วันศุกร์, สิงหาคม 16, 2556

The Sapphires: พี่น้องร่วมโซล


ในฉากสำคัญที่ถือเป็นจุดกำเนิดของวงดนตรีสี่สาวเชื้อสายอะบอริจินนาม The Sapphires เดฟ (คริส โอดาวด์) ผู้จัดการวงชาวไอริช ได้อธิบายให้พวกสาวๆ ฟังถึงความแตกต่างระหว่างดนตรีคันทรีกับโซล ซึ่งอาจมีแก่นหลักร่วมกันเกี่ยวกับความสูญเสีย พลัดพราก แต่ขณะที่ฝ่ายแรกตัดสินใจยอมรับชะตากรรมและนอนโอดครวญอย่างสิ้นหวัง ฝ่ายหลังกลับพยามยามดิ้นรน ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิ่งที่ถูกแย่งชิงไปนั้นกลับมา แล้วยืนกรานที่จะมองหาความหวังท่ามกลางความเศร้าสะเทือนใจ ด้วยแก่นดังกล่าว ตลอดจนอัจฉริยภาพของผู้ก่อตั้งโมทาวน์ในยุค 1960 พวกเราจึงได้อิ่มเอมไปกับบทเพลงสุดคลาสสิกอย่าง What a Man และ I Can't Help Myself (Sugar Pie Honey Bunch)

อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง The Sapphires เองก็ไม่ต่างจากท่วงทำนองสนุกสนาน เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาเหล่านั้น เพราะมันได้แปรเปลี่ยนความสูญเสีย การพลัดพราก รวมทั้งบาดแผลจากประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายให้กลายเป็นความหวังและการมองโลกในแง่ดี

โดยเปลือกนอกแล้ว หนัง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริง เรื่องนี้อาจไม่ต่างจากสูตรสำเร็จของหนังเพลง ซึ่งเราเห็นกันจนเกร่อ แต่แง่มุมเข้มข้นทางประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกเข้ามาได้ช่วยเพิ่มน้ำหนัก ความเข้มข้นทางดรามาให้กับเรื่องราวอันบันเทิงเริงรมย์ เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและบทเพลงอันไพเราะ เกี่ยวกับการเดินทางจากดินสู่ดาวของสามสาวพี่น้องในชุมชนอะบอริจินอันห่างไกล แร้นแค้น ที่ชื่นชอบการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ พวกเธอเริ่มต้นตามล่าหาฝันด้วยการโบกรถไปประกวดร้องเพลงยังเวทีเล็กๆ ในเมืองบ้านนอก ท่ามกลางกลุ่มคนดูผิวขาวที่ไม่ค่อยเป็นมิตร และไม่นึกขำกับการหยอดมุกของเกล (เดบอราห์ เมลแมน) ว่า พวกคุณกำลังยืนอยู่บนแผ่นดินของคนดำ แม้สุดท้ายความพยายามดังกล่าวจะจบลงอย่างรวดเร็วด้วยการคว้าน้ำเหลว สาเหตุไม่ใช่เพราะพวกเธอแร้นแค้นพรสวรรค์ แต่เป็นเพราะหัวจิตหัวใจของชาวบ้านผิวขาวในยุคนั้น (ปี 1968) ยังคงอัดแน่นด้วยอคติและความหวาดกลัว แต่อย่างน้อยพวกเธอก็สร้างความประทับใจให้กับเดฟ พิธีกรขี้เหล้าในงาน ซึ่งมองเห็นแววบางอย่าง ก่อนจะอาสาแปลงโฉมสาวๆ ให้พร้อมสำหรับเวทีที่ใหญ่กว่า นั่นคือ การเดินทางไปร้องเพลงให้กับเหล่าทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เดฟจะมองการเลือกร้องเพลงคันทรีของสาวๆ อะบอริจินว่าเป็นความผิดพลาด พร้อมทั้งแนะนำให้พวกเธอเปลี่ยนมาร้องเพลงโซลแทน เพราะตามคำนิยามแล้ว โซลคือดนตรีที่ถือกำเนิดจาก“ประสบการณ์ของคนผิวดำในอเมริกา” มันเป็นดนตรีของผู้ถูกกดขี่ ของชนกลุ่มน้อย ของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์กลับคืนมา นอกเหนือไปจากเหตุผลเรื่องความนิยมแห่งยุคสมัย (โมทาวน์กำลังเฟื่องฟู) และข้อเท็จจริงที่ว่ามันน่าจะเป็นดนตรีที่ถูกอกถูกใจ สร้างความฮึกเหิม คึกคักให้กับเหล่าทหารผิวดำที่เข้าร่วมรบในสงครามเวียดนามได้มากกว่าแล้ว โซลคือตัวเลือกซึ่งเหมาะกับสาวๆ เชื้อสายอะบอริจินอย่างที่สุด แม้ว่ามันจะให้ความรู้สึกของ “คนเมือง” ก็ตาม ขณะที่เพลงคันทรีสอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชนบ้านนอกอันห่างไกลของพวกเธอ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับการตกปลา ล่าสัตว์มากกว่าการเต้นรำตามผับ ทั้งนี้เพราะโซลเข้าใจถึงหัวอกของการดิ้นรนต่อสู้ ตลอดจนการพลัดพรากที่เหล่าชนพื้นเมืองอะบอริจินต้องเผชิญหลังการสร้างอาณานิคมของชนผิวขาว ในทางตรงกันข้าม เพลงคันทรี หรือเพลงลูกทุ่งตะวันตกเปรียบแล้วก็ไม่ต่างจากดนตรีของผู้กดขี่ ที่มีต้นกำเนิดมาจากยุโรป (เพลงโฟล์คของอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์)

นอกจากนี้ ตัวหนังเองยังเชื่อมโยงชะตากรรมของคนผิวดำในอเมริกากับชนเผ่าอะบอริจินในออสเตรเลียผ่านภาพข่าว ที่ตัดแทรกมาเป็นช่วงๆ อีกด้วย เช่น เครดิตช่วงต้นเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคลิปคำให้สัมภาษณ์ของ  มูฮาหมัด อาลี โดยแบ็คกราวด์เป็นเสียงเพลงอะบอริจิน Ngarra Burra Ferra จากนั้นในช่วงท้ายเรื่อง เสียงเพลงนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คราวนี้ภาพบนจอเป็นคลิปเสียงปราศรัยของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ส่วนข่าวการลอบสังหารเขาก็กลายมาเป็นนาทีประวัติศาสตร์ที่ชาวอะบอริจินเฝ้าชมอย่างตั้งอกตั้งใจไม่แพ้เหล่าคนผิวดำในอเมริกา (นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิชาวอะบอริจินบางคนในยุค 1970 มักจะเรียกตัวเองว่าเป็น “คนดำ” และปัจจุบันมันก็เป็นคำที่ถูกใช้โดยทั่วไปเพื่อกล่าวถึงชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้วชนเผ่าอะบอริจินจะมีรากเหง้าต้นกำเนิดใกล้เคียงกับชาวเอเชียและชาวยุโรปมากกว่าคนผิวดำในแอฟริกาก็ตาม)

The Sapphires อาจไม่ได้สะท้อนภาพชีวิตในชุมชนของอะบอริจินอย่างสมจริงและหนักหน่วงแบบ Samson and Delilah (2009) แต่ขณะเดียวกันก็หาได้ล่องลอยอยู่บนปุยเมฆแห่งอารมณ์ฟีลกู๊ดเสียทั้งหมด หลักฐานดังกล่าวปรากฏชัดตั้งแต่ฉากแรก เมื่อหนังเริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับ Stolen Generations ซึ่งหมายถึงเด็กๆ ชาวอะบอริจินที่ถูกพรากจากอ้อมอกพ่อแม่ไปอาศัยอยู่ในแหล่งพักพิงแห่งใหม่ จัดหาโดยรัฐบาล เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้วิถีแห่งคนผิวขาว นโยบายดังกล่าว ซึ่งหลายคนโจมตีว่าไม่ต่างอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะเนื้อแท้ของมันคือการกำจัดความแตกต่าง ดำเนินอยู่นานหลายทศวรรษ (1909-1969 แต่ในบางพื้นที่การ “ขโมย” เด็กยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทศวรรษ 1970) ก่อนรัฐบาลภายใต้การนำของรัฐมนตรี เควิน รัดด์ จะเปิดแถลงการณ์ขอโทษชาวอะบอริจินอย่างเป็นทางการในปี 2008 (หนังเรื่อง Rabbit-Proof Fence เมื่อปี 2002 ของ ฟิลิป นอยซ์ ได้พูดถึงประวัติศาสตร์หน้านี้อย่างลงลึกในรายละเอียดมากกว่า โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของเด็กหญิงอะบอริจินสองคนที่หลบหนีจากศูนย์พักพิงของรัฐบาล แล้วเดินเท้าเป็นระยะทาง 1500 ไมล์เพื่อกลับไปยังบ้านเกิด)

ผลพวงจาก Stolen Generations ได้แก่ เคย์ (ชารี เซบเบนส์) ซึ่งถูก ขโมย” จากอ้อมอกแม่และถิ่นฐานบ้านเกิดไปตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องด้วยสีผิวของเธอค่อนข้างอ่อน จึงถูกมองว่าน่าจะสามารถใช้ชีวิตกลมกลืนไปกับเหล่าคนขาวได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายกลับเติบโตขึ้นมาเป็นตัวละครที่ติดอยู่กึ่งกลางระหว่างสองโลก เธอไม่ขาวพอจะเป็น ออสเตรเลียน”  และขณะเดียวกันก็ไม่ดำพอจะเป็น “อะบอริจิน” ดังจะเห็นได้จากความรู้สึกแปลกแยกจากเหล่าเพื่อนสาวผมบลอนด์แสนบอบบางทั้งหลาย จนเธอตัดสินใจคว้าโอกาสที่จะไปร้องเพลงกับเหล่าสาวๆ ได้ไม่ยาก แต่กระนั้นก็ต้องจำทนคำดูหมิ่น ถากถางจากเกล ซึ่งมองเธอเป็นเหมือนผู้ทรยศต่อเชื้อชาติและวัฒนธรรม ในฉากที่เกลกับซินเธีย (มิแรนดา แท็บเซลล์) เดินทางมาพบเคย์ที่อพาร์ตเมนต์ในกรุงเมลเบิร์นเพื่อชักชวนให้เธอมาเข้าร่วมวง หลังทั้งสามพลัดพรากจากกันมานานหลายปี เกลได้พูดถึงเคย์ว่า “She’s lost, that one.” ซึ่งอาจตีความได้ทั้ง เธอกำลังสับสนหลงทาง หรือ เธอสูญหายไปแล้ว พูดอีกอย่าง คือ เกลเชื่อว่าเคย์ได้ผันสถานะจากพี่น้องร่วมสายเลือดไปเป็นหนึ่งเดียวกับผู้กดขี่

คำกล่าวของเกลอาจไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงนัก เคย์ได้สูญเสียตัวตน (identity) และไม่แน่ใจว่าตนเองควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมกลุ่มใด น่าสนใจว่าภาวะล่องลอยโดยปราศจากนิยามที่แน่ชัดนี้ยังสะท้อนอารมณ์ร่วมสมัยของประเทศเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย (multiculture) อย่างออสเตรเลีย ซึ่งถูกมองว่าเผชิญวิกฤติในแง่ตัวตนแห่งชาติมาโดยตลอดอันเป็นผลจากการเปิดรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของผู้อพยพสารพัดเชื้อชาติ ภาวะโลกาภิวัฒน์ ความขัดแย้งของสภาพภูมิประเทศ/เศรษฐกิจ (ใกล้ชิดกับภูมิภาคเอเชียมากกว่า) กับวิถีปฏิบัติ (พยายามจะผูกติดกับยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ) ฯลฯ

มองในแง่นี้การเดินทางไปเวียดนามของเคย์จึงไม่ใช่เพียงเส้นทางสู่ความสำเร็จ ชื่อเสียง หรือเงินทองเท่านั้น แต่ยังเป็นการบากบั่นเดินทางไกลข้ามน้ำ ข้ามมหาสมุทร เพื่อสุดท้ายจะได้ค้นพบหนทางกลับสู่บ้านเกิด (เช่นเดียวกับสองเด็กสาวใน Rabbit-Proof Fence) ที่นั่นเธอได้พบรักกับนายทหารแอฟริกัน-อเมริกัน (ทอรี คิตเติลส์) ในสายตาของเขา สีผิวของเธอซีดขาวจนเธอต้องยืนกรานว่าเธอ เป็นคนดำ” ไม่ต่างจากเขา แต่ในสายตาของนายทหารผิวขาว ซึ่งกำลังใกล้จะตายหลังจากค่ายทหารถูกบุกจู่โจมแบบเฉียบพลัน เธอยังคงเป็น “หมาดำ” หรือ นิโกร ที่น่ารังเกียจอยู่ดี... บางทีนาทีแห่งการเผชิญหน้ากับอคติกลับทำให้เธอตระหนักอย่างแท้จริงถึงที่ทางของตนเองบนโลกใบนี้

The Sapphires ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเราได้ถูกทอนให้สั้นลงจากเวอร์ชั่นดั้งเดิมที่เข้าฉายในออสเตรเลีย โดยหนึ่งในฉากซึ่งถูกตัดออก (แต่ปรากฏให้เห็นแวบๆ ในหนังตัวอย่าง) คือ ฉากที่กลุ่มสี่สาวนักร้องและเดฟขับรถไปเจอกลุ่มทหารเวียดกงตอนกลางดึก เดฟพยายามจะขอผ่านทางโดยอธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่าพวกเขาเป็นนักร้อง ไม่ใช่ทหาร แต่ก็ไม่เป็นผล และชั่วเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายนั้นเอง เคย์ตัดสินใจสื่อสารกับทหารเวียดกงด้วยภาษาอะบอริจิน วิธีดังกล่าวได้ผล และทุกคนก็รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด


ฉากนี้มีความสำคัญตรงที่มันแสดงให้เห็นการหวนคืนสู่ รากเหง้า ของเคย์ แล้วอ้าแขนเปิดรับตัวตน ซึ่งเคยถูกรัฐบาลแย่งชิงไปและพยายามกลบฝัง พร้อมกันนั้นหนังก็ได้เชื่อมโยงเวียดกง คนผิวดำ และอะบอริจินเข้าด้วยการในฐานะผู้ถูกกดขี่ ซึ่งพยายามต่อสู้ดิ้นรนให้หลุดพ้นจากวิบากกรรมอันเกิดจากน้ำมือคนผิวขาว (แน่นอน ทหารเวียดกงย่อมไม่เข้าใจว่าเคย์พูดอะไร แต่ก็ตัดสินใจปล่อยทุกคนไปโดยไม่ทำอันตรายใดๆ เพราะตระหนักได้ว่าพวกเธอไม่ใช่อเมริกันผิวขาว) ซึ่งนั่นยิ่งทำให้การมา สร้างความบันเทิง” ให้ทหารอเมริกันของสี่สาวอะบอริจินกลายเป็นเรื่องย้อนแย้งอันน่าขบขัน (ในความเป็นจริง สองสมาชิกของวงไม่ได้เดินทางมาเวียดนามเพราะพวกเธอไม่เห็นด้วยกับสงคราม) ไม่แตกต่างจากบทสรุปของเกล ซึ่งแม้จะเจ็บแค้นกับการกระทำของรัฐบาลผิวขาวในอดีต และโมโหความพยายามจะเป็น คนขาวของเคย์มากแค่ไหน แต่สุดท้ายเธอกลับได้ลงเอยแต่งงานกับหนุ่มไอริชอย่างเดฟ และ (ในฉากที่มุ่งเน้นอารมณ์ขันเป็นหลัก) ยืนกรานที่จะปฏิเสธวิถีแห่งอะบอริจิน รวมทั้งละทิ้งชุมชนบ้านเกิดเพื่อย้ายไปสร้างครอบครัวในตัวเมือง... ดูเหมือนว่าทุนนิยม (และความรัก?) จะมีพลังในการดูดกลืนวัฒนธรรม ตลอดจนทำลายเส้นแบ่งทางเชื้อชาติในระดับรุนแรงยิ่งกว่านโยบายใดๆ ของรัฐบาลเสียอีก

ไม่มีความคิดเห็น: