วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 21, 2557

Oscar 2014: Best Supporting Actor



แบรดลีย์ คูเปอร์ (American Hustle)

ริชี ดีมาโซ ไม่ใช่ FBI แบบที่นักดูหนังคุ้นเคย และถึงแม้เรื่องราวใน American Hustle จะดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงในช่วงปลายทศวรรษ 1970 แต่ดีมาโซเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ผู้กำกับ และ แบรดลีย์ คูเปอร์ ผู้รับบทเป็นดีมาโซ ที่ตัวละครนี้จะต้องเปี่ยมสีสันไม่แพ้เหล่านักต้มตุ๋นที่เขาจะหลอกมาใช้จับนักการเมืองใจคด รวมถึงมาเฟียอีกสองสามราย ในตอนเริ่มต้นเรานั่งถกกันหลายรอบเพื่อสร้างตัวละครนี้ จนกระทั่งในที่สุดเราก็ค้นพบ ริชี ดีมาโซ ซึ่งมีบุคลิกเหมือนเด็กวัยรุ่นอายุ 15 ขวบที่อยากจะเข้าร่วมแก๊งเด็กป๊อปในโรงเรียน เขามีความทะเยอทะยาน แต่ปราศจากประสบการณ์ หรือความสุขุมเยือกเย็นพอจะรับมือกับสถานการณ์หนักๆคูเปอร์ ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารของหนังเรื่องนี้กล่าว เขาค่อนข้างไร้เดียงสา และเป็นตัวละครที่ผมสนุกจะสวมบทบาทมากที่สุดตั้งแต่เคยแสดงหนังมา

ก่อนเข้าฉากในแต่ละวันคูเปอร์ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงนั่งดัดผม หลังจากเขาเป็นคนเสนอให้ตัวละครนี้ดัดผมเพื่อเลียนแบบบรรดานักเบสบอลผิวดำในยุคนั้นอย่าง ด็อค เอลลิส ซึ่งรัสเซลล์ก็เห็นด้วยกับไอเดียดังกล่าว ผมจะดัดผมเองทุกวันเพราะนั่นเป็นสิ่งที่ตัวละครในเรื่องทำ เช่นเดียวกับผู้ชายอีกหลายคนในช่วงปลายยุค 70 ผมไม่ได้ดัดผมด้วยเครื่องมือไฟฟ้ายุคใหม่ แต่จะใช้โรลม้วนผมขณะที่ผมยังเปียกอยู่ นี่มันออกจะน่าเศร้านิดหน่อยที่ผมรู้ขั้นตอนละเอียดขนาดนี้ ผมต้องใช้โรลทั้งหมด 110 อัน จากนั้นผมก็จะต้องนั่งอบผมเป็นเวลานานประมาณ 45 นาทีอดีตเจ้าของตำแหน่งผู้ชายที่เซ็กซี่ที่สุดของนิตยสาร People ประจำปี 2011 เล่า (ในหนังคนดูจะได้เห็นดีมาโซระหว่างขั้นตอนการใส่โรลม้วนผมด้วย ซึ่งเป็นฉากที่เรียกเสียงฮาจากผู้ชมได้ไม่น้อย)

ก่อนจะโด่งดังเหมือนทุกวันนี้ ชีวิตจริงของ แบรดลีย์ คูเปอร์ เคยดำดิ่งลงจุดต่ำสุดไม่ต่างจากตัวละครที่เขาแสดงใน Silver Linings Playbook และ American Hustle เขาติดเหล้า ติดยา และเคยเมาขนาดเอาหัวไปโขกกำแพงคอนกรีตในงานปาร์ตี้จนต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ช่วงเวลานั้นเป็นตอนที่อาชีพนักแสดงของเขาเริ่มทำท่าจะไปได้สวยหลังแจ้งเกิดในหนังฮิตอย่าง Wedding Crashers ด้วยเหตุนี้ ขณะที่เขาอายุได้ 29 ปี คูเปอร์จึงตัดสินใจเลิกเหล้า เลิกยาเป็นการถาวร แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ ถ้าผมยังทำตัวแบบเดิมต่อไป ชีวิตผมคงไม่มีวันก้าวหน้าไปไหนนักแสดงหนุ่มวัย 38 ปีสารภาพ แน่นอนผลลัพธ์ที่ตามมาถือได้ว่าคุ้มค่า ตั้งแต่การร่วมแสดงนำในหนังฮิตอย่าง The Hangover และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สองปีซ้อนในสาขานำชายเมื่อปีก่อนและสมทบชายในปีนี้        

การได้ร่วมงานกับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ช่วยพลิกผันอาชีพการแสดงของเขาสู่ความรุ่งโรจน์ ทำให้เขาหลุดพ้นจากการถูกตีตราด้วยหนังไตรภาคชุด The Hangover ผู้คนเริ่มมองเห็นเขาในฐานะนักแสดงคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้คิวงานของคูเปอร์ในตอนนี้เรียกได้ว่าแน่นขนัด ถัดจากปิดกล้อง American Hustle แล้ว เขาต้องรีบบินไปถ่ายทำหนังเรื่องใหม่ของ คาเมรอน โครว ที่ฮาวาย ร่วมกับ เอ็มมา สโตน และ ราเชล แม็คอดัมส์ ตามมาด้วยการรับนาวิกโยธิน คริส ไคล์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักแม่นปืนที่อันตรายที่สุดของประวัติศาสตร์อเมริกา ผลงานกำกับของ คลินต์ อีสต์วู้ด โดยก่อนเข้ากล้อง คูเปอร์ต้องไปเข้าค่ายฝึกฝนเพื่อปรับสภาพร่างกาย ในระหว่างช่วงเทศกาลประกาศรางวัล อย่าแปลกใจถ้าคุณเห็นผมอ้วนขึ้นและย้อมผมสีแดง ผมไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรหรอกรัสเซลล์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ นอกจากนั้นในปีนี้ เขาจะมีหนังเรื่อง Serena เข้าฉายอีกด้วย (ปิดกล้องไปก่อน American Hustle) โดยเป็นการนำแสดงร่วมกับคู่หูคนเดิม เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ผลงานกำกับของ ซูซาน เบียร์


โจนาห์ ฮิล (The Wolf of Wall Street)

การได้รับเลือกให้แสดงหนังที่กำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี เปรียบดังความฝันที่เป็นจริงของ โจนาห์ ฮิล ผมไม่แคร์ว่าใครจะด่าผมยังไงในบล็อกหรือในนิตยสาร ผมจะพูดแค่ว่า ก็ไม่รู้สินะ แต่สกอร์เซซีคิดว่าฉันเจ๋งว่ะนักแสดงหนุ่มวัย 30 ปีพูดติดตลก แต่กว่าจะได้บท ดอนนี เอซอฟฟ์ มานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ฮิลต้องไปทดสอบหน้ากล้อง แต่เขาไม่กล้าบอกข่าวนี้กับใครเพราะกลัวว่ามันจะกลายเป็นลางร้าย ฮิลเตรียมตัวด้วยการอ่านหนังสือและบทหนังเพื่อทำความเข้าใจตัวละคร ดอนนี่เป็นตัวละครที่โดดเด่นมาก ถึงแม้โดยส่วนตัวแล้วผมจะไม่ชอบหมอนี่เอาซะเลย เขาไม่แคร์ความรู้สึกของคนอื่น เขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองก้าวหน้าดอนนีเป็นสมุนมือขวาของ จอร์แดน เบลฟอร์ท (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) โบรกเกอร์ตลาดหุ้นที่โกยเงินมหาศาลด้วยการหลอกลวงบรรดานักลงทุนรายย่อย ผมเคยถามจอร์แดนว่ารู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เขาทำกับชีวิตคนเหล่านั้น เขาตอบว่า ณ ขณะนั้นเขาจะกันความคิด ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีออกไป แต่ตอนนี้ถ้าย้อนเวลาได้ เขาคงไม่อยากร่ำรวยจากการทำนาบนหลังคน ก่อนจะตบท้ายว่า แต่โจนาห์ ตัวละครที่คุณเล่นน่ะ ชอบ ข้อเท็จจริงที่ว่าเขากำลังทำร้ายผู้คนให้เจ็บปวด มันเป็นคำพูดที่ทำให้ผมตระหนักถึงหัวใจของตัวละครอย่างดอนนี เข้าใจว่าทำไมเขาถึงกระทำการเลวร้ายต่างๆ แบบที่เห็นในหนัง

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ The Wolf of Wall Street กลายเป็นหนังอื้อฉาวและถูกวิพากษ์อย่างหนัก คือ พฤติกรรมชั่วร้ายสุดขั้วของเอซอฟฟ์ ไม่ว่าจะเป็นการพ่นคำหยาบแบบไม่ยั้ง สูดโคเคนแทนอาหารเช้า (“ผมสูดโคเคนปลอมจนเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ปอดผมเต็มไปด้วยแป้ง”) หรือมีส่วนร่วมในปาร์ตี้เซ็กซ์หมู่ (“มันน่าสะอิดสะเอียนพอควร คน 18 คนในสภาพเปลือยเปล่า อัดแน่นกันอยู่ในห้อง มันไม่เซ็กซี่แม้แต่น้อย”) และช่วยตัวเองต่อหน้าธารกำนัล (“ในฐานะนักแสดง การได้เห็นตัวเองกระทำการแบบนี้บอจอภาพยนตร์ถือเป็นกรณีสุดโต่งที่สุดแล้ว แต่ผมคิดว่ามันเป็นฉากที่มีความสำคัญมาก อย่างแรกเลยเพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และอย่างที่สอง หนังจะไปไม่ถึงจุดหมายที่วางไว้ หากไม่กล้าจะสะท้อนความเสื่อมทรามทั้งหลายที่เกิดขึ้น”)

ยากจะเชื่อว่าเด็กหนุ่มนิสัยดีที่พาแม่ไปร่วมงานออสการ์จะสามารถสวมวิญญาณดอนนีได้อย่างยอดเยี่ยม แต่สิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ คือ เส้นทางการเลือกอาชีพเป็นนักแสดง เพราะกล่าวได้ว่าเขาเติบโตมาในแวดวงบันเทิง มีแม่ทำงานเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกาย พ่อเป็นนักบัญชีให้ศิลปินชื่อดังอย่าง มาดอนนา และ Gun N’Roses ขณะเดียวกันพี่ชายเขาก็ทำงานเป็นผู้จัดการวง Maroon 5 ฮิลเติบโตมาในแอลเอ แต่กลับเป็นนิวยอร์กที่เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงหนังครั้งแรก โดยหลังจากสนิทสนมกับลูกๆ ของ ดัสติน ฮอฟฟ์แมน ผ่านละครเวทีเรื่องเล็กๆ ที่จัดแสดงในบาร์แห่งหนึ่งของแมนฮัตตัน ฮิลก็สร้างความประทับใจให้พ่อของพวกเขาจากการเล่นตลกแบบอิมโพรไวส์ ส่งผลให้ฮอฟฟ์แมนใช้เส้นสายดันเขาจนได้ไปออดิชั่นหนังเรื่อง I Heart Huckabee ของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ และคว้าบทสมทบมาครอง หลังจากนั้นฮิลก็ห่างหายจากวงการไปนาน 3 ปี ก่อนจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ด้วยบทนำในหนังตลกเรื่อง Superbad ของ จัดด์ อพาโทว์

นับแต่นั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ฮิลยังจำได้แม่นถึงความรู้สึกเมื่อครั้งเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่มีใบหน้าเขาแปะหราอยู่ เขายืนกรานว่าคงไม่มีวันมายืนอยู่ตรงนี้ได้หากไม่ใช่เพราะอพาโทว์และ เซ็ธ โรแกน แต่ขณะเดียวกัน การพลิกผันอาชีพออกจากเส้นทางหนังตลกจนกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะนักแสดงมากฝีมือ ถือเป็นเครดิตที่เขาต้องมอบให้กับตัวเองจากความกล้าที่จะบุกตะลุยสู่โลกที่เขาไม่คุ้นเคย ไม่ใช่ว่าผมไม่ชอบเล่นหนังตลกนะ ผมมีความสุขกับการทำให้คนหัวเราะมาก แต่พอตระหนักว่าผมประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้แล้ว... มันยังมีหนังอีกหลากหลายแนวที่ผมชื่นชอบ ผมหลงรักหนังดรามามากพอๆ กับหนังตลก ผมจะไม่มีทางพัฒนาฝีมือตัวเองได้ ถ้ามัวแต่ทำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำไปแล้ว” 


บาร์ค็อด อับดี (Captain Phillips)

เรื่องราวชีวิตของ บาร์ค็อด อับดี นั้นหวือหวา น่าตื่นเต้นไม่แพ้หนังฮอลลีวู้ด เขาถือกำเนิดในประเทศโซมาเลีย แต่ก่อนจะทันได้เข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา สงครามกลางเมืองก็ประทุขึ้นในปี 1991 ทำให้ครอบครัวเขาต้องหลบหนีความรุนแรงไปยังประเทศเยเมนตอนอับดีอายุได้ 7 ขวบ เขาเรียนรู้ภาษาอาราบิกจากการนั่งชมฟุตบอล จนกระทั่งเมื่ออับดีอายุได้ 14 ปี ครอบครัวเขาก็ชนะล็อตเตอรีกรีนการ์ดของอเมริกา และได้ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในเมืองมินนิแอโปลิส ซึ่งมีชุมชนชาวโซมาเลียอพยพขนาดใหญ่ (ปัจจุบันมีชาวโซมาเลียอาศัยอยู่ในตัวเมืองมากถึง 14000 คน) โดยคราวนี้อับดีอาศัยเพลงของ Jay-Z กับซิทคอมเรื่อง Seinfeld เพื่อช่วยในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

อับดีทำงานเป็นพนักงานขับรถลีมูซีนตอนได้เห็นรายงานข่าวทางทีวีว่าหัวหน้าฝ่ายแคสติ้งในหนังใหม่ของ ทอม แฮงค์ จะเดินทางมายังมินนิแอโปลิสเพื่อค้นหานักแสดงชาวโซมาเลีย อับดีจำข่าวเกี่ยวกับปล้นเรือบรรทุกสินค้าในปี 2009 ได้ดี ชาวโซมาเลียบางคนบอกว่าหนังเรื่องนี้จะสร้างความอับอายให้พวกเราทุกคนอับดีกล่าว แต่สำหรับผมนี่คือโอกาสครั้งสำคัญ และผมก็อยากลองดูสักตั้งระหว่างรอคิวทดสอบหน้ากล้อง อับดีเผอิญเจอเพื่อนอีก 3 คน ทั้งหมดจึงตัดสินใจซ้อมบทร่วมกันโดยเลือกฉากสำคัญตอนที่เหล่าโจรสลัดบุกขึ้นเรือบรรทุกสินค้าได้สำเร็จ หลังถูกเรียกตัวกลับมาทดสอบหน้ากล้องอีกหลายครั้ง ในที่สุดพวกเขาก็ได้บินไปพบผู้กำกับ พอล กรีนกราส ที่ลอสแองเจลิส

บาร์ค็อดมีบุคลิกน่ายำเกรงและคุกคามกรีนกราสกล่าว แต่ขณะเดียวกันก็มีบางอย่างซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ปุถุชน ผมสัมผัสได้ถึงความรุนแรงโกรธขึ้งภายใน รวมทั้งความรู้สึกสิ้นหวัง ไร้ทางออก ซึ่งนั่นเป็นส่วนผสมที่ผมต้องการ

นอกจากนี้อับดีกับเพื่อนๆ ยังมีรูปร่างเหมาะกับบท ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ ในหมู่นักแสดงผิวดำที่เกิดและเติบโตมาในอเมริกา นั่นคือ ผอมชะลูด เขาสูง 178 ซม. และหนัก 54 กก. ผมเกิดมาแบบนี้อับดีกล่าว ทั้งที่ผมกินทุกอย่างที่ขวางหน้าไม่ว่าจะเป็นเบอร์เกอร์ พาสต้า หรือข้าวเขากับเพื่อนๆ ได้รับเลือกให้มาแสดงร่วมกัน และต้องเดินทางไปประเทศมอลตา ซึ่งเป็นสถานที่ในการถ่ายทำ เพื่อเรียนรู้วิธีขับเรือและใช้ปืนก่อนเปิดกล้อง อับดีว่ายน้ำไม่เป็น เขาจึงต้องเรียนรู้วิธีทรงตัวอยู่บนเรือโจรสลัดที่โคลงเคลงตามกระแสน้ำ กรีนกราสจงใจกันเหล่านักแสดงโซมาเลียไม่ให้เจอกับ ทอม แฮงค์ เพื่อเพิ่มความสมจริงเมื่อทุกคนต้องเข้าฉากร่วมกัน ผมไม่อยากให้พวกเขารู้สึกยำเกรง หรือทำตัวสุภาพเรียบร้อย ผมต้องการให้พวกเขาเข้าถึงบทบาทกรีนกราสกล่าว

ความเชี่ยวชาญในการกำกับนักแสดงมือใหม่ผ่านประสบการณ์จากหนังอย่าง United 93 ตลอดจนบทเรียนจากการถ่ายทำหนังสารคดีมาก่อน ทำให้กรีนกราสไม่เคร่งครัดกับการบล็อคกิ้ง เพราะกล้องจะตามติดเหล่านักแสดงไปทุกที่อยู่แล้ว นอกจากนี้เขามักจะสนับสนุนให้นักแสดงอิมโพรไวส์บทพูดได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อให้มันฟังดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น แทนการท่องบทแบบเป๊ะทุกตัวอักษร บาร์ค็อดมีจังหวะของตัวเอง เขาไม่ได้ยิงบทพูดตามคิว มันเป็นการแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมากรีนกราสกล่าวชื่นชมนักแสดงหน้าใหม่ของเขา อับดีบอกว่าเขารู้สึกเชื่อมโยงกับการดิ้นรนของตัวละครนี้ เพราะถึงแม้มูสจะเลือกเส้นทางความรุนแรง แต่โดยเนื้อแท้แล้วเขาก็แค่ต้องการจะมีชีวิตที่ดีกว่า พ่อแม่ผมพาผมออกจากประเทศมาได้ แต่ถ้าผมต้องอยู่ที่นั่นล่ะนักแสดงหนุ่มวัย 27 ปีกล่าว เชื่อแน่ว่าผมคงไม่เป็นเหมือนทุกวันนี้ ผมมองเห็นความจนตรอกในตัวละคร เขาต้องฟันฝ่าหลายสิ่งหลายอย่างกว่าจะมีโอกาสมายืนอยู่ ณ จุดนี้ ฉะนั้นเมื่อโอกาสอยู่ในมือแล้ว เขาจึงไม่ยอมปล่อยมันหลุดไปและทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ (12 Years a Slave)

ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ ถือเป็นนักแสดงหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถปรับตัวกลมกลืนได้กับทั้งผลงานที่เน้นการศึกษาเจาะลึกตัวละครและท้าทายคนดูอย่าง Hunger และ Shame หรือผลงานบล็อกบัสเตอร์ทุนสูงอย่าง X-Men: First Class และ Prometheus ข้อพิสูจน์อันเด่นชัดถึงพลังการแสดงของเขา คือ กระทั่งผลงานในหนังตลาดเพื่อมวลชนก็ยังกวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์มาครองอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยล่าสุดการกลับมาร่วมงานกับ สตีฟ แม็คควีน ผู้กำกับคู่บุญอีกครั้งใน 12 Years a Slave น่าจะถือเป็นการผสมสองแนวทางข้างต้นเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ ในแง่หนึ่งมันเป็นหนังที่ค่อนข้างมืดหม่น เข้มข้นในแบบเดียวกับ Hunger และ Shame แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็เป็นหนังที่ลงทุนมากขึ้น และรวมดาราดังเอาไว้คับจออาทิ แบรด พิทท์, พอล จิอาแม็ตตี, เบเนดิกท์ คัมเบอร์แบทช์ และ พอล ดาโน โดยฟาสเบนเดอร์รับบทเจ้าของไร่ฝ้ายจอมโหด ที่ทรมานและทารุณทาสของเขาอย่างปราศจากเมตตา แต่ขณะเดียวกัน เอ็ดวิน เอ็บบ์ ก็เป็นตัวละครที่เคร่งศาสนา พร้อมกับใช้ไบเบิลเป็นข้ออ้างเพื่อตัดสินทาสในฐานะทรัพย์สมบัติ หาใช่มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจิตใจ

นี่ไม่ใช่การรับบทตัวร้ายครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เขาก็เคยมอบชีวิตจิตใจให้กับแม็คนีโต ตัวละครที่สร้างจากหนังสือการ์ตูน ในหนังเรื่อง X-Men: First Class และกำลังจะหวนกลับไปย้อนรอยตัวเองอีกครั้งใน X-Men: Days of Future Past นอกจากนี้ นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาต้องรับบทเป็นชายที่ซับซ้อนและสับสน เพราะแบรนดอนใน Shame ก็เป็นตัวละครที่อัดแน่นไปด้วยปมขัดแย้งภายใน แต่สำหรับ เอ็ดวิน เอ็บบ์ เขาอาจต้องขุดลึกลงไปอีกเพื่อหาเหตุผลให้กับหลากหลายการกระทำอันโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม

ผมพยายามค้นหาความเป็นคนให้กับตัวละครนี้แทนการถ่ายทอดเขาออกมาในลักษณะของปีศาจร้ายนักแสดงที่ถือกำเนิดในประเทศเยอรมันกล่าว เจ้านายกับทาสถือเป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน แน่นอนการเป็นทาสคือความเลวร้ายขั้นสูงสุด คุณถูกเฆี่ยน ถูกซ้อม ถูกข่มเหงทุกวันทุกคืน แต่ขณะเดียวกันผู้กระทำเองก็ย่อมได้รับผลกระทบจากความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานเหล่านั้นเช่นกัน เขาเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ติดกับอยู่ในความอยุติธรรมทางสังคม ผมมักจะคิดว่าเอ็บบ์เป็นเหมือนหนองบนผิวหนัง เป็นตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังผุกร่อนมากแค่ไหนการที่เอ็บบ์พยายามจะสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมของตนโดยใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างถือเป็นจุดที่ฟาสเบนเดอร์เห็นว่ามีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งในความพยายามจะทำความเข้าใจตัวละครนี้ พร้อมกันนั้นก็ช่วยอธิบายให้เห็นว่าเหตุใดผู้คนจึงกระทำการเลวร้ายเช่นนี้ในยุคสมัยแห่งการค้าทาส ผมคิดว่ามันแทบจะกลายเป็นของคู่กันไปแล้ว คนจำนวนไม่น้อยถือไบเบิลไว้ในมือข้างหนึ่ง ขณะมืออีกข้างหนึ่งก็ยิงจรวดมิสไซล์เข้าใส่ศัตรู ผมคิดว่าศาสนากับความเจ็บปวดบางครั้งมักจะเกิดควบคู่กันไป มันเป็นเหตุผลในการใช้กดขี่และควบคุมคน

มีอยู่หลายฉากใน 12 Years a Slave ที่ยากจะกล้ำกลืน เมื่อการทรมานถูกนำเสนออย่างสมจริงและหลายครั้งก็ยาวนาน จริงอยู่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำความเข้าใจตัวละครอย่าง เอ็ดวิน เอ็บบ์ แต่ที่ยากยิ่งกว่า คือ การถ่ายทอดเขาให้ออกมาเป็นภาพบนจอ สมาธิและความเข้มข้นทางอารมณ์ต้องถูกกระตุ้นถึงจุดสูงสุดตลอดเวลา จนนักแสดงวัย 36 ปียอมรับว่าเขาแทบหมดแรงหลังจากถ่ายทำเสร็จในแต่ละวัน คุณต้องยกระดับตัวเองให้ได้มาตรฐานกับบทที่ยอดเยี่ยม และแน่นอน เราทุกคนเหนื่อยล้ากันมากเพราะจำเป็นต้องเคร่งเครียดกดดันกันตลอดทั้งวัน ผมคิดว่าสำหรับนักแสดง มันอาจไม่ใช่เรื่องดีนักที่จะทิ้งทุกอย่างไว้ในกองถ่าย แล้วกลับบ้านไปพักผ่อน แต่นั่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการถ่ายทำหนังเรื่อง


แจเร็ด เลโต (Dallas Buyers Club)

หลังห่างหายจากวงการภาพยนตร์ไปนาน 5 ปี และเมินเฉยใส่อีเมลห้าฉบับที่โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง Dallas Buyers Club ส่งมาหาเขา ในที่สุด แจเร็ด เลโต ซึ่งขณะนั้นเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก็ตัดสินใจสไกลป์พูดคุยกับผู้กำกับ ฌอง-มาร์ก วาลี ผมกำลังจะขึ้นเล่นคอนเสิร์ตต่อหน้าแฟนเพลงกว่า 100,000 คนแจเร็ด เลโต นักร้องนำของวงดนตรีร็อค 30 Seconds to Mars กล่าว มันเป็นเรื่องง่ายที่จะตอบปฏิเสธข้อเสนอให้แสดงหนังเรื่องหนึ่ง ในเมื่อความฝันของคุณกำลังกลายเป็นจริงต่อหน้าต่อตา

เลโตสร้างชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะนักแสดงหนุ่มหล่อขวัญใจวัยรุ่นจากละครทีวีเรื่อง My So-Called Life ในช่วงทศวรรษ 1990 จากนั้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีเขาก็กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ไฟแรงที่น่าจับตามองของฮอลลีวู้ด ได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังอย่าง เทอร์เรนซ์ มาลิค, เดวิด ฟินเชอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ซึ่งมอบบทนำให้กับเขาในผลงานชิ้นเอกเรื่อง Requiem for a Dream แต่แล้วช่วงกลางทศวรรษ 2000 หนังอินดี้สองสามเรื่องที่เขาร่วมแสดงเกิดอาการ แป้กทั้งในแง่ทำเงินและเสียงวิจารณ์ ส่งผลให้เลโตหมดกำลังใจ แล้วหันหลังให้กับฮอลลีวู้ดไปเป็นนักร้อง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แต่ถึงแม้แผ่นเสียงของเขาจะขายได้หลายล้านแผ่น มีกลุ่มแฟนเหนียวแน่นจำนวนไม่น้อย เลโตก็เริ่มคิดถึงการแสดงและบรรยากาศในกองถ่ายหนัง ด้วยเหตุนี้ ด้านหลังเวทีคอนเสิร์ตในกรุงเบอร์ลิน เขาจึงทาลิปสติกสีชมพู แล้วนั่งออดิชั่นบทกะเทยแต่งหญิงกับผู้กำกับวาลีผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผมปลดกระดุมเสื้อโค้ท เผยให้เห็นสเวตเตอร์สีชมพูที่ใส่อยู่ข้างในเขาเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น แล้วก็เริ่มเล่นหูเล่นตา

วันต่อมาเลโตได้รับเลือกให้เล่นบท เรยอน กะเทยที่จับมือร่วมกับช่างไฟฟ้าชาวเท็กซัส (แม็ทธิว แม็คคอนาเฮย์) เพื่อจำหน่ายยารักษาโรคเอดส์ที่คนหลังลักลอบขนเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย ด้วยบุคลิกร็อคเกอร์ หลายคนอาจคาดว่าจะได้เห็นการแสดงแบบจัดหนัก แรงสุดติ่งชนิดฉุดไม่อยู่ แต่ความจริงแล้วเลโตกลับถ่ายทอดด้านที่อ่อนหวาน อบอุ่นของตัวละครออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ในหนังหลายเรื่องบทประเภทนี้มักจะถูกนำเสนอในลักษณะแบบเหมารวม เป็นตัวตลกซ้ำซากเลโต ซึ่งเตรียมตัวหาข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เหล่ากะเทยวัยรุ่นระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต กล่าว เรามักจะเห็นผู้ชายใส่เสื้อผ้าผู้หญิงที่ชอบลุกขึ้นตะโกนมุกตลกบางอย่างแล้วก็วิ่งหายออกไปแน่นอน เรยอนไม่ใช่กะเทยเคร่งเครียด หรือเกลียดการเข้าสังคม ตรงกันข้ามแก๊กเด็ดๆ ในหนังส่วนใหญ่ล้วนหลุดออกมาจากปากเธอแทบทั้งสิ้น เพียงแต่มุกตลกเหล่านั้นไม่โฉ่งฉ่าง และยึดติดอยู่กับความเป็นจริงมากกว่าจะเพื่อเรียกเสียงหัวเราะเป็นหลัก ความคะนองปากเป็นเหมือนอาวุธหลักของเธอเลโตกล่าวถึงตัวละครที่ผลักดันให้เขาก้าวเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก ถ้าคุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในรัฐเท็กซัสช่วงปี 1985 และต้องไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตโดยแต่งตัวเป็นผู้หญิง คุณจะเรียนรู้ที่จะใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือป้องกันตัวเองเพื่อความอยู่รอด

เพื่อรับบทนี้ได้อย่างสมจริง เลโตต้องโกนขนตามร่างกายทิ้ง แล้วลดน้ำหนักลง 13 กก. จนเหลือน้ำหนักตัวแค่ 52 กก. มันเปลี่ยนวิธีการเดิน การพูด และระบบความคิดของคุณ รวมไปถึงวิธีที่ผู้คนปฏิบัติต่อคุณนักแสดงวัย 42 ปีกล่าวถึงน้ำหนักที่ลดลงฮวบฮาบ บางครั้งคุณจะเผลอเอนตัวพิงคนที่คุณกำลังพูดคุยด้วย เพราะคุณรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลังงานใดๆ หลงเหลือ มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวคุณจากเดิมอย่างสิ้นเชิงหลายคนที่ทำงานอยู่ในกองถ่าย Dallas Buyers Club กล่าวว่าพวกเขาไม่มีโอกาสได้พบตัวจริงของเลโตจนกระทั่งหลายเดือนหลังปิดกล้องในรอบพรีเมียร์ที่เทศกาลหนังเมืองโตรอนโต ทั้งนี้เพราะเลโตยืนกรานที่จะสวมบทบาทเป็นเรยอนตลอด 25 วันของการถ่ายทำ สำหรับผมการ อยู่ในคาแร็คเตอร์หมายถึงความทุ่มเท สมาธิ และสำหรับบทที่หนักหน่วงและท้าทายแบบนี้ ผมจำเป็นต้องพุ่งความสนใจให้มันชนิดเต็มร้อย ผมไม่สามารถรวบรวมรายละเอียดทุกแง่มุมเกี่ยวกับตัวละครทั้งด้านร่างกายและจิตใจขึ้นมาอย่างรวดเร็วได้ทันทีที่ผู้กำกับสั่งแอ็คชั่น  

Oscar 2014: Best Supporting Actress


จูน สควิบบ์ (Nebraska)

ครั้งแรกที่ได้เห็นตัวเองบนจอรับบทเป็นภรรยาปากเปราะของ บรูซ เดิร์น ในหนังเรื่อง Nebraska จูน สควิบบ์ ถึงกับช็อกจนพูดไม่ออก การเติบใหญ่มาในเมืองเล็กๆ ของรัฐอิลลินอยส์ ทำให้เธอประสบพบเห็นผู้หญิงเจ้ากี้เจ้าการและฝีปากจัดจ้านแบบเคทอยู่บ่อยๆ แต่ระหว่างถ่ายทำเธอไม่ทันตระหนักเลยว่าทำไมเธอถึงรู้สึกว่าตัวเองรู้จักผู้หญิงแบบเคทดีเป็นพิเศษ ฉันคิดในใจว่า คุณพระช่วย นั่นมันแม่ฉันนี่สควิบบ์สารภาพเมื่อได้เห็นตัวเองบนจอ ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่าเคทจะเหมือนกับแม่ฉันขนาดนี้

นักแสดงวัย 84 ปียอมรับว่าแม่ของเธออาจไม่ได้น่ารำคาญมากเท่าเคท แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองเหมือนกัน คือ นิสัยคิดอะไรก็พูดแบบนั้น เคทไม่เคยกลั่นกรองคำพูด อะไรก็ตามที่แวบเข้ามาในหัวจะทะลุออกปากเธอในทันที เพราะเธอคิดว่าทุกคนก็กำลังคิดแบบเดียวกับเธอ รู้สึกแบบเดียวกับเธอสีสันจัดจ้านดังกล่าว (ในหนังขาวดำและท่ามกลางตัวละครชายที่ค่อนข้างประหยัดคำพูดคำจา) ทำให้สควิบบ์กวาดคำชมของนักวิจารณ์มาอย่างถ้วนทั่วจากการกลับมาร่วมงานกับ อเล็กซานเดอร์ เพย์น อีกครั้งนับแต่ About Schmidt เมื่อ 11 ปีก่อน ซึ่งเธอรับบทเป็นภรรยาที่น่าเบื่อหน่ายของ แจ๊ค นิโคลสัน

สควิบบ์ฝึกฝนทักษะการแสดงมานานกว่า 60 ปี โดยเริ่มต้นจากวงการละครเพลงผ่านบทสมทบใน The Boy Friend  (1958) Gypsy (1959) และ The Happy Time (1968) ต่อมาเมื่อเธอแสดงความสนใจอยากหันมาเอาดีกับบทดรามาจริงจังดูบ้าง อดีตสามีของเธอซึ่งเป็นครูสอนการแสดง ชาร์ลี คาแคทซาคิส จึงแนะนำให้เธอแขวนรองเท้าเต้นแท็ปเป็นการถาวร เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันเคยแสดงละครเพลงมาก่อนเธอกล่าว แต่ความฝันของเธอใช้เวลาอยู่นานกว่าจะกลายเป็นจริง อาชีพในแวดวงภาพยนตร์ของเธอไม่ก้าวหน้าไปไหนจนกระทั่งเมื่อเธออายุได้ 60 ปี และถูกว่าจ้างโดย วู้ดดี้ อัลเลน ให้มารับบทสมทบในหนังเรื่อง Alice จากนั้นเธอก็ได้เล่นบทเล็กๆ น้อยๆ ในหนังอีกหลายเรื่อง เช่น The Age of Innocence, In & Out และ Meet Joe Black รวมไปถึงเป็นแขกรับเชิญในซีรีย์โทรทัศน์อย่าง Law & Order ก่อนจะเริ่มโด่งดังมากขึ้นจากบทใน About Schmidt

ด้วยความที่เคทเป็นบทซึ่งแตกต่างจากตัวละครที่เธอแสดงใน About Schmidt ราวฟ้ากับเหว เพย์นจึงไม่เคยคิดจะจ้างเธอมาเล่นบทนี้ในตอนแรก แต่หลังจากทดสอบหน้ากล้องนักแสดงหญิงไปมากมายหลายคน และไม่เจอใครที่ถูกใจเลย เพย์นก็ได้รับเทปจากสควิบบ์ โดยเธอแสดงเป็นเคทในสองรูปแบบที่แตกต่าง รูปแบบแรกด้วยมาดที่ค่อนข้างโหด ออกแนวตลกขบขัน กับอีกรูปแบบหนึ่งที่ดูตรงไปตรงมา ติดดิน และไม่ตลกเท่า เพื่อให้เขาเลือกตามสบายว่าอยากจะได้แบบไหน หลังจากดูเทปไปเพียงหนึ่งนาที เพย์นก็รู้ทันทีว่าเขาได้ค้นพบเคทแล้ว ผมคิดว่าผู้หญิงที่คุณเห็นบนจอเป็นส่วนผสมของบุคลิกโหดๆ กับบุคลิกที่ติดดิน และยังรวมบุคลิกส่วนตัวของจูนเข้าไปด้วยเจ้าของรางวัลออสการ์บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก Sideways และ The Descendants กล่าว ไม่มีอะไรที่เธอคนนี้ทำไม่ได้จริงๆ

สำหรับ จูน สควิบบ์ นั่นถือเป็นคำชมสูงสุดเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อออกมาจากปากของผู้กำกับที่ไม่เคยกล่าวยกย่องใครแบบพร่ำเพรื่อ


ลูพีตา นียังโก (12 Years a Slave)

การแสดงเป็นศาสตร์และศิลป์ที่เย้ายวนใจ ลูพีตา นียังโก มาตั้งแต่เธอจำความได้ เธอมีเชื้อสายเป็นชาวเคนยา แต่ถือกำเนิดในประเทศเม็กซิโกหลังจากพ่อแม่เธอตัดสินใจขอลี้ภัยทางการเมือง แต่ไม่นานต่อมาพวกเขาก็มีโอกาสย้ายกลับไปยังทวีปแอฟริกาอีกครั้ง ขณะที่ลูพีตายังเป็นทารกแบเบาะ ประสบการณ์ทางด้านงานแสดงของเธอเริ่มต้นตอนอายุได้ 14 ปี เมื่อได้รับบทนำในละครเรื่อง Romeo and Juliet แต่ครั้งแรกที่เธอฝันอยากจะมีอาชีพเป็นนักแสดงเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นนานมาก นับแต่เธอได้ดู The Color Purple สมัยเด็กๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นคนผิวดำในภาพยนตร์นักแสดงสาว ซึ่งเพิ่งจะเรียนจบการแสดงจากเยลมาได้หนึ่งปีกล่าว

ยากจะเชื่อว่า 12 Years a Slave เป็นหนังเรื่องแรกของนียังโก เพราะการแสดงของเธอนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังจนคนดูไม่อาจละสายตาได้ และหลอกหลอน น่าจดจำจนทำให้เธอกลายเป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ บนเวทีออสการ์ เธอรับบท แพ็ทซี ทาสหญิงผิวดำซึ่งกลายเป็นที่ต้องตาต้องใจของมาสเตอร์ เอ็ดวิน เอ็บบ์ เจ้าของไร่ฝ้ายจอมซาดิสต์ รับบทโดย ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ เธอเป็นขุมทรัพย์ที่ทรงคุณค่า ไม่ใช่เพียงเพราะความสวยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความสามารถในการเก็บฝ้ายได้ถึง 500 ปอนด์ต่อวัน มากกว่าทาสชายส่วนใหญ่ถึงสองเท่า แต่นอกจากจะต้องจำทนรับการทารุณกรรมจากน้ำมือของเอ็บบ์แล้ว เธอยังถูกภรรยาของเขา (ซาราห์ พอลสัน) ก่นด่าและลงไม้ลงมืออย่างโหดเหี้ยมอีกด้วย จนบ่อยครั้งแพ็ทซีถึงกับเห็นความตายว่าเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยปลดปล่อยเธอให้พ้นทุกข์

ผู้กำกับ สตีฟ แม็คควีน เปรียบเทียบการค้นหานักแสดงหญิงที่จะมารับบทแพ็ทซีของเขาว่ายากลำบากและกินเวลานานไม่แพ้การค้นหา สการ์เล็ตต์ โอฮารา ในหนังเรื่อง Gone with the Wind โดยมีนักแสดงหญิงมากกว่า 1000 คนเดินทางมาทดสอบหน้ากล้อง ก่อนนียังโกจะเป็นผู้คว้าชัยไปครอง เนื่องจากเธอสะท้อนจิตวิญญาณของแพ็ทซีได้ชัดเจนที่สุดผ่านบุคลิกภายนอกที่ดูเป็นมิตร น่าคบหา แต่ภายในกลับซุกซ่อนความทุกข์ระทมเอาไว้เกินหยั่ง ความซับซ้อน ขัดแย้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดึงดูดฉันเข้าหาตัวละครตัวนี้นักแสดงสาววัย 30 ปีกล่าว สิ่งสำคัญคือคุณต้องทำความเข้าใจการอยู่คู่กันของสองสิ่งข้างต้น เข้าใจว่าทำไมคนที่พบเจอแต่ความมืดมิด ถึงยังเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาได้ เพราะยิ่งความเศร้าฝังรากลึกมากเท่าไหร่ คุณยิ่งสามารถบรรจุความสุขได้มากขึ้นเท่านั้น

สองนักแสดงที่เป็นแรงบันดาลใจหลักของนียังโก คือ ซิดนีย์ ปอยเตียร์ (“เพราะเช่นเดียวกับเขา ฉันก็เหมือนใครบางคนจากอีกโลกหนึ่ง พยายามจะพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในอเมริกา”) กับ ชาร์ลิซ เธรอน (“เธอเป็นนักแสดงที่กล้าหาญ มักสร้างเซอร์ไพรซ์ให้คนดูได้เสมอ นั่นเป็นสิ่งที่ฉันอยากจะทำให้ได้แบบเดียวกัน รับเล่นบทที่มีความเสี่ยงแตกต่างกันไป และบีบให้ตัวเองต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย”) อย่างไรก็ตาม คนหนึ่งที่ชื่นชมผลงานอันน่าประทับใจของเธอใน 12 Years a Slave อย่างออกนอกหน้า คือ โอปรา วินฟรีย์ ซึ่งไม่รีรอที่จะตรงเข้ามากอดนียังโกในห้องแต่งตัวระหว่างเตรียมให้สัมภาษณ์นิตยสาร Hollywood Reporter พร้อมกับพูดว่า เธอเล่นได้วิเศษสุดๆ” (อาจกล่าวได้ว่าผลงานของวินฟรีย์ในหนังเรื่อง The Color Purple ซึ่งเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ก็เป็นการเปิดตัวนักแสดงหน้าใหม่ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน)

หลังจากปิดกล้อง 12 Years a Slave ได้ไม่นาน (เธอเริ่มถ่ายทำก่อนจะเรียนจบ) นียังโกก็แทบไม่มีเวลาได้หายใจหายคอจากประสบการณ์ที่สูบพลังงานชีวิตไปมากโข (“การนวดเป็นครั้งคราว ฟังเพลง นั่งสมาธิ และกินอาหารอร่อยๆ ช่วยให้ฉันผ่อนคลายได้ไม่น้อย”) เพราะเธอต้องตระเตรียมข้าวของเพื่อย้ายไปอยู่บรู้คลิน และเริ่มต้นเดินตามเส้นทางเดียวกับ ชาร์ลิซ เธรอน ด้วยการรับโปรเจ็กต์ที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ หนังแอ็กชั่น-ทริลเลอร์ นำแสดงโดย เลียม นีสัน ซึ่งรับบทเป็นตำรวจอากาศที่ต้องปกป้องเที่ยวบินระหว่างประเทศให้พ้นจากภัยคุกคาม ชื่อของหนังเรื่องนี้ช่างเหมาะจะนำมาอธิบายสถานการณ์ของนียังโกระหว่างช่วงเทศกาลแจกรางวัลเสียเหลือเกิน นั่นคือ Non-Stop


เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (American Hustle)

การขโมยซีนจากทีมนักแสดงระดับแนวหน้าอย่าง คริสเตียน เบล, เอมี อดัมส์ และ แบรดลีย์ คูเปอร์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กล้าจะเสี่ยงและทำสำเร็จได้อย่างงดงาม บท โรซาลิน โรเซนเฟลด์ ภรรยาสติแตกที่มั่นใจไปเสียทุกอย่าง แม้ว่าทุกอย่างที่เธอทำจะผิดพลาดไปหมด ส่งผลให้ลอว์เรนซ์กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง และอาจก้าวไปไกลขนาดทำให้เธอคว้ารางวัลออสการ์มาครองเป็นปีที่สองติดต่อกัน! นั่นถือว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับคนที่ตั้งใจว่าจะหยุดพักหลังปิดกล้อง The Hunger Games: Catching Fir และก่อนเปิดกล้อง X-Men: Days of Future Past แต่แผนดังกล่าวก็ต้องพับไปเมื่อ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ติดต่อให้เธอมาร่วมแสดงใน American Hustle โดยรับบทเป็นภรรยา คริสเตียน เบล นักแสดงที่เธอชื่นชมและอยากร่วมงานด้วยมาตลอด ผมคิดว่าตัวเองอาจเลินเล่อเกินไปถ้าอย่างน้อยก็ไม่บอกให้เธอรู้สักนิดเกี่ยวกับโครงการหนังเรื่องนี้รัสเซลล์เล่า ผมเล่าถึงตัวละครไปได้แค่ครึ่งทาง เธอก็รู้สึกตื่นเต้นแล้วที่จะได้เล่นเป็นแม่บ้านจริงๆ ในลองไอส์แลนด์ช่วงปี 1978 และการพลิกบทมาเล่นเป็นตัวปัญหาแทนบทแม่พระแสนดีอย่างใน The Hunger Games ยิ่งทำให้เธอกระตือรือล้นมากขึ้นไปอีก

ในหนังคนดูจะได้เห็นเธอเกือบเผาบ้านทั้งหลังด้วยเตาไมโครเวฟ ลิปซิงค์พร้อมเต้นประกอบเพลง Live and Let Die และจูบปากกับ เอมี อดัมส์ ในฉากไฮไลท์ แรงเงาช่วงกลางเรื่องซึ่งเต็มไปด้วยความโกรธขึ้งและการระเบิดอารมณ์เจ็บแค้นที่เก็บกดไว้เป็นเวลานาน เมื่อเมียหลวงกับเมียน้อยมาเผชิญหน้ากันในห้องน้ำ ปกติฉันไม่ชอบอ้างเครดิตหรอกนะ แต่จูบนั้นเป็นไอเดียของฉันเองอดัมส์กล่าว ฉันไม่รู้ว่าทำไม บางทีอาจเป็นเพราะฉันอยากจูบเจนนิเฟอร์ก็ได้ เธอน่ารักจะตายจูบดังกล่าวเปรียบเสมือนคำขู่และการจู่โจมในลักษณะเดียวกับจูบที่ ไมเคิล คอร์ลีโอเน มอบให้พี่ชาย เฟรโด ในหนังเรื่อง The Godfather Part II (ก่อนจะลงเอยด้วยการที่ไมเคิลสั่งฆ่าพี่ชายแท้ๆ ของตัวเอง)

ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา ดูเหมือนใครๆ ก็อยากจูบปากกับ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ หลังเธอคว้าออสการ์มาครองจาก Silver Linings Playbook นำแสดงในหนังอภิมหาฮิตอย่าง The Hunger Games: Catching Fire ซึ่งตอนนี้ทำเงินรวมในอเมริกามากกว่า Iron Man 3 (ใครว่าผู้หญิงไม่สามารถเปิดตัวหนังได้) และได้รับการโหวตจากนิตยสาร Time ให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลสูงสุดแห่งปี 2013 เธอเป็นหวานใจของชาวอเมริกันคนใหม่ แต่เสน่ห์อย่างหนึ่งของลอว์เรนซ์อยู่ตรงที่ ถึงแม้จะอยู่ในสถานะซูเปอร์สตาร์ แต่เธอก็ยังมีบุคลิกติดดิน เป็นกันเอง จนไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเธอจึงกลายเป็นแบบอย่างที่เด็กสาววัยรุ่นชื่นชอบ (ส่วนบรรดาหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่จำนวนไม่น้อยก็ชื่นชอบเธอมากเช่นกัน แต่อาจจะด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง)

ความแตกต่างระหว่างลอว์เรนซ์กับบรรดานักแสดงขวัญใจวัยรุ่นคนอื่นๆ อาทิ คริสเตน สจ๊วต อยู่ตรงที่เธอให้ความสำคัญกับสิ่งที่ปรากฏบนจอ กล้าที่จะพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดหย่อน และหลีกเลี่ยงการถูกเลือกให้เล่นบทเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ยกเว้นว่าบทนั้นจะทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกและได้ค่าเหนื่อยก้อนโต) โจดี้ ฟอสเตอร์ เขียนถึงเธอในนิตยสาร Time ว่า ฉันจำความรู้สึกตอนดู Winter’s Bone เป็นครั้งแรกได้ดี ฉันคิดในใจว่า เด็กคนนี้เล่นหนังเป็น แต่ที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้น คือ เพียงแค่ยืนเฉยๆ เธอกลับถ่ายทอดพลังได้มากมาย ความลับอันเจ็บปวดทั้งหลายสะท้อนชัดบนใบหน้า เธอทำให้คนดูรู้สึกว่าตัวละครเคยผ่านอดีตเลวร้ายมาอย่างหนักโดยไม่จำเป็นต้องพูดสักคำน่าทึ่งตรงที่ลอว์เรนซ์ดูเหมาะกับบทหนักหน่วง เคร่งเครียดแบบใน Winter’s Bone และหนังชุด The Hunger Games แต่ขณะเดียวกันก็ลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติไม่แพ้กันกับบทที่เปี่ยมอารมณ์ขันแบบใน Silver Linings Playbook และ American Hustle... บางทีคนที่สามารถสรุปใจความได้ชัดเจนที่สุดอาจเป็น โจนส์ ริเวอร์ส ซึ่งอาจไม่ค่อยถูกโฉลกกับนักแสดงหญิงรุ่นลูกและมักจะแอบจิกกัดเธอหลายครั้ง แต่สุดท้ายกระทั่งริเวอร์สเองก็ยอมรับว่า เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ เป็นนักแสดงระดับสุดยอด เธอคือ เมอรีล สตรีพ คนถัดไป” 


จูเลีย โรเบิร์ตส์ (August: Osage County)

ในย่าน แปซิฟิก พาลิเซดส์ ชุมชนเงียบสงบทางฝั่งตะวันตกของแอลเอ ผู้คนแถวนี้จะรู้จักคุ้นเคย จูเลีย โรเบิร์ตส์ ในอีกสถานะหนึ่งที่ไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ นั่นคือ คุณแม่ลูกสาม ซึ่งสวมแว่นกันแดดไปช้อปปิ้งซื้อของในสภาพหน้าเปลือยและสวมยางรัดข้อมือสีสะท้อนแสงที่ลูกสาวเธอทำให้เป็นของขวัญ แต่ก็ใช่ว่านักแสดงสาวใหญ่วัย 46 ปีจะหันหลังให้แสงสีกับพรมแดงเป็นการถาวรแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เธอเริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของทุกคนอีกครั้ง เมื่อบทบาทการแสดงในหนังเรื่องใหม่ ซึ่งดัดแปลงจากบทละครรางวัลพูลิทเซอร์เรื่อง August: Osage County กวาดคำชมจากนักวิจารณ์อย่างเป็นเอกฉันท์

นี่เป็นชีวิตสองด้านของโรเบิร์ตส์ คุณแม่และซูเปอร์สตาร์ที่รอยยิ้มบานฉ่ำกลายเป็นภาพติดตาของผู้คนนับล้านๆ ทั่วโลก และถึงแม้ว่าปัจจุบันเธอจะไม่ได้ขึ้นปกนิตยสารแฟชั่นมากเหมือนในช่วงทศวรรษ 1990 แต่เธอก็ยังคงรักษาสถานะดาราเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ชื่อเสียงอันโด่งดังส่งผลให้เธอมีอิสระที่จะผันตัวเองจากเจ้าแม่ตลก-โรแมนติกผ่านหนังฮิตอย่าง Pretty Woman และ My Best Friend’s Wedding มารับแสดงหนังที่ไม่ค่อยตลาดและค่อนข้างมืดหม่นอย่าง August: Osage County เกี่ยวกับการรวมญาติของครอบครัวร้าวฉาน มันอาจไม่ได้ใช้ทุนสร้างมากมาย แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นงานรวมดาราครั้งใหญ่ไม่ว่าจะเป็น เมอรีล สตรีพ, คริส คูเปอร์, ยวน แม็คเกรเกอร์ และ จูเลียต ลูว์อิส

ตารางการถ่ายทำเป็นเวลานานสี่เดือนทำให้โรเบิร์ตส์ต้องจากลูกๆ ไปเป็นครั้งแรก แต่โครงการสร้างหนังเรื่องนี้เย้ายวนใจเกินกว่าจะตอบปฏิเสธ และเธอก็เคยดูเวอร์ชั่นละครเวทีมาก่อนตอนมันเล่นอยู่ที่บรอดเวย์ คนชอบบอกว่าฉันช่างเลือกเพราะฉันติดลูกๆอดีตนักแสดงหญิงหวานใจของชาวอเมริกันกล่าว แต่ในฐานะนักแสดง มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ฉันจะต้องตัดสินใจเลือกเล่นหนังอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น ตอนนี้ฉันอายุ 46 ปีแล้ว ฉะนั้นการตกเก้าอี้ไม่ใช่เรื่องน่าขำอีกต่อไป ฉันอาจสะโพกหลุดได้ ฉะนั้นบางอย่างที่อาจฟังดูเข้าท่าเมื่อ 10 ปีก่อน กลับไม่ดูน่าสนใจสำหรับฉันในตอนนี้อีกต่อไป

ในการหวนคืนสู่เวทีออสการ์อีกครั้งหลังจากคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงมาครองจาก Erin Brockovich เมื่อ 13 ปีก่อน โรเบิร์ตส์รับบทเป็นบาร์บารา หนึ่งในลูกสาว 3 คนที่กลับมายังบ้านเกิดเพื่อช่วยดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เนื่องจากมันเป็นบทที่เรียกร้องพลังจากนักแสดงค่อนข้างมาก ทั้งในแง่การท่องจำบทสนทนาโต้ตอบที่ยืดยาว และการระเบิดอารมณ์หลากหลาย โรเบิร์ตส์กับทีมนักแสดงจึงมักจะใช้เวลาว่างในช่วงกลางคืนที่บ้านของสตรีพ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกองถ่าย เพื่อทบทวนบทกันจนมืดค่ำ บางคืนฉันจะกลับถึงบ้านในสภาพเสียงแหบแห้งเพราะต้องตะโกนมาตลอดทั้งวัน แต่งานหนักเป็นสิ่งที่ช่วยให้พวกเราเอาตัวรอดมาได้ คุณไม่ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองหยุดคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในหนังมันน่าเศร้าและโหดร้ายขนาดไหน

เพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างคุ้มค่า บ่อยครั้งโรเบิร์ตส์จะเลือกเล่นหนังโดยดูจากรายชื่อของเพื่อนร่วมงานเป็นหลัก สังเกตได้จากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เธอทำหนังร่วมกับ ไคลฟ์ โอเวน, ทอม แฮงค์ และผู้กำกับ ไมค์ นิโคลส์ คนละ 2 เรื่อง ส่วนผลงานถัดไปของเธอ คือ ร่วมแสดงหนังทีวีของค่าย HBO เรื่อง The Normal Heart ดัดแปลงจากบทละครรางวัลโทนีเกี่ยวกับวิกฤติโรคเอดส์ในยุค 1980 กำกับโดย ไรอัน เมอร์ฟีย์ ซึ่งโรเบิร์ตส์เคยร่วมงานด้วยใน Eat, Pray, Love หนังฮิตเรื่องล่าสุดของเธอเมื่อ 3 ปีก่อน 


แซลลี ฮอว์กินส์ (Blue Jasmine)

โชคดูเหมือนจะเริ่มเข้าข้าง แซลลี ฮอว์กินส์ บ้างแล้ว โดยหลังจากงานแสดงอันน่าตื่นตะลึงของเธอในหนังเรื่อง Happy-Go-Lucky ถูกออสการ์มองข้ามอย่างไม่น่าเชื่อ (แม้ว่าเธอจะคว้ารางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์ใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส และ National Society of Film Critics มาครองแบบครบถ้วน) ในที่สุดฮอว์กินส์ก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกจนได้ในอีก 5 ปีต่อมาผ่านผลงานอันน่าประทับใจไม่แพ้กันในหนังเรื่อง Blue Jasmine ซึ่งเธอสารภาพว่าได้มาเพราะโชคช่วย เนื่องจากระหว่างช่วงเวลาที่เริ่มมีการคัดตัวเลือกนักแสดง เธอบังเอิญอยู่ในนิวยอร์กเพื่อถ่ายทำหนังอีกเรื่องพอดี ที่สำคัญ เธอโหยหาโอกาสที่จะได้กลับมาร่วมงานกับ วู้ดดี้ อัลเลน อีกครั้งหลังจาก Cassandra’s Dream แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้เธอไม่น้อย คือ นี่จะเป็นหนังเรื่องแรกที่เธอต้องแสดงโดยใช้สำเนียงอเมริกัน และเธอก็มีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่สองสามวันเท่านั้นก่อนหน้าการออดิชั่น

ฮอว์กินส์เล่าว่าในห้องออดิชั่นไม่มีกล้องด้วยซ้ำ มีแค่อัลเลนกับแคสติ้งไดเร็คเตอร์คู่ใจ จูเลียต เทย์เลอร์ ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก คุณมีเวลา 10 นาทีในการอ่านบท มันให้ความรู้สึกเหมือนอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ เพราะคุณต้องเดินผ่านกำแพงกระจกเข้าไป มันเป็นห้องทำงานที่เขาใช้มาตลอดตั้งแต่ยุค 70 ค่อนข้างเรียบง่าย ติดดิน ฉันอยากจะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปผนังมาก มันน่าตื่นเต้นจริงๆ เหมือนคุณได้เข้าไปอยู่ในหัวสมองของวู้ดดี้เธอกล่าว

หลังจากได้รับเลือกให้มารับบทจิงเจอร์ น้องสาวของจัสมิน (เคท แบลนเช็ตต์) แล้ว ฮอว์กินส์จึงมีโอกาสได้อ่านบทฉบับเต็ม ทั้งที่โดยปกติแล้วอัลเลนจะมอบบทให้นักแสดงเฉพาะฉากที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ความแตกต่างประการสำคัญจากขั้นตอนการถ่ายทำหนังทั่วๆ ไป คือ จะไม่มีช่วงเวลาสำหรับซ้อมบท (ในทางตรงกันข้าม ไมค์ ลีห์ ผู้กำกับที่ฮอว์กินส์เคยร่วมงานด้วยมากกว่าหนึ่งครั้ง จะใช้เวลาซักซ้อมนักแสดงนานหลายเดือนก่อนเปิดกล้อง) อย่างไรก็ตาม ฮอว์กินส์ได้มีโอกาสนัดพบแบลนเช็ตต์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้อง เราอ่านบทด้วยกันนักแสดงสาวชาวอังกฤษเล่า และพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตวัยเด็กของจัสมินกับจิงเจอร์ รวมถึงเหตุผลที่ว่าทำไมจิงเจอร์ถึงรู้สึกเหมือนเธอไม่ใช่ลูกสาวคนโปรดของแม่

ปกติแล้วการได้ร่วมงานกับผู้กำกับที่เขียนบทหนังของตัวเองจะทำให้นักแสดงมีโอกาสไต่ถามเกี่ยวกับความเป็นมาของตัวละครได้อย่างอิสระ แต่เนื่องจากอัลเลนมีลักษณะการทำงานแบบรวดเร็ว ฉับไว และไม่นิยมเจ๊าะแจ๊ะกับนักแสดง ภาระหนักจึงตกอยู่บนบ่าของนักแสดง แต่ขณะเดียวกันวิธีการดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้อิสระเพื่อการตีความอย่างเต็มที่ เขาไม่มีเวลาจะมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับตัวละคร เขาไม่สนใจว่าคุณมีขั้นตอนอย่างไร เขาสนใจแค่การแสดงของคุณตรงหน้า ซึ่งฉันรักเขาที่เป็นแบบนั้นฮอว์กินส์กล่าว

จิงเจอร์เป็นตัวละครที่เปรียบเสมือนด้านกลับของจัสมิน เธอมองโลกตามความเป็นจริงมากกว่า เธอเป็นเหมือนสายลมเย็นแสนสบาย เมื่อเทียบกับพายุทอร์นาโดอย่างจัสมิน ซึ่งแง่มุมผ่อนคลายของตัวละครเป็นสิ่งที่ฮอว์กินส์ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับสำเนียงอเมริกันของเธอ อย่างไรก็ตามในหนังเรื่องถัดไป ฮอว์กินส์จะได้กลับมาใช้สำเนียงอังกฤษอีกครั้ง แม้ว่ามันจะเป็นการร่วมงานในหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์เรื่องแรกของเธอก็ตาม เพราะใน Godzilla เธอจะรับบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ กระนั้นฮอว์กินส์ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกแยกเท่าไหร่เวลาอยู่ในกองถ่าย เพราะตัวผู้กำกับ การ์เร็ธ เอ็ดเวิร์ดส์ ก็เป็นชาวอังกฤษเช่นกัน และทีมนักแสดงก็ผสมผสานดาราดังจากหลายสัญชาติเข้าไว้ด้วยกันตั้งแต่ เคน วาตานาเบ้ ไปจนถึง จูเลียต บิโนช

Short Comment: Gravity


ในหนังเรื่อง Y Tu Mama Tambien ผู้กำกับ อัลฟอนโซ คัวรอน สอดแทรกเรื่องราวและแนวคิดเกี่ยวกับความตายเอาไว้ท่ามกลางฉากเซ็กซ์เร่าร้อนและมุกตลกทะลึ่งตึงตังผ่านเสียงบรรยายของบุคคลที่สาม กล่าวคือ ขณะที่เหล่าตัวละครพากันกอบโกยความสุข ความอิ่มเอมเข้าใส่ชีวิต เขายืนกรานที่จะย้ำเตือนคนดูให้ระลึกถึงปลายทางซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงของมนุษย์ทุกคน ส่วนในผลงานอันน่าตื่นตะลึงชิ้นล่าสุด คัวรอนได้จำลองภาพปลายทางดังกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านอวกาศอันมืดมิด ไร้จุดสิ้นสุด ความเงียบสงัดจนคุณได้ยินเพียงเสียงความคิดตัวเอง และความต่ำต้อย กระจิริดของมนุษย์ท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล

อวกาศแม้จะไร้ขอบเขต หรือเส้นกั้น แต่มันกลับให้ความรู้สึกจองจำ ปิดขังมากกว่าจะมอบอิสรภาพ ไม่ต่างจากโลงศพขนาดใหญ่ที่ค่อยๆ กลืนกินคุณ (ความมืดมิด ความเงียบ และออกซิเจนอันจำกัด) ดุจเดียวกับภาพปิดท้ายช็อตแรกของหนัง เมื่อ ดร. ไรอัน สโตน (แซนดร้า บูลล็อค) ลอยคว้างออกห่างจากกล้องจนกลายเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในความมืดมิด ซึ่งในเวลาเดียวกันภาพดังกล่าวก็ใช้สะท้อนภาวะทางจิตใจของตัวละครได้อย่างแยบยล

ตรงกันข้ามกับ Y Tu Mama Tambien หนังเรื่อง Gravity เล่าย้อนตลบถึงเรื่องราวของตัวละครที่เสมือนตายไปแล้ว อย่างน้อยก็ในแง่จิตวิญญาณ แต่สุดท้ายเมื่อต้องเผชิญวิกฤติการณ์เฉพาะหน้าก็สามารถสะดุ้งตื่น (หรืออาจเรียกได้ว่าเกิดใหม่หากสังเกตจากฉากสุดท้ายซึ่งถูกใช้ในแง่สัญลักษณ์) แล้วกอบกู้ศรัทธาต่อชีวิตกลับคืนมาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ หนังเรื่องแรกพูดถึงตัวละครที่กำลังเพลิดเพลิน ลุ่มหลง สนุกสนาน ก่อนจะพลันตระหนักถึงความเปราะบางของชีวิต ส่วนหนังเรื่องหลังพูดถึงตัวละครที่กำลังสิ้นหวัง ก่อนจะพลันตระหนักถึงคุณค่าแห่งการดำรงอยู่... ถ้า Y Tu Mama Tambien เป็นคติธรรมสอนใจให้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต Gravity ก็คือ บทสรรเสริญความงามแห่งการยอมรับในปัจจุบัน แล้วเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยอดีต


ความน่าสนใจของ Gravity อยู่ตรงที่มันผสานความขัดแย้งแบบขั้วตรงข้ามเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ทั้งในส่วนของเรื่องราว (ความตายกับการเกิดใหม่) การสร้างสรรค์ภาพ (ในช็อตหนึ่งของหนังกล้องเริ่มต้นด้วยภาพในมุมกว้างแบบแทนสายตาคนดู ก่อนต่อมาจะค่อยๆ ขยับเข้าใกล้เป็นภาพโคลสอัพ และด้วยความมหัศจรรย์ของเทคนิคพิเศษด้านภาพเคลื่อนเข้าสู่หมวกนักบินอวกาศมาเป็นมุมกล้องแทนสายตาตัวละครโดยไม่ต้องอาศัยการตัดภาพใดๆ!) และข้อเท็จจริงที่ว่ามันเกือบจะเป็นหนังทดลองโดยเนื้อแท้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีพล็อตเรื่องให้คนส่วนใหญ่สามารถจับต้องได้ (แม่ที่พยายามจะทำใจยอมรับการสูญเสีย แล้วเดินหน้าชีวิตต่อไป/ นักบินอวกาศที่พยายามจะต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางหายนะนานัปการ) ตามสไตล์การเล่าเรื่องแบบคลาสสิก แม้ว่าโดยรวมแล้วพล็อตจะค่อนข้างเบาบาง และเรียบง่ายเมื่อเทียบกับหนังตลาดเรื่องอื่น (แต่นัยยะทางศาสนา ตลอดจนความลุ่มลึกในการนำเสนอก็ทำให้มันก้าวไปไกลกว่าหนังบล็อกบัสเตอร์อีกมากมาย) ส่งผลให้คนดูสามารถเข้าถึงหนัง ตลอดจนตีความหนังได้ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลายคนถึงยกมันไปเปรียบเทียบกับหนังไซไฟระดับคลาสสิกอย่าง 2001: A Space Odyssey  

หนังแห่งความประทับใจ


The Conjuring: หลังจากหนังดำเนินเดินเรื่องไปได้ประมาณ 10 นาที เพื่อเล่าประวัติความเป็นมาของตุ๊กตา แอนนาเบล” (อยากรู้ว่าเด็กเปรตที่ไหนเสียสติพอจะซื้อตุ๊กตาชวนสะพรึงแบบนี้มาเล่นที่บ้าน) ผมก็รู้สึกได้แล้วว่าหนังผีเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะมันเลือกจะเน้นการสร้างบรรยากาศน่าขนลุกมากกว่าช็อกคนดูอย่างตื้นเขินด้วยการใช้เสียงดังสนั่น หรือตัดภาพแบบฉับพลัน ตรงกันข้าม หลายช็อตของหนังกล้องดูเหมือนจะตามติดตัวละครอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนดูนึกหวาดหวั่นสะดุ้ง และกรีดร้องไปพร้อมๆ กับตัวละคร และบางทีช็อตที่น่าขนลุกที่สุดอาจไม่ใช่ฉากผีโผล่ แต่เป็นตอนที่กล้องแช่ภาพไปยังความมืดหลังบานประตู

Gravity: ในอวกาศนอกจากจะไม่มีใครได้ยินเสียงคุณกรีดร้องแล้ว ยังไม่มีใครเห็นคุณ หรือช่วยเหลืออะไรคุณได้อีกด้วย คุณเกิดมาเพียงลำพัง และในที่สุดก็ต้องตายไปอย่างโดดเดี่ยวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง สุดท้ายแล้วจึงขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นอย่างไร

Inside Llewyn Davis: พระเจ้าในหนังของสองพี่น้องโคนยังคงโหดเหี้ยมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จริงอยู่ความบัดซบของชีวิตส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการกระทำของ ลูวิน เดวิส โดยตรง (แตกต่างจากตัวละครเอกใน A Serious Man ที่ดูจะตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำมากกว่า) แต่ขณะเดียวกันความพยายามกับพรสวรรค์ก็ใช่ว่าจะให้ผลลัพธ์เป็นความสำเร็จเสมอไป และการออกเดินทางก็ใช่ว่าจะนำมาซึ่งบทเรียนชีวิตอันงดงาม หรือความก้าวหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น มันดันพาเราวนกลับมายังจุดเริ่มต้นโดยที่ไม่ได้ฉลาดขึ้น หรือกลายเป็นคนที่ดีขึ้นเลย หนังยังเจืออารมณ์ขันแบบโคนเอาไว้บางๆ และท่ามกลางความหดหู่ สิ้นหวัง เสียงเพลงโฟล์คอันไพเราะก็มอบความรื่นรมย์ ความหวังได้อย่างน่าประหลาด แม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดถึงแต่ความตาย หรือการจากลาก็ตาม

Like Father, Like Son: ตัวตนของเราหล่อหลอมขึ้นจากสภาพแวดล้อมมากกว่าดีเอ็นเอภายใน และมนุษย์ก็มีพลังมากพอจะพัฒนา/เปลี่ยนแปลง/เรียนรู้แทนการเดินหน้าสู่ชะตากรรม ซึ่งถูกกำหนดโดยพลังบางอย่างเหนือการควบคุม นี่ถือเป็นด้านสว่างของการดำรงชีวิตเมื่อเทียบกับหนังของพี่น้องโคน และเหมาะจะนำไปฉายคู่กับหนังอย่าง The Place Beyond the Pines ซึ่งส่งกลิ่นอายแห่งโศกนาฏกรรมกรีก

Zero Dark Thirty: ความตายบังเกิดขึ้น ตามมาด้วยการแก้แค้น หนังไม่ได้มอบความชอบธรรมหรืออารมณ์สะใจให้วิธีการตาต่อตาฟันต่อฟัน และความสำเร็จในตอนท้ายก็ห่างไกลจากนาทีแห่งการเฉลิมฉลองอย่างสิ้นเชิง แต่บางทีการไม่แสดงจุดยืนทางศีลธรรมให้ชัดเจนก็ทำให้หนังตกเป็นเป้าโจมตีที่เย้ายวนจากสองฟากแนวคิด แม้ว่าการยืนหมิ่นเหม่อยู่บนเส้นกึ่งกลางนั้นจะสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานที่เพิ่มขึ้นของทีมผู้สร้าง ในอันที่จะท้าทายคนดูมากกว่าแค่มอบความบันเทิงที่ปลอบประโลมจิตใจ

นักแสดงชาย

เดนเซล วอชิงตัน (Flight) ลำพังแค่ฉากคำให้การในตอนท้ายเรื่องฉากเดียวก็ถือว่าคุ้มแล้วสำหรับการเข้าชิงออสการ์

แบรดลีย์ คูเปอร์ (Silver Linings Playbook) ไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำให้ตัวละครที่น่ารำคาญดูมีเสน่ห์ได้ขนาดนี้

เดเนียล เดย์ ลูว์อิสต์ (Lincoln) เนียนมาก อบอุ่นมาก ต่างจากตัวเขมือบซีนใน There Will Be Blood ราวกับคนละคน

เจค จิลเลนฮาล (Prisoners) เชี่ยวชาญการรับมือกับทอร์นาโดแบบเดียวกับ แซลลี ฮอว์กินส์ ใน Blue Jasmine

แดเนียล บรูห์ล (Rush) เขาแปลงตัวละครที่มองจากภายนอกค่อนข้างยโส น่าหมั่นไส้ ให้ดูมีเลือดมีเนื้อและชีวิตชีวา

นักแสดงหญิง

คาเมรอน ดิแอซ (The Counselor) บางทีบทโหดๆ และเลือดเย็นอาจเหมาะกับเธอมากกว่าบทแบบ แมรีซะอีก

เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (American Hustle) ในหนังแบบนี้คำว่า เล่นน้อยได้มาก ใช้ไม่ได้ผล

ชาร์นี วินสัน (You’re Next) อาจดูบอบบางกว่า ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์ ใน Alien แต่หนังเหนียวและทรหดไม่แพ้กัน

เคท แบลนเช็ตต์ (Blue Jasmine) ช่วงสิบนาทีสุดท้ายรู้สึกว่าหล่อนจะน่ากลัวยิ่งกว่าตุ๊กตาแอนนาเบลซะอีก

อเดล เอ็กซาร์โคพูลอส (Blue Is the Warmest Color) สวยงาม น่ารัก และหัวใจสลายได้อย่างน่าตื่นตะลึง

Oscar 2014: อยากเก็บเธอไว้ทั้งสามคน


ต้องยอมรับว่าออสการ์ปีนี้เป็นปีที่สูสีและยากจะคาดเดามากที่สุดนับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เมื่อรางวัลของสมาคมวิชาชีพต่างๆ ซึ่งมักจะใช้เป็นเครื่องหมายบ่งชี้ทิศทางของออสการ์มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยในปีนั้น อังลี จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon คว้า DGA ไปครอง ส่วนสมาคมนักแสดง (SAG) มอบรางวัลนักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัลภายนตร์ยอดเยี่ยมของสถาบันนี้ ให้กับ Traffic ส่วนสมาคมผู้อำนวยการสร้าง (PGA) กลับเลือก Gladiator เป็นหนังยอดเยี่ยม และแน่นอนอย่างที่เราทราบกันดีว่าผลสุดท้ายบนเวทีออสการ์จบลงตรงที่ Gladiator คว้ารางวัลสูงสุดมาครอง ส่วน สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม

มาปีนี้ SAG มอบรางวัลใหญ่ให้กับ American Hustle ส่วน อัลฟอนโซ คัวรอน ก็คว้ารางวัล DGA มาครอง ขณะที่ PGA ช็อกทุกคนด้วยการประกาศว่า Gravity และ 12 Years a Slave ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม “ร่วมกัน”! ผลดังกล่าวถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อและไม่น่าจะเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาว่า PGA ใช้ระบบลงคะแนนแบบเรียงลำดับเช่นเดียวกับออสการ์ ซึ่งคิดค้นขึ้นมาเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงปรากฏการณ์คะแนนเท่ากันแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ผลดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่าปีนี้ปราศจากตัวเก็งที่ทำคะแนนนำโด่ง ตรงกันข้าม มีหนังสามเรื่องที่วิ่งตีคู่กันมาชนิดหายใจรดต้นคอ ส่วนใครจะลงเอยเป็นคนชิงรางวัลสูงสุดไปครองคงต้องลุ้นกันต่อไป

ถ้าใช้สถิติเข้าตัดสิน โอกาสที่หนังจะได้รางวัลสูงสุดแล้วพลาดรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมนั้นถือว่าน้อยมาก ปีที่แล้ว หาก เบน อัฟเฟล็ก เข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม เชื่อว่าเขาก็คงคว้ารางวัลไปครองอย่างแน่นอน ฉะนั้น ถ้าเรามองว่า อัลฟอนโซ คัวรอน เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งในสาขาผู้กำกับ นั่นก็หมายความว่า Gravity ควรจะได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย อีกอย่างการได้ทั้ง PGA และ DGA ทำให้ตัวหนังนำหน้าคู่ต่อสู้อยู่นิดหน่อย

ปัญหาของ Gravity อยู่ตรงที่ 1) หนังไม่ได้เป็นที่รักในหมู่นักแสดง ซึ่งถือเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่สุด ดังจะเห็นได้จากการพลาดเข้าชิงรางวัลใหญ่ของ SAG แต่จุดนี้อาจเป็นเรื่องช่วยไม่ได้เนื่องจากหนังที่มีนักแสดงหลักๆ แค่สองคนย่อมยากจะถูกมองว่ามีการแสดง “กลุ่ม” ยอดเยี่ยม ปีก่อน Life of Pie ก็ประสบปัญหาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อย Gravity ก็มี แซนดร้า บูลล็อค ซึ่งนอกจากจะได้เข้าชิงสาขานำหญิงแล้ว เธอยังเป็นที่ชื่นชอบและทรงอิทธิพลในวงการพอควร (เมื่อเทียบกับเหล่านักแสดงโนเนมใน Life of Pie) และนี่เรายังไม่ได้นับรวมความป็อปปูล่าของ จอร์จ คลูนีย์ ในบทสมทบด้วยซ้ำ 2) หลายคนรู้สึกว่า Gravity เป็นเหมือน “เครื่องเล่นในสวนสนุก” เต็มไปด้วยเทคนิคพิเศษซึ่งแม้จะน่าตื่นตามากแค่ไหน แต่ก็ปราศจากความหนักแน่นทางเนื้อหา หรือการวิเคราะห์ตัวละครอันลุ่มลึก (พวกเขามองว่าการใส่ปมจิตวิทยาให้ตัวละครเอกและการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ดูจงใจและไม่แนบเนียน) นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาสำคัญอย่างบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่งผลให้มันเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับ Avatar และ Titanic แต่สุดท้ายผลลัพธ์จะออกมาเหมือนเรื่องแรกหรือเรื่องหลัง? 3) ออสการ์ไม่ค่อยเมตตาหนังไซไฟสักเท่าไรนัก แต่ก็นั่นแหละทุกอย่างย่อมมีครั้งแรกเสมอ ไม่เชื่อก็ดูชัยชนะของ The Silence of the Lambs ได้

ความแข็งแกร่งของ 12 Years a Slave อยู่ตรงที่หนังได้แรงหนุนจากกลุ่มนักแสดงมากพอๆ กับกลุ่มช่างเทคนิคทั้งหลาย (ตัดต่อ ออกแบบงานสร้าง บท) และคว้ารางวัลสำคัญอย่าง PGA มาครอง (ครึ่งหนึ่ง) นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นผลงานที่เข้าทางออสการ์มากกว่า Gravity เนื่องจากมีประเด็นหนักแน่น ดูเป็นหนัง “สำคัญ” ที่ไม่ได้เข้าถึงยากจนเกินไป การกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองเยอะสุด (แม้จะไม่ใช่สถาบันใหญ่อย่างนิวยอร์ก แอลเอ หรือ National Society of Film Critics) แสดงว่ามันเป็นหนังที่คนสามารถเห็นพ้องต้องกันได้มากที่สุด เช่นเดียวกับกรณีของ Argo เมื่อปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของหนัง คือ 1) หลายคนทนดูจนจบไม่ได้เนื่องจากความโหดร้ายและกดดัน 2) สตีฟ แม็คควีน ดูจะตกเป็นรอง อัลฟอนโซ คัวรอน อยู่พอตัว เพราะนักวิจารณ์หลายสถาบันอาจให้รางวัลสูงสุดกับ 12 Years a Slave แต่ขณะเดียวกันกลับมอบรางวัลผู้กำกับให้คัวรอนโดยพิจารณาจาก “ท่ายาก” และความสำเร็จอันงดงามท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย 3) หลายคนแสดงท่าทีชื่นชม ยกย่องหนัง รวมไปถึงสุนทรียะทางภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ได้ “รัก” มันพอจะยกรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้ ซึ่งตรงจุดนี้ Gravity หรือกระทั่ง American Hustle ดูจะมีภาษีดีกว่า

เช่นนี้แล้วบางทีหนังของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ อาจได้เปรียบคนอื่นๆ อยู่เล็กน้อย กล่าวคือ มันดูสนุก ให้ความรู้สึกดีๆ แต่ก็มีเนื้อหาที่หนักแน่น จับต้องได้ด้วย มันได้เสียงสนับสนุนจากเหล่านักแสดงอย่างท่วมท้น สังเกตจากการเข้าชิงสาขาการแสดงทุกสาขาและคว้ารางวัลสูงสุดบนเวที SAG มาครอง แต่ไม่ถูกทอดทิ้งจากเหล่าช่างเทคนิคเช่นกัน (โดยเฉพาะการได้เข้าชิงในสาขา ชี้เป็นชี้ตายอย่างลำดับภาพยอดเยี่ยม) มันน่าจะกลายเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่ง แต่กลับชวดทั้ง PGA (คาดว่าน่าจะมีคะแนนตามมาติดๆ) และ DGA อย่างไรก็ตาม Shakespeare in Love ก็เคยพลาดรางวัลจากสองสถาบันสำคัญนั้นและคว้ารางวัลออสการ์มาครองด้วยแรงผลักดันจากเหล่านักแสดงเป็นหลัก (หนังได้รางวัลนักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมจากเวที SAG) ด้วยเหตุนี้ American Hustle ก็อาจเดินตามรอยความสำเร็จนั้นได้

ความสูสีของการแข่งขั้นปีนี้ทำให้หลายคนมองว่าออสการ์อาจจะแบ่งแยกรางวัลหนังและผู้กำกับแบบเดียวกับเวทีลูกโลกทองคำ รวมไปถึงรางวัลของสถาบันนักวิจารณ์อีกหลายแห่ง นั่นคือ 12 Years a Slave คว้ารางวัลสูงสุด ส่วน อัลฟอนโซ คัวรอน ได้รางวัลผู้กำกับ แต่ตามสถิติแล้วเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ และปีนี้เหล่าคู่แข่งคนสำคัญต่างก็ได้เข้าชิงกันครบถ้วน (ไม่เหมือนปีก่อน) ฉะนั้นผลรางวัลของสองสาขานี้น่าจะมีโอกาสตรงกันมากกว่าแยกจากกัน และการคว้ารางวัลสำคัญอย่าง DGA กับ PGA มาครองก็ทำให้ Gravity ได้เปรียบคู่แข่งอยู่เล็กน้อยทั้งในสาขาหนังและผู้กำกับ ตามมา ด้วย 12 Years a Slave และ American Hustle (ส่วนในสาขาผู้กำกับต้องยอมรับว่าคัวรอนออกจะวิ่งนำไปมากพอควร ชนิดที่ว่าหากแม็คควีน หรือรัสเซลล์ลงเอยด้วยการคว้าชัยชนะไปครองก็จะถือเป็นเรื่องพลิกล็อกครั้งใหญ่)

สำหรับสาขาการแสดง บรรดาตัวเก็งดูเหมือนจะเริ่มทิ้งห่างคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรูปแบบการเดินสายรับรางวัลเริ่มซ้ำรอยจนยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ในสาขานักแสดงนำชาย แม็ทธิว แม็คคอนาเฮย์ กลายเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งหลังคว้าลูกโลกทองคำและ SAG มาครอง โดยอันดับสองที่กำลังพยายามไล่ควบมาติดๆ คือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ซึ่งได้ลูกโลกทองคำมาเช่นกันในสาขาหนังเพลง/ตลก และที่สำคัญ The Wolf of Wall Street ถือเป็นการฉีกบทบาทครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนจากแนวดรามามาเล่นบทตลกซึ่งต้องอาศัยร่างกายและท่าทางในลักษณะเดียวกับ เจอร์รี ลูว์อิส หรือ จิม แคร์รี นอกจากนี้ ดิคาปริโอยังได้เปรียบตรงที่เขาเคยเข้าชิงออสการ์หลายครั้ง แต่อกหักมาตลอด (ผู้เข้าชิงคนเดียวในสาขานี้ที่มีออสการ์มานอนกอดแล้ว คือ คริสเตียน เบล ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นไม้ประดับ เพราะการที่เขาสามารถแทรกตัวเข้ามาแทน โรเบิร์ต เรดฟอร์ด กับ ทอม แฮงค์ ได้นั้นก็ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดแล้ว) แต่ตรงข้ามกับสาขานำหญิง ซึ่งกรรมการนิยมเด็กใหม่หน้าเอ๊าะ ผู้ชนะในสาขานำชายมักต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองมานานจนเริ่มแก่หง่อมก่อน แถมกรรมการยังค่อนข้างกีดกันซูเปอร์สตาร์ด้วย  อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ ตัวละครเอกใน The Wolf of Wall Street สร้างความรู้สึกชิงชัง น่ารังเกียจโดยปราศจากพัฒนาการไปสู่ช่วงไถ่บาปแบบตัวละครเอกใน Dallas Buyers Club ซึ่งจุดนี้อาจเป็นตัวชี้ขาดว่าระหว่างดิคาปริโอกับแม็คคอนาเฮย์ใครจะเป็นฝ่ายคว้าชัยไปครอง

น่าสงสารก็แต่ ชิวเอเทล เอจีโอฟอร์ ขวัญใจรางวัลนักวิจารณ์ที่ตอนนี้กลายเป็นเพียงตัวเก็งอันดับสาม หลังจากวิ่งนำมาตลอดในช่วงโค้งแรก อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมเดียวกันนั้นคงไม่เกิดขึ้นกับ เคท แบลนเช็ตต์ ซึ่งฝีเท้าดีมาตั้งแต่ต้นจนจบและน่าจะลงเอยด้วยการพุ่งเข้าเส้นชัยแบบสบายๆ หลังคู่แข่งสำคัญสองคนจากช่วงเทศกาลแจกรางวัลนักวิจารณ์อย่าง อเดล เอ็กซาร์โคพูลอส Blue Is the Warmest Color และ บรี ลาร์สัน จาก Short Term 12 ต่างพลาดการเข้าชิงทั้งคู่ ตอนนี้คนเดียวที่อาจจะสร้างเรื่องให้แบลนเช็ตต์นึกกังวลใจได้ คือ เอมี อดัมส์ ซึ่งออสการ์ชื่นชอบ แต่ยังไม่เคยมอบรางวัลให้เธอสักที น่าเสียดายที่บทของอดัมส์ใน American Hustle ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร แล้วหลายครั้งยังโดนขโมยซีนจากเหล่านักแสดงของแรงอีกหลายคนด้วย เช่นเดียวกับ คริสเตียน เบล การที่เธอสามารถเบียดตัวเก็งอย่าง เอ็มมา ธอมป์สัน ให้ตกขอบไปได้น่าจะถือเป็นความสำเร็จในตัวเองแล้ว

อีกคนนอกจากแบลนเช็ตต์ที่หวนคืนสู่วงการภาพยนตร์อย่างยิ่งใหญ่ คือ แจเร็ด เลโต ซึ่งผันตัวไปเป็นร็อคเกอร์อยู่นาน 5 ปี บทกะเทยแต่งหญิงของเขาใน Dallas Buyers Club กวาดรางวัลมาครองแทบจะทุกสถาบัน และคงยากจะพลิกล็อกบนเวทีออสการ์เช่นเดียวกับแบลนเช็ตต์ เพราะเมื่อดูจากรายนามผู้เข้าชิงแล้ว ยังไม่มีใครแสดงวี่แววว่าจะสามารถขัดขาเลโตให้สะดุดล้มได้เลย บางทีม้ามืดจริงๆ อาจไม่ใช่นักแสดงมากเครดิตอย่าง ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ หรือ แบรดลีย์ คูเปอร์ แต่เป็น บาค็อด อับดี จาก Captain Phillips ซึ่งถึงแม้จะเล่นหนังเป็นเรื่องแรก แต่สามารถประกบนักแสดงสองรางวัลออสการ์อย่าง ทอม แฮงค์ ได้ชนิดไม่เกรงกลัวบารมี

จากทั้งหมด 4 สาขา นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมเป็นสาขาเดียวที่ยังพอจะมีอะไรให้ได้ลุ้น เนื่องจาก เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (American Hustle) กับ ลูพิตา นียังโก (12 Years a Slave) ขับเคี่ยวกันมาอย่างสนุกสนาน คนแรกได้ลูกโลกทองคำไปครอง ส่วนคนหลังได้ SAG และว่ากันตามตรง หาก เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ไม่ได้เพิ่งคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองในปีก่อนจาก Silver Linings Playbook เธอคงวิ่งนำทิ้งห่างนียังโกชนิดไม่เห็นฝุ่นแน่นอน แต่ออสการ์ชื่นชอบนักแสดงหน้าใหม่ในสาขานี้ (aka เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน) หรือคนที่เคยมีผลงานมาบ้างแต่เพิ่งเข้าชิงเป็นครั้งแรก (aka โมนีก) ดังนั้น แต้มต่อจึงยังตกเป็นของนียังโกเล็กน้อย

Snubs and Surprises

·   อย่างที่ทราบกันดีว่าปีนี้สาขานักแสดงนำชายนั้นถือว่าขับเคี่ยวกันเข้มข้น การชวดเข้าชิงของ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด อาจเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้และถูกคาดการณ์ไว้แล้ว เนื่องจากเรดฟอร์ดไม่ยอมเดินสายโปรโมต/โชว์ตัว ขณะที่หนังเรื่อง All Is Lost ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ ดึงดูดใจนักเมื่อต้องนั่งชมผ่านแผ่นสกรีนเนอร์บนจอทีวี แต่กระนั้นการที่ ทอม แฮงค์ ก็ไม่ติด 1 ใน 5 เช่นกันถือเป็นเรื่องชวนช็อกไม่น้อย เพราะทุกคนต่างคาดเดาว่าเขาน่าจะเป็นตัวยืนพื้นไม่ต่างจาก แม็ทธิว แม็คคอนาเฮย์ และ ชิวเอเทล เอจีโอฟอร์ น่าสังเกตว่าสองคนที่มาเสียบตำแหน่งแทนนั้นล้วนเป็นนักแสดงนำจากกลุ่มตัวเก็งในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่าง The Wolf of Wall Street (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) และ American Hustle (คริสเตียน เบล) ขณะที่ Captain Phillips กลับไม่ใช่ตัวเก็งระดับแนวหน้าอย่างที่หลายคนทำนาย (พอล กรีนกราส ซึ่งได้เข้าชิง DGA กลับหลุดโผออสการ์)

·   การลงคะแนนแบบเรียงลำดับความชอบน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Saving Mr. Banks ไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อ 9 เรื่อง เพราะเทคนิคนี้ให้ความสำคัญกับหนังอันดับ 1 และ 2 มากกว่าหนังอันดับ 8 หรือ 9 ฉะนั้น แม้ว่าหนังของคุณจะสร้างปฏิกิริยาสุดโต่ง ชอบก็ชอบไปเลย เกลียดก็เกลียดสุดขั้ว แต่ถ้ามีคนโหวตให้มันติดอันดับ 1 มากพอ ก็มีโอกาสที่หนังจะหลุดเข้ามาชิงในสาขาสูงสุด (The Wolf of Wall Street คือ ตัวอย่างที่ชัดเจนของกรณีนี้) ในทางตรงข้าม หากหนังของคุณถึงแม้จะไม่มีใครเกลียด แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบในระดับกลางๆ เท่านั้น โอกาสที่มันจะติด 1 ในหนังยอดเยี่ยมก็ย่อมเลือนราง ถึงตรงนี้ลองจินตนาการดูว่าจะเหลือใครบ้างที่โหวตหนังอย่าง Saving Mr. Banks ไว้อันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การหลุดโผของ เอ็มมา ธอมป์สัน ในสาขานักแสดงนำหญิงถือเป็นเซอร์ไพรซ์ที่คาดไม่ถึง เพราะส่วนใหญ่เชื่อกันว่าบุคคลซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการโดนเขี่ยทิ้งมากที่สุด คือ เมอรีล สตรีพ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายได้พิสูจน์แล้วว่าเราประเมินความรักที่คณะกรรมการมีต่อนักแสดงหญิงผู้นี้ต่ำเกินไป

·   ดวงของหว่องกาไวยังคงไม่สมพงศ์กับออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม เมื่อ The Grandmaster ไม่มีชื่อติด 5 เรื่องสุดท้าย แม้จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายและกำกับภาพยอดเยี่ยม บางทีนี่อาจไม่ใช่เรื่องน่าเซอร์ไพรซ์เท่าไหร่ เพราะกระทั่งมาสเตอร์พีซของเขาเรื่อง In the Mood for Love ซึ่งฮ่องกงเคยส่งเป็นตัวแทนประเทศเมื่อสิบสามปีก่อน ก็โดนออสการ์เมินไม่ให้เข้าชิงในสาขานี้มาแล้ว นับประสาอะไรกับหนังซึ่งได้คำวิจารณ์ค่อนข้างก้ำกึ่ง แถมยังมีหลากหลายเวอร์ชั่นความยาวจนคนสับสนอย่าง The Grandmaster

·   ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน อาจผิดหวังที่ The Butler ซึ่งเริ่มต้นสร้างกระแสก่อนใคร ถูกชัทดาวน์จากเวทีออสการ์ (ส่วนหนึ่งต้องโทษหนังที่เข้าฉายทีหลังและมีเนื้อหาคล้ายกัน แต่กลับทำได้ลงตัวกว่า เข้มข้นกว่าอย่าง 12 Years a Slave) แต่อย่างน้อย August: Osage County ก็สามารถบรรลุเป้าหมายด้วยการเข้าชิงนำหญิงกับสมทบหญิง ส่วน Philomena กลับได้ดีเกินคาด โดยนอกจากจะได้เข้าชิงในสาขาที่ทุกคนคาดหมายไว้อย่างนำหญิงกับบทดัดแปลงแล้ว มันยังได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและดนตรีประกอบยอดเยี่ยมอีกด้วย

·   ถึงแม้บทบาทการแสดงของ เดเนียล บรูห์ล ใน Rush จะกวาดคำชมอย่างท่วมท้นจากนักวิจารณ์ จนเขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งบนเวทีลูกโลกทองคำและ SAG แต่การที่ Rush ไม่ใช่ตัวเก็งสำคัญในสาขาใหญ่ๆ ชื่อของเขาจึงถูกแทนที่ด้วย แบรดลีย์ คูเปอร์ (American Hustle) และ โจนาห์ ฮิล (The Wolf of Wall Street) บนเวทีออสการ์ การไม่ยอมพิจารณาตัวเลือกนอกกรอบของกรรมการส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของการกระจายการเข้าชิงในสาขาสำคัญ (หนัง-ผู้กำกับ-นำชาย-นำหญิง-สมทบชาย-สมทบหญิง-บทดัดแปลง-บทดั้งเดิม) ของปีนี้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่สุดในรอบ 30 ปี นั่นคือ 44 ตำแหน่งวนเวียนอยู่กับหนังแค่ 12 เรื่อง

·   แม้จะเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ (ล่าสุดได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก National Society of Film Critics) แต่ Inside Llewyn Davis กลับไม่เป็นที่รักของกรรมการออสการ์ และหลุดเข้าชิงแค่สองสาขา คือ กำกับภาพและบันทึกเสียง บางคนเชื่อว่าพล็อตเรื่องเกี่ยวกับคนที่ล้มเหลวในอาชีพการงาน (แม้จะมีพรสวรรค์) ทำอย่างไรก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ หรือโด่งดังเป็นที่รู้จัก อาจ “แทงใจดำ” กรรมการหลายคน

·   ลูกโลกทองคำช่วยชุบชีวิตให้ แซลลี ฮอว์กินส์ ไม่ถูกหลงลืมหลังจากพลาดการเข้าชิงบนเวที SAG เช่นเดียวกับ นาตาลี พอร์ตแมน จาก Closer เมื่อ 9 ปีก่อน ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้เจ้าแม่ทอล์คโชว์ โอปรา วินฟรีย์ โดนเบียดหลุดจากโผ หลังจากในช่วงเริ่มต้นเทศกาลแจกรางวัลหลายคนคาดเดาว่าเธอไม่เพียงจะได้เข้าชิงเท่านั้น แต่ยังอาจจะคว้ารางวัลมาครองด้วยซ้ำ

·   ม้าตีนปลายของออสการ์ปีนี้ ได้แก่ The Wolf of Wall Street ซึ่งเข้าฉายช้ากว่าใคร ส่งผลให้มันหลุดโผรางวัลนักวิจารณ์หลายแห่ง รวมถึงเวที SAG แต่ออสการ์ก็ชดเชยให้อย่างหนำใจ ด้วยการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาใหญ่ๆ อย่าง หนัง ผู้กำกับ นำชาย สมทบชาย และบทภาพยนตร์ดัดแปลง งานนี้ต้องถือว่าประเด็นอื้อฉาว (มีคนโจมตีว่าหนังเชิดชูพฤติกรรมไร้ศีลธรรม หรือขาดสำนึกผิดชอบชั่วดีของตัวละครเอก) ตลอดจนการเดินสายแก้ต่างตามสื่อต่างๆ ของ มาร์ติน สกอร์เซซี และ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ช่วยผลักดันหนังได้มาก แม้ว่าความแรงของเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับเซ็กซ์ ยาเสพติด และการฉ้อฉล จะทำให้หนังสูญเสียคะแนนโหวตจากกลุ่มคนแก่อนุรักษ์นิยม แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยผลักดันให้มันกลายเป็นที่จับตามอง จนกรรมการเลือกจะหยิบแผ่นสกรีนเนอร์ขึ้นมาพิสูจน์ข้อกล่าวหา (ทีมโปรโมตหนังมักให้สัมภาษณ์อยู่เสมอว่าความท้าทายสูงสุดในการปั้นหนังให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ คือ ทำอย่างไรให้คณะกรรมการอยากจะหยิบหนังของคุณขึ้นมาดูท่ามกลางกองสกรีนเนอร์นับร้อยเรื่อง และหนังอย่าง All Is Lost ดูจะได้บทเรียนที่เจ็บแสบที่สุด)

All about the Stats

·   เมอรีล สตรีพ ยังคงเดินหน้าทำลายสถิติของตัวเองต่อไปชนิดที่คงไม่มีนักแสดงหน้าไหนสามารถโค่นบัลลังก์เธอได้ในชาตินี้ หรืออาจรวมไปถึงชาติหน้าด้วยเลยก็ได้ การเข้าชิงจาก August: Osage County ถือเป็นครั้งที่ 18 (นำหญิง 15 ครั้ง สมทบหญิง 3 ครั้ง) ทิ้งห่างอันดับสอง คือ แคเธอรีน เฮบเบิร์น และ แจ๊ค นิโคลสัน ซึ่งเข้าชิงคนละ 12 ครั้ง ชนิดไม่เห็นฝุ่น

·   อย่างไรก็ตาม นั่นถือเรื่องจิ๊บจ๊อยเมื่อเทียบกับ จอห์น วิลเลียมส์ ที่ได้เข้าชิงเป็นครั้งที่ 49 จากการทำดนตรีประกอบให้กับหนังเรื่อง The Book Thief สถิติของเขาถือเป็นการเข้าชิงมากครั้งที่สุดสำหรับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ยังน้อยกว่า วอลต์ ดิสนีย์ ผู้ถือครองสถิติตลอดกาล อยู่ 10 ครั้ง

·   American Hustle เป็นหนังเรื่องที่ 14 ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาการแสดงแบบครบถ้วน และเป็นหนังเรื่องที่สองติดต่อกันของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ที่ทำสำเร็จหลังจาก Silver Linings Playbook เมื่อปีก่อน นอกจากนี้ นักแสดงทั้งสี่คนจาก American Hustle ยังเคยเข้าชิง หรือกระทั่งคว้ารางวัลออสการ์มาครองจากการเล่นหนังให้ เดวิด โอ. รัสเซลล์ อย่างครบถ้วนอีกด้วย (เอมี อดัมส์ กับ คริสเตียน เบล จาก The Fighter และ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ กับ แบรดลีย์ คูเปอร์ จาก Silver Linings Playbook)

·   นี่ถือเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1994 ที่ออสการ์สาขานำหญิงปราศจากนักแสดงที่เพิ่งเคยเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก โดย เอมี อดัมส์ เป็นคนเดียวที่ยังไม่มีออสการ์ในครอบครอง และบทบาทของเธอใน American Hustle ก็ถือเป็นการเข้าชิงสาขานำหญิงครั้งแรก หลังจากผูกขาดสาขาสมทบหญิงมาตลอด 4 ครั้งก่อน (นี่เป็นการเข้าชิงครั้งที่ 5 ของเธอในรอบ 9 ปี... ใครว่าออสการ์รักแต่ เมอรีล สตรีพ)

·   Despicable Me 2 เป็นหนังการ์ตูนภาคต่อเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์หลังจากภาคแรกชวดการเข้าชิง ในทางตรงกันข้าม นี่ถือเป็นปีที่สองที่พิกซาร์ไม่มีผลงานเข้ารอบสุดท้าย โดย Monster University และ Cars 2 ล้วนเป็นหนังภาคต่อ/ภาคก่อนหน้าของการ์ตูนที่เคยเข้าชิงออสการ์ทั้งคู่

·   โรเจอร์ ดีกินส์ ถูกเสนอชื่อเข้าชิงเป็นครั้งที่ 11 จาก Prisoners ทำสถิติเป็นตากล้องที่เข้าชิงสูงสุดแต่ยังไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง

·   American Hustle ถือเป็นการเข้าชิงออสการ์ครั้งที่ 3 ติดต่อกันของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้กำกับขวัญใจออสการ์คนใหม่แทนที่ สตีเฟน ดัลดรี ซึ่งเสียประวัติไปกับ Extremely Loud and Incredibly Close ส่วนขวัญใจออสการ์ตลอดกาลน่าจะเป็น มาร์ติน สกอร์เซซี ที่เข้าชิงในสาขาผู้กำกับแทบทุกครั้งนับแต่ Gangs of New York (หนังเรื่องเดียวที่เขาพลาดเข้าชิง คือ Shutter Island) และตลอด 5 ครั้งที่ได้เข้าชิงจากการกำกับหนัง 6 เรื่องนั้น เขาคว้ารางวัลมาครองหนึ่งครั้งจาก The Departed โดยรวมแล้ว The Wolf of Wall Street ถือเป็นการเข้าชิงครั้งที่ 8 ของเขาในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม

·   วู้ดดี้ อัลเลน ทำลายสถิติตัวเองในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม โดย Blue Jasmine ถือเป็นการเข้าชิงครั้งที่ 16 ของเขา

·   อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นปีของคนแก่ บรูซ เดิร์น (77) จาก Nebraska ทำสถิติเป็นนักแสดงชายที่อายุมากสุดอันดับสองที่เข้าชิงในสาขานำชาย เป็นรองแค่ ริชาร์ด ฟาร์นส์เวิร์ธ (79) จาก The Straight Story ส่วน จูน สวิบบ์ (84) ที่เข้าชิงจากหนังเรื่องเดียวกันก็ทำสถิติเป็นผู้อาวุโสอันดับสามในสาขาสมทบหญิง เป็นรองแค่ กลอเรีย สจ๊วต (87) จาก Titanic และ รูบี้ ดี (85) จาก American Gangster

What the Nominees Are Saying

·   อเล็กซานเดอร์ เพย์น นอนหลับอยู่ตอนมีคนโทรศัพท์มาแจ้งข่าว พวกเขาแสดงความยินดีกับผมที่หนังได้เข้าชิง แต่ไม่ได้เจาะจงลงไปว่าใครเข้าชิงบ้าง ผมเลยต้องไปกูเกิลดูรายชื่อถึงได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นซึ่งก็คือเขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม มันยอดเยี่ยมมาก และน่าจะส่งผลดีกับตัวหนัง ผมมีความสุขเป็นพิเศษที่ได้เห็น บรูซ (เดิร์น) กับ จูน (สควิบบ์) เข้าชิง ผมรู้ว่ามันมีความหมายกับพวกเขามากแค่ไหนนอกจากนี้เขายังปลาบปลื้มที่ตากล้องคู่ใจ ฟีดอน ปาปาไมเคิล ได้เข้าชิงในสาขากำกับภาพยอดเยี่ยม เราร่วมงานกันมานาน แต่เขาไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงเลยจนกระทั่งวันนี้ เขาเป็นคนที่ผมลุ้นให้เข้าชิงมากที่สุด

·   “ฉันตื่นเต้นจนทำอะไรไม่ถูกลูพีตา นียังโก ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงเป็นครั้งแรกจาก 12 Years a Slave กล่าว หนึ่งปีก่อนฉันไม่เคยนึกฝันเลยว่าวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคมจะลงเอยแบบนี้คืนก่อนหน้าเธอพักอยู่ในโรงแรมกับเพื่อนสนิท พลางโต้เถียงกันว่าควรตื่นขึ้นมาดูการประกาศรายชื่อหรือไม่ สุดท้ายฉันก็ตัดสินใจได้ว่าในเมื่อยังไงฉันก็ต้องรู้ผลอยู่ดี ทำไมไม่ตื่นมาดูเองให้เห็นกับตาไปเลย ฉันจำได้ว่ารู้สึกโกรธคนอ่านข่าวพยากรณ์อากาศมาก พยายามเร่งให้เขาอ่านจบเร็วๆ หัวใจฉันเต้นรัวแบบไม่หยุด

·   อีริค ซิงเกอร์ ซึ่งร่วมเขียนบทหนังเรื่อง American Hustle แทบไม่ได้นอนตลอดทั้งคืนเพราะลูกสาวเขาร้องไห้ไม่หยุด ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะตื่นมาไม่ทันดูการถ่ายทอดสด แม้จะตั้งนาฬิกาปลุกไว้แล้วก็ตาม ผมกำลังหลับเป็นตายตอนภรรยามาปลุกเพื่อบอกข่าวดีแต่หลังจากรื่นเริงอยู่ได้แค่ไม่กี่นาที เขาก็ต้องกลับคืนสู่โลกแห่งความเป็นจริง สุนัขผมอึรดพรม จากนั้นลูกๆ ก็ตื่นนอน ผมต้องแต่งตัวพวกเขาให้พร้อมไปโรงเรียอย่างไรก็ตาม เขาได้ทยอยส่งอีเมลแสดงความยินดีให้กับทุกคนในหนังเรื่องนี้ผมอยากขอบคุณเดวิด (โอ. รัสเซลล์) ทีมนักแสดงชั้นยอด และโปรดิวเซอร์ ผมรู้สึกยินดีและภูมิใจมาก

·   “ทันทีที่เห็นชื่อโจนาห์ (ฮิล) เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ฉันรู้สึกได้เลยว่าหนังของเรากำลังไปได้สวยเอ็มมา ทิลลิงเกอร์ คอสคอฟฟ์ โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง The Wolf of Wall Street กล่าว ฉันรู้ดีว่ามาร์ตี้ (สกอร์เซซี) กับ ลีโอ (ดิคาปริโอ) ต้องต่อสู้อย่างหนักแค่ไหนกว่าหนังเรื่องนี้จะสามารถเปิดกล้องได้ แต่ฉันรู้สึกว่าโจนาห์ถูกมองข้ามไป ฉันจึงดีใจมากที่คณะกรรมการเห็นว่างานแสดงของเขาในหนังยอดเยี่ยมแค่ไหนคอสคอฟฟ์บอกว่ามือถือเธอหยุดทำงานไปเลยหลังจากต้องรับข้อความแสดงความยินดีและสายเข้าแบบไม่หยุด ส่วนแผนการฉลองของเธอคือไปแต่งหน้าทำผมเพื่อร่วมงานประกาศผล Critics’ Choice Award

·   “ผมมีความสุขมากบรูโน เดลบอนเนล ตากล้องจาก Inside Llewyn Davis กล่าว แต่ผิดหวังที่ โจเอล กับ อีธาน โคน ไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง เพราะถ้าไม่มีพวกเขา ก็คงไม่มีหนังเรื่องนี้นี่เป็นการเข้าชิงครั้งที่สี่ของเดลบอนเนล แต่เป็นครั้งแรกจากหนังของสองพี่น้องโคน ส่วนตากล้องขาประจำของสองพี่น้องโคน คือ โรเจอร์ส ดีกินส์ ก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงเช่นกันจากหนังเรื่อง Prisoners “การมีชื่อของเขาเข้าชิงด้วยมันวิเศษสุดเดลบอนเนลพูดถึงดีกินส์ ผมชื่นชมผลงานของเขามาตลอด และผลงานของตากล้องคนอื่นๆ ที่ได้เข้าชิงในปีนี้ด้วย การมีชื่อร่วมเข้าชิงกับพวกเขาทำให้ผมรู้สึกภูมิใจมาก

·   “ผมอยู่ในห้องรับแขกกับภรรยาที่เมืองโคเปนเฮเกนโธมัส วินเทอร์เบิร์ก ผู้กำกับหนังเรื่อง The Hunt เล่าถึงนาทีของการประกาศรายชื่อ มันเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความภาคภูมิใจ เราเพิ่งกลับจากงานประกาศผลลูกโลกทองคำได้สองวัน และยังเจ็ทแล็กอยู่ ผมแวะไปที่ Zentropa (Entertainment) เพื่อดื่มแชมเปญฉลอง และตอนนี้เรากำลังนั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน ลูกชายวัย 18 เดือนของเราฉลองการเข้าชิงด้วยการฟาดดีวีดี The Hunt กับสเตอรีโอของผม เขายังไม่ค่อยเข้าใจ แต่บอกได้ว่าพวกเราตื่นเต้นกันมาก การทำลายข้าวของเป็นสัญญาณบ่งบอกความสุขสำหรับคนในวัยเขา

·   สองสามี-ภรรยานักแต่งเพลง คริสเตน แอนเดอร์สัน-โลเปซ และ โรเบิร์ต โลเปซ อยู่กันคนละฟากฝั่งของประเทศตอนได้ข่าวว่าพวกเขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงจากการแต่งเพลง Let It Go ในหนังการ์ตูนเรื่อง Frozen คริสเตนเพิ่งไปส่งลูกที่โรงเรียนและรีบซิ่งกลับบ้านเพื่อมาดูการถ่ายทอด ส่วนโรเบิร์ตกำลังสะลึมสะลืออยู่ในห้องพักของโรงแรม มันเป็นความรู้สึกที่คาดไม่ถึง มันวิเศษสุดและเหลือเชื่อมากๆโรเบิร์ตกล่าว ส่วนคริสเตนพูดถึงแผนการฉลองว่า เราเพิ่งรับแมวมาเลี้ยง ฉะนั้นฉันจะฉลองการเข้าชิงด้วยการพาพวกมันไปหาสัตวแพทย์

·   “ผมคลานลงจากเตียงตอนตีห้าสี่สิบสี่นาทีและนั่งลุ้นหน้าจอกับเพื่อนสนิทบรูซ เดิร์น เล่า ผมตื่นเต้นมาก ดีใจที่หนังของเราถูกเสนอชื่อเข้าชิงหกรางวัล มันสุดยอดจริงๆ ลอรา (เดิร์น) เป็นคนแรกที่โทรมาเธอพักอยู่กับพ่อของเธอที่โรงแรม โฟร์ ซีซัน และให้สัมภาษณ์ว่า ฉันภาวนาอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับศิลปินทุกคน ใครบ้างจะไม่อยากผลิตผลงานชั้นยอดแม้จะมีอายุได้ 77 ปีแล้วพ่อของเธอเห็นด้วยพร้อมกับเสริมว่า มันเจ๋งดีว่ามั้ย ที่จูน (สควิบบ์) จูดี้ เดนช์ และผมต่างก็ได้เข้าชิงในปีเดียวกัน! เราสามคนอุทิศชีวิตให้กับการแสดงมาครึ่งศตวรรษ

·   ตอนแรก แจเร็ด เลโต คิดว่าตัวเองพลาดการเข้าชิงหลังตื่นขึ้นมาและคิดว่ามีการประกาศรายชื่อไปแล้วเพราะเห็นแสงสว่างจากนอกหน้าต่าง แต่ไม่มีใครปลุกเขาหรือโทรมาแสดงความยินดี แต่แล้ว เอ็มมา ลัดบรู้ก ซึ่งโปรดิวซ์หนังสารคดีเรื่อง Artifact ให้ผมก็มาเคาะประตูบ้านเลโตกล่าว มันเป็นความรู้สึกที่วิเศษสุดจริงๆ ทุกอย่างช่างเหมือนฝัน ผมภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในหนังทุนสร้าง 4 ล้านเหรียญเกี่ยวกับกลุ่มคนที่พยายามดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอดหลังทราบข่าวแล้วเขาวางแผนจะทำอะไรบ้างระหว่างวัน? “ผมจะกลับไปนอนต่อแล้วตื่นมาทำแพนเค้กมังสวิรัติ

·   เทอร์เรนซ์ วินเทอร์ มือเขียนบทจาก The Wolf of Wall Street เล่าว่า ผมนั่งดูการประกาศรายชื่อทางโทรทัศน์ในอพาร์ตเมนต์ของเราที่นิวยอร์ก ส่วนภรรยาผม (ราเชล วินเทอร์) นั่งดูอยู่ที่ลอสแองเจลิส พวกเราพูดคุยกันทางโทรศัพท์ เธอได้เข้าชิงจากการโปรดิวซ์หนังเรื่อง Dallas Buyers Club สัญญาณถ่ายทอดดีเลย์เล็กน้อย ผมเลยรู้ผลก่อนเธอประมาณสามวินาที มันน่าตื่นเต้นมากๆ ก่อนหน้านี้เราต่างก็เชียร์อีกฝ่ายให้ได้เข้าชิง แต่พอกันที! จากนี้ไปมันคือสงคราม!วินเทอร์กล่าว พูดกันตามตรง เราสองคนต่างไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้เข้าชิง เราดีใจและมีความสุขมากไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ มันไม่น่าเชื่อที่สองโครงการสร้างหนัง ซึ่งทีมงานต้องทุ่มเทและเสี่ยงดวงขนาดนี้โดยเฉพาะเหล่านักแสดง สามารถหลุดเข้าชิงได้ทั้งคู่ นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกยินดีเป็นพิเศษ และการที่เราต่างได้เข้าชิงพร้อมกันแบบนี้เรียกว่าเป็นโอกาสแค่หนึ่งในล้าน