วันเสาร์, ธันวาคม 22, 2550

ออสการ์ 2008: การเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา


และแล้วภาพยนตร์การเมืองเรื่องสุดท้าย ซึ่งหลายคนคาดว่าอาจจะมีโอกาสครองเวทีออสการ์ ก็ถูกนักวิจารณ์สอยร่วงตาม In the Valley of Elah, Rendition, Redacted และ Lions for Lambs ไปติดๆ หลังจากมันเปิดฉายรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชนตามเมืองใหญ่ๆ ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน Charlie Wilson’s War อาจไม่ถึงกับมีคุณภาพย่ำแย่ แต่ภาพรวมของมันค่อนข้างเบาโหวงไปหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย หลายคนเชื่อว่าหนังคงสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะอย่างน้อยมันก็ “สนุก” และมีดาราดังระดับแม่เหล็กนำแสดง แต่ความฝันของการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคงอยู่ไกลเกินเอื้อม เหลือเพียงสองสาขาที่น่าจะหวังพึ่งพาได้ คือ นักแสดงสมทบชาย (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน) และบทภาพยนตร์ดัดแปลง (แอรอน ซอร์กิน)

ในทางตรงกันข้าม Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street ของ ทิม เบอร์ตัน ซึ่งเปิดฉายให้นักวิจารณ์ดูในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน กลับได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่น (บางคนบอกว่ามันเป็นผลงานกำกับที่เยี่ยมที่สุดของเบอร์ตันนับจาก Ed Wood) จนส่งผลให้มันคว้าตำแหน่งตัวเก็ง (ร่วมกับ Atonement และ No Country for Old Men) ที่จะได้เข้าชิงในสาขาสำคัญๆ อย่างครบถ้วน มองในมุมของออสการ์ ข้อด้อยเพียงอย่างเดียวของหนังคงอยู่ตรงปริมาณเลือดหลายแกลลอน รวมถึงความรุนแรงแบบไม่ยั้ง ซึ่งอาจทำให้กรรมการบางคน (โดยเฉพาะพวกคนแก่หัวโบราณ) ตีหน้าเหยเก แต่ชัยชนะของ The Departed เมื่อปีก่อนคงสร้างความอุ่นใจให้เบอร์ตันได้บ้าง มันพิสูจน์ให้เห็นว่ารางวัลออสการ์ไม่ได้กลัวเลือดและความรุนแรงจนหัวหดอย่างที่ใครๆ กล่าวอ้าง... หรือบางที “บารมี” ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ อาจทำให้กรรมการยินดีจะมองข้ามพวกมันไป

เมื่อเรื่องหนึ่งมีฆาตกรปืนลมเป็นตัวเอก ส่วนอีกเรื่องเป็นฆาตกรใบมีดโกน ผู้เชี่ยวชาญหลายคน (และอาจจะหมายรวมถึงกรรมการออสการ์) จึงเริ่มมองหาตัวเลือกที่แตกต่าง หรือหนัง feel good แบบมองโลกในแง่ดี ที่มีศักยภาพพอจะเบียดเข้าชิงรางวัลใหญ่ควบคู่กับ Atonement (ซึ่งแม้จะพูดถึงความรัก แต่ก็เต็มไปด้วยอารมณ์มืดหม่น หดหู่) No Country for Old Men และ Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street

พวกเขาเชื่อว่า Juno หรือ Little Miss Sunshine แห่ง 2007 คือ หนังเรื่องนั้น

Juno เป็นผลงานกำกับของ เจสัน ไรท์แมน ซึ่งเคยกวาดคำชมของนักวิจารณ์มาแล้วจากหนังตลกเสียดสีเรื่อง Thank You for Smoking ผลงานของไรท์แมนเปิดตัว ณ เทศกาลหนังเมืองโตรอนโตช่วงปลายปี และกลายเป็นขวัญใจคนดู รวมถึงนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ภายในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากฝีมือการเขียนบทอันเฉียบคม ขบขัน และซาบซึ้งของ ไดอาโบล โคดี้ (ตัวเก็งออสการ์ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งปราศจากคู่แข่งหินๆ อย่าง Atonement และ No Country for Old Men) ผนวกกับฝีมือการแสดงสุดเพอร์เฟ็กต์ของ เอลเลน เพจ (Hard Candy) ซึ่งนักวิจารณ์ระดับแนวหน้าอย่าง โรเจอร์ อีเบิร์ต กล่าวชื่นชมว่าเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบปี... จูลี่ คริสตี้ และ มาเรียน โคทิลลาร์ด จงระวังหลังให้ดี

จูโน (เพจ) เป็นเด็กสาวมัธยมปลายที่วันหนึ่งตัดสินใจมีเซ็กซ์กับ บลีกเกอร์ (ไมเคิล เซรา) เพื่อนหนุ่มร่วมทีมกรีฑาในโรงเรียน ซึ่งเธอชอบพอประมาณแต่ไม่ได้หลงรัก เนื่องด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตและอยากรู้อยากเห็น ผลที่ตามมา คือ การตั้งครรภ์อย่างคาดไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ จูโนกับเพื่อนซี้ ลีอาห์ (โอลิเวีย เธอร์บี้) จึงพยายามแก้ไขวิกฤติด้วยการมองหาพ่อแม่บุญธรรมให้กับเด็กในท้อง ก่อนจะมาลงเอยยังสองสามีภรรยาที่ดูน่ารักอย่าง มาร์ค (เจสัน เบทแมน) กับ วาเนสซา (เจนนิเฟอร์ การ์ดเนอร์)

เช่นเดียวกับ Little Miss Sunshine หนังเล็กๆ อย่าง Juno อาจไม่สูงส่งในแง่ศิลปะภาพยนตร์ แต่ข้อได้เปรียบสำคัญอยู่ตรงที่มันเป็นหนังซึ่งคนดู “ตกหลุมรัก” ได้ไม่ยาก และเราทุกคนล้วนตระหนักดีอยู่แล้วว่ากรรมการออสการ์มักจะเลือกใช้หัวใจโหวตมากกว่าสมอง ดังนั้น ณ เวลานี้ มันจึงกลายเป็นตัวเก็งลำดับที่ 4 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยตัวเลือกที่ 5 คงต้องเป็นการแก่งแย่งชิงดำระหว่าง Michael Clayton, There Will Be Blood, Into the Wild และ The Diving Bell and the Butterfly โดยผลงานของ โทนี กิลรอย ดูเหมือนจะนำหน้าอยู่เล็กน้อย

คำพิพากษาของนักวิจารณ์


รางวัลนักวิจารณ์อาจมีผลต่อรางวัลออสการ์อยู่บ้างในแง่ของการเสนอชื่อเข้าชิง แต่มันกลับส่งผลน้อยมากต่อชัยชนะบนเวทีออสการ์ (ดูกรณีตัวอย่างของ Brokeback Mountain และ Sideways) เนื่องจากรสนิยมของนักวิจารณ์กับคณะกรรมการออสการ์มักไม่ค่อยสอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม การที่ เอมี่ ไรอัน จาก Gone Baby Gone ผลงานกำกับเรื่องแรกของ เบน อัฟเฟล็ก กวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบเกือบจะเป็นเอกฉันท์ได้ผลักดันให้เธอกลายเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งในสาขานักแสดงสมทบหญิง แทนที่ เคท บลันเช็ตต์ ไปเรียบร้อยแล้ว

ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ทุกอย่างดูจะเป็นไปตามคาดหมายเมื่อ ฮาเวียร์ บาร์เด็ม กวาดรางวัลส่วนใหญ่มาครอง โดยมี เคซีย์ อัฟเฟล็ก คอยตามตอดอยู่เป็นระยะ (อันที่จริงบทของอัฟเฟล็กใน The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford น่าจะถือเป็นบทนำมากกว่าสมทบ) ส่วนชัยชนะแบบไม่เข้าพวกของ วลาด อีวานอฟ (4 Months, 3 Weeks and 2 Days) จากสมาคมนักวิจารณ์แอล.เอ.ก็ถือเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเช่นกัน เพราะเมื่อปี 2005 LAFCA ก็เคยสวนกระแสมาแล้วด้วยการมอบรางวัลนักแสดงนำหญิงให้กับ เวรา ฟาร์มิก้า (The Departed) จากหนังเล็กๆ เรื่อง Down to the Bone ขณะที่สถาบันอื่นเลือกจะมอบรางวัลให้ รีส วิทเธอร์สพูน จาก Walk the Line แน่นอน ไม่มีใครกังขาในคุณภาพการแสดงของอีวานอฟ (หรือฟาร์มิก้า) แต่โอกาสที่เขาจะเบียดนักแสดงชื่อดังคนอื่นๆ ในหนังอเมริกันเข้าไปชิงออสการ์นั้นถือว่าริบหรี่เต็มทน

สมมุติฐานดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้ได้กับ แฟรงค์ แลนเกลลา (Good Night, and Good Luck) ซึ่งแม้จะเป็นนักแสดงชาวอเมริกันที่คร่ำหวอดในวงการมานาน แต่เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายของสมาคมนักวิจารณ์แห่งบอสตันมาครองจากหนังที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก หรือได้ชมเรื่อง Starting Out in the Evening นั่นหมายความว่าโอกาสที่กรรมการออสการ์จะโหวตเลือกเขาย่อมน้อยลงด้วย

สังเกตจากรางวัลของสมาคมนักวิจารณ์ มันดูเหมือน จอร์จ คลูนีย์ กับ เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อิส จะตีคู่สูสีกันมาในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม แต่สำหรับบนเวทีออสการ์แล้ว ฝ่ายหลังอาจได้เปรียบเล็กน้อยเนื่องจากฝ่ายแรกเพิ่งได้ออสการ์ไปไม่นาน ขณะเดียวกัน มีคนจำนวนไม่น้อย “นับถือ” เดย์-ลูว์อิสในฐานะพระเจ้าทางการแสดง แล้วมองว่าคลูนีย์เป็นแค่ซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวู้ดที่เล่นหนังเป็น แม้บททนายบาปกลับใจใน Michael Clayton จะเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาก็ตาม

กระนั้นบุคคลที่น่าจับตามองสูงสุดในสาขานี้ คือ จอห์นนี่ เด็บบ์ ซึ่งออกจะได้เปรียบคู่แข่งสำคัญคนอื่นๆ ตรงที่เขายังไม่เคยได้ออสการ์ แต่เคยเข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายมาแล้วสองครั้งจาก Finding Neverland และ Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl แถมยังเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับในวงการมานาน นักวิจารณ์หลายคนที่ได้ชม Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street แล้วต่างเห็นพ้องว่ามันเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดบทหนึ่งของเด็บบ์ ซึ่งสร้างมิติให้ตัวละครเป็นมากกว่าแค่ฆาตกรที่ใช้ใบมีดปาดคอเหยื่อเพื่อล้างแค้น เขาทำให้คนดูเห็นใจและเข้าอกเข้าใจความคับแค้นของตัวละคร โดยไม่ประนีประนอมต่อแง่มุมด้านมืด

ในตอนนี้ ตัวเก็งอีกคนเดียวในสาขานักแสดงนำชายที่ยังไม่เคยได้ออสการ์ (หรือในกรณีนี้ยังไม่เคยเข้าชิงมาก่อนเลยด้วยซ้ำ) คือ เจมส์ แม็คอะวอย จาก Atonement

There Will Be Blood อาจได้แรงดันจาก LAFCA และลูกโลกทองคำให้ยังโคจรอยู่ในกระแส ไม่ได้ถูกผลักออกเหมือน I’m Not There, Once หรือ Zodiac แต่สุดท้ายแล้ว หนังที่ไม่เข้าทางออสการ์อย่างแรงเรื่องนี้น่าจะมีโอกาสในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมากกว่าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับ United 93 เมื่อปีก่อน ส่วนการกวาดรางวัลของ No Country for Old Men นั้นก็หาได้รับประกันความแน่นอนใดๆ เหรียญอาจพลิกเป็น Brokeback Mountain หรือ The Departed ได้มากพอๆ กัน บางทีคำพยากรณ์อาจจะเริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อบรรดาสมาพันธ์ต่างๆ (ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงโหวตรางวัลออสการ์ตัวจริง ไม่ใช่นักวิจารณ์) เริ่มประกาศผลออกมา

วิเคราะห์ลูกโลกทองคำ


คำครหาว่า “สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศคือกลุ่มคลั่งดารา” ดูเหมือนจะได้รับการตอกย้ำอีกครั้งว่าเป็นจริง เมื่อรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำถูกประกาศออกมาพร้อมข้อกังขามากมาย เริ่มต้นจากจำนวนภาพยนตร์ “เจ็ด” เรื่องที่ได้เข้าชิงในสาขาดราม่า (อาการ “รักพี่เสียดายน้อง” ของลูกโลกทองคำชักทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อปี 2005 มีหนังดราม่าเข้าชิงหกเรื่อง แต่พอปีนี้รายชื่อกลับงอกเพิ่มมาอีกหนึ่ง บางทีคงอีกไม่นานหรอกกว่ามันจะแพร่เชื้อกลายเป็น 10) หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าหนังอย่าง The Great Debaters สามารถเบียดมาเข้าชิงได้เพียงเพราะอิทธิพลของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ เท่านั้น คล้ายคลึงกับกรณีของ Bobby เมื่อปีก่อน นอกจากนี้ การที่มันเป็นผลงานกำกับชิ้นที่สองของดาราดังอย่าง เดนเซล วอชิงตัน (เรื่องแรก คือ Antwone Fisher) ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน (Bobby เป็นผลงานกำกับของอดีตดาวดัง เอมิลิโอ เอสเตเวซ ลูกชายคนโตของ มาร์ติน ชีน ซึ่งนำแสดงโดยดาราดังเกือบครึ่งฮอลลีวู้ด แต่ตัวหนังล้มเหลวบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ แถมยังโดนนักวิจารณ์จำนวนเกือบครึ่งสับเละ)

ถึงแม้จะมีพื้นที่สำหรับหนังเจ็ดเรื่อง แต่ Into the Wild ของ ฌอน เพนน์ กลับถูกสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมินใส่อย่างเย็นชา ทั้งที่หนังได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี และถูกคาดหมายให้เข้าชิงออสการ์ในหลายสาขา (หนังเข้าชิงลูกโลกทองคำเพียงสองสาขา คือ ดนตรีประกอบและเพลงประกอบ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮาล ฮอลบรู๊ก ซึ่งหลุดโผนักแสดงสมทบชายไปอย่างเหลือเชื่อ แล้วถูกแทนที่ด้วยซูเปอร์สตาร์อย่าง จอห์น ทราโวลต้า (Hairspray) แต่เชื่อได้ว่ารางวัลออสการ์ รวมถึงสมาพันธ์นักแสดง จะแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว

ซูเปอร์สตาร์อีกคนที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศคงอยากให้มาร่วมงาน เลยพยายามแทรกเธอให้เข้าชิงกับเขาด้วย คือ จูเลีย โรเบิร์ตส์ (โชคดีที่การแข่งขันในสาขานักแสดงสมทบหญิงไม่ค่อยดุเดือดเท่าไหร่ ความเสียหายร้ายแรงจึงไม่เป็นที่สังเกตเห็น) แต่พวกเขากลับมองข้ามการแสดงอันโดดเด่นของ ลอร่า ลินนีย์ ใน The Savages ทั้งที่บทของเธอนั้นสำคัญไม่แพ้ (หรืออาจจะมากกว่า) ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน ด้วยซ้ำ จริงอยู่ว่า Hairspray เป็นหนังดังที่หลายคนชื่นชอบ แต่หากมองให้ถ้วนถี่แล้วการแสดงของ นิกกี้ บลอนสกี้ นั้นดีกว่า ลินนีย์ หรือ เคอรี่ รัสเซลล์ (Waitress) หรือ เคทเธอรีน เฮก (Knocked Up) จริงๆ หรือ

ขณะที่ฮอฟฟ์แมนและบลันเช็ตต์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสองสาขา ทอมมี่ ลี โจนส์ กลับกลายเป็นบุรุษผู้ถูกลืม ถึงแม้เขาจะฝากผลงานน่าจดจำเอาไว้ในหนังถึงสองเรื่องอย่าง In the Valley of Elah และ No Country for Old Men เช่นเดียวกับหนังเพลงทุนต่ำเรื่อง Once ซึ่งถูกหนังเพลงบีทเทิลส์เรื่อง Across the Universe เขี่ยกระเด็นแบบค้านสายตากรรมการ

การเข้าชิงสูงสุดถึง 7 สาขาของ Atonement อาจช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทีมงานไม่น้อย เมื่อพิจารณาว่าผลงานของพวกเขาถูกหลงลืมไปตลอดช่วงเทศกาลแจกรางวัลของนักวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม สถิติของลูกโลกทองคำในฐานะ “ลูกแก้วทำนายออสการ์” ในช่วงหลังๆ เริ่มจะไขว้เขวออกนอกเส้นทางอยู่บ่อยครั้ง ดังจะเห็นได้จากการที่พวกเขาเลือก Babel แทน The Departed เลือก Brokeback Mountain แต่ไม่เสนอชื่อ Crash เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาดราม่า และเลือก The Aviator แทน Million Dollar Baby ฉะนั้น ถึงแม้ในที่สุดแล้ว Atonement จะคว้าชัยบนเวทีลูกโลกทองคำ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีโอกาสสูงกว่า No Country for Old Men บนเวทีออสการ์

เกร็ดเก็บตก


* วุ่นวายไม่เลิกสำหรับกติกาในการตัดสินรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยหลังจาก Lust, Caution ของไต้หวันถูกตัดสิทธิ์ไปไม่นาน ล่าสุด The Band’s Visit หนังดังจากประเทศอิสราเอล ซึ่งเดินสายกวาดคำชมตามเทศกาลต่างๆ มาแล้วทั่วโลกก็ถูกตัดสิทธิ์ตามไปอีกเรื่อง เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าหนังมีบทสนทนาภาษาอังกฤษอยู่มากกว่าครึ่ง ส่งผลให้มันขาดคุณสมบัติของความเป็น “ต่างประเทศ”!?! The Band’s Visit เป็นผลงานกำกับของ อีราน โคลิริน เล่าถึงเรื่องราวของกลุ่มทหารอียิปต์ที่พลัดหลงเข้าไปในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของประเทศอิสราเอล และเพื่อติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านในเมือง เหล่าตัวละครชาวอียิปต์ (พูดภาษาอาหรับ) จึงจำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษ (บางครั้งก็แบบงูๆ ปลาๆ) กับเหล่าตัวละครชาวยิว (พูดภาษาฮิบบรู)

* ไม่มีอะไรแน่นอนบนเวทีออสการ์ สัจธรรมดังกล่าวถือเป็นข่าวร้ายสำหรับ “ของตาย” ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอย่าง 4 Months, 3 Weeks & 2 Days “หนังทำแท้งจากโรมาเนีย” เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ และล่าสุดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก European Film Awards โดยข่าววงในแว่วมาว่าในรอบฉายพิเศษสำหรับคณะกรรมการออสการ์ ผลงานกำกับของ คริสเตียน มุนกัว ได้เสียงตอบรับค่อนข้าง “ก้ำกึ่ง” ถึงขนาดบางคนคิดว่ามันอาจถูกเขี่ยหลุดจากโผก่อนรอบชิงชนะเลิศด้วยซ้ำ (กรรมการจะคัดเลือกหนังทั้งหมดให้เหลือเพียง 12 หรือ 15 เรื่อง จากนั้นค่อยนำมาฉายใหม่เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 5 เรื่องสุดท้าย) จากข้อมูลของแหล่งข่าว กรรมการหลายคนบ่นอุบว่าหนังค่อนข้าง “อืดเอื่อย” บ้างก็ไม่ชอบใจช็อต “ตัวอ่อนบนพื้นห้อง” ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งหงุดหงิดกับสไตล์กล้องแบบสั่นส่ายชวนให้ปวดหัว อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลาขณะนี้ 4 Months, 3 Weeks & 2 Days ยังถือเป็นหนึ่งในกลุ่มตัวเก็งที่คาดว่าน่าจะหลุดเข้าชิงร่วมกับ The Year My Parents Went on Vacation (บราซิล) Persepolis (ฝรั่งเศส) The Edge of Heaven (เยอรมนี) The Unknown (อิตาลี) The Orphanage (สเปน) และ The Counterfeiters (ออสเตรีย)

* ดูเหมือนแคมเปญในการผลักดัน Once หนังเพลงขวัญใจนักวิจารณ์ช่วงซัมเมอร์ ให้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะเริ่มวิ่งเข้าหาทางตันเสียแล้ว แต่อย่างน้อยมันก็อาจได้รางวัลปลอบใจไปนอนกอดแทนในสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม ซึ่ง Falling Slowly ครองสถานะตัวเก็งอันดับหนึ่ง (ส่วนเพลงเด่นอีกเพลงของหนังอย่าง If You Want Me ก็อาจมีสิทธิ์เข้าชิงเช่นกัน) โดยคู่แข่งสำคัญของ Once ในสาขานี้ได้แก่ Into the Wild, Hairspray, Ratatouille, The Golden Compass, Grace Is Gone และ Enchanted

* คนเดียวที่ไม่ต้องคอยนั่งลุ้นตัวโก่ง หรือตบตีแย่งชิงรางวัลกับใครในงานออสการ์ครั้งนี้ คือ โรเบิร์ต บอยล์ นักออกแบบงานสร้างระดับตำนาน ซึ่งจะก้าวขึ้นรับรางวัลออสการ์พิเศษในคืนวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์เขาเคยเข้าชิงออสการ์ในสาขากำกับศิลป์มาแล้ว 4 ครั้ง (North by Northwest, Gaily, Gaily, Fiddler on the Roof และ The Shootist) แต่ชวดหมด นอกจากนี้ผลงานสำคัญเรื่องอื่นๆ ของก็เช่น The Birds, In Cold Blood, The Thomas Crown Affair (1968), Private Benjamin และ It Came from Outer Space บอยล์จบการศึกษาในสาขาสถาปัตยกรรม แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้เขาตัดสินใจเบนเข็มมายังวงการภาพยนตร์ด้วยการรับหน้าที่เป็นตัวประกอบเดินผ่านกล้อง ก่อนจะค่อยๆ เริ่มไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับยูนิเวอร์แซลในช่วงต้นทศวรรษ 1940

Short Replay: Muriel's Wedding


สำหรับ มิวเรียล (โทนี่ คอลเล็ตต์) สาวขี้เหร่ร่างอวบที่โดนเพื่อนๆ เดียดฉันท์และถูกพ่อบังเกิดเกล้าก่นด่าว่า “ไร้ประโยชน์” ชีวิตในเมือง พอร์พอยส์ สปิท ของเธอนั้นแทบจะเรียกได้ว่า “บัดซบ” และ “น่าสมเพช” แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อมิวเรียลได้พบกับ รอนด้า (ราเชล กริฟฟิธส์) เพื่อนหญิงที่ชื่นชอบจิตวิญญาณของเธอและหยิบยื่นมิตรภาพให้เธออย่างจริงใจ “ตอนฉันอยู่ พอร์พอยส์ สปิท ฉันมักจะนั่งฟังเพลงของ ABBA ในห้องเป็นชั่วโมงๆ แต่พอฉันรู้จักกับเธอและย้ายมาอยู่ซิดนีย์ ชีวิตฉันก็สวยงามไม่แพ้เพลงของ ABBA มันดีเทียบเท่ากับ Dancing Queen เลยล่ะ” มิวเรียลกล่าวกับรอนด้า

ถึงแม้พล็อตเรื่องจะใกล้เคียงกับหนังสูตรสำเร็จอีกหลายสิบเรื่อง แต่ Muriel’s Wedding ของ พี.เจ. โฮแกน (My Best Friend’s Wedding) ไม่ได้ลงเอยง่ายๆ ด้วยการให้มิวเรียลค้นพบชายในฝันแล้วเข้าพิธีแต่งงาน ตรงกันข้าม มันกลับพาตัวละครเอกไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือ การมอบความรักและความเคารพแก่ตัวเอง (บทวางโครงเรื่องหม่นเศร้าเกี่ยวกับแม่ของมิวเรียลไว้เปรียบเทียบอย่างชาญฉลาด) โดยในฉากจบเราอาจไม่ได้เห็นมิวเรียลแปลงโฉมจากลูกเป็ดขี้เหร่เป็นหงส์งามสง่า เธอยังอวบอ้วน ยังไม่สวย และปราศจากชายหนุ่มในฝันอยู่เคียงข้าง กระนั้นคนดูกลับสามารถสัมผัสได้ถึงความสุขของเธออย่างเด่นชัด ขณะเธอนั่งรถออกจากเมือง พอร์พอยส์ สปิท พร้อมเพื่อนรักรอนด้า มันเป็นฉากจบที่สุขสันต์ อิ่มเอิบ ไม่เพียงเพราะมันตอกย้ำให้เราตระหนักถึงสัจธรรมแห่งการเติมเต็มจากภายในเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบทเรียนสำคัญที่ว่า “ชีวิตไม่เคยสายเกินไปที่จะเริ่มต้นใหม่”

วันศุกร์, ธันวาคม 14, 2550

เพิ่มความเคลื่อนไหวให้ภาพ (2)


นอกเหนือจากการตั้งกล้องบนขาไทรพ็อดแล้วหันกล้องซ้ายขวา (pan) หรือขึ้นลง (tilt) แล้ว คุณยังสามารถเพิ่มความเคลื่อนไหวให้ภาพได้ด้วยการตั้งกล้องบนพาหนะ ซึ่งสามารถแล่นเข้าหา ออกจาก หรือตามติดตัวละครที่กำลังเคลื่อนที่ได้ เราเรียกช็อตดังกล่าวว่า dolly shot บางครั้งคุณอาจติดตั้งรางเลื่อนบนพื้นเพื่อให้กล้องเคลื่อนไหวได้อย่างนุ่มนวล นั่นกลายเป็นที่มาของคำว่า tracking shot ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกัน และถ้าช็อตดังกล่าวกินระยะไกล ทีมงานอาจต้องคอยติดตั้งราง หรือถอดเก็บรางไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนกล้องเข้าหาหรือออกจากตัวละคร ทุกวันนี้ การเคลื่อนกล้องใดๆ บนพาหนะสามารถเรียกว่า dolly shot ได้ทั้งนั้น เช่น กล้องที่ติดตั้งอยู่บนรถ รถไฟ หรือกระทั่งรถจักรยาน อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวขึ้นของกล้องน้ำหนักเบาและสเตดิแคมส่งผลให้นักทำหนังในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมติดตั้งรางดอลลี่สำหรับถ่ายทำอีกต่อไป

Tracking เป็นเทคนิคเปี่ยมประโยชน์ในการสะท้อนมุมมองของตัวละคร แทนสายตาและความรู้สึกของพวกเขาขณะเดินเข้าหรือออกจากฉาก ถ้านักทำหนังต้องการเน้นย้ำ “จุดหมายปลายทาง” ของการเคลื่อนไหว เขามักจะใช้การตัดภาพจากช่วงเริ่มต้นการเคลื่อนไหวไปยังบทสรุปทันที แต่ถ้าประสบการณ์ของการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญ ผู้กำกับจะเลือกใช้ ดอลลี่ ช็อต เช่น หากตัวละครกำลังมองหาสิ่งของสำคัญบางอย่าง ดอลลี่ ช็อต แทนสายตาตัวละครที่กินเวลามากกว่าการตัดภาพตรงๆ จะช่วยเพิ่มอารมณ์ตื่นเต้น ส่วนการถอยกล้องออกมา (dolly out) เป็นเทคนิคที่เหมาะสำหรับการเซอร์ไพรซ์คนดูด้วยการเปิดเผยข้อมูลใหม่ หรือฉากหลังที่กว้างขึ้นและเต็มไปด้วยรายละเอียด เพราะการเคลื่อนกล้องถอยออกไปจะส่งผลให้คนดูได้มองเห็นบางอย่างที่ก่อนหน้านี้อยู่นอกเฟรมภาพ ดังเช่นฉากเปิดเรื่องของ A Clockwork Orange ซึ่งเริ่มต้นช็อตด้วยภาพโคลสอัพใบหน้าตัวละคร ก่อนจะค่อยๆ ถอยออกมาเพื่อสะท้อนให้เห็นฉากหลังในมุมกว้าง


บางครั้ง tracking shot อาจใช้สร้างความขัดแย้งอันน่าขัน ดังเช่นฉากหนึ่งในหนังเรื่อง The Pumpkin Eater เมื่อภรรยา (แอนน์ แบนครอฟท์) หวนกลับมาสร้างสัมพันธ์รักกับอดีตสามีที่บ้าน และขณะทั้งสองกำลังนอนพูดคุยอยู่บนเตียง เธอก็ถามเขาว่าเขาทุกข์ใจกับการหย่าและเคยคิดถึงเธอบ้างไหม เขายืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้คิดมากเกี่ยวกับการหย่า แต่ระหว่างที่บทสนทนายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กล้องกลับค่อยๆ ดอลลี่ผ่านห้องรับแขกของฝ่ายชาย เผยให้เห็นภาพของอดีตภรรยาและบรรดาสิ่งของอันเป็นตัวแทนเธออีกมากมาย ภาพบนจอขัดแย้งกับคำพูดของตัวละครอย่างสิ้นเชิง มันถือเป็นการสื่อสารโดยตรงระหว่างผู้กำกับและคนดูโดยที่ตัวละครไม่รับรู้

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว dolly shot มักใช้เพื่อจุดมุ่งหมายในเชิงจิตวิทยามากกว่า การค่อยๆ เคลื่อนกล้องเข้าหาตัวละครเป็นเหมือนสัญญาณบอกใบ้ให้คนดูทราบว่าพวกเขากำลังจะพบเห็นบางอย่างที่สำคัญ การตัดภาพไปยังช็อตโคลสอัพจะให้ความรู้สึกฉับพลันทันที ส่วนการดอลลี่อย่างเชื่องช้าจะสร้างอารมณ์แบบค่อยเป็นค่อยไปของการค้นพบ

หากคุณต้องการเคลื่อนกล้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเปลี่ยนมุมภาพไปพร้อมๆ กัน อุปกรณ์ที่เรียกว่าเครน (crane) จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ โดยพื้นฐานแล้ว crane shot ก็เป็นเหมือน dolly shot ที่ถ่ายลงมาจากอากาศ เครนสามารถยกตัวกล้องและตากล้องขึ้นหรือลงได้ตามใจปรารถนา มีลักษณะคล้ายๆ กับเครนที่ช่างซ่อมสายโทรศัพท์ใช้นั่นแหละ มันสามารถเคลื่อนไหวไปได้แทบจะทุกทิศทาง ความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหวของเครนส่งผลให้ตากล้องสามารถถ่ายทำช็อตอันซับซ้อนได้อย่างสะดวกสบาย เช่น ฉากคลาสสิกในหนังเรื่อง Notorious ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก ซึ่งกล้องเคลื่อนจากภาพระยะไกลมากในมุมสูงลงมายังงานบอลรูมเบื้องล่างแล้วค่อยๆ โคลสอัพไปยังมือของนางเอก (อินกริด เบิร์กแมน) ที่กำกุญแจไขห้องไวน์เอาไว้

crane shot อันลือลั่นจากหนังเรื่อง Notorious ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก เมื่อกล้องโฉบลงจากภาพมุมสูงระยะไกลมากมาโคลสอัพยังสิ่งของภายในมือของ อินกริด เบิร์กแมน

เช่นเดียวกับเครน เฮลิคอปเตอร์ก็สามารถเคลื่อนไหวไปได้ทุกทิศทาง มีประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีที่เครนไม่สามารถครอบคลุมทัศนียภาพอันกว้างใหญ่ไพศาลได้อย่างทั่วถึง การบินโฉบของ aerial shot จะให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ อลังการ ส่งผลให้บ่อยครั้งมันมักถูกนำมาใช้สะท้อนอิสระและเสรีภาพ ในหนังเรื่อง Jules and Jim ช็อตที่ถ่ายทำจากเฮลิคอปเตอร์ถ่ายทอดความรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ และเต็มตื้นของจิมได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อเขาเดินทางมาเยี่ยมเยียนเพื่อนรัก จูลส์ กับภรรยาของเขาที่เยอรมันหลังจากเหินห่างกันไปนานหลายปี ในทางตรงกันข้าม ผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า เลือกใช้ aerial shot ในหนังสงครามคลาสสิกเรื่อง Apocalypse Now เพื่อสะท้อน “มุมมองดุจพระเจ้า” ขณะเฮลิคอปเตอร์ของอเมริกันทิ้งระเบิดถล่มหมู่บ้านของชาวเวียดนาม ซีเควนซ์ดังกล่าวผสมผสานความรู้สึกตื่นตะลึง งดงาม และชวนสยดสยองได้อย่างกลมกลืน

ในฉากเปิดเรื่องของ The Sound of Music สะท้อนให้เห็นบุคลิกรักอิสระของตัวละครเอก และตอกย้ำความงามแห่งทัศนียภาพของประเทศออสเตรียให้โดดเด่น ในแง่หนึ่งมันยังช่วยสร้างความประหลาดใจแก่คนดูอีกด้วย เนื่องจากหนังเพลงในยุคนั้นส่วนใหญ่มักนิยมถ่ายทำกันในสตูดิโอ

เลนส์ซูมจะช่วยให้คุณสร้างความรู้สึกของการเคลื่อนไหวได้โดยไม่จำเป็นต้องขยับกล้อง zoom shot จะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนถูกโยนเข้าไปในเหตุการณ์ หรือถูกกระชากออกจากฉากอย่างรวดเร็ว ซูมช็อตอาจถูกเลือกใช้แทนการดอลลี่หรือการใช้เครนด้วยเหตุผลหลากหลาย หนึ่ง คือ มันเคลื่อนเข้าหาหรือออกจากฉากได้อย่างรวดเร็วกว่า สอง หากมองในแง่ของงบประมาณ มันถูกกว่าการใช้เครนหรือดอลลี่ เนื่องจากคุณไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมใดๆ และสาม เหมาะสำหรับการถ่ายทำตามสถานที่อันพลุกพล่าน คุณสามารถตั้งกล้องระยะไกลแล้วใช้เลนส์ซูมในการจับภาพโดยไม่เป็นที่สังเกตของผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา

ผู้กำกับระดับตำนาน สแตนลีย์ คูบริค ใช้ประโยชน์จากเลนส์ซูมได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพในฉากหนึ่งของหนังเรื่อง Barry Lyndon เมื่อเขาค่อยๆ พาคนดูออกห่างจากการมีส่วนร่วม “ใน” ขบวนพาเหรดของทหารอังกฤษ แล้วเปลี่ยนมาเป็นมุมมองในระยะไกลของคนที่เฝ้าดูขบวนพาเหรดอยู่ เลนส์ซูมมักได้รับความนิยมอย่างสูงในการถ่ายทำสารคดี เมื่อทีมงานไม่มีเวลา หรือทุนสร้างในการติดตั้งอุปกรณ์อย่างรางดอลลี่ หรือเปลี่ยนเลนส์ เมื่อบุคคลที่พวกเขาเฝ้าติดตามเข้าถึงได้ยาก หรือเมื่อพวกเขาไม่ต้องการให้คนถูกถ่ายรู้ตัว

การใช้เลนส์ซูมและการเคลื่อนกล้องจะให้ผลกระทบที่แตกต่างกันในเชิงจิตวิทยา กล่าวคือ ดอลลี่ ช็อต มีแนวโน้มจะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าหรือออกจากฉาก เฟอร์นิเจอร์และผู้คนค่อยๆ แล่นผ่านไปตามด้านข้างของจอภาพ ขณะกล้องพุ่งตรงไปยังพื้นที่ว่างแบบสามมิติ แต่เลนส์ซูมกลับทำให้ภาพดูแบนและผู้คนดูหดสั้น ฉะนั้น แทนที่จะให้ความรู้สึกเหมือนการเดินเข้าไปในฉาก เรากลับรู้สึกเหมือนบางส่วนของฉากถูกขยายใหญ่ และพุ่งเข้าใส่เรา หากช็อตนั้นๆ กินเวลาเพียงเล็กน้อย ความแตกต่างข้างต้นอาจไม่ปรากฏเด่นชัด แต่ในช็อตที่กินเวลายาวนาน การตัดสินใจเลือกใช้เลนส์ซูมหรือรางดอลลี่จะส่งผลกระทบกับคนดูแตกต่างกันไป

ในหนังเรื่อง Barry Lyndon ผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก ใช้เทคนิคการซูมบ่อยครั้ง (นับรวมแล้วประมาณ 36 ช็อต) ซึ่งส่งผลให้ตัวละครของเขาดูเหมือนถูกขังไว้ภายในเฟรมและช็อตดูแบนราบเหมือนภาพวาด

เทคนิคการซูมและดอลลี่บางครั้งอาจถูกนำมาผสมผสานกันเพื่อสร้างผลกระทบแปลกใหม่ เราเรียกเทคนิคดังกล่าวว่า dolly zoom ซึ่งเริ่มต้นใช้อย่างโดดเด่นเป็นครั้งแรกในหนังเรื่อง Vertigo เพื่อสะท้อนความรู้สึกวิงเวียนหน้ามืดของตัวละครที่เป็นโรคกลัวความสูงขั้นรุนแรง โดยมาก dolly zoom เกิดจากการดอลลี่กล้องเข้าหาตัวละครแล้วซูมเลนส์ออกห่างจากตัวละครพร้อมๆ กัน ฉะนั้น ภาพที่ปรากฏจึงเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวในแบ็คกราวด์ แต่ระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวละครยังคงเท่าเดิม บ่อยครั้งช็อตดังกล่าวเหมาะสำหรับการแสดงให้เห็นอันตรายร้ายแรงที่กำลังคืบคลานเข้ามา หรือการตระหนักถึงภยันตราย หรือเพื่อสร้างความรู้สึกสับสน มึนงงของตัวละคร ในหนังเรื่อง Jaws ผู้กำกับ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ใช้เทคนิคดังกล่าวกับฉากที่นายอำเภอนั่งอยู่บนชายหาด แล้วมองเห็นคีบของปลาฉลามกำลังพุ่งเข้าหาเด็กๆ ที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเล อีกหนึ่งตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ dolly zoom คือ ฉากไคล์แม็กซ์ในหนังเรื่อง Goodfellas เมื่อ เฮนรี่ ฮิล (เรย์ ลิอ็อตต้า) กำลังนั่งพูดคุยกับ จิมมี่ คอนเวย์ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ในร้านอาหาร ก่อนฝ่ายแรกจะเริ่มตระหนักว่าฝ่ายหลังกำลังวางกับดักเขาและทรยศต่อมิตรภาพอันยาวนาน

เทคนิค dolly zoom ถูกนำมาใช้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพในตอนที่ ซินเธีย (ลอรา แซน จิอาโคโม) ถึงจุดสุดยอดในหนังเรื่อง Sex, Lies and Videotape

วันอังคาร, ธันวาคม 11, 2550

Oscar 2008: สงคราม ความรัก และฆาตกรโรคจิต


เมื่อเทศกาลหนัง “คุณภาพ” เริ่มโหมโรงขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หลายคนคาดการณ์ว่า “อีรัก” จะกลายเป็นธีมยอดฮิตบนเวทีออสการ์ช่วงต้นปีหน้า แต่แล้วจู่ๆ หนังเหล่านั้นกลับถูกนักวิจารณ์สอยร่วงไปทีละเรื่อง เริ่มจากขาใหญ่อย่าง In the Valley of Elah ของ พอล แฮ็กกิส (Crash) ซึ่งแม้จะไม่ถึงกับแหลกละเอียดคาคีย์บอร์ดของเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลายเหมือน Elizabeth: The Golden Age แต่มันก็ได้เสียงตอบรับค่อนข้างเย็นชาจากสื่อใหญ่ๆ หลายแห่ง จนส่งผลให้โอกาสเด่นชัดเพียงหนึ่งเดียวของหนังอยู่ตรงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เพราะกระทั่งบุคคลที่ชิงชังสไตล์การทำหนังแบบโฉ่งฉ่างของแฮ็กกิสก็ยังอดไม่ได้ที่จะชื่นชมทักษะอันเป็นเลิศของ ทอมมี่ ลี โจนส์ ในบทพ่อที่พยายามสืบหาความจริงเบื้องหลังการหายตัวไปของลูกชายหลังกลับจากอีรัก

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า Crash เคยได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างก้ำกึ่งเช่นกัน ประเภทชอบก็ชอบ เกลียดก็เกลียด แต่สุดท้ายแล้ว มันกลับคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์มาครอง ถือเป็นการตบหน้าเหล่านักวิจารณ์ฉาดใหญ่ที่พากันสรรเสริญ Brokeback Mountain อย่างเป็นเอกฉันท์ บทเรียนครั้งนั้นสอนให้พวกเรารู้ว่า กรรมการออสการ์เลือกโหวตตามใจฉันโดยไม่สนใจเสียงรอบข้าง และอย่าประมาทพลังดึงดูดของ พอล แฮ็กกิส ซึ่งกำลังอยู่ในสถานะ “ลูกรัก” บนเวทีออสการ์อย่างเด็ดขาด

Rendition ของผู้กำกับ เกวิน ฮูด (Tsotsi) มีพล็อตใกล้เคียงกับ In the Valley of Elah แต่ดูจะประสบชะตากรรมที่เลวร้ายกว่า แม้ว่ามันจะอัดแน่นไปด้วยพลังดาราของ รีส วิทเธอร์สพูน, เจค จิลเลนฮาล และ เมอรีล สตรีพ ก็ตาม หนังเล่าถึงการ “หายตัว” อย่างปริศนาของวิศวกรเคมีชาวอียิปต์ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาก่อการร้าย ส่งผลให้ภรรยาชาวอเมริกันของเขาต้องออกสืบหาความจริง นักวิจารณ์หลายคนโจมตีหนังว่าน่าเบื่อ ไร้ชีวิตชีวา นอกจากนี้ วิทเธอร์สพูนยังโดนศอกกลับไปเต็มๆ เนื่องจากเธอรับบทคล้ายคลึงกับ แองเจลินา โจลี ใน A Mighty Heart แต่กลับดูไม่น่าเชื่อถือหรือทรงพลังเท่า ทั้งที่พวกเธอต่างมีเครดิตเคยได้รางวัลออสการ์มาแล้วทั้งคู่

อีกเรื่องยังไม่เปิดฉายวงกว้าง แต่คำวิจารณ์ที่หลุดออกมาจากเทศกาลหนังต่างๆ ดูไม่ค่อยเลิศหรูเท่าไหร่ นั่นคือ Redacted ของ ไบรอัน เดอ พัลมา ซึ่งเล่าถึงการข่มขืนและสังหารเด็กหญิงชาวอีรักวัย 15 ปีของทหารอเมริกันกลุ่มหนึ่ง (ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 2006) หรือพูดอีกอย่าง มันคือ Casualties of War ภาคสงครามอีรักและถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล

บางที Lion for Lambs ของ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด อาจสามารถจัดให้เข้ากลุ่มเดียวกันได้ โดยเปลี่ยนฉากหลังจากอีรักเป็นอัฟกานิสถาน และถึงแม้ว่ามันจะเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกในรอบ 7 ปีของเรดฟอร์ด แต่เหล่านักวิจารณ์กลับไม่คิดเกรงใจเขาเท่าไหร่ (บางทีพวกเขาอาจยังเจ็บแค้นไม่หายกับผลงานเรื่องก่อนหน้าของเรดฟอร์ดอย่าง The Legend of Bagger Vance) เช่นเดียวกับคนดู ซึ่งพากันวิ่งหนีไปดูหนังเรื่องอื่นกันหมด ส่งผลให้รายได้ของหนังในช่วงสัปดาห์แรกจิ๊บจ้อยจนน่าตกใจ ดูเหมือนในช่วงสองสามปีหลัง ชื่อของ ทอม ครูซ จะไม่ขลังเหมือนก่อน คิดแล้วก็ชักน่าเป็นห่วงหนังฟอร์มยักษ์ปีหน้าของ ไบรอัน ซิงเกอร์ อย่าง Valkylie

ทันใดนั้น ภายในเวลาเพียงแค่สองเดือน แนวโน้มว่าออสการ์ 2008 จะถูกครอบครองโดยหนังการเมืองกลับกลายเป็นความเพ้อพก กระนั้นอย่าลืมว่าเรายังอยู่ในเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น ทุกอย่างมีสิทธิ์จะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ลูกแก้วทำนายจะเริ่มบอกใบ้อนาคตได้ชัดเจนขึ้น เมื่อนักวิจารณ์ คณะกรรมการลูกโลกทองคำ และสมาชิกสมาพันธ์ต่างๆ ทยอยกันประกาศความชอบของตน

ใครวิ่งนำในช่วงโค้งแรก


ทันทีที่เทศกาลภาพยนตร์โตรอนโตจบลง มือวางอันดับหนึ่งบนเวทีออสการ์ก็ปรากฏตัวขึ้น Atonement เป็นผลงานชิ้นล่าสุดของผู้กำกับหนุ่มวัย 35 ปี โจ โรท์ (Pride & Prejudice) ดัดแปลงเรื่องราวจากนิยายดังของนักเขียนมือรางวัล เอียน แม็คอีวาน โดยนักเขียนบทเจ้าของรางวัลออสการ์ คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน (Dangerous Liaisons) เล่าถึงคำโกหกของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ทำลายชีวิตของหลายคน เมื่อเธอกล่าวหาคนรักของพี่สาวว่าประกอบอาชญากรรมที่เขาไม่ได้ก่อ หนังมีรูปแบบของมหากาพย์รักโรแมนติก ซึ่ง “เข้าทาง” ออสการ์อย่างแรงในสไตล์เดียวกับ The English Patient และกวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ทั่วทุกแห่งหน จนบรรดาเซียนออสการ์ทั้งหลายคาดเดาว่ามันควรจะได้เข้าชิงออสการ์อย่างน้อย 9-10 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ ผู้กำกับ บทดัดแปลง ดนตรีประกอบ นักแสดงนำชาย นักแสดงนำหญิง นักแสดงสมทบหญิง กำกับภาพ กำกับศิลป์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย และลำดับภาพ

แต่ในกระจุกนี้ สาขาที่เปราะบางสุดเห็นจะเป็นสาขานักแสดงนำหญิงของ คีรา ไนท์ลีย์ ไม่ใช่เพราะเธอเล่นไม่ดี (อันที่จริงหลายคนชมว่าเธอเล่นดีกว่าตอนเข้าชิงจาก Pride & Prejudice เสียอีก) แต่เพราะบทเธอค่อนข้างน้อย และไม่โดดเด่น ซับซ้อน มากเท่ากับ เจมส์ แม็คเอวอย ซึ่งเป็นตัวเก็งในสาขาดารานำชาย หรือกระทั่งดาวรุ่งวัยทีนอย่าง ซาเรส โรแนน (ล่าสุดกำลังร่วมงานกับ ปีเตอร์ แจ็คสัน ในหนังเรื่อง The Lovely Bones) ซึ่งเป็นตัวเก็งในสาขาดาราสมทบหญิง นอกจากนี้ บทน้องสาวจากนรกของโรแนนยังสืบทอดต่อไปยังนักแสดงรุ่นพี่ (ราโมนา กาไร) และรุ่นป้า (วาเนสซ่า เรดเกรฟ) ได้อย่างนุ่มนวล (เสียงร่ำลือแว่วมาว่า ถึงแม้จะปรากฏตัวบนจอเพียงไม่กี่นาที แต่นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Julia เมื่อเกือบสามสิบปีก่อนก็ขโมยซีนไปครองชนิดคนดูต้องลืมไม่ลง)

เนื่องจากการแข่งขันที่ไม่ค่อยดุเดือดในสาขานักแสดงนำหญิง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสาขานำชาย) คีรา ไนท์ลีย์ จึงยังมีโอกาสหลุดเข้าชิงค่อนข้างสูง หากกรรมการชื่นชอบ Atonement อย่างรุนแรงจนเธอสามารถโหนกระแสเข้าชิงได้ การมีส่วนร่วมในผลงานที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมย่อมช่วยให้เธอมีภาษีเหนือ เคท บลันเช็ตต์ ซึ่งรับบทซ้ำเดิมในหนังที่โดนนักวิจารณ์สับเละเป็นหมูบะช่อ และ แองเจลินา โจลี ซึ่งกวาดคำชมจากหนังที่ล้มเหลวทางการตลาดอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าบทของเธอจะไม่โดดเด่นมากเท่าสองคนหลัง ที่อุ้มหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่า ก็ตาม

ถ้า Atonement เป็นตัวแทนของหนังเข้าทางออสการ์ No Country for Old Men ก็น่าจะเป็นตัวแทนของหนังขวัญใจนักวิจารณ์ แต่สุดท้ายมันจะลงเอยแบบ Brokeback Mountain หรือ United 93 คงต้องจับตาดูกันต่อไป ถ้าหนังกวาดรางวัลนักวิจารณ์ใหญ่ๆ มาครอง (NY, LA หรือ National Society of Film Critics) โอกาสของมันก็จะเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญ โจเอล และ อีธาน โคน ไม่ใช่ พอล กรีนกราส พวกเขาเป็นนักทำหนังอเมริกันที่อยู่ในวงการมายาวนาน ได้รับการเคารพยกย่อง แม้หนังของพวกเขามักไม่ค่อยตรงกับรสนิยมของคณะกรรมการออสการ์ แต่ Fargo ก็เคยเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้ว

No Country for Old Men เล่าถึงเรื่องราวของชายสามคน คนหนึ่งเป็นชนชั้นล่าง ฐานะยากจน ที่ไปพบเจอกระเป๋าใส่เงิน (จากการค้ายาเสพติด) จำนวนสองล้านดอลลาร์กลางทะเลทรายระหว่างการล่าสัตว์ แล้วพยายามจะยึดครองเงินนั้น คนหนึ่งเป็นฆาตกรใจเหี้ยมที่กำลังตามหากระเป๋าใบดังกล่าว ส่วนอีกคนเป็นนายอำเภอที่พยายามตามจับชายคนที่สองเพื่อหยุดยั้งการฆ่าอันไม่สิ้นสุด ปัญหาของหนัง (มองในเชิงโอกาสบนเวทีออสการ์) อยู่ตรงโทนอารมณ์โดยรวมที่ค่อนข้างเลือดเย็น รุนแรง และไม่เจืออารมณ์ขัน (ร้ายๆ) ไว้มากเท่ากับ Fargo โดย เจฟฟรีย์ เวลส์ แห่งเว็บ Hollywood Elsewhere ได้สรุปเนื้อหามืดหม่นของหนัง (ซึ่งมีฉากหลังเป็นยุค 1980 แต่กลับสะท้อนให้เห็นภาวะแห่งโลกปัจจุบันได้อย่างยอดเยี่ยม) ไว้สี่ข้อ คือ 1) คุณไม่มีทางมองเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น 2) คุณไม่สามารถหยุดยั้งสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ 3) คนดีกำลังร่อยหรอ ส่วนคนเลวกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น และ 4) วันพิพากษาทางจิตวิญญาณกำลังรอคอยเราอยู่เบื้องหน้าดุจเมฆดำทะมึน

ไม่ต้องสงสัยว่ากรรมการออสการ์ย่อมรู้สึก “อึดอัด” กับสิ่งที่หนังนำเสนอ แม้พวกเขาจะยกย่องและเคารพทักษะภาพยนตร์อันเป็นเลิศของสองพี่น้องโคน (อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วกรรมการมักจะโหวตเลือกหนังที่พวกเขา “รัก” มากกว่าหนังที่พวกเขา “ชื่นชม” กรณีตัวอย่าง คือ Brokeback Mountain vs. Crash) ที่สำคัญ บางคนเริ่มจี้จุดอ่อนไปยังตอนจบอันคลุมเครือของหนัง ซึ่งอาจสร้างความรู้สึกทะแม่งๆ สับสน และงุนงงให้กรรมการออสการ์หลายคน อย่างไรก็ตาม สาขาที่หลายคนเห็นตรงกันว่าต้องได้เข้าชิงแน่ และดีไม่ดีอาจคว้าชัยมาครองเลยด้วยซ้ำ คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เพราะ ฮาเวียร์ บาเด็ม ในบทฆาตกรโรคจิต ซึ่งมีวิธีฆ่าสุดพิสดารและโหดเหี้ยมเกินบรรยาย สามารถทำให้คนดูกลับไปนอนฝันร้ายได้แบบเดียวกับ แอนโทนีย์ ฮ็อปกิ้นส์ ใน The Silence of the Lambs นั่นเลย

หนังสองเรื่องที่ยังไม่มีใครได้ดู


ในช่วงโค้งแรก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ดูจะให้คะแนน Charlie Wilson’s War ของ ไมค์ นิโคลส์ เหนือกว่า Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street ของ ทิม เบอร์ตัน เนื่องจาก 1) มันเต็มไปด้วยพลังดารา ทั้ง ทอม แฮงค์, จูเลีย โรเบิร์ตส์ และ ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน ซึ่งต่างก็เคยชนะรางวัลออสการ์มาแล้วทั้งนั้น แต่จากข่าวลือที่หลุดรอดมา ดูเหมือนคนหลังสุดจะมีโอกาสเข้าชิงค่อนข้างแน่ในสาขานักแสดงสมทบ 2) สถิติที่ผ่านมาของนิโคลส์ ซึ่งเคยชิงออสการ์สาขาผู้กำกับ 4 ครั้ง ชนะ 1 ครั้งจาก The Graduate และพาหนังเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสามครั้งจาก Who’s Afraid of Virginia Woolf?, The Graduate และ Working Girl ส่วน ทิม เบอร์ตัน นั้นไม่เคยเข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับ และหนังของเขาก็ไม่เคยเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 3) แนวทางของหนังซึ่งน่าจะถูกโฉลกกับออสการ์มากกว่า

หลังจากบรรดาหนังการเมืองเกี่ยวกับอีรักและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายถูกนักวิจารณ์ (รวมถึงคนดู) ปัดทิ้งอย่างไม่ใยดีเหมือนใบไม้ร่วง Charlie Wilson’s War กลับกลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายสำหรับคณะกรรมการออสการ์ โดยความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ผู้กำกับ ไมค์ นิโคลส์ และคนเขียนบท แอรอน ซอร์กิน แห่ง The West Wing พยายามสอดแทรกอารมณ์ขันล้อเลียนเอาไว้ในแทบทุกจังหวะ (สังเกตจากโทนอารมณ์ในหนังตัวอย่าง) ส่งผลให้มันก้าวเข้าใกล้ Wag the Dog มากกว่า Syriana หนังดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของ ชาร์ลี วิลสัน อดีตสมาชิกรัฐสภาจากเท็กซัส ที่เคยใช้อำนาจเพื่อหาเงินและติดอาวุธให้กับกลุ่มกองโจรมูจาฮิดีนในอัฟกานิสถานเพื่อต่อสู้กับการรุกรานของกองทัพรัสเซียเมื่อปี 1979 โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ซีไอเอและสาวไฮโซจากฮุสตัน แต่เขาหารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบอันคาดไม่ถึงต่ออนาคตและอเมริกาในปัจจุบัน

การที่หนังยังปิดตัวเงียบ ไม่มีรอบพิเศษใดๆ เปิดฉายสำหรับนักวิจารณ์ส่งผลให้เซียนออสการ์ทั้งหลายยังคงสงวนท่าทีเกี่ยวกับโอกาสของหนังบนเวทีออสการ์ เพราะสุดท้ายแล้ว สถานะตัวเต็งอาจพังทลายลงอย่างรวดเร็วทันทีที่มีคนได้ดูตัวหนังแบบเดียวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Flags of Our Father เมื่อปีก่อน

หลังจาก Moulin Rouge! และ Chicago เมื่อหลายปีก่อน หนังเพลงดูเหมือนจะเริ่มถดถอยเข้าคลองตามเดิม ทั้งในแง่คุณภาพและความสำเร็จบนเวทีออสการ์ (The Phantom of the Opera, The Producer, Rent) ชะตากรรมล่าสุดที่เกิดกับ Dreamgirls เมื่อต้นปี ทำให้หลายคนเริ่มคิดทบทวนก่อนจะประกาศให้ Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street เป็นหนึ่งในตัวเก็งรางวัลออสการ์ ถึงแม้ว่ามันจะดัดแปลงมาจากละครบรอดเวย์ยอดฮิต ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของนักแต่งเพลงระดับตำนานอย่าง สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ ก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากอารมณ์ขันและสไตล์การทำหนังของ ทิม เบอร์ตัน ดูเหมือนจะไม่ค่อยสอดคล้องกับรสนิยมของคณะกรรมการออสการ์สักเท่าไหร่

แล้วไหนจะบรรดาเลือดและความรุนแรงแบบไม่ยั้งอีกล่ะ

Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street เล่าถึงเรื่องราวของ เบนจามิน บาร์เกอร์ ช่างตัดผมที่ถูกลงโทษให้ติดคุกเป็นเวลาสิบห้าปีจากอาชญากรรมที่เขาไม่ได้ก่อ เขาหลบหนีออกจากคุกกลับมายังลอนดอน ก่อนจะค้นพบว่าภรรยาและลูกสาวต้องทนทุกข์ทรมานจากน้ำมือของคนที่ส่งเขาไปเข้าคุก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงวางแผนแก้แค้น โดยได้รับความช่วยเหลือจาก คุณนาย เนลลี่ เลิฟเว็ทท์ อาวุธหลักที่เขาเลือกใช้ คือ ใบมีดโกน (สำหรับปาดคอเหยื่อ) จากนั้นคุณนายเลิฟเว็ทท์ก็จะนำซากศพไปทำเป็นพายเนื้อ!?!

ถึงแม้ตัวหนังและผู้กำกับจะยังดูน่ากังขา แต่หลายคนเริ่มทำนายโอกาสที่ค่อนข้างสูงของ จอห์นนี่ เด็บบ์ ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ข่าวกระซิบจากผู้ที่ได้ชมเวอร์ชั่นแรกของหนังบอกว่ามันเป็นการแสดงที่ห้ามพลาดประจำปี) เนื่องจากบทอันโดดเด่นและความ “เป็นที่รัก” ของเด็บบ์ในหมู่เพื่อนๆ นักแสดง และหากหนังได้รับเสียงชื่นชมอย่างอบอุ่นจากนักวิจารณ์ บางที เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ก็อาจได้อานิสงส์ เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงกับเขาด้วย เมื่อพิจารณาว่าสาขาดังกล่าวค่อนข้างขาดแคลนการแข่งขันมากแค่ไหน

เกร็ดเก็บตก

(1) เส้นทางสู่ออสการ์ของหนังทำแท้งจากโรมาเนียเจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมืองคานส์เรื่อง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days ดูท่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อคู่แข่งเขี้ยวลากดินอย่าง Lust, Caution เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมืองเวนิซ ถูกตัดสิทธิ์จากกรรมการออสการ์ด้วยเหตุผลว่ามัน “ไต้หวัน” ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ประเทศต้นสังกัดต้องรีบเปลี่ยนไปเสนอเรื่อง Island Etude เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมแทน คำตัดสินดังกล่าวสร้างความฉงน (ปนเคียดแค้นเล็กๆ) ให้กับ เจมส์ ชามุส โปรดิวเซอร์คู่ใจของ อั้งลี่ โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับ ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์ ว่า “ช่วยอธิบายหน่อยว่า Lust, Caution ถูกตัดสิทธิ์ได้อย่างไร ขณะที่ Crouching Tiger, Hidden Dragon ไม่เพียงถูกเลือกให้เข้าชิงเท่านั้น แต่ยังชนะรางวัลในสาขานี้ด้วย เราถ่ายทำหนังทั้งสองเรื่องในประเทศจีนด้วยทีมงานเกือบจะทีมเดียวกัน มันเป็นคำตัดสินที่ไร้สาระสิ้นดี”

(2) ตรงกันข้าม ภาพยนตร์ motion capture (หรือเทคนิคที่หลายคนรู้จักกันในนาม “เดอะ กอลลัม เอฟเฟ็กต์”) อย่าง Beowulf ของ โรเบิร์ต เซเมคิส กลับถูกพิจารณาจากคณะกรรมการออสการ์ให้เป็นหนึ่งใน 12 หนัง “การ์ตูน” ที่มีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยม คำตัดสินดังกล่าวดูเหมือนจะเรียกเสียงตอบรับที่ไม่ค่อยเป็นมิตรจาก จอห์น ลาสเซเตอร์ หัวแรงหลักของพิกซาร์และโปรดิวเซอร์ Ratatouille ซึ่งเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งในสาขานี้ อย่างไรก็ตาม คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้การแข่งขันเริ่มดุเดือดเลือดพล่านขึ้น เนื่องจาก Beowulf, The Simpsons Movie และ Persepolis จะต้องหันมาแย่งชิงเก้าอี้ว่างที่เหลืออยู่อีกแค่สองตัวเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า Beowulf จะประสบความสำเร็จทางรายได้และคำวิจารณ์แบบท่วมท้นเมื่อเปิดฉายวงกว้าง แต่หนังทำนองเดียวกันอย่าง The Polar Express ของเซเมคิสก็เคยถูกออสการ์เชิดใส่มาแล้ว ส่วน Persepolis ซึ่งเป็นตัวแทนขวัญใจนักวิจารณ์แบบเดียวกับ Spirited Away และ The Triplets of Belleville ก็อาจถูกลืมเหมือน Waking Life ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ขณะเดียวกัน กรรมการหลายคนก็อาจเลือก The Simpsons Movie ให้เข้าชิงไม่ใช่เพราะคุณภาพในระดับ “เกือบดี” ของมัน แต่เพราะพวกเขาชื่นชอบและชื่นชมซีรีย์แห่งประวัติศาสตร์ชุดนี้มาช้านานแล้ว... ดูเหมือนความเป็นไปได้สูงสุดในตอนนี้ คือ หนังหัวก้าวหน้าของ โรเบิร์ต เซเมคิส ซึ่งเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ยืนกรานชัดเจนว่าไม่ใช่หนัง “การ์ตูน” อาจโดนเขี่ยทิ้งไปแบบฉิวเฉียด

(3) ถึงแม้เรตติ้งจะตกต่ำ ถึงแม้เสียงตอบรับจะค่อนข้างก้ำกึ่ง (เอนเอียงไปในทางลบด้วยซ้ำ) แต่ทีมงานเบื้องหลังพิธีแจกรางวัลออสการ์ก็ยังไม่เข็ดกับ จอน สจ๊วต พิธีกรรายการ The Daily Show และได้เชิญเขาให้มาแก้ตัวใหม่อีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2008 หลังจากเขาเคยดำเนินงานออสการ์มาแล้วในปี 2006 ซึ่งแก๊กเด็ดสุดคงหนีไม่พ้นการตัดภาพล้อเลียนหนังเกย์คาวบอยอย่าง Brokeback Mountain หนึ่งในผู้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากผลการสำรวจในอเมริกาปรากฏว่าสจ๊วตสามารถดึงดูดคนดูให้เปิดชมรายการได้เพียง 38.9 ล้านคนเท่านั้น น้อยกว่างานครั้งที่ผ่านมา ซึ่ง เอลเลน ดีเจเนอเรส เป็นพิธีกร (เรตติ้ง 39.9) และงานในปี 2005 ซึ่งมี คริส ร็อค เป็นพิธีกร (42.1) ส่วนพิธีกรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของงานออสการ์อย่าง บิลลี่ คริสตัล (รับหน้าที่มาแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง) เคยดึงดูดผู้ชมได้มากถึง 55 ล้านคน เมื่อเขาเป็นจัดงานในปี 1998 ปีที่หนังมหาฮิตอย่าง Titanic คว้ารางวัลใหญ่ไปครอง

Short Replay: Primary Colors


แจ๊ค สแตนตัน (จอห์น ทราโวลต้า) เป็นนักการเมืองเลือดใหม่ไฟแรงที่ดูจริงใจและใส่ใจกับทุกปัญหาของประชาชนจนทำให้เขาพุ่งนำในฐานะตัวเลือกสุดฮ็อตสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ แต่เช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป แจ๊ค สแตนตัน ไม่เพอร์เฟ็กต์ เขามีนิสัยเจ้าชู้หูดำในระดับเวิลด์คลาส และอาหารจานโปรดของเขา คือ หญิงสาว ซึ่งบางครั้งอาจยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำ ซูซาน (เอ็มม่า ทอมป์สัน) สนับสนุนสามีอย่างเต็มที่ในระหว่างช่วงหาเสียง เธอดูเชื่อมั่นและอุทิศตนให้กับสามีเวลาอยู่ต่อหน้ากล้อง แต่กลับรีบสลัดมือเขาทิ้งทันทีที่ได้ยินเสียงคัท คนดูจะได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดผ่านสายตาของ เฮนรี่ เบอร์ตัน (เอเดรี่ยน เลสเตอร์) นักข่าวการเมืองที่โดนดูดเข้าร่วมกลุ่มแคมเปญแบบตกกระไดพลอยโจร แรกๆ เขาอดไม่ได้ที่จะชื่นชมแจ๊คในแง่วิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศ และบุคลิกผู้นำที่กระฉับกระเฉง แต่แล้วไม่นานเขาก็เริ่มพบว่าเส้นทางการเมืองนั้นบางครั้งอาจโหดร้ายเกินกว่าที่คุณจะสามารถรักษาความบริสุทธิ์เอาไว้ให้ตลอดรอดฝั่ง

หนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่อง คือ ลิบบี้ โฮลเด้น (เคธี่ เบทส์) ซึ่งทำงานให้กับแจ๊คมานานนับแต่เขาเพิ่งเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมือง เธอคือตัวแทนแห่งอุดมการณ์ และมีจุดยืนชัดเจนว่าแคมเปญหาเสียงที่ดีควรเน้นการตั้งรับ หรือแก้ไขวิกฤติจากการโจมตีรอบด้าน หาใช่การค้นหาโคลนสกปรกมาสาดใส่คู่ต่อสู้ให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจ “เก็บอุดมการณ์เข้าลิ้นชัก” ของแจ๊คจึงสร้างความผิดหวังใหญ่หลวงให้แก่ลิบบี้และนำไปสู่โศกนาฏกรรมอันคาดไม่ถึง หนังการเมืองที่เฉียบคมของ ไมค์ นิโคลส์ (Charlie Wilson’s War) เรื่องนี้เหมาะอย่างยิ่งกับบรรยากาศหาเสียง เพราะมันช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าชัยชนะบนกองซากศพของอุดมการณ์ หลักการ ศีลธรรม ความถูกต้อง และกระทั่งสามัญสำนึกนั้นถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างไม่ต้องสงสัย

Short Replay: Grave of the Fireflies


ถ้าวันไหนคุณรู้สึกว่าโลกช่างสดใส สีชมพู รอบข้างโอบล้อมด้วยน้ำใจไมตรี รอยยิ้ม และความงดงาม ผมอยากแนะนำให้คุณหาหนังการ์ตูนสุดคลาสสิกเรื่อง Grave of the Fireflies หรือ สุสานหิงห้อย มาดู เพื่อคุณจะได้เท่าทันชีวิตและตระหนักว่าโลกของเรานั้นยังมีอีกด้านหนึ่งที่โหดร้ายและอัปลักษณ์ อันที่จริง ถ้าคุณกำลังรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง การดูหนังเรื่องนี้จะช่วยให้คุณฮึดสู้ชีวิตต่อ พร้อมทั้งเห็นปัญหาเบื้องหน้าว่ามันช่างหยุมหยิมเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับวิบากกรรมของสองตัวเอกในเรื่อง ซึ่งสูญเสียแม่ไปเพราะระเบิดนาปาล์มระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้ทั้งคู่ต้องย้ายไปอยู่กับคุณป้าใจร้าย ที่เห็นพวกเขาเป็นเหมือนหมัดไร แต่ก็ไม่ลังเลที่จะขายชุดกิโมโนของแม่พวกเขาเพื่อนำเงินไปซื้อข้าว แล้วเก็บข้าวส่วนใหญ่ไว้กับตัวเอง ไม่นานเด็กชายจึงตัดสินใจพาน้องสาวหลบไปอยู่ถ้ำแห่งหนึ่งในชนบทของเมืองโกเบ แล้วพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหาอาหารมาเลี้ยงปากท้อง

หนังดัดแปลงจากหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติของ โนซากะ อากิยูกิ ซึ่งสูญเสียน้องสาวไประหว่างช่วงสงครามเนื่องจากขาดอาหาร หลังจากนั้นชีวิตเขาก็ถูกครอบงำด้วยความรู้สึกผิดมาโดยตลอด ถึงแม้จะเป็นการ์ตูน แต่อย่าคิดเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับผลงานของดิสนีย์ หรือพิกซาร์อย่างเด็ดขาด ตรงกันข้าม อารมณ์โดยรวมของมันใกล้เคียงกับหนังต่อต้านสงครามชั้นยอดอีกเรื่องซึ่งมีเด็กเป็นตัวเอกเช่นกันอย่าง Forbidden Games (1952) มากกว่า ความน่าทึ่งอยู่ตรงที่พลังส่วนใหญ่ของ Grave of Fireflies ไม่ได้เกิดจากการเร้าอารมณ์แบบเมโลดราม่า แต่เป็นการนำเสนอทุกเหตุการณ์อย่างสมจริง ตรงไปตรงมา จนคนดูรู้สึกเหมือนเด็กทั้งสองมีเลือดเนื้อและตัวตน แม้โทนอารมณ์ของหนังจะค่อนข้างหม่นเศร้า โดยเฉพาะฉากจบที่อาจทำให้คุณหัวใจสลาย หรือร้องไห้เป็นเผาเต่าได้ง่ายๆ แต่บางฉากก็อบอวลไปด้วยอารมณ์นุ่มนวล เช่น ตอนที่เด็กทั้งสองช่วยกันจับหิงห้อยมาใส่ขวดโหล แล้วใช้มันแทนหลอดไฟในถ้ำ… นี่เป็นหนังที่ควรถูกนำไปฉายในทำเนียบขาวอย่างที่สุด

วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 06, 2550

รักแห่งสยาม: ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นกะเทย


เมื่อวันก่อน เพื่อนผมโทรศัพท์มารายงานว่าเธอได้ไปดู รักแห่งสยาม ตามคำแนะนำ (แกมบังคับ) ของผมแล้ว เธอบอกว่าเธอชอบหนัง และเห็นว่ามันเป็นหนังที่ดีมากเรื่องหนึ่ง จากนั้นเราก็คุยกันถึงความชอบส่วนตัวโดยทั่วไปอยู่พักหนึ่ง (น้องโอ้หล่อทุกช็อตเลยเนอะ สินจัยแม่งเล่นโคตรดีเลย ฯลฯ) ก่อนเธอจะเริ่มชื่นชมตัวละครอย่างสุนีย์จนออกนอกหน้า โดยเฉพาะในฐานะแม่ ซึ่งต้องแบกรับภาระทุกอย่างไว้บนบ่า ผมไม่แปลกใจหรอกที่พบว่าเธอ “อิน” กับตัวละครตัวนี้เป็นพิเศษ (เพราะประเด็นโรแมนติกของหนังมันเกิดขึ้นระหว่างชายกับชาย) และเห็นด้วยกับเธอในหลายๆ ประเด็น แต่ขณะเดียวกันก็แย้งขึ้นว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าตัวละครตัวนี้หาได้สมบูรณ์แบบแต่อย่างใด เธอกระทำผิดพลาดในบางช่วงตอนเช่นกัน และก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น

ผมหมายถึงปฏิกิริยาแรกของเธอเมื่อตระหนักว่าลูกชายของเธอ “กุ๊กกิ๊ก” กับผู้ชายอีกคน

แต่เพื่อนผมกลับเห็นว่าปฏิกิริยาดังกล่าวถือเป็นเรื่องชอบธรรมและ “ถูกต้อง” แล้ว เหตุผลของเธอก็ประมาณว่า “ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นกะเทยหรอก” ฉะนั้น เธอจึงต้องพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะดึงลูกชายให้กลับมายังเส้นทางที่ถูกต้องและ “ปกติ” ก่อน แต่สุดท้าย เมื่อเห็นว่าไม่สำเร็จ เธอก็ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น... เห็นไหมว่าเธอประเสริฐขนาดไหน? แต่ผมแย้งไปว่า ความรักของสุนีย์มันออกจะมากเกินไป แล้วคาบเกี่ยวกับการครอบงำ ผมไม่แปลกใจที่ตัวละครกระทำอย่างที่เห็นในหนัง เพราะบทได้ปูพื้นให้เราเชื่อว่าตัวละครจะปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อพิจารณาว่าหล่อนและครอบครัวหล่อนต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะถูกต้อง หรือชอบธรรม เพราะอย่างน้อยความพยายามจะ “ปกป้อง” ลูกของสุนีย์ก็ทำให้คนสองคนต้องเจ็บปวด นั่นคือ มิว และ โต้ง เธอทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำเป็นสิ่ง “ผิด”

ผมมีความเชื่อว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ควรปล่อยให้ลูกได้มีอิสระที่จะคิดเอง ตัดสินใจเอง เลือกทางเดินชีวิตของตัวเองเมื่อเขาโตพอจะตัดสินใจได้แล้ว เพราะสุดท้าย มันก็เป็นชีวิตของเขา แต่เพื่อนผมกลับแย้งประมาณว่า แต่เราต้องปกป้องลูกของเรา เหมือนเวลาแกเห็นลูกไปวิ่งเล่นแถวแม่น้ำ แกก็ต้องเข้าไปห้ามใช่ไหม

อุปมาของเธอทำเอาผมสะอึก... นี่เธอกำลังเปรียบเทียบการเป็นรักร่วมเพศกับความตายจริงๆ หรือ?

ไปๆ มาๆ ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าบทสนทนาครั้งนี้แทนที่จะสะท้อนบางอย่างเกี่ยวกับตัวหนัง มันกลับสะท้อนทัศนคติบางอย่างของเพื่อนผมเสียมากกว่า ผมเริ่มคิดถึงคำพูดก่อนหน้าของเธอ ที่ผมทำเป็นแกล้งขำ แล้วปล่อยผ่านไป เช่น เธอบอกว่านังมิวเนี่ย ถ้าแสดงมากกว่านี้อีกหน่อยก็เป็นกะเทยเดินบิดตูดแล้ว หรือถ้ามันออกอาการมากกว่านี้ กูคงอ้วกตอนมันจูบกัน พอผมพยายามสื่อนัยยะว่าสิ่งที่เธอพูดนั้นเริ่มจะคาบเกี่ยวอาการของ homophobia แล้วนะ เธอกลับตอบประมาณว่า “ฉันน่ะรับได้กับเรื่องพวกนี้ที่สุดแล้ว”

ผมพิจารณาคำพูดของเธอ และก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง เธอรับได้กับเรื่องพวกนี้มากกว่าคนอีกหลายร้อยคนในเว็บบอร์ดพันทิป เธอยินดีไปดู รักแห่งสยาม ด้วยความเต็มใจ แม้จะรู้ว่ามันมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของเกย์รวมอยู่ (แน่นอน น้องมาริโอ้ก็เป็นจุดดึงดูดอย่างหนึ่ง) เธอสามารถพูดคุยเรื่องผู้ชายกับผมได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง แม้กระทั่งยามต้องลงรายละเอียดแบบเจาะลึก... แต่นั่นเพราะผมเป็น “เพื่อน” เธอหรือเปล่า? เราคบหากันมานานเกือบสิบปี ก่อนผมจะบอกเธอว่าผมเป็นเกย์ (ซึ่งเธอก็ไม่แปลกใจ) แต่ผมจำความรู้สึกในตอนนั้นได้ดีว่าผมหวั่นเกรงปฏิกิริยาของเธอสูงสุด เพราะบางครั้งทัศนคติที่เธอแสดงออกต่อพวกรักร่วมเพศเวลาเราพูดคุยกันอยู่ในกลุ่ม (ตอนผมยังไม่ come out) ออกจะค่อนไปทางลบพอสมควร แต่ทุกอย่างก็ราบรื่นดี เรายังคบหากันต่อไปอย่างสนิทใจ และคงจะคบหากันต่อไปอีกนานแสนนาน

บทสนทนาครั้งนี้ทำให้ผมเริ่มตระหนักว่า เธออาจรับได้กับเรื่องพวกนี้ แต่เธอยังคงมองว่ามันเป็นเรื่องผิด “ปกติ” อยู่ดี และถ้าเลือกได้ “ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นกะเทย”

แกต้องยอมรับนะ มันเป็นความจริงในทุกวันนี้

ใช่ครับ ผมยอมรับ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมต้องเห็นชอบกับความจริงข้อนี้

อย่าว่าแต่คนเป็นแม่เลยครับ กระทั่งตัวกะเทยเอง ส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้ก็คงไม่อยากเกิดมาเป็นกะเทย เพราะความกดดันจากสังคม สายตาดูหมิ่น การถูกล้อเลียน ฯลฯ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมรักร่วมเพศจึงมักมีปม “เกลียดตัวเอง” อย่างรุนแรง และการก้าวข้ามปมดังกล่าวมา “ยอมรับ” ในสิ่งที่เขาเป็นนั้นถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ (ประเด็นนี้ผมเคยพูดถึงไปแล้วในบทวิจารณ์หนังไทยเรื่อง พรางชมพู)

กลับมายังหนังเรื่อง รักแห่งสยาม ผมมีความรู้สึกว่าหลายคนชื่นชมความรักของแม่อย่างสุนีย์จนล้นเหลือ พูดถึงความยากลำบากของเธอ ความเสียสละของเธอ และความน่าสงสารของเธอ แต่น้อยคนนักจะพูดถึง โต้ง ตัวละครที่ผมคิดว่าน่าสงสารที่สุดในเรื่อง เช่นเดียวกัน โต้งเผชิญหน้ากับปม “เกลียดตัวเอง” อย่างจัง เมื่อเขาพบว่าแม่ของเขารับไม่ได้กับการที่เขาแสดงความรักกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง (“เราทำให้คนรอบข้างเราต้องเจ็บเพราะเราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร” เขาร้องครางกับหญิง ผู้มอบความรัก ความเข้าใจ และการปลอบประโลมให้เขามากกว่าแม่แท้ๆ ของเขาเอง) และเมื่อถูกกลุ่มเพื่อนกดดันว่าเขา “แตกต่าง” จากคนอื่นๆ เหมือนดังข่าวล่ำลือจริงหรือไม่

ต่อมาไม่นานในฉากตกแต่งต้นคริสต์มาส มันดูเหมือนเขาจะตัดสินใจได้แล้วว่าเขาเป็นอะไร และแม่ของเขาก็ดูเหมือนจะทำใจยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปสู่ความสุขสมหวัง... แต่ไม่ใช่

หลายคนตีความฉากจบว่า (แม้หนังจะไม่สรุปชัดเจน) การที่โต้งเลือกไม่เป็นแฟนกับมิว เพราะเขาต้องการให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่า เพราะเขาแคร์แม่มากกว่า ไม่อยากให้แม่ต้องกลุ้มใจไปมากกว่าที่เป็นอยู่ หากนั่นเป็นจริง ก็หมายความว่าโต้งอาจ “รู้” ว่าตัวเองเป็นอะไร แต่เขายังไม่อาจทำใจ “ยอมรับ” ในสิ่งที่เขาเป็นได้ เช่นเดียวกับแม่ของเขา เช่นเดียวกับเพื่อนของผม โต้งเห็นว่ารักร่วมเพศ คือ ความผิดปกติ และด้วยเหตุนี้ ฉากจบดังกล่าวจึงถือเป็นโศกนาฏกรรมแห่งปัจเจกชน แม้ว่าหลายคนจะตีความว่ามันเป็นชัยชนะแห่งความรักภายในครอบครัวก็ตาม โต้งยอมเสียสละ “ตัวตน” เพื่อสังคมที่ไม่เคยมองเห็นหัวเขา สังคมที่พยายามจะครอบงำความคิดของเขาว่า การแสดงความรักระหว่างมนุษย์ด้วยกันจะสวยงามก็ต่อเมื่อมนุษย์สองคนนั้นต่างเพศกัน (เชื่อหรือไม่ว่ากระแส “อยากอ้วก” อาจจะไม่รุนแรงเท่า หากมันเป็นฉากจูบระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง... นั่นหมายความว่านอกจากถูกครอบงำโดย Heterosexism แล้ว เรายังถูกครอบงำด้วยลัทธิชายเป็นใหญ่ด้วยใช่ไหม)

อันที่จริง การแสดงความรักระหว่างคนสองคนมันน่าสะอิดสะเอียนตรงไหน ผมไม่เข้าใจ มนุษย์เราก็แปลก คุณสามารถฆ่ากันตายได้ด้วยข้ออ้างสารพัด บางทีก็ไร้สาระเหลือแสน แต่กลับทนเห็นคนสองคนแสดงความรักกันอย่างจริงใจไม่ได้ เช่นนี้แล้วคุณยังจะแปลกใจอีกไหมว่าทำไมโลกเราถึงเต็มไปด้วยสงคราม แต่ขาดแคลนความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์

ผมลองนั่งนึกสมมุติฐานว่า หากมิวเป็นเด็กผู้หญิงฐานะยากจน ฉากที่สุนีย์เดินทางไปพูดกับมิวให้เลิกคบหากับลูกชายเธอนั้นจะยังสร้างอารมณ์แบบเดียวกันให้กับเพื่อนของผมไหม เธอจะยังคิดไหมว่า สุนีย์ทำถูกต้องที่สุดแล้วเพื่อลูกชายของเธอ? อะไรเลวร้ายกว่ากันระหว่างความยากจนกับรักร่วมเพศ? ทำไมในละครน้ำเน่า เราถึงสามารถจงเกลียดจงชังแม่ที่มาขัดขวางความรักของลูกชายกับหญิงสาวยากจน แต่กลับทำใจยอมรับและอาจถึงขั้นชื่นชม แม่ที่พยายามจะขัดขวางความรักระหว่างลูกชายกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง?

บทสนทนาระหว่างผมกับเพื่อนจบลงแบบห้วนๆ (ผมแกล้งบอกเธอไปว่ามีสายเข้า) ผมไม่รู้ว่าเธอจับน้ำเสียงไม่พอใจของผมได้หรือไม่ ในการพูดคุยช่วงท้ายๆ ผมเริ่มเงียบและไม่โต้ตอบเธอมากนัก แต่หลังจากได้ระบายความรู้สึกกับเพื่อนอีกคนหนึ่งในกลุ่มเดียวกัน ผมก็รู้สึกดีขึ้น และเย็นลง ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็น activist และหลายอย่างที่กลุ่มเกย์ activist ทำก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากผม แต่ความรู้สึกแย่คงเป็นเพราะบทสนทนาครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนสองคนที่คบหากันมานานกว่า 20 ปี ไม่ใช่การอ่านความเห็นห่วยๆ ของคนแปลกหน้าบนบอร์ดพันทิป

แน่นอน มิตรภาพของเราจะยังคงอยู่ ผมยังคงรักเธอในแบบที่เธอเป็น และหวังว่าสักวันเธอจะรักผมกลับ ไม่ใช่ในฐานะ “เพื่อน” แต่ในฐานะ “กะเทย” คนหนึ่ง

...ดั่งในใจความบอกในกวี ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง...