วันอังคาร, พฤศจิกายน 25, 2557

Interstellar: จักรวาลสู่เถ้าธุรี


บางครั้งการดูหนังของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็เหมือนการเล่นรูบิคหรือต่อภาพจิ๊กซอว์ คุณต้องใช้สมาธิและความพยายามมากกว่าปกติในการเชื่อมโยงข้อมูลหลากหลายให้กลายเป็นผลลัพธ์ที่สมบูรณ์และ ลงล็อกพอดิบพอดี จนสุดท้ายย่อมนำไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจกึ่งภาคภูมิใจของผู้เล่น/คนดูที่สามารถไขปริศนาได้สำเร็จ

โดยปกติแล้วงานประดิษฐ์อันซับซ้อนและสร้างสรรค์ของโนแลนมักจะอยู่ตรงวิธีเล่าเรื่องมากกว่าตัวเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวิธีเล่าเรื่องแบบย้อนหลัง (Memento) สลับและกระโดดข้ามไปมา (The Prestige) หรือซ้อนทับกันหลายชั้น (Inception) แต่สำหรับกรณี Interstellar ดูเหมือนความซับซ้อนที่มักจะช่วยยกระดับผลงานเขาให้อยู่เหนือผลงานสไตล์บล็อกบัสเตอร์ทั่วๆ ไปอย่างหนังชุด Transformers และ The Fast and the Furious คราวนี้ได้ถูกโอนย้ายมายังตัวเรื่องแทนการเล่าเรื่องผ่านวิธีระดมใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เรื่องหลุมดำ รูหนอน ไปจนถึงมิติที่ 5 เพื่อสร้างความสมจริงให้จินตนาการเกี่ยวกับการเดินทางข้ามระบบสุริยะจักรวาล

พล็อตหลักๆ ของ Interstellar อาจไม่ยากต่อการทำความเข้าใจสักเท่าไหร่สำหรับคนที่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านฟิสิกส์และจักรวาลมากพอตัว แต่คงสร้างอารมณ์งุนงงสับสนได้บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับคนดูชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพหรือทฤษฎีควอนตัม หนังดำเนินเหตุการณ์ในโลกอนาคตเมื่อเกิดวิกฤติอาหารขาดแคลน เพราะพืชพันธุ์นอกเหนือจากข้าวโพดไม่อาจเติบโตได้เนื่องจากพายุฝุ่น ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ส่งผลให้ประชากรโลกลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์เต็มที แผนการลับๆ ของนาซา ภายใต้การนำของศาสตราจารย์แบรนด์ (ไมเคิล เคน) คือ ส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวดวงอื่นในอีกระบบสุริยะจักรวาลผ่านรูหนอน ซึ่งจู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นอย่างลึกลับและถูกจังหวะตรงบริเวณใกล้ดาวเสาร์ โดยเชื่อกันว่าน่าจะเป็นฝีมือของสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่ามนุษย์

ภารกิจส่งยานอวกาศไปสำรวจก่อนหน้าทำให้นาซาได้ข้อมูลว่ามีดาว 3 ดวงโคจรอยู่รอบหลุมดำที่เผ่าพันธุ์มนุษย์อาจสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ด้วยความบังเอิญ (หรือมีพลังบางอย่างชักนำ?) คูเปอร์ (แม็ทธิว แม็คคอนาเฮย์) อดีตนักบินอวกาศที่ผันตัวมาทำไร่ข้าวโพด ค้นพบฐานที่มั่นลับของนาซาและได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำยานเอ็นดัวแรนซ์ออกไปสำรวจดาวทั้งสามพร้อมกับนักบินอวกาศอีกสามคน หนึ่งในนั้น คือ อมีเลีย (แอนน์ แฮทธาเวย์) ลูกสาวของแบรนด์ เพื่อเตรียมสร้างอาณานิยมบนดาวซึ่งมีความเป็นไปได้สำหรับการอยู่อาศัยมากที่สุด ขณะเดียวกันแบรนด์ก็จำเป็นต้องไขสมการควบคุมแรงโน้มถ่วงให้สำเร็จ เพื่อนาซาจะได้สามารถส่งสถานีอวกาศขนาดมหึมา บรรทุกมนุษย์บนโลกที่ยังเหลือรอดอยู่ ขึ้นไปยังอวกาศ (แผน A) แต่หากแบรนด์แก้สมการไม่สำเร็จ ทีมเอ็นดัวแรนซ์จะต้องปกป้องมนุษยชาติไม่ให้สูญพันธุ์ด้วยการนำเอ็มบริโอ ซึ่งถูกคัดเลือกอย่างละเอียดเพื่อรับประกันความหลากหลายของสายพันธุ์ ไปยังดาวที่มีโอกาสอยู่อาศัยได้สูงสุดแล้วแพร่พันธุ์มนุษย์รุ่นใหม่ (แผน B)

หนังเริ่มต้นในลักษณะเดียวกับ 2001: A Space Odyssey โดยเปรียบรูหนอนเสมือนแท่งดำลึกลับ แต่ตรงกันข้ามกับ สแตนลีย์ คูบริค สุดท้ายแล้วโนแลนไม่อาจต้านทาน ปมรูบิคในตัวเองได้ ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะคงไว้ซึ่งความลึกลับ เป็นปริศนาที่ปราศจากคำตอบแน่ชัด Interstellar กลับลงเอยด้วยการคลี่คลายทุกคำถามแบบครบถ้วน แล้วค่อยๆ จัดเรียงพล็อตเรื่อง ตลอดจนเบาะแสที่ยังค้างคาให้มารวมตัวกันแบบ ลงล็อกพอดีในช่วงไคล์แม็กซ์ เมื่อคูเปอร์หลุดเข้าไปยังมิติที่ 5 ในหลุมดำ แม้ว่าการเดินหน้าสู่คำเฉลยดังกล่าวจะเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลอะเทอะ หรือเข้าขั้นเพ้อเจ้อมากเพียงใดก็ตาม เขาโหยหาความเป็นระเบียบ ลงตัว และภาพรวมที่สมบูรณ์ชัดเจน ขณะที่คูบริคเลือกจะปล่อยช่องว่างให้คนดูแต่ละคนค้นหาตัวต่อมาเติมเต็มตามแต่จินตนาการ

จักรวาลใน Interstellar กลายเป็นเหมือนความฝันใน Inception ความลึกลับเกินคาดเดาและปราศจากรูปทรงอันชัดเจนของพวกมันได้ถูกปั้นแต่งให้มีหลักเกณฑ์ตายตัว ดุจเดียวกับชั้นสีของรูบิค ซึ่งหากคุณสามารถบิดเรียงตำแหน่งได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถไขปริศนาได้

นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าอื่นๆ ของโนแลนยังคงปรากฏอยู่ครบถ้วนใน Interstellar ไม่ว่าจะเป็นความหมกมุ่น ลุ่มหลงของตัวละคร การหล่นหายของเซ็กซ์ อารมณ์อีโรติก หรือนัยยะทางเพศใดๆ ความตายของภรรยา หรือคู่รัก บ้างก็ถูกฆ่าตาย บ้างก็เสียชีวิตจากโรคร้าย หรือการตัดสลับ (cross-cutting) ตั้งแต่สองเหตุการณ์ขึ้นไปเข้าด้วยกัน และบางครั้งก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนละช่วงเวลา เช่นเดียวกับการตั้งคำถามเชิงศีลธรรม เช่น เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติ มนุษย์จะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือเลือกทำเพื่อตัวเองก่อน

แบรนด์เชื่อว่าแผน A ไม่มีทางเป็นไปได้ และพยายามปกปิดจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของยานเอ็นดัวแรนซ์ ซึ่งก็คือ การบรรลุแผน B เพราะเขาเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ ตลอดจนเหล่าผู้นำของโลกคงไม่เห็นด้วยกับการทุ่มเงินทุนจำนวนมหาศาลเพียงเพื่อการดำรงอยู่แห่งเผ่าพันธุ์มนุษย์แลกกับการเสียสละทุกชีวิตบนโลก ทั้งนี้เนื่องจากการเอาตัวรอดเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานในเบื้องลึกของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากกรณีของดร.แมน (แม็ท เดมอน) ที่ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อตัวเองโดยไม่สนว่าการกระทำของตนจะส่งผลเสียหายในวงกว้างมากแค่ไหน ในฉากเปิดเรื่อง ประวัติศาสตร์แห่งการสำรวจดวงจันทร์ได้ถูกบิดเบือนให้กลายเป็นทฤษฎีสมคบคิด เมิร์ฟ (แม็คเคนซี ฟอย) ยืนกรานว่ามนุษย์เคยไปเหยียบดวงจันทร์จริง แต่คุณครูที่โรงเรียนกลับบอกว่ามันเป็นเพียงแผนล่อหลอกให้ประเทศรัสเซียล้มละลายต่างหาก... ท่ามกลางภาวะอดอยาก แร้นแค้น ผู้คนย่อมสนใจแต่เรื่องปากท้อง พวกเขาไม่มีเวลาให้กับการสำรวจอวกาศ หรือการต่อชีวิตแก่มวลมนุษยชาติ แบรนด์คิดแผน A ขึ้นมาเพราะเชื่อว่าแผน B ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากทุกคนทราบว่าพวกเขาไม่ได้รับเชิญให้ขึ้นเรือของโนอาห์ แต่จะต้องจมทะเลฝุ่นตายในอนาคตอันใกล้

ในเวลาเดียวกัน การตัดสินใจลาจากลูกสาวสุดรักเพื่อไปสำรวจดวงดาวของคูเปอร์ก็หาใช่วีรกรรมน่ายกย่องอย่างสมบูรณ์แบบเสียทีเดียว เขายอมร่วมโครงการไม่ใช่เพื่อรักษาสายพันธุ์แห่งมวลมนุษย์ แต่ด้วยความหวังว่าภารกิจดังกล่าวอาจสามารถช่วยลูกๆ เขาให้รอดพ้นจากวิกฤติ ถ้าคูเปอร์ตระหนักว่าแผน A ไม่มีวันเป็นไปได้ เขาจะยังตัดสินใจแบบเดิมหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะตัดสินอมีเลีย เมื่อเธอเลือกจะไปสำรวจดาวเอ็ดมันด์แทนดาวมิลเลอร์ ด้วยความหวังว่าอาจได้พบกับคนรักที่เดินทางมาสำรวจดาวดวงนี้ก่อนหน้า คูเปอร์กล่าวหาอมีเลียว่าปล่อยให้อารมณ์มีอิทธิพลเหนือเหตุผล เป็นเหตุให้ฝ่ายหลังต้องโต้กลับว่าพวกเขาสามารถไปสำรวจดาวทั้งสองดวงได้ หากคูเปอร์ล้มเลิกความหวังที่จะเดินทางกลับโลกเพื่อไปหาลูกสาว

ความลุ่มลึกอาจไม่ใช่จุดแข็งของ คริสเตอร์เฟอร์ โนแลน ดังจะเห็นได้จากบทสนทนาที่ชวนให้ขนลุกขนชันในบางช่วงตอน โดยเฉพาะฉากที่อมีเลียลุกขึ้นมาปกป้องความรักว่ามันมีพลังเหนือมิติของปริภูมิและเวลา การโหมกระหน่ำดนตรีประกอบในระดับสุดโวลุ่ม ตลอดจนการอ้างอิงบทกวีของ ดีแลน โธมัส ซ้ำถึง 3 ครั้ง ราวกับกลัวว่าคนดูจะไม่เข้าใจความหมายที่เขาต้องการบอกกล่าว แต่โนแลนก็ชดเชยข้อบกพร่องข้างต้นได้ด้วยความอลังการของงานด้านภาพ อาจไม่ใช่ในแง่การจัดองค์ประกอบภาพ หรือการเคลื่อนกล้อง (โนแลนเลือกถ่ายทอดฉากดรามาในลักษณะโคลสอัพแทนที่จะถอยกล้องออกมาอีกนิดเพื่อให้นักแสดงได้ปฏิสัมพันธ์กันผ่านภาษาท่าทางมากขึ้น และเขาก็ไม่ได้โปรดปรานการถ่ายทำแบบลองเทค แต่อย่างน้อยก็น่ายินดีว่าฉากแอ็กชั่นใน Interstellar ดูจะไม่สับสน วุ่นวายเหมือนไตรภาคแบทแมน) แต่เป็นในแง่ของจินตนาการแบบจอกว้าง ไม่ว่าจะเป็นดวงดาวที่เต็มไปด้วยผืนน้ำสูงเรี่ยเข่า แต่สามารถก่อกำเนิดคลื่นสูงเท่าตึกหลายชั้น หรือภาพจำลองหลุมดำ ซึ่งนอกจากสวยงามน่าตื่นตาแล้ว ยังมีความสมจริงอีกด้วย เนื่องจากเขามีที่ปรึกษาเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังอย่าง คิป ธอร์น

บางทีความลักลั่นของ Interstellar อยู่ตรงที่ท่ามกลางความพยายามสูงสุดที่จะให้ข้อมูลเชิงฟิสิกส์ เพื่อสร้างความสมจริงให้แก่เรื่องราวทั้งหมด การพลิกตลบในช่วงท้ายโดยเปรียบเทียบความรักกับแรงโน้มถ่วง เป็นพลังสำคัญที่ช่วยให้คูเปอร์สามารถสื่อสารทะลุเวลามายังลูกสาวของเขาบนโลก และดีไม่ดีอาจสื่อความนัยถึงขั้นว่ามันเป็นสิ่งที่จะช่วยยกระดับเราให้กลายเป็น พวกเขาในมิติที่ 5 ได้ทำลายความจริงจัง น่าเชื่อถือต่างๆ ของนิยายวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้จนเกือบหมดสิ้น แล้วพาหนังเข้าไปสู่ขอบเขตของผลงานแฟนตาซีสมบูรณ์แบบ

แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธถึงพลังแห่งความรัก ซึ่งมีส่วนผลักดันและดึงดูดมนุษย์อย่างมหาศาล แต่การนำเสนอมันในฐานะค่าที่ตรวจวัดได้ หาใช่เพียงปฏิกิริยาเคมีในสมองถือเป็นการก้าวกระโดดจากหลักเหตุผลไปสู่ศรัทธาที่ฉุกละหุกและฉับพลันเกินกว่าจะโน้มน้าวให้น่าเชื่อถือ ที่สำคัญ ถ้าสุดท้ายแล้วประเด็นที่ต้องการสื่อสาร ได้แก่ ความรักและสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ คุณไม่เห็นจำเป็นต้องลงทุนพาตัวละครออกไปถึงระบบสุริยะจักรวาลอื่น แค่ดำเนินเหตุการณ์อยู่บนโลกแห่งเถ้าธุลีใบเล็กๆ นี้ก็ได้ แต่อย่างว่าหนังเรื่องดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับประสบการณ์ IMAX สักเท่าไหร่

ไม่มีความคิดเห็น: