วันศุกร์, ธันวาคม 29, 2549

Cast Away: การเดินทางสู่การเติมเต็มทางจิตวิญญาณ


ในนิยายขนาดสั้นเรื่อง The Metamorphosis ผลงานคลาสสิกที่ถ่ายทอดแนวคิดปรัชญาเชิง existentialism (1) เอาไว้อย่างเด่นชัด ผู้แต่ง ฟรานซ์ คาฟค่า ได้เล่าถึงวิบากกรรมของตัวเอก เกรกอร์ แซมซา เซลส์แมนหนุ่มผู้กลายร่างเป็นแมลงยักษ์ เพื่อตีแผ่ประเด็นเกี่ยวกับความยากลำบากแห่งการดำรงชีวิต วิธีของเขาคือการกำหนดให้ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว (ถูกขังอยู่ในห้อง) ปรับตัวเองให้เข้ากับร่างกายแบบใหม่ (หัดเดินด้วยขาหลายข้าง) และตระหนักถึงความแปลกแยกจากสังคม (ถูกครอบครัวรังเกียจจากรูปลักษณ์ภายนอกอันชวนให้ขยะแขยง) ก่อนสุดท้าย เกรกอร์ แซมซา จะจบชีวิตลงอย่างอนาถด้วยโรคติดเชื้อ แถมยังถูกแม่บ้านโยนศพลงถังขยะอย่างไม่แยแสอีกด้วย

Cast Away ผลงานกำกับของ โรเบิร์ต เซเมคิส พยายามสะท้อนแนวคิดเชิง existentialism เอาไว้ด้วยเช่นกันผ่านโครงเรื่องซึ่งไม่แตกต่างจากงานเขียนของคาฟค่าสักเท่าไหร่ เกี่ยวกับชายที่ติดเกาะร้างอยู่ตามลำพัง เขาต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ แปรสภาพทั้งโดยรูปลักษณ์ภายนอก (น้ำหนักที่ลดลง หนวดเคราที่เพิ่มขึ้น) และจิตวิญญาณภายใน ก่อนจะกลับคืนสู่โลกศิวิไลซ์อีกครั้งเพื่อเผชิญหน้ากับความจริงอันสะเทือนใจ

ถึงแม้สุดท้ายแล้วเซเมคิสจะไม่ได้ให้คำตอบแก่ปัญหาชีวิตเช่นเดียวกับคาฟค่า แต่จุดจบของตัวเอกใน Cast Away กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังมากกว่า The Metamorphosis อย่างเห็นได้ชัด

Cast Away ก่อร่างขึ้นด้วยการลงโทษมนุษย์อย่างปราศจากสาเหตุ เพื่อโยนเขาเข้าสู่สถานการณ์ที่จะนำมาซึ่งการตรวจสอบตัวตนและค้นหาความหมายแห่งการดำรงชีวิต นอกจากนั้นบทลงโทษ ชัค โนแลนด์ (ทอม แฮงค์) ยังเจือปนอารมณ์เยาะหยันอยู่ในที เนื่องจากเขาทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเฟ็ดเอ็กซ์ผู้เทิดทูนความสำคัญของเวลาในทุกนาที ดังนั้นเมื่อเขาต้องมาติดเกาะอยู่ตามลำพัง สถานที่ซึ่งเวลา ‘หยุดอยู่กับที่’ ผู้กำกับเซเมคิสจึงถือโอกาสล้อเลียนความไร้ประโยชน์ของนาฬิกาและเพจเจอร์ที่ชัคพกติดตัวไปทุกหนแห่งแบบทันควัน ต่อมาขณะกำลังวางแผนหนีออกจากเกาะ ชัคได้กล่าวซ้ำประโยคที่ตนเองเคยพูดเอาไว้เกี่ยวกับความสำคัญของเวลา แล้วก็นึกขำตนเอง… ตลอดสี่ปีแห่งความโดดเดี่ยวบนเกาะร้าง ชัคได้ค้นพบความจริงว่า เวลาไม่ได้มีความหมายในตัวเอง หากแต่เกิดขึ้นจากการนิยามของผู้คน สังคม การงาน ตลอดจนปัจจัยรอบข้างอื่นๆต่างหาก

จังหวะหนังก็สะท้อนสำนึกอันแปรเปลี่ยนไปของชัคในเรื่องเวลาเอาไว้อย่างชัดเจน ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องอันแตกต่าง จากวิธีตัดภาพแบบฉับไว เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวในช่วงแรกของหนัง เช่น ฉากที่กล้องตามติดพัสดุชิ้นหนึ่งจากอเมริกาไปรัสเซีย เสริมส่งเข้ากับดนตรีร็อคแอนด์โรลด์แสนเร้าใจ ไปสู่การทอดอารมณ์อ้อยอิ่งในช่วงติดเกาะและการกลับคืนสู่โลกศิวิไลซ์ ซึ่งโดดเด่นด้วยวิธีตั้งกล้องนิ่ง การแพนกล้องอย่างมั่นคงแทนการใช้สเตดิแคม แต่ละช็อตจะมีความยาวมากขึ้น ผนวกเข้ากับดนตรีประกอบไหลเอื่อย อ่อนหวานตามจังหวะเครื่องสายเพื่อสะท้อนให้เห็นความด้อยค่าลงของเวลา จากการแข่งขันกับทุกจังหวะนาที (ฉากแยกสินค้าในรัสเซีย) ไปสู่การนับเวลาตามวัน เดือน ปี (คำบรรยายและรอยสลักบนหินที่เกาะร้าง)

ไม่เพียงชัคจะเริ่มตั้งคำถามต่อความหมายของเวลา รวมถึงชีวิตที่ต้องวิ่งแข่งกับเวลา เท่านั้น แต่ขณะติดเกาะอยู่ตามลำพัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีนิยามในตัวเองอยู่แล้ว เช่น รองเท้าสเก๊ตน้ำแข็ง วีดีโอเทป และชุดราตรี ก็ล้วนถูกชัคนำมาดัดแปลงและตั้ง ‘นิยาม’ ให้พวกมันใหม่จนกลายเป็น มีด/ขวาน เชือก และแหจับปลาตามลำดับ โดยในช่วงแรกๆชัคทุ่มเทความพยายามทั้งหมดเพียงเพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางปัญหาเรื่องน้ำดื่ม อาหาร และที่พักอาศัย แต่เมื่อทุกอุปสรรคถูกสะสางลงได้ในที่สุด ชัคก็เริ่มรู้สึกถึงความโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา จนทำให้เขาต้องสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาจากลูกวอลเลย์บอลเพื่อพูดคุยด้วย

หลังจากนั้นคำถามซึ่งผู้ชมเริ่มสงสัยจึงไม่ได้อยู่ที่ชัคจะมีน้ำกินเพียงพอหรือเขาจะก่อไฟได้หรือไม่ แต่อยู่ที่เขาจะทนใช้ชีวิตบนเกาะร้างได้นานแค่ไหนโดยปราศจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ตามแนวคิดเชิง existentialism ความโดดเดี่ยวสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน คือ ความโดดเดี่ยวระหว่างบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาในอันที่จะรักและเป็นที่รักของบุคคลอื่น ความอ้างว้างระหว่างบุคคลอาจเกิดขึ้นเมื่อเราสูญเสียคนที่เรารักไป หรือเมื่อเราต้องอยู่คนเดียวตามลำพัง มันเป็นปฏิกิริยาโหยหาปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ซึ่ง ‘ช่องว่าง’ ชั่วคราวดังกล่าวสามารถเติมเต็มได้ด้วยการหาคู่ครอง หรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย

ดังนั้นเพื่อตอกย้ำความเปล่าเปลี่ยวระหว่างบุคคลของชัคบนเกาะร้าง ตลอดครึ่งชั่วโมงแรกของ Cast Away คนดูจึงได้เห็นชัคถูกล้อมรอบไปด้วยเพื่อนร่วมงาน หญิงคนรักชื่อ เคลลี่ (เฮเลน ฮันท์) และครอบครัว โดยเฉพาะในฉากงานเลี้ยงคริสต์มาส จนทำให้ดูราวกับว่าชีวิตของชัคครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมแล้ว แต่นั่นเป็นความสุขที่แท้จริงหรือ? ข้อกังขาดังกล่าวนำเราไปสู่ ความโดดเดี่ยวทางจิตวิญญาณ หรือความรู้สึกว่างเปล่าที่ไม่อาจเติมเต็มได้โดยบุคคลอื่น แต่จะต้องเกิดขึ้นจากการค้นพบภายในเท่านั้น เนื่องจากนักทฤษฎี existentialism มีความเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์มีความสมบูรณ์พร้อมจากภายในแล้ว ทั้งในด้านจิตวิทยาและสรีรศาสตร์ การอาศัยอยู่ในร่างกายดังกล่าวจึงทำให้มนุษย์แต่ละคนแปลกแยกและแตกต่างจากคนอื่นๆ

ความโดดเดี่ยวทางจิตวิญญาณไม่สามารถรักษาได้ด้วยความรัก ไม่ว่ารักนั้นจะสมบูรณ์พร้อมแค่ไหนก็ตาม มันทำให้เรารู้สึกอ้างว้าง แม้จะถูกห้อมล้อมไปด้วยคนรักและญาติสนิทมิตรสหาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ช่องว่างดังกล่าวถูกเติมเต็ม ความรู้สึกว่างเปล่า ขาดแคลน ไม่เพียงพอ ไม่สมบูรณ์ หรือเปลี่ยวเหงาก็จะมลายหายไป และถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกพอใจ อิ่มเอิบ และเติมเต็ม ประสบการณ์ดังกล่าวจะทำให้เรามองความรักในแง่มุมที่แตกต่าง เลิกที่จะไขว่คว้าหาคู่ครองมาเติมเต็มช่องว่างทางจิตวิญญาณของตนเอง และสามารถรักบุคคลอื่นได้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ นอกจากนั้นการสูญเสียคนรักไปก็ไม่สามารถทำให้เราหวนกลับสู่ความโดดเดี่ยวทางจิตวิญญาณได้อีก (2)

บทเรียนที่ชัคได้รับจากการติดเกาะเป็นเวลาสี่ปี คือ การเอาชีวิตรอดนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การมีชีวิตอยู่ต่างหากที่ยากเย็นแสนเข็ญและเต็มไปด้วยความซับซ้อน แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ชัคตัดสินใจหนีออกจากเกาะ คือ เพื่อเติมเต็มช่องว่างในความโดดเดี่ยวระหว่างบุคคล แต่ขณะเดียวกันประสบการณ์ติดเกาะดังกล่าวก็ทำให้เขาได้สำรวจลึกถึงตัวตนภายใน นำไปสู่การเติมเต็มทางจิตวิญญาณ… วิธีที่ชัคเฝ้ามองดูรูปเคลลี่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันบ่งบอกถึงอาการโหยหาความรักที่หลุดลอยไป ส่วนความหวังว่าได้กลับไปหาเธออีกครั้งก็ทำให้ชัคมีกำลังใจยืนหยัดต่อสู้ต่อไป อาจกล่าวได้ว่าชัคกำลังใช้ (ภาพ) เคลลี่เพื่อเติมเต็ม ‘ช่องว่าง’ ให้กับชีวิตของเขาบนเกาะ เช่นเดียวกับการตัดสินใจเก็บห่อพัสดุเฟ็ดเอ็กซ์กล่องหนึ่งเอาไว้เป็นปริศนาโดยไม่เปิดออกดูเพื่อมอบความหวังให้แก่อนาคต เปิดกว้างสำหรับโอกาสที่จะได้นำพัสดุดังกล่าวกลับไปส่งคืนในโลกศิวิไลซ์อีกครั้ง สัญลักษณ์ปีกนกบนกล่องเทียบได้กับอิสรภาพซึ่งชัคปรารถนา การถูก ‘ขังเดี่ยว’ ของชัค มองเผินๆอาจเปรียบเสมือนบทลงโทษ แต่สุดท้ายแล้วมันกลับทำให้เขาได้ค้นพบบทเรียนชีวิตครั้งยิ่งใหญ่

ชัคสร้างวิลสันขึ้นมานอกจากจะเพื่อเป็นเพื่อนคุยแล้ว ยังเพื่อยืนยันตัวตนของเขาบนโลกใบนี้ เพื่อสร้างนิยามให้แก่ตัวเอง และที่สำคัญความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูกวอลเลย์บอลยังกลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนการเปิดใจเข้าเรียนรู้ตัวตนจากภายในของชัคอีกด้วย เนื่องจากวิลสันถือกำเนิดขึ้นมาจากเลือดของชัค ก่อนจะค่อยๆแปรเปลี่ยนสภาพไปตามผู้ให้กำเนิดเมื่อกาลเวลาผ่านไป (กิ่งไม้ที่ถูกเสียบเพิ่มขึ้นมาเทียบได้กับหนวดเคราและผมเผ้ารุงรังของชัค) มันเปรียบได้กับขั้นตอนการเติมเต็มทางจิตวิญญาณของชัคเพื่อเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับการเดินทางกลับสู่สังคมอีกครั้งในรูปลักษณ์ใหม่ทั้งรูปธรรมและนามธรรม การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของชัคที่จะ ‘ปล่อย’ วิลสันให้ล่องลอยไปในมหาสมุทรโดยเขา ‘เลือก’ ที่จะคว้าเส้นเชือกเพื่อดึงตัวเองกลับไปยังแพพิสูจน์ถึงความพร้อมของชัค… ความเศร้าโศกของชัคเกิดจากการสูญเสียวิลสันในฐานะเพื่อน (ความโดดเดี่ยวระหว่างบุคคล) ไม่ใช่ในฐานะส่วนหนึ่งของตัวตนเขา อีกไม่กี่ซีนต่อมาชัคก็แสดงถึงความโดดเดี่ยวระหว่างบุคคลดังกล่าวด้วยการยื่นมือไปยังเรือบรรทุกสินค้าและพูดชื่อเคลลี่ขึ้นมาอย่างแผ่วเบา

ฉากการหวนคืนสู่อ้อมกอดทางสังคมของชัคถูกนำเสนอให้แตกต่างจากช่วงครึ่งชั่วโมงแรก ชัคไม่ได้ถูกห้อมล้อมด้วยเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือ คนรัก ฉากพิธีต้อนรับการกลับมาของเขาถูกฉายผ่านจอทีวี ผู้ชมจะได้เห็นฝูงชนเป็นเพียงแบ็คกราวด์ผ่านกระจก ขณะชัคเดินเข้ามาในห้องซึ่งว่างเปล่าตามลำพังเพื่อพบเคลลี่ตามนัด แต่สุดท้ายเขากลับได้แต่มองดูเธอผ่านกระจก เช่นเดียวกัน ในฉากงานเลี้ยงต้อนรับของกลุ่มเพื่อนฝูง คนดูจะไม่ได้สัมผัสบรรยากาศในงานเลี้ยง เหมือนงานวันคริสต์มาสช่วงต้นเรื่อง แต่มันกลับเริ่มต้นเมื่อแขกเหรื่อเริ่มทยอยกันออกจากงาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นความแปลกแยกของชัคในฐานะมนุษย์ที่สมบูรณ์จากภายใน ผู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชนเพื่อสัมผัสถึงความรู้สึกเติมเต็มอีกต่อไป ก่อนอารมณ์โหยหาความรักจะนำเขาไปหาเคลลี่ แต่ความผิดหวังที่ได้รับในเวลาต่อมาก็ไม่ได้ทำให้เขาสูญเสียกำลังใจในการดำรงชีวิต เนื่องจากความรักไม่ว่าจะแท้จริงเพียงใด ดังเช่นที่เคลลี่กับชัคมีให้แก่กัน ไม่ได้ทำให้มนุษย์สมบูรณ์แบบ แต่เป็นการเติมเต็มทางจิตวิญญาณต่างหาก

ไม่มีใครบอกว่าการใช้ชีวิตจะเรียบง่าย ปราศจากอุปสรรค ขวากหนาม และความผิดหวัง สิ่งสำคัญ คือ มนุษย์จำต้องตระหนักในตัวตนโดยไม่หันไปพึ่งพาจากบุคคลอื่น ความสูญเสียสามารถเรียกกลับคืน หรือ ทดแทนกันได้ ตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจอยู่ เพราะใครจะรู้ วันรุ่งขึ้น “กระแสลมอาจจะเปลี่ยนทิศทาง” ก็ได้

เช่นเดียวกับทฤษฎี existentialism ซึ่งมุ่งเน้นการโยนคำถามให้ปัจเจกชนมากกว่าจะยื่นคำตอบให้อย่างตรงไปตรงมา เพราะมันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการมีอยู่มากกว่าการล่วงรู้ ผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมคิส ไม่ได้สรุปชะตาชีวิตข้างหน้าของ ชัค โนแลนด์ ให้แน่ชัดลงไป คนดูที่เชื่อมั่นในแนวทางโรแมนติกอาจเดินออกจากโรงหนังอย่างเบิกบานใจ ด้วยการอนุมานฉากจบว่าชัคได้มองไปยังทิศทางบ้านของเบททิน่า (ลารี่ ไวท์) หญิงสาวผู้กำลังจะกลายเป็นรักใหม่ของเขา (หนังแสดงให้เห็นตอนต้นเรื่องว่าสามีของเธอแอบมีสัมพันธ์ลับอยู่กับผู้หญิงอีกคนหนึ่งในรัสเซีย) เขาจะขับรถกลับไปบ้านเธอ พูดคุย ทำความรู้จัก และตกหลุมรักกันในที่สุด แต่ Cast Away ไม่ได้ทำให้การตีความดังกล่าวเด่นชัดจนเกินไป นอกจากรอยยิ้มเล็กๆที่ผุดขึ้นบนใบหน้าของชัคก่อนที่จอหนังจะค่อยๆเฟดออกแล้วกลายเป็นเครดิตท้ายเรื่อง

ภาพสี่แยกกลายมาเป็นภาพสุดท้ายของหนังก็เพื่อเน้นย้ำแนวคิด existentialism ว่ามนุษย์มีอิสระเสรีในการเลือกทางเดิน ทุกสิ่งที่ (จะ) เกิดขึ้นในชีวิต และตัวตนของเขาล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตัดสินใจ หรือการกระทำของเขาอย่างแท้จริง โดยพระเจ้า คำที่ไม่ถูกเอ่ยอ้างถึงเท่าใดนัก หรือในที่นี้ คือ เบททิน่า ตัวแทนของนางฟ้าจากสัญลักษณ์ปีกนกสองข้างซึ่งปรากฏอยู่บนกล่องพัสดุ ท้ายรถกระบะ และเป็นต้นแบบของอนุสาวรีย์เล็กๆที่บ้านไร่ ได้เพียงแต่แสดงตัวเลือกทั้งหลายให้แก่มนุษย์เท่านั้น ดุจดังเบททิน่าผู้อธิบายให้ชัคฟังว่าถนนแต่ละเส้นจะนำเขาไปพบเจอกับสิ่งใดบ้าง จากนั้นจึงปล่อยให้การตัดสินใจขั้นสุดท้ายตกอยู่ที่ปัจเจกชน

ด้วยเหตุนี้รอยยิ้มเล็กๆบนใบหน้าของชัคในฉากสุดท้ายอาจไม่ได้หมายถึงโอกาสสำหรับการพบรับใหม่ แต่เป็นความอิ่มเอิบใจในการเรียนรู้ว่าชีวิตของเขาไม่จำเป็นต้องจบสิ้นลงหลังสูญเสียเคลลี่ การเดินทางด้านจิตวิญญาณของชัคจากความว่างเปล่า โดดเดี่ยว ไปสู่ความสงบสุขจากภายใน และการ ‘เติมเต็ม’ ทางจิตวิญญาณ ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ครบวงจรแล้ว ถึงแม้อนาคตข้างหน้าอาจดูไม่แน่นอน ไร้จุดหมาย แต่ก็เปิดกว้างสำหรับทางเลือกอันหลายหลาก… บางทีนี่เองที่ทำให้ชีวิตคุ้มค่ากับการดำรงอยู่

หมายเหตุ

1.Existentialism เป็นกลุ่มแนวคิดทางทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งยากที่จะจำกัดความหมายลงไปแบบจำเพาะเจาะจง เนื่องจากแต่ละแนวคิดต่างก็คาบเกี่ยวและขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง โดยทั่วๆไปแล้วเราสามารถแบ่งแยก existentialism ออกได้เป็นสามแนวทางด้วยกัน คือ เชิงปรัชญา ศาสนา และศิลปะ กลุ่มแรกเชื่อในการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ตลอดจนทุกสิ่งรอบข้าง ซึ่งใกล้เคียงกับความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป เพียงแต่นักทฤษฎี existentialism แยกแยะตัวเองออกมาด้วยคำอธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านั้นล้วนไร้ซึ่ง ‘ความหมาย’ ในตัวเอง เพราะมนุษย์เป็นคนตั้งนิยามให้แก่สิ่งต่างๆ การตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวดทางจิตใจ ขณะเดียวกันการประพฤติตนตามแนวทางชีวิตอันไร้ซึ่งความหมายต่อไปก็ยิ่งจะทำให้เราต้องทนทุกข์ทรมาน แต่ท่ามกลางคำนิยามอันหดหู่ หม่นหมองนี้ นักทฤษฎีได้เสนอทางออกเอาไว้ว่า existentialism คือ จุดเริ่มต้นในการช่วยมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยพัฒนาการดังกล่าวต้องเกิดขึ้นจากภายในเท่านั้น สำหรับกลุ่มคริสเตียนเองก็ยอมรับว่าแนวคิด existentialism อาจทำให้ศรัทธาในพระเจ้าสั่นคลอน แต่กระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงอยู่ดี ก่อนจะสรุปไปในทางเดียวกันว่า คำตอบของมนุษย์ต่อปัญหาทั้งหลายควรพัฒนามาจากภายใน (หรือศรัทธานั่นเอง) ทฤษฎี existentialism ถูกกลุ่มผู้นิยมศิลปะหรือวรรณกรรมนำไปตีความในเชิงต่อต้านพระเจ้า เด่นชัดสูงสุดจากงานเขียนของ ฌอง-พอล ซาร์ตร์ ซึ่งยกย่องปัจเจกชนในฐานะผู้มีอิสระเสรีที่จะลิขิตชีวิตตามสามัญสำนึกหรือความมุ่งมั่น ผ่านการกระทำซึ่งปราศจากแรงควบคุมของสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นตัวตน ซาร์ตร์เชื่อว่าพระเจ้าตายแล้วและระบบศีลธรรมทั้งหลายควรก่อร่างขึ้นมาจากแนวคิดดังกล่าว (อ้างอิงจากหนังสือ The Handbook to Literature โดย วิลเลี่ยม ฮาร์มอน และ ซี. ฮิวจ์ ฮอลแมน)

2. แนวคิดเกี่ยวกับความโดดเดี่ยวอ้างอิงจากหนังสือ Opening to Grace: Transcending Our Spiritual Malaise โดย เจมส์ พาร์ค

วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 21, 2549

Jules and Jim: ชีวิตที่ปราศจากรูปแบบ



ตลอดอาชีพนักทำหนังที่ครอบคลุมช่วงเวลายาวนานกว่าสามทศวรรษ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ มักถูกมองว่าเป็นผู้กำกับตลาดและมีหัวคิดค่อนข้าง ‘อนุรักษ์นิยม’ สูงสุดในบรรดากลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส เหตุผลมากมายถูกหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว บ้างก็ว่าเพราะเขานิยมนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงในลักษณะวัตถุทางเพศที่น่าหลงใหล บ้างก็ว่าเพราะเขาไม่สนใจจะวิพากษ์สังคมและการเมืองอย่างดุดัน บ้างก็ว่าเพราะหนังของเขาปราศจากสไตล์แปลกใหม่ ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานในยุคท้ายๆ บ้างก็ว่าเพราะเขาเน้นย้ำแต่ประเด็นสัมพันธภาพระหว่างชายหญิง ที่ปราศจากนัยยะคลุมเครือ หรือความโจ่งแจ้งทางกามารมณ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อหนังของทรุฟโฟต์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับหนังของผู้กำกับคลื่นลูกใหม่คนอื่นๆ อย่าง อแลง เรสเน่ส์ หรือ ฌอง-ลุค โกดาร์ด คำว่า ‘หัวโบราณ’ หรือ ‘เดินตามขนบดั้งเดิม’ จึงมักจะถูกเอ่ยถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เปลือกนอกอันเรียบง่ายของเรื่องราวรักสามเส้าระหว่างชายสองหญิงหนึ่ง Jules and Jim ภาพยนตร์มาสเตอร์พีซชิ้นเยี่ยมของทรุฟโฟต์ กลับซุกซ่อนแนวคิดแหกกฎเกี่ยวกับประเด็นความรักและการแต่งงานเอาไว้ภายใน ด้วยการสะท้อนรูปแบบ ‘สามเส้า’ ว่าเป็นอุดมคติแห่งรัก ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับมาตรฐาน ‘คู่รัก’ แบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ยอมรับ และคุ้นเคยจากการตอกย้ำของหนังฮอลลีวู้ดจำนวนมาก ขณะเดียวกัน องค์ประกอบสำคัญที่แบ่งแยก Jules and Jim ออกจากหนังฝรั่งเศสเรื่องอื่นๆ ในยุคนั้น ได้แก่ การสร้าง แคทเธอรีน (ฌานน์ มอนโร) ตัวเอกฝ่ายหญิง ให้เป็นวิญญาณอิสระ ผู้พยายามปลดปล่อยตัวเองจากโครงสร้างชีวิตตามประเพณีนิยม

แคทเธอรีนเป็นตัวละครที่สร้างความอึดอัด สับสน ให้แก่นักวิจารณ์และคนดูทั่วไป เนื่องด้วยแง่มุมลึกลับและคลุมเครือทางศีลธรรมในบุคลิกของเธอ บางคนขนานนามเธอเป็นแม่มด บางคนมองว่าเธอเป็นผู้หญิงอันตราย (femme fatale) และบางคนถึงขั้นตีตราเธอเป็นคนโรคจิต ผู้หญิงสำส่อน หรือไม่ก็ผู้หญิงกินผัว คำวิเคราะห์เหล่านี้ไม่เที่ยงตรงและยุติธรรมต่อตัวละครสักเท่าไหร่ เนื่องจากมันเป็นมุมมองซึ่งเน้นย้ำไปยัง ‘การกระทำ’ ของเธอ มากกว่าความหมายแฝงที่เธอ ‘นำเสนอ’ นั่นคือ ชีวิตเหนือกรอบศีลธรรม บรรทัดฐาน และความคาดหวัง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง แคทเธอรีนเปรียบดังรูปแบบแห่งพลังอันน่าตื่นเต้น เหนือจริง ที่ช่วยฉีดกระตุ้นชีวิตด้วยอารมณ์เข้มข้น รุนแรง

ผู้คนโดยทั่วไปมักหลงใหลในงานศิลปะ เนื่องจากพวกมันส่วนใหญ่สะท้อนคุณภาพ/อารมณ์เข้มข้น เหนือจริง ในโลกของ Jules and Jim ศิลปะ คือ ปัจจัยที่ส่งอิทธิพลสำคัญ หนังอ้างอิงบ่อยครั้งถึงศิลปิน อาทิ เชคสเปียร์, ปิคัสโซ่, โมซาร์ท, โบเดแลร์ และเกอเธ่ ทั้ง จูลส์ (ออสการ์ แวร์เนอร์) และ จิม (เฮนรี่ แซรร์) ต่างก็เป็นนักเขียน ซึ่งชื่นชม ชื่นชอบผลงานศิลปะในแทบทุกแขนง ตั้งแต่ปฏิมากรรม ละครเวที บทกวี ภาพวาด ไปจนถึงวรรณกรรม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทั้งสองจะประทับใจในผลงานศิลปะอันเลอเลิศบางชิ้น จนถึงขนาดติดตาตรึงใจไปนาน ดังเช่น รูปปั้นที่พวกเขาพบเห็นบนเกาะในช่วงต้นเรื่อง ชีวิตของจูลส์กับจิมกลับ ‘ปลอดภัย’ อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมาตลอด จนกระทั่งพวกเขาได้พบ แคทเธอรีน หญิงสาวผู้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับความจริงเข้าด้วยกัน

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ จูลส์กับจิมสนใจและหลงใหลแคทเธอรีน ได้แก่ คุณภาพในเชิงศิลปะของเธอ สำหรับพวกเขา (รวมเลยไปถึงคนดู) แคทเธอรีนเปรียบเสมือนงานปฏิมากรรมหรือวรรณกรรมชั้นยอด และรายละเอียดเชื่อมโยงสมมุติฐานดังกล่าวก็สะท้อนชัดในหนังทั้งเรื่อง ตัวอย่างเช่น การปรากฏตัวเป็นครั้งแรกของแคทเธอรีนถูกประกอบกันขึ้นด้วยชุดภาพโคลสอัพเพื่อเปรียบเทียบเธอกับ ‘รูปปั้น’ ซึ่งชายหนุ่มทั้งสองหลงใหล “มันช่างเหนือความคาดหมายในทุกๆ ทาง พวกเขาเดินชื่นชมมันไปรอบๆ โดยไม่พูดไม่จากันเลย” เสียงคนเล่าเรื่อง (ไมเคิล ซาบอร์) บรรยายถึงความรู้สึกของจูลส์กับจิม เมื่อได้เห็นรูปปั้นเป็นครั้งแรก จูลส์พูดแซวว่า แคทเธอรีนมีอาชีพสอน ‘บทละคร’ เชคสเปียร์ และนั่นเองคือสิ่งที่เธอกระทำกับสองหนุ่ม เธอฉีดกระตุ้นชีวิตของพวกเขาด้วยดราม่าและความเหนือจริง แบบเดียวกับการอ่านบทละครเชคสเปียร์ บุคลิก “เหนือความคาดหมายในทุกๆ ทาง” ของเธอดำเนินต่อเนื่องไปตลอดช่วงครึ่งแรก (ตบหน้าจูลส์/โกงเกมวิ่งแข่ง) ก่อนจะพุ่งขึ้นสูงถึงขีดสุดในฉากที่เธอกระโดดจากสะพานลงไปในแม่น้ำ ภาพแคทเธอรีนดำดิ่งสู่ผืนน้ำเบื้องล่างสร้างแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ให้สองหนุ่ม จนพวกเขาต้องถ่ายทอดมันออกมาเป็น ‘ภาพวาด’ ในเช้าวันรุ่งขึ้น เธอยืนกรานจะอ่าน ‘หนังสือ’ Elective Affinities ของ เกอเธ่ ในคืนที่เธอกับจิมสร้างสัมพันธ์กันเป็นครั้งแรก นอกจากนั้น หนังยังก้าวไปถึงขั้นพยายามวาดภาพเหมือนของเธอ ด้วยเทคนิคการหยุดภาพนิ่ง (freeze-frame) ในซีเควนซ์ที่ตัวละครทั้งสามเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนยังชายทะเลอีกด้วย คุณสมบัติของแคทเธอรีนในการกระทำทุกสิ่งเหนือความคาดหมาย (และเหตุผล) ถือกำเนิดขึ้นควบคู่กับแง่มุมลึกลับ ดำมืด เช่น เมื่อเธอลงมือเผาจดหมายปริศนาอย่างไม่เขินอายต่อหน้าจิม ก่อนชุดกระโปรงจะลุกติดไฟ หรือเมื่อเธอเทของเหลวบางอย่างลงในอ่างแล้วปรากฏควันขาวพวยพุ่งออกมา และการปลอมแปลงตน (แต่งตัวเป็น ‘โธมัส’)

แคทเธอรีนเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของชีวิตที่ปราศจากรูปแบบ หรือข้อจำกัด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเธอถึงได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัว ซึ่งเป็นวงจรชีวิตตามขนบธรรมเนียม ในทางตรงกันข้าม จูลส์กลับเป็นตัวละครที่ผูกพันเชื่อมโยงกับ ‘ครอบครัว’ มากกว่าใครๆ พ่อแม่ของเขาได้รับการพูดถึงอย่างเด่นชัดผ่านคำบอกเล่าของแคทเธอรีน บุคลิกติดดิน อ่อนโยน อ่อนไหว และไม่ค่อยทะเยอทะยานของจูลส์ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจได้ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของความสัมพันธ์ ที่จะขอแคทเธอรีนแต่งงานและสร้างครอบครัว ส่วนจิมกลับไม่ค่อยแน่ในชีวิตสมรส หลังสงครามสิ้นสุด เขาได้เขียนจดหมายหาจูลส์โดยมีเนื้อความท่อนหนึ่งว่า “นายคิดอย่างไร ฉันควรจะแต่งงานด้วยดีไหม ฉันควรจะมีลูกดีไหม” จูลส์เป็นชายหนุ่มที่อ่อนปวกเปียกและดูเป็นเบี้ยล่าง (พร้อมสรรพด้วยภาพลักษณ์แบบหนุ่มยุโรปผมบลอนด์ นัยน์ตาเศร้าสร้อย) เขาอยากจะแต่งนิยายเกี่ยวกับความรักโดยมีตัวละครเป็นแมลงตัวเล็กๆ เขาพูดถึงแคทเธอรีนในฐานะราชินี ส่วนจิมกลับมีภาพลักษณ์แบบวีรบุรุษโรแมนติก เขาหล่อเหลา คมเข้ม น้ำเสียงทุ้มต่ำ และมีนิสัยรักการผจญภัย พวกเขาถูกตั้งฉายาให้เป็น ดอน กีโฮเต้ กับ แซนโช แพนซ่า บทเปรียบเทียบดังกล่าวช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใด จิมจึงประสบความสำเร็จในรักโรแมนติกกับแคทเธอรีน ผู้สลัดทิ้งทุกคำเรียกร้องของชีวิตเรียบง่ายและความคาดหวังแห่งสังคม ส่วนจูลส์กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่ขณะเดียวกัน จิมกับแคทเธอรีนเองก็ล้มเหลวในความพยายามจะสร้างครอบครัว ส่วนจูลส์กลับประสบความสำเร็จ แม้จะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นก็ตาม

จูลส์พยายามจะดึงแคทเธอรีนลงมาสู่ชีวิตครอบครัว แต่สำหรับแคทเธอรีน รูปแบบดังกล่าวขัดแย้งกับบุคลิกและจิตวิญญาณของเธอ ครั้งหนึ่งจิมเคยถามจูลส์ถึงคุณสมบัติ ‘ลูกผสม’ ของแคทเธอรีน คำตอบที่เขาได้รับ คือ “พ่อของเธอเป็นชนชั้นสูง แม่ของเธอเป็นชนชั้นแรงงาน พ่อของเธอสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่า แม่ของเธอเป็นคนอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเพิกเฉยต่อมาตรฐานปานกลาง” ชีวิตแต่งงานของเธอกับจูลส์ยืนยาวอยู่จนกระทั่งพวกเขาเดินทางครบวงจร หลังจากทั้งสองมีลูกสาวชื่อ ซาบีน ด้วยกันแล้ว เธอก็บอกกับจูลส์ว่า “ฉันคลอดลูกสาวให้คุณแล้ว มันเพียงพอแล้วสำหรับฉัน บทบาทช่วงนี้ของเราได้ปิดฉากลงแล้ว เราแยกห้องนอนกันเถอะ… ฉันขออิสรภาพของฉันคืน”

ไม่เพียงการวางบุคลิกแคทเธอรีนให้แตกต่างเท่านั้น ที่สามารถทำให้เรื่องราวพื้นๆ ใน Jules and Jim กลับกลายเป็นความท้าทายแห่งยุคสมัย ทั้งนี้เพราะตัวหนังยังได้สะท้อนภาพการแต่งงานและชีวิตครอบครัวในลักษณะแปลกแยกจากหลักความเชื่อทั่วไปอีกด้วย กล่าวคือ ขณะที่หนังรักของฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่นิยมมองข้ามความขัดแย้งระหว่างชีวิตแต่งงานกับความรักโรแมนติก ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วย่อมรุนแรง เข้มข้น และไม่ยืนยาว แล้วนำเสนอแนวคิดว่า ความรักโรแมนติก คือ จุดเริ่มต้นของชีวิตแต่งงานอันยืนยาวชั่วกาลนาน ผ่านภาพสะท้อนของพิธีมงคลสมรส (หรือแนวโน้มว่าจะมีพิธีมงคลสมรส) ในฐานะบทสรุปแห่งแฟนตาซีโรแมนติก โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงชีวิต ‘หลังจาก’ นั้น (ความเข้าใจที่ตรงกันของคนดูส่วนใหญ่ คือ “จากนั้นพวกเขาก็ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป”) Jules and Jim กลับเลือกจะโต้แย้งการเหมารวมดังกล่าวด้วยบทสำรวจชีวิตโรแมนติกอันละเอียดอ่อนหลังพิธีแต่งงาน พร้อมทั้งสื่อนัยแฝงอันน่าตระหนกว่า แท้จริงแล้วชีวิตสมรสหาใช่จุดสูงสุดแห่งรักโรแมนติก ตรงกันข้าม มันกลับกลายเป็นจุดจบแห่งโรแมนซ์ต่างหาก

หลักฐานเด่นชัดต่อข้อสรุปข้างต้น คือ แทนที่จะแสดงให้เห็นพิธีแต่งงาน ทรุฟโฟต์กลับเลือกซ้อนภาพใบหน้าของจูลส์ ขณะบอกจิมทางโทรศัพท์ว่าเขากำลังจะแต่งงาน เข้ากับฟุตเตจการต่อสู้ในสนามรบ ส่งผลให้พิธีสมรส หรือจุดสุดยอดแห่งรักโรแมนติกไม่ได้รับการเน้นย้ำ ส่วนความจริงแห่งสงครามก็กลับโผล่พรวดเข้ามาแทรกกลาง จากนั้น คนดูก็ได้รับทราบผ่านเสียงเล่าเรื่องว่า แคทเธอรีนกับจูลส์ได้ย้ายไปตั้งรกราก (หลังสงครามสิ้นสุด) ณ กระท่อมกลางป่า พร้อมทั้งให้กำเนิดลูกสาวคนหนึ่งชื่อ ซาบีน และแน่นอนว่าชีวิตต่อมาของพวกเขาไม่ได้ลงเอยอย่าง ‘มีความสุขตลอดกาล’

นอกจากจะเป็นจุดจบแห่งโรแมนซ์แล้ว Jules and Jim ยังมองสถาบันครอบครัวว่าเปรียบเสมือนเรือนจำกักขังเสรีภาพแห่งปัจเจกชนอีกด้วย (เช่นเดียวกับในผลงานสร้างชื่อชิ้นแรกของทรุฟโฟต์เรื่อง The 400 Blows ซึ่งเล่าถึงการเดินทางของวิญญาณขบถ ผู้พยายามจะปลดปล่อยตัวตนจากความคาดหวังและค่านิยมทางสังคม) ธีมดังกล่าวค่อนข้างสอดคล้องกับภาพยนตร์ฝรั่งเศสหลายเรื่องในยุค 1950 ซึ่งมักพูดถึงความรักระหว่างตัวเอกกับบุคคลที่ปราศจากสายใยครอบครัว เช่น แม่ม่าย เด็กกำพร้า หรือโสเภณี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แรงปรารถนาที่จะเป็นอิสระของตัวเอกกลับดูคลุมเครือ เนื่องจากหนังเหล่านั้นล้วนมุ่งหน้าไปสู่ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง แทบทั้งสิ้น ซึ่งนั่นย่อมหมายถึง การให้สองคู่รักลงเอยด้วยกันอย่างมีความสุขและสร้างครอบครัวใหม่ขึ้นแทนครอบครัวที่ขาดหายไป

จิมทำให้การค้นหารักโรแมนติกของแคทเธอรีนบรรลุเป้าหมาย สถานะ ‘ผู้หญิงมีพันธะ’ ไม่ได้กลายเป็นอุปสรรค เนื่องจากจูลส์เปิดกว้างทางความคิดและยินยอมมอบภรรยาให้กับเพื่อนรัก ทว่าความพยายามของเธอที่จะสร้างครอบครัวขึ้นใหม่กับจิมกลับลงเอยด้วยความล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งนี้เนื่องจากแคทเธอรีนไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและรูปแบบชีวิตตามมาตรฐาน สุดท้าย Jules and Jim จึงลงเอยด้วยบทสรุปที่แตกต่างจากหนังฝรั่งเศสส่วนใหญ่ก่อนหน้าปรากฏการณ์คลื่นลูกใหม่ นั่นคือ ‘ไม่’ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง… อย่างน้อยก็ในแบบที่คนดูคุ้นเคย

ในโลกของ Jules and Jim ครอบครัวถูกแทนด้วยรูปแบบวงกลมตามแนวคิดพื้นฐานของสถาบัน ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการให้กำเนิดใหม่ (ทายาท) และการเดินวนมาซ้ำรอยทางเดิม (ลูกๆ เติบใหญ่และเริ่มสร้างครอบครัวของพวกเขาเอง) คุณลักษณะดังกล่าวปรากฏชัดเป็นรูปธรรมในฉากสำคัญสองฉาก ได้แก่ ฉากกล้องหมุนวนไปรอบๆ โต๊ะ ที่กระท่อมกลางป่าจากตัวละครหนึ่งไปยังอีกตัวละครหนึ่ง และฉากกล้องแพนอย่างรวดเร็วจากจากจิม ไปยังจูลส์ ซึ่งนั่งอยู่กับซาบีน และวนกลับมาลงเอยยังภาพโคลสอัพของแคทเธอรีน ขณะเดียวกัน การแพนดังกล่าวยังสะท้อนถึงความรักและแรงปรารถนาที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็วของเหล่าตัวละคร เฉกเช่นในเพลง The Whirlwind of Life ที่แคทเธอรีนร้อง ซึ่งบอกเล่าถึงเรื่องราวของสองหนุ่มสาวซึ่งตกหลุมรัก แยกทาง และหวนกลับมารักกันอีก วนเวียนไปมาเช่นนี้ ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างแคทเธอรีนกับจิม อันที่จริง รูปแบบ ‘ม้าหมุน’ ใน Jules and Jim ได้เริ่มฉายแววตั้งแต่ช่วงต้นๆ เรื่องแล้วด้วยซ้ำ เมื่อ เธรีส (มารี ดูบัวส์) ทอดทิ้งจูลส์ไปหาผู้ชายคนใหม่ เธอถามเขาด้วยคำถามแบบเดียวกับที่เธอเคยถามจูลส์กับจิมในสองสามฉากก่อนหน้า (“ขอฉันไปค้างคืนด้วยได้ไหม”) จากนั้นก็เริ่มโชว์กล (สูบบุหรี่แล้วพ่นควันออกมาเหมือนเครื่องจักรไอน้ำ) แบบเดียวกับที่เธอเคยแสดงให้จูลส์ดูในห้อง ซึ่งกล้องได้ตามติดเธอไปวงกลม

ไม่ว่าจะด้วยแก่นวิญญาณที่รักอิสระ หรือธรรมชาติอัน ‘เหนือจริง’ ของเธอก็ตาม แคทเธอรีนดูเหมือนจำต้องต่อสู้ดิ้นรนตลอดเวลากับแรงกดดันที่จะเป็น ‘ปรกติ’ ความพยายามครั้งสุดท้ายของเธอที่จะเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิต คือ เมื่อเธอขับรถไปรอบๆ สวนสาธารณะอันว่างเปล่าหน้าอพาร์ตเมนต์จิม ซิกแซ็กระหว่างต้นไม้ ม้านั่ง และเสาไฟ แต่ไม่สามารถวนรถเป็น ‘วงกลม’ ได้เสียทีเดียว จากนั้น ในฉากต่อมา จิมก็ได้ประกาศข่าวว่าเขาจะแต่งงานกับ กิลแบร์ต (แวนนา เออร์บิโน่) เพราะ “เรายังสามารถมีลูกด้วยกันได้” การปราศจากทายาทสืบสกุล คือ อุปสรรคสำคัญของการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์และเติมเต็มวงจรแห่งชีวิต ดังนั้น ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ความสัมพันธ์รักร่วมเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องต้องห้าม เนื่องจากมันไม่นำไปสู่การผลิตลูกหลานสืบสกุล ความสัมพันธ์ระหว่างจิมกับแคทเธอรีนจึงเปรียบเสมือนความฝันอันล่องลอย เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถมีลูกด้วยกันได้

แคทธารีนล้มเหลวในความรักโรแมนติกกับจูลส์ และถึงแม้ว่าเธอจะประสบความสำเร็จในการสร้างครอบครัวกับเขา (มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน) แต่แรงปรารถนาที่ขัดแย้งกับกรอบและรูปแบบของสังคมภายในตัวเธอก็เริ่มส่งอิทธิพลรุนแรง จนนำไปสู่การคบชู้กับ อัลเบิร์ต (บอริส แบสเซียค) ซึ่งคุกคามแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตสมรสแบบผัวเดียวเมียเดียว ขณะเดียวกัน ความพยายามจะเติมเต็มโรแมนซ์ระหว่างจิมกับแคทเธอรีนก็ประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกัน เนื่องจากธรรมชาติอัน ‘ไม่ถาวร’ ของมัน และสุดท้ายมักลงเอยด้วยการแยกทาง เหมือนคู่รักในเพลง The Whirlwind of Life ส่วนคู่รักที่จะ ‘แก่เฒ่าไปด้วยกัน’ แบบที่แคทเธอรีนเคยพูดกับจูลส์นั้น ก็หาใช่อุดมคติสำหรับแคทเธอรีน เนื่องจากมันปราศจากความรักโรแมนติก ทั้งยังเปรียบเสมือนการประนีประนอมและยอมจำนนแด่ความธรรมดาสามัญอีกด้วย

ฉากจบใน Jules and Jim อาจตีความได้ว่า เป็นความพยายามสุดท้ายของแคทเธอรีนที่จะรักษาสภาพของรักโรแมนติกระหว่างเธอกับจิมเอาไว้ดังเดิม เพราะมันไม่สามารถอยู่รอดได้ตลอดกาลในโลกแห่งความเป็นจริง สมมุติฐานดังกล่าวอาจฟังดูเศร้าสร้อยในเชิงโศกนาฏกรรมอยู่กลายๆ แต่หากเรามองย้อนไปยังภาพลักษณ์ของแคทเธอรีนในฐานะสัญลักษณ์แห่งพลังชีวิตอันปราศจากรูปแบบ ฉากจบดังกล่าวก็จะกลายเป็นการประกาศอิสรภาพ หรือบทเฉลิมฉลองชีวิตเหนือครรลองและกฎระเบียบขึ้นมาทันที เพื่อหลบหนีจากเรือนจำแห่งธรรมเนียมปฏิบัติ แคทเธอรีนตัดสินใจที่จะขับรถพุ่งดิ่งลงแม่น้ำ พร้อมทั้งนำพาจิมไปด้วย เนื่องจากเขาคล้ายคลึงเธอมากกว่าในแง่วิญญาณขบถ แล้วปล่อย จูลส์ หนุ่มเยอรมันผู้กลมกลืนเข้ากับสถาบันครอบครัวได้มากกว่า ให้ต้องอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ในยุคสมัยที่เผด็จการเริ่มแผ่อำนาจเหนือปัจเจกภาพ (ในช่วงท้าย จูลส์กับแคทเธอรีนได้บังเอิญมาพบจิมอีกครั้งที่โรงหนัง ซึ่งกำลังฉายภาพข่าวนาซีเผากองหนังสือ ภาพดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงไปถึง Fahrenheit 451 หนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกของทรุฟโฟต์ได้ เพราะมันเล่าถึงยุคสมัยที่การอ่านหนังสือเป็นเรื่องต้องห้ามและหนังสือทุกเล่มจะต้องถูกจุดไฟเผา นอกจากนั้นหนังยังนำแสดงโดย ออสการ์ แวร์เนอร์ อีกด้วย)

แคทเธอรีนเลือกจิม เพราะเธอตระหนักว่าเขากำลังจะถูกชักจูงเข้าสู่ความมั่นคงแห่งครอบครัวมากขึ้นทุกขณะ จนในที่สุดอาจถูกกลืนกินจิตวิญญาณไปจนไม่เหลือหลอ ส่วนจูลส์กลับถูกเธอทอดทิ้งให้ต้องโดดเดี่ยวอยู่กับผลผลิตแห่งการแต่งงาน (ซาบีน) และกลิ่นอายแห่งกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดทางสังคม ซึ่งไม่อนุญาตให้เขาบดผสมเถ้าอัฏฐิแล้วโปรยมันไปกับสายลมตามใจปรารถนา ขณะจูลส์เดินก้มหน้าลงเนินเขาอย่างเศร้าสร้อยในฉากสุดท้าย เสียงดนตรีของเพลงที่แคทเธอรีนเคยร้อง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวงจรซ้ำซากแห่งชีวิต ก็ค่อยๆ ดังขึ้นมาเหมือนจะตอกย้ำชะตากรรมของเขา สำหรับทรุฟโฟต์ ชีวิตภายใต้รูปแบบ กฎระเบียบ และอำนาจครอบงำนั้นถือเป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่าความตายมากมายนัก

วันจันทร์, ธันวาคม 18, 2549

ออสการ์ 2007 (3): คำพิพากษาของนักวิจารณ์


ช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์สามารถเปลี่ยนแปลงกระแสออสการ์ได้อย่างคาดไม่ถึง หลังคลื่นรางวัลของเหล่านักวิจารณ์โหมกระหน่ำซัดสาดมาระลอกใหญ่ จากนี้ไป ทิศทางของ “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” จะถูกกำหนดโดยคลื่นลูกที่สอง นั่นคือ รางวัลของบรรดาสมาพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะทยอยกันประกาศในช่วงกลางเดือนมกราคมจนถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พวกมันถือเป็นเสาหลักในการคาดเดาออสการ์ที่แน่นอนกว่ารางวัลของพวกนักวิจารณ์ทั้งหลาย เนื่องจากสมาชิกของเหล่าสมาพันธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคณะกรรมการออสการ์ด้วย

หนังสองเรื่องที่ได้พลังกระตุ้นชั้นยอดจากเหล่านักวิจารณ์ คือ Letters From Iwo Jima และ United 93 เรื่องแรกดูเหมือนกำลังจะดำเนินรอยตาม Million Dollar Baby อย่างน่าหวาดหวั่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี่) มันซุ่มโจมตีแบบกองโจร จนเล่นเอากระแส The Departed และ Dreamgirls แตกพ่ายแบบไม่เป็นกระบวนท่า

ผลงานสะท้อนความเลวร้ายของสงครามเรื่องที่สองของ คลินท์ อีสต์วู้ด เดินหน้าโกยคำชมจากเหล่านักวิจารณ์อย่างถ้วนทั่ว แม้กระทั่งจากกลุ่มคนที่เคยกล่าวหาด่าทอ Flag of Our Fathers อย่างเสียๆ หายๆ มาแล้ว เหตุสำคัญคงเป็นเพราะ Letters From Iwo Jima มีความเป็นดราม่าสูงกว่า หนังเน้นเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักๆ เพียงไม่กี่คน แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของพวกเขา หลักการของพวกเขา และทางเลือกของพวกเขา ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักในสถานการณ์หลังชนฝา เมื่อกองทัพอเมริกันบุกขึ้นฝั่งด้วยปริมาณทหารที่มากมายกว่าหลายเท่าตัว แน่นอน หนังกรุ่นกลิ่นความเศร้า ความโดดเดี่ยว ความว่างเปล่า และความมืดหม่นในระดับเดียวกับผลงานก่อนหน้าอีกหลายเรื่องของอีสต์วู้ด ทุกอย่างดูจะคืบคลานไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้า (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมหลายคนจึงนิยามหนังเรื่องนี้ว่ามีความเป็นอาร์ตเฮาส์ค่อนข้างสูง) เช่นเดียวกับสภาวะจริงในสนามรบ ซึ่งเหล่าทหารต้องใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการรอคอย จ้องมองท้องฟ้า พลางนึกถึงชะตากรรมเบื้องหน้าที่รอพวกเขาอยู่

อย่างไรก็ตาม โอกาสคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์ของ Letters From Iwo Jima อาจค่อนข้างตีบตัน เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นหนังที่พูดภาษาญี่ปุ่นทั้งเรื่อง และเราทุกคนต่างรู้กันดีว่าคณะกรรมการออสการ์นั้นไม่ปลื้มซับไตเติล จริงอยู่ พวกเขายินดีจะเสนอชื่อหนังเหล่านี้เข้าชิงรางวัลใหญ่ เช่น Il Postino และ Life is Beautiful แต่การจะมอบรางวัลใหญ่ให้ไปเลยนั้นถือเป็นอีกเรื่อง แม้ตัวผู้กำกับจะเป็นคนระดับตำนานของฮอลลีวู้ดก็ตาม

สองคนที่รับผลพลอยได้ไปเต็มๆ จากการฟื้นคืนชีพของปู่คลิ้นท์ คือ เคน วาทานาเบ้ ซึ่งดูจะมีโอกาสเข้าชิงออสการ์สาขาดารานำชายค่อนข้างสูง กับ นิโนะมิยะ คาซึนาริ ซึ่งหลายคนบอกว่าเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของ Letters From Iwo Jima และสามารถคว้าหัวใจคนดูไปครองอย่างอยู่หมัด แต่เขาอาจจะเสียเปรียบวาทานาเบ้ตรงที่ยัง “โนเนม” ในตลาดโลก (ทว่าคงไม่ใช่สำหรับแฟนเพลงเจป็อปทั้งหลาย เพราะ “นิโนะ” คือหนึ่งในสมาชิกวงอาราชิ) แถมสาขาดาราสมทบชายก็อัดแน่นไปด้วยบรรดาเขี้ยวลากดินทั้งหลายอย่าง เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์, แจ๊ค นิโคลสัน, แบรด พิทท์ และมือใหม่ที่น่าจะได้ตีตั๋วไปงานออสการ์ค่อนข้างแน่อย่าง ไมเคิล ชีน ซึ่งเรียกคะแนนนิยมได้อย่างท่วมท้นจากการเดินสายโปรโมต The Queen เมื่อเดือนก่อน

แรงสนับสนุนจากเหล่านักวิจารณ์ได้ช่วยชุบชีวิตให้กับ United 93 แต่จะเพียงพอสำหรับผลักดันให้มันขึ้นไปยืนแกร่งบนเวทีออสการ์ควบคู่กับกลุ่มตัวเก็งในตอนนี้อย่าง Dreamgirls, The Departed, Letters From Iwo Jima และ The Queen หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่น่าคิด ทั้งนี้เพราะมันจะต้องแย่งชิงตำแหน่งกับคู่แข่งสุดหินอย่าง Little Miss Sunshine หนังอินดี้ขวัญใจมหาชนและนักวิจารณ์ ซึ่งน่าจะได้แรงสนับสนุนจากเหล่านักแสดง (กลุ่มกรรมการออสการ์ที่ใหญ่ที่สุด) มากกว่าเมื่อเทียบกับ United 93 ที่เต็มไปด้วยดาราสมัครเล่น แม้ว่าพวกเขาจะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมก็ตาม

ความเป็นไปได้สูงสุดในตอนนี้ คือ Little Miss Sunshine น่าจะเบียดเข้าโค้งในช่วงสุดท้ายได้สำเร็จ แต่สองผู้กำกับ คือ โจนาธาน เดย์ตัน และ วาเลอรี ฟาริส อาจชวดการเข้าชิงในสาขาผู้กำกับ แล้วโดนแทนที่โดย พอล กรีนกราส ซึ่งถือได้ว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะ United 93 เป็นหนังที่โชว์ให้เห็นพรสวรรค์ ตลอดจนทักษะอันไร้เทียมทานของกรีนกราสแบบหมดจด ทั้งการกำกับอารมณ์คนดูจากตื่นเต้น ระทึกขวัญ ไปเป็นซาบซึ้ง สะเทือนใจอย่างน่าอัศจรรย์ และการเล่าเรื่องราวหลายเหตุการณ์พร้อมกันโดยไม่สับสน แถมยังชวนติดตามอย่างยิ่ง

คำจำกัดความที่คล้ายคลึงกันอาจนำมาใช้ได้กับหนังอย่าง The Departed ด้วย ฉะนั้น เราจึงได้เห็นเหล่านักวิจารณ์จำนวนมากสนับสนุน มาร์ติน สกอร์เซซี่ ด้วยการมอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้เขา แต่กลับยกรางวัลใหญ่สุดไปให้หนังเรื่องอื่นแทน โดยสามสถาบันที่ทำเช่นนั้น ได้แก่ NBR, NYFCC และ WAFC สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาต้องการกระจายรางวัลให้ถ้วนทั่ว อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาบางคน “มีปัญหา” กับ The Departed (NYFCC มอบรางวัลสูงสุดให้ United 93 ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเลือกอันดับหนึ่งในใบลงคะแนนของสมาชิกส่วนใหญ่ แต่หนังได้คะแนนสูงสุดจากการโหวตครั้งที่ห้า เนื่องจากมันได้รับเสียงต่อต้านจากผู้ลงคะแนนบางคนน้อยกว่า The Queen และ The Departed)

หรือบางทีทั้งหมดอาจเป็นเพียงความพยายามที่จะส่งสารเตือนกรรมการออสการ์ว่าปีนี้พวกคุณไม่ควรทำพลาดซ้ำอีกครั้ง!

กระนั้น ลางร้ายของ The Departed ก็เริ่มปรากฏให้เห็นประปราย เช่น มันถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิงจาก LAFCA (หนังรองชนะเลิศของพวกเขา คือ The Queen ส่วนผู้กำกับรองชนะเลิศ คือ คลินท์ อีสต์วู้ด) แถมสุดท้าย AFI ยังไม่รวม The Departed เป็นหนึ่งในสิบหนังยอดเยี่ยมแห่งปีอีกด้วย แต่กลับโยนตำแหน่งดังกล่าวให้หนังอย่าง The Devil Wears Prada, Borat, Inside Man และ Happy Feet!!

หากพิจารณาตามสถิติแล้ว นั่นถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย เพราะนับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา รายชื่อสิบหนังยอดเยี่ยมของ AFI จะมีหนังชนะรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรวมอยู่ด้วยทุกครั้ง แม้กระทั่ง Gladiator, A Beautiful Mind และ Crash ข้อน่าสังเกตอีกประการ คือ AFI มีชื่อ Dreamgirls ติดหนึ่งในสิบด้วย แม้ว่าบรรดาสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลายจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับหนังเรื่องนี้เท่าใดนัก นอกเหนือจากในสาขาดาราสมทบหญิง... เป็นไปได้ไหมว่าออสการ์ปีนี้อาจเป็นการชิงชัยระหว่าง Dreamgirls กับ Letters From Iwo Jima แทนที่จะเป็น Dreamgirls กับ Flag of Our Fathers หรือ Dreamgirls กับ The Departed อย่างที่ใครๆ คาดเดากันในช่วงแรกของการแข่งขัน

ขณะที่ United 93 พุ่งทะยานขึ้นสู่เพดาน หนังอีกเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน คือ World Trade Center ของ โอลิเวอร์ สโตน กลับดำดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งการถูกลืม โดยเพื่อนคู่หูของมันได้แก่ Bobby, The Good German, The Pursuit of Happyness และ The Good Shepherd ซึ่งแม้คำวิจารณ์โดยรวมจะดีกว่าอีกสามเรื่องก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่ดีพอจะสร้างกระแสใดๆ

เสียงตอบรับเย็นชาจากเหล่านักวิจารณ์ต่อหนังกลุ่มนี้ ย่อมส่งผลร้ายไปยังดาราตัวเก็งบางคน โดยเฉพาะ วิล สมิธ ซึ่งเสียรังวัดไปมากโข เมื่อชื่อของเขาไม่ปรากฏให้เห็นแม้แต่เงา กระทั่งในหมวดรองชนะเลิศ แต่ด้วยพลังดาราและเครดิตงดงามก่อนหน้า เขาคงฟันฝ่าบรรดาเสือสิงกระทิงแรดไปเป็นหนึ่งในห้าบนเวทีออสการ์ได้ แต่โอกาสคว้าชัยอาจไม่สู้ดีนัก เมื่อพิจารณาถึงความแรงของ ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ ซึ่งกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาเกือบหมด (ยกเว้นเพียงที่ซานฟรานซิสโก) ส่งผลให้เขากลายเป็นเต็งจ๋าอันดับสองรองจาก เฮเลน เมียร์เรน ซึ่งกวาดรางวัลมาครองแบบไม่เหลือเผื่อใครจริงๆ

มีดาราอยู่สามคนที่ได้รับการชุบชีวิตจากแรงสนับสนุนของนักวิจารณ์ คนแรก คือ ไรอัน กอสลิ่ง (Half Nelson) ซึ่งแม้จะไม่ได้รางวัลใดๆ มาครอง แต่ก็ทำคะแนนมาเป็นอันดับสองใน NYFCC กับ BSFC คนที่สอง คือ ซาชา บารอน โคเฮน (Borat) ซึ่งได้รางวัลดารานำชายยอดเยี่ยมจาก LAFCA กับ SFFCC แต่เนื่องจากเป็นโนเนมและนำแสดงในหนังตลก โอกาสของเขาจึงดูไม่ค่อยสดใสเท่าใดนัก ทั้งสองและ เคน วาทานาเบ้ จะต้องฟาดฟันกันเพื่อแย่งชิงที่ว่างสุดท้ายในสาขาดารานำชาย (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ไม่มีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์จากหนังสองเรื่องเหมือนรางวัลลูกโลกทองคำ และโอกาสที่เขาจะได้เข้าชิงจาก The Departed น่าจะสูงกว่า ถึงแม้ว่าบทใน Blood Diamond จะ “แรง” กว่าก็ตาม)

คนสุดท้าย ซึ่งโผล่ขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยท่ามกลางกระแสรางวัลนักวิจารณ์ คือ แคทเธอรีน โอ’ฮารา จากหนังตลกล้อเลียนเทศกาลแจกรางวัลของฮอลลีวู้ดเรื่อง For Your Consideration แต่ถนนสู่ออสการ์ของเธอหาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ว่าสาขาดาราสมทบหญิงในปีนี้จะดูเหมือนเปิดกว้าง (ตัวเก็งค่อนข้างแน่นอนในตอนนี้มีเพียง เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน และ เคท แบลนเช็ตต์) โอ’ฮาราได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นๆ อย่างหนูน้อย อบิเกล เบรสลิน (Little Miss Sunshine) สองดาราจาก Babel เอเดรียนา บาร์ราซา กับ รินโกะ คิคูชิ และผู้ช่วยนางมาร เอมิลี่ บลันท์ (The Devil Wears Prada) ตรงที่เธอสั่งสมประสบการณ์และชื่อเสียงมานาน แต่ยังไม่เคยเข้าชิงออสการ์เลยสักครั้ง กระนั้น หนังของเธอกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เมื่อเทียบกับหนังคู่แข่งคนอื่นๆ (Babel กับ Little Miss Sunshine ล้วนมีสิทธิ์ลุ้นเข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยม ส่วน The Devil Wears Prada ก็เป็นหนังฮิตช่วงซัมเมอร์)

การเข้าชิงลูกโลกทองคำสูงสุดประจำปีถึง 7 รางวัลช่วยปลุก Babel ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังจากเหล่านักวิจารณ์พากันเมินหน้าหนีหนังเรื่องนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ แต่อย่าลืมว่าเมื่อไม่นานมานี้ Cold Mountain ก็เคยเข้าชิงลูกโลกทองคำสูงสุดมาแล้ว และสุดท้ายกลับอกหกไม่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาสำคัญๆ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม (สาเหตุสำคัญต่อชัยชนะของ Cold Mountain เมื่อสามปีก่อนและ Bobby ในปีนี้บนเวทีลูกโลกทองคำ คือ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ซึ่งมีเส้นสายมากมายในสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮอลลีวู้ด ฉะนั้นเราอาจทึกทักได้เลยว่าหนังรวมดารา แต่ชวดทั้งเงินและกล่องอย่าง Bobby จะไม่ไปปรากฏบนเวทีออสการ์ในสาขาสำคัญๆ ค่อนข้างแน่ อีกอย่างลูกโลกทองคำยังขึ้นชื่อเรื่องบ้าดาราเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกเขาต้องการดึงดูดคนดังมาร่วมงาน และนั่นคือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราถึงได้เห็นชื่อของ เบน อัฟเฟล็ก, มาร์ค วอห์ลเบิร์ก, จอห์นนี่ เด็บบ์, เรเน่ เซลเวเกอร์ และ “ดับเบิล” ดิคาปริโอ ในรายชื่อผู้เข้าชิง)

ความแปลกประหลาดอีกอย่างของลูกโลกทองคำ คือ การเสนอชื่อ คลินท์ อีสต์วู้ด ให้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Flag of Our Fathers ซึ่งเป็นหนังที่พวกเขาเห็นว่าไม่ดีพอจะติด 1 ใน 5 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชีวิต) การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ บิล คอนดอน ต้องถูกเขี่ยทิ้งตามทฤษฎี “หนังเพลงไม่ต้องใช้ผู้กำกับ” ไปตามระเบียบ เช่นเดียวกัน การเสนอชื่อดิคาปริโอสองครั้งก็ทำร้ายโอกาสของ ไรอัน กอสลิ่ง ซึ่งกำลังต้องการสปอตไลท์สูงสุดเพราะหนังของเขาค่อนข้างอินดี้และไม่มีใครได้ชมกันมากนัก

ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดเกี่ยวกับตัวเลือกอันน่ากังขา แต่หลายครั้งลูกโลกทองคำก็กล้าเลือกได้อย่างอาจหาญ เช่น เอมิลี่ บลันท์ ในสาขาดาราสมทบหญิง ซึ่งถือได้ว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง แม้โอกาสเข้าชิงออสการ์ของเธอจะยังไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก ทั้งนี้เราคงต้องรอดูรายชื่อผู้เข้าชิงของสมาพันธ์นักแสดงอีกครั้งในช่วงเดือนหน้า แต่สาขานี้ถือได้ว่าเปิดกว้างมากสำหรับม้ามืด...

อย่าลืมว่าสำหรับออสการ์ อะไรก็เป็นไปได้

สรุปตัวเก็งออสการ์

หนัง: The Departed, Dreamgirls, The Queen, Letters From Iwo Jima, Little Miss Sunshine

ตัวสอดแทรก: United 93, Babel, Little Children

ผู้กำกับ: มาร์ติน สกอร์เซซี่ (The Departed), คลินท์ อีสต์วู้ด (Letters From Iwo Jima), บิล คอนดอน (Dreamgirls), สตีเฟ่น เฟียร์ส (The Queen), พอล กรีนกราส (United 93)

ตัวสอดแทรก: อัลฟองโซ คัวรอง (Children of Men), อเลฮานโดร กอนซาเลส อินอาร์ริตู (Babel), กิลเลอโม เดล โทโร (Pan’s Labyrinth)

ดารานำหญิง: เฮเลน เมียร์เรน (The Queen), จูดี้ เดนช์ (Notes on a Scandal), เมอรีล สตรีพ (The Devil Wears Prada), เคท วินสเล็ท (Little Children), เพเนโลปี ครูซ (Volver)

ตัวสอดแทรก: บียอนเซ่ โนวส์ (Dreamgirls), นาโอมิ วัตส์ (The Painted Veil), แอนเน็ท เบนนิ่ง (Running with Scissors)

ดารานำชาย: ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Departed), ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ (The Last King of Scotland), ปีเตอร์ โอ’ทูล (Venus), วิล สมิธ (The Pursuit of Happyness), เคน วาทานาเบ้ (Letters From Iwo Jima)

ตัวสอดแทรก: ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Blood Diamond), ไรอัน กอสลิง (Half Nelson), ซาชา บารอน โคเฮน (Borat)

ดาราสมทบหญิง: เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน (Dreamgirls), เอเดรียนา บาร์ราซา (Babel), เคท แบลนเช็ตต์ (Notes on a Scandal), รินโกะ คิคูชิ (Babel), เอมิลี่ บลันท์ (The Devil Wears Prada)

ตัวสอดแทรก: อบิเกล เบรสลิน (Little Miss Sunshine), เอ็มมา ธอมป์สัน (Stranger Than Fiction), แคทเธอรีน โอ’ฮารา (For Your Consideration)

ดาราสมทบชาย: แจ๊ค นิโคลสัน (The Departed), เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ (Dreamgirls), ไมเคิล ชีน (The Queen), จิมอน ฮอนซู (Blood Diamond), แบรด พิทท์ (Babel)

ตัวสอดแทรก: มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (The Departed), อลัน อาร์กินส์ (Little Miss Sunshine), แจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาลีย์ (Little Children)

วันอังคาร, ธันวาคม 05, 2549

Oscar 2007 (2): ชดเชยความผิดพลาดในอดีต

ข่าวเศร้าแห่งปีคงหนีไม่พ้นการจากไปของผู้กำกับระดับตำนาน โรเบิร์ต อัลท์แมน ซึ่งมีปัญหาสุขภาพตามรังควานอย่างหนักมาตลอดสองสามปี จนถึงขนาดสตูดิโอต้องว่าจ้างผู้กำกับสำรองประจำกองถ่าย A Prairie Home Companion ผลงานชิ้นล่าสุดและชิ้นสุดท้ายของเขา เผื่อคุณปู่ไม่สามารถถ่ายทำหนังจนจบได้

A Prairie Home Companion เล่าถึงเรื่องราวหวานปนเศร้าเคล้าอารมณ์ถวิลหาของหลากหลายตัวละครเบื้องหลังรายการวิทยุยอดฮิต ที่กำลังจะถูกปิดฉากหลังจากเจ้าของโรงละคร อันเป็นสถานที่สำหรับถ่ายทำรายการ ตัดสินใจจะแปลงโรงละครเป็นลานจอดรถ หนังเปิดฉายในอเมริกาเมื่อเดือนมิถุนายน ท่ามกลางเสียงชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์จากเหล่านักวิจารณ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรเจอร์ อีเบิร์ต) แต่กลับไม่มีใครคิดว่ามันจะมีบทบาทสำคัญใดๆ บนเวทีออสการ์ แม้หนังจะขวักไขว่ไปด้วยดาราดังมากมาย อาทิ เมอรีล สตรีพ, ลิลี่ ทอมลิน, เวอร์จิเนีย แมดเซน, ทอมมี่ ลี โจนส์, วู้ดดี้ ฮาเรลสัน และ ลินซีย์ โลฮาน

ส่วนหนึ่งคงเพราะหนังเข้าฉายวงแคบ ปราศจากความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ และสุดท้ายน่าจะลงเอยแบบเดียวกับ Radio Days หนังแสนน่ารักของ วู้ดดี้ อัลเลน เกี่ยวกับยุคทองของวิทยุ ที่ได้เข้าชิงออสการ์สองสาขา คือ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

ถึงแม้จะได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง แต่อัลท์แมนก็ไม่เคยคว้าออสการ์ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครอง (เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการเลยชิงให้รางวัลออสการ์เกียรติยศกับเขาเป็นของขวัญชดเชย) เหมือน อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก (เข้าชิง 5 ครั้งจาก Rebecca, Lifeboat, Spellbound, Rear Window, Psycho) สแตนลีย์ คูบริค (เข้าชิง 4 ครั้งจาก Dr. Strangelove, 2001: A Space Odyssey, A Clockwork Orange, Barry Lyndon) และ มาร์ติน สกอร์เซซี่ (เข้าชิง 5 ครั้งจาก Raging Bull, The Last Temptation of Christ, Goodfellas, Gangs of New York, The Aviator) โดยความพ่ายแพ้ที่ชวนฉงนที่สุดของอัลท์แมนคงเป็นในปี 2002 เมื่อ รอน โฮเวิร์ด (A Beautiful Mind) คว้าออสการ์ไปครองท่ามกลางคู่แข่งอย่างอัลท์แมน (Gosford Park), ปีเตอร์ แจ๊คสัน (Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring), ริดลีย์ สก็อตต์ (Black Hawk Down) และ เดวิด ลินช์ (Mulholland Drive)

ส่วนการเข้าชิงครั้งก่อนๆ ของอัลท์แมน คือ MASH (พ่ายให้กับ แฟรงคลิน เจ. ชัฟฟ์เนอร์ จาก Patton) Nashville (พ่ายให้กับ มิลอส ฟอร์แมน จาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest) The Player (พ่ายให้กับ คลินท์ อีสต์วู้ด จาก Unforgiven) และ Short Cuts (พ่ายให้กับ สตีเว่น สปีลเบิร์ก จาก Schindler’s List)

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ดูเหมือนจะมีโอกาสสูงลิ่วในการถอดถอนตัวเองออกจากบัญชีดำออสการ์ เมื่อการหวนคืนสู่ถนนมาเฟียของเขาได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์และการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนดู ปัญหาใหญ่เพียงอย่างเดียว คือ The Departed เป็นหนังในแนวเขย่าขวัญ/อาชญากรรม ซึ่งไม่ใช่อาหารจานโปรดของคณะกรรมการออสการ์ โดยหนังเรื่องสุดท้ายที่มีแนวทางใกล้เคียงกันแล้วชนะรางวัลใหญ่ไปครอง คือ The Silence of the Lambs แต่มันเป็นการคว้าชัยท่ามกลางคู่แข่งที่ค่อนข้างอ่อนปวกเปียกอย่าง Bugsy, Beauty and the Beast, JFK และ The Prince of Tides

ที่สำคัญ The Departed ยังเป็นหนัง “รีเมค” (จากหนังฮ่องกงสไตล์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Infernal Affairs) ซึ่งไม่เคยมีประวัติในการคว้ารางวัลใหญ่มาก่อน ฉะนั้นมันคงเป็นเรื่องน่าแปลก และขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนการยอมรับถึงความตกต่ำในแง่ผู้นำเทรนด์ของฮอลลีวู้ด หากหนังเรื่องนี้ถูกตีตราภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ถึงมันจะเป็นผลงานรีเมคชั้นดีก็ตาม

ความเป็นไปได้สูงในตอนนี้ คือ Dreamgirls อาจคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แล้วพลาดรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ The Departed เพราะปรกติหนังเพลงมักมีแนวโน้มที่จะกำกับตัวเองได้อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณี ร็อบ มาร์แชล (Chicago) พ่ายแพ้ต่อ โรมัน โปลันสกี้ (The Pianist) และ แบซ เลอร์มานน์ (Moulin Rouge!) ถูกมองข้าม แต่ข้อได้เปรียบของ บิล คอนดอน ผู้กำกับ Dreamgirls ได้แก่ เขาไม่ใช่มือใหม่ถอดด้ามอย่างมาร์แชล เขาเคยเขียนบทให้กับ Chicago และกำกับหนังชั้นดีไว้สองเรื่อง คือ Gods and Monsters และ Kinsey ดังนั้น โอกาสที่คุณลุงมาร์ตี้จะกินแห้วเป็นลูกที่ 6 ก็พอจะมีอยู่เหมือนกัน

ในโพสต์หน้า เราคงจะได้เห็นภาพรวมที่ชัดขึ้น เมื่อรางวัลนักวิจารณ์เริ่มทยอยกันประกาศ พร้อมรายชื่อผู้เข้าชิงลูกโลกทองคำ





ดารานำหญิง

หลังจากปล่อยให้สาวๆ ครองเวทีออสการ์สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยมกันมานาน ในที่สุดบรรดาคุณป้าวัยทองทั้งหลายก็นัดแนะกันยกขบวนมายึดหัวหาดในปีนี้ นำโดย เฮเลน เมียร์เรน วัย 61 ปี ที่กลายเป็นผู้นำแบบไร้คู่แข่งจากการรับบทพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ 2 ได้อย่างสมจริงใน The Queen ทั้งที่รูปร่างหน้าตาของเธอห่างไกลจากพระนางอย่างยิ่ง แต่การไปปรากฏตัวตามงานแถลงข่าวของเมียร์เรนในมาดสาวสุดเซ็กซี่ยิ่งทำให้เธอได้คะแนนช่วยพิเศษ เมื่อคนส่วนใหญ่พบว่าตัวจริงของเธอแตกต่างจากบทบาทบนจอราวฟ้ากับเหว (ปัจจัยแบบเดียวกันนี้เคยช่วยให้ ฮิลารี่ สแวงค์ คว้าชัยชนะมาครองจาก Boys Don’t Cry)

ตัวเก็งอันดับสอง คือ เจ้าแม่ เมอรีล สตรีพ วัย 57 ปี ซึ่งกำลังจะทำสถิติการเข้าชิงเป็นครั้งที่ 14 จาก The Devil Wears Prada แต่โอกาสคว้าออสการ์ตัวที่สาม (และตัวแรกในรอบ 24 ปี) ของเธอค่อนข้างริบหรี่ เนื่องจากหนังของเธอห่างไกลจากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ เมื่อเทียบกับ The Queen ขณะเดียวกัน เมียร์เรนเป็นนักแสดงรุ่นเดอะที่ทุกคนยอมรับในฝีมือ แต่ยังไม่เคยได้ออสการ์มาก่อน (เธอเข้าชิงสองครั้งในสาขาดาราสมทบหญิงจาก The Madness of King George และ Gosford Park) ข้อได้เปรียบเพียงอย่างเดียวของสตรีพ คือ The Devil Wears Prada เป็นหนังฮิตติดลมบน ใครๆ ก็มีโอกาสได้ดูหนังกันแล้ว และในบรรดาคนกลุ่มใหญ่นั้น ใครบ้างล่ะจะไม่หลงรักการแสดงอันสนุกสนานและลึกซึ้งอย่างไร้ที่ติของเธอ

พูดถึงเรื่องความรัก ตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาคงไม่มีนักแสดงคนใดจะได้ความรักจากกรรมการออสการ์มากเท่า จูดี้ เดนช์ วัย 72 ปี (เข้าชิง 6 ครั้งในรอบ 9 ปีจาก Mrs. Brown, Shakespeare in Love, Chocolat, Iris, Mrs. Henderson Presents) โดยปีนี้ คุณยายยังได้พลิกสถานการณ์มาเล่นบทร้ายกับเขาเสียด้วยใน Notes on a Scandal ซึ่งจะเข้าฉายช่วงปลายปี แต่คำวิจารณ์ระลอกแรกต่างชื่นชมการแสดงของเดนช์กันถ้วนหน้า แม้กระทั่งคนที่ไม่ค่อยปลื้มตัวหนังสักเท่าไหร่

ถ้าดูตามสถิติในรอบสิบปีที่ผ่านมา (นักแสดงหญิงคนล่าสุดที่ได้รางวัลนี้ขณะมีอายุเกิน 40 ปี คือ ซูซาน ซาแรนดอน (49) จาก Dead Man Walking เมื่อปี 1996 ส่วนนักแสดงหญิงคนล่าสุดที่ได้รางวัลนี้ขณะมีอายุเกิน 50 ปี คือ แจสซิก้า แทนดี้ (80) จาก Driving Miss Daisy เมื่อปี 1990) โอกาสของสาวสวยอย่าง เคท วินสเล็ท (31) จาก Little Children และ เพเนโลปี ครูซ (32) จาก Volver ที่จะได้เจริญรอยตามความสำเร็จของ รีส วิทเธอร์สพูน (28) ฮิลารี่ สแวงค์ (26, 31) ชาร์ลีซ เธรอน (29) นิโคล คิดแมน (36) และ ฮัลลี่ เบอร์รี่ (36) น่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อย

ครูซคงคาดหวังได้แค่เข้าชิง เพราะชัยชนะถือเป็นงานมหาหินสำหรับนักแสดงที่พูดภาษาต่างประเทศ ถึงแม้ Volver จะได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างอบอุ่นก็ตาม ข้อได้เปรียบ คือ คนดูส่วนใหญ่รู้จักเธอดีเนื่องจากเธอเคยแสดงหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มใหญ่หลายเรื่อง แต่ข้อด้อย คือ พวกมันเป็นผลงานที่ไม่น่าจดจำอย่าง All the Pretty Horses, Captain Corelli’s Mandolin, Vanilla Sky, Gothika, Sahara และ Bandidas

เคท วินสเล็ท อาจมีอายุน้อยกว่าครูซหนึ่งปี แต่เธอเชี่ยวกรากเวทีออสการ์มากกว่าหลายเท่า เธอเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 4 ครั้ง (Sense and Sensibility, Titanic, Iris, Eternal Sunshine of the Spotless Mind) ก่อนจะมีอายุครบ 30 ปี ซึ่งนั่นนับเป็นสถิติที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนหลังจาก อลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์ เข้าชิงออสการ์สาขาดารานำหญิงสี่ปีซ้อนจาก Raintree County, Cat on a Hot Tin Roof, Suddenly, Last Summer และ Butterfield 8 โดยเธอได้ออสการ์จากเรื่องหลังสุด ก่อนจะได้เข้าชิงและคว้าออสการ์ดารานำหญิงมาครองอีกตัวจาก Who’s Afraid of Virginia Woolf? ในปี 1967

ปัญหา คือ Little Children ดูจะแบ่งแยกนักวิจารณ์ออกเป็นสองขั้ว คือ ไม่ชอบก็เกลียด (แต่กระทั่งคนที่เกลียดก็ยังชื่นชมการแสดงอันล้ำเลิศของวินสเล็ท) อีกอย่าง หนังค่อนข้างท้าทายความรู้สึกของคนดูเกี่ยวกับประเด็นอื้อฉาวอย่างการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและการคบชู้ แถมอารมณ์โดยรวมของหนังก็ยังห่างไกลจากความอบอุ่น นุ่มนวลแบบที่คณะกรรมการออสการ์ชื่นชอบ ทว่า In the Bedroom ของ ท็อดด์ ฟิลด์ ซึ่งคุกรุ่นไปด้วยความขึ้งเครียด เศร้าระทมก็เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ แบบครบถ้วนมาแล้ว ฉะนั้นทุกอย่างย่อมเป็นไปได้

ในบรรดากลุ่มตัวเก็ง บุคคลที่อาจจะหลุดโผก่อนใครเพื่อน คือ เคท บลันเชตต์ เนื่องจาก The Good German เปิดฉายให้คนวงในไปสองสามรอบแล้ว และเสียงตอบรับดูเหมือนจะไม่อบอุ่นเท่าที่ควร มันอาจไม่ถึงกับเป็นความล้มเหลว แต่แนว “ทดลอง” ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก อาจติสแตกเกินไปสำหรับรสนิยมของกรรมการออสการ์ โดยบางคนที่ไปร่วมชมการฉายในรอบพิเศษรู้สึกว่าคนดู “นับถือ” หนังและไอเดียผู้สร้าง แต่ไม่ได้ “รัก” มันสักเท่าไหร่ นอกจากนี้ การแสดงโดยรวมยังถูกมองว่าค่อนข้างประดักประเดิด

ถ้าคำกล่าวข้างต้นเป็นจริงและเชื่อถือได้ โอกาสที่บลันเชตต์จะได้เข้าชิงออสการ์จากหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าน้อยเต็มที ถึงแม้ จอร์จ คลูนี่ย์ จะเคยออกมาชื่นชมฝีมือของเธออย่างออกนอกหน้าก็ตาม ที่สำคัญ ปีนี้รางวัลในสาขาดารานำหญิงถือได้ว่าเข้มข้นอย่างยิ่ง

มือใหม่ที่กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าอาจหลุดเข้าไปชิงออสการ์กับเหล่าเสือสิงกระทิงแรดทั้งหลาย คือ เซียนนา มิลเลอร์ จากหนังเรื่อง Factory Girl เจฟฟรีย์ เวลส์ แห่ง Hollywood Elsewhere ซึ่งได้ดูตัวหนังแล้ว บอกว่าการแสดงของเธอยอดเยี่ยมจนน่าตะลึง โดยเธอรับบทเป็น อีดี้ เซดจ์วิค หญิงสาวที่ แอนดี้ วอร์ฮอล (กาย เพียซ) ปลุกปั้นจนกลายเป็นดาวเด่นแห่งยุค 60

ที่สำคัญ Factory Girl เป็นหนังภายใต้การจัดจำหน่ายของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ป๋าดันแห่งวงการและขาใหญ่บนเวทีออสการ์ (ชัยชนะของ Shakespeare in Love เหนือ Saving Private Ryan คือ ตำนานไวน์สไตน์ที่ไม่มีใครลืมได้ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตีเวน สปีลเบิร์ก) ฉะนั้น ถ้าการแสดงของมิลเลอร์ดีจริง มันก็มีโอกาสจะเป็นไปได้ แม้กระทั่งในปีที่การแข่งขันค่อนข้างสูงเช่นนี้

Sure Thing: เฮเลน เมียร์เรน (The Queen), เมอรีล สตรีพ (The Devil Wears Prada)

Maybe: เคท วินสเล็ท (Little Children), จูดี้ เดนช์ (Notes on a Scandal), เพเนโลปี ครูซ (Volver), แอนเน็ท เบนนิ่ง (Running With Scissors), เคท บลันเชตต์ (The Good German)

In The Mix: เซียนา มิลเลอร์ (Factory Girl), บียอนเซ โนว์เลส (Dreamgirls), นาโอมิ วัตต์ (The Painted Veil), เรเน เซลเวเกอร์ (Miss Potter)


ดารานำชาย

ไม่เพียงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมเท่านั้นที่คณะกรรมการออสการ์ปีนี้จะมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดในอดีตของตน แต่ยังรวมไปถึงในสาขาดารานำชายยอดเยี่ยมอีกด้วย เพราะหนึ่งในตัวเก็งว่าจะได้เข้าชิงออสการ์ในปีนี้ คือ ปีเตอร์ โอ’ทูล จาก Venus หนังดราม่าปนอารมณ์ขันของผู้กำกับ โรเจอร์ มิเชลล์ (Changing Lanes, The Mother, Enduring Love) เกี่ยวกับนักแสดงชราที่สุขภาพกำลังดำดิ่งลงเหว แต่จิตใจยังกระปรี้กระเปร่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้รู้จักกับเด็กสาววัย 19 ปีซึ่งเป็นหลานของเพื่อนสนิท แต่ไม่ต้องกลัวไป นี่ไม่ใช่หนังสยองขวัญ ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าจะมีฉากเซ็กซ์ระหว่างสองดารานำ (แค่คิดก็ขนลุกแล้ว) เพราะความสัมพันธ์ของชายชรากับหญิงสาวนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจมากกว่าความต้องตาต้องใจ (อย่างน้อยก็ในทัศนะของฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายชายนั้นดูเหมือนจะพยายามไขว่คว้าทุกโอกาสที่มีเพื่อผลักดันความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น)

โอ’ทูลเคยเข้าชิงออสการ์ทั้งหมด 7 ครั้งในสาขาดารานำชาย (Lawrence of Arabia, Becket, The Lion in Winter, Goodbye Mr. Chips, The Ruling Class, The Stunt Man, My Favorite Year) แต่ชวดหมดทุกครั้ง เมื่อสามปีก่อน เขาเพิ่งได้ออสการ์เกียรติยศมาครอง ซึ่งเป็นรางวัลเพื่อสดุดีแด่พรสวรรค์ของเขาในการสร้างตัวละครที่น่าจดจำมากมายให้กับโลกภาพยนตร์

ถ้าโอ’ทูลคว้าชัยชนะในท้ายที่สุด เขาจะเดินตามรอย พอล นิวแมน ซึ่งเคยเข้าชิงในสาขาดารานำชายมาแล้ว 6 ครั้ง (Cat on a Hot Tin Roof, The Hustler, Hud, Cool Hand Luke, Absence of Malice, The Verdict) แต่ชวดหมด ออสการ์เลยให้รางวัลเกียรติยศกับเขา แต่แล้วอีกหนึ่งปีต่อมา เขาก็ได้ออสการ์จริงๆ มาครองจากหนังเรื่อง The Color of Money ซึ่งกำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี่ และหลังจากนั้น เขาก็ยังได้เข้าชิงออสการ์อีกสองครั้งจาก Nobody’s Fool (นำชาย) และ Road to Perdition (สมทบชาย)

ก้างขวางคอชิ้นโตของโอ’ทูล คือ สองนักแสดงผิวดำมากฝีมือ คนแรกเริ่มสร้างชื่อเสียงจากการนำแสดงใน Bird (1988) หนังชั้นยอดของ คลินท์ อีสต์วู้ด เมื่อครั้งที่ราชาคาวบอยเพิ่งเบนเข็มมาทำงานหลังกล้องได้ไม่นาน การรับบทเป็น ชาร์ลี พาร์คเกอร์ นักดนตรีแจ๊ซระดับตำนานของ ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ ในหนังเรื่องนั้นถือได้ว่ายอดเยี่ยมและกวาดคำชมไปแบบกระบุงโกย แต่น่าเสียดายที่อาชีพการแสดงของเขาไม่เคยพุ่งถึงขีดสุดอีกเลย และส่วนใหญ่คนจะจดจำเขาจากบทสมทบในหนังดังอย่าง The Crying Game และ Panic Room ได้มากกว่า

ใน The Last King of Scotland วิทเทเกอร์ได้กลับมารับบท “คนจริง” อีกครั้ง นั่นคือ อีดี้ อามิน จอมเผด็จการแห่งประเทศอูกันดาในช่วงทศวรรษ 1970 ที่ทั้งโหดเหี้ยม ชวนสะพรึง และเปี่ยมเสน่ห์ดึงดูดในเวลาเดียวกัน หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของนายแพทย์หนุ่ม (เจมส์ แม็คเอวอย) แต่พลังการแสดงอันแสนวิเศษของวิทเทเกอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะรับบทชายหนุ่มแสนสุภาพ พูดจาอ่อนน้อม แม้กระทั่งเมื่อเขาเป็นโจรก็ตาม (Panic Room) ทำให้ อีดี้ อามิน กลายเป็นตัวละครที่คนดูไม่อาจละสายตาไปได้ ทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวขึ้นบนจอ

อย่างไรก็ตาม ตัวเก็งอันดับหนึ่งในสาขาดารานำชาย ณ เวลานี้ คือ วิล สมิธ ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก Ali เมื่อ 4 ปีก่อน แต่พลาดท่าให้กับดาราผิวดำรุ่นพี่อย่าง เดนเซล วอชิงตัน (Training Day) หนังใหม่ของสมิธเรื่อง The Pursuit of Happyness ยังไม่เข้าฉายวงกว้าง แต่เสียงร่ำลือของนักวิจารณ์ที่ได้ชมหนังแล้วดูจะสอดคล้องกันว่ามันเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของเขา ผสานทักษะเข้ากับพลังดาราได้อย่างกลมกลืน และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นการ “เติบใหญ่” อย่างชัดเจน กระนั้น ทั้งหมดนี้เป็นเพียง “กระแส” เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าปฏิกิริยาตอบรับในวงกว้างจะเป็นเช่นใด เมื่อหนังเข้าฉายในวันที่ 15 ธันวาคม

การมีหนังเด่นออกฉายพร้อมกันถึงสองเรื่องกำลังสร้างความปวดหัวให้กับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ โดยในมุมหนึ่งเขามี Blood Diamond ซึ่งยังไม่เปิดฉาย แต่สังเกตจากหนังตัวอย่างดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงอารมณ์หลากหลายและรุนแรง (ผู้กำกับ เอ็ดเวิร์ด ซวิค รับประกันความ “แรง”) ที่สำคัญสำเนียงแอฟริกาใต้ของเขายังได้เสียงชื่นชมไม่น้อยว่าแม่นยำ (ถ้าคุณคิดว่านี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญละก็ ให้ลองไปหาหนังหลายๆ เรื่องที่ เมอรีล สตรีพ ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มาดูได้)

อีกมุมหนึ่งเขามี The Departed ซึ่งเข้าฉายแล้ว และได้รับคำชมแบบเป็นเอกฉันท์ โดยส่วนใหญ่ต่างเห็นว่ามันเป็นการแสดงที่ทรงพลังสูงสุดของเขาในหนัง มาร์ติน สกอร์เซซี่ ซึ่งนั่นน่าจะรับประกันการเข้าชิงออสการ์ไปโดยปริยาย เพราะดิคาปริโอเพิ่งได้เข้าชิงออสการ์จาก The Aviator มาหมาดๆ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เขาอาจจะถูกผลักให้ไปชิงในสาขาดาราสมทบชาย เพื่อหลีกทางให้กับ Blood Diamond และ แจ๊ค นิโคลสัน ซึ่งอาจถูกผลักให้เข้าชิงในสาขาดารานำชายแทน แต่นั่นจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะ แจ๊ค นิโคลสัน มีโอกาสชนะในสาขาดาราสมทบมากกว่าในสาขาดารานำ หลังจากนักวิจารณ์หลายคนกล่าวหาเขาว่าใส่ “ความเป็นแจ๊ค” เข้าไปแบบเกินพอดี จนกลายเป็นจุดด่างพร้อยของหนัง

หากทุกอย่างดำเนินไปตามโผ ที่ว่างเดียวที่เหลืออยู่จะเป็นการแย่งชิงกันของบรรดามือเก่า (นิโคลัส เคจ, เจมี่ ฟ็อกซ์, แม็ท เดมอน, จอร์จ คลูนี่ย์) กับมือใหม่ (ดีเรค ลุค, ซาชา บารอน โคเฮน) โดยสุดท้าย หวยอาจไปออกที่ ไรอัน กอสลิ่ง จากหนังขวัญใจนักวิจารณ์เรื่อง Half Nelson แต่สมมุติฐานดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อบรรดารางวัลนักวิจารณ์ช่วยกันผลักดันกอสลิ่งให้หลุดเข้ามาอยู่ในวิถีเรดาร์ เขาได้เปรียบ ดีเรค ลุค อยู่หน่อยตรงที่หนังของเขาไม่ได้จมหายไปจากความสนใจเหมือน Catch a Fire และได้เปรียบ ซาชา บารอน โคเฮน ตรงที่เขาเคยมีเครดิตงานแสดงที่น่าประทับใจมาก่อน โดยเฉพาะการรับบทหนุ่มนีโอนาซีใน The Believer (2001)

Sure Thing: วิล สมิธ (The Pursuit of Happyness), ปีเตอร์ โอ’ทูล (Venus), ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Departed/ Blood Diamond) ฟอเรส วิทเทเกอร์ (The Last King of Scotland)

Maybe: ดีเรค ลุค (Catch a Fire), ไรอัน กอสลิ่ง (Half Nelson), ซาชา บารอน โคเฮน (Borat)

In The Mix: จอร์จ คลูนี่ย์ (The Good German), นิโคลัส เคจ (World Trade Center), เจมี่ ฟ็อกซ์ (Dreamgirls), แม็ท เดมอน (The Good Shepherd)

ดาราสมทบหญิง

การแข่งขันในสาขานี้จบลงนับแต่ Dreamgirls เดินรอบเปิดฉายให้นักวิจารณ์ชม เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ถูกคาดการณ์ไว้ตั้งแต่เทศกาลหนังเมืองคานส์ (ซึ่งมีตัวอย่างของหนังเรื่องนี้ไปฉายโชว์ ความยาวประมาณ 20 นาที) ว่าจะได้เข้าชิงออสการ์จากบทที่เคยสร้างชื่อให้กับ เจนนิเฟอร์ ฮอลิเดย์ ตอนเป็นเวอร์ชั่นละครเพลงบรอดเวย์ และพอหนังเปิดตัวออกมา ปรากฏว่าบทของฮัดสันนั้นโดดเด่นมาก ถึงขั้นมีคนเสนอให้เธอไปเข้าชิงในสาขาดารานำหญิงแทน หากทางสตูดิโอไม่บ้าจี้ตามนั้นละก็ โอกาสชนะของฮัดสันในสาขาดาราสมทบถือได้ว่าสว่างสดใสพอๆ กับ แคทเธอรีน ซีต้า-โจนส์ ใน Chicago เลยทีเดียว เพราะเธอไม่ต้องไปแข่งกับบรรดาสาวใหญ่เขี้ยวลากดินอย่างเมียร์เรน, สตรีพ และเดนช์

อีกคนที่น่าจะได้เข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ อบิเกล เบรสลิน หนูน้อยน่ารักวัยเจ็ดขวบที่มีความฝันอยากขึ้นเวทีประกวดนางงาม ใน Little Miss Sunshine หนังอินดี้เปี่ยมอารมณ์ขันที่ประสบความสำเร็จบนตารางหนังทำเงินมากพอๆ กับการกวาดคำชมจากเหล่านักวิจารณ์

ตอนนี้ภาพรวมในสาขาดาราสมทบหญิงยังลางเลือน ไม่มีใครถูกเอ่ยถึงอย่างเด่นชัดมากนัก (ยกเว้นเพียง เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน) ส่งผลให้ทุกคนมีโอกาสหลุดโผ หรือกลายเป็นตัวสอดแทรกแบบคาดไม่ถึงได้ทั้งนั้น แต่ถ้าให้ทายจากผลงานทั้งปี เคท บลันเชตต์ ก็น่าจะติดชื่อเข้าชิง (เช่นเดียวกับ แคทเธอรีน คีเนอร์ เมื่อปีก่อน ที่มี Capote, The 40 Year Old Virgin, The Interpreter และ The Ballad of Jack and Rose เข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน) เนื่องจากเธอมีส่วนร่วมใน Babel, The Good German และ Notes on a Scandal แต่ความเป็นไปได้น่าจะตกอยู่กับ Notes on a Scandal ซึ่งเธอรับบทนำคู่กับเดนช์ แต่ถูกผลักให้เป็นดาราสมทบ (เช่นเดียวกับ อีธาน ฮอว์ค ใน Training Day) มากกว่า ทั้งนี้เพราะบทของเธอใน Babel ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากเท่าไหร่ (แถมเธอยังปรากฏตัวบนจอน้อยกว่าดารานำคนอื่นๆ อีกด้วย) เมื่อเทียบกับดาราหญิงอีกสองคนในเรื่อง นั่นคือ เอเดรียนา บาร์ราซา และ รินโกะ คิคูชิ

ใน Babel คิคูชิรับบทเป็นสาววัยรุ่นชาวญี่ปุ่นที่หูหนวกและเป็นใบ้ (ความพิการในตัวละครย่อมช่วยเพิ่มคะแนนบวกในสายตากรรมการออสการ์) แม่ของเธอฆ่าตัวตาย ส่วนพ่อของเธอก็มักจะทำตัวเหินห่าง ดังนั้น เพื่อแสวงหาความอบอุ่นในโลกอันเย็นชา เธอจึงเริ่มถลำตัวลงลึกไปกับสัมพันธภาพทางเพศที่เสี่ยงอันตราย งานแสดงของเธอได้รับคำชมอย่างท่วมท้น และมันก็ถือเป็นโชคสองชั้นที่เรื่องราวในส่วนของเธอ (หนังถูกแบ่งออกเป็นสี่เรื่องย่อย) ให้อารมณ์ตราตรึงใจสูงสุด

หนังอีกเรื่องที่อาจจะต้องส่งผู้หญิงสองคนลงมาแย่งชิงตำแหน่งในสาขานี้ คือ World Trade Center ของ โอลิเวอร์ สโตน และพวกเธอทั้งสองก็คู่ควรกับตำแหน่งมากพอๆ กัน ไม่ว่าจะพิจารณาจากฝีมือ บท หรือบารมี

มาเรีย เบลโล เคยถูกกรรมการออสการ์มองข้ามมาแล้วถึงสองครั้งสองคราวจาก The Cooler (หวยไปออกที่ อเล็ก บอลด์วิน ส่งผลให้เบลโลกับ วิลเลียม เอช. เมซี่ย์ ต้องกินแห้วตามระเบียบ) และ A History of Violence (ทั้งเธอและ วิกโก มอร์เทนเซน ล้วนถูกมองข้ามอย่างน่าเจ็บใจ) ส่วน แม็กกี้ กิลเลนฮาล นั้นก็เคยถูกมองข้ามจาก Secretary และ Happy Endings สำหรับปีนี้ โอกาสที่เธอจะถูกมองข้ามในสาขาดารานำหญิงจาก Sherrybaby ก็มีค่อนข้างสูง ฉะนั้นกรรมการออสการ์อาจชดเชยเธอด้วยการให้เข้าชิงในสาขาดาราสมทบแทน และโดยภาพรวมแล้วบทของเธอใน World Trade Center ก็ออกจะเชือดเฉือนอารมณ์มากกว่าบทของเบลโลอยู่เล็กน้อย

ความแรงของ The Departed อาจพัดพาส้มหล่นมาให้ เวรา ฟาร์มิกา ดาราหญิงเพียงคนเดียวในเรื่อง ซึ่งได้ฟาดทั้ง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ แม็ท เดมอน จนเต็มคราบ (ร้ายนะยะ) บทของเธอใน The Departed ออกจะขาดๆ เกินๆ ไปหน่อย (ความจริงเธอได้โชว์ฝีมือและทักษะในหนังแอ็กชั่นอย่าง Running Scared มากกว่าด้วยซ้ำ) แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของนักแสดงแต่อย่างใด เมื่อปีก่อน ฟาร์มิก้าอาจได้เข้าชิงออสการ์สาขาดารานำหญิง ถ้ามีคนได้ดู Down to the Bone มากกว่านี้ (หลังจากเห็นเธอในหนังเรื่องนั้น สกอร์เซซี่ และ แอนโธนีย์ มิงเกลลา จึงตัดสินใจเลือกเธอไปร่วมงานใน The Departed และ Breaking and Entering ตามลำดับ)

Sure Thing: เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน (Dreamgirls), อบิเกล เบรสลิน (Little Miss Sunshine), เคท บลันเชตต์ (Notes on a Scandal/ Babel)

Maybe: เวรา ฟาร์มิกา (The Departed), เอเดรียนา บาร์ราซา (Babel), แม็กกี้ กิลเลนฮาล (World Trade Center), มาเรีย เบลโล (World Trade Center), รินโกะ คิคูชิ (Babel)

In The Mix: เอ็มมา ธอมป์สัน (Stranger Than Fiction), ฟิลลิส ซอมเมอร์วิลล์ (Little Children), ซิลเวีย ซิมส์ (The Queen)

ดาราสมทบชาย

คนที่วิ่งนำโด่งมาแต่ไกลในสาขานี้ คือ แจ๊ค นิโคลสัน ซึ่งกินขาดทุกคนในเรื่องบารมีบนเวทีออสการ์ โดยเขาเคยเข้าชิงทั้งหมด 12 ครั้ง และคว้าชัยมาได้สำเร็จ 3 ครั้ง (จาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest และ As Good As It Gets ในสาขาดารานำ และจาก Terms of Endearment ในสาขาดาราสมทบ) ถ้าครั้งนี้เขาคว้าออสการ์มาครองได้อีกตัว เขาก็จะทำสถิติสูงสุดเทียบเท่า แคทเธอรีน เฮปเบิร์น (ซึ่งได้ออสการ์สาขาดารานำหญิง 4 ตัวจาก Morning Glory, Guess Who’s Coming to Dinner, The Lion in Winter และ On Golden Pond) แต่ทุกอย่างใช่จะราบรื่นเสียทีเดียวสำหรับแจ๊ค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบว่าเขา “โอเวอร์ แอ๊คติ้ง” จนทำให้โทนอารมณ์ของหนังเสียสมดุล ซึ่งเริ่มดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมยังดังมาจากสื่อใหญ่อย่าง นิวยอร์ก ไทมส์ เสียด้วย (มโนห์รา ดาร์กิส คือ ต้นเสียงสำคัญ ฉะนั้นเราอาจคาดการณ์ได้เลยว่ารางวัลดาราสมทบชายยอดเยี่ยมของสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์กคงไม่ตกเป็นของนิโคลสันอย่างแน่นอน)

คู่แข่งสำคัญในตอนนี้ของแจ๊คดูเหมือนจะอัดแน่นไปด้วยพลังดาราไม่แพ้กัน คนแรก คือ แบรด พิทท์ ซึ่งเคยเข้าชิงมาแล้วในสาขาเดียวกันนี้จาก Twelve Monkeys บทสามีที่เพิ่งสูญเสียลูกทารก และกำลังจะเสียภรรยาไปอีกคน เมื่อเธอถูกยิงระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวกลางทะเลทราย ใน Babel เปิดโอกาสให้พิทท์ได้โชว์ทักษะการแสดงอย่างดุเดือด เขาต้องร้องไห้ เกรี้ยวกราด และสลัดภาพซูเปอร์สตาร์ทิ้งอย่างหมดเปลือก โดยผลตอบแทนที่เขาได้รับ คือ เสียงชื่นชมแบบเป็นเอกฉันท์

อีกคนที่กำลังมาแรง คือ เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ ซึ่งเริ่มสร้างกระแสออสการ์มาตั้งแต่เมืองคานส์เช่นเดียวกับ เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ใน Dreamgirls เมอร์ฟีย์รับบทเป็น เจมส์ “ธันเดอร์” เออร์ลีย์ นักร้องที่มีแนวโน้มชอบทำลายตัวเองด้วยปัญหาเรื่องผู้หญิง ยาเสพติด และการปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงแนวเพลงตามความต้องการของตลาด เสียงร้องของเมอร์ฟีย์อาจไม่ทรงพลังเหมือนฮัดสัน แต่เขามีโอกาสได้โชว์ทักษะการเรียกเสียงหัวเราะ ซึ่งยังคงเฉียบคมไม่ต่างจากยุค Saturday Night Live ไปพร้อมๆ กับสะท้อนด้านที่เปราะบางของตัวละครในฉากสำคัญ เมื่อเจมส์เกิดสติแตกกลางเวทีขณะร้องเพลง แล้วเปิดเผยให้เห็นความกลัวที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ฉากดังกล่าวถือเป็นนาทีทองของนักแสดง และเมอร์ฟีย์ก็คว้ามันไว้ได้แบบอยู่หมัด

ขณะเดียวกันเขายังเป็นดาราที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวงการมานาน ได้รับความยอมรับนับถืออย่างสูงทั้งในบทบาทของดาวตลกและนักแสดงมากฝีมือ เขายังไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ (แค่เฉียดๆ จะได้เข้าชิงอยู่ครั้งจาก The Nutty Professor) และนี่เป็นเวลาอันควรสำหรับเกียรติดังกล่าว แถมเขาอาจก้าวไปถึงขั้นคว้ารางวัลมาครองเลยด้วยซ้ำ หากหนัง Dreamgirls ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเริ่มเปิดฉายในวงกว้าง

นอกจากสามคนข้างต้นแล้ว อีกคนที่มีโอกาสเข้าชิงค่อนข้างสูง คือ ไมเคิล ชีน จาก The Queen ซึ่งกำลังทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หลังการทัวร์โปรโมตหนังตลอดสองสามสัปดาห์ก่อน จริงอยู่ว่าพลังหลักของ The Queen อยู่ตรง เฮเลน เมียร์เรน แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าชีนในบท โทนี่ แบลร์ ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เขารับส่งอารมณ์กับเมียร์เรนอย่างเข้นข้น และนักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษคนนี้ก็ยืนหยัดประกบราชินีแห่งวงการแสดงได้อย่างไม่เกรงกลัว (ความจริงนี่ถือเป็นครั้งที่สองของชีนในการรับบท โทนี่ แบลร์ หลังจากหนังทีวีเรื่อง The Deal ซึ่งกำกับโดย สตีเฟ่น เฟียร์ส เช่นกัน แต่ในคราวนั้นเขาคือโฟกัสหลักของหนัง)

ท่ามกลางกลุ่มนักแสดงชั้นยอดของ Little Miss Sunshine สองคนที่ค่อนข้างโดดเด่นเหนือใคร คือ สตีฟ คาร์เรล ในบทคุณลุงเกย์ผู้คิดอยากฆ่าตัวตายหลังอกหักจากความรักกับนักศึกษาหนุ่ม และ อลัน อาร์กินส์ ในบทคุณปู่ขี้ยา ที่ไม่เอาอ่าวและชอบพูดจาโผงผาง แต่ก็รักหลานสาวอย่างจริงใจ คนแรกโด่งดังขึ้นมาจากบทสมทบใน Bruce Almighty ก่อนจะได้มีโอกาสเป็นพระเอกเต็มตัวใน The 40 Year Old Virgin ส่วนคนหลังเป็นดารารุ่นเก๋าที่เคยเข้าชิงออสการ์ในสาขาดารานำชายมาแล้วสองครั้งจาก The Russians Are Coming the Russians Are Coming (1966) และ The Heart Is a Lonely Hunter (1968) ณ ตอนนี้คนหลังดูเหมือนจะมีกระแสสนับสนุนแรงกว่า และล่าสุดเพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Independent Spirit Award

Sure Thing: แจ๊ค นิโคลสัน (The Departed), เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ (Dreamgirls), แบรด พิทท์ (Babel), ไมเคิล ชีน (The Queen)

Maybe: อลัน อาร์กินส์ (Little Miss Sunshine), แจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาลีย์ (Little Children), สตีฟ คาร์เรล (Little Miss Sunshine), อดัม บีช (Flags of Our Fathers)

In The Mix: มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (The Departed), ไมเคิล เพนา (World Trade Center), จิมอน ฮอนซู (Blood Diamond)

วันจันทร์, ธันวาคม 04, 2549

เทพธิดาโรงแรม: สาวน้อยร้อยมือชาย


มองเผินๆ หนังเรื่อง เทพธิดาโรงแรม อาจถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าแห่งยุคสมัย (เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2517) จากการสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตของชนชั้นล่างอย่างบรรดาผู้หญิงขายตัวได้อย่างเหมือนจริง แต่หากมองให้ลึกลงไปอีกชั้น คุณจะพบว่านี่คือหนังที่ตีแผ่ภาพลวงของสังคมชายเป็นใหญ่ได้อย่างเจ็บแสบ และอาจพูดได้ว่ามันเป็นผลงานแนวเฟมินิสต์หัวก้าวหน้าอยู่ไม่น้อย

หนังเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงวิบากกรรมของ มาลี (วิยะดา อุมารินทร์) เด็กวัยรุ่นใจแตกจากเมืองเหนือที่แอบหลับนอนกับผู้ชายในโรงแรม (พฤติกรรมแบบที่ “นางเอก” ในหนังไทยไม่ว่าจะสมัยนั้น หรือสมัยนี้ไม่นิยมทำกัน) เธอถูกเขาล่อลวงให้เข้ากรุงเทพฯ ด้วยประโยคว่า “มาลีสวยขนาดไปเป็นนางเอกหนังได้สบายเลย” แต่แล้วความฝันที่จะสุขสบายอยู่ในวงการบันเทิงของเธอก็พังทลายลงแทบจะในทันที เมื่อเธอถูกชายคนนั้น ซึ่งเธอเรียกขานว่า “ผัว” ขายต่อให้กับ โทน (สรพงศ์ ชาตรี) แมงดาประจำโรงแรมม่านรูด ซึ่งรีบลอง “ชิมสินค้า” โดยไม่รีรอ ก่อนต่อมาจะบังคับให้เธอขายตัวเพื่อแลกกับอาหารและที่พัก

แน่นอน แรกทีเดียวมาลีถูกนำเสนอในฐานะ “เหยื่อ” ทางรูปธรรม เธอถูกพวกผู้ชายฉกฉวยผลประโยชน์แบบหน้าด้านๆ ถูกตบตีอย่างทารุณ หากไม่ยอมทำตามคำสั่ง ส่วนเงินที่หามาได้ก็ถูกหักเข้ากระเป๋าพวกแมงดา แต่ไม่นานนักเธอก็เริ่มคุ้นเคย หรืออาจพูดได้ว่าชาชินกับอาชีพนี้ อย่างน้อยเธอก็มีข้าวกิน มีที่หลับนอน มีเงินใช้บ้าง และไม่ต้องลำบากตรากตรำ เธอถึงขนาดช่วยเกลี้ยกล่อม “เด็กใหม่” ให้ยอมขายตัวเสียด้วยซ้ำ

มาลีเป็นปลื้มกับคำชมของโทน (“มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก”) หลงใหลในความสาว ความสวยของตัวเอง และคำป้อยอจากพวกผู้ชาย จนไม่ใส่ใจสายตาเหยียดๆ ของคนขายวิทยุ เมื่อเขาทราบว่ามาลีเป็นกะหรี่ หรือแม้กระทั่งคำพูดเหยียดหยามของลูกค้าเลวๆ ว่า “กูไม่เคยโดนผู้หญิงตบ โดยเฉพาะกะหรี่”

หนังทั้งเรื่องดูเหมือนจะสอดแทรกให้เห็นทัศนคติของสังคม (ชายเป็นใหญ่) ต่อผู้หญิงหากินเอาไว้โดยตลอด ไม่ว่าแบบตรงๆ ดังเช่นที่กล่าวไปข้างต้น หรือแบบโดยนัย เช่น คำพูดของหมอเถื่อนผู้มาทำแท้งให้มาลีที่ว่า “คนเขารีดลูกกันถมไป คนดีๆ ด้วยซ้ำ” แต่ความสุขสบายทางวัตถุ ความพอใจในสิ่งตื้นเขิน ดูจะทำให้มาลีลืมนึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นคนของตน ที่สมควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

ยูโทเปียของเธอพลันแตกสลายเมื่อโทนถูกลูกค้ายิงตาย แต่แทนที่จะพึงพอใจกับอิสรภาพ มาลีกลับรู้สึกเคว้งคว้าง จนตรอก สภาพไร้การศึกษา ไร้ทักษะ ไร้คนรู้จัก และความปรารถนาจะกลับไปบ้านนอกด้วยมาดของ “ผู้ชนะ” ทำให้มาลีไม่เหลือทางเลือกมากนัก เธอเร่ร่อนไปทั่วเมืองกรุงอันเย็นชา เหินห่าง แบบปราศจากจุดหมายหรือเป้าหมาย เธอตกต่ำถึงขนาดต้องขโมยอาหารกิน ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจาก โกเล็ก แมงดาใจดี ซึ่งพาเธอไปเข้าพัก แล้วทำมาหากินในโรงแรมอีกแห่งหนึ่ง

แต่ทุกอย่างกลับไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

มาลีเริ่มตระหนักว่าเธอไม่สามารถจะดำรงอาชีพนี้ไปตลอดได้ วันๆ เธอมีแต่จะแก่ตัวลง จนเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่อยากผันตัวไปเป็นเอเย่นต์แบบ คำแก้ว หากินด้วยการหลอกเด็กหญิงหน้าใหม่ๆ มาเป็นโสเภณี แต่ฟางเส้นสุดท้ายของเธอจริงๆ คงเป็นการได้เห็น “เด็กใหม่” คนหนึ่งหาญกล้ายืนหยัดเพื่อศักดิ์ศรีของตน แม้กระทั่งต้องแลกด้วยชีวิต

เพื่อเปิดทางเลือกให้แก่ตนเอง มาลีจึงตัดสินใจสมัครเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า นั่นแสดงให้เห็นถึงการเติบใหญ่ในระดับแรกของตัวละคร ที่สามารถมองทะลวงความสุขสบายผิวเผินแห่งอาชีพขายเรือนร่างไปได้ เธอหาใช่เหยื่อของมันอีกต่อไป แต่ยังคงต้องทำมันเพียงเพื่อจะได้มีเงินไปสร้างอนาคตเท่านั้น ทว่ายังมีกำแพงอีกชั้นที่เธอต้องก้าวกระโดดข้ามไป นั่นคือ ภาพลวงของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่สอนให้ผู้หญิงต้องพึ่งพิงผู้ชาย เป็นช้างเท้าหลังที่เชื่อฟังโดยปราศจากความเห็น

ไพศาล (สมภพ เบญจาทิกุล) เป็นชายหนุ่มท่าทางเรียบร้อย เขาตรงเข้ามาจีบมาลีด้วยลีลาเคอะๆ เขินๆ แต่ก็ดูจริงใจ การต้องรับมือกับผู้ชายมากมาย ซึ่งเห็นเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ทำให้มาลีอดไม่ได้ที่จะมองไพศาลเป็นดังเทพบุตรในฝัน จริงอยู่ เขาอาจไม่ได้ร่ำรวย (ฉากที่หนังแสดงให้เห็นภาพความคิดของมาลี ซึ่งวาดฝันบ้านของไพศาลเป็นคฤหาสน์หลังโต ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอาศัยอยู่ในสลัม สะท้อนให้เห็นทัศนคติบิดเบี้ยวของผู้หญิงที่เฝ้าฝันอยากให้มีเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยเธอ) แต่อย่างน้อยก็เป็นคนดี...

หรือบางทีอาจจะแค่ “ดูเหมือน” เท่านั้น

เรื่องน่าเศร้าจริงๆ อยู่ที่ แม้กระทั่งเมื่อไพศาลเริ่ม “ออกลาย” มาลีก็ยังแสดงท่าทีมุ่งมั่นอยากจะแต่งงานกับเขาอยู่ดี ด้วยเชื่อว่าการแต่งงานจะช่วยฉุดเธอออกจากสภาพชีวิตในโรงแรมม่านรูดได้ แต่ภาพฝันของเธอกลับมีอันต้องล่มสลายลงอีกครั้ง เมื่อเธอไปพบเขาหลับนอนกับผู้หญิงอีกคนในวันที่เธอเรียนจบคอร์สตัดเย็บเสื้อผ้า มาลีรีบวิ่งหนีออกมา ก่อนจะถูกรถคันหนึ่งเฉี่ยวตัดหน้า ชายหนุ่มคนขับเสนอตัวจะพาเธอไปโรงพยาบาล เธอจึงนั่งรถไปกับเขา ระหว่างทางเขาเริ่มพูดจาชื่นชมความงามของเธอ ทันใดนั้น หนังก็ตัดให้เห็นภาพแทนความคิดของมาลี เป็นใบหน้าผู้ชายหลากหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเธอ แล้วทำลายชีวิต ความฝัน และความหวังของเธอจนย่อยยับ แต่คราวนี้มาลีกลับเลือกจะผละหนีอย่างหวาดหวั่น

จากนั้นในฉากสุดท้าย คนดูจะได้เห็นเธอเดินเข้าไปซื้อเสื้อเชิ้ตกับ “กางเกง” มาสวมใส่แทนชุดกระโปรง ราวกับเพื่อประกาศจุดยืนว่าเธอสามารถก้าวข้ามทัศนคติในการหวังพึ่งพิงผู้ชายได้แล้ว อนาคตข้างหน้าของเธออาจไม่แน่นอน แต่อย่างน้อยเธอก็ตระหนักอย่างแท้จริงเสียที ต่อคำสอนที่เธอพร่ำเกลี้ยกล่อมบรรดา “เด็กใหม่” ทั้งหลายว่า “ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง”

ในที่สุด นกน้อยตัวนี้ก็ได้รับอิสรภาพ

อุกาฟ้าเหลือง: ทะเลกำสรวล


ใครจะคาดคิดว่าหนังเรื่อง อุกาฟ้าเหลือง ซึ่ง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล สร้างไว้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อนจะกลับมา “อินเทรนด์” ได้อย่างเหลือเชื่อในช่วงนี้ ยามที่เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นแนวทางที่บรรดานักการเมืองทั้งหลายชอบอ้างอิงเข้ากับนโยบาย แต่ไม่เคยทำได้ตามนั้น หรือแม้กระทั่งเข้าใจมันอย่างทะลุปรุโปร่ง

ความจริง หนังเรื่องนี้สามารถเปิดฉายควบกับ Happy Feet และ An Inconvenient Truth ได้สบายๆ

เรื่องราวของชาวบ้านในคุ้งตะเคียน ชุมชนริมชายหาดทางภาคใต้ที่มีรายได้หลักจากการออกเรือหาปลา เฒ่าหลัก (ส. อาสนจินดา) เป็นชาวประมงผู้เชี่ยวชาญและ “รู้จัก” ทุกซอกทุกมุมของทะเลแถวนั้นยิ่งกว่าใครๆ แต่วิธีวางรอกดักปลาของแก ซึ่งแกอ้างว่าเป็นศิลปะที่ตกทอดกันมานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด กำลังจะถูกคุกคามโดยการใช้อวนลากและการระเบิดปลา ซึ่งมอบผลกำไรให้ชาวประมงในระยะสั้น (ง่ายและได้ปลามาก) แต่สร้างความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงในระยะยาว (ทำลายดอกหินอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา)

แน่นอน บุคคลที่สนับสนุนวิธีหาปลาแบบทุนนิยมดังกล่าว (ยิ่งมาก ยิ่งดี ยิ่งรวย ยิ่งไม่พอ) ก็หาใช่ใครที่ไหน มันคือนักการเมืองน่ารังเกียจอย่างกำนันเลี้ยง ซึ่งปล่อยกู้เรือให้บรรดาผู้ใหญ่บ้านในย่านนั้น ขอร้องพวกเขาให้มาเป็นหัวคะแนนในระหว่างช่วงเลือกตั้ง ก่อนจะถีบหัวส่งทุกๆ คนที่เคยช่วยเหลือเขา หลังจากคุ้งตะเคียนเริ่ม “เหือดแห้ง” จนฝูงปลากลายเป็นของหายาก

ภาพของวิถีในทำนองปลาใหญ่กินปลาเล็กถูกฉายชัดให้เห็นตั้งแต่ฉากต้นๆ เรื่อง เมื่อ ดอกไม้ (อรวรรณ เชื้อทอง) นำปลาของเฒ่าหลัก ซึ่งเป็นลุงเธอ ไปขายในตลาด และโดนพ่อค้ากดราคาปลาจนเหลือแค่กิโลกรัมละหกบาท หลังจากเมื่อวานยังเป็นกิโลกรัมละแปดบาท ทั้งนี้เพราะชาวประมงหาปลาได้มาก (จากวิธีใช้ระเบิดและอวนลาก) ด้วยเหตุนี้ กำนันเลี้ยง ซึ่งเป็นพ่อค้าปลารายใหญ่ จึงถือโอกาสกดราคา (และก็เป็นเขานั่นเองที่โน้มน้าวให้เหล่าชาวประมงใช้วิธีใหม่ๆ ในการหาปลาโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย หรือธรรมชาติ) ชาวประมงไม่มีทางเลือก จึงจำต้องขายปลาในราคาต่ำ แต่แล้วพอปลาเริ่มหาได้ยากขึ้น กำนันเลี้ยงก็ขนเงิน รวมถึงเรือของชาวประมงที่ไม่มีปัญญาผ่อนหนี้ ไปยังแหล่งหากินแห่งใหม่

กำนันเลี้ยงคือตัวแทนของระบบทุนนิยมสุดขั้ว และเจ้าระบบที่ว่านี้เปรียบไปแล้วก็คงไม่แตกต่างจากฝูงตั๊กแตนนับล้านที่บุกลงโจมตีไร่นา ตักตวง กัดกินทุกอย่างจนอิ่มหมีพลีมัน แล้วก็บินจากไปโดยไม่คิดจะตอบแทนใดๆ ให้กับแผ่นดิน หรือชาวไร่ชาวนา ระบบทุนนิยมสุดขั้วก็ไม่ต่างจากตัวเหลือบไรจอมเขมือบ ที่จะสูบเลือดจากร่างของคุณจนหมดตัว ก่อนจะกระโดดไปเกาะคนอื่นๆ ต่อแบบไม่จบสิ้น จนกระทั่งไม่เหลืออะไรให้มันเกาะกิน

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบชั่วร้ายดังกล่าวยังพยายามหาแนวร่วมด้วยการล่อลวง โน้มน้าว และท้ายที่สุด คือ ล้างสมองให้ทุกคนตะกระตะกราม ไม่รู้จักพอแบบเดียวกัน โดยตัวแทนแห่งเหยื่อของลัทธิบริโภคนิยมที่ปรากฏชัดในหนัง ได้แก่ บุญตา (เดือนตา ตรีมงคล) หญิงสาวที่ซำ (ยมนา ชาตรี) ลูกมือหาปลาของเฒ่าหลัก หลงรักและอยากแต่งงานด้วย

ในฉากเปิดตัว คนดูจะเห็นบุญตานอนฟังวิทยุทรานซิสเตอร์อยู่ในเรืออย่างสบายอารมณ์ แต่หลังจากถูกซำแกล้งด้วยการพลิกเรือคว่ำ เธอก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง พร้อมทั้งยืนกรานให้ซำดำน้ำลงไปเก็บวิทยุให้เธอ โดยไม่สนคำอ้างของเขาที่ว่าน้ำตรงนั้นมันลึก และเขาอาจจะตายได้

“ฉันน่ะจะรักคนที่ยอมแพ้ง่ายๆ ไม่ได้หรอก” เธอตอกกลับ

ซำดำผุดดำว่ายอยู่สองรอบ กว่าจะงมหาวิทยุมาคืนให้เธอได้ แต่เธอกลับเขวี้ยงมันกระแทกหินจนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เมื่อเห็นว่ามันเปิดฟังไม่ได้แล้ว และยืนกรานให้ซำซื้อวิทยุเครื่องใหม่ให้เธอ สำหรับบุญตา ความพยายามของซำที่จะงมวิทยุมาคืนให้เธอนั้นหาได้สำคัญเทียบเท่าคุณค่าทางวัตถุไม่

ไม่นานต่อมา เธอก็เริ่มยุให้ซำผละจากเฒ่าหลัก แล้วไปทำงานให้กับพวกเรือหาปลาด้วยอวนลากแทน เหตุผลของเธอ คือ ถ้าขืนเขาทำงานกับเฒ่าหลักโดยใช้วิธีหาปลาแบบ “ล้าสมัย” ต่อไป เขาคงจะไม่มีปัญญา “หาเลี้ยง” เธอแน่ จริงอยู่ เฒ่าหลักสามารถหาเลี้ยงทั้งซำและดอกไม้ได้ด้วยการวางรอกหาปลาเป็นอาชีพ แต่กระต๊อบเล็กๆ ริมชายหาดคงไม่ใช่ชีวิตแบบที่บุญตาใฝ่ฝัน ดังนั้น มันจึงไม่แปลกที่เธอจะลอบคบชู้กับหนุ่มจากกรุงเทพฯ ซึ่งดูท่าทางจะมีปัญญาหาซื้อชีวิตแบบที่บุญตาใฝ่ฝันได้ (ทั้งสองพบกันขณะเธอกำลังเลือกซื้อเสื้อผ้า) แต่แน่นอน เงินไม่สามารถพิสูจน์ความดีในตัวคนได้ และกว่าบุญตาจะตระหนักในสัจธรรมข้อนั้น เธอก็ต้องแลกมันด้วยชีวิต

ในทางตรงกันข้าม เฒ่าหลักคือตัวแทนของแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง แกไม่โหยหาความสุขสบายทางวัตถุจนเกินพอดี แต่ก็หาได้ใช้ชีวิตอยู่บนความประมาท แกเก็บเงินที่ได้จากการขายปลาเอาไว้สำหรับหลานๆ พร้อมกับเฝ้าพร่ำสอนซำให้รู้จักเคารพธรรมชาติ เพราะทะเลเป็นของเราทุกคน และมนุษย์ก็ยังต้องพึ่งธรรมชาติอยู่วันยันค่ำ จริงอยู่ แม้คนจะมีเงิน แต่คนก็ไม่อาจสร้างปลาได้สักตัว หรือดอกหินสักก้อน ต้องอาศัยธรรมชาติสร้างให้ ดังนั้น เมื่อคนไม่รู้จักพอ เมื่อความโลภ ความเห็นแก่ตัว ทำให้คนแข่งขันกันทำลายธรรมชาติเพื่อเงิน เพื่อความสบายทางวัตถุ ธรรมชาติจึงต้องสั่งสอนคน ดังจะเห็นได้จากความเดือดร้อนของกลุ่มชาวประมงในคุ้งตะเคียน เมื่อปลาเริ่มร่อยหรอ เพราะดอกหินถูกทำลายด้วยระเบิด

ขณะเดียวกัน ฉากสุดท้ายของหนังก็ช่วยตอกย้ำความยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ เมื่อมือปืนจากกรุงเทพฯ ผู้ไม่รู้จักธรรมชาติ ไม่เชื่อฟังคำเตือนจากธรรมชาติ (อุกาฟ้าเหลือง) ถูกพายุกลืนหายไปกลางทะเล โดยที่ปืน หรือเครื่องยนต์ในเรือไม่อาจช่วยเหลืออะไรเขาได้แม้แต่น้อย

อันที่จริง หนังได้สื่อนัยยะให้เห็นพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นเรื่อง ในช็อตที่งดงามที่สุดช็อตหนึ่งของหนัง เมื่อกล้องจับภาพซำกับบุญตานั่งอยู่ในเรือลำน้อยกลางทะเล จากนั้นก็ค่อยๆ ซูมถอยหลังออกมาอย่างต่อเนื่อง เผยให้เห็นผืนน้ำกว้างใหญ่ ป่าเขา และทัศนียภาพของเกาะแก่งโดยรอบ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์นั้นจริงๆ แล้วเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ หากเราไม่เรียนรู้ที่จะเคารพธรรมชาติ สุดท้ายความหายนะย่อมบังเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเราเอง