วันอังคาร, เมษายน 24, 2550

Matchstick Men: อาชญากรรมและการลงทัณฑ์


กฎหมายถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้รักษาระเบียบในสังคม ปกป้อง คุ้มครองประชาชน และลงโทษบุคคลผู้ล่วงละเมิด มันเปรียบดังบรรทัดฐานที่คอยตีกรอบพฤติกรรมแห่งมวลชน มิให้แต่ละคนกระทำการตามอำเภอใจโดยใฝ่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ฉะนั้นหากปราศจากกฎหมายแล้วไซร้ เชื่อได้ว่าโลกของเราคงวุ่นวาย ไร้ความยุติธรรม คนดีคงถูกกลั่นแกล้งและคนชั่วคงหนีรอดลอยนวล อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นดังกล่าว นักเขียนนามอุโฆษ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ได้เคยแสดงแง่มุมอันน่าสนใจเอาไว้ในนิยายอมตะเรื่อง Crime and Punishment ว่า บางครั้งบทลงทัณฑ์อาจถือกำเนิดขึ้นก่อนขบวนการทางกฎหมายจะเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้

ราสโคลนิคอฟ ตัวเอกในนิยาย ได้ก่ออาชญากรรม (ฆ่าเจ้าของโรงรับจำนำ) ไว้ในช่วงต้นเรื่อง แต่บทลงทัณฑ์ของเขา (ถูกส่งตัวไปทำงานหนักที่ไซบีเรีย) กลับปรากฏอยู่ในบทส่งท้าย หลายร้อยหน้าหลังจากเหตุนองเลือด โดยเนื้อความซึ่งแทรกกลางระหว่างสองปรากฏการณ์หลัก คือ บทสำรวจลึกถึงสภาพทางจิตของอาชญากรหรือโลกในมโนคติของราสโคลนิคอฟ อันคราคร่ำไปด้วยความรู้สึกแคลงใจ ตื่นตระหนก ประหม่า หวาดกลัว จนกระทั่งหดหู่ สิ้นหวัง กล่าวคือ สิ่งที่ดอสโตเยฟสกี้สนใจหาใช่รูปธรรมแห่งผลกรรมในตอนท้าย แต่เป็นสภาวะทุกข์ทรมานเหลือแสนของราสโคลนิคอฟอันเนื่องมาจากการฆาตกรรมต่างหาก และเมื่อหนังสือให้ความสำคัญกับการจองจำเพียงน้อยนิด มันจึงพลอยสื่อนัยยะกลายๆว่า บทลงทัณฑ์ทางกฎหมายนั้นเลวร้ายน้อยกว่าความตึงเครียดอันเกิดจากการพยายามจะหลบเลี่ยงการถูกลงทัณฑ์มากมายนัก ซึ่งนั่นเองกลายเป็นการลงทัณฑ์ที่แท้จริงในความเห็นของดอสโตเยฟสกี้

เช่นเดียวกับภาพยนตร์แนว ‘หักเหลี่ยมเฉือนคม’ ทั่วๆไป Matchstick Men มีโครงเรื่องใหญ่เป็นเกมต้มตุ๋นซึ่งจะไม่เผยให้เห็นภาพรวมที่แท้จริงจนกระทั่งไคล์แม็กซ์ตอนท้าย ตัวละครหลัก ‘ทุกตัว’ ล้วนมีบทบาทในหมากเกมนี้ บ้างเป็นเป้าหมาย บ้างเป็นเหยื่อล่อ บ้างเป็นนางนกต่อ บ้างเป็นจอมบงการ แต่ใครจะรับบทเป็นอะไรนั้นคือสิ่งที่ผู้ชมไม่อาจแน่ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จอมบงการสามารถพลิกผันสู่สถานะเป้าหมายได้ในนาทีสุดท้าย ส่วนเป้าหมายก็อาจกลายเป็นเพียงเหยื่อล่อลวงตา เนื่องจากการปลิ้นปล้อน คือ ธรรมชาติแห่งเกมดังกล่าว และหากคุณอ่อนแอหรือไม่ระแวดระวังเพียงพอ บทบาทเดียวที่คุณจะได้รับก็คือ… ผู้ถูกหลอก

โครงเรื่องรองที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและเป็นหัวใจสำคัญของ Matchstick Men ได้แก่ การสำรวจลึกถึงอาชญากรรม บทลงทัณฑ์ และการไถ่บาปของ รอย วอลเลอร์ (นิโคลัส เคจ) เล่าผ่านพล็อตสามพล็อตซึ่งมองโดยผิวเผินดูเหมือนจะไม่เกี่ยวพันกัน แต่แท้จริงแล้วกลับถูกเรียงร้อยเอาไว้อย่างเป็นระบบ

รอยเป็นมนุษย์ศูนย์รวมอาการประสาทนานาชนิด เขากลัวพื้นที่เปิดโล่ง หมกมุ่นกับการทำความสะอาดบ้านให้ปราศจากสิ่งสกปรกทุกตารางนิ้ว ชอบเปิดปิดประตูสามครั้งก่อนจะเปิดประตู และมักมีอาการกระตุกแถวดวงตาเวลาตึงเครียด มีเพียงยาซึ่งจิตแพทย์ของเขาเขียนใบสั่งให้กินเป็นประจำเท่านั้นที่สามารถช่วยให้รอยสงบ เยือกเย็นพอจะทำงานได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาดันเผลอเรอทำยาหล่นลงท่อระบายน้ำหมดขวดและไม่สามารถติดต่อขอพบจิตแพทย์ส่วนตัวได้ ทำให้ แฟรงค์ เมอร์เซอร์ (แซม ร็อคเวลล์) เพื่อนสนิทเพียงคนเดียว ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการ ‘แนะนำ’ จิตแพทย์คนใหม่ให้เขา (พล็อตที่หนึ่ง)(1)

แฟรงค์กับรอยทำงานร่วมทีมกันต้มตุ๋นเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแม่บ้านชนชั้นกลาง ให้หลงซื้อเครื่องกรองน้ำในราคาสูงลิ่วโดยเสนอของแถมราคาแพงเป็นเหยื่อล่อ พวกเขาทำอาชีพนี้มาได้พักใหญ่แล้วและต่างก็ใช้ชีวิตค่อนข้างสุขสบายจากรายได้ในแต่ละเดือน ถึงแม้แฟรงค์จะเฝ้าฝันเสมอมาว่า สักวันจะมีโอกาสตกปลาตัวใหญ่เพื่อให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ เขาเพียรพยายามจะชักชวนรอยให้ร่วมกันวางแผนต้มตุ๋นเศรษฐีหน้าโง่ชื่อ ชัค เฟรเชตต์ (บรูซ แม็กกิลล์) ซึ่งแฟรงค์อ้างว่ารู้จัก แต่ฝ่ายหลังกลับตอบปฏิเสธเรื่อยมาจนกระทั่ง… (พล็อตที่สอง)

ดร. ไคลน์ (บรูซ อัลท์แมน) จิตแพทย์คนใหม่ของรอย ได้กระตุ้นให้เขาหวนคิดถึงอดีตภรรยาซึ่งแยกทางกันไปเมื่อปลายปีมาแล้ว เมื่อครั้งจากกัน เธอกำลังตั้งท้องลูกของเขาได้เพียงไม่กี่เดือน รอยปรารถนาจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กในครรภ์ แต่ไม่กล้าพอจะโทรศัพท์ไปถามอดีตภรรยาโดยตรง ดังนั้นเขาจึงขอให้ดร.ไคลน์กระทำการดังกล่าวแทน และผลปรากฏว่า แองเจล่า (อลิสัน โลห์แมน) ลูกสาววัย 14 ปีของเขาแสดงท่าทีกระตือรือร้นอยากจะพบบิดาบังเกิดเกล้าเป็นที่ยิ่ง ทั้งสองผูกสัมพันธ์กันได้อย่างรวดเร็วและสนิทใจ ความรักที่เขามีให้เธอ ทำให้รอยคิดจะล้างมือจากวงการ แต่นั่นต้องหลังจากเขาได้ช่วยให้ฝันของแฟรงค์กลายเป็นจริงเสียก่อน (พล็อตที่สาม)

อาชญากรรมของรอยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกค่อนข้างชัดเจนนั่นคืออาชีพนักต้มตุ๋น ซึ่งถึงแม้เขาจะพยายามแก้ต่างว่าเหยื่อทุกคนยินยอมมอบเงินให้เองเพราะความโลภ แต่สุดท้ายมันก็ยังเข้าข่ายอาชญากรรมอยู่ดี หนังสื่อสารอย่างลุ่มลึกว่ารอยไม่ได้ประกอบอาชีพดังกล่าวเพื่อความสนุก สะใจ หรือเพื่อเงินทอง บ่อยครั้งเขาถึงขนาดขยะแขยงตัวเองที่ต้องไปหลอกปล้นเงินจากพวกขี้แพ้ คนเหงา และคนชรา ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนไม่คู่ควรจะถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่างไรก็ตาม คำถามของแองเจล่าที่ว่าทำไมเขาจึงไม่ตัดสินใจวางมือเสียตั้งแต่ตอนนี้ กลับทำให้รอยนิ่งอึ้ง พูดอะไรไม่ออก

ความจริง ก็คือ อาชีพข้างต้นเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เขายอมลากสังขารขึ้นจากเตียง เดินไปสำรวจตรวจตราสระว่ายน้ำซึ่งไม่เคยถูกใช้ประโยชน์ และแต่งตัวออกนอกบ้านในแต่ละวัน มันสร้างความหมายให้แก่การดำรงอยู่ของเขา เนื่องจากนับแต่เลิกรากับอดีตภรรยา รอยก็นิยมใช้ชีวิตแปลกแยกจากสังคมมาโดยตลอดเขาไม่เคยสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้ง ไม่เคยผูกมัดตัวเองกับใครจริงจัง แม้กระทั่งเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของเขาอย่างแฟรงค์ เมื่อรอยเผลอทำยาหล่นลงท่อและตื่นตระหนกจนไม่กล้าก้าวเท้าออกจากบ้าน เขาเลือกใช้เวลาตลอดวันที่เหลือขัดถูเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น โดยไม่คิดจะโทรไปแจ้งหรือขอความช่วยเหลือใดๆจากเพื่อนร่วมงาน เขามองตัวเองว่าอาศัยอยู่ในโลกใบนี้เพียงลำพัง และหากวันหนึ่งเขาเกิดเสียชีวิตไปอย่างกระทันหัน ก็คงไม่มีใครต้องมานั่งร้องไห้เสียน้ำตา

มองในแง่หนึ่ง วิถีชีวิตดังกล่าวเหมาะเจาะสอดคล้องกับอาชีพที่เขาทำอยู่ เพราะมันมอบอิสระให้เขาสามารถโยกย้ายได้ทันท่วงทีหากมีปัญหายุ่งยากและลดความเสี่ยงของการต้องมาคอยพะวงหน้าพะวงหลัง ดังนั้นการหลงดึงแองเจล่าเข้ามาพัวพันจึงเป็นจุดหักเหที่ย่อมนำไปสู่หายนะอย่างไม่อาจหลบเลี่ยง รอยเสียเหลี่ยมไม่ใช่เพราะโง่เง่า แต่เพราะเขาปรารถนาจะปกป้องบุคคลอันเป็นที่รักและเผลอใช้หัวใจครุ่นคิดแทนมันสมอง ซึ่งนั่นถือเป็นข้อต้องห้ามสำหรับหมากเกมนี้ แต่ขณะเดียวกัน การมีแองเจล่าก้าวเข้ามาในชีวิต ก็ทำให้รอยเริ่มตระหนักถึงบุคคลรอบข้างนอกจากตัวเอง ความรัก ความห่วงใยคือเหตุผลที่ทำให้เขาคิดจะล้างมือจากวงการ เนื่องจากเขาไม่จำเป็นต้องใช้อาชีพต้มตุ๋นในการสร้างความหมายให้แก่ชีวิตอีกต่อไปแล้ว

ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า แองเจล่า คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาได้รับทั้งบทลงทัณฑ์ (ถูกต้ม) และการไถ่บาป (เรียนรู้ที่จะเปิดใจรับบุคคลอื่น) ในเวลาเดียวกัน

อาชญากรรมส่วนที่สองของรอย ได้แก่ การทอดทิ้งภรรยาและลูกในท้องไปแบบไม่เหลียวแลเมื่อสิบสี่ปีก่อนจนกลายเป็นตราบาปติดใจเขาเรื่อยมา หนังไม่ได้ถ่ายทอดรายละเอียดในส่วนนี้ออกมาอย่างชัดเจน แต่บ่งบอกเป็นเพียงนัยๆเท่านั้น เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่ว่า อาการประสาททั้งหลายของรอยนั้นเป็นผลมาจากความรู้สึกผิดซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ หากจิตใจของเขาได้รับการบำบัด ชำระล้าง

