วันศุกร์, สิงหาคม 16, 2556

Before Midnight: หลังอาทิตย์อัสดง


ถ้าครึ่งหนึ่งของบรรดาหนังภาคต่อที่กองสุมอยู่ตามมัลติเพล็กซ์ทั่วประเทศเลือกเจริญรอยตามไตรภาคชุด Before Trilogy ได้ก็คงดี จริงอยู่ว่านับจาก Before Sunrise (1995) มาถึง Before Sunset (2004) และล่าสุด Before Midnight (2013) ผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ยังคงอาศัยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบเดิม ตัวละครเดิม พูดคุยโต้ตอบกันไปมาโดยดำเนินเหตุการณ์ภายในเวลาหนึ่งวันเหมือนเดิม แต่มันห่างไกลจากการรีไซเคิล หรือย่ำอยู่กับที่เหมือนหนังภาคต่อทั้งหลาย เหตุผลสำคัญอยู่ตรงตัวละครหลักสองคน (รวมทั้งโทนอารมณ์ของหนังโดยรวม) ได้เติบใหญ่ไปพร้อมๆ กับคนดู (หากคุณติดตามหนังชุดนี้ครบทั้งสามภาค) ด้วยเหตุนี้ การนั่งชม Before Midnight จึงกลายเป็นประสบการณ์น่าตื่นเต้นตรงที่ ในแง่หนึ่งมันช่างคุ้นเคย คาดเดาได้เหมือนการพบปะกับเพื่อนเก่าที่คุณสนิทสนมมานาน แต่ในอีกแง่หนึ่งคุณก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าทุกอย่างจะลงเอย ณ จุดใดเพราะตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมา (เรื่องราวในหนังทิ้งช่วงห่างเท่ากับระยะเวลาเข้าฉายของหนังแต่ละภาค) หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิตพวกเขา ซึ่งเราคนดูไม่อาจรับรู้ แต่กำลังจะได้สัมผัส (หรือถ้าจะพูดให้ถูก คือ รับฟังหากพิจารณาจากรูปแบบการสร้างหนังชุดนี้ที่เน้นบทสนทนาเป็นหลัก) เศษเสี้ยวของประสบการณ์ดังกล่าว

เรื่องราวความรักระหว่างหนุ่มอเมริกัน เจสซี (อีธาน ฮอว์ค) กับสาวชาวฝรั่งเศส เซลีน (จูลี เดลพี) เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน หลังจากพวกเขาพบเจอกันบนรถไฟ แล้วมีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกันตลอดค่ำคืนในกรุงเวียนนา พูดคุย เรียนรู้ เปิดใจ ก่อนในที่สุดจะตกหลุมรักกันอย่างสุดซึ้ง และถึงแม้ลึกๆ แล้วต่างคนจะตระหนักดีว่าความรู้สึกแบบนี้ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ มันเป็นสิ่งที่บางคนค้นหามาตลอดชีวิตแต่ไม่เคยพบเจอ ทั้งสองกลับตัดสินใจไม่แลกเปลี่ยนที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ นอกจากตกลงกันว่าจะกลับมายังสถานที่แห่งนี้อีกใน 6 เดือนข้างหน้า

อาจกล่าวได้ว่า Before Sunrise เป็นหนังเพื่อการเดทของหนุ่มสาวที่กำลังดื่มด่ำในความรักโรแมนติกอย่างแท้จริง เจสซีกับเซลีนตัดสินใจไม่แลกเปลี่ยนที่อยู่เพราะพวกเขาคิดว่ามันโรแมนติกกว่าที่จะเก็บค่ำคืนอันสมบูรณ์แบบนั้นไว้โดยไม่ปล่อยให้ระยะทาง หรือความจริงแห่งโลกรอบข้างเข้ามาทำลายกัดกร่อน พวกเขายังเชื่อมั่นในพรหมลิขิต และแนวคิดทำนองว่าหากเป็นคู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วคลาดจากกัน นอกจากนี้ด้วยวัยเยาว์ที่อ่อนต่อโลกทำให้พวกเขาเชื่อมั่น/คาดหวังว่าจะมีโอกาสพบรักที่ดีกว่า สมบูรณ์กว่า เร่าร้อนรุนแรงกว่า อนาคตช่างเปิดกว้างไปสู่ทางเลือกมากมาย ฉะนั้นเหตุใดจึงต้องปิดกั้นความเป็นไปได้ทั้งหลายไว้เพียงแค่ค่ำคืนอันมหัศจรรย์เพียงค่ำคืนเดียว... การที่พวกเขาไม่แลกเปลี่ยนที่อยู่กันจึงมีสาเหตุมาจากทั้งความเชื่อมั่นศรัทธาในรักโรแมนติกมากพอๆ กับความอ่อนไหว ไม่มั่นใจ

9 ปีผ่านไป เจสซีเดินทางมาโปรโมตหนังสือ ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของค่ำคืนอันมหัศจรรย์นั้น ในกรุงปารีสและมีโอกาสได้พบกับเซลีนอีกครั้ง แต่เวลายังคงเป็นศัตรูตัวฉกาจ เพราะเจสซีจะต้องรีบไปขึ้นเครื่องบินกลับอเมริกาในอีกหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ตลอดช่วงเวลานั้นพวกเขาได้แวะจิบกาแฟ นั่งเรือเล่น และพูดคุยรำลึกความหลัง พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาให้อีกฝ่ายฟัง คนดูก็ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ทั้งสองนัดหมายมาเจอกันที่เวียนนา และเช่นเดียวกับตัวละคร เราตระหนักชัดว่าประกายแห่งความปรารถนา ความรัก ความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกันของพวกเขายังไม่จางหายไปไหน แต่กลับยิ่งส่องแสงเจิดจรัสหลังจากฝ่ายชายถูกจองจำอยู่ในชีวิตสมรสที่ไร้ความสุข และฝ่ายหญิงก็ผ่านพ้นความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ มาแล้วมากมายหลายครั้ง ทว่าไม่มีใครที่เธอผูกพันลึกซึ้งเท่ากับหนุ่มอเมริกันที่เธอพบบนรถไฟเมื่อ 9 ปีก่อน

ประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าหนึ่งทศวรรษทำให้เจสซีกับเซลีนมั่นใจแล้วว่าความรักระหว่างพวกเขาเป็นประสบการณ์แค่ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่คราวนี้ความอ่อนไหว ไม่มั่นใจของพวกเขาอ้างอิงไปยังโลกแห่งความจริงมากกว่า โลกของผู้ใหญ่ที่มีเต็มไปด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ

ถ้า Before Sunrise เป็นหนังโรแมนติกหวานหยดย้อยที่ผสมความเศร้าสร้อยของการลาจากไว้จางๆ Before Sunset ก็ถือเป็นหนังโรแมนติกที่ให้ความรู้สึก หวานปนเศร้าอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเมื่อตัวละครเติบใหญ่ ผ่านพ้นมรสุมชีวิตมาในระดับหนึ่ง อุดมคติ ความฝัน และทัศนคติต่อความรักของพวกเขาย่อมเปลี่ยนแปลงไป แน่นอน พวกเขายังคงโหยหาสายสัมพันธ์อันพิเศษสุดอย่างไม่เสื่อมคลาย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มืดบอดต่อความรับผิดชอบ ภาระหน้าที่ ตลอดจนแรงกดดันทางสังคมเหมือนเมื่อครั้งวัยเยาว์... โลกไม่ได้มีแค่เราสองคนอีกต่อไป

หากสังเกตจากพัฒนาการทางด้านโทนอารมณ์โดยรวมของหนัง คนดูอาจสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่า Before Midnight กำลังจะดำเนินไปยังทิศทางใด

คุณจะไปไม่ทันเที่ยวบินเอานะ เป็นคำพูดสุดท้ายของเซลีนใน Before Sunset ก่อนภาพบนจอจะค่อยๆ มืดลงโดยปราศจากบทสรุปว่าพวกเขาตัดสินใจอย่างไร ด้วยเหตุนี้ มันจึงถือเป็นการเชื่อมโยงที่ต่อเนื่อง งดงาม เมื่อ Before Midnight เปิดฉากในสนามบิน ขณะเจสซีเดินทางมาส่งลูกชาย (เดวี-ฟิทซ์ แพทริค) กลับชิคาโก จากบทสนทนาคนดูได้รับรู้ว่าเจสซีแยกทางกับอดีตภรรยาแล้ว และดูเหมือนทั้งสองจะไม่ได้จากกันด้วยดีสักเท่าไหร่ แต่เรายังไม่อาจแน่ใจได้ว่าเขาลงเอยกับเซลีนหรือไม่ (ถ้าคุณไม่ได้อ่านเรื่องย่อ หรือชมหนังตัวอย่างมาก่อน) จนกระทั่งเขาเดินออกจากสนามบินมาขึ้นรถโดยมีเซลีนยืนรออยู่ จากนั้นช็อตลองเทคความยาวเกือบ 15 นาที ขณะพวกเขาขับรถออกจากสนามบิน ก็ช่วยอธิบายสถานการณ์คร่าวๆ (พวกเขามีลูกสาวฝาแฝดด้วยกัน เซลีนกำลังคิดจะย้ายงาน) รวมทั้งปูพื้นวิกฤติปัญหาครอบครัว (เจสซีอยากไปอยู่ใกล้ชิดกับลูกชาย แต่เซลีนไม่อยากย้ายไปตั้งรกรากที่ชิคาโก) ซึ่งสั่งสมมาเนิ่นนาน และต่อมาค่อยๆ บานปลายไปสู่การระเบิดอารมณ์ในช่วงท้ายเรื่องได้อย่างครบถ้วน

เช่นเดียวกับประสบการณ์เปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นมาสู่วัยผู้ใหญ่ จากการมองโลกว่าทุกอย่างสามารถเป็นไปได้มาสู่กับการค้นพบความจริงอันเจ็บปวดของชีวิต โทนอารมณ์ในไตรภาคหนังรักของเจสซีกับเซลีนก็ค่อยๆ มืดหม่นลง จนอาจกล่าวได้ว่า Before Midnight เจือความขมขื่น ความเจ็บปวด ความผิดหวังเอาไว้มากกว่าความหวานและอารมณ์โรแมนติก เซลีนกับเจสซีไม่ได้มองความรักในลักษณะอุดมคติเหมือนเมื่อครั้งวัยเยาว์อีกต่อไป การได้นอนตายในอ้อมกอดของคนรักแบบใน Romeo & Juliet อาจฟังดูเย้ายวน โรแมนติกสำหรับเซลีนใน Before Sunrise แต่กลับถูกมองด้วยสายตาเย้ยหยันสำหรับเซลีนใน Before Midnight ซึ่งเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากภาระ ความรับผิดชอบในชีวิตประจำวันที่ทำให้เธอสูญเสีย ตัวตนไปทีละน้อย และการพยายามรักษาสมดุลระหว่าง แม่กับเมียและ ผู้หญิงหัวก้าวหน้าก็สร้างความรู้สึกขัดแย้งภายในตัวเธออย่างรุนแรง ส่วนเจสซีเองก็ต้องทนทุกข์กับความรู้สึกผิดว่าเขาไม่สามารถเป็นพ่อที่ดีให้กับแฮงค์ ไม่ได้อยู่เฝ้าดูลูกชายเติบใหญ่เพราะอดีตภรรยาได้สิทธิในการเลี้ยงดู และเลือกจะใช้สิทธินั้นเพื่อเอาคืน เขา

ความคับแค้นทั้งหลายซุกซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกนอกอันสุขสันต์ ผ่อนคลายขณะครอบครัวเดินทางมาพักร้อนในประเทศกรีซ รอเวลาที่จะประทุขึ้นมา ในฉากหนึ่งเซลีนพูดว่าเธอไม่ค่อยสบายใจกับการเดินทางมาพักร้อนที่นี่ เพราะกรีซเป็นแหล่งกำเนิดตำนานและโศกนาฏกรรมมากมาย และเธอกลัวว่านั่นอาจเป็นลางบอกเหตุบางอย่าง

แม้จะผันตัวออกจากสถานะ หนังเพื่อการเดทมาไกลหลายโยชน์ แต่ Before Midnight ยังคงเปี่ยมอารมณ์ขันและเสน่ห์ในแบบเดียวกับสองภาคแรก ประกายไฟระหว่างเจสซีกับเซลีนยังคงสัมผัสได้ชัดเจนในฉากที่ทั้งสองเดินเที่ยวจากซากปรักหักพังของปราสาท ผ่านเข้าไปยังย่านชุมชน แวะชมโบสถ์โบราณ ก่อนจะมาลงเอยด้วยการนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินด้วยกันที่ริมอ่าว ตลอดทางพวกเขาพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อหลากหลาย ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ความตาย และปรัชญาการใช้ชีวิต ความลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติของฉากนี้ (รวมถึงฉากที่เจ็บปวดและทำร้ายจิตใจหนักหน่วงในห้องพักโรงแรม) ต้องยกประโยชน์ให้กับสองนักแสดงที่เข้าขากันได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นเคย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขามีส่วนร่วมเขียนบทด้วย จึงทำให้บทสนทนาส่วนใหญ่ได้ความรู้สึกสดใหม่ราวกับเป็นการด้นสด (improvise) แม้ว่าเมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่า มันถูกวางรายละเอียดไว้อย่างรัดกุม สอดคล้อง และแม่นยำ

บทสรุปเกี่ยวกับชีวิตและความรัก พัฒนาการจากช่วงวัยหนึ่งไปสู่อีกช่วงวัยหนึ่งสะท้อนชัดในฉากพูดคุยที่โต๊ะอาหารช่วงต้นเรื่อง ซึ่งเริ่มต้นด้วยประสบการณ์รักของคู่หนุ่มสาวยุคใหม่จากสองมุมโลก (คล้ายคลึงกับเจสซีและเซลีนใน Before Sunrise แต่คราวนี้พวกเขาเลือกใช้ Skype แทนการนัดเจอในอีกหกเดือนข้างหน้า) ก่อนจะไปจบลงที่ประสบการณ์ของหญิงชรา เล่าถึงความทรงจำที่ค่อยๆ พร่าเลือนเกี่ยวกับสามีอันเป็นที่รัก บางวันเธอสามารถนึกภาพใบหน้าเขาได้ชัดเจนจนเกือบจะสัมผัสได้ แต่บางวันกลับเหมือนมีม่านหมอกบางอย่างมาบดบัง เขาปรากฏตัวขึ้น และก็หายวับไปเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก... ไม่ต่างกับชีวิตเรานั่นแหละ มีเกิด แล้วก็มีดับ เราอาจมีความสำคัญกับคนบางคน แต่จริงๆ แล้วเราก็แค่เดินทางผ่านมา เธอกล่าว

ถ้า Before Sunrise แสดงให้เห็นจุดกำเนิดแห่งความหลงใหลและความรักโรแมนติก เมื่อคู่รักเฝ้ามองดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมา พร้อมจะมอบแสงสว่างและความอบอุ่นให้กับทุกสรรพสิ่ง และ Before Sunset คือ ช่วงเวลาที่ความหลงใหลนั้นกลั่นตัวไปสู่จุดสูงสุด ทรงพลังมากพอจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญแล้วละก็ Before Midnight ก็คงเปรียบเสมือนจุดสิ้นสุดแห่งความหลงใหลและความรักโรแมนติก เหมือนในฉากที่เจสซีกับเซลีนนั่งมองพระอาทิตย์ตกลับสันเขา ยังอยู่... ยังอยู่... หายไปแล้วเธอพูดด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา

แต่แน่นอน ชีวิตคู่ที่จะยืนหยัดยาวนานเหมือนคุณปู่คุณย่าของเจสซีนั้นหาได้วางรากฐานอยู่บนความรักโรแมนติก ทว่าต้องดิ้นรนผ่านความผิดพลาด การประนีประนอม และความเจ็บปวดนานัปการ ด้วยเหตุนี้ ฉากจบของ Before Midnight จึงให้ความรู้สึกผสมปนเประหว่างหดหู่และเปี่ยมสุขไปพร้อมๆ กัน เพราะในแง่หนึ่งมันอาจเป็นจุดจบของความรักแบบที่เราทุกคนเฝ้าค้นหา หรือใฝ่ฝัน แต่ขณะเดียวกันเยื่อใย ความผูกพัน ซึ่งทั้งสองยังมีให้แก่กันก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ในแบบที่เป็นจริงกว่า  เหมือนคำอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับภรรยาของเจ้าภาพซึ่งเชิญเจสซีมาพักร้อนว่า เราไม่เคยหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เราคือคนสองคน และก็พอใจที่เป็นแบบนั้น” 

Passion: รวมมิตรในรสชาติที่คุ้นเคย


ฮอลลีวู้ดในปัจจุบันเหลือคนทำหนังแบบ ไบรอัน เดอ พัลมา น้อยลงทุกที ในที่นี้หมายความถึงวิธีที่เขาเลือกช็อต การถ่ายทำโดยอาศัย storyboard การยืนกรานใช้ขาตั้งกล้อง หรือสเตดิแคม แล้วปล่อยให้บ่าของตากล้องได้พักผ่อนกับเขาบ้าง การจัดองค์ประกอบภาพอย่างละเอียด การจัดแสงเพื่อเน้นอารมณ์ การปล่อยช็อตให้นานกว่าเสี้ยววินาที (ผลลัพธ์จากการคำนวณเวลาเฉลี่ยต่อช็อตของ Passion อาจทำให้คุณนึกตกใจว่านี่เป็นหนังปี 2013 หรือหนังจากทศวรรษ 1980 กันแน่) การขับเน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างฉากหน้า (foreground) กับฉากหลัง (background) ด้วยเทคนิค split diopter (สร้างภาพลวงของความชัดลึก) การแพนกล้องกลับไปกลับมาระหว่างบทสนทนาของสองตัวละครแทนการตัดภาพ การเลือกถอยกล้องออกมาสักสองสามเมตรเพื่อถ่ายภาพ two-shot โดยไม่เสยกล้องใส่หน้านักแสดงแบบพร่ำเพรื่อ และแน่นอน เครื่องหมายการค้าที่แทบจะขาดไม่ได้ของเขา นั่นคือ การใช้เทคนิคแยกจอภาพเพื่อถ่ายทอดสองเหตุการณ์ (หรืออาจมากกว่านั้น เช่น กรณีฉากไคล์แม็กซ์ใน Carrie) ไปพร้อมกันๆ

สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการตัดต่อที่วุ่นวายและความรู้สึก “สมจริง” จากกล้องสั่นๆ แบบ hand-held หนังของเดอ พัลมาอาจให้ความรู้สึกล้าสมัย ดูปรุงแต่ง และไม่เนียน แต่สำหรับนักดูหนังรุ่นเก่า ทักษะ คลาสสิก” ดังกล่าวเปรียบเสมือนสายลมแห่งชีวิตชีวาและอารมณ์ถวิลหาอดีต

น่าสังเกตว่ากาลครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ไบรอัน เดอ พัลมา ถือเป็นนักทำหนังตลาดระดับแนวหน้า แต่หลังจากความล้มเหลวของ Mission to Mars เขาก็ไม่เคยร่วมงานกับสตูดิโอฮอลลีวู้ดอีกเลย (แม้จะยังได้รับข้อเสนออยู่เนืองๆ เช่น สองสามโครงการสร้างหนังเกี่ยวกับ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก ซึ่งล้วนถูกนำมาเสนอให้เขาก่อน) โดยผลงานในยุคหลังๆ มักจะสร้างขึ้นโดยอาศัยแหล่งทุนอิสระในยุโรป ซึ่งชื่นชอบสไตล์การทำหนังของเขา กาลเวลาที่ผันผ่าน เช่นเดียวกับแนวทางการสร้างหนังกระแสหลักที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ทำให้เดอ พัลมากลายสภาพเป็นคนทำหนังอาร์ต ถึงแม้ว่าหนังที่เขาสร้างจะยังคงรูปแบบความบันเทิงและเนื้อหาเดิมๆ ไว้ครบถ้วน ที่สำคัญ หนังทุกเรื่องของเขาหลังจาก Mission to Mars ดูจะล้มเหลวในเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฉายแบบปูพรมทั่วประเทศ (The Black Dahlia) หรือจำกัดโรง (Femme Fatale, Redacted) จนไม่น่าแปลกใจที่เหล่าสตูดิโอใดในอเมริกาไม่กระตือรือร้นที่จะรับจัดจำหน่าย Passion หลังหนังได้กระแสตอบรับค่อนข้างก้ำกึ่งจากเทศกาลหนังโตรอนโต

ความสนุก น่าสนใจของ Passion หาได้ยึดติดอยู่กับแค่เนื้อเรื่อง หรือความซับซ้อนของประเด็นสังคม การเมือง หากแต่เป็นสไตล์ที่ใหญ่ เยอะ และฉูดฉาด จนหลายครั้งเดินอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างจริงจังกับล้อเลียน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เดอ พัลมาไม่ใช่ผู้กำกับที่สนใจการวิเคราะห์จิตตัวละคร ความลุ่มหลง (passion) ที่เห็นได้ชัดของเขา คือ ภาพยนตร์ ความรุนแรง และผู้หญิง (แม้บางคนจะชอบโจมตีหนังของ เดอ พัลมาว่าเหยียดเพศ เนื่องจากตัวละครผู้หญิงในหนังหลายเรื่องของเขามักจบชีวิตอย่างสยอง หรือน่าสมเพช) ซึ่งทั้งหมดผสมกลมกลืนกันอยู่ในหนังอย่าง Passion 

เรื่องราวการขับเคี่ยวของสองสาวสองบุคลิก คนหนึ่งผมสีบลอนด์ ดูเย่อหยิ่ง มั่นใจ และค่อนข้างร้ายกาจ (ราเชล แม็คอดัมส์) อีกคนผมสีน้ำตาล ดูเงียบขรึม เรียบร้อย และเก็บตัว (นูมิ ราเพซ) คนแรกชื่อคริสตินเป็นเจ้านายของคนหลังที่ชื่ออิสซาเบลล์ ในช่วงแรกทั้งสองดูจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จนกระทั่งวันหนึ่งคริสตินขโมยไอเดียโฆษณาของอิสซาเบลล์มาเป็นเครดิตของตนแบบหน้าด้านๆ พร้อมกับบอกว่า “นี่ไม่ใช่การทรยศหักหลัง มันก็แค่ธุรกิจ ต่อมาอิสซาเบลล์จึงนำบทเรียนดังกล่าวมาศอกกลับด้วยการชิงปล่อยโฆษณาดังกล่าวทาง YouTube และสร้างกระแสสนใจจนมีคนมากดดูมากถึง 10 ล้านวิวภายในเวลาเพียง 5 ชม. เมื่อโดนหักหน้ากันแบบแคร์ว่าใครใหญ่กว่าใคร คริสตินจึงประกาศสงครามเต็มรูปแบบ  และสถานการณ์ก็เริ่มตึงเครียดจนพัฒนาไปสู่จุดเดือดชนิดเลือดตกยางออก

ภาพยนตร์เป็นรูปแบบหนึ่งของการถ้ำมอง ประเด็นดังกล่าวมักปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในหนังหลายเรื่องของเดอ พัลมา (เช่นเดียวกับฮิทช์ค็อกซึ่งเดอ พัลมามักถูกนำไปเปรียบเทียบ) และ Passion ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น คริสตินแก้นแค้นอิสซาเบลล์ด้วยภาพจากกล้องวงจรปิดและคลิปฉาวที่เดิร์ค (พอล แอนเดอร์สัน) คู่รักของคริสตินซึ่งอิสซาเบลล์ลักลอบคบชู้ ถ่ายไว้ขณะเขาร่วมรักกับเธอ โฆษณาที่สร้างปัญหาเป็นภาพของหญิงสาวถ่ายคลิปวิดีโอจากสมาร์ทโฟน ซึ่งถูกใส่ไว้ในกระเป๋าหลังของกางเกงยีนเพื่อดูว่าใครบ้างที่ลอบมองก้นเธอ ความลุ่มหลง อยากได้อยากโดนของดานี (คาโรไลน์ เฮอร์เฟิร์ท) ทำให้เธอคอยลอบสังเกตอิสซาเบลล์ทุกย่างก้าว

การถ้ำมองยังกินความรวมไปถึงฉากไคล์แม็กซ์อีกด้วย ซึ่งใช้เทคนิคแยกจอภาพเพื่อนำเสนอการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง Afternoon of a Faun ของ เจอโรม ร็อบบินส์ ควบคู่กับเหตุการณ์ฆาตกรรม เหตุผลที่เดอ พัลมาเลือกใช้บัลเล่ต์เรื่องนี้ก็เพราะเรื่องราวในบัลเล่ต์เวอร์ชั่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงจากเวอร์ชั่นดั้งเดิมของ วาสลาฟ นิจินสกี้ เมื่อปี 1912 ซึ่งเล่าถึงการเกี้ยวพาราสีระหว่างฟอน (เทพในตำนานโรมัน ร่างครึ่งบนเป็นคนครึ่งล่างเป็นแพะ) กับเหล่านางไม้ มาเป็นการซ้อมเต้นบัลเล่ต์ของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง โดยฉากบนเวทีเป็นการจำลองผนังสามด้านของสตูดิโอซ้อมบัลเล่ต์ และผู้แสดงจะหันมองตรงมาทางคนดู ซึ่งเปรียบเสมือนผนังด้านที่เป็น “กระจก” ของสตูดิโอ ส่งผลให้ผู้ชมเหมือนกำลัง “ลอบมอง” ช่วงเวลาอันเป็นส่วนตัวของสองนักบัลเล่ต์ในระยะประชิด

นอกจากนี้ Afternoon of a Faun ยังกรุ่นกลิ่นอายเรื่องเพศเด่นชัด (เวอร์ชั่นออริจินัลของนิจินสกี้ถือว่าอื้อฉาวอยู่พอสมควรในยุคนั้นเนื่องจากมีช่วงหนึ่งที่ดูเหมือนตัวละครฟอนกำลังสำเร็จความใคร่ให้ตัวเอง) ส่งผลให้มันช่วยสะท้อนอารมณ์รักร่วมเพศระหว่างสามสาวตัวละครหลักได้อย่างกลมกลืน (ใน Love Crime หนังฝรั่งเศสต้นฉบับของ Passion ตัวละครคริสตินสวมบทโดยนักแสดงหญิงวัยกลางคนอย่าง คริสติน สก็อตต์ โธมัส ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับอิสซาเบลล์โอนเอียงไปทางแม่-ลูก/ครู-ลูกศิษย์ มากกว่าจะส่อนัยยะทางเพศเหมือนเวอร์ชั่นเดอ พัลมา)

กระจกปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งใน Passion ทั้งในห้องน้ำของคริสติน อาคารสูงระฟ้า ห้องทำงาน ร้าอาหารที่ดานีบังเอิญเห็นอิสซาเบลล์กับเดิร์คอยู่ด้วยกัน หรือกระทั่งแคทวอล์คซึ่งทำจากกระจกและเก้าอี้พลาสติกใส หนังฉายซ้ำบางฉากอย่างจงใจ เช่น ช็อตคริสตินกับอิสซาเบลล์นั่งดูคลิปโฆษณาจากแม็คบุ๊คในตอนต้นเรื่องและช็อตทำนองเดียวกันในช่วงท้ายเรื่องระหว่างอิสซาเบลล์กับดานี เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าสุดท้ายอิสซาเบลล์ก็กลายมาดำรงสถานะไม่ต่างจากคริสตินในตอนต้น เธอมั่นใจ กล้าพูดความคิดตรงๆ และออกจะวางอำนาจเหนือกว่าในแบบเจ้านาย ขณะเดียวกันดานีก็ไม่ต่างกับอิสซาเบลล์ตรงเธอไม่กลัวที่จะตอบโต้กลับด้วย ไม้แข็งเพื่อเรียกร้องสิทธิพึงมีพึงได้ของตัว ณ จุดนี้เอง หนังสื่อความหมายให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคริสตินกับอิสซาเบลล์หาได้แตกต่างเหมือนที่บุคลิก หรือรูปร่างหน้าตาภายนอกบ่งบอกแต่อย่างใด เพราะก่อนจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารคริสตินเองย่อมเคยตกอยู่ในสถานะเดียวกับอิสซาเบลล์มาก่อน ในทางตรงกันข้าม พวกเธอสองคนกลับเป็นเหมือนฝาแฝด หรือภาพสะท้อนจากกระจก

ในฉากความฝัน ฝาแฝดของคริสตินที่เธอเล่าว่าเสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนอายุ 6 ได้โผล่มาร่วมงานศพโดยสวมรองเท้าคู่ที่คริสตินแสดงท่าทีชื่นชอบระหว่างไปชมการซ้อมเดินแบบกับอิสซาเบลล์ แถมยังทำผมทรงเดียวกับหน้ากาก ซึ่งคริสตินใช้เพิ่มรสชาติให้กับชีวิตเซ็กซ์ (นอกเหนือจากของเล่นอื่นๆ ที่อัดแน่นอยู่เต็มลิ้นชักเธอ) และถูกสวมใส่โดยฆาตกรในฉากไคล์แม็กซ์ของหนัง... เซ็กซ์กับความรุนแรงเป็นสองสิ่งที่มักเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นในหนังของเดอ พัลมา เช่นเดียวกับการทับซ้อนของตัวตนดังจะเห็นได้จากผลงานอย่าง Sisters, Obsession, Body Double, Dressed to Kill, Raising Cain, The Black Dahlia และ Femme Fatale

อาจกล่าวได้ว่า Passion เป็นหนังที่สามารถแบ่งทอนตัวตนออกเป็นสองบุคลิกได้อย่างชัดเจน โดยช่วงครึ่งแรก หนังเล่าเรื่องในสไตล์ภาพยนตร์เมโลดรามาเกี่ยวกับการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในออฟฟิศ ฉะนั้นลักษณะภาพโดยรวมจึงเต็มไปด้วยแสงสว่าง เน้นสีสันฉูดฉาดทั้งจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและการตกแต่งฉากจนดูเหมือนหลุดมาจากหนังยุค 1950 ของ ดั๊กลาส เซิร์ค แต่ทันทีที่การแข่งขันเริ่มลุกลามใหญ่โต แล้วพัวพันไปยังการแบล็คเมลและฆาตกรรม หนังก็สลับสับเปลี่ยนบุคลิกอย่างกะทันหันไปสู่แนวทางฟิล์มนัวร์/ทริลเลอร์ ด้วยการเล่นกับแสงเงาคอนทราสต์สูง พร้อมทั้งการปรากฏตัวแบบฉับพลันของม่านบานเกร็ดและมุมกล้อง dutch angle


ณ จุดนี้เองที่เสน่ห์ในผลงานของ ไบรอัน เดอ พัลมา เริ่มเผยโฉมให้เห็นเด่นชัด เขาเชี่ยวชาญทักษะภาพยนตร์ ตลอดจนไวยกรณ์ของแนวทางหนัง (genre) ซึ่งเขาหมกมุ่นมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา และไม่กลัวที่จะหยิบยืมฉาก/พล็อต/หนังที่เขาชื่นชอบ มาถ่ายทอดในแง่ของการคารวะโดยไม่สนใจเสียงติฉินนินทา (ไมเคิลแองเจโล แอนโตนีโอนี ใน Blow Out อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก ใน Sisters, Obsession, Dressed to Kill, Body Double และ เซอร์ไก ไอเซนสไตน์ ใน The Untouchables) ด้วยเหตุนี้ หลายครั้งหนังของเดอ พัลมาจึงประสบความสำเร็จทั้งในแง่ความบันเทิงตามสูตรสำเร็จและการล้อเลียนสูตรสำเร็จ พูดง่ายๆ คือ มันดูน่าตื่นเต้นและน่าขำภายในเวลาเดียวกัน แม้ว่าอารมณ์ขันดังกล่าวอาจค่อนข้างเจาะจงเฉพาะกลุ่มคนดูที่ศึกษา ชื่นชมภาพยนตร์อย่างเกินระดับนักดูหนังปกติทั่วไป ซึ่งอาจมองการเล่นกับสไตล์และเทคนิคแบบหนักมือของเดอ พัลมาว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้รสนิยม อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะสัมผัสได้ไม่ยาก คือ ความรัก ความหลงใหลในภาพยนตร์ของเดอ พัลมา ซึ่งแทรกซึมอยู่แทบจะทุกเฟรมภาพ และถ่ายทอดมายังคนดูอย่างไม่อาจปฏิเสธ เพียงแค่ว่าเขาไม่นิยมบอกกล่าวผ่านความลุ่มลึก นิ่งเงียบในลักษณะของการสะบัดพู่กันลงบนผืนผ้าใบ แต่กลับประกาศก้องผ่านเสียงเพลงแปดหลอดในลักษณะของนักร้องโอเปรา

The Sapphires: พี่น้องร่วมโซล


ในฉากสำคัญที่ถือเป็นจุดกำเนิดของวงดนตรีสี่สาวเชื้อสายอะบอริจินนาม The Sapphires เดฟ (คริส โอดาวด์) ผู้จัดการวงชาวไอริช ได้อธิบายให้พวกสาวๆ ฟังถึงความแตกต่างระหว่างดนตรีคันทรีกับโซล ซึ่งอาจมีแก่นหลักร่วมกันเกี่ยวกับความสูญเสีย พลัดพราก แต่ขณะที่ฝ่ายแรกตัดสินใจยอมรับชะตากรรมและนอนโอดครวญอย่างสิ้นหวัง ฝ่ายหลังกลับพยามยามดิ้นรน ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิ่งที่ถูกแย่งชิงไปนั้นกลับมา แล้วยืนกรานที่จะมองหาความหวังท่ามกลางความเศร้าสะเทือนใจ ด้วยแก่นดังกล่าว ตลอดจนอัจฉริยภาพของผู้ก่อตั้งโมทาวน์ในยุค 1960 พวกเราจึงได้อิ่มเอมไปกับบทเพลงสุดคลาสสิกอย่าง What a Man และ I Can't Help Myself (Sugar Pie Honey Bunch)

อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง The Sapphires เองก็ไม่ต่างจากท่วงทำนองสนุกสนาน เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาเหล่านั้น เพราะมันได้แปรเปลี่ยนความสูญเสีย การพลัดพราก รวมทั้งบาดแผลจากประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายให้กลายเป็นความหวังและการมองโลกในแง่ดี

โดยเปลือกนอกแล้ว หนัง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริง เรื่องนี้อาจไม่ต่างจากสูตรสำเร็จของหนังเพลง ซึ่งเราเห็นกันจนเกร่อ แต่แง่มุมเข้มข้นทางประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกเข้ามาได้ช่วยเพิ่มน้ำหนัก ความเข้มข้นทางดรามาให้กับเรื่องราวอันบันเทิงเริงรมย์ เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและบทเพลงอันไพเราะ เกี่ยวกับการเดินทางจากดินสู่ดาวของสามสาวพี่น้องในชุมชนอะบอริจินอันห่างไกล แร้นแค้น ที่ชื่นชอบการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ พวกเธอเริ่มต้นตามล่าหาฝันด้วยการโบกรถไปประกวดร้องเพลงยังเวทีเล็กๆ ในเมืองบ้านนอก ท่ามกลางกลุ่มคนดูผิวขาวที่ไม่ค่อยเป็นมิตร และไม่นึกขำกับการหยอดมุกของเกล (เดบอราห์ เมลแมน) ว่า พวกคุณกำลังยืนอยู่บนแผ่นดินของคนดำ แม้สุดท้ายความพยายามดังกล่าวจะจบลงอย่างรวดเร็วด้วยการคว้าน้ำเหลว สาเหตุไม่ใช่เพราะพวกเธอแร้นแค้นพรสวรรค์ แต่เป็นเพราะหัวจิตหัวใจของชาวบ้านผิวขาวในยุคนั้น (ปี 1968) ยังคงอัดแน่นด้วยอคติและความหวาดกลัว แต่อย่างน้อยพวกเธอก็สร้างความประทับใจให้กับเดฟ พิธีกรขี้เหล้าในงาน ซึ่งมองเห็นแววบางอย่าง ก่อนจะอาสาแปลงโฉมสาวๆ ให้พร้อมสำหรับเวทีที่ใหญ่กว่า นั่นคือ การเดินทางไปร้องเพลงให้กับเหล่าทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เดฟจะมองการเลือกร้องเพลงคันทรีของสาวๆ อะบอริจินว่าเป็นความผิดพลาด พร้อมทั้งแนะนำให้พวกเธอเปลี่ยนมาร้องเพลงโซลแทน เพราะตามคำนิยามแล้ว โซลคือดนตรีที่ถือกำเนิดจาก“ประสบการณ์ของคนผิวดำในอเมริกา” มันเป็นดนตรีของผู้ถูกกดขี่ ของชนกลุ่มน้อย ของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์กลับคืนมา นอกเหนือไปจากเหตุผลเรื่องความนิยมแห่งยุคสมัย (โมทาวน์กำลังเฟื่องฟู) และข้อเท็จจริงที่ว่ามันน่าจะเป็นดนตรีที่ถูกอกถูกใจ สร้างความฮึกเหิม คึกคักให้กับเหล่าทหารผิวดำที่เข้าร่วมรบในสงครามเวียดนามได้มากกว่าแล้ว โซลคือตัวเลือกซึ่งเหมาะกับสาวๆ เชื้อสายอะบอริจินอย่างที่สุด แม้ว่ามันจะให้ความรู้สึกของ “คนเมือง” ก็ตาม ขณะที่เพลงคันทรีสอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชนบ้านนอกอันห่างไกลของพวกเธอ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับการตกปลา ล่าสัตว์มากกว่าการเต้นรำตามผับ ทั้งนี้เพราะโซลเข้าใจถึงหัวอกของการดิ้นรนต่อสู้ ตลอดจนการพลัดพรากที่เหล่าชนพื้นเมืองอะบอริจินต้องเผชิญหลังการสร้างอาณานิคมของชนผิวขาว ในทางตรงกันข้าม เพลงคันทรี หรือเพลงลูกทุ่งตะวันตกเปรียบแล้วก็ไม่ต่างจากดนตรีของผู้กดขี่ ที่มีต้นกำเนิดมาจากยุโรป (เพลงโฟล์คของอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์)

นอกจากนี้ ตัวหนังเองยังเชื่อมโยงชะตากรรมของคนผิวดำในอเมริกากับชนเผ่าอะบอริจินในออสเตรเลียผ่านภาพข่าว ที่ตัดแทรกมาเป็นช่วงๆ อีกด้วย เช่น เครดิตช่วงต้นเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคลิปคำให้สัมภาษณ์ของ  มูฮาหมัด อาลี โดยแบ็คกราวด์เป็นเสียงเพลงอะบอริจิน Ngarra Burra Ferra จากนั้นในช่วงท้ายเรื่อง เสียงเพลงนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คราวนี้ภาพบนจอเป็นคลิปเสียงปราศรัยของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ส่วนข่าวการลอบสังหารเขาก็กลายมาเป็นนาทีประวัติศาสตร์ที่ชาวอะบอริจินเฝ้าชมอย่างตั้งอกตั้งใจไม่แพ้เหล่าคนผิวดำในอเมริกา (นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิชาวอะบอริจินบางคนในยุค 1970 มักจะเรียกตัวเองว่าเป็น “คนดำ” และปัจจุบันมันก็เป็นคำที่ถูกใช้โดยทั่วไปเพื่อกล่าวถึงชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้วชนเผ่าอะบอริจินจะมีรากเหง้าต้นกำเนิดใกล้เคียงกับชาวเอเชียและชาวยุโรปมากกว่าคนผิวดำในแอฟริกาก็ตาม)

The Sapphires อาจไม่ได้สะท้อนภาพชีวิตในชุมชนของอะบอริจินอย่างสมจริงและหนักหน่วงแบบ Samson and Delilah (2009) แต่ขณะเดียวกันก็หาได้ล่องลอยอยู่บนปุยเมฆแห่งอารมณ์ฟีลกู๊ดเสียทั้งหมด หลักฐานดังกล่าวปรากฏชัดตั้งแต่ฉากแรก เมื่อหนังเริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับ Stolen Generations ซึ่งหมายถึงเด็กๆ ชาวอะบอริจินที่ถูกพรากจากอ้อมอกพ่อแม่ไปอาศัยอยู่ในแหล่งพักพิงแห่งใหม่ จัดหาโดยรัฐบาล เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้วิถีแห่งคนผิวขาว นโยบายดังกล่าว ซึ่งหลายคนโจมตีว่าไม่ต่างอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะเนื้อแท้ของมันคือการกำจัดความแตกต่าง ดำเนินอยู่นานหลายทศวรรษ (1909-1969 แต่ในบางพื้นที่การ “ขโมย” เด็กยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทศวรรษ 1970) ก่อนรัฐบาลภายใต้การนำของรัฐมนตรี เควิน รัดด์ จะเปิดแถลงการณ์ขอโทษชาวอะบอริจินอย่างเป็นทางการในปี 2008 (หนังเรื่อง Rabbit-Proof Fence เมื่อปี 2002 ของ ฟิลิป นอยซ์ ได้พูดถึงประวัติศาสตร์หน้านี้อย่างลงลึกในรายละเอียดมากกว่า โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของเด็กหญิงอะบอริจินสองคนที่หลบหนีจากศูนย์พักพิงของรัฐบาล แล้วเดินเท้าเป็นระยะทาง 1500 ไมล์เพื่อกลับไปยังบ้านเกิด)

ผลพวงจาก Stolen Generations ได้แก่ เคย์ (ชารี เซบเบนส์) ซึ่งถูก ขโมย” จากอ้อมอกแม่และถิ่นฐานบ้านเกิดไปตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องด้วยสีผิวของเธอค่อนข้างอ่อน จึงถูกมองว่าน่าจะสามารถใช้ชีวิตกลมกลืนไปกับเหล่าคนขาวได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายกลับเติบโตขึ้นมาเป็นตัวละครที่ติดอยู่กึ่งกลางระหว่างสองโลก เธอไม่ขาวพอจะเป็น ออสเตรเลียน”  และขณะเดียวกันก็ไม่ดำพอจะเป็น “อะบอริจิน” ดังจะเห็นได้จากความรู้สึกแปลกแยกจากเหล่าเพื่อนสาวผมบลอนด์แสนบอบบางทั้งหลาย จนเธอตัดสินใจคว้าโอกาสที่จะไปร้องเพลงกับเหล่าสาวๆ ได้ไม่ยาก แต่กระนั้นก็ต้องจำทนคำดูหมิ่น ถากถางจากเกล ซึ่งมองเธอเป็นเหมือนผู้ทรยศต่อเชื้อชาติและวัฒนธรรม ในฉากที่เกลกับซินเธีย (มิแรนดา แท็บเซลล์) เดินทางมาพบเคย์ที่อพาร์ตเมนต์ในกรุงเมลเบิร์นเพื่อชักชวนให้เธอมาเข้าร่วมวง หลังทั้งสามพลัดพรากจากกันมานานหลายปี เกลได้พูดถึงเคย์ว่า “She’s lost, that one.” ซึ่งอาจตีความได้ทั้ง เธอกำลังสับสนหลงทาง หรือ เธอสูญหายไปแล้ว พูดอีกอย่าง คือ เกลเชื่อว่าเคย์ได้ผันสถานะจากพี่น้องร่วมสายเลือดไปเป็นหนึ่งเดียวกับผู้กดขี่

คำกล่าวของเกลอาจไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงนัก เคย์ได้สูญเสียตัวตน (identity) และไม่แน่ใจว่าตนเองควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมกลุ่มใด น่าสนใจว่าภาวะล่องลอยโดยปราศจากนิยามที่แน่ชัดนี้ยังสะท้อนอารมณ์ร่วมสมัยของประเทศเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย (multiculture) อย่างออสเตรเลีย ซึ่งถูกมองว่าเผชิญวิกฤติในแง่ตัวตนแห่งชาติมาโดยตลอดอันเป็นผลจากการเปิดรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของผู้อพยพสารพัดเชื้อชาติ ภาวะโลกาภิวัฒน์ ความขัดแย้งของสภาพภูมิประเทศ/เศรษฐกิจ (ใกล้ชิดกับภูมิภาคเอเชียมากกว่า) กับวิถีปฏิบัติ (พยายามจะผูกติดกับยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ) ฯลฯ

มองในแง่นี้การเดินทางไปเวียดนามของเคย์จึงไม่ใช่เพียงเส้นทางสู่ความสำเร็จ ชื่อเสียง หรือเงินทองเท่านั้น แต่ยังเป็นการบากบั่นเดินทางไกลข้ามน้ำ ข้ามมหาสมุทร เพื่อสุดท้ายจะได้ค้นพบหนทางกลับสู่บ้านเกิด (เช่นเดียวกับสองเด็กสาวใน Rabbit-Proof Fence) ที่นั่นเธอได้พบรักกับนายทหารแอฟริกัน-อเมริกัน (ทอรี คิตเติลส์) ในสายตาของเขา สีผิวของเธอซีดขาวจนเธอต้องยืนกรานว่าเธอ เป็นคนดำ” ไม่ต่างจากเขา แต่ในสายตาของนายทหารผิวขาว ซึ่งกำลังใกล้จะตายหลังจากค่ายทหารถูกบุกจู่โจมแบบเฉียบพลัน เธอยังคงเป็น “หมาดำ” หรือ นิโกร ที่น่ารังเกียจอยู่ดี... บางทีนาทีแห่งการเผชิญหน้ากับอคติกลับทำให้เธอตระหนักอย่างแท้จริงถึงที่ทางของตนเองบนโลกใบนี้

The Sapphires ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเราได้ถูกทอนให้สั้นลงจากเวอร์ชั่นดั้งเดิมที่เข้าฉายในออสเตรเลีย โดยหนึ่งในฉากซึ่งถูกตัดออก (แต่ปรากฏให้เห็นแวบๆ ในหนังตัวอย่าง) คือ ฉากที่กลุ่มสี่สาวนักร้องและเดฟขับรถไปเจอกลุ่มทหารเวียดกงตอนกลางดึก เดฟพยายามจะขอผ่านทางโดยอธิบายเป็นภาษาอังกฤษว่าพวกเขาเป็นนักร้อง ไม่ใช่ทหาร แต่ก็ไม่เป็นผล และชั่วเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายนั้นเอง เคย์ตัดสินใจสื่อสารกับทหารเวียดกงด้วยภาษาอะบอริจิน วิธีดังกล่าวได้ผล และทุกคนก็รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด


ฉากนี้มีความสำคัญตรงที่มันแสดงให้เห็นการหวนคืนสู่ รากเหง้า ของเคย์ แล้วอ้าแขนเปิดรับตัวตน ซึ่งเคยถูกรัฐบาลแย่งชิงไปและพยายามกลบฝัง พร้อมกันนั้นหนังก็ได้เชื่อมโยงเวียดกง คนผิวดำ และอะบอริจินเข้าด้วยการในฐานะผู้ถูกกดขี่ ซึ่งพยายามต่อสู้ดิ้นรนให้หลุดพ้นจากวิบากกรรมอันเกิดจากน้ำมือคนผิวขาว (แน่นอน ทหารเวียดกงย่อมไม่เข้าใจว่าเคย์พูดอะไร แต่ก็ตัดสินใจปล่อยทุกคนไปโดยไม่ทำอันตรายใดๆ เพราะตระหนักได้ว่าพวกเธอไม่ใช่อเมริกันผิวขาว) ซึ่งนั่นยิ่งทำให้การมา สร้างความบันเทิง” ให้ทหารอเมริกันของสี่สาวอะบอริจินกลายเป็นเรื่องย้อนแย้งอันน่าขบขัน (ในความเป็นจริง สองสมาชิกของวงไม่ได้เดินทางมาเวียดนามเพราะพวกเธอไม่เห็นด้วยกับสงคราม) ไม่แตกต่างจากบทสรุปของเกล ซึ่งแม้จะเจ็บแค้นกับการกระทำของรัฐบาลผิวขาวในอดีต และโมโหความพยายามจะเป็น คนขาวของเคย์มากแค่ไหน แต่สุดท้ายเธอกลับได้ลงเอยแต่งงานกับหนุ่มไอริชอย่างเดฟ และ (ในฉากที่มุ่งเน้นอารมณ์ขันเป็นหลัก) ยืนกรานที่จะปฏิเสธวิถีแห่งอะบอริจิน รวมทั้งละทิ้งชุมชนบ้านเกิดเพื่อย้ายไปสร้างครอบครัวในตัวเมือง... ดูเหมือนว่าทุนนิยม (และความรัก?) จะมีพลังในการดูดกลืนวัฒนธรรม ตลอดจนทำลายเส้นแบ่งทางเชื้อชาติในระดับรุนแรงยิ่งกว่านโยบายใดๆ ของรัฐบาลเสียอีก