วันพุธ, มิถุนายน 25, 2551

Short Replay: The Comfort of Strangers


ถ้าคุณคิดว่าการพูดคุย ทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และเวนิซเป็นเมืองท่องเที่ยวแสนสวยที่เหมาะต่อการเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ The Comfort of Strangers คือ หนังสำหรับคุณ (โดยคุณอาจจะหา Don’t Look Now กับ Death in Venice มาดูควบคู่ไปด้วยก็ได้) มันดัดแปลงจากนิยายขายดีของ เอียน แม็คอีแวน (Atonement) และเป็นผลงานกำกับของ พอล ชเรเดอร์ (Affliction)... เพียงเท่านี้คุณอาจจะพอคาดเดาได้แล้วว่าโทนอารมณ์โดยรวมของหนังจะมืดหม่นขนาดไหน

เรื่องราวของคู่รักหนุ่มหล่อสาวสวยชาวอังกฤษ โคลิน (รูเพิร์ต เอเวอเร็ตต์) กับ แมรี่ (นาตาชา ริชาร์ดสัน) ที่ตัดสินใจเดินทางมาเวนิซเพื่อฉีดกระตุ้นความกระชุ่มกระชวยให้ชีวิตรักที่กำลังเหี่ยวเฉา เฉยชา แต่คืนหนึ่งระหว่างเดินเล่นไปตามตรอกซอกซอยอันซับซ้อน พวกเขาเกิดหลงทาง ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจาก โรเบิร์ต (คริสโตเฟอร์ วอลเกน) ชายแปลกหน้าซึ่งต่อมาเริ่มตีสนิท พร้อมชักชวนคู่รักให้เดินทางไปเยี่ยมชมบ้านพักสุดหรูและทำความรู้จักกับภรรยาของเขา คาโรไลน์ (เฮเลน เมียร์เรน) ผู้มีบุคลิกแปลกพิลึก ชวนพิศวงไม่ต่างจากสามี

บรรยากาศชวนสะพรึง ตลอดจนความรู้สึกเหมือนมีบางอย่างชั่วร้ายซุกซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกนอกที่ดูปราศจากพิษภัยทำให้คนดูคาดเดาได้ไม่ยากว่าชะตากรรมสุดท้ายของตัวละครจะต้องเผชิญกับความสยองอย่างแน่นอน (ขณะเดียวกันการแสดงอันน่าจดจำของวอลเกนก็ทำให้เราตระหนักว่า คงมีแต่คนสติไม่ดีเท่านั้นที่ “อยาก” ทำความรู้จักกับเขา) แต่เมื่อนาทีดังกล่าวมาถึงแบบฉับพลัน มันก็ยังสร้างความรู้สึกช็อคได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ

แบทแมนกับแฟนตาซีรักร่วมเพศ


เมื่อครั้งที่กระแสของหนังชายรักชายสุดอื้อฉาวเรื่อง Brokeback Mountain กำลังพุ่งทะลักจุดแตก นักข่าวชื่อดัง บาร์บารา วอลเตอร์ เคยถาม จอร์จ คลูนีย์ ว่าเป็นเขาจะยอมแสดงบทคาวบอยเกย์หรือไม่ หากมีคนมาเสนอ คำตอบของซูเปอร์สตาร์ขวัญใจฮอลลีวู้ด คือ “ผมเคยเล่นเป็นเกย์มาแล้ว ผมต้องสวมชุดยาง มีหัวนมยาง ผมสามารถจะทำให้แบทแมนเป็นผู้ชายก็ได้ แต่ผมเลือกจะเล่นบทนั้นเป็นเกย์”

คำตอบกวนๆ ของคลูนีย์หาได้สร้างความประหลาดใจแก่คนส่วนใหญ่ เนื่องจากไอเดียเกี่ยวกับนัยยะรักร่วมเพศในการ์ตูนชุดแบทแมนนั้นเริ่มวนเวียนอยู่ในกระแสความสนใจมานานหลายทศวรรษ ขณะเดียวกันชุมชนชาวเกย์และเลสเบี้ยนต่างก็เคยสรรเสริญการตัดสินใจของ โจเอล ชูมัคเกอร์ (ผู้กำกับ Batman Forever และ Batman & Robin) ในการออกแบบชุดแบทแมนให้กระชับรัดแน่น แถมยังเน้นย้ำสัดส่วนเพศชายเป็นพิเศษ พร้อมด้วยหัวนมยาง บั้นท้ายกลมกลึง และกระจับนูนตรงส่วนสำคัญ

อาจกล่าวได้ว่าจุดเชื่อมโยงระหว่างแบทแมนกับรักร่วมเพศนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 1954 เมื่อนักจิตวิทยา เฟรดริค เวอร์แธม ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Seduction of the Innocent เพื่อสะท้อนจุดยืนแบบอนุรักษ์นิยมว่า อาชญากรรม ตลอดจนความรุนแรงในหนังสือการ์ตูนนั้นจะส่งอิทธิพลจนเด็กนำไปเลียนแบบ ล้างสมองให้ระดับศีลธรรมของเหล่าเยาวชนบิดเบี้ยว บิดเบือน พร้อมทั้งยกตัวอย่างหนังสือการ์ตูนหลายเล่ม แต่ประเด็นที่สร้างกระแสฮือฮามากสุดคงหนีไม่พ้นการที่เวอร์แธมใช้พื้นที่สี่หน้ากระดาษเพื่อวิพากษ์ “รสนิยมทางเพศ” ของแบทแมนกับโรบิน

“พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกันในคฤหาสน์สุดหรู ประดับตกแต่งด้วยแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ พร้อมสรรพด้วยพ่อบ้าน” เวอร์แธมเขียน “มันเหมือนความฝันของการอยู่ร่วมกันระหว่างชายรักร่วมเพศสองคน” ก่อนจะสรุปตบท้ายว่า “เรื่องราวแบบที่เห็นในการ์ตูนแบทแมนอาจกระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการรักร่วมเพศ”

นอกจากนี้ เวอร์แธมยังตั้งข้อสังเกตอีกหลายประเด็น เช่น

• บางครั้งโรบินจะถูกจับขังในกรง ถูกมัด หรือติดกับดักของผู้ร้าย และต้องรอคอยให้แบทแมนมาช่วยเหลือเหมือนพวกนางเอกในนิยายอาชญากรรมอื่นๆ พวกเขาทั้งสองต้องคอยพึ่งพากันและกัน เวอร์แธมกล่าวว่าอันตรายอยู่ตรงการถูกกระตุ้นโดยสถานการณ์ซึ่งอาจหันเหไปสู่การกระตุ้นทางเพศได้ เขาเรียกเรื่องราวในลักษณะนี้ว่า “แฟนตาซีอีโรติกของการช่วยชีวิต” และมันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โรบินต้องอุทิศตัวแก่แบทแมนมากกว่าใครอื่นบนโลก

• แบทแมนกับโรบินต้องเป็นรักร่วมเพศเพราะในบ้านของพวกเขาปราศจากผู้หญิง พวกเขาต่างอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีแรงผลักดันทางเพศ การปราศจากแหล่งระบายที่เหมาะสม (นั่นคือ ภรรยา) ย่อมทำให้พวกเขาลงเอยด้วยการระบายแรงกระตุ้นทางเพศต่อกันและกัน

• บรูซ เวย์น ชอบสวมชุดนอนและชุดผ้าคลุมยาวในบ้าน แล้วนั่งแนบชิดบนโซฟาเดียวกันกับเด็กหนุ่มในการดูแลของเขา ส่วน ดิ๊ก เกรย์สัน บ่อยครั้งก็มักจะนั่งอยู่ข้างเตียงบรูซ เวลาผู้พิทักษ์ของเขาได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้

แม้ข้อเขียนของเวอร์แธมจะถูกวิจารณ์อย่างหนักในปัจจุบันว่าล้าสมัย ไร้เหตุผล มองภาพแบบเหมารวม และกระทั่งเปี่ยมกลิ่นอายของอคติต่อรักร่วมเพศ (ต้องไม่ลืมว่าในยุคนั้น รักร่วมเพศยังถูกมองว่าเป็นความผิดปกติทางจิต และจะเป็นเช่นนั้นมาจนถึงทศวรรษ 1970 ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลาที่เวอร์แธมเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว แนวคิดของเขาจึงถือว่าอยู่ในกระแสหลัก) แต่ไอเดียที่เขาเป็นคนจุดประกายไว้กลับค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่จิตสำนึกของผู้คน ส่งผลให้เกิดการค้นหาอารมณ์โฮโมอีโรติกที่ซุกซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดในการ์ตูนชุดแบทแมนอย่างกว้างขวาง เช่น ข้อกังขาเกี่ยวกับเรื่องชื่อตัวละครทั้ง ดิ๊ก (Dick) ซึ่งไปพ้องกับคำว่าอวัยวะเพศชายในภาษาอังกฤษ และโรบิน ซึ่งให้ความรู้สึกของเพศหญิง (อันที่จริงในอดีต โรบินถือว่าเป็นชื่อผู้ชาย ย่อมาจาก โรเบิร์ต เช่น โรบิน ฮู้ด) ความหลงใหลในชุดหนัง หน้ากากหนังของแบทแมน นัยยะของมนุษย์ค้างคาว ซึ่งมักจะออกต่อสู้กับเหล่าอธรรมในยามค่ำคืน ดุจเดียวกับกลุ่มรักร่วมเพศที่ชื่นชอบแสงสีตามผับบาร์ เนื่องจากมันเป็นสถานที่เดียวที่พวกเขาสามารถเป็น “ตัวเอง” ได้มากสุด หรือบุคลิก “คนนอก” กับบุคคล “สองบุคลิก” (กลางวันเป็นเศรษฐี กลางคืนเป็นมนุษย์ค้างคาว) ซึ่งสามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้กับกลุ่มรักร่วมเพศได้ไม่น้อย (เกย์กับเลสเบี้ยนเป็นชนกลุ่มน้อย และหากยังไม่เปิดเผยตัว พวกเขาก็จำต้องใช้ชีวิตแบบสองหน้า ปิดบังตัวตนที่แท้จริง)

ดีซี คอมิกส์ ตระหนักใน “กระแส” ดังกล่าวและพยายามจะเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการเพิ่มตัวละครอย่าง เคธี เคน (แบทวูเมน) และ เบ็ตตี้ เคน (แบทเกิร์ล) เข้ามาในเรื่องราวเพื่อแสดงให้เห็นว่าทั้งสองหนุ่มโสดยังปรารถนาเพศหญิง แต่ดูเหมือนแผนดังกล่าวจะกลายเป็นดาบสองคม เมื่อมันถูกตีความไปในทางตรงข้าม เช่น เมื่อบรูซถูกจับเข้าคุกด้วยความเข้าใจผิด ส่งผลให้แบทวูเมนก้าวขึ้นมาเป็นเจ้านายของโรบิน ไม่นาน ดิ๊ก เกรย์สัน ก็เริ่มฝันร้าย ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นหน้าปกของการ์ตูนแบทแมนฉบับเดือนมีนาคม 1959 พร้อมจั่วหัวว่า “การแต่งงานของแบทแมนกับแบทวูเมน” ในภาพคนอ่านจะเห็นสองคู่รักเดินออกจากโบสถ์ด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข โดยมีโรบินยืนมองอยู่ข้างๆ พร้อมกับนึกในใจว่า “พระเจ้า! จากนี้ไปเราจะกลายเป็นอะไร”

ดูเหมือนความพยายามของทาง ดีซี คอมิกส์ ที่จะบอกว่า แบทแมนเป็นชายแท้ทั้งแท่งกลับบ่มเพาะความรู้สึกวิตกกังวลในหมู่คนอ่านว่า แบทวูเมนคือส่วนเกินที่เข้ามาคุกคาม ขัดขวาง “มิตรภาพ” และ “ความจงรักภักดี” ระหว่างแบทแมนกับโรบิน

การต่อสู้ขัดขืนระหว่าง ดีซี คอมิกส์ กับนัยยะโฮโมอีโรติกในการ์ตูนแบทแมนดูเหมือนจะยืดเยื้อยาวนานมาจนกระทั่งปัจจุบัน สองตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ การที่ ดีซี คอมิกส์ ปฏิเสธไม่ยอมให้ คริสโตเฟอร์ ยอร์ค นำเอาการ์ตูนบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำในงานเขียนของเขาเรื่อง All in the Family: Homophobia and Batman Comics in the 1950s เมื่อปี 2000 จากนั้นในปี 2005 ดีซี คอมิกส์ ก็ข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศิลปิน มาร์ค แชมเบอร์เลน หากเขาตัดสินใจจัดแสดงคอลเล็กชั่นภาพวาดสีน้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของแบทแมนกับโรบินทั้งในแบบ “ส่อนัยยะ” และแบบ “โจ่งครึ่ม” ทางเพศ


อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวาดการ์ตูนอย่าง อลัน แกรนท์ ข้อสังเกตของเวอร์แธมและคนอื่นๆ ดูเหมือนจะเป็นการตีความตามแต่ใจ “แบทแมนที่ผมเขียนมานาน 13 ปีไม่ใช่เกย์ แบทแมนของ เดนนี่ โอ’นีล ของ มาร์ฟ วูล์ฟแมน และของทุกๆ คนย้อนหลังไปจนถึง บ็อบ เคน (ผู้ให้กำเนิดแบทแมน)... ทั้งหมดล้วนไม่เคยตั้งใจจะเขียนให้แบทแมนเป็นเกย์ คงมีเพียง โจเอล ชูมัคเกอร์ เท่านั้นที่เห็นแตกต่าง”

ต้นกำเนิดของ Batman Forever เกิดจากเสียงประท้วงของบรรดาพ่อแม่ทั้งหลาย ซึ่งเห็นว่า Batman Returns ของ ทิม เบอร์ตัน มืดหม่นและรุนแรงเกินไปสำหรับเด็ก ดังนั้นเพื่อลดทอนข่าวอื้อฉาว สตูดิโอ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส จึงตัดสินใจหันมาใช้บริการของ โจเอล ชูมัคเกอร์ ผู้กำกับเกย์ที่เคยมีผลงานน่าพอใจอย่าง The Lost Boys, Flatliners และ Falling Down แทน ด้วยความหวังว่าเขาจะช่วยผลักดันให้แบทแมนกลายเป็นหนัง “สำหรับทุกคนในครอบครัว” แต่บรรดาผู้บริหารสตูดิโอคงไม่ทันนึกถึงผลพวงอื่นๆ ที่อาจตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์โฮโมอีโรติกซึ่งดุเดือดเลือดพล่านจนเกือบไม่ใช่แค่ “นัยยะ” อีกต่อไป เริ่มต้นตั้งแต่การติดหัวนมให้กับชุดแบทแมน (ชูมัคเกอร์บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้นเทพเจ้ากรีก) ไปจนถึงประโยคส่อๆ ของ ดิ๊ก เกรย์สัน อย่างเช่น “เราไม่ใช่แค่เพื่อน แต่เราเป็นคู่หูกัน” (คำว่า partner ในภาษาอังกฤษมีความหมายถึงคู่ชีวิตได้ด้วย และกลุ่มเกย์กับเลสเบี้ยนก็นิยมใช้คำนี้ในลักษณะขั้นกว่าของแฟน (boyfriend) เทียบเท่ากับคำว่า สามีภรรยา สำหรับกลุ่มรักต่างเพศนั่นเอง)

ในยุคสมัยที่คำว่า เมโทรเซ็กช่วล ยังไม่ค่อยแพร่หลาย คำเดียวที่สามารถอธิบายทรงผม เสื้อผ้า (แจ๊กเก็ตหนัง เสื้อยืดรัดรูป) และรูปลักษณ์ (เจาะหู) ของ ดิ๊ก เกรย์สัน (คริส โอ’ดอนเนลล์) ได้ ก็คือ “เกย์” ขณะเดียวกัน วาล คิลเมอร์ ซึ่งรับบทเป็น บรูซ เวย์น ก็มักจะต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัวทุกครั้งเวลาเขาฉากกับโอ’ดอนเนลล์ เช่น ตอนที่เขาเปลือยหน้าอกและห่มผ้าเช็ดตัวคลุมท่อนล่างระหว่างทำการรักษาบาดแผล ตรงข้ามกับฉากรักปลอดสารตกค้างระหว่างเขากับ นิโคล คิดแมน ซึ่งบรูซยังคงสวมเสื้อผ้าเต็มยศ ที่สำคัญ กล้องดูเหมือนจะไม่เต็มใจใช้ประโยชน์จากเรียวขา หรือเนินอกของคิดแมนในแบบที่ “หนังผู้ชาย” ส่วนใหญ่นิยมทำสักเท่าไหร่ สิ่งเดียวที่คนดูเห็นแบบจะๆ กลับกลายเป็นภาพโคลสอัพแผงอกยาง (ติดหัวนม) และก้นยางกลมกลึงของแบทแมน!

ถ้าภาพลักษณ์ของแบทแมนกับโรบินใน Batman Forever ให้ความรู้สึก “เก๊... เกย์” คำเดียวที่น่าจะเหมาะกับตัวละครอย่างมนุษย์เจ้าปัญหา (จิม แคร์รี่ย์) ก็คือ “กะเทย” แต่เนื่องจากริดเลอร์เป็นวายร้าย ภาพเขาสวมชุดยางยืดรัดรูปสีเขียว ใส่มงกุฎเพชร แสดงท่าทางโบกสะบัดมือไม้ แขนขา แล้วนั่งบนบัลลังก์ดุจราชินีจึงไม่สร้างความรู้สึกคุกคามต่อคนดูรักต่างเพศเท่าใดนัก อันที่จริง มันอาจช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์โฮโมอีโรติกระหว่างสองพระเอกด้วยซ้ำ จนนำไปสู่การปลอบใจตัวเองว่า “ถ้าผู้ร้ายเป็นเกย์ พระเอกก็ต้องเป็นชายแท้” นอกจากนี้ ปฏิกิริยาแบบสุดโต่งของ เอ็ดเวิร์ด นิกมา (ก่อนเขาจะกลายเป็นริดเลอร์) หลังถูก บรูซ เวย์น บุรุษที่เขาลุ่มหลง หมกมุ่นมาตลอดเรื่อง ตอบปฏิเสธยังสะท้อนนัยยะของเกย์ที่ถูกชายแท้ปฏิเสธอีกด้วย (“แต่เราเป็นเหมือนกัน คุณควรจะเข้าใจความรู้สึกของผมสิ” เอ็ดครวญด้วยน้ำเสียงสุดเศร้า)


หากจะพูดโดยสรุป ทั้ง อลัน แกรนท์ และ โจเอล ชูมัคเกอร์ ล้วนมีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก และเชื่อได้ว่า บ็อบ เคน เองก็คงจะสร้างการ์ตูนชุดแบทแมนขึ้นโดยปราศจากความตั้งใจที่จะให้ตัวละครดูเป็น “เกย์” แต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อสังคมพัฒนาความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อมนุษย์ทุกคนเริ่มถูกตีตราให้เป็นโน่นเป็นนี่ต่างๆ นานา พฤติกรรมบางอย่างย่อมถูกสงวนให้เป็นสิทธิเฉพาะสำหรับบางกลุ่มบางพวก เช่น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 การสัมผัสเนื้อตัวระหว่างผู้ชายสองคนถือเป็นเรื่องปกติ เป็นการแสดงออกถึงความอบอุ่น ความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์สองคน และอาจสะท้อนแรงปรารถนาทางเพศได้ด้วย แต่เมื่อสังคมยุคนั้นยังปราศจากความหวาดกลัวการถูกตีตรา “โฮโมเซ็กช่วล” ผู้ชายจึงไม่วิตกกังวลว่าการสัมผัสเนื้อตัวจะมีความหมายอื่นใด นอกจากเพื่อแสดงความรักอันลึกซึ้งต่อกัน แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ภาพของผู้ชายสองคนเดินจับมือกันย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมรักร่วมเพศ ส่งผลให้ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่กล้าจะสัมผัสเนื้อตัวเพื่อแสดงความรักใคร่ ใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนในอดีตอีกต่อไป ด้วยกลัวว่ามันจะส่งสัญญาณ “เกย์” ไปยังคนรอบข้าง

ก่อนการมาถึงของหนังสือเรื่อง Seduction of the Innocent มิตรภาพแบบพลาโตนิกระหว่างแบทแมนกับโรบินเปรียบดังอุดมคติแห่งความรัก ความผูกพันระหว่างเพศชายในยุคแห่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาทางเพศ เทียบแล้วคงไม่ต่างจากความผูกพันระหว่างเพื่อนทหารในช่วงสงครามโลก หรือมิตรภาพแน่นแฟ้นระหว่างโฟรโดกับแซมในนิยายมหากาพย์ The Lord of the Rings แต่ เฟรดริค เวอร์แธม ได้ฉีกทึ้งภาพลักษณ์เหล่านั้นจนหมดสิ้น พร้อมทั้งพยายามประณามพฤติกรรมรักร่วมเพศว่าจะนำความเสื่อมทรามมาสู่วัยรุ่น ไม่ต่างจากการนำเสนอภาพอาชญากรรมและความรุนแรงในหนังสือการ์ตูน...

ไม่ต้องสงสัยว่าความคิดดังกล่าวต่างหากที่เป็นอันตรายยิ่งกว่าการค้นพบ “แฟนตาซีรักร่วมเพศ” ในการ์ตูนชุดแบทแมนหลายเท่านัก

วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 12, 2551

Short Replay: Field of Dreams


คุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากมายเกี่ยวกับเบสบอลก็สามารถชื่นชอบหนังเรื่องนี้ได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็เรียกร้องให้คุณยังคงมีศรัทธาในมนุษย์หลงเหลืออยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หากคุณเป็นแฟนหนังของ ไมเคิล ฮาเนเก้ นี่คือผลงานที่คุณควรหลีกเลี่ยงให้ไกล มันเล่าเรื่องราวเรียบง่ายของชาวไร่หนุ่ม (เควิน คอสเนอร์) ที่วันหนึ่งเกิดได้ยินเสียงประหลาดบอกให้เขาสร้างสนามเบสบอลกลางไร่ข้าวโพด แล้ว “เขา” จะกลับมา แรกทีเดียวชาวไร่เข้าใจว่า “เขา” ในที่นี้หมายถึง ชูเลส โจ แจ๊คสัน (เรย์ ริออตตา) และนักเบสบอลอีกเจ็ดคนของทีม ชิคาโก้ ไวท์ ซ็อกซ์ ซึ่งโดนโทษแบนตลอดชีวิตในข้อหาล้มบอล แต่ไม่นานชาวไร่กลับได้เรียนรู้ว่า “เขา” นั้นหมายถึงใครบางคนที่ใกล้ชิด ส่งผลให้ชาวไร่ได้มีโอกาสไถ่บาปและรักษาบาดแผลในใจ ซึ่งคอยกัดกินเขามาตลอด

Field of Dreams เป็นหนังประเภทที่ไม่เกรงกลัวจะกดปุ่ม sentimental ส่งผลให้ปฏิกิริยาคนดูสามารถดำเนินไปแบบสุดขั้วได้ทั้งสองทาง นั่นคือ ซาบซึ้ง หรือ “ขนลุก” ขึ้นอยู่กับว่าคุณยอมจะยอมเปิดใจให้กับหนังมากแค่ไหน (จัดอยู่ในข่ายเดียวกับ The Classic) อย่างไรก็ตาม หนังได้ประโยชน์จากทีมนักแสดงสมทบชั้นยอด (เอมี่ เมดิแกน ในบทภรรยาผู้เชื่อมั่นและสนับสนุนความฝัน ตลอดจนสัญชาตญาณของสามีแบบเต็มร้อย เบิร์ท แลงคาสเตอร์ ในบทคุณหมอที่พลาดโอกาสเล่นเบสบอลในลีกอาชีพ และ เจมส์ เอิร์ล โจนส์ ในบทนักเขียนที่เกษียณตัวเองจากวงการ) ซึ่งช่วยสร้างสมดุลให้แง่มุมแฟนตาซีดูติดดิน หนักแน่น แล้วโน้มนำคนดูไปสู่ปาฏิหาริย์ในตอนท้ายได้อย่างราบรื่น

Wonderful Town: คนเหงาในเมืองเศร้า


กว่าเหตุการณ์สึนามิจะถูกเอ่ยอ้างถึงอย่างเป็นรูปธรรมใน Wonderful Town หนังก็ดำเนินไปได้ครึ่งค่อนทางแล้ว (แถมยังเป็นการพูดแบบผ่านๆ อีกด้วย ก่อนจะปรากฏบทสนทนาที่เป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นในช่วงท้ายเรื่อง) กระนั้นคนดูกลับสามารถ “สัมผัส” ได้ถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าวอยู่ลึกๆ ตั้งแต่ภาพแรกของหนัง ซึ่งแสดงให้เห็นเกลียวคลื่นซัดกระทบชายหาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันอาจไม่รุนแรง เกรี้ยวกราด แต่การตั้งกล้องในระยะใกล้ก็ช่วยสร้างอารมณ์คุกคามได้ไม่น้อย เพราะเราไม่อาจมองเห็นว่าระดับคลื่นลูกต่อไปจะหนักเบาเพียงใด มันอาจพัดพาเอาความหายนะอันคาดไม่ถึงมาแบบฉับพลัน เฉกเช่นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

และถึงแม้หนังจะถูกตัดมายังช็อตต่อไปแล้ว (ภาพใบหน้าระยะโคลสอัพของตัวละครขณะนอนงีบหลับตรงเคาน์เตอร์ของโรงแรมกลางเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลจากชายหาด) แต่เสียงประกอบของเกลียวคลื่นยังคงดังต่อเนื่องอีกชั่วครู่ราวกับจะบอกว่า เหตุการณ์วันนั้นยังคงฝังรากลึกในจิตใจของผู้คน ก่อนได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อภาพช็อตแรกถูกนำมาตัดแทรกในฉาก นา (อัญชลี สายสุนทร) ร่วมรักกับ ต้น (ศุภสิทธ์ แก่นเสน)

ตลอดทั้งเรื่องเหตุการณ์สึนามิดูเหมือนจะล่องลอยไปมาคล้ายวิญญาณ แล้วผุดโผล่ให้เห็นเป็นครั้งคราวผ่านบทสนทนาบางช่วงตอน ผ่านซากปรักหักพังริมชายหาด ซึ่งถูกปล่อยให้รกร้างจนกลายเป็นความเชื่อว่ามีผีสิง กาลเวลาได้ช่วยเยียวยาบาดแผลบางส่วน และความพยายามจะฝังกลบอดีตอันเจ็บปวดก็กำลังก่อตัวอย่างรวดเร็วผ่านโครงการเร่งสร้างรีสอร์ทใหม่มาแทนที่ของเดิม

แต่จิตใจและจิตวิญญาณของผู้คนจะสามารถชุบเลี้ยงขึ้นใหม่ได้ในชั่วข้ามเดือนข้ามปีดุจเดียวกับบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างทั้งหลายหรือ?

บรรยากาศของเมืองตะกั่วป่าในหนังเรื่อง Wonderful Town ให้ความรู้สึกเหมือนสภาพของตัวละครที่เพิ่งจะผ่านภาวะกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงมา และได้ก้าวข้ามปฏิกิริยาช็อคในช่วงแรก (ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติเหมือนก่อนหน้า ขณะที่ซากตกค้างจากหายนะก็หลงเหลืออยู่เพียงไม่มาก) ไปสู่ขั้นตอนของอาการซึมเศร้า หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง กล่าวคือ มันกลายเป็นเมืองชายทะเลที่ซบเซา ปราศจากนักท่องเที่ยว ภาพความรื่นเริง งานเลี้ยง หรือการพบปะสังสรรค์ถูกจำกัดให้เหลือศูนย์ หลายฉากนอกตัวอาคารแทบจะว่างเปล่ารกร้างผู้คน ท้องถนนโปร่งโล่งปราศจากรถรา ขณะท้องฟ้าก็มักจะครึ้มเมฆ และมีสายฝนเทกระหน่ำเป็นครั้งคราว (สภาวะปิดกั้นจากโลกภายนอกดังกล่าวยังสะท้อนผ่านภูมิประเทศของเมืองตะกั่วป่า ซึ่งด้านหนึ่งเป็นภูเขา ส่วนอีกด้านเป็นทะเล จนนาตั้งข้อสังเกตว่ามันให้ความรู้สึกเหมือนกำลัง “ติดกับ”)

สิ่งเดียวซึ่งดูขัดแย้งกับบรรยากาศเงียบสงบและหม่นเศร้าของเมืองตะกั่วป่า คือ ภาพแก๊งวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามท้องถนนเพื่อฆ่าเวลาจากชีวิตอันไร้จุดหมาย พวกเขาเปรียบดังตัวแทนของอารมณ์โกรธแค้นที่ยังคุกรุ่นอยู่ข้างใต้พื้นผิวอันราบเรียบ รอวันจะปะทุขึ้นมา

ฉากหลังของหนังสอดคล้องประดุจภาพวาดที่ยั่วล้อสภาพจิตใจของเหล่าตัวละคร หลังต้องเจ็บปวด บอบช้ำกับความสูญเสียและกำลังพยายามมองหาความสงบ มองหาจุดคลี่คลายให้กับชีวิต โดยแต่ละคนล้วนมีปฏิกิริยาหรือวิธีรับมือกับวิกฤติแตกต่างกันไป สำหรับนา เธอเลือกจะก้มหน้าแบกรับภาระบริหารโรงแรมในเมืองเพียงลำพังหลังพ่อแม่ตายจากไป ชีวิตของเธออัดแน่นด้วยกิจวัตรของการทำความสะอาดโรงแรม เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ตากผ้า ซื้อผลไม้ให้อาม่า และรับส่งหลานชายที่โรงเรียนจนไม่เหลือเวลาเป็นของตัวเอง คนดูได้เห็นเธอหมุนเคลื่อนตามภารกิจเหล่านั้นด้วยท่าทีเรียบเฉย เหนื่อยหน่าย และแม้กระทั่งการออกไปช็อปปิ้งซื้อข้าวของส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นที่คาดผมก็หาได้สร้างความสุขสดชื่นให้เธอมากนัก เปรียบไปแล้วเธอคงไม่ต่างจากสภาพเมืองตะกั่วป่าอันหงอยเหงา ปิดกั้น และจมปลักอยู่กับตัวเอง

วิทย์ (ดล แย้มบุญยิ่ง) ดูจะได้รับผลกระทบจากสึนามิมากกว่าใคร ภาพหายนะในวันนั้นยังวนเวียนอยู่ในหัวเขา (สะท้อนผ่านบทสนทนาระหว่างเขากับต้นในช่วงท้ายเรื่อง) แต่แทนการเติมเต็มวันเวลาด้วยกิจวัตร วิทย์กลับเลือกจะปล่อยชีวิตว่างเปล่า ไร้จุดหมาย แล้วดื่มด่ำไปกับอารมณ์คับแค้น โกรธขึ้ง ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะผู้คนที่ต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่บ่อยครั้งมักรู้สึกว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ยุติธรรม เขาไม่เข้าใจได้ว่าเหตุใดมันจึงเกิดขึ้น และทำไมมันถึงต้องเกิดขึ้นกับเขา สภาพอารมณ์ของวิทย์ก็ไม่ต่างจากท้องฟ้าครึ้มเมฆในเมืองตะกั่วป่าก่อนการมาถึงของพายุและสายฝน มันคุกรุ่น ขมุกขมัว และพร้อมจะร้องคำรามได้ทุกเวลา

ต้นอาจไม่ใช่คนท้องถิ่นและรับรู้ข่าวเกี่ยวกับสึนามิผ่านทางโทรทัศน์เช่นเดียวกับชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ แต่เขาเองก็พกพาบาดแผลมายังเมืองตะกั่วป่าเช่นกัน วิธีรับมือของเขา คือ วิ่งหนีปัญหาและปฏิเสธการเผชิญหน้า เขาเลือกอาสาสมัครมาภาคใต้ทั้งที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากมาเพราะเขาไร้ความสุขกับปัจจุบัน เขาคิดว่าสภาพแวดล้อมอันแตกต่างจะช่วยให้เขาทำใจลืมอดีตอันปวดร้าว แม้ว่ามันจะยังคงทิ้งซากตกค้างให้เห็นตำตา เช่นเดียวกับบ้านปรักหักพังข้างๆ โครงการรีสอร์ทใหม่ ซึ่งต้องเร่งสร้างให้เสร็จภายในหนึ่งปี

การก่อตัวขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างต้นกับนาดูจะให้อารมณ์แตกต่างจากภาพความรักโรแมนติกในแบบที่เราคุ้นเคย แม้ว่าหนังจะมี “ฉากบังคับ” ปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ฉากคู่รักขี่มอเตอร์ไซค์ชมวิวพร้อมเสียงเพลงรักดังกระหึ่ม ตรงกันข้าม โรแมนซ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนความพยายามจะไขว่คว้าบางอย่างมาช่วยบำบัดความเปลี่ยวเหงาเสียมากกว่า พวกเขาไม่เคยเอ่ยถึงอนาคตร่วมกัน นาไม่คิดจะขายโรงแรม แล้วย้ายไปตั้งต้นชีวิตใหม่ แม้ว่าเธอจะเรียนจบมหาวิทยาลัยและชอบพร่ำบ่นว่าต้องแบกรับภาระในการดูแลโรงแรม นอกจากนี้ เมื่อข่าวลือเกี่ยวกับความสัมพันธ์เริ่มแพร่กระจาย เธอกลับวิตกกังวล แล้วนึกไม่อยากให้มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ในฉากหนึ่ง นากล่าวหาน้องชายว่าจมปลักอยู่กับที่ ขณะคนอื่นๆ เดินหน้าต่อไปแล้ว แต่สุดท้ายเธอก็ถูกเขาสวนกลับด้วยข้อหาเดียวกัน

คุณสมบัติเดียวกันนั้นสามารถใช้อธิบายต้นได้เช่นกัน โดยหากมองจากภายนอกเขาอาจดูเป็นชายรักอิสระที่ไม่ยี่หระต่อสิ่งใด สังเกตได้จากมาดสบายๆ ของเขาเวลาเกี้ยวพาราสีหญิงสาว หรือการที่เขาตัดสินใจอาสามาดูงานที่ภาคใต้นานหลายเดือนทั้งที่ไม่รู้จักใครในละแวกนี้ หรือเมื่อเขาบอกปัดความกังวลของนาเกี่ยวกับ “ปากคน” อย่างไม่ใส่ใจ (สาเหตุหนึ่งเพราะเขาไม่ใช่และไม่คิดจะเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น?) รวมไปถึงเหตุการณ์ทุบรถ ซึ่งเขายืนกรานจะไม่แจ้งความกับตำรวจ

แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป หนังกลับค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นด้านเปราะบางของต้น ไม่ว่าจะเป็นแผลบาดหมางระหว่างเขากับพ่อ หรือพิษบอบช้ำจากรักในอดีต ซึ่งเขาเพิ่งรวบรวมความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเผชิญหน้าในช่วงท้ายเรื่อง นอกจากนี้ ฉากดังกล่าวยังเปิดเผยให้เห็นว่าต้นไม่ได้คิดจริงจังกับโรแมนซ์ครั้งใหม่ (เขาหลบมาโทรศัพท์หลังจากหลับนอนกับนา) มันเป็นเพียงทางผ่าน เป็นหนึ่งในขั้นตอนบำบัดอดีตอันปวดร้าว ต้นอาจชื่นชมเมืองตะกั่วป่าว่าเงียบสงบ แต่เขาก็ไม่คิดจะตั้งรกรากอยู่นี่ เช่นเดียวกับชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ มันเป็นแค่ “แหล่งพักใจ” ชั่วคราว และสุดท้ายเขาก็จะหวนกลับไปหาความวุ่นวายที่เขาจากมาอยู่ดี

ช่องว่างที่มองไม่เห็นระหว่างต้นกับนาดุจคลื่นใต้น้ำท่ามกลางความเงียบสงบ (ฉากร่วมรักของทั้งสองหาได้อิ่มเอิบ สุขสันต์ หรือกระทั่งอีโรติก ตรงกันข้าม ภาพและดนตรีประกอบกลับทำให้มันดูลึกลับ มืดหม่น และเจือกลิ่นอายแห่งความเศร้าสร้อย) เปรียบไปแล้วคงไม่ต่างจากความรู้สึกของผู้กำกับ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ยามเมื่อเขาเดินทางไปยังตะกั่วป่า แล้วพบว่ามันกลับกลายเป็นเมืองสวยงามราวกับไม่เคยประสบพบเจอเหตุการณ์เลวร้ายมาก่อนเลย อย่างไรก็ตาม บางสิ่งบางอย่างกลับบอกเขาว่าทุกอย่างยังไม่ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนท้องถิ่น เขาไม่อาจชี้ชัดได้แน่ว่ามันคืออะไร และขณะเดียวกันก็ไม่พยายามจะทำความเข้าใจมันด้วยซ้ำ เนื่องจากมันเป็นระยะห่างที่ “คนนอก” ไม่อาจก้าวข้าม สิ่งเดียวที่เขาสามารถทำได้ คือ สังเกตการณ์

ด้วยเหตุนี้กระมัง ความรุนแรงอันฉับพลันและคาดไม่ถึงในช่วงท้ายเรื่องของ Wonderful Town จึงปราศจากคำอธิบาย หรือกระทั่งความพยายามที่จะอธิบาย มันเกิดขึ้น จบลง และแน่นอนว่าสักวันก็จะผ่านไป