วันพุธ, มีนาคม 14, 2555

The Artist: วิมานลอย


ตอนเปิดตัวที่เมืองคานส์ The Artist แทบจะถือเป็นหนังเรื่องเดียวที่ “ใครๆ” ก็ชื่นชอบ ผลงานอย่าง The Tree of Life และ Melancholia อาจได้เสียงสรรเสริญจากหลายคนว่าเป็นมาสเตอร์พีซบ้าง ว่าเป็นผลงานที่จะยืนหยัดข้ามกาลเวลาบ้าง (และสุดท้ายก็คว้ารางวัลใหญ่ไปครองในกรณีของเรื่องแรก) แต่ก็ยังมีอีกหลายคนชิงชังพวกมัน ตรงกันข้ามกับ The Artist ซึ่งแทบจะหาใคร “เกลียด” ไม่ได้เลย จนอาจพูดได้ว่าตัวหนังเองก็ไม่ต่างจาก อั๊กกี้ สุนัขพันธุ์ แจ๊ค รัสเซล ในเรื่องเท่าไหร่ มันฉลาด มันน่ารัก... ใครกันจะเกลียดอั๊กกี้ได้ลงคอ

อีกอย่างที่ควรนำมาพิจารณา คือ คานส์เป็นเสมือนแหล่งรวมหนังอาร์ตตัวพ่อตัวแม่ จำพวกดูแล้วงง ดูแล้วเครียด ดูแล้วจับต้นชนปลายไม่ถูก หรืออืดเอื่อย ไม่โน้มน้าวอารมณ์จนอาจผล็อยหลับไปได้ง่ายๆ การปรากฏตัวขึ้นของ The Artist หนังที่เล่าเรื่องตรงไปตรงมา เร้าอารมณ์อย่างไม่เกินเลย แต่ก็มี “ความคม” หรือ “ลูกเล่น” อยู่ในตัวที่ช่วยให้มันแตกต่างจากหนังตลาดชั้นดีทั่วไปผ่านการถ่ายทำหนังทั้งเรื่องเลียนแบบภาพยนตร์เงียบในฮอลลีวู้ดช่วงปลายทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่องราว (ถ่ายทำด้วยสัดส่วน Academy ratio หรือ 1.33:1 และด้วยความเร็วภาพ 22 เฟรมต่อวินาที ) ส่งผลให้มันกลายเป็นความบันเทิงอย่างมีระดับ ความรื่นรมย์แบบไม่ต้องรู้สึกผิด หรืออับอาย ท่ามกลางความหนัก ความมืดหม่น และการกัดกร่อนจิตวิญญาณ

ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อ The Artist เดินหน้ากวาดรางวัลมากมาย ทั้งจากสมาคมนักวิจารณ์ สมาพันธ์อาชีพต่างๆ จนไปลงเอยที่รางวัลออสการ์ มันเหมือนกับกล่องแพนโดราได้ถูกเปิดออก แล้วจู่ๆ หนังที่ทุกคนหลงรัก กลับกลายเป็นหนังที่โดนหลายคนโจมตีและตราหน้าว่าไม่คู่ควร

บางทีนี่อาจเป็นราคาที่หนังต้องจ่าย เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว The Artist หาใช่ผลงานศิลปะระดับแนวหน้าที่จะท้าทายสติปัญญา/จิตวิญญาณ หรือผลงานที่เปี่ยมทักษะทางภาพยนตร์อันซับซ้อน การวิเคราะห์ตัวละคร หรือสะท้อนแง่มุมเฉียบคมทางสังคม จิตวิทยา ฯลฯ เปรียบง่ายๆ ได้ว่า มันเหมาะสำหรับจะเป็นของหวานตบท้ายมื้ออาหาร มากกว่าเมนคอร์สแบบกินเอาอิ่ม มันเหมาะจะเป็นหนังเล็กๆ ที่คนดู “ค้นพบ” เสน่ห์และความหรรษาด้วยความเซอร์ไพรซ์ แต่ไม่ใช่หนังที่คนดูจะเดินเข้าไปพร้อมความคาดหวังอันยิ่งใหญ่

จุดดึงดูดสำคัญของ The Artist อยู่ตรงส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความแปลกใหม่ในแง่สไตล์ การนำเสนอ (ซึ่งดึงของเก่ามาสร้างเป็นความแปลกใหม่อีกทอดหนึ่งในสไตล์แฟชั่นเรโทร) กับความคุ้นเคยทางด้านเนื้อหา เรื่องราว โดยหลายคนที่ได้ชมหนังย่อมอดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบกับผลงานรุ่นก่อนหน้าอย่าง A Star Is Born (เรื่องของดาราดังที่ผลักดันสาวหน้าใหม่ให้กลายเป็นขวัญใจประชาชน ขณะที่ตัวเขาเองกลับค่อยๆ จมดิ่งสู่ความตกต่ำเนื่องจากอาการติดเหล้า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยจางหาย คือ ความรักระหว่างคนทั้งสอง) ซึ่งถูกรีเมคมาแล้ว 3 ครั้ง และมีข่าวว่ากำลังจะถูกนำมารีเมคล่าสุดอีกรอบโดย คลินท์ อีสต์วู้ด มี บียองเซ โนวส์ นำแสดง

ขณะเดียวกัน ฉากหลังเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายจากยุคหนังเงียบสู่ยุคหนังเสียง และความยากลำบากของนักแสดงบางคนในการปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่อาจทำให้หลายคนนึกถึงหนังอย่าง Singing in the Rain แม้ว่าจุดตกต่ำของ จอร์จ วาเลนทิน (ฌอง ดูฌาร์แดง) น่าจะส่งผลมาจากอัตตา นิสัยหยิ่งทะนง ตลอดจนความดื้อรั้นไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองไปกับเทคโนโลยียุคใหม่ ซึ่งส่งกลิ่นอาย ชาร์ลี แชปลิน อยู่หน่อยๆ (แต่สุดท้ายแล้วแชปลินก็ต้องยินยอมสร้างหนังเสียงเต็มตัวเป็นครั้งแรกในปี 1940 กับ The Great Dictator) มากกว่าจะเป็นเหตุผลทางเทคนิคเหมือนตัวละครเอกที่เสียงแหลมจนแสบไตแบบใน Singing in the Rain (ฉากสุดท้ายของ The Artist ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าวาเลนทินอาจไม่แน่ใจกับหนังเสียงเพราะสำเนียงฝรั่งเศสของเขา แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงอุปสรรคดังกล่าวดูจะไม่ส่งผลกับ เกรตา การ์โบ (สวีเดน) และ มาร์ลีน ดีทริช (เยอรมัน) มากนัก ขณะเดียวกัน ตัวดูฌาร์แดงเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขากับผู้กำกับ มิเชล ฮาซานาวิเชียส ไม่ได้ตั้งใจให้จอร์จพูด “ด้วยความยินดี” ติดสำเนียงฝรั่งเศสในฉากสุดท้ายเพื่อเป็นคำอธิบายท่าทีของตัวละครต่อหนังเสียงแต่อย่างใด)

นอกจากนี้ ความตกต่ำของจอร์จ ซูเปอร์สตาร์หนังเงียบที่ถูกลืมเลือน ยังมีแง่มุมคล้ายคลึงกับ นอร์มา เดสมอนด์ ใน Sunset Boulevard อีกด้วย แต่จุดจบของทั้งสองดูเหมือนจะแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว เรื่องหนึ่งจงใจสะท้อนด้านมืดของวงการมายา ที่ทุกคนล้วนแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เห็นแก่ตัว ขณะที่อีกเรื่องสะท้อนด้านบวกของวงการมายาในลักษณะขุมทองแห่งอเมริกันดรีม ที่ใครๆ ก็สามารถโด่งดังได้ และทุกคนย่อมมีโอกาสแก้ตัว

อาจกล่าวได้ว่า เนื้อเรื่องไม่ใช่เสน่ห์หลัก หากแต่ความคุ้นเคยดังกล่าวก็ช่วยให้คนดูสามารถติดตาม ลุ้นเอาใจช่วยตัวละครได้อย่างราบรื่น เพราะสีสันอันแท้จริงของ The Artist ได้แก่ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตลอดจนแก๊กตลกกึ่งคารวะกึ่งล้อเลียนหนังเงียบ (โดยเฉพาะอารมณ์ระทึกขวัญและการหักมุมในช่วงไคล์แม็กซ์ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่ๆ หากหนังเรื่องนี้ถ่ายทำแบบเป็นหนังเสียงปกติ) ที่ช่วยเสริมให้หนังเป็นมากกว่าแค่ความบันเทิงราคาถูก แน่นอน นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับฮาซานาวิเชียส ผู้โด่งดังขึ้นมาจากการทำหนังอย่าง Oss 117: Cairo, Nest of Spies และ Oss 117: Lost in Rio ที่ล้อเลียนหนังสายลับเก่าๆ ในแง่สไตล์ได้สนุกสนานไม่น้อย

ท่าทีแข็งกร้าวของจอร์จต่อการถ่ายทำหนังเสียงถูกเกริ่นนำไว้ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เมื่อจอร์จในหนัง (รับบทเป็นสายลับที่กำลังถูกทรมานให้คายข้อมูลบางอย่าง) ระเบิดคำพูดแรกผ่าน intertitle ว่า “I won’t talk! I won’t say a word!!!” (ซึ่งก็มีนัยยะล้อเลียนตัวเองไปพร้อมๆ กัน ราวกับการกล่าวเตือนคนดูให้รู้ว่าอย่าคาดหวังว่าจะได้ยินเสียงบทสนทนาใดๆ ในหนังเรื่องนี้) ก่อนจะถูกย้ำอีกครั้งในช่วงกลางเรื่อง เมื่อภรรยาของจอร์จ (เพเนโลปี แอน มิลเลอร์) ต้องการพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตสมรสนี่นับวันจะยิ่งเหินห่าง แต่เขากลับเลือกจะนิ่งเงียบ จนเธอต้องตัดพ้อว่า “Why do you refuse to talk? ” ประโยคดังกล่าวยังเป็นเหมือนคำถามต่อการตัดสินใจถ่ายหนังเงียบต่อไปของจอร์จอีกด้วย แม้ว่าขณะนั้นหนังเสียงจะเริ่มได้รับความนิยมในวงกว้างแล้ว

ความประณีตของ มิเชล ฮาซานาวิเชียส ไม่ได้อยู่แค่การเก็บรายละเอียดของหนังเงียบได้เป๊ะเท่านั้น แต่ยังพบเห็นได้จากการเลือกจัดองค์ประกอบภาพอันน่าสนใจ และสื่อความหมาย เช่น ฉากที่จอร์จเดินสวนกับ เปปปี (เบเรนีซ เบโจ) ในสตูดิโอ โดยคนหนึ่งกำลังลงบันได ส่วนอีกคนกลับกำลังขึ้นบันได ซึ่งสอดคล้องไปกับแนวโน้มอาชีพการแสดงของทั้งสองอย่างเหมาะเจาะ หรือการเลือกใช้ชื่อหนังสื่อความหมายแบบตรงไปตรงมา เช่น ในฉากเปปปีลองเสื้อคลุมของจอร์จในห้องแต่งตัว คนดูจะเห็นโปสเตอร์หนังเรื่อง The Thief of His Heart ในแบ็คกราวด์ และหลังจากฉากงานประมูล คนดูก็จะเห็นจอร์จเดินเข้าไปดูหนังเรื่อง Guardian Angel ที่นำแสดงโดยเปปปี (เทคนิคนี้ชวนให้นึกถึง The Player ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน ภาพยนตร์เกี่ยวกับวงการบันเทิงอีกเรื่องที่ใช้ประโยชน์จากโปสเตอร์หนังเรื่องต่างๆ ในแบ็คกราวด์ได้อย่างคุ้มค่า) เช่นกัน ภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่องของจอร์จในครึ่งหลังก็สามารถสรุปได้ง่ายๆ ผ่านฉากจบของหนังเจ๊งเรื่อง Tears of Love เมื่อตัวละครเอกจมดิ่งลงในทรายดูดพร้อมกับตัวอักษรขึ้นบนจอว่า The End

ถึงแม้ว่า The Artist จะสนุกกับการเล่นแก๊กหนังเงียบ หรือคาราวะภาพยนตร์คลาสสิกของฮอลลีวู้ดทั้งหลาย แต่เช่นเดียวกับ Midnight in Paris หนังดูเหมือนจะไม่สร้างอารมณ์โหยหาอดีตที่ผันผ่านไปตลอดกาลมากนัก (แตกต่างจาก Hugo ที่อบอวลด้วยบรรยากาศถวิลหา และรูปแบบ 3 มิติก็กลายเป็นเหมือนบทสดุดีกำเนิดภาพยนตร์ ในยุคที่คนยังตื่นเต้นกับการเห็นรถไฟวิ่งเข้าชานชาลาบนจอจนต้องเอี้ยวตัวหลบ) ตัวหนัง The Artist และผู้กำกับ มิเชล ฮาซานาวิเชียส ก็ไม่ต่างจาก กิล (โอเวน วิลสัน) พวกเขาสนุกกับการได้ย้อนอดีต แม้จะในระหว่างช่วงเวลาสั้นๆ ได้ค้นพบฮีโร่ที่เคยชื่นชอบ ได้ขอคำแนะนำบางอย่างเกี่ยวกับผลงาน (หรือหยิบยืมมาใช้ในกรณีของฮาซาวิเชียส) แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว เขาก็ต้องเลือกกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งปัจจุบันอยู่ดี

ความแตกต่างอยู่ตรงที่ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง ของ วู้ดดี้ อัลเลน ให้ความรู้สึกหวานปนเศร้า จากความเชื่อของเขาที่ว่าชีวิตนั้นเป็นเรื่องน่าผิดหวัง ความสุขนั้นมักจะผ่านเข้ามาชั่ววูบ เช่น ในระหว่างชมภาพยนตร์ (The Purple Rose of Cairo) หรือการได้ไปท่องโลกแห่งอดีตกับเฮมมิ่งเวย์และฟิทช์เจอรัลด์ (Midnight in Paris) ฉะนั้น ต่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่เราถวิลหาได้จริง สุดท้ายเราก็คงไม่พบกับความสุขอยู่ดี ดังจะเห็นได้จากตัวละครอย่าง เอเดรียนา (มาริยง โกติญาร์) ที่อาศัยอยู่ในยุคสมัยที่กิลเห็นว่ายอดเยี่ยมที่สุด แต่กลับโหยหาอดีตสมัย Belle Epoque ซึ่งสำหรับเธอถือเป็นยุคทองอันน่าหลงใหลที่สุด ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีแนวโน้มที่จะมองอดีตด้วยแววตาแห่งอุดมคติ และมองปัจจุบันด้วยแววตาของสัจนิยม ในตอนจบ กิลแยกทางกับสาวสมัยใหม่ (ราเชล แม็คอดัมส์) ที่แน่นอนว่าถูกวาดภาพให้กลายเป็นตัวร้าย เนื่องจากเธออาศัยอยู่กับปัจจุบันและอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครที่มีความสุขกับชีวิตมากสุด แล้วมีแนวโน้มว่าจะลงเอยกับสาวฝรั่งเศสจากร้านขายของเก่า ซึ่งเขาพบโดยมีดนตรีของ โคล พอร์เตอร์ เป็นกามเทพสื่อรัก… กลิ่นอายแห่งอดีตยังคงอบอวลและไม่จางหายไปไหน

ตรงกันข้าม ผู้หญิงที่ช่วยเหลือ จอร์จ วาเลนทิน ให้กลับมาใช้ชีวิตปัจจุบัน อย่าง เปปปี หาได้ผูกตัวเองติดอยู่กับอดีตแต่อย่างใด สิ่งของเก่าๆ ที่เธอประมูลซื้อมาจากบ้านจอร์จ มิใช่เพราะเธอชื่นชอบในคุณค่าของพวกมัน แต่เพราะเธอตระหนักว่ามันมีค่าต่อจอร์จมากแค่ไหนต่างหาก เธอไม่เพียงปรับตัวเข้ากับยุคหนังเสียงได้อย่างกลมกลืน ปราศจากอารมณ์โหยไห้ต่อความหอมหวาน รุ่งโรจน์แห่งอดีตเท่านั้น (ฉากที่เห็นได้ชัด คือ ตอนที่เธอให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า “ผู้คนเบื่อหน่ายกับการเล่นหูเล่นตาเพื่อให้คนดูเข้าใจของนักแสดงยุคหนังเงียบกันแล้ว”) แต่ยังเป็นตัวแทนของอนาคตอีกด้วย เมื่อเธอฉุดจอร์จให้ก้าวข้ามภาพลักษณ์ของ ดักลาส แฟร์แบงค์ ไปสู่ภาพลักษณ์ของ เฟร็ด แอสแตร์ ในตอนจบ พร้อมปิดฉากด้วยการเปิดโอกาสให้คนดูได้ยินเสียงพูดของจอร์จเป็นครั้งแรก

มันเป็น แฮ็ปปี้ เอ็นดิ้ง ประเภทที่ให้ความหวัง สร้างความรู้สึกดีๆ ได้อย่างปราศจากข้อกังขา ชีวิตดำเนินต่อไป พร้อมอนาคตอันรุ่งโรจน์ (แน่นอน คนดูยุคนี้ย่อมทราบดีว่าหนังเพลงกลายเป็นตระกูลหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องอยู่เกือบครึ่งศตวรรษ) ขณะเดียวกัน มันก็เป็นตอนจบที่ช่วยปลอบประโลมอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยรวมด้วยว่าสุดท้ายแล้ว พวกเขาก็จะฟันฝ่าข้ามอุปสรรค ความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีไปได้ (โฮมเธียเตอร์/อินเตอร์เน็ท/ดิจิตอล) และลงเอยด้วยความแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม... เช่นนี้แล้ว ไม่สมควรหรือที่ฮอลลีวู้ดจะเฉลิมฉลองให้มันด้วยรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

วันจันทร์, มีนาคม 12, 2555

Oscar 2012: เจาะเวลาหาอดีต


หลังจากปีก่อนออสการ์พยายามอย่างสิ้นหวังที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น ด้วยการเลือกพิธีกรเป็นดาวรุ่งไฟแรง แอนน์ แฮธาเวย์ กับ เจมส์ ฟรังโก้ และลงเอยด้วยหายนะครั้งใหญ่ มาปีนี้ออสการ์จึงเลือกเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม ชนิดหักศอกแบบ 180 องศาเลยก็ว่าได้ ด้วยการพาคนดูย้อนอดีตไปอย่างน้อยสองทศวรรษผ่านพิธีกรขาประจำอย่าง บิลลี่ คริสตัล และเหล่าคน (เคย) ดังที่มาประกาศรางวัลอย่าง ทอม ครูซ, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, คาเมรอน ดิแอซ และ ทอม แฮงค์ ส่วนใหญ่แทบจะกลายเป็น “บรรพบุรุษ” สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ไปแล้ว ไม่มีการเทียบเชิญเหล่านักแสดงจาก Twilight หรือ Harry Potter รวมไปถึงบุคคลที่กลุ่มวัยรุ่นกำลังให้ความคลั่งไคล้ (ยกเว้นเพียงคลิปเปิดตัวของ บิลลี่ คริสตัล เมื่อเขาเลียนแบบฉากสำคัญใน Midnight in Paris ร่วมกับ จัสติน บีเบอร์)

ไม่มีมุกตลกเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ ไม่มีการส่งทวิตเตอร์หลังเวที (แก๊กไม่ค่อยตลกเท่าที่ควรของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ กับ กวิเน็ธ พัลโทรว โดยคนแรกเดินขึ้นเวทีพร้อมตากล้อง แล้วแสร้งทำท่าเหมือนกำลังถ่ายสารคดีเรื่อง The Presenter สำหรับฉายทาง Netflix ดูคล้ายมุกล้อพิธีกรชายปีก่อน) ตรงกันข้าม ก่อนพักโฆษณากลับมีสาวๆ แต่งกายย้อนยุค ดูคล้ายสาวขายบุหรี่ตามไนท์คลับ เดินแจกป็อปคอร์นให้ผู้ชม คลิปสัมภาษณ์เหล่านักแสดงว่าหนังเรื่องใดที่เปลี่ยนชีวิตเขา หรือสร้างแรงบันดาลใจสูงสุด การตกแต่งเวทีเพื่อด้วยฉากย้อนยุค เน้นสีแดง เพื่อเน้นความอลังการของโรงหนังในอดีต และการแสดงของ Cirque du Soleil ประกอบฉากแอ็กชั่นสุดคลาสสิกของ แครี แกรนท์ ในหนังเรื่อง North by Northwest ซึ่งโปรดิวเซอร์เลือกโคลสอัพการแสดงเป็นจุดๆ แทนภาพรวม ส่งผลให้คนดูทางบ้านไม่เห็นว่าการแสดงสอดคล้อง ต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับฉากในหนังเพียงใด (ถ้าเพียงโปรดิวเซอร์จะเรียนรู้จากฉากจบของ The Artist ว่าทักษะที่ต้องฝึกฝนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการเต้น กายกรรม หรือความสามารถพิเศษอื่นๆ จะยิ่งดูน่าตื่นเต้น ตื่นตา ถ้าถ่ายทำในระยะปานกลางหรือไกล และไม่เน้นการตัดต่อเพื่อโกงคนดู)

เอกลักษณ์การจัดงานสไตล์ บิลลี่ คริสตัล จากยุค 1990 ถูกนำกลับมาใช้แบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้นเปิดตัว ที่เปิดโอกาสให้คริสตัลได้เหมือนเข้าไปร่วมแสดงในหนังเด่นๆ หลายเรื่องของปี 2011 (ผสมระหว่างการใช้เทคนิคตัดต่อ กับการถ่ายทำฉากใหม่เลียนแบบหนังต้นฉบับ โดยได้รับความช่วยเหลือจากดาราดังอย่าง ทอม ครูซ และ จอร์จ คลูนีย์) เพลงเมดเลย์ล้อหนังยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ไปจนถึงช่วง “พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่” ซึ่งกล้องจะตัดไปยังภาพดาราที่มาร่วมงาน แล้วคริสตัลจะบอกความคิดในหัวพวกเขา ทั้งหมดนี้สร้างรอยยิ้มให้คนดูได้บ้างตามสมควร แต่ส่วนใหญ่ล้วนให้ความรู้สึก “เดจาวู” มากกว่าตลกโปกฮา

ที่สำคัญ มุกตลกบางแก๊กยังดูเหมือนขุดมาจากสมัย แฮ็ตตี้ แม็คเดเนียล เป็นนักแสดงผิวดำคนแรกที่ได้ออสการ์ เช่น หลังจาก ออกเทเวีย สเปนเซอร์ ได้รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ผู้คนในงานพากันลุกขึ้นยืนปรบมือให้ ส่วนเธอก็กล่าวขอบคุณด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ดีใจ จนถือเป็นไฮไลท์น่าประทับใจของงาน คริสตัลกลับตบท้ายด้วยมุกตลกว่า ทันทีที่ดู The Help จบ เขาอยากจะกอดผู้หญิงผิวดำคนแรกที่เห็น แต่ใน เบเวอร์ลีย์ ฮิลส์ นั่นหมายถึงคุณต้องขับรถนาน 45 นาที1?!... มันเป็นมุกตลกที่ชวนให้ขนลุกขนพองมากกว่าขบขัน ซึ่งดูจะเข้ากันดีกับการเห็นคริสตัลทาหน้าดำเลียนแบบ แซมมี เดวิส จูเนียร์ ในหนังสั้นเปิดตัว (ซึ่ง จอร์จ คลูนีย์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้คริสตัลมารับหน้าที่พิธีกรงานออสการ์ โดยให้สัญญาว่าจะหา “นักเขียนรุ่นใหม่ไฟแรงที่สุดในเมืองมาให้” ก่อนภาพจะตัดไปยังเหล่าแมวมองนักกีฬารุ่นดึกใน Moneyball)

อารมณ์หวนรำลึกอดีตของงานสะท้อนภาพรวมของหนังที่ได้เข้าชิง (มีเพียง The Descendants และ Moneyball ที่เน้นความ “ร่วมสมัย”) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังเด่นที่กวาดรางวัลได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ The Artist ไปจนถึง Hugo และ Midnight in Paris

ผลรางวัลส่วนใหญ่ล้วนเป็นไปตามโพย ยกเว้นเพียงบางสาขาที่พลิกล็อกบ้าง แต่ไม่ได้สร้างกระแสตื่นเต้นมากนัก จนกระทั่ง เมอรีล สตรีพ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครอง เพราะก่อนหน้านี้ กระแสของ วีโอลา เดวิส (The Help) ถือว่านำหน้าอยู่หลายช่วงตัว (ผลดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์ว่าออสการ์ยังเหยียดผิว และขณะเดียวกันก็ทำให้ ฮาลลี เบอร์รี จาก Monster’s Ball ยังคงรักษาสถิตินักแสดงหญิงผิวดำเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลจากสาขานักแสดงนำหญิง) แต่เช่นเคย สตรีพช่วยลบล้างอารมณ์ขมขื่นของ “Team Viola” ได้ระดับหนึ่ง ด้วยมุกตลก ความจริงใจ และความนอบน้อม เธอกล่าวขอบคุณราวกับว่านี่คือรางวัลความสำเร็จแห่งอาชีพนักแสดง

“ก่อนอื่นฉันอยากขอบคุณ ดอน สามีของฉัน เพราะถ้าฉันเลือกพูดถึงเขาเป็นคนสุดท้ายก็จะโดนเสียงดนตรีกลบ ฉันอยากให้เขารู้ว่าทุกอย่างที่มีค่าที่สุดในชีวิต เขาเป็นคนมอบให้ฉัน ลำดับต่อมา ฉันอยากขอบคุณเพื่อนร่วมชีวิตอีกคน เมื่อ 37 ปีก่อน ฉันพบ เมคอัพ อาร์ติส รอย เฮลแลนด์ ตอนเล่นละครอยู่ในกรุงนิวยอร์ก และได้ทำงานร่วมกันนับจากนั้นเรื่อยมา หนังเรื่องแรกที่เขาแต่งหน้าให้ฉัน คือ Sophie’s Choice และตลอดเวลา 30 ปีต่อมา เราทำงานร่วมกันในหนังทุกเรื่องรวมถึง The Iron Lady ที่เขาได้รางวัลออสการ์สำหรับผลงานอันยอดเยี่ยม นอกจากนี้ เนื่องจากฉันคงไม่ได้มายืนตรงนี้อีกแล้ว ฉันอยากขอบคุณเพื่อนๆ และเพื่อนร่วมงานทุกคน เมื่อกวาดตามองไปรอบงาน ฉันแทบจะเห็นทุกเสี้ยวชีวิตที่ผ่านมา ทั้งจากเพื่อนเก่า และเพื่อนใหม่ ต้องยอมรับว่ารางวัลนี้ถือเป็นเกียรติอย่างสูง แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับฉัน คือ มิตรภาพ ความรัก และสุขที่เราแบ่งปันร่วมกันระหว่างถ่ายหนัง ฉันอยากขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคน ทั้งที่ยังอยู่ตรงนี้ และที่จากไปแล้ว สำหรับอาชีพอันวิเศษสุด ขอบคุณมากๆ” สตรีพกล่าว

ภาพรวมของงานถือว่าเรียบง่าย รวบรัด และคาดเดาไม่ยาก ไฮไลท์ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากเรื่องไม่คาดฝัน เช่น ปรากฏการณ์ “Got Milk?” ของ เจนนิเฟอร์ โลเปซ (เจเน็ท แจ๊คสัน เธอมีเพื่อนแล้ว!) หรือไม่ก็อารมณ์ขันเฉพาะตัว เช่น ท่าโพสต์โชว์เรียวขาของ แองเจลินา โจลี่ (ซึ่งถูก จิม แรช หนึ่งในทีมเขียนบท The Descendants นำมาเลียนแบบทันที เมื่อเขาขึ้นรับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม) และพฤติกรรม “ลิงตีฉาบ” ของ วิล ฟาร์เรล กับ แซ็ค กาลิฟิอานาคิส ในชุดทักซิโด้สีขาวเข้าคู่กัน

แต่ไฮไลท์ความฮาอันเกิดจากการเตี๊ยมกันมาล่วงหน้า (ผนวกเข้ากับทักษะของนักแสดง) ก็พอจะมีอยู่บ้างเช่นกัน โดยเฉพาะหนัง mockumentary ของ คริสโตเฟอร์ เกสต์ กับทีมดาราขาประจำ บันทึกภาพการฉายหนัง The Wizard of Oz เมื่อหลายสิบปีก่อนให้คนดูรอบทดสอบ พร้อมรับข้อเสนอและข้อคิดเห็น (เจนนิเฟอร์ คูลิดจ์ ไม่ชอบหน้าตานักแสดงในเรื่อง ยูจีน เลวี่ อยากให้ตัดเพลงเกี่ยวกับสายรุ้งออก คริสโตเฟอร์ เกสต์ เสนอให้เริ่มต้นเรื่องด้วยภาพสี แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นขาวดำ) และการออกมาประกาศรางวัลคู่กันของขาประจำอย่าง เบน สติลเลอร์ กับหน้าใหม่อย่าง เอ็มมา สโตน คนแรกพยายามตีขรึม วางตัวเป็นมืออาชีพ ขณะคนหลังเนื้อเต้นและร่าเริงเกินเหตุกับประสบการณ์แปลกใหม่นี้ ถึงขนาดร้องเพลงเกี่ยวกับ Hugo และ Reel Steel พร้อมตะโกนเรียก โจนาห์ ฮิล ให้ขึ้นมาเต้นรำด้วย สติลเลอร์พยายามจะเตือนสติเธอไม่ให้ “พยายามมากไป” แต่กลับถูกฝ่ายหญิงตอกกลับทำนองว่า นี่คือคำเตือนจากคนที่เคยแต่งหน้าเลียนแบบชาวเนวี่ใน Avatar มาประกาศรางวัล?

ความหรรษาอันเกิดจากพรสวรรค์ของ เอ็มม่า สโตน รวมไปถึง ทีน่า เฟย์ และทีมนักแสดงจาก Bridesmaids ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า งานออสการ์อาจสนุก น่าตื่นเต้นกว่านี้ หากพวกเขาเรียกใช้งานผู้หญิงให้มากขึ้น


Dazed and Confused

* เปิดงานมาในการประกาศรางวัลแรก ออสการ์ก็หักปากกาเซียนทันทีจนก่อให้เกิดความหวังว่างานคืนนี้อาจมีลุ้น (แต่สุดท้ายก็ลงเอยว่ามันเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ) เมื่อ โรเบิร์ต ริชาร์ดสัน จาก Hugo คว้ารางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมมาครองเป็นครั้งที่ 3 (หลังจาก JFK และ The Aviator) เบียด เอ็มมานูเอล ลูเบซกี้ ตัวเก็งจาก The Tree of Life ที่กวาดรางวัลของนักวิจารณ์และสมาพันธ์ผู้กำกับภาพมาครองอย่างครบถ้วน หลายคนคาดไว้ก่อนแล้วว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ เพราะลูเบซกี้ก็เคยเป็นตัวเก็งแบบนี้มาแล้วจาก Children of Men แต่ก็ต้องพ่ายให้กับ กีลเลอโม นาวาร์โร จาก Pan’s Labyrinth กระนั้นส่วนใหญ่มักคาดว่า คนที่จะล้มยักษ์ คือ กีลล์โยม ชิฟฟ์แมน จาก The Artist ดูจากรูปการณ์แล้ว เห็นท่าลูเบซกี้คงลงเอยไม่ต่างกับ โรเจอร์ เดียกินส์ ซึ่งเข้าชิงมาแล้ว 9 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้ออสการ์เลย (นี่เป็นการเข้าชิงครั้งที่ 5 ของเขา)

* คนจำนวนไม่น้อยงุนงงสงสัยว่าเหตุใดโรงภาพยนตร์ โกดัก เธียเตอร์ สถานที่จัดงานออสการ์มาเป็นเวลาหลายสิบปี จึงไม่ถูกเอ่ยนามตลอดช่วงเวลา 3 ชั่วโมง และเสียงเกริ่นนำก่อนเข้ารายการก็พูดว่า “ถ่ายทอดสดจาก ฮอลลีวู้ด แอนด์ ไฮแลนด์ เธียเตอร์...” สาเหตุหลักเนื่องมาจากบริษัท อีสต์แมน โกดัก เพิ่งถูกประกาศให้เป็นบริษัทล้มละลาย จึงยกเลิกสัญญา 20 ปีในการใช้ชื่อเป็นสถานที่จัดงานประกาศรางวัลออสการ์ (เซ็นสัญญาในปี 2000) ด้วยเหตุนี้ บิลลี่ คริสตัล จึงกล่าวเปิดงานว่า “เราอยู่ในโรงภาพยนตร์แสนสวยที่ล้มละลาย” (Chapter 11 หมายถึง ล้มละลาย) ก่อนต่อมาจะซ้ำอีกรอบว่า “ขอต้อนรับกลับสู่โรงภาพยนตร์ที่ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ”

* อย่าแปลกใจถ้าคุณไม่เก็ทพฤติกรรมของสองสาวจาก Bridemaids ที่จู่ๆ ก็ควักขวดเหล้าในชุดเดรสขึ้นมาซัดอั้กๆ เมื่อได้ยินคำว่า “สกอร์เซซี่” (กระทั่งสกอร์เซซี่เองก็ยังทำหน้างง) เพราะมันเป็นมุกที่เริ่มต้นจากงานประกาศรางวัล SAG ซึ่งพวกเธอคิดค้น “เกมกระดกเหล้า” ขึ้น โดยมีกฎแค่ว่า “คุณจะต้องดื่มเหล้าทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าสกอร์เซซี่” และดูเหมือนทุกคนก็ยินดีจะเล่นสนุกตามไปด้วย เช่น เมื่อ สตีฟ บูเชมี รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Boardwalk Empire เขากล่าวขอบคุณ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร ส่งผลให้ ทีน่า เฟย์ ซึ่งยืนอยู่ข้างๆ ต้องกระดกดื่มไวน์ในแก้วจนหมด

* หลายคนคาดเดาว่า Rise of the Planet of the Apes จะคว้าชัยในสาขาเทคนิคด้านภาพไปครองแบบไม่ต้องเหนื่อย แต่บางคนไม่คิดเช่นนั้น พร้อมยกสถิติว่า หนังที่เข้าชิงสาขาหนังยอดเยี่ยมยังไม่เคยพ่ายให้กับหนังที่ไม่ได้เข้าชิงเลย นับจาก Patton ปราชัยต่อ Tora! Tora! Tora! ในปี 1970 และสมมุติฐานดังกล่าวก็กลายเป็นจริง เมื่อ Hugo หนังเรื่องเดียวในสาขานี้ที่ได้เข้าชิงรางวัลสูงสุด พลิกคว้าชัยไปครอง... ดูเหมือนออสการ์คงไม่ปลื้ม motion capture จริงๆ (เมื่อผนวกเข้ากับการพลาดเข้าชิง ของ The Adventures of Tin Tin และ แอนดี้ เซอร์กิส)


Memorable Quotes

“ผมเกิดอาการคลั่งดาราตอนเจอ เคอร์มิท เดอะ ฟร็อก เช่นเดียวกับดาราดังอีกหลายคนในคืนนี้ ตัวจริงเขาเตี้ยกว่าที่ผมคิด” เบร็ท แม็คเคนซี (เพลงประกอบยอดเยี่ยม Man or Muppet จากหนังเรื่อง The Muppets)

“ตอนชื่อของฉันถูกประกาศ ในใจฉันได้ยินเสียงคนครึ่งประเทศอเมริกาพูดว่า ‘โอ๊ย ไม่นะ ทำไมต้องเป็นหล่อนอีกแล้ว’ แต่ก็ช่างปะไร” เมอรีล สตรีพ (นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก The Iron Lady)

“ไม่มีอะไรจะช่วยบรรเทาวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้เท่าการนั่งดูบรรดามหาเศรษฐีมอบตุ๊กตาทองให้กัน” บิลลี่ คริสตัล

“ในหนังการ์ตูนถ้าคุณเป็นผู้หญิงอ้วน คุณก็สามารถรับบทเป็นเจ้าหญิงรูปร่างสะโอดสะองได้ ถ้าคุณเป็นผู้ชายผิวขาว คุณก็สามารถรับบทเป็นเจ้าชายอาหรับได้ และถ้าคุณเป็นผู้ชายผิวดำ คุณก็สามารถรับบทเป็นลา หรือม้าลายได้” คริส ร็อค กล่าวก่อนประกาศรางวัลภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยม (ร็อคพากย์เสียงเป็นม้าลายใน Madagascar ส่วน เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ พากย์เสียงเป็นลาใน Shrek)

“ที่รัก เธอแก่กว่าฉันแค่สองปี เธอหายไปไหนมาตลอดชีวิตฉัน” คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Beginners) พูดกับรางวัลออสการ์ ซึ่งปีนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 84

“ขอแสดงความยินดีกับ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ตอนนี้อายุเฉลี่ยของผู้ชนะรางวัลออสการ์ได้พุ่งขึ้นเป็น 67 ปีแล้ว” บิลลี่ คริสตัล


For the Record

* งานประกาศรางวัลออสการ์ในปีนี้มีความยาวทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง 8 นาที ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในรอบหลายปี เรตติ้งกระเตื้องขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย (ผู้ชม 37.9 ล้าน เพิ่มขึ้นเป็น 39.3 ล้าน) แต่ยังถือว่าห่างไกลจากยุคทอง สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากบรรดาหนังเข้าชิงทั้งหลายทำเงินไม่น่าพอใจ หรือเป็นหนังอาร์ตสำหรับกลุ่มคนดูจำกัด คงมีเพียง The Help เรื่องเดียวเท่านั้น ที่สามารถทำเงินในอเมริกาได้เกิน 100 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ นี่ยังถือเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ ที่เรตติ้งงานประกาศรางวัลออสการ์ต่ำกว่าแกรมมี่ ซึ่งปีนี้มีผู้ชมประมาณ 40 ล้าน อันเป็นผลจากความป็อปปูลาร์ของศิลปินตัวเก็งอย่าง Adele และความต้องการดูพิธีสดุดีแด่ วิทนีย์ ฮูสตัน ครั้งแรกที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น คือ ในปี 1984 เมื่อ ไมเคิล แจ๊คสัน กวาดรางวัลแกรมมี่ไปครอง (51.7 ล้าน) และออสการ์มอบรางวัลหนังยอดเยี่ยมให้กับ Terms of Endearment (42.1 ล้าน)

* ณ ขณะนี้ The Artist ถือเป็นหนังออสการ์ที่ทำเงินเกือบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เป็นรองก็แค่ The Hurt Locker เมื่อสองปีก่อน (สัปดาห์ของการประกาศผลรางวัลมันทำเงินรวมในอเมริกาไป 32 ล้านเหรียญ) แต่กุศลผลบุญจากการคว้ารางวัลสูงสุดมาครองจะทำให้มันโกยเงินแซงหน้า Crash แล้วหลุดพ้นจาก 5 อันดับแรกหรือไม่นั้นคงต้องรอลุ้นกันต่อไป ส่วนจะให้ถึงขั้นหลุดจาก 10 อันดับแรกนั้นคงเป็นเรื่องยาก โดยรายชื่อหนังออสการ์ทำเงินต่ำสุด (หลังจากปรับค่าเงินตามสภาวะเงินเฟ้อแล้ว) 10 อันดับแรก ได้แก่ The Hurt Locker (15 ล้าน) All the King’s Men (60 ล้าน) Hamlet (61 ล้าน) An American in Paris (67 ล้าน) Crash (67 ล้าน) Marty (67 ล้าน) No Country for Old Men (85 ล้าน) It Happened One Night (86 ล้าน) The Last Emperor (89 ล้าน) และ The Great Ziegfeld (95 ล้าน) ในทางตรงกันข้าม หนังออสการ์ทำเงินสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ Gone with the Wind (6,550 ล้าน) The Sound of Music (1,284 ล้าน) Ben-Hur (1,137 ล้าน) Titanic (1,040 ล้าน) The Sting (716 ล้าน) Around the World in 80 Days (667 ล้าน) The Godfather (631 ล้าน) Forrest Gump (627 ล้าน) My Fair Lady (615 ล้าน) และ The Greatest Show on Earth (540 ล้าน)

* คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ กลายเป็นนักแสดงที่อายุมากสุด (82 ปี) ที่ได้รับรางวัลออสการ์ เจ้าของสถิติเดิม คือ เจสซิก้า แทนดี้ เจ้าของนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Driving Miss Daisy ขณะอายุได้ 80 ปี

* เมอรีล สตรีพ (2 นำหญิง 1 สมทบหญิง) กลายเป็นนักแสดงเจ้าของ 3 รางวัลออสการ์คนที่สี่ ตามหลัง วอลเตอร์ เบรนแนน (3 สมทบชาย) อินกริด เบิร์กแมน (2 นำหญิง 1 สมทบหญิง) และ แจ๊ค นิโคลสัน (2 นำชาย 1 สมทบชาย) โดยผู้ถือครองสถิติสูงสุดยังคงเป็น แฮทเธอรีน เฮปเบิร์น (4 นำหญิง)

* เกล็น โคลส กลายเป็นนักแสดงหญิงที่อกหักบนเวทีออสการ์มากครั้งที่สุด ทำสถิติเทียบเท่า เดเบอราห์ เคอร์ และ เธลมา ริตเตอร์ จากการเข้าชิง 6 ครั้ง และไม่เคยได้รางวัลเลย

* ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา The Artist (100 นาที) ถือเป็นหนังออสการ์ที่สั้นที่สุดเป็นอันดับสองรองจาก Driving Miss Daisy (99 นาที) เมื่อ 22 ปีก่อน โดยผู้ถือครองสถิติเดิมยังคงเป็น Marty (1955) ซึ่งมีความยาว 90 นาที รองลงมา ได้แก่ Annie Hall (1977) ซึ่งมีความยาว 93 นาที (ในบรรดาหนัง 9 เรื่องที่ได้เข้าชิงในปีนี้ The Artist มีความยาวเป็นอันดับรองบ๊วย นั่นคือ ยาวกว่า Midnight in Paris ประมาณ 6 นาที)

* The Artist เป็นหนังเงียบเรื่องที่สองที่คว้ารางวัลสูงสุดมาครอง เรื่องแรก ได้แก่ Wings (1927/1928) ซึ่งเป็นหนังออสการ์เรื่องแรก นอกจากนี้ มันยังเป็นหนังขาวดำ “ล้วนๆ” เรื่องแรกที่ได้รางวัลออสการ์นับจาก The Apartment (1960) ส่วน Schindler’s List (1993) ถ่ายทำบางฉากโดยใช้สี (เช่นเดียวกัน The Artist ก็ไม่ถือเป็นหนังเงียบ “ล้วนๆ” เนื่องจากบางฉากมีการใช้เสียงประกอบ)

* The Artist ถือเป็นหนังเรื่องที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัล Independent Spirit Award ในคืนก่อนหน้ามาครอง ก่อนจะเดินหน้าคว้ารางวัลสูงสุดในงานออสการ์ เรื่องแรก คือ Platoon เมื่อปี 1986 ซึ่งเป็นปีที่สองของการจัด Independent Spirit Award

* Hugo เป็นหนังเรื่องแรกนับจาก Star Wars (1977) ที่ได้ออสการ์มาครอง 5 รางวัลหรือมากกว่า แต่ไม่ใช่ในสาขาสำคัญอย่างบทภาพยนตร์, กำกับ, หนัง และการแสดง

* The Artist เป็นหนังเรื่องแรกที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาขาหนังเพลง/ตลกจากเวทีลูกโลกทองคำ แล้วเดินหน้าคว้ารางวัลออสการ์ทั้งสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยม สามเรื่องก่อนหน้านี้ที่ได้ออสการ์ + ลูกโลกทองคำ สาขาหนังเพลง/ตลก (Driving Miss Daisy, Shakespeare in Love, Chicago) ล้วนพลาดออสการ์ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม

* ก่อนหน้า The Girl with the Dragon Tattoo หนังเรื่องสุดท้ายที่คว้ารางวัลสาขาลำดับภาพมาครองแบบโดดๆ คือ Bullitt (1968) ขณะเดียวกัน เคิร์ค แบ็กซ์เตอร์ กับ แองกัส วอลล์ ที่เพิ่งได้ออสการ์เมื่อปีก่อนจากเรื่อง The Social Network ก็ทำสถิติคว้ารางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมมาครองสองปีติดกันเป็นครั้งแรกนับจากปี 1935-1936 ที่ ราล์ฟ ดอว์สัน ได้รางวัลจาก A Midsummer’s Night Dream และ Anthony Adverse ตามลำดับ

รายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

Best Picture: The Artist
Best Director: Michel Hazanavicius, The Artist
Best Actress: Meryl Streep, The Iron Lady
Best Actor: Jean Dujardin, The Artist
Best Supporting Actress: Octavia Spencer, The Help
Best Supporting Actor: Christopher Plummer, Beginners
Best Original Screenplay: Woody Allen, Midnight in Paris
Best Adapted Screenplay: Alexander Payne & Nat Faxon & Jim Rash, The Descendants
Best Foreign Language Film: Iran, A Separation
Best Documentary Feature: TJ Martin, Dan Lindsay & Richard Middlemas, Undefeated
Best Animated Feature: Gore Verbinski, Rango
Best Cinematography: Robert Richardson, Hugo
Best Film Editing: Kirk Baxter & Angus Wall, The Girl with the Dragon Tattoo
Best Art Direction: Dante Ferretti & Francesca Lo Schiavo, Hugo
Best Costume Design: Mark Bridges, The Artist
Best Original Score: Ludovic Bource, The Artist
Best Sound Editing: Philip Stockton & Eugene Gearty, Hugo
Best Sound Mixing: Tom Fleischman & John Midgley, Hugo
Best Visual Effects: Rob Legato, Joss Williams, Ben Grossman & Alex Henning, Hugo
Best Makeup: Mark Coulier & J. Roy Helland, The Iron Lady
Best Documentary Short: Daniel Junge & Sharmeen Obaid-Chinoy, Saving Face
Best Animated Short: William Joyce & Brandon Oldenburg, The Fantastic Flying Books of Mr. Morris Lessmore
Best Live Action Short: Terry George & Oorlagh George, The Shore
Best Original Song: Bret McKenzie, Man or Muppet

วันอาทิตย์, มีนาคม 04, 2555

100 Innovations That Change Cinema (3)


IMAX: ต้นกำเนิดของชื่อมาจากคำว่า “image maximization” หรือ “maximum image” กินความถึงระบบกล้องและเครื่องฉาย ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1970 และให้เฟรมภาพใหญ่กว่าหนังมาตรฐาน 35 ม.ม. โดยทั่วไปถึง 10 เท่า ขณะเดียวกันการฉายหนังก็ต้องอาศัยจอที่ใหญ่กว่าจอปกติ 10 เท่าเช่นกัน ความสูงเฉลี่ยเท่ากับตึก 8 ชั้น ส่วน OMNIMAX (หรือ IMAX DOME) ก็ใช้ระบบเดียวกัน แต่เพิ่มเลนส์ฟิชอายเข้าไปในเครื่องฉายเพื่อสร้างภาพ 165 องศาสำหรับฉายบนจอทรงโดมขนาดใหญ่ ส่งผลให้คนดูจมดิ่งไปกับภาพบนจอมากยิ่งขึ้น

โรงหนัง IMAX แห่งแรกเปิดให้บริการปี 1971 ที่เมืองโตรอนโต ก่อนความนิยมจะค่อยๆ แพร่หลายอย่างต่อเนื่อง โดยหนังสารคดีขนาดสั้นเรื่อง Everest ความยาว 40 นาทีสามารถทำเงินจากการฉายเฉพาะในโรง IMAX ของอเมริกามากถึง 89 ล้านเหรียญ ปัจจุบันยังไม่มีหนังกระแสหลักเรื่องใดถ่ายทำโดยใช้กล้อง IMAX ตลอดทั้งเรื่อง แต่หนังอย่าง The Dark Knight และ Transformers: Revenge of the Fallen เลือกจะถ่ายทำบางฉากด้วยกล้อง IMAX


Intertitle: เทคนิคการบอกเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดบทสนทนา หรือระบุข้อมูลของสถานที่เกิดเหตุสำหรับหนังเงียบ (ตัดภาพไปยังตัวหนังสือบนจอ) เทคนิคนี้สูญสลายไปพร้อมกับการมาถึงของยุคหนังเสียง แต่นักทำหนังรุ่นหลังหลายคน อาจย้อนกลับมาใช้เทคนิคนี้เพื่อรำลึก หรือคารวะยุคหนังเงียบ ดังจะเห็นได้จากฉากแฟลชแบ็คในหนังเรื่อง หัวใจทรนง ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล


IntroVision: อีกหนึ่งรูปแบบของเทคนิค front projection ซึ่งคราวนี้เพิ่มความซับซ้อนขึ้นด้วยการใช้จอรับภาพสองจอ เครื่องฉายสองเครื่อง และกระจกสะท้อนภาพสามชิ้น เพื่อ “แซนด์วิช” นักแสดงเอาไว้ตรงกลางระหว่างโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ หนังเรื่องแรกที่นำเทคนิค IntroVision มาใช้ คือ Outland (1981) แต่ฉากที่นักดูหนังส่วนใหญ่น่าจะรู้จักและจดจำได้ ซึ่งถ่ายทำด้วยเทคนิคนี้ คือ ฉากที่ แฮร์ริสัน ฟอร์ด หนีออกจากรถเมล์ขนนักโทษ ซึ่งล้มคว่ำและกำลังจะถูกรถไฟวิ่งมาชนในหนังเรื่อง The Fugitive และฉากเด็กๆ วิ่งหลบรถไฟบนสะพานในหนังเรื่อง Stand By Me


Iris: เทคนิคการถ่ายภาพโดยบังช็อตเป็นรูปวงกลม สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม หรือรูปทรงอื่นๆ ได้รับความนิยมในยุคหนังเงียบ ดังจะเห็นได้จากผลงานคลาสสิกของผู้กำกับ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ เรื่อง The Birth of a Nation แต่ปัจจุบันกลับไม่ค่อยพบเห็นมากนักบางทีอาจเป็นเพราะมันดูเชย โบราณ และประดิษฐ์ แต่สำหรับหนังย้อนยุคอย่าง The Age of Innocence ของ มาร์ติน สกอร์เซซี iris กลับเป็นตัวเลือกที่เหมาะเจาะในฉาก เมย์ (วิโนนา ไรเดอร์) อวดแหวนหมั้นกลางงานเลี้ยง

ปกติแล้ว iris จะถูกใช้เพื่อ 1) เปิดฉาก โดยเริ่มต้นจากวงกลมตรงกลางจอ ก่อนวงกลมนั้นจะค่อยๆ ขยายขึ้นจนคนดูเห็นภาพทั้งหมด หรือในทางตรงข้ามอาจใช้สำหรับปิดฉาก โดยค่อยๆ บังภาพเป็นวงกลมจนกระทั่งทั้งจอมืดสนิท ขั้นตอนแรกเรียกอีกอย่างว่า iris in (เช่น ใน The Age of Innocence) ส่วนขั้นตอนหลังเรียกว่า iris out 2) ชี้นำคนดูไปยังตัวละคร เหตุการณ์ หรือวัตถุสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำ 3) สร้างผลกระทบทางอารมณ์ หรือสถานการณ์พลิกผัน โดยเริ่มต้นโฟกัสไปยังตัวละคร หรือสิ่งของ จากนั้นก็ค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นภาพรวมของฉากทั้งฉาก ส่งผลให้คนดูมองตัวละคร หรือสิ่งของนั้นในอีกแง่มุม 4) สร้างความรู้สึกเหมือนกำลังมองผ่านช่องเล็กๆ เช่น รูกุญแจ



Jump cut: การตัดภาพสองช็อตของสิ่งเดียวกันจากตำแหน่งมุมกล้องที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้สิ่งของ หรือตัวละครในช็อตนั้นดูเหมือน “กระโดด” จากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เอง jump cut จึงถือเป็นข้อห้ามสำหรับการตัดต่อหากต้องการคงไว้ซึ่งความลื่นไหลในสไตล์การเล่าเรื่องแบบคลาสสิกของฮอลลีวู้ด นอกจากนี้ jump cut ยังกระชากความสนใจจากคนดู ทำให้พวกเขาตระหนักว่ากำลังชมภาพยนตร์อยู่อีกด้วย

เพื่อหลีกเลี่ยง jump cut คุณต้องเคารพ “กฎ 30 องศา” กล่าวคือ ช็อตที่ต่อเนื่องกันจะดู “ราบรื่น” ก็ต่อเมื่อกล้องเปลี่ยนตำแหน่งจากเดิมอย่างน้อย 30 องศา (หรืออาจใช้การเปลี่ยนขนาดภาพช่วยได้ เช่น จาก medium shot ไปยัง close up) เพราะหากน้อยกว่านั้น ความแตกต่างระหว่างสองช็อตจะน้อยเกินไป ส่งผลให้คนดูตระหนักถึงการกระโดดข้ามตำแหน่งของตัวละคร บิดาแห่งเทคนิค jump cut คือ จอร์จ เมลิแอส์ ซึ่งค้นพบโดยบังเอิญ และนำมาใช้เพื่อปิดบังภาพลวงตา แต่สำหรับนักดูหนังร่วมสมัย บิดาตัวจริงน่าจะได้แก่ ฌอง-ลุค โกดาร์ด และเหล่าผู้กำกับกลุ่ม French New Wave ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงทศวรรษ 1960 โดยในหนังที่พลิกโฉมการเล่าเรื่องอย่าง Breathless โกดาร์ดจงใจตัดภาพ จีน ซีเบิร์ก ในรถเปิดประทุน แบบแหกกฎ 30 องศา ทำให้ความไม่ต่อเนื่องระหว่างช็อตถูกเน้นย้ำและสร้างผลกระทบรุนแรง จนนำไปสู่การตีความต่างๆ ทั้งในแง่เนื้อหา (สัญลักษณ์แทนคุณสมบัติทางด้านศีลธรรมของตัวละคร) และสไตล์ (สร้างรูปแบบใหม่ให้ภาพยนตร์) ในหนังยุคใหม่อย่าง Moon และ District 9 เทคนิค jump cut ถูกนำมาใช้เพื่อขับเน้นความตึงเครียดของสถานการณ์


Macguffin: คำศัพท์ที่คิดค้นของโดย อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก เพื่ออธิบายเครื่องมือในการสร้างพล็อต เป็นสิ่งของที่จะช่วยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไป มีความสำคัญยิ่งในสายตาของตัวละคร ถึงขนาดพยายามทุกวิถีทางที่จะไขว่คว้ามันมาครอบครอง แต่กลับไม่มีค่าในตัวของมันเอง หรือกระทั่งในสายตาคนดู Macguffin เป็นเหมือนข้ออ้างเพื่อจะนำคนดูไปสู่ฉากแอ็กชั่น หรือบีบเค้นอารมณ์ และสุดท้ายแล้ว ธรรมชาติของมันอาจไม่ถูกเปิดเผย หรือเปิดกว้างต่อการตีความ

Macguffin มักพบเห็นในหนังลึกลับ เขย่าขวัญ แต่ก็ไม่เสมอไป และอาจอยู่ในรูปของตัวละคร หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม ความสำคัญของมันจะถูกแนะนำในช่วงองก์แรกของหนัง ก่อนจะค่อยๆ ลดบทบาทลง จากนั้นมันอาจกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในช่วงไคล์แม็กซ์ หรือถูกละทิ้งไปเลยก็ได้ ฮิทช์ค็อกอธิบายเกี่ยวกับ Macguffin ไว้ในปี 1939 ว่า “ในหนังโจรกรรม Macguffin มักจะเป็นสร้อยคอราคาแพง ส่วนในหนังสายลับก็มักจะเป็นพวกเอกสารสำคัญ” ตัวอย่างของ Macguffin ที่โด่งดังได้แก่ โรสบัด ใน Citizen Kane กระเป๋าเอกสารใน Pulp Fiction หีบศักดิ์สิทธิ์ใน Raiders of the Lost Ark และพลทหารไรอันใน Saving Private Ryan


Match cut: อาจเรียกได้ว่าเป็นด้านตรงข้ามของ jump cut เพราะ match cut คือ การเชื่อมช็อตสองช็อตเข้าด้วยกันโดยคำนึงถึงความต่อเนื่อง ลื่นไหลเป็นหลัก โดยความต่อเนื่องนั้นอาจเป็นในแง่รูปทรง เช่น การตัดภาพกระดูกที่มนุษย์วานรใช้เป็นเครื่องมือและอาวุธในยุคโบราณไปยังภาพยานอวกาศ (เครื่องมือแห่งโลกอนาคต) จากหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey หรือในแง่แอ็กชั่น เช่น การตัดภาพตัวละครเอกเป่าไฟบนก้านไม้ขีดให้ดับไปยังภาพดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลอยสูงขึ้นกลางทะเลทรายใน Lawrence of Arabia และฉากจบของ North by Northwest เมื่อภาพ แครี แกรนท์ ค่อยๆ ดึง อีวา มารี เซนต์ ขึ้นจากภูเขารัชมอร์ถูกตัดไปยังภาพเขากำลังฉุดเธอขึ้นมายังเตียงชั้นสองบนขบวนรถไฟ

เทคนิค match cut ถูกนำมาใช้อย่างยอดเยี่ยมและมากกว่าหนึ่งครั้งในหนังเรื่อง Short Cuts ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้นเก้าชิ้นของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ เพื่อเชื่อมโยงหลากหลายตัวละครและหลากหลายเรื่องราวเข้าด้วยกัน เช่น ภาพแก้วนมบนหัวเตียงในฉากหนึ่งถูกตัดมาต่อกับภาพแก้วน้ำในโทรทัศน์ของฉากต่อมา อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างแรกๆ ของการตัดภาพแบบ match cut พบเห็นได้ในหนังเงียบเรื่อง Dr. Mabuse: The Gambler (1922) ของ ฟริทซ์ ลัง ซึ่งติดใจเทคนิคดังกล่าวและนำมาใช้อีกครั้งในหนังคลาสสิกเรื่อง M (1931)


Melodrama: ภาพยนตร์แนวนี้มีรากฐานมาจากละครเวที ส่วนใหญ่เน้นบอกเล่าเรื่องราวการปะทะกันระหว่างความดีงามและความชั่วร้าย ผ่านตัวละครที่แบ่งแยกขาวดำชัดเจน ความซับซ้อนของประเด็นทางศีลธรรมจะถูกนำเสนอแบบเรียบง่ายตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับการบีบคั้นอารมณ์คนดู หนังเมโลดรามาสามารถสืบย้อนประวัติไปได้ไกลถึงยุคหนังเงียบ เช่น ผลงานเรื่อง Way Down East (1920) ของ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ

กระนั้นยุครุ่งเรืองที่แท้จริงของหนังเมโลดรามา คือ ทศวรรษ 1950 อันเป็นผลจากการจับมือร่วมกันของผู้กำกับ ดั๊กลาส เซิร์ค และซูเปอร์สตาร์ ร็อค ฮัดสัน ผ่านหนังเด่นสองเรื่อง คือ Written on the Wind และ All That Heaven Allows ซึ่งกลายเป็นผลงานที่ส่งอิทธิพลต่อนักทำหนังรุ่นต่อๆ มาไม่น้อย ภาพยนตร์เรื่อง Far from Heaven ของ ท็อด เฮย์นส์ ถือเป็นการคารวะหนังเมโลดรามาในยุคนั้น ทั้งในแง่สไตล์และพล็อตเรื่อง


Motion capture: ขั้นตอนบันทึกการเคลื่อนไหวของนักแสดงเป็นดิจิตอล แล้วนำข้อมูลนั้นมาแปลงให้กลายเป็นตัวละคร 2-D หรือ 3-D โดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก หากการเคลื่อนไหวนั้นลงรายละเอียดไปถึงสีหน้า ท่าทางเล็กๆ น้อยๆ หรือกระทั่งแววตา เราอาจเรียกว่า performance capture เทคนิคนี้จะตรวจจับเฉพาะการเคลื่อนไหว ไม่รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอกของนักแสดง เพื่อให้ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกสามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนนักแสดงเหล่านั้น จะว่าไปแล้ว motion capture มีรากฐานมาจากเทคนิค rotoscoping โดยหนังเรื่องแรกที่เริ่มต้นการปฏิวัติ คือ Final Fantasy: The Spirits Within (2001) แต่ผลงานที่ทำให้ motion capture เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างแท้จริง คือ The Lord of the Rings: The Two Towers เมื่อตัวละครกอลลัมดูมีเลือดเนื้อ เคลื่อนไหว และแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมือนคนจริงๆ จน แอนดี้ เซอร์กิส ซึ่งรับบทกอลลัมในขั้นตอนการถ่ายทำ motion capture ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมของหลายสถาบัน

Movie rating system: ระบบการจัดเรทภาพยนตร์ว่าเหมาะกับผู้ชมวัยใด โดยพิจารณาจากเนื้อหาและการนำเสนอ เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 1968 เพื่อแทนรูปแบบการเซ็นเซอร์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1934 นักทำหนังอาจไม่ส่งผลงานเข้าพิจารณาเรทก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็นิยมทำกัน เพราะระบบจัดเรทเปิดอิสระให้กับผู้สร้าง ตราบเท่าที่คนดูได้รับข้อมูลเพียงพอว่าหนังเรื่องนั้นๆ เหมาะสมกับคนวัยใดเพื่อปกป้องเหล่าเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ปัจจุบันเรทในอเมริกาประกอบไปด้วย G, PG, PG-13, R และ NC-17 ซึ่งเรทหลังสุดถูกเปลี่ยนจากเรท X เพื่อกำจัดภาพลักษณ์และความสับสนกับหนังโป๊ (pornographic) แต่ยังเป็นของแสลงสำหรับเหล่าสตูดิโออยู่ดี เนื่องจากโรงภาพยนตร์หลายแห่งไม่มีนโยบายฉายหนังเรทนี้ ล่าสุดผลงานที่โดนตรีตรา NC-17 คือ Blue Valentine แต่ทางสตูดิโอได้ขอยื่นอุทธรณ์ และกรรมการกก็ตัดสินใจเปลี่ยนเรทเป็น R แทน


Multi-image: การจัดวางภาพโดยแบ่งเฟรมเป็นหลายๆ ช่อง ซึ่งทั้งหมดอาจถ่ายทอดเหตุการณ์เดียวแต่ต่างมุมมอง หรือหลายเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกันก็ได้ ขั้นตอนการสร้าง multi-image อาจใช้เครื่อง optical printer หรือใช้เลนส์ชนิดพิเศษระหว่างถ่ายทำ (เทคโนโลยีดิจิตอลในปัจจุบันส่งผลให้ขั้นตอนการทำ multi-image ไม่ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน) นอกจากนี้ คุณยังสามารถขยับภาพเหล่านั้นไปมาบนจอได้ เช่น ภาพในวงนอกอาจเคลื่อนที่เป็นวงกลมรอบภาพตรงกลาง หรือภาพทางขวาอาจเลื่อนมาทางซ้าย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาพใหม่แทรกเข้ามา

เทคนิค multi-image (บางคนเหมารวมไว้ในกลุ่มเดียวกับ split screen แต่หากจะระบุให้เฉพาะเจาะจงลงไปแล้ว split screen มักจำกัดอยู่แค่การแบ่งจอภาพเป็นสองส่วนเท่านั้น) เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยหนังเงียบเรื่อง The Birth of a Nation (1915) แต่โดดเด่นเป็นที่จดจำอย่างแท้จริงจาก Napolean vu par Abel Gance (1927) ในยุคหนังเสียง เทคนิคนี้นิยมใช้ในฉากตัวละครพูดคุยโทรศัพท์ หรือแสดงให้เห็นภาพกลุ่มคนแสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์เดียวกัน ปัจจุบัน multi-image อาจพบเห็นไม่บ่อยนัก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้กำกับส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันอาจดูจงใจเกินไป หรือชวนให้สับสน งุนงง เพราะคนดูต้องตั้งสมาธิไปกับหลากหลายความเคลื่อนไหวบนจอ

กระนั้นตัวอย่างการใช้ multi-screen ได้เปี่ยมประสิทธิภาพยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ เช่น ฉากไคล์แม็กซ์งานพรอมของหนังเรื่อง Carrie ซึ่งผู้กำกับ ไบรอัน เดอ พัลมา จับภาพนิ่งไปยังตัวละครเอก แล้วใช้ multi-image เคลื่อนไหวเหตุการณ์ย่อยไปตามส่วนต่างๆ บนจอ สะท้อนให้เห็น ความโกลาหลและวุ่นวาย ใน Hulk ผู้กำกับ อั้งลี ใช้การแบ่งจอภาพเพื่อสร้างความรู้สึกของหนังสือการ์ตูน โดยแต่ละเหตุการณ์ในจอภาพต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ก็มีความเหลื่อมทางเวลาและรูปแบบซ้ำซ้อนอยู่ในตัวด้วย ส่วน Time Code ของ ไมค์ ฟิกกิส ได้ก้าวไปไกลยิ่งขึ้นด้วยการถ่ายทำสี่เหตุการณ์ตามเวลาจริงแบบปราศจากการตัดภาพ และฉายให้คนดูเห็นพร้อมๆ กันผ่านการแบ่งจอภาพเป็นสี่จอ “ตลอดทั้งเรื่อง”


Multiplex: ก่อนหน้าทศวรรษ 1960 มีโรงหนังเพียงไม่กี่แห่งที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า จนกระทั่ง สแตนลีย์ เอช. เดอร์วู้ด สร้าง “โรงหนังแฝด” แห่งแรกขึ้นกลางห้างสรรพสินค้าย่านชานเมืองในมลรัฐมิสซูรีเมื่อปี 1963 มัลติเพล็กซ์ของเดอร์วู้ดใช้เครื่องฉายและแผงขายของกินเล่นเดียวกัน (โรงหนึ่งจุคนได้สามร้อยที่นั่ง อีกโรงสี่ร้อยที่นั่ง) แนวคิดดังกล่าวสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำและกลายเป็นจุดกำเนิดของบริษัท America Multi-Cinema (AMC) ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงหนังระดับแนวหน้าของอเมริกา

ปัจจุบันมัลติเพล็กซ์มักจะหมายความถึงโรงหนังที่ตั้งอยู่รวมกันระหว่าง 12-20 โรง แต่หากมีจำนวนมากกว่า 20 โรงขึ้นไป เรามักจะเรียกว่า เมกาเพล็กซ์ (Megaplex) โดยเมกาเพล็กซ์ที่ใหญ่สุดในโลกตั้งอยู่ในเมืองมาดริด ประเทศสเปน มีจำนวนโรงมากถึง 25 โรง และสามารถจุคนทั้งหมดได้ 9200 ที่นั่ง การถือกำเนิดขึ้นของมัลติเพล็กซ์ทำให้ธุรกิจโรงหนังขนาดเล็กต้องปิดกิจการเป็นทิวแถว นอกจากนี้มันยังถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระยะเวลาการฉายของหนังสั้นลง และจำกัดที่ทางของหนังฟอร์มเล็ก หนังอาร์ต หรือหนังอินดี้ทั้งหลาย


Musical: แนวทางภาพยนตร์ที่เกิดและเติบโตในฮอลลีวู้ด เน้นฉากร้องเพลงและเต้นรำเป็นหัวใจสำคัญของการเล่าเรื่อง ทันทีที่เข้าสู่ยุคซาวด์ออนฟิล์ม หนังเพลงก็พุ่งสู่ความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยสามแนวทางเด่นในยุคแรก คือ 1) หนังเพลงที่ดัดแปลงจากละครเพลงบรอดเวย์ เช่น Show Boat 2) หนังเพลงที่นำฉากร้องเพลงมาต่อๆ กันโดยอาศัยนักร้อง นักเต้น หรือนักแสดงตลกชื่อดังเป็นจุดดึงดูดคนดู เช่น Paramount on Parade และสุดท้าย 3) หนังเพลงที่แสดงให้เห็นเบื้องหลังชีวิตคนในวงการบันเทิง เช่น Broadway Melody

หลังสงครามโลก MGM กลายเป็นสตูดิโอที่เชี่ยวชาญหนังเพลงจนผลิตผลงานคลาสสิกมากมาย อาทิ Meet Me in St. Louis และ An American in Paris ส่วนยุคทองสุดท้ายของหนังเพลง คือ ทศวรรษ 1960 ซึ่งเต็มไปด้วยผลงานน่าจดจำอย่าง West Side Story, The Sound of Music, My Fair Lady และ Mary Poppins ว่ากันว่าความเสื่อมถอยของหนังเพลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากความรู้สึกว่ามันเชยและขัดแย้งกับโลกแห่งความจริง พร้อมกันนั้นตลาดเพลงร็อกและมิวสิกวีดีโอก็เข้ามามีบทบาทแก่งแย่งส่วนแบ่งการตลาด ด้วยเหตุนี้หนังเพลงในยุคถัดมาจึงมักจำกัดฉากร้องเพลงและเต้นรำเอาไว้บนเวที หรือในจินตนาการ แยกขาดจากช่วงเล่าเรื่องอย่างเด็ดขาด เช่น Cabaret ของ บ็อบ ฟอสซี... สำหรับผู้ชมรุ่นใหม่ หนังเพลงเริ่มฟื้นคืนชีพอีกครั้งจากความสำเร็จของหนังเรื่อง Chicago และ Moulin Rouge!


Neorealism: กระแสเคลื่อนไหวของหนังแนวทางนี้เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี อันเป็นผลจากข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภายใต้การปกครองของรัฐบาลฟาสซิสต์และสภาพสังคมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์แนว neorealism เปิดตัวด้วย Open City (1945) ของ โรเบอร์โต รอสเซลลินี ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของหนังในแนวนี้ให้เห็นชัดเจน นั่นคือ เน้นความเหมือนจริง ถ่ายทำในโลเคชั่นจริง ใช้ชาวบ้านจริงๆ แทนนักแสดง ถ่ายทอดให้เห็นปัญหาในชีวิตประจำวันโดยไม่มีการผูกปมซับซ้อน และใช้เทคนิคถ่ายภาพ/ตัดต่อที่เรียบง่าย ไม่เรียกร้องความสนใจจากคนดู นอกจากนี้รอสเซลลินียังได้ความสมจริงเพิ่มจากฟิล์มที่เขาเลือกใช้ ซึ่งให้ภาพเป็นเกรนแตกราวกับหนังสารคดี และเพื่อให้ได้ความรู้สึกของเหตุการณ์ที่สดใหม่ ฉับพลัน ปราศจากการเตรียมการ รอสเซลลินีก็เลือกจะไม่ถ่ายทำด้วยระบบซาวด์ออนฟิล์ม แล้วใช้วิธีการพากย์ทับ หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง และทำให้กระแสหนัง neorealism กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก โดยหนังดังอีกเรื่องในกลุ่มนี้ คือ The Bicycle Thief ของ วิททอริโอ เดอ ซิกา ซึ่งออกฉายสามปีถัดมา

สภาพสังคมที่พัฒนาไปสู่ทางที่ดีขึ้นและความต้องการของเหล่าผู้กำกับที่จะหันไปสร้างผลงานแนวทางอื่นทำให้กระแส neorealism สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1950 แต่อิทธิพลของมันกลับส่งต่อมายังคนรุ่นหลังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต่อผลงานของกลุ่ม French New Wave ไปจนถึงผลงานไตรภาคชุด Apu ของ สัตยาจิต เรย์


Optical printer: อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นเนกาทีฟ หรือโพซิทีฟลงบนแผ่นฟิล์ม ภายในจะประกอบด้วยกล้องและเครื่องฉายหันหน้าเข้าหากัน โดยแหล่งแสงจากในเครื่องฉายจะส่งภาพมายังเลนส์ แล้วอัดลงบนแผ่นฟิล์มในกล้อง ทั้งเครื่องฉายและกล้องจะถูกล็อกให้ทำงานสอดคล้องกัน

โดยทั่วไป optical printer ใช้สำหรับสร้างเทคนิคพิเศษด้านภาพอันหลากหลาย เช่น fade out เกิดจากการค่อยๆ ปิดชัตเตอร์กล้อง ส่วน fade in เกิดจากการค่อยๆ เปิดชัตเตอร์กล้อง ขณะเฟรมภาพมาสเตอร์ ส่วนเทคนิคอื่นๆ ก็เช่น wipe, traveling-matte และ split screen

อีกหนึ่งคุณประโยชน์ของ optical printer คือ สามารถแก้สีและแสง รวมทั้งปรับเปลี่ยนฉากที่ถ่ายทำผิดพลาดด้วยการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนตำแหน่ง หรือการเคลื่อนไหวของกล้อง นอกจากนี้มันยังเป็นเครื่องแปลงรูปแบบฟิล์ม เช่น ขยายฟิล์ม 16 ม.ม. ให้กลายเป็น 35 ม.ม. หรือลดฟิล์มไซส์ใหญ่ให้กลายเป็นฟิล์มขนาด 35 ม.ม. อีกด้วย ในอดีต optical printer เปรียบเสมือนเครื่องมือสารพัดประโยชน์ที่ขาดไม่ได้ในขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ แต่ปัจจุบันมันถูกลดบทบาทลง เพราะการสร้างเทคนิคพิเศษในรูปแบบดิจิตอลทำได้ง่ายกว่า และให้ผลลัพธ์ดีกว่า แม้ว่าขั้นตอนแบบดั้งเดิมจะราคาถูกกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับฟิล์มขนาดใหญ่

Overlap dialogue: บทสนทนาที่พูดขึ้นซ้อนทับกันของสองตัวละครหรือมากกว่า เป็นเทคนิคในการสร้างความสมจริงและเป็นธรรมชาติให้กับหนังเพราะในชีวิตจริง เราไม่ได้รอให้อีกคนพูดจบก่อนเสมอไป สองผู้กำกับที่นิยมใช้เทคนิคนี้ คือ โรเบิร์ต อัลท์แมน และ วู้ดดี้ อัลเลน นอกจากนี้ มันยังอาจหมายถึงบทสนทนาที่ “ล้น” ไปยังฉากถัดไป ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างฉากที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

Pan: การเคลื่อนกล้องในแนวระนาบโดยตัวกล้องไม่ได้ขยับออกจากตำแหน่งเดิม การแพนอาจทำได้ทั้งบนขาตั้งกล้อง และบนบ่าของตากล้อง (handheld) มีพื้นฐานมาจากคำว่า panorama จุดมุ่งหมายหลักๆ ก็เพื่อ 1) ทำให้คนดูเห็นภาพรวมของฉากอย่างครอบคลุม 2) ชี้นำความสนใจของคนดูไปยังเหตุการณ์สำคัญ หรือจุดควรสังเกต และตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ในฉาก ซึ่งการตัดภาพไม่สามารถทำได้ 3) ติดตามการเคลื่อนไหวของนักแสดง หรือยานพาหนะในแนวราบ 4) แทนสายตาตัวละครขณะสำรวจบริเวณโดยรอบ

การแพนกล้องแบบ 360 องศา เรียกว่า circular pan ในหนังเรื่อง Hour of the Wolf ผู้กำกับ อิงมาร์ เบิร์กแมน ตั้งกล้องไว้ตรงกลางโต๊ะอาหารทรงกลม แล้วค่อยๆ แพนไปยังใบหน้าของแขกแต่ละคน ส่วนการแพนกล้องอย่างรวดเร็วจนมองไม่เห็นภาพ “ระหว่างทาง” เราเรียกว่า swish pan ในฉากคลาสสิกฉากหนึ่งของหนังเรื่อง Citizen Kane เทคนิค swish pan ถูกนำมาใช้หลายครั้งเพื่อบ่งบอกถึงกาลเวลาที่ผันผ่าน พร้อมกับความสัมพันธ์ที่เริ่มร่วงโรย เหินห่างของสองสามีภรรยา โดยในช่วงต้น ทั้งสองยังคงหวานชื่น นั่งใกล้ชิดกันที่โต๊ะอาหารและสนทนากันอย่างสนุกสนาน ก่อนบทสนทนาจะเริ่มห้วนลง ส่วนพื้นที่ว่างระหว่างพวกเขาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในช็อตสุดท้าย พวกเขาลงเอยด้วยการนั่งอยู่คนละฟากของโต๊ะอาหาร ต่างฝ่ายต่างทำกิจกรรมของตนโดยไม่พูดจากันเลยสักคำ

Panavision: ระบบการถ่ายทำและฉายภาพยนตร์ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท พานาวิชั่น ในแคลิฟอร์เนีย แต่เดิมระบบ Panavision จะใช้ anamorphic lens บีบภาพลงบนฟิล์ม 35 ม.ม. ก่อนจะนำมาฉายโดยใช้เลนส์แบบเดิมเพื่อให้ได้ภาพมุมกว้าง ส่วนกล้อง Super Panavision จะถ่ายทำโดยไม่บีบภาพลงบนฟิล์ม 65 ม.ม. แล้วนำมาฉาย (ในรูปแบบของฟิล์ม 70 ม.ม.) เป็นระบบจอกว้าง


Parody: เรียกง่ายๆ ได้ว่าหนังตลกล้อเลียน เน้นการนำเอาหนัง (ซีเรียส) เรื่องดังๆ มาล้อเลียน ผ่านมุกตลกหลากหลายประเภท ตั้งแต่การเล่นคำ มุกตลกเจ็บตัว ฯลฯ ตัวอย่างแรกๆ ของ parody คือ Help! Help! (1912) ของ แม็ค เซนเนท ที่ล้อเลียนหนังเรื่อง The Lonely Villa ของ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ และ The Three Ages (1923) ของ บัสเตอร์ คีตัน ซึ่งล้อเลียน Intolerance ของกริฟฟิธ ก่อนหน้าจะมาสร้างหนังตลกโรแมนติก วู้ดดี้ อัลเลน ขึ้นชื่อว่าเป็นนักทำหนังล้อเลียนระดับแนวหน้า เช่น Take the Money and Run ซึ่งล้อเลียนหนังแก๊งสเตอร์ ส่วน Bananas กลับพุ่งเป้าไปยังบรรดาหนังที่พูดถึงการเมืองของอเมริกาใต้ นักทำหนังแนวล้อเลียนอีกคนที่โดดเด่น คือ เมล บรู้กส์ กับหนังดังอย่าง Blazing Saddles และ Young Frankenstein อย่างไรก็ตาม ทั้งบรู้กและอัลเลนมักเน้นล้อเลียนรูปแบบของหนังมากกว่าที่จะล้อเลียนตัวหนังโดยตรง ซึ่งตรงกันข้ามกับหนังแนว parody ยุคใหม่ (อย่าง Scary Movie) ซึ่งน่าจะได้อิทธิพลจากผลงานของกลุ่ม ZAZ อย่าง Airplane! มากกว่า


Point-of-view shot: ในหนังสือ The Five C’s of Cinematography ตากล้อง โจเซฟ วี. มาสเซลลี อธิบายไว้ว่า “point-of view shot หรือเรียกสั้นๆ ว่า POV จะบันทึกภาพจากมุมมองของตัวละคร แต่เนื่องจาก POV อยู่ตรงกลางระหว่างมุมกล้องแบบภววิสัยและอัตวิสัย มันจึงควรถูกแยกออกมาพิจารณาเป็นพิเศษ POV เป็นมุมกล้องภววิสัยที่ใกล้เคียงกับการเป็นมุมกล้องอัตวิสัยมากที่สุด กล้องจะตั้งอยู่เคียงข้างตัวละคร ซึ่งเป็นเจ้าของมุมมอง ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังยืนชิดกับตัวละคร แต่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ผ่านสายตาของตัวละครเหมือน subjective camera ซึ่งกล้องถูกเปลี่ยนมาแทนที่ตัวละคร ดังนั้น POV จึงยังคงความเป็นภววิสัย เนื่องจากกล้องเป็นเหมือนนักสังเกตการณ์ที่ไม่มีใครเห็นและไม่มีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ”

คนดูจะเห็นการใช้มุมกล้องแบบ point-of-view shot และ subjective camera หลายครั้งในหนังเรื่อง The Silence of the Lambs บางทีในฉากเดียวกันด้วยซ้ำ เพื่อให้เรา “อยู่ข้าง” ตัวละครเอก (โจดี้ ฟอสเตอร์) เอาใจช่วยเธอให้ประสบความสำเร็จ โดยมุมกล้องแบบ subjective camera จะถูกนำมาใช้หลักๆ ในตอนฆาตกรออกล่าเหยื่อและตอนที่ตัวละครเอกรำลึกถึงพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วน POV จะเป็นเหมือนช็อตถ่ายข้ามหัวไหล่ เพียงแค่คนดูจะไม่ได้เห็นหัวไหล่ และที่สำคัญ ตัวละครจะไม่มองตรงมายังกล้องเหมือน subjective camera