วันอาทิตย์, มีนาคม 01, 2558

Oscar 2015: Best Supporting Actor


โรเบิร์ต ดูวัล (The Judge)

ในสายตาของนักดูหนังทั่วไป ดาราใหญ่ของ The Judge คือ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ซูเปอร์สตาร์จากหนังชุดสุดฮิตอย่าง Iron Man แต่ในสายตาของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ดาราใหญ่ที่แท้จริงของหนัง คือ โรเบิร์ต ดูวัล นักแสดงอาวุโสจอมขโมยซีนจากหนังคลาสสิกอย่าง The Godfather และ Apocalypse Now ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเมื่อดูวัลเล่าว่าเขาจำซูเปอร์สตาร์หนุ่มใหญ่ไม่ได้ตอนเขาแวะมาทักทายถึงโต๊ะอาหาร “พอเขาเดินกลับไป ภรรยาผมก็พูดขึ้นว่า คุณไม่รู้เหรอว่าคนนั้นใคร นั่น โรเบิร์ต ดาวนีย์!’ ผมรู้สึกผิดมาก หลังจากนั้นผมก็ส่งข้อความไปหาเขาเพื่อบอกว่าผมชอบหนังที่เขาเล่นส่วนดาวนีย์ จูเนียร์เองก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Tender Mercies เช่นกัน ทั้งสองเคยร่วมงานกันมาแล้วครั้งหนึ่งในหนังของ โรเบิร์ต อัลท์แมน เรื่อง Gingerbread Man “เขารับบทเป็นตัวละครที่สติไม่ค่อยสมประกอบ อาศัยอยู่ในป่าในเขา ตอนนั้นผมได้นั่งข้างเขาในห้องแต่งหน้า กำลังเตรียมพร้อมจะเข้าฉาก เขาดูน่ากลัวมาก แต่นั่นเป็นเพราะเขายังสวมบทบาทตัวละครนั้นอยู่

ในหนังเรื่อง The Judge โรเบิร์ต ดูวัล รับบทเป็นผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตายโดยเจตนา และต้องจำใจยอมให้ลูกชาย (ดาวนีย์ จูเนียร์) ซึ่งเป็นทนายความชั้นแนวหน้าในเมืองใหญ่ เป็นคนว่าความให้ ถึงแม้ทั้งสองจะไม่ค่อยถูกโฉลกกันเท่าไหร่จากปมปัญหาในอดีต นอกจากจะเป็นหนังในแนวขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว The Judge ยังสำรวจถึงความสัมพันธ์ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างสองพ่อลูก ที่ความยุ่งยากของสถานการณ์เมื่อหลายปีก่อน ตลอดจนอุปนิสัยอันแตกต่างผลักดันให้พวกเขาเริ่มหมางเมินกัน จากนั้นโศกนาฏกรรมและความยุ่งยากก็ดึงพวกเขาให้กลับมาสานความสัมพันธ์อีกครั้ง เรื่องราวดังกล่าวเป็นส่วนที่ดูวัลสามารถเข้าถึงได้จากประสบการณ์ส่วนตัวในอดีต “พ่อผมเป็นทหาร เราจึงไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่ดูวัลกล่าว แต่ผมจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งเราเคยสนุกกับการไปล่ากระรอกกับนกกระทาด้วยกัน จากนั้นแม่ผมก็เอาพวกมันไปทำอาหารให้เราทาน มันเป็นยามบ่ายที่อบอุ่นดี

หนังถูกวางตัวให้เป็นหนังหวังกล่องเพื่อพิสูจน์พลังการแสดงของ ดาวนีย์ จูเนียร์ ว่าเขาสามารถเล่นหนังดรามาหนักๆ ได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้บท โทนี สตาร์ค แต่แทบทุกคนที่ได้ดูหนังดูเหมือนจะประทับใจงานแสดงของดูวัลกันทั่วหน้า (ซึ่งก็เหมือนชะตากรรมเล่นตลก เพราะเขาเคยตอบปฏิเสธบทนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งเนื่องจากเห็นว่าตัวละครเลวร้ายเกินทน ก่อนจะเปลี่ยนใจหันมาตอบตกลงหลังโดนภรรยากับเอเยนต์เกลี้ยกล่อม) จนสุดท้ายนำไปสู่การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ อย่างไรก็ตาม ดูวัลไม่ได้จริงจังกับรางวัล หรือคำวิจารณ์ว่าใครควรหรือไม่ควรจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงสักเท่าไหร่เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องของลางเนื้อชอบลางยา “ต่อให้คุณทำดีแค่ไหนก็ไม่สามารถถูกใจคนทุกคนได้ อย่างน้อยต้องมีสักคนที่ไม่ชอบผลงานคุณ ตอนเราเปิดฉายหนังเรื่อง The Godfather ผมจำได้ไม่ลืมเลยว่าในงานปาร์ตี้เปิดตัวหนัง ผู้กำกับชื่อดังคนหนึ่งเดินสูบซิก้ามาบอกกับผมว่า ‘คุณ, มาร์ลอน (แบรนโด), จิมมี่ (คาน), และอัล (ปาชิโน) ยอดเยี่ยมมาก แต่ตัวหนังผมว่าไม่เท่าไหร่ทั้งที่ตลอดชั่วชีวิตนี้เขาไม่เคยสร้างหนังได้ดีขนาดนั้นเลย

หนึ่งในฉากที่โดดเด่นสุดของ The Judge และงานแสดงของ โรเบิร์ต ดูวัล เป็นตอนที่โรคร้ายบีบบังคับให้ตัวละครของเขาจำต้องยอมลดลดทิฐิและศักดิ์ศรีลง พร้อมกับยอมรับความช่วยเหลือจากลูกชาย มันเป็นฉากที่ไม่ได้ถูกเน้นย้ำเพื่อเค้นอารมณ์ หรือน้ำตาคนดูมากนัก แต่ความหดหู่และหมดสภาพของตัวละครทำให้มันเป็นฉากที่ทำใจรับชมได้อย่างยากลำบากเช่นกัน ผมต้องทำใจอยู่นาน (หัวเราะ) พร้อมกับถามตัวเองว่า เราอยากจะเล่นเป็นคนแก่ที่กลั้นการขับถ่ายไม่อยู่จนอุจจาระรดตัวเองจริงๆ หรือดูวัลกล่าว นักแสดงบางคนอาจยั้งคิดด้วยเหตุผลในแง่ภาพลักษณ์ แต่ผมเป็นพวกประเภทที่ว่าถ้าบทเรียกร้องให้ต้องทำ ต่อให้มันเป็นฉากที่ชวนสังเวชแค่ไหนก็ต้องทำ และทำให้ดีที่สุดด้วย โชคดีที่เราสามารถถ่ายเสร็จภายในเทคหรือสองเทค

นอกจากจะเป็นนักแสดงมากความสามารถแล้ว โรเบิร์ต ดูวัล ยังเป็นผู้กำกับมีฝีมืออีกด้วย ถึงแม้ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจะเป็นหนังอินดี้เล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ แต่บางเรื่องก็สามารถว่ายทวนน้ำมาสู่สายตาของคนหมู่มากได้ เช่น The Apostle หนังที่เขากำกับตัวเองจนได้เข้าชิงออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเมื่อ 16 ปีก่อน และล่าสุดเขาก็เพิ่งปิดกล้องหนังใหม่เรื่อง Wild Horses เกี่ยวกับครอบครัวคาวบอยเท็กซัสที่นำแสดงโดย จอช ฮาร์ทเน็ท กับ เจมส์ ฟรังโก้


อีธาน ฮอว์ค (Boyhood)

บทบาทการแสดงของ อีธาน ฮอว์ค ก้าวข้ามหลากหลายแนวทางภาพยนตร์ เริ่มจากหนังที่สร้างจากบทละครสุดคลาสสิกของเชคสเปียร์ ไปจนถึงหนังแอ็กชั่น หนังไซไฟ หนังตลกเกี่ยวกับคนที่กำลังค้นหาชีวิต และหนังดรามาอาร์ตเฮาส์ที่คนไม่ค่อยรู้จัก เมื่อถูกพิธีกรรายการทอล์คโชว์ โอฟิรา ไอเซนเบิร์ก ถามว่าแฟนหนังมักพูดอะไรเวลาเจอเขาตามท้องถนน ฮอว์คก็เริ่มอธิบาย บางทีก็ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ของพวกเขาด้วย ผู้หญิงบางคนแค่มองตาผมก็รู้ว่าน่าจะมีโปสเตอร์หนังเรื่อง Reality Bites ติดอยู่บนผนังหอพักตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ส่วนผู้ชายที่ชอบ Training Day ก็จะตะโกนทักว่า โย่! เจค!’ (ชื่อตัวละครของเขาในหนัง) จากนั้นก็จะมีกลุ่มเด็กเนิร์ดที่ชื่นชอบ Gattaca (เสียงผู้ชมในรายการปรบมือดังลั่น) นี่ไง! คนกลุ่มนี้แหละ

อีกหนึ่งบทบาทการแสดงที่คนดูน่าจะจดจำ อีธาน ฮอว์ค ไปได้อีกนานแสนนาน คือ บท เมสัน ซีเนียร์ คุณพ่อที่พยายามยึดเหนี่ยววัยเด็กเอาไว้ให้นานที่สุดในหนังเรื่อง Boyhood ซึ่งเป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 8 ระหว่างเขากับผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ริคกับผมรู้สึกว่าโครงการสร้างหนังเรื่องนี้เปิดโอกาสให้เราได้สำรวจความเป็นพ่อฮอว์คเล่า พ่อของเราสองคนต่างก็ทำงานในธุรกิจขายประกันของรัฐเท็กซัส และค้นพบความสุขจากการแต่งงานครั้งที่สองแรกเริ่มเดิมทีหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อชั่วคราวว่า The Twelve Year Project เล่าถึงเรื่องราวการเติบใหญ่ของเด็กชายคนหนึ่ง (เอลลา โคลเทรน) จากวัยประถมไปสู่วัยมหาวิทยาลัย โดยภายในช่วงเวลานั้น พ่อของเขา (ฮอว์ค) ก็เติบโตไปพร้อมกันด้วย เริ่มต้นจากชายหนุ่มที่ยังไม่พร้อมจะมีครอบครัวจนต้องลงเอยด้วยการหย่าร้างกับแม่ของเมสัน (แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์) ก่อนจะเริ่มละทิ้งความฝันของการเป็นนักดนตรี แล้วหันไปยึดอาชีพที่มั่นคง เป็นหลักแหล่ง แต่งงานใหม่กับหญิงสาวอายุอ่อนกว่า แล้วตัดสินใจขายรถ GTO คันเก่งเพื่อเอาเงินไปซื้อมินิแวน

หนังเรื่องนี้กลายเป็นเหมือน 12 ปีแห่งการทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผมกับริคเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นพ่อคน รวมถึงวัยเด็กที่ผ่านมานักแสดงวัย 43 ปีกล่าว พ่อแม่ผมหย่าร้างกัน และมันเป็นเหตุการณ์ที่ฝังใจผมมาตลอด การรื้อฟื้นความทรงจำเหล่านั้นกลับมาแล้วมองมันใหม่ในแง่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ถือเป็นเรื่องยากลำบากทางจิตใจไม่น้อยปัจจุบันฮอว์คมีลูกทั้งหมด 4 คน สองคนจากการแต่งงานครั้งก่อนกับ อูมา เธอร์แมน (ทั้งสองพบรักกันในกองถ่ายหนังเรื่อง Gattaca) ซึ่งจบลงแบบไม่ค่อยดีนักในปี 2005 จนกลายเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ต่อมาเขาแต่งงานใหม่ในปี 2008 กับไรอัน ที่เคยทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้ฮอว์คกับอูมาอยู่พักหนึ่งก่อนจะเรียนจบมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทั้งสองมีลูกสาวด้วยกันสองคน ในแง่หนึ่ง การถ่ายหนังเรื่อง Boyhood เปรียบเสมือนการเข้าคอร์สบำบัดจิตสำหรับฮอว์ค พ่อแม่เขาตกหลุมรักกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แม่เขาอายุแค่ 18 ปีตอนคลอดอีธาน ต่อมาอีก 5 ปีทั้งสองก็แยกทางกัน ความดีงามอย่างหนึ่งของการหย่าร้าง คือ มันเปิดโอกาสให้คุณได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นฮอว์คกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง ชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ และเด็กๆ ที่พ่อแม่แยกทางกันตระหนักความจริงข้อนั้นก่อนใครๆ ผมรู้จักพ่อกับแม่อย่างลึกซึ้งมากกว่าเพื่อนๆ บางคนที่พ่อกับแม่ยังอยู่ด้วยกันเสียอีก

ความเป็นธรรมชาติเหมือนจริงใน Boyhood ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกเหนือไปจากการถ่ายทำเป็นเวลานานถึง 12 ปี ซึ่งบีบให้ทุกอย่างต้องคงระดับไว้อย่างสม่ำเสมอเพื่อความลื่นไหลทางอารมณ์และเรื่องราว (ลิงค์เลเตอร์เลือกจะถ่ายหนังด้วยฟิล์มแทนที่จะใช้กล้องดิจิตอล ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นรอยต่อทางเทคโนโลยีชัดเจนกว่า) “การจับแพ็ทริเซียกับผมมาเข้าฉากร่วมกับเด็กๆ ที่ไม่เคยเล่นหนังมาก่อน คนดูจะเห็นรอยต่อถ้าคุณ แสดงมากเกินไปฮอว์คกล่าว ก่อนจะพูดเสริมถึงการได้ร่วมงานกับลิงค์เลเตอร์ตลอดช่วงเวลาหลายปีเริ่มต้นจาก Before Sunrise และเชื่อได้ว่าคงไม่จบลงที่ Boyhood เช่นเดียวกับคู่หูนักแสดง-ผู้กำกับอีกมากมายอย่างเช่น มาร์ติน สกอร์เซซี กับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ เวส แอนเดอร์สัน กับ บิล เมอร์เรย์ ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานกับริค ความสนุกของการถ่ายหนังด้วยกัน คือ มันเหมือนไม่ใช่การแสดง เส้นแบ่งระหว่างตัวละครกับนักแสดงถูกลบเลือนให้จางหายไป ผมถ่ายทอดเศษเสี้ยวของเรื่องราวส่วนตัวลงไปใน Boyhood เช่นเดียวกับไตรภาค Before ชิ้นหนึ่งพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับความรักโรแมนติก อีกชิ้นพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว แต่ริคไม่ได้ขอให้คุณทำงานให้เขาหรอก เขาแค่ขอให้เรามีส่วนร่วมผลลัพธ์ที่ได้ คือ บทภาพยนตร์ซึ่งเต็มไปด้วยความสมจริงและการแสดงที่เป็นธรรมชาติ จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Boyhood จึงสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกเพศ วัย ชนชั้น และเชื้อชาติ


เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Birdman)

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะกล่าวว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน สมควรได้บทดีๆ ที่คู่ควรกับพรสวรรค์และท้าทายศักยภาพของเขามากกว่านี้ หลังจากพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับของทุกคนในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ว่าเขาคือหนึ่งในนักแสดงมากความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งผ่านหนังอย่าง Primal Fear และ American History X ซึ่งล้วนทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ รวมไปถึงผลงานน่าจดจำอื่นๆ อย่าง Fight Club และ The 25th Hour แต่แล้วไม่รู้ว่าจะโทษตัวนอร์ตันเอง หรือฮอลลีวู้ด หรือโชคชะตากลั่นแกล้ง ชื่อเสียงของเขากลับค่อยๆ เฟดลงอย่างต่อเนื่องผ่านผลงานอันไม่น่าจดจำ หรืออย่างน้อยก็ไม่คู่ควรกับพรสวรรค์ของเขาอย่างบทวายร้ายใน The Italian Job ซึ่งเขายอมเล่นเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้อง บทมนุษย์ที่กลายร่างเป็นยักษ์ตัวเขียวใน The Incredible Hulk บทตำรวจใน Pride and Glory หรือบทนักมายากลใน The Illusionist บางบทที่กล่าวมาอาจเปิดโอกาสให้เขาฉายแสง และวาดลวดลายอย่างเป็นชิ้นเป็นอันอยู่บ้าง แต่รวมๆ แล้วพวกมันไม่อาจเทียบเคียงกับผลงานในช่วงยุคทองของเขาได้เลย

ในทางตรงกันข้าม เขากลับเริ่มสั่งสมชื่อเสีย(ง)ในฐานะนักแสดงเรื่องมาก ทำงานด้วยยาก และอีโก้จัด จนสุดท้ายก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของคนดูหนัง (ผลงานชิ้นหลังๆ ของเขาอย่าง Down in the Valley, Leaves of Glass และThe Painted Veil ทำเงินรวมกันในอเมริกาไม่เกิน 3 ล้านเหรียญด้วยซ้ำ) แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปหลังจากเขากลายเป็นดาราขาประจำคนใหม่ของ เวส แอนเดอร์สัน จากหนังอย่าง Moonlight Kingdom และ The Grand Budapest Hotel อีกทั้งยังได้รับเลือกโดย อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู ให้มารับบท ไมค์ ไชเนอร์ นักแสดงละครเวทีที่เอาจริงเอาจังกับศาสตร์การแสดงยิ่งกว่าใครทั้งหมดในหนังกวาดรางวัลเรื่อง Birdman ทุกครั้งที่ปรากฏกายเข้ามาในเฟรม คนดูไม่อาจคาดเดาได้ว่าเขาจะระเบิดอารมณ์ใด หรือกระทำการใดๆ อันบ้าระห่ำ บุคลิกหลักของเขา คือ ความไม่แน่ไม่นอน เขาเปรียบเสมือนวงล้อรูเล็ตในบ่อนกาสิโน

ผมไม่เคยสนุกกับการถ่ายหนังมากเท่า Birdman มาก่อนนอร์ตันกล่าว มันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่น่าพอใจสูงสุดในเชิงความคิดสร้างสรรค์ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้กล้าหาญและหาได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน” ใน Birdman ไมเคิล คีตัน รับบทเป็น ริกแกน ธอมสัน อดีตดาราชื่อดังจากการแสดงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ชื่อเบิร์ดแมน เขาพยายามจะเรียกคืนความนับถือของคนในวงการกลับมาด้วยการกำกับและนำแสดงในละครบรอดเวย์เรื่อง What We Talk About When We Talk About Love ดัดแปลงจากหนังสือรวมเรื่องสั้นของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ แต่ไม่นานก่อนเริ่มเปิดการแสดงไชเนอร์ถูกเรียกตัวกะทันหันให้มาสวมบทแทนนักแสดงคนเดิมที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างการซ้อม เขาเป็นนักแสดงแนวเมธอดที่ดูแคลนหนังซูเปอร์ฮีโร่และปราศจากความนับถือในตัวธอมสันอย่างสิ้นเชิง เขาพยายามจะสอนธอมสันให้รู้จักกับการแสดงที่ แท้จริง เพราะเวทีละครเป็นสถานที่ที่จะกะเทาะเปลือกความจริงได้ชัดเจนที่สุด ในความเห็นของไชเนอร์ ธอมสันอาจเป็นดาราก็จริง แต่เขาไม่ใช่นักแสดง

Birdman เป็นหนังที่พูดถึงอีโก้ อายุที่เพิ่มขึ้น และการปะทะกันของแนวทางการแสดงอันแตกต่าง ขณะเดียวกันการที่หนังถ่ายทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นภายในช็อตเดียวโดยปราศจากการตัดต่อ ส่งผลให้นักแสดงต้องเป๊ะในเรื่องตำแหน่งบล็อกกิ้ง จังหวะการเคลื่อนไหว รวมไปถึงบทพูดโต้ตอบอันยืดยาว และพวกเขาต้องเคร่งครัดตามแผนที่วางไว้ระหว่างการซ้อม เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ทุกอย่างจะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่แรก แต่กระนั้นนอร์ตันบอกว่าหนังก็ใช่จะปราศจากการด้นสดเสียทีเดียว

เมื่อเราจับจังหวะได้ มันก็ไม่ต่างกับการเต้นรำ ท่วงท่าการเคลื่อนไหวอาจซับซ้อน ต้องมีจังหวะจะโคนสอดคล้องกับคนจำนวนมาก แต่พอเริ่มจับทางถูก การแต่งเสริมเติมสีเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ นั่นถือเป็นความสนุกของการได้ทำงานร่วมกับนักแสดงอย่าง ไมเคิล คีตัน และ แซ็ค แกลิฟินาคิส ซึ่งพลิกแพลงท่วงท่าไปต่างๆ นานาได้ตามจังหวะที่ถูกกำหนดไว้แล้วชนิดที่คุณไม่อาจคาดเดาได้” นักแสดงวัย 45 ปีกล่าว “หนึ่งในฉากที่สนุกที่สุดสำหรับผม คือ ตอนที่ผมกับ ไมเคิล คีตัน ต้องชกกัน มันท้าทายมากเพราะผมต้องห้ามตัวเองไม่ให้หลุดหัวเราะออกมา ขณะเดียวกันมันเป็นช็อตที่กดดันสุดๆ ฉากหนึ่ง เพราะมันเกิดขึ้นหลังจากกล้องติดตามตัวละครมาอย่างยาวนานโดยไม่มีการตัดภาพ คุณจำเป็นจะต้องปล่อยหมัดให้ถูกจังหวะและได้มุมกล้องที่เหมาะสม ถ้าพลาดแม้เพียงเล็กน้อย นั่นหมายความว่าเราต้องโยนทิ้ง 12 นาทีก่อนหน้าทั้งหมด ซึ่งในนั้นอาจมีนักแสดงอีกหลายคนวาดลวดลายเอาไว้อย่างยอดเยี่ยม ความคิดดังกล่าวกระตุ้นความวิตกกังวลได้ไม่น้อยแต่แน่นอนว่าผลลัพธ์อันสนุกสนานที่ปรากฏบนจอถือเป็นกำไรของนักดูหนังล้วนๆ


มาร์ค รัฟฟาโล (Foxcatcher)

ตอนที่หนังทีวีเรื่อง The Normal Heart เข้าฉายท่ามกลางเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักวิจารณ์ รวมถึงถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมีมากมายหลายสาขา มาร์ค รัฟฟาโล ได้ฝากผลงานแสดงอันน่าประทับใจเอาไว้ในบท เน็ด วีคส์ ชายที่ต้องเฝ้าพยาบาลสามีที่กำลังจะตายด้วยโรคเอดส์และต่อสู้กับความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐหลังโรคร้ายได้คร่าชีวิตชาวเกย์ไปหลายพันคนในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอกอันเต็มไปด้วยความโกรธขึ้ง รัฟฟาโลถ่ายทอดให้เห็นจุดเปราะบาง ตลอดจนหัวใจอันเปี่ยมเมตตาที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวละครได้อย่างโดดเด่น เสน่ห์ภายใต้ข้อบกพร่องดูจะเป็นของหวานสำหรับรัฟฟาโล นับแต่เขาโด่งดังในชั่วข้ามคืนจากการรับบทชายหนุ่มไม่เอาถ่าน แต่จิตใจงามในหนังเรื่อง You Can Count on Me เมื่อ 14 ปีก่อน ผลงานการแสดงใน The Kids Are All Right ซึ่งทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก และ Begin Again ก็สามารถจัดเข้าหมวดเดียวกันได้

ไม่มีใครคิดว่ารัฟฟาโลจะพุ่งทะยานได้สูงไปกว่า The Normal Heart อีกแล้วในปีนี้ จนกระทั่งได้เห็นเขารับบทเป็นนักมวยปล้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก เดวิด ชูลท์ซ ในหนังเรื่อง Foxcatcher มันถือเป็นการแสดงศักยภาพของศิลปินที่กำลังยืนอยู่บนจุดสูงสุดในอาชีพ ไม่ว่าจะมองในแง่ทักษะ หรือการค้นลึกถึงจิตวิญญาณตัวละคร สาเหตุหนึ่งที่อดีตนักมวยปล้ำอย่างรัฟฟาโลตอบตกลงรับเล่นหนังเรื่องนี้เพราะมันสะท้อนให้เห็นธรรมชาติอันแท้จริงของกีฬามวยปล้ำแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนบนจอภาพยนตร์ กระนั้นการต้องรับบทเป็นหนุ่มนักกีฬาวัย 33 ปีถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักแสดงวัย 46 ปี มวยปล้ำเป็นกีฬาสุดโหด มันดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วยากมากรัฟฟาโลกล่าว นอกจากนี้ ตามท้องเรื่องเดวิดอายุ 33 ปี เขากำลังอยู่ในช่วงพีคทางด้านร่างกาย ส่วนสภาพร่างกายของผมกลับกำลังย่างเข้าสู่วัยถดถอย ความเชื่อผิดๆ ของผมว่าตัวเองยังคงสมบูรณ์ แข็งแรงไม่ต่างจากคนหนุ่มทั่วไปถูกทำลาย และหยามเกียรติอย่างหมดท่าตั้งแต่ช่วงสองสามสัปดาห์แรกของการฝึกซ้อม

Foxcatcher ดัดแปลงจากเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยาย เกี่ยวกับความสัมพันธ์สุดประหลาดล้ำระหว่างสองพี่น้องนักมวยปล้ำ มาร์ค (แชนนิง ตาตั้ม) และ เดวิด ชูลท์ซ กับเศรษฐีพันล้าน จอห์น ดูปองต์ ซึ่งล่อหลอกพวกเขาให้เข้ามาอยู่ในรัศมีด้วยการสร้าง ทีม ฟ็อกซ์แคทเชอร์สถานฝึกซ้อมและพัฒนานักกีฬาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โอลิมปิกเกมส์ ขึ้นที่อาณาจักรอันหรูหราและโดดเดี่ยวของเขาในรัฐเพนซิลเวเนีย แรกทีเดียวดูปองต์ติดต่อมาร์คให้มาเป็นโค้ชคุมทีม แต่ต่อมาเมื่อมาร์คเริ่มหลงใหลฟุ้งเฟ้อไปกับชีวิตไฮโซและยาเสพติด เขาจึงเปลี่ยนมาใช้งานเดวิด ไม่นานสิ่งที่เคยดูเหมือนการทดลองสุดพิลึกก็เริ่มบิดเบี้ยวกลายเป็นความหมกมุ่น และลุกลามสู่ความรุนแรงอันคาดไม่ถึง

จมูกปลอมและหน้าตาที่เปลี่ยนไปของ สตีฟ คาร์เรล อาจถูกกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลาย แต่ความจริงแล้ว มาร์ค รัฟฟาโล เองก็ต้องแปลงโฉมจนคนดูแทบจำไม่ได้เช่นกัน เส้นผมหยักศกดกหนาซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาถูกแทนที่ด้วยหน้าผากเถิกกว้างใกล้เคียงกับเดวิดตัวจริง ขณะเดียวกันท่วงท่าการเดินเหินของเขาก็เปลี่ยนไปด้วย คนชอบเรียกเขาว่า ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์รัฟฟาโลกล่าวถึงนักมวยปล้ำที่เขาสวมบทบาท และท่าเดินอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยการแนบศอกสองข้างติดกับลำตัว แล้วแกว่งมือไปมา มันเป็นท่าเดินที่แปลกประหลาด ดูไม่เป็นธรรมชาติ ไม่สง่างาม และไม่น่าเกรงขาม แต่มันช่วยให้ผมเข้าถึงตัวละครได้มากขึ้น ท่าเดินดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่าเดวิดมีความพิเศษแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปรัฟฟาโลยอมรับว่ายิ่งอายุมากขึ้นเขาก็ยิ่งให้ความสนใจกับลักษณะทางกายภาพของตัวละคร เพราะหลายครั้งมันคือกุญแจที่จะไขสู่แก่นแห่งตัวละคร ถ้าคุณจับ เน็ด วีคส์ มายืนคู่กับ เดวิด ชูลท์ซ คุณจะพบมนุษย์สองคนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและเพื่อให้เข้าถึงความสมจริงของการรับบทเป็นนักมวยปล้ำ รัฟฟาโลต้องเข้าค่ายฝึกซ้อมร่างกายร่วมกับตาตั้มเป็นเวลานานถึงเจ็ดเดือน ความยากของกีฬามวยปล้ำและความแม่นยำของเบนเน็ต (มิลเลอร์) ในการขุดถึงรากลึกของตัวละครผลักดันให้ผมกับแชนนิงยิ่งพยายามมากขึ้น เราสองคนสนิทสนมกันไม่ต่างจากพี่กับน้อง

การเตรียมร่างกายดังกล่าวให้ผลลัพธ์อันน่าทึ่งในท้ายที่สุด เมื่อพวกเขาต้องเข้าฉากในช่วงท้ายของการถ่ายทำ แต่ในหนังเป็นฉากเปิดเรื่อง นั่นคือ ฉากที่เดวิดกับมาร์คฝึกซ้อมกันอย่างเงียบๆ ในโรงยิมโดยแทบจะปราศจากบทสนทนา มันกลายเป็นฉากน่าจดจำสูงสุดเพราะมันแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องพูดออกมา แต่สามารถรู้สึกได้จากภาษาท่าทางของตัวละครทั้งสอง ขณะพวกเขาพุ่งเข้าใส่กัน ม้วนตัวกอดรัด หมุนวนไปมา ความขัดแย้ง โกรธขึ้ง การพึ่งพิง และการช่วยเหลือประคับประคองในความสัมพันธ์ของสองพี่น้องค่อยๆ ก็ถูกเปิดเผยออกมาต่อหน้าต่อตาคนดู ในเวอร์ชั่นดั้งเดิม บทจะมีฉากอธิบายความสัมพันธ์ของสองพี่น้องมากถึง 30 หน้า แต่มหัศจรรย์ของงานแสดง ซึ่งต้องอาศัยทักษะทางร่างกายมากพอๆ กับ อินเนอร์ได้ทำให้ 30 หน้าดังกล่าวกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น


เจ.เค. ซิมมอนส์ (Whiplash)

ความโกรธแค้น หรืออัดอั้นตันใจใดๆ ที่เคยมีอยู่ภายในตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ถูก เจ.เค. ซิมมอนส์ กลั่นกรอง รวบรวม และปล่อยให้มันระเบิดออกมาแบบไม่ยั้งผ่านบทวาทยกรจอมซาดิสต์ ที่ชื่นชอบการตะคอก ข่มขู่ และดุด่าเหล่านักดนตรีแจ๊สมือใหม่จนขวัญกระเจิงและบ้างก็ถึงขั้นต่อมน้ำตาแตกในหนังเรื่อง Whiplash ผลงานสร้างแรงบันดาลใจในสไตล์ ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝันแต่เป็นเวอร์ชั่นฝันร้าย

หลังจากรับเล่นแต่บทสมทบเล็กๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจหลงๆ ลืมๆ กันไป เช่น บก.หนังสือพิมพ์จอมโหวกเหวกโวยวายในหนังชุด Spider-Man ของ แซม ไรมี ในที่สุด บท เทอร์เรนซ์ เฟลทเชอร์ ในหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ซิมมอนส์กลายเป็นที่จดจำและหวาดผวาในหมู่นักดูหนังแล้ว ที่สำคัญ มันยังช่วยผลักดันให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกอีกด้วย แต่ถึงแม้จะสวมบทคุณครูจากนรกได้อย่างสมจริงจนชวนให้ขนหัวลุก ในชีวิตจริง ซิมมอนส์กลับมีความใกล้เคียงบทคุณพ่อใจดี เปี่ยมเมตตาแบบที่คนดูเคยคุ้นเคยจากหนังเรื่อง Juno ของ เจสัน ไรท์แมน มากกว่า (ไรท์แมนถือเป็นผู้กำกับคู่บุญของเขาก็ว่าได้ ทั้งสองร่วมงานกันในหนังขนาดยาวทุกเรื่องที่ไรท์แมนกำกับ โดยในYoung Adult เขาโผล่มาช่วยพากย์เสียงเป็นบรรณาธิการของ ชาลิซ เธรอน)

โจนาธาน คิมเบิล ซิมมอนส์ (เขาเปลี่ยนชื่อเป็น เจ.เค. เมื่อผันตัวมาทำงานในวงการหนัง “ก่อนหน้าคุณโรวลิงจะเริ่มเขียนนิยายชุด Harry Potter” เขากล่าว) เติบโตในเมืองดีทรอยท์ พ่อของเขาทำงานเป็นครูสอนดนตรีในมหาวิทยาลัย จึงมีเวลาให้ครอบครัวมากกว่าพ่อคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานรถยนต์ เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นซิมมอนส์ก็ย้ายไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่รัฐโอไฮโอ และเข้าร่วมทีมฟุตบอลก่อนอาการบาดเจ็บที่เข่าจะบีบให้เขาต้องเลิกเล่น ผมผันตัวเองจากนักกีฬาไปเป็นฮิปปี้” นักแสดงวัย 59 ปีเล่าถึงอดีตวัยหนุ่ม “แล้วหมดเวลาไปกับการนั่งฟังเพลงของ จิมมี เฮนดริกซ์ กับ เจนิส จอปลิน ในป่าสนกับเหล่าฮิปปี้คนอื่นๆ

อาชีพการแสดงของซิมมอนส์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ต่างจากชีวิตวัยหนุ่ม เขาเริ่มต้นด้วยการเล่นละครเพลงบรอดเวย์ ก่อนจะย้ายไปลงหลักปักฐานด้วยการเล่นละครทีวี สร้างชื่อเสียงจากการเล่นเป็นนักจิตวิทยาขี้ระแวงในซีรีย์ชุด Law & Order ตามมาด้วยบทนักข่มขืนชวนสะพรึงในซีรีย์เกี่ยวกับคนคุกของ HBO เรื่อง Oz ในทางตรงกันข้าม บทที่เขาได้รับในภาพยนตร์ส่วนใหญ่กลับเป็นบทผู้ชายสบายๆ ไม่จริงจัง อาจกล่าวได้ว่าบทครูเฟลทเชอร์ถือเป็นบทแรกในรอบหลายปีที่เปิดโอกาสให้ซิมมอนส์ได้สำรวจอีกด้านในตัวเขาที่ถูกหลงลืมไป นั่นคือ นักกีฬาฟุตบอล โดยคราวนี้เขาต้องสวมวิญญาณเป็นโค้ชสุดโหดที่คอยตะโกนด่าลูกทีมอยู่ข้างสนามเวลาพวกเขาเล่นไม่ได้ตามมาตรฐานที่เขาตั้งไว้

Whiplash มีโครงเรื่องไม่ต่างจากหนังกีฬาคลาสสิกส่วนใหญ่ การปะทะกันของเด็กหนุ่มที่เปี่ยมพรสวรรค์ (ในหนังรับบทโดย ไมล์ส เทลเลอร์กับมือโปรสุดเคี่ยว โดยคนแรกจะค่อยๆ พัฒนาตัวเองและไต่สถานะอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีราคาที่เขาต้องจ่ายไปกับความทุ่มเทนั้น หนังเปิดตัวได้อย่างสวยหรูในหมู่นักวิจารณ์ และตัวละครที่ได้รับความสนใจอย่างสูง คือ เทอร์เรนซ์ เฟลทเชอร์ ที่ซิมมอนส์สวมวิญญาณได้อย่างสมจริง เขาควบคุมวงดนตรีแจ๊สในลักษณะเดียวกับครูฝึกทหารในหนังอย่าง Full Metal Jacket นักดนตรีคนใดเล่นไม่ได้ดังใจ เขาไม่ลังเลที่จะเขวี้ยงเก้าอี้ใส่ หรือตะโกนด่าด้วยคำหยาบคาย ดูถูกสารพัด เขายืนกรานให้นักดนตรีเล่นเพลงท่อนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมง โดยไม่แคร์ว่าพวกเขาจะเหนื่อยล้า หรือท้อแท้แค่ไหน เขาแคร์เฉพาะพรสวรรค์ของพวกเขาเท่านั้น และจะทำทุกอย่างเพื่อให้พวกเขาตระหนักในพรสวรรค์ดังกล่าว

ตรรกะในการคิดของเฟลทเชอร์ คือ คนเราสมัยนี้อ่อนปวกเปียก เราให้กำลังใจง่ายเกินไปและมองการลงโทษเป็นเรื่องเลวร้าย คำสองคำที่ส่งผลเสียสูงสุด คือ คำว่า “ดีแล้วถึงแม้ตัวซิมมอนส์เองจะไม่เห็นด้วยกับปรัชญาดังกล่าวเสียทีเดียว แต่บางครั้งเขาก็พอจะเข้าใจประเด็นที่เฟลทเชอร์ต้องการสื่อ พร้อมกับยกตัวอย่างพ่อแม่นั่งดูลูกเล่นกระดานลื่นด้วยความกระตือรือร้น หรือภาคภมิใจ ทั้งที่ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของ แรงดึงดูด” ล้วนๆ ไม่ใช่พรสวรรค์วิเศษของเด็กแต่อย่างใด “เด็กรุ่นนี้ได้รับคำชมอย่างสิ้นเปลืองจากพ่อแม่สำหรับความสำเร็จเพียงเล็กน้อย” เขากล่าว “ผมคิดว่ามันไม่เป็นประโยชน์กับเด็กแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น: