วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 16, 2553

Oscar Nominees in a Supporting Role


แม็ท เดมอน (Invictus)

เมื่อแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งรักบี้เวิลด์คัพ ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศหลังยุคแบ่งแยกสีผิวมองเห็นโอกาสที่จะสร้างความเป็นหนึ่งให้คนในชาติจากการคว้าถ้วยชนะเลิศมาครอง และคนที่จะช่วยทำฝันนั้นในกลายเป็นจริง คือ ฟรังซัวส์ พีนาร์ กัปตันทีมชาติรักบี้ของประเทศแอฟริกาใต้ รับบทโดย แม็ท เดมอน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายจาก Good Will Hunting และคว้ารางวัลมาครองในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิม

ซูเปอร์สตาร์จากหนังไตรภาค เจสัน บอร์น ที่ทำเงินทั่วโลกรวมกันมากกว่า 900 ล้านเหรียญ ยอมรับว่าเขาไม่ค่อยรู้จักกฎกติกาของกีฬารักบี้สักเท่าไหร่ “เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยสองสามคนของผมเล่นรักบี้ ผมเคยไปดูการแข่งสองสามครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะมีกฎหลักๆ แค่ ‘จัดการฆ่าไอ้คนถือบอลซะ’ นั่นเป็นความทรงจำเท่าที่ผมพอจะนึกออก มันเป็นกีฬาที่โหดเหี้ยม... มันเป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่”

เนลสัน แมนเดลา (มอร์แกน ฟรีแมน) เรียกตัวฟรังซัวส์เข้าพบ พร้อมกับมอบภารกิจให้เขาพาทีมคว้าถ้วยเวิลด์คัพมาครอง ซึ่งถือเป็นภารกิจสุดหิน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าคนผิวดำส่วนใหญ่ในแอฟริกาใต้เกลียดทีมชาติรักบี้ (และมักจะเชียร์ทีมตรงข้ามให้ชนะ) เพราะมันเป็นตัวแทนของยุคสมัยแห่งการแบ่งแยก “นั่นแหละ อัจฉริยภาพของแมนเดลลา” เดมอนกล่าว “และถือเป็นปริศนาประการสำคัญเกี่ยวกับแมนเดลลา ชายคนนี้ถูกจองจำเป็นเวลา 27 ปี แต่ทันทีที่เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี สิ่งแรกที่เขาทำ คือ ให้อภัยกลุ่มคนที่สั่งจองจำเขา”

เพื่อรับบทนี้เดมอนจะต้องแปลงโฉมตัวเองด้วยการเพิ่มน้ำหนักและกล้ามเนื้อให้ดูน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งฝึกพูดสำเนียงแอฟริกาใต้ ซึ่งตามความเห็นของเดมอน “เรียกร้องให้ต้องเปลี่ยนทิศทางการวางตำแหน่งลิ้น เหมือนการเล่นยิมนาสติกภายในปาก” โดยเขามีเวลาฝึกฝนแค่หกเดือน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าไร้ที่ติ

2009 ถือเป็นปีที่ประสบความสำเร็จของเดมอน โดยนอกจาก Invictus แล้ว เขายังกวาดคำชมมาไม่น้อยจากการแสดงนำในหนังตลกเรื่อง The Informant! ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ส่วนปีหน้าก็ทำท่าว่าจะไปได้สวยเช่นกัน เมื่อเขาเริ่มต้นเปิดตัวด้วยหนังแอ็กชั่นเรื่อง The Green Zone ซึ่งเป็นการมาร่วมงานกันอีกครั้งกับ พอล กรีนกราส

วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน (The Messenger)

หลายฉากในหนังเรื่อง The Messenger ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของนายทหารสองคนที่ต้องรับหน้าที่นำข่าวร้ายไปแจ้งกับครอบครัวของนายทหารที่เสียชีวิต คนดูจะได้เห็น โทนี่ สโตน (วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน) หนึ่งในสองนายทหาร นิ่งงันท่ามกลางความเศร้าโศก โกรธแค้นรอบข้าง แต่เรากลับสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดภายในของตัวละคร ซึ่งไม่เคยผ่านสนามรบและกำลังพยายามจะเลิกเหล้า หลากหลายอารมณ์ที่พร้อมจะระเบิดออกมากลับถูกเก็บกดไว้ภายใต้ภาพลักษณ์อันแข็งแกร่ง เย็นชา และดูเหมือนจะคุมสถานการณ์อยู่

กระนั้นไฮไลท์ที่แท้จริงในผลงานการแสดงระดับทอปฟอร์มของฮาร์เรลสัน คือ ฉากในช่วงท้ายเมื่อสโตนอยู่ตามลำพังและปราศจากบทพูด มันเป็นช่วงเวลาเดียวที่เขายอมลดการ์ดลง แล้วระเบิดความอัดอั้นทั้งหลายออกมาเป็นน้ำตาและเสียงสะอื้น น้ำตาสำหรับนายทหารที่ต้องจากไป น้ำตาสำหรับความเจ็บปวดของวิล (เบน ฟอสเตอร์) คู่หูคนใหม่ของเขา รวมถึงน้ำตาสำหรับตัวเขาเอง... นายทหารที่ไม่เคยผ่านบททดสอบความเป็นลูกผู้ชาย

ฮาร์เรลสันเดินทางออกจากบ้านเกิดในรัฐโอไฮโอตั้งแต่อายุ 12 ปีเพื่อมาเรียนการแสดง ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเขียนบทละครและมักจะแบ่งเวลามาแสดงละครเวทีเป็นครั้งคราวช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเอาจริงกับอาชีพในวงการบันเทิงขนาดไหน ชื่อเสียงของเขาเขาดูจะพุ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อเขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จาก The People vs. Larry Flint นำแสดงในหนังสุดอื้อฉาวของ โอลิเวอร์ สโตน เรื่อง Natural Born Killers ประกบ เดมี มัวร์ ในหนังฮิต Indecent Proposal และเข้าคู่กับ เวสลีย์ สไนป์ ได้อย่างลงตัวใน White Man Can’t Jump

แต่แล้วเขากลับเริ่มห่างหายจากจอภาพยนตร์ไปพักหนึ่ง โดยบอกว่าต้องการเกษียณตัวเองชั่วคราวเพราะรู้สึกไม่สนุกกับงานแสดงอีกต่อไป ก่อนจะกลับมาด้วยการรับบทสมทบมากขึ้น เช่น ในหนังดังอย่าง 2012 และ No Country for Old Men ก่อนจะขุดเจอขุมทองในรูปของ The Messenger “มันเป็นบทหนังที่งดงามที่สุดบทหนึ่งเท่าที่ผมเคยอ่านมา เต็มไปด้วยพลัง และเปี่ยมอารมณ์ขัน และเมื่อผมได้พบกับ โอเรน มูฟแมน ผู้กำกับ ผมก็ประทับใจในความเฉียบคมของเขา เขาเตรียมพร้อมและเข้าใจทุกอย่างถี่ถ้วนจนผมคิดว่าเราน่าจะสร้างหนังดีๆ ได้สักเรื่อง แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะทำมันออกมาได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้” นักแสดงวัย 38 ปีกล่าว

คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (The Last Station)

ฉากตายเป็นสิ่งหนึ่งที่ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ โปรดปราน และเขาก็มีโอกาสได้บอกลาโลกอย่างสวยงามในผลงานชิ้นล่าสุด The Last Station ซึ่งเขารับบทเป็น ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซีย ฉากดังกล่าวสร้างอารมณ์หลอกหลอนได้สมจริงเนื่องจากความใส่ใจในรายละเอียดของพลัมเมอร์ ตั้งแต่ลมหายใจของคนใกล้ตาย ไปจนถึงภาวะฟื้นและหมดสติเป็นพักๆ ตลอดจนรอยยิ้มจางๆ ที่มุมปากขณะวิญญาณของเขาหลุดออกจากร่าง

“พวกมันแตกต่างกันไป” เขากล่าวถึงฉากการตาย “ผมเคยตายโดยที่ไม่หลับตาซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจกว่า เช่น ในละครเรื่อง Cyrano de Bergerac มันวิเศษมากเพราะแสงไฟของโรงละครจะส่องตรงมายังดวงตาคุณ ทำให้ทุกอย่างดูน่ากลัวชั่วแวบ แต่ซีราโนจากโลกไปอย่างมีความสุขเพราะเขาได้ค้นพบรักแท้ ฉะนั้นในแววตาเขาจึงทอประกายอิ่มเอม”

น่าประหลาดที่ความตายดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลจากเส้นทางนักแสดงของพลัมเมอร์เสียเหลือเกิน แม้เขาจะเวียนว่ายอยู่ในวงการมานานกว่า 50 ปี ผ่านการรับบทดังๆ มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กัปตัน ฟอน แทรป ในหนังเพลงสุดฮิต The Sound of Music หรือ ไมค์ วอลเลซ ในผลงานมาสเตอร์พีซของ ไมเคิล มาน The Insider โดยปีนี้นอกจากบทตอลสตอยซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกแล้ว พลัมเมอร์ยังร่วมแสดงในหนังอีกสามเรื่องและพากย์เสียงหนังการ์ตูนอีกสองเรื่อง ขณะหนังสืออัตชีวประวัติ In Spite of Myself เพิ่งถูกตีพิมพ์ไปไม่นาน จู่ๆ เจ้าของสองรางวัลโทนี่จาก Cyrano และ Barrymore ดูจะกลายเป็นที่ต้องการตัวของทุกคน

แรกทีเดียวพลัมเมอร์ไม่แน่ใจว่าควรจะแสดงเป็น ลีโอ ตอลสตอย ดีไหม เนื่องจากเขาไม่มั่นใจว่าจะสามารถสรุปความยิ่งใหญ่ของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้ในหนังเรื่องเดียวได้ “แต่ผู้กำกับ ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน ฉลาดเลือก โดยพุ่งประเด็นความสนใจไปยังเรื่องราวความรักในช่วงบั้นปลายชีวิตของตอลสตอย พร้อมกับสำรวจบทบาทของภรรยาเขา ซอฟยา ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่เฉียบคม เลือกโฟกัสไปยังเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเขา แล้วเจาะรายละเอียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับหนังหนึ่งเรื่อง ดังนั้นผมจึงตอบตกลง” นักแสดงเชื้อสายแคนาดากล่าว ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าอีกสาเหตุที่เขาตกลงใจรับเล่นก็เพราะมันเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ “ผมชื่นชอบความท้าทายของตัวละครจริง ผมสนุกกับการค้นคว้าหาข้อมูล”

ฉากทีเด็ดของหนังคงเป็นตอนที่ตอลสตอยปลุกปล้ำกับภรรยาบนเตียง ท่ามกลางเสียงกรีดร้องและเสียงหัวเราะลั่น “ฮอฟฟ์แมนอาจเป็นคนเขียนบท แต่เฮเลนกับผมเป็นคนเพิ่มความสนุกสนานให้กับฉากนั้น” พลัมเมอร์กล่าวยิ้มๆ (อายุจริงของเขาและ เฮเลน เมียร์เรน ซึ่งรับบทเป็นซอฟยาค่อนข้างใกล้เคียงตัวละครจริง “มันยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดโดยเฉพาะสำหรับตอลสตอย เพราะเขาเป็นคนที่มีอารมณ์ทางเพศสูง แม้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับซอฟยาจะเริ่มเลวร้ายลงในช่วงท้าย แต่พอเขาพาเธอไปยังเตียงนอน คนดูยังคงสัมผัสได้ถึงความรักที่ซ่อนอยู่ภายใน แม้คนทั้งสองจะไม่ยอมรับก็ตาม”

หนังดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ช่วงปี 1910 เมื่อตอลสตอยกลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางสังคม เขาคิดจะลบชื่อภรรยาและครอบครัวออกจากพินัยกรรม เพื่อมอบนิยายทั้งหมดให้เป็นสมบัติของชาวรัสเซีย แต่นั่นเป็นสิ่งที่ซอฟยายอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด “นี่เป็นหนังรักไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์” พลัมเมอร์ย้ำ “ถ้าเราเลือกจะทำอย่างหลัง มันคงต้องออกฉายทางทีวีและใช้เวลาออกอากาศนาน 26 สัปดาห์”

สแตนลีย์ ทุคชี (The Lovely Bones)

อดีตภรรยาที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งของ สแตนลีย์ ทุคชี่ เคยแนะนำไม่ให้เขารับบทฆาตกรโรคจิต จอร์จ ฮาร์วีย์ ในหนังซึ่งดัดแปลงจากนิยายขายดีของ อลิซ ซีโบลด์ เรื่อง The Lovely Bones เนื่องจากเธอได้อ่านนิยายแล้วและเห็นว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่น ซึ่งถูกฆ่าข่มขืนโดยเพื่อนบ้านและเฝ้ามองผลกระทบอันเกิดแก่ครอบครัวเธอลงมาจากสวรรค์ มันชวนให้รู้สึกหดหู่และทรมานจิตใจมากเกินไป แต่ทุคชี่ไม่ฟังเสียงทัดทานของเธอ แล้วตอบตกลงรับเล่นร่วมกับ มาร์ค วอห์ลเบิร์ก, ซารีส โรแนน และ ซูซาน ซาแรนดอน

หลังจากนั้นทุคชี่จึงลองหยิบหนังสือมาอ่าน แต่ไม่สามารถอ่านจนจบได้เพราะมัน “ปวดใจเกินไป” อย่างไรก็ตามในหนังผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน เลือกจะไม่แสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์อันเลวร้ายดังกล่าวแบบจะๆ โดยคนดูจะได้เห็นแค่วิญญาณของ ซูซี่ (โรแนน) วิ่งหนีออกจากไร่ข้าวโพดซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ

“ตอนแรกสแตนลีย์ลังเลที่จะเล่นบทนี้” แจ๊คสันเล่า “เหตุผลชัดเจน คือ เขาคงไม่อยากเดินไปตรงจุดนั้น เพราะในฐานะนักแสดง ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ประสบการณ์น่าพิสมัยในการใช้เวลานานสามหรือสี่เดือนดิ่งเข้าไปในหัวของตัวละครอย่าง จอร์จ ฮาร์วีย์” ข้อมูลจากทุคชี่ช่วยยืนยันสันนิษฐานดังกล่าว “ผมไม่ชอบดูหนังหรืออ่านหนังสือที่เด็กๆ ในเรื่องถูกทำอันตราย และผมก็ไม่ใช่คนที่ชอบดูสารคดีเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องด้วย” นักแสดงหนุ่มวัย 39 ปีสารภาพ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนดูตกตะลึงกับการแสดงของทุคชี่ใน The Lovely Bones ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างดรามา (ชีวิตครอบครัวหลังความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่) เขย่าขวัญ (พ่อพยายามจะตามหาฆาตกรมาลงโทษ) และแฟนตาซี (วิญญาณของลูกสาวบนสวรรค์เฝ้ามองชีวิตเบื้องล่างโดยไม่อาจยื่นมือเข้ามาช่วยได้) อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยเขาในบทตลก หรือผู้ชายแสนดีดังเช่นการประกบ เมอรีล สตรีพ ใน The Devil Wears Prada และ Julie & Julia แต่ด้วยความช่วยเหลือของวิกผม หนวด และฟันปลอม เขาแทบจะกลายเป็นคนอีกคนหนึ่ง “เราพยายามทำให้ตัวละครดูธรรมดาๆ ที่สุด จนแทบไม่มีใครสังเกตเห็นเขา” แจ๊คสันกล่าว “เพราะทุกอย่างที่เราทราบเกี่ยวกับชายคนนี้คือเขากลมกลืนไปกับชุมชนละแวกนั้น และสำหรับสแตนลีย์ ผมคิดว่ามันช่วยได้มากเหมือนกัน เพราะเวลาที่เขาส่องกระจก เขาจะเห็น จอร์จ ฮาร์วีย์ ไม่ใช่สแตนลีย์” แต่สิ่งที่ทำให้จอร์จดูไม่ใช่เพื่อนบ้านธรรมดา (นอกเหนือจากงานอดิเรกที่ชวนหลอนอย่างการสร้างบ้านตุ๊กตา) คือ ทักษะการแสดงอันลุ่มลึกของทุคชี่ ซึ่งอาจจะทำให้พ่อแม่หลายคนกลับไปนอนฝันร้ายได้หลายคืน

คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วในกรุงเบอร์ลิน มีนักแสดงชายวัยกลางคนเชื้อสายออสเตรียผู้ใช้ชีวิตตลอด 30 ปีเล่นละครทีวีของเยอรมันที่ไม่น่าจดจำไปวันๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว มันเป็นงานที่มั่นคง แต่หาได้นำความปลาบปลื้มปีติมาสู่เขา ทั้งนี้ เนื่องจากลึกๆ ภายใน เขาตระหนักดีว่าตนมีพรสวรรค์ ทักษะ และความสามารถที่จะก้าวไกลไปกว่านั้น จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ผ่านการแนะนำของหัวหน้าแผนกคัดเลือกนักแสดงชาวเยอรมัน เขาก็ได้พบผู้กำกับอเมริกันนาม เควนติน ตารันติโน ซึ่งกำลังมองหาใครสักคนที่พูดภาษาอังกฤษ อิตาเลียน ฝรั่งเศส และเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อมาสวมบทนาซีจอมโหดในหนังใหม่เรื่อง Inglourious Basterds แต่ยังไม่เจอคนที่ถูกใจสักที จนเขาเริ่มคิดว่าบางทีบท ฮันส์ ลันดา อาจไม่สามารถถ่ายทอดเป็นภาพที่สมจริงและทรงพลังเหมือนในจินตนาการของเขาได้

“ผมทดสอบหน้ากล้องนักแสดงไปมากมายหลายคน แต่คริสตอฟเป็นคนเดียวที่ถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครออกมาตรงตามที่ผมวาดฝันไว้ คงต้องยกความดีความชอบให้ฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ผมไม่รู้จักเขา ผมได้ยินว่าเขาเคยเล่นมินิซีรีย์มาบ้าง แต่ทันทีที่เขาเริ่มอ่านบท ผมถึงกับหยุดหายใจ” ตารันติโนกล่าว

ก่อนหน้านี้ตารันติโนขึ้นชื่อเรื่องการปลุกชีวิตให้อดีตดาราดัง เช่น จอห์น ทราโวลต้า (Pulp Fiction) และ แพม เกียร์ (Jackie Brown) แต่กรณี คริสตอฟ วอลซ์ ต้องถือเป็นการค้นพบเพชรในตมขนานแท้ และจากคำบอกเล่าของตารันติโน นอกจาก อูมา เธอร์แมน (Kill Bill: Vol. 1 & 2) แล้ว เขาไม่เคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักแสดงคนใดขนาดนี้มาก่อน เนื่องจากวอลซ์ไม่เป็นที่รู้จักของนักแสดงคนอื่นๆ ในเรื่อง ตารันติโนจึงตัดสินใจจะใช้เขาเป็นเซอร์ไพรซ์ทีเด็ด โดยนัดเขามาซักซ้อมอ่านบทเป็นการส่วนตัวและแนะนำให้เขา “เบามือ” ระหว่างการซ้อมบทแบบกลุ่ม กลยุทธ์ดังกล่าวได้ผลน่าพอใจ

“ฉันไม่เคยได้ยินชื่อคริสตอฟมาก่อน” ไดแอน ครูเกอร์ ผู้รับบทนักแสดงสาวชาวเยอรมัน กล่าว “แต่พอเราเข้าฉากด้วยกัน เขากลับยอดเยี่ยมอย่างเหลือเชื่อ ทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมด เขาทำเอาพวกเราไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว”

อัจฉริยภาพทางการแสดงของวอลซ์ปรากฏชัดตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เมื่อเขาข่มขู่ชาวนา (รวมไปถึงคนดู) จนขวัญกระเจิงและยอมปริปากบอกที่ซ่อนของเหล่าชาวยิว โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นเสียงสักคำ หรือใช้กำลังบังคับ แถมหลายครั้งเขากระทั่งโปรยยิ้ม รวมถึงรักษามารยาทอันดีอย่างเหลือเชื่ออีกด้วย แต่เพียงแค่จ้องมองแววตา คุณจะพลันตระหนักในทันทีว่าฮันส์พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และเมื่อหนังดำเนินเรื่องต่อไป คุณก็จะค้นพบอีกหลายแง่มุมของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความเฉลียวฉลาด อารมณ์ขัน ตลอดจนความเหี้ยมเกรียมจนชวนขนหัวลุก

ก่อนหน้านี้นักดูหนังนอกประเทศเยอรมันอาจไม่คุ้นหน้าวอลซ์ แต่ทันทีที่ Inglourious Basterds เปิดตัว ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์ ตามด้วยการคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครอง ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี นักแสดงวัย 52 ปีมีเอเยนต์ที่อเมริกา ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ และกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเลือกรับบทไหนดีในบรรดาข้อเสนอจากสามแหล่ง “ผมไม่เกี่ยงเรื่องสถานที่ถ่ายทำ แต่ใช่ว่าผมจะตอบรับทุกข้อเสนอ นี่คือข้อดีของชื่อเสียง คุณมีโอกาสเลือกมากขึ้น” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตส่วนตัวของคริสตอฟมากนัก เขาลูกสามคนที่โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว และปัจจุบันกำลังเลี้ยงดูบุตรสาววัย 5 ขวบกับภรรยา จูดิธ โฮลสเตอ ซึ่งทำงานเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกาย “หลายคนคิดว่าป่านนี้ผมคงเดินเท้าไม่ติดดิน เงินทองไหลมาเทมา นั่นมันไร้สาระสิ้นดี ผมหงุดหงิดเสมอเวลาเห็นคนหลงเชื่อแฟนตาซีตามหน้านิตยสารทั้งหลาย” วอลซ์กล่าว “ผมยังไปเดินพิพิธภัณฑ์และเข้าโรงหนังตามปกติ ผมยังเล่นกับลูกๆ สู้รบตบมือกับครูโรงเรียนอนุบาล และพยายามตามช่างมาซ่อมระบบอินเตอร์เน็ต เพราะมันไม่เคยใช้งานได้ซะที”


เวรา ฟาร์มิกา (Up in the Air)

คุณอาจเคยเห็น เวรา ฟาร์มิกา มาก่อน แต่คงน้อยครั้งที่คุณจะได้เห็นเธอยิ้ม ทั้งนี้เพราะนักแสดงสาวสวยดวงตาสีฟ้ามักเลือกเล่นแต่บทดรามาหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นบทอดีตขี้ยาใน Down to the Bone ซึ่งทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์แอลเอมาครอง หรือบทนักจิตวิทยาใน The Departed บทคุณแม่ของเด็กนรกใน The Orphan บทโสเภณีใน Breaking and Entering และบทภรรยานาซีใน The Boy in the Striped Pajamas

แต่ในผลงานเรื่องล่าสุด Up in the Air ที่ผลักดันให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก ฟาร์มิการับบทเป็นนักธุรกิจสาวที่เข้ามาทำให้ชีวิตหนุ่มโสดของ จอร์จ คลูนีย์ ต้องสั่นคลอน เธอสวยสง่า มั่นใจ เปี่ยมเสน่ห์เย้ายวน และที่สำคัญ บทดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ฟาร์มิกาโปรยยิ้มอยู่หลายครั้ง “ฉันแทบช็อกตอนได้อ่านบทหนังเรื่องนี้” เธอเล่า “ดูเหมือนว่าสำหรับฉันบทที่ไม่ต้องตะโกน กรีดร้อง อาเจียน หรือร้องไห้ช่างหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร”

โชคดีแบบสองเด้ง คือ ฟาร์มิกาอยากร่วมงานกับ เจสัน ไรท์แมน มาหลายปีแล้ว นับแต่เธอไปทดสอบหน้ากล้องหนังเรื่องแรกของเขา Thank You for Smoking แต่ไม่ผ่าน สี่ปีต่อมา เธอจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เอ่ยบทพูดอันเฉียบคมของเขา “เขาเป็นมือเขียนบทชั้นยอด” เธอกล่าว “คุณแทบจะไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากพูดบทออกมา มันมีจังหวะจะโคน และพอคุณคุ้นเคย มันก็จะให้ความรู้สึกเหมือนการอ่านบทละครเชคสเปียร์ เต็มไปด้วยการเล่นคำ ทำให้บทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละครดูสนุก เพลิดเพลิน”

การเตรียมตัวเพื่อรับบทของเธอค่อนข้างเรียบง่าย “ชีวิตฉันเต็มไปด้วยเรื่องราวความรัก ส่วนอาชีพฉันก็ต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ ฉะนั้น ฉันจึงเข้าใจตัวละครอย่างอเล็กซ์ สิ่งที่ยากกว่าคือการปรับตัวตามสถานะคุณแม่คนใหม่ (ฟาร์มิก้าคลอดลูกคนแรกสองเดือนก่อนเปิดกล้อง.... สองสัปดาห์ก่อนลองสวมเครื่องแต่งกาย) อเล็กซ์เป็นสาวมั่น เซ็กซี่ ส่วนฉันได้นอนไม่ค่อยเต็มอิ่มเช่นเดียวกับคุณแม่เด็กอ่อนทั้งหลาย ฉันต้องตื่นมากลางดึกห้าถึงหกครั้งเพื่อให้นมลูก จากนั้นก็แต่งตัว และล้างหน้าตาให้สดชื่นเพื่อเตรียมเข้าฉาก มันไม่ง่ายเลย”

เมื่อเทียบกับหนังสือต้นฉบับของ วอลเตอร์ เคิร์น บทอเล็กซ์มีเนื้อมีหนังขึ้นมากในเวอร์ชั่นหนัง เธอเป็นผู้หญิงที่ลื่นไหลกับการใช้ชีวิตใน “โลกของผู้ชาย” ได้อย่างยอดเยี่ยม เธอเข้มแข็งและเป็นคนกุมบังเหียนสถานการณ์โรแมนติก ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องไม่แปลกในหนังไรท์แมน ผู้เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก Juno

ฟาร์มิกาชื่นชอบทัศนคติของอเล็กซ์ และเห็นข้อบกพร่องของเธอเป็นจุดแข็ง หาใช่จุดอ่อน “นี่คือผู้หญิงที่ซับซ้อน มีความต้องการ และโหยหาบางสิ่ง ฉันไม่อยากตัดสินการกระทำของเธอ แค่พยายามทำให้เธอดูมีเลือดเนื้อและเป็นมนุษย์มากที่สุด นั่นคือความน่าอัศจรรย์ของตัวละครในหนัง เจสัน ไรท์แมน คุณไม่จำเป็นต้องเห็นชอบ หรือแก้ต่างให้พฤติกรรมพวกเขา แต่ทุกตัวละครล้วนเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมเอกลักษณ์และข้อบกพร่องเช่นเดียวกับเราทั้งหลาย” นักแสดงหญิงวัย 36 ปีกล่าว

เพเนโลปี้ ครูซ (Nine)

แม้จะเปิดตัวครั้งแรกในหนังเรื่อง Jamon, Jamon ของผู้กำกับ บิกัส ลูนา แต่คนส่วนใหญ่กลับจดจำ เพเนโลปี้ ครูซ ได้จากการร่วมงานกับ เปรโด อัลโมโดวาร์ ซึ่งประทับใจความงามและฝีมือการแสดงของนักแสดงสาวผู้นี้มานาน แต่ไม่สบโอกาสใช้บริการเธอสักทีจนกระทั่ง Live Flesh ในปี 1997 “เพเนโลปี้มักจะเด็กเกินไปสำหรับตัวละครที่ผมเขียน แม้กระทั่งใน Volver และ Broken Embraces แต่สุดท้ายผมกลับเลิกกังวล เพราะเธอสามารถเล่นบทอะไรก็ได้ เธอกลายเป็นเหมือนผู้หญิงอมตะ ซึ่งไม่อาจนิยามด้วยตัวเลขได้” เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Talk to Her กล่าว

หลังวนเวียนเล่นหนังฮอลลีวู้ดมาหลายเรื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเสียที ส่วนภาษาอังกฤษติดสำเนียงสเปนของเธอก็มักจะถูกยกขึ้นมาถากถางอยู่บ่อยครั้ง ในที่สุดครูซก็พลิกฟื้นสถานการณ์ได้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือของ วู้ดดี้ อัลเลน ในหนังเรื่อง Vicky Cristina Barcelona ซึ่งทำให้เธอคว้าออสการ์มาครอง

ครูซเป็นดาราคนแรกที่ได้นัดพูดคุยกับผู้กำกับ ร็อบ มาร์แชล เกี่ยวกับโครงการหนังเรื่อง Nine และลงเอยด้วยการตอบตกลง “เล่นบทไหนก็ได้” แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มาร์แชลเองก็ไม่แน่ใจว่าควรมอบบทไหนให้เธอดี เนื่องจาก Nine ซึ่งดัดแปลงจากละครเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังคลาสสิกเรื่อง 8 ½ ของ เฟเดอริโก้ เฟลลินี อีกที มีตัวละครผู้หญิงมากมายหลายคน หนังเล่าถึงผู้กำกับหนังชื่อดังชาวอิตาเลียน กุยโด คอนตินี (เดเนียล เดย์-ลูว์อีส) ที่กำลังพยายามมองหาสมดุลระหว่างอาชีพอันวุ่นวายกับชีวิตส่วนตัว ขณะเหลือเวลาแค่อาทิตย์เดียวก่อนเปิดกล้องหนังเรื่องใหม่ เขาตัดสินใจหนีความกดดันทั้งปวงไปยังเมืองตากอากาศ พลางทบทวนความสัมพันธ์กับผู้หญิงรอบข้างไม่ว่าจะเป็นภรรยา ชู้รัก หรือดาราคู่ใจ

“ต้องยกเครดิตให้ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์” มาร์แชลเล่า “เขาเป็นคนถามผมว่า คุณเคยดูหนังอิตาเลียนเรื่อง Don’t Move หรือเปล่า เพเนโลปี้รับบทเมียน้อยในหนังเรื่องนั้น ผมเลยคิดว่า ‘จริงสิ!’ เธอทดสอบหน้ากล้องโดยเลือกเล่นบทนั้นเหมือนกัน เธอส่งวีดีโอมาให้เราดู มันเป็นฉากที่คาร์ลาห่มผ้าคลุมเตียงปกปิดร่างอันเปลือยเปล่า เธอดูเซ็กซี่มาก ไม่มีใครจะห่มผ้าคลุมเตียงแล้วดูดีเท่า เพเนโลปี้ ครูซ อีกแล้ว”

ปัญหาที่ตามมา คือ Nine เป็นหนังเพลง ซึ่งย่อมเรียกร้องให้นักแสดงต้องร้องและเต้น “ฉันเคยเรียนบัลเลต์มาก่อนตอนยังเล็ก แต่ฉันไม่เคยเต้นแบบที่เห็นในหนังหรอก” นักแสดงสาววัย 35 ปีกล่าว “วันแรกที่ฉันได้เห็นท่าเต้น ฉันแทบเป็นลม พลางพูดว่า ‘ฉันไม่มีทางทำได้แน่!’ ” แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ครูซซ้อมหนัก (“ฉันเริ่มมองเห็นความหวังที่ปลายอุโมงค์ พอคุณทำได้ คุณจะรู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อยอย่างน่าอัศจรรย์ นี่เป็นสาเหตุที่ฉันชอบอาชีพนักแสดง เมื่อคุณมีเวลาเตรียมตัว ทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทาง มันเหมือนรางวัลตอบแทนความทุ่มเทอย่างหนักของคุณ”) นอกจากนี้ ในฉากร้องเพลง A Call from the Vatican ซึ่งมีเชือกเป็นเครื่องประกอบฉาก ครูซยังปฏิเสธที่จะใส่ถุงมือเข้าฉาก ส่งผลให้ผิวหนังของเธอเริ่มด้านและฉีกขาดจนเลือดไหลซิบๆ “เดเนียล เดย์-ลูว์อีส ตั้งฉายานักรบให้เธอซึ่งก็เหมาะสมอย่างยิ่ง” มาร์แชลกล่าว

แล้วเรื่องร้องเพลงล่ะ? “เธอก็เหมือน เรเน เซลเวเกอร์ ใน Chicago ทั้งสองชอบร้องเพลง แต่ไม่เคยร้องหน้ากล้องมาก่อน เพเนโลปีมีความเป็นนักร้องโดยธรรมชาติ เธอถ่ายทอดอารมณ์ผ่านน้ำเสียงได้ดี”

แม็กกี้ จิลเลนฮาล (Crazy Heart)

ในชีวิตจริง แม็กกี้ จิลเลนฮาล คงไม่มีวันยอมให้ลูกสาววัย 3 ขวบของเธอ ราโมนา อยู่ตามลำพังกับนักดนตรีขี้เหล้า แต่นั่นเป็นสิ่งที่ จีน แครดด็อก ตัวละครซึ่งเธอสวมบทบาทใน Crazy Heart ทำ และสุดท้ายก็นำไปสู่หายนะ “การเป็นแม่คนบีบให้ฉันต้องรับผิดชอบ ฉันค่อนข้างหวงลูกและพยายามจะกันเธอจากความวุ่นวายของฮอลลีวู้ด” นักแสดงสาววัย 32 ปีกล่าว “มีบทหลากหลายที่ฉันอยากเล่น แต่ต้องชั่งใจว่ามันจะส่งผลกระทบอย่างไรกับราโมนา”

จิลเลนฮาลยอมรับว่ามีปัญหาในการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัว (สามีเธอคือนักแสดงหนุ่ม ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด) กับแรงปรารถนาที่จะทำงาน (หนังสตูดิโอเรื่องล่าสุดของเธอ คือ The Dark Knight) นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอสนใจบทจีน นักข่าวสาวเรือพ่วงที่ลงเอยสร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักร้องเพลงคันทรี (เจฟฟ์ บริดเจส) ซึ่งเธอต้องเดินทางมาสัมภาษณ์เพื่อนำไปเขียนบทความ

“ตอนอ่านบท ฉันกำลังอยู่ในช่วงอยากทำงานหลังจากต้องเสียสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อครอบครัว มันเป็นความรู้สึกเห็นแก่ตัวเล็กๆ ฉันกำลังหิวกระหายเพราะตลอดสองปีที่ผ่านมาฉันทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการเลี้ยงลูก มันเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษ ลูกเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิตคุณ แต่ขณะเดียวกันฉันก็สัมผัสได้ถึงแรงกระตุ้นที่จะทำบางอย่างเพื่อตัวเองบ้าง แต่ฉันไม่เจอบทที่ถูกใจจนกระทั่ง Crazy Heart ฉันไม่แคร์ว่ามันเป็นแค่หนังอินดี้เล็กๆ มันเป็นบทที่ดีมากและฉันก็ตัดสินใจว่าจะต้องเล่นหนังเรื่องนี้ให้ได้” เธอกล่าว “จีนกำลังมีความรู้สึกแบบเดียวกับฉัน หลังใช้เวลาตลอดสี่ปีเลี้ยงดูลูกตามลำพัง ฉันคิดว่าเธอคงกำลังเผชิญแรงกระตุ้นแบบเดียวกัน เธอต้องการอะไรสักอย่างเพื่อตัวเธอเอง หรือใครสักคน เธอไม่สนว่าเขาจะเป็นคนแย่แค่ไหน เขาทำให้เธอรู้สึกเหมือนกลับมาเป็นผู้หญิงอีกครั้ง”

บริดเจสได้รู้จักกับจิลเลนฮาลเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2003 ที่รอบปฐมทัศน์หนังของฝ่ายหญิงเรื่อง Mona Lisa Smile “แม็กกี้เป็นคนอ่อนหวาน เธอเปิดเผยและพูดจาดีกับทุกคน แต่ก็ซ่อนความเข้มแข็งเอาไว้ภายใน” บริดเจสกล่าว เป็นส่วนผสมระหว่างความเปราะบางและแกร่งกร้าวในแบบเดียวกับตัวละครที่เธอรับเล่น จิลเลนฮาลยอมรับว่าการเป็นแม่คนทำให้เธออ่อนหวานขึ้น นุ่มนวลขึ้น และเข้าหาคนมากขึ้น “ก่อนหน้านี้ฉันมีความคิดว่าจะต้องเข้มแข็ง ดุดัน ทั้งในแง่การทำงานและชีวิตส่วนตัว ปัจจุบันฉันไม่คิดแบบนั้นแล้ว คุณต้องกล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึกของคุณ มันเป็นความเข้มแข็งอีกแบบหนึ่ง กล้าที่จะเปิดเผยแง่มุมอันเปราะบางภายใน ความหวาดกลัว หรือสิ่งที่คุณละอายใจ จีนมีคุณสมบัติดังกล่าวชัดเจนที่สุดในบรรดาทุกตัวละครที่ฉันเคยรับเล่นมา”

แอนนา เคนดริค (Up in the Air)

ก่อนจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ แอนนา เคนดริก เป็นมือโปรในวงการละครเวทีตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลังเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทนี่จากละครเรื่อง High Society พร้อมทำสถิติเป็นผู้เข้าชิงอายุน้อยสุดอันดับสาม “วงการภาพยนตร์ไม่ใช่สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญสูงสุด ฉันโชคดีที่มีโอกาสแสดง Camp เป็นหนังเรื่องแรก เพราะมันเล่าเรื่องราวของกลุ่มเด็กวัยรุ่นในละครเพลง แถมยังได้ โทนี่ กรัฟฟ์ พี่ชายของนักแสดงที่ฉันเคยร่วมงานด้วยใน High Society มาเป็นคนกำกับ เขาคลุกคลีในแวดวงบรอดเวย์มานาน เช่นเดียวกับนักแสดงคนอื่นๆ เราทุกคนต่างไม่คุ้นเคยกับกองถ่ายภาพยนตร์ และมักจะตั้งคำถามอยู่ตลอด เช่น ไอ้นั่นใช้ทำอะไร ทำไมฉันถึงต้องยืนตรงนี้ ทำไมฉันต้องมองไปทางนั้น สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัยที่จะตั้งคำถามและเรียนรู้ขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์” เคนดริกเล่า

อย่างไรก็ตาม หนังที่ช่วยกรุยทางให้เธอมุ่งหน้าสู่ความรุ่งโรจน์ได้แก่ Rocket Science หนังอินดี้เกี่ยวกับการแข่งขันโต้วาทีซึ่งอาจไม่ค่อยมีใครได้ดู แต่กลับเตะตาผู้กำกับหลายคน เริ่มจาก แคทเธอรีน ฮาร์ดวิค หนึ่งในคณะกรรมการของเทศกาลหนังซันแดนซ์ที่มอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ เจฟฟรีย์ บลิทซ์ เธอประทับใจการแสดงของเคนดริกถึงขนาดขอร้องให้เธอมาทดสอบหน้ากล้องบทเพื่อนสนิทของเบลลาใน Twilight ตามมาด้วย เจสัน ไรท์แมน ซึ่งเขียนบทนาตาลีใน Up in the Air ขึ้น (หนังสือไม่มีบทนี้) เพื่อเธอโดยเฉพาะ

“ฉันได้อ่านบท Up in the Air ผ่านทางเอเยนต์” เคนดริกเล่า “ฉันตกหลุมรักมันในทันที มันเป็นบทที่ยอดเยี่ยมมากๆ ฉันทดลองอ่านบทกับเจสันเป็นเวลา 10 นาที และนึกว่าทำได้ไม่ดีนัก แต่จู่ๆ ทีมงานกลับตอบตกลงรับฉันหลังจากเพิ่งทดสอบหน้ากล้องแค่ครั้งเดียว ฉันสับสนอย่างบอกไม่ถูก เจสันเก็บอาการได้เนียนมาก ฉันคิดว่าเขาไม่ชอบฉันเสียอีก” ไรท์แมนอธิบายสาเหตุที่เขาไม่บอกเธอว่าเขาเขียนบทนี้ให้เธอ เพราะไม่ต้องการสร้างความกดดันแก่นักแสดงสาว

สำหรับเคนดริก บทนาตาลี หญิงสาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่ถูกว่าจ้างมาวางระบบเลิกจ้างพนักงานแบบใหม่เพื่อบริษัทจะได้ลดค่าใช้จ่ายในการส่งเจ้าหน้าที่ไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เปรียบเสมือนความนึกคิดเบื้องลึกอีกด้านของ ไรอัน บิงแฮม (จอร์จ คลูนีย์) คอยซักไซ้ ไล่บี้ให้เขาอธิบายตัวเอง ตลอดจนปรัชญาในการดำเนินชีวิต ขณะเดียวกัน เคนดริกยังรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์ที่นาตาลีต้องเผชิญในหนัง เนื่องจากเธอเป็นสมาชิกที่อายุน้อยสุดในกองถ่าย Up in the Air และแน่นอนต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเธอมีความเป็นมืออาชีพพอ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว เคนดริกไม่คิดว่าเธอมีอะไรคล้ายคลึงกับเด็กสาวที่มุ่งมั่นและวางแผนทุกอย่างไว้ละเอียดลออแบบนาตาลี

“ฉันอาจคาดหวังอะไรที่เกินจริงและไร้สาระไปบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องความรัก ที่แน่ๆ คือ ฉันไม่คิดอยากจะแต่งงานมีลูกตอนอายุ 23 ปี และฉันคงไม่ระบุเจาะจงขนาดเธอเกี่ยวกับผู้ชายที่จะแต่งงานด้วย กระนั้นบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกดังกล่าวของนาตาลีก็น่ารักดี ฉันชื่นชมเธอที่รู้ว่าต้องการอะไรและเชื่อมั่นจริงจัง” เคนดริกกล่าว

โครงการต่อไปของเคนดริก คือ หนังตลกร้ายซึ่งเธอต้องแสดงประกบ เจมส์ แม็คอะวอย เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงโชคดีได้เล่นหนังกับผู้ชายหล่อๆ อยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นคลูนีย์ ใน Up in the Air หรือ โรเบิร์ต แพ็ททินสัน ใน Twilight (หนังทั้งสองเรื่องเปิดกล้องในช่วงเวลาเดียวกันทำให้เคนดริกต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองกองถ่าย) เคนดริกหัวเราะก่อนจะตอบว่า “อันที่จริง กองถ่าย Twilight เต็มไปด้วยคนหน้าตาดีจนบางทีคุณก็รู้สึกแย่เหมือนกัน”

โมนีก (Precious: Based on the novel ‘Push’ by Sapphire)

ตอนสี่ทุ่มของคืนวันหนึ่ง โมนีกได้รับโทรศัพท์จากผู้กำกับ ลี เดเนียลส์ บอกว่าเขามีบทอยู่บทหนึ่งที่จะ “สร้างความฉิบหายให้อาชีพคุณ” ดาวตลกหญิงชื่อดังจำได้แม่นยำว่าคำตอบของเธอคือ “ลงชื่อฉันไว้ได้เลย ที่รัก” ถึงตอนนี้ หากนับจากบรรดารางวัลต่างๆ ที่โมนีกได้รับตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก ดูเหมือนหนังเรื่อง Precious: Based on the Novel ‘Push’ by Sapphire จะสร้างความรุ่งโรจน์ให้อาชีพเธอเสียมากกว่า

ใครก็ตามที่ได้ดูหนังเรื่องนี้คงไม่แปลกใจว่าทำไมเดเนียลส์ถึงมองว่าบท แมรี่ โจนส์ เป็นความเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำกับลูกสาวแท้ๆ โดยเฉพาะการปล่อยให้สามีข่มขืน พรีเชียส (แกบาเร ซิเดเบ) หรือความพยายามจะฆ่าลูกสาวด้วยการโยนโทรทัศน์ลงมาจากชั้นบน ถือเป็นความชั่วร้ายขั้นรุนแรงในระดับ 8.5 ริกเตอร์ ซึ่งกระทั่งโมนีกยังยอมรับว่าบางฉากเรียกร้องให้เธอต้องสั่งสมความเกลียดเคียดแค้นเอาไว้ภายในมากเสียจนเธอนึกหวาดกลัว เพราะไม่คิดว่าจิตใจเธอจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้

แต่ความยอดเยี่ยมของงานแสดงชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ตรงการช็อก หรือทำให้คนดูเกลียดชังตัวละครผ่านพฤติกรรมที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ หากเป็นการเปลือยอารมณ์อย่างหมดเปลือกของแมรี่ในฉากสุดท้ายต่างหาก ซึ่งทั้งดิบและทรงพลังจนไม่อาจละสายตา จริงอยู่ทุกอย่างที่เธอพูดอาจไม่สามารถหักล้างกับการกระทำอันเลวร้ายเหล่านั้นได้ คนดูยังคงไม่อาจให้อภัยเธอ แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจเธอมากขึ้น มองเห็นก้นบึ้งแห่งความเกลียดชังทั้งหลายว่าเริ่มต้นมาจากไหน “ตอนได้อ่านหนังสือฉันเกลียดสิ่งที่แมรี่ทำ แต่ฉันไม่ได้เกลียดเธอ และในฉากสุดท้าย ฉันรู้สึกเหมือนเข้าใจเธอ มันอาจฟังดูบ้าบอ แต่คุณไม่คิดจะตัดสินเธอ เพราะมันเป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวหาใครสักคนเป็นนางปีศาจ แต่ขณะเดียวกัน มีใครบ้างสนใจที่ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของเธอ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงทรงคุณค่า มันบีบให้เราคิดถึงกลุ่มคนที่ถูกสังคมหลงลืม” โมนีกกล่าว

การเลือกดาวตลกหญิงและพิธีกรรายการทอล์คโชว์มารับบทหนักอึ้งแบบนี้ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับเดเนียลส์เช่นกัน แต่เขาเคยร่วมงานกับเธอมาแล้วใน Shadowboxer (ซึ่งเธอรับบทเป็นแฟนขี้ยาของ โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิทท์ ที่ชื่อว่า “พรีเชียส”) เขาจึงมั่นใจว่าเธอมีทักษะมากพอ ความสำเร็จของ Precious: Based on the Novel ‘Push’ by Sapphire ส่งผลให้โมนีกเริ่มหันมาเอาจริงทางด้านการแสดงบทดรามา (“พวกเขาย้ำว่าฉันเป็นนักแสดง ฉันพร่ำตอบไปว่าฉันเป็นตัวตลก พวกเขาชอบส่งบทหนังแบบนี้มาให้ ฉันเลยตอบไปว่า ‘แน่ใจนะ? ก็ได้!’ ”) แต่โครงการหนังที่เธออยากทำมากที่สุดในเวลานี้ คือ การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของ แฮ็ตตี้ แม็คเดเนียล เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Gone with the Wind “ผู้หญิงคนนี้ช่างน่าอัศจรรย์” โมนีกอธิบาย “เธอต้องยืนหยัดท่ามกลางความขัดแย้งในยุคสมัยที่คนผิวดำยังไม่เป็นที่ยอมรับ ฉันถือลิขสิทธิ์ชีวประวัติของเธออยู่ และแน่นอน ฉันอยากให้ ลี เดเนียลส์ เป็นผู้กำกับ”

ไม่มีความคิดเห็น: