วันศุกร์, สิงหาคม 16, 2556

Passion: รวมมิตรในรสชาติที่คุ้นเคย


ฮอลลีวู้ดในปัจจุบันเหลือคนทำหนังแบบ ไบรอัน เดอ พัลมา น้อยลงทุกที ในที่นี้หมายความถึงวิธีที่เขาเลือกช็อต การถ่ายทำโดยอาศัย storyboard การยืนกรานใช้ขาตั้งกล้อง หรือสเตดิแคม แล้วปล่อยให้บ่าของตากล้องได้พักผ่อนกับเขาบ้าง การจัดองค์ประกอบภาพอย่างละเอียด การจัดแสงเพื่อเน้นอารมณ์ การปล่อยช็อตให้นานกว่าเสี้ยววินาที (ผลลัพธ์จากการคำนวณเวลาเฉลี่ยต่อช็อตของ Passion อาจทำให้คุณนึกตกใจว่านี่เป็นหนังปี 2013 หรือหนังจากทศวรรษ 1980 กันแน่) การขับเน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างฉากหน้า (foreground) กับฉากหลัง (background) ด้วยเทคนิค split diopter (สร้างภาพลวงของความชัดลึก) การแพนกล้องกลับไปกลับมาระหว่างบทสนทนาของสองตัวละครแทนการตัดภาพ การเลือกถอยกล้องออกมาสักสองสามเมตรเพื่อถ่ายภาพ two-shot โดยไม่เสยกล้องใส่หน้านักแสดงแบบพร่ำเพรื่อ และแน่นอน เครื่องหมายการค้าที่แทบจะขาดไม่ได้ของเขา นั่นคือ การใช้เทคนิคแยกจอภาพเพื่อถ่ายทอดสองเหตุการณ์ (หรืออาจมากกว่านั้น เช่น กรณีฉากไคล์แม็กซ์ใน Carrie) ไปพร้อมกันๆ

สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการตัดต่อที่วุ่นวายและความรู้สึก “สมจริง” จากกล้องสั่นๆ แบบ hand-held หนังของเดอ พัลมาอาจให้ความรู้สึกล้าสมัย ดูปรุงแต่ง และไม่เนียน แต่สำหรับนักดูหนังรุ่นเก่า ทักษะ คลาสสิก” ดังกล่าวเปรียบเสมือนสายลมแห่งชีวิตชีวาและอารมณ์ถวิลหาอดีต

น่าสังเกตว่ากาลครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ไบรอัน เดอ พัลมา ถือเป็นนักทำหนังตลาดระดับแนวหน้า แต่หลังจากความล้มเหลวของ Mission to Mars เขาก็ไม่เคยร่วมงานกับสตูดิโอฮอลลีวู้ดอีกเลย (แม้จะยังได้รับข้อเสนออยู่เนืองๆ เช่น สองสามโครงการสร้างหนังเกี่ยวกับ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก ซึ่งล้วนถูกนำมาเสนอให้เขาก่อน) โดยผลงานในยุคหลังๆ มักจะสร้างขึ้นโดยอาศัยแหล่งทุนอิสระในยุโรป ซึ่งชื่นชอบสไตล์การทำหนังของเขา กาลเวลาที่ผันผ่าน เช่นเดียวกับแนวทางการสร้างหนังกระแสหลักที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ทำให้เดอ พัลมากลายสภาพเป็นคนทำหนังอาร์ต ถึงแม้ว่าหนังที่เขาสร้างจะยังคงรูปแบบความบันเทิงและเนื้อหาเดิมๆ ไว้ครบถ้วน ที่สำคัญ หนังทุกเรื่องของเขาหลังจาก Mission to Mars ดูจะล้มเหลวในเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฉายแบบปูพรมทั่วประเทศ (The Black Dahlia) หรือจำกัดโรง (Femme Fatale, Redacted) จนไม่น่าแปลกใจที่เหล่าสตูดิโอใดในอเมริกาไม่กระตือรือร้นที่จะรับจัดจำหน่าย Passion หลังหนังได้กระแสตอบรับค่อนข้างก้ำกึ่งจากเทศกาลหนังโตรอนโต

ความสนุก น่าสนใจของ Passion หาได้ยึดติดอยู่กับแค่เนื้อเรื่อง หรือความซับซ้อนของประเด็นสังคม การเมือง หากแต่เป็นสไตล์ที่ใหญ่ เยอะ และฉูดฉาด จนหลายครั้งเดินอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างจริงจังกับล้อเลียน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เดอ พัลมาไม่ใช่ผู้กำกับที่สนใจการวิเคราะห์จิตตัวละคร ความลุ่มหลง (passion) ที่เห็นได้ชัดของเขา คือ ภาพยนตร์ ความรุนแรง และผู้หญิง (แม้บางคนจะชอบโจมตีหนังของ เดอ พัลมาว่าเหยียดเพศ เนื่องจากตัวละครผู้หญิงในหนังหลายเรื่องของเขามักจบชีวิตอย่างสยอง หรือน่าสมเพช) ซึ่งทั้งหมดผสมกลมกลืนกันอยู่ในหนังอย่าง Passion 

เรื่องราวการขับเคี่ยวของสองสาวสองบุคลิก คนหนึ่งผมสีบลอนด์ ดูเย่อหยิ่ง มั่นใจ และค่อนข้างร้ายกาจ (ราเชล แม็คอดัมส์) อีกคนผมสีน้ำตาล ดูเงียบขรึม เรียบร้อย และเก็บตัว (นูมิ ราเพซ) คนแรกชื่อคริสตินเป็นเจ้านายของคนหลังที่ชื่ออิสซาเบลล์ ในช่วงแรกทั้งสองดูจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จนกระทั่งวันหนึ่งคริสตินขโมยไอเดียโฆษณาของอิสซาเบลล์มาเป็นเครดิตของตนแบบหน้าด้านๆ พร้อมกับบอกว่า “นี่ไม่ใช่การทรยศหักหลัง มันก็แค่ธุรกิจ ต่อมาอิสซาเบลล์จึงนำบทเรียนดังกล่าวมาศอกกลับด้วยการชิงปล่อยโฆษณาดังกล่าวทาง YouTube และสร้างกระแสสนใจจนมีคนมากดดูมากถึง 10 ล้านวิวภายในเวลาเพียง 5 ชม. เมื่อโดนหักหน้ากันแบบแคร์ว่าใครใหญ่กว่าใคร คริสตินจึงประกาศสงครามเต็มรูปแบบ  และสถานการณ์ก็เริ่มตึงเครียดจนพัฒนาไปสู่จุดเดือดชนิดเลือดตกยางออก

ภาพยนตร์เป็นรูปแบบหนึ่งของการถ้ำมอง ประเด็นดังกล่าวมักปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในหนังหลายเรื่องของเดอ พัลมา (เช่นเดียวกับฮิทช์ค็อกซึ่งเดอ พัลมามักถูกนำไปเปรียบเทียบ) และ Passion ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น คริสตินแก้นแค้นอิสซาเบลล์ด้วยภาพจากกล้องวงจรปิดและคลิปฉาวที่เดิร์ค (พอล แอนเดอร์สัน) คู่รักของคริสตินซึ่งอิสซาเบลล์ลักลอบคบชู้ ถ่ายไว้ขณะเขาร่วมรักกับเธอ โฆษณาที่สร้างปัญหาเป็นภาพของหญิงสาวถ่ายคลิปวิดีโอจากสมาร์ทโฟน ซึ่งถูกใส่ไว้ในกระเป๋าหลังของกางเกงยีนเพื่อดูว่าใครบ้างที่ลอบมองก้นเธอ ความลุ่มหลง อยากได้อยากโดนของดานี (คาโรไลน์ เฮอร์เฟิร์ท) ทำให้เธอคอยลอบสังเกตอิสซาเบลล์ทุกย่างก้าว

การถ้ำมองยังกินความรวมไปถึงฉากไคล์แม็กซ์อีกด้วย ซึ่งใช้เทคนิคแยกจอภาพเพื่อนำเสนอการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง Afternoon of a Faun ของ เจอโรม ร็อบบินส์ ควบคู่กับเหตุการณ์ฆาตกรรม เหตุผลที่เดอ พัลมาเลือกใช้บัลเล่ต์เรื่องนี้ก็เพราะเรื่องราวในบัลเล่ต์เวอร์ชั่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงจากเวอร์ชั่นดั้งเดิมของ วาสลาฟ นิจินสกี้ เมื่อปี 1912 ซึ่งเล่าถึงการเกี้ยวพาราสีระหว่างฟอน (เทพในตำนานโรมัน ร่างครึ่งบนเป็นคนครึ่งล่างเป็นแพะ) กับเหล่านางไม้ มาเป็นการซ้อมเต้นบัลเล่ต์ของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง โดยฉากบนเวทีเป็นการจำลองผนังสามด้านของสตูดิโอซ้อมบัลเล่ต์ และผู้แสดงจะหันมองตรงมาทางคนดู ซึ่งเปรียบเสมือนผนังด้านที่เป็น “กระจก” ของสตูดิโอ ส่งผลให้ผู้ชมเหมือนกำลัง “ลอบมอง” ช่วงเวลาอันเป็นส่วนตัวของสองนักบัลเล่ต์ในระยะประชิด

นอกจากนี้ Afternoon of a Faun ยังกรุ่นกลิ่นอายเรื่องเพศเด่นชัด (เวอร์ชั่นออริจินัลของนิจินสกี้ถือว่าอื้อฉาวอยู่พอสมควรในยุคนั้นเนื่องจากมีช่วงหนึ่งที่ดูเหมือนตัวละครฟอนกำลังสำเร็จความใคร่ให้ตัวเอง) ส่งผลให้มันช่วยสะท้อนอารมณ์รักร่วมเพศระหว่างสามสาวตัวละครหลักได้อย่างกลมกลืน (ใน Love Crime หนังฝรั่งเศสต้นฉบับของ Passion ตัวละครคริสตินสวมบทโดยนักแสดงหญิงวัยกลางคนอย่าง คริสติน สก็อตต์ โธมัส ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับอิสซาเบลล์โอนเอียงไปทางแม่-ลูก/ครู-ลูกศิษย์ มากกว่าจะส่อนัยยะทางเพศเหมือนเวอร์ชั่นเดอ พัลมา)

กระจกปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งใน Passion ทั้งในห้องน้ำของคริสติน อาคารสูงระฟ้า ห้องทำงาน ร้าอาหารที่ดานีบังเอิญเห็นอิสซาเบลล์กับเดิร์คอยู่ด้วยกัน หรือกระทั่งแคทวอล์คซึ่งทำจากกระจกและเก้าอี้พลาสติกใส หนังฉายซ้ำบางฉากอย่างจงใจ เช่น ช็อตคริสตินกับอิสซาเบลล์นั่งดูคลิปโฆษณาจากแม็คบุ๊คในตอนต้นเรื่องและช็อตทำนองเดียวกันในช่วงท้ายเรื่องระหว่างอิสซาเบลล์กับดานี เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าสุดท้ายอิสซาเบลล์ก็กลายมาดำรงสถานะไม่ต่างจากคริสตินในตอนต้น เธอมั่นใจ กล้าพูดความคิดตรงๆ และออกจะวางอำนาจเหนือกว่าในแบบเจ้านาย ขณะเดียวกันดานีก็ไม่ต่างกับอิสซาเบลล์ตรงเธอไม่กลัวที่จะตอบโต้กลับด้วย ไม้แข็งเพื่อเรียกร้องสิทธิพึงมีพึงได้ของตัว ณ จุดนี้เอง หนังสื่อความหมายให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคริสตินกับอิสซาเบลล์หาได้แตกต่างเหมือนที่บุคลิก หรือรูปร่างหน้าตาภายนอกบ่งบอกแต่อย่างใด เพราะก่อนจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารคริสตินเองย่อมเคยตกอยู่ในสถานะเดียวกับอิสซาเบลล์มาก่อน ในทางตรงกันข้าม พวกเธอสองคนกลับเป็นเหมือนฝาแฝด หรือภาพสะท้อนจากกระจก

ในฉากความฝัน ฝาแฝดของคริสตินที่เธอเล่าว่าเสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนอายุ 6 ได้โผล่มาร่วมงานศพโดยสวมรองเท้าคู่ที่คริสตินแสดงท่าทีชื่นชอบระหว่างไปชมการซ้อมเดินแบบกับอิสซาเบลล์ แถมยังทำผมทรงเดียวกับหน้ากาก ซึ่งคริสตินใช้เพิ่มรสชาติให้กับชีวิตเซ็กซ์ (นอกเหนือจากของเล่นอื่นๆ ที่อัดแน่นอยู่เต็มลิ้นชักเธอ) และถูกสวมใส่โดยฆาตกรในฉากไคล์แม็กซ์ของหนัง... เซ็กซ์กับความรุนแรงเป็นสองสิ่งที่มักเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นในหนังของเดอ พัลมา เช่นเดียวกับการทับซ้อนของตัวตนดังจะเห็นได้จากผลงานอย่าง Sisters, Obsession, Body Double, Dressed to Kill, Raising Cain, The Black Dahlia และ Femme Fatale

อาจกล่าวได้ว่า Passion เป็นหนังที่สามารถแบ่งทอนตัวตนออกเป็นสองบุคลิกได้อย่างชัดเจน โดยช่วงครึ่งแรก หนังเล่าเรื่องในสไตล์ภาพยนตร์เมโลดรามาเกี่ยวกับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในออฟฟิศ ฉะนั้นลักษณะภาพโดยรวมจึงเต็มไปด้วยแสงสว่าง เน้นสีสันฉูดฉาดทั้งจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและการตกแต่งฉากจนดูเหมือนหลุดมาจากหนังยุค 1950 ของ ดั๊กลาส เซิร์ค แต่ทันทีที่การแข่งขันเริ่มลุกลามใหญ่โต แล้วพัวพันไปยังการแบล็คเมลและฆาตกรรม หนังก็สลับสับเปลี่ยนบุคลิกอย่างกะทันหันไปสู่แนวทางฟิล์มนัวร์/ทริลเลอร์ ด้วยการเล่นกับแสงเงาคอนทราสต์สูง พร้อมทั้งการปรากฏตัวแบบฉับพลันของม่านบานเกร็ดและมุมกล้อง dutch angle


ณ จุดนี้เองที่เสน่ห์ในผลงานของ ไบรอัน เดอ พัลมา เริ่มเผยโฉมให้เห็นเด่นชัด เขาเชี่ยวชาญทักษะภาพยนตร์ ตลอดจนไวยกรณ์ของแนวทางหนัง (genre) ซึ่งเขาหมกมุ่นมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา และไม่กลัวที่จะหยิบยืมฉาก/พล็อต/หนังที่เขาชื่นชอบ มาถ่ายทอดในแง่ของการคารวะโดยไม่สนใจเสียงติฉินนินทา (ไมเคิลแองเจโล แอนโตนีโอนี ใน Blow Out อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก ใน Sisters, Obsession, Dressed to Kill, Body Double และ เซอร์ไก ไอเซนสไตน์ ใน The Untouchables) ด้วยเหตุนี้ หลายครั้งหนังของเดอ พัลมาจึงประสบความสำเร็จทั้งในแง่ความบันเทิงตามสูตรสำเร็จและการล้อเลียนสูตรสำเร็จ พูดง่ายๆ คือ มันดูน่าตื่นเต้นและน่าขำภายในเวลาเดียวกัน แม้ว่าอารมณ์ขันดังกล่าวอาจค่อนข้างเจาะจงเฉพาะกลุ่มคนดูที่ศึกษา ชื่นชมภาพยนตร์อย่างเกินระดับนักดูหนังปกติทั่วไป ซึ่งอาจมองการเล่นกับสไตล์และเทคนิคแบบหนักมือของเดอ พัลมาว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้รสนิยม อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะสัมผัสได้ไม่ยาก คือ ความรัก ความหลงใหลในภาพยนตร์ของเดอ พัลมา ซึ่งแทรกซึมอยู่แทบจะทุกเฟรมภาพ และถ่ายทอดมายังคนดูอย่างไม่อาจปฏิเสธ เพียงแค่ว่าเขาไม่นิยมบอกกล่าวผ่านความลุ่มลึก นิ่งเงียบในลักษณะของการสะบัดพู่กันลงบนผืนผ้าใบ แต่กลับประกาศก้องผ่านเสียงเพลงแปดหลอดในลักษณะของนักร้องโอเปรา

1 ความคิดเห็น:

Theo กล่าวว่า...

This is awesome!