วันจันทร์, มกราคม 28, 2551

Short Replay: ข้างหลังภาพ


ภูเขามิตาเกะสำหรับ ม.ร.ว. กีรติ (คารา พลสิทธิ์) และ นพพร (ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์) ก็ไม่ต่างจากภูเขาโบรกแบ็คของ แจ๊ค ทวิสต์ และ เอนนิส เดล มาร์ มันคือดินแดนที่ “กฎแห่งธรรมชาติ” มีอำนาจเหนือเหตุผลและศีลธรรมจรรยา มันคือดินแดนที่ความรักงอกเงยได้อย่างอิสระ เบ่งบานโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางชนชั้น หรือสายตาของสังคม โศกนาฏกรรมที่ตามล้วนเป็นผลจากการที่พวกเขาทุกคนต้องเดินทางลงจากภูเขาแห่งนั้นเพื่อมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของคุณหญิงกีรติ ซึ่งถูกเลี้ยงดูให้อยู่ในกรอบระเบียบปฏิบัติอันเคร่งครัด ณ ยุคสมัยที่ผู้หญิงต้องเป็น “ผู้โคจรตามพระอาทิตย์” โดยปราศจากทางเลือกอื่นใด

ความรักจู่โจมเธอโดยไม่ทันตั้งตัว ในห้วงเวลาที่เธอคิดว่าตนเองคงอาภัพเกินกว่าจะได้พบเจอมันในชีวิตนี้ แน่นอน เธอเปิดใจยอมรับมัน แต่ขณะเดียวกันสมบัติ “ผู้ดี” ซึ่งโดนปลูกฝังใส่หัวสมองมาตั้งแต่ยังเล็กก็คอยบอกกล่าวให้เธอเก็บกดการแสดงออกเอาไว้ไม่ให้ใครรับรู้ แม้กระทั่งผู้ชายคนที่เธอมอบความรักให้จนหมดหัวใจ แล้วอุทิศตนตามหน้าที่ของภรรยาตัวอย่างต่อไป กระนั้น ความเศร้าสลดที่แท้จริงเกิดขึ้นในอีกหลายปีหลังจากนั้น เมื่อชะตากรรมได้หยิบยื่นโอกาสให้คุณหญิงกีรติไขว่คว้าความรักกลับคืนมา (การเสียชีวิตของท่านเจ้าคุณ) แต่สุดท้ายเธอก็ปล่อยมันให้หลุดมือไปอีกโดยการคำนึงถึงเหตุผล มารยาทแห่งกุลสตรี และความเหมาะสมตามธรรมเนียมเป็นใหญ่ พิจารณาจากยุคสมัยและแบ็คกราวด์ของตัวละคร การตัดสินใจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ และเราคนดูก็ไม่อาจทำอะไรได้นอกจากมอบความสงสาร เห็นใจให้กับนกน้อยในกรงทองตัวนี้ ที่ไม่สามารถดิ้นหลุดจากกรอบความคิดที่สังคม (แบบชายเป็นใหญ่) มอบให้

วันพฤหัสบดี, มกราคม 10, 2551

Short Replay: O Brother, Where Art Thou?


ถึงแม้เครดิตจะอ้างว่าเรื่องราวในหนังดัดแปลงมาจาก The Odyssey ของ โฮเมอร์ แต่นอกจากชื่อตัวละครหลักบางตัว (โอดิซิส, เพเนโลป) และโครงเรื่องโดยคร่าวๆ แล้ว (การผจญภัยของชายหนุ่มขณะพยายามจะเดินทางกลับมาหาภรรยาอันเป็นที่รัก หลังพรากจากกันไปเนิ่นนาน) O Brother, Where Art Thou? หาได้มีอะไรอื่นใกล้เคียงกับต้นฉบับแม้แต่น้อย มันเป็นหนึ่งในผลงานกลุ่ม “ตลกโปกฮา” ของสองพี่น้องผู้กำกับ โจเอล และ อีธาน โคน เช่นเดียวกับ Raising Arizona, The Hudsucker Proxy และ The Big Lebowski ซึ่งแม้จะมี “แฟนคลับ” อยู่ไม่น้อย แต่โดยภาพรวมแล้วมักจะไม่ค่อยได้รับเสียงชื่นชมหรือการเหลียวแลจากเหล่านักวิจารณ์มากเท่าผลงานในกลุ่มฟิล์มนัวร์อย่าง Blood Simple, Miller’s Crossing, Fargo, Barton Fink, The Man Who Wasn’t There และล่าสุด คือ No Country for Old Men

จุดเด่นของ O Brother, Where Art Thou? ไม่ได้อยู่ตรงพล็อตเรื่อง ซึ่งแทบจะหาสาระไม่ค่อยได้ (นักโทษสามคนแหกคุกออกมาแล้วจับพลัดจับผลูกลายเป็นบอยแบนด์ชื่อดังในชั่วข้ามคืน) แต่อยู่ตรงการเนรมิตช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของอเมริกา (ยุคเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1930) ให้ออกมาในลักษณะเหนือจริงคล้ายเทพนิยายผสมการอ้างอิงวัฒนธรรมป็อปในแทบทุกรายละเอียด ผ่านงานกำกับภาพระดับเทพของ โรเจอร์ เดียกินส์ ซึ่งเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มาห้าครั้ง และซดแห้วไปทั้งห้าครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ และเพลงประกอบแนวบลูกราสสุดแสนไพเราะของ ที-โบน เบอร์เน็ตต์ (ซาวด์แทร็กหนังคว้ารางวัลแกรมมี่สาขาอัลบั้มแห่งปีมาครอง) หลายฉากในหนังจะติดตาคุณไปอีกนาน เช่น ฉากการเดินขบวนของกลุ่ม คู คลักซ์ แคลน หรือฉากไซเรนสาวสามนางซักผ้าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ (ในลีลากึ่งสโลว์โมชั่น) พลางร้องเพลง Didn’t Leave Nobody But the Baby พวกมันเป็นฉากที่ดูหลอกหลอน งดงาม และเปี่ยมเสน่ห์อย่างประหลาด เช่นเดียวกับหนังทั้งเรื่อง

หนังแห่งความประทับใจ


รักแห่งสยาม: นอกจากคุณค่าในตัวของมันเองแล้ว รักแห่งสยามยังช่วยกระเทาะปอกเปลือกให้เห็นทัศนคติเบื้องลึกของคนในสังคมจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับ “ความแตกต่าง” และ “ความเป็นอื่น”

Bridge to Terabithia: ทำไมถึงไม่มีใครก่นด่าการโปรโมตของหนังเรื่องนี้ ซึ่งเนื้อในหาใช่มหากาพย์แฟนตาซีดังคำโฆษณา แต่เป็นผลงานดราม่าเกี่ยวกับช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่นที่อบอุ่น งดงาม และจับใจ

The Lives of Others: ความมหัศจรรย์อยู่ตรงที่ผู้กำกับพยายามจะพูดถึงหลายสิ่งหลายอย่าง และประสบความสำเร็จอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบในทุกแง่มุม ส่วนฉากไคล์แม็กซ์ของหนังก็ถือว่าบีบคั้นหัวใจระดับสุดยอด

The Simpsons Movie: หลงรักครอบครัวตัวเหลืองมาตั้งนานหลายปีแล้ว ดูทีไรก็มีความสุขทุกที และการได้เห็นพวกเขากระโดดมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ก็เปรียบเหมือนความฝันที่กลายเป็นจริง

The Queen: ดูสนุกและลุ้นระทึกอย่างไม่น่าเชื่อ หนังพิสูจน์ให้เห็นว่าความนิยมชมชอบนั้นหาได้เกิดขึ้นจากอากาศธาตุ หากแต่ต้องลงแรงก่อสร้างด้วยความยากลำบาก และอาจจะยากยิ่งกว่าในการดำรงรักษามันไว้

ดาราชาย

มาริโอ้ เมาเร่อ (รักแห่งสยาม): ดูเหมือนไม่ได้เล่นอะไร แต่ความเป็นธรรมชาติที่เหมาะกับบทของเขาทำให้โต้งกลายเป็นตัวละครที่น่าสงสารเห็นใจอย่างยิ่ง

วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์ (รักแห่งสยาม): ได้ใจคนดูไปแบบเต็มร้อยกับฉากสุดท้ายของหนัง

ลีโอนานาโด ดิคาปริโอ (Blood Diamond): แมนมากๆ ในสไตล์เดียวกับพระเอกหนังยุคสตูดิโอรุ่งเรือง

ซาโตชิ ทสึมาบุกิ (Nada Sou Sou): อบอุ่น น่ารักเหนือคำบรรยาย

อูลริช มูห์ (The Lives of Others): การแสดงของเขาน่าจะเรียกได้ว่า “มหัศจรรย์”

ดาราหญิง

ลลิตา ปัญโญภาส (พลอย): แม้บทจะเต็มไปด้วยความหลากหลาย ซับซ้อนทางอารมณ์ จนบางครั้งถึงขั้นก้าวไปไกลเกินความ “สมจริง” แต่เธอกลับทำให้คนดูเชื่อตัวละครในทุกย่างก้าว

สินจัย เปล่งพานิช (รักแห่งสยาม): ทำไมเธอถึงไม่มีหนังให้เล่นมากกว่านี้

เฮเลน เมียร์เรน (The Queen): คู่ควรกับทุกรางวัลที่กวาดมา สีหน้าเธอตอนรู้ว่าช่อดอกไม้ของเด็ก ซึ่งยืนรอรับเสด็จอยู่หน้าพระราชวัง เป็นช่อดอกไม้สำหรับเธอนั้นถือว่าล้ำค่าเหนือราคาจริงๆ

เอเดรียนา บาร์ราซา (Babel): ฉากที่เธอให้ปากคำกับตำรวจสามารถทำให้คนดูหัวใจสลายได้เลย

รินโกะ คิคูชิ (Babel): หล่อนช่างกล้า

ความคิดเห็น

ผมชื่นชมและชื่นชอบผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทุกชิ้น (เท่าที่มีโอกาสได้ดู) แต่โดยส่วนตัวแล้วอาจกล่าวได้ว่า แสงศตวรรษ เป็นหนังที่มอบความสุขให้กับผมสูงสุด แน่นอน เช่นเดียวกับผลงานเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้า มันยังคงอัดแน่นด้วยอารมณ์ขัน ความท้าทายในเชิงการเล่าเรื่อง และประเด็นวิพากษ์สังคมอันลุ่มลึก แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ กลิ่นอายโรแมนติก ซึ่งถูกนำเสนอแบบไม่เร่งเร้า ไม่โน้มนำ จนมันค่อยๆ ซึมลึกสู่จิตสำนึก

ความที่มัน “ดูสนุก” และค่อนข้างเข้าถึงได้ง่าย (เทียบกับมาตรฐานของหนังอภิชาติพงศ์) เพราะพูดเกี่ยวกับเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ หลายคนจึงเชื่อว่าหนังเรื่องนี้น่าจะช่วยผลักดันให้ชื่อเสียงของผู้กำกับที่นักวิจารณ์ทั่วโลกพากันยกย่องขจรขจายในประเทศบ้านเกิดมากขึ้น แต่สุดท้าย อย่างที่เราส่วนใหญ่ทราบกันดี ความฟอนเฟะของระบบและความใจแคบของคนบางกลุ่มได้สกัดกั้นไม่ให้หนังเรื่องนี้เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความรู้สึกหวานปนขมอย่างบอกไม่ถูก ในแง่หนึ่ง ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ชมภาพยนตร์ฝีมือคนไทย ซึ่งงดงาม กล้าหาญ และเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขนาดนี้ (อันที่จริงหลังจาก สุดเสน่หา ผมก็ไม่ “ตื่นตะลึง” กับคุณภาพงานอันเหนือชั้นของหนังอภิชาติพงศ์อีกต่อไป แม้จะเซอร์ไพรซ์อยู่บ้างเมื่องานของเขายังสามารถพุ่งสูงเกินความคาดหวังอันลิบลิ่วของผมในบางครั้ง ดังเช่นกรณีของ แสงศตวรรษ) ดีใจที่ได้เห็นมันค้นพบที่ทางในระดับนานาชาติ แต่ขณะเดียวกันผมก็รู้สึกเสียใจกึ่งละอายใจ เมื่อพบว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยนอกจากจะมองไม่เห็นคุณค่าของเพชรเม็ดงามเบื้องหน้าแล้ว พวกเขายังขว้างมันทิ้งอย่างไม่แยแส