วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 16, 2553

Oscar Nominees in a Leading Role


เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart)

ก่อนหน้าจะมารับบทเป็น แบด เบลค นักร้องเพลงคันทรีซึ่งผลาญโอกาสและทำลายอนาคตของตน รวมถึงทุกคนรอบข้างไปกับขวดเหล้า เจฟฟ์ บริดเจส เคยแสดงหนังเพลงมาก่อนเมื่อปี 1989 โดยประกบ โบ บริดเจส ในบทสองนักเปียโนเพลงแจ๊ซ ที่ต้องบาดหมางใจกันเพราะต่างก็หลงรักนักร้องสาว (มิเชลล์ ไฟเฟอร์) ที่พวกเขาปลุกปั้นขึ้น “มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม ส่วนหนึ่งเพราะผมได้ร่วมงานกับพี่ชายและมิเชลล์ อีกส่วนหนึ่งเพราะบรรดาเพลงแจ๊ซระดับสุดยอดทั้งหลาย ซึ่งแตกต่างกับแนวเพลงใน Crazy Heart” บริดเจสเล่า “นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงตอบปฏิเสธบทหนังในตอนแรก The Fabulous Baker Boys ตั้งมาตรฐานเอาไว้สูงลิ่ว”

ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อ ที-โบน เบอร์เน็ต นักดนตรีและโปรดิวเซอร์เพลงระดับตำนาน (O Brother, Where Art Thou?) ตกลงใจรับทำเพลงประกอบให้ Crazy Heart เขากับบริดเจสรู้จักสนิทสนมกันมานานนับแต่เมื่อครั้งได้ร่วมงานกันในหนังเรื่อง Heaven’s Gate เมื่อสามสิบปีก่อนโดยมีดนตรีเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ บริดเจสเล่าว่าเบอร์เน็ตโน้มน้าวให้เขามาแสดงหนังเรื่องนี้ แต่เบอร์เน็ตกลับไม่แน่ใจนัก “ผมรู้แค่ว่าถ้าเขาเล่น หนังต้องออกมาดีแน่นอน สุดท้ายมันจึงเป็นเหมือนถ้านายทำฉันก็ทำ” พวกเขาแต่งเพลงร่วมกับ จอห์น กู๊ดวิน เพื่อนของบริดเจสตั้งแต่สมัยประถม และมือกีตาร์สุดเก๋า สตีเฟน บรูตัน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเบอร์เน็ต เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลังหนังปิดกล้องได้ไม่นาน

หนังเปิดเรื่องขณะชะตากรรมของ แบด เบลค กำลังตกต่ำถึงขีดสุดและต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการร้องเพลงตามบาร์ ตามลานโบวลิ่ง เขาเฝ้ามองอย่างขมขื่น ขณะนักร้องหนุ่ม (โคลิน ฟาร์เรลล์) อดีตลูกศิษย์ในสังกัด ไต่เต้าจนมีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลงที่เขาเป็นคนแต่งให้ ชีวิตของเบลดูจะเต็มไปด้วยความผิดหวัง ล้มเหลว (เขากับลูกชายไม่ได้พูดคุยกันมานานแล้ว) จนกระทั่ง จีน แครดด็อก (แม็กกี้ จิลเลนฮาล) นักข่าวสาวที่อายุอ่อนกว่าเขา 25 ปี ปรากฏตัวขึ้น แต่ความรักจากผู้หญิงดีๆ สักคนเพียงพอจะฉุดผู้ชายคนนี้ขึ้นจากหุบเหวเบื้องลึกได้หรือ

แม้จะอยู่ในวงการบันเทิงมานานกว่า 50 ปี นับแต่พ่อชวนเขามาร่วมงานด้วยในซีรีย์ชุด Sea Hunt และกวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์มาตลอด แต่บริดเจสกลับไม่เคยได้รางวัลออสการ์ โดยก่อนหน้านี้เขาเข้าชิงมาทั้งหมดสี่ครั้งจาก The Last Picture Show หนังเรื่องที่สองซึ่งสร้างชื่อให้เขา Thunderbolt and Lightfoot หนังแอ็กชั่นที่เขาต้องประกบ คลินท์ อีสต์วู้ด Star Man หนังเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวที่พยายามจะศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ (“บางทีอาจเป็นเพราะผมเพิ่งสำรวจความเป็นเด็กไปในหนังเรื่อง Star Man ผมจึงไม่อยากรับเล่นหนังอย่าง Big อีก แต่มันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะ ทอม แฮงค์ ยอดเยี่ยมมากในบทนั้น”) และ The Contender หนังที่เปิดโอกาสให้เขาได้สวมบทบาทประธานาธิบดีสหรัฐ

นักดูหนังรุ่นใหม่อาจคุ้นหน้าบริดเจสจากบทเจ้าของม้าแข่งในผลงานสุดฮิตอย่าง Seabiscuit หรือบทนักเขียนเจ้าชู้ในหนังฟอร์มเล็กอย่าง The Door in the Floor แต่สำหรับคนที่รู้จักนักแสดงวัย 60 ปีผู้นี้ หรืออย่างน้อยเคยพูดคุยกับเขา ส่วนใหญ่มักจะเห็นตรงกันว่าตัวละครที่นิยามความเป็น เจฟฟ์ บริดเจส ได้ชัดเจนที่สุด คือ เดอะ ดู๊ด ใน The Big Lebowski หนังคัลท์สุดฮิตของสองพี่น้องโคน เนื่องจากบุคลิกเป็นกันเอง ติดดิน สบายๆ และนิสัยชอบพูดคำว่า ‘man’ กับ ‘cool’ (ล่าสุดบริดเจสกับสองพี่น้องโคนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในผลงานรีเมค True Grit ทำให้บรรดาแฟนๆ พากันคาดหวังว่าอาจจะมีภาคต่อของ The Big Lebowski “ผมชอบภาคต่อนะ มันคงสนุกดีที่จะได้กลับไปรับบทเดิมอีกครั้ง” บริดเจสกล่าว “ผมพร้อมเสมอถ้าสองพี่น้องโคนต้องการ”)

ในความรู้สึกของพี่ชายเขา เจฟฟ์ บริดเจสไม่ได้แตกต่างจากบทที่เขาแสดงใน The Big Lebowski และ Crazy Heart สักเท่าไหร่ กล่าวคือ เป็นผู้ชายที่มีจุดบกพร่อง แต่แกร่งพอจะใช้ชีวิตเดินไต่ไปบนเส้นลวดบางๆ “หนึ่งในบุคลิกที่น่าหลงใหลของเจฟฟ์คงอยู่ตรงการที่เขาดูเหมือนจะเดินเป็นเส้นตรง และโซซัดโซเซ ออกนอกลู่นอกทางไปพร้อมๆ กัน ผมคิดว่าคนดูก็รู้สึกแบบนั้นเวลาเห็นเขารับบทตัวละครในหนังทั้งสองเรื่อง” โบกล่าว “พอคุณคิดว่าเขาเริ่มจะกู่ไม่กลับ จู่ๆ เขากลับมีสมาธิมุ่งมั่นขึ้นมา มันน่าประหลาดใจมาก”

จอร์จ คลูนีย์ (Up in the Air)

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ จอร์จ คลูนีย์ กลายมาเป็นดาราหนัง เขารูปหล่อ มีท่วงท่าสง่างาม ฉลาด เปี่ยมอารมณ์ขัน และพูดจาด้วยน้ำเสียงทุ้มลึก เสน่ห์แบบสุภาพบุรุษทำให้เขามักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับดารายุคระบบสตูดิโอรุ่งเรืองอย่าง แครี แกรนท์ หรือเวลาเขายิ้มกริ่มอย่างเจ้าเล่ห์ หลายคนอาจพาลนึกถึง พอล นิวแมน ในวัยหนุ่ม เขาเป็นนักแสดงที่สามารถรักษาชื่อเสียงไว้ได้เนิ่นนานโดยอาศัยเสน่ห์และพลังดาราเพียงอย่างเดียว แต่เขาเลือกจะไม่ทำเช่นนั้น นั่นต่างหากที่น่าแปลก

คลูนีย์ไม่จำกัดตัวเองอยู่กับบทเดิมๆ เหมือนดารายุคก่อน แต่ขณะเดียวกันก็เลือกบทอย่างระวังโดยรู้ว่าตัวเองมีข้อจำกัด และไม่พยายามก้าวไปไกลจนสุดขอบ (เรามี จอห์นนี่ เด็บ และ เดเนียล เดย์-ลูว์อีส สำหรับภารกิจดังกล่าว) กระทั่งบทตลกแบบเสียสติในหนังของสองพี่น้องโคนอย่าง O Brother, Where Art Thou? และ Burn After Reading การแสดงของเขาก็ค่อนข้างเบามือเมื่อเทียบกับเหล่านักแสดงร่วมในหนัง ซึ่งเน้นปล่อยของกันแบบไม่มียั้ง

คนดูไม่อยากเห็น จอร์จ คลูนีย์ ในบท Richard III และเขาก็ฉลาดพอที่จะไม่พยายาม ขอบเขตอันปลอดภัยและคุ้นเคยของเขา คือ การรับบทหนุ่มอเมริกันวัยกลางคนที่เก่งกาจในอาชีพการงาน แต่วันหนึ่งกลับเริ่มรู้สึกกังขาต่อความหมายของชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาและหวาดหวั่นอนาคตเบื้องหน้า ใน Up in the Air ก็เช่นกัน คลูนีย์รับบทเป็น ไรอัน บิงแฮม ที่ปรึกษาธุรกิจที่ต้องตระเวนเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อบอกเลิกงานคน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ (300 วันในหนึ่งปี) วนเวียนอยู่ตามสนามบินและโรงแรม กระเป๋าสตางค์ของเขาไม่ปรากฏรูปถ่ายครอบครัว แต่เต็มไปด้วยบัตรสะสมแต้ม บัตรสมาชิกนักเดินทาง และนามบัตรของสายการบิน โรงแรม หรือศูนย์เช่ารถต่างๆ มันดูเหมือนชีวิตที่ว่างเปล่า แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความสะดวกสบาย เป็นทิศทางที่เขาคุ้นชิน จนกระทั่งวิกฤติบางอย่างทำให้เขาต้องทบทวนทุกสิ่งที่ผ่านมา

บท ไรอัน บิงแฮม เพอร์เฟ็กต์สำหรับคลูนีย์เพราะเขาต้องปรับเปลี่ยนจากตัวตนที่แท้จริงเพียงเล็กน้อย ทักษะแห่งการบริหารพลังดาราถือเป็นศาสตร์ที่แปลกประหลาด และมักจะถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอ มันต้องพึ่งพาเสน่ห์ส่วนตัว ตลอดจนพรสวรรค์ที่จะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนคุณกำลังเล่นเป็นตัวเอง เพื่อให้พวกเขารู้สึกเหมือนพวกเขารู้จักคุณ สำหรับนักแสดงอย่างคลูนีย์ ซึ่งต้องทำงานโดยปราศจากความช่วยเหลือของวิกผม จมูกปลอม หรือสำเนียงแปลกแปร่ง เส้นแบ่งระหว่างการรับบทเป็นตัวละครกับการแสดงเป็นตัวเองนั้นถือว่าเบาบางมาก แต่เขาก็รักษาสมดุลได้อย่างพอเหมาะ

ดาราไม่จำเป็นต้องเสียเหงื่อในการเรียกร้องความสนใจจากคนดู เพราะทันทีที่พวกเขาปรากฏตัวขึ้นบนจอ สายตาของคนดูก็จะจับจ้องไปที่พวกเขาแล้ว และเมื่อนั้น (หากดาราคนดังกล่าวมีทักษะทางการแสดงมากพอ) เขาก็สามารถจะพาคนดูไปสำรวจแต่ละพฤติกรรมอันละเอียดอ่อนและคาดไม่ถึงได้อย่างใกล้ชิด นั่นคือสิ่งที่คลูนีย์ทำใน Up in the Air เช่นเดียวกับ Michael Clayton หนังซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้เขาได้ออสการ์จากบทสมทบใน Syriana สาเหตุหนึ่งคงเนื่องจากเขา “ลงแรง” เพิ่มน้ำหนักและไว้หนวดเครารกรุงรัง จนคณะกรรมการเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าเขากำลังแสดง) ในหนังเรื่องหลัง ฉากเด่นที่เปิดโอกาสให้คลูนีย์ได้ฉายแสงอย่างแท้จริง คือ ฉากจบเมื่อเขาก้าวขึ้นไปนั่งยังเบาะหลังของรถแท็กซี่ กล้องจับจ้องที่เขาเป็นเวลานานสองนาทีเต็ม โดยเขาไม่ได้ทำอะไร หรือแสดงอาการใดๆ ชัดเจน แต่ขณะเดียวกันด้วยแววตาและภาษาท่าทางอันเล็กน้อย คลูนีย์กลับทำให้คนดูรู้สึกได้ทันทีว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาตัวละครของเขาต้องแบกรับทุกอย่างไว้มากเพียงใด นี่เป็นเวลาเดียวที่เขาสามารถผ่อนคลายได้ในที่สุด เราคนดูไม่อาจละสายตาจากเขาได้ มันเป็นงานแสดงที่กล้าหาญ ยอดเยี่ยม และคงมีเพียงดาราเท่านั้นที่สามารถทำได้

โคลิน เฟิร์ธ (A Single Man)

สำหรับนักแสดงที่เคยผ่านประสบการณ์ในหนังอย่าง Another Country และ Mamma Mia! มาก่อน ความยากของ A Single Man ไม่ได้อยู่ตรงการรับบทเป็นรักร่วมเพศ แต่อยู่ตรงการต้องเปิดเผยเรือนร่างให้คนนับล้านเชยชม ซึ่งนั่นถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เมื่อคุณต้องมาร่วมงานกับ ทอม ฟอร์ด นายแบบ/แฟชั่นดีไซเนอร์/ผู้เชี่ยวชาญและชื่นชอบสรีระเพศชายที่ผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

“เขา (ฟอร์ด) บอกว่าผมดูดีแล้ว แต่จะดูดีกว่านี้อีกถ้ามีเทรนเนอร์ส่วนตัว” โคลิน เฟิร์ธ อธิบายเหตุผลเบื้องหลังรูปร่างที่กระชับขึ้นและบึกบึนขึ้น อย่างไรก็ตาม บทสนทนาครั้งนั้นดูจะแตกต่างออกไปในความทรงจำของฟอร์ด “ผมบอกว่าเขาอ้วน” หนุ่มอเมริกันกล่าว แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร การร่วมงานกันของทั้งสองได้สร้างกระแสฮือฮาไปทั่ว เริ่มต้นจากเทศกาลหนังเมืองเวนิซ ซึ่งเฟิร์ธคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครอง

A Single Man ดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นของ คริสโตเฟอร์ อิชเชอร์วู้ด เล่าถึงชีวิตในหนึ่งวันอันเต็มไปด้วยความมืดหม่น สิ้นหวังของ จอร์จ ฟัลโคเนอร์ ศาสตราจารย์เกย์ชาวอังกฤษในช่วงต้นทศวรรษ 1960 หลังคู่รักของเขาเสียชีวิต จุดหลักที่แตกต่างจากหนังสือ คือ วันดังกล่าวจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเขาด้วย เพราะจอร์จวางแผนจะฆ่าตัวตายหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่น่าตลกตรงที่ความสวยงามรอบตัว รวมถึงมิตรภาพจากเพื่อนสนิท (จูลีแอนน์ มัวร์) กลับทำให้จอร์จเริ่มสัมผัสคุณค่าแห่งชีวิตอีกครั้ง “เขาได้เห็นสิ่งต่างๆ เป็นครั้งแรก เพราะเขารู้ว่าเขาจะได้เห็นมันเป็นครั้งสุดท้าย” เฟิร์ธกล่าว

ตลอดเวลา 25 ปีที่คลุกคลีอยู่ในวงการ นักแสดงชาวอังกฤษที่โด่งดังไปทั่วโลกจากบท มาร์ค ดาร์ซี่ ทั้งในมินิซีรีย์เรื่อง Pride and Prejudice ของสถานีโทรทัศน์บีบีซี และหนังชุด Bridget Jones’s Diary ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากนิยายเรื่องดังของ เจน ออสเตน ไม่เคยถูกกล่าวขวัญถึงมากนักในแง่ฝีมือการแสดง และนี่ถือเป็นการเข้าชิงออสการ์ครั้งแรก “ได้เวลาเสียที” สแตนลีย์ ทุคชี่ เพื่อนสนิทที่เคยร่วมงานกับเฟิร์ธในหนังของ HBO เรื่อง Conspiracy กล่าว “ความลุ่มลึกในงานแสดงของเฟิร์ธทำให้เขามักจะถูกมองข้าม เรารู้ว่าเขารูปหล่อ แต่ภายใต้ความหล่อยังเต็มไปด้วยความเฉลียวฉลาดและซับซ้อน เขาไม่เคยเห็นแก่ตัวเวลาอยู่บนจอ มักจะสนับสนุนหนังในภาพรวมเสมอ”

ความลุ่มลึกดังกล่าวสอดคล้องอย่างพอเหมาะกับบทหนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษในยุคสมัยที่รักร่วมเพศยังถือเป็นเรื่องต้องปกปิด ซุกซ่อน โดยหนึ่งในฉากไฮไลท์ของหนังเป็นตอนที่จอร์จรับทราบข่าวการตายของคู่รัก (แม็ทธิว กู๊ด) ทางโทรศัพท์ เขาพยายามสร้างภาพว่าทั้งสองเป็นแค่เพื่อนกัน และแสดงทีท่าเข้าอกเข้าใจที่ไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานศพ เพราะในงานจะมีแต่สมาชิกครอบครัวเท่านั้น เฟิร์ธนั่งนิ่งอยู่ตรงนั้น แต่คนกลับดูตระหนักได้อย่างชัดเจนว่าโลกทั้งใบของจอร์จพลันล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา

“ความยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเขียนโดย ทอม ฟอร์ด คือ มันแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าคนเรานั้นมักจะไม่พูดสิ่งที่พวกเขารู้สึกอยู่ภายใน” เพิร์ธกล่าว แต่ดวงตา ความเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยบนใบหน้า ตลอดจนทักษะของเฟิร์ธในการถ่ายทอดอารมณ์อันล้นทะลักภายใน ขณะที่ภายนอกพยายามจะเก็บกดมันไว้ ทำให้คนดูสัมผัสถึงความรู้สึกที่แท้จริงของจอร์จ ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้

มอร์แกน ฟรีแมน (Invictus)

มอร์แกน ฟรีแมน เคยแสดงเป็นพระเจ้ามาแล้วถึงสองครั้งด้วยกัน ฉะนั้นการถ่ายทอดบุญบารมีรวมถึงความสูงส่งทางศีลธรรมจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับเขา ตรงกันข้าม ความท้าทายสูงสุดของการรับบท เนลสัน แมนเดลา อยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่าผลงานดังกล่าวจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแมนเดลาตัวจริง ซึ่งใครๆ ก็รู้จักคุ้นเคย “ถ้าทุกส่วนของงานแสดงเป็นเรื่องยาก การรับบทบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และเป็นที่รู้จักของทุกคนก็คงเป็นเรื่องยากสุด” เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Million Dollar Baby กล่าว

นักแสดงหลายคนเคยผ่านบททดสอบนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แดนนี่ โกลเวอร์ (จากหนังทีวีเรื่อง Mandela) ซิดนีย์ ปอยเตียร์ (จากหนังทีวีเรื่อง Mandela and de Klerk) หรือ เดนนิส เฮย์สเบิร์ท (Goodbye Bafana) ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยน่าจดจำนัก จุดเด่นในงานแสดงของฟรีแมนอยู่ตรงที่เขาไม่ได้แค่เลียนแบบแมนเดลา แต่กลับสวมวิญญาณเป็นเขา จริงอยู่นักแสดงวัย 72 ปีอาจแม่นยำในการคัดลอกวิธีพูด หรือท่าทางการเดิน ซ้ำยังมีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกันด้วย (เขาอายุน้อยกว่าแมนเดลาเพียงไม่กี่ปี) แต่สิ่งที่สำคัญกว่าอยู่ตรงการถ่ายทอดเสน่ห์ ความมั่นใจ และเศษเสี้ยวแห่งความผิดหวัง เสียใจที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งออกมาได้อย่างหมดจด

เรื่องราวใน Invictus ดัดแปลงจากหนังสือของ จอห์น คาร์ลิน ชื่อ Playing the Enemy: Nelson Mandela and the Game That Made a Nation เริ่มต้นขึ้นหลังแมนเดลาเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้และกำลังมองหาหนทางที่จะประสานรอยร้าวระหว่างคนในชาติอันเป็นผลจากอคติทางสีผิวผ่านการแข่งขันกีฬารักบี้ เขาเดินหน้าแคมเปญดังกล่าวด้วยการเรียกกัปตันทีมชาติ (แม็ท เดมอน) มาเข้าพบ พร้อมตั้งเป้าหมายที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ให้ นั่นคือ ทีม แอฟริกาเนอร์ส จะต้องคว้าแชมป์โลกมาครองในการแข่งขัน เวิลด์ คัพ ซึ่งแอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดงานในอีกหนึ่งปีข้างหน้า นอกจากกระดูกก้อนโตอย่างทีม ออล แบล็ค จากนิวซีแลนด์แล้ว ภารกิจนี้ยังโหดมหาหินเนื่องจาก แอฟริกาเนอร์ส เป็นความภาคภูมิใจของชนกลุ่มน้อยผิวขาวและถูกเกลียดชังจากกลุ่มคนผิวสี ด้วยมองว่ามันเป็นตัวแทนของความกดขี่

สำหรับฟรีแมน จุดกำเนิดของหนัง คือ วันที่ เนลสัน แมนเดลา เปิดแถลงข่าวเพื่อโปรโมตหนังสือบันทึกความทรงจำเมื่อปี 1994 ชื่อ Long Walk to Freedom โดยภายในงานมีนักข่าวคนหนึ่งตะโกนถามขึ้นว่า ถ้าหนังสือถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ เขาอยากให้นักแสดงคนใดมารับบท

“เขาอยากได้ผม” ฟรีแมนเล่า “มันเป็นเหมือนเสียงอนุมัติจากเบื้องบน” ต่อมาผู้อำนวยการสร้างที่ถือลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้อยู่ได้จัดให้มีการนัดพบระหว่างฟรีแมนกับแมนเดลา ตามมาด้วยความพยายามอันเนิ่นนานที่จะสร้างหนังชีวประวัติ แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยความล้มเหลว “มีเรื่องราวมากมายเกินไปสำหรับบรรจุเอาไว้ในหนังเพียงหนึ่งเรื่อง” ฟรีแมนอธิบาย เขาล้มเลิกความคิดที่จะแสดงเป็นแมนเดลาจนกระทั่งนักข่าวชาวอังกฤษ จอห์น คาร์ลิน เสนอบทหนังให้เขา ฟรีแมนรีบตกลงซื้อลิขสิทธิ์ จากนั้นก็ชักชวน คลินท์ อีสต์วู้ด ซึ่งเขาเคยร่วมงานด้วยสองครั้งในหนังรางวัลออสการ์เรื่อง Unforgiven และ Million Dollar Baby ให้มากำกับ

ใน Invictus รายละเอียดที่ช่วยลดภาพนักบุญของแมนเดลา ทำให้เขามีความป็นมนุษย์มากขึ้นอยู่ตรงแง่มุมเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว (เขาหย่าร้างสองครั้งและห่างเหินจากลูกๆ) โดยในฉากสำคัญฉากหนึ่ง คนดูจะได้เห็นแมนเดลา ผู้นำที่สามารถสรรหาถ้อยคำสวยหรูมากระตุ้นมวลชนให้ซาบซึ้ง ประทับใจ กลับไม่อาจพูดจาสื่อสารกับลูกสาวที่ชิงชังเขาได้ “จากที่ได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว” ฟรีแมนกล่าว “ความกังวลหลักของแมนเดลาหาได้อยู่ตรงสิ่งที่เขาทำ หากแต่อยู่ตรงสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ เขาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของพ่อและสามีได้เพราะมีภารกิจอื่นที่ต้องทำอีกมาก เขาเป็นผู้นำประเทศชาติมากกว่าจะเป็นผู้นำครอบครัว”

เจเรมี เรนเนอร์ (The Hurt Locker)

ระหว่างขั้นตอนคัดเลือกกลุ่มนักแสดงนำของหนังเรื่อง The Hurt Locker ผู้กำกับ แคธรีน บิเกโลว ต้องการหลีกเลี่ยงดาราดัง เพื่อไม่ให้คนดูคาดเดาได้ว่าใครจะอยู่ ใครจะตาย โดยตัดสินจากความดังของดารา แต่สุดท้ายคนที่คว้าบทเด่นไปครอง คือ เจเรมี เรนเนอร์ นักแสดงซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี เป็นที่เคารพของคนในวงการจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนอกวงการ “แคธรีนอยากได้คนที่นักดูหนังไม่คุ้นหน้า ผมเลยกลายเป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่ทำงานมานาน 10 ปี” เรนเนอร์กล่าวติดตลก

แต่ทั้งหมดนั้นกำลังจะเปลี่ยนแปลงหลังจาก The Hurt Locker เดินสายกวาดรางวัลแทบทุกเวที แถมยังผลักดันให้นักแสดงวัย 38 ปีผู้นี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก

เรนเนอร์รับบทเป็นจ่าสิบเอก วิลเลียม เจมส์ นายทหารผู้เชี่ยวชาญด้านการปลดระเบิดที่มีนิสัยบ้าระห่ำ ไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และชอบแหกกฎอยู่ตลอดเวลา เขารับมือกับอันตรายบนท้องถนนในกรุงแบกแดด หรือความซับซ้อน เสี่ยงภัยในอาชีพการงานได้แบบสบายๆ แต่กลับอึดอัด สับสน เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจประจำวันที่แสนง่ายดาย เช่น การเลือกซื้อซีเรียลในซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะเดียวกันใช่ว่าสงครามจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเจมส์ ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเด็กชายชาวอีรักที่มาขายดีวีดีในฐานทัพ

แม้จะมีโอกาสเล่นหนังสตูดิโอมาไม่น้อย เช่น การประกบ แบรด พิทท์ ใน The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford ประกบ ชาร์ลีซ เธรอน ใน North Country ประกบ โคลิน ฟาร์เรล ใน S.W.A.T. หรือร่วมแสดงในหนังตลาดที่ทำเงินสูงอย่าง 28 Weeks Later แต่ผลงานการแสดงที่น่าประทับใจของเรนเนอร์ส่วนใหญ่จะเป็นหนังอินดี้ฟอร์มเล็กเสียมากกว่า อาทิ Neo Ned, Fish in the Barrel หรือการสวมบทฆาตกรต่อเนื่อง เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ ใน Dahmer ซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงรางวัล Independent Spirit Award เป็นครั้งแรก “ผมชอบเล่นหนังอินดี้ เพราะมันเปิดโอกาสให้ผมได้บทที่ยอดเยี่ยมและน่าสนใจ แต่มักไม่ค่อยมีคนได้ดูเนื่องจากมันไม่ทำเงิน หรือกระทั่งไม่มีผู้จัดจำหน่าย” เรนเนอร์กล่าว

ก่อน The Hurt Locker จะเปิดกล้อง เรนเนอร์ได้เดินทางไปพูดคุยกับนายทหารที่ผ่านประสบการณ์คล้ายคลึงกันมาแล้วเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบท “พวกเขามีรูปร่างแตกต่างกันมาก” เขาเล่า “บางคนสูงแค่ 160 ซม. ส่วนบางคนกลับสูงถึง 190 ซม. บ้างก็ลงพุง บ้างก็มีกล้ามแขนใหญ่กว่าท่อนขาของผมเสียอีก แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันหมด คือ ความห้าวหาญ เด็ดเดี่ยว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะงานของพวกเขาเกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย”

The Hurt Locker เห็นความสมจริงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกๆ คนเขียนบท มาร์ค โบล รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายทหารจำนวนมากระหว่างที่เขาเป็นนักข่าวประจำกองทัพสหรัฐช่วงปี 2004 เหตุการณ์ส่วนใหญ่ในหนังล้วนได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริง เช่น ฉากที่นายทหารคนหนึ่ง (ไบรอัน เกแร็กตี้) ต้องเช็ดเลือดออกจากกระสุนเพื่อให้มันใช้งานได้ และความสมจริงดังกล่าวก็ส่งต่อไปยังขั้นตอนการถ่ายทำ ซึ่งใช้เวลา 44 วันท่ามกลางสภาพอากาศอันหฤโหดของประเทศจอร์แดน พวกเขาเผชิญทั้งความร้อนและพายุทะเลทราย แต่สำหรับเรนเนอร์ชุดกู้ระเบิดน้ำหนัก 100 ปอนด์ที่เขาต้องสวมระหว่างเข้าฉากถือเป็นความทรมานขั้นสูงสุด “หลังจากต้องสวมมันนานๆ ไอคิวของคุณจะลดต่ำลงประมาณ 25 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มันทำให้คุณเหนื่อยล้าจนแทบเป็นลม” เรนเนอร์เล่า

ในการฉายหนังรอบพิเศษให้เหล่าทหารผ่านศึกและสมาชิกครอบครัว ขณะเรนเนอร์กำลังตอบคำถามของผู้ชมเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลว่า “การได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของวีรบุรุษเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผม มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่มีใครรู้จักพวกเขาสักเท่าไหร่ ผมหวังว่าจะสามารถสะท้อนเศษเสี้ยวแห่งความจริงไปยังคนดูได้...” ทันใดนั้นก็มีเสียงตะโกนแทรกขึ้นว่า “คุณทำได้มากกว่านั้นเสียอีก” ตามมาด้วยเสียงปรบมือดังสนั่นรอบด้าน บางทีนั่นอาจพิสูจน์การแสดงอันยอดเยี่ยมของเรนเนอร์ได้มากกว่ารางวัลใดๆ


แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side)

2009 ถือเป็นปีทองของ แซนดร้า บูลล็อค อย่างไม่ต้องสงสัย หลัง The Proposal ทำเงินเหนือความคาดหมายในช่วงซัมเมอร์ ก่อนเธอจะปิดท้ายปีอย่างสวยงามด้วยหนังสุดฮิต The Blind Side ซึ่งทำเงินแซงหน้า Erin Brockovich จนกลายเป็นหนังที่นำแสดงโดยดาราหญิงที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลไปแล้ว (รายได้รวมทั่วโลกของหนังสองเรื่องมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ บทหญิงสาวชาวใต้ที่รับเลี้ยงเด็กชายผิวดำไร้บ้าน พร้อมกับปลุกปั้นเขาจนกลายเป็นนักฟุตบอลชั้นยอดในหนังเรื่องหลังยังผลักดันให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกอีกด้วย

แต่ความวุ่นวายระหว่างเทศกาลแจกรางวัลหาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตอันเรียบง่ายและแสนสงบของบูลล็อคมากนัก มันเป็นแค่เสียงแบ็คกราวด์ท่ามกลางภารกิจสำคัญในครอบครัว เช่น การปรุงลาซานญามังสวิรัติให้ลูกเลี้ยงเธอ หรือมองหาต้นคริสต์มาสมาประดับบ้าน กระนั้นใช่ว่าเธอจะไม่ซาบซึ้ง หรือค่อนข้างตกใจเล็กน้อยกับเสียงชื่นชมและบรรดารางวัลต่างๆ ที่ได้มา เพราะอย่างไรเสียทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ แม้เธอจะแสดงหนังมานานกว่า 20 ปีแล้ว

เช่นเดียวกับ จูเลีย โรเบิร์ตส์ (ซึ่งปฏิเสธที่จะรับบทนำ จนทางสตูดิโอเสนอให้ทีมงานเปลี่ยนเรื่องเป็นความสัมพันธ์แบบพ่อลูกแทนโดยไม่สนใจว่าเรื่องราวในหนังได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง!) บูลล็อคมีกลุ่มแฟนประจำที่คอยติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่นเพราะชื่นชอบบุคลิกติดดินและทักษะการแสดงตลกอันเฉียบคม จนหลายคนยกย่องให้เธอเป็น ลูซิลล์ บอล แห่งยุคนี้ หนังแทบทุกเรื่องของเธอทำเงินน่าพอใจ แต่ผลงานดราม่าอันเข้มข้นของเธอในหนังอย่าง Crash หรือ Infamous หรือ 28 Days กลับถูกมองข้าม

The Blind Side เป็นเหมือน Erin Brockovich เวอร์ชั่น แซนดร้า บูลล็อค เธอรับบท ลี แอนน์ ทูอี้ มัณฑนากรหญิงที่แกร่งกล้า พูดจาตรงไปตรงมา และมุ่งมั่นชนิดไม่หวั่นเกรงอุปสรรคใดๆ ชีวิตของเธอต้องพบจุดหักเหเมื่อได้รู้จักกับเด็กวัยรุ่นผิวดำร่างใหญ่ ซึ่งไม่มีใครสนใจ ไร้ครอบครัว และขาดทักษะการเข้าสังคม แต่เปี่ยมพรสวรรค์ในกีฬาฟุตบอล “ลี แอนน์ มีบุคลิกแบบที่คนดูชอบ เธอโผงผาง แต่เป็นคนตลก เธอคุมบังเหียนชีวิต ไม่หวาดเกรงใครหน้าไหน” แอนดรูว์ โคซอฟ ผู้อำนวยการสร้างกล่าว “ซึ่งนั่นคล้ายคลึงกับแซนดร้ามาก”

ดาราสาวที่โด่งดังไปทั่วโลกมาจากผลงานอย่าง Speed, While You Were Sleeping และ Miss Congeniality ดูจะเห็นด้วยกับความเห็นนั้น “เราเหมือนกันตรงที่เวลามุ่งมั่นจะทำอะไรให้สำเร็จแล้วล่ะก็ เราจะมองไม่เห็นว่ามันอาจนำความวุ่นวายมาสู่ตัวเองมากแค่ไหน สิ่งสำคัญ คือ ทำบางอย่างให้สำเร็จลุล่วง”

งานแสดงของบูลล็อคใน The Blind Side มีจุดเด่นตรงความลุ่มลึก ไม่น้อยหรือมากเกินไป โดยฉากทีเด็ดของเธอมักจะเป็นช่วงเวลาอันนิ่งเงียบระหว่าง ลี แอนน์ กับ ไมเคิล (ควินตัน แอรอน) เด็กหนุ่มผิวดำที่ต้องต่อสู้กับอดีตเลวร้าย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองน่าประทับใจเพราะหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้ถูกพูดออกมา และบูลล็อคก็ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งถ้าบรรยายเป็นตัวอักษรก็คงต้องใช้กระดาษหลายหน้า ผ่านแววตา และอากัปกิริยาเพียงเล็กน้อยได้อย่างยอดเยี่ยม

“ผมไม่แน่ใจว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ไหมว่ามันเป็นการแสดงที่ยากมากๆ และถือเป็นความเสี่ยงขั้นสูงสุดสำหรับบูลล็อค” ผู้กำกับ/เขียนบท จอห์น ลี แฮนค็อค กล่าว

“ผมคิดว่า แซนดร้า บูลล็อค ไม่ต่างจากนักแสดงอย่าง เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ซึ่งในวงการให้ความเคารพเพราะหนังของพวกเธอมักจะทำเงินสูง และพวกเธอก็ทำหน้าที่ได้ดี แต่คนมักจะคิดว่า ไม่เอาน่า พวกเธอก็แค่เล่นเป็นตัวเอง มันไม่ใช่การแสดงสักหน่อย ซึ่งนั่นถือว่าไม่ยุติธรรมเลย” เดวิด ธอมสัน นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าว

ทว่าคราวนี้บูลล็อคกลับได้เครดิตไปเต็มๆ จากความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนเส้นทางอาชีพไปสู่อีกทิศทางหนึ่ง ซึ่งยากมากสำหรับผู้หญิงวัยเกิน 40 ปี ไม่เชื่อก็ลองถาม เม็ก ไรอัน ดูได้ การจะทำให้คนดูยอมรับราชินีโรแมนติกคอมเมดี้ในบทดรามานั้นต้องใช้เวลาและความพยายามขั้นสูงสุด แต่บูลล็อคก็ยินดีจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยการเสี่ยงเล่นหนังอย่าง The Lake House ก่อนจะค่อยๆ ก้าวเท้าอย่างต่อเนื่องสู่บทที่หนักขึ้น “คุณต้องหยุดเมื่อพบว่าผู้คนเริ่มคุ้นชินกับสิ่งที่คุณนำเสนอมากเกินไป และเมื่อฉันหยุด พร้อมจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ฉันก็พบว่ายังมีอะไรที่น่าสนใจรอคอยฉันอยู่อีกมาก” บูลล็อคกล่าว

เฮเลน เมียร์เรน (The Last Station)

พรสวรรค์ทางการแสดงของ เฮเลน เมียร์เรน ปรากฏชัดในแทบทุกฉากของ The Last Station ซึ่งเธอรับบทเป็น ซอฟยา ตอลสตอย ภรรยาของนักเขียนระดับตำนาน เจ้าของผลงานสุดคลาสสิกอย่าง War and Peace และ Anna Karenina เพราะเธอพาคนดูไปสัมผัสอารมณ์อันสุดโต่งของผู้หญิง ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าร้ายกาจจนอาจถึงขั้นเสียสติ ไม่ว่าจะด้านที่อบอุ่น หยิ่งยโส เยาะหยัน และกระทั่งบ้าคลั่ง แต่สุดท้ายกลับสามารถทำให้เราเชื่อได้ว่าเธอทำทุกอย่างเหล่านั้นก็เพราะรัก

บุคลิกรุนแรงของซอฟยา คล้ายภูเขาไฟที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ ถือว่าแตกต่างและห่างไกลจากบทที่ทำให้เมียร์เรนคว้าออสการ์มาครองเมื่อสามปีก่อนราวฟ้ากับเหว “ฉันได้บทหนังเรื่องนี้ไม่นานหลังจากปิดกล้อง The Queen การได้ทำบางอย่างที่แตกต่างจากโปรเจ็กต์ก่อนหน้าถือเป็นความฝันขั้นสูงสุดของนักแสดง และเห็นได้ชัดว่าตัวละครเอกใน The Queen ต้องเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายเอาไว้ภายใน พยายามไม่แสดงออกต่อหน้าคนอื่น ซึ่งตรงกันข้ามกับซอฟยาอย่างสิ้นเชิง นั่นคือสิ่งที่ดึงดูดใจฉัน อีกอย่างมันเป็นบทหนังที่ยอดเยี่ยมมาก” เมียร์เรนกล่าว

ผู้กำกับ ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน เล่าถึงประสบการณ์ตลกระหว่างช่วงซ้อมบท ซึ่งดูจะอธิบายความแรงของตัวละครอย่างซอฟยาได้เป็นอย่างดี “จู่ๆ นักออกแบบเสื้อผ้าชาวเยอรมันก็เดินเข้ามาในห้อง แล้วพูดกับเฮเลนว่า ‘นี่เป็นชุดสำหรับใส่เข้าฉากที่คุณตกลงมาจากระเบียง นี่เป็นชุดสำหรับใส่เข้าฉากที่คุณพยายามจะฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงสระน้ำ นี่เป็นชุดสำหรับใส่เข้าฉากที่คุณพยายามจะร่วมรักกับสามี และนี่เป็นชุดสำหรับใส่เข้าฉากที่คุณต้องปาจานแตก’ ”

เมียร์เรนต้องเดินไต่บนเส้นลวดอย่างระมัดระวังในการถ่ายทอดบุคลิกแบบ “ดาราละครเวที” ของซอฟยาให้สมจริง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คนดูรำคาญ หรือหงุดหงิดจนสมาธิหลุดกับพฤติกรรมสุดแสนโอเวอร์ “มีฉากหนึ่งที่ฉันเสนอให้ไมเคิลตัดออกเพราะคิดว่ามันล้ำเส้นเกินไปและอาจผลักไสคนดูจากตัวละคร” เมียร์เรนกล่าว “เป็นตอนที่เธอพยายามจะฆ่าตัวตายอีกครั้งด้วยการกินยาพิษ เธอพูดว่า ‘นี่เป็นยาพิษ ฉันจะกินล่ะนะ ถ้าคุณไม่ห้ามฉัน ฉันจะกินจริงๆ ด้วย’ แต่เขากลับไม่ห้ามเธอและพูดว่า ‘เอาเลย กินเลย’ สุดท้ายเธอจึงตอบว่า ‘ฉันไม่กินหรอก’ ฉันคิดว่ามันมากเกินไป คนดูจะพากันคิดว่า ‘อีนี่มันบ้า ไร้สาระสุดๆ’ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ชมสามารถติดตามตัวละครไปได้ตลอด โดยไม่จำเป็นต้องชื่นชอบตัวละครก็ได้” นักแสดงวัย 64 ปีกล่าว

The Last Station เล่าถึงบั้นปลายชีวิตของ ลีโอ ตอลสตอย (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) หลังจากเขาเกษียณตัวเองมาใช้เวลาส่วนใหญ่ภายในบ้านล้อมรอบด้วยคนสนิทและครอบครัว หนึ่งในนั้น คือ ซอฟยา ภรรยาที่อยู่กินกับเขามานาน 48 ปีและคุ้นเคยกับความสุขสบายแบบชนชั้นกลาง (เธอเลือกจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสวยหรู มีระดับ) ขณะสามีเธอ (ซึ่งเลือกจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเรียบง่าย) กลับเริ่มหันไปมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยทุกความขัดแย้งและการปะทะคารมในหัวข้อเกี่ยวกับปรัชญา การเมือง การใช้ชีวิต หรือกระทั่งความรัก ล้วนตกอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของ บัลกาคอฟ (เจมส์ แม็คอะวอย) เลขานุการหนุ่มที่ค่อนข้างไร้เดียงสาของตอลสตอย

แม้จะมีฉากหลังเป็นประเทศรัสเซีย แต่นักแสดงทุกคนใน The Last Station กลับพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงตัวเอง เช่น แม็คอะวอยพูดติดสำเนียงสก็อตต์ ส่วนเมียร์เรนพูดติดสำเนียงอังกฤษ ขณะพลัมเมอร์เลือกใช้สำเนียงคิวเบ็ก นักแสดงสาวใหญ่มากฝีมือผู้เคยเข้าชิงออสการ์มาก่อนสามครั้งจาก The Madness of King George, Gosford Park และ The Queen อธิบายว่า “มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เราถกเถียงกันยาวนานระหว่างช่วงการซ้อมว่าควรจะพูดติดสำเนียงรัสเซียไหม ซึ่งคงให้ความรู้สึกเฟกๆ เพราะคนรัสเซียย่อมพูดเป็นภาษารัสเซีย ฉันคิดว่าหนังแต่ละเรื่องก็แตกต่างกันไป เช่น เมื่อไม่นานมานี้ฉันเพิ่งถ่ายหนังเกี่ยวกับอิสราเอล เราพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงอิสราเอลนิดหน่อย ทั้งที่ตัวละครควรจะพูดภาษาฮิบบรู แต่ฉันคิดว่ากับ The Last Station เราตัดสินใจถูกต้องแล้ว”

แครี มัลลิแกน (An Education)

การได้รับฉายา ออเดรย์ เฮปเบิร์น คนใหม่ถือเป็นภารกิจที่หนักอึ้ง และแน่นอนย่อมตามมาด้วยความคาดหวังที่สูงลิบจนยากจะเติมเต็มได้ แต่นักแสดงสาวจากเกาะอังกฤษวัย 24 ปีกลับเลือกจะยิ้มรับคำชม รางวัล หรือเสียงสรรเสริญรอบด้านแล้วก้มหน้าทำงานต่อไปโดยปราศจากแรงกดดันใดๆ ทั้งนี้เพราะชื่อเสียงตลอดจนเกียรติยศหาใช่เหตุผลที่ชักนำเธอเข้าสู่วงการ “ฉันเป็นนักแสดงเพราะฉันรักการแสดงยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด” แครี มัลลิแกน กล่าว

คงด้วยเหตุผลนี้กระมัง คนดูถึงได้เห็นผลงานของเธออย่างต่อเนื่องตลอดปี 2009 (นอกจาก An Education แล้ว เธอยังรับบทเล็กๆ ในหนังอย่าง Brothers และ Public Enemies ด้วย) และกำลังจะได้เห็นหน้าเธอบ่อยขึ้นอีกในอนาคต เริ่มต้นด้วยบทลูกสาว ไมเคิล ดั๊กลาส ใน Wall Street: Money Never Sleeps ของ โอลิเวอร์ สโตน (จนกลายเป็นที่มาของข่าวซุบซิบว่าเธอกำลังอินเลิฟกับ เชีย ลาเบิฟ ซึ่งรับบทเด่นในหนัง) และโครงการหนังต่างๆ อีกสี่เรื่อง ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ สำหรับบท อีไลซา ดูลิตเติล ในรีเมค My Fair Lady ของผู้กำกับ จอห์น แมดเดน (Shakespeare in Love) ซึ่งคงจะทำให้ฉายา ออเดรย์ เฮปเบิร์น คนใหม่ของเธอติดปากยิ่งขึ้นอีก

An Education เปรียบเสมือนปาร์ตี้เปิดตัวของมัลลิแกน (สโตนตัดสินใจเลือกเธอหลังได้ดูหนัง ส่วน วอร์เรน เบ็ตตี้ ก็ชอบหนังมากถึงขนาดขอนัดพบระหว่างเธอพักอยู่ในแอลเอ) เธอรับบทเป็น เจนนี เด็กสาวแสนฉลาดที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนช่วงปี 1961 โดยเป้าหมายสูงสุดของเธอ คือ การได้ไปเรียนต่อที่ออกซ์ฟอร์ดตามความต้องการของคุณพ่อจอมบงการ (อัลเฟร็ด โมลีนา) แม้ลึกๆ ภายในเจนนีจะตระหนักดีว่าชีวิตยังมีอะไรมากกว่าการสอบได้ที่หนึ่ง หรือเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง และนั่นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสาววัยวัย 16 ปีกับ เดวิด (ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด) นักธุรกิจหนุ่มที่อายุมากกว่าเธอเท่าตัว เขาเปิดโลกทัศน์เจนนีด้วยการพาเข้าร้านอาหารสุดหรู แนะนำให้เธอรู้จักงานศิลปะ รวมถึงทุกสิ่งที่เธอโหยหา พลางหลงใหลเสน่ห์และความไร้เดียงสาของเด็กสาวผู้กระหายจะเรียนรู้ชีวิตในทุกแง่มุม

บทหนังดัดแปลงจากบันทึกความทรงจำของ ลินน์ บาร์เบอร์ โดยนักเขียนชื่อดัง นิค ฮอร์นบี และแรกเริ่มเดิมทีวางแผนจะให้ บีแบน คิดรอน (Bridget Jones: The Edge of Reason) เป็นผู้กำกับ มัลลิแกนผ่านการทดสอบหน้ากล้อง แต่เมื่อคิดรอนถอนตัว โครงการจึงถูกส่งต่อไปยังผู้กำกับหญิงชาวเดนมาร์ก โลน เชอร์ฟิก (Italian for Beginners) ซึ่งอยากได้นักแสดงมีชื่อเสียงมารับบทนำ จนกระทั่งเธอได้เปิดดูเทปการทดสอบหน้ากล้อง “ฉันชอบแครีมากที่สุด” เชอร์ฟิกเล่า “เราต้องปรับบทเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะกับเธอ เพราะบุคลิกของแครีค่อนข้างอ่อนหวาน ซึ่งสอดคล้องกับอารมณ์หนัง แรกทีเดียวฉันก็วิตกอยู่เหมือนกัน ด้วยกลัวว่าหนังจะออกมาน่ารักเกินไป แต่สุดท้ายฉันก็ยินดีจะเสี่ยง แทนการพุ่งน้ำหนักไปยังเรื่องราวการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างเจนนี่กับพ่อของเธอ”

การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์อาจเป็นเรื่องคาดไม่ถึงสำหรับอดีตนักเรียนในโรงเรียนคาทอลิกหญิงล้วนอย่างมัลลิแกน แต่ขณะเดียวกันก็อาจเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นับแต่ก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งแสงสีด้วยการร่วมแสดงในละครโรงเรียนเรื่อง Sweet Charity และถึงขนาดเคยเขียนจดหมายไปหา เคนเน็ธ บรานาห์ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับอาชีพนักแสดง มัลลิแกนเล่าว่าจดหมายที่เธอเขียนไปหา จูเลียน เฟลโลว์ส มือเขียนบทเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Gosford Park ส่งผลให้เธอได้บท คิตตี้ เบนเน็ตต์ ในหนังเรื่อง Pride and Prejudice และกลายเป็นเพื่อนสนิทกับ คีรา ไนท์ลีย์ ซึ่งได้เข้าชิงออสการ์จากหนังเรื่องนี้ (“เธอสนุกและนิสัยดีมาก” มัลลิแกนกล่าว) ล่าสุดทั้งสองกำลังจะได้ร่วมงานกันอีกครั้งใน Never Let Me Go ภาพยนตร์ไซไฟ-ดรามาที่ดัดแปลงจากนิยายของ คาซุโอะ อิชิกุโร (The Remains of the Day) มีกำหนดเข้าฉายในปีนี้

สำหรับนักดูหนังบางคน รักโรแมนติกระหว่างผู้ชายวัยสามสิบกว่าๆ กับเด็กนักเรียนวัยทีนอาจสร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ แต่มัลลิแกนยืนกรานว่าเจนนีไม่ใช่เหยื่อ หรือถูกล่อหลอกแต่อย่างใด เธอตระหนักดีว่าตัวเองกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ “ฉันคิดว่าสาเหตุที่ความสัมพันธ์ในหนังสามารถสร้างอารมณ์ร่วมได้อย่างราบรื่น เพราะเจนนีมีส่วนผลักดันมันมากพอๆ กับเดวิด หรือบางทีอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ”

แกบาเร ซิเดเบ (Precious: Based on the novel ‘Push’ by Sapphire)

ใครก็ตามที่ได้พบตัวจริงของ แกบาเร ซิเดเบ จะรู้สึกตกตะลึงว่าเธอช่างแตกต่างกับตัวละครที่เธอแสดงในหนังราวหน้ามือเป็นหลังมือ และหลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Precious: Based on the novel by Sapphire จนจบ คุณอาจประหลาดใจเช่นกันเมื่อพบว่านี่คือบทบาทการแสดงเรื่องแรกของเธอ!

ฉากหลัง คือ ย่านฮาร์เล็ม ปี 1987 แคลริซ “พรีเชียส” โจนส์ (ซิเดเบ) เป็นเด็กหญิงผิวดำวัย 16 ปีที่เพิ่งตั้งท้องลูกคนที่สองจากน้ำมือพ่อแท้ๆ ของตัวเอง เธออาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์คับแคบกับ แมรี่ (โมนีก) คุณแม่ใจยักษ์ที่ใช้งานเธอเยี่ยงทาส แถมยังชอบลงไม้ลงมือ และด่าทอลูกสาวว่าไร้ค่า โง่เง่า หรือบางครั้งกระทั่งเรียกเธอมาช่วยสำเร็จความใคร่!!! ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมือนตกนรกทั้งเป็น การเรียนของพรีเชียสจึงตกต่ำเรื่อยมาจนถูกไล่ออกจากโรงเรียนในที่สุด แต่ความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าทำให้พรีเชียสไม่เคยยอมแพ้ต่อชะตากรรม

การรับบทนี้ทำให้ซิเดเบต้องเผชิญฝันร้ายนานัปการ ตั้งแต่โดนพ่อข่มขืน โดนแม่เอากระทะทุบหัว ไปจนถึงโดนกลุ่มเด็กชายล้อเลียนและผลักจนหน้ากระแทกพื้น แต่พรีเชียสปราศจากหนทางระบาย เพราะเธออ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ และแทบจะไม่สามารถพูดจาให้เป็นประโยคที่ถูกต้อง “การรับบทพรีเชียสทำให้ซิเดเบต้องสลัดทิ้งความมั่นใจในตัวเองทั้งหมดทิ้ง เรียนรู้ที่จะพูดให้ช้าลง บางครั้งติดๆ ขัดๆ และด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำเหมือนพึมพำกับตัวเอง คงมีเพียงในฉากแฟนตาซีเท่านั้น (เมื่อพรีเชียสถูกทารุณกรรมจากคนรอบข้าง เธอจะนึกภาพว่าตัวเองเป็นคนดังกำลังเดินอยู่บนแคทวอล์คหรือพรมแดง) ที่คนดูจะได้เห็นตัวจริงของซิเดเบ ทั้งร่าเริงและมุ่งมั่น” ผู้กำกับ ลี เดเนียลส์ กล่าว

“สื่อมวลชนพยายามสร้างภาพว่าฉันเป็นพวกเด็กหญิงที่น่าสงสาร หน้าตาอัปลักษณ์ และไม่ค่อยป็อปปูล่าในโรงเรียนหรือชีวิตจริง แต่พอได้มาเล่นหนังเรื่องนี้ฉันเลยกลายเป็นสาวมั่นขึ้นมาซะงั้น” ซิเดเบเล่า “ความจริงคือฉันเป็นสาวมั่นมาตลอด จนกระทั่งเมื่อต้องมารับบทนำในหนังเรื่องนี้นั่นแหละ” อย่างไรก็ตามเธอรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละคร มีประสบการณ์ร่วมบางอย่างเนื่องจากเธอเองก็ถือกำเนิดในบรู้กลินและเติบโตมาในย่านฮาร์เล็ม “พรีเชียสแตกต่างจากตัวละครในหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ เธอซื่อตรงและสมจริงจนฉันรู้สึกเหมือนรู้จักเธอ นอกจากนี้ ฉันยังรู้สึกผิดด้วยเพราะฉันเองก็เคยทำแบบเดียวกับตัวละครอื่นๆ รอบข้างพรีเชียสในหนังเรื่องนี้ ฉันเคยเพิกเฉยทั้งที่ควรจะช่วยเหลือ พรีเชียสถูกทอดทิ้งโดยระบบ พ่อแม่ เพื่อน และทุกคนที่สามารถจะช่วยเหลือเธอได้”

ซิเดเบได้ใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นเตร็ดเตร่กับเพื่อนสนิทอยู่แถวสตูดิโอช่องเอ็มทีวี เพื่อหาโอกาสเจอวง ’N Sync จนกระทั่งในปี 2007 เธอมีโอกาสทดสอบหน้ากล้องเพื่อรับบทนำใน Precious หลังจากนั่งชมเทปทดสอบหน้ากล้องของเด็กหญิงทั่วประเทศ (เด็กสาวหนัก 350 ปอนด์ ไม่ได้หาได้ง่ายๆ ตามท้องถนนทั่วไป) เดเนียลส์ประทับใจซิเดเบมากที่สุด “เธอไม่รู้สึกขัดเขินใดๆ เลยกับรูปร่างของตัวเอง มันน่าประหลาดใจมาก ถ้าไม่ใช่เพราะเธอไม่ยอมรับความจริง ก็คงเพราะเธอยกระดับตัวเองขึ้นไปอีกขั้น” เขาเล่า “ผมมั่นใจว่าเธอจะต้องมีแฟนหนุ่มอย่างน้อยสี่หรือห้าคน”

ซิเดเบถูกกดดันจากคนรอบข้างเรื่องน้ำหนักมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว ตอนเธออายุได้ 11 ขวบ ป้าของเธอเคยเสนอทริปล่องเรือสำราญ หากเธอสามารถลดน้ำหนักลงได้ 50 ปอนด์ แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง ซิเดเบกลับไม่ถือสาเรื่องนี้อีกต่อไปโดยบอกว่า “ฉันเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง เพราะฉันต้องนอนกับตัวเองทุกคืนและตื่นมาพบตัวเองทุกเช้า ถ้าฉันไม่รักตัวเอง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะใช้ชีวิตต่อไป ฉันชอบตัวเองแบบที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ฉันยอมรับมันได้ และถ้ารูปร่างของฉันจะเปลี่ยนไป ฉันก็ยอมรับมันได้อีกเช่นกัน”

เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia)

ครั้งหนึ่งซูเปอร์สตาร์ แฮร์ริสัน ฟอร์ด เคยเป็นเหมือนตัวแทนของช่วงซัมเมอร์ด้วยการส่งหนังแอ็กชั่นมาโกยเงินอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา นักแสดงเจ้าของสองรางวัลออสการ์จาก Sophie’s Choice และ Kramer vs. Kramer อย่าง เมอรีล สตรีพ กลับว่ายทวนกระแส “ยิ่งแก่ ยิ่งหางานยาก” และ “หนังผู้หญิงจะมีใครอยากไปดู” ด้วยการปล่อยหนังช่วงซัมเมอร์อย่างต่อเนื่อง โดยทั้งหมดล้วนพุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มคนดูผู้หญิงเป็นหลัก เพื่อสวนกระแสหนังแนวระเบิดภูเขาเผากระท่อม ซึ่งมักจะอัดแน่นเป็นพิเศษตลอดช่วงฤดูร้อน ผลลัพธ์ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น คือ หนังทุกเรื่องดังกล่าวล้วนทำเงินน่าพอใจไปจนถึงเหนือความคาดหมาย!

แฮตทริกของสตรีพเริ่มต้นด้วย The Devil Wears Prada เมื่อปี 2006 ตามมาด้วย Mamma Mia! ในปี 2008 และปิดท้ายด้วย Julie & Julia ในปี 2009 โดยระหว่างทางสามารถทำเงินรวมกันทั่วโลกมากกว่า 1000 ล้านเหรียญ แถมสองในนั้นยังผลักดันให้สตรีพได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงอีกด้วย ถือว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับนักแสดงหญิงวัย 60 ปี

ใน Julie & Julia สตรีพรับบทเป็น จูเลีย ไชด์ เจ้าของตำราอาหารสุดคลาสสิก Mastering the Art of French Cooking ซึ่งภายในประกอบด้วยวิธีปรุงอาหารฝรั่งเศส 524 รายการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายอคติเกี่ยวกับอาหารฝรั่งเศสว่ายุ่งยากและไม่สามารถทำกินเองที่บ้านได้ หนังสือเล่มดังกล่าวสร้างชื่อเสียงโด่งดังให้ไชด์ ซึ่งทีแรกสมัครเข้าเรียนทำอาหารเพียงเพื่อฆ่าเวลาว่าง ก่อนจะพบว่าตัวเองก็มีพรสวรรค์ไม่แพ้ผู้ชายคนใดในชั้นเรียน และหลายสิบปีต่อมายังเป็นแรงบันดาลใจให้ จูลี่ พาวเวลล์ (เอมี่ อดัมส์) หญิงสาวที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน แต่กลับต้องจมปลักอยู่กับงานออฟฟิศอันน่าเหนื่อยหน่าย นำมาเป็นเนื้อหาเพื่อเขียนลงบล็อกโดยเธอวางแผนจะปรุงอาหารทุกเมนูในตำราให้ครบภายในเวลาหนึ่งปี

ผู้กำกับ นอร่า เอฟรอน ซึ่งเคยเขียนบทหนังที่สตรีพเล่นมาแล้วสองเรื่อง คือ Silkwood และ Heartburn เล่าให้ฟังว่าเจ้าของสถิติเข้าชิงออสการ์สูงสุด 16 ครั้ง ได้ทดสอบหน้ากล้องแบบไม่เป็นทางการกับเธอเมื่อสองสามปีก่อน ตอนทั้งสองพบกันโดยบังเอิญที่โรงละครในกรุงนิวยอร์ก “ฉันยังไม่ได้เริ่มเขียนบทเลยด้วยซ้ำ” ผู้กำกับหญิงเล่า “เธอถามฉันว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ฉันตอบไปว่าบทหนังเกี่ยวกับ จูเลีย ไชด์ ทันใดนั้นเธอก็เริ่มต้นเลียนแบบท่าทางและน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของไชด์ตลอด 10 วินาทีที่เราเดินออกจากโรงละคร ฉันคิดว่าเธอตบท้ายด้วย ‘บอง อะเพทีท’ (คำพูดที่กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของไชด์ก่อนจบรายการทำอาหารซึ่งออกอากาศทางช่องพีบีเอส) ก่อนเราจะแยกทางกันไป ตอนนั้นฉันยังคิดในใจเลยว่า โอเค เราไม่ต้องทดสอบหน้ากล้องใครอีกแล้ว”

พอ The Devil Wears Prada เข้าฉาย เอฟรอนยิ่งมั่นใจกับตัวเลือกของเธอ “ฉันรู้ว่าถ้าเธอยอมมาเล่นให้ ไม่เพียงเธอจะเหมาะกับบทมากที่สุดเท่านั้น แต่เธอยังจะมีส่วนโน้มน้าวให้สตูดิโอยอมลงทุนสร้างหนังเรื่องนี้อีกด้วย เธอกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ขณะอายุได้ 57 ปี”

การแปลงโฉมนักแสดงสาวใหญ่รูปร่างกะทัดรัดอย่างสตรีพให้เป็นสาวร่างใหญ่อย่างไชด์ต้องอาศัยเครื่องช่วยมากกว่าแค่วิกผมดำ สำเนียงแคลิฟอร์เนีย ตลอดจนการเลียนแบบท่าทาง หรือวิธีพูด (ซึ่งแน่นอนและเช่นเคย สตรีพทำได้เนียนอย่างไร้ที่ติ) “เราใช้เทคนิคหลากหลาย และเครื่องแต่งกายแสนวิเศษของ แอนน์ ร็อธ ก็ช่วยได้มาก” เอฟรอนกล่าว อย่างไรก็ตาม จุดเด่นในงานแสดงของสตรีพหาได้อยู่ตรงภาพลักษณ์ผิวเผินภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะ เพราะพรสวรรค์แท้จริงจะฉายแววเมื่อเธอนำคนดูไปสัมผัสอีกด้านของตัวละครที่เราอาจคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของชีวิตครอบครัวใน The Devil Wears Prada หรือความผิดหวังที่ไม่อาจมีลูกได้ใน Julie & Julia ฉากดังกล่าวอาจผ่านมาเพียงชั่วแวบ แต่ความทรงพลังของมันกลับทำให้ตัวละครอยู่กับคนดูไปตลอดทั้งเรื่อง

ไม่มีความคิดเห็น: