วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 23, 2554

X-Men: First Class: ปัจเจกนิยมที่แท้จริง


หลังจากต้องถอนตัวกะทันหันจากกองถ่าย X-Men: The Last Stand เนื่องด้วยปัญหาครอบครัว แม็ทธิว วอห์น ก็วิพากษ์ผลงานกำกับของ เบร็ท แรทเนอร์ ที่เข้ามาเสียบแทนเขาอย่างตรงไปตรงมาในแง่การขายแอ็กชั่นตามนโยบาย “ยิ่งมากยิ่งดี” (ตัวละครมากขึ้น เอฟเฟ็กต์มากขึ้น ความวินาศสันตะโรมากขึ้น) จนทำให้เรื่องราวสูญเสียพลังในส่วนดรามาและสมดุลทางด้านเนื้อหาไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ X2 ซึ่งสร้างมาตรฐานที่สูงลิ่วไว้ให้กับหนังชุดนี้ ก่อนจะตบท้ายว่าถ้าเป็นเขาทำ หนังต้องออกมาดีกว่านั้นแน่นอน!

อาจฟังดูน่าหมั่นไส้ และค่อนข้างขี้อวด แต่คำถากถางดังกล่าวพลันมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อวอห์นไม่ได้พูดเปล่า แต่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนด้วย X-Men: First Class ซึ่งผสานแอ็กชั่นเข้ากับดรามาได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำประเด็นที่ไม่มีวันล้าสมัยของการ์ตูนชุดนี้ (ตราบใดที่โลกมนุษย์ยังคงเต็มไปด้วยสงคราม ความขัดแย้ง และความเกลียดชัง) ผ่านสองเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น

นักวิจารณ์บางคนขุ่นเคืองกับการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายกาจของ “วิกฤติคิวบา” บางคนกระแนะกระแหนฉากหลังย้อนยุคว่าเกิดขึ้นเพียงเพราะทีมงานต้องการเล่นสนุกกับเสื้อผ้าหน้าผมอันเปี่ยมเอกลักษณ์ของยุค 1960 เท่านั้น แต่หากพิจารณาในแง่เนื้อหา การชักนำเหตุการณ์จริงมาเกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ หรือฉาบฉวย ในทางตรงกันข้าม มันช่วยเติมน้ำหนักให้ประเด็นเกี่ยวกับอคติ ความหวาดกลัวความแตกต่าง และการเฉลิมฉลองปัจเจกภาพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของหนังและการ์ตูนชุด X-Men

ถ้าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แสดงให้เห็นอคติต่อรูปกายภายนอก (ยิว-อารยัน) สงครามเย็นก็คงสะท้อนให้เห็นอคติต่อแนวคิดภายใน (ประชาธิปไตย-สังคมนิยม) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงสองแนวทางสุดฮิตในการวิเคราะห์เนื้อหาซ่อนเร้นระหว่างบรรทัดของหนังชุด X-Men ได้แก่ ประเด็นสีผิว (ภายนอก) และรักร่วมเพศ (ภายใน)

จริงอยู่ว่ามนุษย์กลายพันธุ์ใน X-Men อาจหมายถึง “ชนกลุ่มน้อย” ทุกรูปแบบที่ถูกกดดันจากสังคมให้รู้สึกด้อยค่า หรือผิดปกติ แต่เมื่อถ่ายทอดผ่านวิสัยทัศน์ของผู้กำกับเกย์อย่าง ไบรอัน ซิงเกอร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เหล่ามนุษย์กลายพันธุ์จะดึงดูดอารมณ์ร่วมของชาวสีม่วงได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในหนังเรื่อง X2 ซึ่งมีฉากตัวละคร coming out กับพ่อแม่ ในภาคล่าสุด แม็ทธิว วอห์น ได้สานต่อนัยยะดังกล่าวไปอีกระดับขั้นผ่าน “bromance” ระหว่าง เอริค (ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์) กับ ชาร์ลส์ (เจมส์ แม็คอะวอย) เมื่อคนหนึ่งมีปมรักแม่ ส่วนอีกคนอาจชอบจีบหญิงตามผับบาร์ แต่ไม่เคยได้แอ้มใครสักคน ที่สำคัญ เขายังไม่แยแสเสน่ห์ทางเพศของสาวสวยอย่างเรเวน (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) และกระอักกระอ่วน เมื่อเห็นเรือนร่างเปล่าเปลือยของเธอ (น่าสังเกตว่าชะตากรรมของชาร์ลส์ที่ต้องมาลงเอยบนรถเข็น ในแง่หนึ่ง บ่งบอกบุคลิกสำคัญของรักร่วมเพศ นั่นคือ ความไม่สามารถผลิตลูกหลานสืบสกุล)

นอกจากนี้ ชาวเกย์คงอดยิ้มไม่ได้กับอารมณ์ขันในบางฉาก เช่น เมื่อชาร์ลส์เผลอ “out” แฮงค์ (นิโคลัส ฮอลท์) โดยบังเอิญต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน (“ก็คุณไม่ได้ถาม ผมเลยไม่ได้บอก”) หรือการใช้วลีอย่าง “mutant and proud” ซึ่งอ้างอิงไปยัง “out and proud” วลีที่เหล่านักต่อสู้เพื่อสิทธิแห่งรักร่วมเพศนิยมใช้

สำหรับชาร์ลส์ มันอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะยอมรับความแตกต่างของตัวเอง เพราะโดยรูปกายภายนอกเขาสามารถกลมกลืนเข้ากับคนทั่วไปได้โดยไม่มีใครสังเกตเห็น (masculine gay?) แต่สำหรับแฮงค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรเวน พวกเขาจะต้อง “สวมหน้ากาก” เพื่อหลบเลี่ยงสายตาดูแคลน หรือรังเกียจเดียดฉันท์ คนแรกปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มใหญ่ ส่วนคนหลังปรารถนาจะใช้ชีวิตโดยไม่ต้องปกปิด “ตัวตนที่แท้จริง” นั่นเป็นแรงผลักดันให้คนแรกหมกมุ่นผลิตยากำจัดดีเอ็นเอตัวการที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และดึงดูดคนหลังให้หันไปเข้าพวกกับเอริค เพราะเขาดูจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจความรู้สึกของเธอ

มองเผินๆ ในชั้นแรก เอริคนำเสนอความชอบธรรมผ่านการเชิดชูปัจเจกภาพ ผลักดันให้เรวินเลิกอับอายตัวตนที่แท้จริง และกล้าพอจะยอมรับความแตกต่างของตนเอง แต่คำถามที่ตามมา คือ ทั้งหมดนั้นตอบสนองแรงปรารถนาในเบื้องลึกของเรเวนได้จริงหรือ เธอแค่ต้องการจะเป็นตัวของตัวเอง หรือต้องการจะเป็นที่รักโดยไม่ต้องสวมหน้ากากกันแน่ นี่เองเป็นปมที่เอริคตระหนัก และใช้มันเป็นเครื่องมือล่อลวงเธอให้เข้าพวก เขาชอบเธอในมาดสีฟ้าและผิวเป็นเกร็ดจริงๆ หรือแสร้งทำเช่นนั้นเพียงเพื่อแยกเธอจากชาร์ลส์กับแฮงค์ ผู้มองโลกตามความเป็นจริงว่าถึงแม้มนุษย์และมนุษย์กลายพันธุ์จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดอง แต่สุดท้ายแล้ว ตีนโตๆ ของแฮงค์ และผิวสีฟ้าของเรเวน ก็ไม่มีทางจะถูกมองว่าเป็น “ความงาม” อยู่ดี แม้กระทั่งในหมู่มนุษย์กลายพันธุ์ด้วยกันเอง... นอกเสียจากเราจะกวาดล้างมาตรฐานความงามแบบดั้งเดิมออก แล้วสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เอริคปรารถนา และเป็นสิ่งที่ชาร์ลส์ต่อต้าน

เมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบว่า อุดมคติของเอริค รวมถึง เซบาสเตียน (เควิน เบคอน) หาได้สนับสนุนปัจเจกนิยมอย่างแท้จริง เพราะทั้งสองมองว่ามนุษย์กลายพันธุ์ “เหนือกว่า” มนุษย์ธรรมดา และฝ่ายหลังสมควรถูกกำจัดเพื่อเปิดทางให้กับวิวัฒนาการใหม่... ความยอกย้อนของชะตากรรมอยู่ตรงเอริคเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่แนวคิดของเขากลับสอดคล้องกับนาซี และชายที่เขาชิงชังอย่างเซบาสเตียน

ความสุดโต่งของเอริค หรือ แม็กนีโต ผู้เชื่อในคติรวมหมู่ (collectivism) เหนือปัจเจกนิยม (individualism) ปรากฏชัดในหนังเรื่อง X-Men: The Last Stand เมื่อเขายึดความมั่นคงของกลุ่มมนุษย์กลายพันธุ์เหนือปัจเจกภาพ และเปิดสงครามเต็มรูปแบบกับมนุษย์ รวมถึงเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์คนใดก็ตามที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตแบบ “ปกติ” หลังมีการค้นพบยาที่จะแก้ไขดีเอ็นเอกลายพันธุ์ ความหวาดกลัวว่าจะถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมส่งผลให้แม็กนีโตมองมนุษย์กลายพันธุ์ที่ต้องการฉีดยารักษาว่าเป็น “คนทรยศ” และปฏิเสธสิทธิในการเลือกของแต่ละคน (น่าสังเกตว่าฉากหลังของหนัง คือ ซานฟรานซิสโก นครแห่งรักร่วมเพศ ขณะที่พล็อตดังกล่าวก็เปรียบเหมือนกระจกสะท้อนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักต่อสู้ชาวเกย์กับค่ายคริสเตียนที่เสนอทางเลือกว่าสามารถรักษาอาการรักร่วมเพศได้)

ในส่วนประเด็นสีผิว มีการพูดเปรียบเทียบมาเนิ่นนานแล้วว่า ศาสตราจารย์เอ็กซ์ คือ ตัวแทนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีแบบเดียวกับ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ส่วน แม็กนีโต คือ ตัวแทนการต่อสู้ด้วยความรุนแรงแบบเดียวกับ มัลคอล์ม เอ็กซ์ คนหนึ่งเจริญรอยตาม มหาตมะ คานธี อีกคนหนึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของสารคดีเรื่อง The Hate That Hate Produced คนหนึ่งวาดฝันถึงสังคมบอดสี อีกคนเชื่อว่าคนผิวดำ “เหนือกว่า” เชื้อชาติอื่นๆ (black supremacy) คนหนึ่งยืนอยู่ข้าง “ความสงบสุข” ส่วนอีกคนยืนอยู่ข้าง “ความโกรธแค้น”

และแน่นอน แม็ทธิว วอห์น ไม่ลืมที่จะสะกิดคนดูให้ตระหนักถึงแง่มุมดังกล่าวผ่านการใส่ตัวละครผิวดำเข้ามาในเรื่อง และตัดไปยังภาพโคลสอัพใบหน้าเขา เมื่อเซบาสเตียนพูดคำว่า “ตกเป็นทาส”

สำหรับเซบาสเตียนและเอริค ทางออกต่อความขัดแย้งมีเพียงสองทางเท่านั้น คือ ไม่ตกเป็นทาส ก็ต้องลุกฮือขึ้นมาเป็นผู้นำ การอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองไม่ใช่ทางเลือก เพราะพวกเขาไม่เคยเชื่อ หรือศรัทธาในมนุษย์ นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อพิจารณาจากอดีตอันโหดร้ายของเอริค ภายใต้การกระทำย่ำยีโดยมนุษย์ที่ก้มหน้า “รับคำสั่ง” โดยปราศจากสามัญสำนึกที่จะตระหนักถึงปัจเจกภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่ทหารนาซีในช่วงสงครามโลกมาจนถึงทหารเรือของกองทัพสหรัฐและโซเวียตในช่วงสงครามเย็น (น่าตลกตรงที่ทั้งสองแยกเขี้ยวจะยิงระเบิดนิวเคลียร์ใส่กันอยู่รอมร่อ แต่ทันทีที่ปรากฏ “ภัยคุกคาม” ใหม่ พวกเขากลับหันมาจับมือสามัคคีกันได้อย่างรวดเร็ว)

ความเกลียดชังได้บ่มเพาะความเกลียดชัง แล้วสืบสานต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด จนเข้าครอบงำเอริคให้เบี่ยงเบนจากอุดมคติดั้งเดิมของตน นั่นคือ กำจัดอคติเหมารวม เพื่อให้มนุษย์กลายพันธุ์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเปิดเผยและภาคภูมิใจ ความเชื่อว่าชนกลุ่มน้อยของตนยิ่งใหญ่กว่า พิเศษกว่า ทรงพลังกว่า ทำให้เอริค “นิยาม” ปัจเจกชนผ่านการรวมหมู่ จัดแยกแบ่งกลุ่มโดยคำนึงถึงแค่แง่มุมเดียวเท่านั้น นั่นคือ การกลายพันธุ์ (ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงสามารถแทนที่ได้ด้วย สีผิว เชื้อชาติ รสนิยมทางเพศ ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ) เขาภาคภูมิใจในสายพันธุ์จนมองเห็นทุกคน แม้กระทั่งในกลุ่มเดียวกัน ที่คิดเห็นแตกต่างว่าเป็นศัตรู

สุดท้ายเอริคก็ไม่แตกต่างจากเหล่ามนุษย์ปกติที่เขาชิงชังเท่าใดนัก เขา เห็นว่าการเป็นหรือไม่เป็นมนุษย์กลายพันธุ์ คือ ความสำคัญหนึ่งเดียว และแต่ละคนสมควรถูกเชิดชู/ประณามตามมาตรฐานนั้น โดยไม่เหลือพื้นที่ ไว้สำหรับปัจเจกนิยม ตลอดจนความคิดที่ว่ามนุษย์ควรถูก “นิยาม” ผ่านการเลือกของแต่ละคน และตัวตนของเราก่อร่างขึ้นจากการเลือกเหล่านั้น หาใช่พลังเหนือความควบคุม เช่น กรรมพันธุ์ หรือวัฒนธรรมความเชื่อจากกลุ่มต่างๆ

มนุษย์ที่กำลังยืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและสงครามน่าจะอินกับหนังอย่าง X-Men: First Class ได้ไม่ยาก และการที่หนัง รวมถึงการ์ตูนต้นฉบับ วาดภาพแม็กนีโตให้เป็นคนร้ายก็บ่งบอกชัดเจนถึงจุดยืนในการแก้ปัญหาของทีมผู้สร้าง เพราะความรุนแรงไม่เคยนำมาซึ่งสันติภาพที่แท้จริง มันอาจยุติไฟแค้นได้เป็นครั้งคราว แต่ในเวลาเดียวกันก็บ่มเพาะความเกลียดชังให้แพร่กระจาย รอวันที่ประกายไฟจะถูกจุดติดขึ้นมาอีกครั้ง แน่นอน หนทางที่ถูกต้องไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องอาศัยความอดทนและการเสียสละขั้นสูง แต่ในบั้นปลายจะนำมาซึ่งความสงบสุข ทั้งภายในและภายนอก... น่าเสียดายที่มนุษย์ส่วนใหญ่มักเลือกหนทางที่ง่ายดายแทนหนทางที่ถูกต้องเสมอ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

fear,anger,aggression the dark side are they.