วันอาทิตย์, พฤษภาคม 13, 2555

Salmon Fishing in the Yemen: ชีวิตทวนน้ำ


หากจะเปรียบไปแล้ว ความรักระหว่างสาวออฟฟิศ (เอมิลี บลันท์) กับข้าราชการหนุ่มใหญ่ (ยวน แม็คเกรเกอร์) ในหนังเรื่อง Salmon Fishing in the Yemen คงมีโอกาสเป็นไปได้มากพอๆ กับไอเดียบรรเจิดของ ชีค มูฮัมหมัด (อามาร์ เวค) ที่อยากแนะนำกีฬาตกปลาแบบ fly fishing ให้กับชาวมุสลิมแถบตะวันออกกลาง ผู้มักจะคุ้นเคยกับความแห้งแล้ง แสงแดด และทะเลทรายซึ่งปราศจากความปรานีต่อปลาน้ำเย็นอย่างแซลมอน ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เพราะพวกเขาแตกต่างทางบุคลิกราวฟ้ากับดิน (คนหนึ่งคร่ำเคร่ง จืดชืด ส่วนอีกคนเปิดกว้าง เปี่ยมชีวิตชีวา) แต่ยังเป็นเพราะทั้งสองโดนจับจองเป็นเจ้าของแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับมือเขียนบท เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Slumdog Millionaire เพราะสุดท้าย สถานการณ์ (หรือความบังเอิญ) ย่อมเปิดทางให้ทุกอย่างลงตัว เมื่อภรรยาอัลเฟร็ด (ราเชล สเตอร์ลิง) ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขณะคู่รักนายทหารของแฮร์เรียต (ทอม ไมสัน) ก็ถูกส่งไปรบในอัฟกานิสถาน และถูกแจ้ง “สูญหาย” ระหว่างปฏิบัติการ จนสองหนุ่มสาวผู้เปล่าเปลี่ยวต้องหันมาทุ่มเทแรงกายแรงใจ (หมายรวมถึงการได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน) ดลบันดาลให้โครงการในฝันของท่านชีคกลายเป็นจริง

แน่นอน เมื่อหนังพูดถึงแซลมอน อุปมาที่ขาดไม่ได้เลย คือ ความมุ่งมั่นของการว่ายทวนกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก ตั้งแต่แบบโจ่งแจ้งอย่างความฝันของชีคมูฮัมหมัด ผู้ไม่หวั่นไหวแม้จะถูกต่อต้านจากกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ซึ่งอ้างว่ากีฬาตกปลาเป็นการครอบงำทางวัฒนธรรม (น่าสนใจว่าหนังเรื่องนี้เข้าฉายในช่วงเวลาเดียวกับ Black Gold ซึ่งกล่าวถึงอิทธิพลของทุนนิยมต่อโลกอาหรับ) ไปจนถึงแบบลุ่มลึกขึ้นมาอีกขั้นอย่างความรักระหว่างแฮร์เรียตกับอัลเฟร็ด

 แต่การเปรียบเปรยที่คาดไม่ถึง และกลายเป็นปมที่เรียกร้องอารมณ์ร่วมได้สูงสุด คือ การสลัดทิ้งคราบนักวิชาการ ยึดมั่นตามตำรา หลักวิทยาศาสตร์ และความมั่นคงแห่งอาชีพนั่งโต๊ะเพื่อรอวันรับบำนาญของอัลเฟร็ด มาเป็นนักผจญภัย ผู้กล้าจะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงชีวิตซังกะตาย ไร้ความสุข แล้วโอบกอดตัวตน “ที่แท้จริง” ภายใน เช่นเดียวกับฝูงปลาแซลมอนในบ่อ ซึ่งแม้จะถูกเพาะเลี้ยงเอาไว้ส่งขายซูเปอร์มาร์เก็ตและไม่เคยต้องว่ายทวนน้ำเพื่อไปวางไข่มาก่อน แต่เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องใช้สัญชาตญาณ พวกมันก็สามารถก้าวพ้นข้อครหา “โดยทฤษฎี” ไปได้ (ในตอนท้ายอัลเฟร็ดตัดสินใจบอกลาชีวิตแบบเดิมๆ ตลอดจนการเลี้ยง/พูดคุยกับปลาในบ่อ มาทำงานซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้รู้จักโลก ได้ปล่อยปลาจากบ่อให้มาเรียนรู้วิถีชีวิตแห่งธรรมชาติ)

อีกอย่างที่ไม่น่าแปลกใจ คือ การวาดภาพตะวันออกให้เป็นดินแดนลึกลับ น่าค้นหา และเปี่ยมไปด้วยศรัทธา หรือจิตวิญญาณ (ประเทศเยเมนในหนังเรื่องนี้มีค่าเท่ากับประเทศอินเดียในหนังฮอลลีวู้ดอีกหลายสิบเรื่อง) ขณะดินแดนฝั่งตะวันตกเลือกจะยึดมั่นในหลักเหตุผล หรือวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ

แม้ในส่วนของอารมณ์โรแมนติกจะให้ความรู้สึกเหมือนถูกจัดวางมากไปหน่อย แต่เสน่ห์ของสองนักแสดงนำก็ช่วยกลบเกลื่อนร่องรอยได้พอสมควร ส่วนอารมณ์ขันหลักของหนัง ซึ่งน่าจะถ่ายทอดโดยตรงมาจากหนังสือ (นิยายของ พอล ทอร์เดย์ มีกลิ่นอายล้อเลียนการเมืองมากกว่า ส่วนบทดัดแปลงพยายามจะตัดแต่งพันธุกรรมให้มันกลายเป็นหนังโรแมนติก-คอมเมดี้) ตกอยู่บนบ่าของ คริสติน สก็อตต์ โธมัส ในบทเลขาธิการฝ่ายข่าวของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่มองเห็นความฝันของท่านชีคเป็นขุมทองที่จะช่วยเบี่ยงเบนสื่อมวลชนจากข่าวสงครามในตะวันออกกลาง และเธอก็ทำหน้าที่เรียกเสียงฮาได้ยอดเยี่ยม พลางขโมยซีนมาครองแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม การปรากฏตัวขึ้นของเธอทำให้หนังเคลือบช็อกโกแลต โปะด้วยวิปครีมของ ลาสซี่ ฮอลสตรอม ไม่หวานเลี่ยน และปรุงแต่งจนเกินไป เพราะแม้จะเป็นตัวตลกชูโรง แต่ แพ็ทริเซีย แม็กซ์เวลล์ ยังเป็นตัวละครเดียวในเรื่องที่ดูสมจริงและเป็นไปได้มากที่สุดอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: