วันพฤหัสบดี, มีนาคม 06, 2551

Beauty and the Surgery


200 Pounds Beauty (2006): กระแสศัลยกรรมพลาสติกในเกาหลีรุนแรงขนาดไหน ทุกคนต่างทราบกันดี ฉะนั้น การปรากฏตัวขึ้นของภาพยนตร์ตลกเกี่ยวกับสาวอ้วนอัปลักษณ์ที่แปลงโฉมกลายเป็นสาวสวยด้วยฝีมือแพทย์เรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่องไม่น่าแปลก (แถมยังเกือบจะเป็นความจำเป็น เมื่อปรากฏว่าการผ่าตัดเสริมความงามกลายเป็นสิ่งปกติสำหรับหนุ่มสาวชาวเกาหลีไม่ต่างกับการเลือกซื้อสินค้าในร้านขายของชำเลยทีเดียว) และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ที่หนังจะส่งสารให้คนดูตระหนักว่าความงามภายนอกนั้นหาได้นำมาซึ่งความสุขภายในเสมอไป แม้ว่าขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมทุนนิยมและบูชาวัตถุในปัจจุบันเชิดชูและตัดสินผู้คนจากรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าความงามจากภายใน ความน่าแปลกอยู่ตรงที่หนังตลกเรื่องนี้นอกจากจะเรียกเสียงฮาได้อย่างต่อเนื่องแล้ว มันยังหาทางออกให้กับประเด็นอันซับซ้อนได้อย่างสมจริงและเต็มอิ่มหัวใจ

Death Becomes Her (1992): สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง แต่มนุษย์หลายคนก็ดูเหมือนจะยังไม่อาจทำใจยอมรับสัจธรรมข้อนี้ได้ สองในนั้น คือ เมเดอลีน (เมอรีล สตรีพ) กับ เฮเลน (โกลดี้ ฮอว์น) อดีตคู่กัดที่ต่างหมายปองชายคนเดียวกัน (บรูซ วิลลิส) และถวิลหาความสาวอมตะเหนือสิ่งอื่นใด หลังจากแรงโน้มถ่วงโลกเริ่มดึงอวัยวะหลายส่วนของพวกหล่อนให้ห้อยย้อย หย่อนยานเกินกว่าการฉีดคอลลาเจนและการลอกหน้าด้วยสารเคมีจะช่วยเหลือได้ หนังแฟนตาซีสุดฮาเรื่องนี้ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมคิส (Beowulf) ตั้งหน้าล้อเลียนบรรดาสาวใหญ่ไฮโซที่หวาดกลัวความแก่ชราทั้งหลายและวัฒนธรรมบูชารูปลักษณ์ภายนอกอย่างเจ็บแสบ พร้อมทั้งตั้งคำถามในตอนจบว่าการมีความสวยความสาวไปตราบชั่วกาลนานนั้นมันชวนปรารถนาเหนือการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า แล้วตายจากไปตามอายุขัยและกฎแห่งธรรมชาติจริงๆ หรือ

Face/Off (1997): ต้องยอมรับว่าพล็อตเรื่องของนายตำรวจเอฟบีไอ ที่เข้ารับการผ่าตัด “ถอดหน้า” ของอาชญากรมาใส่เพื่อแฝงตัวเข้าหมู่โจร แล้วยับยั้งแผนการร้ายใน Face/Off นั้นค่อนข้างเหนือจริงจนน่าหัวเราะ และปราศจากเหตุผลความเป็นไปได้อย่างสิ้นเชิงทั้งทางการแพทย์และสถานการณ์ แต่ผู้กำกับ จอห์น วู เลือกนักแสดงมาได้เหมาะกับบท เมื่อผสานเข้ากับทักษะการกำกับหนังแอ็กชั่นที่ลงตัวของเขา และทุนสร้างมโหฬารของฮอลลีวู้ด ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาสามารถระเบิดภูเขาเผากระท่อมได้อย่างเต็มรูปแบบ มันจึงกลายเป็นผลงานเพื่อความบันเทิงที่สนุกสนานและลุ้นระทึกตั้งแต่ต้นจนจบ ยิ่งเมื่อเทียบกับ Mission Impossible II, Paycheck และ Broken Arrow แล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหนังเรื่องนี้คือผลงานกำกับที่ดีที่สุดของ จอห์น วู นับแต่ผันตัวมาทำงานในฮอลลีวู้ด

Rabid (1977): สาวสวยนางหนึ่ง (รับบทโดยอดีตดาวโป๊ชื่อดังแห่งยุค มาริลีน แชมเบอร์ส) เกิดประสบอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์จนเสียโฉมและต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้อเยื่อแนวใหม่ ซึ่งยังไม่เคยทดลองใช้กับใครมาก่อน สุดท้ายหล่อนสามารถกลับมาสวยดังเดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ผลข้างเคียง คือ อาการหิวกระหายเลือดมนุษย์ ซึ่งเริ่มแพร่กระจายดุจโรคระบาด ส่งผลให้ผู้คนเกือบทั้งเมืองกลายสภาพเป็นผีดิบดูดเลือดภายในเวลาอันรวดเร็ว ที่สำคัญ อาวุธลับในการสังหารเหยื่อของเจ้าหล่อนนั้นมีสภาพเหมือนตัวหนอนชวนแขยง ซึ่งโผล่ออกมาทางรักแร้! หนังเกรดบียุคแรกๆ ของผู้กำกับเกรดเอในปัจจุบันอย่าง เดวิด โครเนนเบิร์ก (Eastern Promises) อาจเต็มไปด้วยเซ็กซ์ เลือด ความรุนแรง และสิ่งอุจาดตาสารพัดเฉกเช่นหนังสยองขวัญดาษๆ ทั่วไป แต่ขณะเดียวกันมันก็ยังแฝงการวิพากษ์วงการแพทย์ รัฐบาล และความหวาดกลัวโรคติดต่อทางเพศเอาไว้ด้วย

The Shape of Things (2003): ถ้า In the Company of Men หนังเรื่องแรกของ นีล ลาบูท คือ ภาพสะท้อนของมนุษย์เพศชายว่าชั่วร้ายมากขนาดไหน The Shape of Things ผลงานกำกับชิ้นที่ห้าของเขา ก็เปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามที่พิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์เพศหญิงนั้นหาได้วิเศษเลิศเลอไปกว่ากันสักเท่าไหร่ เรื่องราวของชายหนุ่มสุดเด๋อ (พอล รัดด์) ที่ถูกแฟนสาวแสนสวย (ราเชล ไวซ์) หลอกล่อด้วยมารยาแห่งเพศหญิงให้ลุกขึ้นมาแปลงโฉมตัวเองด้วยการเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว ทรงผม ลดน้ำหนัก สวมคอนแท็ก และก้าวไปไกลถึงขนาดเข้ารับการผ่าตัดเสริมจมูก (แต่เมื่อโดนใครถาม เขากลับตอบว่าประสบอุบัติเหตุ) สุดท้ายชายหนุ่มอวบอ้วนขี้อายได้กลายสภาพเป็นหนุ่มหล่อทรงเสน่ห์ที่มั่นใจในตัวเอง แต่ความ “ดูดี” ของรูปลักษณ์ภายนอกดูเหมือนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจิตใจภายในของเขาไปพร้อมๆ กัน บทเฉลยในตอนท้ายของหนังถือเป็นการตบหน้าคนดูอย่างเจ็บแสบ

ไม่มีความคิดเห็น: