วันจันทร์, พฤษภาคม 21, 2550

Sweet and Lowdown: แด่รักที่หลุดลอยไป


เอ็มเม็ท เรย์ (ฌอน เพนน์) เป็นมือกีตาร์ผู้เปี่ยมพรสวรรค์มากที่สุดคนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ แต่เขายังห่างไกลจากคำว่ามืออาชีพในหน้าที่การงาน เสียงดนตรีอันไพเราะเสนาะหู และนิ้วมือที่กรีดไล่ไปตามคอร์ดต่างๆอย่างพริ้วไหวอาจทำให้หลายคนซาบซึ้ง ประทับใจจนหลั่งน้ำตาได้ แต่สำหรับบรรดาเจ้าของบาร์ที่จ้างเขามาเป็นนักดนตรีชูโรงแล้ว เอ็มเม็ท เรย์ คือ ไอ้ตัวแสบที่ชอบ “มาเล่นสาย เมาค้างมาแสดง หรือไม่โผล่หัวมาเลย” เขาหาเงินได้มากมายจากไนท์คลับก่อนจะถลุงมันอย่างรวดเร็วลงขวดเหล้า กับวิถีชีวิตอันฟู่ฟ่าเกินตัว เขาบอกว่าชอบผู้หญิง (ตราบเท่าที่พวกเธอรู้จัก ‘ที่ทาง’ ของตัวเอง) แต่ก็หารายได้พิเศษจากการเป็นแมงดา

ผู้หญิงส่วนใหญ่ทนนิสัยเห็นแก่ตัว ทัศนคติเย่อหยิ่ง หยาบคาย หลงตัวเองแบบสุดโต่ง และพฤติกรรมประหลาดของเขา เช่น นั่งดูรถไฟ หรือ ยิงหนูตามกองขยะ ไม่ค่อยได้ ยกเว้นเพียงแฮตตี้ (ซาแมนธ่า มอร์ตัน) สาวทำงานรับจ้างซักอบรีดผู้อ่อนหวานสมบูรณ์แบบ ซึ่งต่อมาเอ็มเม็ทเองก็หลงไหลในความบริสุทธิ์ น้ำใจงามของเธอไม่แพ้กัน แต่สุดท้ายเขาก็ตัดใจทิ้งเธอไปแบบไม่บอกกล่าวในเช้าวันหนึ่ง โดยอ้างเหตุผล ‘ธรรมชาติแห่งศิลปิน’ ที่ต้องการอิสรภาพ แล้วจับพลัดจับพลูแต่งงานไปกับสาวชั้นสูงแสนสวยที่ตนไม่ได้สิเน่หาลึกซึ้ง (แต่เธอน่าจะดู ‘เหมาะสม’ กับเขามากกว่าแฮตตี้) ส่วนเธอเองก็เห็นเขาเป็นเพียงข้อมูลสำหรับใช้แต่งนิยาย ไม่นานเมื่อชีวิตสมรสล้มเหลว (เธอเป็นชู้กับมือปืนผู้มีชีวิต ‘น่าตื่นเต้นกว่า’ นักดนตรีที่ชอบลักเล็กขโมยน้อย) เอ็มเม็ทจึงพยายามกลับมางอนง้อแฮตตี้อีกครั้ง แม้จะยังไม่วายวางท่าเหมือนไม่ค่อยใส่ใจ แต่เขารู้คุณค่าแห่งรักก็เมื่อมันสายเกินไปเสียแล้ว

เอ็มเม็ท เรย์ อาจเป็นมือกีตาร์ระดับพระกาฬอันดับสองรองจากตำนานเพลงแจ๊สอย่าง แจงโก้ ไรน์ฮาร์ดท์ แต่ในเรื่องชีวิต สัมพันธภาพ หรือ ความรักแล้ว เขา คือ มือสมัครเล่นขนานแท้

Sweet and Lowdown เป็นงานกำกับอันเรียบง่าย ไม่ตึงตังของ วู้ดดี้ อัลเลน ที่หวนไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนสองสามคนอีกครั้ง แนวทางซึ่งเขาทำซ้ำไปมาอยู่หลายรอบในหลากรูปแบบ เรื่องราว หลังจากหลงไหลการรวมดาราอยู่พักใหญ่กับ Everyone Says I Love You, Celebrity และ Deconstructing Harry ขณะเดียวกันธีมทำนองรักหยั่งรากลึกก็ดูจะสอดคล้องกันดีกับตัวหนัง ซึ่งมองอีกนัยหนึ่ง คือ บทสดุดีดนตรีแจ๊สที่อัลเลนหลงไหลมาเนิ่นนาน หลักฐานพิสูจน์ความรักของเขาสามารถหาดูได้จากหนังสารคดีเรื่อง Wild Man Blues

ในแง่เทคนิคอัลเลนพยายามลบเลือนเส้นกั้นระหว่างความจริงกับนิยาย ด้วยการถ่ายทอด Sweet and Lowdown ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นล้วนๆ ออกมาเป็นหนึ่งกึ่งสารคดีเชิงชีวประวัติ โดยบุคลิกและเรื่องราวชีวิตของ เอ็มเม็ท เรย์ ถูกสร้างขึ้นจากการอ้างอิงถึงประวัตินักดนตรีแจ๊สหลายคนช่วงยุค 40 ใช้บุคคลที่มีตัวตนจริงอย่าง แจงโก้ ไรน์ฮาร์ดท มาเป็นตัวละครสำคัญในหนัง (แม้ส่วนใหญ่จะถูกพูดถึงมากกว่าปรากฏตัวบนจอจริงๆ) ประกอบเข้ากับบทสัมภาษณ์อัลเลนเอง และนักศึกษาประวัติดนตรีแจ๊สอย่าง แน็ท เฮนท็อฟฟ์ เล่าเป็นตุเป็นตะราวกับเขาเป็นบุคคลจริง นอกจากนั้นเรื่องราวเชิงตำนานของเอ็มเม็ทยังถูกถ่ายทอดออกมาเหมือนจริงขนาดบางเหตุการณ์ถูกเล่าเป็นสองเวอร์ชั่น บ่งบอกถึงบางช่วงแห่งประวัติศาสตร์ที่สูญหายไป หรือ ขัดแย้งกันเอง

การปะทะกันระหว่างเรื่องจริง กับ มายา เป็นหนึ่งในสาระสำคัญที่อัลเลนพยายามนำเสนอเรื่อยมา อย่างแรกเต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนาม ความไม่ลงตัว ไม่จิรัง ไม่สมหวัง (หนังของเขามักจะพูดถึงวิกฤติแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักอยู่บ่อยครั้ง) ส่วนอย่างหลังกลับหอมหวาน น่าลิ้มลอง ทำให้หลายครั้งตัวเอกในหนังของเขาอย่าง The Purple Rose of Cairo หรือ Alice พยายามหลีกหนีชีวิตจริงอันเจ็บปวดไปสู่ภาพมายาอันน่าตื่นเต้น ก่อนสุดท้ายพวกเธอจะค้นพบว่าความสุข สนุกสนานเหล่านั้นมันไม่ยั่งยืน ความเจ็บปวดแห่งชีวิตต่างหากที่เราทุกคนไม่อาจหลีกหนีได้พ้น

เชื่อว่านัยหนึ่งของการนำเสนอ Sweet and Lowdown ในลักษณะคล้ายคลึงสารคดีนอกจากจะเพื่อสะท้อนความเป็นสิงห์เพลงแจ๊สของอัลเลนแล้ว ยังทำให้เนื้อเรื่องของเขาชวนสะเทือนใจยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันตัวหนังเองก็ยังสะท้อนแนวคิดตรงกันข้ามระหว่างมายา กับความจริงข้างต้นออกมาผ่านสองตัวเอกอีกด้วย บุคลิกของเอ็มเม็ทกับแฮ็ตตี้แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน (ตามที่ชื่อหนังบ่งบอก) ซึ่งบางทีอาจเป็นที่มาแห่งแรงดึงดูด (ส่วนสาเหตุสำคัญที่เอ็มเม็ทกับบลานช์ (อูม่า เธอร์แมน) ไปกันไม่รอดก็เพราะทั้งสองหลงตัวเองมากพอๆกัน) ความรักอันมั่นคง ใสสะอาดของแฮตตี้ทำให้ผู้ชายแข็งกระด้างอย่างเอ็มเม็ทได้เรียนรู้ที่จะคิดถึงจิตใจ ความรู้สึกของคนอื่น ช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ร่วมกันทำให้เอ็มเม็ทตระหนักเป็นครั้งแรกว่าไม่ได้มีเพียงเสียงดนตรีเท่านั้นที่งดงาม ไร้ที่ติบนโลกใบนี้ เพราะความรักที่เธอมีให้แก่เขานั้นก็ยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การสดุดีไม่แพ้กัน แต่ก็เช่นเดียวกับภาพมายาทั้งหลาย รักแท้ของแฮตตี้ไม่ได้ยั่งยืนนิรันดรเพื่อรอวันที่เอ็มเม็ทจะ ‘เข้าใจ’ เพราะวันนั้นอาจจะมาไม่ถึงเลยก็ได้ ฉากที่เขาหวนมาหาเธอในช่วงท้ายเรื่องแล้วพบกับข่าวไม่คาดฝันจากแฮตตี้ คือ บทพิสูจน์ว่าเหตุใด ฌอน เพนน์ กับ ซาแมนธ่า มอร์ตัน จึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ทั้งคู่ ทุกครั้งที่พวกเขาแสดงร่วมกันบนจอก็จะทำให้หนังมีเสน่ห์เฉพาะตัวขึ้นมาอย่างประหลาด และดึงอารมณ์คนดูให้รู้สึกร่วมกับตัวละครอย่างได้ผลเต็มเปี่ยม

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนหน้าหนาหูเมื่อครั้งที่ Sweet and Lowdown ออกฉายในอเมริกาว่า การที่ วู้ดดี้ อัลเลน เขียนบทให้แฮตตี้เป็นใบ้ก็เพื่อสะท้อนบุคลิกผู้หญิงในอุดมคติของเขาเอง แน่นอนว่าข้อสังเกตดังกล่าวย่อมได้รับเสียงปฎิเสธแข็งขันจากอัลเลน ผู้มักจะเถียงมาตลอดว่าหนังของเขาไม่ได้มีความเป็นอัตชีวประวัติมากเท่าที่พวกนักวิจารณ์ตีความกันไปต่างๆ นานา ในความเห็นของผมแล้ว แฮ็ตตี้ ถูก ‘ทำให้’ เป็นใบ้ ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ คือ เพื่อเธอจะได้สามารถเข้าถึงความงามแห่งเสียงดนตรีของเอ็มเม็ทได้มากขึ้น และสอง คือ เพื่อล้อเลียนให้เห็นว่าผู้ชายอย่างเอ็มเม็ทนั้นคู่ควรกับผู้หญิงเป็นใบ้มากที่สุด เพราะเธอสามารถรับมือกับพฤติกรรมหยาบกระด้างของเขาได้โดยไม่ปริปากพูดสักแอะ ซึ่งทั้งหมดอธิบายสาเหตุแห่งรักระหว่างเขาและเธอได้ครบถ้วนอย่างเรียบง่ายพอเหมาะพอดี

อันที่จริงแล้วบุคลิกของ เอ็มเม็ท เรย์ ค่อนข้างแตกต่างจากตัวเอกในหนังของอัลเลนส่วนใหญ่ (ที่มักจะรับบทโดยตัวเขาเอง หรือให้ดาราคนอื่นมาแสดงแทน เช่น จอห์น คูแซ็ค ใน Bullets Over Broadway หรือ เคนเน็ธ บรานาห์ ใน Celebrity) เขาไม่ได้เป็นปัญญาชนประสาทเสีย ที่ดูไม่มั่นใจ และหวาดวิตกไปกับทุกเรื่อง ตรงกันข้ามเอ็มเม็ทเป็นนักดนตรีประเภทที่พูดชมเพื่อนนักดนตรีหลังการบันทึกเสียงว่า “เล่นได้ดีมากทุกคน โดยเฉพาะฉัน” เขาอาจจะสติแตกบ้างเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะเมื่อพูดถึง แจงโก้ ไรน์ฮาร์ดท์ เช่น ในฉากที่ถูกเพื่อนอำว่าไรน์ฮาร์ดท์มาปรากฏตัวอยู่ในไนท์คลับก่อนหน้าการแสดง แต่ส่วนใหญ่แล้วเอ็มเม็ทเป็นผู้ชายขี้โอ่ (ปลอมตัวเข้าไปแสดงในงานโชว์ความสามารถสมัครเล่นของชาวบ้านท้องถิ่น) ไร้ความเป็นสุภาพบุรุษ (ปล่อยให้ผู้หญิงตัวเล็กๆเปลี่ยนล้อรถเพื่อปกป้องมืออันบอบบางของตนโดยไม่แยแส) และบีบบังคับชีวิตให้เป็นเรื่องง่ายด้วยการเก็บความรู้สึกไว้ลึกในใจจนแม้แต่ตัวเขาเองอาจยังไม่รู้ว่าจะหามันเจอได้ที่ใด

กระนั้นเมื่อพิจารณาถึงเรื่องความรักแล้ว โชคของ เอ็มเม็ท เรย์ ก็ไม่ได้ดีไปกว่า อัลวี่ย์ ซิงเกอร์ จากเรื่อง Annie Hall สักเท่าไหร่

ความรู้สึกชวนให้เจ็บแปลบๆในฉากสุดท้ายของ Sweet and Lowdown ทำให้ผมนึกถึงฉากจับกุ้งลงหม้อสุดคลาสสิกของ Annie Hall เมื่อเอ็มเม็ทพาผู้หญิงคนหนึ่งมาดูรถไฟวิ่ง เธอเอาแต่พร่ำบ่นถึงอากาศอันหนาวเหน็บ และแสดงอาการไม่เข้าใจจนน่ารำคาญว่าเหตุใดเขาจึงพาผู้หญิง ‘ดีๆ’ อย่างเธอมาทรมานทรกรรมยังสถานที่เช่นนี้ เสียงดนตรีอันเพราะพริ้งจากกีตาร์ไม่ได้ทำให้เธอประทับใจเหมือนเมื่อครั้งที่เขาเล่นให้แฮตตี้ฟังเป็นครั้งแรก สิ่งที่เคยเป็นมนต์เสน่ห์อันยากต่อต้านกับสาวคนหนึ่ง อาจกลายเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ น่าสมเพชเวทนาสำหรับสาวอีกคนหนึ่ง นาทีที่ฝ่ายหญิงโพล่งขึ้นมาว่าเมื่อไหร่จะพาเธอกลับหลังจากเขาบรรเลงเพลงจบ บ่งชี้ว่าเธอไม่ได้สนใจ หรือซาบซึ้งต่อเสียงดนตรีเมื่อครู่แม้แต่น้อย ทำให้เอ็มเม็ทตระหนักในทันทีว่าเขาได้สูญเสียสิ่งที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ขนาดไหนไป เมื่อนั้นเองพรสวรรค์ซึ่งเขาเคยภูมิใจเป็นนักหนาก็ไม่อาจทดแทนความเศร้าโศกเสียใจได้ เขาหยิบกีตาร์มาฟาดกับเสาจนมันแหลกไม่เหลือชิ้นดี และ (ตามคำบอกเล่า) ค่อยๆหายหน้าหายตาจากวงการเพลงไปอย่างเงียบเชียบ

ในที่สุดชายผู้เคยเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลอย่าง เอ็มเม็ท เรย์ ก็เข้าใจว่ารักแท้เป็นเช่นใด แม้มันจะสายเกินกว่าไขว่คว้ารักนั้นกลับมาสู่อ้อมกอดตนอีกครั้งก็ตาม เขาอาจโชคดียิ่งที่ได้ลิ้มลองรักอันงดงามสักครั้งในชีวิต (พิจารณาจากพฤติกรรมอันเลวร้ายทั้งหลายแหล่) แต่การสูญเสียก็สามารถสร้างความรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งหมดล้วนพุ่งไปยังแนวคิดหลักของอัลเลนเกี่ยวกับความเจ็บปวด คือ สัจธรรมแห่งชีวิต ส่วนความสุขสมแห่งรัก หรือความสำเร็จนั้นเป็นเพียงภาพมายาชั่วคราวอันไม่คงทนถาวร และการค้นพบรักนั้นช่างง่ายดายกว่าการดำรงสัมพันธภาพให้ยั่งยืนนานหลายเท่าตัว

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 17, 2550

ฉัน... อัตลักษณ์ทางเพศของฉัน


พอได้ข่าวการประท้วงของกลุ่มรักร่วมเพศต่อหนังเรื่อง Me… Myself ผมก็ไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใด และออกจะเข้าใจ “ข้อขัดแย้ง” ของพวกเขาด้วยซ้ำ (แต่นั่นหาได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับการกระทำหรือจุดยืนของพวกเขาเสมอไป) ทั้งนี้เพราะผมคาดเดาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า พล็อตเรื่องอัน “พิลึกพิลั่น” จนเกือบถึงขั้นชวนหัวของหนัง (ถ้ามันไม่ได้ถูกนำเสนอด้วยลีลาและโทนอารมณ์จริงจัง ขึงขังขนาดนี้) อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับชาวรักร่วมเพศจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักกิจกรรมที่พยายามเรียกร้องสิทธิ์ในเชิงกฎหมาย ตลอดจนการยอมรับของสังคมให้กับเกย์และเลสเบี้ยน

Me… Myself เล่าถึงเรื่องราวชีวิตอันพลิกผันของเด็กชายคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางเมคอัพ วิกผม แสงไฟ ชุดกระโปรง และรองเท้าส้นสูง จนกระทั่งในที่สุดค่อยๆ แปรเปลี่ยนตัวเองเป็นนางโชว์แสนสวยนามว่า ทันย่า (ซึ่งสันนิษฐานจากรูปร่างของเธอ/เขาแล้ว คงจะพิสมัยการยกเวทเล่นกล้ามมากกว่ากินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเพศหญิง) เธอ/เขาเดินทางมากรุงเทพเพื่อตามหาคนรักหนุ่ม ก่อนจะค้นพบความจริงว่าเขาแต่งงานมีลูกมีเมียแล้ว ซ้ำร้ายเธอ/เขายังโดนโจรกระจอกปล้นชิงทรัพย์และทำร้ายจนสูญเสียความทรงจำอีกด้วย แต่หลังจากนั้น ทันย่าก็ได้ “เกิดใหม่” (ย้ำผ่านฉากแทน/ทันย่านั่งเปลือยกายในห้อง) เป็นชายหนุ่มรูปงามนามว่า แทน แล้วค่อยๆ สร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอุ้ม สาวทำงานที่บังเอิญขับรถชนเขาในค่ำคืนแห่งชะตากรรม

ต่อประเด็นต้นกำเนิดแห่งรสนิยมทางเพศ ไม่ต้องสงสัยว่าหนังเรื่องนี้เอนเอียงเข้าฝ่าย “การเลี้ยงดู” (nurture) อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นฟากแนวคิดที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 โดยส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากงานค้นคว้าของฟรอยด์ ผู้ตั้งข้อสังเกตว่าชายชาวรักร่วมเพศมักเติบโตขึ้นมาในบ้านที่แม่คุมเข้ม ขณะพ่อทำตัวเหินห่าง เย็นชา หรืออ่อนแอ ส่งผลให้เด็กชายเลียนแบบพฤติกรรมของแม่แทน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ความ “นิยม” เริ่มเอนเอียงเข้าหาฝ่าย “ธรรมชาติ” (nature) เมื่อการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากบ่งชี้ไปในทิศทางว่ารสนิยมทางเพศของมนุษย์นั้นเกิดจากปัจจัยทางเคมีตั้งแต่กำเนิด

ดูเหมือนหนังเรื่องนี้พยายามจะบอกว่าความเป็นรักร่วมเพศของแทนนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และหากทุกอย่างได้รับการเริ่มต้นใหม่ ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบใหม่ เขาก็อาจเติบโตมาเป็นผู้ชาย “ปกติ” ได้ นั่นคือ โหยหาเพศหญิงและขยะแขยงเพศชาย ด้วยเหตุนี้ ช่วงชีวิตของแทนระหว่างภาวะความจำเสื่อมจึงเปรียบเสมือน “ภาพจำลองความเป็นไปได้” ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากแทนไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยเหล่ากะเทยนางโชว์ และเมื่อความทรงจำของแทนหวนคืนมา ภาพจำลองดังกล่าวเลยพลอยพังทลายลงด้วย (แม้ว่าความรักของเขากับอุ้มจะหาได้แตกสลายตามไปไม่) ส่งผลให้แทนต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบนางโชว์ดังเดิม เพราะนั่นคืออัตลักษณ์ของเขา

สมมุติฐานของหนังทำให้ผมนึกถึงเรื่องจริงในมุมกลับของ เดวิด ไรเมอร์ ซึ่งสูญเสียอวัยวะเพศไปในระหว่างขั้นตอนการขลิบหนังหุ้มปลายขณะเขาอายุได้เพียงแปดเดือน และเนื่องจากความร้ายแรงของบาดแผล ที่ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปรกติได้ พ่อแม่ของเดวิดจึงนำเขาไปเข้าพบผู้เชี่ยวชาญชื่อดังด้านงานวิจัยเพศศึกษาที่โรงพยาบาลชั้นนำ จอห์นส์ ฮ็อบกิ้นส์ ในเมืองบัลติมอร์ ที่นั่น บรรดานายแพทย์ได้โน้มน้าวให้พวกเขายอมนำลูกชายเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนการเฉือนอวัยวะเพศชายทิ้ง ผ่าตัดเปลี่ยนเพศใหม่ให้เขา และปิดท้ายด้วยโปรแกรมติดตามผลนานสิบสองปีสำหรับปรับแต่งทางฮอร์โมน สังคม และจิตวิทยา เพื่อให้การแปลงสภาพคงทนถาวรเข้าไปในจิตใจของเดวิด รายงานในวารสารทางการแพทย์ระบุว่าการผ่าตัดครั้งนั้นประสบความสำเร็จดีเยี่ยม เดวิดกลายเป็นคนไข้ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่ง (แม้ชื่อจริงของเขาจะไม่ถูกบันทึกไว้) ในประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่

ความโด่งดังไม่ได้เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงเพียงว่า เดวิดคือทารกปรกติรายแรกที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศเท่านั้น หากแต่โอกาสที่โครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จยังค่อนข้างริบหรี่อีกด้วย เนื่องจากเดวิดถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับแฝดแท้อีกคน ซึ่งเป็นพี่น้องเพียงคนเดียวของเขาและตัวแปรเปรียบเทียบของการทดลอง เขามีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนเดวิดทุกประการ แต่มีองคชาตและอัณฑะที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และถูกเลี้ยงดูให้เป็นผู้ชายปรกติ

การรายงานผลว่า ฝาแฝดทั้งสองเติบโตขึ้นมาในฐานะเด็กหญิงและเด็กชายที่มีความสุขเปรียบเสมือนหลักฐานชิ้นสำคัญ ยืนยันสมมุติฐานที่ว่า สภาพแวดล้อมมีผลต่อการกำหนดเพศของมนุษย์มากกว่าลักษณะทางกรรมพันธุ์ ตำราการแพทย์และสังคมวิทยาถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อรวมกรณีดังกล่าวเข้าไป การผ่าตัดแปลงเพศกลายเป็นขบวนการรักษาขั้นพื้นฐานสำหรับทารกที่เกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ผิดปรกติ หรือได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้น กรณีดังกล่าวยังถูกใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของกลุ่มเฟมินิสต์ช่วงยุค 1970 อีกด้วยว่า ช่องว่างระหว่างเพศเป็นผลมาจากตัวแปรทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับหลักการทางชีววิทยา สำหรับ ดร. จอห์น มันนี่ นายแพทย์หัวหน้าโครงการผ่าตัดแปลงเพศ ผลทดลอง “กรณีคู่แฝด” กลายเป็นชัยชนะที่โด่งดังและได้รับการยกย่องสูงสุดตลอดอาชีพการทำงานกว่าสี่สิบปี จนเขาถูกขนานนามให้เป็น “หนึ่งในนักวิจัยเรื่องเพศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ”

แต่แล้วข้อเท็จจริงที่ว่าการทดลองครั้งนั้นถือเป็นความล้มเหลวครั้งสำคัญก็ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในวารสารทางการแพทย์โดย ดร. มิลตัน ไดมอนด์ นักชีววิทยาประจำมหาวิทยาลัยฮาวาย และ ดร. คีท ซิกมันด์สัน จิตแพทย์จากเมืองวิกตอเรีย ซึ่งรายงานถึงการต่อสู้ดิ้นรนตั้งแต่แรกเริ่มของเดวิดกับเพศหญิงที่แพทย์ยัดเยียดให้เขา ก่อนสุดท้ายจะหวนกลับไปใช้ชีวิตตามเพศดั้งเดิมที่กำหนดไว้แล้วในยีนและโครโมโซมเมื่ออายุได้สิบสี่ปี

“มันเหมือนการถูกล้างสมอง” เดวิดกล่าว “ผมยอมสูญเสียทุกอย่าง หากนักสะกดจิตสามารถลบอดีตทั้งหมดของผมได้ มันเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส สิ่งที่พวกเขาทำกับร่างกายคุณบางครั้งก็ไม่เจ็บปวดเท่าสิ่งที่พวกเขาทำกับจิตใจคุณเลย มันคล้ายสงครามประสาทในหัวสมอง”

เรื่องราวของ เดวิด ไรเมอร์ ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่ามนุษย์เราสามารถ “เลือก” ที่จะเป็นได้จริงๆ หรือเมื่อพูดถึงประเด็นทางเพศ

หมายเหตุ: ข้อมูลเกี่ยวกับ เดวิด ไรเมอร์ แปลจากหนังสือ As Nature Made Him เขียนโดย จอห์น โคลาพินโต

วันจันทร์, พฤษภาคม 14, 2550

All or Nothing: ความรักคือคำตอบ


ชีวิตที่ต้องปากกัดตีนถีบ บางครั้งอาจทำให้คนเรามองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆซึ่งให้คุณค่าต่อจิตใจไปโดยไม่ตั้งใจ ก็ใครเล่าจะมีกะใจมานั่งครุ่นคิดถึงเรื่องความรัก หรือ การทำนุบำรุงมันให้เจริญงอกงามอยู่ได้ ในเมื่อวันๆยังต้องคอยกังวลอยู่เสมอว่าจะหาเงินมาพอจ่ายค่าเช่าห้อง ซื้ออาหาร และจุนเจือครอบครัวหรือเปล่า สิ่งที่พวกเขา ‘มี’ เป็นความคุ้นเคยอันไร้ค่า ส่วนสิ่งที่พวกเขา ‘ขาด’ กลับกลายเป็นความจำเป็น ซึ่งต้องโหยหามาครอบครอง จนสุดท้ายชีวิตจึงกลายเป็นความสิ้นหวัง หดหู่ กลายเป็นอารมณ์โกรธขึ้ง ที่ต้องระบายออกเอากับคนรอบข้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพวกเขาหยาบกระด้างโดยธรรมชาติ แต่มันเกิดจากการบีบรัดของสภาพเศรษฐกิจ ของค่านิยมบูชาวัตถุ

ครอบครัวบาสเซ็ตต์กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติดังกล่าว ฟิล (ทิโมธี สปอลล์) ล้มเหลวในฐานะผู้นำครอบครัว เมื่อมองจากสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ เขาขับรถแท็กซี่รับจ้าง แต่มักจะตื่นสายไปทำงานเป็นประจำ จนทำให้ขาดรายได้ก้อนโตจากการรับส่งลูกค้าไปสนามบิน แถมเวลาหาเงินได้ไม่พอจ่ายค่าเช่ารถ เขาก็ต้องบากหน้าไปขอยืมเอาจากภรรยา เพนนี (เลสลี่ย์ แมนวิลล์) พนักงานเก็บเงินใน เซฟเวย์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ลูกสาว ราเชล (อลิสัน การ์แลนด์) พนักงานทำความสะอาดในบ้านพักคนชรา หรือ กระทั่งรีดไถ ‘เศษเงิน’ เอาจาก โรรี่ (เจมส์ คอร์เดน) ลูกชายตกงาน ซึ่งวันๆไม่ทำอะไรนอกจากกินกับนอน

พวกเขาอาศัยอยู่ในแฟลตชานเมือง ซึ่งไม่มีอะไรให้เพลิดเพลิน เจริญใจมากนัก ไม่ต่างจากธรรมชาติงานอันจำเจ น่าเบื่อ ของพวกเขา และกิจวัตรประจำวันที่ไม่มีอะไรนอกจาก ตื่นนอนไปทำงาน กลับบ้าน กินข้าว เข้านอน วนเวียนไปมา ซึ่งผู้กำกับภาพ ดิ๊ก โพป ก็ได้ตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าวบ่อยครั้งด้วยการแช่ภาพนิ่งและเคลื่อนกล้องอย่างเนิบช้า เอื่อยเนือย จนแทบไม่ทันสังเกต

สีสัน ความบันเทิงเดียวในชีวิตพวกเขาล้วนแตกต่างกันไปและ ‘ไม่ใช่’ การอยู่ร่วมกัน ฟิลจะใช้เวลาว่างหลังเลิกงานนั่งจิบเบียร์กับ รอน (พอล เจสสัน) เพื่อนคนขับแท็กซี่, เพนนีเลือกจะออกไปสังสรรค์เป็นครั้งคราวกับเพื่อนร่วมแฟลตอย่าง มอรีน (รูธ ชีน) กับ คารอล (มาเรียน เบลี่ย์) ตามบาร์คาราโอเกะ, ราเชลชอบขลุกอ่านนิยายอยู่ในห้องคนเดียว ส่วนโรรี่ก็เริ่มจับจองโซฟาหน้าทีวีเป็นอาณาจักรส่วนตัว

สมาชิกในบ้านบาสเซ็ตต์กำลังล่องลอย ถอยห่างจากกัน บทสนทนาของพวกเขา ถ้าไม่ห้วนสั้นราวกับไม่รู้จะพูดคุยอะไรดี ก็มักลงเอยด้วยการตะโกนด่าทอเหมือนเกลียดชังกันมาแต่ชาติปางก่อน ความยากลำบากแห่งการดำรงชีพได้กัดกร่อนจิตใจ สูบเอาพลังความหวัง ความร่าเริง สดใส ออกจากร่างพวกเขาจนเหือดแห้ง… ลูกชายไม่เคารพมารดา ภรรยาดูถูกสามี ลูกสาวถูกทอดทิ้งให้เดียวดาย ซ้ำร้ายยังไม่มีใครคิดที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้น พวกเขาเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำอะไรอื่น พวกเขากำลังมุ่งหน้าสู่หุบเหว… จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งทำให้ทุกคนจำต้องหันหน้าเข้าหากัน ทบทวนบทบาทของตน ก่อนจะเริ่มตระหนักในท้ายที่สุดว่าพวกเขา ‘โชคดี’ แค่ไหนที่ยังมีกันและกัน

โดยเนื้อแท้แล้ว ไมค์ ลีห์ เป็นผู้กำกับซึ่งนิยมแนวคิดเชิดชูสถาบันครอบครัวและค่อนไปในทางมองโลกในแง่ดี มองชีวิตแบบเปี่ยมความหวัง ผลงานที่โด่งดังสูงสุดของเขาเรื่อง Secrets & Lies (1996) เล่าถึงชีวิตของผู้หญิงผิวดำคนหนึ่งจากครอบครัวชนชั้นกลาง ซึ่งค้นพบว่าแม่แท้ๆของเธอนั้นเป็นผู้หญิงผิวขาว ชนชั้นล่าง ที่ปัจจุบันแต่งงานมีครอบครัว (ผิวขาว) ไปแล้วและไม่ปรารถนาจะรื้อฟื้นความผิดพลาดในอดีตขึ้นมาอีก พวกเขาค่อยๆเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันในความแตกต่าง แปลกแยก ในความบกพร่องของธรรมชาติแห่งมนุษย์ ก่อนสุดท้ายจะสามารถเอาชนะทุกอย่างได้ด้วยความรักและการเปิดใจให้กัน

ประสบการณ์ด้านกำกับละครเวทีในอดีต ทำให้ลีห์เน้นความสำคัญของการทำเวิร์คช็อปเพื่อซักซ้อมทีมนักแสดงก่อนเปิดกล้องเป็นเวลาหลายเดือน และสนับสนุนให้พวกเขาคิดบทสนทนาขึ้นเองตามแต่สถานการณ์จะพาไป โดยไม่จำเป็นต้องยึดถือคำพูดตามบทภาพยนตร์อย่างเคร่งครัด (หลายครั้งเขาเริ่มซักซ้อมโดยไม่มีบทภาพยนตร์เป็นชิ้นเป็นอันเลยด้วยซ้ำ) กลวิธีดังกล่าวมักทำให้ตัวละครของเขาดูสมจริง เป็นธรรมชาติ และสอดคล้องไปกับแนวทาง slice-of-life ซึ่งไม่เน้นการผูกพล็อตเรื่องซับซ้อน แต่เลือกจะแสดงให้เห็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่มองเผินๆแล้วอาจไม่แปลกประหลาด น่าตื่นตา ไปจากชีวิตคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่ในแง่หนึ่งกลับสามารถสะท้อนถึงภาพรวมเกี่ยวกับชีวิตและสังคมได้อย่างคมคาย

หนังหลายเรื่องของลีห์ไม่ว่าจะเป็น Bleak Moment (1971), High Hopes (1988), Life is Sweet (1990) หรือ Naked (1993) ส่วนใหญ่ล้วนมีฉากหลังเป็นสภาพชีวิตบัดซบของผู้คนชนชั้นแรงงาน แต่ขณะเดียวกันกลับเจือไปด้วยอารมณ์ขันท่ามกลางความจริงอันรวดร้าว

ใน All or Nothing ความสัมพันธ์ระหว่างมอรีนกับลูกสาว ดอนน่า (เฮเลน โคเกอร์) สะท้อนถึงคุณสมบัติข้างต้นในหนังของลีห์ ทั้งสองมักพูดจาขัดคอกันอยู่เสมอ แต่ลึกๆแล้วต่างก็รักและผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ความเป็นคนนิสัยร่าเริง มีอารมณ์ขัน ทำให้มอรีนชอบหยอกแหย่ลูกสาวเหมือนเป็นเพื่อนเล่น ส่วนดอนน่าเองนั้น ก็เช่นเดียวกับเด็กสาววัยรุ่นทั่วไป เกลียดการถูกเซ้าซี้ จ้ำจี้จ้ำไชจากแม่ จนหลายครั้งเผลอ ‘แขวะ’ เธอกลับอย่างรุนแรงโดยไม่ทันยั้งคิด อาทิ เมื่อมอรีนแสดงอาการต่อต้าน ‘ไอ้หน้าบาก’ แฟนหนุ่มนิสัยเสียของดอนน่า พร้อมทั้งพูดเตือนว่าเธอเพิ่งจะรู้จักเขาแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น หญิงสาวก็รีบโต้กลับไปในทันทีว่า “ทีแม่เหอะ รู้จักพ่อมานานแค่ไหน?” พูดจบเธอก็แสดงท่าทีเสียใจที่เผลอพลั้งปาก ส่วนมอรีน แม้จะเจ็บช้ำกับคำพูดเสียดแทง แต่เธอกลับก้มหน้ารับอย่างเข้าใจ ก่อนจะยิ่งเห็นใจลูกสาวมากขึ้น เมื่อตระหนักว่าหล่อนกำลังเดินไปสู่ปลายทางแห่งชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือ ตั้งท้องกับผู้ชายเลวๆที่ไม่คิดจะรับผิดชอบ

มอรีนเป็นตัวละครที่ ‘พึงพอใจ’ ในสภาพความเป็นอยู่ของตน เธอไม่ได้ปล่อยตัวให้ไร้ค่า เมามายไปวันๆเหมือนคารอล ซึ่งถูกลูกสาว ซาแมนธ่า (แซลลี่ย์ ฮ็อคกิ้นส์) เหยียดหยามราวกับเป็นเชื้อโรคน่ารังเกียจชนิดหนึ่ง เธอขยันขันแข็ง รับงานรีดผ้าให้เพื่อนร่วมแฟลตเพื่อเป็นการหารายได้พิเศษ นอกเหนือไปจากงานประจำในเซฟเวย์ สาเหตุหนึ่งเพราะเธอไม่มีสามีมาคอยช่วยเหลือจุนเจือนั่นเอง แต่กระนั้น ถึงจะวุ่นวายอยู่กับการหาเลี้ยงชีพเพียงใด เธอก็ไม่เคยปล่อยใจให้เหนื่อยล้า หดหู่ ไปกับภารกิจต่างๆ

เทียบกับเพื่อนสาวอีกสองคน มอรีนเป็นตัวละครเพียงคนเดียวที่ขาดสามีคู่ครอง แต่ก็ใช่ว่าเธอจะคิดใส่ใจในข้อด้อยข้อนั้นมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเธอยังมีลูกสาวเจ้าปัญหาให้ต้องเป็นห่วง ดูแล อยู่อีกทั้งคน หน้าที่ความเป็นแม่คือสิ่งที่เธอต้องการจะทำให้ได้ดีที่สุด ดังนั้น หลังทราบเรื่องว่าดอนน่าตั้งครรภ์ มอรีนจึงไม่คิดจะดุด่า ต่อว่าลูกสาวแต่อย่างใด หากกลับปลุกปลอบและเสนอตัวช่วยเหลือ ทั้งนี้เพราะเธอรู้ดีว่าการต้องเดินทางไปฝากครรภ์ หรือกระทั่งเลี้ยงดูลูกเพียงลำพังคนเดียวนั้น มันไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเลยแม้แต่น้อย

มอรีนเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งสารัตถะของหนังเกี่ยวกับชีวิตและครอบครัว กล่าวคือ โดยภาพรวมแล้ว พวกมันอาจไม่สมบูรณ์แบบ ไม่สมประกอบ และแตกหัก สึกหรอไปบ้าง แต่เราก็ยังสามารถหาความสุขจากมันได้ ตราบเท่าที่เรารู้จักมองหาคุณค่าจากสิ่งที่มี หาใช่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ขาด

ขั้วตรงกันข้ามของเธอ คือ เพนนี ผู้มี ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ ในความเป็นครอบครัว แต่กลับรู้สึกผิดหวังเหลือจะทนในความไม่เป็นโล้เป็นพายของสามีและเฝ้าวนเวียนอยู่แต่กับทัศนคติแง่ร้าย จนเริ่มมืดบอดต่อผลกระทบอันรุนแรงจากการกระทำเล็กๆน้อยๆของตนต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับฟิล ซึ่งตกเป็นเป้าหมายหลัก

สามีของเธอรู้สึกได้ ลูกสาวของเธอรู้สึกได้ ลูกชายของเธอก็รู้สึกได้ และดูเหมือนจะมีเพียงเธอเท่านั้นที่ไม่ทันสังเกต ไม่ทันระวัง

จริงอยู่ว่าเพนนีเองมีสิทธิที่จะหงุดหงิด รำคาญนิสัยเกียจคร้าน เอื่อยเฉื่อย ของฟิล และขณะเดียวกัน มันคงไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไร หากเธอจะเผลอมองเขาด้วยแววตาดูถูก เหยียดหยาม ไปบ้างอย่างอดไม่ได้ หรือกระหน่ำคำพูดทำลายศักดิ์ศรีและความมุ่งมั่นใส่เขาโดยไม่ทันยั้งคิด แต่ข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งเพนนีมองข้ามไป จนเกือบจะทำให้เธอก้าวข้ามเส้นแบ่งจากความรักไปสู่ความเกลียดชัง ก็คือ ฟิลอาจเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ไม่เอาไหน แต่อย่างน้อยเขาก็ยังเป็นสามีที่รักภรรยา เป็นคุณพ่อที่รักลูกๆ และความรักนั้นเองไม่ใช่หรอกหรือที่จะช่วยประคับประคองครอบครัวให้ตลอดรอดฝั่งไปได้

นอกจากนั้น ทุกอย่างมันอาจเลวร้ายไปกว่านี้… เลวร้ายไปกว่านี้มากมายนัก และตัวอย่างชัดเจนก็อยู่ถัดไปเพียงไม่กี่ห้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับดอนน่าในปัจจุบันและมอรีนในอดีต กระนั้นพวกเขาก็ยังอยู่รอดมาได้จากความรัก ความห่วงใยที่มีให้กัน มันอาจไม่มากมายอะไร ในโลกที่ทุกคนล้วนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อขวนขวายหาความสบาย แต่ก็เพียงพอจะทำให้พวกเขามีความสุขได้ในระดับหนึ่ง

ความแตกต่างจึงอยู่ตรงมุมมองของแต่ละคน ว่าจะเห็นน้ำ ‘เหลือ’ อยู่อีกครึ่งแก้ว หรือ ‘หมด’ ไปแล้วครึ่งแก้ว เหมือนตอนที่ฟิลพยายามพูดปลอบรอน ซึ่งขับรถไปชนเสาจนต้องเอาไปซ่อมในอู่ ว่าโชคดีแค่ไหนแล้วที่มันไม่ได้เลวร้ายไปกว่านั้น เช่น เขาอาจหักเลี้ยวตรงหัวโค้งแล้วพุ่งไปชนเด็กตายก็ได้

ฟิลเริ่มตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่เขามีอยู่ เมื่อวันหนึ่งได้มีโอกาสขับแท็กซี่ไปส่งผู้หญิงชาวฝรั่งเศส ท่าทางมีเงิน มีการศึกษา มีรสนิยมเลิศหรู และมีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม แต่เมื่อทั้งสองได้พูดคุยกันไป เขาถึงตระหนักว่าเธอ ‘ไม่มีอะไรเลย’ ในความเป็นครอบครัว เธอหย่าขาดจากสามี ซึ่งแยกตัวไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง ส่วนความสัมพันธ์ของเธอกับลูกชายก็เต็มไปด้วยความหมางเมิน เหินห่าง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ฟิลตระหนักได้ว่าในชั่วชีวิตนี้ ถ้าคุณไม่ได้อยู่ ‘ด้วยกัน’ คุณก็ต้องอยู่ ‘คนเดียว’ ไม่มีเกาะแก่งตรงจุดกึ่งกลางสำหรับปลอบประโลมใจ ทุกคนล้วนถือกำเนิดขึ้นมาเพียงลำพังและสุดท้ายย่อมต้องตายจากไปอย่างโดดเดี่ยว แต่ในช่วงเวลาระหว่างนั้น ชีวิตไม่จำเป็นจะต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส

เขาสารภาพกับเพนนีว่า เขาเสียใจที่ทำให้เธอผิดหวัง เขารู้ดีว่าเขาไม่ใช่สามีหรือคุณพ่อตัวอย่าง แต่เขาก็ไม่อาจนั่งทนการถูกเหยียดหยาม ถูกมองว่าเป็นคนไร้ค่าได้อีกต่อไปเช่นกัน “ถ้าคุณไม่รักผมแล้ว ผมก็คงต้องไป… ถ้าคุณไม่รักผม เราก็ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว”

ไมค์ ลีห์ เลือกจบ All or Nothing ด้วยความหวังเต็มเปี่ยม เมื่อวิกฤติที่ไม่คาดฝันกลับกลายเป็นดังขุมทองแปลงรูปสำหรับครอบครัวบาสเซ็ตต์ ช่วยให้พวกเขาค้นพบสัจธรรมที่ว่า ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการอยู่ร่วมกัน โดยปราศจากความรัก ความเคารพ ตลอดจนศรัทธาในกันและกัน… มันอาจไม่ใช่เนื้อหาที่แปลกใหม่จนน่าตื่นตะลึง แต่ก็ยังลึกซึ้งกินใจได้เสมอ หากถูกถ่ายทอดออกมาอย่างประณีต ละเอียดอ่อน

วันศุกร์, พฤษภาคม 11, 2550

Short Replay: Fatal Attraction


หนังเขย่าขวัญเรื่องดังของผู้กำกับ เอเดรียน ไลน์ เปรียบเสมือนฝันสยองของผู้ชายขี้เอาแห่งยุค 80 ไมเคิล ดั๊กลาส รับบทเป็นทนายความนิวยอร์กที่มีลูกสาวน่ารัก ภรรยาหน้าสวย และครอบครัวอบอุ่นตามสไตล์ฝันเปียกของชนชั้นกลาง (พวกเขากำลังวางแผนจะย้ายจากอพาร์ตเมนต์ในแมนฮัตตันไปอยู่บ้านหลังงามย่านชานเมือง) แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับยอมเสี่ยงที่จะสูญเสียทุกอย่างด้วยการหลับนอนกับเพื่อนร่วมงานสาวสุดเซ็กซี่ (เกล็น โคลส) ซึ่งโดยแวบแรกก็ดูเหมือนผู้หญิง “ปรกติ” จนกระทั่งเมื่อเขาพยายามจะสลัดเธอทิ้งหลังมหกรรมเซ็กซ์ช่วงวีคเอนด์ผ่านพ้นไป ถ้า Jaws ทำให้คนเข็ดขยาดท้องทะเล Fatal Attraction ก็จะทำให้คุณผู้ชายทั้งหลายเข็ดขยาดการนอกใจภรรยา จนเชื่อได้ว่ามันน่าจะเป็นหนังในดวงใจเรื่องหนึ่งของเจ๊เบียบ ส่วนใครก็ตามที่ชื่นชอบกระต่ายเหนืออื่นใด หรือเลี้ยงกระต่ายไว้ในบ้าน ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงหนังเรื่องนี้ เพราะบางฉากอาจติดตาคุณไปตลอดชีวิต!!

ข้อเท็จจริงอันเหลือเชื่อ คือ หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงออสการ์ถึงหกสาขา รวมทั้งรางวัลใหญ่อย่างหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม แน่นอนว่าทักษะการกำกับอารมณ์คนดู ตลอดจนฉากเขย่าขวัญของ เอเดรียน ไลน์ นั้นถือว่าอยู่ในขั้นเซียน โดยเฉพาะช่วงไคล์แม็กซ์ท้ายเรื่อง แต่สิ่งที่น่าจดจำอย่างแท้จริงของหนังได้แก่ งานแสดงอันชวนให้ขนหัวลุกของ เกล็น โคลส ซึ่งทำลายภาพลักษณ์ “หญิงสาวแสนดี” ของเธอจากหนังเรื่องก่อนๆ อย่าง The Big Chill และ The Natural ลงอย่างราบคาบ สำหรับคอหนังดีวีดี คุณจะได้โบนัสพิเศษเป็นตอนจบสองแบบ (ไลน์ตัดสินใจเปลี่ยนตอนจบใหม่หลังมีเสียงตอบรับไม่สู้ดีจากการฉายรอบทดสอบ) แบบแรก คือ “The bitch is dead” แบบที่สอง คือ “Revenge of the bitch”

วันอังคาร, พฤษภาคม 08, 2550

Vanilla Sky: สงครามระหว่างขั้วตรงกันข้าม


ใครก็ตามที่ได้ชมหนังสเปนเรื่อง Open Your Eyes (Abre los ojos) ของ อเลฮานโดร อาเมนาบาร์ คงไม่รู้สึกแปลกใจว่าเหตุใด ทอม ครูซ ถึงสนใจอยากจะนำมันมาสร้างใหม่ในแบบฉบับฮอลลิวู้ดโดยมีตัวเขาเองเป็นดารานำ เรื่องราวของหนุ่มหล่อ ร่ำรวย ที่รายล้อมไปด้วยหญิงสาวสวยมากหน้าหลายตา ชีวิตของเขาสมบูรณ์แบบเหมือนฝัน จนกระทั่งชะตากรรมเล่นตลกให้เขาประสบอุบัติเหตุ ใบหน้าบิดเบี้ยวและสูญเสียผู้หญิงคนที่เขาคิดว่าอาจจะเป็น ‘รักแท้’ เพียงหนึ่งเดียวไป

ซูเปอร์สตาร์อย่าง ทอม ครูซ ก็มีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนไม่ต่างอะไรจากตัวเอกในหนังเรื่องนี้ ความงามทางด้านหน้าตา คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันเขาให้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน เงินทองไหลมาเทมา และได้ใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในความฝัน รอยยิ้มของเขาเปรียบเสมือนเครื่องหมายการค้า ช่วยหนุนนำให้เขากลายเป็นหนุ่มในฝันของสาวน้อยสาวใหญ่มาตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของทอมนับแต่ Top Gun ถึง Cocktail ถึง Jerry Maguire ล้วนประสบความสำเร็จเพราะพึ่งพา อาศัยเสน่ห์ความหล่อของเขามากพอๆกับ (หรืออาจจะมากกว่า) ฝีมือการแสดง

ในโลกของหนุ่มรูปงามซึ่งหลงใหล มัวเมาอยู่กับเงาสะท้อนของตัวเอง คงไม่มีฝันร้ายใดจะน่าสะพรึงกลัวไปกว่าการตื่นขึ้นมาวันหนึ่งแล้วพบว่าตนได้กลายร่างเป็นชายอัปลักษณ์ที่แม้แต่เขาเองยังไม่อาจทนมองเงาสะท้อนของตนในกระจกได้

นอกจากจะเปิดเผยความหวาดกลัวในเบื้องลึกของครูซได้อย่าง ‘โดนใจ’ จนชวนให้ขนหัวลุกแล้ว Open Your Eyes ยังนำแสดงโดย เอดัวร์โด นอริเอก้า ดาราชาวสเปนผู้มีใบหน้าละม้ายคล้ายทอมในวัยหนุ่มอยู่ไม่น้อยอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ทอม ครูซ ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง ยังจัดแจงผันการรีเมคงานของคนอื่นให้กลายเป็นโครงการส่วนตัวขึ้นอีกขั้น ด้วยการผนวก ‘วิกฤติ’ ภายในของตนเองเข้าไป ทำให้ เดวิด เอมส์ (ครูซ) กลายเป็นหนุ่มหล่อ ร่ำรวย มีสาวสวยเป็นคู่นอน ‘และ’ กำลังย่างเข้าสู่วัยกลางคน ฉากที่เขายืนมองตัวเองหน้ากระจก สังเกตเห็นผมหงอกหนึ่งเส้น ถอนมันออกด้วยสีหน้านิ่งเฉยเหมือนไม่ยี่หระ บ่งบอกให้เห็นว่าจริงอยู่ที่เดวิดกำลัง “ใช้ชีวิตตามความฝัน” เหมือนดังที่เขาบอกกับแขกคนหนึ่งในงานเลี้ยงวันเกิด แต่ลึกๆแล้วเขากำลังหวาดหวั่นว่า สักวันความฝันดังกล่าวจะล่มสลายไปพร้อมวัยอันร่วงโรย โดยที่เขาไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับรักแท้ในชีวิต

การตัดสินใจหย่าขาดจากภรรยาซึ่งอยู่ร่วมชีวิตกันมานาน แล้วหันไปควงสาววัยยี่สิบปลายๆ ทำให้หลายคนเริ่มวิเคราะห์ว่าทอมกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติวัยกลางคนอยู่ ความวิตกเกี่ยวกับวัยที่เพิ่มขึ้นของเขาสะท้อนชัดในหนังผ่านฉากดึงผมขาว (ซึ่งไม่ปรากฏในต้นฉบับ) ส่วนความรู้สึกเหมือนถูกคุกคามทางอาชีพการงานจากกลุ่มดารารุ่นใหม่ที่หนุ่มแน่นกว่า ก็ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปคณะกรรมการบริหารหรือคนแคระทั้งเจ็ด ซึ่งพยายามจะฮุบอำนาจควบคุมบริษัทจากมือของเดวิด (รายละเอียดที่ไม่มีในต้นฉบับอีกเช่นกัน) นอกจากนั้นหนังยังหยอดมุขอ้างถึงข่าวลือเกี่ยวกับทอมซึ่งมีมาเนิ่นนานด้วยการให้เดวิดชี้แจงกับเอ็ดมันด์ในฉากหนึ่ง (โนอาห์ เทย์เลอร์) ว่าเขาไม่ใช่เกย์อีกด้วย

หากตัวเอก ตลอดจนความหวาดกลัวในจิตใต้สำนึกของเขา ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของ ทอม ครูซค่อนข้างสูง สไตล์ โทนอารมณ์ และเนื้อหาหลักของ Vanilla Sky ก็สะท้อน ‘ตัวตน’ ของผู้กำกับ คาเมรอน โครว ออกมาได้เด่นชัดไม่แพ้กัน

หลังจากแสดงคาราวะต่อวงการเพลงร็อคไปแล้วใน Almost Famous แนวโน้มความคลั่งไคล้เสียงดนตรีของโครวยังส่งอิทธิพลต่อเนื่องมายังผลงานถัดมาซึ่งเขาเปรียบเทียบว่าเป็นการ ‘คัฟเวอร์’ เพลงของศิลปินอื่น ขณะเดียวกันก็ตัดสินใจเลือกใช้ชื่อ Vanilla Sky เพราะมันเป็นชื่อที่ “ฟังดูเหมือนชื่ออัลบั้มเพลงมากกว่าชื่อหนัง” ตลอดทั้งเรื่องโครวอัดกระหน่ำเพลงป็อป-ร็อคเอาไว้ในแทบทุกฉากทุกตอน เสริมอารมณ์โรแมนติกให้หนักแน่นขึ้น เน้นย้ำธีมเกี่ยวกับความรัก และสอดแทรกความชื่นชอบส่วนตัวในงานศิลปะหลายแขนงลงไปในบุคลิกของเดวิด จนทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าเดวิดเป็นส่วนผสมระหว่าง ทอม ครูซ กับ คาเมรอน โครว มากกว่าจะเป็นตัวละครตามท้องเรื่องจริงๆ เช่น ความชื่นชอบหนังอย่าง Jules and Jim หรือ To Kill a Mockingbird ความรู้สึกกินใจกับภาพเขียนของ โมเน่ หรืออาการเป็นปลื้มนักร้องแบบ บียอร์ค นั้น มันฟังดูเหมือนรสนิยมของอดีต ‘กรุ๊ปปี้’ อย่างโครวมากกว่าจะเป็น ‘ยัปปี้’ ที่ถูกเลี้ยงขึ้นมาด้วยเงินอย่างเดวิด ศิลปะพวกนั้น ‘ลึกซึ้ง’ เกินกว่าเดวิดจะเข้าถึงได้ (รสนิยมของเดวิดควรจะเป็นเช่นใด หาชมได้จากหนังล้อเลียนวัฒนธรรมยัปปี้อย่าง American Psycho)

การปะทะกันระหว่างครูซและโครว สองกำลังหลักที่ทำให้ Vanilla Sky ถือกำเนิดขึ้นมาได้ ในตัวละครอย่างเดวิดคือภาพจำลองธีมหลักของหนังเกี่ยวกับการดวลกันระหว่างขั้วสองขั้วซึ่งแตกต่าง ขัดแย้ง และไม่อาจรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ ทฤษฎีที่ว่ามีรากฐานมาจากแนวคิดเชิงปรัชญาซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 ด้วยความเชื่อว่าโลกของเราก่อกำเนิดขึ้นจากขั้วสองขั้ว (ร่างกาย/จิตใจ, ดี/เลว, สากล/ปัจเจก) และมนุษย์ทุกคนย่อมประกอบไปด้วยขั้วทั้งสอง ไม่ใช่เพียงขั้วหนึ่งขั้วใด

Vanilla Sky กำหนดเนื้อหา สถานการณ์ และตัวละครเป็นคู่ขนานเอาไว้มากมาย เริ่มจากเดวิด (นักธุรกิจ, ตื้นเขิน, ชายหนุ่มที่มักจะได้ผู้หญิง) กับไบรอัน (นักเขียน, ลึกซึ้ง, ชายหนุ่มที่มักจะกลับบ้านคนเดียว) จูลี่ (ภาพลักษณ์-แมวยั่วสวาท, ผมบลอนด์, ผู้หญิงในแฟนตาซีที่ผู้ชายอยากจะฟัน) กับโซเฟีย (ภาพลักษณ์-สาวบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา, ผมดำ, ผู้หญิงในชีวิตจริงที่ผู้ชายมักจะตกหลุมรัก) ความจริงกับความฝัน ร่างกายกับจิตใจ และความงามกับความอัปลักษณ์ โดยแรกทีเดียวหนังแยกแยะ จัดแบ่งแต่ละขั้วเอาไว้เป็นเอกเทศชัดเจน ก่อนจะค่อยๆเลือนเส้นแบ่งดังกล่าวทีละน้อย แล้วเล่นสนุกกับการรับรู้ของผู้ชมต่อสิ่งเหล่านั้น

เดวิดแปลงสภาพจากหนุ่มหล่อเป็นหนุ่มอัปลักษณ์ จากชายที่มักจะได้ผู้หญิงมาครองเป็นชายที่ถูกผู้หญิงปฏิเสธ หนังในช่วงครึ่งชั่วโมงแรกนำเสนอรูปลักษณ์ภายนอกของเดวิดที่ดูงดงาม หลังจากประสบอุบัติเหตุ หนังก็พลิกกลับด้วยการนำเอาสภาพจิตใจภายในของเขามาตีแผ่เป็นรูปธรรมผ่านรูปร่างหน้าตาอันบิดเบี้ยว จากนั้นใบหน้าของเขาก็พลิกสลับไปมาระหว่างอัปลักษณ์กับหล่อเหลา เช่นเดียวกับการสับเปลี่ยนสถานะทางตัวตนระหว่างจูลี่ (คาเมรอน ดิแอซ) กับโซเฟีย (เพเนโลปี ครูซ) จนเมื่อหนังดำเนินมาได้เกินครึ่ง คนดูก็เริ่มสับสนว่าพวกเขาควรจะเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือไม่ ก่อนสุดท้ายจะเฉลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เดวิดคิดว่าเป็นความจริงนั้น โดยแท้แล้วเป็นเพียง ‘ความฝันอันแจ่มชัด’ เป็นจินตนาการที่เขาซื้อหามาด้วยเงินตราเมื่อไม่อาจทำใจยอมรับกับสัจธรรมแห่งชีวิตอันเจ็บปวดได้

ภาพรวมของหนังเรื่อง Vanilla Sky เองก็คล้ายคลึงกับสงครามระหว่างขั้วตรงกันข้ามอยู่ไม่น้อย โครวยังคงพล็อตเรื่องตลอดจนสถานการณ์หลักๆของอาเมนาบาร์เอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเต็มไปด้วยความกระด้าง หดหู่ และหลอกหลอน จากนั้นจึงโยนสไตล์ถนัดของตน อันได้แก่อารมณ์หวานแหว๋ว มองโลกในแง่ดี และนุ่มนวล ล่องลอย ลงไปคลุกเคล้า จนทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาดูก้ำกึ่ง ครึ่งๆกลางๆ หนังไม่อาจสร้างบรรยากาศชวนฝันได้เหมือนงานชิ้นอื่นๆของโครวเพราะพล็อตเรื่องที่ค่อนข้างหนักหน่วง เต็มไปด้วยทัศนคติเยาะหยัน เสียดสี ขณะเดียวกันรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่โครวเพิ่มเข้ามาก็ทำให้หนังขาดความคมชัด บาดลึกเหมือนต้นฉบับ เช่น ผู้ชมไม่รู้สึกสะใจเมื่อเดวิดได้รับบทเรียนอันสาสมจากพฤติกรรมสำมะเลเทเมา เพราะเราตระหนักว่า บางทีการที่เขาเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้าอาจเป็นเพราะเขากำลังแสวงหาความใกล้ชิด สนิทสนมมาชดเชยความรักที่ตนไม่เคยได้รับจากพ่อบังเกิดเกล้า ส่วนตัวละครอย่างจูลี่ก็ไม่ให้ความรู้สึก ‘คุกคาม’ มากเท่าต้นฉบับของอาเมนาบาร์ เพราะในสายตาของโครว เธอก็เป็นคนเหงาผู้น่าสงสารไม่แพ้เดวิดเช่นกัน และที่สำคัญนัยยะอันคลุมเครือเกี่ยวกับความรู้สึกของโซเฟียต่อเดวิดหลังเขาประสบอุบัติเหตุได้ถูกลบเลือนออกจนหมดสิ้นผ่านฉากงานศพซึ่งโครวใส่เพิ่มเข้ามา

บทสรุปของ Vanilla Sky อาจดึงหนังให้เข้าใกล้แนวทางนิยายวิทยาศาสตร์ แต่การวิพากษ์ศีลธรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีและบทบาทของมันซึ่งกำลังลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความลวง ถือได้ว่าเป็นสิ่งสุดท้ายที่อยู่ในใจของผู้กำกับซึ่งเชื่อมั่นในมนุษย์ การไถ่บาป และพลังแห่งความรักอย่าง คาเมรอน โครว

เมื่อได้รับรู้จากเอ็ดมันด์ว่าผู้คนรอบข้างรวมทั้งโซเฟียและไบรอัน (เจสัน ลี) นั้นต่างก็รัก เป็นห่วงเป็นใย และเสียใจมากแค่ไหน หลังจากเขาฆ่าตัวตายไป ผ่านฉากงานศพที่เพิ่มเข้ามา เดวิดก็เข้าใจในที่สุดว่าเขาใช้ชีวิตอยู่ในความฝันมาตลอด ไม่เฉพาะหลังจากได้รู้จักกับ ลูซิด ดรีม แล้วจับมือร่วมกันสร้าง ‘ชีวิตใหม่’ ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ต่างจากการนอนหลับฝัน เดวิดใช้ชีวิตคนเดียวตามลำพังมานับตั้งแต่เขาลืมตาขึ้นมาดูโลกในครอบครัวที่เลี้ยงลูกด้วยเงินแทนความรักแล้ว ช่องว่างระหว่างเขากับคนรอบข้างค่อยๆทวีความกว้างมากขึ้น เมื่อเดวิดเติบใหญ่เป็นเจ้าของเงินและอำนาจโดยชอบธรรม ฉากฝันร้ายตอนต้นเรื่องที่เดวิดพบว่าตนเป็นบุคคลเพียงคนเดียวในเมืองนิวยอร์ก (หรือบนโลกนี้) ช่วยสะท้อนภาวะชีวิตที่แท้จริงของเขาได้อย่างชัดเจน ในเชิงวัตถุ ชีวิตของเดวิดเป็นเหมือนความฝันอันงดงาม ทั้งเงินทอง สาวสวย รถคันหรู ใบหน้าหล่อเหลา ทุกสิ่งทุกอย่างดูลงตัวจนเกินจริง โลกทั้งใบล้วนหมุนวนอยู่รอบตัวเขา และความหลงใหลในตัวเองจนเกินพอดีนี่เองที่ทำให้เดวิดกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว มองข้ามมิตรภาพ (เขายืนยันจะแย่งหญิงสาวคนที่เพื่อนบอกว่าอาจเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวมาครองโดยไม่แม้แต่จะหยุดคิดหรือรู้สึกผิด) และใช้ชีวิตเสเพลด้วยการเปลี่ยนคู่นอนเป็นว่าเล่นโดยไม่แคร์ความรู้สึกของอีกฝ่าย

ดังนั้นเมื่อได้รับข้อเสนอให้กลับไปใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง มี ‘โอกาสครั้งที่สอง’ ในการแก้ไขข้อผิดพลาดซึ่งเขาก่อเอาไว้ เดวิดจึงไม่ลังเลที่จะเลือกการ ‘ลืมตา’ ขึ้นมาเผชิญหน้ากับความจริง

ความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความดีเป็นพื้นฐานและปรารถนาจะพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่ดีกว่าของโครวปรากฏชัดตั้งแต่การร่วมงานกันครั้งแรกกับครูซใน Jerry Maguire เรื่องราวของเอเย่นต์นักกีฬาหน้าเลือดผู้ถูกไล่ออกจากงานเพียงเพราะเขาดันเกิดมโนธรรมขึ้นในจิตสำนึกเบื้องลึก

เดวิด เอมส์ ก็ไม่แตกต่างจาก เจอร์รี่ แม็กไกวร์ ตรงที่ทั้งสองได้เรียนรู้คุณค่าแท้จริงของชีวิตจากความล้มเหลว พวกเขาเข้าถึงความหอมหวานได้จากการลงไปเกลือกกลั้วกับความขมขื่น และตระหนักในที่สุดว่าเงินตลอดจนความก้าวหน้าทางอาชีพการงานนั้นไม่ได้นำมาซึ่งความสุขเสมอไป ความรักต่างหากที่จะทำให้พวกเขากลายเป็น ‘คนเต็มคน’ การได้รับรู้ว่าตนเองไม่ใช่คนเดียวที่สัมผัสได้ถึงรักแท้ในค่ำคืนอันเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์กับโซเฟีย ช่วยให้เดวิดพร้อมจะลืมตาตื่นจากฝันขึ้นมาใช้ชีวิตจริงๆกับเขาเสียที หลังจากต้องนอนจมอยู่ในแฟนตาซีและความหลงตัวเองอยู่เนิ่นนาน

สุดท้ายแล้ว แม้ คาเมรอน โครว จะอ้างตนว่า Vanilla Sky เป็นการ ‘คัฟเวอร์’ งานของศิลปินคนอื่น แต่พิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายแหล่แล้ว หนังออกจะดูเหมือนการ ‘คัฟเวอร์’ Jerry Maguire เสียมากกว่า

The Force Is Still With Them


มีการสำรวจว่าหนังเรื่องใดที่คนชอบดูซ้ำไปซ้ำมามากที่สุด ผลปรากฏว่าผู้ชายและผู้หญิงมีความเห็นใกล้เคียงกันเกี่ยวกับหนังเรื่องหนึ่ง นั่นคือ Star Wars ซึ่งติดอันดับหนึ่งของผู้ชายและอันดับสองของผู้หญิง (หนังกำลังฉลองครบรอบ 30 ปี) ในบรรดาตัวเลือกของผู้ชาย ผมดู Star Wars ซ้ำรอบมากที่สุด เพราะตอนนั้นซื้อวีดีโอจากร้านแมงป่องมาครบทั้งสามภาค และมักจะเปิดมันดูซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบระหว่างภารกิจนั่งรีดผ้า เช่นเดียวกับ The Sound of Music (เสียดายไม่ได้ดูหนังเพลงเรื่องนี้ทางจอใหญ่)

ในฝั่งตัวเลือกของผู้หญิง ผมได้ดู Aliens ในโรงหนังประมาณสองรอบที่โรงแมคเคนน่า (จำได้ว่าตอนเห็นบิลบอร์ดขนาดใหญ่ของ ซิเกอร์นีย์ วีเวอร์ อุ้มเด็กหญิงเข้าสะเอว ทีแรกคิดว่าเธอเป็น “พระเอก” ของเรื่อง เพราะ She’s the Man มากๆ) สำหรับ The Godfather ผมได้ดูทางวีดีโอ (เกิดไม่ทันครับ) ประมาณสองรอบ The Terminator กับ Blade Runner รู้สึกว่าจะดูไปแค่รอบเดียวทางวีดีโอและจำอะไรเกี่ยวกับหนังไม่ค่อยได้เท่าไหร่ Pretty Woman ผมได้ดูในโรงหนังสองถึงสามรอบ (ตอนนั้นรู้สึกชอบมากๆ) Dirty Dancing ได้ดูรอบเดียวทางวีดีโอ ส่วน Grease ผมก็ได้ดูรอบเดียวทางวีดีโอเช่นกัน แต่ได้ฟังเพลงซ้ำอยู่หลายครั้ง

หนังที่ผู้ชายดูซ้ำมากที่สุด

1. Star Wars Trilogy
2. Aliens
3. The Terminator
4. Blade Runner
5. The Godfather

หนังที่ผู้หญิงดูซ้ำมากที่สุด

1. Dirty Dancing
2. Star Wars Trilogy
3. Grease
4. The Sound of Music
5. Pretty Woman

Lesbian Films For Dummies


วันก่อนมีนักข่าวโทรมาขอให้แนะนำหนังเลสเบี้ยน 5 เรื่อง พอลองนึกไปนึกมา ผมถึงตระหนักว่าตัวเองเคยดูหนังเลสเบี้ยนน้อยมาก และส่วนใหญ่มักเป็นการดูตามเทศกาลเมื่อนานมาแล้ว เช่น High Art และ Better Than Chocolate ซึ่งจดจำอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ นอกจากเรื่องแรกเป็นการคัมแบ็คที่ยอดเยี่ยมของ อัลลี ชีดี้ ส่วนเรื่องหลังมีเพลงประกอบชื่อเดียวกันของ ซาร่าห์ แม็คลาแลน นักร้องคนโปรด ด้วยเหตุนี้เอง หนังที่ผมแนะนำไป 5 เรื่อง ส่วนใหญ่เลยเป็นหนังเมนสตรีม แถมบางเรื่องอาจจำกัดความว่าเป็นหนังเลสเบี้ยนตรงๆ ไม่ได้ด้วยซ้ำ (Mulholland Drive) แต่เลือกเพราะความชอบส่วนตัวในตัวหนังและผู้กำกับ

ใจจริงผมอยากแนะนำหนังเรื่อง Desert Hearts ด้วย ในฐานะที่มันเป็นหนังบุกเบิกเรื่องแรกๆ ของเลสเบี้ยนเหมือน Making Love และ The Boys in the Band ของฝั่งเกย์ แต่คาดว่าคงจะหาชมได้ยาก และที่สำคัญ ผมไม่รู้สึกว่าหนังมันน่าสนใจอะไรมากเท่าไหร่ (นอกเหนือจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของรักร่วมเพศบนจอภาพยนตร์) ฉากรักระหว่างผู้หญิงสองคนถูกนำเสนอในรูปแบบของ “แฟนตาซีเพศชาย” แต่มันเป็นหนังเลสเบี้ยนแท้ๆ พูดถึงการ “ค้นพบตัวเอง” ของผู้หญิง ตรงกันข้ามกับหนังอย่าง Monster หรือ Mulholland Drive ซึ่งเพียงแค่มีตัวเอกเป็นเลสเบี้ยน (ในกรณีของ Monster เธออาจไม่ใช่เลสเบี้ยนด้วยซ้ำ เพียงแต่เป็นคนเหงาที่ค้นพบความรักจากผู้หญิง) และไม่ได้พูดถึงโลกหรือวัฒนธรรมรักร่วมเพศโดยตรง

นี่คือหนัง 5 เรื่องที่ผมแนะนำไปครับ

Monster ดัดแปลงจากประวัติชีวิตจริงของโสเภณีที่กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ไอลีน วัวร์นอส ซึ่งต้องพลีกายให้ผู้ชายเฮงซวยมาตลอดชีวิต ทั้งแบบเต็มใจและไม่เต็มใจ แต่สุดท้ายเธอกลับได้ค้นพบความรักอันงดงาม (ครั้งแรกและครั้งเดียว) กับผู้หญิงคนหนึ่ง ความรักนั้นทำให้เธออยากมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลกอันโหดร้าย แต่ขณะเดียวกันก็ชักนำเธอเข้าไปสู่โลกแห่งอาชญากรรม จุดเด่นของหนังอยู่ตรงการแสดงอันไร้เทียมทานของ ชาร์ลิซ เธรอน ในบทซึ่งทำให้เธอคว้ารางวัลออสการ์มาครอง

Bound ก่อนจะโด่งดังจากหนังชุด The Matrix สองพี่น้องผู้กำกับ แอนดี้ กับ แลร์รี่ วาโชวสกี้ เคยกำกับหนังเลสเบี้ยนเขย่าขวัญปนสไตล์ฟิล์มนัวร์เรื่องนี้เอาไว้เมื่อปี 1996 เล่าถึงความสัมพันธ์อันตรายระหว่างอดีตนักโทษหญิงมาดเท่ที่กลายมาเป็นช่างซ่อมสารพัดประจำโรงแรมกับสาวสวยเสียงแหลมรูปร่างอวบอัด ทั้งสองวางแผนจะหลอกเอาเงินนับล้านจากสามีของฝ่ายหลัง ซึ่งเป็นลูกน้องมาเฟีย แต่แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมไม่ราบรื่นตามแผน หนังดูสนุก ลุ้นระทึก แถมด้วยฉากรักระหว่างหญิงกับหญิงที่ร้อนแรงที่สุดฉากหนึ่ง

Boys Don’t Cry อีกเรื่องที่ดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริงชวนสลดของ ทีน่า แบรนดอน หญิงสาวที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายเข้าไปอยู่ในเมืองบ้านนอกอันห่างไกลจากแสงสีและตึกสูงระฟ้า สถานที่ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงมีจิตใจคับแคบในเรื่องเพศ ทีน่าตกหลุมรักกับสาวสวยคนหนึ่ง แต่ชีวิตของเธอกลับพลิกผันไปสู่โศกนาฏกรรม เมื่อเพื่อนชายในกลุ่มค้นพบความจริง เช่นเดียวกับ Monster หนังโดดเด่นที่การแสดงอันยอดเยี่ยมของ ฮิลารี่ สแวงค์ ซึ่งเวลาแต่งตัวเป็นผู้ชายดันดูละม้ายคล้าย แม็ท เดมอน ยังกะแกะ

Mulholland Drive อาจไม่ใช่หนัง “เลสเบี้ยน” โดยแก่นหลัก แต่มีตัวเอกเป็นหญิงสาวสวยสองนาง ซึ่งสุดท้ายได้มาลงเอยกันบนเตียงในฉากรักสุดอีโรติก หนังเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างไดแอน นักแสดงสาวแสนซื่อที่เดินทางมาฮอลลีวู้ดเพื่อจะเป็นดารา กับ ริต้า สาวอกอึ๋มที่ความจำเสื่อมในอุบัติเหตุรถยนต์และจำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใคร พล็อตเรื่องดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความพลิกผัน... หรือสับสน นั่นขึ้นอยู่กับว่าคุณคุ้นเคยกับสไตล์ของ เดวิด ลินช์ มากแค่ไหน

Show Me Love เป็นหนังเล็กๆ แนว coming-of-age จากสวีเดนที่คงไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่ให้อารมณ์น่ารัก อบอุ่น และชวนประทับใจไม่รู้ลืม อาจพูดได้ว่านี่คือ Beautiful Thing เวอร์ชั่นเลสเบี้ยน แม้ว่ามันออกจะชัดเจนในแนวทาง “อินดี้” มากกว่าก็ตาม หนังเล่าเรื่องราวของแอ็กเนส เด็กหญิงวัยรุ่นขี้อายที่แอบหลงรักเพื่อนสาว อีลิน ซึ่งค่อนข้างจะมีชื่อเสียเรื่องผู้ชายในโรงเรียน (แต่ความจริงเธอยังไม่เคยเสียตัวให้ใครมาก่อน) ทั้งสองได้เรียนรู้กันและกันมากขึ้นในค่ำคืนหนึ่ง เมื่อฝ่ายหลังโผล่มาร่วมงานวันเกิดของฝ่ายแรกแบบไม่คาดฝัน ถ้าใครไม่ชอบ “โลกมืด” แบบในหนังสี่เรื่องข้างบน นี่คือตัวเลือกที่จะช่วยให้คุณอิ่มเอิบและมองโลกสดใส