วันพุธ, มิถุนายน 25, 2551

แบทแมนกับแฟนตาซีรักร่วมเพศ


เมื่อครั้งที่กระแสของหนังชายรักชายสุดอื้อฉาวเรื่อง Brokeback Mountain กำลังพุ่งทะลักจุดแตก นักข่าวชื่อดัง บาร์บารา วอลเตอร์ เคยถาม จอร์จ คลูนีย์ ว่าเป็นเขาจะยอมแสดงบทคาวบอยเกย์หรือไม่ หากมีคนมาเสนอ คำตอบของซูเปอร์สตาร์ขวัญใจฮอลลีวู้ด คือ “ผมเคยเล่นเป็นเกย์มาแล้ว ผมต้องสวมชุดยาง มีหัวนมยาง ผมสามารถจะทำให้แบทแมนเป็นผู้ชายก็ได้ แต่ผมเลือกจะเล่นบทนั้นเป็นเกย์”

คำตอบกวนๆ ของคลูนีย์หาได้สร้างความประหลาดใจแก่คนส่วนใหญ่ เนื่องจากไอเดียเกี่ยวกับนัยยะรักร่วมเพศในการ์ตูนชุดแบทแมนนั้นเริ่มวนเวียนอยู่ในกระแสความสนใจมานานหลายทศวรรษ ขณะเดียวกันชุมชนชาวเกย์และเลสเบี้ยนต่างก็เคยสรรเสริญการตัดสินใจของ โจเอล ชูมัคเกอร์ (ผู้กำกับ Batman Forever และ Batman & Robin) ในการออกแบบชุดแบทแมนให้กระชับรัดแน่น แถมยังเน้นย้ำสัดส่วนเพศชายเป็นพิเศษ พร้อมด้วยหัวนมยาง บั้นท้ายกลมกลึง และกระจับนูนตรงส่วนสำคัญ

อาจกล่าวได้ว่าจุดเชื่อมโยงระหว่างแบทแมนกับรักร่วมเพศนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 1954 เมื่อนักจิตวิทยา เฟรดริค เวอร์แธม ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Seduction of the Innocent เพื่อสะท้อนจุดยืนแบบอนุรักษ์นิยมว่า อาชญากรรม ตลอดจนความรุนแรงในหนังสือการ์ตูนนั้นจะส่งอิทธิพลจนเด็กนำไปเลียนแบบ ล้างสมองให้ระดับศีลธรรมของเหล่าเยาวชนบิดเบี้ยว บิดเบือน พร้อมทั้งยกตัวอย่างหนังสือการ์ตูนหลายเล่ม แต่ประเด็นที่สร้างกระแสฮือฮามากสุดคงหนีไม่พ้นการที่เวอร์แธมใช้พื้นที่สี่หน้ากระดาษเพื่อวิพากษ์ “รสนิยมทางเพศ” ของแบทแมนกับโรบิน

“พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกันในคฤหาสน์สุดหรู ประดับตกแต่งด้วยแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ พร้อมสรรพด้วยพ่อบ้าน” เวอร์แธมเขียน “มันเหมือนความฝันของการอยู่ร่วมกันระหว่างชายรักร่วมเพศสองคน” ก่อนจะสรุปตบท้ายว่า “เรื่องราวแบบที่เห็นในการ์ตูนแบทแมนอาจกระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการรักร่วมเพศ”

นอกจากนี้ เวอร์แธมยังตั้งข้อสังเกตอีกหลายประเด็น เช่น

• บางครั้งโรบินจะถูกจับขังในกรง ถูกมัด หรือติดกับดักของผู้ร้าย และต้องรอคอยให้แบทแมนมาช่วยเหลือเหมือนพวกนางเอกในนิยายอาชญากรรมอื่นๆ พวกเขาทั้งสองต้องคอยพึ่งพากันและกัน เวอร์แธมกล่าวว่าอันตรายอยู่ตรงการถูกกระตุ้นโดยสถานการณ์ซึ่งอาจหันเหไปสู่การกระตุ้นทางเพศได้ เขาเรียกเรื่องราวในลักษณะนี้ว่า “แฟนตาซีอีโรติกของการช่วยชีวิต” และมันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โรบินต้องอุทิศตัวแก่แบทแมนมากกว่าใครอื่นบนโลก

• แบทแมนกับโรบินต้องเป็นรักร่วมเพศเพราะในบ้านของพวกเขาปราศจากผู้หญิง พวกเขาต่างอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีแรงผลักดันทางเพศ การปราศจากแหล่งระบายที่เหมาะสม (นั่นคือ ภรรยา) ย่อมทำให้พวกเขาลงเอยด้วยการระบายแรงกระตุ้นทางเพศต่อกันและกัน

• บรูซ เวย์น ชอบสวมชุดนอนและชุดผ้าคลุมยาวในบ้าน แล้วนั่งแนบชิดบนโซฟาเดียวกันกับเด็กหนุ่มในการดูแลของเขา ส่วน ดิ๊ก เกรย์สัน บ่อยครั้งก็มักจะนั่งอยู่ข้างเตียงบรูซ เวลาผู้พิทักษ์ของเขาได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้

แม้ข้อเขียนของเวอร์แธมจะถูกวิจารณ์อย่างหนักในปัจจุบันว่าล้าสมัย ไร้เหตุผล มองภาพแบบเหมารวม และกระทั่งเปี่ยมกลิ่นอายของอคติต่อรักร่วมเพศ (ต้องไม่ลืมว่าในยุคนั้น รักร่วมเพศยังถูกมองว่าเป็นความผิดปกติทางจิต และจะเป็นเช่นนั้นมาจนถึงทศวรรษ 1970 ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลาที่เวอร์แธมเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว แนวคิดของเขาจึงถือว่าอยู่ในกระแสหลัก) แต่ไอเดียที่เขาเป็นคนจุดประกายไว้กลับค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่จิตสำนึกของผู้คน ส่งผลให้เกิดการค้นหาอารมณ์โฮโมอีโรติกที่ซุกซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดในการ์ตูนชุดแบทแมนอย่างกว้างขวาง เช่น ข้อกังขาเกี่ยวกับเรื่องชื่อตัวละครทั้ง ดิ๊ก (Dick) ซึ่งไปพ้องกับคำว่าอวัยวะเพศชายในภาษาอังกฤษ และโรบิน ซึ่งให้ความรู้สึกของเพศหญิง (อันที่จริงในอดีต โรบินถือว่าเป็นชื่อผู้ชาย ย่อมาจาก โรเบิร์ต เช่น โรบิน ฮู้ด) ความหลงใหลในชุดหนัง หน้ากากหนังของแบทแมน นัยยะของมนุษย์ค้างคาว ซึ่งมักจะออกต่อสู้กับเหล่าอธรรมในยามค่ำคืน ดุจเดียวกับกลุ่มรักร่วมเพศที่ชื่นชอบแสงสีตามผับบาร์ เนื่องจากมันเป็นสถานที่เดียวที่พวกเขาสามารถเป็น “ตัวเอง” ได้มากสุด หรือบุคลิก “คนนอก” กับบุคคล “สองบุคลิก” (กลางวันเป็นเศรษฐี กลางคืนเป็นมนุษย์ค้างคาว) ซึ่งสามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้กับกลุ่มรักร่วมเพศได้ไม่น้อย (เกย์กับเลสเบี้ยนเป็นชนกลุ่มน้อย และหากยังไม่เปิดเผยตัว พวกเขาก็จำต้องใช้ชีวิตแบบสองหน้า ปิดบังตัวตนที่แท้จริง)

ดีซี คอมิกส์ ตระหนักใน “กระแส” ดังกล่าวและพยายามจะเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการเพิ่มตัวละครอย่าง เคธี เคน (แบทวูเมน) และ เบ็ตตี้ เคน (แบทเกิร์ล) เข้ามาในเรื่องราวเพื่อแสดงให้เห็นว่าทั้งสองหนุ่มโสดยังปรารถนาเพศหญิง แต่ดูเหมือนแผนดังกล่าวจะกลายเป็นดาบสองคม เมื่อมันถูกตีความไปในทางตรงข้าม เช่น เมื่อบรูซถูกจับเข้าคุกด้วยความเข้าใจผิด ส่งผลให้แบทวูเมนก้าวขึ้นมาเป็นเจ้านายของโรบิน ไม่นาน ดิ๊ก เกรย์สัน ก็เริ่มฝันร้าย ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นหน้าปกของการ์ตูนแบทแมนฉบับเดือนมีนาคม 1959 พร้อมจั่วหัวว่า “การแต่งงานของแบทแมนกับแบทวูเมน” ในภาพคนอ่านจะเห็นสองคู่รักเดินออกจากโบสถ์ด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข โดยมีโรบินยืนมองอยู่ข้างๆ พร้อมกับนึกในใจว่า “พระเจ้า! จากนี้ไปเราจะกลายเป็นอะไร”

ดูเหมือนความพยายามของทาง ดีซี คอมิกส์ ที่จะบอกว่า แบทแมนเป็นชายแท้ทั้งแท่งกลับบ่มเพาะความรู้สึกวิตกกังวลในหมู่คนอ่านว่า แบทวูเมนคือส่วนเกินที่เข้ามาคุกคาม ขัดขวาง “มิตรภาพ” และ “ความจงรักภักดี” ระหว่างแบทแมนกับโรบิน

การต่อสู้ขัดขืนระหว่าง ดีซี คอมิกส์ กับนัยยะโฮโมอีโรติกในการ์ตูนแบทแมนดูเหมือนจะยืดเยื้อยาวนานมาจนกระทั่งปัจจุบัน สองตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ การที่ ดีซี คอมิกส์ ปฏิเสธไม่ยอมให้ คริสโตเฟอร์ ยอร์ค นำเอาการ์ตูนบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำในงานเขียนของเขาเรื่อง All in the Family: Homophobia and Batman Comics in the 1950s เมื่อปี 2000 จากนั้นในปี 2005 ดีซี คอมิกส์ ก็ข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศิลปิน มาร์ค แชมเบอร์เลน หากเขาตัดสินใจจัดแสดงคอลเล็กชั่นภาพวาดสีน้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของแบทแมนกับโรบินทั้งในแบบ “ส่อนัยยะ” และแบบ “โจ่งครึ่ม” ทางเพศ


อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวาดการ์ตูนอย่าง อลัน แกรนท์ ข้อสังเกตของเวอร์แธมและคนอื่นๆ ดูเหมือนจะเป็นการตีความตามแต่ใจ “แบทแมนที่ผมเขียนมานาน 13 ปีไม่ใช่เกย์ แบทแมนของ เดนนี่ โอ’นีล ของ มาร์ฟ วูล์ฟแมน และของทุกๆ คนย้อนหลังไปจนถึง บ็อบ เคน (ผู้ให้กำเนิดแบทแมน)... ทั้งหมดล้วนไม่เคยตั้งใจจะเขียนให้แบทแมนเป็นเกย์ คงมีเพียง โจเอล ชูมัคเกอร์ เท่านั้นที่เห็นแตกต่าง”

ต้นกำเนิดของ Batman Forever เกิดจากเสียงประท้วงของบรรดาพ่อแม่ทั้งหลาย ซึ่งเห็นว่า Batman Returns ของ ทิม เบอร์ตัน มืดหม่นและรุนแรงเกินไปสำหรับเด็ก ดังนั้นเพื่อลดทอนข่าวอื้อฉาว สตูดิโอ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส จึงตัดสินใจหันมาใช้บริการของ โจเอล ชูมัคเกอร์ ผู้กำกับเกย์ที่เคยมีผลงานน่าพอใจอย่าง The Lost Boys, Flatliners และ Falling Down แทน ด้วยความหวังว่าเขาจะช่วยผลักดันให้แบทแมนกลายเป็นหนัง “สำหรับทุกคนในครอบครัว” แต่บรรดาผู้บริหารสตูดิโอคงไม่ทันนึกถึงผลพวงอื่นๆ ที่อาจตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์โฮโมอีโรติกซึ่งดุเดือดเลือดพล่านจนเกือบไม่ใช่แค่ “นัยยะ” อีกต่อไป เริ่มต้นตั้งแต่การติดหัวนมให้กับชุดแบทแมน (ชูมัคเกอร์บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้นเทพเจ้ากรีก) ไปจนถึงประโยคส่อๆ ของ ดิ๊ก เกรย์สัน อย่างเช่น “เราไม่ใช่แค่เพื่อน แต่เราเป็นคู่หูกัน” (คำว่า partner ในภาษาอังกฤษมีความหมายถึงคู่ชีวิตได้ด้วย และกลุ่มเกย์กับเลสเบี้ยนก็นิยมใช้คำนี้ในลักษณะขั้นกว่าของแฟน (boyfriend) เทียบเท่ากับคำว่า สามีภรรยา สำหรับกลุ่มรักต่างเพศนั่นเอง)

ในยุคสมัยที่คำว่า เมโทรเซ็กช่วล ยังไม่ค่อยแพร่หลาย คำเดียวที่สามารถอธิบายทรงผม เสื้อผ้า (แจ๊กเก็ตหนัง เสื้อยืดรัดรูป) และรูปลักษณ์ (เจาะหู) ของ ดิ๊ก เกรย์สัน (คริส โอ’ดอนเนลล์) ได้ ก็คือ “เกย์” ขณะเดียวกัน วาล คิลเมอร์ ซึ่งรับบทเป็น บรูซ เวย์น ก็มักจะต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัวทุกครั้งเวลาเขาฉากกับโอ’ดอนเนลล์ เช่น ตอนที่เขาเปลือยหน้าอกและห่มผ้าเช็ดตัวคลุมท่อนล่างระหว่างทำการรักษาบาดแผล ตรงข้ามกับฉากรักปลอดสารตกค้างระหว่างเขากับ นิโคล คิดแมน ซึ่งบรูซยังคงสวมเสื้อผ้าเต็มยศ ที่สำคัญ กล้องดูเหมือนจะไม่เต็มใจใช้ประโยชน์จากเรียวขา หรือเนินอกของคิดแมนในแบบที่ “หนังผู้ชาย” ส่วนใหญ่นิยมทำสักเท่าไหร่ สิ่งเดียวที่คนดูเห็นแบบจะๆ กลับกลายเป็นภาพโคลสอัพแผงอกยาง (ติดหัวนม) และก้นยางกลมกลึงของแบทแมน!

ถ้าภาพลักษณ์ของแบทแมนกับโรบินใน Batman Forever ให้ความรู้สึก “เก๊... เกย์” คำเดียวที่น่าจะเหมาะกับตัวละครอย่างมนุษย์เจ้าปัญหา (จิม แคร์รี่ย์) ก็คือ “กะเทย” แต่เนื่องจากริดเลอร์เป็นวายร้าย ภาพเขาสวมชุดยางยืดรัดรูปสีเขียว ใส่มงกุฎเพชร แสดงท่าทางโบกสะบัดมือไม้ แขนขา แล้วนั่งบนบัลลังก์ดุจราชินีจึงไม่สร้างความรู้สึกคุกคามต่อคนดูรักต่างเพศเท่าใดนัก อันที่จริง มันอาจช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์โฮโมอีโรติกระหว่างสองพระเอกด้วยซ้ำ จนนำไปสู่การปลอบใจตัวเองว่า “ถ้าผู้ร้ายเป็นเกย์ พระเอกก็ต้องเป็นชายแท้” นอกจากนี้ ปฏิกิริยาแบบสุดโต่งของ เอ็ดเวิร์ด นิกมา (ก่อนเขาจะกลายเป็นริดเลอร์) หลังถูก บรูซ เวย์น บุรุษที่เขาลุ่มหลง หมกมุ่นมาตลอดเรื่อง ตอบปฏิเสธยังสะท้อนนัยยะของเกย์ที่ถูกชายแท้ปฏิเสธอีกด้วย (“แต่เราเป็นเหมือนกัน คุณควรจะเข้าใจความรู้สึกของผมสิ” เอ็ดครวญด้วยน้ำเสียงสุดเศร้า)


หากจะพูดโดยสรุป ทั้ง อลัน แกรนท์ และ โจเอล ชูมัคเกอร์ ล้วนมีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก และเชื่อได้ว่า บ็อบ เคน เองก็คงจะสร้างการ์ตูนชุดแบทแมนขึ้นโดยปราศจากความตั้งใจที่จะให้ตัวละครดูเป็น “เกย์” แต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อสังคมพัฒนาความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อมนุษย์ทุกคนเริ่มถูกตีตราให้เป็นโน่นเป็นนี่ต่างๆ นานา พฤติกรรมบางอย่างย่อมถูกสงวนให้เป็นสิทธิเฉพาะสำหรับบางกลุ่มบางพวก เช่น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 การสัมผัสเนื้อตัวระหว่างผู้ชายสองคนถือเป็นเรื่องปกติ เป็นการแสดงออกถึงความอบอุ่น ความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์สองคน และอาจสะท้อนแรงปรารถนาทางเพศได้ด้วย แต่เมื่อสังคมยุคนั้นยังปราศจากความหวาดกลัวการถูกตีตรา “โฮโมเซ็กช่วล” ผู้ชายจึงไม่วิตกกังวลว่าการสัมผัสเนื้อตัวจะมีความหมายอื่นใด นอกจากเพื่อแสดงความรักอันลึกซึ้งต่อกัน แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ภาพของผู้ชายสองคนเดินจับมือกันย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมรักร่วมเพศ ส่งผลให้ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่กล้าจะสัมผัสเนื้อตัวเพื่อแสดงความรักใคร่ ใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนในอดีตอีกต่อไป ด้วยกลัวว่ามันจะส่งสัญญาณ “เกย์” ไปยังคนรอบข้าง

ก่อนการมาถึงของหนังสือเรื่อง Seduction of the Innocent มิตรภาพแบบพลาโตนิกระหว่างแบทแมนกับโรบินเปรียบดังอุดมคติแห่งความรัก ความผูกพันระหว่างเพศชายในยุคแห่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาทางเพศ เทียบแล้วคงไม่ต่างจากความผูกพันระหว่างเพื่อนทหารในช่วงสงครามโลก หรือมิตรภาพแน่นแฟ้นระหว่างโฟรโดกับแซมในนิยายมหากาพย์ The Lord of the Rings แต่ เฟรดริค เวอร์แธม ได้ฉีกทึ้งภาพลักษณ์เหล่านั้นจนหมดสิ้น พร้อมทั้งพยายามประณามพฤติกรรมรักร่วมเพศว่าจะนำความเสื่อมทรามมาสู่วัยรุ่น ไม่ต่างจากการนำเสนอภาพอาชญากรรมและความรุนแรงในหนังสือการ์ตูน...

ไม่ต้องสงสัยว่าความคิดดังกล่าวต่างหากที่เป็นอันตรายยิ่งกว่าการค้นพบ “แฟนตาซีรักร่วมเพศ” ในการ์ตูนชุดแบทแมนหลายเท่านัก

ไม่มีความคิดเห็น: