วันเสาร์, ธันวาคม 14, 2556

The Hunger Games: Catching Fire: ดอกไม้จะบาน


ในฉากจบของ The Hunger Games คนดูเริ่มจะพบเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัว แคตนิส เอเวอร์ดีน (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) รวมไปถึงภาพลักษณ์ของเธอในสายตามวลชนและในสายตาประธานาธิบดีสโนว์ (โดนัลด์ ซุทเธอร์แลนด์) เธอเริ่มต้นเข้าสู่เกมล่าชีวิตด้วยความต้องการจะปกป้องน้องสาว และพยายามเอาตัวรอดในเกมด้วยทักษะของคนที่ต้องปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เล็กเพื่อโอบอุ้มครอบครัวให้รอดพ้นจากภาวะอดตาย (พ่อของเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว ส่วนแม่ก็อ่อนแอเกินกว่าจะเป็นเสาหลักให้ลูกๆ พึ่งพิง) ความคล่องแคล่ว นิ่งเรียบจนดูเยือกเย็นในลักษณะของมืออาชีพช่วยให้เธอรอดพ้นจากอันตรายรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย หรือศัตรูที่รายรอบอยู่ทั่วไป แต่เธอก็หาได้กระหายเลือด หรือเห็นความสนุกจากการฆ่าสิ่งมีชีวิตเหมือนผู้เข้าแข่งขันบางคน

จากความพยายามแค่จะอยู่ให้รอดปลอดภัยในตอนแรก (และอาจมีโอกาส “ชนะ” เกมล่าชีวิตครั้งนี้) เธอกลับเริ่มผูกพันกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่น เช่น รู (อแมนดลา สเตนเบิร์ก) เด็กหญิงจากเขต 11 และ พีต้า (จอช ฮัทเชอร์สัน) ชายหนุ่มจากเขต 12 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมอบขนมปังให้แคตนิส ช่วยให้เธอรอดตายจากความหิวโหย นั่นเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้เธอมองเห็น ภาพรวม ในมุมกว้างขึ้น จิตใจเธอหาได้มุ่งมั่นแค่การเอาตัวรอดจากเกม หรือช่วยครอบครัวให้ปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังเริ่มเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนมนุษย์คนอื่น ที่ถูกเกณฑ์มาร่วมแข่งขันในเกมอันไร้แก่นสาร ไร้มนุษยธรรมเกมนี้ ดังจะเห็นได้จากความจงใจฆ่าเพียงครั้งเดียวของแคตนิสในเกม คือ เมื่อเธอปลิดชีพคาโต (อเล็กซานเดอร์ ลุดวิก) ไม่ใช่เพื่อแก้แค้น หรือเน้นสะใจ แต่เพื่อช่วยให้เขาพ้นทุกข์จากความทรมาน รวมไปถึงการยินยอมจะกินเบอร์รีพิษเพื่อฆ่าตัวตายแทนการลงมือสังหารพีต้า เพราะกฎของเกมระบุให้ต้องมีผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

ในเวลาเดียวกันการยอมเปลี่ยนกฎแบบกะทันหันของแคปิตอลให้สามารถมีผู้ชนะได้ 2 คนก็จุดประกายให้มวลชนใน 12 เขตปกครองเริ่มมองแคตนิสเป็นเหมือนตัวแทนของขบถที่คัดค้านแข็งขืนต่อรัฐบาล/ผู้มีอำนาจ (และสุดท้ายก็คว้าชัยมาครอง) นับจากนี้ไปเธอจึงไม่ใช่เพียงผู้ชนะการแข่งขันเกมล่าชีวิต แต่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังที่จะล้มล้างการกดขี่ ตลอดจนความอยุติธรรมในสังคมอันเกิดจากรัฐบาลเผด็จการอีกด้วย (ซึ่งนั่นย่อมทำให้เธอกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของประธานาธิบดีสโนว์ไปโดยปริยาย) เฉกเช่นเข็มกลัดรูปนกม็อกกิ้งเจย์ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นเครื่องหมายของการปฏิวัติในระดับมหภาคโดยมีชีวิตคนจำนวนมากเป็นเดิมพัน

น่าเสียดายที่เวอร์ชั่นหนังไม่ได้อธิบายที่มาที่ไปของนกม็อกกิ้งเจย์มากเท่าในนิยาย (บางทีมันอาจถูกยกยอดไปยังภาค 3.1) กล่าวคือ มันเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างนกม็อกกิ้งเบิร์ดตัวเมียกับนกแจ็บเบอร์เจย์ตัวผู้ ซึ่งเดิมทีเป็นนกตัดต่อพันธุกรรมที่แคปิตอลสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นนกสายลับ ส่งไปจดจำข้อมูลจากกลุ่มกบฏมารายงาน แต่ต่อมาฝ่ายกลุ่มกบฏเกิดจับทางได้ จึงมักจะส่งข้อมูลลวงผ่านทางนกแจ็บเบอร์เจย์มาโดยตลอด เมื่อทางแคปิตอลรู้ความจริงจึงสั่งปิดห้องทดลอง แล้วปล่อยนกแจ็บเบอร์เจย์เข้าป่าด้วยความหวังว่าพวกมันจะสูญพันธุ์ไปเอง (เพราะมีแต่ตัวผู้) ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แต่สิ่งที่แคปิตอลคาดไม่ถึง คือ ก่อนจะสูญพันธุ์พวกมันได้ผสมพันธุ์กับนกม็อกกิ้งเบิร์ดตัวเมีย ส่งผลให้ลูกหลานที่ออกมากลายเป็นนกม็อกกิ้งเจย์ ที่อาจจดจำข้อมูลไม่ได้เหมือนแจ็บเบอร์เจย์ แต่กลับมีความสามารถในการเลียนเสียงมนุษย์ หรือเสียงเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ มันยังเป็นนกที่แข็งแกร่ง สมบุกสมบัน และมีชีวิตอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย อาจพูดได้ว่าคุณสมบัตินี้สามารถใช้อธิบาย แคตนิส เอเวอร์ดีน ได้เช่นกัน

แคปิตอลมองว่านกม็อกกิ้งเจย์เป็นสัญลักษณ์ของกบฏ เพราะนอกจากมันจะตอกย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการกำจัดสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นเองกับมือแล้ว สิ่งที่น่าเจ็บใจยิ่งไปกว่านั้น คือ มันกลับพัฒนาสายพันธุ์จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดีกว่า แข็งแกร่งกว่าเดิมอีกด้วย

เช่นเดียวกับนกม็อกกิ้งเจย์ แคปิตอลปล่อยแคตนิสลงสนามประลอง ด้วยความเชื่อว่าเธอจะจบชีวิตจากอุปสรรคและหายนะสารพัด หรือไม่ก็ด้วยน้ำมือของผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ที่แกร่งกล้ากว่า มีสัญชาตญาณนักฆ่ามากกว่า แต่สุดท้ายเธอกลับรอดชีวิตมาได้ แถมยังพัฒนาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ยิ่งใหญ่กว่า พร้อมกับถ่ายทอดไฟขบถต่อไปยังผู้คนอีกจำนวนมหาศาล ใน Catching Fire เรื่องราวของของแคตนิสเริ่มขยายไปยังโลกความจริงนอกเกมล่าชีวิต สู่ความขัดแย้ง แตกต่างทางชนชั้น และเกมการเมืองเพื่อปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนของรัฐเผด็จการ นั่นคือ สร้างความหวาดกลัวให้แพร่กระจายทั่วทุกหัวระแหง แคตนิสได้เห็นเจ้าหน้าที่รัฐสังหารคนบริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยมด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย เธอเริ่มตระหนักถึงการต่อสู้ที่กำลังดำเนินอยู่โดยมีตัวเธอเองเป็นศูนย์กลางทางสัญลักษณ์ ซึ่งถูกถ่ายทอดเป็นรูปธรรมชัดเจนในฉากสำคัญ เมื่อแคตนิสสวมชุดแต่งงานไปออกรายการทอล์คโชว์ ก่อนมันจะแปลงสภาพกลายเป็นชุดนกม็อกกิ้งเจย์สยายปีก ฉากดังกล่าวไม่เพียงส่งเสริมความหมายในเชิงการเล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังสื่อนัยยะในเชิงเฟมินิสต์อีกด้วย บ่งบอกให้เห็นว่าตัวละครเอกได้สลัดหลุดจากกรงขัง แล้วโบยบินสู่อิสรภาพเต็มรูปแบบ จากสถานะภรรยา (ชุดแต่งงาน) ที่ต้องนิยามตัวตนผ่านความรักต่อเพศชาย สู่ปัจเจกภาพ (ชุดนก) ที่นิยามตนเองและยืนหยัดได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร

หลายคนมักหยิบยกกระแสนิยมในตัวนิยายชุด The Hunger Games ของ ซูซานน์ คอลลินส์ ไปเปรียบเทียบกับกระแสนิยมของนิยายชุด Twilight ของ สเตฟานี เมเยอร์ ที่ถูกดัดแปลงเป็นหนังยอดนิยมเช่นกัน เริ่มจากการที่ตัวละครเอกเป็นเพศหญิงช่วงวัยทีนเอจ (ตรงกับอายุโดยเฉลี่ยของกลุ่มผู้อ่านหลัก) พล็อตรักสามเส้าระหว่างชายสองหญิงหนึ่ง ไปจนถึงเนื้อหาที่ผสมผสานแฟนตาซี/ไซไฟและดำเนินเหตุการณ์ต่อเนื่องในลักษณะไตรภาคสำหรับกรณีแรก หรือจตุรภาคสำหรับกรณีหลัง อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่สังเกตเห็นได้เด่นชัด คือ ถึงแม้ เบลลา ตัวละครเอกใน Twilight จะเป็นเพศหญิง แต่พลังขับเคลื่อนทางเรื่องราวที่แท้จริงกลับเป็นเพศชาย (เอ็ดเวิร์ด) นอกจากนี้หนัง/นิยายยังพุ่งประเด็นไปยังความพยายามของเบลลาที่จะสูญเสียตัวตน (ยอมสละความเป็นมนุษย์) เพื่อก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของชายคนรัก เธอเป็นตัวละครที่ค่อนข้างมีลักษณะเชิงรับมากกว่าเชิงรุก มีบุคลิกอ่อนแอ บอบบาง และต้องคอยพึ่งพาเอ็ดเวิร์ดเพื่อให้รอดพ้นจากภัยคุกคามอยู่ร่ำไป (สาเหตุหนึ่งเพราะเขาเป็นแวมไพร์) จนชวนให้น่าสะพรึงว่าเหตุใดมนุษย์เพศหญิงจำนวนมากถึงโหยหาสถานะทางเพศแบบย้อนยุคไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน

ถ้า Twilight เป็นฝันร้ายของเฟมินิสต์ The Hunger Games ก็คงเปรียบเสมือนขั้วตรงข้าม เพราะตัวละครเอกเพศหญิงอย่างแคตนิสยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตัวเองและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเรื่องราว ที่สำคัญ กระทั่งประเด็นรักสามเส้าเองก็เหมือนไม่ได้ถูกขับเน้นให้โดดเด่นมากนัก เมื่อเทียบกับประเด็นอื่นๆ อย่างการวิพากษ์การเมือง ชนชั้น วัฒนธรรมความบันเทิง ฯลฯ ส่วนแคตนิสนั้น (อย่างน้อยก็ในเวอร์ชั่นหนัง) ก็ดูจะไม่มีท่าทีเดือดเนื้อร้อนใจมากมายนักกับการต้องเลือกระหว่างเกล (เลียม เฮมส์เวิร์ธ) และพีต้า เพราะความรักไม่ได้นิยามตัวเธอ ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต (เหมือนกรณีเบลลา) ราวกับว่าเธอยังมีเรื่องสำคัญอื่นๆ ให้ต้องขบคิดมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า Catching Fire จะปราศจากช่วงเวลาแห่งความอ่อนหวาน นุ่มนวลเสียทีเดียว ดังจะเห็นได้จากฉากที่พีต้ามอบจี้ห้อยคอแก่แคตนิสพร้อมกับพูดว่าเธอจำเป็นต้องมีชีวิตรอดต่อไป ครอบครัวเธอต้องการเธอเขากล่าว ก่อนจะเสริมว่า ไม่มีใครต้องการฉันจริงๆ หรอกด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ ปราศจากความรู้สึกสงสาร หรือสมเพชตัวเองใดๆ แค่ระบุข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ดุจเดียวกับคำตอบของหญิงสาวที่ว่า ฉันไง ฉันต้องการเธอ... ถึงแม้ฉากดังกล่าวจะถูกนำเสนอเพียงช่วงเวลาสั้นๆ โดยปราศจากดนตรีโหมประโคม หรือเสียงเพลงโรแมนติกเคล้าคลอ (ซึ่งดูจะเหมาะสมกับบุคลิกจริงจัง ไม่เพ้อฝัน เพ้อเจ้อของตัวละครเอกอย่างลงตัว) แต่กลับจับใจและได้อารมณ์สมจริงยิ่งกว่าหนังชุด Twilight ห้าภาครวมกันด้วยซ้ำ

ผู้กำกับ ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ (I Am Legend) ก้าวเข้ามารับหน้าที่ต่อจาก แกรี รอส (Seabiscuit) ได้อย่างแนบเนียน พร้อมทั้งลดทอนความดิบในแง่สไตล์ลง ทั้งกล้องแบบแฮนด์เฮลด์และการตัดต่อแบบฉับไว เพื่อหันเข้าหาเส้นทางคลาสสิกที่นิ่งเรียบกว่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามันเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เมื่อขอบเขตเนื้อหาของหนังเริ่มแผ่ขยายจากเกมเลือดสาดในลักษณะ Battle Royale ไปสู่การท้าทายผู้มีอำนาจ หลังจากแคตนิสกับพีต้าตระเวน “ทัวร์ ไปตามเขตต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขาพบเห็นปัญหาและศัตรูที่แท้จริง หลังจากพวกเขาตระหนักว่าผู้คนกว่า 90% ของพาเน็มกำลังจะอดตาย ขณะที่อีก 10% กลับใช้ชีวิตหรูหรา ฟู่ฟ่า ขนาดต้องทำให้ตัวเองอ้วกเพื่อจะได้กินเพิ่มเข้าไปใหม่ ส่วนใครก็ตามที่หาญแสดงท่าทีขัดขืน หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อแคปิตอลก็จะโดนประหารทันทีต่อหน้าสาธารณชน

ความคั่งแค้นที่สั่งสมมายาวนานกำลังใกล้ถึงจุดระเบิดเต็มที สภาพของพาเน็มในตอนนี้ก็ไม่ต่างจากอาณาจักรโรมันในช่วงล่มสลาย สงครามเริ่มส่อเค้าชัดเจนขึ้นทุกขณะ เมื่อกระแสปฏิวัติ การประท้วง และการต่อสู้แพร่กระจายไปตามเขตต่างๆ ดุจไฟลามทุ่ง ดูเหมือนว่าคราวนี้ภาระรับผิดชอบของแคตนิสจะไม่ได้กินความอยู่แค่ครอบครัว ตลอดจนคนสนิทรอบข้างอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงเหล่าประชากรในเขตต่างๆ ที่มองเห็นเธอเป็นเหมือนแสงเรืองรองแห่งความหวังอีกด้วย วิญญาณขบถของเด็กสาว ที่เริ่มต้นจากการฝ่าฝืนกฎเล็กๆ ของผู้มีอำนาจ เช่น การออกไปล่าสัตว์ในเขตหวงห้าม หรือแลกซื้อสินค้าในตลาดมืด กำลังจะถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น แล้วเบ่งบานสู่การเรียกร้องความเท่าเทียม ตลอดจนความยุติธรรมให้แก่มวลชน


แต่ราคาที่เธอต้องจ่ายจะสูงแค่ไหน ฉากจบของ Catching Fire บ่งบอกเป็นนัยว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาใน Mockingjay (ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็นสองภาคตามหลักแห่งทุนนิยม) อาจไม่ชวนให้พิสมัยนัก สงครามเต็มรูปแบบได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ความบันเทิงที่ชาวแคปิตอลเสพติดกันนักหนาก็กำลังจะกลายเป็น ความจริงในระยะประชิด 

วันเสาร์, ธันวาคม 07, 2556

Rush: ความตายอันหอมหวาน


กีฬาแข่งรถฟอร์มูลาวัน หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีมอื่นๆ เช่น กระโดดร่มดิ่งพสุธา บันจีจัมพ์ และมอเตอร์ไซค์วิบาก น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสัญชาตญาณแห่งความตายในความหมายของฟรอยด์ หรือภาวะที่สิ่งมีชีวิตปรารถนาจะกลับคืนสู่สภาพดั้งเดิม ซึ่งก็คือไร้ชีวิตนั่นเอง เพราะตามสถิติที่  นิกิ เลาดา (เดเนียล บรูห์ล) ชอบยกขึ้นมาอ้าง นักแข่งรถฟอร์มูลาวันมีโอกาสเสียชีวิตขณะแข่งรถสูงถึง 20% และโครงสร้างรถที่บางเฉียบ ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็ไม่ต่างอะไรกับโลงศพเคลื่อนที่ ฟรอยด์บอกว่าสัญชาตญาณแห่งความตายมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน และโดยปกติแล้วจะถูกกดทับไว้ด้วยขั้วตรงข้ามอย่างสัญชาตญาณในการดำรงชีวิต หรือภาวะที่สิ่งมีชีวิตตอบสนองตามความต้องการของร่างกาย เช่น หาอาหารมาบำบัดความหิว หรือมีเพศสัมพันธ์เพื่อสืบต่อชาติพันธุ์

ถึงแม้สองตัวละครเอกใน Rush จะมีอาชีพเป็นนักแข่งรถฟอร์มูลาวันทั้งคู่ และคงเสพติดอะดรีนาลีนจากการเฉียดใกล้ความตายไม่แพ้กัน แต่ในสายตาของ ปีเตอร์ มอร์แกน มือเขียนบทที่เข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสองครั้ง พวกเขาดูจะเปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามในทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ หรือแนวคิดในการดำรงชีวิตและทัศนคติต่ออาชีพแข่งรถ ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาต้องกระทบกระทั่งกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงทั้งในและนอกสนามแข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต่างกำลังพยายามจะคว้าตำแหน่งแชมป์โลกประจำปี 1976 มาครอง คนหนึ่งในฐานะแชมป์เก่า อีกคนในฐานะผู้ท้าชิงที่ฝีมือทัดเทียมกัน การขับเคี่ยวดังกล่าวเป็นไปอย่างสูสี (และสุดท้ายตัดสินด้วยความต่างเพียงหนึ่งคะแนนเท่านั้น) อัดแน่นด้วยจุดพลิกผันมากมายจนไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดผู้กำกับ รอน โฮเวิร์ด ถึงแสดงท่าทีสนใจอยากนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แม้ว่าหนังซิ่งรถจะเป็นยาขมบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ นอกเหนือไปจากหนังชุด Fast and Furious ซึ่งในภาคหลังๆ ก็เริ่มก้าวเข้าใกล้ความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่มากกว่าหนังขับรถแข่งเข้าไปทุกที

สัมพันธภาพทั้งรักทั้งเกลียดแบบ frenemy ระหว่างเลาดา กับ เจมส์ ฮันท์ (คริส เฮมส์เวิร์ธ) เป็นภาพสะท้อนที่คล้ายคลึงกับการชิงไหวชิงพริบระหว่าง ริชาร์ด นิกสัน และ เดวิด ฟรอสต์ ในผลงานชิ้นแรกที่โฮเวิร์ดกับมอร์แกนผนึกกำลังกันเรื่อง Frost/Nixon  (2008) หรือหากจะย้อนไปไกลกว่านั้นอีกก็อาจกินความหมายรวมถึงการปะทะกันระหว่างโลกเก่า (ราชินีอลิซาเบ็ธที่สอง) กับโลกใหม่ (โทนี แบลร์) ในบทภาพยนตร์เรื่อง The Queen (2006) ที่สร้างชื่อให้มอร์แกนได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก

เพียงไม่กี่ฉากแรกหนังก็ปูพื้นให้เห็นคุณลักษณะที่แตกต่างของสองตัวละครหลักในทันที โดยเริ่มจากเปิดตัวนักแข่งชาวออสเตรียอย่างเหมาะเจาะในสนามแข่ง เยอรมัน กรังด์ปรีซ์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1976 เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพของตัวละคร และความทุ่มเทต่อกีฬาแข่งรถของเขา จากนั้นในทางตรงกันข้ามหนังได้ตัดย้อนกลับไปยังอดีตเมื่อราวหนึ่งทศวรรษก่อนหน้าเพื่อแนะนำนักแข่งรถชาวอังกฤษ โดยคนดูจะเห็นเขาบุกพรวดพราดเข้ามาในโรงพยาบาลในสภาพสะบักสะบอม พร้อมกับแนะนำตัวสไตล์ 007 (“ฮันท์... เจมส์ ฮันท์”) ทุกคนหันมามองเขาเป็นตาเดียวด้วยอารมณ์พรึงเพริดกึ่งสงสัยใคร่รู้ จากนั้นในไม่กี่นาทีต่อมานางพยาบาลก็เริ่มปลดเสื้อผ้าเขาเพื่อทำแผลไปพร้อมๆ กับปลดเสื้อผ้าตัวเองเพื่อให้บริการนอกเหนือคำสั่งแพทย์ด้วยสีหน้ายินดีเปรมปรีดิ์ เสียงบรรยายของฮันท์อธิบายเหตุผลในทำนองว่าการพาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับความตายจะทำให้ไฟชีวิตคุณยิ่งลุกโชน และผู้หญิงก็สามารถสัมผัสได้ถึงพลังดังกล่าวจึงพากันพุ่งเข้าหาคุณดุจแมงเม่าบินเข้ากองไฟ แต่จริงๆ แล้วมีความเป็นไปได้สูงว่าใบหน้าหล่อเหลา ผมบลอนด์ยาว และหุ่นเป๊ะราวนายแบบกางเกงใน คาลวิน ไคลน์ น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการดึงดูดสาวๆ เสียมากกว่า

ไม่เชื่อก็ลองดู นิกิ เลาดา เป็นตัวอย่าง หนุ่มผมสั้นสีเข้ม รูปร่างกะทัดรัดเริ่มต้นอาชีพนักแข่งรถมาพร้อมๆ กับฮันท์ แต่เขากลับไม่เคยเป็นที่นิยมในหมู่เพศหญิง อันที่จริง เขาไม่เคยเป็นที่นิยมไม่ว่าจะในหมู่คนเพศไหนก็ตาม แน่นอนเขาอาจเก่งกาจเรื่องเครื่องยนต์กลไก รู้ดีว่าต้องปรับปรุงรถในจุดใดบ้างเพื่อให้มันวิ่งได้เร็วขึ้น และมีพรสวรรค์ในการขับรถแข่งไม่เป็นสองรองใคร แต่การที่เขามักจะโพล่ง ข้อเท็จจริงเหล่านั้นออกมาตรงๆ ก็ทำให้คนอื่นนึกหมั่นไส้ได้ง่ายๆ และมองว่าเขาเป็นพวกยโส โอหัง อย่าว่าแต่คู่แข่งขันในสนามเลย กระทั่งบรรดาช่างเครื่อง หรือเพื่อนนักแข่งร่วมทีมก็ยังไม่ชอบขี้หน้าเขาด้วยซ้ำ คำว่า ถ่อมตัวไม่เคยอยู่ในสารบบความคิดของเลาดา เช่นเดียวกับคำว่า สนุกหรือ ผ่อนคลายเขาทุ่มเทชีวิตทุกนาทีให้กับการแข่งรถ การฝึกซ้อม การปรับปรุงรถ เขาตีกรอบให้ชีวิตเอาไว้อย่างชัดเจน เคร่งครัด ถึงขั้นประกาศกร้าวว่าเขายินดีรับความเสี่ยง 20% บนสนามแข่งเพราะนั่นเป็นธรรมชาติของอาชีพ แต่ห้ามมากกว่านั้นแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว เช่น เมื่อถนนมีสภาพชื้นแฉะ หรือฟ้าฝนไม่เอื้ออำนวยทำให้วิสัยทัศน์พร่ามัว จนในฉากหนึ่งเขาถูกฮันท์กล่าวหาว่ากำลังทำลายเสน่ห์ของการแข่งรถฟอร์มูลาวัน

เสน่ห์ของการแข่งรถฟอร์มูลาวันคืออะไร ไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย? ถ้าเป็นเช่นนั้น เจมส์ ฮันท์ ก็น่าจะถูกเรียกว่าเป็นมาสค็อตแห่งฟอร์มูลาวัน เพราะเขาไม่มีเพียงขับรถแบบไม่กลัวตายในสนามแข่ง แซงได้เป็นแซง เบียดได้เป็นเบียด สภาพอากาศแบบไหนก็ไม่เคยหวั่น แต่ยังใช้ชีวิตตามครรลองดังกล่าวอีกด้วย ทั้งเหล้ายาปลาปิ้ง เซ็กซ์ และร็อคแอนด์โรล มองภายนอกแล้วเขาอาจดูยโส โอหังไม่แพ้เลาดา แต่บุคลิกที่เป็นมิตร เข้ากับคนง่าย เปี่ยมอารมณ์ขัน ทำให้เขากลายเป็นที่รักของบรรดาเพื่อนนักแข่ง เพื่อนร่วมงาน และกระทั่งสนิทสนมกับบรรดานักข่าว มองในแง่หนึ่งสไตล์การขับรถของฮันท์ช่วยสะท้อนให้เห็นว่าเลาดาเก่งกาจในอาชีพการงานมากแค่ไหน กล่าวคือ คุณต้องยินยอมที่จะเสี่ยงตาย และสูญเสียทุกอย่าง หากต้องการแย่งตำแหน่งแชมป์จากเขามาครอง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ฮันท์พิสูจน์ให้ทุกคนประจักษ์ในฉากการแข่งรถสนามสุดท้าย เมื่อคะแนนรวมของเขาตามหลังเลาดาอยู่ 3 แต้ม และจำเป็นต้องเข้าเส้นชัยอย่างน้อยเป็นอันดับ 3 เพื่อคว้าแชมป์หลังจากนักแข่งชาวออสเตรียถอนตัวกลางคัน

ความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งสองยังได้ขยายความไปถึงชีวิตคู่อีกด้วย กล่าวคือ คนหนึ่งค่อนข้างหวือหวา พุ่งขึ้นสูงและดำดิ่งภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนอีกคนกลับค่อนข้างแน่นิ่ง เรียบง่าย แต่มั่นคง โดยฮันท์เริ่มพบรักและแต่งงานกับนางแบบสาวสวย ซูซี มิลเลอร์ (โอลิเวียร์ ไวลด์) ชนิดแทบจะเรียกได้ว่าฉับพลันทันที (หนังตัดภาพจากการพบกันครั้งแรกของทั้งสองในอู่ซ่อมรถไปยังภาพพวกเขาเดินออกจากโบสถ์) แต่ต่อมาไม่นาน (ราวๆ หนึ่งปีกว่า) เธอก็ทิ้งเขาไปซบอกดาราฮอลลีวู้ดอย่าง ริชาร์ด เบอร์ตัน ขณะที่เลาดากับมาร์ลีน (อเล็กซานดรา มาเรีย ลารา) เลือกจะคบหาดูใจกันอยู่นานก่อนจะตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน เรื่องราวความรักของพวกเขาก็ประสบชะตากรรมใกล้เคียงกับบทสรุปบนสนามแข่ง เมื่อคนหนึ่งลุกโชนและดับวูบในสไตล์ one-hit wonder ขณะอีกคนยังคงรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ยาวนานผ่านวินัย การฝึกฝน และทุ่มเทอย่างจริงจัง

Rush เป็นหนังกระแสหลักที่เล่าเรื่องได้สนุก น่าติดตาม และผสมผสานทั้งส่วนแอ็กชั่นบนสนามแข่งกับดรามาในชีวิตของตัวละครได้อย่างลงตัว แต่ก็เช่นเดียวกับผลงานที่คว้ารางวัลออสการ์ของโฮเวิร์ดเรื่อง A Beautiful Mind (2001) ซึ่งดัดแปลงมาจากชีวิตคนจริงเหมือนกัน หนังไม่ได้พยายามจะล้วงลึกถึงความซับซ้อน ขัดแย้งภายในของมนุษย์ และมองเห็นความจงใจขัดเกลาตัวละครให้เข้าสูตรเมโลดรามาเพื่อประสิทธิภาพในการเร้าอารมณ์ ส่งผลให้รายละเอียดหลายอย่างถูกตัดทอน หรือบิดเบือนเพื่อความชัดเจนในการเล่าเรื่อง แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ข้อผิดพลาด เมื่อพิจารณาว่านี่เป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก และประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายอย่างน่าพอใจ โดยไม่สิ้นไร้ซึ่งรสนิยม หรือความเฉียบคมของการนำเสนอ ส่วนงานแสดงของดารานำทั้งสองก็ถือว่าน่าพอใจ ไม่ต่างจากผลงานด้านภาพอันหวือหวาของ แอนโธนีย์ ด็อด แมนเทิล (Slumdog Millionaire) ที่พยายามพาคนดูไปสัมผัสประสบการณ์ระยะประชิด ทั้งจากภาพโคลสอัพดวงตา ต้นหญ้า หยดน้ำฝน และภาพแทนสายตานักแข่งผ่านกระจกหมวกกันน็อก

อย่างไรก็ตาม ฉากจบของหนังเรื่อง Rush ชวนให้นึกถึงฉากจบของ The Social Network พอสมควร จริงอยู่หนังรถแข่งเรื่องนี้อาจไม่ได้พูดถึงสถานะทางชนชั้นมากเท่าหนังของ เดวิด ฟินเชอร์ แต่ดูเหมือนบทภาพยนตร์พยายามจะโน้มน้าวคนดูให้เห็นว่าเลาดาอิจฉา หรือกระทั่งโหยหาวิถีแบบฮันท์ กล่าวคือ เป็นที่รักของคนรอบข้าง สนุกกับชีวิตอย่างเต็มที่ และขณะเดียวกันก็บั่นทอนความสำเร็จของเลาดาให้ดูไม่น่าเฉลิมฉลองมากนัก (เขาคว้าแชมป์โลกมาครองอีก 2 สมัย ขณะที่ฮันท์ไม่เคยเข้าใกล้ตำแหน่งแชมป์อีกเลย ก่อนจะตัดสินใจแขวนพวงมาลัยในปี 1979 และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่ออายุได้เพียง 45 ปี) เช่นเดียวกับชะตากรรมของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ในตอนจบของ The Social Network (ตัวหนังสือบนจอขึ้นข้อความว่าเขาเป็นเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุด แต่คนดูกลับไม่ได้รู้สึกฮึกเหิม หรือปลื้มปริ่มกับข้อเท็จจริงดังกล่าวสักเท่าใด เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมในตอนจบของเขาที่คอยกดรีเฟลชหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อรอให้อดีตแฟนสาวยอมรับคำขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ค) กล่าวคือ สุดท้ายแล้วขี้แพ้ก็ยังคงเป็นขี้แพ้วันยันค่ำ แม้ว่าพวกเขาจะพยายามไต่เต้าให้เป็นที่ยอมรับมากแค่ไหนก็ตาม และชื่อเสียงเงินทองก็ไม่อาจช่วยแก้ไขอะไรได้


ในหนังของฟินเชอร์ฉากจบดังกล่าวให้ความรู้สึกหม่นเศร้า หดหู่ และสมจริงตามท้องเรื่อง (แม้ในโลกแห่งความจริง มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก คงไม่ได้ลงเอยแบบเดียวกับตัวละครที่ แอรอน ซอร์กิน เขียนขึ้น) ปัญหาของ Rush อยู่ตรงที่คนดูไม่สามารถรู้สึกได้ว่าชีวิตของฮันท์น่าหลงใหล หรือน่าอิจฉาตรงไหน เพราะเลาดาไม่ได้ถูกสร้างให้เป็น tragic hero ตั้งแต่ต้นแบบ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ซึ่งต้องจ่ายราคาก้อนโตให้กับความสำเร็จและเงินทอง จริงอยู่ทั้งสองเริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ผู้ชายเฮงซวย เย่อหยิ่งไม่แพ้กัน แต่โฮเวิร์ดกับมอร์แกนใจไม่แข็งเท่าฟินเชอร์กับซอร์กิน และเผยให้เห็นด้านที่อ่อนโยน น่าเห็นใจของเลาดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากที่เขาขัดคำค้านของแพทย์และหวนกลับมาลงสนามหลังจากเพิ่งประสบอุบัติเหตุร้ายแรง (คนส่วนใหญ่ลุ้นเอาใจช่วยเขาแม้กระทั่งฮันท์ ซึ่งเปลี่ยนมายืนข้างศัตรูเมื่อเห็นเขาถูกนักข่าวปากสุนัขไล่จี้จุดอ่อน) รวมไปถึงดรามาในช่วงไคล์แม็กซ์เมื่อเลาดายืนกรานว่าเขาตัดสินใจถูกแล้วที่ถอนตัวกลางคัน ภาพใบหน้าภรรยาที่วูบเข้ามาระหว่างขับรถท่ามกลางสายฝนแสดงให้เห็นว่าเขาได้ค้นพบคุณค่าสูงสุดในชีวิตแล้ว และมันเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าถ้วยแชมป์โลกใดๆ รวมกันเสียอีก

รักโง่ๆ: แง่งามในความเขลา


เวลาพูดถึงความรัก หลายคนชอบบอกว่ามันเป็นเรื่องของอารมณ์ เหตุผลไม่เกี่ยว หรือไม่ก็เป็นเรื่องของหัวใจ ยากจะหักห้าม แม้ว่าในความจริงแล้วเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีในสมองโดยตรงก็ตาม และเนื่องจากมันถูกเชื่อมโยงโดยตรงกับอารมณ์มากกว่าเหตุผลนี่เอง ความรักจึงมักจะกลายเป็นที่มาของพฤติกรรมบ้าๆ บอๆ ดูไร้สติ ไร้เหตุผลเมื่อมองจากสายตาของคนนอก และนั่นเองได้จุดประกายเริ่มต้นให้กับหนังอย่าง รักโง่ๆ ซึ่งเน้นถ่ายทอดเรื่องราวความรักที่ไม่อาจ เป็นไปได้หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่อาจลงเอยอย่างสุขสมในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ผู้หญิงตกหลุมรักเกย์บ้างล่ะ ผู้ชายตกหลุมรักทอมบ้างล่ะ การแอบชอบคนที่เขาไม่ได้ชอบเรา หรือกระทั่งการพยายามฉุดยื้อคนรักที่ต้องการจะไป

มองเผินๆ ชื่อหนังเหมือนจะด่วนสรุปอย่างง่ายดายว่ามันเป็นความเขลาที่มนุษย์เรายอมตรอมตรม จมปลัก แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าไม่อาจได้เขา/เธอมาครอบครอง ราวกับหนังกำลังมองความรักด้วยท่าทีเยาะหยัน เสียดสี ซึ่งนั่นเป็นจริงในระดับหนึ่ง แต่หากมองให้ลึกลงไปถึงแก่นแท้ของหนังแล้วจะพบว่า มันยังคงเดินตามสูตรเชิดชูอุดมคติแห่งรักโรแมนติก และแน่นอนลงเอยด้วยการปลุกปลอบคนดูให้อิ่มเอมไปกับความรัก ที่แม้ว่าคราวนี้อาจไม่ลงเอยอย่างสุขสม แต่สุดท้ายก็ยังอุ่นใจที่ได้รัก... อะไรทำนองนั้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นข้อสรุปที่ตรงข้ามชนิดสุดขั้วกับบทเรียนความรัก หรือการปล่อยใจตามอารมณ์แบบในหนังอย่าง Birth (2004) และ The Story of Adele H (1975)

หนังเริ่มสับขาหลอกตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เมื่อปรากฏว่าเหตุการณ์เลี่ยนๆ ดูปลอมๆ ของชายหญิงคู่หนึ่งกลางสี่แยกไฟแดง ซึ่งให้อารมณ์ประมาณคลิปขอแต่งงานประเภท ยิ่งเยอะ ยิ่งดีที่กระจายเกลื่อนตามอินเทอร์เน็ต กลายเป็นเพียงฉากในหนังรักที่โจ (คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์) กับอาร์ม (ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) กำลังนั่งดูอยู่ในโรงภาพยนตร์  ฝ่ายแรกวิพากษ์ความน้ำเน่าและคาดเดาได้ของหนังอย่างสนุกปากผ่านวอยซ์โอเวอร์ ซึ่งสอดแทรกน้ำเสียงกระทบกระแทกแดกดันเอาไว้ชัดเจน แต่แล้วเมื่อกล้องเผยให้เห็นภาพมุมกว้าง กลับกลายเป็นว่าโจเป็นคนดูเพียงคนเดียวที่ไม่ อินไปกับเรื่องราวน้ำเน่าและสุดแสนจะซ้ำซากนั้น (กระทั่งหนุ่มมาดแมนอย่างอาร์มยังร้องไห้น้ำหูน้ำตาไหล) จนเสียงวอยซ์โอเวอร์ของเธออุทานขึ้นว่า... หรือเราเองต่างหากที่ผิดปกติ!?

ฉากเปิดเรื่องข้างต้นโน้มนำและให้ความหวังว่าคนดูกำลังจะได้ชมหนังรัก ซึ่งแตกต่างจากหนังเรื่องที่อาร์มกับโจนั่งดูอยู่ หรืออย่างน้อยก็อาจนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับความรักด้วยท่าทีเย้ยหยันแบบเดียวกับเสียงวอยซ์โอเวอร์ของโจ ดังนั้นจึงไม่แปลกหากในเวลาต่อมาเราจะพาลรู้สึกผิดหวังเล็กๆ เมื่อปรากฏว่าเนื้อแท้ของรักโง่ๆ ยังคงดำเนินตามกรอบภาพยนตร์แนวตลก-โรแมนติก เต็มไปด้วยฉากภาคบังคับ ตลอดจนการเร้าอารมณ์ในสไตล์มิวสิกวิดีโอ (หรือพูดอีกอย่าง คือ แทนที่หนังจะให้อาร์มตระหนักในความเพ้อเจ้อของตน แล้วเปลี่ยนมุมมองมาเป็นแบบโจ มันกลับกลายเป็นหนังซึ่งโจ คือ สาวไร้เดียงสาที่เริ่มหันมาเข้าอกเข้าใจอาร์มหลังจากเธอได้ประสบพบรักเข้ากับตัว) โดยฉากที่หนักหนาสาหัสสุดคงเป็นตอนที่อาร์มถูกคนรักปฏิเสธคำขอแต่งงาน แล้วต้องนั่งรถเมล์กลับบ้านท่ามกลางสายฝนเคล้าเสียงเพลงอกหักดังสนั่น ความซ้ำซากและหนักมือในการบีบคั้นอารมณ์สามารถทำให้ฉากนั้นกลายเป็นฉากล้อเลียนได้ไม่ยาก แต่น่าเสียดายที่จุดมุ่งหมายของผู้กำกับ พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ หาใช่การเล่นสนุกกับแนวทางหนัง แม้ว่าหลายครั้งบทภาพยนตร์จะหยอกล้อและเสียดสีธรรมเนียมปฏิบัติของหนังแนวนี้อยู่กลายๆ

ด้วยเหตุนี้เองภาพรวมของรักโง่ๆ จึงห้อยต่องแต่งอยู่ตรงกลาง ระหว่างความเฉียบคม น่าสนใจ กับความจำเจและไร้ชั้นเชิง โดยหากมองในส่วนที่น่าสนใจจะพบว่ามันพยายามสลัดหลุดจากกรอบหนังตลก-หนังรักแบบไทยๆ ผ่านมุกตลกที่เรียกได้ว่าค่อนข้างสดใหม่ เจือลักษณะของปัญญาชน (ชั้นกลาง) ที่ชอบเล่นเฟซบุ๊กเอาไว้ไม่น้อย กล่าวคือ มุกตลกประเภทเสริมสุขเลิกกับเป๊ปซี่ หรือ ทุนนิยมมันเหี้ยจริงๆคงจะพบเห็นไม่ได้บ่อยๆ ในหนัง พจน์ อานนท์ หรือ ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทสนทนาจำพวก หนีภัยสงครามเย็นไปสแกนดิเนเวียหรือ สาวคาตาลันกับ หนุ่มลิทัวเนียรวมไปถึงการนำเสนอเพศสภาพให้ดูมีลักษณะลื่นไหล สลับไปมา โดยไม่จำกัดอยู่แค่ชาย-หญิง หรือรักต่างเพศ แลดูจะย้อนแย้งกับลักษณะการทำหนังสไตล์อนุรักษ์นิยมของผู้กำกับอยู่ไม่น้อย

อีกจุดซึ่งผมคิดว่าเป็นความย้อนแย้งอันน่าตลก คือ รักโง่ๆ เริ่มต้นด้วยการล้อเลียนฉากขอแต่งงานกลางสี่แยกของหนังรักโง่ๆ เรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยการพยายามทำซึ้งในลักษณะเดียวกัน มองในแง่โครงสร้างการเล่าเรื่อง ฉาก ไม่ได้ขอแต่งงานที่สนามบินอาจช่วยเชื่อมโยงฉากเปิดและปิดหนังได้ลงตัวพอดิบพอดี (อีกทั้งยังสอดคล้องกับบุคลิกของอาร์มด้วย) แต่ขณะเดียวกันมันก็สร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนพอตัว เหมือนคุณเริ่มต้นด้วยการเสียดสีสิ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วคุณกลับไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่คุณเยาะหยันสักเท่าไหร่... ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แตกต่างจากชะตากรรมของตัวละครอย่างโจ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการแดกดันอาร์ม ก่อนสุดท้ายจะโดนเอาคืนหลังจากพิษรักเล่นงานเธอเข้าบ้าง เธอเริ่มต้นด้วยการไม่ให้ราคาค่างวดกับความรัก ก่อนสุดท้ายจะกลายเป็นหญิงที่ เกิดมาเพื่อรักพี่จนชวนให้นึกสงสัยว่าบางทีการล้อเลียน แหกกฎ หรือพยายามฮิปของรักโง่ๆ แท้จริงแล้วเป็นเพียงเปลือกนอกสวยหรู แต่จิตวิญญาณภายในของมันก็ยังคงต้องการให้คนดูซาบซึ้ง เสียน้ำตา และล่องลอยไปกับความโรแมนติกเฉกเช่นหนังรักทั่วไป

นอกจากนี้ผมยังมีปัญหา (หรืออาจเรียกได้ว่าอคติส่วนตัว) กับรูปแบบการสร้างหนังหลายๆ เรื่องรวมมิตรเอาไว้ในเรื่องเดียว (กรณีนี้ผมขอยกความผิดทั้งหมดให้กับ Love Actually และผู้กำกับ ริชาร์ด เคอร์ติส ซึ่งดูจะทรงอิทธิพลอย่างน่าประหลาดในหมู่นักสร้างหนังบ้านเรา) โดยนอกจากจะถูกผลิตซ้ำจนชวนให้เลี่ยนเอียนแล้ว ธรรมชาติของหนังรูปแบบนี้ยังส่งกลิ่นอายการตลาดมากกว่าจะเป็นการแสดงจุดยืนในเชิงศิลปะเมื่อเทียบกับหนังอย่าง Short Cuts ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน นั่นคือ ใส่เรื่องราวให้เยอะเข้าไว้ หลากหลายเข้าไว้ เพื่อจะได้กวาดคนดูในวงกว้างที่สุด (เพราะถ้าคุณไม่ชอบเรื่องนี้ อีกเรื่องก็น่าจะโดนใจได้) หรือผนึกพลังดาราให้แข็งแกร่งขึ้น เช่น กรณีหนังเทศกาลปีใหม่กับวาเลนไทน์ของ แกรี มาร์แชล เป็นต้นแน่นอน เมื่อหนังมีลักษณะเหมือนรวมเรื่องสั้น จึงไม่แปลกที่คนดูจะรู้สึกชอบและสนใจแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ต่างกันตรงที่ในหนังประเภทนี้ ทุกเรื่องถูกตัดสลับเข้าด้วยกันแทนที่จะเล่าจนจบไปเป็นเรื่องๆ ส่งผลให้อารมณ์คนดูขาดตอนเป็นห้วงๆ เพราะเราย่อมอยากจะให้ตอนที่เราสนใจมีเวลามากขึ้น และรู้สึกเบื่อหน่ายกับตอนที่เราไม่สนใจ ที่สำคัญเวลาอันจำกัดย่อมทำให้ตัวละครและเรื่องราวไม่อาจพัฒนาไปถึงขีดสุดแห่งศักยภาพได้

เช่นเดียวกับหนังอย่าง ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และ รักแรกกระแทกจิ้น ข้อดี คือ ทุกคนมีตัวเลือกให้ อินได้มากขึ้น บางคนอาจสนุกเพลิดเพลินกับการต่อปากต่อคำของโจกับอาร์ม ขณะที่บางคนอาจชื่นชอบตัวละครอย่างพริกแกง ซึ่งเป็นตัวแทนของแฟนตาซีร่วมสมัยเกี่ยวกับสาววัยทำงานที่แอบกรี๊ดหนุ่มหล่อ ทั้งนี้เนื่องจากเรื่องราวของเธอเป็นตอนที่เรียกเสียงฮาได้มากสุด และ ธิติรัตน์ โรจน์แสงรัตน์ ก็ถ่ายทอดเสน่ห์เฉพาะตัวผสมเข้ากับจังหวะตลกที่กลมกล่อมได้ในระดับใกล้เคียงกับ คริส หอวัง จากหนังเรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมกลับคิดว่าพลอยพิณ (กานต์พิชชา พิชยศ) คือ ตัวละครที่น่าสนใจที่สุดในเรื่อง เพราะบทภาพยนตร์วาดภาพเธอให้ดูสมจริง มีเลือดมีเนื้อ และค่อนข้างน่าค้นหา โดยเธอเปรียบเสมือนจุดกึ่งกลางระหว่างอาร์มกับโจ กล่าวคือ เธอไม่ได้มีไอเดียเกี่ยวกับความรักที่ยิ่งใหญ่ อลังการในแบบคนแรก แต่ก็ไม่ได้มองความรักด้วยแววตาเย้ยหยันแบบคนหลัง (ก่อนเธอจะถูกศรรักปักอก) เสียทีเดียว

คนดูไม่อาจทราบแน่ชัดว่าจริงๆ แล้วทำไมพลอยพิณจึงตอบปฏิเสธอาร์ม แต่คำอธิบายของเธอก็ฟังดูจริงใจและตรงไปตรงมา (อีกทั้งยังทำให้เธอดูเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้าที่ไม่ได้หลอมละลายไปกับอนาคตของการได้เป็นเมียและแม่) เห็นได้ชัดว่าเธอเองก็รู้สึกดีๆ กับอาร์ม (เธอเป็นฝ่ายเดินเกมรุกในฉากจูบบนรถ) แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความสงสัย ไม่แน่ใจว่าตัวเองเห็นชีวิต มีประสบการณ์ หรือได้พบเจอผู้คนมามากพอจะตัดสินใจครั้งสำคัญนี้หรือไม่... หรือบางทีเหตุผลง่ายๆ อาจเป็นแค่ว่าเธอไม่ได้รักเขามากเท่ากับเขารักเธอ มันก็เท่านั้น

น่าผิดหวังตรงที่หนังตัดสินใจทรยศเสน่ห์ของตัวละครนี้เพื่อเร้าอารมณ์คนดูในฉากไคล์แม็กซ์ เมื่อเธอพยายามจะขอลงจากเครื่องบินและกลับไปหาอาร์ม พฤติกรรมดังกล่าวดูย้อนแย้งกับบุคลิกของตัวละครที่ปูพื้นมาก่อนหน้านี้อย่างหนักจนทำให้มันขาดความน่าเชื่อถือ อะไรคือความแตกต่างระหว่างการเช่าโรงหนังทั้งโรงกับจ้างวงดนตรีมาเล่นที่สนามบิน ถ้าเธอตอบปฏิเสธในครั้งแรก ทำไมเธอถึงกลับจะเปลี่ยนใจในครั้งที่สอง หรือว่าเธอเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวงแทตทูคัลเลอร์ จนไม่อยากให้พวกเขาต้องเสียเวลาเปล่าที่อุตส่าห์มาช่วยสร้างบรรยากาศ?! เข้าใจว่าฉากนี้มีจุดประสงค์เพื่อล้อเลียนไคล์แม็กซ์หนังรักทั่วๆ ไป ที่นางเอกเกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน และขอให้เครื่องบินหยุดในนาทีสุดท้าย (ซึ่งในชีวิตจริงมันเป็นไปไม่ได้) แต่การต้องเสียสละตัวละครเพื่อสังเวยให้กับแก๊กตลก หรือการเร้าอารมณ์แบบตื้นๆ ว่าเธอจะลงจากเครื่องได้หรือไม่ ดูแล้วยังไงก็ได้ไม่คุ้มเสีย และสุดท้ายแล้วยิ่งทำให้รักโง่ๆ ใกล้เคียงกับหนังรักที่มันกำลังล้อเลียนอยู่เสียมากกว่า แตกต่างเพียงการพลิกตลบในแง่ผลลัพธ์สุดท้ายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไคล์แม็กซ์ข้างต้นทำให้ผมนึกถึงฉากจบของหนังเรื่อง Manhattan เมื่อ วู้ดดี้ อัลเลน พยายามจะฉุดรั้งไม่ให้ แมเรียล เฮมมิงเวย์ อดีตแฟนสาวอายุคราวลูก ไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศ เพราะเขากลัวว่าเธอจะได้พบเจอผู้คนมากมาย ได้เห็นโลกกว้างขึ้น ได้สัมผัสประสบการณ์อันน่าตื่นเต้น จนสุดท้ายแล้วความรักที่เธอเคยมีให้เขาก็จะค่อยๆ จางหายไป แต่สุดท้ายแล้วถึงเขาจะพยายามหว่านล้อมเพียงใด เธอก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนใจ ไม่ใช่เพราะเธอหมดรักเขา แต่เพราะเธอเชื่อมั่นว่าปัจจัยเหล่านั้นมันไม่ได้สำคัญแต่อย่างใด พร้อมกับพูดสรุปว่า ทุกคนใช่จะมีใจโลเลเสมอไป คุณควรมีศรัทธาในตัวมนุษย์บ้าง


บางทีความโง่ของอาร์มอาจไม่ใช่การหลงรักคนที่ไม่ใช่ (แบบเดียวกับตัวละครอื่นๆ) แต่เป็นการขาดศรัทธาในความรักและในตัวมนุษย์ต่างหาก