วันศุกร์, พฤศจิกายน 18, 2554

Melancholia: โลกระทมทุกข์


ทันทีที่ดูหนังจบ และได้เห็นโลกทั้งใบพังพินาศเป็นจุล ส่วนมวลมนุษยชาติก็ถูกทำลายล้างจนไม่เหลือกระทั่งซากศพให้ค้นพบ หลายคนอาจนึกฉงนกึ่งสับสน เมื่อได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ ว่า Melancholia เป็นหนัง “มองโลกในแง่ดี” ที่สุดของเขา และปิดฉากด้วยตอนจบแบบ “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” ??!!

หรือนี่เป็นหนึ่งในอารมณ์ขันสุดพิสดารของผู้กำกับชาวเดนมาร์ก แบบเดียวกับตอนที่เขาให้สัมภาษณ์เมื่อหลายเดือนก่อนว่าตัวเองเป็นนาซีจนถูกแบนจากเทศกาลหนังเมืองคานส์

คำอ้างดังกล่าวเริ่มฟังดูเป็นเหตุเป็นผลขึ้น เมื่อฟอนเทรียร์ยกหนังอย่าง Titanic ขึ้นมาเปรียบเทียบ กล่าวคือ ในเมื่อหนังพูดถึงวันสิ้นโลก (และจริงใจกับคนดูตั้งแต่ช่วงสิบนาทีแรกด้วยการแสดงให้เห็นภาพโลกพุ่งปะทะดาวเคราะห์อิสระขนาดใหญ่อย่างจังเบอร์) การดับสูญ ตลอดจนความฉิบหายย่อยยับ คือ สิ่งที่คนดูคาดหวังจะเห็นแต่แรก และก็สุขสมหวังกันไปในที่สุด แบบเดียวกับการคาดหวังว่าจะเห็นเรือไททานิกพุ่งชนภูเขาน้ำแข็งนั่นเอง

คงมีเพียงเหล่าตัวละครในเรื่องเท่านั้นที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ หรือไม่แน่ใจในผลลัพธ์ ซึ่งนั่นเองกลายเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยเพิ่มสีสัน ความน่าสนใจ หรือกระตุ้นอารมณ์ตื่นเต้นระหว่างเราเฝ้ามองปฏิกิริยาอันแตกต่างกันไปของผู้คนต่อหายนะที่กำลังจะเกิด และบางครั้งก็อาจเผลอเอาใจช่วยตัวละครอย่าง แคลร์ (ชาร์ล็อตต์ แกงสบูร์ก) ผู้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าดาวเคราะห์จะเคลื่อนผ่านโลกไปเหมือนดังที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ จนพลอยหลงลืมว่าเรากำลังนั่งดูหนังของ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ อยู่!!

มองในอีกแง่หนึ่ง Melancholia เป็นเหมือนรูปธรรมของภาวะซึมเศร้าที่ ฟอน เทรียร์ กำลังเผชิญ (ดาวเคราะห์ที่กำลังจะพุ่งชนโลกมีชื่อว่า เมลันโคเลีย) เช่นเดียวกับตัวละครอย่าง จัสติน (เคียร์สเตน ดันส์) โดยขยายความให้สวยงาม เหนือจริง และอลังการแบบเดียวกับอุปรากร (หนังเปิดเรื่องพร้อมดนตรีโหมกระหน่ำจาก Tristan and Isode ของ ริชาร์ด แว๊กเนอร์ คีตกวีเอกแห่งยุคจินตนิยม) เพื่อบ่งบอกให้เห็นว่าภาวะดังกล่าวนั้นยิ่งใหญ่ ไม่อาจหลีกเลี่ยง และมีพลังทำลายล้างมหาศาลกระทั่งสามารถกลืนกินโลกทั้งใบได้เลยทีเดียว... นอกจากนี้ สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีอะไร “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” มากไปกว่าการตายโดยปราศจากความรู้สึกผิด เพราะทุกชีวิตบนโลกล้วนพบจุดจบไปพร้อมๆ กัน ไม่เหลือใครให้คุณต้องเป็นห่วง และไม่มีใครต้องเศร้าเสียใจ หรืออาลัยอาวรณ์กับการจากไปของคุณ

“ชีวิตบนโลกมันเลวร้าย อย่าเสียใจไปเลย ไม่มีใครคิดถึงมันหรอก” คำกล่าวของแคลร์สะท้อนความคิดผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน คำยืนกรานของเธอว่าชีวิตมีอยู่แค่บนโลกนี้เท่านั้น (และคงอีกไม่นาน) ก็ช่วยทำลายทุกเศษเสี้ยวแห่งความหวังอันริบหรี่ที่เหลืออยู่ในการหลบหนี หรือความฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า ณ สถานที่แห่งอื่นในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลลงอย่างราบคาบ จนอาจกล่าวได้ว่าฉากจบของ Melancholia หมดจด เสร็จสมบูรณ์ และเพอร์เฟ็กต์ที่สุดสำหรับฟอน เทรียร์ และจัสติน (1)

ถึงแม้จะเป็นภาพจำลองอันเด่นชัดของภาวะซึมเศร้า แต่อารมณ์โดยรวมของ Melancholia กลับห่างไกลจากคำว่าหดหู่ หรือสิ้นหวัง ทั้งจากอารมณ์ขันที่สอดแทรกอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะแบบตรงไปตรงมา เช่น กรณีนักวางแผนงานแต่ง (อูโด เคียร์) ที่ไม่อาจทนมองหน้าเจ้าสาวได้ หรือแบบซุกซ่อนเอาไว้ในรายละเอียด เช่น กรณีสนามกอล์ฟหลุมที่ 19 ซึ่งในวงการกอล์ฟหมายถึงคลับเฮาส์สำหรับดื่มเหล้าพักผ่อนหลังออกรอบครบ 18 หลุม แต่ในหนังกลับให้ความหมายที่ค่อนข้างมืดหม่น รวมเลยไปถึงความสวยงามแบบ “โรแมนติก” (หากจะระบุให้เจาะจงลงไป ฟอน เทรียร์ อ้างว่าเขาต้องการดำดิ่งสู่โลกแห่งจินตนิยมของเยอรมัน หรือ German Romanticism) ดังจะเห็นได้จากบทโหมโรงช่วงสิบนาทีแรกที่อัดแน่นด้วยดนตรีของแว๊กเนอร์และภาพซูเปอร์สโลว์โมชั่นของชุดเหตุการณ์ ทั้งที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในหนังโดยตรง เช่น ช็อตจัสตินเดินออกจากป่า ขณะหลานชายกำลังเหลากิ่งไม้ หรือช็อตแคลร์อุ้มลูกชายเดินข้ามสนามกอล์ฟ และโดยอ้อม เช่น ช็อตจัสตินปล่อยกระแสไฟฟ้าออกทางปลายนิ้ว ช็อตม้าค่อยๆ ล้มตัวลงบนทุ่งหญ้า หรือช็อตจัสตินในชุดเจ้าสาวถูกดึงรั้งโดยเถาวัลย์กลุ่มใหญ่ ขณะเธอพยายามก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างยากลำบาก

ทั้งหมดให้ความรู้สึกเหมือนภาพฝัน หรือจินตนาการที่สวยงามและหลอกหลอนในเวลาเดียวกัน การเคลื่อนไหวอันเชื่องช้า องค์ประกอบภาพที่ประณีต แสงสีละมุนตา ตลอดจนเทคนิคพิเศษด้านภาพอันแนบเนียนทำให้เกือบทุกช็อตดูคล้ายจิตรกรรมที่เคลื่อนไหวได้ โดยในบางกรณีนั่นถือเป็นความจงใจ เช่น ช็อตจัสตินในชุดเจ้าสาวล่องลอยไปตามลำธาร ซึ่งได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากภาพวาด โอฟีเลีย ของ จอห์น เอเวอเรทท์ มิเลส์ จิตกรชาวอังกฤษที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการจมน้ำตายของโอฟีเลียในบทละครเรื่อง Hamlet (2) อีกทอดหนึ่ง

ความงดงามชวนตะลึงของซีเควนซ์เปิดเรื่องคงอดไม่ได้ที่จะทำให้หลายคนนึกถึงผลงานยุคแรกของ ฟอน เทรียร์ ซึ่งเน้นขายสไตล์แบบไม่ปิดบังอำพรางอย่าง The Element of Crime (1984) และ Europa (1991) หรือกระทั่งช็อตคั่นกลางระหว่างบทใน Breaking the Waves (1996) ก่อนผู้กำกับจะหันหลังให้ Romanticism แล้วโผเข้าโอบกอดหลักการ “เหมือนจริง” ของ Dogme 95 (กล้องแบบแฮนด์เฮลด์ ถ่ายทำในโลเคชั่น งดใช้ดนตรีประกอบเพื่อเร้าอารมณ์ ห้ามจัดแสงเพิ่ม หรือใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพ ฯลฯ)

มองโดยภาพรวมแล้ว สไตล์ของ Melancholia ห่างไกลจาก Dogme 95 ค่อนข้างมาก ถึงขนาด ฟอน เทรียร์ ยังต้องออกมายอมรับเชิงขอโทษขอโพยต่องานสร้างที่ค่อนข้าง “ประณีต” ของหนัง (3) แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ยังคงโอบกอดเทคนิคกล้องแบบแฮนเฮลด์ไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นเคย ความย้อนแย้งอย่างกลมกลืนของสองบุคลิกดังกล่าวรองรับองค์ประกอบอื่นๆ ของหนัง ซึ่งถูกแบ่งแยกเป็นสองส่วนได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นดาวเคราะห์สองดวงที่กำลังเคลื่อนมาบรรจบเป็นหนึ่งเดียว หรือการแบ่งหนังเป็นสองบทตามชื่อตัวละครสองศรีพี่น้อง ที่มีลักษณะนิสัยแตกต่างกัน แต่ไม่ถึงกับเป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน

นอกจากนี้ หนังยังแบ่งตัวละครออกเป็นคู่ๆ ที่แตกต่างอีกด้วย ตั้งแต่สามีที่อ่อนหวานของจัสติน (อเล็กซานเดอร์ สการ์สการ์ด) กับสามีจอมวางอำนาจของแคลร์ (คีเฟอร์ ซุทเธอร์แลนด์) คุณพ่อที่อ่อนแอ รักสนุก (จอห์น เฮิร์ท) กับคุณแม่ที่ขมขื่น คุกคาม (ชาร์ล็อตต์ แรมปลิง) เจ้านายจอมละโมบของจัสติน (สเตลแลน สการ์สการ์ด) กับหลานชายหัวอ่อนของเขา (แบรดี้ คอร์เบ็ท) ไปจนถึงสองเบ็ตตี้ที่นั่งขนาบพ่อของจัสตินในงานเลี้ยง

ครึ่งแรกหนังมุ่งเน้นไปยังความล้มเหลวของจัสตินในอันที่จะดำเนินชีวิตอยู่บนโลกอันปกติสุข แรงกดดันจากรอบข้าง ซึ่งต้องการให้เธอมี “ความสุข” ทำให้จัสตินพยายามเฮือกสุดท้ายด้วยการแต่งงานกับไมเคิล เธอพยายามฝืนยิ้ม เดินตามครรลองที่ถูกขีดเส้นไว้แล้วว่านี่คือชีวิตที่ปกติสุข (แต่งงาน สร้างครอบครัว) แต่ก็เช่นเดียวกับกำหนดการอันยาวเหยียดแบบเป็นขั้นเป็นตอนของงานเลี้ยง (ดื่มฉลอง เต้นรำ ตัดเค้ก ลอยโคม ฯลฯ) จัสตินประสบปัญหาในการเดินตามธรรมเนียมและพิธีกรรมอันพึงปฏิบัติทั้งหลายแหล่ แล้วมองเห็นเพียงความว่างเปล่า ไร้แก่นสารดุจดังเกมทายถั่วในขวดโหล ซึ่งผู้จัดงานเตรียมไว้ต้อนรับแขกเหรื่อ

ด้วยเหตุนี้ เธอจึงค่อยๆ ถอยห่างออกจากทุกคน จนสุดท้ายงานเลี้ยงแต่งงานก็ลงเอยด้วยหายนะ ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เนื่องจากหนังได้เปรียบเปรยให้เห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่าความพยายามที่จะเป็น “ปกติ” ของจัสตินนั้นก็ไม่ต่างจากความพยายามที่จะบังคับรถลีมูซีนให้ผ่านทางโค้งอันคดเคี้ยวและคับแคบ

หายนะอีกประเภทที่ชัดเจน และรุนแรงกว่าเป็นล้านเท่าได้ปิดฉากครึ่งหลังของหนัง ซึ่งมุ่งเน้นไปยังความล้มเหลวของแคลร์ในอันที่จะดำเนินชีวิตอยู่บนโลกที่ใกล้พังทลาย ความแตกต่างระหว่างสองสาวพี่น้องอยู่ตรงที่ แคลร์ลงหลักปักฐานตามครรลองได้อย่างสนิทใจ เธอพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ จึงรู้สึกตื่นตระหนก หดหู่ และพยายามดิ้นรนต่อสู้สุดชีวิต เมื่อเห็นเค้าลางว่าจะต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ขณะจัสตินไม่เคยพอใจกับเส้นทางที่ถูกขีดไว้แล้ว จึงถ่มน้ำลายใส่พิธีกรรม ซึ่งแคลร์เห็นว่า “nice” และไม่เคยตั้งคำถามกับมัน เช่น เมื่อเธอแสดงความเห็นต่อข้อเสนอของแคลร์ให้ “ครอบครัว” ไปนั่งจิบไวน์ฟังเพลงด้วยกันบนระเบียงก่อนโลกถึงกาลดับสูญ

ในเมื่อไม่มีอะไรจะเสีย จัสตินจึงนิ่งและใจเย็นได้อย่างน่าทึ่งท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้าย ความจริง เธอถึงขั้นปรารถนาให้เมลันโคเลียพุ่งตรงมากลืนกินเธอด้วยซ้ำ (การล่มสลายของโลก คือ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง ที่เธอร้องขอ) สะท้อนออกมาในเชิงสัญญะผ่านฉากฟุ้งอารมณ์โรแมนติก เมื่อจัสตินเดินเข้าป่ากลางดึกไปนอนเปลือยกายอาบแสงดาวอยู่บนตลิ่ง ซึ่งฟอน เทรียร์ให้สัมภาษณ์ว่าเชื่อมโยงถึงตำนานความเชื่อโบราณเกี่ยวกับหมาป่าหอนใส่พระจันทร์ (4)

เนื่องจากจินตนิยมมักเน้นอารมณ์ ความรู้สึกจากภายในเหนือเหตุผล ตลอดจนเป็นลัทธิที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อปะทะทางความคิดกับยุคเรืองปัญญา ซึ่งใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายธรรมชาติ จนนำไปสู่การปฏิวัติและระบบทุนนิยม ตัวละครอย่าง จอห์น จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่วงดุล Romanticism แบบเดียวกับกล้องแฮนด์เฮลด์ต่อซีเควนซ์เปิดเรื่องและฉากกึ่งฝันข้างต้น เขาเป็นชายที่เชื่อมั่นในฟิสิกส์ รวมทั้งหลักเหตุผล และจากการคำนวณของเขา เมลันโคเลียจะไม่พุ่งชนโลก หากแต่ลอยผ่านไป ตรงกันข้าม เมื่อแคลร์ถามจัสตินว่าเธอรู้ได้อย่างไรว่าชีวิตดำรงอยู่แค่บนโลกใบนี้เท่านั้น “ฉันล่วงรู้สิ่งต่างๆ” คือ คำตอบของหญิงสาว... เหมือนที่เธอล่วงรู้อย่างแม่นยำว่าถั่วในขวดโหลมีจำนวนกี่เม็ด

แม้จะก่อสร้างขึ้นจากสองส่วนที่แตกต่าง แยกขาดจากกัน แต่หนังได้หลอมรวมสองตัวละครหลักเข้าไว้ด้วยกันในฉากสุดท้าย เมื่อจัสตินเปิดแขนรับพิธีกรรมเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนแคลร์ก็หยุดดิ้นรนที่จะหลบหนีชะตากรรมอันไม่อาจหลีกเลี่ยง ถ้าครึ่งแรกของหนังเป็นการบอกกล่าวว่าตลอดช่วงเวลาแห่งชีวิตนั้น มนุษย์จำเป็นต้องเผชิญความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานไม่สิ้นสุด ครึ่งหลังของหนังก็เป็นการแสดงให้เห็นจุดจบที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจหลบหนี นั่นคือ ความตาย... บางทีทางออกเดียวจากสนามกอล์ฟหลุมที่ 19 หรือนรกบนดินอาจซุกซ่อนอยู่ในคำพูดของแก๊บบี้ นั่นคือ “จงสนุกไปกับเวลาที่เหลืออยู่” และตรงนี้กระมังที่ ฟอน เทรียร์ หมายถึง การมองโลกในแง่ดี

นั่นส่งผลให้ Melancholia เหมาะจะนำมาฉายควบกับ The Tree of Life เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเรื่องหนึ่งอาจแสดงให้เห็นการสร้างโลกทั้งใบ ขณะอีกเรื่องกลับแสดงให้เห็นการทำลายโลกทั้งใบ แต่สุดท้ายพวกมันก็หลอมรวมเป็นหนึ่งจากจุดมุ่งหมายที่ใกล้เคียงกันอย่างคาดไม่ถึง

อาจกล่าวได้ว่า Melancholia เป็นเหมือนภาพยนตร์บำบัดจิตสำหรับฟอน เทรียร์ ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าแทนการปฏิเสธ ขัดขืนภาวะซึมเศร้า ความกลวงโบ๋ในจิตใจ ความว่างเปล่ารอบข้าง แล้วพยายามดิ้นรนเพื่อเป็น “ปกติ” เขาควรอ้าแขนต้อนรับมันอย่างเต็มใจ แล้วดำเนินชีวิตต่อไป เพราะมนุษย์เป็นเพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาล ไร้เรี่ยวแรงที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งธรรมชาติ และวันหนึ่ง ณ ปลายสุดของอุโมงค์ จุดเล็กๆ นั้นก็จะถูกลบออกไปตลอดกาล...

หมายเหตุ


1. “ผมคิดว่าจัสตินก็เหมือนผม เธอเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นจากบุคลิก ทัศนคติ และประสบการณ์ของผมเกี่ยวกับการพยากรณ์วันสิ้นโลกและภาวะซึมเศร้า ขณะที่แคลร์จะเป็นตัวแทนของ... คนปกติ” ลาร์ส ฟอน เทรียร์ กล่าว

2. การเชื่อมโยงจัสตินกับโอฟีเลียถือเป็นรายละเอียดที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งสองมีอาการป่วยทางจิตเหมือนกัน และฉากหลังของ Hamlet อยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ฟอน เทรียร์ กล่าวคือ ทั้งสองเป็นตัวละครที่ต้องเผชิญความขัดแย้งจากแรงกดดันภายนอกและความปรารถนาภายใน คนหลังจบชีวิตอย่างน่าเศร้าด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” (เนื่องจากในบทละครการตายของโอฟีเลียถูกเล่าผ่านปากคำของราชินีเกอร์ทรูด จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเธอฆ่าตัวตาย หรือแค่บังเอิญตกลงไปในแม่น้ำ และสติที่ไม่ค่อยสมประกอบทำให้เธอไม่ทันตระหนักว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในอันตราย) ส่วนคนแรกดูเหมือนจะจบชีวิตได้ “แฮปปี้” กว่า

3. “ผมชอบการปะทะกันระหว่างความโรแมนติก อลังการ เปี่ยมไปด้วยสไตล์กับรูปแบบของความสมจริง หนังส่วนใหญ่ยังคงถ่ายทำโดยใช้กล้องแบบแฮนด์เฮลด์ แต่ฉากหลังเป็นปราสาทสุดหรูในสวีเดน ยิ่งพอคุณใส่เหล่าตัวละครในชุดทักซิโดเข้าไป มันก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ดูสวยงาม... ใน Antichrist ผมรู้สึกว่าหนังไม่ได้ถูกขัดเกลาให้หมดจด ตรงข้ามกับ Melancholia เพราะตลอดเวลาที่ถ่ายทำ ผมอยากให้มันออกมาสมบูรณ์ งดงามไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมหวังว่าคนดูจะพบเห็นบางอย่างภายใต้ภาพลักษณ์อันสวยงามนั้น มันอาจเป็นเรื่องยากอยู่สักหน่อยเมื่อเทียบกับ Antichrist เนื่องจากเปลือกนอกที่สวยงามหมดจดของมัน” ฟอน เทรียร์ กล่าว

4. ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุนัขและหลักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปว่าหมาป่ากับพระจันทร์ปราศจากความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อกัน สาเหตุที่พวกมันนิยมเห่าหอน (รูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร) ในตอนกลางคืนก็เพราะพวกมันเป็นสัตว์ที่ออกล่าเหยื่อในยามค่ำคืน ส่วนการชูคอสูงเหมือนหอนใส่พระจันทร์นั้น ก็เพียงเพื่อให้เสียงของมันดังสะท้อนไปไกลยิ่งขึ้น

1 ความคิดเห็น:

mattaya likitmarn กล่าวว่า...

เพิ่งดูจบค่ะชอบมาก บทวิจารณ์นี้น่าสนใจและให้ความรู้มาก ส่วนตัวเองชอบเพราะรู้สึกได้ถึงความเศร้าในจิตใจของจัสติน