้) มากพอๆ กับประสบการณ์ฝังใจ (รักร้อนในห้องล็อกเกอร์) และเมื่อก้องมาขอความช่วยเหลือจากพี่บี๋และป๋อมเพราะเขารู้สึกสับสน ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็น “อะไร” กันแน่ คำตอบที่เขาได้รับก็มีทั้ง “ต้องลองดู” (แล้วเธอจะบอกได้เองจากประสบการณ์) และ “เธอรู้อยู่แล้วว่าเธอต้องการอะไร เพียงแต่เธอจะยอมรับมันหรือเปล่าเท่านั้น” (มันอยู่ข้างในตัวเธอมาตั้งแต่แรกแล้ว)

จนถึงจุดนี้ หนังยังคงไม่ปล่อยให้คนดูปักใจเชื่อฟากใดฟากหนึ่งอย่างจริงจัง ก้องสามารถจะเป็นเกย์ หรือไม่เป็นเกย์ได้มากพอๆ กัน แต่การที่หนังเลือกจะจบแบบที่คนดูได้เห็นดูเหมือนจะช่วยลดแรงกระแทกต่อพฤติกรรมยุ่งเรื่องชาวบ้านของแก๊งชะนีได้ไม่น้อย

การผสมผสานสองแนวคิดหลักเข้าด้วยกันของ แก๊งชะนีกับอีแอบ ทำให้หนังเรื่องนี้ค่อนข้างร่วมสมัยและหัวก้าวหน้ากว่าหนังไทยเกี่ยวกับรักร่วมเพศส่วนใหญ่ ซึ่งมักโน้มเอียงเข้าหาหลักการของ essentialist แบบสุดโต่ง ตั้งแต่ พรางชมพู จนถึงล่าสุด คือ เพลงสุดท้าย (“ถ้าเลือกเกิดได้ หนูคงไม่เลือกเกิดมาเป็นอีกะเทยแบบนี้”) เพราะบางครั้งประเด็นเกี่ยวกับตัวตนทางเพศนั้นก็ซับซ้อนและละเอียดอ่อนเกินกว่าจะระบุบ่งบอกให้ชัดเจน เฉกเช่นบทเปรียบเทียบของแม่แป้งว่า “เกลือ” กับ “น้ำตาล” ไม่สามารถจะทดแทนกันได้

ปัญหาในปัจจุบันหาใช่ว่าเราแทบจะดูไม่ออกว่าเกลือกับน้ำตาลแตกต่างกันอย่างไรเท่านั้น แต่บางครั้งกระทั่งได้ลองชิมไปแล้วก็ยังไม่เห็นความแตกต่างอีกด้วย

ขอเชิญพบกับ “เมโทรเซ็กช่วล”



เดวิด เบคแฮม กัปตันทีมชาติอังกฤษ ถือเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่โด่งดังและถูกถ่ายภาพมากที่สุดในโลก แต่ด้วยเหตุอันใดเมื่อเขาตัดสินใจเป็นนายแบบขึ้นปกนิตยสารเกย์ฉบับหนึ่ง บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแท็บลอยด์ ซึ่งที่ประเทศอังกฤษขึ้นชื่อว่าโหดเหี้ยมสูงสุด จึงไม่ได้รุมจิกกัด หรือสร้างกระแสต่อต้านอย่างหนักหน่วง

ทำไมถึงไม่มีพาดหัวข่าวในทำนอง “กัปตันทีมชาติอังกฤษโปรโมตวิถีรักร่วมเพศ” หรือ “เบคแฮม - คลุมเครือทางเพศ”

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ พฤติกรรมดังกล่าวของ “เบค” ไม่ใช่เรื่องแปลกในสายตาของประชาชนชาวโลกอีกต่อไป เพราะนอกจากใบหน้าหล่อเหลา หุ่นเพรียวสุดเพอร์เฟ็ค และทักษะการเล่นฟุตบอลอันยอดเยี่ยมแล้ว หนุ่มเบคยังแทบจะมีชื่อเสียงโด่งดังมากพอๆ กันจากการนุ่งโสร่ง ทาเล็บสีชมพู สวมกางเกงของภรรยา วิกตอเรีย (หรือที่ทุกคนเคยรู้จักกันในนาม พอช สไปซ์) ตัดผมทรงประหลาดแทบทุกอาทิตย์ และเป็นแบบเปลือยอกทาน้ำมันเยิ้มขึ้นปกนิตยสาร Esquire อีกด้วย เขาอาจไม่ใช่นักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลก แต่ที่แน่ๆ คือ เขาเป็นพวกหลงตัวเองอย่างไม่ต้องสงสัย และครั้งหนึ่งเราเคยเรียกขานบุคคลเจ้าสำอางเหล่านี้ (ด้วยน้ำเสียงกึ่งเหยียดหยันเล็กๆ) อย่างน้อยก็ในโลกตะวันตก ว่า “ตุ้งติ้ง”

ในบทสัมภาษณ์ของนิตยสารเกย์ Attitude คุณพ่อลูกสองและนักกีฬาระดับโลกคนนี้ได้ยืนยันกับผู้อ่านทุกคนว่าเขาไม่ใช่เกย์ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเขามีความสุขกับสถานะ “เกย์ ไอคอน” กล่าวคือ เขาชอบที่มีคนมาหลงใหลชื่นชม ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม

ทั้งหมดนี้ฟังดูทันสมัยและหัวก้าวหน้าไม่หยอก จิตใจอันเปิดกว้างของเบคน่าจะช่วยเปลี่ยนทัศนคติในโลกฟุตบอล ซึ่งยังคงเป็นกีฬาแห่งเพศชายและชนชั้นแรงงาน ได้บ้างไม่มากก็น้อย

ทว่าดูเหมือน เดวิด เบคแฮม ผู้มีพฤติกรรมชอบโชว์ในระดับเกินปรกติ จะไม่ได้บอกพวกเราอย่างหมดเปลือกเกี่ยวกับตัวตนทางเพศของเขา ใช่แล้ว เขาบอกว่าเขาไม่ได้เป็นเกย์ แต่ขณะเดียวกัน ผมก็สามารถยืนยันกับพวกคุณได้เลยว่าเขาไม่ใช่ “รักต่างเพศ” (heterosexual) เช่นกัน เพราะนักกีฬาที่เด็กหนุ่มนับล้านทั่วโลกฝันอยากเลียนแบบและขวัญใจเด็กสาวนับล้านฝันอยากหมายปองคนนี้ คือ “เมโทรเซ็กช่วล” (metrosexual) ขนานแท้และดั้งเดิม (สักวันเขาจะนึกขอบคุณที่ผม “จับแอบ” ได้ เพราะเขาจะได้ไม่ต้องเป็นคนบอกความจริงดังกล่าวกับแม่ของเขาด้วยตัวเอง)

ผมรู้ได้ยังไงน่ะเหรอ บางทีมันอาจเป็นเหมือนสำนวนที่ว่า “ผีเห็นผี” ก็ได้ แต่ความจริง คือ คุณสามารถจับแอบเมโทรเซ็กช่วลได้ง่ายๆ เพียงแค่ “มองดู” พวกเขา

เมโทรเซ็กช่วลส่วนใหญ่จะเป็นชายหนุ่มที่มีฐานะ มีเงินจับจ่ายใช้สอย และอาศัยอยู่ใจกลาง หรือละแวกใจกลางเมือง เนื่องจากมันเป็นแหล่งกระจุกตัวของร้านค้าหรูเริด ไนท์คลับสุดฮิต สถานออกกำลังกาย และร้านทำผมชั้นแนวหน้า พวกเขาอาจเป็นชายรักหญิง ชายรักชาย หรือชายรักทั้งสองเพศก็ได้ แต่นั่นหาใช่ประเด็นสำคัญไม่ เพราะคนเหล่านี้นิยมเลือก “ตัวเอง” เป็นคนรักและ “ความสุข” เป็นรสนิยมทางเพศ อาชีพบางอย่าง เช่น นายแบบ บริกร สื่อมวลชน นักร้อง นักดนตรี และนักกีฬา ดูจะดึงดูดคนกลุ่มนี้ แต่ความจริง คือ พวกเขากำลังปรากฏเกลื่อนไปทั่วทุกหนแห่ง เช่นเดียวกับบรรดาผลิตภัณฑ์บำรุงและเสริมความงามสำหรับท่านชายทั้งหลาย

เป็นเวลานานแล้วที่ผู้ชายรักต่างเพศ ซึ่งมีคุณลักษณะเก็บกด ก้มหน้าทำงาน และไม่เคยปล่อยให้ผิวหนังสัมผัสกับครีมบำรุงผิวมาก่อน มักจะถูกวัฒนธรรมบริโภคนิยมมองข้ามไป เพราะกลุ่มคนติดดินเหล่านี้ไม่โปรยเงินในตลาดสินค้ามากพอ (หน้าที่หลักของพวกเขา คือ หาเงินมาให้บรรดาเมียๆ ช็อปปิ้ง) แต่ปัจจุบันพวกเขากำลังจะถูกแทนที่โดยผู้ชายกลุ่มใหม่ ซึ่งไม่แน่ใจใน “ตัวตน” มากเท่า แต่สนใจเกี่ยวกับ “ภาพลักษณ์” มากกว่าหลายเท่า กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ชอบถูกจับตามอง (เนื่องจากนั่นเป็นหนทางเดียวในการพิสูจน์ว่าคุณมีตัวตนอยู่จริง) และผู้ชายเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนฝันเปียกของบรรดานักโฆษณาทั้งหลาย

เบคแฮมเป็นเมโทรเซ็กช่วลตัวเบิ้มสุดของเกาะอังกฤษเพราะเขาหลงรักการถูกจ้องมอง และเพราะผู้ชายตลอดจนผู้หญิงหลายคนชอบที่จะจ้องมองเขา เขายินดีอมนกเขาของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่โดยไม่รู้สึกขัดเขิน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสารผู้ชาย โฆษณาทางทีวี และบิลบอร์ด ปีๆ หนึ่งเขาสามารถหาเงินเข้ากระเป๋าได้นับสิบล้านดอลลาร์จากการทำสัญญากับผลิตภัณฑ์แฟชั่นสำหรับท่านชายจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวดูจะทะยานเกินขีดขั้นของการทำมาหากินธรรมดา (เฉกเช่นนักกีฬาคนอื่นๆ) ไปอีกระดับหนึ่ง เพราะเบคแฮมทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า เขายินดีจะโฆษณาสินค้าเหล่านั้น ถึงแม้จะไม่ได้อะไรตอบแทนเลย (ยกเว้นการตกเป็นเป้าจ้องมองของทุกคน) เขาคือซูเปอร์สตาร์แห่งวงการกีฬาที่อยากจะเป็นนายแบบ

น่าแปลกตรงที่ เบคแฮมอาจได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในฐานะ “เกย์ ไอคอน” แต่ดูเหมือนเกย์หลายคนกลับอยากจะ “เป็น” เขามากกว่าอยากจะอึ้บเขา ทั้งจากเงินทองที่ไหลมาเทมา การได้สวมใส่เสื้อผ้าดีไซเนอร์หลากหลาย ใช้ชีวิตกับอดีตสมาชิกวง สไปซ์ เกิร์ล และมีบรรดาผู้ชายรักต่างเพศจำนวนมากมาคอยชื่นชม หลงรัก และแน่นอน อีกเหตุผลหนึ่งที่พวกเกย์หลงใหลเขาก็เพราะการเลียนแบบ คือ คำชมที่จริงใจที่สุด

เกย์เปรียบเสมือนต้นแบบของเทโทรเซ็กช่วลยุคแรก พวกเขานิยมครองความเป็นโสด รักวิถีชีวิตแบบชาวเมือง และไม่ค่อยแน่ใจในตัวตน พวกเขานิยามภาพลักษณ์แห่งความเป็นชายในยุค 1970 ซึ่งคนกลุ่มใหญ่เปิดใจยอมรับอย่างกระตือรือร้นผ่านวงดนตรี Village People เจ้าของเพลงฮิตอย่าง Macho Man และ YMCA มันยากจะเชื่อว่ามีสมาชิกในวงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น (จากทั้งหมดหกคน) ที่เป็นเกย์ และแฟนเพลง 99% ของพวกเขาก็ล้วนแต่เป็นชาวรักต่างเพศแทบทั้งสิ้น

พอมาถึงยุค 1980 หนวดเคราและขนตามร่างกายของผู้ชายก็เริ่มถูกกำจัดออก เทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการจับมือร่วมกันระหว่างตากล้อง บรูซ เวเบอร์ กับดีไซเนอร์ คาลวิน ไคลน์ สองทศวรรษต่อมา แนวโน้มความนิยมยังคงโอนเอียงมายังชายหนุ่มหน้าตาเกลี้ยงเกลา รูปร่างฟิตปั๋งสมส่วน และปราศจากขนตามร่างกาย ที่สำคัญ ภาพลักษณ์ดังกล่าวเริ่มได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากกลุ่มชายหนุ่มดื่มเบียร์และชอบผู้หญิงอีกด้วย มันเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าเมโทรเซ็กช่วลกำลังจะพุ่งทะยานสู่ตลาดวงกว้างแล้ว พร้อมกันนั้น หลักฐานของการคลั่งไคล้ตัวเองในหมู่เพศชายก็ปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านแคตตาล็อกแฟชั่นเสื้อผ้า ตลอดจนสินค้าสำหรับผู้ชายทั้งหลาย ซึ่งถูกถ่ายทำในสภาพกึ่งโป๊เปลือย อบอวลไปด้วยอารมณ์โฮโมอีโรติก

บางทีอาจเป็นเพราะผู้ชายแท้ๆ ในปัจจุบันเริ่มรู้สึกอ่อนแอ เปราะบางมากขึ้นทุกขณะ บรรดาตัวละครหญิง (มีงานทำ มีรายได้ ไม่ต้องพึ่งพาเพศชาย และเห็นเซ็กซ์เป็นเรื่องสนุก) ในซีรี่ย์ทางทีวีชุด Sex and the City เปรียบเสมือนภาพตรงข้ามของแนวโน้มอันเปลี่ยนแปลงในประเด็นบทบาททางเพศ กล่าวคือ ขณะผู้หญิงยุคใหม่เริ่มเล่นบท “ตัวรุก” ผู้ชายยุคใหม่จึงถูกผลักดันให้ต้องเล่นบท “ตัวรับ” ไปโดยปริยาย เดี๋ยวนี้ผู้ชายแท้ๆ ไม่ได้รู้สึกแข็งแกร่งจากการมีสัมพันธ์กับเพศหญิงอีกต่อไป ตรงกันข้าม ความเป็นชายของเขากลับเหมือนจะถูกท้าทายจากการมีสัมพันธ์กับเพศหญิงเสียด้วยซ้ำ

ข้อเท็จจริงจากนิตยสารชื่อดังทั้งหลายแหล่ ก็คือ ยิ่งผู้หญิงทรงอำนาจ ร่ำรวย พึ่งพาตนเอง และคิดถึงแต่ตัวเองมากเท่าไหร่ พวกเธอก็ยิ่งมีแนวโน้มอยากได้ผู้ชายเปี่ยมเสน่ห์ รู้จักดูแลตัวเองและแต่งตัวให้ดูดีมาอยู่รอบๆ มากขึ้นเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ยิ่งผู้ชายไม่สามารถพึ่งพาผู้หญิง (ให้เป็นคนคอยช็อปปิ้ง) ได้มากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นเท่านั้น ความหลงตัวเองกลายเป็นเหมือนกลยุทธของการอยู่รอด ทุกวันนี้ ผู้ชายเริ่มซื้อกางเกงในและน้ำยาดับกลิ่นกายด้วยตัวเองกันแล้ว เบคแฮมอาจแตกต่างจากเมโทรเซ็กช่วลส่วนใหญ่ตรงที่เขาแต่งงานแล้ว แต่เขาดูเหมือนจะเห็นชีวิตสมรส และแม้กระทั่งลูกๆ เป็นแค่เครื่องประดับชนิดหนึ่งเท่านั้น โดยชื่อของลูกคนแรกของเขา บรู้คลิน ได้ปรากฏเป็นรอยสักสวยงามบนแผ่นหลัง

เมื่อหลายปีก่อน นอร์แมน เมลเลอร์ เคยนิยามผู้ชายรักร่วมเพศว่าเป็นพวกหลงตัวเองที่บังเอิญมาพบเจอกันเป็นครั้งคราว นั่นถือเป็นความจริงแท้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัจจุบัน เมื่อใครๆ ก็กลายเป็นเมโทรเซ็กช่วลกันหมด นิยามดังกล่าวจึงสามารถนำมาใช้กับผู้ชายแท้ๆ ได้เช่นกัน และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเดี๋ยวนี้บรรดาชายจริงหญิงแท้ถึงตั้งหน้า “ฟัน” กันไม่เลือกหน้าแบบเดียวกับพวกเกย์ทั้งหลาย ใน Reality Show ทางทีวีประเภทจับคู่ชู้ชื่น การขอแต่งงาน หรือการส่งการ์ดคริสต์มาสให้อีกฝ่าย ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสุดท้ายในหัวของผู้เข้าแข่งขัน ส่วนบรรดาวันหยุดพักร้อนของเหล่าวัยรุ่นมหาวิทยาลัยก็กลับกลายเป็นงานเซ็กซ์หมู่แบบมาราธอน

บางทีสิ่งเดียวที่ดูเหมือนจะหยุดยั้งไม่ให้พวกรักต่างเพศกลายสภาพเป็นรักร่วมเพศอย่างสมบูรณ์แบบ ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า เรายังไม่นิยมสร้างห้องน้ำแบบใช้ร่วมกันระหว่างชายหญิง!?!

การร่วมเพศทางทวารหนักกลายเป็นประเด็นสุดฮ็อตในหมู่ชายจริงหญิงแท้ทั้งหลาย เพื่อนชาย (รักหญิง) ของผมคนหนึ่งไม่เคยหยุดพูดถึงมัน (อาจเพราะเขาคิดว่าผมเชี่ยวชาญในเรื่องนี้กระมัง) และตามความเห็นของเขาคนเดียวกันนี้ ช่องคลอดหาได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อองคชาต แต่เพื่อลิ้นของผู้หญิงอีกคนต่างหาก

เป็นไปได้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นทำให้พวกเขาไม่ต้องสำนึกรับผิดชอบแบบรักต่างเพศ (สร้างครอบครัวและฐานะ) พร้อมกับกระตุ้นแนวโน้มรักร่วมเพศภายใน (นิสัยชอบโชว์ของพวกเมโทรเซ็กช่วลเปรียบได้กับการเรียกร้องให้ถูกอึ้บ) หรือบางทีพวกเขาอาจมองว่ามันเป็นเหมือน extreme sport (ฝากชีวิตไว้กับถุงยางแล้วกระโจนลงไป) การร่วมเพศทางทวารหนักกลายเป็นเหมือนจอก (ไม่) ศักดิ์สิทธิ์ในกิจกรรมทางเพศของเมโทรเซ็กช่วล แถมมันยังเริ่มลุกลามไปถึงวงการแฟชั่นแล้วด้วย เมื่อลีวายตีพิมพ์โฆษณาภาพนายแบบนางแบบคู่หนึ่งสวมกางเกงยีนกลับด้าน ซิปกางเกงของพวกเขาถูกรูดลง เผยให้เห็นง่ามก้นชัดเจน




เมโทรเซ็กช่วลแผ่ขยายอิทธิพลไปยังฮอลลีวู้ด เมื่อหนังหลายเรื่องอย่าง Fight Club, American Psycho และ Spider-Man เริ่มตักตวงและสะท้อนให้เห็นความกังวลในผลกระทบของเมโทรเซ็กช่วลต่อความเป็นชาย แต่ขณะเดียวกันพวกมันกลับโหมกระหน่ำโปรโมตตัวเองผ่านสื่อโฆษณา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการผันผู้ชายให้กลายเป็นเมโทรเซ็กช่วลตั้งแต่แรก ใน Fight Club ผลงานซึ่งดูเหมือนหนังขนาดยาวของงานถ่ายแบบแฟชั่นตามหน้านิตยสารสำหรับผู้ชาย แบรด “ซิกแพ็ค” พิทท์ นายแบบหนุ่มสไตล์ คาลวิน ไคลน์ ที่ผันตัวเองมาเป็นซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวู้ดและเมโทรเซ็กช่วลที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา ได้รับบทเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแก๊งชายหนุ่มขึ้นเพื่อต่อต้าน.... คาลวิน ไคลน์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ วัฒนธรรมบริโภคนิยมที่บั่นทอนความเป็นชายให้อ่อนแอ



ใน American Psycho ปมปัญหาสำคัญของพระเอก/ฆาตกรโรคจิต คือ เขาไม่สามารถค้นพบผู้หญิงที่จะทำให้เขาลงหลักปักฐานได้ “คุณเคยอยากจะทำให้ใครสักคนมีความสุขไหม” หญิงสาวคนถามเขา ทว่าเขากลับไม่ได้ยินเธอ เพราะมัวแต่กำลังวุ่นอยู่กับการหยิบปืนยิงตะปูตัวใหญ่ออกมา (แถมก่อนหน้านี้ เราก็จะได้เห็นเขาหมกมุ่นอยู่กับการออกกำลังกายเพื่อรักษารูปร่าง การดูแลสภาพผิวตัวเอง ตลอดจนการทุ่มเทพลังงานทั้งหมดไปกับการทำนามบัตรหรูๆ)



หนังเรื่อง Spider-Man สะท้อนให้เห็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของหนอนหนังสือธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่มีใครสังเกตเห็น แปลงสภาพเป็นเมโทรเซ็กช่วล โดยหลังจากถูกแมงมุมต่อย คนดูจะได้เห็น ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ยืนชื่นชมรูปร่างอันบึกบึนของตนเองหน้ากระจก สวมชุดยางยืดรัดรูป แล้วออกไปห้อยโหนตัวตามตึกสูงใหญ่เพื่อโชว์บั้นท้ายของตนให้ทุกคนประจักษ์และชื่นชม

ฉากเด่นของหนัง เมื่อพาร์คเกอร์ห้อยหัวลงมาในชุดไอ้แมงมุม แล้วนางเอกของเรื่อง ซึ่งรับบท เคียร์สเตน ดันส์ ถกหน้ากากของเขาจากด้านล่างลงมาครึ่งหนึ่งเพื่อจูบเขา ก่อนจะปิดมันกลับตามเดิม เปรียบเสมือนตัวอย่างอันชัดเจนของความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างหญิงชายเมโทรเซ็กช่วล เมื่อผู้ชายพยายามเรียกร้องที่จะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งความสนใจเสมอ และในตอนจบ เมื่อเคียร์สเตนเสนอตัวให้พาร์คเกอร์ เขากลับปฏิเสธ หลังจากตระหนักว่าเธออาจเข้ามาอยู่กึ่งกลางระหว่างเขากับรักแท้ หรืออีโก้แบบเมโทรเซ็กช่วลนั่นเอง

พร้อมๆ กันนั้น บรรดานิตยสารสำหรับผู้ชายทั้งหลายตั้งแต่ Maxim ยัน FHM ก็กำลังเจริญรอยตามแนวคิดอันขัดแย้งในตัวเองแบบหนังเรื่อง Fight Club กันมาเป็นขบวน โดยเนื้อหาในนิตยสารเหล่านี้จะเน้นย้ำเกี่ยวกับความหมกมุ่นของรักต่างเพศ (เต้านม เบียร์ รถสปอร์ต ฯลฯ) อย่างเข้มข้น แต่ขณะเดียวกัน จุดขายหลักของมันกลับอยู่ตรงบรรดาหน้าแฟชั่นสีและโฆษณาทั้งหลาย ซึ่งมักจะเป็นภาพนายแบบกึ่งเปลือยขายความฟุ้งเฟ้อว่างเปล่าแห่งเพศชาย นั่นคือจุดมุ่งหมายสำคัญของการผลิตนิตยสารเหล่านี้ นิตยสารสำหรับผู้ชาย คือ เมโทรเซ็กช่วลตัวยงที่ยังปฏิเสธตัวเองอยู่ (หรืออีแอบนั่นเอง)... เช่นเดียวกับผู้ชายส่วนใหญ่ในตอนนี้

การไม่ยอมรับตัวเองบางครั้งอาจนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจได้ ยกตัวอย่างเช่น เอมิเน็ม ซึ่งมักจะแสดงความเกลียดชังบรรดา “กะเทย” บอยแบนด์ (หรือเมโทรเซ็กช่วลที่เปิดเผย) อย่างออกนอกหน้า แต่ขณะเดียวกัน เขา เช่นเดียวกับเบคแฮม กลับไม่อาจทนความเย้ายวนของเลนส์กล้องได้ เขาชอบถอดเสื้อถ่ายแบบ โชวกล้ามในมิวสิกวีดีโอ และใช้ลูกๆ เป็นเหมือนเครื่องประดับ เอมิเน็มคืออีแอบแห่งโลกเมโทรเซ็กช่วล เขาก่นด่าชื่อเสียงและความสนใจจากรอบข้าง แต่กลับผันแปรคำด่าเหล่านั้นเป็นอัลบั้มชุดใหม่ “เอมิเน็ม โชว์” ที่แท้จริง คือ การปกปิดพฤติกรรมชอบโชว์และสถานะ “ตัวรับ” ของตนด้วยเสียงดนตรีแร็พอันเย้ายวน ยั่วเสน่ห์

เมโทรเซ็กช่วลในแบบ เดวิด เบคแฮม ผู้ยินดีจะขึ้นปกนิตยสารเกย์และทาเล็บสีชมพู อาจดูวิปริตน้อยกว่า และแสดงถึงความสำเร็จของความเป็นชายรูปแบบใหม่ แต่ข้อเท็จจริงอันน่าประหลาด ก็คือ ขณะที่เมโทรเซ็กช่วลหมกมุ่นอยู่กับการทำตัวเองให้เปี่ยมเสน่ห์ ความฟุ้งเฟ้ออันว่างเปล่ากลับยิ่งทำให้พวกเขายิ่งห่างไกลจากความเซ็กซี่ หรือเสน่ห์มากขึ้นไปอีก

แต่มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะคิดยังไงกับเมโทรเซ็กช่วล เพราะเมโทรเซ็กช่วล คือ แนวโน้มแห่งอนาคต พวกเขากำลังเปิดเผยตัวเองสู่สายตาประชาชนอย่างภาคภูมิใจ และเรียนรู้ที่จะรักตัวเองโดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เป็นอีแอบอีกต่อไป

หมายเหตุ

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Meet the Metrosexual โดย มาร์ค ซิมป์สัน นักข่าวชาวอังกฤษผู้คิดค้นคำว่า “เมโทรเซ็กช่วล” ขึ้นเมื่อปี 1994 แล้วนำมาเขียนถึงในบทความที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ The Independent หากใครสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบของวัฒนธรรมบริโภคนิยมและสื่อมวลชนต่อความเป็นชาย ให้ลองไปหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือของซิมป์สันชื่อ Male Impersonators: Men Performing Masculinity

วันอาทิตย์, กรกฎาคม 16, 2549

Birth: นี่หรือคือรัก



หากคุณมีโอกาสได้เปิดอ่านนิยาย หรือเข้าชมภาพยนตร์แนวโรแมนซ์ทั่วๆ ไปสักเรื่อง ซึ่งไม่ได้พยายามจะสร้างความแปลกใหม่ หรือหักล้างธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม คุณจะพบว่าความรักโรแมนติก คือ แนวคิดหลักที่มักได้รับการเชิดชู เฉลิมฉลอง และองค์ประกอบสำคัญของมัน ได้แก่ ศรัทธาแห่งรักแรกพบ คู่แท้เพียงหนึ่งเดียว และการแต่งงานในฐานะจุดสูงสุดของชีวิตซึ่งไม่อาจละเลย หรือเพิกเฉย

ประโยคว่า “คุณคือรักแท้ของฉัน” หรือ “ฉันจะรักคุณไปตราบชั่วนิรันดร์” เปรียบดังอุดมคติที่ผู้นิยมแนวคิดความรักโรแมนติกทั้งหลายโหยหา มันเป็นความงดงามขั้นสูงสุด

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าหนังเรื่อง Birth เป็นเหมือนฝันร้ายของความรักโรแมนติก เป็นด้านมืดของรักแท้ชั่วนิรันดร์ และเป็นคำเตือนจากเหล่าผู้นิยมความจริงต่อนักฝันทั้งหลายให้ “พึงระวังในสิ่งที่คุณถวิลหา” ซึ่งเป็นคำโฆษณาบนใบปิดหนังเรื่องนี้ เพราะชีวิตล้วนเต็มไปด้วยความพลิกผัน ความไม่แน่นอน และความไม่ลงตัว ความรักอาจไม่จิรังยั่งยืน หรือกระทั่งมีตัวตนอยู่จริง ขณะเดียวกัน ความจิรังยั่งยืนบางครั้งก็หาใช่ความสุขเสมอไป ตรงกันข้าม มันอาจกลับกลายเป็นความทรมานเหลือจะทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความรักกลายสภาพเป็น ‘หลุมดำ’… ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณใส่ลงไป ไม่เคยได้กลับคืนมา… เมื่อความรักกลายสภาพเป็นปรากฏการณ์เอกพจน์ เป็นกรงขังทางจิตใจที่คอยกีดกั้นคุณไม่ให้ก้าวต่อไปข้างหน้า แม้ว่าคุณจะปรารถนาอิสรภาพมากเพียงใด

แอนนา (นิโคล คิดแมน) เป็นผู้หญิงที่เชื่อมั่นในรักแท้ มิเช่นนั้นแล้ว เธอคงไม่ใช้เวลาทำใจนานนับสิบปี กว่าจะตอบรับแต่งงานกับ โจเซฟ (แดนนี่ ฮุสตัน ) หลังจากฌอน สามีสุดที่รักของเธอ ตายจากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเธอมีรูปร่าง หน้าตาเหมือน นิโคล คิดแมน! อย่างไรก็ตามหนังไม่พยายามให้น้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือแก่ความรักระหว่างแอนนากับคนรักใหม่อย่างโจเซฟเลย ดังจะเห็นได้ว่าเธอยอมรับหมั้นเขาในสุสาน ขณะแวะไปเยี่ยมหลุมศพของอดีตสามี (ความสัมพันธ์ของทั้งสองจะไปลงเอย ณ จุดใด ฉากหลังของหนังดูเหมือนจะบ่งบอกเป็นนัย อยู่แล้ว) จากนั้น ในงานเลี้ยงฉลอง ระหว่างโจเซฟประกาศข่าวสำคัญ พร้อมทั้งเล่าให้แขกเหรื่อฟังว่าเขาตามตื๊อแอนนาอยู่นานแค่ไหนกว่าจะเอาชนะใจเธอได้ หนังก็จงใจไม่ตัดภาพไปหาแอนนาเพื่อแสดงปฏิกิริยาของเธอ ในธรรมเนียมหนังรักทั่วๆ ไป นาทีดังกล่าวคือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง คนดูย่อมคาดหวังว่าจะเห็นใบหน้าอันปลาบปลื้ม ซาบซึ้งของว่าที่เจ้าสาว แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาเห็นกลับเป็นใบหน้าอันเปี่ยมสุขและภาคภูมิใจของโจเซฟ ต่อมา ทุกอย่างยิ่งเริ่มกระจ่างชัดมากขึ้น ในฉากแอนนาเดินทางไปหาคลิฟฟอร์ด (ปีเตอร์ สตอร์แมร์) อดีตเพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อขอความช่วยเหลือ เธอค่อยๆ เปิดเผยความรู้สึกภายในออกมาพร้อมทั้งน้ำตาพรั่งพรูว่า เธอหลงรักฌอนมากแค่ไหน และขณะเดียวกัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอยอมตกลงแต่งงานกับโจเซฟก็เพราะเขารักเธอมาก

ด้วยเหตุนี้เอง ประเด็นหลักของ Birth จึงไม่ได้อยู่ตรงความรักระหว่างแอนนากับโจเซฟ หรือกระทั่งแอนนากับฌอน ซึ่งคนดูไม่เคยเห็นหน้า แม้จะสัมผัสถึง ‘การดำรงอยู่’ ของเขาตลอดเวลา แต่เป็นความรักระหว่างแอนนากับ ‘ภาพลักษณ์ของฌอน’ ในใจเธอต่างหาก และนั่นก็ทำให้หนังคล้ายคลึงกับ The Story of Adele H. อยู่ไม่น้อย ผลงานคลาสสิกของ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ เรื่องนั้นเล่าถึงความรัก ความหมกมุ่นของ อเดล อูโก้ ลูกสาวนักเขียนนามอุโฆษ วิกเตอร์ อูโก้ ต่อนายทหารหนุ่มพินสัน เธอเปิดเผยความรู้สึกกับเขาและติดตามเขาไปทุกหนทุกแห่ง เธอไม่ลดละ ไม่ย่อท้อ ไม่เลิกรา แม้จะถูกฝ่ายชายปฏิเสธอย่างเย็นชา จนกระทั่ง สุดท้ายความรัก (ฝ่ายเดียว) ก็ได้ทำลายอเดลให้คลุ้มคลั่ง กลายเป็นหญิงเสียสติ

ฉากสำคัญใน The Story of Adele H. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับความหมกมุ่นของตัวเอกว่าพุ่งสูงถึงขั้นหน้ามืดตามัว เป็นฉากตอนที่เธอเดินไปทักนายทหารคนหนึ่งเพราะคิดว่าเขาคือพินสัน แต่พอชายคนนั้นหันมา เขากลับมีหน้าตาไม่เหมือนพินสันเลยสักนิด (แต่ดันละม้ายคล้ายทรุฟโฟต์อย่างกับแกะ!) กลวิธีอันแยบยลดังกล่าวถูกนำมาใช้ใน Birth เช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่คราวนี้มันกินความถึงโครงสร้างโดยรวมของหนังทั้งเรื่อง

คำถามที่หลายคนอาจนึกสงสัย คือ ทำไมผู้กำกับ โจนาธาน เกลเซอร์ จึงเลือกให้ตัวละครที่อ้างตนว่าคือฌอนกลับชาติมาเกิดเป็นเด็กชายวัย 10 ขวบ ทำไมเขาถึงไม่เลือกชายหนุ่มที่โตแล้ว หรืออย่างน้อยก็อยู่ในช่วงวัยรุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประณามจากฉากที่ทั้งสองต้องอาบน้ำร่วมอ่าง (เหตุเกิดในเทศกาลหนังเมืองเวนิซ) หรือเสียงหัวเราะแบบไม่ตั้งใจ ซึ่งน่าจะมาจากความรู้สึกอึดอัดเป็นหลัก เมื่อแอนนาตกหลุมรักเด็กชายจนถึงขั้นเสนอให้เขาแอบหนีตามเธอไป (เหตุเกิดในรอบสื่อมวลชนของกรุงเทพฯ) คำตอบง่ายๆ ก็คือ ยิ่งฌอนคนใหม่มีสภาพห่างไกลจากฌอนคนเก่ามากเท่าไหร่ คนดูก็จะตระหนักชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้นว่าแอนนาหมกมุ่นและหลงรักฌอนคนเก่ามากแค่ไหน พูดไปพูดมา อาจกล่าวได้ว่าอาการคลั่งรักของแอนนาหนักหนากว่าของอเดลเสียอีก เพราะเธอมองเห็นเด็กชายสิบขวบเป็นอดีตสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว!!

แนวคิดเรื่องความรักที่เปรียบเสมือนกรงขังได้รับการถ่ายทอดเป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านสไตล์ด้านภาพของหนัง ซึ่งมักจำกัดฉากอยู่ภายในตัวอาคาร ล้อมรอบไปด้วยกำแพง ผนัง และเพดาน เกือบตลอดทั้งเรื่องคนดูจะได้เห็นแอนนาติดกับอยู่ภายในร้านอาหาร โรงโอเปร่า รถยนต์ อพาร์ตเมนต์ ห้องนอน และห้องน้ำ ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งกล้องยังก้าวไปไกลถึงขั้น ‘ตีกรอบ’ เธอไม่ให้ขยับเขยื้อนไปไหนด้วยการแช่ภาพโคลสอัพระยะใกล้เป็นเวลานานๆ เช่น ในฉากโรงโอเปร่าและอพาร์ตเมนต์ของคลิฟฟอร์ด

สถานการณ์ไร้ทางออกและสภาพแวดล้อมอันปิดกั้นของแอนนาค่อนข้างใกล้เคียงกับ เกรซ ในหนังเรื่อง The Others ซึ่งรับบทโดย นิโคล คิดแมน เช่นกัน (ส่วนทรงผมของเธอกลับถอดแบบมาจากนางเอกในหนังแนวโกธิกอีกเรื่อง คือ Rosemary’s Baby ) แต่สิ่งที่คุกคามแอนนา หาใช่วิญญาณ หรือความชั่วร้าย หากแต่เป็นอดีต ซึ่งไม่ยอมหนีหายไปไหน หรือความรักอันมั่นคง ยืนยาวชั่วนิรันดร์ หลายครั้งที่ดนตรีประกอบและการจัดแสงใน Birth อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังนั่งดูหนังเขย่าขวัญแนวโกธิกอยู่ ขณะเดียวกัน รายละเอียดหลายส่วนก็ดูค่อนข้างลึกลับ ชวนพิศวง แต่ก็เช่นเดียวกับทรุฟโฟต์ใน Mississippi Mermaid (ฟิล์มนัวร์) และ Shoot the Piano Player (แก๊งสเตอร์/อาชญากรรม) ผู้กำกับ โจนาธาน เกรเซอร์ ใช้แนวทางหนัง (genre) เป็นเพียงช่องทางเพื่อสะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับความรักเท่านั้น

แทนที่จะเน้นไปยังขบวนการสืบสวนหาความจริงต่อคำอ้างของเด็กชายฌอน (คาเมรอน ไบรท ) ซึ่งอาจส่งผลให้หนังเร้าใจมากขึ้น แต่สะเทือนใจน้อยลง Birth กลับยืนกรานที่จะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอันเชื่องช้าในตัวแอนนาต่อคำอ้างดังกล่าว เริ่มจากหัวเราะเยาะใส่ ก่อนจะค่อยๆ รู้สึกไม่แน่ใจ ไปจนกระทั่งลงเอยด้วยความเชื่อมั่น หนังตั้งคำถามสำคัญให้คนดูขบคิดอยู่สองข้อด้วยกัน นั่นคือ หนึ่ง เด็กชายฌอนเป็นอดีตสามีของแอนนากลับชาติมาเกิดจริงไหม และสอง แอนนาจะตกหลุมรักฌอนอีกครั้งหรือไม่ ในขณะที่คำถามแรกได้รับการตอบอย่างเร่งรีบในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย คำถามหลังกลับใช้เวลานานกว่าในการคลี่คลาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบพัวพันไปสู่คำถามอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างแอนนากับโจเซฟจะไปลงเอยที่ใด และเธอจะปฏิบัติอย่างไรกับเด็กชายฌอน ตลอดจนเสียงต่อต้านจากรอบข้าง

ความแตกต่างของ Birth กับหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปอยู่ตรงที่ ถึงแม้คำถามเหล่านั้นจะได้รับการเฉลย แต่มันไม่ได้นำไปสู่การคลี่คลายทั้งในแง่สถานการณ์ หรืออารมณ์ จริงอยู่ว่าหนังอาจลงเอยด้วยฉากพิธีแต่งงานเฉกเช่นหนังรักปรกติ แต่อารมณ์ของมันกลับห่างไกลจากคำว่า แฮ็ปปี้ เอ็นดิ้ง ราวฟ้ากับเหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจาก ‘สภาพ’ ของแอนนา ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าบอบช้ำเกินเยียวยา

เธอแวะไปหาโจเซฟที่ทำงานเพื่ออ้อนวอนขอให้เขายกโทษให้ หลังทราบความจริง เธอบอกว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่ความผิดเธอ ทั้งที่สาเหตุแห่งความวุ่นวายทั้งหลายล้วนเป็นผลมาจากจิตใจอันไม่มั่นคงของเธอ เธอบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เธอจะไล่เด็กชายคนนั้นออกไปจากชีวิต เมื่อเขาอ้างตัวว่าเป็นฌอนกลับชาติมาเกิด ทั้งที่นั่นคือสิ่งที่เธอควรทำตั้งแต่แรก หากเธอรักและพร้อมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับโจเซฟจริง เธอต้องการความสุขและคิดว่าการได้แต่งงานกับเขาจะนำไปสู่จุดหมายดังกล่าว แต่เธอจะมีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อจิตใจของเธอยังไม่ถูกปลดปล่อย

ในฉากสุดท้ายของหนัง คนดูจะได้เห็นแอนนาสวมชุดแต่งงานยืนถ่ายรูปท่ามกลางสวนเขียวชอุ่ม นาทีหนึ่งเธอดูเหมือนจะมีความสุข แต่นาทีต่อมา ความจริงทั้งหลายที่ไม่อาจปฏิเสธพลันทะลักทลาย เธอเริ่มวิ่งหนี หวังจะเป็นอิสระ แต่กลับพบทางตัน ดังนั้น บนชายหาด ท่ามกลางระลอกคลื่นโหมซัด เธอจึงกรีดร้อง แต่เสียงของเธอกลับไม่ได้ยิน เธอร้องไห้ มันเป็นน้ำตาแห่งความโศกเศร้า แห่งความโกรธแค้น เธออยากจะมีความสุข แต่จิตใจกลับไม่ยินยอม เธออยากจะลืม แต่ทุกอย่างกลับฝังรากลึก เธออยากจะหนี แต่ไม่มีหนทาง และถึงแม้ธรรมชาติรอบข้างจะเปิดกว้าง แต่เธอกลับรู้สึกเหมือนถูกกักขัง

เช่นนี้แล้ว คุณยังคิดว่าความรักเป็นสิ่งงดงามอยู่อีกไหม

วันเสาร์, กรกฎาคม 01, 2549

Silent Hill: สาวสยอง


นอกจากตัวละครผู้หญิงมักจะถูกทารุณกรรม ล่วงละเมิด และสังหารอย่างเลือดเย็นในหนังสยองขวัญ เพื่อความเพลิดเพลินของคนดูแล้ว (ตัวอย่าง คือ บรรดาหนัง Slasher Film ทั้งหลาย อาทิ Halloween, The Texas Chain Saw Massacre, Scream และ Friday the 13th) บ่อยครั้งพวกเธอยังถูกนำเสนอในฐานะ “ช่องทาง” แห่งซาตาน หรือความชั่วร้ายอีกด้วย ผ่านหนังสยองขวัญเกี่ยวกับพลังเหนือธรรมชาติหลายเรื่อง อาทิ The Exorcist, Carrie, Firestarter, และ Poltergeist

คาโรล เจ. โคลเวอร์ ผู้เขียนหนังสือ Men, Women, and Chain Saws: Gender in the Modern Horror Film ได้ขนานนามตระกูลย่อยดังกล่าวของหนังสยองขวัญเอาไว้ว่า Occult Film พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสาเหตุที่เพศหญิงมักถูกซาตานเข้าสิง (The Exorcist, Witchboard) หรือมีพลังพิเศษ (Carrie, Firestarter, The Fury) แม้เมื่อตัวเอกเป็นรถยนต์ (Christine) ว่าเนื่องมาจากเพศหญิงมีธรรมชาติที่ “เปิดกว้าง” มากกว่าเพศชาย ผ่านสัญลักษณ์ของช่องคลอด (1) ซึ่งเป็นจุดที่เพศหญิงถูก “ล่วงล้ำ” และ “ครอบงำ” ได้ง่าย ส่งผลให้หนังสยองขวัญบางเรื่อง อาทิ Rosemary’s Baby และ The Omen เล่าถึงกำเนิดซาตานผ่านการตั้งครรภ์

สถานะ “เปิดกว้าง” ดังกล่าวทำให้ตัวละครหญิงในหนังแนวสยองขวัญมีแนวโน้มที่จะตระหนักถึงพลังเหนือธรรมชาติและยอมรับเรื่องเหนือวิทยาศาสตร์ได้เร็วกว่า เช่น ใน Poltergeist เด็กหญิง คาโรล แอนน์ (ฮีทเธอร์ โอ’รูค) สามารถติดต่อกับ “คนทีวี” ได้ ส่วนแม่ของเธอ ไดแอน (โจเบ็ธ วิลเลี่ยมส์) ก็ยอมรับพลังประหลาดในบ้านได้ก่อนสามี เช่นเดียวกับ คุณนายธอร์น (ลี เรมิค) ใน The Omen ซึ่งเริ่มสงสัยเป็นคนแรกว่าลูกชายเธอมีบางอย่างผิดปรกติ ใน Don’t Look Now ลอร่า (จูลี่ คริสตี้) เชื่อหญิงตาบอดว่าหล่อนสามารถติดต่อสื่อสารกับลูกที่ตายไปแล้วของลอร่าได้ ขณะสามีของเธอ จอห์น (โดนัลด์ ซุทเธอร์แลนด์) กลับเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ

เช่นเดียวกัน โรส (โรดา มิทเชลล์) ใน Silent Hill เริ่มตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากลในพฤติกรรมเดินละเมอของ ชารอน (โจเดลล์ เฟอร์แลนด์) ลูกสาวบุญธรรม และยืนกรานที่จะพาเธอไปยัง ไซเรนท์ ฮิลล์ เมืองซึ่งเด็กหญิงกล่าวถึงขณะเดินละเมอ เพื่อค้นหาความจริง เพราะโรสมี “ลางสังหรณ์” ว่าลูกสาวของเธออาจมีประวัติเชื่อมโยงกับเมืองนั้น แต่การตัดสินใจดังกล่าวได้รับเสียงคัดค้านจาก คริสโตเฟอร์ (ฌอน บีน) สามีของเธอ ซึ่งต้องการให้โรสพาลูกสาวไปหาหมอ แล้วเข้ารับการบำบัดตามธรรมเนียมนิยม

การณ์ปรากฏว่าลางสังหรณ์ของโรสถูกต้อง เมื่อเธอกับชารอนหลุดเข้าไปในอีก “มิติ” หนึ่งของเมืองไซเรนท์ ฮิลล์ โดยการชักนำของวิญญาณร้าย (เพศหญิง) ซึ่งต้องการจะเปิดเผยความจริงให้ชารอน (และคนดู) ตระหนักเกี่ยวกับความอยุติธรรมในอดีตที่เธอต้องจำทน นอกจากนี้ มันยังไม่ใช่เรื่องแปลกอีกด้วยเมื่อปรากฏว่าบุคคลเดียวที่สามารถติดตามโรสเข้าสู่มิติพิศวงนอกเหนือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้ คือ ตำรวจหญิง ส่วนบรรดาตำรวจชายคนอื่นๆ และคริสโตเฟอร์ กลับได้แต่วิ่งไล่ตามหาพวกเธออยู่ในอีกมิติหนึ่ง

Occult Film จะแบ่งตัวละครและระบบความเชื่อออกเป็นสองกลุ่ม นั่นคือ ศาสตร์ขาว (White Science) และ มนตร์ดำ (Black Magic) โดยกลุ่มแรกหมายความถึงระบบเหตุผลแบบตะวันตก มีตัวแทนหลักเป็นผู้ชายผิวขาว ส่วนใหญ่จะเป็นคุณหมอ อุปกรณ์ของพวกเขาก็เช่น การผ่าตัด ยา การบำบัดจิต และการดูแลรักษาตามหลักวิทยาศาสตร์ ตรงกันข้าม กลุ่มหลังจะหมายความถึง ลัทธิบูชาซาตาน วูดู ประสาทสัมผัสที่หก และตำนาน โรมัน คาทอลิก อุปกรณ์ของพวกเขา ได้แก่ ไม้กางเขน น้ำมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ เทียน ลางสังหรณ์ การไล่ผี การสวดภาวนา การบูชายัน ฯลฯ ส่วนสมาชิกในกลุ่มนี้มักจะเป็นอินเดียนแดง คนผิวดำ คนในประเทศโลกที่สาม เด็ก คนแก่ บาทหลวง และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้หญิง

บทเรียนสำคัญสุดของ Occult Film คือ ศาสตร์ขาวมีข้อจำกัด และหากมันไม่ยอมจำนนต่อพลังมนตร์ดำ ทุกอย่างก็จะสูญสิ้น ในหนัง Occult Film ถ้าผู้หญิงถูกปีศาจเข้าสิง การผ่าตัดสมองหาใช่ทางออก แต่เป็นการทำพิธีไล่ผีต่างหาก อย่างไรก็ตาม ก่อนใครสักคนจะค้นพบทางออกเหนือธรรมชาติ เขาคนนั้นจำเป็นต้องเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติเสียก่อน ส่งผลให้หนัง Occult Film มักจะมีซับพล็อตเกี่ยวกับตัวละครชาย (ศาสตร์ขาว) ค่อยๆ ยอมรับในความจำเป็นและความเหนือกว่าของมนตร์ดำ พวกเขาจะสลัดทิ้งหลักเหตุผล แล้วหันมาโอบกอดศรัทธา ความลึกลับ ดังเช่นกรณีของบาทหลวงหนุ่มใน The Exorcist

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชายแห่งเหตุผลยินยอมต้อนรับหลักเกณฑ์เหนือธรรมชาติ เมื่อนั้นความวุ่นวายอันเกิดจากมนตร์ดำก็จะสงบลง

ใน Silent Hill คริสโตเฟอร์อาจเรียนรู้ที่จะ “เปิดกว้าง” ขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้เขาเริ่มสัมผัสตัวตนของโรสในบางโอกาส และได้รับโทรศัพท์เธอซึ่งเต็มไปด้วยคลื่นแทรกจนฟังแทบไม่ออก กระนั้นเขาก็ยังไม่อาจเข้าถึงเธอ หรือมิติของเธอได้ เขาขาดศรัทธาแรงกล้าต่อมนตร์ดำที่จะนำพาหนังไปสู่ตอนจบอันสุขสันต์ (โรสจึงลงเอยด้วยการติดอยู่ในมิติแห่ง ไซเรนท์ ฮิลล์ ต่อไป) เขาเลือกใช้เหตุผล (ศาสตร์ขาว) ในการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชารอนและเหตุไฟไหม้ใน ไซเรนท์ ฮิลล์ เขาไปสอบถามข้อมูลจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ค้นหาแฟ้มของตำรวจ แต่สุดท้ายเขากลับลงเอยด้วยการคว้าน้ำเหลว

มองเผินๆ Occult Film อาจดูเหมือนอีกหนึ่งหลักฐานของการเหยียดเพศในหนังสยองขวัญไม่ต่างจาก Slasher Film เนื่องจากมันตีตราผู้หญิงเป็นเหมือนช่องทางของซาตานและพลังอำนาจชั่วร้าย แต่ความจริงหากเรามองให้ลึกลงไปแล้ว ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม เนื่องจาก Occult Film มีเป้าหมายในการมุ่งโจมตีทฤษฎีเพศศึกษาของฟรอยด์ ซึ่งหลายคนเห็นว่าค่อนข้างโบราณและเหยียดเพศหญิง

ทฤษฎีทางเพศของฟรอยด์ให้ความสำคัญกับการมีและไม่มีองคชาต นั่นคือ เขาใช้ผู้ชายเป็นหลักศึกษาเพศหญิงและผูกโยงผู้หญิงเข้ากับการถูกตอน (castration) แต่หนัง Occult Film กลับแสดงให้เห็นว่าความพิเศษ/แตกต่างของเพศหญิงนั้นหาใช่การ “ขาด” องคชาต แต่เป็นเพราะบางสิ่งบางอย่างข้างในต่างหาก ร่างกายของเพศหญิงในหนัง Occult Film กลายเป็นปัญหาไม่ใช่เพราะมันปราศจากบางอย่าง แต่เพราะมันมีบางอย่างเพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษต่างหาก Occult Film ไม่ได้สนใจประเด็นการถูกตอน แต่สนใจเกี่ยวกับภาวะ “ภายใน” ของเพศหญิงมากกว่า นั่นเองส่งผลให้มันมักจะพูดถึงการสิงสู่ การครอบครอง การตั้งครรภ์ และประจำเดือน (2)

ที่สำคัญ บ่อยครั้ง Occult Film พยายามจะเปิดโอกาสให้ร่างกายของเพศหญิงได้ “พูด” ประสบการณ์ภายในออกมาผ่านการครวญคราง อาเจียน ไข้ การสบถ รอยบวม รอยแผล รอยผื่น รอยฟกช้ำ และในบางกรณีถึงขั้นสะกดคำเป็นข้อความ

เรื่องราวของชารอน/อเลซซาใน Silent Hill ดูเหมือนจะมีรายละเอียดหลายส่วนคล้ายคลึงกับเรื่องราวของ แคร์รี่ (ซิสซี่ สปาเช็ค) ใน Carrie ตั้งแต่ประเด็น “ลูกไม่มีพ่อ” ไปจนถึงข้อกล่าวหาจากกลุ่มคลั่งศาสนาว่าเป็นแม่มด (ใน Carrie คุณแม่คลั่งศาสนาได้เรียกขานพลังจิตของลูกสาวว่า “พลังซาตาน”) การกลั่นแกล้งของเพื่อนร่วมชั้น (อเลซซาถูกเพื่อนๆ ขว้างปาข้าวของใส่ในชั้นเรียน ส่วนแคร์รี่ถูกเพื่อนๆ ขว้างปาผ้าอนามัยใส่ในห้องน้ำ) และการล้างแค้นแบบเลือดสาดในช่วงไคล์แม็กซ์ (แคร์รี่ตรึงกางเขนแม่ตัวเองด้วยมีดนับสิบเล่ม ส่วนอเลซซาก็ตรึงกางเขน คริสตาเบลลา (อลิซ คริก) ด้วยลวดหนาม ก่อนจะฉีกร่างเธอออกเป็นสองท่อน)

ไม่ต้องสงสัยว่าความเจ็บปวด ความโกรธขึ้งที่สั่งสมอยู่ภายในของอเลซซาและแคร์รี่ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเธอกลายเป็นช่องทางแห่งพลังอำนาจชั่วร้าย แต่ขณะเดียวกัน การล้างแค้นในช่วงท้ายเรื่องของพวกเธอก็เปรียบได้กับ “แรงระเบิด” ของเพศหญิง

มันไม่ใช่การ “พูด” แต่เป็นการ “ตะโกน”

ศัตรูตัวฉกาจของทั้งอเลซซา (คริสตาเบลลา) และแคร์รี่ (แม่ของเธอ) อาจเป็นผู้หญิง แต่พวกเธอเปรียบดังตัวแทนของเพศชายหรือสังคมที่ชายเป็นใหญ่ เนื่องจากพวกเธอต่างยึดมั่นในความเป็นคริสเตียนมากพอๆ กัน ในกรณีของ Silent Hill นัยยะดังกล่าวดูจะชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อวิกฤติของอเลซซาถูกเชื่อมโยงเข้ากับการล่าแม่มด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีรากฐานมาจากการเหยียดเพศของคริสตจักรโบราณในยุโรปและอเมริกา

กระนั้น ปัญหาต่อประเด็นพลังอำนาจแห่งเพศหญิงใน Silent Hill อยู่ตรงที่การล้างแค้นของอเลซซาและการเปิดโปงความจริงเกี่ยวกับความอยุติธรรมในอดีตเกิดขึ้น ณ มิติแห่งวิญญาณ/จินตนาการ หาใช่ในโลกแห่งความจริง ซึ่งยังถูกปกครองโดยเพศชาย (ศาสตร์ขาว) ที่มนตร์ดำไม่อาจลุกคืบเข้าไปครอบครองหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้

หมายเหตุ

(1) คงด้วยเหตุผลนี้เอง วิลเลี่ยม ปีเตอร์ แบล็ตตี้ ผู้แต่งนิยายและเขียนบทหนังเรื่อง The Exorcist ถึงได้เปลี่ยนตัวเหยื่อที่ถูกสิงสู่ให้เป็นเด็กหญิง ทั้งที่ตามเรื่องจริงของพิธีไล่ผี ซึ่งนิยายนำมาดัดแปลง เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นเด็กชาย นอกจากนี้ ในเทปบันทึกเสียงพิธีกรรมไล่ผี ที่ วิลเลี่ยม ฟรีดกิ้น ผู้กำกับ ได้ฟังระหว่างการค้นคว้าหาข้อมูล เด็กที่ถูกทำพิธีก็เป็นเด็กชายเช่นกัน

(2) พลังเหนือธรรมชาติของตัวเอกในหนังเรื่อง Carrie เกิดขึ้นพร้อมกับการมีประจำเดือน นรีแพทย์ชาวอังกฤษ ดร.แม็ทธิวส์ ดันแคน เคยเขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับประจำเดือนว่ามันเป็นเหมือน “ธงแดงหน้างานประมูล ที่บ่งบอกว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นข้างใน”