วันอังคาร, มิถุนายน 15, 2553

The Idiot’s Guide to Apichatpong’s Films


เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่คนไทยสามารถคว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครองเป็นครั้งแรก ผมอยากจะขอแนะนำเหล่านักดูหนังรุ่นใหม่ (หรือรุ่นเก่าแล้วก็ตาม แต่นิยมเสพแค่ผลงานจากฮอลลีวู้ดเป็นหลักเท่านั้น) ที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สักเท่าไหร่ (สัตว์ประหลาด! เป็นหนังเรื่องเดียวของเขาที่ได้เข้าฉาย –แบบจำกัดโรง- โดยสมบูรณ์) เพื่อเตรียมเปิดใจพวกเขาให้พร้อมสำหรับ ลุงบุญมีระลึกชาติ ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลปาล์มทองอันทรงเกียรติจะทำให้หนังเรื่องนี้ได้เข้าฉายในเมืองไทยแบบไม่ตัด ไม่หั่น ไม่เบลอ ไม่จอมืด และมากกว่าแค่หนึ่งหรือสองโรง... กระนั้นอีกใจหนึ่งก็นึกหวาดหวั่นเล็กน้อย เพราะตระหนักดีว่าหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ใช่อาหารที่จะถูกปากคนกลุ่มใหญ่

เพื่อนคนหนึ่งของผมเคยถูกหลอกให้ไปดู สัตว์ประหลาด! โดยไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นหนังประเภทไหน หรือเกี่ยวกับอะไร (ปกติเธอเป็นคอหนังแอ็กชั่นตัวยง และอาจปันใจให้ผลงานแนวตลก-โรแมนติกเป็นครั้งคราว) จากคำบอกเล่าของเพื่อนอีกคนที่หลอกให้เธอไปดูหนังเรื่องนี้ เธอแสดงท่าทีรำคาญ กระสับกระส่ายเกือบตลอดเวลา ก่อนจะเดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์หงุดหงิด พลางก่นด่ากับทุกคนถึงความเลวร้ายของหนัง กระทั่งปัจจุบันความเจ็บแค้นก็ยังไม่จางหายทุกครั้งที่ได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าความไม่ชอบของเธอเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ขณะเดียวกันสาเหตุแห่งความเจ็บแค้นส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการเดินเข้าไปชมโดยปราศจากเกราะป้องกันใดๆ

บทความชิ้นนี้จึงเป็นเสมือน คู่มือฉบับเริ่มต้น เพื่อให้ข้อมูลคร่าวๆ ในมุมกว้าง ก่อนแวบเข้าไปชมภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ (ไม่ว่าจะเพื่อเกาะติดกระแสรางวัล หรือแค่อยากรู้อยากเห็น หรืออาจจะถูกหลอกไปเหมือนอย่างเพื่อนของผม) เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังไม่คุ้นชินกับภาพยนตร์แนว “อาร์ต” ผมหวังว่ามันจะช่วยติดเกราะให้กับความคาดหวังของคุณ แล้วเปิดใจสู่รูปแบบภาพยนตร์ที่แตกต่าง

“เรื่อง” ไม่ใช่จุดหมาย

หลากหลายข้อกล่าวหาจากกลุ่มคนดูทั่วไปต่อหนังของอภิชาติพงศ์ นอกจาก “น่าเบื่อ” แล้ว (ซึ่งยากจะเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข เพราะมันเป็นเรื่องของอัตวิสัย) ที่ฮิตสุดคงหนีไม่พ้น “ดูไม่รู้เรื่อง” ทั้งนี้เพราะหนังของเขาส่วนใหญ่แทบไม่มี “เรื่อง” และปราศจากการสร้างปมขัดแย้ง เผชิญหน้าตามสูตรการเล่าเรื่องแบบคลาสสิกของฮอลลีวู้ด ซึ่งนิยมแบ่งหนังออกเป็นสามองก์ คือ ปูพื้น-ปัญหา-คลี่คลาย

หากไม่นับ ดอกฟ้าในมือมาร และ หัวใจทรนง จะเห็นได้ว่าโครงสร้างหนังของอภิชาติพงศ์แบ่งแยกออกเป็นสององก์อย่างชัดเจน ระหว่างเหตุการณ์ในเมืองกับเหตุการณ์ในป่า (สุดเสน่หา) ระหว่างเรื่องรักของชายสองคนกับตำนานพรานล่าเสือสมิง (สัตว์ประหลาด!) และระหว่างโรงพยาบาลชนบทกับโรงพยาบาลในเมือง (แสงศตวรรษ) หนังเปิดโอกาสให้คนดูตีความอย่างอิสระถึงความหมายเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวสององก์ ซึ่งแม้จะดูเหมือนแยกเป็นเอกเทศ แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างซ้ำซ้อน ยอกย้อน และยั่วล้อกันไปมา

การไม่มอบคำอธิบายที่ชัดเจน ไม่มีบทสรุปที่จับต้องได้ คือ เหตุผลหลักที่ทำให้หนังของอภิชาติพงศ์โดนกล่าวหาว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” ซึ่งจะว่าไปก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับข้อกล่าวหาต่องานจิตรกรรมแนวแอบสแตรกทั้งหลาย ที่มักนำเสนอลายเส้น รูปทรง สีสัน แต่ปราศจากระบบระเบียบตามแบบแผนปฏิบัติจนดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง

ทันทีที่ทัศนคติของคุณผูกติดอยู่กับแนวคิด “ดูหนังเพื่อเอาเรื่อง” คุณจะพบกับความหงุดหงิดใจ ตลอดจนคำถามไม่รู้จบเวลานั่งชมหนังของอภิชาติพงศ์ ดังเช่นเพื่อนคนที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น เธอนึกสงสัยตลอดเวลาว่าผู้กำกับจะแช่กล้องถ่ายภาพต้นไม้ใบหญ้าไปทำไม มันมีประโยชน์อะไรกับเนื้อเรื่องงั้นหรือ เป็นเพราะเขามัวเสียเวลากับช็อตประเภทนี้ใช่ไหม เรื่องราวมันถึงไม่เดินไปข้างหน้าเสียที คำถามดังกล่าวมีรากเหง้ามาจากการที่เราถูกปลูกฝังโดยหนังฮอลลีวู้ดจำนวนมากว่าทุกช็อตต้องช่วยผลักดันเรื่อง แต่หนังของอภิชาติพงศ์เลือกจะไม่เดินตามกฎเกณฑ์นั้น (เช่นเดียวกับการแหวกธรรมเนียมการเล่าเรื่องแบบสามองก์) เพราะ “เรื่อง” ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

แม้จะไม่มีประโยชน์ต่อเรื่องโดยตรง แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากความจำเป็นและสามารถตัดทิ้งได้ เพราะหลายครั้งผู้กำกับอาจจงใจใส่ช็อตเหล่านั้นเข้ามาเพียงเพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยากาศ เร่ง/ชะลอจังหวะหนัง สื่อสารสัญลักษณ์ หรือบางทีก็อาจใช้เป็นช็อต “เชื่อมโยง” ดังเช่น วิธีที่ ยาสุจิโร่ โอสุ ชอบตัดภาพการก่อสร้างตึก (ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องหรือฉากหลัง) มาแทรกระหว่างการเปลี่ยนฉากแทนการตัดภาพแบบทันทีทันใด

In cinema only

หากเลือกได้ ผมขอแนะนำให้คุณเริ่มต้นดูหนังของอภิชาติพงศ์ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะมันเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสุดสำหรับดื่มด่ำภาพยนตร์ในลักษณะนี้ จอขนาดใหญ่ ระบบเสียงรอบทิศทาง ตลอดจนความมืดที่ล้อมรอบจะทำให้คุณสามารถจมดิ่งไปกับโลกเสมือนได้อย่างเต็มร้อย แล้วไม่นาน “เรื่อง” ก็จะค่อยๆ ลดทอนความสำคัญลง ส่วน “บรรยากาศ” กลับกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนี้ ความงามของการจัดองค์ประกอบภาพ การวางมุมกล้องอย่างประณีตในแต่ละช็อตจะยิ่งโดดเด่น และกลายเป็นความเพลิดเพลินอีกอย่างหนึ่ง

ผมยังจำได้ดีถึงความรู้สึกแตกต่าง เมื่อครั้งชม แสงศตวรรษ บนจอใหญ่ครั้งแรก และการชมจากดีวีดีในครั้งต่อๆ มา ช็อตที่หมอเตย (นันทรัตน์ สวัสดิกุล) เดินถือถ้วยชามาชมวิวทุ่งนาตรงหน้าต่างห้องทำงานในช่วงต้นเรื่อง ซึ่งเคยทำให้ผมถึงกับตะลึงในความงามจากการชมครั้งแรก ดูเหมือนจะลดผลกระทบทางอารมณ์ลงกว่าครึ่งเมื่อได้ชมผ่านจอโทรทัศน์ขนาด 21 นิ้ว และมันคงเป็นเรื่องน่าเศร้า หากสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับมนตร์เสน่ห์ (ขณะหลายคนอาจมองว่าชวนสะพรึง) ของป่าในยามค่ำคืนตลอดช่วงครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด!

เขตปลอดดารา

อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็น ฉัตรชัย เปล่งพานิช หรือ พัชราภา ไชยเชื้อ ในหนังของอภิชาติพงศ์ เพราะเขานิยมใช้บริการของนักแสดงสมัครเล่นเท่านั้น (ยกเว้นเพียง หัวใจทรนง) อันที่จริง ส่วนใหญ่ล้วนไม่เคยแสดงหนังมาก่อนด้วยซ้ำ ที่สำคัญ พวกเขายังไม่ได้หน้าตาสวยหล่อ หุ่นดี หรือมีราศีดาราโดดเด่น ตรงกันข้าม เกือบทั้งหมดดูไม่ต่างจากชาวบ้านที่เราพบเห็นตามท้องถนนทั่วไป และหลายครั้งอาจเคยเดินผ่านโดยไม่เหลียวหลังมองด้วยซ้ำ (อย่างไรก็ตาม หลายคนได้กลายเป็น “ขาประจำ” เช่น เจนจิรา พงพัศ และ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี ซึ่งเราคงไม่อาจเรียกว่ามือสมัครเล่นได้อีกต่อไป)

หนังของอภิชาติพงศ์มักเป็นส่วนผสมอันน่าประหลาดระหว่างความสมจริง (realism) ดุจสารคดี (ผลงานขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร มีรูปแบบสารคดีค่อนข้างชัดเจน) กับความเหนือจริง (surrealism) ดุจภาพฝัน ฉะนั้น หลายฉากหลายตอนของหนังจะให้ความรู้สึกใสซื่อ จริงใจ ปราศจากการปรุงแต่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าปราศจากอารมณ์เสมอไป เพียงแต่คนดูอาจต้องใช้จินตนาการมากหน่อย เพราะอารมณ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกตักใส่ช้อนแล้วป้อนเข้าปากคุณเหมือนในหนังปกติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนดูจะไม่มีโอกาสเห็นฉากจงใจบีบเค้น ขยี้หัวใจ หรือฉากตัวละครระเบิดอารมณ์แบบในหนัง ไมค์ ลีห์ (Happy-Go-Lucky, Vera Drake) ผู้ขึ้นชื่อว่าเน้นความสมจริงเหนืออื่นใดเช่นกันผ่านกลวิธีด้นสดบทสนทนา เลือกใช้นักแสดงไม่ค่อยดัง และพล็อตเรื่องทำนอง “เล่าไปเรื่อย” เพราะการจะทำเช่นนั้นได้ นักแสดง แม้ว่าจะโนเนมแค่ไหนก็ตาม ย่อมต้องอาศัยทักษะขั้นสูง

ตรงกันข้าม การแสดงในหนังของอภิชาติพงศ์มักจะดูแข็งๆ เหมือนเล่นหนังไม่เป็น แต่ก็ดูกลมกลืนกับบทอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะบทไม่ได้เรียกร้องให้นักแสดงต้องบีบเค้นอารมณ์มากมาย (ขณะเดียวกันหนังก็ไม่ค่อยนิยมถ่ายโคลสอัพใบหน้าตัวละครอยู่แล้ว และเมื่อมันเกิดขึ้น เช่น ในฉากเปิดเรื่องของ แสงศตวรรษ มันก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อขับเน้นอารมณ์คนดู หรือสะท้อนความรู้สึกบางอย่างของตัวละคร)

เตรียมร่างกายให้พร้อม

พักผ่อนอย่างเพียงพอ และถ้าเป็นไปได้ก็ดื่มกาแฟสักแก้วก่อนเข้าโรง เพราะหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ใช่ Avatar ที่จะกระตุ้นคนดูให้ตื่นตัวอยู่เสมอผ่านเอฟเฟ็กต์สุดอลังการ แอ็กชั่นเร้าใจ หรือฉากระเบิดภูเขาเผากระท่อม จนคุณสามารถนั่งดูได้สบายๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งที่เพิ่งอดนอนมาทั้งวัน... แต่อย่างว่าเรื่องของรสนิยมก็พูดยาก หลายคนอาจรู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลาที่นั่งดู สัตว์ประหลาด! ขณะที่บางคนอาจเผลอหลับทุกทีเวลานั่งดูหนังแอ็กชั่นยิงกันสนั่นจอและเต็มไปด้วยเสียงระเบิดตูมตาม โดยไม่สนใจว่าเงินทุนจะถูกผลาญไปกี่พันล้านกับฉากเหล่านั้น

หนังของอภิชาติพงศ์มักเรียกร้องให้คนดูใช้สมาธิสูง ไม่ใช่เพราะการผูกเรื่องซับซ้อน (กลับไปอ่านข้อแรก) แต่เพราะคุณต้องคอยทำหน้าที่เชื่อมโยงรายละเอียดต่างๆ อยู่ตลอดเพื่อพยายามค้นหาความหมาย หรือบางครั้งก็ตั้งคำถามว่าคุณควรรู้สึกอย่างไรกับฉากนั้นๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผมแอบสัปหงกในช่วงครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด! จากการชมรอบแรก ซึ่งเป็นรอบสองทุ่มของวันทำงาน (ตอนนั้นได้แต่โทษตัวเองว่าเพราะความเหนื่อยล้า จนต้องหาโอกาสไปดูรอบสองและสามในช่วงบ่ายของวันหยุดราชการ) แต่กลับนั่งชม แสงศตวรรษ ได้อย่างมีความสุขตลอดทั้งเรื่อง แม้จะเป็นการฉายในรอบดึกมาก

ในเมื่อไม่มีทางรู้ว่าหนังเรื่องไหนจะถูกจริตคุณมากเป็นพิเศษ ทางที่ดี (และนี่เป็นข้อแนะนำซึ่งผมเองยังคงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เวลาจะหยิบหนังของ โหวเสี่ยวเฉียน หรือ ไฉ่หมิงเลี่ยง มาดูทุกครั้ง) คุณจึงควรเตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่ออรรถรสอันเต็มเปี่ยมในการชม

หัวใจทรนง: เมื่ออภิชาติพงศ์ทำหนังกระแสหลัก?


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ หัวใจทรนง หรือ The Adventure of Iron Pussy มักถูกหลงลืมว่าเป็นหนึ่งในผลงานกำกับของผู้ชนะรางวัลปาล์มทองคนล่าสุด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะมันช่างแตกต่างจากภาพยนตร์สร้างชื่อในระดับนานาชาติเรื่องอื่นๆ ของอภิชาติพงศ์ค่อนข้างมาก เริ่มตั้งแต่แนวทางหนังตลก/แอ็กชั่น/เพลงชนิดเต็มรูปแบบ (ใครก็คงคาดไม่ถึงว่าจะได้เห็นฉากยิงสนั่นและระเบิดภูเขาในหนังของอภิชาติพงศ์) ไปจนถึงการเล่าเรื่องที่เป็นเส้นตรง (พูดง่ายๆ คือ ตามเรื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ต้องตีความหลายตลบ) และท่วงทำนอง “เอามัน” โฉ่งฉ่าง และสุดขอบ ซึ่งห่างไกลลิบลับกับลีลานุ่มเนิบดุจบทกวีของหนังอย่าง สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ

คาดว่าคุณสมบัติหลังสุดน่าจะเป็นอิทธิพลของ ไมเคิล เชาวนาศัย สังเกตได้จากอารมณ์โดยรวมของหนังสั้น 3 เรื่องก่อนหน้าที่เปรียบเสมือนจุดกำเนิดของ หัวใจทรนง อันประกอบไปด้วย The Adventure of Iron Pussy, Banzai Chaiyo และ To be, or not to be ซึ่งไมเคิลรับหน้าที่กำกับ/นำแสดง

ดูเหมือนความตั้งใจแต่แรกของ Iron Pussy ในยุคหนังสั้น คือ ล้อเลียนภาพยนตร์แนวสปายสายลับ รวมถึงซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายโดยพลิกตาลปัตรให้วีรบุรุษ (นามว่านายมงคล) เป็นอดีตอะโกโก้บอยย่านสีลม ที่ในยามปกติดูเหมือนชายหนุ่มธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อใดที่พบเห็นเหล่าน้องๆ ร่วมอาชีพขายบริการถูกชาวต่างชาติรังแก หรือเอารัดเอาเปรียบ เขาก็จะแปลงร่างเป็นหญิงสาวมาดทะมัดทะแมงนามว่าไอออนพุสซี แล้วใช้อาวุธเด็ดเป็นปืนฉีดน้ำอสุจิต่อกรกับเหล่าร้าย!? โดยความฮาไม่ได้หยุดอยู่แค่พล็อตสไตล์ “กะเทยพิทักษ์โลก” เท่านั้น แต่มันยังเสียดสี “ความเป็นชาย” ที่มักทะลักล้นในหนังซูเปอร์ฮีโร่ด้วย (เหล่าวีรบุรุษทั้งหลายมักนิยมสวมชุดรัดรูปเพื่อเน้นให้เห็นกล้ามเนื้อแข็งแกร่งอย่างชัดเจน) เมื่อผู้ชายบ้านๆ จะครอบครองพลังอำนาจก็ต่อเมื่อเขาแต่งกายเป็นหญิง

อันที่จริงมองในแง่หนึ่ง โลกของซูเปอร์ฮีโร่กับโลกของรักร่วมเพศก็ไม่ได้ห่างไกลกันมากนัก หากพิจารณาถึงประเด็นการปลอมแปลงและภาวะสองสถานภาพ หลายคนอาจคิดว่า สไปเดอร์แมน และ ซูเปอร์แมน เป็นความพยายามจะปกปิดตัวตนไม่ให้ใครรู้ เป็นร่างสมมุติ หรือนามแฝง แต่แท้จริงแล้ว ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ และ คลาก เคนท์ ต่างหาก คือ หน้ากากที่พวกเขาต้องสวมใส่เวลาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเพื่อไม่ให้ตัวเองแปลกแยกจากมาตรฐานทั่วไป เพื่อปกปิด “เอกลักษณ์” ภายในผ่านรูปลักษณ์เฉิ่มๆ ภายนอกที่ใครเห็นก็มองข้าม ทั้งนี้เพราะคอสตูมหลากสีสันนั้นไม่ได้มอบพลังวิเศษใดๆ แก่พวกเขา พลังดังกล่าวติดตัวพวกเขามาแล้วนับแต่กำเนิด (กรณีซูเปอร์แมน) หรือนับแต่โดนแมงมุมกัด (กรณีสไปเดอร์แมน) และเมื่อใดก็ตามที่สวมชุด พวกเขาจะสามารถ “เป็นตัวของตัวเอง” ได้อย่างเต็มที่

เช่นเดียวกัน รักร่วมเพศจำนวนไม่น้อยต้องดำรงตนสองสถานะกว่าครึ่งค่อนชีวิต เนื่องจากแรงกดดันของลัทธิบูชารักต่างเพศ โดยตอนกลางวัน ในออฟฟิศหรือที่บ้านกับพ่อแม่พี่น้อง พวกเขาอาจสวมบทเป็นนายมงคล ผู้ชายธรรมดา ดูเรียบร้อย ไม่มีปากเสียง แต่ในยามค่ำคืน ตามแหล่งบันเทิงเริงรมย์ เช่น ย่านสีลม พวกเขาจะแปลงกายเป็นไอออนพุสซี ผู้หญิงมาดมั่น ไม่เกรงกลัวใคร พร้อมกับวาดฝันถึงวันที่จะสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องมีนายมงคล

นอกจากแง่มุมที่ชัดเจน ค่อนข้างเป็นรูปธรรมข้างต้นแล้ว หนังสั้นชุด Iron Pussy ยังสะท้อนนัยยะเกี่ยวกับการปลอมแปลงและบุคลิกซ้อนที่ย้อนแย้งกันในแง่มหภาคอีกด้วย (และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมมันจึงสร้างกระแสฮือฮาในยุคนั้น หากไม่นับรวมความแรงแบบกระจะตา อาทิ ปืนฉีดน้ำอสุจิ หรือฉากรักอันโจ่งครึ่ม) กล่าวคือ ภายใต้ความพยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในแง่วัฒนธรรมงดงาม ยิ้มสยาม รำไทย ฟ้าใสทะเลสวย ฯลฯ ดังคำพูดของมาดามปอมปาดอย (ดารุณี กฤตบุญญาลัย) ใน หัวใจทรนง ที่ว่า “เมืองไทยน่าอยู่ อาหารอร่อย ผู้คนน่ารัก” ยังมีอีกตัวตนหนึ่งของประเทศไทยที่เหล่าคนใหญ่คนโต หรือชนชั้นกลางจำพวกมือถือสากปากถือศีลทั้งหลายจงใจซุกซ่อนไว้ในซอกหลืบ นั่นคือ เมืองไทยเป็นดินแดนที่ธุรกิจทางเพศเจริญรุ่งเรือง โดยคนส่วนใหญ่ที่เข้ามากอบโกย เอารัดเอาเปรียบเรือนร่างของทั้งหญิงไทยและชายไทยล้วนเป็นชาวต่างชาติจากประเทศพัฒนาแล้ว

เรามักถูกปลูกฝังให้ภาคภูมิใจเสมอมาว่าในอดีตประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใคร อย่างน้อยก็เชิงภูมิศาสตร์/การเมือง แต่ปัจจุบันเมืองไทยกลับยินยอมโก้งโค้ง (ทั้งความหมายตรงตัวและความหมายเชิงสัญลักษณ์) แก่ฝรั่ง หรือญี่ปุ่นเพื่อแลกเงินตรา ดังจะเห็นได้จากความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจทางเพศจนมันสร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลก (น่าตลกที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น ณ ประเทศที่การค้าประเวณีผิดกฎหมาย ไม่ใช่หลายประเทศแถบยุโรป หรือแคนาดาที่อนุญาตให้ค้าประเวณีได้) โดยต้นเหตุอาจสาวไปถึงความล้มเหลวของรัฐในการกระจายรายได้ ส่งเสริมการศึกษา เพื่อให้ประชาชนสามารถยืนหยัดบนลำแข้งของตนเอง นอกจากนี้ ขณะที่ปากตะโกนปาวๆ ว่าธุรกิจทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นเรื่องน่าละอาย และอาจถึงขั้นไม่ต้องการยอมรับว่ามีอยู่จริงในสังคม (เช่น กรณีร้องแรกแหกกระเชอ เมื่อพจนานุกรมฉบับลองแมนนิยาม “กรุงเทพ” ว่าเป็นเมืองแห่งโสเภณี) แต่ลับหลังรัฐกลับก้มหน้ารับเม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างเต็มใจ สุดท้าย ผู้รับกรรมจึงกลายเป็นบรรดาชายหญิงขายบริการ ซึ่งนอกจากไม่มีใครยอมรับ ช่วยเหลือแล้ว ยังถูกเอารัดเอาเปรียบรอบด้าน1

ด้วยเหตุนี้ หนังสั้นชุด Iron Pussy จึงมีลักษณะคล้ายแฟนตาซี Rape/Revenge ของประเทศโลกที่สาม ของชนชั้นล่างในสังคม หลังถูกนักล่าอาณานิคม (สวาท) และเหล่าอภิสิทธิ์ชนกระทำชำเราครั้งแล้วครั้งเล่า2... และจากมุมมองดังกล่าว คนดูอาจรู้สึกไม่ประหลาดใจว่าทำไมอาวุธเด็ดของไอรอนพุสซีจึงได้แก่ ปืนฉีดน้ำอสุจิ

อย่างไรก็ตาม เมื่อดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว กลิ่นอายเกี่ยวกับเซ็กซ์ เพศสภาพ รวมไปถึงประเด็นวิพากษ์ลัทธิล่าอาณานิยมถูกลดทอนลงอย่างเห็นได้ชัด จริงอยู่ ตัวร้ายยังคงเป็นชาวต่างชาติ (คราวนี้คืออินเดีย) และช่วงต้นเรื่องเรายังได้เห็นไอออนพุสซีแปลงกายจากหญิงเป็นชายและชายเป็นหญิงอยู่สองสามครั้ง แต่ทั้งหมดทำหน้าที่เพียงช่วยย้ำเตือนให้คนดูสามารถนึกเชื่อมโยงไปถึงหนังสั้นได้เท่านั้น หาใช่เพื่อนำเสนอสารแบบเดิม3 เพราะภาพโดยรวมของหนังแตกต่างและแยกเป็นเอกเทศอย่างสิ้นเชิงผ่านการตีความใหม่ของอภิชาติพงศ์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสอดแทรกเครื่องหมายการค้าของเขาเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฉากเดินลุยป่า เข้าถ้ำ ฉากย้อนอดีตในสไตล์หนังเงียบ หรือการปรากฏตัวขึ้นของเสือ (และบทพูดเปรียบเทียบคนกับสัตว์ หรือสัตว์ร้ายในคราบมนุษย์)

เป้าหมายหลักในการล้อเลียน/คารวะถูกเปลี่ยนมาเป็นหนังไทยยุค 1970 ผ่านการพากย์เสียง ย้อมสีภาพ บทพูดเชยๆ ภาษาโบราณๆ และการวางพล็อตให้เดินตามรอยทุก “ท่าบังคับ” ที่เราคุ้นเคย โดยไฮไลท์ซึ่งเรียกเสียงฮาได้อย่างยอดเยี่ยมน่าจะเป็นฉากเปิดเรื่อง เมื่อไอออนพุสซีโผล่มาช่วยลูกสาวจอมแก่นของอาแปะร้านขายกาแฟ (จุฑารัตน์ อัตถากร) ไม่ให้ถูกกลุ่มจิ๊กโก๋รุมทำร้าย ที่สำคัญ หนังยังตอกย้ำภาพลักษณ์ “นางเอก” ยุคนั้นด้วยอารมณ์ขันหยิกเชิงหยอก เมื่อไอออนพุสซีในคราบลำดวนถูกกลั่นแกล้ง เยาะเย้ยสารพัดราวกับ พจมาน สว่างวงศ์ แต่เธอก็เอาความดี (... และใบหน้าอันสวยงาม) เข้าสยบตามลักษณะของพุทธศาสนิกชนที่ดี (สังเกตได้จากฉากปล่อยปลาปล่อยเต่าและเดินเข้าวัดไปกราบไหว้พระพุทธ) พลางโชว์ทักษะสารพัน ตั้งแต่ทำขนมไทย ตัดหญ้า รีดผ้า ร้อยพวงมาลัย ร้องเพลง ไปจนถึงศิลปะป้องกันตัว

ทว่าความดีดังกล่าวกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ หลังจากไอออนพุสซี/ลำดวนค้นพบว่าศัตรูของเธอ คือ ชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยที่เพิ่งเรียนจบจากเมืองนอก เนื่องจากเธอ “ทำร้ายคนที่ฉันรักไม่ได้” แม้กระทั่งในช่วงเวลาคับขัน เมื่อบาทาของชายคนรักนั้นประทับแนบแน่นอยู่บนใบหน้าเธอ

แม้จะสลัดทิ้งรายละเอียดหลายอย่างจากหนังสั้น แต่ธีมสำคัญที่ หัวใจทรนง ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น คือ ประเด็นการปลอมแปลง หน้ากาก และความแตกต่างระหว่างภาพลักษณ์ภายนอกกับเนื้อแท้ภายใน ไม่ว่าจะแบบที่เห็นชัดๆ เช่น การสวมรอยมาเป็นหญิงรับใช้ของไอออนพุสซีเพื่อสืบข้อมูลเกี่ยวกับมิสเตอร์เฮนรี การเปิดเผยตัวตนและสถานะอันแท้จริงของ สมจินตนา (เจนจิรา พงพิศ) หัวหน้าแม่บ้าน... หรือแบบที่ต้องมองให้ลึกลงไปอีกนิด เช่น การที่ชายหนุ่มรูปหล่ออย่างคุณแทง (กฤษดา สุโกศล) มีจิตใจคดเคี้ยวยิ่งกว่าสัตว์ป่า ตรงกันข้ามกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าตาบ้านๆ แต่น้ำใจงามอย่าง ผิว (ธีรวัฒน์ ทองจิตติ) การที่งานเลี้ยงไฮโซและคฤหาสน์ใหญ่โตกลับกลายเป็นแหล่งซ่องสุมสินค้าผิดกฎหมาย... หรือกระทั่งแบบความนัยทางอ้อม เช่น เมื่อหนังเอ่ยอ้างถึงรัฐบาลของนายก ทักษิณ ชินวัตร (ผู้ว่าจ้างไอออนพุสซีด้วยงบเสื้อผ้าไม่จำกัด บัตรทองสุขภาพ และการโอนเงินเข้าบัญชีในวันหวยออก) ผ่านทีมนักแสดงหน้าเหมือน ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อปมสำคัญของหนังเกี่ยวพันถึงขบวนการผลิตยาเสพติด4

จริงอยู่ว่าพล็อตของ หัวใจทรนง ค่อนข้างยอกย้อนและอบอวลด้วยอารมณ์สไตล์โศกนาฏกรรมกรีก (คู่รักถูกเปิดเผยว่าเป็นพี่น้องฝาแฝด ซึ่งพรากจากกันแต่วัยเยาว์เพราะแม่เชื่อคำทำนายของหมอดูยิปซีว่าโตขึ้นพวกเขาจะเข่นฆ่ากันเอง) แต่ดูเหมือนสาร หรือคติสอนใจที่หนังต้องการสื่อกลับเรียบง่าย และบางทีอาจสามารถสรุปได้ด้วยประโยคเด็ดของหนัง ซึ่งคนดูคงจดจำได้ไม่ลืม และปัจจุบันน่าจะกลายเป็นประโยคคลาสสิกประจำวงการภาพยนตร์ไทยไปแล้ว นั่นคือ “อย่าตัดสินลำดวนด้วยหน้าตาที่สวยงามเพียงอย่างเดียวสิคะ”

หมายเหตุ

1. ไมเคิล เชาวนาศัย เคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่เลือกให้ไอรอนพุสซีออกมาปกป้องเหล่าอะโกโก้บอยว่า “ก็เพราะน้องๆ เหล่านั้นไม่มีใครเป็นปากเป็นเสียงให้เขา ก็ทำงานไปสิ ก็โดนเหยียบย่ำอยู่นั่นแหละ ทำไมคนที่ทำงานอย่างนั้น ซึ่งมันก็ถือว่าเป็นงานสุจริต ไม่ได้ไปลักขโมยใครกิน มีคนปกป้องไม่ได้หรือ” (นิตยสาร Starpics ปักษ์แรก สิงหาคม 2547 หน้า 93)

2. หนึ่งในตระกูลย่อยของหนังสยองขวัญที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงช่วงยุค 1970-1980 คือ Rape/Revenge Films มักเล่าเรื่องเกี่ยวกับชาวเมืองเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในชนบท แล้วถูกชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง (แน่นอนว่าโดนวาดภาพให้ดูป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม) รุมโทรม ก่อนเธอจะลุกขึ้นแก้แค้นด้วยการไล่ฆ่าพวกมันทีละคน โดยผลงานที่เรียกได้ว่าเป็น “ตัวแม่” ของตระกูลย่อยนี้ ได้แก่ I Spit on Your Grave (เวอร์ชั่นรีเมคกำลังจะเข้าฉาย) Rape/Revenge Film มักสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ผ่านนัยยะว่าสังคมเมืองข่มขืนชนบทในแง่เศรษฐกิจก่อน (กอบโกยทรัพยากร ทำลายล้างทัศนียภาพ) เหล่าคนชนบทจึงต้องแก้แค้นด้วยการข่มขืนคนเมืองในแง่กายภาพ

3. การณ์ปรากฏว่าตัวร้ายสำคัญกลับกลายเป็นคนไทย ส่วนไอออนพุสซีก็แปลงร่างเป็นหญิงสาวสมบูรณ์แบบในบ้านของมาดามปอมปาดอย ราวกับเธอหลุดเข้าไปอยู่อีกมิติหนึ่ง ซึ่งเพศสภาพปรับเปลี่ยนได้ตามใจปรารถนา โดยเฉพาะเมื่อหนังเฉลยปมว่าไอออนพุสซีเป็น “ลูกสาว” ของมาดามปอมปาดอย

4. เป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายหนึ่งที่โด่งดังและเรียกคะแนนนิยมได้อย่างท่วมท้นของรัฐบาลทักษิณ ได้แก่ สงครามยาเสพติด จนก่อให้เกิดมายาคติว่ายาเสพติดหมดไปจากประเทศไทยแล้ว แต่อย่างที่ทราบกันดีอีกเช่นกัน เบื้องหลังแรงโหมประชาสัมพันธ์ของฝ่ายรัฐถึงความสำเร็จอันน่ายินดี กลับเต็มไปด้วยคราบเลือด หยาดน้ำตา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงผ่านปรากฏการณ์ฆ่าตัดตอนและวิสามัญฆาตกรรมกันอย่างเอิกเกริก (เชื่อว่าจำนวนผู้ตายมีมากถึง 2400 รายในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน) ในหนังผิวได้กล่าวกับไอออนพุสซีว่า หากเธอไม่ยื่นมือมาช่วยเหลือเขาในวันที่เขาเมายาบ้า แล้วจับหญิงคนหนึ่งเป็นตัวประกัน เขาก็อาจตกเป็นเหยื่อการฆ่าตัดตอนไปแล้ว

วันพุธ, มิถุนายน 02, 2553

Precious: Based on the novel Push by Sapphire: เธอผู้ไม่แพ้


ตลอดช่วงเทศกาลออสการ์ หนังเรื่อง Precious: Based on the Novel Push by Sapphire มักถูกหยิบยกไปเปรียบเทียบในแง่ความคล้ายคลึงทางพล็อต (หรืออาจรวมเลยถึงทัศนคติต่อคนผิวดำ) กับ The Blind Side เพราะทั้งสองล้วนโฟกัสไปยังชีวิตของเด็กวัยรุ่นผิวดำที่ไม่ค่อยรู้หนังสือ น้ำหนักเกิน ถูกกระทำทารุณ และเกลือกกลั้วอยู่กับความยากจนข้นแค้นมาตลอดชีวิต แต่สุดท้ายกลับค่อยๆ กระเสือกระสนขึ้นจากหุบเหวแห่งความเลวร้ายด้วยความช่วยเหลือของคนแปลกหน้าผู้เปี่ยมเมตตา

นอกจากนี้ข้อสรุปของหนังยังคล้ายคลึงกันด้วย นั่นคือ โยงใยก้นบึ้งแห่งปัญหาไปยังสถาบันครอบครัว (โดยเฉพาะคนเป็นแม่) พร้อมทั้งเสนอทางออกอันเรียบง่ายผ่านการค้นหาครอบครัวใหม่ที่ดีกว่า หรือพูดให้ชัดๆ คือ แม่คนใหม่ที่มอบความรัก ความอบอุ่น และแรงผลักดันเพื่อพัฒนาศักยภาพได้มากกว่า โดยในกรณีของ The Blind Side ได้แก่ ลี แอนน์ ทูอี้ ส่วนในกรณีของ Precious ได้แก่ มิสเรน (พอลา แพตตัน)

แต่น่าแปลกที่ Precious กลับทำให้ผมนึกถึงหนังเข้าชิงออสการ์อีกเรื่องอย่าง A Serious Man (บางทีอาจเป็นเพราะผมมีโอกาสได้ชมผลงานล่าสุดของ โจเอล และ อีธาน โคน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน) ทั้งที่พล็อตก็ไม่ได้ใกล้เคียงกัน นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าตัวละครเอกทั้งสองบังเอิญเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในโลกอันคุ้นเคยและปิดแคบ แล้วตลอดทั้งเรื่องต้องประสบวิบากกรรมหนักหนาสาหัสระลอกแล้วระลอกเล่าจนเข้าขั้นโอชินเรียกพี่ (พึงสังเกตว่าเนื่องจากตัวละครมีสถานะทางสังคมที่แตกต่าง ปัญหาของ แลร์รี่ ก็อบนิค ใน A Serious Man จึงส่งกลิ่นอายชนชั้นกลาง เช่น ชีวิตคู่ ความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ฯลฯ ส่วนปัญหาของพรีเชียส ใน Precious จะโอนเอียงไปทาง “ปากกัดตีนถีบ” เสียมากกว่า เช่น อาหาร การศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทั่งที่ซุกหัวนอน)

Precious ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยท่วงทีขึงขัง จริงจัง แต่ก็แฝงอารมณ์ขันเอาไว้พอตัว เช่น ฉาก พรีเชียส (แกบาเร ซิเดเบ) จินตนาการตัวเองกับแม่ (โมนีก) เป็นตัวละครเอกใน Two Women (ซึ่งยั่วล้อหนังอยู่กลายๆ เนื่องจากผลงานคลาสสิกในสไตล์นีโอเรียลริสต์ของ วิททอริโอ เดอ ซิก้า เล่าถึงคราวเคราะห์ของคุณแม่แสนดีที่พยายามจะปกป้องลูกสาววัยรุ่นจากความสยองแห่งสงคราม) ขณะที่ A Serious Man ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยท่าทีค่อนข้างเบาสบายกึ่งเยาะหยัน แต่ลึกๆ กลับแฝงอารมณ์ขึงขัง หนักแน่น จนอาจถึงขั้นสยองขวัญ!

ถ้า โซเฟีย ลอเรน ใน Two Women เปรียบได้กับแม่พระ โมนีก ใน Precious ก็คงไม่ต่างจากนางมาร ดังจะเห็นได้จากสารพันความเลวร้ายของเจ้าหล่อน ไม่ว่าจะเป็นการดุด่า ตบตีลูกสาวเป็นกิจวัตร เรียกใช้งานดุจทาสในเรือนเบี้ย หรือปล่อยให้ลูกสาวถูกสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “พ่อ” ข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่คิดห้ามปรามจนเธอตั้งท้องถึงสองครั้ง แถมยังมีหน้ามาริษยา กล่าวหาว่าพรีเชียสแย่งสามีตัวเองไปอีก (คิดได้เนาะ!) ซ้ำร้ายวันดีคืนดีหล่อนก็จะเรียกลูกสาวมาช่วยบำบัดความใคร่ให้ซะงั้น (หนังสือบรรยายฉากพรีเชียสถูกแม่บังคับให้ “ใช้ปาก” เอาไว้อย่างชัดเจน แต่เวอร์ชั่นหนังเลือกจะนำเสนอเป็นนัยเท่านั้น) อย่างไรก็ตาม สุดยอดความแรงชนิดช็อกคนดูคงหนีไม่พ้นฉากแมรีเกิดอาการสติแตกถึงขั้นทุ่มทีวีลงมาจากชั้นบนใส่หัวลูกสาว เรียกว่ากะเอาให้ตายกันไปข้างเลยทีเดียว

เทียบกับพรีเชียสแล้ว วิกฤติของแลร์รี่ใน A Serious Man แทบจะกลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ แต่น่าสนใจว่า ขณะที่หนังของสองพี่น้องโคนเฝ้าวนเวียนอยู่กับการตั้งคำถามต่อพระเจ้าถึงความทุกข์ยากนานา ซึ่งบางครั้งก็ดูเหมือนจะปราศจากเหตุผลและระบบระเบียบ (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนังวางตัวละครเอกให้มีอาชีพเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์) หนังของ ลี เดเนียลส์ กลับแทบไม่เอ่ยนามพระเจ้าเลยสักครั้ง ส่วนตัวละครเอกก็แทบไม่เคยตัดพ้อ หรือขวนขวายหาคำตอบจากเบื้องบนต่อวิบากกรรมอันแสนสาหัส โดยครั้งเดียวที่พรีเชียสแสดงข้อกังขาต่อชะตากรรม (เมื่อเธอเขียนว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” ลงในสมุดโน้ตหลังทราบผลการตรวจเลือด) กลับไม่ได้มุ่งเน้นไปยังพระเจ้าโดยตรง และนาทีแห่งอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจก็ผ่านเลยไปอย่างรวดเร็ว ไม่ถูกตอกย้ำมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับฉากเปิดใจตรงสระว่ายน้ำร้างระหว่างแลร์รี่กับพี่ชายใน A Serious Man ซึ่งถ่ายเป็นช็อตมุมสูง ราวกับจะแทนสายตาของพระเจ้าที่เรียกขอการยอมรับแบบปราศจากข้อแม้

ถ้าหนังของสองพี่น้องโคนต้องการพูดว่า มนุษย์ควรทำใจยอมรับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างดุษณี อย่าดิ้นรนหาคำตอบให้กับทุกคำถาม ทุกความลึกลับ ดำมืด หรือตรวจสอบตรรกะเชื่อมโยงใดๆ ด้วยความเชื่อว่าพระเจ้าพยายามจะสื่อสารอะไรบางอย่างถึงมนุษย์ เพราะสุดท้ายแล้วการค้นหานั้นรังแต่จะนำไปสู่ทางตัน ทำให้เราเสียเวลา เสียพลังงาน และบางทีอาจถึงขั้นประสาทแดกโดยเปล่าประโยชน์ดุจเรื่องเล่าของแรบไบคนที่สองเกี่ยวกับทันตแพทย์ที่ค้นพบข้อความบนฟันของคนไข้แล้วละก็ พรีเชียสคงเป็นตัวละครที่เข้าใจสารดังกล่าวอย่างถ่องแท้ เพราะเธอกัดฟัน ก้มหน้ารับความซวยที่ประดังเข้ามาโดยไม่ปริปาก ขณะเดียวกันเธอก็ตระหนักถึงความอยุติธรรมทางสังคมระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาว (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเธอถึงชอบฝันเห็นตัวเองเป็นหญิงสาวผิวสีอ่อนเวลาส่องกระจก) รวมเลยไปถึงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนผอมกับคนอ้วน คนรวยกับคนจน และคนที่มีการศึกษากับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่เธอไม่เคยต่อว่าต่อขานพระเจ้าที่ “เมตตา” เธอน้อยกว่าคนอื่นเหมือนพี่ชายแลร์รี่ใน A Serious Man เช่นเดียวกับที่เธอไม่เคยพยายามขวนขวายหาคำตอบว่าพระเจ้าต้องการบอกอะไร (แบบเดียวกับแลร์รี่) ถึงได้ประทานความเลวร้ายมาอย่างไม่หยุดหย่อน สิ่งเดียวที่เธอทำก็แค่ยอมรับชะตากรรมที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข แล้วเดินหน้าต่อไป

ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า A Serious Man เป็นดังบทเกริ่นว่าด้วยความล้มเหลวของมนุษย์ในอันที่จะต่อกรหรือแสวงหาเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์กับชะตากรรม หรือวิถีแห่งพระเจ้า ส่วน Precious ก็เปรียบเสมือนคำตอบต่อคำถามที่ว่า ในเมื่อมนุษย์ไม่อาจงัดข้อกับประสงค์ของพระเจ้าได้แล้ว เขาควรจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร

หนึ่งในความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างพรีเชียสกับแมรีอยู่ตรงที่ คนแรกเพียงแค่ยอมรับในชะตากรรม แต่ไม่เคยยอมจำนนต่อชะตากรรมเหมือนคนหลัง เธอไม่เคยหยุดคาดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า ทรงคุณค่า และเปี่ยมสุข แม้จะโดนคุณแม่จอมมารตอกย้ำใส่สมองทุกวันว่า ผู้หญิงอ้วนดำสมองทึบอย่างพรีเชียสนั้นอย่าได้วาดฝันว่าจะไปไกลกว่าวิถีชีวิตของการใช้เบี้ยเลี้ยงคนตกงานไปวันๆ (เหมือนเธอ) อย่างเด็ดขาด

แมรีเป็นมนุษย์ประเภทที่ชอบก่นด่าระบบสองมาตรฐาน ความอยุติธรรมต่างๆ นานา ซึ่งแน่นอนว่ามีอยู่จริง ไม่อาจปฏิเสธ และคงไม่อาจหลีกเลี่ยงตราบใดที่โลกยังมีมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยคิดจะลุกขึ้นมาทำอะไรให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นนอกจากนอนรอเงินสวัสดิการรัฐทุกเดือนๆ เมื่อเจ้าหน้าที่แวะมาเยี่ยม แล้วสอบถามว่าเธอได้ออกไปหางานทำบ้างหรือไม่ แมรีกลับโกหกหน้าตายเพื่อรักษาท่อน้ำเลี้ยงเอาไว้ เธอโวยวายใหญ่โตเมื่อทราบว่าพรีเชียสถูกไล่ออกจากโรงเรียน ไม่ใช่เพราะห่วงการศึกษาของลูกสาว แต่เพราะหวาดกลัวว่าตัวเองจะถูกรัฐตัดเงินช่วยเหลือ เวลาส่วนใหญ่ของเธอหมดไปกับการนั่งแหมะอยู่หน้าจอทีวี แล้วชี้นิ้วสั่งลูกสาวให้ทำโน่นทำนี่ ตลอดเวลาสองชั่วโมงของหนัง แมรีได้แต่เรียกร้อง โดยไม่เคยคิดจะมอบอะไรให้ใครตอบแทน เธอต้องการเงิน แต่ไม่อยากทำงาน เธอต้องการความรักจากสามี แต่กลับไม่เหลือกระทั่งเมตตาธรรมเบื้องต้นให้แก่เลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง... เห็นได้ชัดว่าสภาพอันน่าสังเวชของเธอหาได้เกิดจากน้ำมือของพระเจ้าเพียงฝ่ายเดียว

ในทางตรงกันข้าม ทันทีที่มีโอกาสแก้ตัวในโรงเรียนทางเลือก พรีเชียสก็ตัดสินใจคว้ามันไว้ ด้วยความหวังว่าจะพัฒนาทักษะอ่านเขียนจนสอบผ่านชั้นมัธยมปลาย และกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จ สำนึกใฝ่ดีส่งผลให้เธอได้รับสิ่งตอบแทนจากที่นั่นมากมายกว่าแค่การศึกษา โดยหากบ้านสอนพรีเชียสให้รู้จักความเกลียดชัง โรงเรียนทางเลือกก็สอนให้เธอรู้จักความรัก ทั้งจากมิตรภาพของเหล่าเพื่อนฝูง ซึ่งล้วนประสบปัญหา “วงเวียนชีวิต” มากน้อยต่างกันไป และความช่วยเหลือของมิสเรน ครูผิวสีที่พูดจาและใช้ชีวิตเหมือนชนชั้นกลางผิวขาว

ถึงตรงนี้คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า Precious เป็นภาพยนตร์ที่เชิดชูแนวคิดมนุษยนิยม ด้วยมันยืนกรานถึงความสง่างามและคุณค่าแห่งมนุษย์ ซึ่งสามารถขีดเส้นกำหนดชีวิตตัวเองตามศักยภาพโดยไม่ปล่อยให้ชะตากรรม หรือสิ่งเหนือธรรมชาติใดๆ มีอิทธิพลสูงสุด เส้นทางชีวิตอันแตกต่างของแมรีกับพรีเชียส คือ บทพิสูจน์ให้เห็นว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเนื่องมาจากเรา “เลือก” เช่นนั้น ชะตากรรมอาจมีส่วนกำหนดจุดหมายอยู่บ้าง แต่อิสรภาพและชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพรีเชียสสะท้อนให้เห็นว่ามันหาได้ทรงอิทธิพลเหนือความมุ่งมั่นของมนุษย์แต่อย่างใด

ในช่วงท้ายของ A Serious Man เมื่อชีวิตที่เริ่มคลี่คลายของ แลร์รี่ ก็อบนิค กลับทำท่าพลิกตาลปัตรสู่หายนะอีกครั้งพร้อมการมาถึงของเสียงโทรศัพท์จากคลินิกและพายุทอร์นาโด หนังเหมือนจะเสนอทางออกอันเรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อเอาไว้เช่นกัน (หรืออันที่จริงอาจเป็นเพียงมุกตลกร้ายๆ ของสองพี่น้องโคน) สำหรับความหงุดหงิดคับข้องใจ ผ่านคำสอนของแรบไบคนที่สาม ซึ่งใครๆ ต่างก็นับถือยกย่อง (และแลร์รี่พยายามขอพบ แต่ไม่สำเร็จ) โดยคำพูดของเขาสอดคล้องกับเนื้อร้องเพลงร็อกสุดฮิต Somebody to Love ของวง Jefferson Airplane ชนิดคำต่อคำ

คงเป็นเรื่องง่าย และอาจถึงขั้นหลงทางอยู่สักหน่อย หากจะพูดว่า “ความรักคือคำตอบ” เปรียบดังบทสรุปตบท้ายของ A Serious Man เมื่อพิจารณาจากโทนอารมณ์โดยรวมของหนัง รวมถึงทัศนคติต่อชีวิตในผลงานชิ้นก่อนๆ ของสองพี่น้องโคน แต่น่าแปลกตรงที่วลีดังกล่าวเหมาะเจาะกับ Precious อย่างสมบูรณ์แบบ ความรักช่วยมอบพลังให้พรีเชียสกล้าลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อตัวเองและลูกๆ แล้วสลัดหลุดจากวงจรอุบาทว์ที่แมรีพยายามยัดเยียดให้ แต่มันหาใช่ความรักที่มองเห็นอย่างชัดเจนเท่านั้น เช่น ความรักที่มิสเรนมอบให้นักเรียนของเธอ ความรักที่เพื่อนๆ มอบให้พรีเชียส หรือกระทั่งความรักความห่วงใยที่บุรุษพยาบาลรูปหล่อมอบให้คนไข้สาวร่างใหญ่ หากแต่ยังรวมไปถึงความรักและเคารพในตัวเองอีกด้วย

ถ้าบทเรียนที่เลวร้ายที่สุดจากแมรี คือ การสั่งสอนให้ลูกสาวมองตัวเองว่าไร้ค่า โง่เง่าไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานแล้วละก็ บทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดจากมิสเรนคงหนีไม่พ้นการสั่งสอนให้พรีเชียสตระหนักว่าเธอเปี่ยมศักยภาพไม่แพ้ใครอื่น สามารถทำอะไรก็ได้ หรือเป็นอะไรก็ได้ที่เธอต้องการหากมุ่งมั่น พากเพียรมากพอ และที่สำคัญ มิสเรนยังสอนให้พรีเชียสมองเห็นความงามแห่งปัจเจก เพื่อที่วันหนึ่งเด็กสาวจะได้เลิกฝันเห็นตัวเองเป็นหญิงผิวขาว รูปร่างระหง หรือมีเส้นผมยาวสลวย แล้วยอมรับตัวตนของเธออย่างเปี่ยมสุข... วันนั้นเองจะเป็นวันที่พรีเชียสประสบชัยชนะอย่างแท้จริง