วันอังคาร, มกราคม 20, 2558

Short Comment: The Imitation Game



คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า The Imitation Game เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงและเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของ อลัน ทัวริง บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ มากกว่าจะเป็นหนังที่มุ่งเน้นสำรวจแง่มุมอันลึกลับซับซ้อนเกี่ยวกับอัจฉริยบุคคลผู้จบชีวิตอย่างน่าเศร้าขณะมีอายุเพียงแค่ 41 ปี ทั้งนี้เนื่องจากคนเขียนบทภาพยนตร์ เกรแฮม มัวร์ เลือกจะเล่าเรื่องในรูปแบบของเกมปริศนาอักษรไขว้ แล้วตัดสลับสามช่วงเวลาในชีวิตของ อลัน ทัวริง เข้าด้วยกัน ได้แก่ ช่วงวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยม ช่วงวัยหนุ่มระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วงหนึ่งปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เพื่อสร้างอารมณ์ฉงนสงสัย ชวนให้ติดตามในสไตล์หนังลึกลับ สืบสวนสอบสวน ข้อมูลค่อยๆ ถูกเปิดเผย แสดงให้เห็นจุดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยแต่ละส่วนล้วนซ้อนทับ หรือส่งผลกระทบต่อกันเหมือนความสัมพันธ์ของตัวอักษรในเกมปริศนา

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่ได้รับน้ำหนักสูงสุด คือ ชีวิตช่วงวัยหนุ่ม เมื่อ อลัน ทัวริง (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์) ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมทีม ซึ่งประกอบไปด้วยนักภาษาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักแข่งหมากรุกระดับแนวหน้าของประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมกันค้นหาวิธีถอดรหัสอีนิกมาที่กองทัพนาซีใช้ในการสื่อสาร

บุคลิกเย่อหยิ่ง ทะนงตน ตลอดจนขาดทักษะการเข้าสังคมอย่างรุนแรงทำให้ทัวริงไม่เป็นที่ชื่นชอบของสมาชิกคนอื่นในทีมเท่าใดนัก ยกเว้น โจน คลาค (คีรา ไนท์ลีย์) สมาชิกหญิงเพียงคนเดียวของกลุ่ม ความสัมพันธ์ระหว่างคลาคกับทัวริงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่เพราะทั้งสองมีระดับสติปัญญาทัดเทียมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะพวกเขาถูกจัดอยู่หมวด ชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน คนหนึ่งมีรสนิยมรักร่วมเพศ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นความผิดตามกฎหมาย  ส่วนอีกคนเป็นหญิงสาวที่พยายามจะพิสูจน์ความสามารถของตัวเองในโลกที่ชายเป็นใหญ่ (ในฉากเปิดตัว คลาคถูกเข้าใจผิดว่ามาสมัครตำแหน่งเลขา แถมยังถูกดูแคลนซ้ำสองด้วยข้อกล่าวหาว่าเธอไม่ได้ไขปริศนาอักษรไขว้ด้วยตัวเอง) ขณะทุกคนรอบข้างโดยเฉพาะพ่อแม่เธอคาดหวังแค่ให้เธอได้ออกเหย้าออกเรือนเหมือนหญิงสาวปกติทั่วไป

ถึงแม้พล็อตหลักของ The Imitation Game จะพูดถึงเรื่องเฉพาะเจาะจงและจำกัดอยู่กับยุคสมัยอย่างการถอดรหัสอีนิกมาของนาซี แล้วค้นหาความหมายที่แท้จริงในข้อความที่มองจากเปลือกนอกเป็นเพียงรายงานสภาพอากาศธรรมดา แต่ในเวลาเดียวกัน ประเด็นสากลอย่างสิทธิสตรี ตลอดจนอคติทางเพศ ซึ่งคนดูร่วมสมัยน่าจะเข้าถึงได้ไม่ยาก ก็ถูกสอดแทรกไว้อย่างกลมกลืน เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์ล้วนดำรงชีวิตประจำวันอยู่ท่ามกลางรหัสลับมาโดยตลอด หลายครั้งเราพูดอย่างหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วอาจหมายความถึงอีกอย่างหนึ่ง ประโยคที่ว่า เราจะไปกินข้าวกลางวันกันจึงเป็นเหมือนคำเชิญชวนอยู่กลายๆ ขณะเดียวกัน ผมไม่ได้แคร์คุณ แท้จริงแล้วก็อาจมีความหมายตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง อลัน ทัวริง ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางรหัสลับมาตลอด ไม่เฉพาะกับแค่หน้าที่การงานเท่านั้น แต่ยังกินความรวมไปถึงชีวิตส่วนตัวอัน แตกต่างของเขาอีกด้วย ดังจะเห็นได้ในฉากที่ครูใหญ่เรียกเขา (อเล็กซ์ ลอว์เธอร์) ไปพบเพื่อแจ้งข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของ คริสโตเฟอร์ มอร์คอม (แจ๊ค แบนนอน) เด็กหนุ่มที่เขาหลงรัก แต่สุดท้ายทัวริงกลับยืนกรานว่าเขาไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับคริสโตเฟอร์เท่าไหร่

คนธรรมดาคงไม่มีวันทำได้หรอกคลาคกล่าวถึงความสำเร็จของทัวริง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเพราะเขากล้าจะคิดนอกกรอบ และไม่เกรงกลัวที่จะเดินหน้าไปตามเส้นทางนั้น (นอกเหนือไปจากหัวสมองอันฉลาดล้ำเลิศของเขา) น่าเศร้าตรงที่ความสำเร็จดังกล่าวกลับถูกรัฐบาลปกปิดเป็นความลับอยู่นานหลายทศวรรษ ในขณะที่ความแตกต่างในรสนิยมทางเพศถูกนำมาใช้ตัดสินเขาอย่างอยุติธรรม

หลังจากเวลาผ่านไป 60 ปีสาเหตุการตายของ อลัน ทัวริง ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ สมมุติฐานแรกเชื่อว่าเขาฆ่าตัวตายจากการกินไซยาไนด์เพราะเหลืออดกับขั้นตอนการรักษาอาการรักร่วมเพศด้วยการฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเข้าร่างกายตามคำสั่งศาลตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา (เขาเลือกวิธีนี้แทนโทษจำคุกเพื่อรักษาหน้าที่การงานในมหาวิทยาลัยและการเข้าถึงต้นแบบคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก หรือที่รู้จักกันในนาม เครื่องจักรทัวริงหรือ คริสโตเฟอร์ในหนัง) นอกจากนี้ตำรวจยังพบแอปเปิ้ลที่ถูกกินไปครึ่งลูกตกอยู่ข้างเตียง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะทัวริงต้องการจำลองฉากใน Snow White and the Seven Dwarfs หนังการ์ตูนเรื่องโปรดของเขา แต่จากการตรวจสอบกลับไม่พบสารไซยาไนด์ในแอปเปิ้ลลูกนั้น ส่วนอีกสมมุติฐานโต้แย้งว่าทัวริงน่าจะเสียชีวิตจากการสูดดมไซยาไนด์โดยบังเอิญมากกว่า เนื่องจากเขาไม่ได้แสดงท่าทีซึมเศร้า หรือหดหู่ใดๆ อีกทั้งยังรับมือกับขั้นตอนการฉีดฮอร์โมนอย่างมีอารมณ์ขัน เขาจดตารางงานที่ต้องสะสางหลังหมดวันหยุดยาวเอาไว้ ซึ่งนั่นไม่น่าจะใช่พฤติกรรมของคนที่กำลังวางแผนฆ่าตัวตาย และที่สำคัญทัวริงมีนิสัยชอบกินแอปเปิ้ลก่อนเข้านอนเป็นประจำอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพบแอปเปิ้ลถูกกัดไปครึ่งลูกตกอยู่ข้างเตียง

อลัน ทัวริง อาจเปรียบเสมือนซูเปอร์ฮีโร่ผู้ถอดรหัสลับอีนิกมาได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนสาเหตุการตายของเขาจะยังคงเป็นปริศนาที่ปราศจากคำตอบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: