วันพุธ, กันยายน 10, 2551

คนดังนอกตู้


“ผมสนับสนุนสิทธิของรักร่วมเพศ และไม่ได้แค่สนับสนุนแบบเงียบๆ อยู่หลังฉากเท่านั้น ตั้งแต่ตอนยังเด็ก ผมไม่เคยเข้าใจว่าทำไมหลายคนถึงชอบโจมตีสังคมชาวเกย์ มีคุณสมบัติมากมายที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นมนุษย์... และเมื่อไล่เรียงทุกคุณสมบัติซึ่งทำให้ผมนึกชื่นชมในตัวมนุษย์สักคนจนครบแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ผมจะนึกถึง คือ เรื่องบนเตียงนอนของเขา”

คำกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า พอล นิวแมน หาได้เป็นเพียงซูเปอร์สตาร์ระดับตำนานและนักแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่เขายังเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจเปิดกว้างอีกด้วย (แถมยังเปี่ยมเมตตา โดยในช่วงเวลาแค่สองปีจาก 2005 ถึง 2006 บริษัท Newman’s Own ของเขาซึ่งผลิตน้ำสลัด ซอสพาสต้า และคุกกี้สูตรพิเศษสามารถหาเงินเข้าองค์กรการกุศลได้มากถึง 120 ล้านดอลลาร์)

ถ้าโลกของเรามีคนแบบเขามากกว่านี้ มันคงน่าอยู่ขึ้นอีกหลายเท่าตัว ถ้าฮอลลีวู้ดมีคนแบบเขามากกว่านี้ บางทีอาจจะมีคนดังกล้าออกมาเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์/เลสเบี้ยนมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่โลกแห่งความเป็นจริงดูจะเต็มไปด้วยคนแบบ เออร์เนส บอร์กไนน์, โทนี่ เคอร์ติส และ อิไซอาห์ วอชิงตัน สองคนแรกโด่งดังจากการให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาขยะแขยง Brokeback Mountain และปฏิเสธไม่ยอมดูหนังเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นกรรมการตัดสินรางวัลออสการ์ ส่วนคนหลังสุดโด่งดังจากการเรียกนักแสดงเพื่อนร่วมงานในซีรีย์ทางทีวีชุด Grey’s Anatomy ที.อาร์. ไนท์ ว่า “อีตุ๊ด” แล้วกลับยืนกรานปฏิเสธต่อหน้านักข่าวในงานลูกโลกทองคำว่าเขาไม่เคยใช้คำเช่นนั้น

เหตุอื้อฉาวได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยเมื่อถูกถามถึงประเด็นดังกล่าว แคทเธอรีน ไฮเกล นักแสดงร่วมทีม Grey’s Anatomy และเพื่อนสนิทของไนท์ ก็ตอบโต้ด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่า “เขา (วอชิงตัน) จำเป็นต้องเลิกพูดต่อหน้าสาธารณชนอย่างเด็ดขาด” ขณะเดียวกัน มันยังส่งผลให้ไนท์ตัดสินใจออกมาเปิดเผยตัวกับนิตยสาร People อีกด้วย “ผมไม่ได้กำลังหลอกตัวเอง” ไนท์ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Ellen DeGeneres Show “เพื่อนๆ ในกองถ่ายต่างก็รู้ว่าผมเป็นเกย์ เราคุยกันได้อย่างเปิดอก โดยธรรมชาติแล้วผมไม่ใช่คนประเภทที่จะโทรไปหานิตยสาร People แล้วพูดว่า ‘รู้อะไรมั้ย มีบางเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับผม’ ผมสามารถปล่อยมันผ่านไปก็ได้ แต่มันกลับกลายเป็นสิ่งสำคัญ ผมจึงต้องออกมาประกาศตัว”

สุดท้ายเมื่อจำนนต่อหลักฐาน วอชิงตันจึงออกแถลงการณ์ดังนี้ “ผมขอโทษที.อาร์ เพื่อนร่วมงาน แฟนๆ ซีรีย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชาวเกย์และเลสเบี้ยนสำหรับการใช้คำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม การพูดซ้ำคำดังกล่าวในคืนวันจันทร์ (งานลูกโลกทองคำ หลัง Grey’s Anatomy คว้ารางวัลซีรีย์ดรามายอดเยี่ยมมาครอง) ทำให้ค่ำคืนที่ทุกคนในทีมงาน Grey’s Anatomy ควรจะมีความสุขต้องมีอันด่างพร้อย ผมปราศจากข้อแก้ตัว หรือคำอธิบายใดๆ ผมไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไปว่ามีประเด็นบางอย่างภายในจิตวิญญาณผมที่ต้องได้รับการตรวจสอบแก้ไข และผมก็ยินดีจะขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ ผมรู้ว่าคำพูดมีพลังมากแค่ไหน โดยเฉพาะคำพูดในทางดูหมิ่น เหยียดหยาม ผมตระหนักว่าการใช้คำแบบนั้นจะทำให้หลายคนต้องเจ็บปวด นอกเหนือจากที.อาร์.และเพื่อนร่วมงานทั้งหลายแล้ว ด้วยคำเพียงคำเดียว ผมได้ทำร้ายทุกคนที่พยายามจะเรียกร้องความเคารพนับถือจากสังคม ซึ่งพวกเราบางคนคุ้นชินจนมองไม่เห็นคุณค่า ผมยินดีจะเดินทางไปพบกลุ่มผู้นำชุมชนชาวเกย์และเลสเบี้ยนเพื่อกล่าวขอโทษต่อหน้าและค้นหาหนทางเยียวยาบาดแผลที่ผมเป็นคนสร้างขึ้น ความกล้าหาญของที.อาร์.ตลอดเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นแก่นแท้ในตัวเขา ผมนับถือพรสวรรค์และความเป็นมนุษย์ของเขาเหนืออื่นใด ผมรู้ว่าแค่คำขอโทษไม่สามารถช่วยแก้ไขอะไรได้ แต่ผมตั้งใจจะให้การกระทำในอนาคตเป็นสิ่งพิสูจน์ความจริงใจของผม”

[หมายเหตุ: ในเวลาต่อมา สถานี ABC ไม่ยอมต่อสัญญากับวอชิงตัน ส่งผลให้เขาถูกตัดออกจากซีรีย์ Grey’s Anatomy ด้วยความโกรธแค้น เขาจึงขู่จะฟ้องร้องสถานี พร้อมทั้งกล่าวหาไนท์ว่าใช้ประโยชน์จากเรื่องราวทั้งหมดเพื่อเพิ่มเรตติ้งให้ตัวเอง... ดูเหมือนกระทำของวอชิงตันจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แถลงการณ์ข้างต้นของเขามีความ “จริงใจ” มากแค่ไหน]

ทั้งหมดคงพอทำให้คุณเข้าใจได้ว่าการเป็นดาราเกย์/เลสเบี้ยนในฮอลลีวู้ดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยถ้าคุณเลือกจะปกปิดตัวตน คุณก็ต้องเผชิญหน้ากับการถูกจู่โจมด้วยข่าวลือสารพัด ทั้งจากสถานีอย่าง E! และบรรดาหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ทั้งหลาย จนสุดท้ายเมื่อไม่เหลือทางเลือกอื่น เขาหรือเธอก็อาจ “ถูกบีบ” ให้ต้องเปิดเผยตัวดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ที.อาร์ ไนท์ และ แลนซ์ บาส อดีตสมาชิกวง ’N Sync (ผู้ตัดสินใจออกมาสารภาพว่าเขาเป็นเกย์หลังจากภาพข่าวความใกล้ชิดระหว่างเขากับแฟนหนุ่มในขณะนั้น ไรเชน เลห์มคูห์ล นายแบบ/ผู้ชนะการแข่งขัน Amazing Race ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง) ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว นั่นไม่ใช่ทางเลือกในอุดมคติแม้แต่น้อย การเปิดเผยเพศสถานะของใครสักคนถือเป็นประสบการณ์ส่วนตัวยิ่ง มันควรเริ่มต้นจากการยอมรับตนเอง เคารพตนเอง ตลอดจนความต้องการจะใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย เติมเต็ม โดยไม่ต้องปิดบัง หาใช่ตั้งอยู่บนรากฐานของความหวาดกลัว หรือถูกสถานการณ์บีบบังคับ

ขณะเดียวกัน หากคุณเลือกจะเปิดเผยตัวตน คุณก็ต้องเตรียมพร้อมรับกระแสต่อต้านจากทั่วสารทิศ ไม่เชื่อลองถาม เอลเลน ดีเจเนอเรส ดูได้ เมื่อซีรีย์ของเธอ Ellen ถูกกลุ่มเคร่งศาสนาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังมีการเขียนบทให้ตัวเอกสารภาพความจริงว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน (สอดคล้องกับชีวิตจริงของดีเจเนอเรส ดาราผู้รับบทดังกล่าว ซึ่งเริ่ม coming out ในช่วงเวลาเดียวกัน) จนส่งผลให้สถานี ABC ต้องตัดสินใจถอดปลั๊กช่วยหายใจ แล้วจบซีรีย์ลงในปีที่ห้า อย่างไรก็ตาม การซุ่มโจมตียังคงดำเนินต่อไป เช่น เมื่อดีเจเนอเรสได้รับเลือกให้พากย์เสียงตัวละครในหนังการ์ตูนเรื่อง Finding Nemo ก็ยังอุตส่าห์มีพ่อแม่สติแตกกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านว่า พิกซาร์ไม่ควรมอบงานให้นักแสดง ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ “ไม่เหมาะสม” ต่อเยาวชนของชาติ (ใครว่าไดโนเสาร์แพร่พันธุ์เฉพาะในเมืองไทย)

อย่าว่าแต่การเปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์เลย ลำพังแค่การรับบทเกย์บนจอหนังก็แทบจะกลายเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อภาวะตกงานในวงการบันเทิงไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่ ฮีธ เลดเจอร์ และ เจค จิลเลนฮาล ตัดสินใจเล่นบทเกย์คาวบอยในหนังเรื่อง Brokeback Mountain ตอนนั้นเอเย่นต์ของพวกเขา รวมถึงคนรู้จักรอบข้างล้วนไม่เห็นด้วย และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันจะทำให้อนาคตที่กำลังเบ่งบานของพวกเขาถึงกาลดับสูญ แต่แล้วเมื่อหนังออกฉายและประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ หลายคนก็เปลี่ยนมาสรรเสริญ “ความกล้าหาญ” ของพวกเขา ราวกับทั้งสองเพิ่งบุกเข้าไปช่วยชีวิตคนในตึก เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ยังไงยังงั้น ราวกับการสวมบทบาทตัวละครไม่ใช่งานปกติของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีดารา/นักแสดงเพียงน้อยคนที่กล้าเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์/เลสเบี้ยนอย่างเต็มปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบจำนวนกับผู้กำกับ หรือคนทำงานเบื้องหลังทั้งหลาย แลนซ์ บาส ยอมรับว่าสาเหตุที่เขาจำใจ “หลบอยู่ในตู้” มาตลอดหลายปีก็เพราะเขากลัวว่าความจริงดังกล่าวจะสั่นคลอนภาพลักษณ์ “ขวัญใจวัยรุ่น” (โดยเฉพาะกลุ่มเด็กสาว) และความนิยมของวง ’N Sync ระหว่างยุครุ่งเรือง... ความกลัวซึ่งพบเห็นได้ในรักร่วมเพศทุกคน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะแก่หง่อมหรือยังหนุ่มยังสาว กลัวถูกล้อเลียน กลัวตกงาน กลัวไม่มีคนยอมรับ กลัวถูกกลั่นแกล้ง กลัวการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ ความกลัวอันเกิดจากแรงบีบของสังคม ซึ่งเจ้ากี้เจ้าการขีดเส้นบรรทัดฐานว่าอะไร “ปกติ” อะไร “ไม่ปกติ” พร้อมทั้งกีดกัน “เขา” ออกจาก “เรา”

เนื่องในโอกาสที่ National Coming Out Day ของอเมริกากำลังจะมาถึง เราจะมาทำความรู้จักกับ 10 คนดังที่เปิดเผยตัวว่านิยมชมชอบไม้ป่าเดียวกัน (พวกเขาเป็นเพียงตัวอย่างกลุ่มหนึ่ง) โดยหวังว่าการตัดสินใจยืดหยัดต่อสู้กับอคติทางสังคม ซึ่งฝังรากลึกมายาวนาน ของพวกเขาจะช่วยแผ้วถางหนทางไปสู่การยอมรับที่แท้จริงของเกย์และเลสเบี้ยน... บางทีอาจกล่าวได้ว่านี่ต่างหาก คือ “ความกล้าหาญ” ที่แท้จริง

เปโดร อัลโมโดวาร์: เจ้าป้าเริ่มเปิดเผยตัวมาตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว หนังของเขาในยุคแรกมักไม่เขินอายที่จะสำรวจประเด็นเรื่องเพศ ตลอดจนความคลุมเครือทางเพศ (คุณลักษณะดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นในผลงานยุคหลังของเขาด้วย เช่น เมื่อปรากฏว่า “พ่อ” ของเด็กหนุ่มในหนังเรื่อง All About My Mother ปัจจุบันกลายเป็นผู้หญิงไปเสียแล้ว) หนังเกย์เรื่องแรกที่สร้างชื่อระดับนานาชาติให้อัลโมโดวาร์ คือ Law of Desire ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า แอนโตนีโอ แบนเดอรัส ไม่เขินอายที่จะเข้าฉากเซ็กซ์ร้อนแรงกับผู้ชาย (งั้นคงเป็น ทอม แฮงค์ กระมังที่ทำให้ Philadelphia กลายเป็นหนังเกย์พาสเจอร์ไรส์) แต่บรรดาโฮโมรุ่นเด็กอาจรู้จักอัลโมโดวาร์จากหนัง “กะเทยนัวร์” เรื่อง Bad Education ซึ่งขายเสน่ห์แห่งเรือนร่างของ กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล มากพอๆ กับฝีมือการแสดงของเขา

บิล คอนดอน: แม้จะเติบโตมาในครอบครัวคาทอลิก แต่ดูเหมือนคอนดอนจะไม่ประสบปัญหาในการยอมรับเพศสภาพอันแตกต่างของตนเท่าใด เขาเริ่มต้นอาชีพผู้กำกับด้วยผลงานสยองขวัญที่ไม่น่าจดจำอย่าง Candyman: Farewell to the Flesh ก่อนจะสร้างชื่อเสียงด้วยการทำหนังเล่าชีวิตของผู้กำกับเกย์ซึ่งโด่งดังจากการทำหนังสยองขวัญเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดหัวเหลี่ยมเรื่อง Gods and Monsters หลังจากนั้น ผลงานส่วนใหญ่ของคอนดอนล้วนเคลือบแฝงภาวะ “สีรุ้ง” ของตนเองไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงอย่าง Kinsey (เล่าถึงชีวิตของนักวิจัยเรื่องเพศนามกระเดื่องที่เคยลิ้มลองการขับรถมาแล้วทั้ง “สองเลน”) ก็ทางอ้อมอย่าง Dreamgirls (ตอนนี้โชว์กะเทยทั่วโลกได้บรรจุ And I’m Telling You I’m Not Going ให้กลายเป็นเพลงภาคบังคับไปเรียบร้อยแล้ว)

เอลเลน ดีเจเนอเรส: คงไม่มีใครจะเปิดเผยเพศสภาพของตนได้เอิกเกริกกว่าเธอคนนี้อีกแล้ว โดยหลังจากขึ้นปก Time และให้สัมภาษณ์ออกทีวีกับ โอปรา วินฟรีย์ แล้ว ตัวละครที่เธอรับเล่นในซิทคอม Ellen ก็ออกมายอมรับกับจิตแพทย์ (รับบทโดยวินฟรีย์) ว่าเป็นเลสเบี้ยนอีกด้วย ซิทคอมตอนดังกล่าว (The Puppy Episode) ทำเรตติ้งทะลุเพดานจนกลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางทีวีพอๆ กับตอนจบของ Friends และ Seinfeld เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม อาชีพการแสดงภาพยนตร์ของดีเจเนอเรสกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใร โดยแฟนหนังส่วนใหญ่น่าจะจดจำเธอได้จากการพากย์เสียงเป็นปลาความจำสั้น ดอรี่ ใน Finding Nemo และรับหน้าที่พิธีกรรายการออสการ์เมื่อปี 2007 ล่าสุดเธอเพิ่งเข้าพิธีแต่งงานกับแฟนสาว พอร์เทีย เดอ รอสซี่

รูเพิร์ต เอเวอเร็ตต์: เขาเปิดเผยตัวต่อสาธารณชนตั้งแต่อายุยังน้อย (30 ปี) หลังจากเพิ่งเริ่มโด่งดังจากบทเกย์ใน Another Country หลายคนมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจ “ทำลาย” อนาคตในวงการบันเทิงของเขา ซึ่งมันก็เหมือนจะเป็นจริงอยู่พักหนึ่ง ก่อนเอเวอเร็ตต์จะกลับมาอินเทรนด์อีกครั้งจากบทเพื่อนสาวสุดฮาของ จูเลีย โรเบิร์ตส์ ใน My Best Friend’s Wedding แต่การพยายามย้อนรอยความสำเร็จของเขาในอีกสองปีต่อมากับ The Next Best Thing กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เขาขึ้นชื่อในบุคลิก “ปากกล้า” เมื่อออกมายอมรับว่าเคยขายตัวเพื่อประทังชีพ และวิจารณ์การเปิดเผยตัวของ โจดี้ ฟอสเตอร์ ว่าคงไม่ส่งอิทธิพลใดๆ ต่อเหล่า “ดาวแอบ” คนอื่นเพราะ “พออายุมากแล้ว คุณก็สามารถเป็นเกย์ในฮอลลีวู้ดได้ แต่ก่อนหน้านั้น มันไม่ใช่เรื่องดีและแทบจะเป็นไปไม่ได้”

โจดี้ ฟอสเตอร์: น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว (แบบอ้อมๆ) ไปเมื่อปลายปีก่อน แม้คนส่วนใหญ่จะทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวมานานแล้ว หลังเธอให้กำเนิดลูกสองคนโดยปราศจาก “พ่อ” เป็นตัวเป็นตน และมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับโปรดิวเซอร์สาว ซิดนีย์ เบอร์นาร์ด เมื่อทั้งคู่พบกันในกองถ่าย Sommersby (นี่หรือเปล่าที่เป็นสาเหตุให้ฉากรักของเธอกับ ริชาร์ด เกียร์ ดู “แข็งขืน” พอๆ กับฉากวาบหวามระหว่างสองดารานำใน “ด้วยรักคือรัก”) ฟอสเตอร์ไม่เคยรับบทเป็นเลสเบี้ยน แต่บ่อยครั้งมักเลือกแสดงในหนังเชิดชูแนวคิดแบบเฟมินิสต์ ซึ่งวาดภาพพวกผู้ชายว่าถ้าไม่เลวกว่าหมา ก็แอบกดขี่ผู้หญิงอยู่ลึกๆ ผ่านลักษณะสังคมแบบชายเป็นใหญ่อย่าง The Accused และ The Silence of the Lambs ซึ่งล้วนทำให้เธอคว้ารางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงมาครอง

ท็อดด์ เฮย์นส์: สมัยเด็กๆ เฮย์นส์ชอบเล่นตุ๊กตา ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาผลิตหนังสั้นเรื่อง Superstar: The Karen Carpenter Story ซึ่งดำเนินเหตุการณ์โดยใช้ตุ๊กตาบาร์บี้แทนคนจริงๆ และถูกยกย่องให้เป็นสารคดีเกี่ยวกับนักดนตรีที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แม้ว่าต่อมามันจะถูกสั่งห้ามเผยแพร่ เพราะ ริชาร์ด คาร์เพนเตอร์ ไม่อนุญาตให้ใช้เพลงของ The Carpenters มาประกอบหนัง หลังจากนั้น เฮย์นส์ก็กลายเป็นหนึ่งในหัวขบวนของปรากฏการณ์ New Queer Cinema จากผลงานชนะรางวัลเทศกาลหนังซันแดนซ์อย่าง Poison ก่อนจะเริ่มผันตัวมาสร้างผลงานในวงกว้างขึ้น แต่ยังคงกลิ่นอายเกย์ๆ เอาไว้ครบถ้วนอย่าง Velvet Goldmine, Far from Heaven และ I’m Not There

เอียน แม็คเคลเลน: ถือเป็นขาใหญ่ของวงการที่เปิดตัวอย่างภาคภูมิใจตั้งแต่ปี 1988 และต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับชาวเกย์และเลสเบี้ยนอย่างต่อเนื่อง แฟนหนังส่วนใหญ่อาจรู้จักท่านเซอร์แม็คเคลเลนจากบท แกนดอล์ฟ ในไตรภาค The Lord of the Rings และ แม็กนีโต ในไตรภาค X-Men แต่หนึ่งในบทบาทการแสดงที่ยอดเยี่ยม เด็ดขาดที่สุดของเขากลับเป็นการสวมวิญญาณ เจมส์ เวล ผู้กำกับเกย์ที่โด่งดังจากผลงานสยองขวัญคลาสสิกยุคแรกอย่าง Frankenstein และ Bride of Frankenstein ในหนังเรื่อง Gods and Monsters เขา “สมควร” ได้ออสการ์สาขานักแสดงนำชายมาครอง แต่คณะกรรมการกลับโดนผีห่าซาตานเข้าสิง แล้วเลือก โรเบอร์โต เบนิกญี่ จาก Life is Beautiful แทน หลังหายนะครั้งนั้น เซอร์แม็คเคลเลนยังได้เข้าชิงออสการ์อีกจาก The Fellowship of the Ring ส่วนเบนิกญี่ก็หันไปแสดงหนังอย่าง Pinocchio!?!

โจเอล ชูมัคเกอร์: แม้ชูมัคเกอร์จะเปิดตัวว่าเป็นเกย์มาเกือบตลอดชีวิตผู้กำกับในฮอลลีวู้ด แต่นักดูหนังบางคนอาจคาดไม่ถึง จนกระทั่งเมื่อ Batman Forever เข้าฉาย อย่างที่ทราบกันดีว่าการ์ตูน Batman กรุ่นกลิ่นอายรักร่วมเพศอยู่ลึกๆ จนกระทั่งชูมัคเกอร์ตัดสินใจเปลี่ยนเสียงกระซิบให้กลายเป็นเสียงตะโกนผ่านงานออกแบบชุดแบทแมน (ติดหัวนม) การเลือกมุมกล้อง (โคลสอัพก้นกลมกลึงของแบทแมน) บทสนทนา ฯลฯ นับจากนั้นผลงานของเขาก็มักจะเลี้ยวหลบเข้าสีลมซอย 2 อยู่เนืองๆ เช่น Flawless (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน แต่งหญิง) หนังเพลง The Phantom of the Opera รวมถึงการค้นพบ/ผลักดันหนุ่มหล่ออย่าง แม็ทธิว แม็คโคนอฮีย์ และ โคลิน ฟาร์เรลล์ ให้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ผ่านหนังอย่าง A Time to Kill และ Tigerland

ไบรอัน ซิงเกอร์: กลายเป็นผู้กำกับขวัญใจคอการ์ตูนหลังความสำเร็จอันงดงามของ X-Men, X2 และเกือบๆ จะงดงามของ Superman Returns แต่คออินดี้อาจจดจำเขาได้จาก The Usual Suspects ผลงานที่ทำให้ทุกคนตื่นตะลึงกับการหักมุมอันชาญฉลาด(ก่อนการมาถึงของ The Sixth Sense) และแผ่บารมีจน เควิน สเปซีย์ คว้าออสการ์ตัวแรกมาครอง ซิงเกอร์บอกว่าการเป็นเกย์และชาวยิวทำให้เขามีประสบการณ์ในฐานะ “ชนกลุ่มน้อย” แบบสองเด้ง โดยอิทธิพลข้างต้นได้ปริ่มล้นออกมาในหนังฟอร์มยักษ์อย่าง X2 (ฉากไอซ์แมนเปิดเผยตัวตนกับพ่อแม่) อย่างไรก็ตาม ซิงเกอร์วางแผนจะสร้างหนังเกย์เต็มตัวในเร็ววันนี้เรื่อง The Mayor of Castro Street ซึ่งเล่าเกี่ยวกับชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ นักการเมืองและนักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวเกย์ในซานฟรานซิสโกที่เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารเมื่อปี 1978

กัส แวน แซนท์: เริ่มต้นอาชีพด้วยการทำหนังเกย์อย่าง Mala Noche ก่อนจะก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าในขบวน New Queer Cinema ด้วยผลงานชั้นเยี่ยมอย่าง My Own Private Idaho แวน แซนท์เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ตั้งแต่เมื่อครั้งเข้าวงการใหม่ๆ แต่หนังของเขากลับไม่เคยพยายามจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดี หรือเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มรักร่วมเพศแม้เพียงนิด (เช่นเดียวกับหนังเรื่องอื่นในกลุ่ม New Queer Cinema ยุคต้นทศวรรษ 1990) หลังความสำเร็จในวงกว้างของ Good Will Hunting และความสำเร็จตามเทศกาลหนังของ Elephant แวน แซนท์ก็ตัดสินใจหวนคืนสู่รากเหง้าอีกครั้งใน Milk ผลงานล่าสุดที่จะเข้าฉายปลายปีนี้ เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ (ไม่รู้เวอร์ชั่นไหนจะเป็น Capote เวอร์ชั่นไหนจะเป็น Infamous)

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จะบอกว่าเอลเลนดัง+ประสบความสำเร็จมากกกกกในเมกา ถึงแม้จะโดนกระแสหนักหลังsitcomโดนถอน แต่ในที่สุดเค้าก็กลับมาได้ หลังจากNemoแล้วก็มี Talk Showเป็นของตัวเอง รางวัล Emmy, People's Choice Award, Teen's Choice Award โกยมาเพียบ คนดังๆชอบEllenกันหลายคนเพราะเค้าเป็นคนกล้า มีเมตตา จริงใจ แล้วก็มีอารมณ์ขัน ตัวอย่างง่ายๆทั้งBarrack และ Michelle Obama, Bill Clinton ต่างสนิทกับEllenกันทั้งนั้น อีกตัวอย่างนึงก็คือเค้าได้เป็นคน host Emmy2ครั้ง+Oscarอีก1ครั้ง น่าจะเป็น คนที่สร้างกระแสบวกให้LGBTเป็นอันดับ1เลย