วันอาทิตย์, มีนาคม 01, 2558

Birdman: แง่งามในความเขลา


หนึ่งในตำนานกรีกอันเลื่องชื่อ คือ เรื่องราวของอิคารัสที่พยายามจะหลบหนีออกจากเกาะครีตด้วยปีกซึ่งพ่อของเขาสร้างขึ้นจากขนนกและขี้ผึ้ง แต่อารมณ์ยินดีปรีดาผสานกับความหยิ่งผยองส่งผลให้อิคารัสลืมตัว เขาละเลยคำเตือนของพ่อด้วยการบินสูงขึ้นเรื่อยๆ จนอพอลโล สุริยเทพผู้เฝ้ามองเหตุการณ์อยู่ เกิดพิโรธด้วยเห็นว่ามนุษย์กำลังท้าทายเทพเจ้า จึงเร่งแสงอาทิตย์ให้ร้อนขึ้น สุดท้ายเมื่อขี้ผึ้งบนปีกเริ่มละลาย อิคารัสจึงร่วงหล่นลงมาจมน้ำตายในที่สุด ตำนานดังกล่าวถูกนำมาใช้อ้างอิงถึงทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเป็นรูปธรรมตรงไปตรงมาในผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู เรื่อง Birdman ซึ่งเปิดตัวด้วยภาพอุกกาบาตกำลังพุ่งตกจากฟากฟ้า หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สภาพของอิคารัสหลังบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป จากนั้นหนังก็ตัดฉับไปยังภาพ ริกแกน ธอมสัน (ไมเคิล คีตันกำลังนั่งลอยตัวอยู่กลางอากาศในห้องแต่งตัวของโรงละคร ซึ่งเขาวางแผนจะใช้เป็นฉากหลังของการ “คัมแบ็ค” สู่วงการบันเทิง

ริกแกนเคยโด่งดังจากการรับบท “มนุษย์นก” ในหนังแอ็กชั่นบล็อกบัสเตอร์เมื่อหลายปีก่อน ก่อนจะตัดสินใจโบกมือลาแฟรนไชส์เมื่อตระหนักว่าชื่อเสียง รวมถึงเงินทองไม่อาจเติมเต็มจิตวิญญาณแห่งนักแสดงได้ กระนั้นอีโก้ของมนุษย์นก หรือภาพลักษณ์แทนยุคทองอันรุ่งโรจน์ ยังคงตามหลอกหลอนเขาผ่านเสียงสะท้อนในหัว (และบางครั้งก็ปรากฏกายให้เห็นแบบเต็มยศ) คอยย้ำเตือนถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต พร้อมเหยียบย่ำ ดูแคลนความพยายามในปัจจุบันด้วยการพลิกบทบาทมากำกับ/นำแสดงละครเวที ที่สร้างจากงานเขียนสุดซีเรียสของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากยึดอาชีพนักแสดง ริกแกนอ้างว่าเขาสร้างละครเรื่องนี้เพื่อหล่อเลี้ยงความเป็นศิลปินในตัว แต่กลับถูกลูกสาว (เอ็มมา สโตน) ตอกกลับว่าเขาเพียงแค่กำลังดิ้นรนอย่างสิ้นหวังเพื่อไม่ให้ถูกลืม เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองยังมี “ความหมาย” อยู่ต่างหาก เพราะสำหรับใครก็ตามที่เคยเป็น “somebody” ย่อมไม่มีอะไรเจ็บปวด และยากจะทำใจยอมรับมากไปกว่าการค่อยๆ กลายสภาพเป็น “nobody”

ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่อง ริกแกนได้คุยเปิดอกกับอดีตภรรยา (เอมี ไรอัน) ถึงประสบการณ์เฉียดตายบนเครื่องบิน โดยความกังวลหลักๆ ของเขาไม่ใช่จุดจบชวนสยดสยองของการพุ่งดิ่งพสุธา หากแต่เป็นบรรดาข่าวพาดหัวในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะพุ่งความสนใจไปยัง จอร์จ คลูนีย์ ที่โดยสารมาบนเครื่องบินลำเดียวกัน (แก๊กนี้น่าจะหยิบยืมมาจากเรื่องเล่าติดตลกของ เทรซี อัลแมน ในงานมอบรางวัล AFI Life Achievement Award แด่ เมอรีล สตรีพ เมื่อปี 2004) หรือพูดอีกอย่าง คือ เขาไม่ปรารถนาจะลงเอยด้วยการเป็นเชิงอรรถเล็กๆ แบบเดียวกับ ฟาร์ราห์ ฟอว์เซ็ท เนื่องจากเธอดันมาเสียชีวิตในวันเดียวกับ ไมเคิล แจ๊คสัน เขาต้องการจะเป็นที่รัก เป็นขวัญใจ เป็นที่ชื่นชอบ ยอมรับของทุกคน ดุจข้อความจาก Late Fragment บทกวีดังของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ ซึ่งถูกหยิบมาใส่ไว้ในหนัง (รวมทั้งถูกจารึกลงบนศิลาหน้าหลุมฝังศพของคาร์เวอร์) มันเป็นอาการป่วยที่ยิ่งลุกลาม แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุคแห่งโซเชียลมีเดีย และการต่อสู้ ไล่ล่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นอย่างมืดบอดบ่อยครั้งก็ทำให้ริกแกนผลักไสคนรอบข้างออกห่าง ไม่ว่าจะเป็นลูกสาว อดีตภรรยา หรือหญิงคนรักที่ต้องโกหกว่าตั้งท้องเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเขา แค่ฉันไม่ชอบหนังตลกไร้สาระที่คุณเล่นประกบ โกลดี้ ฮอว์น ไม่ได้หมายความว่าฉันหมดรักคุณแล้ว อดีตภรรยาเขากล่าว คุณสับสนความรักกับความชื่นชม

นอกจากจะเป็นหนังล้อเลียนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในขนบเดียวกับ The Player ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน แล้ว (การครอบครองตลาดของหนังซูเปอร์ฮีโรและความขัดแย้งระหว่างพาณิชย์กับศิลปะ) Birdman ยังพูดเกี่ยวกับการดิ้นรนของศิลปินในอันที่จะผลิตผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ในสไตล์เดียวกับ 8 ½ ของ เฟเดอริโก้ เฟลลีนี อีกด้วย รวมถึงสะท้อนให้เห็นเส้นบางๆ ที่เหล่าศิลปินต้องเดินไต่ระหว่างความจริงกับจินตนาการ อัตวิสัยกับภววิสัย และเหตุผลกับความวิปลาส ละครเรื่อง What We Talk About When We Talk About Love คือ ความพยายามของริกแกนที่จะกลับมา สำคัญอีกครั้ง โดยคราวนี้เขาเลือกจะสร้างตัวตนขึ้นใหม่ ก้าวออกจากโลก (“แห่งการ์ตูนและการวัดคุณค่าผ่านตัวเลขรายได้บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ”) ที่เขาคุ้นเคย แล้วบินให้สูงขึ้น (สู่โลกแห่ง ศิลปะที่แท้จริง”) แม้ว่ามันจะหมายถึงการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไปก็ตาม

การเลือนเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับจินตนาการยังกินความถึงการเลือก ไมเคิล คีตัน มารับบทริกแกน เพราะในชีวิตจริงคีตันก็เคยโด่งดังจากหนังเรื่อง Batman และ Batman Returns ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ก่อนจะค่อยๆ เฟดตัวออกจากวงการ เขาถือเป็นซูเปอร์ฮีโรรุ่นบุกเบิก ก่อนการมาถึงของ คริสเตียน เบล และ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ นอกจากนี้ สำหรับผู้กำกับที่เชี่ยวชาญการทำหนังดรามาหดหู่ เคร่งเครียด ซึ่งตัวละครมักจะต้องเผชิญหน้ากับความตาย การสูญเสีย และวิกฤติศีลธรรมอย่าง Babel และ 21 Grams หนังอย่าง Birdman ซึ่งเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันเสียดสี เยาะหยัน จึงถือเป็นการสับรางแบบกะทันหันไม่ต่างจากการที่ริกแกนหันมากำกับละครเวทีจากบทประพันธ์ของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์

ในเวลาเดียวกัน สุนทรียะด้านภาพของหนังเองก็สอดคล้อง กลมกลืนไปกับธีมดังกล่าวด้วยการผสานความสมจริงและเหนือจริงเข้าด้วยกันผ่านการถ่ายทำแบบ long take (หนังซ่อนตะเข็บอย่างแนบเนียนจนทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีการตัดภาพเลยตลอดเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงพูดอีกนัยหนึ่ง การไม่ตัดภาพหมายถึงการยอมรับในเวลาจริง และอินญาร์ริตูเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเลือก long take เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงเราทุกคนล้วนต้องดำเนินชีวิตโดยปราศจากการตัดต่อ (เพื่อย่นย่อเวลาและพื้นที่) แต่น่าสนใจตรงที่เรื่องราวใน Birdman หาได้คลี่คลายภายในเวลา 2 ชั่วโมง ตรงกันข้าม เหตุการณ์ทั้งหมดตามท้องเรื่องกินระยะเวลาหลายวัน ดังนั้น long take จึงสามารถสร้างอารมณ์เหนือจริงราวกับกำลังล่องลอยอยู่ในความฝันไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น ในฉากหนึ่งกล้องตามติดตัวละครอย่างต่อเนื่องจากด้านหลังเวที ก่อนเธอจะเดินหายไปจากกรอบภาพ แต่กล้องยังคงเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องไปข้างหน้า จากนั้นตัวละครอีกคนก็ก้าวเข้ามาแทนที่ และเมื่อกล้องเริ่มตามติดเขาไปจนกระทั่งถึงด้านหน้าเวทีโดยไม่มีการตัดภาพ คนดูก็พลันตระหนักว่าเหตุการณ์ในหนังได้ผันผ่านไปเป็นอีกวันหนึ่งแล้วราวกับตัวละครได้เดินทะลุผ่านอุโมงค์แห่งกาลเวลา

มองในแง่การเล่าเรื่อง Birdman ดูจะแบ่งแยกขอบข่ายระหว่างความจริงกับจินตนาการเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน (ยกเว้นเพียงฉากจบที่กรุ่นกลิ่นอายสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ magical realism) โดยนำเสนอ อัตวิสัยก่อนด้วยการให้คนดูเห็นริกแกนใช้พลังจิตพังข้าวของในห้องเมื่อเขาอยู่คนเดียวตามลำพัง จากนั้นค่อยโต้กลับด้วย ภววิสัยในเวลาต่อมาเมื่อตัวละครอีกคนเปิดประตูมาเห็นเขาพังข้าวของด้วยมือทั้งสองข้าง หาใช่พลังวิเศษใดๆ เช่นเดียวกับฉากริกแกนบินจากดาดฟ้ามายังประตูหน้าของโรงละคร ซึ่งความมหัศจรรย์ถูกตบท้ายด้วยการให้คนขับแท็กซี่วิ่งตามมาทวงค่าโดยสาร

เช่นเดียวกัน ตลอดทั้งเรื่องคนดูจะเห็นริกแกนหมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเอง กับการคัมแบ็ค กับละครที่จะทำให้เขากลายเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง ก่อนสุดท้ายกลับถูกโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายตบหน้าครั้งแล้วครั้งเล่าจากหายนะไม่สิ้นสุดระหว่างรอบพรีวิวทั้งสามครั้ง จากนักวิจารณ์ละครหัวสูงของ นิวยอร์ก ไทมส์ (ลินเซย์ ดันแคน) ที่ยืนกรานจะบดขยี้ละครของเขา และจาก ไมค์ ไชเนอร์ (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) นักแสดงฝีมือฉกาจซึ่งไม่ให้ราคา คนดังอย่างริกแกน อีกทั้งยังคิดว่าข้อความของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ ที่ริกแกนใช้เป็นแรงบันดาลใจนั้นคงถูกเขียนขึ้นตอนนักประพันธ์ขี้เหล้ากำลังเมาไม่ได้สติ หาได้มีความหมายยิ่งใหญ่แต่อย่างใด ริกแกนเฝ้าแสวงหาการยอมรับ ตลอดจนเสียงชื่นชมของคนรอบข้าง เขาสำคัญตนว่าเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเขาก็ไม่ต่างจากกระดาษชำระหนึ่งแผ่นในม้วนกระดาษที่ยืดยาว ความหวาดกลัวของริกแกนว่าละครเรื่องนี้จะทำให้เขาสูญสิ้นทุกอย่างและเผชิญความอับอายขายหน้าถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมในฉากที่เขาล็อกตัวเองอยู่นอกโรงละคร และต้องเดินอ้อมไทม์สแควร์ที่ผู้คนเดินกันขวักไขว่ในสภาพกึ่งเปลือยกายเพื่อไปให้ทันร่วมแสดงฉากสุดท้าย

ฉันไม่มีตัวตน ฉันไม่ได้อยู่ตรงนี้ด้วยซ้ำคำพูดสุดท้ายของตัวละครเอกใน What We Talk About When We Talk About Love ก่อนจะระเบิดสมองตัวเองช่วยสรุปการตระหนักรู้ของริกแกนถึงความหมายแท้จริงของข้อความบนกระจกในห้องแต่งตัวเขาที่เขียนว่าa thing is a thing, not what is said of that thing” (แปลคร่าวๆ คือ “สิ่งของย่อมมีความหมายในตัวเอง หาใช่ถูกนิยามโดยผู้ใด”) เขาดำดิ่งไปกับตัวละครโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ หรือความเห็นของใครอีกต่อไป แต่สุดท้ายการกระทำอันดูโง่เขลากลับนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาปรารถนาอย่างคาดไม่ถึง ทั้งคำวิจารณ์เลิศหรูใน นิวยอร์ก ไทมส์ ชื่อเสียง ความสำเร็จ รวมถึงโอกาสสานสัมพันธ์ครั้งใหม่กับลูกสาวและอดีตภรรยา เมื่อริกแกนเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความคาดหวัง เขาก็สามารถหลุดพ้นจากเงื้อมเงาแห่งความสำเร็จในอดีต และโบยบินได้อย่างอิสระ

ไม่มีความคิดเห็น: