วันอังคาร, ธันวาคม 21, 2553

The Social Network: เมื่อเงินไม่ใช่ประเด็น



ในหนังเรื่อง Zodiac เหล่าตัวละครเอกต่างทุ่มเทเวลาและแรงกาย (บางคนหมกมุ่นจนถึงขั้นครอบครัวแตกแยก) ให้กับการค้นหาความจริง โดยหลายครั้งพวกเขาก้าวเข้าใกล้เป้าหมายแค่เอื้อม แต่สุดท้ายหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าใครกันแน่ คือ ฆาตกรจักรราศี กลับหลุดลอยเกินไขว่คว้าและนำไปสู่บทสรุปอันคลุมเครือ

เช่นเดียวกัน The Social Network ก็ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของกลุ่มบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริง แต่การเปิดเผย “ความจริง” ยังคงไม่ใช่จุดประสงค์หลักของผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ และคนเขียนบท แอรอน ซอร์กิน (ฉะนั้นเสียงวิพากษ์ว่าหนังบิดเบือนข้อเท็จจริงจึงถือเป็นการเล็งผิดเป้า) ตรงกันข้าม พวกเขาพยายามจะบอกด้วยซ้ำว่าความจริงแท้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าถึง มีเพียงความจริงซึ่งผสมปนเประหว่างข้อมูล การคัดสรร และการตีความ

ด้วยเหตุนี้กระมัง หลากหลายปมปัญหาใน The Social Network จึงลงเอยไม่ต่างจากบทสรุปของ Zodiac เช่น คำถามที่ว่าใครเป็นคนสร้างเรื่องการทรมานสัตว์ของเอดัวร์โด ใครเป็นคนจัดฉากจุดจบของ ฌอน พาร์คเกอร์ หรือกระทั่ง มาร์คขโมยไอเดียในการสร้าง Facebook มาจากสองพี่น้องวิงเคิลวอสจริงหรือ

คนดูได้เห็นเพียงความจริงผ่าน “มุมมอง” ของแต่ละฝ่าย และจำเป็นต้องตัดสินข้อมูลเหล่านั้นไม่ต่างจากลูกขุนในศาล ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยจำพวกเสื้อผ้าหน้าผม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความถูกชะตา” (Likability) ย่อมเข้ามามีบทบาทอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงดังคำกล่าวของทนายสาว มาริลิน เดลพี ในตอนท้าย ก่อนเธอจะแนะนำให้มาร์คยอมความ ทั้งนี้เพราะปัจจัยแวดล้อมช่างไม่เอื้อประโยชน์ต่อจำเลยหากคดียืดเยื้อไปถึงชั้นศาล เช่น ลูกขุนบางคนคงไม่ปลื้ม หากรับทราบว่ามาร์คคิดเปรียบเทียบผู้หญิงกับวัวควาย และเขียนด่าอดีตแฟนสาวลงอินเตอร์เน็ท

ตั้งแต่ฉากแรก หนังได้พาคนดูไปรู้จักกับ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ในแง่มุมที่ไม่ค่อยสวยงามนัก (ต่อมาในฉากสอบปากคำ มาร์คตอบโต้ว่าคำบอกเล่าของเอริกาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในบาร์เต็มไปด้วยการยกเมฆเพื่อให้เขาดูเลวร้าย) แน่นอน เขาฉลาดเป็นกรด แต่ก็อวดดี หลงตัวเอง และชอบยกตนข่มท่าน ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมสลับหัวข้อสนทนาทุกสองวินาทีจนเอริกา (รวมไปถึงคนดู) ตามไม่ทันและรู้สึกเหมือนเป็นคนโง่ หรือการที่เขาหลุดปากพูดอะไรประเภท “(จะอ่านหนังสือไปทำไม) คุณก็แค่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยบอสตัน (ไม่ใช่ฮาร์วาร์ดเหมือนผม อ้อ อีกอย่าง ผมได้คะแนน SAT 1600 นะจะบอกให้)” กล่าวคือ บุคลิกและการพูดจาของมาร์คล้วนทำให้เขาดู “ไม่น่าคบหา” ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริง เมื่อมาริลินขู่ว่า “แค่สิบนาทีคณะลูกขุนก็จะรู้สึกไม่ถูกชะตาคุณแล้ว”

บางสิ่งบอกเราว่า มาร์คตระหนักถึงปมด้อยข้อนั้นดี และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเพียรบริหารความถูกชะตาของตนอย่างไม่หยุดยั้ง อาทิ การตัดสินใจบริจาคเงิน 100 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาผ่านรายการ Oprah ก่อนหนัง ซึ่งเขาพูดออกสื่ออยู่เสมอว่านำเสนอเรื่องราวอย่าง “อยุติธรรม” จะเข้าฉายในวงกว้างเพียงไม่กี่สัปดาห์

แม้จะยอมรับตรงไปตรงมาว่ามืดบอดต่อความจริงแท้ และพยายามนำเสนอเรื่องราวผ่านหลายมุมมองอย่างเป็นกลาง แต่ขณะเดียวกัน The Social Network ก็สอดแทรกนัยยะ หรือรหัสระหว่างบรรทัดไว้ชัดเจนว่ามาร์คโหยหาการยอมรับ ไม่ต่างจากเด็กเรียนที่ไม่ค่อยมีเพื่อนเฝ้ามองนักกีฬาสุดป็อปปูล่าด้วยแววตาริษยากึ่งหมั่นไส้ (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เอริกาพูดว่าเธอชอบนักกีฬาพายเรือแบบเดียวกับที่เด็กสาวใฝ่ฝันถึงคาวบอย) และหลายครั้งความเจ็บแค้น ขมขื่นนั้นก็สะท้อนผ่านหลากหลายคำสบประมาทของมาร์คระหว่างขั้นตอนการสอบสวน เช่น เมื่อเขาพูดกับมาริลินว่า “พวกวิงเคิลวอสไม่ได้ฟ้องผมด้วยข้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่พวกเขาฟ้องผมเพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่โลกไม่ยอมหมุนไปตามทิศทางที่พวกเขาต้องการ” หรือตอนที่เขาตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าอิจฉาเพื่อนรักที่ได้รับเลือกให้เข้าชมรมฟีนิกซ์ว่า “ตอนนี้ผมมีเงินมากพอจะซื้อฮาร์วาร์ด แล้วเปลี่ยนชมรมฟีนิกซ์ให้กลายเป็นห้องตีปิงปอง” มันเป็นคำอวดอ้างแบบกร่างๆ ที่เล็งผิดเป้าเพราะเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการได้รับเลือกให้เข้าชมรมฟีนิกซ์ ซึ่งตัวมาร์คเองก็ยอมรับในจุดนี้ตั้งแต่ฉากแรก

The Social Network อาจไม่ให้ราคาค่างวดต่อข้อเท็จจริงรอบด้านเกี่ยวกับ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก หรือ Facebook (บทหนังเลือกจะมองข้ามข้อมูลที่ว่าในชีวิตจริงมาร์คมีแฟนสาวเป็นตัวเป็นตนตอนอยู่ปีสอง เป็นสาวเอเชียชื่อ พริสซิลลา ชาน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเพื่อผลกระทบทางอารมณ์ของฉากจบ) ทว่าท่ามกลางการตีไข่ใส่สี หนังกลับตีแผ่ความจริง หรือสัจธรรมบางอย่างในสังคมได้ชนิดบาดลึก

บทของซอร์กินจงใจเน้นย้ำให้เห็นความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างมาร์คกับสองพี่น้องวิงเคิลวอสในหลากหลายมิติ (ซึ่งไม่ใช่ช่องว่างในลักษณะคนจน-คนรวย เพราะฝ่ายหลังอาจมีฐานะดีกว่าก็จริง แต่มาร์คก็หาใช่ลูกชาวนาเสียทีเดียว) คนแรกเป็นเด็กเนิร์ดชาวยิว รูปร่างผอมแห้ง ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อแจ๊กเก็ตมีฮูด สวมรองเท้าแตะ ส่วนคนหลังเป็นนักกีฬารูปร่างสูงใหญ่ พร้อมโครงหน้าหล่อเหลาแบบอารยันที่ฮิตเลอร์จะต้องภูมิใจ และนิยมสวมสูทผูกเน็กไท คนแรกมีเพื่อนไม่กี่คน และขาดทักษะในการคบหาสมาคมจนกระทั่งแฟนสาวต้องโพล่งขึ้นว่า “การเดทกับเธอก็เหมือนการเดทกับเครื่องออกกำลังกาย” ส่วนคนหลังเป็นสมาชิกสโมสรชื่อดังของฮาร์วาร์ดที่ใครๆ ก็อยากเข้าร่วม มีเส้นสายใหญ่โต (ผ่านทางพ่อผู้ทรงอิทธิพล) ขนาดสามารถขอนัดพูดคุยกับผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยเป็นการส่วนตัว และมั่นใจในสถานะทางสังคมของตนขนาดคิดจะเปิดเว็บไซต์บนพื้นฐานที่ว่า “สาวๆ อยากได้หนุ่มฮาร์วาร์ดเป็นแฟน”

โลกของอภิสิทธิ์ชนและโลกของสามัญชนห่างไกลกันขนาดไหน ฟินเชอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านฉากการแข่งเรือในประเทศอังกฤษซึ่งโฟกัสของขอบภาพโดยรอบถูกทำให้เบลอราวกับเป็นฉากความฝัน หลังจากนั้นในงานเลี้ยงฉลองถ้วยรางวัล ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ต่างมีโอกาสได้พบปะกับเจ้าชายอัลเบิร์ต

พวกเขา ซึ่งนิยมเรียกตัวเองว่าสุภาพบุรุษ มักอวดอ้างถึงความ “พิเศษเฉพาะตัว” (Exclusivity) เพราะมีกลุ่มคนเพียงจำนวนไม่มากที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วม รวมถึงความเก่าแก่ยาวนานของประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือกระทั่งอาคารสถานที่ เช่น เมื่อเลขาฯ หน้าห้องผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบรรยายถึงความโบราณของตึกทำการ คำถามเชิงประวัติศาสตร์ที่เหล่าสมาชิกใหม่ของสโมสรฟีนิกซ์ต้องตอบให้ถูก และเมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ตอ้างว่าปู่ของพระองค์ก็เคยอยู่ร่วมทีมแข่งเรือ ส่วนพระองค์เองก็มาเฝ้าชมการแข่งที่เมืองเฮนรีตลอด 30 ปี

การยึดติดกับอดีตและทะนงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นเป็นเหตุให้เต่าล้านปีเหล่านี้ถูกใครต่อใคร “พายแซง” ไปกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกทุนนิยมซึ่งการแข่งขันเข้มข้นและกว้างขวาง หากมัวแต่ยึกยักชักช้า กว่าจะรู้ตัวอีกทีคุณก็โดนทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นแล้ว ฉากที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวได้อย่างเจ็บแสบ คือ เมื่อสองพี่น้องวิงเคิลวอสพยายามร้องเรียนเรื่องมาร์คต่อผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่กลับถูกตีแสกหน้าให้ไปคิดหาไอเดียใหม่ๆ แทน แลร์รี ซัมเมอร์ส ก็ไม่ต่างจาก มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ตรงบุคลิกยโสแบบเด็กนักเรียนที่ฉลาดที่สุดในคลาส พวกเขาเป็นตัวแทนของโลกยุคใหม่ซึ่งปราศจากความเห็นใจใดๆ ต่อผู้พยายามอ้างถึงศีลธรรมและจรรยาบรรณหลังถูกแซงหน้าโดยนักคิดที่หลักแหลมกว่า นอกจากนี้ฉากข้างต้นยังแดกดันฝาแฝดวิงเคิลวอสไปในตัวตรงที่พวกเขาวิ่งโร่มาฟ้องครูเพื่อเรียกร้อง “ความยุติธรรม” (ซึ่งโดยหลักการแล้วหมายถึงทุกคนควรได้รับการปฏิบัติแบบเท่าเทียมกัน) โดยอาศัยเส้นสายของบิดา

Facebook มีจุดมุ่งหมายไม่ต่างกับการก่อการร้ายในฉากจบของหนังเรื่อง Fight Club นั่นคือ เพื่อทำลายระบบระเบียบและรูปแบบดั้งเดิมทางชนชั้น จากนี้ไปทุกคนสามารถเป็นประธานสโมสรส่วนตัว แล้วเลือกเชิญใครให้มาเข้าร่วมก็ได้ หรือพูดอีกอย่าง มันเปิดโอกาสให้เหล่าเด็กเนิร์ด พวกขี้แพ้ ขบถ หรือคนชายขอบของสังคมได้สัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับสองพี่น้องวิงเคิลวอส

แต่น่าเศร้าตรงที่อินเตอร์เน็ทนั้นเป็นแค่โลกเสมือนจริง และอารมณ์ตื่นเต้นของการได้เป็นคนดัง มีสิทธิ์ที่จะรับหรือไม่รับใครเป็น “เพื่อน” ก็เป็นแค่อารมณ์เสมือนจริง ซึ่งเกิดขึ้นในห้องมืดๆ ขณะคุณนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญผลข้างเคียงของการปฏิวัติดังกล่าวกลับทำให้มนุษย์ยุคใหม่ยิ่งห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริง (รวมถึงจากกันและกัน) มากขึ้น บทเรียนอันเจ็บปวดที่บิดาแห่ง Facebook ได้รับ คือ ในโลกแห่งความเป็นจริงหลายสิ่งหลายอย่างยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่น อคติดั้งเดิมในการตัดสินจากรูปร่างหน้าตา การพูดจา อิริยาบถว่าใครน่าจะเป็นคนดี/คนร้าย และมาร์คก็ดูจะเอนเอียงไปยังกลุ่มหลังมากกว่ากลุ่มแรก... เห็นได้ชัดว่าเงินพันล้านไม่อาจเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นพี่น้องวิงเคิลวอสได้ (บทเรียนเดียวกันนี้อาจนำไปใช้พูดถึงเศรษฐีพลัดถิ่นบางคนของเมืองไทยได้เหมือนกัน)

นอกจากจะมองความสัมพันธ์จอมปลอมของโลกอินเตอร์เน็ทในแง่ร้ายแล้ว The Social Network ยังวิพากษ์ระบบทุนนิยมผ่านโศกนาฏกรรมของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ซึ่งเริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ของเด็กเนิร์ดที่โหยหาการยอมรับ เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับมาร์ค ดังจะเห็นได้จากการที่เขาปฏิเสธข้อเสนอของไมโครซอฟท์ แล้วหันมาแจกซอฟท์แวร์ฟรีทางอินเตอร์เน็ท (เพื่อสร้างเรตติ้งให้ตัวเอง?) เขาริเริ่มก่อตั้ง Facebook ลึกๆ แล้วเพื่อสร้างชื่อเสียงให้สโมสรอย่างฟีนิกซ์ หรือพอร์เซลเลียนหันมาสนใจ เขาพยายามรักษาสถานะความ “เจ๋ง” ของเว็บไซท์โดยปฏิเสธข้อเสนอของเอดัวร์โดในการหากำไรผ่านโฆษณาเพราะเงินไม่ใช่สิ่งที่เขาไล่ล่า จนกระทั่งเหตุการณ์เริ่มบานปลายพร้อมๆ กับการมาถึงของ ฌอน พาร์คเกอร์ เจ้าของสโลแกน “เงินล้านน่ะไม่เจ๋งหรอก ต้องพันล้านต่างหาก” ฌอนฉลาด มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเส้นสายในโลกแห่งธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ไร้ความปราณีต่อใครก็ตามที่ก้าวมาขวางทาง เขา ก็เช่นเดียวกับระบบทุนนิยม นำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ เจริญรุ่งเรือง... พร้อมๆ กับความฟอนเฟะ การทรยศหักหลัง และยาเสพติด

แม้จะพูดถึงโลกแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่บทเรียนศีลธรรมของ The Social Network นั้นเก่าแก่และเรียบง่าย นั่นคือ เงินไม่อาจซื้อความสุขหรือกระทั่งการยอมรับ (แต่นั่นก็ไม่หยุดมาร์คให้พยายามต่อไป) มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ก็ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง ไมเคิล คอลิโอเน หรือ ชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน เขาร่ำรวยเงินตราและอำนาจ แต่กลับปราศจากเพื่อนสนิท คนรัก หรือกระทั่งครอบครัว เพราะเหล่านั้นคือราคาที่เขาต้องจ่ายเพื่อให้มายืนอยู่ ณ จุดนี้... ในฉากจบหนังได้ตอกย้ำให้เห็นว่าท่ามกลางทรัพย์สินจำนวนมหาศาล สุดท้ายแล้ว มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ก็เป็นแค่เด็กเนิร์ดหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่พยายามจะ “เชื่อมโยง” กับใครสักคน