วันเสาร์, ธันวาคม 10, 2554

Drive : โฉมงามกับเจ้าชายอสูร


ถ้าจะมีฉากหนึ่งฉากใดใน Drive ที่สามารถนิยามเอกลักษณ์ของหนังเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุด มันคงเป็นฉากที่ ไดรฟเวอร์ (ไรอัน กอสลิง) บรรจงจูบ ไอรีน (แครี มัลลิแกน) สาวเสิร์ฟข้างห้องที่เขาหลงรัก อย่างดื่มด่ำในลิฟท์ ท่ามกลางแสงที่ค่อยๆ มืดสลัวลง คลอด้วยเสียงดนตรีประกอบอ่อนนุ่ม ส่วนจังหวะเคลื่อนไหวของพวกเขาก็อ้อยอิ่ง เชื่องช้า ขับเน้นอารมณ์โรแมนติกแบบไม่ปิดบัง... แต่แล้วแค่ไม่กี่วินาทีต่อมา ชายหนุ่มกลับหันไปซ้อมลูกสมุนมาเฟียในลิฟท์ แล้วกระทืบหัวเขาจนแหลกเหลวเป็นมะเขือเทศบด

ฉากดังกล่าวให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังนั่งดู In the Mood for Love อย่างเพลิดเพลินอยู่ดีๆ จู่ๆ ไอ้คนฉายหนังกลับหยิบฟิล์มม้วนแรกของ Irreversible มาใส่แทนซะงั้น!?

อาการช็อกหาได้เกิดจากความรุนแรงของภาพ เพราะในฉากก่อนหน้าเราได้เห็นตัวละครบางคนประสบชะตากรรมอนาถคล้ายคลึงกันมาแล้ว บ้างก็โดนยิงหัวระเบิด บ้างก็โดนค้อนทุบมือ แต่สาเหตุหลักน่าจะเป็นผลจากการที่หนังเผยให้เห็นอีกด้านของตัวละคร ซึ่งคนดูไม่ทันตั้งตัว หรือคาดคิดมาก่อนเสีย กล่าวคือ ไม่เพียงไอรีนเท่านั้นที่ตื่นตระหนกจากการได้เห็นอัศวินรูปหล่อ สุดแสนอ่อนโยน กลายร่างเป็นอสูรร้ายต่อหน้าต่อตา แต่คนดูเองก็รู้สึกไม่แตกต่างเท่าไหร่ เมื่อพวกเขาค้นพบว่า “ฮีโร่” คนนี้หาได้หยุดอยู่แค่การปกป้องคนรักจากภยันตราย เพราะแต่ละวิธีที่เขาเลือกนั้นจะต้องยิ่งใหญ่ อลังการ และเหนือจริงแบบเดียวกับในหนังอีกด้วย

นั่นดูเหมือนจะช่วยอธิบายว่าทำไมไดรฟเวอร์ถึงตัดสินใจสวมหน้ากากแบบเดียวกับตอนเข้าฉากสตันท์ในกองถ่าย ระหว่างการเดินทางไปชำระแค้น นีโน (รอน เพิร์ลแมน)

ณ จุดนั้นมันหาใช่การปลอมตัว เนื่องจากนีโนรู้แล้วว่าเขาเป็นใคร ขณะเดียวกัน หน้ากากดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยให้เขา “กลมกลืน” (ออกจะยิ่งโดดเด่นเสียด้วยซ้ำ) แบบเดียวกับรถ เชฟวี อิมพาลา ซึ่งใช้สำหรับขับพาโจรหลบหนีรถตำรวจในช่วงต้นเรื่อง ตรงกันข้าม หน้ากากเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนความพยายามที่จะสร้างตัวตนขึ้นใหม่ ตัวตนของผู้พิทักษ์ ในลักษณะเดียวกับซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย (หรือการโกนหัวทำผมทรงโมฮอว์คของ เทรวิส บิคเคิล ใน Taxi Driver) มันช่วยให้เขาสัมผัสถึงพลังบางอย่าง

“ผมคิดว่าเขาเป็นตัวละครที่ชอบดูหนังมากเกินไป” กอสลิงอธิบายบทบาทของตนใน Drive “เขาสับสนชีวิตจริงกับภาพยนตร์ แล้วพยายามสวมคราบเป็นฮีโร่ในหนังของตนเอง เขาเหมือนตัวละครที่เดินหลงทางอยู่ในดินแดนแห่งตำนานที่สร้างขึ้นโดยฮอลลีวู้ด”

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะนึกเปรียบเทียบตัวละครอย่างไดรฟเวอร์กับคาวบอยนิรนาม ซึ่งรับบทโดย คลินท์ อีตส์วู้ด ในไตรภาค spaghetti western ของ เซอร์จิโอ เลโอเน อันประกอบไปด้วย A Fistfull of Dollars (1963) For a Few Dollars More (1965) และ The Good, the Bad and the Ugly (1966) ไม่ว่าจะเป็นในแง่ตัวตนที่ปราศจากชื่อ รูปร่างที่ค่อนข้างสะโอดสะองแต่แข็งแกร่ง บุคลิกพูดน้อยต่อยหนัก มาตรฐานทางศีลธรรมที่ก้ำกึ่ง เครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ (แจ๊คเก็ตลายแมงป่อง/ผ้าคลุมไหล่) หรือของฮิตติดปาก (ไม้จิ้มฟัน/บุหรี่มวนเล็ก) ส่วนพล็อตเรื่องก็อาจทำให้หลายคนนึกถึงหนังคาวบอยคลาสสิกอย่าง Shane (1953) เกี่ยวกับชายแปลกหน้า ผู้เคยอาศัยอยู่ในโลกมืดและมีประวัติความรุนแรงมาก่อน (มือปืน/นักขับรถให้อาชญากร) ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือครอบครัว “คนธรรมดา” (สแตนดาร์ด) ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของกลุ่มอันธพาล ก่อนสุดท้ายจะขี่ม้า/ขับรถจากไปแบบไม่หวนคืนพร้อมบาดแผลสาหัส (หนังทั้งสองเรื่องไม่ได้สรุปชัดเจนว่าพวกเขาจะรอดชีวิตหรือไม่)

ขณะเดียวกัน ผู้กำกับ นิโคลัส วินดิง แรฟฟิน ยังจงใจอ้างอิงหนังฮอลลีวู้ดในอดีต (โดยเฉพาะยุค 1980) อีกหลายเรื่องผ่านหลากหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่บรรยากาศแบบเรโทรของแอลเอ. การใส่แบ็คกราวด์ให้ เบอร์นี โรส (อัลเบิร์ต บรูคส์) เคยเป็นโปรดิวเซอร์หนังยุค 1980 การออกแบบตัวหนังสือที่หยิบยืมมาจากหนังเรื่อง Risky Business (1983) ไปจนถึงดนตรีเทคโนป็อปย้อนยุคกรุ่นกลิ่นอาย Thief (1981) หนังเรื่องแรกของ ไมเคิล มานน์ จนอาจกล่าวได้ว่า Drive เป็นเหมือนหนังซ้อนหนัง ดำเนินเหตุการณ์อยู่ในโลกแห่งภาพยนตร์ที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ความรุนแรงแบบเลือดสาดที่ปรากฏบนจออาจให้อารมณ์ขึงขัง จริงจัง แต่ก็ทะลักกรอบจนดูเป็นการ์ตูนไปพร้อมๆ กัน ตัวละครถูกปลดเปลื้องจากความซับซ้อนทางอารมณ์ รวมถึงคำอธิบายประวัติความเป็นมา (ในนิยายรวมถึงบทภาพยนตร์มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับอดีตของไดรฟเวอร์มากกว่านี้ แต่โดนผู้กำกับตัดทิ้งออกทั้งหมด) แล้วถูกนำเสนอในลักษณะแม่แบบที่เรียบง่ายคล้ายเรื่องราวในนิทาน หรือตำนาน

ความรักที่ไดรฟเวอร์มีต่อไอรีนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นไอเดียบริสุทธิ์ ปราศจากนัยยะทางเพศอย่างสิ้นเชิง เป็นภาพแอ๊บสแตร็กมากเกินกว่าจะดึงดูดคนดูให้เข้าถึงอารมณ์ละเอียดอ่อนอย่างลึกซึ้ง เราลุ้นเอาใจช่วยพระเอกเพราะเขาเป็นเสมือนตัวแทนของความดีงาม อ่อนโยน (ผู้หญิงคนไหนจะไม่ใจอ่อน เมื่อเห็นเขาอุ้มเด็กชายที่กำลังหลับปุ๋ยไปนอนบนเตียง) ส่วนไอรีนกับลูกก็เป็นเสมือนตัวแทนของความอ่อนแอ บอบบาง แบบเดียวกับที่เราลุ้นเอาใจช่วยให้เจ้าชายเอาชนะมังกรแล้วเข้าไปช่วยเจ้าหญิงในปราสาทได้สำเร็จ บทบาทของตัวละครดูเหมือนจะถูกวางเอาไว้อย่างชัดเจน ตายตัว แทบจะเป็นขาวกับดำ ไม่มีความพยายามจะเข้าไปสำรวจอารมณ์ในเบื้องลึก ความขัดแย้ง ความหึงหวง หรือความสับสนใดๆ ในลักษณะของรักสามเส้า

หลายคนอาจคิดว่าพล็อตของ Drive เป็นการผลิตซ้ำที่น่าเบื่อหน่าย แต่จุดน่าสนใจอยู่ตรงที่แรฟฟินตระหนักดีในประเด็นดังกล่าว และเป้าหมายของเขาก็หาใช่การดึงดูดให้คนดู “เชื่อ” ตรงกันข้าม เขากลับตั้งใจนำเสนอเพื่อจะวิเคราะห์ สำรวจ และตั้งคำถามต่อการผลิตซ้ำเหล่านั้นต่างหาก

จะเห็นได้ว่า Drive เล่นสนุกกับการหักล้างความเชื่อ ความคุ้นเคยดั้งเดิม ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์ภายนอกกับตัวตนภายใน เริ่มตั้งแต่การเลือกนักแสดงอย่าง ไรอัน กอสลิง ที่โด่งดังจากบทหนุ่มชวนฝันใน The Notebook และหนุ่มอ่อนหวาน ขี้อายใน Lars and the Real Girl มารับบทหนุ่มนักบู๊สุดขรึม (แน่นอน ใครที่เคยตามดูผลงานยุคแรกๆ ของเขามาก่อนย่อมตระหนักว่าชายหนุ่มถนัดบท “โหด” ไม่แพ้กันจากหนังอย่าง Murder by Numbers และ The Believer) หรือการเลือกดาวตลกอย่าง อัลเบิร์ต บรูคส์ มาสวมวิญญาณมาเฟียจอมโหด สุดท้าย เมื่อไดรฟเวอร์ลุกขึ้นมากระทืบคนจนหัวแบะ แล้วตาลุงท่าทางไม่มีพิษสงอย่างเบอร์นีหยิบส้อมขึ้นมาทิ่มลูกตาเหยื่อแบบไม่อินังขังขอบ อาการช็อกย่อมมีสาเหตุมากกว่าแค่ภาพความรุนแรงที่ปรากฏ

ในฉากเปิดเรื่อง ไดรฟเวอร์ซิ่งรถช่วยเหลือโจรสองคนให้หนีพ้นเงื้อมมือตำรวจ แต่พอฉากต่อมาเรากลับเห็นเขาทำงานเป็นสตันท์ในกองถ่าย สวมหน้ากาก และใส่เครื่องแบบตำรวจ ในฉากที่ไดรฟเวอร์กำลังนั่งดูการ์ตูนอยู่กับเบนิชิโอ (คาเดน ลีออส) เขาตั้งคำถามเด็กน้อยว่ารู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนร้าย คำตอบนั้นเรียบง่าย นั่นคือ ฉลามย่อมเป็นตัวร้าย เพราะรูปลักษณ์ภายนอกของมันไม่เหมาะจะสวมบทเป็นพระเอกนั่นเอง

มองเผินๆ ไดรฟเวอร์ก็ไม่ต่างจากฉลามเท่าไหร่ รูปลักษณ์ภายนอก ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ ล้วนบ่งชี้ชัดเจนว่าเขาเป็นพระเอก แต่แทนที่แรฟฟินจะปล่อยให้ไดรฟเวอร์ได้กลายสภาพเป็นฮีโร่อย่างแท้จริงเหมือนมือปืนใน Shane เขากลับเห็นความจำเป็นที่จะต้องใส่ฉากกระทืบหัวเข้ามา ซึ่งสร้างผลกระทบในระดับเดียวกับช็อตศพโจรใบหน้าเหวอะหวะใน A History of Violence และเลือดที่สาดกระหน่ำในฉากไคล์แม็กซ์ของ Taxi Driver ผลลัพธ์ของฉากดังกล่าวส่งผลให้คนดูตั้งคำถามต่อสถานภาพ “ฮีโร่” ของตัวละคร สภาพจิตใจที่ปราศจากสมดุล สันดานดิบที่ไม่อาจควบคุม รวมเลยไปถึงปฏิกิริยาต่อความรุนแรงบนจอภาพยนตร์

เพลง A Real Hero ของวง College ถูกนำมาเปิดซ้ำสองครั้งในฉากที่ไดรฟเวอร์พาไอรีนกับลูกไปนั่งรถเล่น กับฉากสุดท้ายที่ไดรฟเวอร์ขับรถจากไปหลังสะสางปัญหากับเบอร์นีเสร็จสิ้น ก่อนภาพจะตัดไปยังไอรีนเดินมาเคาะประตูห้องของเขา แต่ไม่พบเสียงตอบรับใดๆ น่าสนใจว่าเนื้อเพลงร้องย้ำไปมาระหว่างความเป็น “ฮีโร่ที่แท้จริง” กับ “มนุษย์ที่แท้จริง” ซึ่งย้อนแย้งกันอยู่ในที กล่าวคือ การยืนกรานของไดรฟเวอร์ที่จะสวมบทบาทแรก ทำให้เขากลับค่อยๆ ล้มเหลวในบทบาทหลัง เพราะสุดท้ายแล้ว ไอรีนก็แค่ต้องการ “มนุษย์ธรรมดา” สักคนที่จะคอยขับรถพาเธอกับลูกไปพักผ่อนริมลำธาร ไม่ใช่ “ฮีโร่” ที่ลงมือฆ่าเหล่าร้ายอย่างเลือดเย็น

ไม่น่าแปลกใจที่ผู้กำกับแรฟฟินเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้จากนิทานของสองพี่น้องกริมม์ ทั้งนี้เพราะจุดเด่นของ Drive อยู่ตรงการผสมผสานอารมณ์โรแมนติกชวนฝันกับความดุดัน แข็งกร้าวให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืน เสมือนการพาคนดูย้อนกลับไปสู่จุดกำเนิดของนิทานอันเลื่องชื่อทั้งหลาย ก่อน วอลท์ ดิสนีย์ จะพาสเจอร์ไรซ์มันให้กลายเป็นขนมหวานสำหรับทุกคนในครอบครัว เรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยด้านมืดและความรุนแรง เมื่อกบกลายสภาพเป็นเจ้าชายจากการถูกขว้างไปกระแทกกำแพง (The Frog King) เมื่อแม่เลี้ยงใจร้ายถูกบังคับให้ต้องเต้นรำด้วยรองเท้าเหล็กร้อนจนเสียชีวิต (Snow White) ในแง่หนึ่ง ความรุนแรงในนิทานของกริมม์เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยที่ เต็มไปด้วยความยากแค้น โหดร้ายทารุณ เด็กๆ ถูกทอดทิ้งให้เผชิญชะตากรรมตามลำพัง ผู้หญิงถูกจับเผาด้วยข้อหาเป็นแม่มด โดยความเลวร้ายทั้งหลายในนิทานเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในป่าไม้ ส่วนหนึ่งเพื่อขู่ขวัญให้เด็กๆ หวาดกลัว และไม่ย่างกรายเข้าใกล้ป่า เพราะมันเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย โจร และอันตราย

เกือบสองร้อยปีผ่านไป ป่าไม้ได้กลายสภาพเป็นป่าคอนกรีต เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารสูงระฟ้า ปริศนาดำมืดหลากหลายถูกอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ความน่าสะพรึงไม่อาจจับต้องเป็นรูปธรรมได้อีกต่อไป “ป่าไม้” ในนิทานของกริมม์แห่งศตวรรษใหม่จึงถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างสัญชาตญาณและจิตใต้สำนึก ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเทียบไดรฟเวอร์เหมือนแมงป่อง ที่ไม่อาจต้านทาน “ธรรมชาติ” ของตัวเองได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วมันจะทำให้เขาต้องจบชีวิตอย่างน่าอนาถ หรือลงเอยด้วยความแปลกแยกไม่สิ้นสุดก็ตาม

อันตรายดังกล่าวชวนสะพรึงยิ่งกว่า เพราะนอกจากไม่อาจจับต้องมองเห็นได้แล้ว มันยังฝังลึกอยู่ในมนุษย์ทุกคน และกำลังเฝ้ารอวันที่จะประทุขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น: