วันจันทร์, ตุลาคม 29, 2555

The Intouchables: โลกใหม่ในความต่าง


นอกจากจะสร้างปรากฏการณ์ทำเงินถล่มทลายที่ประเทศบ้านเกิดแล้ว หนังชีวิตเปี่ยมอารมณ์ขัน เล่าถึงมิตรภาพระหว่างชายผิวดำกับเศรษฐีพิการผิวขาว เรื่อง The Intouchables ยังจุดกระแสต่อต้านในหมู่นักวิจารณ์กลุ่มหนึ่งด้วยข้อหาเหยียดสีผิว จากการถ่ายทอดภาพลักษณ์เหมารวมแบบดั้งเดิมของคนผิวดำในลักษณะชนชั้นล่าง (หรือ คนรับใช้ หากจะพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป ซึ่งสามารถลากยาวย้อนประวัติไปถึงแม่พิมพ์โบราณ นั่นคือ บท “แมมมี่” ของ แฮ็ตตี้ แม็คเดเนียล ในหนังคลาสสิกเรื่อง Gone with the Wind) ไร้การศึกษา แต่ขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาจนทำให้ตัวละครผิวขาวในเรื่องได้เรียนรู้แก่นแท้แห่งชีวิต หรือความงามของมิตรภาพ มันเป็นข้อหาแบบเดียวกับที่หนังอย่าง The Help และ Driving Miss Daisy เคยตกเป็นจำเลยมาก่อน (และเช่นเดียวกับแม็คเดเนียล บทดังกล่าวส่งผลให้ โอมาร์ ซี กลายเป็นนักแสดงผิวดำคนแรกที่คว้ารางวัลซีซาร์มาครองในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม)

หนึ่งในเชื้อเพลิงคงเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า อับเบล เซลลัว ต้นแบบของตัวละคร ดริส (โอมาร์ ซี) ในหนัง แท้จริงแล้วเป็นคนอัลจีเรีย ไม่ใช่เซเนกัล และมีผิวพรรณแบบชาวอาหรับทั่วไป (สองผู้กำกับ โอลิวิเยร์ นากาซ และ เอริก โตเลอดา ค้นพบเรื่องจริงอันน่าอัศจรรย์ของอับเบลกับฟิลิปเป็นครั้งแรกจากหนังสารคดีเรื่อง A La Vie, A La Mort เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน) จริงอยู่เหตุผลเบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจสรุปได้ง่ายๆ ตามคำบอกเล่าของสองผู้กำกับว่าเป็นเพราะพวกเขาอยากร่วมงานกับนักแสดงคนโปรดอย่าง โอมาร์ ซี อีกครั้ง และที่สำคัญ ตามธรรมเนียนปฏิบัติของการดัดแปลงเรื่องจริงเป็นภาพยนตร์ เสน่ห์และพลังดาราย่อมมีส่วนผลักดันคนดูให้ลุ้นเอาใจช่วยตัวละครได้ง่ายขึ้น

กระทั่งเซลลัวเองก็ทำใจยอมรับการตัดสินใจปรับเปลี่ยนครั้งนี้อย่างหน้าชื่นตาบาน โดยให้สัมภาษณ์ว่า “โอมาร์ ซี ไม่เหมือนผมตรงที่เขาสูงและเต้นเก่ง เขาแปลงร่างเชร็คอย่างผมให้กลายเป็นตัวละครที่เปี่ยมเลือดเนื้อและดูสมจริงบนจอภาพยนตร์จากท่าเต้นอันลื่นไหล ใบหน้าที่หล่อเหลา และรูปร่างสูงใหญ่เหมือนนักกีฬา” (ในฉากจบ คนดูจะได้เห็นฟิลิปกับอับเบลตัวจริง และตระหนักในทันทีว่าเซลลัวตัวจริงกับดริสในหนังนั้นแตกต่างกันมากแค่ไหน)... ฟังดูประหลาดดีที่เซลลัวใช้คำว่า “สมจริง” หรือ realistic บรรยายตัวละคร/นักแสดงที่มีรูปร่างหน้าตาเกือบจะตรงข้ามกับเขา ซึ่งเป็น “คนจริงๆ” เบื้องหลังเรื่องราวในหนัง

 ขณะเดียวกันการเปลี่ยนตัวละครจากชายอัลจีเรียมาเป็นชายผิวดำยังส่งผลทางอ้อมในแง่เมโลดรามาด้วย กล่าวคือ มันช่วยถ่างช่องว่างระหว่างดริสกับฟิลิป (ฟรองซัวส์ คลูเซต์) ให้กว้างขึ้น ชัดเจนขึ้น ทำให้มิตรภาพอันแนบแน่นของทั้งสองยิ่งดูน่าอัศจรรย์และเหนือความคาดหมาย เพราะนอกจากมันจะก้าวข้ามความแตกต่างของสถานะทางสังคม (เศรษฐีในคฤหาสน์สุดหรู-อดีตอาชญากรที่ตกงาน ไร้หลักแหล่ง) บุคลิกภาพ (เคร่งขรึม จริงจัง-ร่าเริง เปี่ยมชีวิตชีวา) ตลอดจนรสนิยมทางศิลปะ (โอเปรา งานศิลปะ และดนตรีคลาสสิก-เพลงป็อปที่สามารถขยับแข้งขยับขาตามได้) แล้ว ยังกินความไปถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ สีผิวอีกด้วย ซึ่งหากเป็นการแคสติ้งโดยเน้นความ “เหมือนจริง” เป็นหลัก พลังจากความต่างทางด้านเชื้อชาติ สีผิวก็คงจะอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับความต่างทางด้านสภาพร่างกายของคนทั้งสอง (คนหนึ่งพิการตั้งแต่คอถึงปลายนิ้วเท้า-อีกคนรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรง) ความสูญเสียและหม่นเศร้าของเศรษฐีผู้พิการดูจะเด่นชัดยิ่งขึ้น ในฉากที่เขาเฝ้ามองเพื่อนชาวแอฟริกันเคลื่อนตัวเต้นรำตามจังหวะเพลงอย่างพลิ้วไหว

สำหรับชาวฝรั่งเศส สถานะและภาพลักษณ์ของคนผิวดำกับชาวอัลจีเรียอาจไม่แตกต่างกันมากนักในแง่ความเป็นชนชั้นล่างทางสังคม แต่สำหรับนักดูหนังทั่วๆ ไป ที่คุ้นเคยกับภาพลักษณ์ซ้ำซากของคนผิวดำในหนังฮอลลีวู้ดกระแสหลักมาตลอดจนฝังอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก การคัดเลือก โอมาร์ ซี มาสวมบท อับเบล “เชร็ค” เซลลัว อาจเสี่ยงต่อข้อหาเหยียดผิว แต่มองในมุมกลับก็ถือเป็นการตัดสินใจอันชาญฉลาด เนื่องจากมันช่วยขับเน้นดรามาให้เข้มข้นขึ้น (เปรียบได้กับการวางกำแพงให้ตัวละครเอกในหนังอย่าง Billy Elliot ต้องไต่ข้ามหลายระดับตั้งแต่สถานะชนชั้นแรงงาน ซึ่งขัดแย้งกับศิลปะชั้นสูงอย่างบัลเลต์ ไปจนถึงประเด็นเพศชาย ที่ถูกปลูกฝังว่าเหมาะกับกีฬาแมนๆ อย่างชกมวยมากกว่าเต้นระบำปลายเท้า ฉะนั้นเมื่อตัวละครสามารถทำลายกำแพงเหล่านั้นลงได้ ความปลาบปลื้มต่อชัยชนะย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี เมื่อเทียบกับการวางตัวละครให้เป็นเด็กชายในครอบครัวชนชั้นกลาง) และกลุ่มคนดูในวงกว้างกว่าก็สามารถ “เก็ท” ความขัดแย้งได้ในทันที ดังจะสังเกตได้จากความสำเร็จของหนังในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักๆ ที่ The Intouchables ทำเงินทำทองมากมายในหลายประเทศไม่เฉพาะแค่ในฝรั่งเศสเท่านั้นน่าจะเป็นผลจากแก่นของหนังที่เข้าถึงคนได้ทุกเชื้อชาติภาษา เกี่ยวกับความงดงามของมิตรภาพที่ปราศจากพรมแดน และข้ามผ่านทุกอุปสรรคขวากหนาม ซึ่งแน่นอนเป็นสูตรสำเร็จที่ผ่านการปรุงแต่งมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน กระนั้นความดีงามข้อหนึ่งที่ต้องยกผลประโยชน์ให้สองผู้กำกับ/เขียนบท คือ พวกเขารู้จักยั้งมือในหลายครั้ง เมื่อเรื่องราวทำท่าจะเบี่ยงเบนไปยังคลองแสนแสบ (ถ้าเป็นละครไทยหลังข่าว ฉากทนายแวะมาเตือนฟิลิปว่าดริสเคยมีประวัติด่างพร้อยคงถูกขยายความทางอารมณ์ขึ้นประมาณ 10 เท่าตัว)

ท่ามกลางความต่างภายนอกที่ถูกเน้นย้ำอย่างชัดเจนระหว่างสองตัวละครเอก (อพาร์ตเมนต์ของดริสคับแคบและแออัดไปด้วยลูกเด็กเล็กแดง ขาดความเป็นส่วนตัวแม้กระทั่งเวลาอาบน้ำ ขณะที่คฤหาสน์ของฟิลิปเปิดโอกาสให้เขาได้พักในห้องนอนสุดหรู กว้างขวาง และมีห้องอาบน้ำแยกต่างหาก) กลับเป็นความเหมือน หรืออารมณ์ร่วมระหว่างฟิลิปกับดริสต่างหากที่ดึงดูดพวกเขาเข้าหากัน ในช่วงต้นเรื่องเศรษฐีพิการตั้งคำถามกับหนุ่มแอฟริกันว่าเขาชอบขอความช่วยเหลือ และไม่ถือสาที่จะเป็นภาระของผู้อื่นเลยหรือ (ดริสต้องการลายเซ็นจากฟิลิป ซึ่งประกาศรับสมัครคนดูแล เพื่อนำเอกสารไปขอเงินเลี้ยงดูคนตกงานจากรัฐบาล) มองเผินๆ คำถามดังกล่าวเหมือนจะพุ่งเป้าไปยังดริส แต่ความจริงแล้วยังสะท้อนความรู้สึกภายในของฟิลิปไปพร้อมๆ กันด้วย

อดีตของพวกเขาเต็มไปด้วยความเจ็บปวดไม่แพ้กัน ฟิลิปสูญเสียภรรยาสุดที่รักให้กับโรคร้าย และสูญเสียความภาคภูมิแห่งปัจเจกให้กับภาวะทุพพลภาพ ส่วนดริสก็ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่และประเทศบ้านเกิดมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ทั้งสองโหยหาการยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง แต่ต้องเผชิญข้อจำกัดอันยิ่งใหญ่ คนแรกจากสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย คนหลังจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ขาดแคลนต้นทุนทางสังคม จนสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการกลายเป็นภาระสังคม บางทีวัยเด็กของดริสอาจสะท้อนโดยนัยผ่านเรื่องราวของอดามา ลูกพี่ลูกน้องเขาซึ่งกำลังเริ่มก้าวขาเข้าสู่โลกแห่งอาชญากรรมอย่างมืดบอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม่และครอบครัวยังต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพอย่างยากลำบากจนไม่เหลือเวลาจะอบรมสั่งสอน หรือกระทั่งดูแลเอาใจใส่ (ลูกสาวของฟิลิปเองก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เพียงแต่ปัญหาของเธอไม่ได้เกี่ยวพันกับภาวะปากกัดตีนถีบ แต่โน้มเอียงไปยังเรื่องความรักและทัศนคติ)

ถ้าแก่นดรามาของหนังอยู่ตรงการถ่ายทอดจุดร่วมระหว่างตัวละครทั้งสอง แก่นคอมเมดี้ของหนังก็มักจะวนเวียนอยู่กับพื้นเพที่แตกต่างของพวกเขา ผ่านอารมณ์ขันซึ่งสามารถคาดเดาได้ไม่ยาก แต่ความสามารถของนักแสดงทำให้พวกมันไม่รู้สึกฝืดเฝือจนเกินไป เช่น เมื่อฟิลิปพาดริสไปคลุกคลีกับโลกของศิลปะชั้นสูงอย่างดนตรีคลาสสิก โอเปรา และผลงานจิตรกรรมแบบแอบสแตรก หรือเมื่อดริสแนะนำฟิลิปให้รู้จักสูบกัญชา พุ่งชนเป้าหมาย (รักครั้งใหม่กับเพนเฟรนด์สาว) และแก้ปัญหาให้ตรงจุด (รับมือกับพวกชอบจอดรถขวางทางเข้าออก) แต่ก็เช่นเดียวกับสูตรสำเร็จของหนังในแนวทางนี้ สุดท้ายแล้วอารมณ์ขันย่อมเป็นเพียงใบเบิกทางสู่การเรียนรู้ การเติบใหญ่ และพัฒนาการของตัวละคร

การทำงานดูแลฟิลิป (ซึ่งเริ่มต้นจากคำท้าพนัน) สอนให้ดริสรู้จักเคารพตัวเอง มีความรับผิดชอบ และสัมผัสถึงความภาคภูมิใจ เมื่อได้รับผลตอบแทนอันเกิดจากหยาดเหยื่อแรงงาน หรือพรสวรรค์ของตน และเพราะตระหนักรู้ในหน้าที่กับความรับผิดชอบนี่เองทำให้ดริสตัดสินใจแยกทางจากฟิลิป เพื่อกลับไปเป็นเสาหลักให้ครอบครัว ขณะเดียวกัน อารมณ์ขันตลอดจนความมีชีวิตชีวาของดริสก็ผลักดันให้ฟิลิปกล้าพอจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ แทนการใช้เวลาที่เหลืออยู่ไปวันๆ เขาอาจเป็นคนผลักดันแกมบีบบังคับให้ดริสรู้จักกีฬาร่มร่อน แล้วสนุก ตื่นเต้นไปกับการเหินเวหาอย่างอิสระ ไร้พรมแดน แต่หากพินิจผ่านแง่มุมของชีวิตแล้ว กลับเป็นดริสต่างหากที่สอนให้ฟิลิปรู้จักโบยบิน หลังจองจำอยู่ในความเศร้าและสังเวชตัวเองมานานหลายปี... มิตรภาพที่บังเกิดทำให้คนทั้งสองได้สัมผัสกับความอ่อนโยน ร่าเริงแห่งชีวิต ทำให้โลกใบเดิมอันคับแคบ เปลี่ยวเหงาเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา น่าค้นหา

ในสังคมที่อุดมความแตกต่าง ข้อขัดแย้ง สงคราม และการใช้ความรุนแรงสาดกระหน่ำเข้าใส่กัน บางทีสารแห่งความหวังจาก The Intouchables ที่ช่วยปลอบประโลมมวลชนให้รู้สึกอุ่นใจ อิ่มเอิบมากที่สุดอาจไม่ใช่ความงดงามแห่งมิตรภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังกินความรวมถึงทัศนคติที่ว่า โลกสองใบจากขั้วตรงข้าม ซึ่งวันหนึ่งย่อมต้องแวะเวียนมาบรรจบกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงนั้น สามารถจะอยู่ร่วมกันอย่างสอดประสาน กลมกลืน และถ้อยทีถ้อยอาศัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียสละความเป็นตัวของตัวเอง... คำถาม คือ มนุษย์เราพร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตมากน้อยแค่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น: