วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 21, 2552

ทำความเข้าใจ The Reader (1)


ตลอดช่วงเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาในอเมริกา หนังเรื่อง The Reader ดูเหมือนจะโดนกระแสต่อต้านกลุ้มรุมแทบทุกวันจนสะบักสะบอมเกินเยียวยา สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะตัวหนังดันหลุดเข้าชิงออสการ์สาขาสำคัญๆ แทนตัวเก็งที่หลายคนคาดหวังอยากจะเห็นอย่าง The Dark Knight (ไม่เช่นนั้น มันก็คงเลือนหายไปจากความสนใจของคนทั่วไปเหมือนหนังหวังกล่องอีกหลายเรื่องของไวน์สไตน์อย่าง Bobby และ Breaking and Entering) แต่ขณะเดียวกัน หลายสิ่งหลายอย่างในหนังก็เหมือนจะ “ล่อเป้า” ให้คนสาดใส่อารมณ์ได้อย่างมากมาย

ต้องยอมรับว่าผมเดินเข้าไปชม The Reader ด้วยความคาดหวังค่อนข้างต่ำ แม้จะได้อ่านหนังสือแล้วและชื่นชอบมันไม่น้อยก็ตาม เนื่องจากกระแสแง่ลบและคำวิจารณ์โดยรวมจากเมืองนอก ซึ่งค่อนข้างก้ำกึ่งไปทางย่ำแย่ แต่ความคิดแรกที่แวบเข้ามาในหัวผมหลังจากดูหนังจบ คือ ตัวหนังไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนพยายามจะวาดภาพให้มันเป็น ผมคิดว่าหนังยังมีข้อบกพร่องปรากฏให้เห็นอยู่บ้างในเชิงเทคนิคและการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างขาดๆ เกินๆ บางทีก็ดูรวบรัดจนไร้พลังโน้มน้าว แต่จุดแข็งของหนังอยู่ตรงประเด็นอันชวนค้นหา และท่าทีในการนำเสนอ ซึ่งไม่ได้พยายามยัดเยียด หรือมอบคำตอบสำเร็จรูป ตรงกันข้าม มันต้องการกระตุ้นให้คนดูตั้งคำถามเสียมากกว่า และบางทีนั่นเองอาจเป็นสาเหตุให้หนังถูกโจมตีรอบด้าน ทั้งจากข้อหาที่ปราศจากมูล และข้อหาที่พอจะมีมูลอยู่บ้าง

ประเด็นหลักๆ ของข้อโจมตีที่ผมพอจะสรุปได้ คือ (1) หนังใช้ภาพลักษณ์ของ “ผลงานศิลปะ” และฉากโป๊เปลือยเพื่อสร้างความน่าเห็นใจให้ตัวละครน่ารังเกียจอย่างฮันนา ส่งผลให้มันเป็นหนังที่ “ไม่ซื่อสัตย์” และ “หลอกลวง” (2) The Reader เปรียบเสมือนข้อแก้ต่างให้กับชาวเยอรมันยุคนาซีเรืองอำนาจว่า พวกเขาไม่มีส่วนรู้เห็นกับพฤติกรรมของฮิตเลอร์ และ (3) การใช้ปมเกี่ยวกับ “ไม่รู้หนังสือ” มาเบี่ยงเบนคนดูให้หลงลืมอาชญากรรมอันเลวร้ายของตัวละครเอก นอกจากนี้ บางคนยังก้าวไปไกลถึงขั้นกล่าวหา The Reader ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะทำให้การสังหารหมู่ชาวยิวกลายเป็นเพียงตำนานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง!

ในความเห็นของผม The Reader ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิว นาซี หรือกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ฉะนั้น ข้อกล่าวหาทั้งหลายข้างต้นจึงถือเป็นการโจมตีไม่ถูกจุด (แม้ข้อสังเกตบางอย่างจะมีมูลฐานและมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อยก็ตาม) และออกจะไม่ค่อยยุติธรรมต่อตัวหนังสักเท่าไหร่ แต่ก่อนจะไปพูดถึงประเด็นหลักของหนัง ผมอยากจะนำเสนอความคิดเห็นพอสังเขปเกี่ยวกับข้อโจมตีทั้งหลายข้างต้น

ปฏิกิริยาแง่ลบของ The Reader ทำให้ผมนึกถึง ฮันนาห์ อาเรนท์ ผู้เคยใช้วลี “the banality of evil” (ความชั่วร้ายอันแสนสามัญ) อธิบายพฤติกรรมของ อดอล์ฟ อิชมันน์ นายทหารนาซีระดับสูงที่ออกแบบค่ายกักกันชาวยิวในยุโรปตะวันออกและวางแผนการสังหารหมู่เพื่อแก้ “ปัญหาชาวยิว” ให้กับฮิตเลอร์ โดยวลีดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากรอบข้าง โดยเฉพาะจากกลุ่มต่อต้านนาซี ซึ่งต้องการวาดภาพให้นาซีเป็นพวกมีปัญหาทางจิตและแตกต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไป (ส่วนมุมมองของอาเรนท์ต่ออิชมันน์ คือ เขากระทำการดังกล่าวเพียงเพราะต้องการเลื่อนตำแหน่งในกองทัพ หาใช่เพราะเขาเหยียดชาวยิวหรือมีสภาพจิตบกพร่อง) อาเรนท์เลือกใช้วลีดังกล่าวไม่ใช่เพื่อเรียกร้องความเห็นใจให้กับอิชมันน์ แต่เพื่อสะท้อนแง่มุมว่าอิชมันน์ไม่ได้ “สนุก” กับการฆ่า ความเกลียดชังหาใช่เหตุผลที่ผลักดันเขาให้สังหารหมู่ชาวยิว แต่เป็นเพราะเขา “มืดบอด” เกินกว่าจะตระหนักในศีลธรรม สามัญสำนึก หรือความถูกต้องต่างหาก เขาทำตามคำสั่งโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา

ไม่มีใครเถียงว่าปรากฏการณ์สังหารหมู่ชาวยิวถือเป็นความเลวร้ายสูงสุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญ ทุกอย่างช่างชัดเจนเหลือเกินว่า ยิว = เหยื่อผู้น่าสงสาร และ นาซี = ปีศาจร้าย ดังนั้น ใครก็ตามที่พยายามจะมอบ “ความเป็นมนุษย์” ให้เหล่านาซีจึงย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียงคัดค้าน ต่อต้าน

จะว่าไปแล้ว ตัวละครอย่าง ฮันนา ชมิดซ์ ก็คงไม่แตกต่างจาก อดอล์ฟ อิชมันน์ สักเท่าไหร่ เธอเข้าไปมีส่วนร่วมในกองทัพนาซี (ซึ่งต้องไม่ลืมว่าขณะนั้นเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นรัฐบาลของประเทศ) เพราะความโง่เขลา มืดบอดต่อสามัญสำนึก เธอมองไม่เห็น “ภาพรวมในมุมกว้าง” ของสถานการณ์ แล้วตัดสินทุกอย่างจากเพียงเบื้องหน้า เช่น เธอตัดสินใจไม่เปิดประตูโบสถ์ เพราะตอนนั้นเธอคิดเพียงว่าตนเองเป็นผู้คุม และหน้าที่ของผู้คุม ก็คือ ต้องไม่ปล่อยให้นักโทษหลบหนี หรือก่อความวุ่นวาย ศีลธรรมหรือความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์หาได้แวบเข้ามาในหัวสมองของเธอไม่

เราสามารถด่าทอได้ว่าเธอโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม หรือกระทั่งตัดสินว่าเธอมีความผิดจริงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ (ในแง่ความเป็นหนัง) มันจะได้ประโยชน์อะไรนอกจากความสะใจ จากความรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีระบบระเบียบทางศีลธรรมหลงเหลืออยู่ (อย่างไรก็ตาม หนังได้ตั้งคำถามต่อ “ความยุติธรรม” ดังกล่าว โดยเตือนคนดูให้ตระหนักว่าฮันนากับกลุ่มผู้คุมหญิงเหล่านี้เป็นเพียงแค่ “แพะบูชายัน”)

คำถามที่ผมนึกสงสัย คือ การที่เราพยายามจะ “ทำความเข้าใจ” เธอ หรือเหล่านาซีคนอื่นๆ นั้นมันกลายเป็นความผิดไปด้วยตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะเหล่าเสียงคัดค้าน The Reader เท่าที่ผมได้อ่านๆ มา ส่วนใหญ่ล้วนแสดงความเห็นในลักษณะเดียวกับเพื่อนนักศึกษาของไมเคิล นั่นคือ “มีอะไรต้องทำความเข้าใจกันอีก” และ “ถ้าเป็นผม ผมจะยิงพวกมันให้หมดทุกคน!”

การตัดสินคนเป็นเรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง หลังจากช่วงเวลาได้ผันผ่านไประยะหนึ่งแล้ว หากคุณไม่ได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน ไม่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน หรือไม่ได้รับ/ขาดโอกาสแบบเดียวกัน

ไม่เชื่อ ลองนึกภาพตัวเองมีชีวิตอยู่ในยุคนาซีเรืองอำนาจดูสิ คุณจะกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวแบบตัวเอกใน Sophie Scholl: The Final Days ซึ่งนับแล้วคงเป็นแค่ 1% ของชาวเยอรมันยุคนั้น หรือคุณจะนิ่งเงียบเฉกเช่นชาวเยอรมันอีกกว่า 80% จริงอยู่ คุณอาจคิดว่าคุณคงไม่มีวันเข้าร่วมกองทัพนาซีอย่างฮันนาแน่ๆ เพราะมันเป็นความบ้าคลั่งที่ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว... แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันชัดเจนจริงหรือ (อย่าลืมว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อนชาวอเมริกันจำนวนมากก็เคยแสดงความเห็นชอบให้ใช้กำลังทหารรุกรานประเทศอิรักมาแล้ว เพราะตอนนั้นพวกเขาคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันชัดเจน แต่ตอนนี้พวกเขากลับเริ่ม “Doubt”)

ทุกวันนี้ความวุ่นวายทั้งหลายไม่ได้เกิดจากการที่เรา “ตัดสิน” แทนที่จะพยายาม “ทำความเข้าใจ” หรอกหรือ

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 16, 2552

Oscar 2009: Best Picture


The Curious Case of Benjamin Button

เบื้องหน้า: ท่ามกลางพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาที่กำลังโหมกระหน่ำอยู่นอกโรงพยาบาล คาโรไลน์ (จูเลีย ออร์มอนด์) ได้อ่านบันทึกของชายคนหนึ่งให้แม่ผู้กำลังจะลาจากโลกนี้ไปฟัง เขามีชื่อว่า เบนจามิน บัตตัน (แบรด พิทท์) ชายที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้รูปการณ์อันผิดปรกติ โดยในวันนั้น (11 พฤศจิกายน 1918 วันสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) คุณหมอทำคลอดบอกว่าสภาพร่างกายเขาเสื่อมโทรมและอ่อนแอไม่ใช่แบบเดียวกับเด็กแรกเกิดทั่วไป แต่ในลักษณะเดียวกับชายชราวัยใกล้ฝั่ง

แต่เบนจามินกลับไม่ตาย เขาถูกพ่อผู้ร่ำรวยทอดทิ้งและได้รับการอุ้มชูเลี้ยงดูโดย ควีนนี่ (ทาราจี พี. เฮนสัน) พนักงานผิวดำประจำบ้านพักคนชราในนิวออร์ลีนส์ จากนั้นสภาพร่างกายของเขาก็เริ่มย้อนกลับ เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เขาดูเหมือนตาแก่บนเก้าอี้รถเข็น สวมแว่นตาหนาเตอะ เขาฝึกเรียนเปียโน แล้วเริ่มสนิทชิดเชื้อกับ เดซีย์ ฟูลเลอร์ เด็กหญิงซึ่งต่อมากลายเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวของเขา

ในช่วงวัยรุ่น เบนจามิน ซึ่งมีหน้าตาคล้ายชายวัย 60 ปี ได้ทำงานบนเรือโยงของกัปตันไมค์ (จาเร็ด แฮร์ริส) เรียนรู้การดื่มเหล้าและเพศสัมพันธ์ จนเมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่มเต็มตัว (ในสภาพชายวัย 50 ปี) เขาก็เดินทางไปรัสเซีย แล้วสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ อลิซาเบ็ธ แอ็บบ็อต (ทิลด้า สวินตัน) ภรรยาของพ่อค้าชาวอังกฤษ ก่อนจะกลับมาหาเดซีย์ (เคท บลันเช็ตต์) ซึ่งขณะนี้เติบใหญ่เป็นนักเต้นผู้เปี่ยมความทะเยอทะยาน

ขณะเขายิ่งหนุ่มแน่นขึ้น ส่วนเธอก็ยิ่งแก่ตัวลง ช่วงเวลาแห่งความมหัศจรรย์ถือกำเนิด เมื่อพวกเขาบรรจบพบกันตรงกึ่งกลางของชีวิต แต่น่าเศร้าที่เวลาไม่อาจหยุดนิ่งให้เราดื่มด่ำได้ตลอดไป

เบื้องหลัง: การแก่ชราไปตามวัยถือเป็นประเด็นที่ฮอลลีวู้ดมักจะหลีกเลี่ยงมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นับจาก สตีเวน สปีลเบิร์ก และ จอร์จ ลูคัส พิสูจน์ให้เห็นขุมทองขนาดใหญ่ในดินแดนเนเวอร์แลนด์ หรือโลกแห่งจินตนาการของวัยเด็ก สถานที่ซึ่งความอ่อนเยาว์ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ส่วนความตายกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขาน ด้วยเหตุนี้ การปรากฏตัวขึ้นอย่างฉับพลันของหนังสตูดิโอฟอร์มยักษ์เรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งพูดถึงความไม่จีรังแห่งชีวิตมนุษย์ ผ่านเทคนิคดิจิตอลอันลึกล้ำ ซับซ้อน ที่ฮอลลีวู้นิยมใช้ชุบชีวิตความเป็นเด็ก จึงถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

บทหนังที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นปี 1922 ขนาด 9,000 คำของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิทซ์เจอรัลด์ เริ่มวนเวียนอยู่ในแวดวงนับแต่ทศวรรษ 1980 เมื่อ โรบิน สวิคอร์ด (Little Women) เขียนร่างแรกให้ผู้อำนวยการสร้าง เรย์ สตาร์ค และได้รับความสนใจจากหลายคนตั้งแต่สปีลเบิร์กไปจนถึง เดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งขณะนั้นยังทำงานเป็นช่างเทคนิคพิเศษใน ILM ของลูคัส

“ผมคิดว่าบทหนังงดงามมาก มันเป็นหนังรักที่ยิ่งใหญ่” ฟินเชอร์เล่า “แต่ตอนนั้นผมสนใจโครงการอื่นอยู่” การณ์ปรากฏในเวลาต่อมาว่า โครงการที่เขาสนใจนั้นดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอารมณ์ตึงเครียดและความรุนแรงตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษ อาทิ Se7en, Fight Club, Panic Room และ Zodiac อย่างไรก็ตาม The Curious Case of Benjamin Button ยังคงเวียนว่ายต่อไป แต่คราวนี้บทถูกเขียนขึ้นใหม่โดย อีริค ร็อธ เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Forrest Gump ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้กำกับหลายคน หนึ่งในนั้นคือ สไปค์ จอนซ์ เพื่อนสนิทของฟินเชอร์ ก่อนมันจะมาลงเอยบนโต๊ะทำงานของฟินเชอร์อีกครั้ง คราวนี้ผ่านทีมโปรดิวเซอร์อย่าง แคธลีน เคนเนดี้ และ แฟรงค์ มาร์แชล

ความเป็นหนังพีเรียด ถ่ายทำในหลายโลเกชั่น ทีมนักแสดงกลุ่มใหญ่ และเทคนิคพิเศษสุดแสนวุ่นวาย ทำให้ทุกคนตระหนักดีว่าโครงการนี้ต้องมีราคาแพงแน่นอน หลายปีจึงผ่านไปโดยปราศจากความคืบหน้าจนกระทั่ง แบรด พิทท์ ซึ่งเคยร่วมงานกับฟินเชอร์ใน Se7ven และ Fight Club แสดงท่าทีสนใจ ทุนสร้าง 135 ล้านดอลลาร์ดูจะมีความเป็นไปได้เนื่องจากข้อเสนอให้ยกเลิกภาษีของรัฐนิวออร์ลีนส์ “ทันทีที่ผมแก้ฉากหลังจากบัลติมอร์เป็นนิวออร์ลีนส์” ร็อธกล่าว “ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปอีกทางหนึ่ง เพราะกระทั่งก่อนเกิดเหตุพายุถล่ม นิวออร์ลีนส์เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

บทหนังของร็อธแทบจะไม่เหลือเค้าเดิมของเรื่องสั้น หรือบทร่างแรกของสวิคอร์ดเลย “นอกจากแก่นหลักของหนังและชื่อตัวละครตัวสองตัว” ร็อธกล่าว “โรบินเป็นคนตั้งชื่อนางเอกของเรื่องว่าเดซีย์ เพื่อคารวะ The Great Gatsby ของฟิทซ์เจอรัลด์ ตัวละครอย่างควีนนี่ห่างไกลจากพี่เลี้ยงในเรื่องสั้นมาก เพราะฟิทซ์เจอรัลด์เขียนให้พ่อแม่ของเบนจามินยังมีชีวิตอยู่ แต่ในหนังเขาสูญเสียพ่อแม่ในสายเลือดไป”

นอกจากนี้ บทของควีนนี่ยังถูกอัพเกรดความสำคัญขึ้นอย่างชัดเจน “ในเรื่องสั้นเธอเป็นแค่พี่เลี้ยง” ทาราจี พี. เฮนสัน ผู้รับบทควีนนี่ กล่าว “แต่ร็อธเปลี่ยนให้เธอกลายเป็นเหมือนคุณแม่บุญธรรมของเบนจามิน สำหรับฉัน ฉากที่เธอบอกกับเบนจามินว่า บางครั้งผู้คนจะตัดสินเขาจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ให้ความรู้สึกเหมือนผู้หญิงผิวดำกำลังสั่งสอนลูกชายผิวดำมากๆ ฉันเคยพูดแบบเดียวกันนี้กับลูกชายหลายครั้ง มันเป็นฉากที่อ่อนโยนและน่ารักที่สุด”


Frost/Nixon

เบื้องหน้า: ฤดูร้อนปี 1977 การออกอากาศบทสัมภาษณ์ ริชาร์ด นิกสัน (แฟรงค์ แลนเกลลา) โดยนักข่าวชาวอังกฤษ เดวิด ฟรอสต์ (ไมเคิล ชีน) สามารถเรียกเรตติ้งได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของรายการข่าวในอเมริกา โดยมีผู้ชมกว่า 45 ล้านคนกดรีโมทมาฟังความคิดเห็นของอดีตประธานาธิบดี ด้วยความอยากรู้ว่าเขาจะเอ่ยอะไรถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดจนส่งผลให้เขาต้องหลุดออกจากตำแหน่ง พวกเขาตั้งตาชมเป็นเวลาสี่วัน ขณะนิกสันกับฟรอสต์ปะทะคารมกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ราวกับกำลังขึ้นชกไฟท์สำคัญโดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน ทั้งสองตระหนักดีว่าผลลัพธ์ไม่มีทางเสมอตัว... และเพียงคนเดียวเท่านั้นจะกลายเป็นผู้ชนะ

การถ่ายทอดดังกล่าวได้ชุบชีวิตรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมือง และสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนทั่วประเทศ เมื่อนิกสันเผลอพูดประโยคเด็ดออกมาโดยเขาเองก็คงไม่ตระหนักว่ามันสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเขามากเพียงใด

ชายทั้งสองล้วนกำลังค้นหาหนทางไถ่บาป ฟรอสต์เป็นนักข่าวและนักล้อเลียนการเมืองชื่อดัง แต่กำลังตกต่ำอย่างหนักจนต้องไปทำรายการอย่าง David Frost Presents the International Guinness Book of World Records เขาสูญเสียพลังดึงดูดผู้ชมและต้องหาเงินให้ได้ 2 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดรายการสัมภาษณ์นิกสัน ส่วนอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็กำลังปลีกวิเวกเพื่อหลบเลียแผลหลังคดีอื้อฉาววอเตอร์เกทบีบให้เขาต้องลาออกจากทำเนียบขาว ทั้งสองมองเห็นการสัมภาษณ์เป็นเหมือนโอกาสที่จะแก้ตัว แล้วหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง

เบื้องหลัง: สามปีหลังจากทำหนังอย่าง Cinderella Man ผู้กำกับ รอน โฮเวิร์ด ได้หวนคืนสู่สังเวียนมวยอีกครั้ง (ในเชิงสัญลักษณ์) โดยคราวนี้เป็นการปะทะกันของพิธีกรข่าวชาวอังกฤษ เดวิด ฟรอสต์ กับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน บนเวทีสัมภาษณ์ครั้งประวัติศาสตร์ พวกเขาทั้งสองล้วนมีทีมพี่เลี้ยงที่จะคอยป้อนข้อมูลและตระเตรียมความพร้อมสำหรับการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ เหลือเพียงสองสิ่งที่ดูเหมือนจะขาดหายไป คือ กรรมการห้ามมวยและคนพากย์ข้างสนาม

“ทั้งสองมีความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน พวกเขาไม่ได้เกลียดกัน แต่พวกเขาต้องเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้” โฮเวิร์ดกล่าวระหว่างการถ่ายทำในเดือนกันยายนปีก่อน เมื่อทีมงานของเขาได้รับอนุญาตให้เดินทางไปถ่ายทำในบ้านพักตากอากาศของนิกสันที่ซานเคลเมนเต้ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์จาก A Beautiful Mind เล่าว่า เขาตัดสินใจเดินทางไปชมละครเวทีเรื่องนี้ที่ลอนดอน หลังได้ยินเสียงร่ำลือหนาหูทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ถึงความยอดเยี่ยมของนักแสดง รวมถึงบทละครของ ปีเตอร์ มอร์แกน (The Queen) ซึ่งดัดแปลงคร่าวๆ จากบันทึกชีวิตของฟรอสต์เรื่อง Frost/Nixon: Behind the Scenes of the Nixon Interviews และทันทีที่ชมละครจบ โฮเวิร์ดก็โทรศัพท์หาผู้อำนวยการสร้างคู่ใจ ไบรอัน เกรเซอร์ เพื่อบอกว่าเขาอยากทำ Frost/Nixon เป็นภาพยนตร์

บ่อยครั้งนักทำหนังนิยมสร้างฉากหลังขึ้นใหม่เพื่อประหยัดต้นทุน เช่น การจำลองค่ายผู้อพยพอัฟกานิสถานที่ลอสแองเจลิสใน Charlie Wilson’s War หรือการจำลองทุ่งน้ำมันของแคลิฟอร์เนียที่เท็กซัสใน There Will Be Blood แต่โฮเวิร์ดกลับรีบกระโดดคว้าโอกาสที่จะได้ถ่ายหนังในสถานที่จริง แม้ว่ามันจะส่งผลให้งบประมาณต้องบานปลายก็ตาม เจ้าของคนปัจจุบันของบ้านริมทะเลที่นิกสันเคยอาศัยอยู่กล่าวว่า ไม่เคยมีกองถ่ายหนังเรื่องไหนได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำมาก่อน “เราต้องเดินเรื่องกันวุ่นวายมากๆ” นักออกแบบงานสร้าง ไมเคิล คอเคนบลิธ กล่าว แต่ความรู้สึกสมจริงของบรรยากาศ ซึ่งทีมงานสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่นาทีแรกที่ก้าวผ่านประตูเข้าไป ถือได้ว่าคุ้มค่าความลำบากเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสมจริงทั้งหลาย Frost/Nixon ไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกับหนังสารคดี ตรงกันข้าม มันผสมผสานการตีความ บทพูดที่เขียนขึ้นใหม่ และบทสัมภาษณ์จริงๆ ที่ออกอากาศ เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนเพื่อเร้าอารมณ์ดราม่า รวมถึงเพื่อสะท้อนให้เห็นประเด็นที่ใหญ่โตขึ้น นั่นคือ อำนาจ ความหยิ่งทะนง และชื่อเสียง การเมืองอาจเป็นจุดสำคัญของเรื่องราว แต่ Frost/Nixon ให้ความสนใจกับจิตวิทยามากกว่าการวิพากษ์รัฐบาล “ทั้งสองเป็นคนรักสันโดษ” โฮเวิร์ดอธิบายตัวละครเอกของเขา “แต่พร้อมจะก้าวกระโดดมายืนกลางเวที ณ นาทีสำคัญ และช่วงเวลาดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของพวกเขา”

การได้สองนักแสดงจากละครเวทีมารับบทเดิมทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับโฮเวิร์ด พวกเขาตัดสินใจหยุดเล่นละครเพียงสี่วันก่อนหนังเปิดกล้อง กระนั้นโฮเวิร์ดไม่ต้องการจะคัดลอกละครเวทีทั้งดุ้นมาไว้บนแผ่นฟิล์ม “ผมรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดอยู่ตรงการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองตัวละครเอกกับทีมงานให้ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บทละครไม่ได้เน้นย้ำ” ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะปล่อยให้ เจมส์ เรสตัน จูเนียร์ (พี่เลี้ยงทางฝั่งฟรอสต์) กับ แจ๊ค เบรนแนน (พี่เลี้ยงทางฝั่งนิกสัน) เป็นคนเล่าเรื่องเหมือนในละคร โฮเวิร์ดได้เปลี่ยนพวกเขาเป็นตัวละครสำคัญในหนัง รับบทโดย แซม ร็อคเวล และ เควิน เบคอน ตามลำดับ


Milk

เบื้องหน้า: ฮาร์วีย์ มิลค์ (ฌอน เพนน์) พบรักกับ สก็อตต์ สมิธ (เจมส์ ฟรังโก้) ที่สถานีรถไฟใต้ดิน ก่อนทั้งสองจะย้ายไปเปิดร้านขายกล้องถ่ายรูปในย่านแคสโตรของเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งขณะนั้น (ปลายทศวรรษ 1970) เปรียบเสมือนนครเมกกะแห่งรักร่วมเพศ มิลค์เริ่มก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกันของเกย์และเลสเบี้ยน ก่อนความทะเยอทะยานทางการเมืองจะครอบงำเขา แล้วทำลายสายสัมพันธ์รักระหว่างเขากับสมิธ โดย ในช่วงเดียวกันนี้ มิลค์ยังมีโอกาสได้รู้จัก แดน ไวท์ (จอช โบรลิน) นักการเมืองขวาจัดที่ต่อต้านรักร่วมเพศ และชิงชังความป็อปปูล่าของมิลค์

หลังจากล้มเหลวมาสามครั้งติดๆ กัน ในที่สุดมิลค์ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะผู้ตรวจการแห่งซานฟรานซิสโก ชัยชนะดังกล่าวทำให้เขากลายเป็นนักการเมืองอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยตัวต่อสาธารณชนว่าเป็นรักร่วมเพศ ด้วยแรงสนับสนุนจากคู่รักคนใหม่ แจ๊ค ลิรา (ดิเอโก ลูนา) มิลค์ดำเนินการผลักดันกฎหมายเพื่อช่วยไม่ให้เกย์และเลสเบี้ยนถูกไล่ออกจากงานเพียงเพราะอคติทางเพศ พร้อมกันนั้นเขาก็รณรงค์คว่ำร่างกฎหมายที่ห้ามไม่ให้รักร่วมเพศมีอาชีพเป็นครู แนวทางการต่อสู้ของมิลค์สร้างความไม่พอใจให้กับไวท์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฝ่ายหลังตัดสินใจลาออกจากคณะผู้ตรวจการ

ต่อมาไวท์ได้พยายามจะขอร้องให้นายกเทศมนตรี จอร์จ มอสโคน (วิคเตอร์ การ์เบอร์) คืนตำแหน่งเดิมให้เขา แต่เสียงโน้มน้าวของมิลค์ส่งผลให้มอสโคนตอบปฏิเสธคำขอ โดยหารู้ไม่ว่านั่นจะกลายมาเป็นเสมือนคำสั่งประหารของเขาและมิลค์

เบื้องหลัง: หลายปีก่อนลงมือถ่ายทำ Milk เวอร์ชั่นปัจจุบัน ผู้กำกับ กัส แวน แซนท์ เคยจินตนาการภาพมิลค์ แต่งตัวเป็น โรนัลด์ แม็คโดนัลด์ ขณะไวท์ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะ “จิตตก” จากการบริโภคน้ำตาลเข้าไปมากเกิน มองเห็นตัวเองเป็นนายอำเภอก่อนยิงนายกเทศมนตรีมอสโคนกับฮาร์วีย์เสียชีวิต (ในคำแก้ต่างชั้นศาล ทนายของไวท์อ้างว่าลูกความเผชิญความเครียดและความเปลี่ยนแปลงของเคมีในร่างกายจากการกินอาหารขยะเข้าไปเป็นจำนวนมากก่อนวันเกิดเหตุ มันกลายเป็นที่มาของคำว่า “Twinkie defence” อันลือลั่น) แวน แซนท์เรียกเวอร์ชั่นดังกล่าวว่าเป็น Milk ฉบับ ชาร์ลี คอฟแมน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้กำกับรักร่วมเพศอย่างแวน แซนท์จะได้รับข้อเสนอหลายครั้งให้นำเรื่องราวของมิลค์มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เริ่มต้นจากยุคแรกๆ ภายใต้การผลักดันของ โอลิเวอร์ สโตน ซึ่งแวน แซนท์ขอถอนตัวออกมาเนื่องจากมีความเห็นแตกต่างในเรื่องบท จนกระทั่งเวอร์ชั่นแม็คโดนัลด์ข้างต้นที่เขาเขียนบทเอง ก่อนจะมาลงเอยด้วยเวอร์ชั่นล่าสุดฝีมือของมือเขียนบทวัย 34 ปี อดีตมอร์มอนเคร่งศาสนา ดัสติน แลนซ์ แบล็ค ที่เน้นแง่มุมการต่อสู้ทางการเมืองของมิลค์เป็นหลัก (เนื้อหาเกี่ยวกับ Twinkie defence และโทษจำคุกเจ็ดปีของไวท์ถูกผลักให้กลายเป็นเพียงคำบรรยายก่อนเครดิตท้ายเรื่อง)

แม้การเมืองจะเป็นหัวใจแห่งเรื่องราว แต่ Milk แตกต่างจากหนังชีวิตประวัติ “ฮีโร่แห่งมวลชน” ทั่วๆ ไปอยู่ไม่น้อย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะบุคลิกเปี่ยมสีสันของมิลค์ ส่วนอีกสาเหตุเกิดจากการสะท้อนความสนใจหลักของแวน แซนท์ นั่นคือ ชีวิตและความผูกพันของเหล่าคนชายขอบ ใกล้เคียงกับหนังในยุคแรกของแวน แซนท์อย่าง Drugstore Cowboy และ My Own Private Idaho

ช่วงสุดท้ายของ Milk โฟกัสไปยังสงครามคว่ำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1978 (Prop.6) ซึ่งจะกีดกันไม่ให้รักร่วมเพศมีอาชีพเป็นครูในสถานบันการศึกษาของรัฐ (ผลลัพธ์คือมิลค์ประสบชัยชนะ) แต่สามสิบปีต่อมา Prop.8 ซึ่งห้ามไม่ให้รักร่วมเพศแต่งงานกัน กลับถูกเห็นชอบจากมวลชนท่ามกลางความไม่พอใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยนจำนวนมาก ในยุคของ บารัค โอบามา หนังอย่าง Milk สะท้อนให้เห็นแง่มุมการมองโลกแง่ดีที่คล้ายคลึงกันบางอย่าง โดยเช่นเดียวกับโอบามา มิลค์ใช้เรื่องราวส่วนตัวเพื่อผลักดันประเด็นทางการเมือง กระตุ้นให้พันธมิตรของเขาออกจากเงามืดมาแสดงพลัง นอกจากนี้ เขายังกล่าวเชิดชูความหวังในการปราศรัยหลายครั้งด้วย “ผมรู้ว่าเราไม่สามารถมีชีวิตโดยอาศัยความหวังเพียงอย่างเดียว แต่หากปราศจากมัน ชีวิตของเราก็ไร้ค่า”

มิลค์ได้ท้าทายระบบความคิดแบบดั้งเดิมทางการเมือง “เขาเป็นนักอุดมคติ” แวน แซนท์ เจ้าของผลงานเชิงทดลองอย่าง Gerry, Elephant, Last Days และ Paranoid Park กล่าว “เขาพูดในสิ่งที่กระทั่งผู้สนับสนุนเขายังไม่กล้าแม้แต่จะฝัน เช่น เกย์ก็สามารถเป็นนักการเมืองระดับแนวหน้าได้” และเขาก็พิสูจน์คำพูดดังกล่าวในฉากหนึ่งด้วยการสลัดภาพลักษณ์แบบฮิปปี้ทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นกางเกงยีน ผมหางม้า หนวดเครา และมาดเซอร์ๆ แล้วหันมาสวมชุดสูทสามชิ้นอย่างเป็นทางการแทนเพื่อสร้างการยอมรับในวงกว้าง

จากความเห็นของผู้อำนวยการสร้าง บรูซ โคเฮน Milk เป็นผลงานที่แวน แซนท์คลุกเคล้าสไตล์หนังทดลองแบบ Elephant เข้ากับแนวทางของหนังในกระแสหลักอย่าง Good Will Hunting ได้อย่างลงตัว “มันให้ความรู้สึกของมหากาพย์ทางการเมือง แต่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของกัสยังคงโดดเด่น เขาทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังประสบเรื่องราวเหล่านั้นมากกว่าแค่เฝ้ามองมัน”


The Reader

เบื้องหน้า: วันหนึ่งในปี 1958 เด็กชายวัย 15 ปี ไมเคิล เบิร์ก (เดวิด ครอส) เกิดป่วยหนักระหว่างทางกลับบ้าน เขาได้รับความช่วยเหลือจาก ฮันนา ชมิทซ์ (เคท วินสเล็ท) สาววัย 36 ปีที่ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินบนรถราง ทั้งสองลงเอยด้วยการสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งเป็นเวลาหลายเดือน โดยเธอสอนเขาให้รู้จักโลกแห่งกามารมณ์ ส่วนเขาก็ตอบแทนด้วยการอ่านหนังสือให้เธอฟังตามคำขอ จนกระทั่งฮันนาหายตัวไปอย่างลึกลับโดยไม่กล่าวลา สร้างความรู้สึกเจ็บปวดแบบฝังลึกให้แก่ไมเคิล

แปดปีต่อมา ขณะเป็นนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย ไมเคิลได้เดินทางไปยังศาลเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการพิพากษาคดีของเหล่าอดีตนาซี ที่นั่น เขาได้พบฮันนาโดยบังเอิญ เธอตกเป็นจำเลยในข้อหาอาชญากรสงคราม เนื่องจากระหว่างช่วงนาซีเรืองอำนาจเธอเคยรับตำแหน่งยามคุมค่ายกักกัน และคืนหนึ่งปล่อยให้เหล่านักโทษชาวยิวจำนวนมากถูกไฟครอกตายในโบสถ์ เขาเดินทางไปฟังการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งค้นพบความลับบางอย่างเกี่ยวกับฮันนา ความลับที่อาจช่วยให้เธอพ้นโทษสูงสุด ความลับที่สร้างความละอายอย่างใหญ่หลวงแก่ฮันนาและผลักดันให้เธอกระทำทุกอย่างเพื่อปกปิดมันไว้

แต่เขาควรจะยื่นมือเข้าไป “ตัดสินใจ” แทนเธอด้วยการเปิดเผยความลับนั้นหรือ

เบื้องหลัง: นิยายขายดีเรื่อง The Reader ของ เบอร์นาร์ด ชลิงค์ ถือเป็นปรากฏการณ์แห่งแวดวงวรรณกรรมในประเทศเยอรมัน ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ 39 ภาษา ขายได้ในอเมริกากว่า 1 ล้านเล่ม และถูกบรรจุเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในโรงเรียนมัธยม “ไม่มีชาวเยอรมันคนใดที่ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้” ผู้กำกับ สตีเฟ่น ดัลดรี้ กล่าว ผู้กำกับชาวเยอรมันหลายคนสนใจอยากดัดแปลง The Reader เป็นภาพยนตร์ แต่ชลิงค์ต้องการให้เรื่องราว ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงความรู้สึกผิดบาปของชาวเยอรมันจากประวัติศาสตร์นาซีกลายเป็นหนัง “นานาชาติ”

“ชลิงค์อยากให้หนังพูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาเยอรมัน” ดัลดรี้อธิบาย “ประเด็นคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในยุคสมัยหลังสงครามล้างเผ่าพันธุ์ การใช้ชีวิตท่ามกลางตราบาปแห่งอดีต หรือคำถามที่ว่าคุณจะสามารถรักคนที่เคยทำกระทำความผิดร้ายแรงมาก่อนได้อย่างไร และเมื่อคุณค้นพบว่าเขาคนนั้นเคยทำอะไรมา ความรักของคุณจะเหือดหายไปด้วยไหม ประเด็นคำถามเหล่านี้อาจโดนใจชาวเยอรมันเป็นพิเศษ แต่ผมเชื่อว่ามันสามารถก้าวข้ามเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ได้”

แรกทีเดียวลิขสิทธิ์ในการสร้าง The Reader ตกอยู่ในมือของ แอนโธนีย์ มินเกลลา ซึ่งตั้งใจจะดัดแปลงมันเป็นภาพยนตร์ด้วยตัวเอง แต่ตลอดหลายปีแห่งความไม่คืบหน้าใดๆ ดัลดรี้ ซึ่งรู้จักมินเกลลาเป็นการส่วนตัว พยายามเซ้าซี้ขอทำแทน พร้อมกระแตง เดวิด ฮาร์ คนเขียนบทซึ่งเคยร่วมงานกันใน The Hours ติดมาด้วย จนสุดท้ายเจ้าของรางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The English Patient ก็ยอมตามคำขอ พร้อมโยกมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างร่วมกับ ซิดนีย์ พอลแล็ค (ทั้งคู่เสียชีวิตก่อนหนังจะเสร็จสมบูรณ์)

นอกเหนือจาก เคท วินสเล็ท, ลีนา โอลิน (รับบทเหยื่อรอดชีวิตจากค่ายกักกัน) และ เรฟ ไฟนส์ (รับบทไมเคิลตอนโต) แล้ว นักแสดงส่วนใหญ่ล้วนเป็นดาราดังชาวเยอรมัน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่น กระทั่งบรรดาตัวประกอบเดินผ่านหน้ากล้องยังมีแฟนๆ มาขอลายเซ็นระหว่างการถ่ายทำ ตรงกันข้าม ตัวเอกของเรื่องอย่าง เดวิด ครอส กลับเป็นนักแสดงหน้าใหม่ถอดด้าม โดยเขายังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมในเมืองบ้านนอกเล็กๆ ตอนถูกคัดเลือกให้มารับบทนำและที่สำคัญ ยังอายุไม่ครบ 18 ปี ส่งผลให้ดัลดรี้ต้องตัดสินใจรอคอยจนกระทั่งเขาอายุครบเกณฑ์ก่อนจึงค่อยเริ่มเปิดกล้อง เนื่องจากหนังมีฉากเซ็กซ์ร้อนแรงและเปิดเผยค่อนข้างมากจนอาจมีปัญหาทางกฎหมายตามมา หากนักแสดงที่รับบทไมเคิลยังเป็นผู้เยาว์ นอกจากนี้ ครอสยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้อีกด้วย การเตรียมตัวหลักๆ ของเขาจึงได้แก่ ลงคอร์สเรียนพูดภาษาอังกฤษ

การต้องพูดภาษาที่คุณไม่คุ้นเคยต่อหน้ากล้องและทีมงานจำนวนมากถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณต้องทำมันขณะเปลือยกายหมดจด แล้วมี เคท วินสเล็ท ในสภาพนุ่งลมห่มฟ้าซุกไซ้ไปมา!!

กระแสอื้อฉาวเริ่มต้นขึ้นหลังจากหนังปิดกล้องไปแล้ว เมื่อ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (บริษัทของไวน์สไตน์เป็นคนจัดจำหน่าย The Reader) ขอร้องให้ดัลดรี้ส่งหนังในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ทันกำหนดการเข้าชิงออสการ์และลูกโลกทองคำ ดัลดรี้ค้านหัวชนฝา บอกว่าเขาไม่มีทางตัดหนังเสร็จตามกำหนดแน่นอน (ขั้นตอนตัดต่อทำได้ช้าเนื่องจากในเวลาเดียวกันดัลดรี้ต้องคอยซักซ้อมเหล่านักแสดงในละครเพลง Billy Elliot ให้พร้อมสำหรับการเปิดตัวที่บรอดเวย์) สก็อตต์ รูดิน หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างสนับสนุนเขา แต่ไวน์สไตน์ไม่ยอมแพ้ แม้กระทั่งเมื่อข่าวหลุดรอดไปถึงหูของสื่อมวชน ตามมาด้วยการประกาศถอนชื่อออกจากหนังของรูดิน น้อยคนนักที่จะกล้างัดข้อกับไวน์สไตน์ แต่ดัลดรี้ยึดมั่นในสัญชาตญาณทางศิลปะของเขา จนสุดท้ายไวน์สไตน์ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนผัน “ผมมีเวลาเพิ่มมาอีกหนึ่งเดือนในการตัดหนังให้เสร็จ พร้อมทั้งได้ทีมงานชั้นยอดมาช่วยเหลือ ต้องบอกว่าผมรู้สึกสุขใจมากๆ” ดัลดรี้กล่าว


Slumdog Millionaire

เบื้องหน้า: จามาล มาลิค (เดฟ เพเทล) เด็กกำพร้าวัย 18 ปีจากสลัมมุมไบ กำลังค้นพบประสบการณ์แห่งชีวิตที่เขาจะไม่มีวันลืม ทั่วทั้งประเทศต่างจ้องมองเขาเป็นตาเดียว เมื่อเขาเหลือคำถามต้องตอบอีกเพียงหนึ่งข้อ ก่อนจะชนะเงินรางวัล 20 ล้านรูปีในรายการ Who Wants To Be A Millionaire? ของประเทศอินเดีย แต่พอรายการพักเบรกเพื่อเตรียมถ่ายต่อในวันรุ่งขึ้น ตำรวจกลับบุกเข้ามาจับเขาเนื่องจากสงสัยว่าเขากำลังเล่นโกง

เด็กข้างถนนจะรู้เรื่องมากมายเช่นนี้ได้อย่างไร?

ด้วยต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ จามาลจึงเล่าเรื่องราวชีวิตในสลัมของเขากับน้องชายให้นายตำรวจฟัง การผจญภัยบนท้องถนนของพวกเขา การเผชิญหน้าแก๊งอันธพาล และการพบเจอ ลาติกา (ไฟรดา พินโต) หญิงสาวที่เขาหลงรักและต้องสูญเสียเธอไป แต่ละบทในหนังชีวิตของเขาล้วนเฉลยให้เห็นกุญแจ ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการตอบคำถามแต่ละข้อของรายการเกมโชว์ได้อย่างชัดแจ้ง

จากนั้นนายตำรวจก็พลันสงสัยว่าเด็กหนุ่ม ผู้ไม่เคยปรารถนาจะรวยล้นฟ้าอย่างเขา มาทำอะไรในรายการเกมโชว์นี้? เมื่อวันใหม่เริ่มต้นขึ้น และจามาลได้กลับมาตอบคำถามสุดท้ายในรายการ นายตำรวจพร้อมทั้งคนดูอีก 60 ล้านคนกำลังจะค้นพบคำตอบต่อคำถามดังกล่าว

เบื้องหลัง: ส่วนใหญ่เรามักเคยได้ยินแต่คำว่า product placement (การโปรโมตสินค้าในหนัง) แต่ Slumdog Millionaire กลับต้องสูญเงินจำนวนมากเพื่อทำ product displacement เมื่อบริษัท เมอร์ซีเดส-เบนซ์ ยืนกรานให้ทีมงานถอดยี่ห้อรถออกจากหลายฉากในหนังเพราะพวกเขาไม่ต้องการให้ชื่อเสียงสินค้าไปข้องเกี่ยวกับสลัมมุมไบ “เราเลือกใช้รถเบนซ์เพราะตัวละครเป็นพวกมาเฟีย” ผู้กำกับ แดนนี่ บอยล์ ให้สัมภาษณ์ “แต่การจะทำแบบนั้นได้ เราต้องได้รับอนุญาตก่อน และพวกเขาก็ตอบปฏิเสธ”

น่าตลกตรงที่ เมอร์ซีเดส-เบนซ์ กลับไม่มีปัญหา ถ้าโลโก้เดียวกันนั้นจะไปปรากฏบนรถมาเฟียที่จอดอยู่หน้าแมนชั่นสุดหรูกลางกรุงนิวยอร์กเฉกเช่นในหนังฮอลลีวู้ดหลายๆ เรื่อง

นอกจากนี้ ทีมงานยังประสบปัญหากับบริษัทน้ำอัดลมยี่ห้อดังอีกด้วย “ในฉากหนึ่งมีคนเสนอน้ำอัดลมให้พวกเด็กๆ ตามกองขยะ ไม่เพียงพวกเขาจะปฏิเสธไม่ให้ใช้โลโก้เท่านั้น แต่เรายังต้องระบายทับฉลากบนขวดอีกด้วย สุดท้ายเราต้องเสียเงินไปหลายพันปอนด์เพื่อระบายทับยี่ห้อน้ำอัดลม ซึ่งอันที่จริงควรเป็นตัวแทนของการรวมทุกคนบนโลกเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่หรือ” บอยล์กล่าว

แรกทีเดียว Slumdog Millionaire วางแผนสร้างเป็นหนังพูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง จนกระทั่งบอยล์เดินทางไปมุมไบ แล้วพบว่าเด็กชายคนที่เขาอยากให้มารับบทเป็นจามาลวัยเด็กมากที่สุด นั่นคือ อายุช มาเฮช คีเดคาร์ พูดได้แต่ภาษาฮินดู (เขาพอจะพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่า) “ผมโทรไปแจ้งข่าวกับทางสตูดิโอว่าเศษหนึ่งส่วนสามของหนังจะพูดภาษาฮินดู” บอยล์เล่า “จำได้ว่าเสียงปลายสายเงียบกริบไปพักหนึ่ง พวกเขาคงคิดว่าผมจิตหลุดไปแล้วและจะเดินทางกลับมาพร้อมหนังเกี่ยวกับโยคะ หรืออะไรทำนองนั้น” อย่างไรก็ตาม บอยล์สร้างความมั่นใจให้กับทางสตูดิโอว่าเขายังมีสติครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมทั้งสัญญาว่าหนังจะ “น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น” หากมีซับไตเติลประกอบ

เพื่อรักษาคำมั่นดังกล่าว บอยล์จึงเสนอไอเดียให้ทำซับไตเติลในรูปแบบคล้ายคำพูดในหนังสือการ์ตูน โดยมันจะล่องลอยอย่างอิสระ ไม่จำกัดตัวเองอยู่ตรงด้านล่างของจอเท่านั้น พร้อมทั้งระบายสีสันสดใส ทั้งนี้เพราะบอยล์ต้องการให้คนดูโฟกัสไปทั่วจอ โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากซับไตเติลแหกกฎในหนังไซไฟของรัสเซียเรื่อง Night Watch (2004) กำกับโดย ทิเมอร์ เบคแมมเบตอฟ

มือเขียนบทชาวอังกฤษ ไซมอน โบฟอย ซึ่งดัดแปลงเรื่องราว “คร่าวๆ” มาจากหนังสือรวมเรื่องสั้น Q&A: A Novel เขียนโดย วิคาส สวารับ เล่าว่าเขาคิดชื่อหนังได้ระหว่างเดินท่องไปตามสลัมมุมไบ แล้วสังเกตเห็นหมาข้างถนนกลุ่มหนึ่งนอนอยู่ในตรอกแคบๆ คับคั่งไปด้วยผู้คน “พวกมันเหมือนจะนอนหลับอยู่ แต่ถ้าสังเกตให้ดี คุณจะเห็นว่าตาข้างหนึ่งของพวกมันเฝ้าเหลือบมองทุกสิ่ง พวกมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนคนชั้นต่ำระดับล่างที่ดูเหมือนไร้ค่า ไม่รู้อะไรเลย แต่ความจริงแล้วกลับเฝ้าสังเกตทุกอย่างรอบตัว และรู้ไปหมดทุกเรื่อง”

ความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งเงินทั้งกล่องของ Slumdog Millionaire เทียบไปแล้วคงไม่ต่างกับนิทานซินเดอเรลล่า เมื่อพิจารณาว่าก่อนหน้านี้หนังทุนสร้าง 15 ล้านเหรียญเกือบโดนส่งตรงไปยังแผงดีวีดีแล้ว หลังจากวอร์เนอร์ สตูดิโอ สั่งปิดบริษัทลูก วอร์เนอร์ อินดีเพนเดนท์ พิคเจอร์ส (เน้นผลิตหนังอาร์ต/หนังอินดี้/ซื้อหนังต่างประเทศ) ซึ่งออกทุนสร้างให้แก่บอยล์ ก่อน ฟ็อกซ์ เซิร์จไรท์ จะเข้ามาช่วยเหลือด้านเงินทุนและการจัดจำหน่าย “มันเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมาก หนังเล่าเรื่องราวของเด็กสลัมที่กลายมาเป็นเศรษฐีเงินล้าน และตัวหนังเองก็ประสบชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน ผมไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ มากเท่านี้มาก่อน” ผู้กำกับเจ้าของผลงานในอดีตอย่าง Trainspotting, Shallow Grave และ Millions กล่าว

วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 14, 2552

Oscar 2009: Best Actor


ริชาร์ด เจนกินส์ (The Visitor)

แม้ใบหน้าของเขาจะดูคุ้นตาจากการแสดงหนังมาแล้วกว่า 70 เรื่อง แต่นักดูหนังส่วนใหญ่กลับยังไม่สามารถจดจำชื่อ ริชาร์ด เจนกินส์ ได้ ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปหลังเจนกินส์ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง The Visitor ซึ่งเขารับบทเป็น วอลเตอร์ เวล ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่หย่าขาดจากภรรยานักเปียโน “ถ้าคุณรู้จักวอลเตอร์ ถ้าคุณมีโอกาสร่วมงานกับเขา คุณจะต้องหงุดหงิดอย่างไม่ต้องสงสัย” ผู้กำกับ ทอม แม็คคาธีย์ กล่าว “เขาใช้ชีวิตเอื่อยเนือยเหมือนคนเดินละเมอ ผมต้องยกเครดิตให้กับริชาร์ดที่สามารถทำให้ตัวละครลักษณะนี้ดูน่าสนใจและชวนติดตาม”

เป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับฮอลลีวู้ด เมื่อเจนกินส์ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพนักแสดงเมื่ออายุได้ 60 ปี โดยปีนี้นอกจากการแสดงอันน่าจดจำใน The Visitor แล้ว เขายังขโมยหัวใจคนดูมาครองใน Burn After Reading อีกด้วย ซึ่งมันถือเป็นการร่วมงานกันครั้งที่สามของเจนส์กินส์กับ โจเอล และ อีธาน โคน หลังจากก่อนหน้านี้เขาเคยไปทดสอบหน้ากล้องเพื่อเล่นหนังของสองพี่น้องเจ้าของรางวัลออสการ์จาก No Country for Old Men หลายครั้งนับแต่ Raising Arizona (สำหรับเรื่อง Fargo เขาอยากได้บทของ วิลเลียม เอช. เมซี่ มาก) แล้วลงเอยด้วยการรับบทสมทบเล็กๆ ใน The Man Who Wasn’t There และ Intolerable Cruelty

ทอม แม็คคาธีย์ นักแสดงที่ผันตัวมาทำงานหลังกล้อง เคยร่วมงานกับเจนกินส์มาแล้วใน The Station Agent หนังชีวิตน้ำดีซึ่งเปิดโอกาสให้นักแสดงรุ่นใหญ่มากประสบการณ์อย่างเจนกินส์ได้แสดงนำเป็นครั้งแรก และเขาก็ตั้งใจเขียนบท วอลเตอร์ เวล ขึ้นเพื่อเจนกินส์โดยเฉพาะ “คุณไม่มีทางหาทุนมาสร้างหนังเรื่องนี้ได้แน่ ถ้าให้ผมแสดงนำ” นั่นเป็นคำพูดแรกของเจนกินส์หลังได้รับข้อเสนอ แต่แม็คคาธีย์ไม่ยอมแพ้

ใบหน้าที่ซุกซ่อนอารมณ์ แทบจะปราศจากการแสดงออกของเจนกินส์ช่วยมอบความลึกลับให้ The Visitor วอลเตอร์กำลังซึมเศร้า หรือเขาแค่ชาชินกับชีวิต? จุดเด่นประการหนึ่งของหนังอยู่ตรงที่มันหลีกเลี่ยงการมอบคำตอบเด่นชัดแก่คนดู กระทั่งเหตุการณ์สำคัญในหนัง ซึ่งผลักดันพล็อตเรื่องให้เดินไปข้างหน้า (เมื่อศาสตราจารย์ต้องเดินทางมายังแมนฮัตตันเพื่อเข้าร่วมการสัมมนา เขาค้นพบว่าอพาร์ตเมนต์ที่เขาซื้อไว้ แต่แทบไม่เคยมาอยู่ ถูกจับจองโดยคู่รักชาวต่างชาติ) วอลเตอร์ก็ดูจะตอบสนองด้วยความกระตือรือร้นเพียงน้อยนิด “เช่นเดียวกับนักแสดงชั้นยอดทั้งหลาย” แม็คคาธีย์พูดถึงดารานำของเขา “คุณจะไม่เห็นเขาแสดง”

สำหรับเจนกินส์การที่บทหนังปราศจากคำอธิบายถือเป็นแรงดึงดูดสำคัญ เขาไม่ต้องการให้คนดูล่วงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับวอลเตอร์ “ผมชอบการที่คุณไม่อาจทราบได้ว่าเขา (วอลเตอร์) กำลังคิดอะไรอยู่” อย่างไรก็ตาม เจนกินส์ยอมรับว่าเขาประหม่าไม่น้อยกับการแบกหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่า “ผมตระหนักดีถึงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่ได้รับบทนี้ ผมกระวนกระวายในช่วงสองสามวันแรก จากนั้นก็เริ่มคิดได้ว่า ทอมเขียนบทนี้ให้ผม ถ้าผมยังทำไม่ได้ อาชีพนักแสดงของผมคงตกที่นั่งลำบาก”


แฟรงค์ แลนเกลลา (Frost/Nixon)

มองจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว แฟรงค์ แลนเกลลา ไม่มีอะไรเหมือน ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของอเมริกาเลยสักนิด เขาตัวสูงใหญ่ (6 ฟุต 3 นิ้ว) มือเท่าใบลาน แต่เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ทว่าเมื่อต้องปรากฏตัวบนจอในหนังเรื่อง Frost/Nixon ของ รอน โฮเวิร์ด เขาจะโก่งตัวไปข้างหน้าในอิริยาบถที่นิกสันชอบทำ มือไม้กระตุก คิ้วขมวด ดวงตาเลิกลั่ก และพูดจาด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำ จนพอดูหนังจบ คนดูกลับรู้สึกว่าแลนเกลล่าดูเหมือนนิกสันยิ่งกว่าตัวนิกสันเองซะอีก!

แลนเกลลาเตรียมทำการบ้านด้วยการเดินทางไปยังห้องสมุดนิกสัน ใช้เวลาหลายชั่วโมงนั่งดูเทปบันทึกภาพจำนวนมาก และพูดคุยกับ ไมค์ วอลเลซ, บาร์บารา วอลเทอร์ส, แฟรงค์ แกนนอน และใครก็ตามที่รู้จักนิกสัน จากนั้นในท้ายที่สุดเขาจะพยายามลืมทุกอย่างที่ได้รับฟังมา “สองสิ่งที่สะดุดใจผม คือ หนึ่ง นิกสันกระหายความยิ่งใหญ่ เขาปรารถนาจะเป็นอมตะ สอง นิกสันตกเป็นเหยื่อของเสียงในหัวเขา เราทุกคนล้วนเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นมาบ้างไม่มากก็น้อย เสียงพวกนั้นคือสาเหตุว่าทำไมบางคนจึงชอบทำลายตัวเอง แต่ในกรณีนิกสัน เสียงดังกล่าวตะโกนดังกว่า จนกลบเสียงแห่งสติปัญญา เหตุผล หรือสำนึกผิดชอบชั่วดี”

ไม่น่าเชื่อว่า ถึงแม้เขาจะรับบทเดียวกันนี้ในเวอร์ชั่นละครเวทีได้อย่างยอดเยี่ยมจนคว้ารางวัลโทนี่มาครอง แต่ แฟรงค์ แลนเกลลา หาใช่ตัวเลือกแรกสำหรับเวอร์ชั่นหนัง เนื่องจากทางสตูดิโอเห็นว่าบท ริชาร์ด นิกสัน เหมาะสำหรับนักแสดงเกรดเออย่าง วอร์เรน เบ็ตตี้, แจ็ค นิโคลสัน และ เควิน สเปซีย์ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดล้วนมีชื่อคุ้นหูนักดูหนังมากกว่าแลนเกลลา ผู้คร่ำหวอดในวงการละครเวทีเป็นหลัก แต่สุดท้าย รอน โฮเวิร์ด ก็ตัดสินใจจะเรียกใช้งานแลนเกลลา ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวดูจะสอดคล้องกับดวงชะตาของนักแสดงวัย 71 ปีอยู่ไม่น้อย หลังจากเขาเริ่ม “มือขึ้น” ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมากับงานแสดงอันน่าจดจำในหนังเรื่อง Good Night, and Good Luck, Starting out in the Evening และละครบรอดเวย์เรื่อง Man for All Seasons

โดยบุคลิกส่วนตัวแล้ว แลนเกลลาค่อนข้างแตกต่างจากนิกสันราวฟ้ากับดิน เขานิยมถ่อมตนและพึงพอใจกับสถานะในปัจจุบัน นอกจากนี้ เขายังขึ้นชื่อเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวเหนืออื่นใด โดยหากคุณพยายามกูเกิ้ลหาข้อมูลของเขา คุณจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะทราบรายละเอียดคร่าวๆ เช่น เขาเคยแต่งงาน แต่หย่าร้างแล้ว มีลูกทั้งหมดสองคน และเคยสานสัมพันธ์ยาวนานกับ วูปปี้ โกลด์เบิร์ก (พวกเขาพบกันในกองถ่ายหนังเรื่อง Eddie) “ผมไม่ชอบสารภาพเรื่องส่วนตัวกับสาธารณชน” เขากล่าว “และผมก็ไม่ชอบคนประเภทนั้นด้วย”

ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่อง Frost/Nixon รอน โฮเวิร์ด กล่าวว่า “ผมสนใจอยากจะเห็นแฟรงค์กลืนหายไปกับตัวละคร จนเกือบถึงขั้นลืมไปว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ในแง่ของการถ่ายทำภาพยนตร์ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนการสร้างตัวเลือกใหม่ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งเขายังไม่เคยสำรวจ หรือปฏิเสธพวกมันไปเมื่อครั้งแสดงละครเวที และเขาก็ทำให้ตัวเลือกทั้งหลายเหล่านั้นสอดคล้องไปกับตัวละครได้อย่างแนบเนียน”


ฌอน เพนน์ (Milk)

โดยมากแล้ว ฌอน เพนน์ มักจะไม่ค่อยรับบทเป็นอภิสิทธิ์ชน ถ้าเขาถูกเคลื่อนย้ายมวลสารไปยังทศวรรษ 1930-1940 ยุคสตูดิโอรุ่งเรือง เขาคงจะทำสัญญากับ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ซึ่งมีนักแสดงในสังกัดอย่าง เจมส์ แค็กนีย์, ฮัมฟรีย์ โบการ์ท และจอห์น การ์ฟิลด์ แล้วรับบทจำพวกนักเลงข้างถนนที่หยิ่งทะนง ไม่ยอมรับบริจาคจากใคร แต่กัดฟันต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้วยไหวพริบเฉพาะตัว การเติบโตมาในครอบครัวหัวเอียงซ้าย (พ่อของเขา ลีโอ เพนน์ เป็นผู้กำกับละครทีวีซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำในยุคแม็คคาธีย์) ดูจะเตรียมความพร้อมให้เพนน์สำหรับสถานะแอนตี้ฮีโร่แห่งชนชั้นล่าง ชนกลุ่มน้อย และบรรดาเหยื่ออธรรมของสังคม

เพนน์นิยมหลีกเลี่ยงหนังตลาดฟอร์มใหญ่ ซึ่งมักหอมหวานจนนักแสดงชั้นนำส่วนใหญ่ของฮอลลีวู้ดไม่กล้าปฏิเสธ แล้วเลือกแสดงในผลงานที่เขาชื่นชอบเป็นการส่วนตัว เพื่อเขาจะได้ถ่ายทอดเปลวเพลิงแห่งพลังสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ และดูเหมือนว่าความทุ่มเทของเขาจะปราศจากจุดสิ้นสุด ดังจะเห็นได้จากผลงานแสดงอันน่าทึ่งใน Dead Man Walking และ Mystic River โดยเรื่องหลังทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์มาครอง

ความหลงใหลของเพนน์ต่อ คริส แม็คแคนด์เลส หนุ่มนักอุดมคติใน Into the Wild ผู้เลือกจะหันหลังให้กับสังคม แล้วออกเดินทางไปผจญภัยยังดินแดนอลาสก้า สะท้อนให้เห็นความต้องการจะทดสอบความกล้าหาญภายในของเพนน์ “บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับการเดินทางออกจากสภาพแวดล้อมที่คุณคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัยทำให้เรื่องราวของคริสเปี่ยมไปด้วยพลัง เช่นเดียวกับการค้นหาว่าคุณมีศักยภาพพอจะทำอะไรได้บ้าง” เพนน์ ซึ่งดัดแปลงหนังสือของ จอน คราเคาเออร์ เป็นบทและควบตำแหน่งผู้กำกับด้วยกล่าว

วู้ดดี้ อัลเลน ซึ่งเคยร่วมงานกับเพนน์ใน Sweet and Lowdown อีกหนึ่งบทบาทที่ทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์นักแสดงนำชาย ให้ความเห็นว่านักแสดงหนุ่มใหญ่เลือกจะกักเก็บความรู้สึกเอาไว้ภายในเพื่อปกป้องตนเอง ลึกๆ แล้วเพนน์มีแง่มุมที่อ่อนโยน นุ่มนวลซุกซ่อนอยู่ ประกายดังกล่าวปรากฏให้เห็นบ้างใน Sweet and Lowdown ก่อนจะพุ่งสูงถึงขีดสุดใน Milk ซึ่งเพนน์รับบทเป็น ฮาร์วีย์ มิลค์ นักการเมืองเกย์ระหว่างช่วงทศวรรษ 1970 และนักบุกเบิกสิทธิเท่าเทียมกันของรักร่วมเพศ ที่ถูกสังหารโหดโดยนักการเมืองคู่แข่งหัวรุนแรง เพนน์เปลี่ยนวิธีการพูด น้ำเสียง รวมไปถึงอิริยาบถเล็กๆ น้อยๆ (เอียงศีรษะ ห่อไหล่) เพื่อเลียนแบบบุคลิกจริงของมิลค์ ซึ่งนักดูหนังคุ้นเคยจากสารคดีชนะรางวัลออสการ์เรื่อง The Times of Harvey Milk แต่สิ่งที่ทำให้การแสดงของเพนน์เหนือชั้นขึ้นไปอีกขั้นอยู่ตรงการนำเสนอจิตวิญญาณของมิลค์ โดยล้วงลึกถึงแก่นแท้ภายใน แล้วผันแปรเขาให้กลายเป็นชายหนุ่มแห่งอุดมคติ ตลอดจนความเท่าเทียมกัน จนทำให้คนดูต้องหวนนึกถึงพลังทำลายล้างของความเกลียดชัง ความหวาดกลัว และอคติ


แบรด พิทท์ (The Curious Case of Benjamin Button)

คืนวันแห่งภาพลักษณ์หนุ่มเซ็กซี่ หล่อเหนือมนุษย์ และซูเปอร์สตาร์ขายแผงอกไร้ไขมันของ แบรด พิทท์ ดูเหมือนจะเริ่มห่างไกลออกไปเรื่อยๆ เมื่อประวัติศาสตร์หน้าใหม่เปิดกว้างสำหรับ แบรด พิทท์ ที่อายุมากขึ้นและฉลาดขึ้น (แต่ไม่ได้ขึ้นกล้องน้อยลง) ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนชัดในผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งพิทท์รับบทเป็น เบนจามิน บัตตัน ชายที่เกิดมาชราภาพ แล้วค่อยๆ หนุ่มขึ้นตามกาลเวลา การย่างเข้าสู่วัยกลางคนส่งผลให้นักแสดงที่เคยเข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Twelve Monkeys ตระหนักดีถึงความไม่จีรังแห่งสรรพสิ่ง “เมื่ออายุขึ้นเลขสี่ คุณจะเริ่มหันมาตรวจสอบชีวิตที่ผ่านมา” พิทท์ ซึ่งเพิ่งจะอายุครบรอบ 45 ปีเมื่อเดือนธันวาคม กล่าว “ผมขอเลือกสติปัญญาเหนือความอ่อนเยาว์”

บทหนังของ อีริค รอธ ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิทซ์เจอรัลด์ เมื่อ 90 ปีก่อน เล่าถึงการผจญภัยผ่านยุคสมัยของเบนจามิน ในสไตล์เดียวกับ Forest Gump บทภาพยนตร์รางวัลออสการ์ของรอธ นับแต่เขาถือกำเนิดมาในร่างของชายอายุ 80 ปี แต่หัวใจหลักของหนังยึดโยงอยู่กับความสัมพันธ์ของเบนจามินกับ เดซีย์ (เคท บลันเช็ตต์) นักบัลเล่ต์สาวที่เขาได้พบและผูกพันตั้งแต่วัยเยาว์ โดยขณะเขายิ่งหนุ่มขึ้น เธอกลับเริ่มแก่ชราลงตามธรรมชาติ แม้จะมีช่วงเวลาตรงกลางที่เส้นทางอายุของทั้งสองมาบรรจบกันพอดี แต่สุดท้ายสัมพันธภาพหวานปนขมระหว่างทั้งสองย่อมจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

“มันเป็นโศกนาฏกรรมเพราะไม่ว่ารักใดย่อมเกี่ยวโยงกับความสูญเสีย มันคือความเสี่ยงที่คุณต้องทนรับ” พิทท์อธิบาย “ยิ่งรักของคุณยิ่งใหญ่มากเท่าใด ความสูญเสียที่คุณต้องเผชิญก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้การได้อยู่กินกับหญิงคนรักและลูกๆ ของเราทำให้ผมตระหนักถึงสัจธรรมดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นใด วันคืนที่เราได้อยู่ด้วยกันถือเป็นช่วงเวลาอันวิเศษสุด”

บรรดามิตรสหายล้อมรอบล้วนสัมผัสได้ถึง “การเติบใหญ่” ของพิทท์ รวมทั้ง เดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยกำกับเขามาแล้วสองครั้งใน Se7en และ Fight Club “ตลอด 15 ปีที่ได้รู้จักเขามา ผมไม่เคยเห็นเขาเปี่ยมความมั่นใจมากเท่านี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในกองถ่ายหรือนอกกองถ่าย” ฟินเชอร์กล่าว “ผมคิดว่าสาเหตุหลักคงมาจากครอบครัวของเขา มันเหมือนเขาเลิกที่จะวิ่งไล่สิ่งต่างๆ แล้วหันมุ่งมั่นทำงานเต็มเปี่ยม” พิทท์เห็นด้วยกับคำวิเคราะห์ดังกล่าว “ผมไม่จำเป็นต้องงมหาตัวละครอย่างหนักเหมือนเมื่อก่อน ผมสามารถเข้าใจตัวละครได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องลองผิดลองถูกอีกต่อไป นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ผมตระหนักดีว่าตนเองต้องการอะไร รู้ว่าอะไรเหมาะไม่เหมาะ และสุดท้าย ผมอยากเร่งทำงานให้เสร็จเพื่อจะได้กลับไปหาลูกๆ ที่บ้าน” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม


มิคกี้ รู้ค (The Wrestler)

ฮอลลีวู้ดดูเหมือนจะชื่นชอบการคัมแบ็คมากพอๆ กับการแสดงชั้นครู สองปีก่อน แจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาลีย์ เคยทำสำเร็จควบคู่กันจากหนังเรื่อง Little Children มาปีนี้ถึงคราว มิคกี้ รู้ค กลับมากอบกู้ชื่อเสียงของเขาใน The Wrestler และบางทีอาจก้าวไกลไปอีกขั้นด้วยการคว้ารางวัลออสการ์มาครอง เช่นเดียวกับฮาลีย์ รู้คเคยดำรงสถานะหนุ่มหล่อ ขวัญใจสาวๆ เมื่อสมัยยังหนุ่มแน่น ก่อนจะทำลายอนาคตด้วยน้ำมือตัวเอง “ผมเย่อหยิ่ง ไม่ฉลาดพอ หรือมีการศึกษามากพอจะรับมือกับชื่อเสียงที่หลั่งไหลเข้ามา” นักแสดงวัย 53 ปียอมรับ

รู้คเริ่มสร้างชื่อเสียงตั้งแต่ช่วงอายุ 20 กว่าๆ ด้วยหนังอย่าง Body Heat และ Diner ซึ่งทำให้เขากวาดคำชมจากนักวิจารณ์อย่างมากมาย แต่แล้วตลอดช่วงทศวรรษ 1990 เขากลับปฏิเสธบทเด่นในหนังอย่าง Beverly Hills Cop, Pulp Fiction, Platoon, Rain Man และ The Silence of the Lambs เพื่อไปแสดงหนังเรทอาร์ และหนังแนวสืบสวนระดับล่าง นอกจากนี้ ความเป็นคนอารมณ์ร้าย มีทัศนคติเย่อหยิ่ง และชอบพูดจาแบบไม่ถนอมน้ำใจใครก็เริ่มสร้างชื่อเสียให้รู้ค ทำให้เขากลายเป็น “ฝันร้าย” ในวงการหนัง เมื่องานเริ่มหดหาย รู้คจึงเบนเข็มไปเป็นนักมวยขณะมีอายุสามสิบปลายๆ อาชีพที่ทำให้ใบหน้าและร่างกายของเขาสะบักสะบอมจนไม่เหลือเค้าหนุ่มเซ็กซี่ หลังจากใช้เวลาพักรักษาตัวอยู่หลายปี รู้คจึงเริ่มเดินหน้าหวนคืนสู่วงการบันเทิง เริ่มต้นด้วยบทเล็กๆ ใน Man on Fire, Sin City และ Domino ก่อนจะขุดเจอหลุมทองขนาดใหญ่กับ The Wrestler

แรนดี้ (เดอะ แรม) โรบินสัน เป็นนักมวยปล้ำที่เคยโด่งดังในอดีต แต่ปัจจุบันกลับกลายสภาพเป็นชายชราอนาคตดับ เขาสูญเสียทุกอย่าง ทั้งภรรยา ลูกสาว เงินทอง ตลอดจนชื่อเสียง และกำลังใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในรถเทรลเลอร์ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมไปต่างจากเจ้าของ อาการหัวใจวายบีบบังคับให้แรนดี้ต้องทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มต้นประสานรอยร้าวกับลูกสาว (อีวาน ราเชล วู้ด) ค้นหาความหวานกับนักเต้นระบำเปลื้องผ้าสาวใหญ่ (มาริสา โทเม) และพยายามหวนคืนสู่สังเวียนมวยปล้ำซึ่งเขาโหยหา

บทดังกล่าวดูจะคล้ายคลึงกับชีวิตจริงของรู้คไม่น้อย “ผมอยู่คนเดียวมา 12 ปีแล้ว” รู้คกล่าว “บุคคลที่ผมใกล้ชิดที่สุด คือ น้องชาย คุณยาย และอดีตภรรยา ล้วนไม่อยู่กับผมแล้ว ผมไม่มีเพื่อนแท้สักคน ผมคบหาผู้หญิงบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นนักเต้นระบำเปลื้องผ้าชาวรัสเซีย แต่ไม่ได้คิดจริงจังกับใคร ผมสักชื่ออดีตภรรยาไว้บนแขน เธอเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวของผม แต่ผมเองก็แปลกใจที่รู้สึกโอเคกับการอยู่คนเดียว ผมโอเคกับมันมากกว่า เดอะ แรม เขากำลังอยู่ในสภาพสิ้นหวัง”

ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ เป็นแฟนพันธุ์แท้ของรู้คนับแต่ได้เห็นเขาแสดงใน Angel Heart “ผมต้องการนักแสดงสักคนที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้หลากหลาย แต่ขณะเดียวกันก็มีรูปร่างเหมาะกับการรับบทนักมวยปล้ำด้วย มันไม่ง่ายเลย ชื่อของมิคกี้แวบเข้ามาในหัว ผมชื่นชอบผลงานของเขา เลยตัดสินใจลองติดต่อเขาดู” เมื่อการถ่ายทำเริ่มต้นขึ้น ผู้กำกับหนุ่มก็ค้นพบว่าพรสวรรค์ทางการแสดงของรู้คนั้นหาได้เหือดหายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เขาจึงเปิดโอกาสให้รู้คแก้ไขสามารถบทพูดของตัวเอง รับฟังข้อเสนอของเขาเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย เมคอัพ และกระทั่งรอยสัก แน่นอน การเสี่ยงเดิมพันของอาโรนอฟสกี้ให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า “มิคกี้สร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมา บทหนังอาจมอบชื่อและสถานะให้กับตัวละคร แต่มิคกี้เป็นคนมอบชีวิตให้กับ แรนดี้ เดอะ แรม”

วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 13, 2552

Oscar 2009: Best Actress


แอนน์ แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married)

ด้วยดวงตาโตสะท้อนอารมณ์หลากหลายและทัศนคติแบบเยาะหยัน แอนน์ แฮทธาเวย์ รับบทเป็น คิม บุชแมน อดีตสาวขี้ยาและฝันร้ายสำหรับงานวิวาห์ในหนังเรื่อง Rachel Getting Married ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความกล้าหาญอยู่ตรงที่เธอไม่พยายามจะเรียกร้องความเห็นใจใดๆ จากคนดู แล้วผสมผสานบุคลิกกระปรี้กระเปร่า ท่าทางไม่เป็นมิตร และอารมณ์สมเพชตัวเองซึ่งแฝงลึกอยู่ภายในได้อย่างพอเหมาะ พิสูจน์ชัดจากฉากไฮไลท์ของหนัง เมื่อคิมใช้เวลานานกว่า 4 นาที พล่ามแสดงความยินดีกับพี่สาว ราเชล (โรสแมรี่ เดอวิตต์) ในงานเลี้ยงอาหารค่ำก่อนวันแต่งงาน เริ่มต้นด้วยประโยค “หวัดดี! ฉันคือนางมารจอมทำลายล้างและลางหายนะแห่งค่ำคืนนี้!”

เช่นเดียวกับ ดอริส เดย์ และ จูเลีย โรเบิร์ตส์ รอยยิ้มทรงเสน่ห์ของแฮทธาเวย์กลายเป็นเอกลักษณ์ที่เอาชนะใจคนดูหนังทั่วโลก และสร้างชื่อเสียงให้เธอผ่านผลงานร่าเริง สดใสอย่าง The Princess Diaries และ Ella Enchanted แต่ใน Rachel Getting Married (ครั้งแรกของการรับบทนำในหนังหวังกล่อง) คนดูจะเห็นฟันของเธอก็ต่อเมื่อคิมอ้าปาก เพื่อเตรียมจิกกัดพี่สาว พ่อแม่ หรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้าที่เดินทางมาร่วมงานแต่งของราเชล แขกเหรื่อส่วนใหญ่รู้เรื่องราวในอดีตของคิมดีว่าเมื่อหลายปีก่อนเธอเคยก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในครอบครัวขณะกำลังเมายา และความทรงจำอันขมขื่นดังกล่าวก็ไม่เคยเลือกหายไปจากใจของทุกคนรวมถึงตัวคิมเองด้วย

การเข้าวงการ (และโด่งดัง) ตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้คนดูได้เห็น แอนน์ แฮทธาเวย์ เติบใหญ่อย่างเด่นชัด เป็นขั้นเป็นตอน ทั้งในแง่รูปร่างหน้าตาและในฐานะนักแสดง การประคองตัวให้อยู่รอดในวงการบันเทิงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเงินทอง ชื่อเสียง เหล้า ยา เซ็กซ์ ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง (ดูตัวอย่างหนัง “อย่าให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับลูกของคุณ” ได้จาก ลินเซย์ โลฮาน) จุดพลิกผันทางอาชีพ ซึ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์ “ดาราดิสนีย์” ของแฮทธาเวย์มาเป็น “นักแสดงมากฝีมือ” เริ่มต้นด้วยการรับบทสมทบในหนังเรื่อง Brokeback Mountain

“ตอนนั้นฉันนึกอยากเลิกอาชีพนี้ไปเลยด้วยซ้ำ ฉันคิดว่าตัวเองเป็นนักแสดงที่ไม่ได้เรื่อง ฉันไม่รู้จะสื่อสารกับผู้คนอย่างไร การถูกเลือกให้แสดงเป็นตัวละครที่ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับตัวเองเลย แถมยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับนักแสดงอย่าง ฮีธ เลดเจอร์ และ มิเชลล์ วิลเลี่ยมส์ ถือเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก” เมื่อ Brokeback Mountain เข้าฉายที่เวนิซ แฮทธาเวย์เดินออกจากโรงหนังก่อนจะทันเห็นตัวเองในฉากแรก “มันเป็นภาพยนตร์ที่งดงามและสมบูรณ์แบบ ฉันกลัวว่าตัวเองจะทำมันพัง เลยไม่กล้านั่งดูต่อ แต่ฉันกลับมาทันเห็นนมตัวเองบนจอหนังพอดี มันช่างพิเศษสุดจริงๆ” เธอพูดพร้อมกับยิ้มหวาน

นักแสดงที่ประสบความสำเร็จมักจะรักษาระดับอีโก้ไม่ให้สูงเกินไป แต่สำหรับ แอนน์ แฮทธาเวย์ การถ่อมตนถือเป็นธรรมชาติภายใน ซึ่งเธอถือครองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความพยายามแม้เพียงนิด “สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ได้ผลก็เพราะแอนนี่เป็นมนุษย์ที่น่ายกย่อง” ผู้กำกับ โจนาธาน เด็มมี่ ซึ่งเปลี่ยนมาสวมวิญญาณ โรเบิร์ต อัลท์แมน และ ไมค์ ลีห์ ใน Rachel Getting Married กล่าว “เธอเป็นเหมือนแรงผลักดันสำคัญของหนัง เธอเชื่อมโยง ผูกพันทุกคนเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดบรรยากาศสมจริงและลื่นไหล นี่เป็นหนังของเธอ แต่เธอไม่เคยทำตัวให้ทุกคนเห็นเช่นนั้นเลยเวลาอยู่ในกองถ่าย”


แองเจลินา โจลี (Changeling)

แม้จะมีวัยเพียง 33 ปี แต่ แองเจลินา โจลี กลับสามารถประคับประคองสถานะซูเปอร์สตาร์แห่งฮอลลีวู้ดไปพร้อมๆ กับอีกหลายสถานะได้อย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงคุณภาพเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Girl, Interrupted ดาราสาวจอมพะบู๊ในหนังแอ็กชั่นทุนสูงอย่าง Wanted คนดังที่ปาปาราซซี่ต้องการตัวมากสุด (โดยเฉพาะเมื่อประกบคู่กับคนรักนาม แบรด พิทท์) และโอกาสเดียวสำหรับหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ที่จะเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คุณแม่เรือพ่วงหกลำ (สามคนเป็นลูกในไส้ ส่วนอีกสามคนเป็นลูกบุญธรรม) หรือทูตสันถวไมตรีของสหประชาชาติ โดยจากทั้งหมดที่กล่าวมา สถานะเดียวที่เธอพยายามไม่ใส่ใจมากสุด คือ ขวัญใจแท็บลอยด์

แม้จะเห็นเป็นเรื่องน่าหงุดหงิด รำคาญใจ แต่โจลีฉลาดเกินกว่าจะปริปากบ่น กระนั้นเธอก็ยอมรับว่าชื่อเสียงอาจลดทอนประสิทธิภาพของงานซึ่งช่วยผลักดันเธอให้เป็นที่รู้จักตั้งแต่แรก นั่นคือ การสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ “ฉันหวังว่าฉันจะทำ (ให้คนดูเชื่อว่าเป็นตัวละครนั้นๆ) ได้นะ ฉันคงไม่ตอบรับแสดงหนังอย่าง Changeling ถ้าฉันไม่คิดว่าตัวเองสามารถดึงคนดูให้ติดตามเรื่องราวได้” เธอกล่าว

ใน Changeling โจลีรับบทเป็น คริสติน คอลลินส์ คุณแม่ที่ลูกชายวัยเก้าขวบหายตัวไปอย่างลึกลับ (หนังได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริง) จนกระทั่งห้าเดือนต่อมา กรมตำรวจแอลเอได้นำตัวเด็กชายคนหนึ่งมาส่งมอบให้พร้อมทั้งบอกว่าเป็นลูกชายที่หายไปของเธอ แต่เมื่อคริสตินยืนกรานว่าเด็กคนนั้นไม่ใช่ลูกเธอ กรมตำรวจก็พยายามหาทางทำลายหญิงสาวในทุกวิธีรวมทั้งจับเธอส่งโรงพยาบาลโรคจิต ความทุกข์ทรมานจากการไม่ทราบชะตากรรมของคนที่ตนรักว่ายังมีชีวิตอยู่ หรือถูกสังหารไปแล้วถือว่าใกล้เคียงกับบทบาทก่อนหน้าของโจลีใน A Mighty Heart ซึ่งกวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์มาอย่างท่วมท้น

โจลีกล่าวว่าเธอไม่เคยพบ คลินท์ อีสต์วู้ด มาก่อนจนกระทั่งในกองถ่าย Changeling แต่เธอเคยได้ยินชื่อเสียงว่าเขามักจะถ่ายทำหนังด้วยความรวดเร็ว “บางครั้งผมจะสั่งให้ตากล้องเริ่มถ่ายโดยไม่ออกเสียงด้วยซ้ำ” ผู้กำกับเจ้าของสองรางวัลออสการ์จาก Unforgiven และ Million Dollar Baby กล่าว “เธอ (โจลี) ดูจะเข้าใจสถานการณ์และเตรียมตัวมาอย่างดี” ทว่าสำหรับนักแสดงสาว ซึ่งตระหนักว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ลูกฝาแฝดก่อนการถ่ายทำฉากสาหัสสากรรจ์ในโรงพยาบาลโรคจิต หลักการทำงานดังกล่าวสร้างความประหม่าและตึงเครียดไม่น้อย “วันแรกของการถ่ายทำผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก เขาถ่ายฉากหนักๆ แค่สองเทค ฉันต้องมั่นใจว่าเข้าใจตัวละครอย่างถ่องแท้ เตรียมพร้อมเต็มร้อยทั้งทางอารมณ์และบทสนทนา แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขาเรียกร้องและมันก็ทำให้ฉันเป็นมืออาชีพ”


เมลิสสา ลีโอ (Frozen River)

ก่อนจะได้บทนำใน Frozen River เมลิสสา ลีโอ คลุกคลีอยู่ในวงการทีวีมานับแต่ปี 1984 (ละครน้ำเน่า All My Children เป็นการปรากฏตัวครั้งแรก) แสดงหนัง ส่วนใหญ่มักเป็นบทสมทบเล็กๆ มากว่า 70 เรื่อง และละครนอกบรอดเวย์อีกจำนวนหนึ่ง แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เธออย่างแท้จริง คือ ละครเรื่อง Homicide: Life on the Street ซึ่งเธอร่วมแสดงทั้งหมด 76 ตอนระหว่างปี 1993-1997 ก่อนสถานี NBC จะเปลี่ยนตัวเธอออก แล้วแทนที่ด้วยนักแสดงหญิงที่สดใหม่และสะสวยกว่า

ลีโออธิบายประวัติผลงานของตนว่า “ฉันเลือกทำงานทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้า” แต่หากพบเจอบทที่ชื่นชอบ เธอจะไล่ล่ามันอย่างไม่ลดละเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากผลงานอันน่าประทับใจของเธอในหนังเรื่อง 21 Grams ของ อเลฮานโดร กอนซาเลส อินอาร์ริตู ซึ่งเธอแสดงเป็นภรรยาของอดีตนักโทษติดยารับบทโดย เบนิชิโอ เดล โทโร ลีโอเล่าว่าเธอส่งเทปการทดสอบหน้ากล้องไปแล้วสองครั้ง แต่คงไม่ได้บทนี้ ถ้าเธอไม่เสนอตัวขึ้นเครื่องไปทดสอบหน้ากล้องแบบตัวต่อตัวที่แคลิฟอร์เนีย ความอุตสาหะดังกล่าวทำให้เธอได้บทนำของ Frozen River มาครอง แต่ไม่ใช่ในลักษณะของดาราดังผูกชื่อตัวเองไว้กับโปรเจ็กอินดี้เพื่อให้นายทุนอนุมัติ เพราะนักแสดงสาววัย 47 ปียอมรับว่าเธอไม่ได้มีชื่อเสียงพอจะดึงดูดใจนายทุนคนใด “แต่ก็ไม่แน่ในอนาคต” เธอยิ้มกริ่มอย่างยั่วล้อ

ตรงกันข้าม เธอได้โอกาสเพราะเคยร่วมแสดงหนังสั้นของผู้กำกับ-เขียนบท คอร์ทนีย์ ฮันท์ ซึ่งขณะนั้นกำลังมองหาทุนเพื่อสร้างหนังเรื่องแรก “ฉันไม่รู้ว่าเธอ (ฮันท์) เขียนบทหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว จนกระทั่งเราปิดกล้องหนังสั้น” ลีโอ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่กับลูกชายของเธอกับนักแสดง จอห์น เฮิร์ด กล่าว อย่างไรก็ตาม มันต้องใช้เวลาถึงสี่ปีกว่าฮันท์จะสามารถหาทุนมาสร้างหนังได้ ระหว่างนั้น ลีโอมักจะถามผู้กำกับหญิงอยู่บ่อยๆ ว่า “เรายังจะถ่ายหนังของเราอยู่หรือเปล่า” และคำตอบที่เธอได้รับอยู่เสมอคือ “ทำสิ”

Frozen River เล่าเรื่องราวชีวิตของ เรย์ เอ็ดดี้ คุณแม่ชนชั้นแรงงานที่ถูกสามีนักพนันขโมยเงินเก็บทั้งหมดไป เธอหวังจะนำเงินก้อนดังกล่าวไปซื้อบ้านเทรลเลอร์หลังใหม่ที่ดีกว่าเก่า ใหญ่กว่าเก่า เพื่อเธอกับลูกชายสองคนจะได้มีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ด้วยความสิ้นหวัง เธอตัดสินใจร่วมทำธุรกิจลักลอบขนแรงงานเถื่อนผิดกฎหมายเข้าประเทศผ่านทางชายแดนแคนาดา ข้ามแม่น้ำ เซนต์ ลอว์เรนซ์ ที่กลายเป็นน้ำแข็งในช่วงฤดูหนาว ความโดดเด่น ซับซ้อนของบทเปิดโอกาสให้ลีโอได้แสดงพรสวรรค์ทางการแสดงอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเธอก็ไม่กลัวที่จะดูโทรมต่อหน้ากล้อง “มันเป็นความคิดของฉันเอง” ลีโอกล่าวอย่างภูมิใจ “ทรงผมและมาสคาร่าของเรย์บอกให้เราทราบว่าเธอเป็นผู้หญิงที่อยากจะดูดี เธออาจไว้ผมแต่งหน้าแบบนี้ตอนพบกับสามีในช่วงวัยรุ่น และเธอคงคิดว่าถ้ามันได้ผลในตอนนั้น บางทีมันอาจจะได้ผลในตอนนี้เช่นกัน”


เมอรีล สตรีพ (Doubt)

ว่ากันว่าสำหรับฮอลลีวู้ด วันหมดอายุของนักแสดงหญิง คือ หลัง 40 ปีเป็นต้นไป แต่สมมุติฐานดังกล่าวดูจะใช้ไม่ได้กับราชินีแห่งวงการภาพยนตร์อเมริกันอย่าง เมอรีล สตรีพ ซึ่งจู่ๆ ด้วยวัย 59 ปี กลับกลายเป็นซูเปอร์สตาร์จากการแสดงนำในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงถึงสองเรื่อง นั่นคือ The Devil Wears Prada และ Mamma Mia! โดยเฉพาะเรื่องหลัง ซึ่งขณะนี้กวาดเงินทั่วโลกไปแล้วมากถึง 600 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันผลงานของเธอยังได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ (รวมทั้งเพื่อนร่วมสาขาอาชีพ) ในแง่บวกเสมอมา ดังจะเห็นได้จากถ้วยรางวัลที่วางกองเต็มชั้นและการถือครองสถิตินักแสดงที่เข้าชิงออสการ์สูงสุด

สตรีพดูจะดีใจและคาดไม่ถึงกับความสำเร็จทั้งหลายเหล่านี้ เธอไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร “ฉันไม่ได้ทำอะไรเลย แค่นั่งอยู่บ้านและรอฟังเสียงโทรศัพท์ จริงๆ นะ” เธอกล่าว “สาเหตุของโอกาสเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับฉัน แต่เกิดจากสิ่งที่ฉันไม่มีทางเข้าใจและไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ”

ในหนังเรื่อง Doubt ดัดแปลงจากบทละครรางวัลพูลิทเซอร์ มีฉากหลังเป็นโรงเรียนคาทอลิกในปี 1964 เธอรับบทแม่ชีเจ้าระเบียบที่สงสัย (และสุดท้ายถึงขั้นมั่นใจ) ว่าบาทหลวงฟลิน (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน) ลวนลามทางเพศเด็กนักเรียนชายคนหนึ่ง แม้จะปราศจากหลักฐานชัดเจน หนังเปิดเผยบุคลิกอันโดดเด่นของ ซิสเตอร์ อลอยเชียส ตั้งแต่ฉากแรก ขณะเธอเดินตรวจตราความเรียบร้อยระหว่างการเทศน์ในโบสถ์ ใบหน้าเคร่งขรึม ดุดัน และเข้มงวดพร้อมชุดเสื้อคลุมสีดำ ทำให้เธอเปรียบเสมือนเพชฆาตความสุข เธอไม่เรียกร้องความรัก ความเห็นใจใดๆ จากคนดู และนั่นถือเป็นจุดมุ่งหมายของหนัง เธอเป็นตัวแทนของระเบียบแบบแผน หรือโลกเก่า ซึ่งตั้งตนเป็นศัตรูกับนักบวชที่ป็อปปูล่า น่าเห็นใจอย่างบาทหลวงฟลิน ผู้พยายามจะทำให้โบสถ์เข้าถึงได้ง่ายและทันสมัยขึ้น ทว่าขณะเดียวกัน เธอก็เป็นเพียงผู้หญิงไร้อำนาจที่ต้องว่ายทวนกระแสน้ำแห่งสังคมชายเป็นใหญ่

ถึงแม้จะดุร้าย แข็งกระด้าง แต่สตรีพก็หลงรัก ซิสเตอร์ อลอยเชียส “ฉันเห็นใจชะตากรรมของเธอ ในยุคนั้นโอกาสสำหรับผู้หญิงที่ฉลาด ทะเยอทะยาน และเถรตรงย่อมแตกต่างจากผู้ชาย ฉันคิดว่าเธอต้องเคยผ่านความเจ็บปวดอย่างรุนแรงมาก่อนในอดีต เธอจึงหันเข้าหาโบสถ์เพื่อการปลอบประโลม ความมั่นใจ ความเป็นระเบียบ และเพื่อมอบจุดมุ่งหมายให้กับชีวิต”

แง่มุม “มนุษย์” ที่สตรีพมอบให้กับตัวละครถือเป็นจุดเด่นที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ผลงานยุคแรกๆ ของเธอไม่ว่าจะเป็นบทเหยื่อนาซีใน Sophie’s Choice ซึ่งทำให้เธอคว้าออสการ์ตัวที่สองมาครอง หรือบทสาวโรงงานนักต่อสู้ใน Silkwood หรือบทนักบริหารนิตยสารแฟชั่นชั้นนำใน The Devil Wears Prada “สังคมมักจะมีความรู้สึกขัดแย้งเกี่ยวกับผู้หญิงทรงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ฮิลลารี คลินตัน หรือ ซาราห์ พาลิน” สตรีพกล่าว “มันมีเหตุผลอยู่ว่าทำไมหนังถึงตั้งชื่อ ‘นางมารสวมปราดา’ นั่นทำให้มันได้รับการอนุมัติจากสตูดิโอ ถ้ามันชื่อ ‘นางฟ้าในออฟฟิศผู้บริหารของนิตยสารโว้ก’ คงไม่มีใครจ่ายเงินไปดู”


เคท วินสเล็ท (The Reader)

มีอยู่สองสิ่งที่ทำให้ เคท วินสเล็ท รู้สึกแปลกๆ อย่างแรก คือ การให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบทบาทการแสดงของเธอ “ขณะ” รับบทนั้นอยู่ อีกอย่าง คือ การเฝ้ามองนักแสดงหน้าเหมือนเธออ่านบนแทนเธอในช็อตที่กล้องต้องจับภาพโคลสอัพนักแสดงคนอื่น ซึ่งอย่างหลังบางครั้งก็ถือเป็นความจำเป็นในกองถ่าย The Reader เนื่องจากเคทต้องแต่งหน้า (แก่) และทำผมเป็นเวลานานจนทีมงานไม่อาจรอได้ ทว่านักแสดงสาววัย 33 ปีกลับไม่รู้สึกแปลกแต่อย่างใดในการเข้าฉากเปลือยหมดจดกับ เดวิด ครอส นักแสดงหนุ่มวัย 18 ปีชาวเยอรมัน โดยช่วงวัยที่ห่างกัน 15 ปีไม่ได้สร้างความรู้สึกแตกต่างใดๆ สำหรับวินสเล็ท “มันก็เหมือนการถ่ายฉากประเภทเดียวกันนี้ในหนังเรื่องอื่น” เธอกล่าว “การแสดงให้เห็นความใกล้ชิดอย่างยิ่งของตัวละครมักเรียกร้องให้นักแสดงต้องเปิดเผยเนื้อหนังมังสามากกว่าปรกติ มันสร้างความตึงเครียดได้ไม่น้อย คุณต้องซักซ้อมก่อนเข้าฉากเพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน” กระนั้นวินสเล็ทกลับไม่เห็นความจำเป็นของการกระชับหุ่น หรือปรุงแต่งผิวหนังให้ดูดีเพื่อเข้าฉากดังกล่าว “ฉันอยากให้มันดูเหมือนจริง ฉันไม่เห็นด้วยกับการปรุงแต่งนักแสดงให้ดูสมบูรณ์ทุกสัดส่วนจนแทบจับต้องไม่ได้”

ในผลงานการแสดงที่ทำให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 6 ต่อจาก Sense and Sensibility, Titanic, Iris, Eternal Sunshine of the Spotless Mind และ Little Children วินสเล็ทรับบทเป็น ฮันนา ชมิทซ์ กระเป๋ารถรางวัยกลางคนในประเทศเยอรมันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเริ่มสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเด็กชายคราวลูก (ครอส) ก่อนวันหนึ่งจะหายตัวไปอย่างลึกลับ ประสบการณ์ดังกล่าวสร้างรอยแผลบาดลึกแก่เด็กหนุ่มจนกระทั่งเขาเติบใหญ่กลายเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย รับบทโดย เรฟ ไฟนส์

วินสเล็ทเกือบไม่ได้เล่น The Reader อยู่แล้ว แม้เธอจะเป็นตัวเลือกแรกของผู้กำกับ สตีเฟน ดัลดรี้ เนื่องจากเธอยังติดถ่ายทำหนังเรื่อง Revolutionary Road กับสามี แซม เมนเดส ด้วยเหตุนี้ ดัลดรี้จึงหันไปหา นิโคล คิดแมน ซึ่งเคยร่วมงานกันมาก่อนใน The Hours แต่แล้วจู่ๆ คิดแมนดันเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา และวินสเล็ทก็ปิดกล้อง Revolutionary Road เสร็จพอดี ทุกอย่างจึงลงตัวตามแผนเดิม ราวกับเป็นชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้ว (นิโคล คิดแมน คว้าออสการ์นักแสดงนำหญิงมาครองจาก The Hours หลังจากเกือบตอบปฏิเสธไม่รับแสดงเนื่องจากขณะนั้นเธอเพิ่งหย่าขาดจาก ทอม ครูซ)

เมื่อถูกถามถึงฮันนา ตัวละครซึ่งกระทำความผิดร้ายแรงบางอย่างไว้ในอดีตจนยากจะให้อภัย วินสเล็ทแสดงความเห็นว่า “ฉันรู้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของฉันที่จะทำให้คนดูสงสารฮันนา ทำให้เธอดูบอบบาง หรือน่าเห็นใจมากขึ้น หน้าที่ของฉัน คือ ทำให้เธอดูเป็นมนุษย์คนหนึ่ง สมจริงจนสามารถจับต้องได้ ฉันต้องถ่ายทอดทุกอารมณ์ของเธออย่างซื่อสัตย์เต็มร้อยเพื่อเปิดโอกาสให้คนดูเข้าใจเธอ และเห็นใจเธอหากพวกเขาต้องการ ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่จะไม่ให้คำตอบ แต่กระตุ้นให้คนดูตั้งคำถามต่อทุกอย่างรวมถึงระดับศีลธรรมในใจเขา”

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 12, 2552

Oscar 2009: Best Supporting Actor


จอช โบรลิน (Milk)

เมื่อสองสามปีก่อน จอช โบรลิน เริ่มหันไปเอาดีทางด้านการเล่นหุ้น ด้วยความคิดว่าหากเขาสามารถหาเงินจากการเล่นหุ้นได้มากเท่ารายได้ปัจจุบัน (งานแสดงที่นานๆ มาทีและบ่อยครั้งมักเป็นบทเล็กๆ) เขาจะได้เลิกรับงานแสดงเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นก่อน โรเบิร์ต โรดริเกซ จะเลือกเขาไปแสดงใน Planet Terror จากนั้น พอล แฮ็กกิส ก็เรียกใช้งานเขาใน In the Valley of Elah ตามมาด้วย ริดลีย์ สก็อตต์ ใน American Gangster และตบท้ายด้วยบทเด่นในหนังรางวัลออสการ์ของสองพี่น้องโจเอลและอีธาน โคนเรื่อง No Country for Old Men ซึ่งทำให้โบรลินกลายเป็นที่จดจำและต้องการตัว ดังจะเห็นได้จากบทนำใน W ของ โอลิเวอร์ สโตน และบทสมทบอันโดดเด่นใน Milk ซึ่งทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก

แดน ไวท์ เป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่กำลังจะถูกแทนที่โดยคลื่นลูกใหม่นาม ฮาร์วีย์ มิลค์ นักการเมืองเกย์ที่มุ่งต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของชาวรักร่วมเพศในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะนั้นกระแสรักร่วมเพศกำลังโหมกระหน่ำ มันไม่ใช่ช่วงเวลาของไวท์ แต่เป็นช่วงเวลาของมิลค์ นักการเมืองที่มากประสบการณ์จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แล้วทำใจยอมรับ แต่ไวท์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เขาหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าไม่มีใครสังเกตเห็นหัวเขา ไม่มีใครชื่นชมเขา และเขาคุ้นเคยกับสถานะคนเด่นดังในย่านดังกล่าว ความกลัดกลุ้ม หงุดหงิดนำไปสู่พฤติกรรมรุนแรง เมื่อไวท์เดินบุกเข้าไปในออฟฟิศของนายกเทศมนตรี จอร์จ มอสโคน แล้วยิงเขาเสียชีวิต ก่อนจะเดินข้ามไปยิงอีกฟากของตึกเพื่อกระหน่ำกระสุนห้านัดใส่มิลค์

“ผมชอบสารคดีเรื่อง The Times of Harvey Milk นะ มันซาบซึ้งและน่าประทับใจมาก” นักแสดงชายวัย 40 ปี อดีตขวัญใจวัยรุ่นจาก The Goonies สามีของ ไดแอน เลน และลูกเลี้ยงของ บาร์บรา สตรัยแซนด์ (เธอแต่งงานกับพ่อของเขา เจมส์ โบรลิน) กล่าว “แต่ผมคิดว่าผู้สร้างวาดภาพไวท์เป็นเหมือนวายร้าย ชีวิตจริงไม่ได้ขาวกับดำขนาดนั้น มันไม่น่าสนใจสำหรับผม ผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องราวชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ แต่คุณไม่อาจขจัดไวท์ออกจากเรื่องราวนั้นได้ เขาเป็นตัวละครสำคัญ สำหรับผม มันน่าสนใจกว่าหากเราจะเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้กับตัวละครนี้ ผมคิดว่าเขาเป็นเหมือนปลาใหญ่ในบ่อเล็ก เขาขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนักการเมืองชั้นนำ เขาเป็นแค่ชายเรียบง่ายที่ติดกับอยู่ในโลกอันซับซ้อนเกินความสามารถจะรับมือ”

ฉากเด่นของโบรลินเป็นตอนที่ไวท์ต้องเดินข้ามไปยังอีกฟากของตึกเพื่อสังหารมิคล์ ซึ่งอาจทำให้นักดูหนังหลายคนนึกถึงหนังอีกเรื่องของผู้กำกับ กัส แวน แซนท์ ที่ชื่อ Elephant เกี่ยวกับสองเด็กมัธยมปลายที่เช้าวันหนึ่งพกปืนมายิงอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นเรียนจำนวนมาก โบรลินกล่าวถึงฉากนี้ว่า “ผมสนใจความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวเขาขณะเดินไปหามิลค์ เขาจะฉุกคิดไหมว่า นี่เรากำลังทำอะไรอยู่ หรือเขามีสภาพเหมือนตกอยู่ในความฝัน”


โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Tropic Thunder)

เป็นเวลาหลายปีที่ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ มักจะถูกตีตราควบคู่ด้วยสองวลีสั้นๆ นั่นคือ “นักแสดงชั้นยอด” (เขาเคยเข้าชิงออสการ์ครั้งแรกจากบทนำใน Chaplin) และ “ขี้ยาชั้นต่ำ” (จากการถูกจับและเข้ารับการบำบัดหลายครั้ง) เมื่อใดก็ตามที่สองด้านดังกล่าวถูกเอ่ยถึง นักแสดงหนุ่มใหญ่วัย 43 ปีมักจะสงบปากสงบคำ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้พยายามเบี่ยงเบนประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เขาโผล่ไปพบผู้กำกับ ไมค์ ฟิกกิส ช้ากว่านัดไปสองชั่วโมงในสภาพเท้าเปล่าและพกปืนแม็กนั่มติดตัว หรือการถูกตำรวจจับในข้อหาพกอาวุธปืนและมียาเสพติด (เฮโรอีน) ในครอบครอง หรือการบุกรุกที่พักของเพื่อนบ้านในสภาพเมายา หรือความล้มเหลวของการเข้ารักษาในสถานบำบัด หรือชีวิตอันยากลำบากในคุก เมื่อเขาตื่นขึ้นมาในสภาพนอนจมกองเลือดตัวเองหลายครั้งหลายครา หรือการถูกไล่ออกจากกองถ่ายละคร Ally McBeal

แม้จะต้องจำทนผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น แต่ดาวนีย์ก็ไม่เคยยอมแพ้ จนกระทั่งค้นพบความสำเร็จในปี 2003 เมื่อเขาแวะจอดรถหน้าร้าน เบอร์เกอร์ คิง แล้วเทยาทั้งหมดลงในมหาสมุทร เขาตัดสินใจขณะนั่งกินเบอร์เกอร์ว่าพอกันที และเหมือนชะตากรรมเล่นตลก ห้าปีต่อมา เด็กๆ จำนวนมากกลับพากันเดินเข้าร้านเบอร์เกอร์ คิงเพื่อแลกซื้อหุ่นยนต์รูป โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์

ปี 2008 ไม่เพียงจะช่วยสถาปนาดาวนีย์ในฐานะซูเปอร์สตาร์แถวหน้าจากความสำเร็จของ Iron Man เท่านั้น แต่ยังตอกย้ำภาพลักษณ์นักแสดงคุณภาพของเขาให้หนักแน่นขึ้นด้วยจากการเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สอง โดยในหนังตลกเรื่อง Tropic Thunder เขารับบท เคิร์ค ลาซารัส นักแสดงชาวออสซี่เจ้าของห้ารางวัลออสการ์ ที่ทุ่มเทให้กับงานแสดงแบบหมดตัว (เขาเป็นพวก Method) ด้วยการลงทุนไปศัลยกรรมและผ่าตัดเปลี่ยนเม็ดสีผิวเพื่อรับบทนายทหารผิวดำนาม ลินคอล์น โอซิริส ในหนังมหากาพย์สงคราม

ความท้าทายของบท (นอกเหนือจากเมคอัพอันซับซ้อนและวุ่นวาย) อยู่ตรงการเดินไต่เส้นลวดระหว่างขำขันกับหมิ่นประมาท เพราะหากเล่นมากไป มันอาจไม่ฮา แถมยังทำให้คนผิวดำจำนวนมากโกรธแค้นได้ หากสังเกตจากรายได้หนัง รวมถึงการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ดูเหมือนว่าดาวนีย์จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างงดงาม “เวลาถ่ายทำเราจะวิเคราะห์กันไปเป็นฉากๆ” หนึ่งในนักแสดงนำจาก Zodiac ผลงานกำกับของ เดวิด ฟินเชอร์ เล่า “เบน (สติลเลอร์ ผู้กำกับ-เขียนบท-นำแสดงหนังเรื่อง Tropic Thunder) ก็คอยถามว่า ‘คุณคิดยังไง’ ผมก็จะตอบว่า ‘มันตลกดี และคงไม่ทำให้ใครโมโห’ แต่ผมไม่รู้ว่าความเสี่ยงคุ้มค่ากับผลตอบแทนไหม เพราะผลตอบแทนคือคุณสร้างหนังตลกที่หลายคนชื่นชอบ ส่วนความเสี่ยงนั้นเป็นบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่า”


ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Doubt)

“ผมอยากทำในสิ่งที่ผมหลงใหลชื่นชอบเท่านั้น ผมรู้ว่ามีนักแสดงหลายคนอยากรับแต่บทคนดี คนเท่ แต่คุณจำเป็นต้องถอดหน้ากากแห่งมายานั้นออก หากคุณต้องการเป็นนักแสดงอย่างแท้จริง” มันไม่น่าแปลกใจเลยสักนิด เมื่อคำพูดข้างต้นหลุดออกมาจากปากของ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน นักแสดงมากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการกว่า 17 ปี และเล่นหนังไปแล้วกว่า 40 เรื่อง เพราะบ่อยครั้งเราจะเห็นเขา “กลายร่าง” เป็นตัวละครที่เขารับเล่นโดยปราศจากความหวาดกลัว หรือภาพลักษณ์ของดารา นอกจากนี้ คำว่า “เท่” ยังเป็นคุณศัพท์ที่ห่างไกลจากบุคลิกของตัวละครที่เขาเคยสวมวิญญาณในหนังอย่าง Boogie Nights หรือ Happiness เสียเหลือเกิน และนั่นหมายรวมถึงบท ทรูแมน คาโปตี้ ใน Capote ซึ่งทำให้เขาคว้าออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครองด้วย (น่าประหลาดที่ในปีนั้น เขามีชัยเหนือ ฮีธ เลดเจอร์ ซึ่งเข้าชิงสาขาเดียวกันจาก Brokeback Mountain มาในปีนี้ ทั้งสองก็เข้าชิงพร้อมกันอีกครั้งในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม)

ฮอฟฟ์แมนมักจะสอดแทรกส่วนผสมระหว่างความรู้สึกคุ้นเคยกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวในทุกตัวละครที่เขารับเล่น ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่อง่าย เพราะมันเรียกร้องทักษะ ความมุ่งมั่น ตลอดจนการปลดเปลื้องตัวตนและความหยิ่งทะนง “ผมไม่รู้ว่าเขาทำได้อย่างไร” ไมค์ นิโคลส์ ซึ่งเคยกำกับฮอฟฟ์แมนใน Charlie Wilson’s War กล่าว “ครั้งแล้วครั้งเล่าเขาจะเปลี่ยนเป็นคนที่ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่ขณะเดียวกันกลับรู้สึกสมจริงจนจับต้องได้ เวลาคุณดูฟิลทำงาน ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเขาจะเปลี่ยนไป เขาอาจยังมีรูปร่างหน้าตาเหมือนเดิม แต่บางอย่างในดวงตาจะแตกต่าง เหมือนเขาได้สร้างตัวตนขึ้นใหม่ โดยใช้ความมุ่งมั่นจัดเรียงโมเลกุลในร่างเพื่อกลายเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง”

ใน Doubt ฮอฟฟ์แมนรับบท ฟาเธอร์ ฟลิน นักบวชนิกายคาทอลิกที่ “อาจจะ” มีพฤติกรรม “ไม่เหมาะสม” กับเด็กนักเรียนชายคนหนึ่ง เขาถูกตั้งข้อสงสัยและถูกกล่าวหาโดย ซิสเตอร์ อลอยเชียส แม่ชีผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน รับบทโดย เมอรีล สตรีพ โดยเนื้อหาหลักของหนังวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า “เขาทำจริงหรือไม่” กระนั้นนั่นหาใช่ประเด็นสำคัญสำหรับฮอฟฟ์แมน เขาเลือกจะถ่ายทอดภาพลักษณ์ของฟลินในฐานะนักปฏิรูป ชายหนุ่มที่สนใจเกี่ยวกับปรัชญามากกว่าศาสนา และแม้จะถูกใครต่อใครซักถามอยู่เสมอว่าตกลงฟลินทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ฮอฟฟ์แมนกลับไม่เคยตอบ

“ผมคิดว่า Doubt พูดถึงภาพรวมที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น” ฮอฟฟ์แมนกล่าว “หัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้ คือ แรงปรารถนาของมนุษย์ที่จะมั่นใจเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง แล้วพูดว่านี่คือสิ่งที่ฉันเชื่อว่าถูกต้อง หรือชั่วร้าย เพื่อจะได้สามารถตื่นมาใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างภาคภูมิใจ แทนการใช้ชีวิตไปตามข้อเท็จจริง นั่นคือ โลกของเราล้วนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ยุ่งเหยิง ซึ่งบางครั้งก็ไม่อาจแยกขาวออกจากดำได้”


ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight)

กระทั่งก่อนบทหนังเรื่อง The Dark Knight จะเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง ฮีธ เลดเจอร์ มีภาพในหัวอย่างชัดเจนแล้วว่าเขาจะถ่ายทอดบุคลิกของโจ๊กเกอร์ออกมาอย่างไร พร้อมทั้งนำเสนอไอเดียต่างๆ ของเขาให้ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ฟัง “เขาบอกผมนับแต่วันแรกๆ ที่พบกันว่า เขาไม่ได้กังวลกับแรงผลักดันให้มายืนกลางสปอตไลท์ในฐานะดาราหนัง แต่เขาสนใจอยากแสดงให้คนมองเห็นเขาในฐานะนักแสดงที่เอาจริงเอาจังมากกว่า” โนแลนเล่า “ผมเคยได้ยินนักแสดงหนุ่มสาวหลายคนพูดแบบเดียวกันนี้ แต่เขาคงเป็นคนเดียวที่ผมยินดีจะเสียเงินค่าตั๋วเพื่อไปนั่งชมผลงานการแสดงอันวิเศษสุด”

แรงบันดาลใจหลักของโนแลนในการคัดเลือกนักแสดงหนุ่มชาวออสซี่มารับบทโจ๊กเกอร์ ศัตรูตัวฉกาจของแบทแมน เกิดจากการได้ชม ฮีธ เลดเจอร์ ในหนังเรื่อง Brokeback Mountain “มันเป็นการแสดงที่เปี่ยมไปด้วยทักษะ หลายคนอาจมองข้ามวีรกรรมอันกล้าหาญของเขา เพราะเขารับบทเป็นตัวละครที่เก็บกดทุกอย่างไว้ภายใน เขาไม่เปิดเผยอารมณ์กับคนดูอย่างหมดเปลือก นั่นถือเป็นความเสี่ยงขั้นสูงสุด เขากลืนหายไปกับตัวละคร แล้วโบยบินโดยปราศจากตาข่ายรองรับ ในการคัดเลือกนักแสดงมารับบทเด่นอย่างโจ๊กเกอร์ เราต้องการใครสักคนที่กล้าหาญ ไม่เกรงกลัวใคร ไม่หวาดหวั่นที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ แจ๊ค นิโคลสัน ใครสักคนที่พร้อมจะทำให้ทุกคนจดจำเขาในบทบาทนั้น”

เช่นเดียวกับ เจมส์ ดีน ใน Rebel Without a Cause บทบาทอันซับซ้อนของ เอนนิส เดล มาร์ ใน Brokeback Mountain กลายเป็นเหมือน “คำนิยาม” อาชีพนักแสดงของเลดเจอร์ โดยรูปลักษณ์ภายนอก เอนนิสสะท้อนความเป็นชายแบบคาวบอยตะวันตก แต่บุคลิกเงียบงันที่เขาดำรงรักษาไว้ตลอดชีวิตหาได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่ง หากแต่เป็นความขลาดเขลาที่จะเผชิญหน้ากับความรู้สึกแท้จริงภายใน หลังความรักต่อ แจ๊ค ทวิสต์ พุ่งทะยานเข้าใส่เขาแบบไม่ทันตั้งตัว ความยอดเยี่ยมในงานแสดงของเลดเจอร์อยู่ตรงที่เขาไม่ทรยศต่อธรรมชาติแห่งตัวละคร แต่กลับถ่ายทอดความจริงแท้มายังคนดูได้อย่างรุนแรง ความสามารถที่จะสื่อสารอารมณ์ภายในออกมาโดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างชัดแจ้งเป็นสิ่งที่แบ่งแยกนักแสดงออกจากดารา

ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า ฮีธ เลดเจอร์ ผันตัวจากดาราหนุ่มขวัญใจวัยรุ่นจาก 10 Things I Hate About You และ A Knight Tale มาเป็นนักแสดงมากฝีมือในช่วงบั้นปลายชีวิตได้อย่างไร หลายคนยกเครดิตให้กับ Monster’s Ball ซึ่งเลดเจอร์เริ่มฉายประกายแห่งพรสวรรค์ในบทสมทบ อีกหลายคนยกเครดิตให้กับการเลือกสรรบทอันหลากหลาย ท้าทายความสามารถของตัวเลดเจอร์เอง เช่น หนุ่มขี้ยาใน Candy บ็อบ ดีแลนใน I’m Not There นักต้มตุ๋นใน The Brothers Grimm และหนุ่มเจ้าสำราญใน Casanova อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครปฏิเสธว่าบทบาทการแสดงชิ้นสุดท้ายของเขานั้นถือเป็นข้อพิสูจน์ความสามารถทางการแสดงของ ฮีธ เลดเจอร์ ได้อย่างชัดเจน โดย เดวิด โกเยอร์ หนึ่งในทีมเขียนบท The Dark Knight ได้ตั้งข้อสรุปที่คนส่วนใหญ่คงเห็นด้วยว่า “เขาทำให้คุณหยุดหายใจนับแต่นาทีแรกที่ปรากฏตัว มันยากที่จะจินตนาการใครอื่นมารับบทโจ๊กเกอร์ เพราะเขาทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์แบบ”


ไมเคิล แชนนอน (Revolutionary Road)

Revolutionary Road อาจนำแสดงโดยสองซูเปอร์สตาร์คู่ขวัญจาก Titanic (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ + เคท วินสเล็ท) กำกับโดยเจ้าของรางวัลออสการ์จาก American Beauty (แซม เมนเดส) และดัดแปลงจากนิยายของนักเขียนมือรางวัล (ริชาร์ด เยทส์) แต่น่าแปลกที่หนังกลับทรงพลัง ชวนติดตาม และพุ่งทะยานสู่จุดสูงสุดทางอารมณ์ทุกครั้ง เมื่อนักแสดงค่อนข้างโนเนมอย่าง ไมเคิล แชนนอน ปรากฏตัวขึ้นเพื่อขโมยซีนของทุกคน

เขารับบทเป็น จอห์น กิฟวิงส์ นักคณิตศาสตร์สติไม่ค่อยสมประกอบจนถูกจับเข้าโรงพยาบาลและช็อตสมองด้วยกระแสไฟฟ้า 37 ครั้ง แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นมนุษย์คนเดียวที่ “จริงใจ” และ “ซื่อสัตย์” ต่อตัวเอง รวมถึงทุกคนรอบข้างท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันว่างเปล่า จอมปลอมของสังคมชานเมืองในยุค 50 แต่จะว่าไปคำว่า “ปกติ” หรือ “สามัญ” ดูจะใช้อธิบายตัวละครหลายตัวที่แชนนอนเคยรับเล่นไม่ได้อยู่แล้ว เช่น บทคนขี้ระแวงใน Bug ผลงานกำกับของ วิลเลียม ฟรีดกินส์ ซึ่งเริ่มทำให้ชื่อเสียงของแชนนอนในฐานะนักแสดงคุณภาพกะพริบติดเรดาร์ ก่อนจะส่องสว่างอย่างเต็มที่จาก Revolutionary Road

แชนนอนจำได้ว่าเขาอยากได้บทนี้มากแค่ไหน และ “ปล่อยของ” เต็มกำลังระหว่างการทดสอบหน้ากล้องในฉากที่จอห์นต้องตะโกนสั่งคุณแม่จอมบงการของเขาให้หุบปาก (ในหนังรับบทโดย เคธี่ เบทส์ ส่วนในห้องทดสอบหน้ากล้องรับหน้าที่โดยหัวหน้าฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ซึ่งต่อมายอมรับว่าตั้งแต่เริ่มเข้าวงการ เธอไม่เคย “เจ็บแปลบ” ขนาดนี้ในระหว่างการทดสอบอ่านบทกับนักแสดงมาก่อน) “ผมเดาว่าผมคงอยากบอกให้แม่ตัวเองหุบปากมานานแล้ว จนในที่สุดก็มีโอกาส ความยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งของการแสดง คือ คุณได้ทำในสิ่งที่ชีวิตจริงไม่สามารถทำได้ เพราะมันอาจทำให้คุณตกที่นั่งลำบาก” นักแสดงหนุ่มที่เล่น Groundhog Day เป็นหนังเรื่องแรกกล่าว

ตลอดเวลาหลายปี แชนนอนฝึกฝน หมักบ่มทักษะจากการแสดงละครเวทีจำนวนมากทั้งในลอนดอนและนิวยอร์ก รวมถึงการรับบทเล็กๆ ในหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มใหญ่อย่าง Pearl Harbor และ World Trade Center (ในปี 2008นอกจาก Revolutionary Road แล้ว เขายังฝากผลงานน่าประทับใจเอาไว้อีกชิ้น นั่นคือ Shotgun Stories แต่คราวนี้บทเรียกร้องให้เขาเก็บงำความรู้สึก แตกต่างจากบทจอห์นใน Revolutionary Road ค่อนข้างมาก) ชื่อเสียงที่ย่อมจะตามมาจากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ไม่ได้ทำให้แชนนอนคิดจะหันหลังให้กับวงการละครแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เขายังคงรับงานละครต่อไปพร้อมๆ กับภาพยนตร์อย่างขยันขันแข็ง “เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่คุณสาบานได้ว่าไม่ใช่นักแสดง” เอมี่ ไรอัน เพื่อนคนหนึ่งของแชนนอน ซึ่งเมื่อปีก่อนเพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Gone Baby Gone กล่าว “เพราะคุณรู้สึกว่าบทบาทของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความสมจริง ราวกับคุณกำลังเฝ้ามองมนุษย์คนหนึ่งอยู่”

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 11, 2552

Oscar 2009: Best Supporting Actress


เอมี อดัมส์ (Doubt)

สำหรับ เอมี่ อดัมส์ บทคนดีถือเป็นเรื่องง่ายดายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก บทคนร้ายต่างหากที่เธอโหยหาและมองเห็นเป็นความท้าทาย ด้วยความงามแบบใส่ซื่อ รูปร่างเล็ก บอบบางแบบนักบัลเลต์ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อดัมส์มักถูกเลือกให้เล่นเป็นตัวละครสดใส ไร้เดียงสา และมีวัยน้อยกว่าอายุจริงของเธอ (34 ปี) ข้อเท็จจริงนั้นถือเป็นการเติมเต็ม แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความหงุดหงิดใจให้เธอไม่น้อย “ฉันหลงใหลตัวละครพวกนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย” นักแสดงสาวที่เคยเข้าชิงออสการ์ครั้งแรกจาก Junebug กล่าว “บางอย่างเกี่ยวกับการสำรวจความบริสุทธิ์และการล่มสลายของความบริสุทธิ์ดึงดูดใจฉัน”

อย่างไรก็ตาม เธอมีไอเดียอื่นในหัวด้วย “ฉันอยากรับบทตัวละครที่เต็มไปด้วยด้านมืดและความชั่วร้าย แต่ฉันมั่นใจว่าคนดูคงพูดกันว่า ‘ตลกชะมัด มันเป็นบทบาทการแสดงที่ชวนหัวที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา’ เพราะถ้าลบเมคอัพออก ฉันจะดูใสซื่อ ไร้เดียงสา ฉันตั้งตาคอยวัยชราเพื่อสำรวจอีกด้านของมนุษย์” เธอเล่ากลั้วหัวเราะ

ใน Doubt อดัมส์รับบทเป็น ซิสเตอร์ เจมส์ แม่ชีสาวที่ต้องมายืนอยู่ตรงกลางระหว่างสงครามประสาทของบาทหลวงที่อาจล่วงละเมิดทางเพศเด็กชาย (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน) กับแม่ชีอธิการบ้าอำนาจและคลั่งศีลธรรม (เมอรีล สตรีพ) หลังจากได้อ่านบท อดัมส์รีบบินไปนิวยอร์กเพื่อขอร้องผู้กำกับ จอห์น แพ็ทริค แชนลีย์ ให้มอบบทนี้กับเธอ สองสามเดือนต่อมา ฝันของเธอก็กลายเป็นจริง

สำหรับสตรีพ ไม่มีใครเหมาะกับบทดังกล่าวมากไปกว่าอดัมส์ “ไม่กี่คนหรอกที่จะสามารถถ่ายทอดความบริสุทธิ์ได้อย่างแท้จริงโดยปราศจากการเสแสร้ง” เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Sophie’s Choice กล่าว “เธอทำให้คนดูเชื่อว่าเด็กสาวคนนี้เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมเธอถึงมายืนอยู่ตรงนี้ เอมี่ อดัมส์ เป็นนักแสดงตัวจริง” อดัมส์ยกประโยชน์ส่วนหนึ่งให้กับการเติบโตมาในครอบครัวมอร์มอนที่เคร่งศาสนา ก่อนพ่อแม่จะตัดสินใจแยกตัวออกมาขณะเธออายุได้ 12 ขวบ ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เธอถ่ายทอดทัศนคติมองโลกแง่บวกและบุคลิกอบอุ่นของ ซิสเตอร์ เจมส์ ได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ

ทว่าทุกอย่างใช่จะได้มาอย่างง่ายดาย ก่อนการมาถึงของ Junebug และขุมทองอย่าง Enchanted ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อดัมส์เคยคิดจะหันหลังให้วงการภาพยนตร์ หลังจากบทบาทของเธอใน Catch Me if You Can ไม่อาจช่วยผลักดันอาชีพได้ดังหวัง เธอตกงานอยู่นานนับปี “ไม่ใช่ว่าฉันคิดจะหันหลังในการแสดงหรอกนะ แต่อยากเบี่ยงเบนทิศทางมากกว่า ฉันคิดจะเดินทางไปนิวยอร์ก แล้วเข้าสู่วงการละครเพลง ฝึกซ้อมทักษะการเต้นและการร้องเพลงให้กลับมาดีเหมือนเดิม คงต้องบอกว่าความจำเป็นช่วยต่อเติมพลังความฝันให้ฉัน เพราะนอกจากการแสดงจะเป็นความฝันของฉันแล้ว มันยังเป็นอาชีพเลี้ยงตัวด้วย ฉันหาเงินด้วยการแสดงมาตลอด ฉะนั้นความจำเป็นจึงช่วยให้ฉันยังคงอยู่ในสายงานนี้”


เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona)

แม้จะเติบโตมาในประเทศสเปนและสร้างชื่อเสียงทางการแสดงจากภาพยนตร์อย่าง Jamon,jamon, Belle époque, Live Flesh, Open Your Eyes, All About My Mother และ Volver แต่ เพเนโลปี้ ครูซ ก็เป็นแฟนหนังของ วู้ดดี้ อัลเลน มานานแล้ว (หนังเรื่องโปรด คือ Deconstructing Harry) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลก หากเธอจะตื่นเต้นดีใจอย่างล้นหลาม เมื่อได้รับข้อเสนอให้มาร่วมแสดงในหนังใหม่ของเขาเรื่อง Vicky Cristina Barcelona และถึงแม้บทของเธอจะไม่ใช่บทนำ (ผู้หญิงสองคนในชื่อเรื่องรับบทโดย รีเบ็คก้า ฮอล และ สการ์เล็ต โจแฮนสัน ตามลำดับ) แต่ครูซกลับทำให้ มาเรีย เอเลน่า กลายเป็นตัวละครที่เปี่ยมสีสัน โดดเด่น และชวนหัวจนคนดูลืมไม่ลง

มาเรีย เอเลน่า เป็นผู้หญิงประเภทที่ปลดปล่อยทุกอารมณ์ภายในออกมาให้ทุกคนประจักษ์ เธออัดแน่นด้วยความโกรธ ความรัก และความเจ็บปวดในเบื้องลึก ดูเซ็กซี่ เร่าร้อน แต่ขณะเดียวกันก็โรคจิตหน่อยๆ เช่นเดียวกับ ฌาน มอนโร ใน Jules and Jim และ จูดี้ เดวิส ใน Husbands and Wives เธอหย่าขาดจากจิตกรจอมเจ้าชู้ ฮวน อันโตนิโอ (ฮาเวียร์ บาร์เด็ม) มาพักหนึ่งแล้ว เนื่องจากชีวิตสมรสของพวกเขามักเต็มไปด้วยการระเบิดอารมณ์เข้าใส่กัน แต่เธอกลับไม่อาจตัดขาดจากเขาได้เหมือนแมลงเม่าที่ชอบบินเข้าไปเล่นกับกองไฟ

กระนั้นครูซหาได้มองมาเรียในฐานะผู้หญิงบ้า หรือเสียสติแต่อย่างใด “ใครบ้า ใครไม่บ้า มันเป็นเรื่องยากจะแยกแยะ ในสายตาของฉัน เธอเป็นหญิงสาวที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์ ทางจิตใจ เนื่องมาจากความเจ็บปวดและความวิตกกังวลอันหนักอึ้ง ตลกดีที่เธอมีความคิดฝังหัวว่าตัวเองเป็นอัจฉริยภาพ เธอคงผ่านความทุกข์ทรมานมามาก เลยคิดสร้างความจริงแบบใหม่ขึ้น ซึ่งเหมาะสมกับเธอ แล้วก็พยายามปกป้องมันกับคนทั้งโลก”

สำหรับครูซ ผู้อาจไม่ค่อยคุ้นชินกับบทตลกเท่าใดนัก การได้ร่วมงานกับ วู้ดดี้ อัลเลน ถือเป็นบทเรียนการแสดงที่แสนคุ้มค่า “ฉันกลัวว่าจะเล่นเยอะเกินไป เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองต้องแหกปากตะโกนตลอดทั้งเรื่อง เขาเลยบอกว่า ถ้าคุณต้องการ เราจะถ่ายเพิ่มอีกเทคก็ได้ หลังจากนั้น เขาก็จะพูดว่า มันดีทีเดียว แต่เทคที่แล้วดีกว่า เชื่อผมสิ มีคนแบบนี้อยู่จริงๆ แน่นอนว่าเขาพูดถูก ก็เขาเป็นถึง วู้ดดี้ อัลเลน! ไม่ใช่ว่าฉันเคลือบแคลงการตัดสินใจของเขาหรอกนะ มันคงเป็นแค่ความรู้สึกไม่มั่นใจของนักแสดงน่ะ แต่เขาพูดถูก ฉากทะเลาะกันพวกนั้นจะต้องใหญ่โต มันได้ผล คนดูคิดว่ามันตลกมากๆ ฉันลืมไปว่าเรากำลังถ่ายหนังตลกกันอยู่”

เมื่อถูกถามให้เปรียบเทียบการทำงานระหว่างอัลเลนกับ เปโดร อัลโมโดวาร์ ผู้กำกับชาวสเปนที่ผลักดันให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกจาก Volver ครูซตอบว่า “พวกเขาแตกต่างกันมาก แต่ฉันรักพวกเขาทั้งคู่ เพราะคุณได้ร่วมงานกับอัจฉริยภาพ ที่ต้องทำก็แค่เชื่อใจเขา แล้วเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการผจญภัยดังกล่าว การได้ร่วมงานกับพวกเขาเป็นเหมือนการผจญภัยเสมอ วู้ดดี้ไม่ชอบซ้อมบท แต่กับเปรโด (เธอเพิ่งปิดกล้องหนังใหม่ของเขาเรื่อง Broken Embraces) ฉันต้องซ้อมบทนานถึงสามเดือน บอกไม่ได้หรอกว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหน คุณก็แค่ต้องไหลลื่นไปตามน้ำและเอ็นจอยทุกนาทีนั้น การตระหนักว่าคุณสามารถไว้ใจผู้กำกับได้อย่างเต็มร้อยถือเป็นอภิสิทธิ์อันยิ่งใหญ่สำหรับนักแสดง”


ไวโอลา เดวิส (Doubt)

ขาใหญ่ประจำวงการละครเวทีและเจ้าของรางวัลโทนี่ ไวโอลา เดวิส มักจะปรากฏตัวบนจอหนังในบทตัวประกอบเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นบทขี้ยาใน Antwone Fisher คุณแม่ใน World Trade Center และคุณนายมิลเลอร์ใน Doubt แต่ทุกครั้งเธอล้วนตีบทแตกกระจุย ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Doubt เดวิสมัวแต่วิตกกังวลกับการต้องแสดงประกบ เมอรีล สตรีพ เป็นเวลา 11 นาทีในฉากสำคัญของหนังจนไม่ทันสังเกตว่าน้ำมูกของเธอกำลังไหล และถึงแม้ผู้กำกับ จอห์น แพ็ทริค แชนลีย์ จะเกลี้ยกล่อมทางสตูดิโอสำเร็จเพื่อให้เขาถ่ายฉากดังกล่าวใหม่อีกครั้ง (แชนลีย์คิดว่าฉากนี้เร่งจังหวะเร็วไปหน่อย) แต่เดวิสยังคงน้ำหูน้ำตาไหลแบบยั้งไม่อยู่เหมือนเคย

ฉากเผชิญหน้าดังกล่าวเป็นตอนที่ ซิสเตอร์ อลอยเชียส พยายามจะค้นหาว่าคุณนายมิลเลอร์ล่วงรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างลูกชายเธอกับบาทหลวงฟลิน หญิงทั้งสองเร่งฝีเท้าไปตามทางเดินที่ลมกรรโชกแรง ขณะแม่ชีพยายามกดดัน ซักไซ้ ส่วนคุณแม่ผิวดำก็ยังคงแสดงความนอบน้อมอย่างสม่ำเสมอ ก่อนจะค่อยๆ เผยให้เห็นความรักของเธอต่อลูกชาย ความซาบซึ้งในตัวบาทหลวงที่คอยดูแลเขา ความหวาดกลัวว่า “ความลับ” ของลูกชายเธอจะถูกค้นพบและลงโทษ “ดิฉันย้ายลูกมาเรียนที่นี่เพราะเขาไปได้ไม่ดีในโรงเรียนรัฐบาล” เธอตอบแม่ชี “พ่อของเขาไม่ชอบเขา ผู้ชายคนเดียวที่ดีกับเขาคือบาทหลวงฟลิน ดิฉันเคยถามไหมว่าทำไมเขาถึงดีกับลูกดิฉัน? ไม่เลย”

เดวิสเป็นหนึ่งในนักแสดงไม่กี่คนที่สามารถจมหายไปกับบท เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อทำงานเป็นคนดูแลม้าในสนามแข่ง ความสนุกวัยเด็กของเธอ คือ การเล่นเลียนแบบคนดังกับน้องสาว เมื่อเติบใหญ่ เดวิสเข้าเรียนการแสดงและรับบทเด่นในละครเชคสเปียร์ รวมถึงบทละครคลาสสิกอีกมากมาย กระนั้น มันช่างเป็นเรื่องยากที่จะพบบทดีๆ สำหรับนักแสดงผิวดำ เพราะเหตุนี้เดวิสถึงดีใจมากเมื่อได้รับโอกาสร่วมแสดงใน Doubt (บทคุณนายมิลเลอร์ส่งผลให้ เอเดรียน เลน็อกซ์ คว้ารางวัลโทนี่มาครอง)

นักแสดงสาววัย 43 ปีที่เคยร่วมงานกับ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก มาแล้วสามครั้งจาก Out of Sight, Traffic และ Solaris เล่าให้ฟังถึงความยากลำบากก่อนจะคว้าบทนี้มาครอง “ฉันได้ข่าวว่ามีความพยายามจะดัดแปลงบทละครเป็นหนังและ สก็อตต์ รูดิน จะเป็นผู้อำนวยการสร้าง เขาชอบฉันมาก จากนั้นฉันก็ได้ข่าว เมอรีล สตรีพ มารับบทนำ เลยตัดสินใจโทรหาผู้จัดการส่วนตัวพร้อมกับบอกว่า ฉันอยากเข้าไปทดสอบหน้ากล้อง นักแสดงหญิงคนอื่นคงพูดว่า ฉันอยากได้บทนี้ แต่ฉันพูดแค่ว่า ฉันอยากเข้าไปทดสอบหน้ากล้อง ปรากฏว่านักแสดงหญิงผิวดำแทบทุกคนในอเมริกาล้วนมาทดสอบหน้ากล้อง ฉันติดเข้ารอบสุดท้ายเจ็ดคน จากนั้นก็ต้องบินไปนิวยอร์กเพื่อทดสอบบทโดยสวมเสื้อผ้าและทำผมตามบุคลิกตัวละคร พวกเราเป็นคุณนายมิลเลอร์เจ็ดคน! หนึ่งชั่วโมงต่อมา ฉันก็ได้รับทราบข่าวดี ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเพิ่งถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง”


ทาราจี พี. เฮนสัน (The Curious Case of Benjamin Button)

เนื่องจากตัวละครของเขาต้องมีอายุย้อนหลัง เริ่มต้นจาก 80 ปีไปยังวัยทารก แบรด พิทท์ จึงไม่สามารถจะปรากฏตัวทุกฉากในหนังเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวสร้างความผิดหวังไม่น้อยให้กับ ทาราจี พี. เฮนสัน (ชื่อต้นและชื่อกลางของเธอเป็นภาษาสวาฮีรี ภาษาทางการของประเทศเคนยาและทานซาเนีย ทาราจี หมายถึง ความหวัง ส่วน เพนดา หมายถึง ความรัก) ซึ่งรับบทเป็นสาวชาวใต้ ทำงานในบ้านพักคนชราจนกระทั่งวันหนึ่งเธอพบตาแก่ (ในร่างทารก) บนระเบียงบ้าน เลยรับเขามาเลี้ยงดู เพราะคิดว่านี่คงเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเขา แต่แล้วกลับต้องพบความประหลาดใจอย่างหนัก

“ฉันเซ็นสัญญาเพื่อเล่นหนังกับ แบรด พิทท์ เขาอยู่ไหนกันเหรอ” เฮนสันกล่าวติดตลก ตรงกันข้าม เธอต้องเข้าฉากกับนักแสดงตัวแทน ซึ่งต่อมาจะถูกวาดทับโดยคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเป็นภาพเด็กทารกร่างเหี่ยว “พวกเขาสวมถุงเท้าสีฟ้าคลุมศีรษะ โดยตัดผ้าให้ใบหน้าโผล่ออกมาเพื่อฉันจะได้แสดงตอบโต้กับเขา” เธออธิบายขั้นตอนการถ่ายทำอันซับซ้อน “เดวิด ฟินเชอร์ บอกฉันว่า ไม่ต้องห่วง เรามีทีมงานคอยดูแลหลังขั้นตอนการถ่ายทำแล้ว คุณแค่แสดงไปเรื่อยๆ แต่ฉันนึกภาพไม่ออกจริงๆ เขาจึงพยายามอธิบายรายละเอียด... พอทำใจยอมรับได้แล้ว ฉันก็เริ่มผ่อนคลาย เริ่มรู้ว่าควรจะมองไปทางไหน”

ก่อนเริ่มถ่ายทำ The Curious Case of Benjamin Button เฮนสันได้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่นอร์ธแคโรไลนา ประสบการณ์ดังกล่าวสามารถช่วยเหลือเธอได้มากในการเตรียมตัวรับบทควีนนี่ ซึ่งในหนังต้องแก่หง่อมไปตามวัยตั้งแต่อายุ 27 ปีจนถึง 71 ปี “คุณยายฉันมีลูกทั้งหมดแปดคนรวมถึงแม่ของฉันด้วย” นักแสดงสาวจาก Hustle & Flow กล่าว “ที่นั่นมีผู้หญิงทุกช่วงวัยให้ฉันคอยเฝ้าสังเกต ฉันเห็นคุณยายออกกำลังกายหัวเข่าหลังจากเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดมา ฉะนั้น ฉันเลยหยิบยืมมันมาใช้ในหนัง” นอกจากนี้ เฮนสันยังทำการบ้านด้วยการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัยชราและการที่กระดูกสันหลังจะหดตัวเมื่อคุณเริ่มแก่ตัว เพื่อเธอจะได้พัฒนาท่าทางการเคลื่อนไหวให้สมจริง

อีริค รอธ กล่าวว่าควีนนี่เปรียบเสมือนบ้านในความนึกคิดของเบนจามิน เธอเป็นสมอเรือที่เขาสามารถพึ่งพาได้ในทุกช่วงวัยจากทศวรรษหนึ่งไปสู่อีกทศวรรษหนึ่ง “ผมไม่ได้นึกภาพใครเป็นพิเศษระหว่างเขียนบท แต่ทาราจีทำให้เธอดูดีกว่าที่ผมคิดไว้มาก เธอมอบแง่มุมซับซ้อนและความละเอียดอ่อนให้กับตัวละครมากกว่าที่ผมเขียนไว้ การแสดงของเธอช่างน่าอัศจรรย์จริงๆ มีความเป็นไปได้มากมายที่ตัวละครนี้จะดูซ้ำซาก แต่เธอกลับทำให้ควีนนี่แตกต่าง เปี่ยมไปด้วยเลือดเนื้ออย่างสง่างาม”


มาริสา โทเม (The Wrestler)

เธออาจเปิดเผยแทบทุกสัดส่วนต่อหน้ากล้องใน The Wrestler แต่สำหรับชีวิตจริง มาริสา โทเม เป็นคนขี้อาย อ่อนหวาน และไม่ค่อยชอบอยู่กลางสปอตไลท์ ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะนัดให้สัมภาษณ์ในร้านอาหารเก๋ๆ ย่านกลางใจเมือง เธอกลับเสนอทางเลือกเป็นห้องครัวที่โปร่งโล่งสบาย ใน The Wrestler ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ที่นักวิจารณ์ชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์ มาริสารับบท แคสซิดี้ นักเต้นระบำเปลื้องผ้าวัยใกล้ปลดระวางที่เริ่มสานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอดีตนักมวยปล้ำชื่อดัง (มิคกี้ รู้ก) “ฉันไม่สามารถทำอาชีพแบบเธอได้หรอก” นักแสดงสาวใหญ่วัย 44 ผู้เริ่มต้นหาข้อมูลด้วยการตระเวนเที่ยวบาร์อะโกโก้กับเพื่อนสาวกล่าว “อย่าว่าแต่เต้นระบำเปลื้องผ้าเลย ฉันไม่ถนัดการเข้าสังคมด้วยซ้ำ เพราะคุณต้องเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอด มีอารมณ์ขัน ทำให้คนสนุก และเปี่ยมไปด้วยพลังงานไม่สิ้นสุด ซึ่งไม่ใช่บุคลิกจริงของฉันเลย”

ทว่าบนจอโทเมกลับดูอาจหาญและเก่งกาจในเรื่องเข้าสังคม ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมจะสะท้อนความทุกข์ตรมของตัวละครจากภายใน “ฉันชอบการแสดงออกผ่านทางร่างกายมากกว่าคำพูด ฉันชอบการต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้มากกว่าการพูดบทยาวๆ ลีลาการเต้นของแคสซิดี้บ่งบอกตัวตนของเธอ ในแง่หนึ่ง มันเป็นเหมือนผลงานศิลปะของเธอ เป็นการปลดปล่อยทางอารมณ์”

นับแต่คว้าออสการ์มาครองแบบเหนือความคาดหมายของทุกคนจาก My Cousin Vinny อาชีพนักแสดงของโทเมดูเหมือนจะขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างผลงานน่าจดจำ (In the Bedroom) และไม่น่าจดจำ (Anger Management) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอได้ร่วมงานกับอาโรนอฟสกี้เพราะฝ่ายหลังรู้จักและชื่นชมเธอมาเนิ่นนาน “เราเรียนมัธยมปลายที่เดียวกัน” ผู้กำกับ The Wrestler เล่า “เราไม่รู้จักกันตอนนั้น แต่ผมรู้จักเธอ น้องชายเธออายุมากกว่าผมหนึ่งปี ผมเป็นเพื่อนกับเขา ผมติดตามผลงานของเธอมาตลอด” จนกระทั่งหลายปีต่อมา ทั้งสองมีโอกาสพบกันในร้านอาหารญี่ปุ่น แล้วพูดคุยเกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่

“พล็อตเรื่องอาจฟังดูเชย” อาโรนอฟสกี้กล่าว “แต่ผมหลงใหลความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างนักเต้นระบำเปลื้องผ้ากับนักมวยปล้ำเสมอมา พวกเขาล้วนใช้สมญานาม สร้างจินตนาการให้แก่ผู้ชม และสวมชุดสแปนเด็กซ์ นอกจากนี้ สภาพร่างกายของพวกเขายังถือเป็นศัตรูตัวฉกาจเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น บทแคสซิด้าพิสูจน์ให้เห็นว่ามาริสากล้าหาญมากและขณะเดียวกันก็เซ็กซี่มากด้วย เรารู้ว่าการเปลือยกายถือเป็นส่วนสำคัญของหนัง และเธอต้องการเผยให้เห็นด้านที่เปราะบางของตัวละคร”

โทเมไม่สามารถทนดูตัวเองบนจอหนังได้ แต่เธอไว้ใจอาโรนอฟสกี้ว่าจะทำให้เธอดูดีในฉากที่ต้องนุ่งน้อยห่มน้อย พร้อมกันนั้นเธอได้ช่วยเหลือเขาอีกแรงด้วยการลดพาสต้าและออกกำลังกายอย่างหนักหนึ่งเดือนก่อนเปิดกล้องเพื่อกระชับหุ่น “มีคนให้ฮูล่าฮูปฉันมาเมื่อสองปีก่อน มันยอดมากเลย ฉันจะพกมันไปกองถ่ายตลอดโดยระหว่างรอเข้าฉาก คุณอาจรู้สึกเครียด แต่ไม่อยากสูญเสียสมาธิ ฮูล่าฮูปช่วยให้คุณสงบนิ่งขึ้น”

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 10, 2552

Short Replay: Picnic at Hanging Rock


ในวันวาเลนไทน์เมื่อปี 1900 เหล่าเด็กสาวจากโรงเรียนประจำในออสเตรเลียได้ออกเดินทางไปปิกนิกและทัศนศึกษายัง แฮงกิ้ง ร็อค โขดหินธรรมชาติบนเนินเขาที่เต็มไปด้วยซอกมุมชวนพิศวง แต่แล้วท่ามกลางแสงแดดสว่างของยามบ่ายและบรรยากาศเอื่อยเฉื่อย เงียบสงบ เด็กสาวจำนวนสามคนเกิดหายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนหนึ่งอาทิตย์ต่อมาตำรวจจะพบเหยื่อรายหนึ่งที่หายตัวไป ทว่าเธอกลับจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ไม่มีใครพบเห็นเด็กสาวที่เหลืออีกเลย

มาสเตอร์พีซชิ้นนี้ถือกำเนิดขึ้นก่อน ปีเตอร์ เวียร์ จะโด่งดังในฮอลลีวู้ดผ่านหนังสตูดิโออย่าง Dead Poets Society และ The Truman Show ดัดแปลงจากนิยายปี 1967 ของ โจน เลสลีย์ ซึ่งสอดแทรกเบาะแสบางอย่างเพื่อบอกใบ้ว่าเรื่องราวทั้งหมดอาจเป็นเหตุการณ์จริง หนังเต็มไปด้วยคำถามมากมาย (พวกเธอถูกข่มขืนแล้วฆ่าโดยเด็กหนุ่มที่บังเอิญมาอยู่แถวนั้น? ทำไมเด็กสาวคนที่ตำรวจพบถึงไม่สวมรองเท้า แต่กลับปราศจากรอยหินบาด? หรือพวกเธอตกลงไปในเหวข้างซอกหิน? บางคนถึงขั้นเสนอทฤษฎีว่าพวกเธอถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไป หรือหลุดผ่านไปยังอีกมิติหนึ่ง!) แต่ปราศจากคำอธิบายใดๆ คล้ายคลึงกับการหายตัวอย่างลึกลับในหนังคลาสสิกของ ไมเคิลแองเจโล แอนโตนีโอนี เรื่อง L’Avventura

จุดเด่นของหนังอยู่ตรงบรรยากาศหลอกหลอน ชวนสยอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคพิเศษใดๆ หรือดนตรีประกอบดังสนั่นเหมือนหนังยุคปัจจุบัน คนดูตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากล แต่ไม่อาจระบุให้ชัดเจนได้ นอกจากนี้ หนังยังสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของออสเตรเลีย ผ่านทัศนียภาพซึ่งทั้งงดงามและดูอันตรายไปพร้อมๆ กัน ในฐานะดินแดนลึกลับ ชวนคุกคาม ซึ่งคนขาว (ชาวยุโรป) และหลักตรรกะของพวกเขาไม่อาจเข้าถึง มันเป็นสถานที่ซึ่งทุกสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้

Oscar 2009: ค้างคาวปีกหัก


ชะตากรรมของ The Dark Knight ดูไม่ค่อยแตกต่างจาก Dreamgirls เมื่อสองปีก่อนสักเท่าไหร่ ทั้งสองทำท่าจะเป็นตัวเก็งอันดับต้นๆ หลังจากได้เข้าชิงรางวัลของ SAG (นักแสดงกลุ่ม) PGA และ DGA แบบครบถ้วน แม้ว่าลางร้ายจะเริ่มส่อแววมาไกลๆ เช่น การถูก BAFTA มองข้าม (ในกรณี The Dark Knight หมายรวมถึงลูกโลกทองคำด้วย) แต่กูรูหลายคนก็ยังเชื่อมั่นว่ามันจะหลุดเข้าชิงสาขาใหญ่ได้สำเร็จ

ความล้มเหลวของ The Dark Knight อาจชวนพิศวงน้อยกว่านิดหน่อย เพราะสุดท้ายแล้ว (สำหรับกรรมการออสการ์) มันก็ยังเป็นแค่หนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่ทำมาจากการตูน มีตัวเอกสวมหน้ากากและใส่ชุดยางรัดรูป ไม่ว่าผู้สร้างจะพยายามเน้นความ “สมจริง” มืดหม่น หรือความหนักหน่วงในประเด็นทางศีลธรรมมากเพียงใดก็ตาม (และกรรมการหลายคนคงคิดว่าจะมีอะไรมืดหม่น หดหู่ และตั้งคำถามต่อระดับศีลธรรมได้มากไปกว่าปรากฏการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงนาซีเรืองอำนาจอีกเหรอ นี่เองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมหนังอย่าง The Reader ถึงสามารถเอาชนะบุรุษแห่งรัตติกาลได้)

การพลาดหวังของ The Dark Knight นอกจากจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่ากรรมการออสการ์ไม่สนใจความคิดเห็นของมวลชนแล้ว (รายได้ของหนังห้าเรื่องสุดท้ายที่เข้ารอบรวมกันแล้วยังไม่มากเท่ารายได้ของ The Dark Knight เรื่องเดียว) มันยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าพวกเขาไม่แคร์ความรู้สึกของนักวิจารณ์แต่อย่างใด (The Reader ทำสกอร์ใน Rotten Tomatoes ที่ 60% ถือว่าต่ำสุดในรอบทศวรรษสำหรับหนังเข้าชิงออสการ์ ต่ำกว่า Chocolat ซึ่งได้ 62% และ Babel ซึ่งได้ 68% ส่วนหนังที่ติดอันดับ 10 ประจำปีของนักวิจารณ์สูงสุดสองเรื่อง คือ Wall-E กับ The Dark Knight ล้วนพลาดการเข้าชิง)

นี่เองนำไปสู่ประเด็นที่หลายคนอ้างอิงถึง เมื่อพิจารณาความสำเร็จประเภท “มาจากไหน” ของ The Reader บนเวทีออสการ์ นั่นคือ อิทธิพลของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ นักล็อบบี้และโปรโมเตอร์มือหนึ่งที่เคยทำให้ Chocolat เข้าชิงออสการ์ และผลักดัน Shakespeare in Love จนพลิกชนะ Saving Private Ryan แบบช็อคโลกมาแล้ว หลังจากถูกดิสนีย์เขี่ยทิ้ง ไวน์สไตน์ค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ กับแคมเปญออสการ์ในช่วงสองสามปีหลัง จนหลายคนมองเห็นเขาเป็น “อดีตคนดัง” (Transamerica และ Mrs. Henderson Presents หลุดเข้าชิงในสาขานักแสดงนำ แต่พลาดเป้าหมายใหญ่ ขณะที่ Miss Potter, Breaking and Entering, Bobby และ Factory Girl กลับไม่สามารถสร้างกระแสใดๆ ได้เลย) การกลับมาอันยิ่งใหญ่ของ The Reader จึงถือเป็นการล้างแค้นที่หอมหวานของไวน์สไตน์ หลังต่อสู้แบบหัวชนฝาให้หนังเสร็จทันปลายปี จน สก็อตต์ รูดิน ประกาศขอถอนตัวจากทีมโปรดิวเซอร์ (น่าตลกตรงที่หนังสองเรื่องซึ่งรูดินอำนวยการสร้างและพยายามเข็นสุดกำลังอย่าง Doubt และ Revolutionary Road ดันแป้กลงกลางทาง)

เมื่อไวน์สไตน์กลับมา “อินเทรนด์” อดีตคนโปรดออสการ์อย่าง คลินท์ อีสต์วู้ด ก็กลายเป็น “เอาท์” ในชั่วข้ามคืน การหลุดเข้าชิงสามสาขาของ Changeling (นำหญิง กำกับภาพ กำกับศิลป์) ถือเป็นเซอร์ไพรซ์สำหรับหลายคนเนื่องจากหนังได้คำวิจารณ์ไม่สู้ดีนักในอเมริกา แต่ที่เซอร์ไพรซ์กว่า คือ อาการวืดแบบเต็มๆ ของ Gran Torino ทั้งที่เพิ่งจะทำเงินเปิดตัวในอเมริกาอย่างน่าประทับใจ จนกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของอีสต์วู้ด (ลบสถิติของ In the Line of Fire และ Unforgiven) การพลาดเข้าชิงสาขานักแสดงนำชายถือว่าชวนพิศวงพอดูหลังจากเสียงยกย่องหนาหู (อีสต์วู้ดเคยเข้าชิงสาขานี้จาก Unforgiven และ Million Dollar Baby) บางคนตั้งข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากการส่งหนังเข้าฉายช้าเกินไป โดยกลยุทธ์ที่ว่าอาจได้ผลดีกับ Million Dollar Baby แต่ถือเป็นความผิดพลาดสำหรับหนังที่ก้ำกึ่งในแง่คำวิจารณ์และมีสถานะ “ตลาด” เหนือ “อาร์ต” อย่าง Gran Torino

หรือบางทีเหตุผลง่ายๆ อาจเป็นเพราะกระทั่งอีสต์วู้ดเองก็ไม่อาจต้านทานกระแส “แบรงเจลิน่า” ได้

คนเก่าคนแก่อีกรายที่ตกสำรวจอย่างน่าประหลาด ได้แก่ วู้ดดี้ อัลเลน ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม แม้ว่าหนังเรื่องล่าสุดของเขา Vicky Cristina Barcelona จะกวาดคำชมมาไม่น้อย (อัลเลนเคยเข้าชิงสาขานี้มาแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง คว้าชัยมาครองสองครั้งจาก Annie Hall และ Hannah and Her Sisters) แต่ไม่ค่อยมีใครอยากประท้วงมากนักเนื่องจากหนังที่มาแทนที่อย่าง Frozen River และ In Bruges ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่อะไร

ความคิดเป็นอิสระของกรรมการออสการ์นอกจากจะปรากฏชัดในกรณี The Reader แล้ว ยังสะท้อนออกมาจากการเลือก เคท วินสเล็ท ให้เข้าชิงในสาขา “นักแสดงนำหญิง” แทนนักแสดงสมทบหญิง ซึ่งเหล่าทีมงานพยายามโปรโมตด้วยความโลภ (เคทมีบทนำแน่นอนอยู่แล้วจาก Revolutionary Road แต่กฎของออสการ์ประกาศห้ามเสนอชื่อนักแสดงซ้ำกันในสาขาเดียวกัน) และประสบความสำเร็จทั้งบนเวทีลูกโลกทองคำและ SAG ซึ่งเคทคว้าชัยมาครองในฐานะนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (กรณีคล้ายคลึงกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ เคชา เคสเทิล-ฮิวจ์ ซึ่งเข้าชิงสมทบหญิงจาก Whale Rider บนเวที SAG ก่อนออสการ์จะแก้ไขความผิดพลาดด้วยการส่งเธอเข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงแทน) อย่างไรก็ตาม กระแสขาขึ้นของ The Reader ส่งผลให้ Revolutionary Road ถูกมองข้ามเกือบหมด จนทำให้บางคนเริ่มตั้งข้อกังขาว่า แซม เมนเดส ยังมีเครดิตพอจะดำรงสถานะขวัญใจออสการ์หลงเหลืออยู่จริงหรือ เนื่องจากแทบทุกครั้งหนังของเขามักถูกเลือกให้เป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ ก่อนสุดท้ายจะมาแผ่วปลายอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากกรณีของ Road to Perdition และ Jarhead

สังเกตจากการเข้าชิงเพียงสาขาเดียว (บทดั้งเดิม) เห็นได้ชัดว่าออสการ์ชื่นชอบ ไมค์ ลีห์ ในมาดเคร่งขรึมอย่าง Vera Drake (เข้าชิงผู้กำกับ นำหญิง และบทดั้งเดิม) มากกว่าในมาดรื่นเริงอย่าง Happy-Go-Lucky แม้ว่าเรื่องหลังจะกวาดรางวัลจากนักวิจารณ์มาครองมากกว่า อาการตกม้าตายของ แซลลี่ ฮอว์กินส์ ทำให้เธอเป็นนักแสดงคนแรกนับจาก บิล เมอร์เรย์ ใน Rushmore ที่คว้ารางวัลของนักวิจารณ์นิวยอร์กและแอลเอ.มาครอง แต่กลับไม่ได้เข้าชิงออสการ์ ที่สำคัญ มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อทั้งสองคนรับบทในแนวตลก เปื้อนอารมณ์ขัน

ชัยชนะบนเวที DGA, PGA, SAG และลูกโลกทองคำ ส่งผลให้ Slumdog Millionaire กลายสภาพเป็นเต็งหนึ่งทั้งในสาขาหนังและผู้กำกับ ทิ้งห่างอันดับสองอย่าง The Curious Case of Benjamin Button แบบไม่เห็นฝุ่น ทว่าในสาขานักแสดงนำชาย ฌอน เพนน์ ซึ่งเพิ่งจะคว้า SAG มาครองดูเหมือนจะนำห่าง มิคกี้ รู้ค เจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำไม่มากนัก ส่วนคู่ที่เบียดกันสูสียิ่งกว่า คือ เมอรีล สตรีพ กับ เคท วินสเล็ท ซึ่งต่างก็คว้าชัยบนเวที SAG มาครอง (เคทเข้าชิงนำหญิงจาก Revolutionary Road แต่ได้สมทบหญิงจาก The Reader) การที่คนหลังได้เข้าชิงนำหญิงเพียงสาขาเดียว (จาก The Reader) และยังไม่เคยได้ออสการ์มาครองหลังเข้าชิงมา 5 ครั้งก่อนหน้านี้ทำให้เธอมีภาษีเหนือเจ้าป้าแห่งวงการฮอลลีวู้ดอยู่เล็กน้อย แม้คนแรกจะไม่เคยได้รางวัลมานานมากแล้วเช่นกันนับแต่ออสการ์ตัวที่สองเมื่อ 26 ปีก่อนจาก Sophie’s Choice โดยระหว่างช่วงเวลานั้น สตรีพได้เข้าชิงอีก 10 ครั้ง (นำ 9 ครั้ง สมทบ 1 ครั้ง) แต่ก็พลาดรางวัลแบบครบถ้วน

ของตายเพียงอย่างเดียวคงจะได้แก่ ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight) ในสาขานักแสดงสมทบชาย ซึ่งกวาดรางวัลสำคัญมาครองแบบครบถ้วนทั้งลูกโลกทองคำและ SAG นอกจากนี้ยังอาจจะหมายรวมถึง เพเนโลปี้ ครูซ จาก Vicky Cristina Barcelona ด้วย (ในเมื่อคู่แข่งสำคัญอย่าง เคท วินสเล็ท ถูกอัพเกรดไปเข้าชิงในสาขานักแสดงนำแล้ว) แต่คนหลังอาจต้องพึงระวังราชินีพลิกล็อกอย่าง มาริสา โทเม (The Wrestler) และจอมขโมยซีนอย่าง ไวโอลา เดวิส (Doubt) ให้มาก เนื่องจากสาขานี้ขึ้นชื่อมานานแล้วว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้”


สถิติแสนสนุก

• หนังที่ได้เข้าชิงออสการ์มากที่สุดอย่าง The Curious Case of Benjamin Button (13 สาขา) ทำสถิติเทียบเท่า Gone with the Wind, From Here to Eternity, Forrest Gump, Shakespeare in Love และ Chicago ซึ่งทั้งหมดล้วนคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองในตอนท้าย ส่วนหนังที่เข้าชิงมากถึง 13 สาขา แต่พลาดรางวัลสูงสุดได้แก่ Mary Poppins, Who’s Afraid of Virginia Woolf? และ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring อย่างไรก็ตาม สถิติการเข้าชิงมากที่สุดยังคงเป็นของ All About Eve และ Titanic นั่นคือ 14 สาขา

• นี่ถือเป็นครั้งที่ห้าเท่านั้นที่รายชื่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสอดคล้องกับผู้กำกับยอดเยี่ยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยล่าสุด คือ เมื่อปี 2005 ซึ่งประกอบด้วยหนังอย่าง Brokeback Mountain, Crash, Good Night and Good Luck, Capote และ Munich

• The Curious Case of Benjamin Button ทำให้ แคธลีน เคนเนดี้ ถือครองสถิติผู้อำนวยการสร้างที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสูงสุด 6 ครั้ง ส่วนอีกสองคน คือ สแตนลีย์ เครเมอร์ และ สตีเวน สปีลเบิร์ก คนแรกไม่เคยได้รางวัลมาครอง (เช่นเดียวกับเคนเนดี้) ส่วนคนหลังเคยได้รางวัลจาก Schindler’s List

• แม้ The Dark Knight จะเข้าชิงมากถึง 8 สาขา แต่ตัวหนังกลับพลาดเข้าชิงรางวัลสูงสุด สองปีก่อนเหตการณ์แบบเดียวกันเคยเกิดขึ้นกับ Dreamgirls ซึ่งสุดท้ายคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงมาครอง (เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน) ส่วนสถิติการเข้าชิงสูงสุดโดยปราศจากสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของ They Shoot Horses, Don’t They ซึ่งเข้าชิงมากถึง 9 สาขา และคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายมาครอง (กิ๊ก ยัง) หากพิจารณาจากสถิติ ดูเหมือนโอกาสของ ฮีธ เลดเจอร์ จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

• Wall-E ถือครองสถิติร่วมกับ Beauty and the Beast ในฐานะหนังการ์ตูนที่เข้าชิงออสการ์สูงสุด (6 สาขา) ส่วน Waltz with Bashir ก็กลายเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ

• แฟรงค์ แลนเกลลา กลายเป็นนักแสดงคนที่สองที่เข้าชิงออสการ์โดยรับบทเป็นอดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ก่อนหน้านี้ แอนโธนีย์ ฮ็อปกิ้นส์ เคยเข้าชิงสาขาเดียวกันจาก Nixon และพ่ายให้กับ นิโคลัส เคจ จาก Leaving Las Vegas

• The Dark Knight กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เข้าชิงออสการ์มากสุด ลบสถิติเดิมของ The Incredibles ซึ่งเข้าชิงทั้งหมดสี่สาขาจากจากภาพยนตร์การ์ตูน บันทึกเสียง ตัดต่อเสียง และบทภาพยนตร์ดั้งเดิม

• สตีเฟน ดัลดรี้ เป็นผู้กำกับคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมสามครั้งจากการกำกับหนังสามเรื่องแรก นั่นคือ Billy Elliot, The Hours และ The Reader

• สามนักแสดงเจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำ (เคท วินสเล็ท จาก Revolutionary Road แซลลี่ ฮอว์กินส์ จาก Happy-Go-Lucky และ คอลิน ฟาร์เรลล์ จาก In Bruges) ล้วนพลาดการเข้าชิงออสการ์ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 54 ปี เมื่อเจ้าของลูกโลกทองคำประจำปีนั้นอย่าง สเปนเซอร์ เทรซี่ (The Actress) เดวิด นีเวน (The Moon is Blue) และ เอเธล เมอร์แมน (Call Me Madam) ล้วนพลาดการเข้าชิงออสการ์กันแบบถ้วนหน้า


คำสารภาพของผู้เข้าชิง

• “อันที่จริงการเข้าชิงออสการ์ไม่ใช่ความฝันของผม แต่เป็นความฝันของภรรยาผมต่างหาก” (เอ.อาร์. ราห์แมน สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมจาก Slumdog Millionaire)

• “การได้ร่วมงานกับ คลินท์ อีสต์วู้ด ถือเป็นรางวัลในตัวเองแล้ว ส่วนการเข้าชิงออสการ์เป็นเหมือนอภิสิทธิ์เหนือความคาดหมายใดๆ... นอกจากนี้ ฉันยังดีใจที่คณะกรรมการไม่ลืมจะเสนอชื่อ Kung Fu Panda เข้าชิงรางวัล ฉันภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในหนังเรื่องที่ทุกคนในครอบครัวฉันหลงรักกันเหลือเกิน” (แองเจลินา โจลี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จาก Changeling)

• “มันเหลือเชื่อจริงๆ ผมเพิ่งได้รับโทรศัพท์จาก ฮาเวียร์ บาเด็ม (ร่วมงานกันใน No Country for Old Men) ที่สเปน เขาร้องตะโกนด้วยความดีใจยกใหญ่ ความจริง ผมตื่นนอนมาตอนอีกห้านาทีหกโมงเช้าในยูทาห์ พอเหลือบมองนาฬิกา ผมคิดว่าคงมีการประกาศรายชื่อกันไปแล้วและไม่ปรากฏชื่อผม ตอนนั้นผมคิดในใจว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องคิดมาก แต่แล้วก็เพิ่งตระหนักว่ามันมีช่วงต่างของเวลาอยู่หนึ่งชั่วโมง” (จอร์จ โบรลิน สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Milk)

• “ผมตื่นตะลึงกับผลงานของเหล่าเพื่อนนักแสดงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงและรู้สึกต่ำต้อยอย่างยิ่งเมื่อต้องถูกนำมาเปรียบเทียบกับพวกเขา หลังจากทำงานเป็นนักแสดงมาหลายปี มันน่าประทับใจเหลือเกินที่เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะอาชีพของผมดำเนินมาถึงจุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเกิดขึ้นกับหนังที่มีความหมายต่อผมอย่างสูง” (ริชาร์ด เจนกินส์ เข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Visitor)

• “ทุกวันที่เราถ่ายฉากการปะทะกันของ แฟรงค์ แลนเกลลา กับ ไมเคิล ชีน ทีมงาานที่โดยปกติมักแยกย้ายกันกลับบ้านหลังเสร็จภารกิจจะมานั่งกินขนมปังและสูบบุหรี่อยู่หลังจอมอนิเตอร์ พวกเขาไม่อยากพลาดอะไรเด็ดๆ เพราะทุกเทคล้วนน่าสนใจไปหมด ทุกเทคล้วนเต็มไปด้วยพลัง สำหรับผู้กำกับที่หลงใหลการร่วมงานกับนักแสดง มันเปรียบดังฝันที่เป็นจริง” (รอน โฮเวิร์ด สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Frost/Nixon)

• “ฉันดีใจอย่างสุดซึ้งที่ได้เข้าชิงและรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้แสดงเป็น ฮันนา ชมิทซ์ ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในอาชีพนักแสดง ฉันตื่นเต้นแทนผู้กำกับแสนวิเศษ สตีเฟน ดัลดรี้ และ เดวิด แฮร์ การได้เข้าชิงเปรียบดังผลตอบแทนความทุ่มเทของพวกเขาต่อหนังเรื่องนี้” (เคท วินสเล็ท สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก The Reader)