วันเสาร์, มิถุนายน 16, 2555

Bel Ami: ผู้ชายป้ายเหลือง


ถึงแม้จะได้รับฉายา เบล อามี (ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลตรงตัวว่า “เพื่อนที่แสนดี”) แต่ในความเป็นจริง จอร์จ ดูรัว (โรเบิร์ต แพ็ททินสัน) เป็นมิตรสุดห่วย และคู่รักจากขุมนรก ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะขาดฝีไม้ลายมือในเรื่องบนเตียง ตรงกันข้าม ความหนุ่มแน่น หล่อเหลา และเชี่ยวชาญลีลารักทำให้เขากลายเป็นของเล่นสุดหฤหรรษ์ของบรรดาแม่บ้านสิ้นหวัง ไม่ว่าจะเป็นสาวน้อยหรือสาวใหญ่ ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะดูรัวไม่สามารถรักใครได้นอกจากตัวเอง พื้นฐานที่มาจากครอบครัวชนบทอันยากไร้ทำให้เขาทะยานอยากในความมั่งคั่ง เงินทอง อำนาจ “แค่ความรักอย่างเดียวมันไม่พอ แม้กระทั่งความรักจากคุณ” เขากล่าวกับโคลติลด์ (คริสตินา ริชชี) หญิงสาวที่เปิดใจให้ดูรัว แม้กระทั่งตอนที่เขายังจนตรอก ไม่มีเงินแม้แต่จะจ่ายค่าเช่าห้องเพื่อใช้เป็นรังรัก

อันที่จริง ความหิวกระหายของดูรัวก็ไม่ต่างอะไรกับหลุมดำ มันดูดกลืนทุกอย่างได้อย่างไม่มีวันอิ่ม (ที่ป้ายหลุมศพ กีย์ เดอ โมปัสซังต์ นักเขียนนามอุโฆษเจ้าของนิยายต้นฉบับของหนังเรื่องนี้ ได้เขียนคำรำลึกถึงตัวเองว่า “ฉันปรารถนาทุกสิ่ง แต่หาความสุขจากสิ่งใดไม่ได้เลย”) ส่งผลให้เขาไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ จากโคลติลด์ ซึ่งมอบเงินทองและความสุขสบายพื้นฐาน ไปยังแมเดอลีน (อูมา เธอร์แมน) ซึ่งเปิดทางไปสู่การเชิดหน้าชูตาทางสังคม (เขาแต่งงานกับเธอหลังสามีของเธอป่วยหนักจนเสียชีวิต) ก่อนสุดท้ายจะวางแผนลงเอยกับเด็กสาวที่เขาไม่อยากจะเหลียวตามองด้วยซ้ำ (ฮอลิเดย์ เกรนเจอร์) แต่เหมาะจะใช้เป็นบันไดไต่พิชิตความมั่งคั่ง และอำนาจทางการเมือง

น่าสนใจว่าพฤติกรรมละโมบและตะกละตะกลามของดูรัว ถูกนำเสนอโดยมีฉากหลังเป็นประเทศฝรั่งเศสในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งลัทธิล่าอาณานิคมกำลังรุ่งเรือง โดยเหยื่ออันโอชะ คือ เหล่าประเทศในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ (ดูรัวเป็นทหารผ่านศึกแอลจีเรีย ก่อนจะไต่เต้าขึ้นสู่ชนชั้นสูงขณะฝรั่งเศสกำลังจะบุกโมร็อกโก) ซึ่งถูกฉวยโอกาส ดูดกลืนทรัพยากร และเป็นฐานในการสร้างความมั่งคั่งไม่ต่างจากเหล่าแม่บ้านทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม ตัวละครผู้หญิงในเรื่องใช่ว่าจะเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ไปเสียทั้งหมด จริงอยู่ พวกเธออาจไม่มีทางเลือกมากนักในสังคมยุคนั้น (อาชีพเดียวที่เราเห็นในหนังคือโสเภณี) แต่ขณะเดียวกันก็ไม่กลัวที่จะคว้าโอกาสกระโดดขึ้นเตียงกับชายหนุ่ม ซึ่งยินดีมอบความเอาใจใส่ คำพูดหวานหู ตลอดจนเซ็กซ์อันเร่าร้อนในแบบที่พวกเธอปรารถนา แต่ไม่เคยได้จากสามี นอกจากนี้ ตัวละครอย่างแมเดอลีนยังดูแข็งกร้าวไม่ต่างจากเพศชาย เธอฉลาด เด็ดเดี่ยว และมุ่งมั่นให้กับอาชีพการงาน (ความเป็นหญิงทำให้เธอต้องหลบอยู่เบื้องหลัง แล้วใช้พรสวรรค์ผลักดันเพศชาย) โดยในฉากหนึ่ง คนดูจะเห็นเธอเร่งรีบ “ขย่ม” ดูรัวตามความต้องการของเขา (จนฝ่ายชายถึงกับต้องร้องขอให้หยุด ราวกับเขากำลังถูกเธอ “ขืนใจ”) เพื่อจะได้กลับไปวิเคราะห์ข้อมูลข่าวต่อ สำหรับแมเดอลีน ผู้ชายอย่างดูรัวไม่ได้ถือแต้มต่อ เพราะเธอเห็นเขาเป็นแค่ลูกชาวนาไร้การศึกษา และหวังว่าจะจูงจมูกไปทางไหนก็ได้ดุจดังทัศนคติของลัทธิล่าอาณานิคม

แม้ตัวนิยายต้นฉบับจะคุกรุ่นกลิ่นอายวิพากษ์การเมือง ชนชั้น และสื่อมวลชนด้วยท่าทีเยาะหยันอย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนผลงานหนังของสองผู้กำกับมือใหม่อย่าง ดีแคลน ดอนเนลแลน และ นิค ออร์เมอร็อด จะรีดเค้นอารมณ์ขันเชิงเสียดสีออกจนหมดสิ้น แล้วหันมาเน้นหนักไปยังพล็อตรักๆ ใคร่ๆ เพื่อหวังจะบีบเค้นอารมณ์เมโลดรามาเสียมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าสามารถให้ความบันเทิงได้ระดับหนึ่ง รวมถึงเรียกเสียงฮา (น่าจะโดยไม่ตั้งใจ) จากพล็อตเกี่ยวกับ เวอร์จินี (คริสติน สก็อต โธมัส) แม่บ้านสาวใหญ่ใจฝักใฝ่ธรรมะที่แปลงสภาพเป็นเด็กสาวใจแตกหลังตกหลุมเสน่ห์จอร์จ แต่ดูเหมือนความเข้มข้นทางอารมณ์จะยังไปไม่ถึงขั้น Dangerous Liaisons (1988) ส่วนหนึ่งของปัญหาคงอยู่ตรง โรเบิร์ต แพ็ททินสัน ซึ่งนอกจากจะดู “ร่วมสมัย” เกินไป และขาดเสน่ห์ดึงดูดใจแล้ว การแสดงของเขายังไม่น่าเชื่อถือพอจะดึงให้คนดูเข้าใจ (หรือแม้กระทั่งเห็นใจ) ตัวละครที่ชั่วร้ายอย่าง จอร์จ ดูรัว ที่สำคัญ เขายิ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่โดดเด่น เมื่อต้องมาประกบกับเหล่านักแสดงหญิงชั้นนำซึ่งเปรียบได้กับกระดูกคนละเบอร์

ไม่มีความคิดเห็น: