วันเสาร์, ธันวาคม 07, 2556

Rush: ความตายอันหอมหวาน


กีฬาแข่งรถฟอร์มูลาวัน หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีมอื่นๆ เช่น กระโดดร่มดิ่งพสุธา บันจีจัมพ์ และมอเตอร์ไซค์วิบาก น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสัญชาตญาณแห่งความตายในความหมายของฟรอยด์ หรือภาวะที่สิ่งมีชีวิตปรารถนาจะกลับคืนสู่สภาพดั้งเดิม ซึ่งก็คือไร้ชีวิตนั่นเอง เพราะตามสถิติที่  นิกิ เลาดา (เดเนียล บรูห์ล) ชอบยกขึ้นมาอ้าง นักแข่งรถฟอร์มูลาวันมีโอกาสเสียชีวิตขณะแข่งรถสูงถึง 20% และโครงสร้างรถที่บางเฉียบ ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็ไม่ต่างอะไรกับโลงศพเคลื่อนที่ ฟรอยด์บอกว่าสัญชาตญาณแห่งความตายมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน และโดยปกติแล้วจะถูกกดทับไว้ด้วยขั้วตรงข้ามอย่างสัญชาตญาณในการดำรงชีวิต หรือภาวะที่สิ่งมีชีวิตตอบสนองตามความต้องการของร่างกาย เช่น หาอาหารมาบำบัดความหิว หรือมีเพศสัมพันธ์เพื่อสืบต่อชาติพันธุ์

ถึงแม้สองตัวละครเอกใน Rush จะมีอาชีพเป็นนักแข่งรถฟอร์มูลาวันทั้งคู่ และคงเสพติดอะดรีนาลีนจากการเฉียดใกล้ความตายไม่แพ้กัน แต่ในสายตาของ ปีเตอร์ มอร์แกน มือเขียนบทที่เข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสองครั้ง พวกเขาดูจะเปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามในทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ หรือแนวคิดในการดำรงชีวิตและทัศนคติต่ออาชีพแข่งรถ ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาต้องกระทบกระทั่งกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงทั้งในและนอกสนามแข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต่างกำลังพยายามจะคว้าตำแหน่งแชมป์โลกประจำปี 1976 มาครอง คนหนึ่งในฐานะแชมป์เก่า อีกคนในฐานะผู้ท้าชิงที่ฝีมือทัดเทียมกัน การขับเคี่ยวดังกล่าวเป็นไปอย่างสูสี (และสุดท้ายตัดสินด้วยความต่างเพียงหนึ่งคะแนนเท่านั้น) อัดแน่นด้วยจุดพลิกผันมากมายจนไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดผู้กำกับ รอน โฮเวิร์ด ถึงแสดงท่าทีสนใจอยากนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แม้ว่าหนังซิ่งรถจะเป็นยาขมบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ นอกเหนือไปจากหนังชุด Fast and Furious ซึ่งในภาคหลังๆ ก็เริ่มก้าวเข้าใกล้ความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่มากกว่าหนังขับรถแข่งเข้าไปทุกที

สัมพันธภาพทั้งรักทั้งเกลียดแบบ frenemy ระหว่างเลาดา กับ เจมส์ ฮันท์ (คริส เฮมส์เวิร์ธ) เป็นภาพสะท้อนที่คล้ายคลึงกับการชิงไหวชิงพริบระหว่าง ริชาร์ด นิกสัน และ เดวิด ฟรอสต์ ในผลงานชิ้นแรกที่โฮเวิร์ดกับมอร์แกนผนึกกำลังกันเรื่อง Frost/Nixon  (2008) หรือหากจะย้อนไปไกลกว่านั้นอีกก็อาจกินความหมายรวมถึงการปะทะกันระหว่างโลกเก่า (ราชินีอลิซาเบ็ธที่สอง) กับโลกใหม่ (โทนี แบลร์) ในบทภาพยนตร์เรื่อง The Queen (2006) ที่สร้างชื่อให้มอร์แกนได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก

เพียงไม่กี่ฉากแรกหนังก็ปูพื้นให้เห็นคุณลักษณะที่แตกต่างของสองตัวละครหลักในทันที โดยเริ่มจากเปิดตัวนักแข่งชาวออสเตรียอย่างเหมาะเจาะในสนามแข่ง เยอรมัน กรังด์ปรีซ์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1976 เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพของตัวละคร และความทุ่มเทต่อกีฬาแข่งรถของเขา จากนั้นในทางตรงกันข้ามหนังได้ตัดย้อนกลับไปยังอดีตเมื่อราวหนึ่งทศวรรษก่อนหน้าเพื่อแนะนำนักแข่งรถชาวอังกฤษ โดยคนดูจะเห็นเขาบุกพรวดพราดเข้ามาในโรงพยาบาลในสภาพสะบักสะบอม พร้อมกับแนะนำตัวสไตล์ 007 (“ฮันท์... เจมส์ ฮันท์”) ทุกคนหันมามองเขาเป็นตาเดียวด้วยอารมณ์พรึงเพริดกึ่งสงสัยใคร่รู้ จากนั้นในไม่กี่นาทีต่อมานางพยาบาลก็เริ่มปลดเสื้อผ้าเขาเพื่อทำแผลไปพร้อมๆ กับปลดเสื้อผ้าตัวเองเพื่อให้บริการนอกเหนือคำสั่งแพทย์ด้วยสีหน้ายินดีเปรมปรีดิ์ เสียงบรรยายของฮันท์อธิบายเหตุผลในทำนองว่าการพาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับความตายจะทำให้ไฟชีวิตคุณยิ่งลุกโชน และผู้หญิงก็สามารถสัมผัสได้ถึงพลังดังกล่าวจึงพากันพุ่งเข้าหาคุณดุจแมงเม่าบินเข้ากองไฟ แต่จริงๆ แล้วมีความเป็นไปได้สูงว่าใบหน้าหล่อเหลา ผมบลอนด์ยาว และหุ่นเป๊ะราวนายแบบกางเกงใน คาลวิน ไคลน์ น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการดึงดูดสาวๆ เสียมากกว่า

ไม่เชื่อก็ลองดู นิกิ เลาดา เป็นตัวอย่าง หนุ่มผมสั้นสีเข้ม รูปร่างกะทัดรัดเริ่มต้นอาชีพนักแข่งรถมาพร้อมๆ กับฮันท์ แต่เขากลับไม่เคยเป็นที่นิยมในหมู่เพศหญิง อันที่จริง เขาไม่เคยเป็นที่นิยมไม่ว่าจะในหมู่คนเพศไหนก็ตาม แน่นอนเขาอาจเก่งกาจเรื่องเครื่องยนต์กลไก รู้ดีว่าต้องปรับปรุงรถในจุดใดบ้างเพื่อให้มันวิ่งได้เร็วขึ้น และมีพรสวรรค์ในการขับรถแข่งไม่เป็นสองรองใคร แต่การที่เขามักจะโพล่ง ข้อเท็จจริงเหล่านั้นออกมาตรงๆ ก็ทำให้คนอื่นนึกหมั่นไส้ได้ง่ายๆ และมองว่าเขาเป็นพวกยโส โอหัง อย่าว่าแต่คู่แข่งขันในสนามเลย กระทั่งบรรดาช่างเครื่อง หรือเพื่อนนักแข่งร่วมทีมก็ยังไม่ชอบขี้หน้าเขาด้วยซ้ำ คำว่า ถ่อมตัวไม่เคยอยู่ในสารบบความคิดของเลาดา เช่นเดียวกับคำว่า สนุกหรือ ผ่อนคลายเขาทุ่มเทชีวิตทุกนาทีให้กับการแข่งรถ การฝึกซ้อม การปรับปรุงรถ เขาตีกรอบให้ชีวิตเอาไว้อย่างชัดเจน เคร่งครัด ถึงขั้นประกาศกร้าวว่าเขายินดีรับความเสี่ยง 20% บนสนามแข่งเพราะนั่นเป็นธรรมชาติของอาชีพ แต่ห้ามมากกว่านั้นแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว เช่น เมื่อถนนมีสภาพชื้นแฉะ หรือฟ้าฝนไม่เอื้ออำนวยทำให้วิสัยทัศน์พร่ามัว จนในฉากหนึ่งเขาถูกฮันท์กล่าวหาว่ากำลังทำลายเสน่ห์ของการแข่งรถฟอร์มูลาวัน

เสน่ห์ของการแข่งรถฟอร์มูลาวันคืออะไร ไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย? ถ้าเป็นเช่นนั้น เจมส์ ฮันท์ ก็น่าจะถูกเรียกว่าเป็นมาสค็อตแห่งฟอร์มูลาวัน เพราะเขาไม่มีเพียงขับรถแบบไม่กลัวตายในสนามแข่ง แซงได้เป็นแซง เบียดได้เป็นเบียด สภาพอากาศแบบไหนก็ไม่เคยหวั่น แต่ยังใช้ชีวิตตามครรลองดังกล่าวอีกด้วย ทั้งเหล้ายาปลาปิ้ง เซ็กซ์ และร็อคแอนด์โรล มองภายนอกแล้วเขาอาจดูยโส โอหังไม่แพ้เลาดา แต่บุคลิกที่เป็นมิตร เข้ากับคนง่าย เปี่ยมอารมณ์ขัน ทำให้เขากลายเป็นที่รักของบรรดาเพื่อนนักแข่ง เพื่อนร่วมงาน และกระทั่งสนิทสนมกับบรรดานักข่าว มองในแง่หนึ่งสไตล์การขับรถของฮันท์ช่วยสะท้อนให้เห็นว่าเลาดาเก่งกาจในอาชีพการงานมากแค่ไหน กล่าวคือ คุณต้องยินยอมที่จะเสี่ยงตาย และสูญเสียทุกอย่าง หากต้องการแย่งตำแหน่งแชมป์จากเขามาครอง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ฮันท์พิสูจน์ให้ทุกคนประจักษ์ในฉากการแข่งรถสนามสุดท้าย เมื่อคะแนนรวมของเขาตามหลังเลาดาอยู่ 3 แต้ม และจำเป็นต้องเข้าเส้นชัยอย่างน้อยเป็นอันดับ 3 เพื่อคว้าแชมป์หลังจากนักแข่งชาวออสเตรียถอนตัวกลางคัน

ความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งสองยังได้ขยายความไปถึงชีวิตคู่อีกด้วย กล่าวคือ คนหนึ่งค่อนข้างหวือหวา พุ่งขึ้นสูงและดำดิ่งภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนอีกคนกลับค่อนข้างแน่นิ่ง เรียบง่าย แต่มั่นคง โดยฮันท์เริ่มพบรักและแต่งงานกับนางแบบสาวสวย ซูซี มิลเลอร์ (โอลิเวียร์ ไวลด์) ชนิดแทบจะเรียกได้ว่าฉับพลันทันที (หนังตัดภาพจากการพบกันครั้งแรกของทั้งสองในอู่ซ่อมรถไปยังภาพพวกเขาเดินออกจากโบสถ์) แต่ต่อมาไม่นาน (ราวๆ หนึ่งปีกว่า) เธอก็ทิ้งเขาไปซบอกดาราฮอลลีวู้ดอย่าง ริชาร์ด เบอร์ตัน ขณะที่เลาดากับมาร์ลีน (อเล็กซานดรา มาเรีย ลารา) เลือกจะคบหาดูใจกันอยู่นานก่อนจะตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน เรื่องราวความรักของพวกเขาก็ประสบชะตากรรมใกล้เคียงกับบทสรุปบนสนามแข่ง เมื่อคนหนึ่งลุกโชนและดับวูบในสไตล์ one-hit wonder ขณะอีกคนยังคงรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ยาวนานผ่านวินัย การฝึกฝน และทุ่มเทอย่างจริงจัง

Rush เป็นหนังกระแสหลักที่เล่าเรื่องได้สนุก น่าติดตาม และผสมผสานทั้งส่วนแอ็กชั่นบนสนามแข่งกับดรามาในชีวิตของตัวละครได้อย่างลงตัว แต่ก็เช่นเดียวกับผลงานที่คว้ารางวัลออสการ์ของโฮเวิร์ดเรื่อง A Beautiful Mind (2001) ซึ่งดัดแปลงมาจากชีวิตคนจริงเหมือนกัน หนังไม่ได้พยายามจะล้วงลึกถึงความซับซ้อน ขัดแย้งภายในของมนุษย์ และมองเห็นความจงใจขัดเกลาตัวละครให้เข้าสูตรเมโลดรามาเพื่อประสิทธิภาพในการเร้าอารมณ์ ส่งผลให้รายละเอียดหลายอย่างถูกตัดทอน หรือบิดเบือนเพื่อความชัดเจนในการเล่าเรื่อง แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ข้อผิดพลาด เมื่อพิจารณาว่านี่เป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก และประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายอย่างน่าพอใจ โดยไม่สิ้นไร้ซึ่งรสนิยม หรือความเฉียบคมของการนำเสนอ ส่วนงานแสดงของดารานำทั้งสองก็ถือว่าน่าพอใจ ไม่ต่างจากผลงานด้านภาพอันหวือหวาของ แอนโธนีย์ ด็อด แมนเทิล (Slumdog Millionaire) ที่พยายามพาคนดูไปสัมผัสประสบการณ์ระยะประชิด ทั้งจากภาพโคลสอัพดวงตา ต้นหญ้า หยดน้ำฝน และภาพแทนสายตานักแข่งผ่านกระจกหมวกกันน็อก

อย่างไรก็ตาม ฉากจบของหนังเรื่อง Rush ชวนให้นึกถึงฉากจบของ The Social Network พอสมควร จริงอยู่หนังรถแข่งเรื่องนี้อาจไม่ได้พูดถึงสถานะทางชนชั้นมากเท่าหนังของ เดวิด ฟินเชอร์ แต่ดูเหมือนบทภาพยนตร์พยายามจะโน้มน้าวคนดูให้เห็นว่าเลาดาอิจฉา หรือกระทั่งโหยหาวิถีแบบฮันท์ กล่าวคือ เป็นที่รักของคนรอบข้าง สนุกกับชีวิตอย่างเต็มที่ และขณะเดียวกันก็บั่นทอนความสำเร็จของเลาดาให้ดูไม่น่าเฉลิมฉลองมากนัก (เขาคว้าแชมป์โลกมาครองอีก 2 สมัย ขณะที่ฮันท์ไม่เคยเข้าใกล้ตำแหน่งแชมป์อีกเลย ก่อนจะตัดสินใจแขวนพวงมาลัยในปี 1979 และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่ออายุได้เพียง 45 ปี) เช่นเดียวกับชะตากรรมของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ในตอนจบของ The Social Network (ตัวหนังสือบนจอขึ้นข้อความว่าเขาเป็นเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุด แต่คนดูกลับไม่ได้รู้สึกฮึกเหิม หรือปลื้มปริ่มกับข้อเท็จจริงดังกล่าวสักเท่าใด เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมในตอนจบของเขาที่คอยกดรีเฟลชหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อรอให้อดีตแฟนสาวยอมรับคำขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ค) กล่าวคือ สุดท้ายแล้วขี้แพ้ก็ยังคงเป็นขี้แพ้วันยันค่ำ แม้ว่าพวกเขาจะพยายามไต่เต้าให้เป็นที่ยอมรับมากแค่ไหนก็ตาม และชื่อเสียงเงินทองก็ไม่อาจช่วยแก้ไขอะไรได้


ในหนังของฟินเชอร์ฉากจบดังกล่าวให้ความรู้สึกหม่นเศร้า หดหู่ และสมจริงตามท้องเรื่อง (แม้ในโลกแห่งความจริง มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก คงไม่ได้ลงเอยแบบเดียวกับตัวละครที่ แอรอน ซอร์กิน เขียนขึ้น) ปัญหาของ Rush อยู่ตรงที่คนดูไม่สามารถรู้สึกได้ว่าชีวิตของฮันท์น่าหลงใหล หรือน่าอิจฉาตรงไหน เพราะเลาดาไม่ได้ถูกสร้างให้เป็น tragic hero ตั้งแต่ต้นแบบ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ซึ่งต้องจ่ายราคาก้อนโตให้กับความสำเร็จและเงินทอง จริงอยู่ทั้งสองเริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ผู้ชายเฮงซวย เย่อหยิ่งไม่แพ้กัน แต่โฮเวิร์ดกับมอร์แกนใจไม่แข็งเท่าฟินเชอร์กับซอร์กิน และเผยให้เห็นด้านที่อ่อนโยน น่าเห็นใจของเลาดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากที่เขาขัดคำค้านของแพทย์และหวนกลับมาลงสนามหลังจากเพิ่งประสบอุบัติเหตุร้ายแรง (คนส่วนใหญ่ลุ้นเอาใจช่วยเขาแม้กระทั่งฮันท์ ซึ่งเปลี่ยนมายืนข้างศัตรูเมื่อเห็นเขาถูกนักข่าวปากสุนัขไล่จี้จุดอ่อน) รวมไปถึงดรามาในช่วงไคล์แม็กซ์เมื่อเลาดายืนกรานว่าเขาตัดสินใจถูกแล้วที่ถอนตัวกลางคัน ภาพใบหน้าภรรยาที่วูบเข้ามาระหว่างขับรถท่ามกลางสายฝนแสดงให้เห็นว่าเขาได้ค้นพบคุณค่าสูงสุดในชีวิตแล้ว และมันเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าถ้วยแชมป์โลกใดๆ รวมกันเสียอีก

ไม่มีความคิดเห็น: