วันจันทร์, มกราคม 25, 2553

Avatar: กระทั่งคนตัวฟ้าก็เรียกหาอัศวินม้าขาว


มีหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถทำให้ผมดื่มด่ำไปกับภาพบนจอจนไม่อยากสนใจเรื่องราวใดๆ อีกต่อไป เท่าที่พอจะนึกออกในตอนนี้ก็เช่น Syndrome and a Century ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ Flowers of Shanghai ของ โหวเสี่ยวเฉียน แต่ล่าสุดคงต้องนับรวม Avatar ของ เจมส์ คาเมรอน เข้าไปอีกเรื่อง ด้วยเหตุผลที่อาจแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ สองเรื่องแรกนั้นสร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผมทั้งในแง่ความงาม (การจัดแสง การเลือกมุมกล้อง) และการจัดองค์ประกอบภาพที่ชวนให้ค้นหาความหมาย เชื่อมโยง หรือจัดเรียงความรู้สึก แต่หนังของคาเมรอนกลับดูน่าตื่นตาในแง่มุมที่เป็นรูปธรรมกว่า และอาจไม่เกี่ยวข้องกับทักษะ หรือเทคนิคภาพยนตร์มากนัก โดยถ้าจะเทียบไปแล้วมันคงเป็นความงามที่น่าตื่นเต้นในลักษณะเดียวกับการจ้องรูปสามมิติ (ถ้าใครยังจำได้) หรือรูปเรืองแสง นั่นคือ วิจิตรบรรเจิดจนบางครั้งไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง แต่ขณะเดียวกันกลับไม่ได้ชวนค้นหา หรือสื่อความหมายมากนัก จนผมอดเห็นด้วยกับนักวิจารณ์เมืองนอกคนหนึ่งไม่ได้ที่บอกว่า Avatar ก็เป็นแค่ “สกรีนเซฟเวอร์ที่ราคาแพงที่สุดในโลก!”

กระนั้นผมไม่เคยคิดจะดูหมิ่น หรือหยามเหยียดทักษะทางภาพยนตร์ของคาเมรอนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผมคิดว่าเขาเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอดและเชี่ยวชาญการกำกับฉากแอ็กชั่นชนิดหาตัวจับยาก (ระดับเดียวกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก) อาจกล่าวได้ว่านับแต่คาเมรอนเกษียณตัวเองไปนาน 12 ปีหลังความสำเร็จระดับมโหฬารของ Titanic วงการหนังบล็อกบัสเตอร์ก็เหมือนจะดำดิ่งลงหุบเหวจากเทรนด์ “ยิ่งตัดเยอะ ยิ่งสับสนดี” ซึ่งไม่ได้กินความเฉพาะหนังแอ็กชั่นอย่าง The Dark Knight และ Transformers เท่านั้น (ผมนึกโทษ พอล กรีนกราส สำหรับเทรนด์ดังกล่าว) แต่ยังลุกลามไปถึงบรรดาหนังเพลงทั้งหลายอีกด้วย (ใช่แล้ว ร็อบ มาร์แชล คุณนั่นแหละ!) การวางสตอรี่บอร์ดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ลำดับเหตุการณ์แบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อผลกระทบทางอารมณ์ขั้นสูงสุด และร้อยเรียงช็อตอย่างระมัดระวังเพื่อให้คนดูสามารถติดตามความเป็นไปได้อย่างราบรื่นแทบจะกลายเป็นศาสตร์และศิลป์ขั้นสูงที่หายากพอๆ กับสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์ในยุคสมัยของเด็กสมาธิสั้น ที่ไม่อาจทนดูภาพเดิมๆ ได้เกินเสี้ยววินาทีโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

ใน Avatar คาเมรอนไม่กลัวที่จะทิ้งระยะเวลาของช็อตให้นานขึ้นสักนิด เพื่อคนดูจะได้อิ่มเอมกับฉากซีจีสุดอลังการ เหล่าต้นไม้แปลกตา และสัตว์ประหลาดนานาพันธุ์ ซึ่งเขาเสียเวลาและเงินทองจำนวนมากในการเนรมิตขึ้น ผมนึกขอบคุณการกลับมาของช็อตที่มีความยาวเกิน 3 วินาทีในหนังยุคใหม่ หลังจากเคยหงุดหงิดกับฉากไคล์แม็กซ์ใน Moulin Rouge! เพราะผู้กำกับ แบซ เลอห์มาน ยืนกรานที่จะซอยภาพยิบย่อยจนคนดูไม่มีโอกาสดื่มด่ำกับฉากเต้นรำอันตระการตาบนเวทีได้อย่างเต็มเปี่ยม (บางทีเขาน่าจะเรียนรู้จากหนังเพลงบอลลีวู้ดให้มากกว่านี้)

บางคนยกย่อง Avatar เป็นหลักไมล์สำคัญของวงการภาพยนตร์ บ้างถึงขั้นนำไปเปรียบกับ The Jazz Singer ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก เลยก็มี หากตัดสินกันในแง่เทคนิค คำอ้างข้างต้นอาจไม่เกินจริงไปไกลนัก เมื่อพิจารณาว่า Avatar ได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่าง live action และ animation ลงอย่างราบคาบผ่านเหล่าตัวละครเนวี ที่เคลื่อนไหวและแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างลื่นไหล สมจริง รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบสามมิติให้กลมกลืนกับตัวหนังโดยเน้นความลึกของภาพมากกว่าจะทำลายเส้นกั้นขอบจอด้วยการโยนสารพันสิ่งของเข้าใส่คนดู ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย หากคุณเคยชมหนังอย่าง The Abyss และ Terminator 2: Judgment Day ซึ่งดำรงสถานะผู้นำเทรนด์มาก่อน

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า เจมส์ คาเมรอน ถือเป็นทั้งนักปฏิวัติและอนุรักษ์นิยมไปพร้อมๆ กัน โดยจุดเด่นของเขาอยู่ตรงการผสมผสานสิ่งใหม่เข้ากับสิ่งเก่าเพื่อสร้างความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ (ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคนิคพิเศษ) ภายใต้โครงสร้างที่คนดูคุ้นเคยมาช้านานและรู้สึก “อุ่นใจ” (ลักษณะการเล่าเรื่องแบบคลาสสิก) คงด้วยเหตุนี้กระมัง หนังของเขาจึงมักได้รับความนิยมอย่างสูงไปทั่วโลก

Titanic สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์เนื่องจากมันคลุกเคล้าความน่าตื่นตาของเทคนิคพิเศษใหม่ล่าสุดเข้ากับเรื่องรักน้ำเน่าแบบที่ทุกคนคุ้นเคยได้อย่างลงตัว ผู้ชมไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงมากนักในการติดตามเรื่องราว หรือทำงานหนักเพื่อเอาใจช่วยตัวละคร เพราะขาวกับดำได้ถูกแบ่งแยกไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้ว เช่นเดียวกับตัวละครใน Avatar แต่คราวนี้ดูเหมือนคาเมรอนจะใช้เวลาวางรายละเอียดของฉากหลังมากเป็นพิเศษ จนส่งผลให้ตัวละครทั้งหลายของเขาขาดเลือดเนื้อและน้ำหนัก เช่น โอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตใหม่ของ เจค ซัลลี (แซม วอร์ธิงตัน) ไม่ได้ถูกสำรวจอย่างจริงจัง ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเขาในร่างอวตารกับ เนย์ทิรี (โซอี้ ซัลดานา) ก็ค่อนข้างเบาบางจนไม่สามารถโน้มนำอารมณ์ได้

ท่ามกลางเทคนิคพิเศษสุดหรู ทุนสร้างมหาศาล และการจัดจำหน่ายหนังไปฉายพร้อมกันทั่วโลกจนสามารถกวาดเงินมาครองนับพันล้านเหรียญภายในเวลาอันรวดเร็ว Avatar ได้สอดแทรกนัยยะเกี่ยวกับความตะกรุมตะกรามแห่งโลกทุนนิยมและภาวะดาบสองคมของเทคโนโลยี ที่อาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษามากพอๆ กับการทำสงครามล่าอาณานิคม ความย้อนแย้งกันเองระหว่างตัวหนัง (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อันถือกำเนิดขึ้นจากความรุ่งเรืองของโลกทุนนิยม ตลอดจนแผ่อิทธิพลครอบงำทางวัฒนธรรมไปยังประเทศต่างๆ) และเนื้อหาในหนังส่งผลให้การนั่งชม Avatar ไม่ต่างจากการนั่งอ่านบทความเชิดชูคุณค่าของจิตใจเหนือรูปกายภายนอกในนิตยสาร Vogue แน่นอน เจตนารมณ์ที่ดีไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือน่าหัวเราะเยาะ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการต้องมานั่งฟังหนังฮอลลีวู้ดราคา 300 ล้านเหรียญสั่งสอนเกี่ยวกับความละโมบและชั่วร้ายของระบบทุนนิยมมันออกจะดูตะขิดตะขวงใจอยู่ไม่น้อย

สารชั้นแรกของ Avatar ค่อนข้างโปรสิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมืองอย่างเด่นชัด (ความรู้สึกผิดของคนผิวขาว? เหมือนจะบอกว่า “ขอโทษนะที่เราเคยแย่งดินแดนของคุณ เข่นฆ่าคุณ ขับไล่คุณออกจากบ้านเกิดเมืองนอน แต่ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวเราจะสร้างหนังมาชดเชยความผิดในอดีต”) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังจะถูกต่อต้านจากฝ่ายขวา โดยบางคนตีความถึงขั้นว่า ความสำเร็จทางรายได้ของ Avatar เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าคนอเมริกันเปิดใจยอมรับหนังที่สะท้อนแนวคิดต่อต้านสงครามในอิรัก นอกจากนี้มันยังสอดแทรกทัศนะแอนตี้อเมริกันเอาไว้ด้วย สังเกตได้จากการวาดภาพตัวละครฝ่ายทหารอเมริกัน ซึ่งเต็มไปด้วยความชั่วร้าย ไร้มนุษยธรรม และขาดสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

ความสำเร็จของ Avatar สะท้อนข้อเท็จจริงว่าอเมริกันชนเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตจริงหรือ คำอ้างดังกล่าวชวนให้น่ากังขาเป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะจากเหตุผลที่ว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้าไปดูหนังของ เจมส์ คาเมรอน คงไม่คาดหวังอะไรมากไปกว่าความบันเทิงชวนตื่นตาจนมองข้ามเนื้อหาสาระที่สอดแทรกเอาไว้ แต่ยังรวมไปถึงคำถามว่า Avatar โปรชนพื้นเมืองจริงหรือ ซึ่งนั่นจะนำเราไปยังสารชั้นที่สอง

เช่นเดียวกับหนังอย่าง The Last Samurai และ Dances with Wolves หรือกระทั่งสารคดีเรื่อง The Good Woman of Bangkok ซึ่งเล่าถึงความช่วยเหลือของฝรั่งผิวขาว (ผู้กำกับหนัง) ต่อโสเภณีไทยนางหนึ่งให้รอดพ้นจากความยากจน Avatar มุ่งสะท้อนให้เห็น “วีรกรรม” ของคนผิวขาวที่เข้ามากอบกู้ชนพื้นเมืองที่น่าสงสารและถูกรุกราน โดยเน้นย้ำให้เห็นความเหนือกว่าของฝ่ายแรก ทั้งในแง่เครื่องไม้เครื่องมือและกำลังทุน (กรณีของ The Good Woman of Bangkok) ไปพร้อมๆ กับความบริสุทธิ์ ใกล้ชิดกับธรรมชาติ (หรือพูดง่ายๆ คือ ล้าหลัง) ของฝ่ายหลัง

นอกจากนี้ ยังไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวละครหลักทั้งสามล้วนเป็นเพศชาย ส่วนประเทศโลกที่สามก็ถูกแทนที่ด้วยเพศหญิง ผ่านพล็อตรองในส่วนของความรักระหว่างตัวละครเอกกับผู้หญิงพื้นเมือง กล่าวคือ นอกจาก Avatar จะสะท้อนแนวคิดหลักของลัทธิอาณานิคมแล้ว (ฝ่ายปกครอง หรือฝรั่งผิวขาว มีสถานะเหนือกว่าฝ่ายที่ถูกปกครอง หรือชนพื้นเมือง) มันยังตอกย้ำทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่อีกด้วย ซึ่งทั้งสองแนวคิดมักถือกำเนิดควบคู่กันไปเสมอ จริงอยู่ หนังอาจวาดภาพให้เห็นผู้หญิงนักรบอย่างเนย์ทิรี ผู้หญิงนักอนุรักษ์อย่าง เกรซ (ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์) และผู้หญิงแกร่งอย่าง ทรูดี้ (มิเชลล์ โรดริเกซ) แต่จุดใหญ่ใจความหลักของ Avatar ยังคงวนเวียนอยู่กับการแปรสภาพจากนายทหารพิการไปสู่นักรบผู้นำชนเผ่าของเจคอยู่ดี เขาคือชายผิวขาวผู้ยิ่งใหญ่ที่เข้ามาปลดปล่อยความทุกข์ยากให้แก่ชนพื้นเมืองที่ไร้ทางสู้ทั้งหลาย (ตรงกันข้ามกับเรื่องราวของโพคาฮอนตัสใน The New World ซึ่งหลายคนหยิบยกมาเปรียบเทียบในแง่ความคล้ายคลึงทางพล็อตเรื่อง เนื่องจากหนังเรื่องนั้นของ เทอร์เรนซ์ มาลิก มุ่งโฟกัสไปยังการเดินทางจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่งของผู้หญิงพื้นเมือง ส่วนตัวละครเพศชายทั้งสองคนล้วนถูกผลักให้เป็นเพียงตัวประกอบ)

ที่สำคัญ Avatar ยังก้าวไปไกลกว่าหนัง “อัศวินม้าขาว” เรื่องอื่นๆ ข้างต้นตรงที่เจคสามารถสลัดความเป็นคนนอกของตนออกได้อย่างหมดจดในฉากจบเรื่อง เขาไม่ใช่คนผิวขาวในหมู่คนตัวฟ้า (หรือคนตัวเหลือง ตัวน้ำตาลในกรณีของ The Last Samurai และ Dances with Wolves) ไม่ใช่อวตารในโลกแห่งความเป็นจริงอีกต่อไป แต่เป็นชนเผ่านาวีโดยสมบูรณ์แบบในแง่รูปลักษณ์ภายนอก นั่นถือว่าไม่เลวเลยทีเดียวสำหรับพลทหารพิการ ที่เป็นแค่บุรุษไร้ค่าในโลกของมนุษย์ผิวขาว แต่กลับกลายมาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในโลกของมนุษย์ผิวสีฟ้า... จริงอยู่ว่า Avatar อาจเปิดศักราชใหม่ให้แก่โลกภาพยนตร์ในแง่เทคโนโลยี แต่หากมองในแง่เนื้อหาและทัศนคติแล้ว มันกลับเป็นเพียงฝันเปียกที่ตกค้างมาจากยุคล่าอาณานิคม

วันอังคาร, มกราคม 12, 2553

ออสการ์ 2010: And Then There Were Ten


หัวข้อที่คนพูดถึงมากที่สุดเกี่ยวกับรางวัลออสการ์ในปีนี้ คือ การเพิ่มรายชื่อผู้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก 5 เป็น 10 เรื่อง โดยข้อสงสัยของคนส่วนใหญ่อยู่ตรงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้หนังอาร์ตเล็กๆ ที่ไม่ค่อยเข้าทางออสการ์ เช่น Mullholland Drive หรือหนังตลาดชั้นดีที่มักจะถูกมองข้าม เช่น The Dark Knight มากกว่ากัน แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปใด คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคงหนีไม่พ้น พิกซาร์ สตูดิโอ เพราะหนังของพวกเขามักทำเงินมหาศาลและกวาดคำชมจากนักวิจารณ์มากมาย แต่กลับถูกมองข้ามในสาขาใหญ่สุดครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุผลสำคัญเนื่องมาจากกรรมการออสการ์เลือกหนังได้แค่ 5 เรื่อง จึงไม่เหลือที่ว่างมากพอสำหรับหนัง “การ์ตูน” ซึ่งมีสาขา Animation แบ่งแยกไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

ดังนั้นในปีนี้ Up เลยกลายเป็นตัวเก็งที่จะเข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้ายสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมค่อนข้างแน่นอน สถานการณ์ดังกล่าวคงไม่มีวันเป็นไปได้ หากตัวเลือกยังถูกจำกัดไว้แค่ 5 (ถ้า Wall-E ยังทำไม่สำเร็จ Up ก็คงหมดหวัง) ส่วนหนังเรื่องอื่นๆ ที่น่าจะได้ตั๋วทองเช่นกัน คือ Avatar, Up in the Air, The Hurt Locker, Inglourious Basterds และ Precious: Based on the Novel Push by Sapphire รวมแล้วเท่ากับ 6 เรื่อง

อีกสองเรื่องที่ไม่คงพลาดเรือเที่ยวสุดท้าย ได้แก่ Invictus พิจารณาจากบารมี คลินท์ อีสต์วู้ด กับคำวิจารณ์แง่บวก และ Nine ซึ่งมี ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ คอยผลักดันแบบสุดแรงเกิด แม้หนังจะถูกสับจนเสียศูนย์ (แต่ไม่มากเท่า The Lovely Bones ของ ปีเตอร์ แจ๊คสัน) แถมยังทำเงินในสัปดาห์แรกได้ไม่เข้าเป้า อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบสำคัญอยู่ตรงพลังดาราเจิดจรัสของ นิโคล คิดแมน, เพเนโลปี้ ครูซ, มาริยง โกติญาร์, เดเนียล เดย์ ลูว์อีส, เคท ฮัดสัน และ จูดี้ เดนช์ (เสียงโหวตจากกรรมการออสการ์กลุ่มนักแสดง ซึ่งมีจำนวนมากสุด น่าจะช่วยผลักดันให้ Nine หลุดเข้าชิงได้แบบฉิวเฉียด ขณะเดียวกันการที่หนังติดหนึ่งในห้าสาขา “กลุ่มนักแสดงยอดเยี่ยม” บนเวที SAG ก็เป็นตัวพิสูจน์แล้วว่าเหล่านักแสดงชื่นชอบหนังในระดับหนึ่ง)

อย่าลืมว่าเมื่อปีก่อน ใครๆ ก็พากันเชิดใส่ The Reader ของไวน์สไตน์ เมื่อปรากฏว่าหนังได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างแย่ โดนก่นด่าสารพันจากคนหลายกลุ่ม แต่สุดท้ายหนังกลับหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญๆ ได้แบบครบถ้วน ทั้งนี้เพราะกรรมการออสการ์ “ไม่ใช่” นักวิจารณ์ และการโหวตแบบลับๆ (กรอกรายชื่อลงในใบคะแนน) ทำให้พวกเขาสามารถเลือกหนังที่ชอบได้โดยไม่ต้องแคร์สื่อ

ส่วนสองที่ว่างสุดท้ายคงเป็นการตบตีแย่งชิงกันระหว่าง An Education หนังดรามา-โรแมนติกที่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์ A Serious Man หนังดรามาปนตลกของสองพี่น้องโคน The Blind Side หนังฟีลกู๊ดซึ่งทำเงินแตะหลัก 200 ล้านดอลลาร์อย่างไม่น่าเชื่อ และ District 9 หนังไซไฟที่นักวิจารณ์ชื่นชอบ

ช่วงเวลานี้อาจยังเร็วเกินกว่าจะคาดเดาว่าใครจะคว้าชัยไปครองในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่หากวิเคราะห์ตามกระแสของรางวัลต่างๆ ที่ทยอยประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง (ลูกโลกทองคำและสมาพันธ์นักแสดง) และผู้ชนะ (สมาคมนักวิจารณ์ต่างๆ) ออกมาอย่างต่อเนื่อง หนังสามเรื่องที่ทำท่าจะขับเคี่ยวกันอย่างสุดมันคือ Up in the Air, The Hurt Locker และ Avatar

เรื่องแรกดูจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างอาร์ตกับตลาด (ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก National Board of Review) แต่บางคนตั้งข้อสังเกตว่าตอนจบที่ไม่ค่อยเอาใจคนดูของหนังอาจกลายเป็นอุปสรรค (กระนั้น ข้อกล่าวหาเดียวกันนี้หาได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อ No Country for Old Men จริงอยู่ว่า เจสัน ไรท์แมน กระดูกคนละเบอร์กับสองพี่น้องโคน แต่กรรมการออสการ์ดูจะชื่นชอบเขาไม่น้อย สังเกตได้จากความสำเร็จของ Juno เมื่อสองปีก่อน) เรื่องที่สองเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ตัวจริง โดยกวาดรางวัลใหญ่จากทั้งสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก (NYFCC) และแอลเอ (LAFCA) มาครองอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่สุดท้ายจะลงเอยแบบเดียวกับ Sideways และ Brokeback Mountain หรือไม่ เราคงต้องรอดูกันต่อไป

ส่วน Avatar ก็กำลังไต่ระดับมาเป็นเต็งหนึ่ง พิจารณาจากรายได้ที่ไม่ค่อยตก (คนดูชื่นชอบ) คำวิจารณ์สวยหรู (คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก New York Film Critics Online มาครอง) และสถานะ “จุดเปลี่ยน” ของวงการภาพยนตร์ในเชิงเทคนิคแบบเดียวกับ Titanic (บางคนถึงขนาดเปรียบเทียบมันกับ The Jazz Singer เลยด้วยซ้ำ) ปัญหาหลักคงอยู่ตรงที่ไซไฟไม่ใช่หนังแนวทางโปรดของเหล่ากรรมการออสการ์ แต่ก่อนหน้า The Lord of the Rings: The Return of the King เราก็เคยคิดแบบเดียวกันนั้นกับภาพยนตร์แนวแฟนตาซี จุดต่าง คือ ปีเตอร์ แจ๊คสัน ใช้เวลา 3 ปีและหนัง 3 เรื่องในการทำลายอคติดังกล่าว เจมส์ คาเมรอน จะทำแบบเดียวกันโดยใช้หนังแค่ 1 เรื่องได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าหนังของเขาได้คำวิจารณ์ไม่งดงามเท่าหนังของแจ๊คสัน

War of the Roses

มวยคู่หลักบนเวทีออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้คงเป็น เจมส์ คาเมรอน vs. (อดีตภรรยา) แคทธีน บิเกโลว์ ฝ่ายแรกเสียเปรียบตรงเคยได้รางวัลนี้มาแล้วจาก Titanic ฝ่ายหลังได้เปรียบตรงการเดินหน้ากวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบไม่แบ่งให้ใคร โดยโอกาสที่บิเกโลว์จะกลายเป็นผู้กำกับหญิงออสการ์คนแรกจะสดใสแค่ไหนคงต้องรอผลจากลูกโลกทองคำและสมาพันธ์ผู้กำกับอีกรอบ แต่บอกได้คำเดียวว่า ณ เวลานี้ เธอมีภาษีดีกว่าผู้กำกับหญิงคนอื่นๆ ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนต่างด้าวอย่าง ลีน่า เวิร์ธมูลเลอร์ (Seven Beauties) และ เจน แคมเปี้ยน (The Piano) หรือคนอเมริกันอย่าง โซเฟีย คอปโปล่า (Lost in Translation)

เหตุผลสำคัญสองข้อ คือ บิเกโลว์ไม่ใช่มือใหม่ (เหมือนคอปโปล่า) และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับมานาน (Near Dark, Blue Steel, Point Break, Strange Days) แม้ว่าเธอจะไม่เคยเข้าชิงออสการ์มาก่อน แต่หนังของเธอมักเข้าข่าย “ถูกตีค่าต่ำเกินควร” อีกเหตุผล คือ เธออาจได้คะแนนพิเศษจากการทำหนังแอ็กชั่น หนังสงคราม ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับผู้กำกับหญิง ที่มักจะเลือกทำหนังโรแมนติก หนังดรามา มากกว่า

ทว่าอย่าได้ประมาท เจสัน ไรท์แมน (Up in the Air) เป็นอันขาด เขาอาจกลายเป็นตาอยู่หยิบชิ้นปลามันไปกินแบบหน้าตาเฉย เพราะเขาเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยระหว่างกลาง สำหรับกรรมการหัวโบราณที่อาจมีแนวคิดเหยียดเพศหญิง และอยากเชิดชูผลงานในเชิงศิลปะมากกว่าหนังตลาดอย่าง Avatar นอกจากนี้ การสืบทอดเชื้อสายฮอลลีวู้ด โดยตรง (เจสันเป็นลูกชายของ อีวาน ไรท์แมน ผู้กำกับหนังฮิตอย่าง Ghost Busters, Kindergarten Cop และ Junior) ก็น่าจะทำให้เขามีพันธมิตรในวงการอยู่ไม่น้อย

ส่วนผู้กำกับอีกสองคนที่น่าจะหลุดเข้าชิง แต่คงเป็นได้แค่ไม้ประดับ คือ เควนติน ตารันติโน่ (Inglourious Basterds) และ ลี เดเนียลส์ (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire) โดยมีตัวสอดแทรกอันตรายอย่าง คลินท์ อีสต์วู้ด (Invictus) โลน เชอร์ฟิก (An Education) และ จอห์น ลี แฮนค็อค (The Blind Side)

Married White Female

รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวที SAG คงไม่แตกต่างจากเวทีออสการ์สักเท่าไหร่ กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เมลานี ลอเรนต์ (Inglourious Basterds) แอ็บบี้ คอร์นิช (Bright Star) และ เอมิลี บลันท์ (The Young Victoria) จะสิ้นหวังเสียทีเดียว แต่ถ้าชื่อของพวกเธอปรากฏขึ้นในวันประกาศรายนามผู้เข้าชิงของเช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ หลายคนคงประหลาดใจไม่น้อย เพราะนั่นหมายความว่าหนึ่งในกลุ่ม “ตัวเต็ง” จะต้องหลุดจากวงโคจรไป แต่ใครกันล่ะ

คนนั้นคงไม่ใช่ เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia) แครี มัลลิแกน (An Education) หรือ เกบอรีย์ ซิไดบ์ (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire) เพราะพวกเธอทั้งสามไม่เพียงจะถูกคาดเดาให้หลุดเข้าชิงเท่านั้น แต่ยังอาจไปไกลถึงขั้นคว้ารางวัลมาครองเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะสองคนแรก แต่ขณะเดียวกันก็อย่าเผลอให้เครดิตรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลายมากเกินไปนัก ไม่เชื่อก็ดูชะตากรรมที่เกิดแก่ แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) เมื่อปีก่อนได้ แต่ในกรณีนั้นลางบอกเหตุเริ่มส่อเค้าตั้งแต่ตอนที่เธอหลุดโผ SAG แล้ว

นั่นหมายความว่าสองคนที่มีโอกาส (ไกลๆ) พลาดการเข้าชิงออสการ์ คือ เฮเลน เมียร์เรน (The Last Station) และ แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side) คนแรกได้เปรียบตรงบารมี “Academy Award Winner” (จากหนังเรื่อง The Queen) และฝีไม้ลายมือซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมานาน ดังนั้น แม้หนังที่เธอเล่นจะไม่ค่อยมีคนดูและยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เธอก็น่าจะเรียกคะแนนโหวตได้มากพอ ส่วนคนหลังได้เปรียบตรงการรับบทนำในหนังซูเปอร์ฮิต เล่นเป็นตัวละครที่กรรมการออสการ์น่าจะลุ้นเอาใจช่วยได้ไม่ยาก (คุณแม่หัวใจทองคำที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อลูกเลี้ยงผิวดำ) ที่สำคัญ เธอเป็นนักแสดงที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเป็นเวลานาน แต่ยังไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เลยสักครั้ง และนี่ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญจากบทตลก-โรแมนติกที่ทุกคนคุ้นเคยมาเล่นอารมณ์ดรามาหนักๆ โดยผสานพลังดาราเอาไว้อย่างกลมกลืนในสไตล์ จูเลีย โรเบิร์ตส์ จาก Erin Brockovich

The Lonely Heart Club

เช่นเดียวกับสาขานักแสดงนำหญิง รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประจำปีนี้คงจะลงเอยด้วยการคัดลอกรายชื่อผู้เข้าชิงจากเวทีของ SAG มาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ได้แก่ มอร์แกน ฟรีแมน (Invictus) เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) จอร์จ คลูนีย์ (Up in the Air) โคลิน เฟิร์ธ (A Single Man) และ เจเรมี เรนเนอร์ (The Hurt Locker)

หลายคนบอกว่าบทพนักงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องการลดขนาดองค์กรและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ตามสนามบินในหนังเรื่อง Up in the Air ถือเป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของ จอร์จ คลูนีย์ คำกล่าวข้างต้นคงมีมูลอยู่บ้าง สังเกตได้จากรางวัลนักวิจารณ์จำนวนมากที่เขาคว้ามาได้ คลูนีย์เป็น “ลูกรัก” ของฮอลลีวู้ด และกำลังดวงขึ้นสุดๆ ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา (เข้าชิงผู้กำกับหนึ่งครั้งจาก Good Night, and Good Luck นักแสดงสองครั้ง นำชายจาก Michael Clayton และสมทบชายจาก Syriana ซึ่งทำให้เขาคว้าออสการ์ตัวแรกมาครองได้สำเร็จ) ด้วยเหตุนี้เอง ตำแหน่งเต็งหนึ่งจึงตกเป็นของเขาไปโดยปริยาย

ก้างขวางคอเบอร์ XL ของ จอร์จ คลูนีย์ คือ เจฟฟ์ บริดเจส ซึ่งได้เปรียบตรงที่ยังไม่เคยได้รางวัลออสการ์ แม้จะเคยเข้าชิงมาแล้วถึง 4 ครั้งจาก The Last Picture Show (สมทบชาย) Thunderbolt and Lightfoot (สมทบชาย) Star Man (นำชาย) และ The Contender (สมทบชาย) นอกจากนี้ หลายคนยังบอกว่าเขาน่าจะได้เข้าชิงเพิ่มอีกหลายครั้งจากหนังอย่าง The Fabulous Baker Boys, The Fisher King, Tucker: The Man and His Dream, The Big Lebowski และ The Door in the Floor นอกจากนี้ บริดเจสยังเป็นที่เคารพนับถือในวงการ และบทนักดนตรีที่ถูกชีวิตโบยตีจนบอบช้ำของเขาก็เข้าทางออสการ์อยู่ไม่น้อย โดย โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ชื่อดังถึงกับขนานนามให้ Crazy Heart เป็น The Wrestler แห่งปี 2009

โอกาสที่ โทบี้ แม็คไกว์ (Brothers) ซึ่งหลุดเข้าชิงลูกโลกทองคำในสาขานักแสดงนำชาย (ดรามา) หรือวีโก้ มอร์เทนเซน (The Road) จะแทรกตัวมาเสียบแทนที่ เจเรมี เรนเนอร์ บนเวทีออสการ์ก็อาจพอมีอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากหนังของคนแรกได้คำวิจารณ์ไม่สู้ดีนัก (และใครๆ ก็รู้ดีว่าลูกโลกทองคำคลั่งไคล้คนดังมากแค่ไหน) ส่วนหนังของคนหลังก็เหมือนจะหายเข้ากลีบเมฆ หลังจากทำเงินไม่น่าพอใจนัก ตรงกันข้ามกับเรนเนอร์ ซึ่งแม้จะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่ใครๆ ก็ไม่คุ้นชื่อ แต่หนังของเขากลับโดดเด่นในทุกสาขาสำคัญๆ โกยคำชมจากนักวิจารณ์แบบถ้วนทั่ว นอกจากนี้ เขายังอุ้มหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่าอย่างน่าชื่นชม

Monsters Inc.

ถ้า “แม่พระ” เป็นคำจำกัดความของสาขานักแสดงนำหญิง และ “คนเหงา” เป็นคำจำกัดความของสาขานักแสดงนำชาย สาขานักแสดงสมทบชายและหญิงก็ควรจะถูกแทนที่ด้วยคำว่า “สัตว์ประหลาด!” เพราะตัวเก็งอันดับหนึ่งที่จะคว้ารางวัลไปครองของทั้งสองสาขา คือ คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds) ในบทนักล่ายิวจอมโหด และ โมนีก (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire) ในบทคุณแม่จากนรก หลังจากทั้งเขาและเธอเดินหน้าโกยรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์มาครองแบบนับไม่ถ้วน

อีกสี่คนที่น่าจะได้เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายค่อนข้างแน่ คือ สแตนลีย์ ทุคชี่ (The Lovely Bones)
แม็ท เดมอน (Invictus) วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน (The Messenger) และ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (The Last Station) ซึ่งทั้งหมดล้วนได้เข้าชิงทั้งรางวัล SAG และ ลูกโลกทองคำกันอย่างครบถ้วน กระนั้น บางคนกลับตั้งข้อสังเกตว่า แม็ท เดมอน อาจเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างเปราะบางสุด เพราะหนังไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาแสดงอารมณ์ใดๆ มากมายนัก จนอาจถูกแทนที่ในนาทีสุดท้ายโดยตัวสอดแทรกอันตรายอย่าง อเล็ก บอลด์วิน (It’s Complicated) และ คริสเตียน แม็คเคย์ (Me and Orson Welles)

สาขานักแสดงสมทบหญิงดูจะคาดเดาได้ยากกว่า โดยนอกจากโมนีกแล้ว เชื่อได้ว่าสองสาวจาก Up in the Air คือ แอนนา เคนดริก และ เวรา ฟาร์มิกา คงไม่ตกรถด่วนขบวนสุดท้าย เพราะพวกเธอล้วนได้เข้าชิงลูกโลกทองคำและ SAG กันแบบครบถ้วน ส่วนสองสาวจาก Nine ก็น่าจะได้ตำแหน่งว่างไปอีกหนึ่ง แต่จะเป็นใครกันแน่ระหว่าง เพเนโลปี้ ครูซ ซึ่งเข้าชิงทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ หรือ มาริยง โกติญาร์ ซึ่งชวดเข้าชิงทั้ง SAG และลูกโลกทองคำเพราะไวน์สไตน์ส่งเธอเข้าชิงในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม แต่อย่างที่รู้กันดีว่ากรรมการออสการ์เลือกทุกอย่างตามใจชอบ ดังจะเห็นได้จากกรณีของ เคท วินสเล็ท จาก The Reader เมื่อปีก่อน

ส่วนที่ว่างสุดท้ายคงต้องเป็นการฟาดฟันกันระหว่าง จูลีแอนน์ มัวร์ (A Single Man) ซึ่งได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ และ ไดแอน ครูเกอร์ (Inglourious Basterds) ซึ่งได้เข้าชิง SAG แบบพลิกความคาดหมาย

It Takes Two to Tango

นอกจากรายชื่อหนังสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะถูกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวแล้ว พิธีกรในงานแจกรางวัลออสการ์ในคืนวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2010 ก็จะถูกทวีคูณตามไปด้วย โดยสองโปรดิวเซอร์รายการ บิล เมคานิก และ อดัม แชงค์แมน ได้ตัดสินใจเลือก สตีฟ มาร์ติน และ อเล็ก บอลด์วิน มาทำหน้าที่ดังกล่าวร่วมกัน (ไม่ใช่เรื่องแปลกที่งานออสการ์จะมีพิธีกรมากกว่าหนึ่ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1987 เมื่อ เชฟวี่ เชส มาร่วมสร้างความครื้นเครงกับ โกลดี้ ฮอว์น และ พอล โฮแกน) คนแรกเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้วสองครั้งเมื่อปี 2001 และ 2003 ส่วนคนหลังถือเป็นมือใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะหน้าใหม่กับเวทีออสการ์เสียทีเดียว เพราะเขาเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาแล้วจาก The Cooler เมื่อปี 2004

แรกเริ่มสองโปรดิวเซอร์ได้ติดต่อ ฮิวจ์ แจ๊คแมน ให้กลับมาทำหน้าที่เดิมอีกครั้งหลังความสำเร็จจากปีก่อน แต่วูล์ฟเวอรีนตอบปฏิเสธเพราะไม่อยากเป็นพิธีกรออสการ์สองปีซ้อน นอกจากนี้ ถือเป็นความบังเอิญอย่างยิ่งที่มาร์ตินและบอลด์วินเพิ่งจะนำแสดงร่วมกันในหนังตลกเรื่อง It's Complicated ของ แนนซี่ เมเยอร์ส แถมพวกเขายังต้องประกบ เมอรีล สตรีพ ซึ่ง ณ เวลานี้ถือเป็นเต็งหนึ่งในสาขานักแสดงนำหญิง อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าสาเหตุหลักที่ทำให้มาร์ตินถูกทาบทามเป็นเพราะวิวาทะสุดฮาระหว่างเขากับ ทีน่า เฟย์ ขณะประกาศรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมื่อปีก่อน ทางโปรดิวเซอร์อยากได้เฟย์มาเป็นพิธีกรคู่กับเขาในปีนี้ แต่ดูเหมือนตารางงานจะไม่เอื้ออำนวย เพราะเธอกำลังวุ่นปิดกล้องซิทคอมยอดฮิต 30 Rock ซึ่งเธอทั้งร่วมเขียนบทและนำแสดง ส่งผลให้ทีมงานต้องหันไปพิจารณา อเล็ก บอลด์วิน แทน เขารับบทเป็นเจ้านายของเฟย์ใน 30 Rock และโดดเด่นจนคว้ารางวัลเอ็มมี่สาขานักแสดงนำชาย (ตลก) มาครองถึงสองปีซ้อน

"สตีฟกับอเล็กเคยร่วมงานกันมาก่อนใน Saturday Night Live และล่าสุดในหนังใหม่ของ แนนซี่ เมเยอร์ส ผมรู้ว่าทั้งสองชื่นชมและเคารพกันและกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ผมยังมั่นใจว่าพวกเขาต้องเรียกเสียงฮาได้แน่นอน ผมอยากให้โชว์ปีนี้สนุกและตลกมากเป็นพิเศษ หลายคนคงอยากได้ยินว่าจะมีอะไรหลุดออกมาจากปากของ อเล็ก บอลด์วิน บ้าง" แชงค์แมนกล่าว

เมื่อถูกถามว่าเขาจะเตรียมตัวอย่างไรสำหรับงานพิธีกรครั้งแรก บอลด์วินตอบว่า "ผมคงหวังพึ่ง สตีฟ มาร์ติน เป็นหลัก เพราะเขาเคยทำงานนี้มาแล้วสองครั้ง ผมแค่อยู่ที่นั่นเพื่อช่วยเหลือเขา เหมือนผู้ช่วยนักมายากล ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ผมจะแต่งชุดแบบเดียวกับผู้ช่วยนักมายากลเลยด้วยซ้ำ" จากนั้นเขาก็เสริมว่า "สิ่งสำคัญที่ต้องจดจำไว้เสมอ คือ รายการนี้มีผู้ชมสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ชมหน้าจอโทรทัศน์ อีกกลุ่มคือแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน รางวัลออสการ์ถือเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดสำหรับคนในวงการภาพยนตร์ ฉะนั้น คุณต้องพยายามรักษาเกียรติของงานและความขลังของตัวรางวัลเอาไว้ด้วย"

Back to the Past

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของงานออสการ์ครั้งล่าสุด คือ จะไม่มีการประกาศรางวัลออสการ์เกียรติยศบนเวทีเนื่องจากทางทีมงานต้องการทอนความยาวของการถ่ายทอดสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับเลือกให้คว้ารางวัลดังกล่าวประจำปีนี้มีจำนวนมากถึงสามคนด้วยกัน ได้แก่ นักแสดงหญิงระดับตำนาน ลอเรน เบคอล เจ้าพ่อหนังเกรดบี โรเจอร์ คอร์แมน และผู้กำกับภาพชั้นครู กอร์ดอน วิลลิส

งานแจกรางวัลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2009 และกินเวลานานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง เทียบเท่าความยาวของงานแจกรางวัลออสการ์เลยทีเดียว

แม้จะนำแสดงร่วมกับ ฮัมฟรีย์ โบการ์ท ในหนังคลาสสิกหลายเรื่องอย่าง To Have and Have Not, The Big Sleep และ Key Largo แต่เบคอลกลับเคยเข้าชิงออสการ์เพียงครั้งเดียวในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากหนังตลกโรแมนติกของ บาร์บรา สตรัยแซนด์ เรื่อง The Mirror Has Two Faces เมื่อปี 1996 (และพลาดรางวัลให้แก่ จูเลียต บิโนช จาก The English Patient) บุคลิกอันโดดเด่นบนจอภาพยนตร์ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในฉากคลาสสิกมากมายที่คนรุ่นหลังยังคงไม่ลืมเลือนส่งผลให้ออสการ์เกียรติยศสำหรับเบคอลกลายเป็นไฮไลท์ประจำงานไปอย่างช่วยไม่ได้ โดยหลังจากขบวนนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง แอนเน็ตต์ เบนนิ่ง (ว่าที่ออสการ์เกียรติยศในอีก 10 ปีข้างหน้า?) แองเจลิก้า ฮุสตัน และ เคิร์ก ดักลาส ตบเท้ากันมากล่าวสดุดี พร้อมไล่เรียงประวัติผลงานในอดีตอันน่าจดจำจนครบถ้วนกระบวนความแล้ว เบคอลก็เริ่มต้นสุนทรพจน์ด้วยการขอบคุณเหล่านักแสดงและผู้กำกับที่เธอเคยมีโอกาสร่วมงานด้วย "ฉันรู้สึกดีใจที่ยังมีชีวิตอยู่" เธอทิ้งจังหวะครู่หนึ่ง ก่อนจะยิ้มกริ่ม "หลายคนคงคาดไม่ถึงล่ะสิ และฉันจะยังไม่ไปไหนทั้งนั้น ทำใจยอมรับเสียเถอะ"

เมื่อพิจารณาว่าเธอไม่ใช่นักแสดงเปี่ยมทักษะเฉกเช่น เบ็ตตี้ เดวิส หรือ แคทเธอรีน เฮ็บเบิร์น จึงอาจไมใช่เรื่องน่าประหลาดนักที่เบคอลยังไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์มาครอง แต่การที่ กอร์ดอน วิลลิส ต้องมาประสบชะตากรรมคล้ายคลึงกัน หนำซ้ำยังเคยมีโอกาสเข้าชิงแค่สองครั้ง ถือเป็นปริศนาชวนพิศวงอย่างยิ่งและบางทีอาจช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีความยุติธรรมบนเวทีออสการ์" งานถ่ายภาพและจัดแสงระดับเทพ (และค่อนข้างหัวก้าวหน้า) ของเขาใน The Godfather ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังจำนวนมาก แต่มันกลับถูกออสการ์เชิดใส่อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อนึกย้อนกลับไป จะมีใครจดจำงานกำกับภาพในหนังอย่าง 1776, Butterflies Are Free, The Poseidon Adventure และ Travels with My Aunt ได้บ้าง แน่นอน การที่ Cabaret คว้ารางวัลไปครองในที่สุดอาจถือเป็นเรื่องที่พอจะยอมรับได้ ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ในอีกสองปีถัดมา เมื่อวิลลิสชวดการเข้าชิงเช่นเคยจาก The Godfather Part II และคราวนี้หนังที่คว้ารางวัลดังกล่าวไปครอง คือ The Towering Inferno !?! (เขาได้เข้าชิงออสการ์ครั้งที่สองจาก The Godfather Part III)

ที่สำคัญ วิบากกรรมของวิลลิสยังไม่จบลงแค่นั้น การร่วมงานเป็นเวลาหลายปีระหว่างเขากับ วู้ดดี้ อัลเลน จนนำไปสู่มาสเตอร์พีซอย่าง Annie Hall, Manhattan และ The Purple Rose of Cairo ล้วนถูกกรรมการออสการ์มองข้าม (เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงครั้งแรกจาก Zelig) ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าผลงานถ่ายภาพขาวดำสุดบรรเจิดของเขาใน Manhattan กวาดเสียงยกย่อง ชื่นชมมาครองอย่างเป็นเอกฉันท์

การมอบรางวัลชดเชยให้เบคอลและวิลลิสถือเป็นเหมือนการแก้ไขความผิดพลาดในอดีต แต่สำหรับ โรเจอร์ คอร์แมน มันคือการรู้จักคิดนอกกรอบที่น่าชื่นชม เพราะผลงานภาพยนตร์ของคอร์แมนนั้นคงไม่มีวันได้เข้าชิงออสการ์ อย่าว่าแต่จะคว้ามันมาครองเลย กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นนักทำหนังที่ทรงอิทธิพล และช่วยสร้างดาวจรัสฟ้าให้กับวงการภาพยนตร์มากมาย ตั้งแต่ มาร์ติน สกอร์เซซี่ (Boxcar Bertha) ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Dementia 13) แจ๊ค นิโคลสัน (Little Shop of Horrors) ไปจนถึง โรเบิร์ต เดอ นีโร (Bloody Mama) ขณะเดียวกัน ยังไม่น่าแปลกใจว่าการมอบรางวัลให้กับคอร์แมนกลายเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานที่สุดของงาน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งชมคลิปหนังอย่าง Attack of the Crab Monsters และ The Wasp Women หรือการกล่าวแนะนำที่เต็มไปด้วยคำหยาบ คำสบถ และอารมณ์ขันร้ายๆ จาก เควนติน ตารันติโน, รอน โฮเวิร์ด และ โจนาธาน เด็มมี่

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแจกรางวัล เออร์วิง จี. ธัลเบิร์ก อีกด้วย โดยผู้ได้รับเกียรติประจำปีนี้ คือ จอห์น แคลลี โปรดิวเซอร์และผู้บริหารสตูดิโอ ซึ่งเคยผลักดันให้เกิดผลงานภาพยนตร์อย่าง The Exorcist, A Clockwork Orange, Mean Streets, Dog Day Afternoon และ All the President's Men แต่น่าเสียดายที่แคลลีไม่อาจมาร่วมงานได้เนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ

หนังแห่งความประทับใจ


หนัง

Gomorrah ความชั่วร้าย ฟอนเฟะสามารถแทรกซึมไปได้ทุกหนแห่ง ตราบใดที่มนุษย์ยังคงโลภโมโทสัน

Departures อาหารรสเลิศสำหรับหัวใจและจิตวิญญาณ บางครั้งความตายก็ช่วยให้เรามองเห็นชีวิตได้ชัดเจนขึ้น

Let the Right One In มิตรภาพสามารถงอกงามได้ในทุกสภาวะ โดยไม่จำกัดเพศ วัย หรือกระทั่งสายพันธุ์

Milk ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ซึ่งจะยืนยงและสืบสานไปชั่วกาลนานยิ่งกว่าวงศ์ตระกูลใดๆ

The Reader โศกนาฏกรรมแห่งปัจเจกภาพ เมื่อมนุษย์อ่อนแอเกินกว่าจะต้านทานกระแสสังคม หรือแนวคิดมวลรวม

นักแสดงชาย

ซาชา บารอน โคเอน (Bruno) ทำไปได้

ฌอน เพนน์ (Milk) มุมนี้ก็มีด้วย

นิโคลัส เคจ (The Bad Lieutenant: Port of Call – New Orleans) เลิกพยายามเป็นฮีโร่เถอะ

มิกกี้ รู้ค (The Wrestler) ไม่เสียแรงที่ลุ้นเอาใจช่วย

คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds) เสียวสยองทุกสองนาที

นักแสดงหญิง

เคท วินสเล็ท (The Reader) กล้าหาญและลุ่มลึก

เรียวโกะ ฮิโรสุเอะ (Departures) ความงามอย่างมีคุณค่า

เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia) หนึ่งเดียวคนนี้!

อลิสัน โลห์แมน (Drag Me To Hell) ดื้อสวยดุ

มิเชลล์ ไฟเฟอร์ (Cheri) ฝีมือจัดจ้านไม่เคยสร่าง

ความคิดเห็น

ปีนี้มีหนังไทยอยู่ 5 เรื่องที่ผมชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เรื่องแรก คือ รักที่รอคอย (October Sonata) ซึ่งเล่าถึงการเติบโตของหญิงสาวคนหนึ่งได้อย่างงดงามและละเมียดละไม เรื่องราวความรักของเธอถูกถ่ายทอดอย่างชวนติดตาม จนถึงขั้นสะเทือนอารมณ์ในหลายฉากหลายตอน แต่ความนัยอีกชั้นเกี่ยวกับมนุษย์ สังคม และอุดมการณ์ทางการเมือง คือ เพชรน้ำงามที่ซุกซ่อนไว้อย่างแนบเนียน กลมกลืนจนทำให้มันก้าวไปไกลกว่าการเป็นหนังรักประโลมโลก

ถ้าจะกล่าวว่า เฉือน เป็นมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ ก้องเกียรติ โขมศิริ ก็คงไม่ผิดจากความจริงนัก หนังของเขามักจะถ่ายทอดให้เห็นด้านที่ชั่วร้ายของมนุษย์และสังคมแบบถึงแก่น เฉือนก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ที่สำคัญมันก้าวไปไกลกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ด้วยซ้ำในแง่ของความมืดหม่น หรือจังหวะที่ลงตัวของส่วนผสมระหว่างแนวทางสืบสวนสอบสวนกับเนื้อหาวิพากษ์ระบบศีลธรรมอันคมคาย

ในบรรดาหนังตลกที่ล้นตลาด 32 ธันวา เป็นเรื่องที่เรียกเสียงหัวเราะของผมได้มากสุด เนื่องจากมันไม่ได้พึ่งพิงทักษะของดาราคาเฟ่เป็นหลักเหมือนหนังตลกเรื่องอื่นๆ แต่ความฮาส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความเฉียบคมของการวางสถานการณ์และบุคลิกตัวละครในลักษณะเดียวกับซิทคอมชั้นดี และเช่นเดียวกับซิทคอม “เรื่อง” ไม่ใช่เสน่ห์หลักของหนัง หากมีไว้แค่เชื่อมโยงแก๊กตลกต่างๆ เข้าด้วยกัน ฉะนั้น ปมปัญหาจึงถูกสร้างขึ้น แล้วก็คลี่คลายง่ายๆ บ่อยครั้งเพื่อนำไปสู่สถานการณ์ชวนหัวอื่นๆ เช่น เมื่อร้านเสริมสวยของพระเอกกำลังจะถูกธนาคารยึด ผมนึกขอบคุณผู้กำกับ ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ ที่ตระหนักดีว่าเขากำลังทำอะไร และไม่พยายามเค้นอารมณ์ดรามาจนเกินเหตุในช่วงท้าย แต่กลับรักษาโทน “ซาหริ่ม” ของหนังเอาไว้ตลอด ทั้งภาพที่เห็นบนจอและเรื่องราวที่ถ่ายทอด จนทำให้มันกลายเป็นหนังที่รื่นเริงและสดใสที่สุดในรอบปี

สามชั่วโมงผ่านไปไวราวกับพริบตาระหว่างการนั่งชม พลเมืองจูหลิง ซึ่งนั่นคงช่วยบ่งชี้ความสำเร็จของหนังสารคดีสักเรื่องหนึ่งได้แล้ว แต่จุดเด่นหาได้อยู่ตรงความสนุก เพลิดเพลินเท่านั้น เพราะหนังได้ดำดิ่งเข้าไปค้นหา สืบเสาะ วิเคราะห์ และวิพากษ์ปัญหาความวุ่นวายในภาคใต้ได้อย่างถึงแก่น (แถมยังไม่แร้นแค้นอารมณ์ขัน) พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าก้นบึ้งของความรุนแรงที่ยืดเยื้อ ยาวนานไม่ใช่ศาสนา หรือเขตแดนใดๆ หากแต่เป็นความอยุติธรรม สองมาตรฐาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสันดานของมนุษย์ต่างหาก

หนีตามกาลิเลโอ อาจไม่ใช่หนังที่สนุกสุด หรือลงตัวสุด แต่ผมเชื่อว่ามันหนังที่ “น่าสนใจ” สุดในปีนี้ของค่าย GTH ส่วนหนึ่งคงเพราะอาการลักลั่นระหว่างความพยายามจะผละจากสูตรสำเร็จ (aka การไม่คลี่คลายปม การทิ้งช่องว่าง และการสร้างตัวละครที่ “ไม่น่ารัก” จนคนดูไม่อยากลุ้นเอาใจช่วย) กับเครื่องหมายการค้าสไตล์ GTH (aka ฉากชูป้ายกลางถนน) ผมไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากบทถูกเปลี่ยนแปลงไปมากเพื่อให้ “เหมาะ” จะพะยี่ห้อ GTH หรือเปล่า แต่ความลักลั่นที่ว่าพลันสอดรับกันดีกับโครงเรื่องเกี่ยวกับตัวละครที่ชีวิตหักเหจนเสียศูนย์ สับสน แต่ก็ยังเลือกจะสู้ต่อด้วยการไปเริ่มต้นใหม่ยังต่างแดนท่ามกลางภาวะ “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” คนดูเฝ้ารอให้เชอร์รี่ได้เรียนรู้กฎของโลก แล้วเปิดใจยอมรับความผิดของตน แต่เวลานั้นก็ไม่มาถึง ราวกับหนังจะเตือนให้เราตระหนักว่าบางทีการไถ่บาป หรือความเปลี่ยนแปลงใช่จะเกิดขึ้นภายในเวลาสองชั่วโมง เพื่อให้คนดูได้เดินออกจากโรงหนังด้วยความสบายใจ และบางทีความไม่สมบูรณ์แบบ หรือไม่ดำเนินไปตามมาตรฐาน (ทั้งของมนุษย์และของเรื่องเล่าสักเรื่อง) ก็อาจกลายเป็นความสวยงามอย่างคาดไม่ถึงดุจเดียวกับหอเอนเมืองปิซา

วันจันทร์, มกราคม 04, 2553

The Road: เส้นทางแห่งศรัทธา


“ที่อีกด้านของหุบเขาปรากฏถนนทอดยาวผ่านซากปรักหักพังจากเปลวไฟ ตอไม้ไร้กิ่งก้านและดำเป็นตะโกยืนขนานสองฟากฝั่ง เถ้าธุลีพัดปกคลุมถนนและเสาไฟดำคล้ำ สายระโยงระยางของมันหย่อนคล้อยและปลิวลู่ตามกระแสลม ซากบ้านที่ถูกไฟเผาตั้งตระหง่านบนลานโล่ง เหนือขึ้นไปเป็นทุ่งหญ้าสีเทาโพลนและตลิ่งโคลนสีแดงขนาบข้างถนนซึ่งถูกปล่อยร้าง เหนือขึ้นไปอีกเป็นป้ายโฆษณาโรงแรมขนาดใหญ่ ทุกสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการดูแลรักษาตอนนี้กลับซีดจางและทรุดโทรม” (จาก The Road โดย คอร์แม็ก แม็คคาธีย์)

ทั้งนิยายและหนังเรื่อง The Road ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าหายนะใดส่งผลกระทบให้โลกต้องพบจุดดับดังที่เห็น บางทีอาจเป็นสงครามนิวเคลียร์ การเคลื่อนของเปลือกโลก หรือแรงระเบิดจากดวงอาทิตย์ ทั้งหมดล้วนเป็นไปได้ แต่คงไม่สามารถชี้ชัดเพราะประเด็นสำคัญหาได้อยู่ตรงอะไรทำให้เกิดวันสิ้นโลก ลำดับเหตุการณ์ของจุดจบ ตลอดจนหนทางดิ้นรนเอาตัวรอดของมนุษย์ (ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นในหนังเรื่องนี้ แต่หาชมได้ในหนังอย่าง 2012) หากเป็นคำถามที่ว่า คุณค่าแห่งมนุษย์จะดำรงอยู่รอดต่อไปหรือไม่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายรอบด้าน

หนึ่งปีหลังบทสรุปชวนหดหู่ของ No Country for Old Men ซึ่งความดีถูกตีพ่ายจนต้องถอยร่นไม่เป็นขบวน ขณะความชั่วทวีกำลังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อผสมรวมเข้ากับบรรยากาศมืดหม่นของสภาวะ “กราดกระสุนใส่ความมืด” เพื่อตอบโต้เหตุสะเทือนขวัญในวันที่ 9 กันยายน 2001 จินตนาการอันชัดแจ้งของ คอร์แม็ก แม็คคาธีย์ เกี่ยวกับวันสิ้นโลกจึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แม้ไซไฟจะไม่ใช่แนวทางถนัดของนักเขียนนามอุโฆษผู้นี้ก็ตาม กระนั้นอย่าปล่อยให้ฉากหลังสุดหวือหวาล่อลวงคุณให้หลงวาดฝันถึงสงครามระหว่างคนกับเครื่องจักร ยานอวกาศ และการอพยพสู่ดาวดวงใหม่ ตรงข้าม ในจินตนาการของแม็คคาธีย์ โลกพบกัลปาวสานอย่างเรียบๆ เมื่อ “นาฬิกาหยุดเดินตอน 1.17 น. พร้อมแสงสว่างจ้าและแรงสั่นสะเทือนหลายครั้ง” จากนั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ค่อยๆ ตายจากไปอย่างนิ่งเงียบ ทว่าแน่นอน

The Road เปิดเรื่องหลังหายนะอุบัติมาหลายปี ขณะโลกสิ้นไร้ต้นไม้และสัตว์ทุกชนิด ส่งผลให้อาหารขาดแคลน ผู้คนล้มหายดุจใบไม้ร่วง ทั้งจากภาวะอดอยาก และการฆ่าตัวตายเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ออกตระเวนปล้นข้าวของและจับมนุษย์มาปรุงอาหารประทังชีวิต ท้องฟ้าปราศจากแสงตะวัน อากาศหนาวเหน็บ คละคลุ้งด้วยผงขี้เถ้า ซึ่งปลิวกระจายปกคลุมทุกอย่างเป็นสีเทาหม่น และตลอดทั้งวันสรรพเสียงที่ได้ยินอยู่เสมอ คือ เสียงฟ้าคำราม เสียงต้นไม้ล้มหรือโดนฟ้าผ่า และเสียงไม้ประทุจากแรงเพลิงที่โหมไหม้

เมื่อตระหนักว่าพวกเขาคงไม่อาจเอาชีวิตรอดผ่านอีกหนึ่งฤดูหนาวไปได้ ชายหนุ่ม (วีโก้ มอร์เทนเซน) จึงตัดสินใจพาลูกชาย (โคดี สมิท-แม็คฟี) ออกเดินทางลงใต้เพื่อมุ่งหน้าสู่มหาสมุทร ซึ่งอากาศคงอุ่นกว่า และโอกาสจะได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรกสำหรับเด็กชาย เนื่องจากเขาลืมตาขึ้นดูโลกหลังทุกอย่างดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ชายหนุ่มไม่ได้คาดหวังว่าจะค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ เรือกู้ชีพ หรือแหล่งหลบภัยใดๆ ณ ชายทะเลเหล่านั้น ความจริง สิ่งสุดท้ายที่เขาคาดหวังจะเห็น คือ เพื่อนร่วมโลกคนอื่น เพราะใครก็ตามที่อยู่รอดมาได้ถึงวันนี้คงมีแต่โจร หรือเลวร้ายยิ่งกว่าพวกมนุษย์กินคน

แก่นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่วยังคงฉายประกายเด่นชัด ผ่านเรื่องราวการเอาชีวิตรอดของสองพ่อลูกจากพวกมมนุษย์กินคน โดยไคล์แม็กซ์บีบอารมณ์คงเป็นตอนที่ทั้งสองเผลอบุกรุกเข้าไปยังฐานบัญชาการ รวมถึงห้องใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งเก็บ “อาหาร” ของพวกมัน แต่จุดแตกต่างของ The Road จากนิยายเด่นเรื่องอื่นๆ ของแม็คคาธีย์อย่าง Blood Meridian (ซึ่ง ท็อดด์ ฟิลด์ กำลังดัดแปลงเป็นภาพยนตร์) และ No Country for Old Men อยู่ตรงที่คราวนี้เขาให้น้ำหนักกับ “คนดี” แบบเต็มร้อย แล้วปล่อยให้ “คนเลว” ซึ่งมักจะเป็นสีสันหลักของนิยาย กลายเป็นเพียงภัยคุกคามที่ลอยวนอยู่ไม่ห่าง ทั้งในแง่รูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ นอกจากสองพ่อลูกต้องหลบหนีให้พ้นเงื้อมมือของพวกมนุษย์กินคนแล้ว พวกเขายังต้องต่อสู้ภายในจิตใจไม่ให้ตนเองกลายเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

“เราจะไม่กินใครใช่ไหม” เด็กชายถาม
“ใช่แล้ว แน่นอนที่สุด”
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
“เพราะเราเป็นคนดี”
“ใช่”
“และเรายังมีไฟในหัวใจ”
“และเรายังมีไฟในหัวใจ ใช่แล้ว”

แม้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะมุ่งฉายแสงไปยังกลุ่มคนดีเป็นหลัก แต่ใช่ว่า The Road จะขาดแคลนบทปะทะงัดข้อในเชิงศีลธรรมและมนุษยธรรมเสียทีเดียว โดดเด่นสุดจาก “จุดยืน” ที่ขัดแย้งระหว่างเด็กชายกับพ่อของเขา ซึ่งนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่าโดยเนื้อแท้แล้ว มนุษย์เห็นแก่ตัว หรือรู้จักเสียสละเพื่อผู้อื่น โดยคำว่าเสียสละในที่นี้ไม่ได้กินความเพียงการ “ทำดี” กับคนอื่นเท่านั้น หากแต่เป็นการทำดี ที่อาจส่งผลกระทบให้ตนสูญเสียบางอย่าง โดยไม่คาดหวังสิ่งใดตอบแทน เช่น มีความแตกต่างอยู่ไม่น้อยระหว่างการให้ทิปพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่คุณมาทานเป็นประจำ (แล้วหวังอยู่ลึกๆ ว่าพนักงานเสิร์ฟจะปฏิบัติดีกับคุณเป็นการตอบแทน) กับการให้ทิปพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารข้างทางที่คุณจะไม่มาทานซ้ำอีก

เด็กชายยืนกรานให้พ่อช่วยเหลือชายชรา (โรเบิร์ต ดูวัล) ที่ตาใกล้บอด และโจร (ไมเคิล เค. วิลเลียมส์) ซึ่งพยายามปล้นทรัพย์สินของพวกเขา แต่ชายหนุ่มกลับเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการสิ้นเปลืองเสบียงที่ใกล้ร่อยหรอ และอาจเข้าขั้นโง่เขลาดุจเดียวกับนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่า เด็กชายถือกำเนิดในยุคอันมืดมน เมื่อมนุษยธรรมแร้นแค้นพอๆ กับอาหาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะคาดหวังประพิมพ์ประพายแห่งแสงสว่างจากทุกหัวมุมถนน ด้วยรู้สึกว่าปัจจุบันคือก้นบึ้งแห่งหุบเหว จากนี้ต่อไปจึงเหลือแค่เส้นทางสู่เบื้องบนและความงามที่ไม่คาดฝัน เช่น เมื่อเขาได้ค้นพบหลุมหลบภัยพร้อมอาหารกระป๋องเรียงรายเต็มชั้นวางของ หรือลิ้มรสน้ำอัดลมกระป๋องแรก

ในทางกลับกัน ชายหนุ่มที่เคยผ่านวันคืนแสนสวยมาก่อนย่อมไม่อาจมองเห็นแสงสว่างใดๆ ท่ามกลางสภาพอันแห้งแล้ง มืดหม่น ซึ่งกระตุ้นทุกความเลวร้ายแห่งมนุษย์ให้เต้นระริกและออกมาโลดแล่นอย่างอิสระ น้ำอัดลมอายุหลายปีรังแต่จะทำให้เขาคิดถึงไวน์รสเลิศ อาหารกระป๋องรังแต่จะทำให้เขาถวิลหาสเต๊กจานหรู ตอไม้ดำเป็นตะโกรังแต่จะทำให้เขาหวนไห้ถึงทิวป่าเขียวชอุ่ม ท้องฟ้าสีเทาครึ้มรังแต่จะทำให้เขาโหยหาแสงตะวันอ่อนๆ ในยามเช้า ยามที่โลกกำลังดับสูญ ความทรงจำกลับเป็นสิ่งที่ทิ่มแทงคุณให้เจ็บปวดมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับภรรยา (ชาร์ลีซ เธรอน) ผู้ยอมแพ้ต่อชะตากรรมไปก่อนหน้า และเคลือบแคลงต่อการตัดสินใจที่จะดิ้นรนสู้ชีวิตอย่างไม่ย่อท้อ

บางที “ไฟในหัวใจ” อาจไม่ได้หมายถึงความดีและคุณค่าแห่งมนุษย์ (ซึ่งยังคงลุกโชนในตัวพ่อลูก แต่กลับดับมอดในตัวคนเลวทั้งหลาย) เพียงเท่านั้น แต่ยังก้าวข้ามไปสู่ความหวัง โดยสำหรับชายหนุ่มมันอาจเป็นแค่ความหวังว่าจะมีชีวิตรอด หรืออย่างน้อยก็ช่วยเหลือให้ลูกชายของเขามีชีวิตรอดต่อไปได้ แต่สำหรับเด็กชายมันกลับมีความหมายมากกว่านั้น ดังจะเห็นได้จากฉากที่ชายหนุ่มสั่งให้โจรเปลื้องเสื้อผ้าทั้งหมดออก แล้วปล่อยเขาไว้ให้หนาวตายกลางถนนเพื่อป้องกันไม่ให้เขาวกกลับมาปล้นข้างของอีก แต่การกระทำดังกล่าวกลับถูกเด็กชายประท้วง

“ลูกไม่ใช่คนที่ต้องคิดกังวลเกี่ยวกับทุกสิ่งนี่”
“คิดสิ ผมคิด”

มองในแง่รูปธรรม ชายหนุ่มรับหน้าที่ครูสอนเด็กชายเกี่ยวกับหนทางเอาชีวิตรอดในยุคสมัยอันยากเข็ญ เคี่ยวให้เขากล้าหาญ แข็งแกร่งพอจะยืนหยัดต่อสู้ เมื่อถึงเวลาที่เขาไม่อาจอยู่ปกป้องเด็กชายได้อีกแล้ว แต่มองในแง่จิตวิญญาณ เด็กชายได้กลายมาเป็นครูสอนชายหนุ่ม (รวมถึงคนดู) ให้ไม่ยอมแพ้ต่อมนุษย์ และศรัทธาในความดีงาม ซึ่งสุดท้ายชายหนุ่มก็ดูจะตระหนักข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงยอมทำตามประสงค์ของเด็กชาย ก่อนหนัง (และนิยาย) จะตอกย้ำประเด็นข้างต้นอย่างชัดเจนอีกครั้งในฉากจบที่งดงาม และอาจใกล้เคียงกับคำว่า “สุขสันต์” ที่สุดแล้วสำหรับสถานการณ์อันแสนมืดมิดเช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าความหวังของเด็กชายนั้นหาใช่เพียงภาพฝันลมๆ แล้งๆ

แทบไม่น่าเชื่อว่า นักเขียนที่นิยมตีแผ่ความโหดร้ายสารพันของมนุษย์อย่างถึงเลือดถึงเนื้อแบบแม็คคาธีย์จะเลือกสรุปเรื่องราวที่มีฉากหลังชวนหดหู่ที่สุดเรื่องหนึ่งของเขาด้วยนัยยะแห่งความหวัง ความอบอุ่น และการเริ่มต้นเพื่อกอบกู้อารยธรรม (ครอบครัวเร่ร่อนที่ตามรอยเด็กชายมาตลอดมีสมาชิกคนหนึ่งเป็นเด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกับเขาด้วย) บางทีอาจเป็นเพราะเขายังมี “ไฟในหัวใจ” ยังเชื่อมั่นในธรรมชาติแห่งมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มืดบอดต่อความชั่วร้ายที่รายรอบ เขาเพียงต้องการจะบอกว่ามนุษย์เราจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงศรัทธาและความหวัง... แล้วไม่ช้าไม่นานความดีงามก็จะค้นพบเราเองในที่สุด

Short Replay: Crash


ความแปลกประหลาด พิลึกพิลั่นถือเป็นคุณสมบัติที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในหนังของ เดวิด โครเนนเบิร์ก ไม่ว่าจะเป็นภาพคนแปลงร่างเป็นแมลงวัน เครื่องพิมพ์ดีดแปลงร่างเป็นสัตว์ประหลาด ช่องท้องแปลงร่างเป็นช่องเสียบวีดีโอ ฯลฯ แต่คงไม่มีครั้งใดที่หนังของเขาจะได้รับเสียงต่อต้านมากเท่า Crash ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของสองผัวเมีย (รับบทโดย เจมส์ สเปเดอร์ และ เดบอราห์ คารา อังเกอร์) ที่ต้องการฟื้นคืนชีวิตรักที่เริ่มโรยรา เหินห่าง ด้วยการเข้าไปพัวพันกับสมาคมใต้ดิน ซึ่งหลงใหลอุบัติเหตุและถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศผ่านบาดแผล ตลอดจนการนั่งเบาะหลังของรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงเพื่อเลียนแบบอุบัติเหตุของคนดังอย่าง เจมส์ ดีน และ เจน แมนส์ฟิลด์!?!

หนังดัดแปลงจากนิยายสุดอื้อฉาวของ เจ. จี. บัลลาร์ด ซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนักเช่นกันเมื่อครั้นตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1973 (บางคนถึงขนาดกล่าวหาว่า “นักเขียนผู้นี้ไปไกลเกินกว่าจิตแพทย์จะช่วยเหลือได้”) แน่นอน เมื่อเรื่องราวแบบนี้มาตกอยู่ในมือของผู้กำกับที่ไม่ชอบประนีประนอมวิสัยทัศน์อย่างโครเนนเบิร์ก คนดูจึงได้เห็นหลายฉากที่จะตามหลอกหลอนจิตใต้สำนึกของพวกเขาไปอีกนาน ไม่ว่าจะเป็นภาพโคลสอัพบาดแผลบ่อยครั้ง ภาพคนพยายามร่วมรักกับบาดแผล ภาพหญิงสาวในสภาพครึ่งคนครึ่งเครื่องจักรแนบต้นขาดามเหล็กกับประตูรถยนต์อย่างสุขสม ภาพชายสองคนเล้าโลมกันโดยการลูบไล้แผลเป็นของอีกฝ่าย ทั้งหมดอาจแลดูเหนือจริงจนน่าขัน แต่ขณะเดียวกันก็ชวนให้ขนลุกในความพยายามสุดโต่งของมนุษย์ที่จะค้นหาตัวตน ตลอดจนเป้าหมายแห่งการมีลมหายใจอยู่

จุดเด่นของ Crash อยู่ตรงบรรยากาศเย็นชาและคุกคาม แฝงการวิพากษ์สังคมยุคใหม่ ซึ่งเครื่องจักรก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะมนุษย์กลับดำเนินชีวิตไปวันๆ ดุจร่างไร้วิญญาณ อย่างไรก็ตาม หนังไม่ลืมที่จะสะท้อนแก่นความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสองตัวเอก จนทำให้ฉากจบของหนังให้ความรู้สึกเศร้าสร้อยเคล้าโรแมนติกได้อย่างเหลือเชื่อท่ามกลางความแปลกพิกล ความวิตถาร และความน่าสยองแบบไม่รู้จบ