วันอังคาร, พฤศจิกายน 25, 2557

The Homesman: ความวิปลาสในแดนตะวันตก


อาจกล่าวได้ว่า The Homesman ของ ทอมมี ลี โจนส์ มีเป้าประสงค์ที่จะลบล้างอารมณ์โรแมนติก ฟุ้งเฟ้อเพ้อฝันของตำนานแห่งดินแดนตะวันตกในลักษณะเดียวกับหนังคาวบอยแหกคอกอย่าง The Wild Bunch ของ แซม เพ็คกินพาห์ และ Unforgiven ของ คลินต์ อีสต์วู้ด ด้วยการพลิกตลบสูตรสำเร็จของหนังแนวนี้ใน 2 แง่มุมด้วยกัน แง่มุมแรก คือ แทนการเล่าเรื่องราวผจญภัยของตัวละครจากฟากฝั่งตะวันออก ซึ่งเดินทางไปยัง Wild West ในช่วงศตวรรษที่ 19 เพื่อแสวงหาโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว หรือปราบปรามเหล่าอาชญากรใจทมิฬพร้อมช่วยเหลือหญิงสาวที่กำลังตกอยู่ในอันตราย หนังกลับเล่าเรื่องราวในทิศทางตรงกันข้าม ผ่านการเดินทางจากบ้านป่าเมืองเถื่อนกลับคืนสู่ความศิวิไลซ์แห่งชุมชนตะวันออก แง่มุมที่สอง คือ แทนการเน้นย้ำเกี่ยวกับวีรกรรมกล้าหาญของเพศชาย หนังกลับมุ่งโฟกัสไปยังความเป็นอยู่ของหญิงสาว ซึ่งมักจะถูกหลงลืมในตำนานตะวันตก หรือถูกจำกัดบทบาทให้เป็นแค่โสเภณี

หนังเปิดเรื่องด้วยชุดภาพมุมกว้าง สะท้อนให้เห็นภูมิประเทศอันงดงาม เทือกเขาทอดยาว ท้องทุ่งโล่งโปร่งสุดลูกหูลูกตา และสีสันที่เปลี่ยนแปลงไปตามแสงอาทิตย์ ณ ริมเส้นขอบฟ้า เหล่านี้คือภาพโรแมนติกที่คนดูคุ้นเคยจากตำนานตะวันตก สร้างขึ้นโดยนิยาย ภาพยนตร์ รวมไปถึงภาพวาดนับร้อยนับพัน ซึ่งส่วนใหญ่หาได้สะท้อนโลกแห่งความเป็นจริงในยุคบุกเบิกดินแดนตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศอันเลวร้าย โรคระบาดที่คร่าชีวิตสัตว์เลี้ยงและผู้คนจำนวนมาก หรือความแร้นแค้น โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา

แต่ก่อนคนดูจะทันรู้สึกผ่อนคลาย เตรียมตัวเตรียมใจเสพสูตรสำเร็จอันคุ้นเคยเกี่ยวกับความกล้าหาญ ความสำเร็จ และความน่าตื่นเต้นของการผจญภัย หนังกลับเริ่มแนะนำตัวละครเอก แมรี บี คัดดี้ (ฮิลารี สแวงค์หญิงสาวผู้ใช้ชีวิต “ไม่ธรรมดาเนื่องจากเธอทำไร่ไถนา เลี้ยงสัตว์ และดูแลบ้านเรือนตามลำพังในแบบ เวิร์คกิ้ง วูเมน ยุคปัจจุบัน แต่ถึงแม้จะเธอเก่งกาจเรื่องการเกษตร สามารถดูแลตัวเองได้ หาเลี้ยงตัวเองได้ แมรี บี คัดดี้ ก็ไม่ใช่พลเมืองตัวอย่างในสายตาคนทั่วไปในยุคสมัยที่ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากนัก ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาที่ตามมา เมื่อเธออาสาพาหญิงวิกลจริตสามคนเดินทางจากเนบราสกากลับไปยังไอโอวา ทั้งนี้เพราะระยะทางอันยาวไกล เต็มไปด้วยอันตรายทั้งจากสภาพแวดล้อมและอินเดียนแดง ถือว่าไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง ซึ่งโดนตีตราให้อยู่เหย้าเฝ้าเรือน เลี้ยงดูลูกหลาน

ไม่ต้องสงสัยว่า แมรี บี ตระหนักถึงแรงกดดันจากสังคมไม่น้อย และด้วยวัยสามสิบกว่าเวลาที่จะสร้างครอบครัวของเธอเหลืออยู่ไม่มากแล้ว ด้วยเหตุนี้ เธอจึงไม่ลังเลที่จะชิง “โน้มน้าวผู้ชายรอบข้างให้มาร่วมหอลงโรงด้วย เริ่มต้นจากหนุ่มเพื่อนบ้าน (อีแวน โจนส์ซึ่งตอบปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ด้วยข้ออ้างว่าเธอเจ้ากี้เจ้าการ” เกินไป ส่วนหน้าตาก็ยังไม่ชวนให้พิสมัยอีกด้วย ต่อมาความสิ้นหวังของเธอค่อยๆ ทวีขึ้นตามลำดับจนถึงขั้นยื่นข้อเสนอแต่งงานกับ จอร์จ บริกส์ (ทอมมี ลี โจนส์ทหารหนีทัพซึ่งเธอช่วยชีวิตเอาไว้ แล้วบังคับให้ร่วมเดินทางไปไอโอวาเป็นการแลกเปลี่ยน แต่กระทั่งผู้ชายหยาบกระด้าง ไร้ศีลธรรมจรรยาอย่างบริกส์ก็ยังปฏิเสธเธอ ด้วยข้ออ้างว่าเขาไม่ปรารถนาชีวิตชาวไร่ หรือการผูกมัดใดๆ และบางทีความเจ็บปวด อับอายดังกล่าวอาจมีส่วนชักนำเรื่องราวไปสู่จุดพลิกผัน ซึ่งคนดูส่วนใหญ่คาดไม่ถึง

หลายคนเชื่อว่าจุดพลิกผันดังกล่าวขาดความน่าเชื่อถือ บ้างถึงขั้นครหาว่ามันเป็นการช็อกคนดูแบบง่ายๆ สไตล์เดียวกับมุกประเภทตุ้งแช่ในหนังผี เมื่อพิจารณาจากบุคลิกเข้มแข็ง ตลอดจนความทุ่มเทต่อภารกิจของตัวละครหลัก ที่ถูกเน้นย้ำมาตลอดช่วงครึ่งแรก จริงอยู่ว่าหนังอาจไม่ได้อธิบายชัดเจนถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ทิ้งเบาะแสไว้เป็นระยะก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ชีวิตในแดนตะวันตกนั้นดูเหมือนจะยากลำบากและอ้างว้างเกินไปสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียวจากนิวยอร์กอย่าง แมรี บี ดังนั้นเมื่อใดที่มีโอกาส เธอจึงมักจะพร่ำบ่นให้ใครต่อใครฟังว่าเธอคิดถึงเสียงดนตรีกับบรรดาต้นไม้เขียวชอุ่มมากแค่ไหน แต่นั่นดูจะไม่มีความสลักสำคัญอันใดเมื่อเทียบกับภัยพิบัติอื่นๆ ที่ประชากรละแวกนั้นจำต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นอากาศอันหนาวเย็น หรือโรคระบาดที่คร่าชีวิตสัตว์เลี้ยงนับไม่ถ้วน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อเธอพยายามจรรโลงใจชายหนุ่มหลังมื้ออาหารด้วยการร้องเพลง ซึ่งคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในนิวยอร์ก เขากลับนั่งสัปหงกหน้าตาเฉย ท่ามกลางความเป็นอยู่อันทุรกันดารและภาวะปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด ทำให้เหล่าผู้คนในดินแดนตะวันตกไม่มีเวลาพอจะมานั่งชื่นชมความงามธรรมชาติ หรือเสียงดนตรี

ไม่มีคำอธิบายชัดเจนเช่นกันว่าเหตุใด แมรี บี ถึงเดินทางมายังดินแดนตะวันตก แทนที่จะอาศัยอยู่นิวยอร์กแล้วแต่งงานสร้างครอบครัวแบบเดียวกับน้องสาวของเธอ แต่เห็นได้ชัดว่าเปลือกนอกที่ดูห้าวหาญ แกร่งกล้าของ แมรี บี นั้นหลายครั้งก็ไม่อาจปกปิดความเปราะบาง อ่อนไหวภายในจนสุดท้ายก็เริ่มปริแตก เช่น เมื่อข้อเสนอขอแต่งงานของเธอถูกบอกปัด และบางครั้งก็พังทลายเป็นเสี่ยงๆ เช่น ในฉากที่เธอรอดตายจากทะเลทรายมาอย่างหวุดหวิด... ยิ่งเวลาผ่านไปนานวันเข้าความเปลี่ยวเหงา แห้งแล้งของชีวิตนักบุกเบิกดูจะหนักหนาสาหัสเกินกว่าเธอจะทนแบกรับไหว

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ไม่ต้องเผชิญความยากลำบากเพียงลำพัง ชีวิตลูกผู้หญิงในดินแดนตะวันตกก็ใช่ว่าจะสุขสันต์ ราบรื่นแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากชะตากรรมของหญิงสาวสามคนที่มีอาการเสียสติจนสาธุคุณดาวด์ (จอห์น ลิธโกว) ต้องตัดสินใจส่งตัวพวกเธอกลับไปยังไอโอวาเพื่อรับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม บ้างอาจเป็นผลจากสภาพแวดล้อม (หนึ่งในนั้นสูญเสียลูกสามคนไปกับโรคคอตีบ) แต่บ้างก็เกิดจากน้ำมือของเพศชาย ซึ่งเห็นผู้หญิงไม่ต่างอะไรกับเครื่องผลิตลูกที่ไร้ชีวิตจิตใจ โดยหนึ่งในฉากที่รบกวนจิตใจอย่างยิ่งของหนังเป็นตอนที่สามีเดินตรงมาร่วมเพศกับภรรยาบนเตียงทั้งที่แม่ของเธอเองก็นอนร่วมเตียงอยู่ตรงนั้น แต่ไม่อาจทำอะไรได้นอกจากเบือนหน้าหนี

ผู้หญิงเปรียบเสมือนพลเมืองชั้นสองที่ไม่มีปากเสียงมีเสียงใดๆ ความทรมานจากสภาพแวดล้อมและการถูกกดขี่ถูกสั่งสมอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งระเบิดออกมาในรูปของอาการวิปลาส (หนึ่งในนั้นคือการทำร้ายตนเองด้วยการเอาไฟลนมือและใช้เข็มเย็บผ้าทิ่มแทงตามเนื้อตัว ขณะอีกคนจับลูกทารกของตนลงไปโยนทิ้งส้วมหลุมราวกับเพื่อจะปกป้องเด็กน้อยจากความเหลือทนของชีวิต) ที่สำคัญบรรดาผู้ชายเหล่านี้นอกจากจะไม่พยายามทำความเข้าใจ หรือปลอบประโลมแล้ว พวกเขายังพร้อมจะหนีปัญหา แล้วปล่อยให้มันตกเป็นภาระของผู้อื่นด้วย (คนหนึ่งอ้างว่าไม่อาจเดินทางไปไอโอวาได้เพราะต้องดูแลไร่นา) ดังนั้นในช่วงท้ายเรื่อง บริกส์จึงได้มอบคำแนะนำแก่เด็กสาว (ไฮลีย์ สไตน์เฟลด์) ที่คอยให้บริการเขาในโรงแรมว่าเมื่อโตขึ้น อย่าได้เผลอตกลงใจแต่งงานไปกับชายหนุ่มที่มุ่งหน้าไปยังดินแดนตะวันตกโดยอ้างว่าเขามีฟาร์มอยู่ที่นั่น ทั้งที่เขายังไม่ได้เริ่มสร้างมันเลยด้วยซ้ำ

สถานะเพศหญิง รวมทั้งความรู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่าของพวกเธอได้รับการสรุปอย่างชัดเจนและเจ็บปวดในฉากสุดท้ายของหนัง เมื่อป้ายหลุมศพของ แมรี ดี บนเรือข้ามฟากถูกเขี่ยทิ้งน้ำโดยไม่มีใครแยแสใยดี... บางครั้งสิ่งเลวร้ายที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันต่างหาก นั่นแหละคือความวิปลาสที่แท้จริง

น่าสนใจว่าหนังเหมือนจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยในช่วงครึ่งแรกจะมี แมรี ดี เป็นตัวเดินเรื่อง ก่อนที่ จอร์จ บริกส์ จะมารับช่วงต่อไปในครึ่งหลัง และแน่นอนเฉกเช่นธรรมเนียมปฏิบัติของหนังบัดดี้ทั่วไป ตัวละครทั้งสองถูกวาดให้เป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งยึดมั่นในความดีงาม การเสียสละ มีบุคลิกอ่อนโยน อ่อนไหว และจิตใจเมตตาปราณี ขณะที่อีกคนเป็นมนุษย์ผู้เห็นแก่ตัว ไร้ศีลธรรมจรรยา หรือความละเอียดอ่อนใดๆ เขาแอบอ้างไปอยู่ในบ้านของคนอื่นแบบหน้าด้านๆ สามารถขโมยผ้าห่มคลุมศพมาใช้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร และเมื่อหญิงสาวยืนกรานว่าจะอยู่จัดการหลุมศพที่ถูกคุ้ยเขี่ยให้เรียบร้อยเพื่อเป็นเกียรติแด่คนตาย เขาก็จัดแจงโยนพลั่วให้เธอแล้วขี่ม้าต่อไปโดยไม่คิดช่วยเหลือใดๆ สำหรับบริกส์ความรู้สึกอ่อนไหวรังแต่จะทำให้ชีวิตยุ่งยาก และการเรียกร้องขอเมตตาธรรมในดินแดนแห่งการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดนั้นบางครั้งก็เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ เช่น เมื่อเขาถูกปฏิเสธจากเจ้าของโรงแรมหรู (เจมส์ สเปเดอร์) ที่เห็นว่าสารรูปของบริกส์ต่ำต้อยเกินกว่าจะเข้าพัก ถึงแม้เขาจะยืนกรานว่ามีเงินพอจ่ายก็ตาม เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้งในไอโอวา เมื่อเงินของบริกส์ถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้ในบ่อน ที่นี่คุณไม่เป็นที่ต้อนรับของสังคมคือ คำตอบซึ่งเขาได้รับ

แน่นอน โดยเนื้อแท้แล้วบริกส์หาได้ใจทมิฬ แล้งเมตตาเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยเขาก็นำส่งบรรดาหญิงสาวทั้งสามไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลง แต่ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวทั้งสามและ แมรี บี คัดดี้ ทำให้เขาพลันตระหนักว่าหนทางอยู่รอดเดียวของเขาคือการกลับไปเป็นคนๆ เดิม... ในโลกตะวันตกของ The Homesman ความดีงามไม่อาจเจริญงอกงาม วีรกรรมไม่ได้รับการเชิดชู เฉลิมฉลอง และช็อตสุดท้ายของหนัง คือ ภาพเรือข้ามฟากบรรทุก จอร์จ บริกส์ ในสภาพเมามาย ค่อยๆ ลอยห่างออกไปสู่ความดำมืดเบื้องหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: