วันเสาร์, พฤศจิกายน 08, 2557

Sin City: A Dame to Die For: เล่นเยอะแต่ได้น้อย


บางทีผู้กำกับ โรเบิร์ต โรดริเกซ และนักวาดการ์ตูนที่ควบเครดิตเป็นผู้กำกับร่วม แฟรงค์ มิลเลอร์ อาจไม่เคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า น้ำขึ้นให้รีบตักเพราะหลังจากความสำเร็จของ Sin City ทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ พวกเขาใช้เวลาถึง 9 ปีในการผลิตหนังภาคต่อ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมากลับมีคุณภาพไม่ได้ต่างจากหนังภาคต่อบล็อกบัสเตอร์ส่วนใหญ่สักเท่าไหร่ นั่นคือ เยอะขึ้น ใหญ่ขึ้น (พร้อมสรรพด้วยระบบ 3D) แต่โดยรวมแล้วยังคงคัดลอกมาจากสูตรสำเร็จเดิมๆ อันที่จริง มันควรจะเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จ (อย่างน้อยก็ในแง่รายได้) ไม่ใช่กลายเป็นหายนะบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ แบบที่เป็นอยู่ หากหนังเปิดฉายในปี 2007 หรือ 2008 เฉกเช่นบรรดาหนังภาคต่อทั้งหลายที่อาศัยกระแสจากภาคแรกเรียกคนดูให้ซื้อตั๋วมาเข้าชมโดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาความแตกต่าง หรือนำเสนอแปลกใหม่ใดๆ... แต่ในปี 2014? อาจกล่าวได้ว่ามัน สายเกินไปเพราะกาลเวลาและยุคสมัยไล่กวดพวกเขามาอย่างรวดเร็ว

อะไรหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงระยะเวลา 9 ปี การปรากฏตัวขึ้นของ The Dark Knight (2008) และ Watchmen (2009) ทำให้การดัดแปลงการ์ตูน หรือนิยายภาพ ให้กลายเป็นภาพยนตร์ ซีเรียสไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป ขณะเดียวกัน ความรุนแรงของ Sin City ที่เคยช็อกคนดูในตอนนั้น ปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วท่ามกลางกระแสหนังสยองขวัญแนว torture porn อันเกลื่อนกลาดนับแต่ Hostel (2005) ได้รับความนิยม ส่วนความเก๋ไก๋ของการถ่ายทำโดยใช้ฉากหลังเป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแทบทั้งหมดก็ไม่ได้ดูน่าตื่นตาอีกต่อไปหลังจาก Gravity (2013) พาคนดูไปไกลยิ่งกว่า (นอกจากนี้ ฉากเลือด (สีขาว) สาดกระจายที่เคยชวนตะลึงในปี 2005 ตอนนี้ดันทำให้คนดูนึกไปถึงเกม ฟรุต นินจา ในมือถืออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง) ที่สำคัญ ยังมีเด็กรุ่นใหม่สักกี่คนกันที่รู้จักคำว่า ฟิล์มนัวร์ซึ่งหนังเรื่องนี้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เพราะตระกูลหนังดังกล่าวแทบจะหายสาบสูญไปจากจอภาพยนตร์มานานแล้ว ยกเว้นว่าคุณจะเป็นแฟนหนังของ ไบรอัน เดอ พัลมา หรือสองพี่น้อง โจเอล กับ อีธาน โคน (The Man Who Wasn’t There ในปี 2001 น่าจะเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายก่อนหน้า Sin City ที่ใกล้เคียงทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบกับหนังฟิล์มนัวร์ขาวดำที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงทศวรรษ 1940 และ 1950)

เช่นเดียวกับภาคก่อนหน้า Sin City: A Dame to Kill For แบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ โดยมีโครงเรื่องหลักทั้งหมดสามตอนพร้อมตอนย่อยที่เรียกได้ว่าเป็นน้ำจิ้มอีกหนึ่งตอน แต่ถ้ามองในแง่ลำดับเวลาแล้ว Sin City: A Dame to Kill For อาจถือเป็นภาคก่อนหน้าของ Sin City เนื่องจากเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อน มาร์ฟ (มิคกี้ รู้ก) จะถูกประหารชีวิตใน The Hard Goodbye  และคงมีเพียง Nancy’s Last Dance เท่านั้นที่สามารถเรียกว่าเป็น ภาคต่อได้อย่างแท้จริง เพราะมันเล่าถึงเรื่องราว 4 ปีหลังจากบทสรุปใน The Yellow Bastard เมื่อ แนนซี (เจสซิก้า อัลบ้า) ตัดสินใจที่จะล้างแค้นให้กับ จอห์น ฮาร์ติแกน (บรูซ วิลลิส) อดีตนายตำรวจที่ช่วยเหลือเธอให้รอดพ้นจากเงื้อมมือฆาตกรโรคจิต ซึ่งบังเอิญเป็นลูกชายคนเดียวของวุฒิสมาชิก โร้ค (พาวเวอร์ส บูธ) มาเฟียผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในเมืองคนบาป... แต่ไม่ต้องห่วงสำหรับใครก็ตามที่พลาดชมหนังภาคแรก เพราะเหตุการณ์ใน Sin City: A Dame to Kill For ส่วนที่เหลือนั้นไม่ได้เชื่อมโยงไปถึง Sin City มากเท่าไหร่ นอกจากการนำตัวละครเดิมๆ มาใช้ และในบางกรณีนักแสดงหลักยังถูกเปลี่ยนตัวไปด้วย เช่น จอช โบรลิน มารับบทดไวท์แทนที่ ไคลฟ์ โอเวน ในภาคแรก

ในแง่สไตล์ Sin City: A Dame to Die For เป็นเหมือนส่วนผสมระหว่างการ์ตูนกับ ฟิล์มนัวร์เวอร์ชั่นเมายาเลิฟกล่าวคือ เราจะได้เห็นการสร้างสรรค์ภาพสุดหวือหวาเกินจริง เช่น ในฉากที่ดไวท์ลอบมอง เอวา ลอร์ด (อีวา กรีน) เปลือยกายโดยมีฉากหลังเป็นพระจันทร์ดวงโต ก่อนเธอจะกระโดดตีลังกาลงสระด้วยท่วงท่าดุจนักยิมนาสติกเหรียญทองโอลิมปิก (ภาพซ้อนของเอวาพุ่งตัวลงน้ำจากด้านซ้ายและขวาของจอภาพแบบเทคนิคกล้องคาเลโดสโคปทำให้นึกถึงฉากในหนังเพลงยุค บัสบี เบิร์คลีย์) หรือวิธีย้อมภาพขาวดำในลักษณะเหมือนฟิล์มเนกาทีฟ (ซึ่งน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนต้นฉบับ) ในฉากที่ มีโฮ (เจมี ชุง) ลอบสังหารยามในบ้านของเอวา หรือการถ่ายทำเรื่องราวส่วนใหญ่เป็นภาพขาวดำ แต่เน้นสีสดให้โดดเด่นในบางจุด เช่น ไฟฉุกเฉินบนรถตำรวจ คราบเลือด เปลวเพลิง เส้นผมและริมฝีปากของหญิงสาว ฯลฯ (เฉกเช่นแฟนตาซีเพศชายแบบที่ปรากฏในหนังสือการ์ตูนทั้งหลาย เซ็กซ์กับความรุนแรงเป็นเสมือนจุดขายภาคบังคับ) ทั้งหมดเหล่านี้ถือเป็นความน่าตื่นตาทางด้านเทคนิคที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ตื่นเต้น หรือกระทั่งความเพลิดเพลินจากคนดูได้ไม่ยาก ส่วนมันจะกลมกลืนไปกับแนวทางอารมณ์ของหนังหรือไม่นั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (ต้องยอมรับว่าปากสีแดงฉานอาจสะท้อนความเซ็กซี่ของตัวละครอย่างได้ผล แต่ดวงตาสีเขียวสุกสว่างนั้นบางครั้งกลับทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังนั่งมองสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวในคราบมนุษย์มากกว่าจะกระตุ้นความรู้สึกเย้ายวนดังประสงค์ของหนัง)

ขณะเดียวกัน เอกลักษณ์ต่างๆ ของหนังฟิล์มนัวร์ ซึ่งดั้งเดิมมีบทบาทในการส่งเสริมบรรยากาศลึกลับ ไม่น่าไว้ใจ แต่ในหนังเรื่องนี้พวกมันกลับถูกเน้นย้ำเสียจนกระแทกตาในระดับเดียวกับละคร รัชดาลัย เธียเตอร์ เช่น ถ้าคุณคิดว่าการใช้เงาบานเกร็ดในหนังเรื่อง Passion (2012) ของ ไบรอัน เดอ พัลมา ออกจะดูโอเวอร์จนชวนตลกขบขัน ขอให้คุณลองมาชมการ คาราวะฟิล์มนัวร์ของโรดริเกซในฉากเลิฟซีนระหว่างเอวากับดไวท์ เพราะเงาบานเกร็ดและคอนทราสต์ขาวดำถูกนำมาใช้เป็นลูกเล่นสำหรับปิดบังอวัยวะเพศของตัวละครในลักษณะเดียวกับหนังจำพวก Austin Powers จนเราเริ่มไม่แน่ใจว่าควรจะจริงจังกับภาพบนจอ หรือหัวเราะในท่าทีซึ่งแทบจะก้าวข้ามไปสู่การล้อเลียนอยู่รอมร่อ ท่ามกลางบทสนทนาและเสียงบรรยายของตัวละครที่พยายามเคร่งขรึม จริงจัง และเล่นลิ้นกันสุดกำลัง ราวกับคนเขียนบทกลืนกินหน้ากระดาษจากนิยายของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ หรือ เจมส์ เอ็ม. เคน แทนอาหารเช้า ผ่านประโยคประเภท ฉันเกิดตอนกลางคืน แต่ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อคืนนี้” (หรือแปลเป็นไทยตรงๆ คือ กูไม่ได้โง่นะ”) หรือ ผมถนัดปลอบใจเด็กสาวมีปัญหาวัย 19 ปีมากพอๆ กับผู้ป่วยอัมพาตที่ต้องผ่าตัดสมองด้วยประแจขันท่อ หรือ ถ้าคุณรักฉันไม่ลง ก็จงเกลียดฉัน ถ้าคุณให้อภัยฉันไม่ได้ ก็ลงโทษฉันสิ ทำให้ฉันเจ็บปวดแบบที่ฉันเคยทำกับคุณ

อาการ จัดเต็มของโรดริเกซ กับบทภาพยนตร์โดยมิลเลอร์ที่เน้นพรรณาโวหาร แทนการสร้างบรรยากาศ หรือความพิศวงถือเป็นส่วนผสมที่ไม่ค่อยลงตัว และแน่นอนว่านำไปสู่เสียงหัวเราะที่ผู้สร้างไม่ได้ตั้งใจให้เกิดในหลายๆ ฉาก ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าในบรรดา 3 ตอน ตอนที่ได้อารมณ์ราบรื่นสุด คือ The Long Bad Night ซึ่งทั้งโรดริเกซและมิลเลอร์ไม่ได้พยายามโชว์พลังมากมายนัก

ความจริงภาพรวมของหนังอาจสนุกและเปี่ยมชีวิตชีวากว่านี้ ถ้า โรเบิร์ต โรดริเกซ ตัดสินใจดัดแปลงมันเป็นหนังแนวตลกล้อเลียนไปเลย ก็ในเมื่อเขาหนักมือไปกับทุกสิ่งทุกอย่างจนคนดูไม่อาจคาดเดาได้แล้วว่าเขากำลัง เอาจริงหรือ ทีเล่นทีจริงกันแน่ หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ตัวละครอย่าง เอวา ลอร์ด ราชินีแห่ง femme fatale ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นแม่ของ femme fatale ทุกสถาบัน ชนิดที่สามารถทำให้ ลานา เทอร์เนอร์ กับ บาร์บารา สแตนวิค กลายเป็นนางเอกในหนังการ์ตูนดิสนีย์ได้เลยทีเดียว ความร้ายกาจของเธอนั้นถูกโรดริเกซกับมิลเลอร์ยกระดับไปอยู่ระดับเดียวกับนางมารในละครหลังข่าว ส่วนความเซ็กซี่ (ชนิดแทบไม่เหลืออะไรให้ต้องจินตนาการต่อ) ของเธอก็ถูกยกระดับไปเทียบเท่านางแบบในหน้านิตยสารเพลย์บอย จนคนดูอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวละครอย่างดไวท์และนายตำรวจที่มารับทำคดีต้องโง่เง่าในระดับไหนกันนะถึงสามารถตกหลุมพรางอันปราศจากความแยบยลของเธอได้ น่าสงสารก็แต่ อีวา กรีน ซึ่งเกรงว่าจะถูกเรียกตัวมาใช้งานในคราวนี้ไม่ใช่เพราะพรสวรรค์ทางการแสดง แต่เป็นเพราะเธอยินดีจะยอมเปลืองเนื้อเปลืองตัวกับการรับบทนังงูพิษที่มัวแต่วุ่นวายวางแผนล่อลวงอดีตคนรักให้มาฆ่าสามีผู้ร่ำรวยเพื่อจะได้ฮุบสมบัติของเขามาครอง จนไม่มีเวลาไปเดินช้อปปิ้งซื้อเสื้อผ้ามาปกปิดเรือนร่าง ส่งผลให้เธอต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในหนังสวมชุดวันเกิด หรือไม่ก็เสื้อคลุมสีขาวบางเฉียบที่มองทะลุไปเห็นถึงตับไตไส้พุง

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า อีวา กรีน ดูเหมือนจะเป็นนักแสดงเพียงคนเดียวในเรื่องที่ตระหนักถึงวี่แวว เลยเถิดของภาพยนตร์ และการแสดงแบบเขมือบทุกซีนที่ขวางหน้าราวกับจบการศึกษามาจากโรงเรียนการแสดงของหม่อมน้อยได้ช่วยสร้างความบันเทิงให้กับคนดูได้มากทีเดียว โดยฉากที่เธอพยายามจะเล่นละครตบตานายตำรวจที่มาสืบสวนคดีฆาตกรรม (คริสโตเฟอร์ เมโลนี) ด้วยการสวมบทบาทเป็นแม่ม่ายผัวตายที่ถูกคุกคามจากอดีตคนรักโรคจิตถือได้ว่ามีความใกล้เคียงกับฉากตลกชั้นดีในหนังของทีม ZAZ เลยทีเดียว

โดยเนื้อแท้แล้ว หนังชุด Sin City ทั้งสองภาคเป็นเหมือนแบบฝึกหัดของแนวคิด สไตล์เหนือเนื้อหา เพราะตัวละครและการเล่าเรื่องดูเหมือนจะได้รับความสนใจ หรือขัดเกลาน้อยกว่าการจัดวางภาพและการออกแบบฉาก (นอกจากนี้ รูปแบบของการรวมเรื่องสั้นมาเป็นหนังขนาดยาวก็ไม่เอื้ออำนวยให้คุณพัฒนาตัวละคร หรือขับเน้นอารมณ์ใดๆ ในเชิงลึกได้อย่างเต็มที่) ความสดใหม่ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของหนัง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพลังโดยรวมของภาคสองจึงอ่อนแรงลงจากภาคแรกค่อนข้างมาก... อันที่จริง เมื่อเรื่องราวในตอนสุดท้ายของภาคแรกจบลง สไตล์ของหนังก็แทบจะเรียกได้ว่าเริ่มต้นซ้ำซากและย่ำรอยตัวเองไปแล้วด้วยซ้ำ

กระนั้นสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก Sin City มาสู่ Sin City: A Dame to Kill For ได้แก่ บทบาทของเพศหญิงที่เป็นมากกว่าแค่เหยื่อถูกกระทำจากน้ำมือเพศชายแบบแนนซี ใน  The Yellow Bastard หรือ เชลลี (บริททานีย์ เมอร์ฟีย์) ใน The Big Fat Kill โดยมาคราวนี้หนูน้อยแสนหวาน (ที่เผอิญทำงานเป็นนักเต้นระบำเปลื้องผ้า) อย่างแนนซีเริ่มกร้านโลกขึ้น แข็งแกร่งขึ้น และกล้าจะลุกขึ้นมาแก้แค้นชายผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในเมือง แต่เนื่องจากการตัดสินใจของเธอถูกผลักดันด้วยความรักที่เธอมีต่อ จอห์น ฮาร์ติแกน จึงอาจกล่าวได้ว่าตัวละครอย่าง เอวา ลอร์ด ก้าวไปไกลยิ่งกว่าเพราะเธอวางแผนฆ่าสามีเพื่อจะได้ ไม่ต้องขออะไรจากผู้ชายอีก

น่าเศร้าตรงที่ในเมืองแห่งคนบาป (เช่นเดียวกับโลกแห่งความเป็นจริง) ผู้ชายยังคงเป็นใหญ่ และสุดท้ายแล้วเอวาก็ต้องลงเอยด้วยการขอความช่วยเหลือจากผู้ชายอีกหลายคนเริ่มจากนายตำรวจนักสืบไปจนถึงหัวหน้าแก๊งมาเฟีย ที่สำคัญ วิธีที่โรดริเกซยังคงหากินกับการถ่ายทอดเรือนร่างเพศหญิงแบบเดิมๆ เพื่อตอบสนองการจ้องมองของเพศชาย (ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนในฉากที่ดไวท์ปีนหลังคาไปส่องดูเอวาว่ายน้ำเล่นในสระ) ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าบางทีฮอลลีวู้ดก็ไม่แตกต่างจากเมืองคนบาปสักเท่าไหร่

ไม่มีความคิดเห็น: