วันเสาร์, มกราคม 19, 2556

หนังแห่งความประทับใจ


Moneyball: ฉลาด ซับซ้อน และซาบซึ้งในเวลาเดียวกัน ถ้าเราให้โอกาสกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มักจะถูกมองข้าม บางทีผลตอบแทนที่ได้กลับมาอาจคุ้มค่าเกินคาด และถึงแม้ บิลลี่ บีน จะคว้าแชมป์ที่เขาใฝ่ฝันมาครองไม่สำเร็จสักที แถมยังตอบปฏิเสธเงินก้อนโต แต่เขากลับห่างไกลจากคำว่า “ขี้แพ้” ไม่ว่าจะในเกม หรือในชีวิตส่วนตัว

Tinker Tailor Soldier Spy: ทักษะการเล่าเรื่องในระดับสุดยอด มาพร้อมกับบรรยากาศเย็นชา คุกคาม เต็มไปด้วยความไม่น่าไว้วางใจ เทคนิคภาพยนตร์อันซับซ้อน แพรวพราวของหนังเรื่องนี้เหมาะจะนำไปใช้สอนในคลาสวิชาภาพยนตร์ และน่าประหลาดตรงที่ถึงแม้คุณจะตามเรื่องไม่ทันในบางช่วง แต่นั่นกลับไม่เป็นอุปสรรคขัดความความบันเทิง ความน่าติดตามของหนังแต่อย่างใด

The Skin I Live In: เป็นหนังในแนว rape-revenge ที่สุดติ่งมากๆ การแก้แค้นใดจะสะใจเท่าการให้เหยื่อได้ลิ้มลองรสชาติเดียวกับกรรมที่เขาก่อไว้ ขณะเดียวกัน ใครจะคิดว่าพล็อตทำนอง Frankenstein จะถูกดัดแปลงเพื่อถ่ายทอดประเด็นเกี่ยวกับตัวตนทางเพศและความขัดแย้งระหว่างภายในกับภายนอกได้อย่างพิสดารขนาดนี้

Moonrise Kingdom: สไตล์การทำหนังแบบ เวส แอนเดอร์สัน ไม่เคยถูกนำมาใช้ให้สอดคล้องกลมกลืนกับเนื้อหาได้มากขนาดนี้มาก่อน มันสะท้อนความอัศจรรย์แห่งวัยเด็ก อุดมคติ การผจญภัย และรักครั้งแรกได้บาดลึก พอๆ กับความจริงอันเจ็บปวดแห่งวัยผู้ใหญ่

A Simple Life: มีแนวโน้มจะไถลไปสู่โหมดเมโลดรามาบีบน้ำตาได้ง่ายๆ แต่หนังกลับคงความสงบนิ่ง ไม่ฟูมฟายไว้โดยตลอด และก็เช่นเดียวกับชีวิต ท่ามกลางความเรียบง่ายทั้งหลาย มีความงามซุกซ่อนอยู่ เพียงแต่เราจะมองเห็นและสัมผัสได้หรือไม่เท่านั้น


นักแสดงชาย

แบรด พิทท์ (Moneyball) การผสมผสานที่ลงตัวในระดับสุดยอดระหว่างพลังดาราและฝีมือการแสดง สายตาที่เขานั่งมองลูกสาวร้องเพลงในร้านขายกีตาร์มันบ่งบอกอารมณ์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งเซอร์ไพรส์ ภูมิใจ และผิดหวังที่ตนไม่มีส่วนร่วมในชีวิตของเธอได้มากกว่านี้ ความหนักแน่นของฉากดังกล่าวมีผลอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้การตัดสินใจตอนท้ายของตัวละครดูน่าเชื่อถือ

ไรอัน กอสลิง (The Ides of March) เด็กฝึกงานที่ไหนบ้างจะไม่อยากหลับนอนกับเจ้านายหน้าตาแบบนี้ เขาทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องน่าหลงใหล ใคร่รู้

แกรี โอลด์แมน (Tinker Tailor Soldier Spy) ตัวอย่างของการเล่นน้อยแต่ได้มาก ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับบทบาทสายลับที่ต้องสงวนท่าทีเพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าตนกำลังถือไพ่อะไรไว้ในมือ

เท็ด (Ted) ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความน่ารักและอัปรีย์

วาควิน ฟีนิกซ์ (The Master) เป็นงานแสดงที่กล้าหาญมาก เต็มไปด้วยการใช้อากัปกิริยาภายนอกเพื่อถ่ายทอดตัวตน ความรู้สึกภายในออกมา ไม่ว่าจะเป็นท่าเท้าสะเอวแบบแปลกๆ สีหน้าอันบิดเบี้ยว หรือเสียงหัวเราะกึ่งฝืน ราวกับจะบอกว่าเฟร็ดดี้เป็นตัวละครที่ไม่อาจควบคุมร่างกายของตัวเองได้มากพอๆ กับสภาพจิตใจอันเสียสมดุล


นักแสดงหญิง

มิเชล วิลเลียมส์ (My Week With Marilyn) ชอบการตีความของเธอในการรับบทเป็น มาริลีน มอนโร เธอรู้ว่าการเลียนแบบตัวจริงเป็นเรื่องยากเพราะเธอดูไม่เหมือนมาริลีนเลยสักนิด ดังนั้นจึงหันมาใช้วิธีปลุกความรู้สึกของเราที่มีต่อมาริลีน นั่นคือ ส่วนผสมระหว่างความไร้เดียงสาและเซ็กซ์ซิมโบล เสน่ห์ดึงดูดใจแบบซูเปอร์สตาร์และความอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองเวลาไม่ได้อยู่ต่อหน้ากล้อง ซึ่งในจุดนี้เธอทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ทิลด้า สวินตัน (We Need to Talk About Kevin) ถึงออสการ์จะไม่รัก แต่เรารักเธอเสมอ ขอกราบงามๆ 3 ทีให้กับงานแสดงอันทรงพลัง

คีรา ไนท์ลีย์ (A Dangerous Method) เคยชอบเธอจากหนังโรแมนติกย้อนยุคอย่าง Pride and Prejudice และ Atonement แต่ไม่คิดว่าเธอจะมีลูกบ้าและความมั่นใจมากพอจะเล่นอะไรแบบนี้ให้ดูบนจอ การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของเธอทำให้นึกถึงสัตว์ที่กำลังติดกับดักนายพราน มันทรมาน ดิ้นพล่าน และใช้สัญชาตญาณเบื้องลึกจากความหวาดกลัว ตื่นตระหนก

นิโคล คิดแมน (The Paperboy) ยัยนี่ก็บ้า และเสียสติไม่แพ้กัน อาจกล่าวได้ว่าคิดแมนเป็นนักแสดงชื่อดังเพียงไม่กี่คนที่กล้าพอจะรับบทเสี่ยงๆ คาบลูกคาบดอก เธอไม่กลัวที่จะก้าวย่างเข้าสู่ดินแดนที่หลายคนไม่เคยแม้แต่จะคิดฝัน และแน่นอนทุ่มเทให้กับบทนั้นๆ อย่างหมดใจ

เพ็ญพักตร์ ศิริกุล (ไม่ได้ขอให้มารัก/ Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ) คงเป็นหนึ่งในนักแสดงไทยเพียงไม่กี่คนที่สามารถคาดหวังมาตรฐานในระดับสูงได้

ความคิดเห็น

ผมอยากจะเขียนถึงหนังไทยเหมือนเช่นเคย แต่รู้สึกว่าปีนี้ยังตามดูหนังที่คนเขาชื่นชมกันได้ไม่ครบเลย ส่วนเรื่องที่ได้ดูก็ไม่ค่อยจะมีอะไรดีๆ ให้น่าจดจำสักเท่าไหร่ โดยมากถ้าไม่สุกเอาเผากิน ก็มักติดหล่มอยู่ในกรอบความคิด หรือวิธีการสร้างแบบเดิมๆ ส่วนเรื่องที่พยายามจะสลัดตัวออกจากกรอบก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ผมมีความรู้สึกว่าวงการหนังไทยกำลังเติบโตตรงปลายสุดของสองด้าน ระหว่าง high-end กับ low-end กล่าวคือ เรามีหนังอาร์ต หนังอินดี้ไปฉายตามเทศกาลต่างๆ กวาดรางวัลมามากมาย กับหนังตลาดสุดโต่งจำพวกหนังตลก หนังผี ที่ไม่เน้นความสำคัญของเนื้อหา หรือสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ แต่เน้นการคั้นเสียงหัวเราะและอาการสะดุ้ง เส้นกระตุกตามเสียงดนตรีประกอบที่ดังจนหูดับ โดยสิ่งที่เราขาดแคลนจริงๆ คือ หนังกระแสหลักที่ฉลาดในเนื้อหาและการนำเสนอ มีความซับซ้อนซ่อนอยู่ในความเรียบง่าย ซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถเข้าใจและเอ็นจอยได้ ขณะเดียวกัน ในกลุ่มหนังอาร์ตเองก็เริ่มจะมีรูปแบบทางด้านสุนทรียะที่ใกล้เคียงกันมากไปจนขาดความหลากหลาย (พล็อตน้อยๆ เดินเรื่องช้าๆ แช่กล้องนานๆ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และความคลุมเครือ) และอาจพูดได้ว่ามัน (อย่างน้อยก็ในสายตาของคนดูหนังคนนี้) ใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวเต็มที...

The Hobbit: An Unexpected Journey: การหวนคืนสู่ถิ่นกำเนิด


บางทีการนั่งดูหนังเรื่อง The Hobbit: An Unexpected Journey ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายปลายสุดของงานเลี้ยง เมื่อเหล่าแขกเหรื่อส่วนใหญ่ทยอยกันเดินทางกลับบ้านไปแล้ว เหลือเพียงกลุ่มเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนที่ยังคงอ้อยอิ่ง จับกลุ่มพูดคุยกันอย่างถูกคอ พร้อมกับรำลึกถึงความประทับใจสูงสุดในงาน ส่วนบรรดาข้าวปลาอาหารนั้นก็ยังคงหลงเหลือให้เก็บกินอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มากมาย หลากหลายเหมือนในช่วงเริ่มงาน เช่นเดียวกับบรรยากาศโดยรวม ซึ่งเซอร์ไพรซ์ หรือความตื่นเต้น สนุกสนานได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว 

นอกเหนือจากแก่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงว่า The Hobbit เป็นงานเขียนที่เบาบางกว่า ทะเยอทะยานน้อยกว่า และเดิมพันในแง่เรื่องราวไม่สูงเท่า The Lord of the Rings แล้ว (เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ตั้งใจเขียน The Hobbit ให้เป็นวรรณกรรมแฟนตาซีสำหรับเยาวชน) อุปสรรคสำคัญของหนังยังอยู่ตรงความรู้สึกเดจาวู เหมือนเราเคยประสบพบเห็น หรือสัมผัสลิ้มลองมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง สไตล์การเล่าเรื่อง หรือความตระการตาของโลเคชั่น ฉาก และเทคนิคพิเศษ (ซึ่งจะว่าไปอาจเริ่มรู้สึกได้ตั้งแต่ The Return of the King แล้วด้วยซ้ำ) หลายตัวละครถูกเรียกกลับมาใช้งานอีกครั้ง แต่ไม่อาจเรียกความสดใหม่ ตื่นเต้น น่าสนใจได้มากเท่ากับเมื่อครั้งที่เรารู้จักพวกเขาเป็นครั้งแรก และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าไปนั้น คือ หลายฉากเด่นของหนังที่พอจะกระตุ้นคนดูให้รู้สึกตื่นเต้นอย่างแท้จริงกลับต้องอาศัยตัวละครเดิมๆ เข้ามาช่วยเหลือ เช่น กอลลัม (แอนดี้ เซอร์กิส) รวมไปถึงนัยยะเชื่อมโยงสู่ไตรภาคชุดก่อนถึงภยันตรายใหญ่หลวงที่กำลังคืบคลานเข้ามา และมีพลังทำลายล้างมากมายกว่ามังกร หรือออร์คหลายเท่าตัว เช่น ฉากการประชุมที่ริเวนเดลล์

แม้กระทั่งไคล์แม็กซ์ในถ้ำก็อบลิน ตามมาด้วยการปะทะกับกองทัพออร์ค ซึ่งโดยรวมแล้วทำออกได้อย่างหมดจด งดงามทั้งในแง่จังหวะและเทคนิคภาพยนตร์ ก็ยังอดไม่ได้ที่จะทำให้หวนนึกถึงไคล์แม็กซ์คล้ายกันใน The Fellowship of the Ring ที่สุดท้ายเปี่ยมประสิทธิภาพกว่าในแง่พลังดรามา พูดอีกอย่าง คือ ตัวละคร ตลอดจนเรื่องราวใน An Unexpected Journey นั้นแทบจะเรียกร้องความสนใจในตัวของมันเองได้เพียงน้อยนิด... บางทีสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะพัฒนาขึ้นในภาคต่อ The Desolation of Smaug และ There And Back Again แต่ผลลัพธ์ที่เห็นและเป็นอยู่ในตอนนี้ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการซอยนิยายเล่มนี้เป็นหนังไตรภาค

แน่นอน ผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน พยายามจะฉีดกระตุ้นพลังแปลกใหม่ให้กับหนังด้วยระบบ 3 มิติ และเทคนิคการถ่ายทำแบบ 48 เฟรมต่อวินาที แต่เสียงตอบรับกลับไม่น่าชื่นใจเท่าไหร่โดยเฉพาะกรณีของนวัตกรรมหลัง ทั้งนี้เพราะความคมชัดแบบทีวี HD ไม่เพียงเปิดเผยให้เห็นรอยต่อที่ไม่แนบเนียนระหว่าง live action กับคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเท่านั้น แต่ยังทำลายอารมณ์โรแมนติกแห่งตำนานปรัมปราลงอีกด้วย เพื่อข้ออ้างแห่งความ “เหมือนจริง”

จะว่าไปแล้วแนวคิดดังกล่าวคงพัฒนามาจากเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องการให้ผู้เล่นได้เข้าไปมีประสบการณ์ในโลกเสมือนจริง แต่แนวคิดดังกล่าวไม่น่าจะเหมาะกับหนังที่เต็มไปด้วย “เรื่องเล่า” แบบ An Unexpected Journey ซึ่งเริ่มต้นด้วยประวัติเมืองคนแคระที่มั่งคั่งก่อนถูกมังกรบุกมายึดครอง ตามมาด้วยประวัติความแค้นส่วนตัวของธอริน (ริชาร์ด อาร์มิเทจ) ที่สั่งสมมาจากสงครามระหว่างคนแคระกับออร์ค ขณะเดียวกันแก่นหนังไตรภาค The Hobbit ก็เป็นเรื่องเล่าถึงการผจญภัยของบิลโบ (มาร์ติน ฟรีแมน) บันทึกไว้สำหรับให้โฟรโด (เอไลจาห์ วู้ด) ผู้ต่อมากลายเป็นตัวละครเอกในไตรภาค LOTR ได้รับรู้ ที่สำคัญ ความสำเร็จของ LOTR ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอารมณ์ถวิลหา หวนไห้ต่ออดีตที่ไม่อาจคืนกลับมา (โทลคีนเปรียบเทียบ มิดเดิล เอิร์ธ ว่าคือโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเวทมนตร์ค่อยๆ จางหายและเหล่าเผ่าพันธุ์ต่างๆ พากันถอยร่นออกไปเพื่อปล่อยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ปกครอง ดังจะสังเกตได้จากฉากจบของ The Return of the King) มันเป็นโลกที่เราไม่อาจเข้าไป “อาศัย” แต่สัมผัสได้จากเรื่องเล่า หรือตำนานที่สืบทอดกันมา ซึ่งในจุดนี้อารมณ์ฟุ้งฝันแบบฟิล์มตอบโจทย์ได้ชัดเจนกว่าความคมชัดของกล้องและเครื่องฉายดิจิตอลผ่านความละเอียดแบบ 48 เฟรมต่อวินาที

An Unexpected Journey เริ่มต้นแบบเดียวกับ The Fellowship of the Ring นั่นคือ ความลังเลของตัวละครเอกที่จะออกไปผจญภัยยังโลกภายนอก และอ้าแขนรับบทบาท “วีรบุรุษ” แต่ขอบเขตแห่งภารกิจได้ถูกลดทอนความสำคัญ ยิ่งใหญ่ลง กล่าวคือ ขณะโฟรโดต้องปกป้อง มิดเดิล เอิร์ธ จากหายนะ ซึ่งหมายรวมถึงถิ่นฐานบ้านเกิดของเขาจะต้องถูกทำลายจนมอดไหม้ไปด้วย และต้องร่วมมือกับหลายเผ่าพันธุ์เพื่อทำลายแหวนแห่งอำนาจ บิลโบกลับพยายามจะช่วยเหลือกลุ่มคนแค่เผ่าพันธุ์เดียวให้ทวงทรัพย์สมบัติและบ้านเกิดเมืองนอนกลับคืนมา

ในหนังสือพวกคนแคระต้องการแค่ทองที่มังกรจอมโลภบุกมายึดครอง แต่ ปีเตอร์ แจ๊คสัน กับทีมเขียนบทได้เพิ่มน้ำหนักให้ภารกิจครั้งนี้ด้วยการเปรียบเทียบกลุ่มคนแคระว่าเป็นเหมือนวณิพกพลัดถิ่น โหยหาแผ่นดินซึ่งพวกเขาผูกพัน ในจุดนี้มันสอดคล้องอย่างเหมาะเจาะกับจุดมุ่งหมายเดิมของโทลคีน ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่าคนแคระใน The Hobbit มีรากฐานมาจากชาวยิว (12 คนแคระ + ธอริน = ลูกชาย 12 คน ซึ่งเป็นที่มาของ 12 ชนเผ่าแห่งอิสราเอล + เจค็อบผู้เป็นพ่อ) พร้อมกันนั้น รายละเอียดดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปยังการตัดสินใจช่วยเหลือเหล่าคนแคระของบิลโบได้อย่างแนบเนียน เป็นเหตุเป็นผล เพราะสายเลือดรักบ้านของแบ็กกินส์ ทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกเบาหวิวของการเร่ร่อน ปราศจากถิ่นฐาน

ด้วยเหตุนี้เอง ฉากร้องเพลง Blunt the Knives เมื่อเหล่าคนแคระโยนจานชามไปมาท่ามกลางสีหน้าตื่นตระหนกของบิลโบ จึงไม่ได้มีเหตุผลเพื่อเรียกรอยยิ้มเท่านั้น แต่ยังแฝงความรู้สึกเศร้าสร้อยไว้ลึกๆ อีกด้วย เช่นเดียวกับเหล่าผู้พลัดถิ่นอื่นๆ อันสืบเนื่องมาจากสงครามและจักรวรรดินิยม (มังกรกอบโกยทรัพยากรและรุกรานแผ่นดินจนเหล่าชนพื้นเมืองต้องแตกกระสานซ่านเซ็น) การละเล่นหยอกล้อดังกล่าวเป็นเหมือนความพยายามจะรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือรากเหง้าของตนเองไว้ หลังจากพวกเขาไม่มีเหมืองให้ขุดแร่ทองและอัญมณีอีกต่อไป มันเปรียบดังการปรับตัว ดัดแปลง/พัฒนาวัฒนธรรมอันเปี่ยมเอกลักษณ์ไปตามสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ เพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับประเพณีโบราณที่ต้องจากมา พวกเขาไม่ใช่เหล่านักรบคนแคระผู้กล้าหาญอีกต่อไป แต่ได้พัฒนาไปสู่สถานะ ตามคำกล่าวของบาลิน (เคน สก็อตต์) “พ่อค้า คนงานเหมือง ช่างบัดกรี และคนผลิตของเล่น”

อย่างไรก็ตาม ตัวละครอย่างบิลโบและโฟรโดหาได้ตัดสินใจออกเดินทางไปเสี่ยงอันตรายในโลกกว้างด้วยเหตุผลอันทรงเกียรติเท่านั้น (บ่อยครั้งโฟรโดท้อแท้ และน้อยใจชะตากรรมว่าเหตุใดภารกิจอันหนักหน่วงถึงต้องตกมาอยู่บนบ่าของเขา ส่วนบิลโบก็มักจะหวนคิดถึงระบบระเบียบ ตลอดจนความสงบสุขและคุ้นเคยของหมู่บ้านฮ็อบบิท) แต่เป็นเพราะพวกเขามีทั้งสายเลือดของตระกูลแบ็กกินส์ บรรพบุรุษฝ่ายพ่อที่เป็นฮ็อบบิทรักษ์ถิ่น และตระกูลทุก บรรพบุรุษฝ่ายแม่ที่ชื่นชอบการผจญภัย ผสมผสานอยู่ในตัว

นิยายของโทลคีนมักถูกวิพากษ์มาตลอดว่าขาดแคลนตัวละครเพศหญิงที่เด่นชัด หรือมีความสำคัญต่อเรื่องราว ซึ่งเวอร์ชั่นหนังของแจ๊คสันพยายามแก้ไขด้วยการเพิ่มน้ำหนักให้เหล่าตัวละครหญิงที่มีอยู่น้อยนิดในไตรภาค LOTR และการเพิ่มบทของกาลาเดรียลเข้ามาใน An Unexpected Journey แต่ช่องว่างดังกล่าวส่วนหนึ่งสามารถชดเชยได้จากความนุ่มนวลแห่งมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างเพศชาย (แซม+โฟรโดใน LOTR) ที่หากมองด้วยทัศนคติแห่งยุคปัจจุบันเกือบจะอบอวลไปด้วยอารมณ์โฮโมอีโรติก และการสลับ “บทบาททางเพศ” ผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เลือดแม่ที่รักการผจญภัย กับเลือดพ่อที่รักการอยู่เหย้าเฝ้าเรือน ซึ่งตัวหนังอาจไม่ได้ นำมาขยาย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมจะสะท้อนแง่มุม “เพศหญิง” ของตัวละครเอกอย่างเด่นชัดตั้งแต่ฉากต้นเรื่อง เมื่อบิลโบต้องเปิดบ้านต้อนรับกลุ่มคนแคระที่หยาบคาย เสียงดัง และบุกรุกเข้ามาเขมือบเสบียงในห้องครัวของเขาจนไม่เหลือซาก

แรกทีเดียว บิลโลยืนกรานว่าเขา “ไม่ใช่ทุก แต่เป็นแบ็กกินส์” และการผจญภัยรังแต่จะรบกวนความสะดวกสบาย ทำให้คุณ “มาทานข้าวเย็นไม่ทันเวลา” ภาพลักษณ์ของบิลโบให้ความรู้สึกเหมือนแม่บ้านทหารบกมากกว่าวีรบุรุษ เขาชอบถ้วยชามสวยงาม ความเป็นระเบียบ ชอบอยู่กับบ้าน ดูแลรักษาความสะอาด ในขณะที่เหล่าคนแคระบุกรุกเข้ามาพร้อมพลังแห่งเพศชาย ทั้งกักขฬะและป่าเถื่อน ทั้งรุนแรงและทำลายล้าง มันเป็นเรื่องน่าสนใจที่หนัง/หนังสือจงใจวางบิลโบให้รับบทวีรบุรุษ และถือเป็นการบดขยี้ภาพลักษณ์ดั้งเดิมของวีรบุรุษลงอย่างราบคาบ (ในแง่พล็อต พวกคนแคระต้องพึ่งพาฮ็อบบิท เพราะเขาว่องไว เท้าเบา และสามารถย่องเข้าใกล้มังกรได้เนื่องจากมังกรไม่คุ้นเคยกับกลิ่นของฮ็อบบิท) จริงอยู่ แม้ในเวลาต่อมาบิลโบจะเรียนรู้การต่อสู้ รวมถึงแสดงความกล้าหาญในแบบนักรบดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงบุคลิกอ่อนโยน เปี่ยมเมตตา และรักสงบเอาไว้เช่นเคย ส่วนผสมระหว่างความเป็นหญิงและชายในคนๆ เดียวกันทำให้บิลโบใกล้เคียงกับ แกนดัล์ฟ (เอียน แม็คเคนเลน) พ่อมดซึ่งสวมบททั้งนักรบผู้กล้าและผู้พิทักษ์สันติ โดยเขาเป็นคนสอนบิลโบว่า “ความกล้าหาญที่แท้จริงหาใช่การรู้ว่าเมื่อใดต้องลงมือสังหาร... แต่เป็นการรู้ว่าเมื่อใดควรจะไว้ชีวิตคนต่างหาก”

An Unexpected Journey จบลงด้วยการยอมรับบิลโบเข้ากลุ่มของเหล่าคนแคระ หลังจากฮ็อบบิทน้อยผู้ไม่เคยจับดาบมาก่อนเลยในชีวิต พิสูจน์ตัวเองด้วยการกระโจนเสี่ยงตายเข้าไปช่วยชีวิตธอรินจากศัตรูคู่อาฆาต เขาอ้าแขนรับการผจญภัยและความท้าทายอย่างหมดใจเพื่อให้บรรดาคนแคระได้มีโอกาสทวงแผ่นดินเกิดกลับคืนมา เพราะไม่มีใครจะเข้าใจความเจ็บปวดของการสูญเสียดังกล่าวได้ดีไปกว่าฮ็อบบิทที่รัก “บ้าน” มากพอจะเสี่ยงตายเพื่อมัน แต่ทั้งหมดยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ถึงแม้เวลาบนจอจะผ่านไปแล้วเกือบสามชั่วโมง... สำหรับบิลโบ ความพลิกผันของสถานการณ์คงเป็นเรื่องที่เขาไม่เคยคาดฝันมาก่อน แต่สำหรับนักดูหนังที่คุ้นเคยกับไตรภาค LOTR เป็นอย่างดี ทิศทางของการเดินทางครั้งนี้ถือว่าไม่อยู่นอกเหนือความคาดคิดสักเท่าไหร่

Oscar 2013: สตูดิโอและเหล่าตัวเก็งผงาด


ความเข้มข้นของเทศกาลล่ารางวัลออสการ์ปีนี้ดูเหมือนจะเริ่มต้นช้ากว่าปกติ และส่อวี่แววความผันผวนอย่างชัดเจน เนื่องจากบรรดา “หนังตัวเก็ง” ล้วนเปิดตัวได้สมราคาเกือบทั้งหมด ยังไม่มีใครล้มคะมำไปต่อหน้าต่อหน้าเหมือนปีก่อนๆ หน้า Les Miserables ไม่น่าจะประสบชะตากรรมเดียวกับ Nine หรือ Dreamgirls ส่วน Lincoln ก็ได้เสียงตอบรับอบอุ่นทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ จนโอกาสบนเวทีออสการ์ของมันแซงหน้า War Horse และ Munich ไปหลายขุม นอกจากนี้ เหล่าม้าตีนปลายอีกหลายเรื่องก็ทำคะแนนได้น่าพอใจไม่แพ้กัน ตั้งแต่ Django Unchained ไปจนถึง Life of Pi และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Zero Dark Thirty ซึ่งอาจจะกลายเป็น Million Dollar Baby แห่งปี 2012 ก็ได้ หลังจากหนังชนะศึกยกแรก (เวทีนักวิจารณ์) ไปอย่างสวยงาม แม้จะไม่ใช่ในระดับเดียวกับ The Social Network หรือ Brokeback Mountain หรือกระทั่ง The Hurt Locker หนังเรื่องก่อนหน้าของ แคธรีน บิเกโลว์ 

แต่ทั้งหมดคงต้องรอดูกระแสความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เพราะอย่างที่เราทุกคนทราบกันดี นักวิจารณ์ไม่ใช่คณะกรรมการออสการ์ และชะตากรรมเศร้าสลดอันบังเกิดแก่หนังขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง The Social Network และ Brokeback Mountain ก็พิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ชัดเจนในตัวเองแล้ว เวทีต่อไปที่เราจะต้องจับตามองให้ดี และมีความสำคัญมากกว่าในแง่การคาดเดาทิศทางออสการ์ คือ รางวัลของสมาพันธ์วิชาชีพต่างๆ (นักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบท คนตัดต่อ ผู้กำกับภาพ ฯลฯ) ซึ่งจะเริ่มทยอยประกาศผลในช่วงเดือนมกราคม 

ความแรงของบรรดาตัวเก็งที่เปิดเผยโฉมช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ทำให้เหล่าม้าตีนต้น ซึ่งสร้างกระแสจากเทศกาลหนังโตรอนโต ดูจะอ่อนระโหยลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น Argo หรือ Silver Linings Playbook แต่ดูเหมือนรายที่เจ็บหนักสุดคงจะหนีไม่พ้น The Master ของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน โดยนับตั้งแต่กวาดรางวัลจากเวนิซ (หนังอาจคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองด้วยซ้ำ นอกเหนือจากรางวัลนักแสดงนำชาย ที่ วาควิน ฟีนิกซ์ แชร์ร่วมกับ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน และรางวัลผู้กำกับ หากกฎของเทศกาลไม่ระบุห้ามหนังที่คว้ารางวัลนักแสดงเป็นหนังเรื่องเดียวกับที่ได้รางวัลสิงโตทองคำ ด้วยเหตุนี้ โชคจึงไปตกแก่ Pieta ของ คิมคีด็อก) และกวาดคำชมจากนักวิจารณ์เมื่อเข้าฉายในเดือนกันยายน หนังกลับไม่ได้เสียงสนับสนุนจากเหล่านักวิจารณ์มากพอระหว่างเทศกาลแจกรางวัลช่วงปลายปี จนทำให้มันค่อยๆ หล่นหายไปจากเรดาร์

 เริ่มต้นจากการหลุดโผ 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปีของ NBR (Argo, Beasts of the Southern Wild, Django Unchained, Les Miserables, Lincoln, Looper, The Perks of Being a Wallflower, Promised Land, Silver Linings Playbook) และ AFI (Argo, Beasts of the Southern Wild, The Dark Knight Rises, Django Unchained, Les Miserables, Life of Pi, Lincoln, Moonrise Kingdom, Silver Linings Playbook, Zero Dark Thirty) ตามมาด้วยการพลาดเข้าชิงลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ดรามายอดเยี่ยม แต่การตบหน้าที่รุนแรงสุดเกิดจากน้ำมือของสมาพันธ์นักแสดง (SAG) ที่นอกจากจะไม่ให้หนังเข้าชิงในสาขาสำคัญอย่างนักแสดงกลุ่ม ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เท่านั้น แต่หนังยังพลาดท่าในสาขาที่น่าจะมีโอกาสค่อนข้างสูงอย่างนำชายและสมทบหญิงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลื่อนวันประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ให้เร็วขึ้น 5 วันจากเดิมวันที่ 15 มกราคม 2013 (โดยมีเหตุผลว่าเพื่อคณะกรรมการจะได้มีเวลามากขึ้นในการตามดูหนังที่ได้เข้าชิง) อาจส่งผลร้ายต่อหนังบางเรื่องที่เปิดตัวค่อนข้างช้าในช่วงต้นเดือนธันวาคม เพราะคณะกรรมการหลายคนยังไม่มีโอกาสได้ดูหนังเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากการหลุดโผอย่างสิ้นเชิงของ Django Unchained บนเวที SAG ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นผลจากสตูดิโอผลิตแผ่น screener ไม่ทัน ขณะเดียวกัน หนังบางเรื่อง เช่น Life of Pi ก็พึ่งพิงความน่าตื่นตาจากการนั่งชมผ่านจอขนาดใหญ่ในระบบสามมิติ การนั่งชมผ่านจอทีวีในบ้านจึงอาจลดทอนผลกระทบได้ไม่น้อย

กระนั้นมองกันตามเนื้อผ้าแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังอย่าง Life of Pi จะไม่ปรากฏร่องรอยบนเวที SAG ทั้งนี้เพราะมันไม่ใช่หนังของ “นักแสดง” และทั้งเรื่องก็มีตัวละครเด่นอยู่ไม่มาก หากไม่นับเสือซีจี แต่เช่นเดียวกับ Hugo เมื่อปีก่อน ซึ่งถูก SAG ตอกฝาโลงเช่นกัน หนังน่าจะได้แรงสนับสนุนจากสมาชิกประจำวิชาชีพอื่นๆ และหลุดเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ

 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าหนังเรื่องใดถือแต้มต่ออย่างเด่นชัด โดยกลุ่มผู้นำประกอบไปด้วย Silver Linings Playbook, Argo, Les Miserables, Lincoln และ Zero Dark Thirty แต่ละเรื่องล้วนมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม หากมองจากรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ การพลาดท่าในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมของ เดวิด โอ รัสเซล และ ทอม ฮูเปอร์ (ถูกแทนที่โดย อังลี และ เควนติน ตารันติโน) ทำให้โอกาสคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์ของหนังทั้งสองเรื่องหล่นวูบจนน่าใจหาย เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว มีหนังแค่ 4 เรื่องเท่านั้นที่ได้ออสการ์โดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม นั่นคือ Crash, Driving Miss Daisy, The Sting และ Chariots of Fire (ในกลุ่มนี้มีเพียง The Sting เท่านั้นที่คว้ารางวัลผู้กำกับมาครองด้วย และมีเพียงผู้กำกับ บรูซ เบเรดฟอร์ด คนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ชิงออสการ์)

ในกรณีของ Les Miserables การตอบรับจากนักวิจารณ์ดูจะโอนเอียงไปทาง Crash อยู่ไม่น้อย เมื่อมันทำสกอร์บนเว็บ Metacritic ได้ไม่ถึง 70 จาก 100 (หนังยังไม่เข้าฉายในวงกว้างและมีสกอร์อยู่ที่ 56 ส่วนสกอร์ของหนังเรื่อง Crash อยู่ที่ 69 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหนังออสการ์เรื่องอื่นๆ ที่มักจะทำคะแนนสูงกว่า 80 ขึ้นไป) ส่วน Silver Linings Playbook อาจได้เสียงตอบรับที่น่าพอใจกว่าจากนักวิจารณ์ (ทำสกอร์บน Metacritic ได้ 81) แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มันไม่ค่อยประสบความสำเร็จบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ (ปัจจุบันทำเงินอยู่ที่ประมาณ 21 ล้านเหรียญ) แม้ว่าคุณสมบัติ “ฟีลกู๊ด” ของหนังจะทำให้หลายคนคาดการณ์ว่ามันน่าจะไต่ระดับถึงขั้น 100 ล้านเหรียญได้ไม่ยาก อีกทั้งสองดารานำก็หน้าตาดี มีชื่อเสียงและพลังดารา แถมยังแสดงเข้าขากันได้อย่างยอดเยี่ยมด้วย 

เมื่อมองในจุดนี้ Argo กับ Lincoln จึงถือแต้มต่อเหนือคู่แข่งอยู่ไม่น้อยเนื่องจากพวกมันล้วนอยู่ในสถานะ “หนังฮิต” ทั้งที่ประเด็นและหน้าหนังดูห่างไกลจากโอกาสทำเงินเกิน 100 ล้านเหรียญค่อนข้างมาก ส่วน Zero Dark Thirty และ Les Miserables นั้น เราคงต้องรอดูกันต่อไป โดยเรื่องหลังน่าจะมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มคนดูหนังกระแสหลักมากกว่า เมื่อพิจารณาจากความยิ่งใหญ่ของโปรดักชั่น ขบวนดาราดังที่ขนกันมาร่วมงาน และความฮิตของละครเพลง ในขณะเดียวกัน Zero Dark Thirty ยังต้องเผชิญศึกหนักนับแต่ยังไม่เข้าฉายด้วยซ้ำ เมื่อหลายคนออกมาโจมตีหนังว่าเข้าข้างการทรมานนักโทษเพื่อเค้นข้อมูล และบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยการสื่อนัยยะว่า CIA ได้เบาะแสสำคัญจนนำไปสู่การสังหาร บิน ลาดิน จากการทรมานนักโทษ

ข้อหาดังกล่าวส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากสไตล์การทำหนังของ แคธรีน บิเกโลว์ ซึ่งยืนกรานที่จะไม่แสดงจุดยืนทางด้านศีลธรรมอย่างชัดเจน แล้วท้าทายคนดูให้ตัดสินใจว่าควรจะรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่ปรากฏตรงหน้า บางคนจึงถึงขั้นกล่าวโจมตีหนังว่า “ไร้ศีลธรรม” (ถ้ายังจำกันได้ The Hurt Locker เองก็เคยโดนวิพากษ์ว่าเป็นหนังโปรสงคราม) อย่างไรก็ตาม กระแสอื้อฉาวดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อตัวหนังในแง่ที่ว่า มันอาจเป็นแรงกระตุ้นให้หลายคนตัดสินใจซื้อตั๋วไปพิสูจน์ด้วยตาตนเอง (จากการเปิดฉายแบบจำกัดโรง หนังทำรายได้เฉลี่ยได้น่าพอใจทีเดียว) 

แน่นอน ความแข็งแกร่งของบรรดาตัวเก็งช่วงปลายปีย่อมส่งผลให้เหล่าหนังอินดี้นอกสายตา ซึ่งออกฉายในวงกว้างไปแล้วก่อนหน้า ต้องดิ้นรนกันสุดชีวิตเพื่อให้มีชื่อหลุดไปติดสาขาใหญ่สุด อาทิ Beasts of the Southern Wild และ Moonrise Kingdom รวมเลยไปถึงหนังอาร์ตเจ้าของปาล์มทองคำอย่าง Amour จริงอยู่ เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าปีนี้จะมีหนังเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมกี่เรื่องกันแน่ (ผลจากการเปลี่ยนกฎเมื่อปีก่อน) แต่ในปีที่เต็มไปด้วยหนัง “แข็ง” เช่นนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่ารายชื่อน่าจะอยู่ระหว่าง 8-10 เรื่อง

ตัวเก็ง: Lincoln, Zero Dark Thirty, Les Miserables, Argo, Silver Linings Playbook, Life of Pi, Django Unchained, Moonrise Kingdom
ตัวสอดแทรก: Beasts of the Southern Wild, Amour, The Master, The Best Exotic Marigold Hotel ผู้

กำกับยอดเยี่ยม

ภาวะหลุดโผบนเวทีลูกโลกทองคำพิสูจน์ให้เห็นความเปราะบางของ เดวิด โอ รัสเซล และ ทอม ฮูเปอร์ บนเวทีออสการ์ (แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง บุคลิกเชิดชูคนดังของกรรมการลูกโลกทองคำทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะเลือก อังลี และ เควนติน ตารันติโน แทนคนทั้งสอง) แต่โอกาสเป็นไปได้สูงว่าพวกเขา หรืออย่างน้อยก็คนใดคนหนึ่ง น่าจะเบียดทางโค้งกลับมาเข้าชิงออสการ์ได้ในที่สุด และ ณ ขณะนี้ภาษีของ เดวิด โอ รัสเซล อาจดูดีกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบจากเสียงตอบรับของนักวิจารณ์ต่อหนังเรื่อง Silver Linings Playbook ขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้หลงรัก Les Miserables ในระดับเดียวกับ The King’s Speech ความเป็นหนังเพลงแบบร้องตลอดเรื่องอาจขัดอกขัดใจใครหลายคน เนื่องจากการเล่าเรื่องต้องถูกย่นย่อ บางเหตุการณ์อาจถูกสรุปไว้ในเพลงหนึ่งเพลง หรือประโยคไม่กี่ประโยค และส่งผลต่อการโน้มนำอารมณ์ผู้ชมได้ 

สามคนที่นอนมา และน่าจะลงเอยด้วยการฟาดฟันกันอย่างสูสีบนเวทีออสการ์ คือ สตีเวน สปีลเบิร์ก, แคธลีน บิเกโลว์ และ เบน อัฟเฟล็ค คนแรกเคยได้ออสการ์มาครองแล้วสองครั้งจาก Schindler’s List และ Saving Private Ryan ส่วนคนถัดมาเพิ่งคว้ารางวัลมาครองจากหนังที่อยู่ในโทนใกล้เคียงกันอย่าง The Hurt Locker เมื่อ 3 ปีก่อน ส่งผลให้คนสุดท้ายค่อนข้างมีแต้มต่อในแง่ที่ยังไม่เคยได้ออสการ์ในสาขาผู้กำกับ (แต่ไม่ใช่น้องใหม่เสียทีเดียว เพราะเขาเคยคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมร่วมกับ แม็ท เดมอน จาก Good Will Hunting) และถึงแม้จะเป็นการเข้าชิงเพียงครั้งแรก แต่อัฟเฟล็คก็สั่งสมชื่อเสียง ความเคารพนับถือจากคนในวงการมาอย่างต่อเนื่องผ่านหนังอย่าง Gone Baby Gone และ The Town ซึ่งล้วนได้เสียงตอบรับน่าพอใจ นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ยังตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าออสการ์ชื่นชอบนักแสดงระดับแนวหน้าที่หันมานั่งเก้าอี้ผู้กำกับมากแค่ไหน สังเกตจากความสำเร็จของ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด (Ordinary People) เควิน คอสเนอร์ (Dances with Wolves) หรือ เมล กิ๊บสัน (Braveheart) ซึ่งล้วนแต่คว้าออสการ์มาครองจากการเข้าชิงเป็นครั้งแรก และตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ออสการ์สาขาผู้กำกับล้วนตกเป็นของคนที่ได้เข้าชิงเป็นครั้งแรกทั้งสิ้น

นอกจากกลุ่มผู้นำทั้ง 7 คนแล้ว ความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการออสการ์จะเปิดโอกาสให้นักทำหนังอาร์ตระดับเวิลด์คลาสเข้าชิงก็มีอยู่ไม่น้อย หากผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากพอ สังเกตได้จากความสำเร็จในอดีตของ ไมค์ ลีห์ (Vera Drake) คริสตอฟ คีย์โลว์สกี้ (Three Colors: Red) และ เปรโด อัลโมโดวาร์ (Talk to Her) ด้วยเหตุนี้ ไมเคิล ฮาเนเก้ จึงอาจกลายเป็นม้ามืดหลุดเข้าชิงเป็นคนที่ 5 แทนที่จะเป็นอังลี หรือฮูเปอร์ หรือตารันติโน แต่อุปสรรคสำคัญคงอยู่ตรง Amour มีภาพรวมที่ค่อนข้างห่างไกลจากรสนิยมของกรรมการออสการ์ จริงอยู่ มันอาจพูดถึงประเด็นความรักอันยืนยาวระหว่างสองผัวเมียชรา แต่ส่วนใหญ่กลับถูกนำเสนอในลักษณะที่ทำให้คนดูรู้สึกหดหู่มากกว่าชุ่มชื่นหัวใจ

ตัวเก็ง: สตีเวน สปีลเบิร์ก, แคธรีน บิเกโลว์, เบน อัฟเฟล็ก, อังลี, เดวิด โอ รัสเซล
ตัวสอดแทรก: ทอม ฮูเปอร์, เควนติน ตารันติโน, ไมเคิล ฮาเนเก้

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

นี่เป็นสาขาเดียวที่ผู้ชนะเกือบจะตีตราจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้แล้ว คงเหลือแค่การประกาศผลจาก SAG และลูกโลกทองคำเพื่อตอกย้ำความมั่นใจ พร้อมทั้งเป็นตะปูตัวสุดท้ายสำหรับตอกปิดฝาโลงคู่แข่งคนอื่นๆ ของ เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ ข้อเสียเปรียบเดียวของเขาในตอนนี้ คือ เขาเคยได้ออสการ์สาขานี้มาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งล่าสุดเมื่อ 5 ปีก่อนจาก There Will Be Blood การคว้าออสการ์ตัวที่สามนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เชื่อก็ลองถาม เมอรีล สตรีพ ดูได้ แต่ปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือล้วนเอื้อประโยชน์ให้เดย์-ลูว์อิสต์สร้างประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น (เขาจะกลายเป็นนักแสดงชายคนแรกที่ได้ออสการ์สาขานักแสดงนำชาย 3 ครั้ง) ไม่ว่าจะเป็นการรับทคนจริงในประวัติศาสตร์ (ของโปรดสำหรับกรรมการออสการ์) หรือการที่หนังเรื่อง Lincoln อยู่ในสถานะขาใหญ่บนเวทีออสการ์ (ตามสถิติแล้ว รางวัลสาขานำชายมักจะตกเป็นของนักแสดงจากหนังที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยข้อยกเว้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเพียง เจฟฟ์ บริดเจส จาก Crazy Heart และ ฟอร์เรสต์ วิทเทเกอร์ จาก The Last King of Scotland) แต่สิ่งสำคัญสูงสุด คือ มันเป็นงานแสดงที่หมดจด สมบูรณ์แบบ จนส่งผลให้เขากวาดรางวัลจากนักวิจารณ์มาครองเป็นกระบุงไม่ต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อนสักเท่าไหร่ 

คู่แข่งคนเดียวที่พอจะมีบารมี และเป็นที่เคารพรักของคนในวงการเทียบเท่าเดย์-ลูว์อิสต์ คือ เดนเซล วอชิงตัน ซึ่งกำลังไล่ล่าออสการ์ตัวที่สามอยู่เช่นกัน แต่น่าเสียดายว่าหนังเรื่อง Flight ไม่ได้เสียงตอบรับในระดับดีเท่ากับ Lincoln และนั่นกลายเป็นข้อเสียเปรียบสำคัญ อีกอย่าง ถึงแม้วอชิงตันจะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมตามมาตรฐาน แต่บทของเขา (นักบินติดเหล้าที่พยายามหาทางไถ่ถอนชีวิตกลับคืนมา) ถือได้ว่า “เข้าทาง” เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Training Day มากเกินไป ในทางตรงกันข้าม งานแสดงอันลุ่มลึกของเดย์-ลูว์อิสต์เพื่อถ่ายทอดความอบอุ่น อ่อนโยน และมุ่งมั่นของประธานาธิบดีที่คนอเมริกันรักมากที่สุดคนหนึ่งใน Lincoln ถือเป็นการพลิกบทบาทชนิดหักศอก เมื่อเทียบกับบทปีศาจร้ายและงานแสดงแบบโชว์ออฟใน There Will Be Blood

การหลุดเข้าชิงออสการ์สมทบชายจาก Winter’s Bone เมื่อ 2 ปีก่อนทำให้ชื่อเสียงและหน้าตาของ จอห์น ฮอว์คส์ เริ่มคุ้นหูคุ้นตานักดูหนังมากขึ้น (รวมไปถึงการร่วมแสดงในหนังอย่าง Martha Macy May Marlene และ Contagion) ในปีนี้การรับบทกวีที่เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมาเนื่องจากโปลีโอใน The Session น่าจะช่วยผลักดันเขาให้เข้าชิงออสการ์อีกครั้ง มันเป็นการพลิกบทบาทจากบทชวนสะพรึงใน Winter’s Bone กับ Martha Macy May Marlene อยู่ไม่น้อย แถมยังบวกแต้มพิเศษจากการต้องเล่นเป็นคนพิการได้ด้วย (กรรมการชอบบททำนองนี้ พิสูจน์ได้จากออสการ์ตัวแรกของเดย์-ลูว์อิสต์) ส่วนอีกสองตำแหน่งที่เหลือคงเติมเต็มโดย “หน้าใหม่” บนเวทีออสการ์ แต่โด่งดังบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ มาหลายปีแล้วอย่าง ฮิวจ์ แจ๊คแมน และ แบรดลีย์ คูเปอร์ ซึ่งได้ความแรงของหนังช่วยผลักดัน 

คนที่น่าสงสารสุดคงหนีไม่พ้น วาควิน ฟีนิกซ์ ซึ่งคว้ารางวัลจากเวนิซมาครอง และถูกวางให้เป็นเต็งหนึ่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แต่กลับค่อยๆ แผ่วปลายหลังจากเวลาผ่านไปเพียงสองเดือน โดยสาเหตุหลักๆ น่าจะเกิดจากส่วนผสมที่ว่า The Master สร้างความสับสนงุนงงมากกว่าความประทับใจ และการแสดงของเขาก็ค่อนข้าง “ออกนอกหน้า” จนบางคนรู้สึกว่าเป็นโอเวอร์แอ็คติ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการแสดงที่ไม่ค่อยใช้ร่างกายมากเท่าของ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน ซึ่งกวาดรางวัลมามากกว่า (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสาขาสมทบชายไม่มีการแข่งขันในระดับเข้มข้นเท่า และปราศจากขาใหญ่อย่างเดย์-ลูว์อิสต์ ที่แย่งรางวัลมาครองเกือบจะคนเดียว) นอกจากนี้ การออกมาให้สัมภาษณ์ด่ารางวัลออสการ์แบบสาดเสียเทเสียของฟีนิกซ์ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ เมื่อพิจารณาว่าภาพลักษณ์โดยรวมของเขาเองก็ไม่สู้ดีอยู่แล้วหลังจากกรณีอื้อฉาวของ I’m Still Here

แต่โอกาสจะแทรกเข้ามาเป็นคนที่ 5 ของฟีนิกซ์ก็ยังพอเหลืออยู่ ซึ่งนั่นหมายความว่าใครคนใดคนหนึ่งจะต้องพลาดท่า และหากมองจากเสียงตอบรับโดยรวมของ Les Miserables แล้ว สถานะของแจ๊คแมนถือได้ว่าง่อนแง่น กรรมการ SAG ที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว ครอบคลุมไปถึงนักแสดงโทรทัศน์อาจทำให้แจ๊คแมนได้เปรียบในแง่ป็อปปูล่าโหวต แต่กรรมการออสการ์มักถือตัวว่าเป็น “คลับพิเศษ” สำหรับสมาชิกที่ผ่านการคัดสรรแล้วเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โอกาสของฟีนิกซ์ ซึ่งเคยเข้าชิงมาแล้วสองครั้งจาก Gladiator และ Walk the Line ย่อมดูดีกว่าเล็กน้อย

ตัวเก็ง: เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์, จอห์น ฮอว์ค, เดนเซล วอชิงตัน, แบรดลีย์ คูเปอร์, วาควิน ฟีนิกซ์
ตัวสอดแทรก: ฮิวจ์ แจ๊คแมน

นักแสดงนำหญิง

นับตั้งแต่ Silver Linings Playbook เริ่มเปิดตัวที่โตรอนโต เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ก็ถูกคาดการณ์ให้เป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ ว่าไม่เพียงจะมีโอกาสเข้าชิงออสการ์เท่านั้น และอาจถึงขั้นคว้ารางวัลมาครองด้วยซ้ำ สถานะผู้นำของเธอไม่ถูกท้าทายจนกระทั่งการปรากฏตัวขึ้นของ Zero Dark Thirty

ข้อได้เปรียบสำคัญของ เจสซิก้า แชสเทน อยู่ตรงที่เธอเป็นศูนย์กลางเรื่องราวทั้งหมด โดดเด่นขนาดโอบอุ้มหนังทั้งเรื่อง ในขณะที่บทบาทของลอว์เรนซ์อยู่ในลักษณะ “สมทบ” หรือช่วยผลักดันให้ตัวละครเอก (แบรดลีย์ คูเปอร์) ได้ก้าวข้ามอุปสรรคอย่างตลอดรอดฝั่ง หากมองในแง่เครดิต ทั้งสองถือว่าบารมีค่อนข้างสูสี เพราะต่างก็เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วคนละครั้ง (คนแรกในสาขานำหญิงจาก Winter’s Bone ส่วนคนหลังในสาขาสมทบหญิงจาก The Help) ลอว์เรนซ์อาจมีแต้มต่อตรงที่บทของเธอเอื้อให้คนดู “หลงรัก” ได้ไม่ยาก แถม 2012 ยังถือเป็นปีทองของเธอ เมื่อนับรวมไปถึงความสำเร็จทางด้านรายได้อย่างล้นหลามของ The Hunger Games ในทางตรงกันข้าม บทของแชสเทนใน Zero Dark Thirty ปราศจากการอธิบายปูมหลัง หรือเรื่องราวส่วนตัวเพื่อดึงคนดูให้รู้สึกเห็นใจ หรือ “เข้าใจ” ตัวละครอย่างชัดเจน และนั่นอาจทำให้เธอเสียเปรียบในลักษณะเดียวกับ เจเรมี เรนเนอร์ ใน The Hurt Locker 

ถัดจากสองคนข้างต้นไปแล้ว สาขานี้ถือว่าคาดเดาได้ยาก เพราะหลายคนยังมีโอกาสสอดแทรกเข้ามาในนาทีสุดท้าย ตัดสินจากรายชื่อของ SAG และลูกโลกทองคำ ต้องถือว่า นาโอมิ วัตส์, เฮเลน เมียร์เรน และ มาริยง โกติยาร์ เป็นกลุ่มผู้นำ เพราะต่างก็ได้เข้าชิงทั้งสองสถาบันอย่างครบถ้วน แต่โอกาสที่ โคเวนชันเน วอลลิส จะหลุดเข้าชิงก็ยังพอมีอยู่ (เธอถูกตัดสิทธิ์บนเวที SAG ซึ่งปกติแล้วมักจะชื่นชอบนักแสดงเด็ก เนื่องจากหนังเรื่อง Beasts of the Southern Wild ปราศจากนักแสดงมืออาชีพร่วมแสดง จึงถือว่าผิดกฎการเข้าชิงรางวัลของสมาพันธ์นักแสดงแห่งอเมริกา) เช่นเดียวกับ ราเชล ไวซ์ (The Deep Blue Sea) ซึ่งได้รางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์กและหลุดเข้าชิงลูกโลกทองคำ (หนังดรามา) แต่ความหวังของ เอ็มมานูเอล ริวา (Amour) ดูจะเริ่มริบหรี่ลงเรื่อยๆ หลังจากถูก SAG และลูกโลกทองคำมองข้าม แถมยังไม่ได้แรงสนับสนุนจากกลุ่มนักวิจารณ์มากพอ

ในกรณีของริวา หากทั้งเธอและ มาริยง โกติยาร์ ได้เข้าชิง นี่จะถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 1976 ที่มีนักแสดงจากหนังภาษาต่างประเทศมากกว่าหนึ่งคนเข้าชิงในสาขานักแสดงนำหญิง (ปีนั้น ลิฟ อุลแมน เข้าชิงจากหนังเรื่อง Face to Face และ มารี-คริสติน บาร์โรลด์ เข้าชิงจากหนังเรื่อง Cousin, cousine) 

ถึงแม้บทของเธอจะค่อนข้างน้อย (และหายวับไปพักใหญ่ในช่วงกลางเรื่อง) แต่ดูเหมือนฝีมือการแสดงของ นาโอมิ วัตส์ ใน The Impossible จะได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มนักแสดงมากพอควร เริ่มจาก แองเจลินา โจลี ซึ่งลงทุนจัดฉายหนังรอบพิเศษเพื่อชื่นชม (และแน่นอนช่วยโปรโมต) การแสดงของเพื่อนเธอ ยวน แม็คเกรเกอร์ แต่ก็ไม่ลืมจะยกย่องวัตส์ว่า “ยอดเยี่ยมและงดงาม” ตามมาด้วยการเขียนจดหมายเปิดผนึกของ รีส วิทเธอร์สพูน (ผู้ไม่ได้สนิทสนมกับนักแสดงหญิงชาวออสซี่เป็นการส่วนตัว) เพื่อสรรเสริญการสวมวิญญาณคุณแม่หัวใจเหล็กของวัตส์ใน The Impossible ว่ายิ่งใหญ่ น่าประทับใจไม่แพ้งานแสดงระดับรางวัลออสการ์ของ เมอรีล สตรีพ และ แซลลี ฟิลด์ ใน Sophie’s Choice และ Norma Rae ตามลำดับ มองในจุดนี้ อาจกล่าวได้ว่าวัตส์น่าจะได้เข้าชิงค่อนข้างแน่ 

เฮเลน เมียร์เรน เรียกได้ว่าเป็นขาประจำบนเวทีออสการ์ จนบางครั้งกลายเป็นตัวเลือกอัตโนมัติของกรรมการ ถึงแม้หนังของเธอจะได้เสียงตอบรับไม่ค่อยดีนัก เช่นกรณีของ The Last Station เมื่อปี 2010 มาคราวนี้ บารมีและความเป็นที่รักในหมู่นักแสดงก็อาจทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 5 จากหนังเรื่อง Hitchcock ซึ่งนักวิจารณ์ส่วนใหญ่เห็นว่าน่าผิดหวัง เมื่อพิจารณาว่าหนังถูกเลื่อนฉายให้เร็วขึ้นแบบกะทันหัน (เดิมถูกวางให้เข้าฉายปีหน้า) เพราะสตูดิโอมั่นใจว่ามันจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญบนเวทีออสการ์ แต่สุดท้ายนำหญิง คือ สาขาสำคัญสาขาเดียวที่หนังพอจะมีลุ้น และโอกาสเข้าชิงของเมียร์เรนก็ไม่มากไม่น้อยไปกว่าอดีตเจ้าของรางวัลออสการ์อีกคนอย่าง มาริยง โกติยาร์ ซึ่งอาจได้บทที่เข้าทางออสการ์ (พิการและลงทุนเปลือยกาย) แต่ในหนังฝรั่งเศสซึ่งหลายคนยังไม่มีโอกาสได้ดูอย่าง Rust and Bone

ตัวเก็ง: เจสซิก้า แชสเทน, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, นาโอมิ วัตส์, เฮเลน เมียร์เรน, มาริยง โกติยาร์
ตัวสอดแทรก: ราเชล ไวซ์, เอ็มมานูเอล ริวา, โคเวนชันเน วอลลิส

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

นักแสดงสามคนที่มีรายชื่อติดทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ คือ กลุ่มตัวเก็งลำดับต้นๆ ที่น่าจะได้เข้าชิงออสการ์ค่อนข้างแน่ ประกอบไปด้วย ทอมมี ลีโจนส์ ซึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นตัวขโมยซีนใน Lincoln เช่นเดียวกับ อลัน อาร์กิน ซึ่งแม้บทจะน้อย แต่ก็ช่วยเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพใน Argo คนสุดท้าย คือ ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน ซึ่งเป็นนักแสดงนำร่วมใน The Master แต่ถูกผลักเข้าชิงสาขาสมทบเพื่อไม่ให้แย่งคะแนนกับฟีนิกซ์ สองคนแรกได้แรงสนับสนุนจากตัวหนัง ซึ่งเป็นขาใหญ่บนเวทีออสการ์ ส่วนคนหลังได้เปรียบตรงน้ำหนักบทที่เหนือกว่า แม้ตัวหนังจะไม่เป็นที่รักของคนส่วนใหญ่สักเท่าไหร่ 

ดังนั้นจึงเหลือช่องว่างแค่สองตำแหน่งสำหรับนักแสดง 4 คน ที่จะต้องแก่งแย่งกัน โดยในเวลานี้ ภาษีของ โรเบิร์ต เดอ นีโร ดูจะสวยงามกว่าใครเพื่อน เพราะถึงแม้เขาจะพลาดการเข้าชิงลูกโลกทองคำ (บางคนให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะมุกตลกออกแนวดูถูกกรรมการลูกโลกทองคำเมื่อปีก่อนตอนขึ้นรับรางวัลเกียรติคุณความสำเร็จสูงสุด เขาจึงถูกลงโทษกลายๆ ในลักษณะเดียวกับ ริคกี้ เจอเวส ซึ่งโดนถอดออกจากตำแหน่งพิธีกรในปีนี้ แล้วแทนที่ด้วย ทีนา เฟย์ กับ เอมี โพห์เลอร์) แต่เครดิตอันสวยหรูในอดีต การมีส่วนร่วมในหนังที่ใครๆ ก็ชื่นชอบอย่าง Silver Linings Playbook และข้อเท็จจริงที่ว่าเขาห่างหายจากเวทีออสการ์มานาน (ล่าสุด คือ Cape Fear เมื่อ 20 ปีก่อน) หลังจากมัวไปเสียเวลากับหนังตลกบ้าๆ บอๆ อย่าง Meet the Parents และ Analyze This น่าจะทำให้เขาหลุดเข้าชิงได้ไม่ยาก อาจเรียกว่าเป็นการคัมแบ็คอย่างสมศักดิ์ศรีของอดีตลูกรักก็คงไม่ผิดนัก 

ฮาเวียร์ บาเด็ม จะทำสถิติเป็นนักแสดงคนแรกจากหนังชุด เจมส์ บอนด์ ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ได้หรือไม่ คำตอบคงต้องวัดจากความแรงของหนังเรื่อง Django Unchained ซึ่งเข้าฉายค่อนข้างช้า และตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คณะกรรมการ SAG อาจตามไปดูหนังรอบพิเศษไม่ทัน ส่งผลให้นักแสดงทุกคนในเรื่องชวดการเข้าชิงไปอย่างน่าเสียดาย แต่ลูกโลกทองคำได้แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวด้วยการเสนอชื่อทั้ง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ คริสตอฟ วอลซ์ เข้าชิงทั้งคู่ ถึงตรงนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเหล่านักแสดงสมทบใน Django Unchained อาจตัดคะแนนกันเอง (หลายคนเห็นตรงกันว่า แซมมวล แอล. แจ๊คสัน ก็ยอดเยี่ยมไม่น้อยหน้าใคร) จนทำให้สุดท้ายส้มไปหล่นลงบนตักของบาเด็ม หรือกระทั่งม้ามืดอย่าง ดไวท์ เฮนรี หากกระแส Beasts of the Southern Wild ถูกจุดติดในช่วงโค้งสุดท้ายของออสการ์ในลักษณะเดียวกับ Winter’s Bone

ตัวเก็ง: ทอมมี ลี โจนส์, โรเบิร์ต เดอ นีโร, อลัน อาร์กิน, ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน, คริสตอฟ วอลซ์
ตัวสอดแทรก: ฮาเวียร์ บาเด็ม, ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, ดไวท์ เฮนรี

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม 

แอนน์ แฮทธาเวย์ น่าจะเจริญรอยตามความสำเร็จของ แคทเธอรีน ซีตาร์-โจนส์ (Chicago) และ เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน (Dreamgirls) ได้ไม่ยากจากการรับบทเด่นในหนังเพลงเรื่อง Les Miserables (และเช่นเดียวกันเธอต้องรับหน้าที่ร้องเพลงเอก I Dream A Dream ซึ่งทุกคนรู้จักกันดีพอๆ กับเพลง All That Jazz และ And I Am Telling You) เส้นทางสู่ออสการ์ของเธอดูจะราบรื่นราวกับโรยด้วยกลีบกุหลาบ เริ่มต้นจากการกวาดรางวัลของสถาบันนักวิจารณ์ ตามมาด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแบบครบถ้วนทุกสถาบันทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ ที่สำคัญ ในบรรดากลุ่มตัวเก็งของสาขานี้ เธอเป็นคนเดียวที่ยังไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์มาครอง 

คู่แข่งสำคัญของเธอ แซลลี ฟิลด์ ในบท แมรี ท็อดด์ ลินคอล์น มีโอกาสจะสร้างสถิติใหม่ให้กับออสการ์ด้วยการคว้า 3 รางวัลมาครองจากการเข้าชิง 3 ครั้ง แล้วแยกตัวออกจากกลุ่มเข้าชิง 2 ได้ 2 อันประกอบไปด้วย เควิน สเปซีย์ (The Usual Suspects, American Beauty) ฮิลารี สแวงค์ (Boys Don’t Cry, Million Dollar Baby) วิเวียน ลีห์ (Gone with the Wind, A Streetcar Named Desire) เฮเลน เฮย์ส (The Sin of Madelon Claudet, Airport) และ หลุยส์ เรนเนอร์ (The Great Ziegfeld, The Good Earth) แต่สมาชิกใหม่ในกลุ่มนี้อาจเพิ่มขึ้น หาก เฮเลน ฮันท์ สามารถคว้าออสการ์มาครองจากบทนักบำบัดเซ็กซ์ในหนังเรื่อง The Session (ก่อนหน้านี้เธอเคยเข้าชิงและคว้ารางวัลนำหญิงจาก As Good As It Gets) 

สามคนข้างต้นเรียกได้ว่าเป็นตัวเก็งที่น่าจะได้เข้าชิงแน่นอน ส่วนอีกสองตำแหน่งว่างคงต้องเป็นการฟาดฟันกันระหว่าง แม็กกี้ สมิธ (เข้าชิง SAG) จากหนังที่เหล่านักแสดงชื่นชอบเรื่อง The Best Exotic Marigold Hotel จนเข้าชิงสาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม เอมี อดัมส์ (เข้าชิงลูกโลกทองคำ) จากหนังที่นักวิจารณ์ชื่นชอบเรื่อง The Master และนิโคล คิดแมน (เข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำและ SAG) จากหนังที่ไม่ค่อยมีใครชื่นชอบ แต่การแสดงของเธอเป็นจุดเด่นเดียวที่ทุกคนดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกัน เรื่อง The Paperboy

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจมองว่าคิดแมนถือแต้มต่อและไม่น่าพลาดการเข้าชิงออสการ์ แต่อย่างที่ทราบกันดี การได้เข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำและ SAG ไม่ใช่เครื่องรับประกันใดๆ ดังจะเห็นได้จากชะตากรรมในอดีตของ มีลา คูนิส (Black Swan) คาเมรอน ดิแอซ (Vanilla Sky) และ มาเรีย เบลโล (The Cooler) แน่นอน การสวมวิญญาณสาวร่านที่หลงใหลนักโทษต้องคดีอุกฉกรรจ์ของคิดแมนถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญ มันเป็นบทที่จัดจ้าน และแน่นอนโดดเด่นกว่าในแง่น้ำหนักของบท เมื่อเทียบกับ เอมี อดัมส์ หรือ แม็กกี้ สมิธ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่หนังมีฉากแรงๆ หลายฉาก ซึ่งอาจทำให้คณะกรรมการเบือนหน้าหนี หรือก่นด่าภาพรวมว่าเป็นผลงานขยะได้ง่ายๆ โดยเฉพาะฉากที่เธอจะต้องฉี่รด แซ็ค เอฟรอน และฉาก “ร่วมเพศทางโทรจิต” ระหว่างเธอกับ จอห์น คูแซ็ค มองในจุดนี้จึงกล่าวได้ว่าสมิธและอดัมส์เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่า และทั้งคู่ก็เป็นขวัญใจคณะกรรมการออสการ์ไม่แพ้คิดแมน

ตัวเก็ง: แอนน์ แฮทธาเวย์, แซลลี ฟิลด์, เฮเลน ฮันท์, แม็กกี้ สมิธ, นิโคล คิดแมน
ตัวสอดแทรก: เอมี อดัมส์

เก็บตกข่าวออสการ์ 

• คนจะดัง บางครั้งอะไรก็ฉุดไม่อยู่ หลังจากหนังเรื่อง Ted กอบโกยเงินทองไปอย่างมหาศาล ผู้กำกับ เซ็ธ แม็คฟาร์แลน จะกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากยิ่งขึ้นอีก เมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นพิธีกรคนล่าสุดของงานแจกรางวัลออสการ์ (อีกหนึ่งความพยายามของผู้บริหารที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น หลังล้มหน้าคว่ำไม่เป็นท่าไปกับ แอนน์ แฮทธาเวย์ และ เจมส์ ฟรังโก้ พิธีกรเมื่อสองปีก่อน) สำหรับคนที่ชื่นชอบการ์ตูนคงคุ้นชื่อแม็คฟาร์แลนดีอยู่แล้ว เพราะเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังซีรีย์สุดฮิต Family Guy แต่ว่ากันว่าผลงานที่ทำให้เขาเข้าตากรรมการมากเป็นพิเศษ คือ ความสำเร็จจากบทบาทพิธีกรรับเชิญในรายการ Saturday Night Live... ดูเหมือนงานนี้เราคงได้เห็นเจ้าหมีเท็ดมาอาละวาดในงานออสการ์เป็นแน่

• หลังเกิดหายนะในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมื่อปีก่อน ซึ่งมีผู้เข้าชิงแค่ 2 เพลง และไม่มีการร้องโชว์บนเวที ในที่สุดออสการ์ก็ตัดสินใจเปลี่ยนกฎใหม่ เพื่อรับประกันว่าปีนี้จะมีเพลงถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งหมด 5 เพลง เริ่มจากการอนุญาตให้กรรมการดูหนังผ่านแผ่นสกรีนเนอร์ได้ (เมื่อก่อนกรรมการต้องเดินทางไปดูหนังในรอบพิเศษเพื่อพิจารณาว่าเพลงนั้นๆ มีส่วนสำคัญกับเรื่องมากแค่ไหน) ตามมาด้วยการเปลี่ยนวิธีลงคะแนน โดยแทนที่จะให้โหวตลงคะแนนระหว่าง 6-10 และหากเพลงไหนได้คะแนนเฉลี่ยมากกว่า 8.25 ก็จะได้เข้าชิง (ปัญหาของระบบนี้ คือ กรรมการอาจบล็อกโหวตเพลงที่ไม่ชอบด้วยการให้คะแนนต่ำสุด ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยถูกฉุดลงต่ำ และเหลือผู้เข้าชิงแค่ 2 เพลงดังเช่นในปีก่อน) คราวนี้กรรมการจะต้องเลือก 5 เพลงที่ชอบที่สุด และเพลงที่ได้คะแนนสูงสุด 5 เพลงจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ต่อไป การเปลี่ยนกฎดังกล่าวเกิดขึ้นถูกจังหวะอย่างยิ่ง เพราะปีนี้สาขาเพลงประกอบถือว่าคึกคักมากกว่า และหลายเพลงที่มีสิทธิ์เข้าชิงก็เป็นผลงานของศิลปินชื่อดังระดับโลกซะด้วย ไม่ว่าจะเป็น Skyfall ของ อเดล Wide Awake ของ เคธี เพอร์รี Dull Tool ของ ฟีโอนา แอปเปิ้ล หรือ Everybody Needs a Friend ของ นอราห์ โจนส์

• ในการประกาศผลปีนี้ รางวัลสาขา กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม จะถูกขนานนามใหม่ให้เห็นรางวัลสาขา ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม ทั้งนี้เพื่อให้ถูกต้องเหมาะสมตามความเป็นจริง เพราะปกติแล้วคนที่ขึ้นไปรับรางวัลจะเป็นนักออกแบบงานสร้างอยู่แล้ว (และนักตกแต่งฉาก) ซึ่งเป็นหัวหน้าของผู้กำกับศิลป์อีกทอดหนึ่ง เช่นเดียวกัน รางวัลแต่งหน้ายอดเยี่ยม ก็จะเปลี่ยนชื่อเป็นรางวัล แต่งหน้าและออกแบบทรงผมยอดเยี่ยม เพื่อให้ครอบคลุมขอบเขตการทำงานอย่างครบถ้วน

• รายชื่อผู้ได้รับรางวัลออสการ์เกียรติยศประจำปี 2012 ได้แก่ ฮาล นีดแฮม สตันท์แมนระดับตำนานและผู้กำกับหนังเรื่อง Smokey and the Bandit และ Hooper (เควนติน ตารันติโน ขึ้นมากล่าวสดุดี พร้อมกับบอกว่าฉากขับรถไล่ล่าใน Death Proof ได้แรงบันดาลใจมาจากนีดแฮม) ดี. เอ. เพนเนเบเกอร์ นักทำหนังสารดีชั้นครู เจ้าของผลงานคลาสสิกอย่าง Dont Look Back (ไมเคิล มัวร์ ขึ้นมากล่าวสดุดีให้เขา) และ จอร์จ สตีเวนส์ จูเนียร์ ผู้ก่อตั้งสถาบัน AFI และมีผลงานกำกับ/เขียนบทซีรีย์ทางโทรทัศน์มากมายหลายเรื่อง (แอนเน็ต เบนนิง ขึ้นมากล่าวสดุดีให้เขา) ส่วนรางวัลสำหรับผู้ทำงานด้านมนุษยธรรม หรือ จีน เฮอร์โชลท์ อวอร์ด ตกเป็นของ เจฟฟรีย์ แคทเซนเบิร์ก (วิล สมิธ และ ทอม แฮงค์ ขึ้นมากล่าวสดุดีให้เขา)