วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 16, 2553

The Men Who Stare at Goat: ฝันร้ายสไตล์อเมริกัน


หลังจากดู The Men Who Stare at Goats จบ ผมได้แต่คาดหวังว่าคำอ้างตอนต้น (“นี่เป็นเรื่องจริงจนคุณไม่อยากเชื่อ”) เป็นเพียงหนึ่งในแก๊กตลกร้ายกาจแบบเดียวกับคำอ้างของสองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคนในตอนต้นของหนังเรื่อง Fargo แต่จากการสืบเสาะเพิ่มเติม ผมกลับพบว่าเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับ “หน่วยเจได” ประจำกองทัพสหรัฐนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ผ่านการสัมภาษณ์นายทหารระดับสูงและการค้นคว้าหาข้อมูลเชิงลึกของนักข่าว/นักทำสารคดีชาวอังกฤษ จอน รอนสัน ก่อนจะรวบรวมมาเป็นหนังสือขายดีชื่อเดียวกัน และถูกจัดให้อยู่ในหมวด Non-Fiction

สาเหตุที่ผมไม่อยากเชื่อว่าสิ่งที่เห็นบนจอจะตั้งอยู่บนรากฐานของ “เรื่องจริง” ก็เพราะทุกอย่างช่างดูโง่เง่า ไร้สาระ และอาจถึงขั้นบ้าบอคอแตก (ด้วยเหตุนี้กระมังหลายคนถึงชอบพูดว่าบางครั้งเรื่องจริงก็แปลกยิ่งกว่านิยายเสียอีก) ไม่ว่าจะเป็นนายพลที่พยายามจะวิ่งทะลุกำแพง หรือกองทัพสหรัฐที่ก่อตั้ง “หน่วยทหารพลังจิต” ขึ้น แล้วปล่อยให้อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของอดีตทหารผ่านศึกเวียดนาม ซึ่งได้อิทธิพลทางความคิดจากลัทธินิวเอจมากพอๆ กับยาแอลเอสดี โดยแบบฝึกหัดของเขาประกอบไปด้วยการเดินลุยไฟ การเต้นเพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณ การท่องบทสวดคารวะจักรวาล และการปิดตาขับรถหักหลบกรวยถนน หรือสายลับมือหนึ่งประจำหน่วยที่สามารถเพ่งโทรจิตค้นหาบุคคล (หรือกระทั่งสลายก้อนเมฆ) ใช้ “ดวงตาพิฆาต” สะกดใจคู่ต่อสู้ และสังหารแพะด้วยการจ้องมองมันเท่านั้น

นอกจากนี้ สองนักแสดงที่จบการศึกษาจาก โคน อคาเดมี ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอย่าง จอร์จ คลูนีย์ (Burn After Reading, O Brother, Where Art Thou? Intolerable Cruelty) และ เจฟฟ์ “เดอะ ดู๊ด” บริดเจส (The Big Lebowski) ยังสลับคิวกัน “ปล่อยของ” เพื่อเรียกเสียงฮาแบบไม่เกรงกลัวว่าคนดูจะมองพวกเขาเป็นตัวการ์ตูน เพราะมันดูจะสอดคล้องกันดีกับมุกตลกอ้างอิงป็อปคัลเจอร์ตั้งแต่ Star Wars ไปจนถึง The Manchurian Candidate และ The Silence of The Lambs

ด้วยท่าที “เน้นเล่นมากกว่าเอาจริง” ดังกล่าว ผมจึงไม่คาดคิด (หรืออาจถึงขั้นช็อกเลยด้วยซ้ำ) เมื่อปรากฏว่าหลากหลายรายละเอียดในหนังอ้างอิงมาจากเรื่องจริง

แต่เนื่องจากหนังสือของ จอน รอนสัน ขาด “พล็อต” ที่จับต้องได้ มือเขียนบท ปีเตอร์ สตรอแฮน จึงตัดสินใจสร้างเรื่องราวของ บ็อบ วิลตัน (ยวน แม็คเกรเกอร์) ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนคนดูในการเข้าไปทำความรู้จักกับโลกอันเหนือจริงของกองทัพเจได เขาเป็นนักข่าวชาวอเมริกัน (การเลือกใช้บริการนักแสดงเชื้อสายสก็อตอย่างแม็คเกรเกอร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นหน้าจากบทบาท โอบี-วัน เคโนบี ใน Star Wars Trilogy เป็นอีกหนึ่งแก๊กตลกวงในของทีมงาน เพื่อช่วยให้ประโยค “นักรบเจไดคืออะไร” ของบ็อบฟังดูชวนหัวขึ้นไปอีกขั้น) ที่พยายามจะพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายด้วยการกระโดดเข้าร่วมสงครามในตะวันออกกลาง หลังถูกภรรยาทอดทิ้งไปอยู่กินกับเจ้านายของเขา บ็อบโหยหาข่าวใหญ่ เรื่องราวชวนตะลึงที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อน และเขาก็ขุดเจอขุมทองบ่อยักษ์ในรูปของ ลิน แคสซิดี้ (คลูนีย์) อดีต “สายลับพลังจิต” มือหนึ่งที่กำลังจะเดินทางข้ามทะเลทรายในอิรักเพื่อไปปฏิบัติภารกิจลับสุดยอด

เหตุการณ์ต่อจากนั้นดำเนินไปตามกรอบของแนวทาง road movie เมื่อบ็อบ (และคนดู) ได้เรียนรู้ (ผ่านฉากแฟลชแบ็ค) เกี่ยวกับต้นกำเนิดของหน่วยพลังจิตในกองทัพสหรัฐ รวมไปถึงจุดจบซึ่งเริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับการมาถึงของ แลร์รี ฮูเปอร์ (เควิน สเปซีย์) นักรบเจไดที่ก้าวเข้าสู่ด้านมืดจนกลายสภาพเป็น ดาร์ท เวเดอร์ ในที่สุด ขณะเดียวกันระหว่างทาง ชายทั้งสองยังถูกโจรชาวอิรักจับเป็นตัวประกัน แต่สุดท้ายก็หนีรอดมาได้โดยอาศัย “ทักษะพิเศษ” ของนักรบเจได ซึ่งลินเพียรอธิบายให้บ็อบฟัง (อันที่จริงสาเหตุน่าจะเป็นเพราะโชคช่วยเสียมากกว่า) พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ได้ช่วยเหลือพ่อค้าท้องถิ่นไว้คนหนึ่ง ก่อนทั้งสามจะพบเจอกับนักธุรกิจชาวอเมริกัน (โรเบิร์ต แพ็ทริค) และกองทัพองครักษ์ติดอาวุธครบมือที่วางตัวกร่างเหมือนเป็นเป็นเจ้าของประเทศ โดยตลอดเวลาลินปกปิดจุดมุ่งหมายในการเดินทางมายังทะเลทราย ด้วยเชื่อว่าบ็อบมีบทบาทสำคัญต่อภารกิจนี้เช่นกัน และไม่ใช่แค่ความบังเอิญที่ชักนำทั้งสองมาร่วมการผจญภัย หากแต่เป็นชะตาฟ้าลิขิตต่างหาก

ในช่วงแรกหนังเชิญชวนให้คนดูหัวเราะเยาะแนวคิดอันเหนือจริงของหน่วยเจได เช่นเดียวกับบ็อบที่มองพฤติกรรมประหลาดของลินว่าเลื่อนลอย ไร้เหตุผล และอาจถึงขั้นเสียสติ แต่จู่ๆ ในช่วงท้ายเรื่องหนังกลับปรับเปลี่ยนท่าที ทำให้นักข่าวหนุ่มเริ่มสัมผัส “แก่นสาร” ของพฤติกรรมบ้าๆ เหล่านั้น และจุดมุ่งหมายแท้จริงของหน่วยเจได ซึ่งมีขึ้นเพื่อขับเน้นสันติภาพและความสำคัญของจิตใจเหนืออาวุธยุทโธปกรณ์ บางทีอาจเพราะชีวิตที่มืดหม่น ไร้จุดหมายต่อการดำรงอยู่ของบ็อบ ซึ่งไม่แตกต่างจากคนกรุงในสังคมยุคใหม่อีกจำนวนมาก กำลังต้องการหลักยึดเหนี่ยวท่ามกลางความโกลาหลแห่งโลกทุนนิยมและความรุนแรงทางอคติ บางทีการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่อาจเรียกร้องให้คุณต้องกล้าหาญและมุ่งมั่นพอจะก้าวพ้นจากกรอบแห่งมาตรฐาน

ดูเหมือนเนื้อหาส่วนนี้ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อผลักดัน “พล็อต” ไปสู่จุดหมาย ทำให้บ็อบได้เรียนรู้บางอย่างจากการผจญภัย ก่อนจะโยงเข้าสู่ฉากจบที่ทอประกายความหวังเป็นนัยๆ เพราะแม้ลินและ บิล แจงโก้ (บริดเจส) ผู้ก่อตั้งกองทัพเจไดจะจากไป ส่วนแลร์รี่ก็ถูกด้านมืดครอบงำจนหาทางออกไม่เจอ แต่อย่างน้อยคบเพลิงก็ถูกส่งต่อมายังบ็อบได้ทันเวลา

การพลิกผันมาเล่นท่า “เอาจริง” ในช่วงท้ายเรื่องให้ความรู้สึกแร้นแค้น ขาดชีวิตชีวา และที่สำคัญดูขัดเขิน ขัดแย้งกับโทนเย้ยหยัน เสียดสีในช่วงครึ่งแรก ตรงกันข้าม The Men Who Stare at Goats กลับลื่นไหลอย่างสวยงาม ขณะเดินหน้าล้อเลียนกองทัพผ่านอารมณ์ขันอันร้ายกาจ เช่น เมื่อนายพลฮอปกู๊ด (สตีเฟน แลง) อธิบายจุดกำเนิดของหน่วยวิจัยโทรจิตว่าเริ่มต้นจากความเข้าใจผิดของรัสเซีย ซึ่งคิดว่าสหรัฐกำลังค้นคว้าเรื่องนี้อยู่ จนสุดท้ายสหรัฐต้องกระโจนเข้าร่วมวงด้วยเพราะ “เราไม่อาจปล่อยให้รัสเซียกลายเป็นผู้นำด้านพลังเหนือธรรมชาติได้” (สำหรับประชากรผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน คุณคงไม่รู้ว่าควรจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี ที่เห็นเงินของคุณถูกใช้ไปอย่างรอบคอบเช่นนี้!) หรือวิพากษ์บทบาทของสหรัฐในอิรัก รวมถึงนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เช่น เมื่อกลุ่มองครักษ์ของพ่อค้าชาวอเมริกันระดมกราดกระสุนไปรอบทิศเพื่อตอบโต้ศัตรูซึ่งไม่มีอยู่จริง

หนังเชื่อมโยงความหวาดวิตกของอเมริกาหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนเข้ากับความบอบช้ำในอดีตจากสงครามเวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในแสนยานุภาพของกองทัพสหรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนใหญ่คนโตในเพนตากอนจะเริ่มหันมาสนใจ “พลังทางจิต” (แล้วเออออห่อหมกไปกับโครงการบ้าๆ บวมๆ อย่างหน่วยวิจัยโทรจิต) หลังจากค้นพบว่ากำลังเงิน กำลังคน และกำลังอาวุธเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอจะเอาชนะกลุ่มคนเอเชียตัวเล็กๆ ที่มีทุกอย่างน้อยกว่าในเชิงปริมาณ แต่เหนือกว่าในแง่ความมุ่งมั่นเป็นหนึ่งเดียว

ฉากที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ในหนังสงครามเวียดนาม คือ ภาพทหารอเมริกันถูกซุ่มโจมตีโดยศัตรูที่มองไม่เห็น (ดังเช่นครึ่งหลังของหนังเรื่อง Full Metal Jacket) หรือตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงเพราะไม่อาจแยกศัตรูจากชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้ จนสุดท้ายต้องลงเอยด้วยการกราดกระสุนไปทั่ว (หรือระเบิดทุกอย่างให้ราบเป็นหน้ากลองเหมือนในฉากเด็ดของ Apocalypse Now) ด้วยความหวังว่าจะถูกเป้าหมายเข้าบ้าง

ความต่างของสงครามครั้งใหม่ ณ ดินแดนตะวันออกกลาง ถูก The Men Who Stare at Goats นำมาล้อเลียนอย่างเจ็บแสบในฉาก “ปั๊มน้ำมัน” กล่าวคือ การกราดกระสุนไปทั่วของอเมริกันชนนั้นปราศจากหลักฐานที่หนักแน่น ขาดความรอบคอบ (อเมริกาบุกอิรักด้วยข้อหาว่าครอบครองอาวุธร้ายแรง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเพื่อยืนยันข้ออ้างดังกล่าว เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ ณ เวลานั้นเป็นผลจากอารมณ์หวาดระแวง ตื่นตระหนกหลังโศกนาฏกรรมที่ตึก เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อเครื่องบินโดยสารถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทำลายล้าง เมื่อผู้โดยสารข้างๆ คุณผันตัวเป็นนักรบบ้าคลั่ง อเมริกันชนในเวลานั้นคงมีความรู้สึกไม่ต่างจากทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม นั่นคือ ไม่สามารถแยกศัตรูจากชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้ จนส่งผลไปสู่ปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” และการล่วงละเมิดสิทธิชาวอาหรับจำนวนมาก) เพราะปฏิบัติการตอบโต้อย่างบ้าระห่ำทั้งหลายแหล่ถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากเสียงท่อไอเสียระเบิดเท่านั้น!

นอกจากนี้ หนัง (และหนังสือ) ยังบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาอีกว่าแนวคิดอันพิลึกพิลั่นของ “หน่วยพลังจิต” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสารพันเทคนิคสำหรับทรมานนักโทษระหว่างสงครามต่อต้านการก่อการร้ายด้วย เช่น การเปิดเพลง I Love You ของไดโนเสาร์บาร์นีย์ให้นักโทษฟังเป็นเวลาติดต่อกัน 24 ชม. ก่อนเริ่มต้นสอบปากคำ และการใช้ยาแอลเอสดีในปริมาณสูงแทนสัจจะเซรุ่ม

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายแล้วการผจญภัยของบ็อบกับลินจะไปลงเอยยังค่ายกักกันนักโทษกลางทะเลทราย ซึ่งแลร์รี่รับผิดชอบควบคุมภายใต้การอนุมัติงบประมาณโดยรัฐบาลสหรัฐ ไม่ต้องสงสัยว่าค่ายดังกล่าวเปรียบเสมือนตัวแทนของเรือนจำอาบูกราอิบ ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากการทรมานนักโทษอย่างสาหัสและด้วยกลวิธีแปลกประหลาด จนนักโทษหลายคนเสียถึงขั้นเสียชีวิตทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายแต่อย่างใด (ติดตามรายละเอียดส่วนหนึ่งได้ในหนังสารคดีชนะรางวัลออสการ์เรื่อง Taxi to the Dark Side) และการร่วมมือกันวางแผน “ปล่อยแพะ” ของอัศวินเจไดสามคนจากสามรุ่นในช่วงท้ายเรื่องก็แสดงให้เห็นจุดยืนอย่างชัดเจนของ The Men Who Stare at Goats ต่อสงครามในประเทศอิรักและนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดีบุช

Oscar Nominees in a Supporting Role


แม็ท เดมอน (Invictus)

เมื่อแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งรักบี้เวิลด์คัพ ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศหลังยุคแบ่งแยกสีผิวมองเห็นโอกาสที่จะสร้างความเป็นหนึ่งให้คนในชาติจากการคว้าถ้วยชนะเลิศมาครอง และคนที่จะช่วยทำฝันนั้นในกลายเป็นจริง คือ ฟรังซัวส์ พีนาร์ กัปตันทีมชาติรักบี้ของประเทศแอฟริกาใต้ รับบทโดย แม็ท เดมอน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายจาก Good Will Hunting และคว้ารางวัลมาครองในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิม

ซูเปอร์สตาร์จากหนังไตรภาค เจสัน บอร์น ที่ทำเงินทั่วโลกรวมกันมากกว่า 900 ล้านเหรียญ ยอมรับว่าเขาไม่ค่อยรู้จักกฎกติกาของกีฬารักบี้สักเท่าไหร่ “เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยสองสามคนของผมเล่นรักบี้ ผมเคยไปดูการแข่งสองสามครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะมีกฎหลักๆ แค่ ‘จัดการฆ่าไอ้คนถือบอลซะ’ นั่นเป็นความทรงจำเท่าที่ผมพอจะนึกออก มันเป็นกีฬาที่โหดเหี้ยม... มันเป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่”

เนลสัน แมนเดลา (มอร์แกน ฟรีแมน) เรียกตัวฟรังซัวส์เข้าพบ พร้อมกับมอบภารกิจให้เขาพาทีมคว้าถ้วยเวิลด์คัพมาครอง ซึ่งถือเป็นภารกิจสุดหิน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าคนผิวดำส่วนใหญ่ในแอฟริกาใต้เกลียดทีมชาติรักบี้ (และมักจะเชียร์ทีมตรงข้ามให้ชนะ) เพราะมันเป็นตัวแทนของยุคสมัยแห่งการแบ่งแยก “นั่นแหละ อัจฉริยภาพของแมนเดลลา” เดมอนกล่าว “และถือเป็นปริศนาประการสำคัญเกี่ยวกับแมนเดลลา ชายคนนี้ถูกจองจำเป็นเวลา 27 ปี แต่ทันทีที่เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี สิ่งแรกที่เขาทำ คือ ให้อภัยกลุ่มคนที่สั่งจองจำเขา”

เพื่อรับบทนี้เดมอนจะต้องแปลงโฉมตัวเองด้วยการเพิ่มน้ำหนักและกล้ามเนื้อให้ดูน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งฝึกพูดสำเนียงแอฟริกาใต้ ซึ่งตามความเห็นของเดมอน “เรียกร้องให้ต้องเปลี่ยนทิศทางการวางตำแหน่งลิ้น เหมือนการเล่นยิมนาสติกภายในปาก” โดยเขามีเวลาฝึกฝนแค่หกเดือน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าไร้ที่ติ

2009 ถือเป็นปีที่ประสบความสำเร็จของเดมอน โดยนอกจาก Invictus แล้ว เขายังกวาดคำชมมาไม่น้อยจากการแสดงนำในหนังตลกเรื่อง The Informant! ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ส่วนปีหน้าก็ทำท่าว่าจะไปได้สวยเช่นกัน เมื่อเขาเริ่มต้นเปิดตัวด้วยหนังแอ็กชั่นเรื่อง The Green Zone ซึ่งเป็นการมาร่วมงานกันอีกครั้งกับ พอล กรีนกราส

วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน (The Messenger)

หลายฉากในหนังเรื่อง The Messenger ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของนายทหารสองคนที่ต้องรับหน้าที่นำข่าวร้ายไปแจ้งกับครอบครัวของนายทหารที่เสียชีวิต คนดูจะได้เห็น โทนี่ สโตน (วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน) หนึ่งในสองนายทหาร นิ่งงันท่ามกลางความเศร้าโศก โกรธแค้นรอบข้าง แต่เรากลับสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดภายในของตัวละคร ซึ่งไม่เคยผ่านสนามรบและกำลังพยายามจะเลิกเหล้า หลากหลายอารมณ์ที่พร้อมจะระเบิดออกมากลับถูกเก็บกดไว้ภายใต้ภาพลักษณ์อันแข็งแกร่ง เย็นชา และดูเหมือนจะคุมสถานการณ์อยู่

กระนั้นไฮไลท์ที่แท้จริงในผลงานการแสดงระดับทอปฟอร์มของฮาร์เรลสัน คือ ฉากในช่วงท้ายเมื่อสโตนอยู่ตามลำพังและปราศจากบทพูด มันเป็นช่วงเวลาเดียวที่เขายอมลดการ์ดลง แล้วระเบิดความอัดอั้นทั้งหลายออกมาเป็นน้ำตาและเสียงสะอื้น น้ำตาสำหรับนายทหารที่ต้องจากไป น้ำตาสำหรับความเจ็บปวดของวิล (เบน ฟอสเตอร์) คู่หูคนใหม่ของเขา รวมถึงน้ำตาสำหรับตัวเขาเอง... นายทหารที่ไม่เคยผ่านบททดสอบความเป็นลูกผู้ชาย

ฮาร์เรลสันเดินทางออกจากบ้านเกิดในรัฐโอไฮโอตั้งแต่อายุ 12 ปีเพื่อมาเรียนการแสดง ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเขียนบทละครและมักจะแบ่งเวลามาแสดงละครเวทีเป็นครั้งคราวช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเอาจริงกับอาชีพในวงการบันเทิงขนาดไหน ชื่อเสียงของเขาเขาดูจะพุ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อเขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จาก The People vs. Larry Flint นำแสดงในหนังสุดอื้อฉาวของ โอลิเวอร์ สโตน เรื่อง Natural Born Killers ประกบ เดมี มัวร์ ในหนังฮิต Indecent Proposal และเข้าคู่กับ เวสลีย์ สไนป์ ได้อย่างลงตัวใน White Man Can’t Jump

แต่แล้วเขากลับเริ่มห่างหายจากจอภาพยนตร์ไปพักหนึ่ง โดยบอกว่าต้องการเกษียณตัวเองชั่วคราวเพราะรู้สึกไม่สนุกกับงานแสดงอีกต่อไป ก่อนจะกลับมาด้วยการรับบทสมทบมากขึ้น เช่น ในหนังดังอย่าง 2012 และ No Country for Old Men ก่อนจะขุดเจอขุมทองในรูปของ The Messenger “มันเป็นบทหนังที่งดงามที่สุดบทหนึ่งเท่าที่ผมเคยอ่านมา เต็มไปด้วยพลัง และเปี่ยมอารมณ์ขัน และเมื่อผมได้พบกับ โอเรน มูฟแมน ผู้กำกับ ผมก็ประทับใจในความเฉียบคมของเขา เขาเตรียมพร้อมและเข้าใจทุกอย่างถี่ถ้วนจนผมคิดว่าเราน่าจะสร้างหนังดีๆ ได้สักเรื่อง แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะทำมันออกมาได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้” นักแสดงวัย 38 ปีกล่าว

คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (The Last Station)

ฉากตายเป็นสิ่งหนึ่งที่ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ โปรดปราน และเขาก็มีโอกาสได้บอกลาโลกอย่างสวยงามในผลงานชิ้นล่าสุด The Last Station ซึ่งเขารับบทเป็น ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซีย ฉากดังกล่าวสร้างอารมณ์หลอกหลอนได้สมจริงเนื่องจากความใส่ใจในรายละเอียดของพลัมเมอร์ ตั้งแต่ลมหายใจของคนใกล้ตาย ไปจนถึงภาวะฟื้นและหมดสติเป็นพักๆ ตลอดจนรอยยิ้มจางๆ ที่มุมปากขณะวิญญาณของเขาหลุดออกจากร่าง

“พวกมันแตกต่างกันไป” เขากล่าวถึงฉากการตาย “ผมเคยตายโดยที่ไม่หลับตาซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจกว่า เช่น ในละครเรื่อง Cyrano de Bergerac มันวิเศษมากเพราะแสงไฟของโรงละครจะส่องตรงมายังดวงตาคุณ ทำให้ทุกอย่างดูน่ากลัวชั่วแวบ แต่ซีราโนจากโลกไปอย่างมีความสุขเพราะเขาได้ค้นพบรักแท้ ฉะนั้นในแววตาเขาจึงทอประกายอิ่มเอม”

น่าประหลาดที่ความตายดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลจากเส้นทางนักแสดงของพลัมเมอร์เสียเหลือเกิน แม้เขาจะเวียนว่ายอยู่ในวงการมานานกว่า 50 ปี ผ่านการรับบทดังๆ มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กัปตัน ฟอน แทรป ในหนังเพลงสุดฮิต The Sound of Music หรือ ไมค์ วอลเลซ ในผลงานมาสเตอร์พีซของ ไมเคิล มาน The Insider โดยปีนี้นอกจากบทตอลสตอยซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกแล้ว พลัมเมอร์ยังร่วมแสดงในหนังอีกสามเรื่องและพากย์เสียงหนังการ์ตูนอีกสองเรื่อง ขณะหนังสืออัตชีวประวัติ In Spite of Myself เพิ่งถูกตีพิมพ์ไปไม่นาน จู่ๆ เจ้าของสองรางวัลโทนี่จาก Cyrano และ Barrymore ดูจะกลายเป็นที่ต้องการตัวของทุกคน

แรกทีเดียวพลัมเมอร์ไม่แน่ใจว่าควรจะแสดงเป็น ลีโอ ตอลสตอย ดีไหม เนื่องจากเขาไม่มั่นใจว่าจะสามารถสรุปความยิ่งใหญ่ของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้ในหนังเรื่องเดียวได้ “แต่ผู้กำกับ ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน ฉลาดเลือก โดยพุ่งประเด็นความสนใจไปยังเรื่องราวความรักในช่วงบั้นปลายชีวิตของตอลสตอย พร้อมกับสำรวจบทบาทของภรรยาเขา ซอฟยา ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่เฉียบคม เลือกโฟกัสไปยังเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเขา แล้วเจาะรายละเอียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับหนังหนึ่งเรื่อง ดังนั้นผมจึงตอบตกลง” นักแสดงเชื้อสายแคนาดากล่าว ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าอีกสาเหตุที่เขาตกลงใจรับเล่นก็เพราะมันเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ “ผมชื่นชอบความท้าทายของตัวละครจริง ผมสนุกกับการค้นคว้าหาข้อมูล”

ฉากทีเด็ดของหนังคงเป็นตอนที่ตอลสตอยปลุกปล้ำกับภรรยาบนเตียง ท่ามกลางเสียงกรีดร้องและเสียงหัวเราะลั่น “ฮอฟฟ์แมนอาจเป็นคนเขียนบท แต่เฮเลนกับผมเป็นคนเพิ่มความสนุกสนานให้กับฉากนั้น” พลัมเมอร์กล่าวยิ้มๆ (อายุจริงของเขาและ เฮเลน เมียร์เรน ซึ่งรับบทเป็นซอฟยาค่อนข้างใกล้เคียงตัวละครจริง “มันยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดโดยเฉพาะสำหรับตอลสตอย เพราะเขาเป็นคนที่มีอารมณ์ทางเพศสูง แม้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับซอฟยาจะเริ่มเลวร้ายลงในช่วงท้าย แต่พอเขาพาเธอไปยังเตียงนอน คนดูยังคงสัมผัสได้ถึงความรักที่ซ่อนอยู่ภายใน แม้คนทั้งสองจะไม่ยอมรับก็ตาม”

หนังดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ช่วงปี 1910 เมื่อตอลสตอยกลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางสังคม เขาคิดจะลบชื่อภรรยาและครอบครัวออกจากพินัยกรรม เพื่อมอบนิยายทั้งหมดให้เป็นสมบัติของชาวรัสเซีย แต่นั่นเป็นสิ่งที่ซอฟยายอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด “นี่เป็นหนังรักไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์” พลัมเมอร์ย้ำ “ถ้าเราเลือกจะทำอย่างหลัง มันคงต้องออกฉายทางทีวีและใช้เวลาออกอากาศนาน 26 สัปดาห์”

สแตนลีย์ ทุคชี (The Lovely Bones)

อดีตภรรยาที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งของ สแตนลีย์ ทุคชี่ เคยแนะนำไม่ให้เขารับบทฆาตกรโรคจิต จอร์จ ฮาร์วีย์ ในหนังซึ่งดัดแปลงจากนิยายขายดีของ อลิซ ซีโบลด์ เรื่อง The Lovely Bones เนื่องจากเธอได้อ่านนิยายแล้วและเห็นว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่น ซึ่งถูกฆ่าข่มขืนโดยเพื่อนบ้านและเฝ้ามองผลกระทบอันเกิดแก่ครอบครัวเธอลงมาจากสวรรค์ มันชวนให้รู้สึกหดหู่และทรมานจิตใจมากเกินไป แต่ทุคชี่ไม่ฟังเสียงทัดทานของเธอ แล้วตอบตกลงรับเล่นร่วมกับ มาร์ค วอห์ลเบิร์ก, ซารีส โรแนน และ ซูซาน ซาแรนดอน

หลังจากนั้นทุคชี่จึงลองหยิบหนังสือมาอ่าน แต่ไม่สามารถอ่านจนจบได้เพราะมัน “ปวดใจเกินไป” อย่างไรก็ตามในหนังผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน เลือกจะไม่แสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์อันเลวร้ายดังกล่าวแบบจะๆ โดยคนดูจะได้เห็นแค่วิญญาณของ ซูซี่ (โรแนน) วิ่งหนีออกจากไร่ข้าวโพดซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ

“ตอนแรกสแตนลีย์ลังเลที่จะเล่นบทนี้” แจ๊คสันเล่า “เหตุผลชัดเจน คือ เขาคงไม่อยากเดินไปตรงจุดนั้น เพราะในฐานะนักแสดง ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ประสบการณ์น่าพิสมัยในการใช้เวลานานสามหรือสี่เดือนดิ่งเข้าไปในหัวของตัวละครอย่าง จอร์จ ฮาร์วีย์” ข้อมูลจากทุคชี่ช่วยยืนยันสันนิษฐานดังกล่าว “ผมไม่ชอบดูหนังหรืออ่านหนังสือที่เด็กๆ ในเรื่องถูกทำอันตราย และผมก็ไม่ใช่คนที่ชอบดูสารคดีเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องด้วย” นักแสดงหนุ่มวัย 39 ปีสารภาพ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนดูตกตะลึงกับการแสดงของทุคชี่ใน The Lovely Bones ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างดรามา (ชีวิตครอบครัวหลังความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่) เขย่าขวัญ (พ่อพยายามจะตามหาฆาตกรมาลงโทษ) และแฟนตาซี (วิญญาณของลูกสาวบนสวรรค์เฝ้ามองชีวิตเบื้องล่างโดยไม่อาจยื่นมือเข้ามาช่วยได้) อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยเขาในบทตลก หรือผู้ชายแสนดีดังเช่นการประกบ เมอรีล สตรีพ ใน The Devil Wears Prada และ Julie & Julia แต่ด้วยความช่วยเหลือของวิกผม หนวด และฟันปลอม เขาแทบจะกลายเป็นคนอีกคนหนึ่ง “เราพยายามทำให้ตัวละครดูธรรมดาๆ ที่สุด จนแทบไม่มีใครสังเกตเห็นเขา” แจ๊คสันกล่าว “เพราะทุกอย่างที่เราทราบเกี่ยวกับชายคนนี้คือเขากลมกลืนไปกับชุมชนละแวกนั้น และสำหรับสแตนลีย์ ผมคิดว่ามันช่วยได้มากเหมือนกัน เพราะเวลาที่เขาส่องกระจก เขาจะเห็น จอร์จ ฮาร์วีย์ ไม่ใช่สแตนลีย์” แต่สิ่งที่ทำให้จอร์จดูไม่ใช่เพื่อนบ้านธรรมดา (นอกเหนือจากงานอดิเรกที่ชวนหลอนอย่างการสร้างบ้านตุ๊กตา) คือ ทักษะการแสดงอันลุ่มลึกของทุคชี่ ซึ่งอาจจะทำให้พ่อแม่หลายคนกลับไปนอนฝันร้ายได้หลายคืน

คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วในกรุงเบอร์ลิน มีนักแสดงชายวัยกลางคนเชื้อสายออสเตรียผู้ใช้ชีวิตตลอด 30 ปีเล่นละครทีวีของเยอรมันที่ไม่น่าจดจำไปวันๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว มันเป็นงานที่มั่นคง แต่หาได้นำความปลาบปลื้มปีติมาสู่เขา ทั้งนี้ เนื่องจากลึกๆ ภายใน เขาตระหนักดีว่าตนมีพรสวรรค์ ทักษะ และความสามารถที่จะก้าวไกลไปกว่านั้น จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ผ่านการแนะนำของหัวหน้าแผนกคัดเลือกนักแสดงชาวเยอรมัน เขาก็ได้พบผู้กำกับอเมริกันนาม เควนติน ตารันติโน ซึ่งกำลังมองหาใครสักคนที่พูดภาษาอังกฤษ อิตาเลียน ฝรั่งเศส และเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อมาสวมบทนาซีจอมโหดในหนังใหม่เรื่อง Inglourious Basterds แต่ยังไม่เจอคนที่ถูกใจสักที จนเขาเริ่มคิดว่าบางทีบท ฮันส์ ลันดา อาจไม่สามารถถ่ายทอดเป็นภาพที่สมจริงและทรงพลังเหมือนในจินตนาการของเขาได้

“ผมทดสอบหน้ากล้องนักแสดงไปมากมายหลายคน แต่คริสตอฟเป็นคนเดียวที่ถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครออกมาตรงตามที่ผมวาดฝันไว้ คงต้องยกความดีความชอบให้ฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ผมไม่รู้จักเขา ผมได้ยินว่าเขาเคยเล่นมินิซีรีย์มาบ้าง แต่ทันทีที่เขาเริ่มอ่านบท ผมถึงกับหยุดหายใจ” ตารันติโนกล่าว

ก่อนหน้านี้ตารันติโนขึ้นชื่อเรื่องการปลุกชีวิตให้อดีตดาราดัง เช่น จอห์น ทราโวลต้า (Pulp Fiction) และ แพม เกียร์ (Jackie Brown) แต่กรณี คริสตอฟ วอลซ์ ต้องถือเป็นการค้นพบเพชรในตมขนานแท้ และจากคำบอกเล่าของตารันติโน นอกจาก อูมา เธอร์แมน (Kill Bill: Vol. 1 & 2) แล้ว เขาไม่เคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักแสดงคนใดขนาดนี้มาก่อน เนื่องจากวอลซ์ไม่เป็นที่รู้จักของนักแสดงคนอื่นๆ ในเรื่อง ตารันติโนจึงตัดสินใจจะใช้เขาเป็นเซอร์ไพรซ์ทีเด็ด โดยนัดเขามาซักซ้อมอ่านบทเป็นการส่วนตัวและแนะนำให้เขา “เบามือ” ระหว่างการซ้อมบทแบบกลุ่ม กลยุทธ์ดังกล่าวได้ผลน่าพอใจ

“ฉันไม่เคยได้ยินชื่อคริสตอฟมาก่อน” ไดแอน ครูเกอร์ ผู้รับบทนักแสดงสาวชาวเยอรมัน กล่าว “แต่พอเราเข้าฉากด้วยกัน เขากลับยอดเยี่ยมอย่างเหลือเชื่อ ทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมด เขาทำเอาพวกเราไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว”

อัจฉริยภาพทางการแสดงของวอลซ์ปรากฏชัดตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เมื่อเขาข่มขู่ชาวนา (รวมไปถึงคนดู) จนขวัญกระเจิงและยอมปริปากบอกที่ซ่อนของเหล่าชาวยิว โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นเสียงสักคำ หรือใช้กำลังบังคับ แถมหลายครั้งเขากระทั่งโปรยยิ้ม รวมถึงรักษามารยาทอันดีอย่างเหลือเชื่ออีกด้วย แต่เพียงแค่จ้องมองแววตา คุณจะพลันตระหนักในทันทีว่าฮันส์พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และเมื่อหนังดำเนินเรื่องต่อไป คุณก็จะค้นพบอีกหลายแง่มุมของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความเฉลียวฉลาด อารมณ์ขัน ตลอดจนความเหี้ยมเกรียมจนชวนขนหัวลุก

ก่อนหน้านี้นักดูหนังนอกประเทศเยอรมันอาจไม่คุ้นหน้าวอลซ์ แต่ทันทีที่ Inglourious Basterds เปิดตัว ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์ ตามด้วยการคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครอง ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี นักแสดงวัย 52 ปีมีเอเยนต์ที่อเมริกา ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ และกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเลือกรับบทไหนดีในบรรดาข้อเสนอจากสามแหล่ง “ผมไม่เกี่ยงเรื่องสถานที่ถ่ายทำ แต่ใช่ว่าผมจะตอบรับทุกข้อเสนอ นี่คือข้อดีของชื่อเสียง คุณมีโอกาสเลือกมากขึ้น” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตส่วนตัวของคริสตอฟมากนัก เขาลูกสามคนที่โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว และปัจจุบันกำลังเลี้ยงดูบุตรสาววัย 5 ขวบกับภรรยา จูดิธ โฮลสเตอ ซึ่งทำงานเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกาย “หลายคนคิดว่าป่านนี้ผมคงเดินเท้าไม่ติดดิน เงินทองไหลมาเทมา นั่นมันไร้สาระสิ้นดี ผมหงุดหงิดเสมอเวลาเห็นคนหลงเชื่อแฟนตาซีตามหน้านิตยสารทั้งหลาย” วอลซ์กล่าว “ผมยังไปเดินพิพิธภัณฑ์และเข้าโรงหนังตามปกติ ผมยังเล่นกับลูกๆ สู้รบตบมือกับครูโรงเรียนอนุบาล และพยายามตามช่างมาซ่อมระบบอินเตอร์เน็ต เพราะมันไม่เคยใช้งานได้ซะที”


เวรา ฟาร์มิกา (Up in the Air)

คุณอาจเคยเห็น เวรา ฟาร์มิกา มาก่อน แต่คงน้อยครั้งที่คุณจะได้เห็นเธอยิ้ม ทั้งนี้เพราะนักแสดงสาวสวยดวงตาสีฟ้ามักเลือกเล่นแต่บทดรามาหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นบทอดีตขี้ยาใน Down to the Bone ซึ่งทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์แอลเอมาครอง หรือบทนักจิตวิทยาใน The Departed บทคุณแม่ของเด็กนรกใน The Orphan บทโสเภณีใน Breaking and Entering และบทภรรยานาซีใน The Boy in the Striped Pajamas

แต่ในผลงานเรื่องล่าสุด Up in the Air ที่ผลักดันให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก ฟาร์มิการับบทเป็นนักธุรกิจสาวที่เข้ามาทำให้ชีวิตหนุ่มโสดของ จอร์จ คลูนีย์ ต้องสั่นคลอน เธอสวยสง่า มั่นใจ เปี่ยมเสน่ห์เย้ายวน และที่สำคัญ บทดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ฟาร์มิกาโปรยยิ้มอยู่หลายครั้ง “ฉันแทบช็อกตอนได้อ่านบทหนังเรื่องนี้” เธอเล่า “ดูเหมือนว่าสำหรับฉันบทที่ไม่ต้องตะโกน กรีดร้อง อาเจียน หรือร้องไห้ช่างหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร”

โชคดีแบบสองเด้ง คือ ฟาร์มิกาอยากร่วมงานกับ เจสัน ไรท์แมน มาหลายปีแล้ว นับแต่เธอไปทดสอบหน้ากล้องหนังเรื่องแรกของเขา Thank You for Smoking แต่ไม่ผ่าน สี่ปีต่อมา เธอจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เอ่ยบทพูดอันเฉียบคมของเขา “เขาเป็นมือเขียนบทชั้นยอด” เธอกล่าว “คุณแทบจะไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากพูดบทออกมา มันมีจังหวะจะโคน และพอคุณคุ้นเคย มันก็จะให้ความรู้สึกเหมือนการอ่านบทละครเชคสเปียร์ เต็มไปด้วยการเล่นคำ ทำให้บทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละครดูสนุก เพลิดเพลิน”

การเตรียมตัวเพื่อรับบทของเธอค่อนข้างเรียบง่าย “ชีวิตฉันเต็มไปด้วยเรื่องราวความรัก ส่วนอาชีพฉันก็ต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ ฉะนั้น ฉันจึงเข้าใจตัวละครอย่างอเล็กซ์ สิ่งที่ยากกว่าคือการปรับตัวตามสถานะคุณแม่คนใหม่ (ฟาร์มิก้าคลอดลูกคนแรกสองเดือนก่อนเปิดกล้อง.... สองสัปดาห์ก่อนลองสวมเครื่องแต่งกาย) อเล็กซ์เป็นสาวมั่น เซ็กซี่ ส่วนฉันได้นอนไม่ค่อยเต็มอิ่มเช่นเดียวกับคุณแม่เด็กอ่อนทั้งหลาย ฉันต้องตื่นมากลางดึกห้าถึงหกครั้งเพื่อให้นมลูก จากนั้นก็แต่งตัว และล้างหน้าตาให้สดชื่นเพื่อเตรียมเข้าฉาก มันไม่ง่ายเลย”

เมื่อเทียบกับหนังสือต้นฉบับของ วอลเตอร์ เคิร์น บทอเล็กซ์มีเนื้อมีหนังขึ้นมากในเวอร์ชั่นหนัง เธอเป็นผู้หญิงที่ลื่นไหลกับการใช้ชีวิตใน “โลกของผู้ชาย” ได้อย่างยอดเยี่ยม เธอเข้มแข็งและเป็นคนกุมบังเหียนสถานการณ์โรแมนติก ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องไม่แปลกในหนังไรท์แมน ผู้เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก Juno

ฟาร์มิกาชื่นชอบทัศนคติของอเล็กซ์ และเห็นข้อบกพร่องของเธอเป็นจุดแข็ง หาใช่จุดอ่อน “นี่คือผู้หญิงที่ซับซ้อน มีความต้องการ และโหยหาบางสิ่ง ฉันไม่อยากตัดสินการกระทำของเธอ แค่พยายามทำให้เธอดูมีเลือดเนื้อและเป็นมนุษย์มากที่สุด นั่นคือความน่าอัศจรรย์ของตัวละครในหนัง เจสัน ไรท์แมน คุณไม่จำเป็นต้องเห็นชอบ หรือแก้ต่างให้พฤติกรรมพวกเขา แต่ทุกตัวละครล้วนเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมเอกลักษณ์และข้อบกพร่องเช่นเดียวกับเราทั้งหลาย” นักแสดงหญิงวัย 36 ปีกล่าว

เพเนโลปี้ ครูซ (Nine)

แม้จะเปิดตัวครั้งแรกในหนังเรื่อง Jamon, Jamon ของผู้กำกับ บิกัส ลูนา แต่คนส่วนใหญ่กลับจดจำ เพเนโลปี้ ครูซ ได้จากการร่วมงานกับ เปรโด อัลโมโดวาร์ ซึ่งประทับใจความงามและฝีมือการแสดงของนักแสดงสาวผู้นี้มานาน แต่ไม่สบโอกาสใช้บริการเธอสักทีจนกระทั่ง Live Flesh ในปี 1997 “เพเนโลปี้มักจะเด็กเกินไปสำหรับตัวละครที่ผมเขียน แม้กระทั่งใน Volver และ Broken Embraces แต่สุดท้ายผมกลับเลิกกังวล เพราะเธอสามารถเล่นบทอะไรก็ได้ เธอกลายเป็นเหมือนผู้หญิงอมตะ ซึ่งไม่อาจนิยามด้วยตัวเลขได้” เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Talk to Her กล่าว

หลังวนเวียนเล่นหนังฮอลลีวู้ดมาหลายเรื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเสียที ส่วนภาษาอังกฤษติดสำเนียงสเปนของเธอก็มักจะถูกยกขึ้นมาถากถางอยู่บ่อยครั้ง ในที่สุดครูซก็พลิกฟื้นสถานการณ์ได้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือของ วู้ดดี้ อัลเลน ในหนังเรื่อง Vicky Cristina Barcelona ซึ่งทำให้เธอคว้าออสการ์มาครอง

ครูซเป็นดาราคนแรกที่ได้นัดพูดคุยกับผู้กำกับ ร็อบ มาร์แชล เกี่ยวกับโครงการหนังเรื่อง Nine และลงเอยด้วยการตอบตกลง “เล่นบทไหนก็ได้” แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มาร์แชลเองก็ไม่แน่ใจว่าควรมอบบทไหนให้เธอดี เนื่องจาก Nine ซึ่งดัดแปลงจากละครเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังคลาสสิกเรื่อง 8 ½ ของ เฟเดอริโก้ เฟลลินี อีกที มีตัวละครผู้หญิงมากมายหลายคน หนังเล่าถึงผู้กำกับหนังชื่อดังชาวอิตาเลียน กุยโด คอนตินี (เดเนียล เดย์-ลูว์อีส) ที่กำลังพยายามมองหาสมดุลระหว่างอาชีพอันวุ่นวายกับชีวิตส่วนตัว ขณะเหลือเวลาแค่อาทิตย์เดียวก่อนเปิดกล้องหนังเรื่องใหม่ เขาตัดสินใจหนีความกดดันทั้งปวงไปยังเมืองตากอากาศ พลางทบทวนความสัมพันธ์กับผู้หญิงรอบข้างไม่ว่าจะเป็นภรรยา ชู้รัก หรือดาราคู่ใจ

“ต้องยกเครดิตให้ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์” มาร์แชลเล่า “เขาเป็นคนถามผมว่า คุณเคยดูหนังอิตาเลียนเรื่อง Don’t Move หรือเปล่า เพเนโลปี้รับบทเมียน้อยในหนังเรื่องนั้น ผมเลยคิดว่า ‘จริงสิ!’ เธอทดสอบหน้ากล้องโดยเลือกเล่นบทนั้นเหมือนกัน เธอส่งวีดีโอมาให้เราดู มันเป็นฉากที่คาร์ลาห่มผ้าคลุมเตียงปกปิดร่างอันเปลือยเปล่า เธอดูเซ็กซี่มาก ไม่มีใครจะห่มผ้าคลุมเตียงแล้วดูดีเท่า เพเนโลปี้ ครูซ อีกแล้ว”

ปัญหาที่ตามมา คือ Nine เป็นหนังเพลง ซึ่งย่อมเรียกร้องให้นักแสดงต้องร้องและเต้น “ฉันเคยเรียนบัลเลต์มาก่อนตอนยังเล็ก แต่ฉันไม่เคยเต้นแบบที่เห็นในหนังหรอก” นักแสดงสาววัย 35 ปีกล่าว “วันแรกที่ฉันได้เห็นท่าเต้น ฉันแทบเป็นลม พลางพูดว่า ‘ฉันไม่มีทางทำได้แน่!’ ” แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ครูซซ้อมหนัก (“ฉันเริ่มมองเห็นความหวังที่ปลายอุโมงค์ พอคุณทำได้ คุณจะรู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อยอย่างน่าอัศจรรย์ นี่เป็นสาเหตุที่ฉันชอบอาชีพนักแสดง เมื่อคุณมีเวลาเตรียมตัว ทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทาง มันเหมือนรางวัลตอบแทนความทุ่มเทอย่างหนักของคุณ”) นอกจากนี้ ในฉากร้องเพลง A Call from the Vatican ซึ่งมีเชือกเป็นเครื่องประกอบฉาก ครูซยังปฏิเสธที่จะใส่ถุงมือเข้าฉาก ส่งผลให้ผิวหนังของเธอเริ่มด้านและฉีกขาดจนเลือดไหลซิบๆ “เดเนียล เดย์-ลูว์อีส ตั้งฉายานักรบให้เธอซึ่งก็เหมาะสมอย่างยิ่ง” มาร์แชลกล่าว

แล้วเรื่องร้องเพลงล่ะ? “เธอก็เหมือน เรเน เซลเวเกอร์ ใน Chicago ทั้งสองชอบร้องเพลง แต่ไม่เคยร้องหน้ากล้องมาก่อน เพเนโลปีมีความเป็นนักร้องโดยธรรมชาติ เธอถ่ายทอดอารมณ์ผ่านน้ำเสียงได้ดี”

แม็กกี้ จิลเลนฮาล (Crazy Heart)

ในชีวิตจริง แม็กกี้ จิลเลนฮาล คงไม่มีวันยอมให้ลูกสาววัย 3 ขวบของเธอ ราโมนา อยู่ตามลำพังกับนักดนตรีขี้เหล้า แต่นั่นเป็นสิ่งที่ จีน แครดด็อก ตัวละครซึ่งเธอสวมบทบาทใน Crazy Heart ทำ และสุดท้ายก็นำไปสู่หายนะ “การเป็นแม่คนบีบให้ฉันต้องรับผิดชอบ ฉันค่อนข้างหวงลูกและพยายามจะกันเธอจากความวุ่นวายของฮอลลีวู้ด” นักแสดงสาววัย 32 ปีกล่าว “มีบทหลากหลายที่ฉันอยากเล่น แต่ต้องชั่งใจว่ามันจะส่งผลกระทบอย่างไรกับราโมนา”

จิลเลนฮาลยอมรับว่ามีปัญหาในการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัว (สามีเธอคือนักแสดงหนุ่ม ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด) กับแรงปรารถนาที่จะทำงาน (หนังสตูดิโอเรื่องล่าสุดของเธอ คือ The Dark Knight) นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอสนใจบทจีน นักข่าวสาวเรือพ่วงที่ลงเอยสร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักร้องเพลงคันทรี (เจฟฟ์ บริดเจส) ซึ่งเธอต้องเดินทางมาสัมภาษณ์เพื่อนำไปเขียนบทความ

“ตอนอ่านบท ฉันกำลังอยู่ในช่วงอยากทำงานหลังจากต้องเสียสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อครอบครัว มันเป็นความรู้สึกเห็นแก่ตัวเล็กๆ ฉันกำลังหิวกระหายเพราะตลอดสองปีที่ผ่านมาฉันทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการเลี้ยงลูก มันเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษ ลูกเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิตคุณ แต่ขณะเดียวกันฉันก็สัมผัสได้ถึงแรงกระตุ้นที่จะทำบางอย่างเพื่อตัวเองบ้าง แต่ฉันไม่เจอบทที่ถูกใจจนกระทั่ง Crazy Heart ฉันไม่แคร์ว่ามันเป็นแค่หนังอินดี้เล็กๆ มันเป็นบทที่ดีมากและฉันก็ตัดสินใจว่าจะต้องเล่นหนังเรื่องนี้ให้ได้” เธอกล่าว “จีนกำลังมีความรู้สึกแบบเดียวกับฉัน หลังใช้เวลาตลอดสี่ปีเลี้ยงดูลูกตามลำพัง ฉันคิดว่าเธอคงกำลังเผชิญแรงกระตุ้นแบบเดียวกัน เธอต้องการอะไรสักอย่างเพื่อตัวเธอเอง หรือใครสักคน เธอไม่สนว่าเขาจะเป็นคนแย่แค่ไหน เขาทำให้เธอรู้สึกเหมือนกลับมาเป็นผู้หญิงอีกครั้ง”

บริดเจสได้รู้จักกับจิลเลนฮาลเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2003 ที่รอบปฐมทัศน์หนังของฝ่ายหญิงเรื่อง Mona Lisa Smile “แม็กกี้เป็นคนอ่อนหวาน เธอเปิดเผยและพูดจาดีกับทุกคน แต่ก็ซ่อนความเข้มแข็งเอาไว้ภายใน” บริดเจสกล่าว เป็นส่วนผสมระหว่างความเปราะบางและแกร่งกร้าวในแบบเดียวกับตัวละครที่เธอรับเล่น จิลเลนฮาลยอมรับว่าการเป็นแม่คนทำให้เธออ่อนหวานขึ้น นุ่มนวลขึ้น และเข้าหาคนมากขึ้น “ก่อนหน้านี้ฉันมีความคิดว่าจะต้องเข้มแข็ง ดุดัน ทั้งในแง่การทำงานและชีวิตส่วนตัว ปัจจุบันฉันไม่คิดแบบนั้นแล้ว คุณต้องกล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึกของคุณ มันเป็นความเข้มแข็งอีกแบบหนึ่ง กล้าที่จะเปิดเผยแง่มุมอันเปราะบางภายใน ความหวาดกลัว หรือสิ่งที่คุณละอายใจ จีนมีคุณสมบัติดังกล่าวชัดเจนที่สุดในบรรดาทุกตัวละครที่ฉันเคยรับเล่นมา”

แอนนา เคนดริค (Up in the Air)

ก่อนจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ แอนนา เคนดริก เป็นมือโปรในวงการละครเวทีตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลังเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทนี่จากละครเรื่อง High Society พร้อมทำสถิติเป็นผู้เข้าชิงอายุน้อยสุดอันดับสาม “วงการภาพยนตร์ไม่ใช่สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญสูงสุด ฉันโชคดีที่มีโอกาสแสดง Camp เป็นหนังเรื่องแรก เพราะมันเล่าเรื่องราวของกลุ่มเด็กวัยรุ่นในละครเพลง แถมยังได้ โทนี่ กรัฟฟ์ พี่ชายของนักแสดงที่ฉันเคยร่วมงานด้วยใน High Society มาเป็นคนกำกับ เขาคลุกคลีในแวดวงบรอดเวย์มานาน เช่นเดียวกับนักแสดงคนอื่นๆ เราทุกคนต่างไม่คุ้นเคยกับกองถ่ายภาพยนตร์ และมักจะตั้งคำถามอยู่ตลอด เช่น ไอ้นั่นใช้ทำอะไร ทำไมฉันถึงต้องยืนตรงนี้ ทำไมฉันต้องมองไปทางนั้น สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัยที่จะตั้งคำถามและเรียนรู้ขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์” เคนดริกเล่า

อย่างไรก็ตาม หนังที่ช่วยกรุยทางให้เธอมุ่งหน้าสู่ความรุ่งโรจน์ได้แก่ Rocket Science หนังอินดี้เกี่ยวกับการแข่งขันโต้วาทีซึ่งอาจไม่ค่อยมีใครได้ดู แต่กลับเตะตาผู้กำกับหลายคน เริ่มจาก แคทเธอรีน ฮาร์ดวิค หนึ่งในคณะกรรมการของเทศกาลหนังซันแดนซ์ที่มอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ เจฟฟรีย์ บลิทซ์ เธอประทับใจการแสดงของเคนดริกถึงขนาดขอร้องให้เธอมาทดสอบหน้ากล้องบทเพื่อนสนิทของเบลลาใน Twilight ตามมาด้วย เจสัน ไรท์แมน ซึ่งเขียนบทนาตาลีใน Up in the Air ขึ้น (หนังสือไม่มีบทนี้) เพื่อเธอโดยเฉพาะ

“ฉันได้อ่านบท Up in the Air ผ่านทางเอเยนต์” เคนดริกเล่า “ฉันตกหลุมรักมันในทันที มันเป็นบทที่ยอดเยี่ยมมากๆ ฉันทดลองอ่านบทกับเจสันเป็นเวลา 10 นาที และนึกว่าทำได้ไม่ดีนัก แต่จู่ๆ ทีมงานกลับตอบตกลงรับฉันหลังจากเพิ่งทดสอบหน้ากล้องแค่ครั้งเดียว ฉันสับสนอย่างบอกไม่ถูก เจสันเก็บอาการได้เนียนมาก ฉันคิดว่าเขาไม่ชอบฉันเสียอีก” ไรท์แมนอธิบายสาเหตุที่เขาไม่บอกเธอว่าเขาเขียนบทนี้ให้เธอ เพราะไม่ต้องการสร้างความกดดันแก่นักแสดงสาว

สำหรับเคนดริก บทนาตาลี หญิงสาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่ถูกว่าจ้างมาวางระบบเลิกจ้างพนักงานแบบใหม่เพื่อบริษัทจะได้ลดค่าใช้จ่ายในการส่งเจ้าหน้าที่ไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เปรียบเสมือนความนึกคิดเบื้องลึกอีกด้านของ ไรอัน บิงแฮม (จอร์จ คลูนีย์) คอยซักไซ้ ไล่บี้ให้เขาอธิบายตัวเอง ตลอดจนปรัชญาในการดำเนินชีวิต ขณะเดียวกัน เคนดริกยังรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์ที่นาตาลีต้องเผชิญในหนัง เนื่องจากเธอเป็นสมาชิกที่อายุน้อยสุดในกองถ่าย Up in the Air และแน่นอนต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเธอมีความเป็นมืออาชีพพอ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว เคนดริกไม่คิดว่าเธอมีอะไรคล้ายคลึงกับเด็กสาวที่มุ่งมั่นและวางแผนทุกอย่างไว้ละเอียดลออแบบนาตาลี

“ฉันอาจคาดหวังอะไรที่เกินจริงและไร้สาระไปบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องความรัก ที่แน่ๆ คือ ฉันไม่คิดอยากจะแต่งงานมีลูกตอนอายุ 23 ปี และฉันคงไม่ระบุเจาะจงขนาดเธอเกี่ยวกับผู้ชายที่จะแต่งงานด้วย กระนั้นบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกดังกล่าวของนาตาลีก็น่ารักดี ฉันชื่นชมเธอที่รู้ว่าต้องการอะไรและเชื่อมั่นจริงจัง” เคนดริกกล่าว

โครงการต่อไปของเคนดริก คือ หนังตลกร้ายซึ่งเธอต้องแสดงประกบ เจมส์ แม็คอะวอย เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงโชคดีได้เล่นหนังกับผู้ชายหล่อๆ อยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นคลูนีย์ ใน Up in the Air หรือ โรเบิร์ต แพ็ททินสัน ใน Twilight (หนังทั้งสองเรื่องเปิดกล้องในช่วงเวลาเดียวกันทำให้เคนดริกต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองกองถ่าย) เคนดริกหัวเราะก่อนจะตอบว่า “อันที่จริง กองถ่าย Twilight เต็มไปด้วยคนหน้าตาดีจนบางทีคุณก็รู้สึกแย่เหมือนกัน”

โมนีก (Precious: Based on the novel ‘Push’ by Sapphire)

ตอนสี่ทุ่มของคืนวันหนึ่ง โมนีกได้รับโทรศัพท์จากผู้กำกับ ลี เดเนียลส์ บอกว่าเขามีบทอยู่บทหนึ่งที่จะ “สร้างความฉิบหายให้อาชีพคุณ” ดาวตลกหญิงชื่อดังจำได้แม่นยำว่าคำตอบของเธอคือ “ลงชื่อฉันไว้ได้เลย ที่รัก” ถึงตอนนี้ หากนับจากบรรดารางวัลต่างๆ ที่โมนีกได้รับตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก ดูเหมือนหนังเรื่อง Precious: Based on the Novel ‘Push’ by Sapphire จะสร้างความรุ่งโรจน์ให้อาชีพเธอเสียมากกว่า

ใครก็ตามที่ได้ดูหนังเรื่องนี้คงไม่แปลกใจว่าทำไมเดเนียลส์ถึงมองว่าบท แมรี่ โจนส์ เป็นความเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำกับลูกสาวแท้ๆ โดยเฉพาะการปล่อยให้สามีข่มขืน พรีเชียส (แกบาเร ซิเดเบ) หรือความพยายามจะฆ่าลูกสาวด้วยการโยนโทรทัศน์ลงมาจากชั้นบน ถือเป็นความชั่วร้ายขั้นรุนแรงในระดับ 8.5 ริกเตอร์ ซึ่งกระทั่งโมนีกยังยอมรับว่าบางฉากเรียกร้องให้เธอต้องสั่งสมความเกลียดเคียดแค้นเอาไว้ภายในมากเสียจนเธอนึกหวาดกลัว เพราะไม่คิดว่าจิตใจเธอจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้

แต่ความยอดเยี่ยมของงานแสดงชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ตรงการช็อก หรือทำให้คนดูเกลียดชังตัวละครผ่านพฤติกรรมที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ หากเป็นการเปลือยอารมณ์อย่างหมดเปลือกของแมรี่ในฉากสุดท้ายต่างหาก ซึ่งทั้งดิบและทรงพลังจนไม่อาจละสายตา จริงอยู่ทุกอย่างที่เธอพูดอาจไม่สามารถหักล้างกับการกระทำอันเลวร้ายเหล่านั้นได้ คนดูยังคงไม่อาจให้อภัยเธอ แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจเธอมากขึ้น มองเห็นก้นบึ้งแห่งความเกลียดชังทั้งหลายว่าเริ่มต้นมาจากไหน “ตอนได้อ่านหนังสือฉันเกลียดสิ่งที่แมรี่ทำ แต่ฉันไม่ได้เกลียดเธอ และในฉากสุดท้าย ฉันรู้สึกเหมือนเข้าใจเธอ มันอาจฟังดูบ้าบอ แต่คุณไม่คิดจะตัดสินเธอ เพราะมันเป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวหาใครสักคนเป็นนางปีศาจ แต่ขณะเดียวกัน มีใครบ้างสนใจที่ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของเธอ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงทรงคุณค่า มันบีบให้เราคิดถึงกลุ่มคนที่ถูกสังคมหลงลืม” โมนีกกล่าว

การเลือกดาวตลกหญิงและพิธีกรรายการทอล์คโชว์มารับบทหนักอึ้งแบบนี้ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับเดเนียลส์เช่นกัน แต่เขาเคยร่วมงานกับเธอมาแล้วใน Shadowboxer (ซึ่งเธอรับบทเป็นแฟนขี้ยาของ โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิทท์ ที่ชื่อว่า “พรีเชียส”) เขาจึงมั่นใจว่าเธอมีทักษะมากพอ ความสำเร็จของ Precious: Based on the Novel ‘Push’ by Sapphire ส่งผลให้โมนีกเริ่มหันมาเอาจริงทางด้านการแสดงบทดรามา (“พวกเขาย้ำว่าฉันเป็นนักแสดง ฉันพร่ำตอบไปว่าฉันเป็นตัวตลก พวกเขาชอบส่งบทหนังแบบนี้มาให้ ฉันเลยตอบไปว่า ‘แน่ใจนะ? ก็ได้!’ ”) แต่โครงการหนังที่เธออยากทำมากที่สุดในเวลานี้ คือ การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของ แฮ็ตตี้ แม็คเดเนียล เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Gone with the Wind “ผู้หญิงคนนี้ช่างน่าอัศจรรย์” โมนีกอธิบาย “เธอต้องยืนหยัดท่ามกลางความขัดแย้งในยุคสมัยที่คนผิวดำยังไม่เป็นที่ยอมรับ ฉันถือลิขสิทธิ์ชีวประวัติของเธออยู่ และแน่นอน ฉันอยากให้ ลี เดเนียลส์ เป็นผู้กำกับ”

Oscar Nominees in a Leading Role


เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart)

ก่อนหน้าจะมารับบทเป็น แบด เบลค นักร้องเพลงคันทรีซึ่งผลาญโอกาสและทำลายอนาคตของตน รวมถึงทุกคนรอบข้างไปกับขวดเหล้า เจฟฟ์ บริดเจส เคยแสดงหนังเพลงมาก่อนเมื่อปี 1989 โดยประกบ โบ บริดเจส ในบทสองนักเปียโนเพลงแจ๊ซ ที่ต้องบาดหมางใจกันเพราะต่างก็หลงรักนักร้องสาว (มิเชลล์ ไฟเฟอร์) ที่พวกเขาปลุกปั้นขึ้น “มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม ส่วนหนึ่งเพราะผมได้ร่วมงานกับพี่ชายและมิเชลล์ อีกส่วนหนึ่งเพราะบรรดาเพลงแจ๊ซระดับสุดยอดทั้งหลาย ซึ่งแตกต่างกับแนวเพลงใน Crazy Heart” บริดเจสเล่า “นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงตอบปฏิเสธบทหนังในตอนแรก The Fabulous Baker Boys ตั้งมาตรฐานเอาไว้สูงลิ่ว”

ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อ ที-โบน เบอร์เน็ต นักดนตรีและโปรดิวเซอร์เพลงระดับตำนาน (O Brother, Where Art Thou?) ตกลงใจรับทำเพลงประกอบให้ Crazy Heart เขากับบริดเจสรู้จักสนิทสนมกันมานานนับแต่เมื่อครั้งได้ร่วมงานกันในหนังเรื่อง Heaven’s Gate เมื่อสามสิบปีก่อนโดยมีดนตรีเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ บริดเจสเล่าว่าเบอร์เน็ตโน้มน้าวให้เขามาแสดงหนังเรื่องนี้ แต่เบอร์เน็ตกลับไม่แน่ใจนัก “ผมรู้แค่ว่าถ้าเขาเล่น หนังต้องออกมาดีแน่นอน สุดท้ายมันจึงเป็นเหมือนถ้านายทำฉันก็ทำ” พวกเขาแต่งเพลงร่วมกับ จอห์น กู๊ดวิน เพื่อนของบริดเจสตั้งแต่สมัยประถม และมือกีตาร์สุดเก๋า สตีเฟน บรูตัน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเบอร์เน็ต เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลังหนังปิดกล้องได้ไม่นาน

หนังเปิดเรื่องขณะชะตากรรมของ แบด เบลค กำลังตกต่ำถึงขีดสุดและต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการร้องเพลงตามบาร์ ตามลานโบวลิ่ง เขาเฝ้ามองอย่างขมขื่น ขณะนักร้องหนุ่ม (โคลิน ฟาร์เรลล์) อดีตลูกศิษย์ในสังกัด ไต่เต้าจนมีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลงที่เขาเป็นคนแต่งให้ ชีวิตของเบลดูจะเต็มไปด้วยความผิดหวัง ล้มเหลว (เขากับลูกชายไม่ได้พูดคุยกันมานานแล้ว) จนกระทั่ง จีน แครดด็อก (แม็กกี้ จิลเลนฮาล) นักข่าวสาวที่อายุอ่อนกว่าเขา 25 ปี ปรากฏตัวขึ้น แต่ความรักจากผู้หญิงดีๆ สักคนเพียงพอจะฉุดผู้ชายคนนี้ขึ้นจากหุบเหวเบื้องลึกได้หรือ

แม้จะอยู่ในวงการบันเทิงมานานกว่า 50 ปี นับแต่พ่อชวนเขามาร่วมงานด้วยในซีรีย์ชุด Sea Hunt และกวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์มาตลอด แต่บริดเจสกลับไม่เคยได้รางวัลออสการ์ โดยก่อนหน้านี้เขาเข้าชิงมาทั้งหมดสี่ครั้งจาก The Last Picture Show หนังเรื่องที่สองซึ่งสร้างชื่อให้เขา Thunderbolt and Lightfoot หนังแอ็กชั่นที่เขาต้องประกบ คลินท์ อีสต์วู้ด Star Man หนังเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวที่พยายามจะศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ (“บางทีอาจเป็นเพราะผมเพิ่งสำรวจความเป็นเด็กไปในหนังเรื่อง Star Man ผมจึงไม่อยากรับเล่นหนังอย่าง Big อีก แต่มันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะ ทอม แฮงค์ ยอดเยี่ยมมากในบทนั้น”) และ The Contender หนังที่เปิดโอกาสให้เขาได้สวมบทบาทประธานาธิบดีสหรัฐ

นักดูหนังรุ่นใหม่อาจคุ้นหน้าบริดเจสจากบทเจ้าของม้าแข่งในผลงานสุดฮิตอย่าง Seabiscuit หรือบทนักเขียนเจ้าชู้ในหนังฟอร์มเล็กอย่าง The Door in the Floor แต่สำหรับคนที่รู้จักนักแสดงวัย 60 ปีผู้นี้ หรืออย่างน้อยเคยพูดคุยกับเขา ส่วนใหญ่มักจะเห็นตรงกันว่าตัวละครที่นิยามความเป็น เจฟฟ์ บริดเจส ได้ชัดเจนที่สุด คือ เดอะ ดู๊ด ใน The Big Lebowski หนังคัลท์สุดฮิตของสองพี่น้องโคน เนื่องจากบุคลิกเป็นกันเอง ติดดิน สบายๆ และนิสัยชอบพูดคำว่า ‘man’ กับ ‘cool’ (ล่าสุดบริดเจสกับสองพี่น้องโคนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในผลงานรีเมค True Grit ทำให้บรรดาแฟนๆ พากันคาดหวังว่าอาจจะมีภาคต่อของ The Big Lebowski “ผมชอบภาคต่อนะ มันคงสนุกดีที่จะได้กลับไปรับบทเดิมอีกครั้ง” บริดเจสกล่าว “ผมพร้อมเสมอถ้าสองพี่น้องโคนต้องการ”)

ในความรู้สึกของพี่ชายเขา เจฟฟ์ บริดเจสไม่ได้แตกต่างจากบทที่เขาแสดงใน The Big Lebowski และ Crazy Heart สักเท่าไหร่ กล่าวคือ เป็นผู้ชายที่มีจุดบกพร่อง แต่แกร่งพอจะใช้ชีวิตเดินไต่ไปบนเส้นลวดบางๆ “หนึ่งในบุคลิกที่น่าหลงใหลของเจฟฟ์คงอยู่ตรงการที่เขาดูเหมือนจะเดินเป็นเส้นตรง และโซซัดโซเซ ออกนอกลู่นอกทางไปพร้อมๆ กัน ผมคิดว่าคนดูก็รู้สึกแบบนั้นเวลาเห็นเขารับบทตัวละครในหนังทั้งสองเรื่อง” โบกล่าว “พอคุณคิดว่าเขาเริ่มจะกู่ไม่กลับ จู่ๆ เขากลับมีสมาธิมุ่งมั่นขึ้นมา มันน่าประหลาดใจมาก”

จอร์จ คลูนีย์ (Up in the Air)

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ จอร์จ คลูนีย์ กลายมาเป็นดาราหนัง เขารูปหล่อ มีท่วงท่าสง่างาม ฉลาด เปี่ยมอารมณ์ขัน และพูดจาด้วยน้ำเสียงทุ้มลึก เสน่ห์แบบสุภาพบุรุษทำให้เขามักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับดารายุคระบบสตูดิโอรุ่งเรืองอย่าง แครี แกรนท์ หรือเวลาเขายิ้มกริ่มอย่างเจ้าเล่ห์ หลายคนอาจพาลนึกถึง พอล นิวแมน ในวัยหนุ่ม เขาเป็นนักแสดงที่สามารถรักษาชื่อเสียงไว้ได้เนิ่นนานโดยอาศัยเสน่ห์และพลังดาราเพียงอย่างเดียว แต่เขาเลือกจะไม่ทำเช่นนั้น นั่นต่างหากที่น่าแปลก

คลูนีย์ไม่จำกัดตัวเองอยู่กับบทเดิมๆ เหมือนดารายุคก่อน แต่ขณะเดียวกันก็เลือกบทอย่างระวังโดยรู้ว่าตัวเองมีข้อจำกัด และไม่พยายามก้าวไปไกลจนสุดขอบ (เรามี จอห์นนี่ เด็บ และ เดเนียล เดย์-ลูว์อีส สำหรับภารกิจดังกล่าว) กระทั่งบทตลกแบบเสียสติในหนังของสองพี่น้องโคนอย่าง O Brother, Where Art Thou? และ Burn After Reading การแสดงของเขาก็ค่อนข้างเบามือเมื่อเทียบกับเหล่านักแสดงร่วมในหนัง ซึ่งเน้นปล่อยของกันแบบไม่มียั้ง

คนดูไม่อยากเห็น จอร์จ คลูนีย์ ในบท Richard III และเขาก็ฉลาดพอที่จะไม่พยายาม ขอบเขตอันปลอดภัยและคุ้นเคยของเขา คือ การรับบทหนุ่มอเมริกันวัยกลางคนที่เก่งกาจในอาชีพการงาน แต่วันหนึ่งกลับเริ่มรู้สึกกังขาต่อความหมายของชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาและหวาดหวั่นอนาคตเบื้องหน้า ใน Up in the Air ก็เช่นกัน คลูนีย์รับบทเป็น ไรอัน บิงแฮม ที่ปรึกษาธุรกิจที่ต้องตระเวนเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อบอกเลิกงานคน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ (300 วันในหนึ่งปี) วนเวียนอยู่ตามสนามบินและโรงแรม กระเป๋าสตางค์ของเขาไม่ปรากฏรูปถ่ายครอบครัว แต่เต็มไปด้วยบัตรสะสมแต้ม บัตรสมาชิกนักเดินทาง และนามบัตรของสายการบิน โรงแรม หรือศูนย์เช่ารถต่างๆ มันดูเหมือนชีวิตที่ว่างเปล่า แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความสะดวกสบาย เป็นทิศทางที่เขาคุ้นชิน จนกระทั่งวิกฤติบางอย่างทำให้เขาต้องทบทวนทุกสิ่งที่ผ่านมา

บท ไรอัน บิงแฮม เพอร์เฟ็กต์สำหรับคลูนีย์เพราะเขาต้องปรับเปลี่ยนจากตัวตนที่แท้จริงเพียงเล็กน้อย ทักษะแห่งการบริหารพลังดาราถือเป็นศาสตร์ที่แปลกประหลาด และมักจะถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอ มันต้องพึ่งพาเสน่ห์ส่วนตัว ตลอดจนพรสวรรค์ที่จะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนคุณกำลังเล่นเป็นตัวเอง เพื่อให้พวกเขารู้สึกเหมือนพวกเขารู้จักคุณ สำหรับนักแสดงอย่างคลูนีย์ ซึ่งต้องทำงานโดยปราศจากความช่วยเหลือของวิกผม จมูกปลอม หรือสำเนียงแปลกแปร่ง เส้นแบ่งระหว่างการรับบทเป็นตัวละครกับการแสดงเป็นตัวเองนั้นถือว่าเบาบางมาก แต่เขาก็รักษาสมดุลได้อย่างพอเหมาะ

ดาราไม่จำเป็นต้องเสียเหงื่อในการเรียกร้องความสนใจจากคนดู เพราะทันทีที่พวกเขาปรากฏตัวขึ้นบนจอ สายตาของคนดูก็จะจับจ้องไปที่พวกเขาแล้ว และเมื่อนั้น (หากดาราคนดังกล่าวมีทักษะทางการแสดงมากพอ) เขาก็สามารถจะพาคนดูไปสำรวจแต่ละพฤติกรรมอันละเอียดอ่อนและคาดไม่ถึงได้อย่างใกล้ชิด นั่นคือสิ่งที่คลูนีย์ทำใน Up in the Air เช่นเดียวกับ Michael Clayton หนังซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้เขาได้ออสการ์จากบทสมทบใน Syriana สาเหตุหนึ่งคงเนื่องจากเขา “ลงแรง” เพิ่มน้ำหนักและไว้หนวดเครารกรุงรัง จนคณะกรรมการเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าเขากำลังแสดง) ในหนังเรื่องหลัง ฉากเด่นที่เปิดโอกาสให้คลูนีย์ได้ฉายแสงอย่างแท้จริง คือ ฉากจบเมื่อเขาก้าวขึ้นไปนั่งยังเบาะหลังของรถแท็กซี่ กล้องจับจ้องที่เขาเป็นเวลานานสองนาทีเต็ม โดยเขาไม่ได้ทำอะไร หรือแสดงอาการใดๆ ชัดเจน แต่ขณะเดียวกันด้วยแววตาและภาษาท่าทางอันเล็กน้อย คลูนีย์กลับทำให้คนดูรู้สึกได้ทันทีว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาตัวละครของเขาต้องแบกรับทุกอย่างไว้มากเพียงใด นี่เป็นเวลาเดียวที่เขาสามารถผ่อนคลายได้ในที่สุด เราคนดูไม่อาจละสายตาจากเขาได้ มันเป็นงานแสดงที่กล้าหาญ ยอดเยี่ยม และคงมีเพียงดาราเท่านั้นที่สามารถทำได้

โคลิน เฟิร์ธ (A Single Man)

สำหรับนักแสดงที่เคยผ่านประสบการณ์ในหนังอย่าง Another Country และ Mamma Mia! มาก่อน ความยากของ A Single Man ไม่ได้อยู่ตรงการรับบทเป็นรักร่วมเพศ แต่อยู่ตรงการต้องเปิดเผยเรือนร่างให้คนนับล้านเชยชม ซึ่งนั่นถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เมื่อคุณต้องมาร่วมงานกับ ทอม ฟอร์ด นายแบบ/แฟชั่นดีไซเนอร์/ผู้เชี่ยวชาญและชื่นชอบสรีระเพศชายที่ผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

“เขา (ฟอร์ด) บอกว่าผมดูดีแล้ว แต่จะดูดีกว่านี้อีกถ้ามีเทรนเนอร์ส่วนตัว” โคลิน เฟิร์ธ อธิบายเหตุผลเบื้องหลังรูปร่างที่กระชับขึ้นและบึกบึนขึ้น อย่างไรก็ตาม บทสนทนาครั้งนั้นดูจะแตกต่างออกไปในความทรงจำของฟอร์ด “ผมบอกว่าเขาอ้วน” หนุ่มอเมริกันกล่าว แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร การร่วมงานกันของทั้งสองได้สร้างกระแสฮือฮาไปทั่ว เริ่มต้นจากเทศกาลหนังเมืองเวนิซ ซึ่งเฟิร์ธคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครอง

A Single Man ดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นของ คริสโตเฟอร์ อิชเชอร์วู้ด เล่าถึงชีวิตในหนึ่งวันอันเต็มไปด้วยความมืดหม่น สิ้นหวังของ จอร์จ ฟัลโคเนอร์ ศาสตราจารย์เกย์ชาวอังกฤษในช่วงต้นทศวรรษ 1960 หลังคู่รักของเขาเสียชีวิต จุดหลักที่แตกต่างจากหนังสือ คือ วันดังกล่าวจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเขาด้วย เพราะจอร์จวางแผนจะฆ่าตัวตายหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่น่าตลกตรงที่ความสวยงามรอบตัว รวมถึงมิตรภาพจากเพื่อนสนิท (จูลีแอนน์ มัวร์) กลับทำให้จอร์จเริ่มสัมผัสคุณค่าแห่งชีวิตอีกครั้ง “เขาได้เห็นสิ่งต่างๆ เป็นครั้งแรก เพราะเขารู้ว่าเขาจะได้เห็นมันเป็นครั้งสุดท้าย” เฟิร์ธกล่าว

ตลอดเวลา 25 ปีที่คลุกคลีอยู่ในวงการ นักแสดงชาวอังกฤษที่โด่งดังไปทั่วโลกจากบท มาร์ค ดาร์ซี่ ทั้งในมินิซีรีย์เรื่อง Pride and Prejudice ของสถานีโทรทัศน์บีบีซี และหนังชุด Bridget Jones’s Diary ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากนิยายเรื่องดังของ เจน ออสเตน ไม่เคยถูกกล่าวขวัญถึงมากนักในแง่ฝีมือการแสดง และนี่ถือเป็นการเข้าชิงออสการ์ครั้งแรก “ได้เวลาเสียที” สแตนลีย์ ทุคชี่ เพื่อนสนิทที่เคยร่วมงานกับเฟิร์ธในหนังของ HBO เรื่อง Conspiracy กล่าว “ความลุ่มลึกในงานแสดงของเฟิร์ธทำให้เขามักจะถูกมองข้าม เรารู้ว่าเขารูปหล่อ แต่ภายใต้ความหล่อยังเต็มไปด้วยความเฉลียวฉลาดและซับซ้อน เขาไม่เคยเห็นแก่ตัวเวลาอยู่บนจอ มักจะสนับสนุนหนังในภาพรวมเสมอ”

ความลุ่มลึกดังกล่าวสอดคล้องอย่างพอเหมาะกับบทหนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษในยุคสมัยที่รักร่วมเพศยังถือเป็นเรื่องต้องปกปิด ซุกซ่อน โดยหนึ่งในฉากไฮไลท์ของหนังเป็นตอนที่จอร์จรับทราบข่าวการตายของคู่รัก (แม็ทธิว กู๊ด) ทางโทรศัพท์ เขาพยายามสร้างภาพว่าทั้งสองเป็นแค่เพื่อนกัน และแสดงทีท่าเข้าอกเข้าใจที่ไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานศพ เพราะในงานจะมีแต่สมาชิกครอบครัวเท่านั้น เฟิร์ธนั่งนิ่งอยู่ตรงนั้น แต่คนกลับดูตระหนักได้อย่างชัดเจนว่าโลกทั้งใบของจอร์จพลันล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา

“ความยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเขียนโดย ทอม ฟอร์ด คือ มันแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าคนเรานั้นมักจะไม่พูดสิ่งที่พวกเขารู้สึกอยู่ภายใน” เพิร์ธกล่าว แต่ดวงตา ความเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยบนใบหน้า ตลอดจนทักษะของเฟิร์ธในการถ่ายทอดอารมณ์อันล้นทะลักภายใน ขณะที่ภายนอกพยายามจะเก็บกดมันไว้ ทำให้คนดูสัมผัสถึงความรู้สึกที่แท้จริงของจอร์จ ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้

มอร์แกน ฟรีแมน (Invictus)

มอร์แกน ฟรีแมน เคยแสดงเป็นพระเจ้ามาแล้วถึงสองครั้งด้วยกัน ฉะนั้นการถ่ายทอดบุญบารมีรวมถึงความสูงส่งทางศีลธรรมจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับเขา ตรงกันข้าม ความท้าทายสูงสุดของการรับบท เนลสัน แมนเดลา อยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่าผลงานดังกล่าวจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแมนเดลาตัวจริง ซึ่งใครๆ ก็รู้จักคุ้นเคย “ถ้าทุกส่วนของงานแสดงเป็นเรื่องยาก การรับบทบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และเป็นที่รู้จักของทุกคนก็คงเป็นเรื่องยากสุด” เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Million Dollar Baby กล่าว

นักแสดงหลายคนเคยผ่านบททดสอบนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แดนนี่ โกลเวอร์ (จากหนังทีวีเรื่อง Mandela) ซิดนีย์ ปอยเตียร์ (จากหนังทีวีเรื่อง Mandela and de Klerk) หรือ เดนนิส เฮย์สเบิร์ท (Goodbye Bafana) ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยน่าจดจำนัก จุดเด่นในงานแสดงของฟรีแมนอยู่ตรงที่เขาไม่ได้แค่เลียนแบบแมนเดลา แต่กลับสวมวิญญาณเป็นเขา จริงอยู่นักแสดงวัย 72 ปีอาจแม่นยำในการคัดลอกวิธีพูด หรือท่าทางการเดิน ซ้ำยังมีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกันด้วย (เขาอายุน้อยกว่าแมนเดลาเพียงไม่กี่ปี) แต่สิ่งที่สำคัญกว่าอยู่ตรงการถ่ายทอดเสน่ห์ ความมั่นใจ และเศษเสี้ยวแห่งความผิดหวัง เสียใจที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งออกมาได้อย่างหมดจด

เรื่องราวใน Invictus ดัดแปลงจากหนังสือของ จอห์น คาร์ลิน ชื่อ Playing the Enemy: Nelson Mandela and the Game That Made a Nation เริ่มต้นขึ้นหลังแมนเดลาเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้และกำลังมองหาหนทางที่จะประสานรอยร้าวระหว่างคนในชาติอันเป็นผลจากอคติทางสีผิวผ่านการแข่งขันกีฬารักบี้ เขาเดินหน้าแคมเปญดังกล่าวด้วยการเรียกกัปตันทีมชาติ (แม็ท เดมอน) มาเข้าพบ พร้อมตั้งเป้าหมายที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ให้ นั่นคือ ทีม แอฟริกาเนอร์ส จะต้องคว้าแชมป์โลกมาครองในการแข่งขัน เวิลด์ คัพ ซึ่งแอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดงานในอีกหนึ่งปีข้างหน้า นอกจากกระดูกก้อนโตอย่างทีม ออล แบล็ค จากนิวซีแลนด์แล้ว ภารกิจนี้ยังโหดมหาหินเนื่องจาก แอฟริกาเนอร์ส เป็นความภาคภูมิใจของชนกลุ่มน้อยผิวขาวและถูกเกลียดชังจากกลุ่มคนผิวสี ด้วยมองว่ามันเป็นตัวแทนของความกดขี่

สำหรับฟรีแมน จุดกำเนิดของหนัง คือ วันที่ เนลสัน แมนเดลา เปิดแถลงข่าวเพื่อโปรโมตหนังสือบันทึกความทรงจำเมื่อปี 1994 ชื่อ Long Walk to Freedom โดยภายในงานมีนักข่าวคนหนึ่งตะโกนถามขึ้นว่า ถ้าหนังสือถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ เขาอยากให้นักแสดงคนใดมารับบท

“เขาอยากได้ผม” ฟรีแมนเล่า “มันเป็นเหมือนเสียงอนุมัติจากเบื้องบน” ต่อมาผู้อำนวยการสร้างที่ถือลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้อยู่ได้จัดให้มีการนัดพบระหว่างฟรีแมนกับแมนเดลา ตามมาด้วยความพยายามอันเนิ่นนานที่จะสร้างหนังชีวประวัติ แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยความล้มเหลว “มีเรื่องราวมากมายเกินไปสำหรับบรรจุเอาไว้ในหนังเพียงหนึ่งเรื่อง” ฟรีแมนอธิบาย เขาล้มเลิกความคิดที่จะแสดงเป็นแมนเดลาจนกระทั่งนักข่าวชาวอังกฤษ จอห์น คาร์ลิน เสนอบทหนังให้เขา ฟรีแมนรีบตกลงซื้อลิขสิทธิ์ จากนั้นก็ชักชวน คลินท์ อีสต์วู้ด ซึ่งเขาเคยร่วมงานด้วยสองครั้งในหนังรางวัลออสการ์เรื่อง Unforgiven และ Million Dollar Baby ให้มากำกับ

ใน Invictus รายละเอียดที่ช่วยลดภาพนักบุญของแมนเดลา ทำให้เขามีความป็นมนุษย์มากขึ้นอยู่ตรงแง่มุมเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว (เขาหย่าร้างสองครั้งและห่างเหินจากลูกๆ) โดยในฉากสำคัญฉากหนึ่ง คนดูจะได้เห็นแมนเดลา ผู้นำที่สามารถสรรหาถ้อยคำสวยหรูมากระตุ้นมวลชนให้ซาบซึ้ง ประทับใจ กลับไม่อาจพูดจาสื่อสารกับลูกสาวที่ชิงชังเขาได้ “จากที่ได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว” ฟรีแมนกล่าว “ความกังวลหลักของแมนเดลาหาได้อยู่ตรงสิ่งที่เขาทำ หากแต่อยู่ตรงสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ เขาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของพ่อและสามีได้เพราะมีภารกิจอื่นที่ต้องทำอีกมาก เขาเป็นผู้นำประเทศชาติมากกว่าจะเป็นผู้นำครอบครัว”

เจเรมี เรนเนอร์ (The Hurt Locker)

ระหว่างขั้นตอนคัดเลือกกลุ่มนักแสดงนำของหนังเรื่อง The Hurt Locker ผู้กำกับ แคธรีน บิเกโลว ต้องการหลีกเลี่ยงดาราดัง เพื่อไม่ให้คนดูคาดเดาได้ว่าใครจะอยู่ ใครจะตาย โดยตัดสินจากความดังของดารา แต่สุดท้ายคนที่คว้าบทเด่นไปครอง คือ เจเรมี เรนเนอร์ นักแสดงซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี เป็นที่เคารพของคนในวงการจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนอกวงการ “แคธรีนอยากได้คนที่นักดูหนังไม่คุ้นหน้า ผมเลยกลายเป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่ทำงานมานาน 10 ปี” เรนเนอร์กล่าวติดตลก

แต่ทั้งหมดนั้นกำลังจะเปลี่ยนแปลงหลังจาก The Hurt Locker เดินสายกวาดรางวัลแทบทุกเวที แถมยังผลักดันให้นักแสดงวัย 38 ปีผู้นี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก

เรนเนอร์รับบทเป็นจ่าสิบเอก วิลเลียม เจมส์ นายทหารผู้เชี่ยวชาญด้านการปลดระเบิดที่มีนิสัยบ้าระห่ำ ไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และชอบแหกกฎอยู่ตลอดเวลา เขารับมือกับอันตรายบนท้องถนนในกรุงแบกแดด หรือความซับซ้อน เสี่ยงภัยในอาชีพการงานได้แบบสบายๆ แต่กลับอึดอัด สับสน เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจประจำวันที่แสนง่ายดาย เช่น การเลือกซื้อซีเรียลในซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะเดียวกันใช่ว่าสงครามจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเจมส์ ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเด็กชายชาวอีรักที่มาขายดีวีดีในฐานทัพ

แม้จะมีโอกาสเล่นหนังสตูดิโอมาไม่น้อย เช่น การประกบ แบรด พิทท์ ใน The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford ประกบ ชาร์ลีซ เธรอน ใน North Country ประกบ โคลิน ฟาร์เรล ใน S.W.A.T. หรือร่วมแสดงในหนังตลาดที่ทำเงินสูงอย่าง 28 Weeks Later แต่ผลงานการแสดงที่น่าประทับใจของเรนเนอร์ส่วนใหญ่จะเป็นหนังอินดี้ฟอร์มเล็กเสียมากกว่า อาทิ Neo Ned, Fish in the Barrel หรือการสวมบทฆาตกรต่อเนื่อง เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ ใน Dahmer ซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงรางวัล Independent Spirit Award เป็นครั้งแรก “ผมชอบเล่นหนังอินดี้ เพราะมันเปิดโอกาสให้ผมได้บทที่ยอดเยี่ยมและน่าสนใจ แต่มักไม่ค่อยมีคนได้ดูเนื่องจากมันไม่ทำเงิน หรือกระทั่งไม่มีผู้จัดจำหน่าย” เรนเนอร์กล่าว

ก่อน The Hurt Locker จะเปิดกล้อง เรนเนอร์ได้เดินทางไปพูดคุยกับนายทหารที่ผ่านประสบการณ์คล้ายคลึงกันมาแล้วเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบท “พวกเขามีรูปร่างแตกต่างกันมาก” เขาเล่า “บางคนสูงแค่ 160 ซม. ส่วนบางคนกลับสูงถึง 190 ซม. บ้างก็ลงพุง บ้างก็มีกล้ามแขนใหญ่กว่าท่อนขาของผมเสียอีก แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันหมด คือ ความห้าวหาญ เด็ดเดี่ยว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะงานของพวกเขาเกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย”

The Hurt Locker เห็นความสมจริงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกๆ คนเขียนบท มาร์ค โบล รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายทหารจำนวนมากระหว่างที่เขาเป็นนักข่าวประจำกองทัพสหรัฐช่วงปี 2004 เหตุการณ์ส่วนใหญ่ในหนังล้วนได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริง เช่น ฉากที่นายทหารคนหนึ่ง (ไบรอัน เกแร็กตี้) ต้องเช็ดเลือดออกจากกระสุนเพื่อให้มันใช้งานได้ และความสมจริงดังกล่าวก็ส่งต่อไปยังขั้นตอนการถ่ายทำ ซึ่งใช้เวลา 44 วันท่ามกลางสภาพอากาศอันหฤโหดของประเทศจอร์แดน พวกเขาเผชิญทั้งความร้อนและพายุทะเลทราย แต่สำหรับเรนเนอร์ชุดกู้ระเบิดน้ำหนัก 100 ปอนด์ที่เขาต้องสวมระหว่างเข้าฉากถือเป็นความทรมานขั้นสูงสุด “หลังจากต้องสวมมันนานๆ ไอคิวของคุณจะลดต่ำลงประมาณ 25 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มันทำให้คุณเหนื่อยล้าจนแทบเป็นลม” เรนเนอร์เล่า

ในการฉายหนังรอบพิเศษให้เหล่าทหารผ่านศึกและสมาชิกครอบครัว ขณะเรนเนอร์กำลังตอบคำถามของผู้ชมเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลว่า “การได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของวีรบุรุษเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผม มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่มีใครรู้จักพวกเขาสักเท่าไหร่ ผมหวังว่าจะสามารถสะท้อนเศษเสี้ยวแห่งความจริงไปยังคนดูได้...” ทันใดนั้นก็มีเสียงตะโกนแทรกขึ้นว่า “คุณทำได้มากกว่านั้นเสียอีก” ตามมาด้วยเสียงปรบมือดังสนั่นรอบด้าน บางทีนั่นอาจพิสูจน์การแสดงอันยอดเยี่ยมของเรนเนอร์ได้มากกว่ารางวัลใดๆ


แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side)

2009 ถือเป็นปีทองของ แซนดร้า บูลล็อค อย่างไม่ต้องสงสัย หลัง The Proposal ทำเงินเหนือความคาดหมายในช่วงซัมเมอร์ ก่อนเธอจะปิดท้ายปีอย่างสวยงามด้วยหนังสุดฮิต The Blind Side ซึ่งทำเงินแซงหน้า Erin Brockovich จนกลายเป็นหนังที่นำแสดงโดยดาราหญิงที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลไปแล้ว (รายได้รวมทั่วโลกของหนังสองเรื่องมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ บทหญิงสาวชาวใต้ที่รับเลี้ยงเด็กชายผิวดำไร้บ้าน พร้อมกับปลุกปั้นเขาจนกลายเป็นนักฟุตบอลชั้นยอดในหนังเรื่องหลังยังผลักดันให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกอีกด้วย

แต่ความวุ่นวายระหว่างเทศกาลแจกรางวัลหาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตอันเรียบง่ายและแสนสงบของบูลล็อคมากนัก มันเป็นแค่เสียงแบ็คกราวด์ท่ามกลางภารกิจสำคัญในครอบครัว เช่น การปรุงลาซานญามังสวิรัติให้ลูกเลี้ยงเธอ หรือมองหาต้นคริสต์มาสมาประดับบ้าน กระนั้นใช่ว่าเธอจะไม่ซาบซึ้ง หรือค่อนข้างตกใจเล็กน้อยกับเสียงชื่นชมและบรรดารางวัลต่างๆ ที่ได้มา เพราะอย่างไรเสียทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ แม้เธอจะแสดงหนังมานานกว่า 20 ปีแล้ว

เช่นเดียวกับ จูเลีย โรเบิร์ตส์ (ซึ่งปฏิเสธที่จะรับบทนำ จนทางสตูดิโอเสนอให้ทีมงานเปลี่ยนเรื่องเป็นความสัมพันธ์แบบพ่อลูกแทนโดยไม่สนใจว่าเรื่องราวในหนังได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง!) บูลล็อคมีกลุ่มแฟนประจำที่คอยติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่นเพราะชื่นชอบบุคลิกติดดินและทักษะการแสดงตลกอันเฉียบคม จนหลายคนยกย่องให้เธอเป็น ลูซิลล์ บอล แห่งยุคนี้ หนังแทบทุกเรื่องของเธอทำเงินน่าพอใจ แต่ผลงานดราม่าอันเข้มข้นของเธอในหนังอย่าง Crash หรือ Infamous หรือ 28 Days กลับถูกมองข้าม

The Blind Side เป็นเหมือน Erin Brockovich เวอร์ชั่น แซนดร้า บูลล็อค เธอรับบท ลี แอนน์ ทูอี้ มัณฑนากรหญิงที่แกร่งกล้า พูดจาตรงไปตรงมา และมุ่งมั่นชนิดไม่หวั่นเกรงอุปสรรคใดๆ ชีวิตของเธอต้องพบจุดหักเหเมื่อได้รู้จักกับเด็กวัยรุ่นผิวดำร่างใหญ่ ซึ่งไม่มีใครสนใจ ไร้ครอบครัว และขาดทักษะการเข้าสังคม แต่เปี่ยมพรสวรรค์ในกีฬาฟุตบอล “ลี แอนน์ มีบุคลิกแบบที่คนดูชอบ เธอโผงผาง แต่เป็นคนตลก เธอคุมบังเหียนชีวิต ไม่หวาดเกรงใครหน้าไหน” แอนดรูว์ โคซอฟ ผู้อำนวยการสร้างกล่าว “ซึ่งนั่นคล้ายคลึงกับแซนดร้ามาก”

ดาราสาวที่โด่งดังไปทั่วโลกมาจากผลงานอย่าง Speed, While You Were Sleeping และ Miss Congeniality ดูจะเห็นด้วยกับความเห็นนั้น “เราเหมือนกันตรงที่เวลามุ่งมั่นจะทำอะไรให้สำเร็จแล้วล่ะก็ เราจะมองไม่เห็นว่ามันอาจนำความวุ่นวายมาสู่ตัวเองมากแค่ไหน สิ่งสำคัญ คือ ทำบางอย่างให้สำเร็จลุล่วง”

งานแสดงของบูลล็อคใน The Blind Side มีจุดเด่นตรงความลุ่มลึก ไม่น้อยหรือมากเกินไป โดยฉากทีเด็ดของเธอมักจะเป็นช่วงเวลาอันนิ่งเงียบระหว่าง ลี แอนน์ กับ ไมเคิล (ควินตัน แอรอน) เด็กหนุ่มผิวดำที่ต้องต่อสู้กับอดีตเลวร้าย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองน่าประทับใจเพราะหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้ถูกพูดออกมา และบูลล็อคก็ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งถ้าบรรยายเป็นตัวอักษรก็คงต้องใช้กระดาษหลายหน้า ผ่านแววตา และอากัปกิริยาเพียงเล็กน้อยได้อย่างยอดเยี่ยม

“ผมไม่แน่ใจว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ไหมว่ามันเป็นการแสดงที่ยากมากๆ และถือเป็นความเสี่ยงขั้นสูงสุดสำหรับบูลล็อค” ผู้กำกับ/เขียนบท จอห์น ลี แฮนค็อค กล่าว

“ผมคิดว่า แซนดร้า บูลล็อค ไม่ต่างจากนักแสดงอย่าง เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ซึ่งในวงการให้ความเคารพเพราะหนังของพวกเธอมักจะทำเงินสูง และพวกเธอก็ทำหน้าที่ได้ดี แต่คนมักจะคิดว่า ไม่เอาน่า พวกเธอก็แค่เล่นเป็นตัวเอง มันไม่ใช่การแสดงสักหน่อย ซึ่งนั่นถือว่าไม่ยุติธรรมเลย” เดวิด ธอมสัน นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าว

ทว่าคราวนี้บูลล็อคกลับได้เครดิตไปเต็มๆ จากความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนเส้นทางอาชีพไปสู่อีกทิศทางหนึ่ง ซึ่งยากมากสำหรับผู้หญิงวัยเกิน 40 ปี ไม่เชื่อก็ลองถาม เม็ก ไรอัน ดูได้ การจะทำให้คนดูยอมรับราชินีโรแมนติกคอมเมดี้ในบทดรามานั้นต้องใช้เวลาและความพยายามขั้นสูงสุด แต่บูลล็อคก็ยินดีจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยการเสี่ยงเล่นหนังอย่าง The Lake House ก่อนจะค่อยๆ ก้าวเท้าอย่างต่อเนื่องสู่บทที่หนักขึ้น “คุณต้องหยุดเมื่อพบว่าผู้คนเริ่มคุ้นชินกับสิ่งที่คุณนำเสนอมากเกินไป และเมื่อฉันหยุด พร้อมจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ฉันก็พบว่ายังมีอะไรที่น่าสนใจรอคอยฉันอยู่อีกมาก” บูลล็อคกล่าว

เฮเลน เมียร์เรน (The Last Station)

พรสวรรค์ทางการแสดงของ เฮเลน เมียร์เรน ปรากฏชัดในแทบทุกฉากของ The Last Station ซึ่งเธอรับบทเป็น ซอฟยา ตอลสตอย ภรรยาของนักเขียนระดับตำนาน เจ้าของผลงานสุดคลาสสิกอย่าง War and Peace และ Anna Karenina เพราะเธอพาคนดูไปสัมผัสอารมณ์อันสุดโต่งของผู้หญิง ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าร้ายกาจจนอาจถึงขั้นเสียสติ ไม่ว่าจะด้านที่อบอุ่น หยิ่งยโส เยาะหยัน และกระทั่งบ้าคลั่ง แต่สุดท้ายกลับสามารถทำให้เราเชื่อได้ว่าเธอทำทุกอย่างเหล่านั้นก็เพราะรัก

บุคลิกรุนแรงของซอฟยา คล้ายภูเขาไฟที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ ถือว่าแตกต่างและห่างไกลจากบทที่ทำให้เมียร์เรนคว้าออสการ์มาครองเมื่อสามปีก่อนราวฟ้ากับเหว “ฉันได้บทหนังเรื่องนี้ไม่นานหลังจากปิดกล้อง The Queen การได้ทำบางอย่างที่แตกต่างจากโปรเจ็กต์ก่อนหน้าถือเป็นความฝันขั้นสูงสุดของนักแสดง และเห็นได้ชัดว่าตัวละครเอกใน The Queen ต้องเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายเอาไว้ภายใน พยายามไม่แสดงออกต่อหน้าคนอื่น ซึ่งตรงกันข้ามกับซอฟยาอย่างสิ้นเชิง นั่นคือสิ่งที่ดึงดูดใจฉัน อีกอย่างมันเป็นบทหนังที่ยอดเยี่ยมมาก” เมียร์เรนกล่าว

ผู้กำกับ ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน เล่าถึงประสบการณ์ตลกระหว่างช่วงซ้อมบท ซึ่งดูจะอธิบายความแรงของตัวละครอย่างซอฟยาได้เป็นอย่างดี “จู่ๆ นักออกแบบเสื้อผ้าชาวเยอรมันก็เดินเข้ามาในห้อง แล้วพูดกับเฮเลนว่า ‘นี่เป็นชุดสำหรับใส่เข้าฉากที่คุณตกลงมาจากระเบียง นี่เป็นชุดสำหรับใส่เข้าฉากที่คุณพยายามจะฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงสระน้ำ นี่เป็นชุดสำหรับใส่เข้าฉากที่คุณพยายามจะร่วมรักกับสามี และนี่เป็นชุดสำหรับใส่เข้าฉากที่คุณต้องปาจานแตก’ ”

เมียร์เรนต้องเดินไต่บนเส้นลวดอย่างระมัดระวังในการถ่ายทอดบุคลิกแบบ “ดาราละครเวที” ของซอฟยาให้สมจริง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คนดูรำคาญ หรือหงุดหงิดจนสมาธิหลุดกับพฤติกรรมสุดแสนโอเวอร์ “มีฉากหนึ่งที่ฉันเสนอให้ไมเคิลตัดออกเพราะคิดว่ามันล้ำเส้นเกินไปและอาจผลักไสคนดูจากตัวละคร” เมียร์เรนกล่าว “เป็นตอนที่เธอพยายามจะฆ่าตัวตายอีกครั้งด้วยการกินยาพิษ เธอพูดว่า ‘นี่เป็นยาพิษ ฉันจะกินล่ะนะ ถ้าคุณไม่ห้ามฉัน ฉันจะกินจริงๆ ด้วย’ แต่เขากลับไม่ห้ามเธอและพูดว่า ‘เอาเลย กินเลย’ สุดท้ายเธอจึงตอบว่า ‘ฉันไม่กินหรอก’ ฉันคิดว่ามันมากเกินไป คนดูจะพากันคิดว่า ‘อีนี่มันบ้า ไร้สาระสุดๆ’ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ชมสามารถติดตามตัวละครไปได้ตลอด โดยไม่จำเป็นต้องชื่นชอบตัวละครก็ได้” นักแสดงวัย 64 ปีกล่าว

The Last Station เล่าถึงบั้นปลายชีวิตของ ลีโอ ตอลสตอย (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) หลังจากเขาเกษียณตัวเองมาใช้เวลาส่วนใหญ่ภายในบ้านล้อมรอบด้วยคนสนิทและครอบครัว หนึ่งในนั้น คือ ซอฟยา ภรรยาที่อยู่กินกับเขามานาน 48 ปีและคุ้นเคยกับความสุขสบายแบบชนชั้นกลาง (เธอเลือกจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสวยหรู มีระดับ) ขณะสามีเธอ (ซึ่งเลือกจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเรียบง่าย) กลับเริ่มหันไปมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยทุกความขัดแย้งและการปะทะคารมในหัวข้อเกี่ยวกับปรัชญา การเมือง การใช้ชีวิต หรือกระทั่งความรัก ล้วนตกอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของ บัลกาคอฟ (เจมส์ แม็คอะวอย) เลขานุการหนุ่มที่ค่อนข้างไร้เดียงสาของตอลสตอย

แม้จะมีฉากหลังเป็นประเทศรัสเซีย แต่นักแสดงทุกคนใน The Last Station กลับพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงตัวเอง เช่น แม็คอะวอยพูดติดสำเนียงสก็อตต์ ส่วนเมียร์เรนพูดติดสำเนียงอังกฤษ ขณะพลัมเมอร์เลือกใช้สำเนียงคิวเบ็ก นักแสดงสาวใหญ่มากฝีมือผู้เคยเข้าชิงออสการ์มาก่อนสามครั้งจาก The Madness of King George, Gosford Park และ The Queen อธิบายว่า “มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เราถกเถียงกันยาวนานระหว่างช่วงการซ้อมว่าควรจะพูดติดสำเนียงรัสเซียไหม ซึ่งคงให้ความรู้สึกเฟกๆ เพราะคนรัสเซียย่อมพูดเป็นภาษารัสเซีย ฉันคิดว่าหนังแต่ละเรื่องก็แตกต่างกันไป เช่น เมื่อไม่นานมานี้ฉันเพิ่งถ่ายหนังเกี่ยวกับอิสราเอล เราพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงอิสราเอลนิดหน่อย ทั้งที่ตัวละครควรจะพูดภาษาฮิบบรู แต่ฉันคิดว่ากับ The Last Station เราตัดสินใจถูกต้องแล้ว”

แครี มัลลิแกน (An Education)

การได้รับฉายา ออเดรย์ เฮปเบิร์น คนใหม่ถือเป็นภารกิจที่หนักอึ้ง และแน่นอนย่อมตามมาด้วยความคาดหวังที่สูงลิบจนยากจะเติมเต็มได้ แต่นักแสดงสาวจากเกาะอังกฤษวัย 24 ปีกลับเลือกจะยิ้มรับคำชม รางวัล หรือเสียงสรรเสริญรอบด้านแล้วก้มหน้าทำงานต่อไปโดยปราศจากแรงกดดันใดๆ ทั้งนี้เพราะชื่อเสียงตลอดจนเกียรติยศหาใช่เหตุผลที่ชักนำเธอเข้าสู่วงการ “ฉันเป็นนักแสดงเพราะฉันรักการแสดงยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด” แครี มัลลิแกน กล่าว

คงด้วยเหตุผลนี้กระมัง คนดูถึงได้เห็นผลงานของเธออย่างต่อเนื่องตลอดปี 2009 (นอกจาก An Education แล้ว เธอยังรับบทเล็กๆ ในหนังอย่าง Brothers และ Public Enemies ด้วย) และกำลังจะได้เห็นหน้าเธอบ่อยขึ้นอีกในอนาคต เริ่มต้นด้วยบทลูกสาว ไมเคิล ดั๊กลาส ใน Wall Street: Money Never Sleeps ของ โอลิเวอร์ สโตน (จนกลายเป็นที่มาของข่าวซุบซิบว่าเธอกำลังอินเลิฟกับ เชีย ลาเบิฟ ซึ่งรับบทเด่นในหนัง) และโครงการหนังต่างๆ อีกสี่เรื่อง ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ สำหรับบท อีไลซา ดูลิตเติล ในรีเมค My Fair Lady ของผู้กำกับ จอห์น แมดเดน (Shakespeare in Love) ซึ่งคงจะทำให้ฉายา ออเดรย์ เฮปเบิร์น คนใหม่ของเธอติดปากยิ่งขึ้นอีก

An Education เปรียบเสมือนปาร์ตี้เปิดตัวของมัลลิแกน (สโตนตัดสินใจเลือกเธอหลังได้ดูหนัง ส่วน วอร์เรน เบ็ตตี้ ก็ชอบหนังมากถึงขนาดขอนัดพบระหว่างเธอพักอยู่ในแอลเอ) เธอรับบทเป็น เจนนี เด็กสาวแสนฉลาดที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนช่วงปี 1961 โดยเป้าหมายสูงสุดของเธอ คือ การได้ไปเรียนต่อที่ออกซ์ฟอร์ดตามความต้องการของคุณพ่อจอมบงการ (อัลเฟร็ด โมลีนา) แม้ลึกๆ ภายในเจนนีจะตระหนักดีว่าชีวิตยังมีอะไรมากกว่าการสอบได้ที่หนึ่ง หรือเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง และนั่นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสาววัยวัย 16 ปีกับ เดวิด (ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด) นักธุรกิจหนุ่มที่อายุมากกว่าเธอเท่าตัว เขาเปิดโลกทัศน์เจนนีด้วยการพาเข้าร้านอาหารสุดหรู แนะนำให้เธอรู้จักงานศิลปะ รวมถึงทุกสิ่งที่เธอโหยหา พลางหลงใหลเสน่ห์และความไร้เดียงสาของเด็กสาวผู้กระหายจะเรียนรู้ชีวิตในทุกแง่มุม

บทหนังดัดแปลงจากบันทึกความทรงจำของ ลินน์ บาร์เบอร์ โดยนักเขียนชื่อดัง นิค ฮอร์นบี และแรกเริ่มเดิมทีวางแผนจะให้ บีแบน คิดรอน (Bridget Jones: The Edge of Reason) เป็นผู้กำกับ มัลลิแกนผ่านการทดสอบหน้ากล้อง แต่เมื่อคิดรอนถอนตัว โครงการจึงถูกส่งต่อไปยังผู้กำกับหญิงชาวเดนมาร์ก โลน เชอร์ฟิก (Italian for Beginners) ซึ่งอยากได้นักแสดงมีชื่อเสียงมารับบทนำ จนกระทั่งเธอได้เปิดดูเทปการทดสอบหน้ากล้อง “ฉันชอบแครีมากที่สุด” เชอร์ฟิกเล่า “เราต้องปรับบทเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะกับเธอ เพราะบุคลิกของแครีค่อนข้างอ่อนหวาน ซึ่งสอดคล้องกับอารมณ์หนัง แรกทีเดียวฉันก็วิตกอยู่เหมือนกัน ด้วยกลัวว่าหนังจะออกมาน่ารักเกินไป แต่สุดท้ายฉันก็ยินดีจะเสี่ยง แทนการพุ่งน้ำหนักไปยังเรื่องราวการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างเจนนี่กับพ่อของเธอ”

การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์อาจเป็นเรื่องคาดไม่ถึงสำหรับอดีตนักเรียนในโรงเรียนคาทอลิกหญิงล้วนอย่างมัลลิแกน แต่ขณะเดียวกันก็อาจเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นับแต่ก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งแสงสีด้วยการร่วมแสดงในละครโรงเรียนเรื่อง Sweet Charity และถึงขนาดเคยเขียนจดหมายไปหา เคนเน็ธ บรานาห์ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับอาชีพนักแสดง มัลลิแกนเล่าว่าจดหมายที่เธอเขียนไปหา จูเลียน เฟลโลว์ส มือเขียนบทเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Gosford Park ส่งผลให้เธอได้บท คิตตี้ เบนเน็ตต์ ในหนังเรื่อง Pride and Prejudice และกลายเป็นเพื่อนสนิทกับ คีรา ไนท์ลีย์ ซึ่งได้เข้าชิงออสการ์จากหนังเรื่องนี้ (“เธอสนุกและนิสัยดีมาก” มัลลิแกนกล่าว) ล่าสุดทั้งสองกำลังจะได้ร่วมงานกันอีกครั้งใน Never Let Me Go ภาพยนตร์ไซไฟ-ดรามาที่ดัดแปลงจากนิยายของ คาซุโอะ อิชิกุโร (The Remains of the Day) มีกำหนดเข้าฉายในปีนี้

สำหรับนักดูหนังบางคน รักโรแมนติกระหว่างผู้ชายวัยสามสิบกว่าๆ กับเด็กนักเรียนวัยทีนอาจสร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ แต่มัลลิแกนยืนกรานว่าเจนนีไม่ใช่เหยื่อ หรือถูกล่อหลอกแต่อย่างใด เธอตระหนักดีว่าตัวเองกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ “ฉันคิดว่าสาเหตุที่ความสัมพันธ์ในหนังสามารถสร้างอารมณ์ร่วมได้อย่างราบรื่น เพราะเจนนีมีส่วนผลักดันมันมากพอๆ กับเดวิด หรือบางทีอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ”

แกบาเร ซิเดเบ (Precious: Based on the novel ‘Push’ by Sapphire)

ใครก็ตามที่ได้พบตัวจริงของ แกบาเร ซิเดเบ จะรู้สึกตกตะลึงว่าเธอช่างแตกต่างกับตัวละครที่เธอแสดงในหนังราวหน้ามือเป็นหลังมือ และหลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Precious: Based on the novel by Sapphire จนจบ คุณอาจประหลาดใจเช่นกันเมื่อพบว่านี่คือบทบาทการแสดงเรื่องแรกของเธอ!

ฉากหลัง คือ ย่านฮาร์เล็ม ปี 1987 แคลริซ “พรีเชียส” โจนส์ (ซิเดเบ) เป็นเด็กหญิงผิวดำวัย 16 ปีที่เพิ่งตั้งท้องลูกคนที่สองจากน้ำมือพ่อแท้ๆ ของตัวเอง เธออาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์คับแคบกับ แมรี่ (โมนีก) คุณแม่ใจยักษ์ที่ใช้งานเธอเยี่ยงทาส แถมยังชอบลงไม้ลงมือ และด่าทอลูกสาวว่าไร้ค่า โง่เง่า หรือบางครั้งกระทั่งเรียกเธอมาช่วยสำเร็จความใคร่!!! ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมือนตกนรกทั้งเป็น การเรียนของพรีเชียสจึงตกต่ำเรื่อยมาจนถูกไล่ออกจากโรงเรียนในที่สุด แต่ความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าทำให้พรีเชียสไม่เคยยอมแพ้ต่อชะตากรรม

การรับบทนี้ทำให้ซิเดเบต้องเผชิญฝันร้ายนานัปการ ตั้งแต่โดนพ่อข่มขืน โดนแม่เอากระทะทุบหัว ไปจนถึงโดนกลุ่มเด็กชายล้อเลียนและผลักจนหน้ากระแทกพื้น แต่พรีเชียสปราศจากหนทางระบาย เพราะเธออ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ และแทบจะไม่สามารถพูดจาให้เป็นประโยคที่ถูกต้อง “การรับบทพรีเชียสทำให้ซิเดเบต้องสลัดทิ้งความมั่นใจในตัวเองทั้งหมดทิ้ง เรียนรู้ที่จะพูดให้ช้าลง บางครั้งติดๆ ขัดๆ และด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำเหมือนพึมพำกับตัวเอง คงมีเพียงในฉากแฟนตาซีเท่านั้น (เมื่อพรีเชียสถูกทารุณกรรมจากคนรอบข้าง เธอจะนึกภาพว่าตัวเองเป็นคนดังกำลังเดินอยู่บนแคทวอล์คหรือพรมแดง) ที่คนดูจะได้เห็นตัวจริงของซิเดเบ ทั้งร่าเริงและมุ่งมั่น” ผู้กำกับ ลี เดเนียลส์ กล่าว

“สื่อมวลชนพยายามสร้างภาพว่าฉันเป็นพวกเด็กหญิงที่น่าสงสาร หน้าตาอัปลักษณ์ และไม่ค่อยป็อปปูล่าในโรงเรียนหรือชีวิตจริง แต่พอได้มาเล่นหนังเรื่องนี้ฉันเลยกลายเป็นสาวมั่นขึ้นมาซะงั้น” ซิเดเบเล่า “ความจริงคือฉันเป็นสาวมั่นมาตลอด จนกระทั่งเมื่อต้องมารับบทนำในหนังเรื่องนี้นั่นแหละ” อย่างไรก็ตามเธอรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละคร มีประสบการณ์ร่วมบางอย่างเนื่องจากเธอเองก็ถือกำเนิดในบรู้กลินและเติบโตมาในย่านฮาร์เล็ม “พรีเชียสแตกต่างจากตัวละครในหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ เธอซื่อตรงและสมจริงจนฉันรู้สึกเหมือนรู้จักเธอ นอกจากนี้ ฉันยังรู้สึกผิดด้วยเพราะฉันเองก็เคยทำแบบเดียวกับตัวละครอื่นๆ รอบข้างพรีเชียสในหนังเรื่องนี้ ฉันเคยเพิกเฉยทั้งที่ควรจะช่วยเหลือ พรีเชียสถูกทอดทิ้งโดยระบบ พ่อแม่ เพื่อน และทุกคนที่สามารถจะช่วยเหลือเธอได้”

ซิเดเบได้ใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นเตร็ดเตร่กับเพื่อนสนิทอยู่แถวสตูดิโอช่องเอ็มทีวี เพื่อหาโอกาสเจอวง ’N Sync จนกระทั่งในปี 2007 เธอมีโอกาสทดสอบหน้ากล้องเพื่อรับบทนำใน Precious หลังจากนั่งชมเทปทดสอบหน้ากล้องของเด็กหญิงทั่วประเทศ (เด็กสาวหนัก 350 ปอนด์ ไม่ได้หาได้ง่ายๆ ตามท้องถนนทั่วไป) เดเนียลส์ประทับใจซิเดเบมากที่สุด “เธอไม่รู้สึกขัดเขินใดๆ เลยกับรูปร่างของตัวเอง มันน่าประหลาดใจมาก ถ้าไม่ใช่เพราะเธอไม่ยอมรับความจริง ก็คงเพราะเธอยกระดับตัวเองขึ้นไปอีกขั้น” เขาเล่า “ผมมั่นใจว่าเธอจะต้องมีแฟนหนุ่มอย่างน้อยสี่หรือห้าคน”

ซิเดเบถูกกดดันจากคนรอบข้างเรื่องน้ำหนักมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว ตอนเธออายุได้ 11 ขวบ ป้าของเธอเคยเสนอทริปล่องเรือสำราญ หากเธอสามารถลดน้ำหนักลงได้ 50 ปอนด์ แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง ซิเดเบกลับไม่ถือสาเรื่องนี้อีกต่อไปโดยบอกว่า “ฉันเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง เพราะฉันต้องนอนกับตัวเองทุกคืนและตื่นมาพบตัวเองทุกเช้า ถ้าฉันไม่รักตัวเอง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะใช้ชีวิตต่อไป ฉันชอบตัวเองแบบที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ฉันยอมรับมันได้ และถ้ารูปร่างของฉันจะเปลี่ยนไป ฉันก็ยอมรับมันได้อีกเช่นกัน”

เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia)

ครั้งหนึ่งซูเปอร์สตาร์ แฮร์ริสัน ฟอร์ด เคยเป็นเหมือนตัวแทนของช่วงซัมเมอร์ด้วยการส่งหนังแอ็กชั่นมาโกยเงินอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา นักแสดงเจ้าของสองรางวัลออสการ์จาก Sophie’s Choice และ Kramer vs. Kramer อย่าง เมอรีล สตรีพ กลับว่ายทวนกระแส “ยิ่งแก่ ยิ่งหางานยาก” และ “หนังผู้หญิงจะมีใครอยากไปดู” ด้วยการปล่อยหนังช่วงซัมเมอร์อย่างต่อเนื่อง โดยทั้งหมดล้วนพุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มคนดูผู้หญิงเป็นหลัก เพื่อสวนกระแสหนังแนวระเบิดภูเขาเผากระท่อม ซึ่งมักจะอัดแน่นเป็นพิเศษตลอดช่วงฤดูร้อน ผลลัพธ์ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น คือ หนังทุกเรื่องดังกล่าวล้วนทำเงินน่าพอใจไปจนถึงเหนือความคาดหมาย!

แฮตทริกของสตรีพเริ่มต้นด้วย The Devil Wears Prada เมื่อปี 2006 ตามมาด้วย Mamma Mia! ในปี 2008 และปิดท้ายด้วย Julie & Julia ในปี 2009 โดยระหว่างทางสามารถทำเงินรวมกันทั่วโลกมากกว่า 1000 ล้านเหรียญ แถมสองในนั้นยังผลักดันให้สตรีพได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงอีกด้วย ถือว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับนักแสดงหญิงวัย 60 ปี

ใน Julie & Julia สตรีพรับบทเป็น จูเลีย ไชด์ เจ้าของตำราอาหารสุดคลาสสิก Mastering the Art of French Cooking ซึ่งภายในประกอบด้วยวิธีปรุงอาหารฝรั่งเศส 524 รายการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายอคติเกี่ยวกับอาหารฝรั่งเศสว่ายุ่งยากและไม่สามารถทำกินเองที่บ้านได้ หนังสือเล่มดังกล่าวสร้างชื่อเสียงโด่งดังให้ไชด์ ซึ่งทีแรกสมัครเข้าเรียนทำอาหารเพียงเพื่อฆ่าเวลาว่าง ก่อนจะพบว่าตัวเองก็มีพรสวรรค์ไม่แพ้ผู้ชายคนใดในชั้นเรียน และหลายสิบปีต่อมายังเป็นแรงบันดาลใจให้ จูลี่ พาวเวลล์ (เอมี่ อดัมส์) หญิงสาวที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน แต่กลับต้องจมปลักอยู่กับงานออฟฟิศอันน่าเหนื่อยหน่าย นำมาเป็นเนื้อหาเพื่อเขียนลงบล็อกโดยเธอวางแผนจะปรุงอาหารทุกเมนูในตำราให้ครบภายในเวลาหนึ่งปี

ผู้กำกับ นอร่า เอฟรอน ซึ่งเคยเขียนบทหนังที่สตรีพเล่นมาแล้วสองเรื่อง คือ Silkwood และ Heartburn เล่าให้ฟังว่าเจ้าของสถิติเข้าชิงออสการ์สูงสุด 16 ครั้ง ได้ทดสอบหน้ากล้องแบบไม่เป็นทางการกับเธอเมื่อสองสามปีก่อน ตอนทั้งสองพบกันโดยบังเอิญที่โรงละครในกรุงนิวยอร์ก “ฉันยังไม่ได้เริ่มเขียนบทเลยด้วยซ้ำ” ผู้กำกับหญิงเล่า “เธอถามฉันว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ฉันตอบไปว่าบทหนังเกี่ยวกับ จูเลีย ไชด์ ทันใดนั้นเธอก็เริ่มต้นเลียนแบบท่าทางและน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของไชด์ตลอด 10 วินาทีที่เราเดินออกจากโรงละคร ฉันคิดว่าเธอตบท้ายด้วย ‘บอง อะเพทีท’ (คำพูดที่กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของไชด์ก่อนจบรายการทำอาหารซึ่งออกอากาศทางช่องพีบีเอส) ก่อนเราจะแยกทางกันไป ตอนนั้นฉันยังคิดในใจเลยว่า โอเค เราไม่ต้องทดสอบหน้ากล้องใครอีกแล้ว”

พอ The Devil Wears Prada เข้าฉาย เอฟรอนยิ่งมั่นใจกับตัวเลือกของเธอ “ฉันรู้ว่าถ้าเธอยอมมาเล่นให้ ไม่เพียงเธอจะเหมาะกับบทมากที่สุดเท่านั้น แต่เธอยังจะมีส่วนโน้มน้าวให้สตูดิโอยอมลงทุนสร้างหนังเรื่องนี้อีกด้วย เธอกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ขณะอายุได้ 57 ปี”

การแปลงโฉมนักแสดงสาวใหญ่รูปร่างกะทัดรัดอย่างสตรีพให้เป็นสาวร่างใหญ่อย่างไชด์ต้องอาศัยเครื่องช่วยมากกว่าแค่วิกผมดำ สำเนียงแคลิฟอร์เนีย ตลอดจนการเลียนแบบท่าทาง หรือวิธีพูด (ซึ่งแน่นอนและเช่นเคย สตรีพทำได้เนียนอย่างไร้ที่ติ) “เราใช้เทคนิคหลากหลาย และเครื่องแต่งกายแสนวิเศษของ แอนน์ ร็อธ ก็ช่วยได้มาก” เอฟรอนกล่าว อย่างไรก็ตาม จุดเด่นในงานแสดงของสตรีพหาได้อยู่ตรงภาพลักษณ์ผิวเผินภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะ เพราะพรสวรรค์แท้จริงจะฉายแววเมื่อเธอนำคนดูไปสัมผัสอีกด้านของตัวละครที่เราอาจคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของชีวิตครอบครัวใน The Devil Wears Prada หรือความผิดหวังที่ไม่อาจมีลูกได้ใน Julie & Julia ฉากดังกล่าวอาจผ่านมาเพียงชั่วแวบ แต่ความทรงพลังของมันกลับทำให้ตัวละครอยู่กับคนดูไปตลอดทั้งเรื่อง

วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 12, 2553

Oscar 2010: Nine out of 10


การประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ในปีนี้ดูเหมือนจะขาดเซอร์ไพรซ์แบบเดียวกับปีก่อน เมื่อ The Reader ช็อกนักข่าวและหักปากกาเซียนด้วยการหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญอย่างครบถ้วน (หนัง-ผู้กำกับ) แถม เคท วินสเล็ท ยังถูกอัพเกรดเป็นนักแสดงนำหญิงอีกต่างหาก หลังจากเดินสายเข้าชิงสาขานักแสดงสมทบมาตลอด โดย 90% ของผู้เข้าชิงล้วนเป็นตัวเก็ง ที่เดินหน้ากวาดรางวัล หรือถูกเสนอชื่อเข้าชิงตามเวทีต่างๆ มานับไม่ถ้วน ส่วนอีก 10% ก็ถือเป็นเซอร์ไพรซ์ที่ไม่ได้ชวนเหวอสักเท่าไหร่ หากแต่อยู่ในกลุ่ม “พอมีหวัง” เพื่อรอทีเผลอของกลุ่มผู้นำ

คงไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่า 2010 เป็นปีหายนะของ “หนังเต็งออสการ์” หลังจาก Invictus, Nine และ The Lovely Bones พลาดท่าตกรถด่วนขบวนสุดท้ายกันถ้วนหน้า แม้สาขาหนังยอดเยี่ยมจะถูกเพิ่มจาก 5 เป็น 10 เรื่องแล้วก็ตาม อันที่จริง เราอาจแบ่งภาวะฝันสลายของหนังทั้งสามเรื่องเป็นสามช่วงเวลาได้พอดิบพอดี เริ่มจาก The Lovely Bones ซึ่งถูกสอยร่วงเป็นรายแรกโดยเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลาย ตามมาด้วย Nine ซึ่งแม้จะไม่โดนสับเละเท่า แต่ก็ดับสนิทบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ เสียชื่อบรรดาซูเปอร์สตาร์น้อยใหญ่ที่ขนกันมาคับจอ จริงอยู่ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตล์ กับพลังดาราระดับหมื่นโวลท์อาจช่วยหล่อเลี้ยงความหวังของ Nine บนเวทีลูกโลกทองคำและ SAG ได้บ้าง แต่เมื่อปรากฏว่ามันถูก The Hangover ขโมยซีน ส่วน PGA (ซึ่งเปลี่ยนมาเสนอชื่อผู้เข้าชิงเป็น 10 เรื่องตามออสการ์) และ DGA ก็พากันเหยียบย่ำซ้ำเติม เหล่าเซียนออสการ์จึงพร้อมใจกันเขียนป้ายหลุมฝังศพให้ Nine ในทันที ตรงกันข้าม ณ เช้าวันประกาศรายชื่อ หลายคนยังคาดหมายว่า Invictus น่าจะหลุดเข้าชิงสาขาใหญ่ได้สำเร็จเพราะออสการ์ชื่นชอบ คลินท์ อีสต์วู้ด และตัวหนังเองก็กวาดคำชมมาไม่น้อย การหลุดโผ SAG, DGA และ PGA แบบครบถ้วนไม่ใช่ปัญหา เพราะ Letters From Iwo Jima เคยทำสำเร็จมาแล้ว ทว่า 2010 (เช่นเดียวกับ 2009 จากกรณี Gran Torino และ Changeling) คงไม่ใช่ปีของ คลินท์ อีสต์วู้ด

หนังที่พุ่งเข้ามาเสียบแทนที่ Invictus ถือว่าอยู่ในความคาดหมาย แม้หลายคนจะแปลกใจ (และคงถูกอกถูกใจไม่น้อย สังเกตจากเสียงเชียร์ดังสนั่นในห้องส่งระหว่างการประกาศผล) แต่อีกหลายคนกลับเห็น “แวว” มาแต่ไกล เนื่องจาก The Blind Side เป็นหนังสุดฮิตที่มหาชนชื่นชอบ แม้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์จะไม่ค่อยสู้ดี (น่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับ Nine) แต่อย่างที่บอกไว้หลายๆ ครั้ง “กรรมการออสการ์ไม่ใช่นักวิจารณ์” พวกเขา เช่นเดียวกับนักดูหนังทั่วๆ ไป ชื่นชอบเรื่องราวที่สร้างกำลังใจ ความหวัง และอารมณ์ซาบซึ้งประทับใจ (ยิ่งถ้าเรียกน้ำตาได้ยิ่งดี)

ภาพรวมของการดับเบิลผู้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก 5 เป็น 10 ถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ เนื่องจากความหลากทางสไตล์ของเหล่า “ตัวแถม” ไม่ว่าจะเป็นหนังตลกร้ายขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง A Serious Man หนังขวัญใจมหาชนอย่าง Up (กลายเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงสาขานี้นับแต่มีการแยกสาขาเฉพาะให้หนังการ์ตูน และเรื่องที่สอง นับแต่ Beauty and the Beast ติด 1 ใน 5 หนังยอดเยี่ยมประจำปี 1991) กับ The Blind Side หนังไซไฟซึ่งทำเงินน่าพอใจ แต่ซ่อนความเข้มข้นทางด้านเนื้อหาเอาไว้อย่าง District 9 (การที่คณะกรรมการเลือกหนังเรื่องนี้แทนผลงานเอาใจตลาดอย่าง Star Trek หรือ The Hangover เผยให้เห็นว่าพวกเขายังไม่พร้อมจะแปลงโฉมออสการ์เป็น People’s Choice Award) หรือหนังดรามาจากเกาะอังกฤษอย่าง An Education

ความสำเร็จของ The Hurt Locker บนเวที PGA และ แคธรีน บิเกโลว บนเวที DGA ผลักดันให้ทั้งสองกลายเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งบนเวทีออสการ์ แต่ขณะเดียวกัน Avatar ของ เจมส์ คาเมรอน ก็เพิ่งทำลายสถิติ บ็อกซ์ ออฟฟิศ ของ Titanic ลงอย่างราบคาบ สำหรับภาพยนตร์ในแง่อุตสาหกรรม ความสำเร็จดังกล่าวอาจ “ยิ่งใหญ่” เกินกว่าจะมองข้ามและส่งอิทธิพลโดยตรงต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ เรื่องน่าประหลาดอย่างหนึ่ง ก็คือ The Hurt Locker ทำสถิติเข้าชิงสูงสุด 9 สาขาเท่ากับ Avatar เป๊ะ ซึ่งสำหรับเรื่องแรกถือว่ามากเกินคาด แต่น้อยเกินคาดสำหรับเรื่องหลัง มันช่วยตอกย้ำการขับเคี่ยวอันเข้มข้นของหนังทั้งสองเรื่อง (โดยมากแล้วหนังที่เข้าชิงเยอะสุดมักจะคว้ารางวัลสูงสุดไปครอง) และเมื่อกวาดสายตาไปยังแต่ละสาขา เราจะพบว่า The Hurt Locker ได้เปรียบตรงเสียงสนับสนุนจากกลุ่มนักเขียนและนักแสดง (ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุด) ส่วน Avatar ได้เปรียบตรงเสียงสนับสนุนจากกลุ่มช่างเทคนิคทั้งหลาย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Avatar พลาดการเข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ (สิ่งหนึ่งที่ทุกคนยอมรับคือบทไม่ใช่จุดแข็งของหนัง) เพราะ Titanic ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ Titanic ได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มนักแสดง สังเกตจากการเข้าชิงของ เคท วินสเล็ท (นำหญิง) และ กลอเรีย สจ๊วต (สมทบหญิง) ส่วน Avatar กลับต้องมานั่งทำความเข้าใจกับทุกคนรอบข้างเกี่ยวกับเทคนิค motion capture รวมถึงระดับทักษะทางการแสดงที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างการถ่ายทำ เช่น เมื่อ เมอรีล สตรีพ บอกว่างานของนักแสดงใน Avatar ก็ไม่ต่างจากการพากย์เสียงการ์ตูนแบบที่เธอทำใน Fantastic Mr. Fox หรือ เมื่อ มอร์แกน ฟรีแมน บอกว่า Avatar ก็ไม่ต่างจากหนังการ์ตูน

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุหนึ่งที่ Avatar ได้เสียงตอบรับค่อนข้างเย็นชาจากกลุ่มนักแสดงอาจเป็นเพราะพวกเขากำลังเป็นห่วงอนาคตทางด้านอาชีพการงานของตน!

ถึงแม้ แคธรีน บิเกโลว จะวิ่งนำในสาขาผู้กำกับอยู่หลายช่วงตัว แต่หนังของเธอ (ซึ่งหากได้รางวัลจะกลายเป็นหนึ่งในหนังออสการ์ที่ทำเงินต่ำสุดในประวัติศาสตร์) กลับทิ้งระยะห่างจากกลุ่มผู้ตามไม่มากนัก ที่สำคัญ นอกเหนือจาก Avatar แล้ว เรายังไม่อาจมองข้าม Inglourious Basterds และ Precious: Based on the Novel ‘Push’ by Sapphire อีกด้วย หรือกระทั่ง Up in the Air (ราศีของหนังพลันมืดหม่นไปไม่น้อยเมื่อหนังชวดการเข้าชิงในสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าหนังชนะรางวัลออสการ์เรื่องสุดท้ายที่ไม่ได้เข้าชิงสาขานี้ คือ Ordinary People เมื่อ 30 ปีก่อน) เนื่องจากระบบการโหวตผู้ชนะถูกปรับเปลี่ยนเป็นแบบเรียงลำดับความชอบ

ไม่เพียง 90% ของผู้เข้าชิงจะเป็นไปตามคาดเท่านั้น ณ เวลานี้โอกาสที่วันประกาศผลจะแร้นแค้นเซอร์ไพรซ์ก็ค่อนข้างสูงพอๆ กันอีกด้วย โดยหลายสาขาแทบจะเรียกได้ว่าหมดสิทธิ์พลิกล็อกกันเลยทีเดียว เช่น ผู้กำกับ สมทบชาย (คริสตอฟ วอลซ์) สมทบหญิง (โมนีก) นำชาย (เจฟฟ์ บริดเจส) และบางทีอาจนับรวมนำหญิงไปด้วยก็ได้ เพราะการแทรกตัวมาเป็น 1 ใน 10 ของ The Blind Side ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้ แซนดร้า บูลล็อค มากขึ้น ขณะที่ Julie & Julia ของ เมอรีล สตรีพ คู่แข่งสำคัญ พลาดการเข้าชิงในทุกสาขา และตามสถิติแล้ว การคว้ารางวัลนี้มาครองโดยที่ตัวหนังไม่ได้เข้าชิงสาขาอื่นๆ เลยนั้นถือเป็นเรื่องยาก... แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชาร์ลีซ เธรอน (Monster) และ เจสซิก้า แลงจ์ (Blue Sky) เคยทำสำเร็จมาแล้ว ปัญหาสำคัญน่าจะอยู่ตรงการที่สตรีพเคยได้ออสการ์มาแล้วสองตัว ส่วนบูลล็อคยังไม่เคยได้ นอกจากนี้ คนหลังยังเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ในวงการอีกด้วย

ในกลุ่มสาขาการแสดง แม็กกี้ จิลเลนฮาล (Crazy Heart) ถือเป็นคนเดียวที่พอจะเรียกได้ว่า “เซอร์ไพรซ์” หลังจากเธอหลุดโผมาตลอดทั้งลูกโลกและ SAG แต่ความจริงมันไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจมากนัก เพราะหนังเรื่องนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ The Wrestler อยู่หลายครั้ง (หัวใจหลักของหนังอยู่ตรงตัวละครชายที่กำลังด่ำดิ่งลงสู่หุบเหว) และสุดท้าย มิคกี้ รู้ค ก็จับมือกับ มาริสา โทเม เข้าชิงออสการ์พร้อมกันได้สำเร็จ (โทเมได้เปรียบอยู่หน่อยตรงที่ปีก่อนเธอติดโผลูกโลกทองคำ แต่ถูกแทนที่โดย เคท วินสเล็ท จาก The Reader บนเวที SAG) แต่ดูจะสถานการณ์แล้ว เจฟฟ์ บริดเจส น่าจะลงเอยในรูปแบบที่แตกต่างจาก มิคกี้ รู้ค บนเวทีออสการ์

หลักการนับคะแนน

ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่าปีนี้หลักการลงคะแนนคัดเลือกผู้ชนะในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนผู้เข้าชิงที่เพิ่มขึ้นมาเท่าตัว เมื่อก่อนคณะกรรมการก็แค่ติ๊กเลือกหนังเพียง 1 เรื่องเท่านั้น (จาก 5 เรื่อง) หนังเรื่องใดได้คะแนนสูงสุดก็คว้ารางวัลไปครอง แต่ปีนี้พวกเขาต้องเรียงลำดับหนังทั้ง 10 เรื่องตามความชื่นชอบ จากนั้นขั้นตอนการนับคะแนนเพื่อหาผู้ชนะคือ

1. เริ่มแรกใบลงคะแนนจะถูกแบ่งออกเป็น 10 กองตามจำนวนเสียงโหวต “อันดับ 1” ของหนังแต่ละเรื่อง แต่ถ้าหนังเรื่องใดได้เสียงโหวตเกิน 50% หรืออย่างน้อย 3001 ใบ หนังเรื่องนั้นก็จะคว้าชัยไปโดยอัตโนมัติ


2. กรณีที่ไม่มีหนังเรื่องใดได้รับเสียงโหวตเกินครึ่ง หนังที่ถูกเลือกเป็นอันดับ 1 น้อยสุดจะถูกคัดออกก่อน จากนั้นใบลงคะแนนทั้ง 125 ใบ (ตามตัวอย่าง) จะถูกนำมาจัดเรียงใหม่ตามตัวเลือกอันดับ 2


3. ถ้ายังไม่ปรากฏผู้ชนะ หนังที่ถูกเลือกเป็นอันดับ 1 น้อยสุดลำดับถัดมาจะถูกคัดออก จากนั้นใบลงคะแนนทั้ง 150 ใบ (ตามตัวอย่าง) จะถูกนำมาจัดเรียงใหม่ตามตัวเลือกอันดับ 2


4. ทำซ้ำขั้นตอนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีหนังที่ได้เสียงโหวตเกินครึ่ง จากตัวอย่างจะพบว่าหลังขั้นตอนผ่านไป 8 รอบ ผู้ชนะกลับเป็นหนังที่ในรอบแรกได้เสียงโหวตอันดับ 1 ในลำดับที่ 2 แต่ในรอบต่อๆ มาได้เสียงโหวตอันดับ 2 มากกว่า จึงทำคะแนนแซงหน้าหนังที่ได้เสียงโหวตอันดับ 1 สูงสุดในรอบแรกไป


เก็บตกสถิติ

เข้าชิงบ่อยสุด: เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia) เข้าชิงเป็นครั้งที่ 16 (สูงสุดในประวัติศาสตร์) หากคำนวณตามจำนวนผลงานหนังทั้งหมด โอกาสเข้าชิงของเธอโดยเฉลี่ยประมาณ 37%

เข้าชิงน้อยสุด: คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (The Last Station) เพิ่งได้เข้าชิงเป็นครั้งแรกหลังคร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานกว่า 50 ปีหากคำนวณตามจำนวนผลงานหนังทั้งหมด โอกาสเข้าชิงของเขาโดยเฉลี่ยประมาณ 0.8%

ระยะการเข้าชิงกว้างสุด: เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) เข้าชิงครั้งแรกเมื่อปี 1971 จาก The Last Picture Show ซึ่งถือว่านานกว่าอันดับสอง นั่นคือ เมอรีล สตรีพ ที่เข้าชิงครั้งแรกจาก The Deer Hunter (1978) มากถึง 7 ปี

อายุน้อยสุด: แอนนา เคนดริค (Up in the Air) อายุ 24 ปี อ่อนกว่า แครี มัลลิแกน (An Education) สองเดือนครึ่ง

อายุมากสุด: คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ เพิ่งอายุครบ 80 ปีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ปฏิกิริยาผู้เข้าชิง

“ฉันภูมิใจกับหนังเรื่องนี้มาก แต่เนื่องจากฉันไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใดๆ มาก่อน ฉันเลยไม่คิดว่าตัวเองจะมีชื่อติดหนึ่งในห้า แต่พอได้ยินเสียงโทรศัพท์ตอนเช้ามืด ฉันจึงฉุกคิด ‘เอ๊ะ หรือบางที...!’ ฉันพักอยู่บ้านน้องชายในแอลเอ. เขาบอกว่า ‘เตรียมรับโทรศัพท์ทั้งวันได้เลย’ ก่อนจะเดินไปชงกาแฟ แล้วเราสองคนก็นั่งมองพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าด้วยกัน มันสวยงามมาก แต่ทั้งหมดนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นกับฉัน หรือ เจฟฟ์ บริดเจส หากปราศจาก สก็อตต์ คูเปอร์” แม็กกี้ จิลเลนฮาล – เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Crazy Heart

“พระเจ้า ผมรู้สึกเหมือนจะเป็นลม การต้องมาอยู่หน้ากล้องในรายการถ่ายทอดสดยิ่งทำให้ทุกอย่างลุ้นระทึกขึ้นไปอีกขั้น ผมไม่คิดว่าจะมีโอกาสสัมผัสความรู้สึกแบบนี้อีกนับแต่เช้าวันคริสต์มาสตอนผมอายุได้หกขวบ มันเป็นประสบการณ์ที่ผมจะไม่มีวันลืม การถูกเอ่ยชื่อเคียงข้างกลุ่มคนที่เป็นแรงบันดาลใจทางด้านการแสดงให้ผมตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาถือเป็นเกียรติขั้นสูงสุด พวกเขาทั้งสี่คือตัวแทนของความเป็นเลิศ” เจเรมี เรนเนอร์ – เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Hurt Locker (เขามาร่วมรายการ The Today Show ระหว่างการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง)

“ฉันอยากขอบคุณคณะกรรมการสำหรับเกียรติอันยิ่งใหญ่ สำหรับดีไซเนอร์ การสร้างหนังเกี่ยวกับชาแนลก็เหมือนการสร้างหนังจากบทละครของเชคสเปียร์สำหรับนักแสดง ฉันขอแบ่งปันความสุขใจในครั้งนี้กับผู้กำกับ แอนน์ ฟอนเทน และโคโค่ของเรา ออเดรย์ ตาตู รวมไปถึงทีมงานชั้นยอดทุกคนในแผนกออกแบบเครื่องแต่งกาย” แคทเธอรีน เลอเทอร์เรียร์ – เข้าชิงสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมจาก Coco before Chanel

“นักทำหนังทุกคนฝันอยากจะเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่ขณะถ่ายทำหนังเรื่อง District 9 เราทุกคนไม่กล้าแม้แต่จะคิดว่าผลงานเล็กๆ เรื่องนี้ ซึ่งถ่ายทำในแอฟริกาใต้และนำแสดงโดยดาราโนเนม จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่พูดกันตามตรงเราคงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ ถ้าปราศจากความเชื่อมั่นของ ปีเตอร์ แจ๊คสัน ผมรู้สึกซาบซึ้ง ตื่นเต้น และนึกขอบคุณคณะกรรมการที่มองเห็นคุณค่าของทีมงานทุกคนที่ช่วยกันทำให้หนังเรื่องนี้เป็นรูปเป็นร่าง” นีล บลอมแคมป์ – เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก District 9

“ผมกำลังนอนอยู่บนเตียง มันเป็นคืนที่ผมนอนกระสับกระส่ายที่สุดในชีวิต ผมได้แต่ย้ำกับตัวเองว่าจะไม่ตื่นเต้น แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถข่มตาหลับสนิทได้ มันเป็นเซอร์ไพรซ์ชั้นยอดและรางวัลที่น่ายินดี ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้สร้างหนังสารคดี คุณได้ออกไปผจญโลก แล้วนำเรื่องราวที่น่าสนใจกลับมา ผมไม่เคยมองตัวเป็นเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ผมสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อให้ผู้คนตระหนักว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรากินลงไปในท้อง” โรเบิร์ต เคนเนอร์ – เข้าชิงสาขาหนังสารคดียอดเยี่ยมจาก Food, Inc.

“ฉันนึกมาตลอดว่าเส้นทางสู่ออสการ์ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ฉันคิดว่าหลายคนเลือกแสดงหนังบางเรื่องเพราะมัน ‘เข้าทางออสการ์’ แต่ไม่มีใครอยากสร้าง The Blind Side ฉันเองยังไม่อยากเล่นหนังเรื่องนี้เลยในตอนแรก ทุกคนพากันคาดไม่ถึง ฉันเองก็เช่นกัน” แซนดร้า บูลล็อค – เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก The Blind Side

“ฉันกำลังคุยโทรศัพท์บ้านกับเพื่อนคนหนึ่ง คุยมือถือกับเพื่อนอีกคน และในเวลาเดียวกันอีเมลก็หลั่งไหลมาไม่หยุด เพื่อนบ้านคงได้ยินเสียงกรีดร้องของฉันเป็นแน่ ฉันตกใจ ตื่นเต้น และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงร่วมกับนักทำหนังชั้นยอดอีกมากมาย มันวิเศษสุดๆ” อนาสเตเชีย มัสซาโร – เข้าชิงสาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยมจาก The Imaginarium of Doctor Parnassus

“ผมหวั่นวิตกว่าหลายคนจะไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ แต่ในความเห็นของผมการสร้างฉากจะไม่หายไปไหน นี่เป็นแค่เครื่องมืออีกชิ้นที่คุณสามารถหยิบฉวยมาใช้ประโยชน์ เพื่อเลื่อนกำแพงของสตูดิโอออกไปให้กว้างไกลขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่กรรมการออสการ์ตระหนักข้อเท็จจริงนี้ ผมดีใจที่พวกเขาอ้าแขนต้อนรับอนาคต เพราะอนาคตยืนอยู่เบื้องหน้าคุณแล้ว” โรเบิร์ต สตรอมเบิร์ก – เข้าชิงสาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยมจาก Avatar

“Fantastic Mr. Fox ของ โรอัลด์ ดาห์ล เป็นหนังสือที่ผมชื่นชอบที่สุดนับแต่เริ่มหัดอ่านหนังสือ การมีโอกาสดัดแปลงมันเป็นผลงาน stop-motion กับเหล่าเพื่อนร่วมงานที่เปี่ยมทักษะถือเป็นประสบการณ์ที่สุดแสนวิเศษ ผมอยากจะแสดงความยินดีกับ อเล็กซานเดอร์ เดสแพลท ซึ่งเป็นคนแต่งดนตรีประกอบและถูกเสนอชื่อเข้าชิงเช่นกัน” เวส แอนเดอร์สัน – เข้าชิงสาขาหนังการ์ตูนยอดเยี่ยมจาก Fantastic Mr. Fox

“การได้ร่วมงานกับ คลินท์ อีสต์วู้ด ทุกวันและนั่งมอง มอร์แกน ฟรีแมน ทำงานของเขาคือความฝันที่กลายเป็นจริง ผมรู้สึกซาบซึ้งที่มีโอกาสได้แสดงในหนังเรื่องนี้” แม็ท เดมอน – เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Invictus

“ผมตื่นเต้นและภูมิใจที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง การที่หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของกรรมการออสการ์ได้ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง ผมหวังว่ามันจะช่วยเป็นกำลังใจให้เหล่านักทำหนังอิสระทั่วโลก” นิค ฮอร์นบี้ – เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก An Education

“ผมดีใจที่หนังตลกไม่ถูกมองข้าม ผมกำลังทานอาหารกลางวันกับเพื่อน ตอนที่ผู้อำนวยการสร้างของเราโทรมาบอกว่า ‘คุณถูกเสนอชื่อเข้าชิง!’ ผมวางแผนทำโน่นทำนี่ตลอดทั้งวันเพื่อจะได้ไม่มานั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ และผมก็ยุ่งจนลืมสนิท หลังรับโทรศัพท์ ผมรีบวิ่งออกไปข้างนอกเพื่อโทรหาครอบครัว กว่าจะรู้ตัวอีกที หนึ่งชั่วโมงก็ผ่านไป และพนักงานได้เก็บอาหารกลางวันของผมไปแล้ว เทศกาลออสการ์ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย” อาร์แมนโด เอียนนุกชี – เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก In the Loop

“ผมคิดว่าตัวเองทำใจที่จะไม่คาดหวังอะไรทั้งสิ้นได้แล้ว แต่พอทราบข่าว ผมกลับพบว่าตัวเองมีโทนเสียงใหม่ที่ฟังดูแปร่งหูและไม่คุ้นเคย บางทีผมน่าจะหันไปเล่นหนังเพลงอีกสักที” โคลิน เฟิร์ธ – เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก A Single Man

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 02, 2553

Oscar 2010: เงินใครคิดว่าไม่สำคัญ


มุกตลกที่วนเวียนอยู่ในฮอลลีวู้ดมาช้านาน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลประกาศรางวัลต่างๆ มากมายหลายกระบุงก่อนสุดท้ายจะปิดฉากลงด้วยรางวัลออสการ์ คือ อาการกระเหี้ยนกระหือรือของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในการดึงดูดคนดังให้มาร่วมงาน ซึ่งย่อมจะส่งผลให้พิธีแจกรางวัลลูกโลกทองคำของพวกเขาดูน่าตื่นเต้น ชวนเร้าใจมากขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งเดินเข้าโรงหนังเพียงเพื่อหาความบันเทิงฆ่าเวลา จนกลายเป็นที่มาของการสอดไส้รายนามผู้เข้าชิงที่ดู “น่ากังขา” ปรากฏให้เห็นแทบทุกปี เช่น เมื่อ จูเลีย โรเบิร์ตส์ เข้าชิงนักแสดงสมทบหญิงจาก Charlie Wilson’s War เมื่อสองปีก่อน เป็นต้น

ทว่าปีนี้สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้พัฒนามาตรฐานใหม่ของพฤติกรรม “คลั่งดารา” ขึ้นไปอีกขั้น สังเกตได้จากผลรางวัลที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชัยชนะของซูเปอร์สตาร์ แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side) เหนือนักแสดงหญิงโนเนม แต่เป็นขวัญใจนักวิจารณ์ แครีย์ มัลลิแกน (An Education) ในสาขานักแสดงนำหญิง (ชีวิต) และชัยชนะของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Sherlock Holmes) เหนือผู้เข้าชิงที่เหลืออีกสี่คนในสาขานักแสดงนำชาย (เพลง/ตลก) โอเค บางทีเราอาจตัด เดเนียล เดย์-ลูว์อีสต์ ออกไปคน เนื่องจากในหนังเรื่อง Nine เขาถูกเหล่านักแสดงสาวน้อยสาวใหญ่ สวยบ้างไม่สวยบ้างกลบรัศมีจนไม่เหลือราคาเจ้าของสองรางวัลออสการ์ จนอาจกล่าวได้ว่าการเข้าชิงของเดย์-ลูว์อีสต์เกิดจากระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยนำเอาเครดิตในอดีตและความดังมาบวกแต้มเพิ่มมากพอๆ กับการเข้าชิงของดาวนีย์นั่นเอง

ผลรางวัลดังกล่าวดูจะสอดคล้องกันดีกับชัยชนะของ Avatar ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชีวิต) The Hangover ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เพลง/ตลก) และ Up ในสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม... ราวกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้เพิ่มกติกาใหม่เข้าไปว่า “อย่าหวังจะได้รางวัลถ้าหนังของคุณทำเงินไม่เกิน 100 ล้าน!”

สงสารก็แต่ Up in the Air ที่ก่อนหน้าการประกาศรางวัลสามารถสร้างกระแสตีคู่มากับ Avatar หรืออาจจะนำหน้าอยู่เล็กน้อยด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายกลับได้รางวัลปลอบใจไปครองเพียงรางวัลเดียว นั่นคือ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่วนอาการ “วืด” ของ The Hurt Locker หลังเดินหน้ากวาดรางวัลมาครองจนนับไม่ถ้วนนั้นถือว่าไม่น่าประหลาดใจ เพราะรสนิยมของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศมักแตกต่างจากรสนิยมของเหล่าสมาคมนักวิจารณ์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องชวนช็อกอยู่ดีที่ แคทธีน บิเกโลว์ พลาดรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม เพราะกระทั่ง เจมส์ คาเมรอน เองยังคาดว่าอดีตภรรยาของเขาจะคว้าชัยไปในที่สุด และเธอก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากด้วย (“ผมยังตกตะลึงไม่หาย ผมแน่ใจว่าแคทธีนต้องได้รางวัล ผมคิดว่าเนื่องจากกรรมการเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พวกเขาอาจชอบหนังของเรามากกว่า ฉะนั้นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจึงพอจะเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม” คาเมรอนให้สัมภาษณ์ในงานเลี้ยงหลังพิธีมอบรางวัล) แม้กระแสข่าวลือก่อนหน้าจะปรากฏชัดเจนว่าคณะกรรมการไม่ค่อยชอบ The Hurt Locker สักเท่าไหร่ แต่หลงรัก Avatar หมดหัวใจ แต่หลายคนยังเชื่อว่าสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศน่าจะแบ่งรางวัลผู้กำกับให้บิเกโลว์ เนื่องจากเธอคู่ควรมากกว่าใคร แถมยังถูกมองข้ามมานานด้วย

คำถามที่ตามมา คือ ผลรางวัลลูกโลกทองคำมีอิทธิพลมากแค่ไหนต่อรางวัลออสการ์?

คำตอบ คือ ไม่มากนัก เช่นเดียวกับบรรดารางวัลของนักวิจารณ์ทั้งหลาย เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะคณะกรรมการออสการ์ไม่ใช่นักวิจารณ์ หรือนักข่าวต่างประเทศ และพวกเขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า พวกเขา “ไม่แคร์สื่อ” ขนาดไหนในการเลือกผู้ชนะ หรือผู้เข้าชิง แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารางวัลลูกโลกทองคำมีส่วนช่วยสร้างกระแส หรือลดความร้อนแรงให้แก่หนังบางเรื่อง ตลอดจนนักแสดงบางคน

แม้จะฟาดแห้วไปเต็มท้อง แต่สุดท้ายแล้ว แคทธีน บิเกโลว์ และ The Hurt Locker ยังถือเป็นคู่แข่งที่สูสีกับ เจมส์ คาเมรอน และ Avatar มากสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Up in the Air เริ่มเสียหลัก (เข้าชิง 6 ได้มา 1 ซ้ำร้าย ตัวเก็งอย่าง จอร์จ คลูนีย์ ยังพลาดท่าให้แก่ เจฟฟ์ บริดเจส และต้องไม่ลืมว่าหนังชวดการเข้าชิงสาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมบนเวที SAG อีกด้วย) อันที่จริง การคว้ารางวัลลูกโลกทองคำมาครองอาจถือเป็นลางร้ายสำหรับ Avatar ก็ได้ หากพิจารณาจากสถิติที่ว่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา รางวัลสูงสุดบนเวทีลูกโลกทองคำสอดคล้องกับออสการ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือเมื่อปีก่อน (Slumdog Millionaire) ส่วนอีกสี่ปีที่เหลือลูกโลกทองคำเลือก Atonement, Babel, Brokeback Mountain และ The Aviator ขณะที่ออสการ์เลือก No Country for Old Men, The Departed, Crash และ Million Dollar Baby (สองสามวันก่อนหน้า The Hurt Locker เพิ่งคว้าชัยเหนือ Avatar บนเวที Critics’ Choice Award ซึ่งมีรสนิยม “ตลาด” กว่าสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลาย แม้ชื่อรางวัลจะชวนให้นึกถึงรางวัลนักวิจารณ์ก็ตาม ที่สำคัญ ตลอดสามปีที่ผ่านมาหนังเยี่ยมของพวกเขาสอดคล้องกับออสการ์ทั้งหมด)

จุดแข็งเดียว แต่ถือว่าใหญ่โตมากในโลกทุนนิยม ของ Avatar นอกเหนือจากอลังการงานสร้าง คือ เงินจำนวนมหาศาลที่หนังเรื่องนี้โกยเข้าสตูดิโอและอุตสาหกรรมหนังโดยรวม (ปัจจุบันกำลังจะทำลายสถิติของ Titanic เจ้าของ 11 รางวัลออสการ์อยู่รอมร่อ) และท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ กรรมการหลายคนจึงอาจเลือกโหวตให้ Avatar ในฐานะที่มันเป็นเหมืองทองซึ่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในวงการบันเทิงหลายพันหลายหมื่นคน (และแน่นอน เขาคงต้องชอบตัวหนังด้วย) ส่วนจุดแข็งเดียวของ The Hurt Locker คงอยู่ที่คุณภาพของเนื้องาน ซึ่งไม่ได้อาร์ตตัวแม่ แต่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบตามแนวทาง คล้ายคลึงกับ No Country for Old Men เมื่อสองปีก่อน

โดยสถิติแล้ว Avatar อาจเสียเปรียบคู่แข่งอยู่หน่อยตรงที่หนังตระกูลไซไฟไม่ค่อยป็อปปูล่าในหมู่กรรมการออสการ์มากนัก (มันเป็นหนังไซไฟเรื่องที่สองที่ได้รางวัลลูกโลกทองคำ ถ้าคุณนับ E.T.: The Extra Terrestrial เป็นหนังไซไฟ) แต่ชัยชนะของ No Country for Old Men, The Departed และ The Lord of the Rings: The Return of the King ดูจะพิสูจน์ให้เห็นว่ากรรมการออสการ์เริ่มเปิดกว้างให้กับหนังแนวต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน การกวาดรางวัลหนังและผู้กำกับจากสามสถาบันนักวิจารณ์ชั้นนำ (สมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก แอลเอ และ National Society of Film Critics) ของ The Hurt Locker ก็อาจกลายเป็นคำสาปแช่ง เพราะหนังเรื่องล่าสุดที่ทำได้แบบเดียวกัน คือ L.A. Confidential (1997) และเราทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับมาสเตอร์พีซของ เคอร์ติส แฮนสัน บนเวทีออสการ์ เมื่อมันวิ่งไปชนภูเขาน้ำแข็งของ เจมส์ คาเมรอน

กระนั้น มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอะไรๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เนื่องจากปีนี้กฎการลงคะแนนรอบสุดท้ายถูกปรับเปลี่ยนใหม่ โดยแทนที่จะเลือกหนังยอดเยี่ยมเพียงเรื่องเดียวจากห้าเรื่อง กรรมการจะต้องเรียงลำดับหนังที่เข้ารอบทั้งสิบเรื่องจากหนึ่งถึงสิบ นั่นหมายความว่า หนังที่ถูกเลือกเป็นอันดับ 1 มากสุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะ เพราะคะแนนรวมของมันอาจไม่มากเท่าหนังอีกเรื่อง ซึ่งถูกโหวตเป็นอันดับหนึ่งน้อยกว่า แต่ได้คะแนนจากการเป็นอันดับ 2, 3 หรือ 4 มากกว่า (กฎการเลือกผู้ชนะในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมถูกปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้หนังชนะรางวัลสูงสุดโดยได้รับเสียงโหวตต่ำกว่า 1000 เสียงจากกรรมการกว่า 6000 คน เพราะคะแนนถูกเฉลี่ยไปตามจำนวนผู้เข้าชิงที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว) ด้วยเหตุนี้เอง Up in the Air หรือกระทั่ง Inglourious Basterds ก็ยังมีโอกาสพลิกกลับมาชนะ หากพวกมันได้คะแนนโหวตในลำดับต้นๆ มากพอ

สองสาขาที่ดูเหมือนจะหมดสิทธิ์ลุ้นบนเวทีออสการ์ค่อนข้างแน่แล้ว คือ นักแสดงสมทบชายและหญิง หลัง คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds) และ โมนีก (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire) เดินหน้าคว่ำคู่แข่งอย่างไม่หยุดหย่อน และรางวัลลูกโลกทองคำก็ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดที่ช่วยตอกย้ำความมั่นใจ

ตรงกันข้าม สาขานักแสดงนำหญิงประจำปีนี้คงต้องลุ้นกันตัวโก่งหน่อย เพราะมีคู่แข่งสองคนที่เบียดตีคู่กันมาในช่วงโค้งสุดท้ายชนิดหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว โดยนอกจากจะแบ่งลูกโลกทองคำกันไปคนละตัวแล้ว แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side) กับ เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia) ยังแชร์รางวัลนักแสดงนำหญิงร่วมกันบนเวที Critics’ Choice Award อีกด้วย คนแรกอาจได้เปรียบตรงที่ยังไม่เคยได้ออสการ์... อันที่จริง เธอยังไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงเลยด้วยซ้ำ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาต่อการคว้ารางวัลมาครอง สังเกตได้จาก ฮิราลี สแวงค์ (Boys Don’t Cry) ฮัลลี เบอร์รี (Monster’s Ball) รีส วิทเธอร์สพูน (Walk the Line) และ มาริยง โกติญาร์ (La Vie En Rose) ส่วนคนหลังได้เปรียบตรงที่เธอมีชื่อว่า “เมอรีล สตรีพ” และครั้งหลังสุดที่เธอคว้ารางวัลออสการ์มาครอง คือ Sophie’s Choice เมื่อ 27 ปีก่อน โดยระหว่างช่วงเวลานั้นเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงอีก 11 ครั้ง แต่กลับชวดรางวัลทั้งหมด! สตรีพเพิ่งจะอายุครบ 60 ปีไปไม่นาน และนับจาก เจสซิก้า แทนดี้ (Driving Miss Daisy) เมื่อสองทศวรรษก่อน มีเพียง เฮเลน เมียร์เรน (The Queen) เท่านั้นที่ได้รางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงขณะอายุเกิน 60 ปี จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าออสการ์ชื่นชอบสาวน้อยมากกว่าสาวแก่ (จุดนี้อาจช่วยให้ แคร์รี มัลลิแกน มีความหวังขึ้นมาเล็กน้อย)

การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 4 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้รางวัลเลยดูจะมีส่วนช่วย เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) ให้ถือแต้มเหนือ จอร์จ คลูนีย์ (Up in the Air) คู่แข่งตัวฉกาจ นอกจากนี้ เขายังเป็นที่ชื่นชอบและเคารพนับถือในวงการมากไม่แพ้กัน แตกต่างจาก มิกกี้ รู้ก (The Wrestler) เมื่อปีก่อน ซึ่งน่าจะสร้างศัตรูในวงการไว้มากพอๆ กับมิตร จนเป็นเหตุให้เขาถูก ฌอน เพนน์ (Milk) เฉือนเอาชนะบนเวทีออสการ์ (และปีนี้เขาก็ยังไม่วายสร้างศัตรูเพิ่มด้วยการตีหน้าเหยขณะประกาศรางวัลนักแสดงนำหญิง ราวกับจะบอกว่าเขาไม่ค่อยเห็นด้วยกับตัวเลือกของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ) ภาพการลุกขึ้นยืนปรบมือของเหล่าผู้ร่วมงานเมื่อชื่อของบริดเจสถูกประกาศอาจปรากฏให้เห็นอีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม มันเป็นเครื่องรับประกันว่ารางวัลนักแสดงนำชาย (ชีวิต) น่าจะเป็นหนึ่งในรางวัลที่โดนวิพากษ์วิจารณ์น้อยสุดบนเวทีลูกโลกทองคำประจำปีนี้