วันจันทร์, มกราคม 17, 2554

หนังแห่งความประทับใจ


The Ghost Writer: ทักษะในการเล่าเรื่องและสร้างบรรยากาศแห่งความชั่วร้าย ไม่ชอบมาพากลของ โรมัน โปลันสกี้ หาได้เจือจางไปตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับทัศนคติอันมืดหม่นว่ามนุษย์เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ไร้พลังที่จะงัดข้อกับความฟอนเฟะ คอร์รัปชั่นของสังคม หรือองค์กรอำนาจขนาดใหญ่ และคงด้วยเหตุนี้กระมัง สงครามโลกครั้งที่สองของโปลันสกี้จึงถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของนักเปียโนเชื้อสายยิวที่ต้องกัดฟันดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แต่ไม่อาจช่วยเหลือใครในครอบครัวได้ (The Pianist) แทนที่จะเป็นนักธุรกิจผู้เสี่ยงชีวิตลักลอบขนย้ายชาวยิวออกจากค่ายกักกัน (Schindler’s List) หรือนักศึกษาชาวเยอรมันผู้ยอมสละชีพเพื่อแลกกับอุดมการณ์แห่งความถูกต้อง (Sophie Scholl)... สำหรับโปลันสกี้ โลกทั้งใบก็ไม่ต่างจากไชนาทาวน์!

The Hurt Locker: แม้จะไม่ได้แสดงท่าทีโดยตรงในการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทอันน่ากังขาของสหรัฐในตะวันออกกลาง แต่หนังก็สะท้อนเป็นนัยยะผ่านสถานการณ์ “ข้าศึกรอบด้าน” และ “ศัตรูที่มองไม่เห็น” (สงครามต่อต้านการก่อการร้ายก็ไม่ต่างจากการยิงปืนในความมืด) ขณะเดียวกัน ความพยายามจะเล่นบทวีรบุรุษโดยไม่มีใครร้องขอของอเมริกายังปรากฏให้เห็นผ่านปมปัญหาของตัวละครเอกที่มุ่งมั่นจะแก้แค้นให้กับเด็กชายคนหนึ่ง (ซึ่งสุดท้ายปรากฏว่าเป็นแค่ภาพลวงตา)... แน่นอน เหยื่อแห่งสงครามในสายตาของ แคทธีน บิกเกโลว์ หาใช่เพียงคนที่ต้องสิ้นลมหายใจจากกระสุนและระเบิดเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงคนที่กำลังจะสูญสิ้นจิตวิญญาณจากการเสพติดความรุนแรงและอะดรินาลินอีกด้วย

A Serious Man: ชีวิตไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ และทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุและผลเสมอไป การดิ้นรนค้นหาคำตอบอย่างจริงจังจึงรังแต่จะนำไปสู่ทางตัน ตลอดจนความว้าวุ่นใจไม่สิ้นสุด ตรงข้ามกับการก้มหน้ายอมรับและก้าวเดินต่อไปอย่างกล้าหาญ ข้อคิดดังกล่าวถูกนำเสนอในสไตล์ทีเล่นทีจริงตามสูตรของสองพี่น้องโคน (กล่าวคือ หลายครั้งคนดูไม่รู้ว่าควรจะหัวเราะหรือขนหัวลุกดี) ผ่านนิทานประหลาดที่ปะหัวหนัง เรื่องสุดพิสดารเกี่ยวกับหมอฟัน และชะตากรรมแสนรันทดของ แลร์รี ก็อบนิค ที่สำคัญ พวกเขายังบอกใบ้อีกด้วยว่าศาสนาก็มืดบอดต่อปริศนาแห่งชีวิตไม่แพ้กัน จนต้องหันไปพึ่งพาเพลงป็อปให้ช่วยชี้ทางสว่าง!?!

The Social Network: ชีวิตของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นภาพสะท้อนของสังคมยุคใหม่ได้อย่างแนบเนียน เมื่อแต่ละคนวิ่งแข่งกันเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย เพื่อแยกตัวเองให้โดดเด่นจากคนอื่นๆ เมื่อเงินล้านไม่ใช่เรื่องน่าทึ่งอีกต่อไป (ต้องเป็นพันล้านต่างหาก) เมื่อปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์จำกัดอยู่ในห้องมืดๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงลำพัง แล้วแสวงหาการยอมรับจากกลุ่มคนแปลกหน้าในโลกเสมือน หนังจบลงอย่างมีความหวังตรงที่ (ตัวละคร) มาร์คตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต ราคาที่เขายอมจ่ายเพื่อให้กลายเป็นเศรษฐีพันล้านอายุน้อยที่สุด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเงินเข้ามาแทนที่พระเจ้าและใช้ซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ บางทีมาร์ค (ตัวจริง) คงไม่แคร์เท่าไหร่นัก

Toy Story 3: ท่ามกลางมุกตลกล้อเลียนและอารมณ์ขันคมคายซึ่งอาจจะมากกว่าสองภาคแรกด้วยซ้ำ (ฉาก “แหกค่ายมฤตยู” ถือเป็นไฮไลท์ที่เรียกเสียงฮาได้มากพอๆ กับอารมณ์ลุ้นระทึก) หนังสอดแทรกประเด็นจริงจังเอาไว้อย่างกลมกลืนเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ตั้งแต่สังขารที่ย่อมแตกหัก เก่าแก่ และผุพังไปตามกาลเวลา จนถึงความสัมพันธ์ที่วันหนึ่งย่อมผันแปรและไม่อาจยั่งยืนไปตลอดชั่วฟ้าดินสลาย แม้กระทั่งความสัมพันธ์อันลึกซึ้งยาวนานอย่างความผูกพันระหว่างแอนดี้กับเหล่าของเล่นตัวโปรด ฉะนั้นทางรอดเดียว หากเราต้องการใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยไม่รู้สึกขมขื่นจากการยึดติดกับอดีตที่หวานชื่นแบบเดียวกับเจ้าหมีสตรอเบอร์รี่ คือจงทำใจยอมรับและยืดหยุ่นไปตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นักแสดงชาย

ลีโอนาโด ดิคาปริโอ (Shutter Island): เล่นดีตามมาตรฐานที่นับวันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เจสซี ไอเซนเบิร์ก (The Social Network): ถ่ายทอดบทพูดรัวเป็นไฟของ แอรอน ซอร์กินส์ ได้ลื่นไหลและทรงพลังในหลายฉาก เช่นเดียวกับการถ่ายทอดบุคลิกยโส หยิ่งทะนงพร้อมๆ กับด้าน “ไอ้ขี้แพ้” ของตัวละครผ่านการแสดงอันลุ่มลึกในสไตล์เล่นน้อยแต่ได้มาก

แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (The Social Network): ในฉากไคล์แม็กซ์ เมื่อเอดัวร์โดค้นพบว่าเพื่อนรัก (หักเหลี่ยมโหด) พยายามจะเขี่ยเขาออกจากบริษัทที่ทั้งสองช่วยกันก่อตั้งขึ้นมากับมือ นักแสดงหนุ่มคนนี้ก็ระเบิดอารมณ์แบบไม่ยั้ง เริ่มจากอาการช็อก สับสน ไปจนถึงโกรธแค้น และท้ายที่สุด (เมื่อเขาพูดกับเพื่อนรักว่า “นายหลอกฉัน มันเหมือนกับฉันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเฟซบุ๊ก”) หัวใจสลาย...

จอร์จ คลูนีย์ (The American): ปลดเสน่ห์ตามสไตล์หนุ่มหล่อเจ้าคารมแบบที่เราคุ้นเคยออกจนหมด แล้วเติมเสน่ห์แห่งความลึกลับ เก็บกดเข้ามาแทน โดยไม่ลืมที่จะเปิดโอกาสให้คนดูสัมผัสถึงด้านที่อ่อนแอ เปราะบางภายในของตัวละคร

มิเนียน (Despicable Me): น่ารักน่าชัง ว่านอนสอนง่าย แถมยังสารพัดประโยชน์

นักแสดงหญิง

โคลอี้ มอเร็ทซ์ (Kick-Ass): เธอผสมความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ กับความแข็งแกร่ง โหดเหี้ยมแบบนักฆ่ามืออาชีพได้อย่างลงตัว

นูมิ ราเฟซ (The Girl with the Dragon Tattoo): มองแวบแรกดูเหมือนเด็กสาวโรคจิต แต่พอหนังดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ราเฟซก็ค่อยๆ ปอกเปลือกตัวละครให้เห็นด้านที่เจ็บปวด คับแค้น และความอ่อนโยนภายใต้เปลือกนอกที่แข็งกระด้าง เห็นแล้วก็หนักใจแทน รูนีย์ มารา ในเวอร์ชั่นรีเมคของ เดวิด ฟินเชอร์

โอลิเวียร์ วิลเลียมส์ (The Ghost Writer): ดูเหมือนเมียอมทุกข์ที่ฉลาด แต่สิ้นหวังขนาดทนยอมเห็นสามีคบชู้แบบไม่ปิดบัง กระนั้นแววตาของวิลเลียมส์ส่อให้เห็นว่ามีบางอย่างซ่อนลึกอยู่กว่านั้น สอดคล้องไปกับบรรยากาศโดยรวมของหนังอย่างเหมาะเจาะ

เวรา ฟาร์มิกา (Up in the Air): เซ็กซี่ มั่นใจ และเป็นผู้หญิงแบบที่คุณพบเห็นไม่บ่อยนักในหนังตลก-โรแมนติก ภายนอกอาจดูอ่อนหวาน แต่ภายในกลับแกร่งและโหดกว่าที่คิด เธอไม่ได้ล้อเล่นตอนบอกกับ จอร์จ คลูนีย์ ว่า “คิดซะว่าฉันก็เหมือนคุณนั่นแหละ เพียงแค่มีช่องคลอด!”

แองเจลินา โจลี (Salt): ปิดท้ายทำเนียบหญิงแกร่งได้พอดี

ความคิดเห็น

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาข่าวดีสุดในแวดวงหนังไทยคงหนีไม่พ้นการคว้ารางวัลปาล์มทองของ ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งหากจะพูดกันตามตรงแล้วไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะผลงานทุกเรื่องของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นที่คานส์เสมอมา ส่วนข่าวร้ายสุดก็คงหนีไม่พ้นการโดนเรทห้ามฉายของ Insects in the Backyard ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจเช่นกัน เพราะรากเหง้าแห่งปัญหานั้นไม่ได้อยู่ตรงกฎหมาย (กฎหมายก็เป็นแค่กระดาษที่คนกลุ่มหนึ่งเขียนขึ้น แม้ว่าหลายคนจะชอบอ้างว่ากฎหมายเขียนไว้แบบนั้นแบบนี้ ต้องว่าไปตามกฎหมายราวกับว่ามันถูกจารึกโดยพระเจ้าตั้งแต่สมัยสร้างโลก) หากแต่อยู่ตรงทัศนคติและการมองโลกของกลุ่มคนที่กุมอำนาจเอาไว้ในมือต่างหาก คนพวกนี้ชอบอ้างว่าพวกเขาเรียกร้องแทนคนอื่น แต่กลับไม่เคยคิดจะเข้าใจใคร พวกเขาเอามาตรฐานของตนเป็นที่ตั้ง แล้วกวาดทุกสิ่งที่ไม่ตรงตามมาตรฐานนั้นออกจากกระดานโดยใช้ข้ออ้างประเภท “เพื่อศีลธรรมอันดี” หรือ “เพื่อความสงบเรียบร้อย” โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าทัศนคติประเภทนี้ต่างหากที่เป็นอันตราย ไม่เฉพาะต่อประเทศชาติเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงมวลมนุษยชาติโดยรวมอีกด้วย

วันอังคาร, มกราคม 04, 2554

Oscar 2011: Revenge of the Nerds


แม้ The Social Network จะเดินหน้ากวาดรางวัลนักวิจารณ์ได้เกือบเบ็ดเสร็จ (คิดแล้วเท่ากับ 93%) ยิ่งกว่าหนังเรื่องไหนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่บรรดากูรูออสการ์ทั้งหลายกลับเห็นว่าโอกาสที่มันจะคว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์นั้นอ่อนด้อยกว่าหนังอย่าง The King’s Speech (บางคนถึงขั้นกล้าใช้คำว่า “ไม่มีทางได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยม”) ด้วยเหตุผลว่าผลงานกำกับของ เดวิด ฟินเชอร์ เย็นชาเกินไป ฮิปเกินไป หม่นเกินไป วัยรุ่นเกินไป ดิจิตอลเกินไป ฯลฯ ขณะที่หนังของ ทอม ฮูเปอร์ “เข้าทาง” กรรมการออสการ์ที่อายุมากและหัวเก่า

ข้อโต้แย้งดังกล่าวอาจมีน้ำหนักน่าเชื่อถือหากเป็นเมื่อสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว ก่อนหน้าการคว้าชัยของหนัง “ไม่เข้าทางออสการ์” อย่าง The Departed (รุนแรงเกินไป หยาบคายเกินไป) No Country for Old Men (ตอนจบชวนพิศวงเกินไป รุนแรงเกินไป) และ The Hurt Locker (ฟอร์มเล็กเกินไป)

แน่นอน นักวิจารณ์ไม่ใช่กรรมการออสการ์ และฝ่ายหลังก็พิสูจน์ให้เห็นหลายครั้งหลายคราว่าไม่แคร์ความรู้สึกของฝ่ายแรกแม้กระผีกดังจะเห็นได้จากชัยชนะของ Crash เหนือ Brokeback Mountain แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าออสการ์ในช่วงหลังเริ่มมีทัศนคติ หรือรสนิยม “สอดคล้อง” กับนักวิจารณ์มากขึ้น ฉะนั้นการฟันธงว่า The Social Network ไม่ใช่ตัวเก็งอันดับหนึ่ง “ณ เวลานี้” จึงเป็นการใช้อัตตาเหนือเหตุผล

ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นในอีกสองเดือนข้างหน้านั้นยังเรียกได้ว่ายากต่อการคาดเดา เพราะรายชื่อผู้เข้าชิงยังไม่ถูกประกาศออกมาด้วยซ้ำ (25 มกราคม 2554) เช่นเดียวกับรางวัลของเหล่าสมาพันธ์อื่นๆ นอกจากสมาพันธ์นักแสดง (ผู้กำกับ, คนเขียนบท, คนตัดต่อ, ผู้อำนวยการสร้าง ฯลฯ) ซึ่งน่าจะใช้เป็นมาตรวัดแรงสนับสนุนต่อหนังแต่ละเรื่องบนเวทีออสการ์ได้มากกว่ารางวัลนักวิจารณ์ เพราะสมาชิกสมาพันธ์เหล่านี้ หลายคนมีสิทธิ์เลือกผู้ชนะรางวัลออสการ์

ในกลุ่มหนังตัวเก็งแรกเริ่มก่อนผลรางวัลนักวิจารณ์สถาบันต่างๆ เรื่องที่เริ่มส่อแววร่อแร่ หมดแรงข้าวต้มอย่างเห็นได้ชัด คือ 127 Hours ซึ่งพลาดการเข้าชิงลูกโลกทองคำทั้งสาขาหนังและผู้กำกับ (ส่วนการพลาดเข้าชิงสาขา ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม ของ SAG ซึ่งเทียบเท่ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีนี้ ถือว่าไม่ผิดฟอร์มเพราะ 127 Hours เป็นหนังประเภทวันแมนโชว์) ตรงข้ามกับ The Fighter ที่เปิดฉายทีหลัง แต่กลับมาแรงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากลูกโลกทองคำและ SAG จนหลายคนเริ่มคิดว่ามันอาจกลายเป็นตาอยู่คว้าชิ้นปลามันมาครองแบบเดียวกับหนังนักมวยอีกเรื่องอย่าง Million Dollar Baby ขณะที่บางคนก็นำไปเทียบกับหนังนักมวยเรื่อง Rocky ซึ่งเมื่อ 36 ปีก่อนเอาชนะขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง Network และ All the President Men บนเวทีออสการ์

เรื่องแรกวิเคราะห์สังคมสมัยใหม่ได้เจ็บแสบผ่านบทพูดสุดคมคายเช่นเดียวกับ The Social Network ส่วนเรื่องหลังก็จำลองเหตุการณ์ทางการเมือง/ประวัติศาสตร์ได้เข้มข้นเช่นเดียวกับ The King’s Speech

ความแตกต่างอยู่ตรง ณ จุดนี้ Million Dollar Baby คว้ารางวัลผู้กำกับของสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์กมาครอง แถมด้วยรางวัลหนังยอดเยี่ยมจากสถาบันนักวิจารณ์อีกสองสามแห่ง ส่วน Rocky ก็คว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์แอลเอมาครองร่วมกับ Network แต่ The Fighter และผู้กำกับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ยังไม่ได้รางวัลใดๆ มาครองเลย ซ้ำร้าย หนังเพิ่งจะเปิดฉายในวงกว้าง และทำเงินได้ไม่น่าประทับใจนัก

นอกจากนี้ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ยังสร้างศัตรูไว้เยอะ (โดยเฉพาะกับพวกนักแสดง) จากคลิปอื้อฉาวในกองถ่าย I Heart Huckabees ที่แทบจะทำให้เขากลายเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งยูทูป หนังจึงอาจเสียคะแนนโหวตไปด้วย หาก ลิลี ทอมลิน รวมถึง จอร์จ คลูนีย์ ซึ่งประกาศไม่เผาผีกับโอ. รัสเซลล์หลังร่วมงานกันได้ไม่ราบรื่นใน Three Kings ยังแค้นฝังหุ่น (แต่เห็นได้ชัดว่า มาร์ค วอห์ลเบิร์ก รู้สึกแตกต่างออกไป)

สถานการณ์ใกล้เคียงกันจะส่งผลกระทบต่อโอกาสคว้าออสการ์ของ คริสเตียน “มืออาชีพ” เบล มากแค่ไหน เราคงต้องรอดูกันไป (ระหว่างการถ่ายทำ Terminator Salvation เบลระเบิดอารมณ์ใส่ผู้กำกับภาพ เชน เฮิร์ลบัต ด้วยคำพูดหยาบๆ เมื่อถูกฝ่ายหลังขัดจังหวะระหว่างการทำอารมณ์เพื่อเข้าฉากสำคัญ คลิปเสียงดังกล่าวถูกอัดไว้โดยทีมงานในกองถ่ายและหลุดออกมาแพร่ระบาดทางอินเตอร์เน็ท)

สมมุติฐานว่า The Fighter อาจกลายเป็นหนังอันดับหนึ่งบนเวทีออสการ์จะเริ่มมีน้ำหนักก็ต่อเมื่อตัวหนัง หรือผู้กำกับสามารถตอดรางวัลจากสถาบันสำคัญๆ ต่อไปนี้มาได้บ้าง นั่นคือ ลูกโลกทองคำ, SAG (สาขาทีมนักแสดง), National Society of Film Critics, DGA, PGA และ Broadcast Films Critics Association (หรือรางวัล Critics’ Choice) แต่หากหนังของฟินเชอร์ยังคงเดินหน้ากวาดรางวัลแบบไม่แบ่งใคร โอกาสที่ออสการ์จะคิดต่างก็ย่อมน้อยลงตามไปด้วย (กระทั่งหนัง “ล็อกถล่ม” อย่าง Crash ยังได้รางวัลสูงสุดจากสมาคมนักวิจารณ์ชิคาโก, สมาคมนักวิจารณ์ออสติน และ SAG สาขาทีมนักแสดง)

จากกลุ่มตัวเก็ง 10 เรื่อง นอกจาก 127 Hours จะดูไม่แน่นอนแล้ว อีกเรื่องคงเป็น The Town ของผู้กำกับ เบน อัฟเฟล็ก ซึ่งอาจถูกแซงโค้งสุดท้ายด้วย True Grit อย่างไรก็ตาม การที่หนังคาวบอยรีเมคของสองพี่น้องโคนโดนลูกโลกทองคำและ SAG เชิดใส่ ก็ทำให้มันเสียศูนย์ไปไม่น้อย โดยเฉพาะกรณีของเวทีแรก ซึ่งไม่แยแสผลงานชิ้นนี้เลย (การเข้าชิง = 0) แม้กระทั่งงานแสดงของ เจฟฟ์ บริดเจส และ ไฮลี สไตน์เฟลด์ กระนั้น อาจเป็นไปได้ว่ากรรมการหลายคนยังไม่ได้ดูหนัง เพราะ True Grit ถือเป็นตัวเก็งเรื่องสุดท้ายที่เปิดฉายแก่นักวิจารณ์

สำหรับสาขาผู้กำกับ มีความเป็นไปได้สูงว่า 4 คนจาก SAG สาขาทีมนักแสดง นั่นคือ ฟินเชอร์ (The Social Network), ฮูเปอร์ (The King’s Speech), โอ. รัสเซลล์ (The Fighter) และ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (Black Swan) จะลอยลำเข้าชิงออสการ์แบบไม่ยากเย็น ส่วนตำแหน่งของ ลิซา โชโลเดนโก (The Kids Are All Right) คงถูกแทนที่โดย คริสโตเฟอร์ โนแลน (Inception) แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องแน่นอนนัก หากคุณยังจำปรากฏการณ์ The Dark Knight ได้

ถ้าทุกอย่างออกมาตามโผ ฟินเชอร์จะกลายเป็นคนเดียวที่ไม่สดซิง (เคยเข้าชิงเมื่อสองปีก่อนจาก The Curious Case of Benjamin Button) และโอกาสก้าวไปไกลกว่าเดิมของเขาก็ถือว่าสูงกว่า 70%

หนัง
ตัวเก็ง: The Social Network, The King’s Speech, Toy Story 3, Inception, The Kids Are All Right, The Fighter, 127 Hours, Black Swan, Winter’s Bone, The Town
ตัวสอดแทรก: Rabbit Hole, True Grit, Another Year

ผู้กำกับ
ตัวเก็ง: เดวิด ฟินเชอร์ (The Social Network), ทอม ฮูเปอร์ (The King’s Speech), เดวิด โอ. รัสเซลล์ (The Fighter), คริสโตเฟอร์ โนแลน (Inception), ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (Black Swan)
ตัวสอดแทรก: แดนนี บอยล์ (127 Hours), โจเอล และ อีธาน โคน (True Grit)


อาจกล่าวได้ว่า การแข่งขันในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมได้สิ้นสุดลงแล้ว และคนที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง คือ โคลิน เฟิร์ธ นักแสดงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน และเมื่อปีก่อนเพิ่งได้เข้าชิงสาขาเดียวกันนี้จากงานแสดงอันลุ่มลึกในหนังเรื่อง A Single Man ที่หลายคนคิดว่าควรค่ากับรางวัลออสการ์มากกว่าหากพิจารณาจากคุณภาพงานล้วนๆ แต่โชคร้ายที่คราวนั้นเขาต้องเผชิญคู่แข่งมหาหิน และปัจจัยเสริมรอบด้านที่ไม่เอื้ออำนวย

มาปีนี้เฟิร์ธดูเหมือนจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกับ เจฟฟ์ บริดเจส เมื่อปีก่อน ทุกอย่างล้วนเข้าที่เข้าทาง เขาปราศจากคู่แข่งซึ่ง “คู่ควร” กว่า (หมายถึงบารมีเทียบเท่าและยังไม่เคยได้ออสการ์) อายุอยู่ในเกณฑ์ (เป็นที่ทราบกันดีว่าออสการ์นิยมผู้ชายสูงวัยและผู้หญิงสาวสะพรั่งในสาขานักแสดงนำ) นอกจากนี้เขายังเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนร่วมงาน ถ่อมตน และก็ถูกมองข้ามมานาน พูดโดยรวมๆ ก็คือ มันถึงเวลาของเขาแล้ว ที่สำคัญ เฟิร์ธยังมีข้อได้เปรียบตรงที่ The King’s Speech แข็งแกร่งในฐานะหนังยอดเยี่ยม ซึ่งแตกต่างจาก Crazy Heart ของบริดเจส

ปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญไม่น้อย และอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ช่วยให้ เอเดรียน โบรดี้ พลิกคว่ำสองยักษ์ใหญ่อย่าง แจ๊ค นิโคลสัน (About Schmidt) และ เดเนียล เดย์-ลูอิส (Gangs of New York) เมื่อ 8 ปีก่อน (ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีนักแสดงชายเพียงสามคนเท่านั้นที่คว้ารางวัลนำชายมาครองจากหนังที่ไม่ได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นั่นคือ เดนเซล วอชิงตัน จาก Training Day ฟอร์เรสต์ วิทเทเกอร์ จาก The Last King of Scotland และบริดเจสจาก Crazy Heart)

สถิติดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อว่าที่พิธีกรออสการ์ (ร่วมกับ แอนน์ แฮทธาเวย์) อย่าง เจมส์ ฟรังโก้ เท่าไหร่ เมื่อปรากฏว่าหนังของเขาทำท่าจะได้เสียงสนับสนุนที่อ่อนปวกเปียก แต่อาจช่วยผลักดันให้ เจสซี ไอเซนเบิร์ก กลายเป็นคู่แข่งเพียงคนเดียวของเฟิร์ธ กระนั้นการฝ่าด่านปัจจัยเสริมรอบด้านที่ไม่เอื้ออำนวย แล้วกลายเป็นเจ้าของออสการ์สาขานักแสดงนำชายที่อายุน้อยที่สุด (27 ปี) ถือเป็นงานหนักมหาโหด (เจ้าของสถิติเดิม คือ เอเดรียน โบรดี้ ที่อายุ 29 ปีตอนได้รับออสการ์) ซ้ำร้าย ผลงานของไอเซนเบิร์กยังอยู่ในโหมด “แสดงน้อย แต่ได้มาก” อีกด้วย ซึ่งไม่ค่อยเข้าทางออสการ์มากเท่าไหร่ (ถ้าอยากรู้ว่างานแสดงที่เข้าทางออสการ์เป็นเช่นไร ให้ดู โม’นีก จาก Precious: Based on the novel “Push” by Sapphire)

การแข่งขันในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมดูเหมือนจะสูสีคู่คี่กว่า เพราะทั้ง นาตาลี พอร์ตแมน และ แอนเน็ต เบนนิง ล้วนมีปัจจัยเสริมที่ช่วยผลักดันมากพอๆ กัน คนแรกได้บทโชว์ทักษะที่เข้าทางออสการ์มาก (ฝึกซ้อมร่างกายเพื่อเป็นนักเต้น อดอาหารให้น้ำหนักลด แล้วกลายร่างเป็นตัวละครอย่างสมบูรณ์แบบ) อายุอยู่ในเกณฑ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง (เคยเข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบหญิงจาก Closer) ส่วนคนหลังมากทั้งบารมีและประสบการณ์ที่เชี่ยวกราก หลังเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วสามครั้ง (สมทบหญิงจากThe Grifters นำหญิงจาก American Beauty นำหญิงจาก Being Julia) แถมยังเป็นที่รักใคร่นับถือของคนในวงการ

บางคนเริ่มเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันกับปีที่ มาริยง โกติญาร์ (La Vie En Rose) ต้องประชันกับ จูลี คริสตี้ (Away From Her) โดยคนแรกได้บทเด่น โชว์ทักษะเป็นรูปธรรมชัดเจนคล้ายคลึงกับพอร์ตแมน ส่วนคนหลังได้บทลุ่มลึก ไม่เน้นแสดงแสดงอารมณ์รุนแรงคล้ายคลึงกับเบนนิง ครั้งนั้นวัยสาวเอาชนะวัยลายครามได้ แต่ความแตกต่างสำคัญ คือ คริสตี้เคยได้ออสการ์มาแล้วจาก Darling เมื่อปี 1965 ขณะที่เบนนิงกลับซดแห้วทุกครั้งที่เข้าชิง

อีกสองคนที่น่าจะได้เข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Winter’s Bone) และ นิโคล คิดแมน (Rabbit Hole) ส่งผลให้เหลือที่ว่างอีกเพียงหนึ่งเดียวสำหรับสามตัวเก็งอย่าง ฮิลารี สแวงค์ (SAG) มิเชลล์ วิลเลียมส์ (ลูกโลกทองคำ) และ เลสลีย์ แมนวิลล์ (Another Year) มองเผินๆ แล้ว คนหลังสุดเหมือนจะเสียเปรียบอีกสองคนแรกตรงที่เธอถูกมองข้ามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่แมนวิลล์อาจได้หัวเราะทีหลังดังกว่าแบบ ลอรา ลินนีย์ (The Savages) และ ซาแมนธา มอร์ตัน (In America) สองนักแสดงหญิงในรอบ 10 ปีที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขานี้ หลังจากพลาดการเข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำและ SAG

นักแสดงนำชาย
ตัวเก็ง: โคลิน เฟิร์ธ (The King’s Speech), เจมส์ ฟรังโก (127 Hours), เจสซี ไอเซนเบิร์ก (The Social Network), โรเบิร์ต ดูวัล (Get Low), เจฟฟ์ บริดเจส (True Grit)
ตัวสอดแทรก: ฮาเวียร์ บาร์เด็ม (Biutiful), ไรอัน กอสลิง (Blue Valentine)

นักแสดงนำหญิง
ตัวเก็ง: แอนเน็ต เบนนิง (The Kids Are All Right), นาตาลี พอร์ตแมน (Black Swan), นิโคล คิดแมน (Rabbit Hole), เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Winter’s Bone), เลสลีย์ แมนวิลล์ (Another Year)
ตัวสอดแทรก: ฮิลารี สแวงค์ (Conviction), จูลีแอนน์ มัวร์ (The Kids Are All Right), มิเชลล์ วิลเลียมส์ (Blue Valentine)


หลังสิ้นเสียงระฆังยกแรก ดูเหมือน คริสเตียน เบล (The Fighter) จะทำคะแนนนำห่างคู่แข่งคนอื่นๆ ในสาขานักแสดงสมทบชายค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับนักแสดงที่รับบทแม่ของเขาในหนัง นั่นคือ เมลิสสา ลีโอ ในสาขานักแสดงสมทบหญิง ทั้งสองได้แรงสนับสนุนชั้นยอดจากข้อเท็จจริงที่ว่า The Fighter เป็นหนังฟีลกู๊ดที่ผสานความจริงของชีวิตเอาไว้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ และแน่นอนว่าคนแรกย่อมได้คะแนนเพิ่มจากการลดน้ำหนัก (อีกครั้งหลังจาก The Machinist) การเล่นบทคนจริงและเลียนแบบบุคลิกท่าทางของบุคคลนั้นได้อย่างแนบเนียน

ณ ตอนนี้คู่แข่งสำคัญของเบล คือ เจฟฟรีย์ รัช (The King’s Speech) ซึ่งเป็นขวัญใจออสการ์มาตลอดช่วงเวลาหลายปี (ได้นำชายจาก Shine เข้าชิงสมทบชายจาก Shakespeare in Love และเข้าชิงนำชายจาก Quills) แต่เขาไม่ใช่คู่แข่งที่น่าหวาดวิตกเท่า “ชื่อเสีย” จากคลิปเสียงอื้อฉาว ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยลบเพียงหนึ่งเดียวที่อาจทำให้เบลชวดรางวัลออสการ์ ส่วนตำแหน่งว่างที่เหลืออีกสามตำแหน่งยังดูไม่แน่ชัดว่าใครจะหลุดเข้าชิงได้บ้าง

เจเรมี เรนเนอร์ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยสุด หลังจากเขาติดโผทั้งลูกโลกทองคำและ SAG นอกจากนี้ การหลุดเข้าชิงออสการ์สาขานำชายเมื่อปีก่อนจาก The Hurt Locker บ่งบอกว่าเขาเป็นที่ยอมรับของกรรมการไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันก็พึงระวังสถิติว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้วจะมีนักแสดงซึ่งได้เข้าชิงทั้งสองเวทีนี้ชวดการเข้าชิงออสการ์อย่างน้อยปีละคน โดยตัวอย่างเหยื่ออธรรมในอดีตก็เช่น เฮย์เดน คริสเตนเซน (Life as a House) ริชาร์ด เกียร์ (Chicago) และ เดนนิส เควด (Far From Heaven)

ความแข็งแกร่งของหนังอาจช่วยหนุนนำให้ แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (The Social Network) และ มาร์ค รัฟฟาโล (The Kids Are All Right) ได้ลอยลำเข้าชิงออสการ์ไปด้วย หลังคนแรกเสียเชิงมวยบนเวที SAG ส่วนคนหลังชวดการเข้าชิงลูกโลกทองคำ (ถูกแทนที่โดย ไมเคิล ดั๊กลาส จาก Wall Street: Money Never Sleep ซึ่งคงได้คะแนนสงสารพิเศษจากเหล่าผู้สื่อข่าวต่างประเทศบ้าดารา) หลักการเดียวกันนี้ใช้ได้กับ จอห์น ฮอว์ค (Winter’s Bone) เช่นกัน เมื่อเขาพลาดการเข้าชิงลูกโลกทองคำ แต่สามารถเบียดการ์ฟิลด์ได้สำเร็จบนเวที SAG จนอาจกล่าวได้ว่าทั้งสามมีโอกาสเข้าชิงออสการ์มากพอๆ กัน แต่ใครล่ะที่จะหลุดจากวงโคจรในช่วงโค้งสุดท้าย

การพลาดท่าบนเวที SAG สาขานักแสดงสมทบหญิงทำให้จอมขโมยซีนขวัญใจนักวิจารณ์ แจ๊คกี้ วีเวอร์ เสียฟอร์มไปเล็กน้อย สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะมีกรรมการจำนวนไม่มากได้ดูหนังเล็กๆ จากออสเตรเลียเรื่อง Animal Kingdom แต่คาดหวังได้ว่าเธอจะกลับมาเฉิดฉายบนเวทีออสการ์ควบคู่กับลีโอ, เอมี อดัมส์ (The Fighter) และ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (The King’s Speech) ซึ่งเป็นกลุ่มตัวเก็ง เพราะเทียบไปแล้ว SAG มีความเป็นมหาชนมากกว่าออสการ์ (SAG มีสมาชิกเกือบสองแสน ส่วนนักแสดงที่เป็นกรรมการออสการ์มีเพียงพันกว่าคน) ซึ่งเน้นความ “Exclusive”

ส่วนตำแหน่งว่างสุดท้ายอาจเป็นการฟาดฟันกันของน้องใหม่อย่าง มิลา คูนิส (ซึ่งแม้จะได้เข้าชิงทั้งลูกโลกและ SAG แต่ว่ากันว่าบทของเธอใน Black Swan ไม่ได้โดดเด่นมากนัก ชะตากรรมจึงอาจลงเอยแบบเดียวกับ เคท บลันเช็ต จาก Bandits คาเมรอน ดิแอซ จาก Vanilla Sky และ มาเรีย เบลโล จาก The Cooler นั่นคือ ชวดการเข้าชิงออสการ์ หลังจากทำคะแนนนำในโค้งแรก) และ ไฮลี สไตน์เฟลด์ ซึ่งอันที่จริงเป็นนักแสดงนำจาก True Grit แต่ถูกผลักเข้าชิงในสาขาสมทบ

นักแสดงสมทบชาย
ตัวเก็ง: คริสเตียน เบล (The Fighter), เจฟฟรีย์ รัช (The King’s Speech), มาร์ค รัฟฟาโล (The Kids Are All Right), แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (The Social Network), เจเรมี เรนเนอร์ (The Town)
ตัวสอดแทรก: แม็ท เดมอน (True Grit), แซม ร็อคเวลล์ (Conviction), จอห์น ฮอว์คส์ (Winter’s Bone)

นักแสดงสมทบหญิง
ตัวเก็ง: เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (The King’s Speech), เมลิสสา ลีโอ (The Fighter), ไฮลี สไตน์เฟลด์ (True Grit), เอมี อดัมส์ (The Fighter), แจ๊คกี้ วีเวอร์ (Animal Kingdom)
ตัวสอดแทรก: ไดแอนน์ วีสต์ (Rabbit Hole), มิลา คูนิส (Black Swan)