วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 28, 2551

Short Replay: Cape Fear


ก่อนหน้าการรีเมคที่ค่อนข้างซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับอย่าง The Departed (และออกจะเหมือนมองโลกในแง่ดีขึ้นสังเกตจากฉากจบ) ผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เคยรีเมคหนังเขย่าขวัญยุคเก่าเกี่ยวกับครอบครัวอเมริกันแสนดีที่ถูกคนบ้าคุกคามให้กลายเป็นหนังวิพากษ์ความเลว ความทุจริต และความอ่อนแอของมนุษย์อย่างถึงแก่นมาแล้ว หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า Cape Fear ผลงานซึ่งผมคิดว่าประสบความสำเร็จในแง่การ “รีเมค” มากกว่าหนังรางวัลออสการ์ของเขาเสียอีก เนื่องจากสกอร์เซซี่ได้ตีความเรื่องราวใหม่ ทำให้มันน่าสนใจ ซับซ้อน และแตกต่างจากต้นฉบับอย่างเห็นได้ชัด

แซม บาวเดน (นิค นอลตี้) เป็นทนายความที่แอบคบชู้และถูกเมีย (เจสซิก้า แลงจ์) จับได้ ชีวิตสมรสของพวกเขากำลังง่อนแง่นจวนล่มจนต้องหันไปปรึกษาจิตแพทย์ ขณะเดียวกันลูกสาววัยรุ่นของพวกเขา เดเนียล (จูเลียต ลูว์อิส) ก็ชอบขังตัวเองอยู่ในห้อง พลางนึกชิงชังพ่อกับแม่ที่หาเรื่องทะเลาะกันได้ไม่เลิก แต่ราวกับชีวิตปัจจุบันยังไม่เลวร้ายพอ พระเจ้ายังซ้ำเติมครอบครัวบาวเดนด้วยการส่งวิญญาณแห่งอดีตมาตามหลอกหลอนพวกเขาในรูปของ แม็กซ์ เคดี้ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) นักโทษที่เพิ่งพ้นคุกออกมาจากคดีข่มขืน พร้อมความแค้นเต็มอกต่อ แซม บาวเดน อดีตทนาย ซึ่งแก้ต่างให้เขาอย่างไร้ประสิทธิภาพ

หนึ่งในฉากไฮไลท์อันลืมไม่ลงของ Cape Fear คือ การเผชิญหน้าระหว่างแม็กซ์กับเดเนี่ยล เมื่อคนแรกปลอมตัวเป็นอาจารย์สอนการละคร ยั่วยวนและเล้าโลมเด็กสาววัยไม่ถึง 16 ปี ส่วนคนหลังก็ยอมเล่นตามบททั้งที่รู้ว่าแท้จริงแล้วแม็กซ์เป็นใคร เพราะเธอรู้สึกหลงใหลบุคลิกดิบเถื่อนของชายหนุ่ม จูเลียต ลูว์อิส เดินไต่บนเส้นแบ่งระหว่างความไร้เดียงสากับความแรดได้อย่างสมดุลจนส่งผลให้เธอเข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม นอกจากนั้น ฉากดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าความชั่วร้ายใฝ่ต่ำนั้นซ่อนลึกอยู่ในมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครจะบริสุทธิ์ขาวสะอาดไปทั้งหมด ซึ่งแก่นความคิดข้างต้นก็สะท้อนผ่านเทคนิคการแทรกภาพเนกาทีฟ (ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ) เข้ามาในหนังเป็นระยะๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม

วันพุธ, สิงหาคม 13, 2551

The Dark Knight: ลับ ลวง พราง


หลังจากแจกแจงที่มาที่ไปของมนุษย์ค้างคาวเอาไว้อย่างละเอียดครบถ้วน ทั้งแง่มุมจิตวิทยาและภูมิหลังเพื่อเพิ่มความ “สมจริง” ให้กับเรื่องราว เช่น การฝึกฝนทักษะการต่อสู้มาอย่างหนักหน่วงของ บรูซ เวย์น ก่อนจะกลายมาเป็นผู้พิทักษ์มหานครก็อตแธม ใน Batman Begins ดูเหมือนผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน จะเริ่มหมดความสนใจในตัวฮีโร่นอกกฎหมายผู้นี้เสียแล้ว ดังจะเห็นได้จากผลงานภาคต่อเรื่อง The Dark Knight ซึ่งลดความสำคัญของตัวละครอย่างแบทแมน/บรูซ เวย์น (คริสเตียน เบล) ลงจนกลายเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมการวิพากษ์มนุษย์ ระบบศีลธรรม ตลอดจนสังคมโดยรวม

แน่นอน ประเด็นความขัดแย้งของทางเลือกระหว่างสถานะแบทแมนกับการใช้ชีวิตเยี่ยงมหาเศรษฐีธรรมดาและลงหลักปักฐานกับ ราเชล ดอว์ส (แม็กกี้ จิลเลนฮาล) ยังคงปรากฏให้เห็นเพื่อจุดประกายดราม่าเล็กๆ น้อยๆ แต่มันไม่ได้ถูกขับเน้นให้โดดเด่นเหมือนกรณีของ Spider-Man 2 แต่อย่างใด

อันที่จริง คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่าบรรดาตัวละครหลักใน The Dark Knight ล้วนไม่สามารถเรียกร้องความผูกพันจากคนดูได้ พวกเขาเป็นเพียงตัวแทนของไอเดียบางอย่างที่ผู้กำกับ/ร่วมเขียนบทต้องการนำเสนอ มากกว่าจะมีชีวิตเลือดเนื้อให้จับต้องได้ ส่วนตัวหนังเองก็ดูจะดำเนินเหตุการณ์ไปอย่างเร่งรีบ รวดเร็ว ขาดจังหวะผ่อนหนักผ่อนเบาที่ลงตัว (สาเหตุหนึ่งอาจเพราะการจำใจตัดหนังให้สั้นลงเพื่อไม่ให้มันยาวเกินสามชั่วโมง) พลางไล่กวดแต่ละพล็อตแบบผ่านๆ ตั้งแต่รัก/สาม/เศร้าของบรูซ, ราเชล และ ฮาร์วีย์ เดนท์ (แอรอน เอ็คฮาร์ท) การก้าวเข้ามามีอิทธิพลคุกคามเมืองก็อตแธมของ โจ๊กเกอร์ (ฮีธ เลดเจอร์) รวมถึงการกลายสภาพเป็นทูเฟซของเดนท์ เราได้รับรู้เหตุการณ์ทั้งหมด แต่ไม่มีโอกาสซึมซาบ เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หรือกระทั่งรู้สึกสะเทือนใจ เมื่อหายนะและความตายบังเกิดแก่ตัวละครบางคน (ใครที่คิดว่าหนังในแนวทางนี้ไม่มีเวลาพอจะมาเจาะลึกตัวละครในเชิงจิตวิทยา หรือสร้างความผูกพันกับคนดู ให้ลองหา Heat ของ ไมเคิล มาน มาดูเป็นตัวอย่าง)

ขณะเดียวกันความสนุกของ The Dark Knight ก็หาได้อยู่ตรงฉากแอ็กชั่นน่าตื่นตา เพราะหลังจาก Batman Begins หลายคนคงตระหนักดีแล้วว่า คริสโตเฟอร์ โนแลน ขาดทักษะและมุมมองที่จะร้อยเรียงช็อตให้เป็นซีเควนซ์อันตื่นเต้น สอดคล้อง และชวนติดตามได้เหมือนผู้กำกับสายเลือดฮอลลีวู้ดอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก, เจมส์ คาเมรอน หรือกระทั่ง จอห์น แม็คเทียร์แนน ความคิดในการถ่ายฉากแอ็กชั่นของเขา คือ ตัดภาพให้รวดเร็ว จนทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนแวบเข้ามาในสายตาคนดู แต่ไม่อาจเชื่อมโยงให้เกิดความต่อเนื่องใดๆ ได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกับสไตล์ของผู้กำกับอีกคนจากเกาะอังกฤษอย่าง พอล กรีนกราส โดยสามตัวอย่างอันชัดเจนใน The Dark Knight คือ ฉากแอ็กชั่นช่วงเปิดเรื่องเมื่อแบทแมนต่อกรกับ สแกร์โครว (ซิลเลียน เมอร์ฟีย์) ฉากขับรถไล่ล่าในอุโมงค์ช่วงกลางเรื่อง และฉากแอ็กชั่นช่วงท้ายเมื่อแบทแมนบุกเข้าไปจับโจ๊กเกอร์ในตึกร้าง

ส่วนใหญ่ความตื่นเต้น (หรือตื่นตระหนก) ของคนดูเกิดจากความพยายามจะเชื่อมโยงแต่ละช็อตเข้าด้วยกันท่ามกลางเวลาอันกระชั้น ราวกับหนังขว้างช็อตต่างๆ ที่ไม่ต่อเนื่องใส่คุณอยู่ตลอดเวลา แล้วบังคับให้คุณต้องผูกโยงมันให้เป็นเหตุเป็นผลในแง่ทิศทาง พื้นที่ และเวลา จนคุณเริ่มสับสนและตามไม่ทันว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ หาใช่ความตื่นเต้นอันเป็นผลจากการผูกตัวเองติดอยู่กับเหตุการณ์ แล้วลุ้นระทึกเอาใจช่วยตัวละคร (ลองเปรียบเทียบง่ายๆ กับฉากขับรถไล่ล่าระดับตำนานใน Terminator 2: Judgment Day ของ เจมส์ คาเมรอน ซึ่งมีอุปกรณ์ประกอบฉากบางอย่างคล้ายคลึงกัน) นอกจากนี้ ระดับอะดรีนาลีนของคนดูยังอาจพุ่งสูงด้วยสาเหตุที่ชัดเจน เช่น การได้เห็นมอเตอร์ไซค์สุดเท่พุ่งทะยานออกมาจากซากรถ หรือรถบรรทุกคันโตพลิกคว่ำในท่าลังกาหน้าบนถนนใจกลางเมือง

สุดท้ายทีเด็ดที่แท้จริงของ The Dark Knight อยู่ตรงความกล้าหาญของสองพี่น้องโนแลนที่จะพุ่งทะยานเข้าสู่เขตแดนซึ่งหนังซูเปอร์ฮีโร่น้อยเรื่องจะกล้าย่างกรายเข้าไป นั่นคือ การสะท้อนด้านมืดอันซับซ้อนของมนุษย์ด้วยท่าทีจริงจัง หนักแน่น ปราศจากกลิ่นอายของความเป็นการ์ตูน และคงเป็น “ความแตกต่าง” ตรงส่วนนี้เองที่ทำให้หลายคนยินดีจะมองข้ามข้อบกพร่องบางส่วนของหนังซึ่งดูไม่สลักสำคัญอะไร

การต่อสู้แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างแบทแมนกับโจ๊กเกอร์อาจทำให้หลายคนนึกถึงสองนักมายากลใน The Prestige ผลงานกำกับชิ้นก่อนหน้าของโนแลน เพราะเช่นเดียวกัน เส้นแบ่งทางศีลธรรม ความถูกต้อง และจรรยาบรรณเริ่มถูกมองข้าม หรือยิ่งพร่ามัว เมื่อตัวละครทั้งสองฝ่ายต่างพยายามเอาชนะคะคานกัน ในกรณีของ The Dark Knight แบทแมนเลือกจะยืนอยู่ฝ่ายความเชื่อที่ว่า สังคมจำเป็นต้องอยู่ในกฎระเบียบ และบางครั้งการเลือกใช้ความรุนแรง เฉียบขาดก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยโดยรวม แต่เมื่อเดิมพันยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ราคาที่คุณต้องจ่ายเพื่อแลกกับจุดยืนดังกล่าวมันจะยังคุ้มค่าอยู่ไหม?

ตรงกันข้าม โจ๊กเกอร์ไม่เชื่อในกฎระเบียบ หรือหลักการปฏิบัติใดๆ เขาไม่ต้องการเงิน หรืออำนาจ และดุจเดียวกับคำอธิบายของ อัลเฟร็ด (ไมเคิล เคน) เขาเพียงต้องการจะเห็นโลกทั้งใบวุ่นวายและ “มอดไหม้เป็นจุล” ทั้งนี้เพราะเขาศรัทธาในสัญชาตญาณดิบอันเลวร้ายของมนุษย์ว่า เมื่อถึงเวลาคับขัน เราทุกคนก็พร้อมจะโยนกฎเกณฑ์ ศีลธรรมจรรยา หรือความถูกต้องชอบธรรมทั้งหมดทิ้ง แล้วหันมา “กินกันเอง” เพื่อความอยู่รอด

ฉะนั้น มุกตลกที่ไม่ค่อยตลกของโจ๊กเกอร์จึงมักจะวนเวียนอยู่กับการทดสอบความแข็งแกร่งของจิตสำนึก เช่น เมื่อเขามอบอาวุธให้ลูกสมุนมาเฟียต่อสู้กันเพื่อความอยู่รอด หรือการลอบวางระเบิดเรือเฟอร์รี่สองลำ แล้วมอบเครื่องจุดระเบิดของเรือลำหนึ่งไว้กับเรืออีกลำหนึ่ง หรือการตั้งเงินรางวัลเป็นค่าหัว โคลแมน รีส (โจชัว ฮาร์โต)

แต่ผลงานชิ้นโบว์แดงของโจ๊กเกอร์คงจะหนีไม่พ้นชัยชนะเหนือ ฮาร์วีย์ เดนท์ ซึ่งในช่วงท้ายได้กลายสภาพเป็นเหมือนอัศวินเจไดที่โดนด้านมืดเข้าครอบงำ และความสูญเสียดังกล่าวก็นำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันของแบทแมนกับ เจมส์ กอร์ดอน (แกรี่ โอลด์แมน) ที่จะหลอกลวงชาวเมืองก็อตแธมให้ร่ำไห้ต่อการจากไปของเดนท์ แล้วโหยหาอัศวินขี่ม้าขาวคนใหม่ เพราะพวกเขาคิดว่าประชาชนยังไม่พร้อมจะเผชิญความจริงอันโหดร้าย นั่นคือ โลกนี้ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาว และมนุษย์ทุกคนล้วนมีสัญชาตญาณใฝ่ต่ำอยู่ในตัว

หนังคล้ายจะจบลงด้วยการสรรเสริญแบทแมน ผ่านบทสนทนาที่ค่อนข้างไม่แนบเนียนระหว่างกอร์ดอนกับลูกชาย ว่าเป็นอัศวินแห่งรัตติกาลและฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ ฉากจบที่จู่ๆ ก็เหมือนจะสาดทอลำแสงแห่งความหวังมาแบบฉับพลันท่ามกลางความมืดหม่นตลอดเวลาเกินกว่าสองชั่วโมงก่อนหน้านี้ให้ความรู้สึกประดักประเดิดอยู่ไม่น้อย จนพาลให้คิดสงสัยว่า เหตุใดสองพี่น้องโนแลนที่ร่วมกันเขียนบทจึงเกิดอยากจะหน่อมแน้มขึ้นมาหลังจากตบหน้าคนดูด้วยความหดหู่มาตลอด มันเป็นตอนจบแบบที่คนดูต้องการและสตูดิโอเรียกร้อง? หรือเป็นเกมอำพรางแบบเดียวกับมุกตลกของโจ๊กเกอร์ ในการจับพวกผู้ร้ายมาแต่งตัวเป็นคุณหมอ แล้วจับตัวประกันมาแต่งตัวเป็นโจร?

บางทีบุคคลที่ยังไม่พร้อมจะเผชิญความจริงอาจไม่ใช่ชาวเมืองก็อตแธม แต่เป็นตัวแบทแมนเองต่างหาก แผนล่อลวงเกี่ยวกับเดนท์อาจเป็นเพียงการหล่อเลี้ยงความหวังลมๆ แล้งๆ ของเขาว่าตนได้กำชัยชนะเหนือโจ๊กเกอร์ เหมือนการที่บรูซหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าสุดท้ายราเชลจะแต่งงานกับเขา และด้วยเหตุนี้เองกระมัง อัลเฟร็ด ผู้เข้าใจแบทแมน/ บรูซ เวย์น มากกว่าใครทุกคน จึงจัดแจงเผากระดาษโน้ตของราเชลทิ้ง ด้วยตระหนักดีว่าเจ้านายของเขายังไม่พร้อมจะยอมรับมันในเวลานี้ แบทแมนกล่าวอ้างอย่างไร้เดียงสาว่าแผนระเบิดเรือเฟอร์รี่ของโจ๊กเกอร์ล้มเหลว เพราะมนุษย์ทุกคนใช่จะเลวร้ายไปเสียทั้งหมดและความดีงามย่อมเป็นฝ่ายกำชัยในท้ายที่สุด กระนั้นสิ่งหนึ่งซึ่งแบทแมนไม่ทราบ แต่คนดูกลับประจักษ์แก่สายตา ก็คือ ผู้โดยสารบนเรือลำหนึ่งได้โหวตให้ระเบิดเรืออีกลำด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น นั่นหมายความว่า สาเหตุที่เรือเฟอร์รี่ไม่ระเบิดหาใช่เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่เห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่เป็นเพราะพวกเขายังละอายใจเกินกว่าจะทำชั่วต่อหน้าคนอื่นต่างหาก

ทีนี้ ถ้าลองโจ๊กเกอร์เปลี่ยนแผนเป็นให้ทุกคนบนเรือกุมเครื่องจุดระเบิดไว้ในมือท่ามกลางความมืด คุณยังคิดว่าเรือทั้งสองลำจะปลอดภัยไร้กังวลอยู่ไหม?

ความชั่วร้ายใน The Dark Knight ปรากฏให้เห็นหลากหลายระดับ บางครั้งมันอาจง่ายต่อการตัดสิน เช่น พฤติกรรมวิปริตของโจ๊กเกอร์ ความละโมบของคนสองสามคนที่พยายามลอบยิงและขับรถชน โคลแมน รีส (ซึ่งก็ห่างไกลจากสถานะพ่อพระเช่นกัน) หรือความโหดเหี้ยมของพวกมาเฟีย แต่บางครั้งมันกลับยากจะแยกขาวออกจากดำ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ทุกคนโดยลึกๆ แล้วย่อมคำนึงถึงตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก แม้กระทั่งแบทแมนเอง ซึ่งก็เลือกจะไปช่วยชีวิตคนรักแทนการเห็นแก่ส่วนรวมและตรงไปช่วยเดนท์ หรือการที่เขาปล่อยให้คนบริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยต้องมาสังเวยชีวิตและเสี่ยงอันตรายเพื่อล่อจับโจ๊กเกอร์

นอกจากนี้ เรายังต้องเผชิญความชั่วร้ายแบบนักสืบ รามิเรส (โมนิค เคอร์เนน) ผู้นำส่งเดนท์กับราเชลให้พวกมาเฟียเพื่อแลกเปลี่ยนกับการช่วยเหลือแม่ในโรงพยาบาล เธอไม่ได้ลงมือฆ่า ไม่ได้วางแผน และอาจไม่รู้จริงๆ ด้วยซ้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนทั้งสอง (อย่างไรก็ตาม เธอย่อมตระหนักดีว่าพวกมาเฟียคงไม่ได้ต้องการเชิญพวกเขาไปร่วมทานอาหารค่ำมื้อหรูอย่างแน่นอน) เธอแค่อยากจะมีเงินรักษาแม่ มันผิดมากเลยหรือ?

รามิเรสหาใช่ปีศาจร้าย เธอเพียงแค่ “มืดบอด” เกินกว่าจะตระหนักในศีลธรรม สามัญสำนึก และความถูกต้อง เธอก้มหน้าก้มตาเอาตัวรอดตามสัญชาตญาณ โดยไม่คำนึงว่าพฤติกรรมของตนจะส่งผลกระทบใดๆ ตามมาหรือไม่ ถ้าเธออยู่บนเรือเฟอร์รี่พร้อมเครื่องกดระเบิดในมือ แล้วไฟเกิดดับลงละก็ อย่าลงพนันเด็ดขาดว่าเธอจะไม่ใช้มันให้เป็นประโยชน์... ที่สำคัญกว่านั้น จะมีสักกี่คนซึ่งเลือกที่จะไม่ใช้มัน

Replay: Santa Sangre


แม่มักจะมีอิทธิพลมหาศาลกับลูกชาย ไม่เชื่อลองไปถามตัวละครอย่าง นอร์แมน เบทส์ ดูได้ ผลงานสยองกึ่งเซอร์เรียลของผู้กำกับลูกครึ่งเม็กซิกัน-อิตาเลียน อเลฮานโดร โจโดโรวสกี้ เรื่อง Santa Sangre ถูกขนานนามให้เป็น Psycho เวอร์ชั่น หลุยส์ บุนเยล เนื่องจากมันมีพล็อตเรื่องใกล้เคียงกับภาพยนตร์คลาสสิกของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค แต่หากคุณได้ชมหนังเรื่องนี้เพียงบางส่วน เชื่อว่าคุณจะไม่นึกถึงฮิทช์ค็อคเป็นคนแรกอย่างแน่นอน ความโหดร้ายอันน่าตื่นตา ชวนคลื่นเหียน และสวยงามอย่างประหลาดของมันอาจติดตาคุณไปตลอด แล้วโผล่แวบให้เห็นเป็นครั้งคราวในฝันร้าย กล่าวได้ว่าหนังของเขาเป็นส่วนผสมระหว่างฮิทช์ค็อค, บุนเยล, เฟเดอริโก้ เฟลลินี่ และ ดาริโอ อาร์เจนโต แต่ความบ้า ความห่าม และความวิกลจริต ซึ่งเป็น “เสน่ห์” อันยากจะห้ามใจของหนังถือเป็นเอกลักษณ์ของโจโดโรวสกี้ล้วนๆ (Santa Sangre อาจนับเป็นหนังเพื่อกระแสหลักของเขา แต่ผมก็ยังไม่คิดว่ามันจะเหมาะสำหรับ “ทุกคน” อยู่ดี) พิสูจน์ได้จากฉากศพช้างเชือกใหญ่ถูกแห่ไปรอบเมือง ก่อนจะโดนทิ้งลงบนกองขยะ จากนั้นฝูงคนสลัมก็กรูกันมาพังโลงศพเพื่อแย่งชิงเนื้อช้าง! หรือฉากหญิงสาวแก้แค้นสามีจอมเจ้าชู้โดยการราดน้ำกรดบนเจ้าโลกของเขา ก่อนเธอจะโดนฝ่ายชายตอบโต้ด้วยการตัดแขนทั้งสองข้าง!

เช่นเดียวกับเบทส์ใน Psycho เฟนิกซ์ (แอ็กเซล โจโดโนวสกี้) กลายสภาพเป็นฆาตกรโรคจิตเนื่องจากอิทธิพลของมารดาจอมบงการ (รวมถึงวิกฤติวัยเด็กจากการเห็นพ่อตัดแขนแม่ แล้วปาดคอตายตามไปต่อหน้าต่อตา) และคลั่งศาสนา (เธอเป็นผู้นำลัทธิบูชา “นักบุญหญิง” ที่โดนพี่ชายสองคนข่มขืน ตัดแขนสองข้าง แล้วปล่อยให้นอนจมกองเลือดตาย) แต่ฉากจบของ Santa Sangre ดูจะให้ความหวังมากกว่า Psycho ตรงที่ชายหนุ่มสามารถปลดแอกตัวเองเป็นอิสระจากแม่ได้ด้วยความรัก แล้วกลายเป็นเจ้านายของแขนทั้งสองข้างอีกครั้ง... คงมีแต่ผู้กำกับบ้าดีเดือดแบบ อเลฮานโดร โจโดโนวสกี้ เท่านั้นที่กล้าจะผสานแง่มุมความรักโรแมนติกเข้ามาในหนังสยองขวัญประเภทเลือดสาด แถมยังทำได้อย่างแนบเนียน ลงตัว และได้ผลเสียด้วยสิ