จะเห็นได้ว่าพล็อตเรื่องทุกส่วนของ Matchstick Men ล้วนชี้นำไปยังพัฒนาการด้านจิตวิญญาณในตัวรอยซึ่งจะก้าวสู่จุดสูงสุดในบทส่งท้าย โดยขั้นตอนที่ว่าสามารถจัดแยกได้ดังนี้ พล็อตที่หนึ่งคือบทลงทัณฑ์ของอาชญากรรมในส่วนที่สองของรอย พล็อตที่สองคืออาชญากรรมในส่วนที่หนึ่งของเขา ซึ่งเราอาจมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์แทนอาชญากรรมส่วนที่สองซึ่งไม่ปรากฏรูปร่างแท้จริงได้อีกด้วย และพล็อตที่สามคือความพยายามไถ่บาปของรอยต่ออาชญากรรมในส่วนที่สอง แต่ผลลัพธ์ของมันกลับนำไปสู่หายนะ กล่าวคือ เมื่อหนังดำเนินมาถึงไคล์แม็กซ์ รอยจำต้องทนรับการลงโทษแบบสองเด้ง นั่นคือ สูญเสียทั้งเงินและแองเจล่าไปในเวลาเดียวกัน (เคธี่ อดีตภรรยาของเขา แท้งลูกหลังจากแยกทางกัน ดังนั้นแองเจล่า รวมไปถึง ดร.ไคลน์ และ ชัค เฟรเชตต์ จึงเป็นเพียงหมากในเกมต้มตุ๋นของแฟรงค์) แต่เมื่อเคธี่ถามเขาด้วยความเป็นห่วง ระหว่างการเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบสิบสี่ปี ว่าเขาปรกติดีหรือ (เขาดูเหมือนกำลังหัวเราะและร้องไห้ในเวลาเดียวกัน) รอยกลับตอบด้วยน้ำเสียงอันสงบนิ่งโดยปราศจากอาการกระตุกในดวงตาหรือคำพูดว่า เขาสบายดี

สุดท้ายแล้ว รอยอาจสูญเสียทั้งเงินทั้งแองเจล่า แต่สิ่งที่เขาได้คืนมา คือ อิสรภาพจากความกดดันว่าตนได้ทอดทิ้งเคธี่และลูกในท้องไปอย่างเลือดเย็น สำหรับรอย บทลงทัณฑ์ของอาชญากรรมแรก (ถูกต้มตุ๋น) กลับให้ความรู้สึกทุกข์ทรมานน้อยกว่าบทลงทัณฑ์ของอาชญากรรมหลัง (อาการประสาทนานาชนิดอันเป็นผลจากความผิดบาป) มากมายนัก ดังนั้นเสียงกึ่งหัวเราะกึ่งร้องไห้ของเขาจึงเจือไปด้วยกลิ่นอายแห่งความโล่งอก ราวกับน้ำหนักที่เขาต้องทนแบกไว้บนบ่าตลอดเวลากว่าสิบสี่ปีได้ถูกปลดออก แม้มันจะต้องแลกด้วยทรัพย์สินจำนวนมหาศาลก็ตาม

เช่นเดียวกับนิยายอมตะของดอสโตเยฟสกี้ (2) Matchstick Men ปิดฉากลงด้วยบทส่งท้ายอันเปี่ยมความหวัง เมื่อหนึ่งปีต่อมารอยได้พบกับแองเจล่าอีกครั้งที่ร้านขายพรม เขาไม่มีร่องรอยของอาการประสาทใดๆหลงเหลืออยู่แล้วและกำลังประกอบอาชีพสุจริต เธอมีแฟนเป็นคนหนุ่มท่าทางนิสัยดี เธอถามเขาว่า ยังโกรธเธอสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นหรือเปล่า เขาตอบว่า ไม่มีใครขโมยอะไรไปจากเขา แต่เขาเป็นคนมอบมันให้แก่บุคคลผู้นั้นเองอย่างเต็มใจต่างหาก เธอ (และคนดู) รู้สึกประหลาดใจกับทัศนคติมองโลกในแง่ดีของเขา จนกระทั่งไม่กี่ช็อตต่อมา หนังจึงเปิดเผยสาเหตุว่าทำไมรอยถึงไม่คิดเสียใจหรือเคืองแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ฉากข้างต้นทำให้ Matchstick Men แตกต่างจากหนัง ‘หักเหลี่ยมเฉือนคม’ ทั่วๆไปตรงที่ คนดูไม่ได้เดินออกจากโรงด้วยอารมณ์สะใจในแผนเหนือเมฆของตัวเอกผู้สุดท้ายได้เงินทั้งหมดไปครอบครอง รอย ตัวเอกใน Matchstick Men นอกจากจะไม่ได้โชว์ไหวพริบของนักต้มตุ๋นชั้นยอดแล้ว เขายังพลาดท่าถูกโกงเงินจนหมดตัวอีกต่างหาก แต่หนังก็ไม่ได้ท่าทีสงสาร เยาะเย้ย หรือสมเพชตัวละครแต่อย่างใด ตรงกันข้าม บทส่งท้ายยังได้ผันรอยจากสถานะผู้แพ้ไปสู่ตำแหน่งผู้ชนะอย่างงดงามอีกด้วย เนื่องจากสิ่งที่เขา ‘ได้มา’ นั้นมันมีคุณค่าทางใจมากกว่าสิ่งที่เขาสูญเสียไปหลายร้อยเท่า ท้ายที่สุด คนดูจึงลงเอยด้วยการเดินออกมาจากโรงพร้อมความรู้สึกอิ่มเอิบมากกว่าสะใจ

Matchstick Men เริ่มต้นเหมือนจะเป็นหนังในแนวทางหนึ่ง แต่กลับเบ่งบานกลายเป็นหนังในอีกแนวทางหนึ่งเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงฉากจบ ดังนั้น คงไม่ผิดจากความจริงนัก หากเราจะมองผลงานกำกับชิ้นนี้ของ ริดลี่ย์ สก็อตต์ ว่า เป็นเกมต้มคนดูที่ฉลาดและแยบยลอย่างคาดไม่ถึง

หมายเหตุ

(1) มีการใช้เทคนิคภาพยนตร์หลากหลายเพื่อตอกย้ำถึงภาวะไม่ปรกติทางจิตเหล่านั้นให้ปรากฏชัดเจน ตั้งแต่การตัดภาพแบบ jump cut (พฤติกรรม ’กระตุก’), การเร่งสปีดภาพ (อารมณ์ตื่นตระหนก) ไปจนถึงการให้แสงแบบเกินพอดี (overexposure) หรือเน้น contrast สูงระหว่างพื้นที่ในร่มกับพื้นที่โดนแดดโดยเฉพาะในฉากกลางแจ้ง ซึ่งส่งผลให้ภาพที่ออกมาค่อนข้างแบนราบ จืดชืด แห้งแล้ง ไร้สีสันสดใส ไม่ต่างจากสภาพจิตภายในของรอย

(2) Crime and Punishment จบลงเมื่อตัวเอก ราสโคลนิคอฟ ได้ค้นพบและยอมศิโรราบต่อความรักที่เขามีให้แก่ซอนญ่า และ ณ ห้วงเวลานั้นเอง ที่เขาสามารถปลดปล่อยจิตใจเป็นอิสระจากพันธนาการทางความคิดว่าตนอยู่เหนือผู้อื่น ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องแปลกแยก โดดเดี่ยวจากสังคมมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ถึงแม้ดอสโตเยฟสกี้จะเน้นหนักในการสะท้อนด้านมืดแห่งจิตใจมนุษย์ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ยังศรัทธาต่อการไถ่บาป ต่อสำนึกผิดชอบชั่วดี และต่อความเชื่อที่ว่าไม่มีใครเลวร้ายเกินแก้ไข

จาก เวอร์จิเนีย เทค ถึง แสงศตวรรษ


วันก่อนได้อ่านบทความเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมใน เวอร์จิเนีย เทค เขาเขียนถึงบทสัมภาษณ์บุคคลที่มีจุดยืนสนับสนุนการพกปืนในอเมริกา ซึ่งให้ความเห็นว่าถ้านักเรียนและอาจารย์ได้รับอนุญาตให้พกพาปืนในโรงเรียนละก็ ไอ้หนุ่มบ้าเลือดผู้นั้นคงไม่สามารถคร่าชีวิตเหยื่อบริสุทธิ์ได้ถึง 32 คนอย่างแน่นอน เพราะนักเรียนและอาจารย์จะต้องใช้ปืนยิงป้องกันตัว!!!

ความคิดแวบแรกในหัวผม คือ “มึงคิดได้ยังไง (วะ)?” ตามมาด้วย “มึงใช้อะไรคิด (วะ) หัวหรือส้นตีน?” เพราะมันคิดกันแบบนี้น่ะสิ สงครามถึงไม่หมดสิ้นไปจากโลกเสียที แทนที่โศกนาฏกรรมดังกล่าวจะทำให้พวกเขานึกทบทวนกฎหมายการครอบครองปืน (ในอเมริกา ความพิลึกพิลั่นของกฎหมาย คือ เด็กอายุ 18 ปีที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมร้ายแรงสามารถเดินไปซื้อปืนได้สบายๆ แต่ถ้าคุณจะซื้อเหล้า คุณต้องอายุ 21 ปีก่อน!!??? บางคนเขาถึงพูดกันว่าในอเมริกา คุณสามารถซื้อปืนได้ง่ายกว่าซื้อยาแก้หวัดเสียอีก เพราะการจะซื้อยาแก้หวัด บางทีคุณต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์) พวกเขากลับใช้สีข้างเข้าถู สนับสนุนจุดยืนความคิดดั้งเดิมของตัวเองอย่างมืดบอด

นี่แหละหนอ... มนุษย์

วันเดียวกันนั้น ผมได้เข้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ของสมาชิกกองเซ็นเซอร์ท่านหนึ่ง (ในบทความเขาไม่ขอออกนาม คาดว่ากลัวจะโดนคนด่า แต่ต่อมาผมก็ได้ทราบอยู่ดีว่ามันคนนั้นเป็นอาจารย์ที่เคยสอนผมในมหาวิทยาลัย... เฮ้อ อนิจจัง คนเป็นครูบาอาจารย์ เหตุไฉนถึงคิดได้แค่นี้) ซึ่งแสดงความเห็นแบบสุนัขไม่รับประทานต่อฉากต่างๆ ที่มีปัญหาในหนังเรื่อง “แสงศตวรรษ” เอาไว้มากมาย

ความคิดแวบแรกในหัวผม คือ “มึงคิดได้ยังไง (วะ)?” ตามมาด้วย “มึงใช้อะไรคิด (วะ) หัวหรือส้นตีน?” เพราะมันคิดกันแบบนี้น่ะสิ ภาพยนตร์ในเมืองไทยถึงยังไม่พัฒนาไปไหน และประชาธิปไตยของเราถึงยังล้มลุกคลุกคลานตลอดเวลาหลายสิบปี ผมเข้าใจว่ากฎหมายเซ็นเซอร์มันโบราณ จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง แต่บทสัมภาษณ์นั้นมันแสดงให้เห็นสติปัญญาของคนถูกสัมภาษณ์มากกว่าสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในกฎหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์

ผมไม่รู้ว่าอะไรพิลึกพิลั่นกว่ากันระหว่างกฎหมายการครอบครองปืนในอเมริกา กับกฎหมายที่ให้อำนาจกับบุคคล ซึ่งคิดว่าภาพอวัยวะเพศชายแข็งตัวในกางเกงเป็นเรื่องลามกอนาจาร ชั่วร้าย บัดซบ และไม่ควรเผยแพร่ให้ใครเห็น ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น หรือตาแก่วัย 80 ปี ที่น่าตลก (แต่ไม่น่าแปลกใจ) ก็คือ ไอ้คนๆ นั้นมันกำลังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีธุรกิจการค้าเนื้อมนุษย์อันเลื่องลือที่สุดแห่งหนึ่งเสียด้วย (ข้อความนี้ เราทุกคนเข้าใจกันเองนะครับ แต่อย่าได้ไปปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรที่ไหนอย่างเด็ดขาด เพราะเราจะขอประท้วงว่ามันไม่เป็นความจริง เสร็จแล้วเราก็จะเดินไปสีลม ซื้ออีตัวมาฟันที่โรงแรม แล้วกลับไปหาเมียที่บ้าน)

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความเห็นชั่วๆ ต่ออีกสามฉากที่กลายเป็นปัญหานะครับ

ผมเชื่อว่าหากเรามองหนังเรื่อง “แสงศตวรรษ” โดยภาพรวมแล้ว ความรู้สึกแรกที่ได้ คือ ความบริสุทธิ์ ความสวยงาม มันเป็นหนังที่ไม่คุกคาม หรือก้าวร้าวแม้แต่น้อย ทุกฉากที่เป็นปัญหาล้วนได้รับการนำเสนอแบบผ่านๆ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาพรวม ของโทนอารมณ์โดยรวม แต่ถ้าคุณยืนกรานที่จะมองแบบเจาะจงตามตัวอักษร แน่นอน มันย่อมกลายเป็นปัญหา มันก็เหมือนความเห็นของคนที่สนับสนุนกฎหมายครอบครองปืนนั่นแหละ เมื่อคุณจงใจจะหาเหตุผลเข้าข้างความคิดตัวเองอย่างมืดบอด มันก็เปล่าประโยชน์ที่จะโต้เถียง

วันศุกร์, เมษายน 20, 2550

Washington Square: กว่าลูกเป็ดจะกลายเป็นหงส์



นอกเหนือจากการเป็นสองผู้นำยุคบุกเบิกแห่งนิยายแนวเหมือนจริงแล้ว เฮนรี่ เจมส์ กับ เจน ออสเตน สองนักเขียนอมตะที่ผลงานมักจะถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง แทบจะไม่เหลือสิ่งใดที่ใกล้เคียงกันอีกเลย งานเขียนโดยรวมของเจมส์ค่อนข้างหดหู่ มืดหม่น สไตล์การเล่าเรื่องค่อนข้างเชื่องช้าสืบเนื่องจากทฤษฎี “พล็อตควรผูกติดกับตัวละครมิใช่เหตุการณ์ และความตื่นเต้นไม่ได้มีรากฐานมาจากคำถามว่าตัวละครจะกระทำเช่นไรในสถานการณ์นั้นๆ แต่เป็นคำถามเกี่ยวกับ (ความรู้สึกภายใน) ตัวละครเองมากกว่า” ดังนั้นนิยายของเจมส์จึงเต็มไปด้วยบทวิเคราะห์ทางจิตวิทยาอันลึกซึ้ง หนักหน่วง และหัวก้าวหน้าสูงสุดในวงการวรรณกรรมอเมริกันยุคนั้น

แม้จะนิยมใช้ตัวละครหลักเป็นเพศหญิงเช่นเดียวกับออสเตน แต่เป้าหมายหลักของพวกเธอไม่อาจสมบูรณ์ได้ด้วยการแต่งงานกับชายที่เหมาะสม(1) ตรงกันข้ามการแต่งงานในนิยายหลายเรื่องของเจมส์บ่อยครั้งเป็นแหล่งก่อกำเนิดความชั่วร้าย และโศกนาฏกรรม ดังจะเห็นได้จาก A Portrait of a Lady และ The Wings of the Dove นอกจากนั้นในตอนจบตัวเอกของเจมส์มักไม่สมหวังในรัก โดยหากไม่ถูกทอดทิ้ง ก็จะขาดกลัวกับการเริ่มต้นใหม่เพราะประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต จนอาจกล่าวได้ว่าเจมส์กับออสเตนเปรียบเสมือนภาพสะท้อนอันตรงกันข้ามของวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 19

เฮนรี่ เจมส์ ถือกำเนิด ณ.กรุงนิวยอร์ก ในครอบครัวปัญญาชน บิดาของเขา เซอร์ เฮนรี่ เจมส์ เป็นนักทฤษฎี/ปรัชญาที่โดดเด่นแห่งยุค ด้วยเหตุนี้เจมส์และพี่น้องอีก 4 คนจึงได้รับการศึกษาในระดับสูงกันถ้วนหน้า หลังจากเรียนกับครูพิเศษได้ระยะหนึ่งเขาก็ถูกส่งไปศึกษายังหลายเมืองใหญ่ในยุโรป อาทิ เจนีวา บอนน์ และปารีส เจมส์เริ่มงานเขียนบทความ บทวิจารณ์ในนิตยสารหลายเล่มก่อนจะจากอเมริกาไปยัง ยุโรปอีกครั้งเมื่อเขารู้สึกว่าดินแดนแห่งเสรีภาพตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันเขาก็หลงใหลในเสน่ห์แห่งประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ยาวนานของยุโรปด้วย การเดินทางไปๆมาๆระหว่าง ปารีส โรม ลอนดอนเพื่อพอกพูนประสบการณ์ครั้งนี้ของเจมส์ กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในนิยายของเขาแทบทุกชิ้นทั้งใช้เป็นฉากหลัง (A Portrait of a Lady, The Wings of the Dove) และสาระหลักสืบเนื่องจากการประทะกันของคนจากสองภูมิภาค อเมริกา-ยุโรป (The American, The Europeans)

ในบรรดาภาพยนตร์สามเรื่องที่ดัดแปลงจากนิยายเจมส์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน The Wings of the Dove ดูจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้านการนำเสนอโดดเด่นจากผลงานของ เจน แคมเปี้ยน หรือ แอ็กนีสก้า ฮอลแลนด์ ค่อนข้างชัดเจน ความจริงที่ว่า เอียน ซอฟท์ลี่ย์ เป็นผู้กำกับเพศชายคนเดียวอาจใช้เป็นเหตุผลได้ระดับหนึ่งถึงการตีความ และบุคลิกของหนังอันแตกต่าง แต่เหตุผลหลักแท้จริงอยู่ที่ ฮอสไซน์ อามินี่ นักเขียนบทผู้หลงไหลฟิล์มนัวร์เป็นชีวิตจิตใจ เขามองเห็นความเป็นนัวร์ (noirness) ในนิยายอายุกว่าศตวรรษชิ้นนี้และดัดแปลงด้วยลีลาร่วมสมัย ส่วน A Portrait of a Lady อาจให้อารมณ์ในสไตล์ costume drama มากกว่า แต่แคมเปี้ยนก็ไม่ได้ทิ้งการทดลองความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ฉากจินตนาการ ภาพขาวดำเล่าการเดินทาง และวิธีใช้สัญลักษณ์ คือ หลักฐานที่ถูกสอดใส่เข้ามาเป็นระยะๆ

Washington Square ดูเหมือนจะมีความเรียบง่ายในการนำเสนอสูงสุด ขณะเดียวกันก็ถูกวางตัวตั้งแต่แรกในฐานะงานดัดแปลงที่ "ซื่อตรง" ต่อนิยายมากกว่าเมื่อเทียบกับ The Heiress (1949) ซึ่งถูกนำเสนอในรูปเมโลดรามาสุดโต่ง เนื่องจากตัวละครส่วนใหญ่จะมีภาพลักษณ์เพียงมิติเดียวโดยเฉพาะ แคทเธอลีน (โอลิเวียร์ เดอ ฮาวิลแลนด์ ได้ออสการ์ดารานำหญิงจากบทดังกล่าว) ที่ต้องกลายเป็นทั้ง "เหยื่ออาฆาต" ของบิดา (ราล์ฟ ริชาร์ดสัน) และ "ถังข้าวสาร" ของหนุ่มนักขุดทอง (มอนท์โกเมอรี่ คลิฟท์)

อย่างไรก็ตามการซื่อตรงต่อตัวนิยายไม่ได้หมายถึงการไม่เปลี่ยนแปลงเสมอไป ตรงกันข้ามรายละเอียดหลายอย่างกลับถูกเสริมเข้ามาอย่างโดดเด่น เช่น การเปิดเรื่องด้วยช็อต long take จากยอดต้นไม้ลงมาระดับสายตาแนะนำฉากหลังของเรื่องราว (สังคมชั้นสูงแห่งนครนิวยอร์คช่วง 1830) ก่อนกล้องจะค่อยๆเคลื่อนเข้าบ้านหลังหนึ่งผ่านทางหน้าต่าง เสียงตะโกน กรีดร้องที่ดังแว่วเข้ามาบอกถึงสภาวะไม่ปกติ กล้องไล่ขึ้นไปตามขั้นบันไดเข้าไปยังห้องนอนเห็นร่างหญิงสาวสวยนอนตายบนเตียงหลังให้กำเนิดบุตรสาว สร้างความเสียใจอย่างยิ่งให้กับผู้เป็นสามี

ด้วยภาพเปิดเรื่องดังกล่าว ฮอลแลนด์ ได้แนะนำความสัมพันธ์ระหว่างสังคมในวงกว้าง กับครอบครัว และอิทธิพลของสิ่งแรกที่จะมีต่อสิ่งหลังในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันการจงใจกำหนดให้โศกนาฏกรรมของครอบครัวหนึ่งเกิดขึ้นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ช่วงเวลาสุขสันต์ที่ผู้คนส่วนใหญ่จะออกมาเดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจนอกบ้าน ก็ยังสะท้อนถึงชะตาชีวิตที่เล่นตลกกับตัวละครก่อนหนังจะตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าวอีกเป็นระยะๆ

ฉากปูท้องเรื่องถัดมายังคงเป็นการคิดค้นขึ้นล้วนๆจากมันสมองของ คารอล ดอยล์ ผู้เขียนบท และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ เฮนรี่ เจมส์ เขียนไว้ในในหนังสือแม้แต่น้อย โดยพูดถึงวัยเด็กของแคทเธอลีน (ซาร่า รูซิกก้า) ผู้ฉี่รดกระโปรงกลางงานวันเกิดของบิดาเธอ เพราะความกดดันกับการร้องเพลงต่อหน้าสาธารณชน และความตื่นเต้นที่จะเอาใจบิดาในวันสำคัญ เมื่อเติบใหญ่เป็นสาววัยพร้อมจะแต่งงาน แคทเธอ ลีน สโลเปอร์ (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) ก็ห่างไกลจากภาพลักษณ์ของสาวหัวก้าวหน้าที่ชายหนุ่มรุมกันขอแต่งงาน (หรืออีกแง่ดึงเธอลงมาให้เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาในยุคนั้น) อย่างอิสซาเบล (Portrait) ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สาวจอมวางแผนผู้ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้แต่งงานกับคนที่เธอรัก และรักษาสถานะการเงินอันไม่มั่นคงไว้อย่างเคท (Dove) ตรงกันข้ามเธอกลับเป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดไม่ว่าจะในเรื่องหน้าตา มันสมอง บุคลิกภาพ หรือพรสวรรค์ จุดเด่นเพียงอย่างเดียวของแคทเธอลีนคือ ทรัพย์สินของบิดา (อัลเบิร์ต ฟินนี่ย์) ผู้เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมชั้นสูงช่วงยุค 1840

ด้วยเหตุนี้เมื่อหนุ่มฉลาดหน้าตาดีแต่ยากจนอย่าง มอริส (เบน แชปลิน) เข้ามาแสดงท่าทีสนใจหญิงอย่างแคทเธอลีน สาเหตุเดียวที่ดร. ออสติน สโลเปอร์ พอจะนึกออกและยึดมั่นไปตลอดชีวิตเขา คือ เพื่อเงิน

ไม่ว่าจะเป็นฉากฉี่รดกระโปรง ตอนที่แคทเธอลีนจูบภาพสะท้อนตัวเองในกระจก หรือ เมื่อป้า ลาวิเนีย (แม็กกี้ สมิธ) ดมปรอยผมของมอริสอย่างสุขใจ ทั้งหมดล้วนเป็นความพยายามของฮอลแลนด์ที่จะดึง Washington Square ลงมาสู่พื้นดินที่ทั้งร่วมสมัย และเป็นธรรมชาติ ตัวละครส่วนใหญ่มีพฤติกรรมคลุมเคลือ มองได้หลายด้าน ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างอันชัดเจนประการหนึ่งจาก The Heiress อาทิ ป้า ลาวิเลีย กับบทบาทอันก้ำกึ่งระหว่างญาติผู้ใหญ่ที่คอยสนับสนุนหลานสาวด้วยความหวังดี กับสาวแก่ผู้หวังจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเติมเต็มอารมณ์อีโรติกแบบที่เธอไม่เคยประสบ ขณะเดียวกันผู้ชมยังต้องคาดเดาจุดมุ่งหมายของมอริสไปจนกระทั่งช่วงท้ายเรื่องว่าแท้จริงแล้วเขารักแคทเธอลีนจากใจจริง หรือ หวังเพียงทรัพย์สมบัติ

สุดท้าย คือ ออสติน สโลเปอร์ ที่ในฉบับนี้หาใช่ปีศาจร้ายผู้มีบุคลิกเพียงด้านเดียวอีกต่อไป เขาเป็นทั้งบิดาที่โทษลูกสาวต่อการจากไปของภรรยา บิดาผู้พยายามปกป้องลูกสาวจากความเจ็บปวด และบิดาผู้เทิดทูนความจริง(2)

ภาพลักษณ์ “a man of science and reality” ของออสติน ขัดแย้งกับภาพลักษณ์สาวช่างฝันของ แคทเธอลีน ผู้เชื่อมั่นว่าตนสามารถ "ถูกรัก" ได้โดยไม่ต้องพึ่งทรัพย์สินของบิดาอย่างสิ้นเชิง (ฉากวัยเด็กปูพื้นให้เห็นว่าแคทเธอลีนรักการอ่านนิยายโรแมนติก และพยายามทักทายบิดาด้วยภาษาวรรณกรรม) อาการต่อต้านมอริสของออสตินจึงไม่ต่างกับการพยายามจะดึงลูกสาวมาสู่ความเป็นจริง (ถึงมันจะชวนให้เจ็บปวด) ว่า ไม่มีชายมีเกียรติคนใดปรารถนาหญิงที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดแบบแคทเธอลีน

น่าเศร้าตรงที่เจมส์ไม่ใช่ เจน ออสเตน เพราะในที่สุดเขาเปิดเผยว่ามอริสหวังในทรัพย์สมบัติจริงดังข้อกล่าว หา แม้มันอาจจะไม่ได้พิสูจน์ว่าเขาไม่รักแคทเธอลีน แต่คำสารภาพดังกล่าว (มันผิดศีลธรรมมากหรือที่อยากได้ทั้งตัวแคทเธอลีนและทรัพย์สินที่ติดตัวเธอมาด้วย เป็นคำถามที่มอริสตั้ง ขณะเดียวกันก็อ้างว่าเงินมรดกจากมารดาแคทเธอลีนเพียง 10,000 ต่อปีมันไม่พอสำหรับ “ชายที่หวังเงิน 50,000 ต่อปี แล้วใช้เวลาสองปีตามล่าฝันนั้น”) ได้ดึงแคทเธอลีนหล่นจากสวรรค์แห่งอุดมคติและจินตนาการ ลงมาคลุกโคลนตมบนโลกความจริงอย่างหมดท่า เมื่อเธอฟูมฟายท่ามกลางสายฝนขอร้องมอริสให้แต่งงานกับเธอ และรักเธอแบบที่เธอ "หวังและฝัน"

ความปรารถนาดีของออสตินก็ถูกตั้งคำถามอีกครั้ง เมื่อเขาพยายามให้แคทเธอลีนสัญญาว่าเธอจะไม่หันไปแต่งงานกับมอริสหลังเขาเสียชีวิต แคทเธอลีนปฏิเสธ ออสตินจึงตัดสินใจแก้พินัยกรรมเพื่อกันเธอออกจากกองมรดกแล้วเหลือเพียงบ้านให้เท่านั้น ไม่มีคำอธิบายแน่ชัดในหนังว่าเหตุใดออสตินจึงทำเช่นนั้น อาจเป็นได้ว่าเขาต้องการลงโทษแคทเธอลีนที่ทำให้ตนสูญเสียภรรยา แถมตัวเธอยังเติบใหญ่ขึ้นมาโดยปราศจากเสน่ห์ความงามแบบมารดาอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย หรือ อาจเป็นเพราะเขากลัวว่าเธอจะตัดสินใจผิดพลาดซ้ำสอง สิ่งเดียวที่แน่นอน คือ พินัยกรรมดังกล่าวเปรียบดังบทพิสูจน์ศักยภาพในตัวแคทเธอลีนหลังผ่านมรสุมชีวิตมาสารพัดชนิด

แคทเธอลีนช่วงท้ายเรื่องได้เดินทางมาไกลเหลือเกินนับจากเด็กสาวที่ฉี่รดกระโปรงเพราะความประหม่า ด้วยเหตุนี้เธอจึงถึงกับหัวเราะใส่การตัดสินใจของบิดา และไม่ปรารถนาจะเรียกร้องสิทธิใดๆเพิ่มเติมตามคำแนะนำของญาติๆรอบข้าง

พัฒนาการดังกล่าวของแคทเธอลีนถูกปูพื้นไว้ได้อย่างละเอียดอ่อน ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากเด็กสาวที่โลกทั้งใบ คือ การเอาอกเอาใจ เรียกร้องความรักจากบิดาผู้คอยตอกย้ำทำลายความมั่นใจในตัวเองของแคทเธอลีนเป็นนัยๆเสมอมา ไม่ว่าจะจากสายตาที่เขามองอาการกระตือรือร้นของลูกสาวเมื่อเห็นเขา หรือ ความเห็นเชิงเสียดสีต่อชุดที่แคทเธอลีนเลือกใส่ไปงานหมั้นของญาติ ออสตินล้อมกำแพงรอบตัวแคทเธอลีนให้เป็นเหมือนข้าทาส ด้วยความคิดว่าตัวเธอนั้นไม่มีค่าใดๆต่อชายทรงเกียรติหากปราศจากทรัพย์สินของเขา

มอริส คือ ชายผู้มาปลดปล่อยแคทเธอลีนจากความคิดดังกล่าว เขาเปิดโลกกว้างให้เธอเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเองที่สามารถทำให้ "ผู้ชายมาชื่นชอบ" ได้ (ความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา) ถึงตรงนี้บุคลิกแคทเธอลีนก้าวหน้าขึ้นมาหนึ่งขั้นเมื่อเธอเริ่มตั้งคำถามต่อความเป็นใหญ่ (authority) ของออสติน อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่เสรีภาพสมบูรณ์แบบเพราะแคทเธอลีนยังคงมีพลังพึ่งพิงอยู่กับผู้ชาย กล่าวคือ เธอเปลี่ยนจากการเอาใจบิดามาเป็นเอาใจชายคนรักแทน เห็นได้ชัดในฉากที่แคทเธอลีนเล่นเปียโนและร้องเพลงคู่กับมอริสได้อย่างไพเราะ มั่นใจ เธอไม่ได้ตื่นเต้นหรือประหม่าเหมือนเมื่อครั้งร้องเพลงในงานวันเกิดบิดา และการมีออสตินนั่งฟังอยู่ด้วยก็ไม่ได้สร้างความกดดันให้แคทเธอลีนอีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายของแคทเธอลีน เริ่มขึ้นเมื่อเธอถูกมอริสทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี ความเสียใจครั้งนั้นทำให้เธอมองเห็นคุณค่าลึกลงไปในตัวเองอีกขั้น คุณค่าที่ไม่จำต้องพึ่งพาใคร คุณค่าที่จะติดตัวเธอไปตลอดแม้จะไม่มีชายใดอยู่เคียงข้าง ตอนนี้แคทเธอลีนไม่ได้สำนึกเพียงว่าเธอสามารถ "ถูกรัก" จากผู้ชายได้โดยไม่จำต้องพึ่งพาทรัพย์สินของบิดาเท่านั้น แต่เธอยังสามารถมีความสุขได้โดย "ปราศจาก" ผู้ชายอีกด้วย เธอไม่จำเป็นต้องทำให้ผู้ชายรู้สึกเหมือน “เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในโลก” อีกต่อไป เพราะเธอเริ่มหันมารักตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแทน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เธอไม่เคยทำมาก่อนตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา บทสรุปดังกล่าวในหนังออกจะหัวก้าวหน้าอยู่ไม่น้อย และช่วยดึงให้แคทเธอลีนของฮอลแลนด์มีความร่วมสมัยกับยุค 90 มากขึ้น

ใน The Heiress วิลเลี่ยม วายเลอร์ จบหนังด้วยการให้แคทเธอลีนลงเอยไม่แตกต่างจากพ่อของเธอ (โหดร้าย เย็นชา) ฉบับของฮอลแลนด์เองก็อาจให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกัน เช่น ช่วงท้ายเรื่องเมื่อแคทเธอลีนตอกกลับคำกระทบกระเทียบของบิดาแบบไม่เกรงกลัว ต่างกันตรงที่หนังฉบับใหม่ส่งสารเชิงเฟมินิสต์โดดเด่นกว่าฉบับปี 1949 อย่างเห็นได้ชัด เพราะสุดท้ายแคทเธอลีนลงเอยด้วยการไม่ได้แต่งงานกับใครแม้จะมีผู้มาแสดงท่าทีสนใจอยู่บ้าง เธอเปิดบ้านเป็นเหมือนสถานรับเลี้ยงเด็กในยุคปัจจุบัน และผันตัวเป็นผู้หญิงทำงานอย่างเต็มตัว บทสรุปดังกล่าวพบเห็นได้ไม่บ่อยนักสำหรับหนังที่ดำเนินเรื่องช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนขบวนการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศจะเบ่งบานเต็มที่ เนื่องจากสตรีในยุคดังกล่าวถูกกดขี่เด่นชัดจากสังคมชายเป็นใหญ่ทั้งแง่รูปธรรมและนามธรรม งานเดียวที่มีผู้ชายทำน้อยกว่าผู้หญิงสำหรับยุคนั้น คือ โสเภณี ซึ่งก็ยังให้ความรู้สึกของการกดขี่ทางเพศอยู่ดี

ไม่น่าแปลกใจที่หนังดึงแคทเธอลีนให้มาอยู่ในสถานะเดียวกับผู้ชาย ใช้ชีวิต ทำงานหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากก่อนหน้านี้ภาพลักษณ์ของเธอก็เจือความเป็นชายมาตลอด โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการขาดเสน่ห์ของเพศหญิงในแบบที่มารดาเธอมี กล่าวคือ เธอเหมือนพ่อมากกว่าแม่ เธอมีความเป็นชายมากกว่าความเป็นหญิง บทสรุปของฮอลแลนด์จึงวนชะตากรรมแคทเธอลีนให้มาบรรจบกับบิดาอีกครั้ง ไม่ใช่ในแง่บุคลิกเหมือนฉบับวายเลอร์ แต่ในแง่สถานะทางสังคมจากการตั้งตนเป็นปัจเจกชนเดี่ยวๆไม่ขึ้นสังกัดแก่ชายผู้ใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิง "ดีๆ" ส่วนใหญ่ในยุคนั้นเขาไม่กระทำกัน ส่งผลให้เธอกลับมาเป็น “ลูกสาวของพ่อ” อีกครั้ง หลังล้มเหลวในการเล่นบทลูกสาวของแม่ (แต่งงานสร้างครอบครัว) แต่บทก็ยังคงความเป็นหญิงแก่แคทเธอลีนไว้บ้างจากวิญญาณการเป็นแม่คน (เปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก) แม้จะไม่ครบวงจรเพราะเธอไม่มีลูกเป็นของตัวเอง

แคทเธอลีนอาจเริ่มต้นด้วยข้อด้อยกว่าสองตัวเอกใน The Portrait of a Lady และ The Wing of the Dove แต่เธอกลับพบบทสรุปที่น่าชื่นใจมากกว่า แคทเธอลีนอาจไม่มีคู่ครอง หรือทรัพย์สิน เธออาจต้องเจ็บปวดจากรักที่ไม่สมหวัง หรือสูญเสียความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาไปแบบไม่อาจทวงคืนได้อีก แต่สิ่งที่เธอได้ตอบแทนจากเหตุการณ์น่าเศร้าเหล่านั้นกลับมีคุณค่าไม่แพ้กัน… หรือบางทีอาจจะมากกว่า เมื่อแคทเธอลีนเรียนรู้ที่จะมองเห็นคุณค่าในตัวเอง คุณค่าที่พ่อเธอ หรือ มอริสมองไม่เห็น หรือ ปฏิเสธที่จะให้ความสำคัญแก่มัน แคทเธอลีนเรียนรู้ที่จะเคารพตัวเอง และพอใจกับศักยภาพอันจำกัดของเธอ

ดังนั้นนอกจากจะไม่แปลกใจเมื่อแคทเธอลีนปฏิเสธข้อเสนอเพื่อเริ่มต้นใหม่ของมอร์ริสแล้ว คนดูยังพลอยยิ้มไปพร้อมกับเธอในช็อตสุดท้ายของหนังด้วย รอยยิ้มที่บ่งบอกว่าวันเวลาแห่งความพยายามจะเอาชนะใจคนรอบข้าง พร้อมกับกดตัวเองลงต่ำได้ผ่านพ้นไปแล้ว รอยยิ้มที่พิสูจน์ให้เห็นว่าลูกเป็ดขี้เหร่ได้กลายสภาพเป็นหงส์งามสง่าอย่างสมบูรณ์แบบ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินของบิดาแม้แต่สตางค์แดงเดียว

หมายเหตุ

(1) นิยายโรแมนติกเชิงสุขนาฏกรรมของออสเตน มักลงเอยด้วยการให้ตัวเอกของเธอได้แต่งงานกับผู้ชายที่คู่ควรหลังฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามมาตลอดเรื่อง การแต่งงานจึงเหมือนเป็นรางวัลตอบแทนการต่อสู้

(2) ออสตินเป็นบุตรของวิทยาศาสตร์ซึ่งพุ่งเป้าหมายไปยังการค้นหา ‘ความจริง’ เขาทำงานเป็นหมอผ่าตัดที่คนดูมีโอกาสไปเยี่ยมชมถึงสถานที่ทำงานของเขา (มิใช่เพียงคำบอกเล่าว่าเขาเป็นหมอ) ซึ่งหาไม่ได้ง่ายนักในผลงานแนว costume drama ที่ดัดแปลงมาจากนิยายคลาสสิกเนื่องจากส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับความรัก ความฝันเชิงเทพนิยายของชนชั้นกลาง