วันอังคาร, มกราคม 20, 2558

Foxcatcher: แด่ความรุ่งโรจน์


ผมอยากจะพูดถึงอเมริกาและเหตุผลว่าทำไมผมถึงเล่นกีฬามวยปล้ำมาร์ค ชูลท์ซ (แชนนิง ตาตั้มกล่าวบนเวทีในหอประชุมของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งท่ามกลางเหล่าเด็กนักเรียน ซึ่งสีหน้าสะท้อนส่วนผสมระหว่างอารมณ์เบื่อหน่ายกับความไม่ยี่หระ แม้กระทั่งเมื่อเขาชูเหรียญทองโอลิมปิกขึ้นอวด นี่ไม่ใช่แค่เหรียญทองธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์แทนความมุ่งมั่น บากบั่นบางทีสาเหตุอาจเป็นเพราะมาร์คไม่ใช่นักพูดฝีปากคมคาย มีเสน่ห์ดึงดูดใจ หรือบางทีอาจเป็นเพราะมวยปล้ำหาใช่กีฬายอดฮิตที่ใครๆ ก็สนใจอยากเจริญรอยตาม

ในหนังสูตรสำเร็จทั่วไป การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครองอาจถือเป็นจุดสิ้นสุด เป็นบทสรุปแห่งความสำเร็จและความพากเพียร แต่ในหนังเรื่อง Foxcatcher ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ เบนเน็ต มิลเลอร์ เหรียญดังกล่าวหาได้แตกต่างจากบรรดาถ้วยรางวัลทั้งหลายที่เรียงรายอยู่บนชั้นวางในห้องพักแคบๆ ของมาร์ค มันนำมาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง และความรุ่งโรจน์เพียงชั่วครู่ อเมริกาเคี้ยวบดมาร์คจนละเอียด ก่อนจะบ้วนเขาทิ้งให้ลอยคว้างอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งทุกคนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด โลกที่เขาต้องไปปราศรัยในโรงเรียนประถมเพื่อแลกกับเช็คมูลค่า 20 เหรียญ ฝึกซ้อมในโรงยิมเก่าๆ และกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประทังชีวิต

เงินเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มาร์คตกลงใจรับข้อเสนอของ จอห์น ดู ปองต์ (สตีฟ คาเรลในการเข้าร่วมทีมมวยปล้ำฟ็อกซ์แคตเชอร์ ช่องว่างระหว่างสถานะทางสังคมของบุคคลทั้งสองปรากฏชัดเจนนับตั้งแต่มาร์คเหยียบเท้าเข้ามาในคฤหาสน์หลังมโหฬารของ ดู ปองต์ ในเพนซิลวาเนีย รูปร่างอันแข็งแรง ใหญ่โตของเขาดูเล็กลงถนัดตาในห้องเพดานสูง ประดับตกแต่งอย่างหรูหราด้วยภาพเขียนจำนวนมาก ตู้โชว์ และชั้นหนังสือ ท่าเดินกระย่องกระแย่งและโค้งตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยเหมือนมนุษย์ยุคหินของเขาดูแปลกแยกจากสภาพแวดล้อม หลังจากนั้น คนดูก็จะเห็นการเปรียบเทียบอื่นๆ ตามมาอีก เช่น โรงยิมที่กว้างขวางขึ้น ใหม่เอี่ยม และติดไฟสว่างไสว เช็คมูลค่า 10,000 เหรียญเพื่อเป็นรางวัลสำหรับชัยชนะในการแข่งขันชิงแชมป์โลก และการพูดปราศรัยท่ามกลางแขกเหรื่อในแวดวงไฮโซ

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มาร์คตัดสินใจรับข้อเสนอของจอห์น คือ ความปรารถนาที่จะก้าวออกจากเงื้อมเงาของพี่ชาย เดวิด ชูลท์ซ (มาร์ค รัฟฟาโลซึ่งเป็นนักมวยปล้ำเหรียญทองโอลิมปิกเช่นกัน แต่เก่งกาจกว่าในแง่กลยุทธ์ รวมไปถึงวุฒิภาวะ และทักษะในการปรับตัวเข้ากับสังคม เขาลงหลักปักฐานด้วยการแต่งงานมีลูกมีเมีย มีอาชีพการงานมั่นคง (เป็นโค้ชสอนมวยปล้ำ) ขณะที่มาร์คยังคงครองตัวเป็นโสด และชีวิตก็ดูจะวนเวียนอยู่กับแค่กีฬามวยปล้ำ โดยปราศจากความสนใจอื่นๆ ที่จะมาช่วยเติมเต็มให้เขาเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างราบรื่น มาร์คแทบไม่ต่างอะไรกับเด็กโข่งที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเก่งพอ มีพรสวรรค์พอ แต่ลึกๆ แล้วยังไม่อาจก้าวข้ามภาวะพึ่งพิงและลุกขึ้นมายืนบนลำแข้งของตัวเองได้อย่างแท้จริง ทุกครั้งที่เขาประสบปัญหา เดวิดจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เป็นหลักยึดที่มั่นคง แล้วผลักดันเขาให้ก้าวข้ามอุปสรรคอยู่เสมอ โดยเฉพาะระหว่างการแข่งขันคัดเลือกทีมชาติ เมื่อมาร์คทนรับความปราชัยไม่ได้และตัดสินใจกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนน้ำหนักเกินกำหนด เขาไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ถ้ำที่ถนัดใช้กำลัง ใช้กล้ามเนื้อ และรับมือกับปัญหาด้วยการตบต่อยหน้าตัวเอง หรือกระทั่งเอาหัวโขกกระจก (ในฉากหนึ่ง จอห์น ดู ปองต์ ด่ามาร์คว่าเป็น “ลิงยักษ์เนรคุณ”) แทนการใช้สมองซึ่งเป็นจุดเด่นของเดวิด

เบนเน็ตเริ่มปูพื้นความสัมพันธ์ระหว่างมาร์คกับเดวิดให้คนดูรับรู้ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องผ่านฉากที่สองพี่น้องฝึกซ้อมด้วยกันในโรงยิม ฉากดังกล่าวแม้จะมีบทพูดอยู่เพียงน้อยนิด แต่ภาษาร่างกาย และการเคลื่อนไหวของตัวละครทั้งสอง ซึ่งเริ่มต้นจากการยืดกล้ามเนื้อที่ดูผ่อนคลาย ก่อนจะทวีความเข้มข้น รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนดูตระหนักถึงธรรมชาติ ความคับแค้นภายใน ตลอดจนบุคลิกของตัวละครได้อย่างลุ่มลึก มาร์คต้องการจะพิสูจน์ตัวเองว่าเขาเป็นนักมวยปล้ำที่เก่งกาจไม่แพ้พี่ชาย แต่การใช้กำลังเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้เขาประสบกับชัยชนะ สุดท้ายแล้วเดวิด ซึ่งสุขุม เยือกเย็น และเปี่ยมทักษะกว่า ก็สามารถล้มคว่ำเขาให้ลงไปกองกับพื้น

ความพยายามจะพิสูจน์ตัวเองของมาร์คล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อเขาผละจากอ้อมกอดของพี่ชายไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของ จอห์น ดู ปองต์ ซึ่งแม้จะเติบโตมาบนกองเงินกองทอง ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูง แต่กลับโหยหาการยอมรับไม่แพ้กัน ความรู้สึกต่ำต้อยของเขามีต้นกำเนิดมาจากแม่ (วาเนสซา เรดเกรฟ) ที่มองว่ากีฬามวยปล้ำเป็นกีฬาชั้นต่ำ และเธอก็ไม่ต้องการให้ลูกชายลากตัวเอง รวมถึงชื่อเสียงของต้นตระกูลลงไปเกลือกกลั้ว ส่วนกีฬาที่เธอเห็นชอบ ได้แก่ กีฬาชั้นสูงอย่างการขี่ม้า ซึ่งจอห์นไม่มีอารมณ์ร่วมใดๆ ด้วยเลย หลังจากมาร์คคว้าชัยชนะในการแข่งขันชิงแชมป์โลกมาครอง จอห์นได้จัดแจงปลดถ้วยรางวัลแข่งม้าทั้งหลายลงจากชั้นวาง แล้วนำเหรียญทองของมาร์คไปตั้งโชว์แทน และหลังจากแม่ของเขาเสียชีวิตลง จอห์นก็ตรงไปปล่อยบรรดาม้าพันธุ์ดีทั้งหลายออกจากคอก เนื่องจากพวกมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนความ ไม่เห็นชอบ” ของแม่เขา มาร์ค ชูลท์ซ กับ จอห์น ดู ปองต์ อาจถือกำเนิดในชนชั้นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ต่างก็มีจุดร่วมตรงที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ใต้เงื้อมเงาของผู้อื่น

หนังสือเชิงอัตชีวประวัติของ มาร์ค ชูลท์ซ เรื่อง Foxcatcher: The True Story of My Brother’s Murder, John du Pont’s Madness, and the Quest for Olympic Gold สร้างภาพ จอห์น ดู ปองต์ ว่าไม่ต่างจากอสูรกายน่ารังเกียจและขยะแขยง ส่วนสภาวะทางจิตอันผิดปกติของเขา (โรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง) ก็ถูกเน้นย้ำอย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม หนังของ เบนเน็ต มิลเลอร์ ลดทอนแง่มุมดังกล่าว พร้อมกับเติมความเป็นมนุษย์เพิ่มเข้าไป แน่นอน คนดูยังรู้สึกถึงความไม่ปกติของตัวละครนี้ได้อย่างชัดเจน แต่ในเวลาเดียวก็รู้สึกสมเพช เวทนามากกว่าเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขาพยายามจะสอนมวยปล้ำให้เหล่านักกีฬาในทีม ซึ่งยอมเออออเล่นตามบทเพราะพวกเขาแบมือรับเงินเดือนจากมหาเศรษฐีผู้นี้ หรือตอนที่เขาแข่งมวยปล้ำชนะโดยมีลูกน้องคอยจ่ายสินบนเพื่อให้ล้มมวยอยู่หลังเวที และเมื่อเขานำถ้วยรางวัลดังกล่าวกลับมาอวดแม่ ก็ถูกตอกกลับอย่างเจ็บปวดว่าก็แกให้เงินสนับสนุนโปรแกรมนี้

ในฉากหนึ่งจอห์นสารภาพกับมาร์คว่า ตอนเด็กๆ เพื่อนเพียงคนเดียวของเขา คือ ลูกชายคนขับรถ ซึ่งแม่จ้างมาให้เป็นเพื่อนเขา อาจกล่าวได้ว่าสถานะของมาร์คในตอนนี้ก็ไม่ต่างจากลูกชายคนขับรถที่จอห์นใช้เงินจ้างมาเป็นเพื่อน โดยลืมไปว่าบางสิ่งบางอย่างก็ไม่อาจซื้อหาด้วยเงินได้ อาทิ ความเคารพนับถือ หรือความรักใคร่ชอบพอ ซึ่งนั่นเป็นสองสิ่งที่จอห์นขาดหายและโหยหามาโดยตลอด แต่กลับสามารถพบเห็นได้รอบๆ ตัวเดวิด บางทีความขุ่นเคืองในจิตใจจอห์นอาจก่อตัวขึ้นจากการตระหนักว่าสิ่งที่เขาพยายามขวนขวายดิ้นรนเพื่อให้ได้มานั้น เดวิดกลับมีในครอบครองอย่างล้นเหลือ จนเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่ความรุนแรงในช่วงท้ายเรื่อง... เดวิดเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำความรู้สึกต่ำต้อยของจอห์น ด้วยเหตุนี้เขาจึงจำเป็นต้องถูกกำจัดทิ้ง

ทั้งมาร์คและจอห์นอาจแชร์ความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวจากสังคม แต่ช่องว่างทางชนชั้นและสถานะเจ้านายกับลูกจ้างของพวกเขาก็ไม่ได้จางหายไปไหน สำหรับจอห์น มาร์คเปรียบได้กับของเล่นราคาแพงอย่างรถถัง ซึ่งเขาใช้เงินซื้อหามาครอบครอง พร้อมอ้างสิทธิว่าจะทำยังไงกับมันก็ได้ ส่วนมาร์คเองก็ยอมเล่นไปตามบทบาท (ต่างกับเดวิด ซึ่งไม่ยินดีที่จะเอาอกเอาใจเจ้านายด้วยการกล่าวยกย่องเชิดชูเขาในหนังสารคดี) เพราะมันทำให้เขาได้ลิ้มรสอำนาจและการยอมรับ แม้ว่าทั้งหมดจะเป็นแค่ภาพลวงก็ตาม การได้เข้ามาพักอาศัยและคลุกคลีอยู่ในโลกแห่งอภิสิทธิชนหาได้ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของโลกดังกล่างอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ว่ามาร์คถูกสั่งห้ามไม่ให้แวะไปที่คฤหาสน์โดยไม่ได้รับเชิญ พร้อมถูกกำชับหนักหนาให้รักษา “ระยะห่าง” จากแม่ของจอห์น

ถึงแม้ Foxcatcher จะปะหัวตั้งแต่แรกว่า “สร้างจากเรื่องจริง” แต่เช่นเดียวกับข้ออ้างทำนองเดียวกันในหนังอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เบนเน็ต มิลเลอร์ และทีมเขียนบทไม่ลังเลที่จะ “ตีความหรือ ดัดแปลงข้อเท็จจริงตามต้องการ เพื่อสร้างอารมณ์ร่วม ตลอดจนเน้นย้ำประเด็นที่พวกเขาต้องการสื่อสาร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม มาร์ค ชูลท์ซ ถึงออกมาด่ากราดทีมผู้สร้างโดยเฉพาะมิลเลอร์ว่ากำลังทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศที่เขาสั่งสมมานาน พร้อมทั้งแจกแจงรายละเอียดหลายอย่างที่คลาดเคลื่อนจากความจริง เช่น เขากับพี่ชายไม่เคยอาศัยอยู่ในค่ายฟ็อกซ์แคตเชอร์ในช่วงเวลาเดียวกัน เขาไม่เคยกล่าวสุนทรพจน์ยกย่อง จอห์น ดู ปองต์ แบบในหนัง และที่สำคัญที่สุด เขาไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับ ดู ปองต์ แบบที่หนัง “สื่อนัยยะแต่ที่น่าแปลกใจ คือ อาการโกรธไหลย้อนของชูลท์ซใช้เวลาบ่มเพาะอยู่หลายเดือน ทั้งที่เขาเองก็เดินทางไปร่วมงานเปิดตัวที่เมืองคานส์ และย่อมได้ดูหนังฉบับเต็มร่วมกับคนดูคนอื่นๆ อีกมากมาย ทำไมเขาเพิ่งจะมารู้สึกคั่งแค้นเอาตอนนี้ หลังจากเวลาผ่านไปแล้วหลายเดือน ไฟแค้นในใจชูลท์ซดูจะเริ่มปะทุรุนแรงเมื่อเขาได้อ่านบทวิจารณ์หนังสองสามชิ้น ซึ่งพูดถึงประเด็นโฮโมอีโรติกอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับตีความในทำนองว่าเขาอยู่ในสถานะ “เด็กของ จอห์น ดู ปองต์

การตีความดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เมื่อพิจารณาจากความจงใจของมิลเลอร์ที่จะนำเสนอหลายๆ ฉากในลักษณะกำกวม ชวนให้คิดลึก เด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นฉากจอห์นตามมาร์คไปซ้อมมวยปล้ำตอนกลางดึก (ช็อตแรกกล้องจับไปยังภาพวาดบนผนังโดยมีเสียงหอบหายใจเป็นแบ็คกราวด์ จากนั้นในช็อตสุดท้ายก็เป็นภาพโคลสอัพใบหน้าไร้อารมณ์ของมาร์ค ขณะนอนคว่ำอยู่ใต้ร่างกายเปื้อนเหงื่อไคลของจอห์น) จากนั้นในฉากถัดมา คนดูจะเห็นมาร์คในสภาพนุ่งน้อยห่มน้อยตัดผมให้จอห์นที่นอกชาน นั่นยังไม่รวมถึงการแปลงโฉมของมาร์คด้วยการไฮไลท์ผมเป็นหย่อมๆ (ซึ่งชูลท์ซตัวจริงยืนยันว่าเขาไม่เคยทำแบบนั้น) ส่งผลให้เขาดู เกย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ตามข้อเท็จจริงแล้ว แง่มุมรักร่วมเพศของ จอห์น ดู ปองต์ หาได้เกิดจากการมโนขึ้นเองล้วนๆ ของทีมผู้สร้างหนัง เพราะมหาเศรษฐีผู้นี้เคยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าลวนลามทางเพศนักกีฬา รวมถึงครูฝึกสอนในโปรแกรมมวยปล้ำ ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยวิลลาโนวา และในเวลาเดียวกัน กีฬามวยปล้ำก็อบอวลไปด้วยอารมณ์โฮโมอีโรติกโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว (หนุ่มวัยฉกรรจ์สองคนในชุดผ้ายืดรัดรูปต้องกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันโดยชัยชนะจะตัดสินใจจากว่าฝ่ายใดสามารถกดทับอีกฝ่ายให้นอนติดพื้นได้ก่อนความลุ่มหลงสนใจในกีฬามวยปล้ำของจอห์นอาจไม่ได้เป็นผลมาจากแรงผลักดันรักร่วมเพศ แต่เพราะกีฬามวยปล้ำขับเน้นความเป็นชายและความมีอำนาจ ซึ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดสำหรับบุคคลที่ถูกครอบงำโดยแม่ ตลอดจนประวัติศาสตร์ยาวนานของต้นตระกูล แต่ดูเหมือนยิ่งพยายามวิ่งไล่มันเท่าไหร่ เขากลับยิ่งถอยห่างจากเป้าหมายออกไปเรื่อยๆ


หลายครั้งที่กล้องจับให้เห็นภาพของธงชาติอเมริกัน ตั้งแต่ในรูปวาดบนผนังบ้านมาร์คไปจนถึงในกรอบรูปเหนือโต๊ะทำงานจอห์น ขณะเดียวกัน จอห์นก็ยืนกรานให้มาร์คเรียกเขาว่า พญาอินทรี” (สัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติอเมริกา) และในฉากหนึ่งหนังได้เปิดเพลง This Land Is Your Land ซึ่งแต่งขึ้นในยุคเศรษฐกิจตกต่ำเพื่อตอบโต้เพลง God Bless America และตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมที่นำไปสู่ช่องว่างทางชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน เป็นแบ็คกราวด์ขณะมาร์คกำลังตัดผมให้จอห์น ไม่ต้องสงสัยว่ารายละเอียดเหล่านี้ถูกนำมาใช้สนับสนุนบทวิพากษ์ความฝันแบบอเมริกันของ Foxcatcher พร้อมตีแผ่ให้เห็นว่าความรู้สึกเติมเต็มนั้นไม่ได้เกิดจากวัตถุภายนอก หรือสิ่งมีชีวิตที่จับต้องได้ คุณอาจไล่ล่ามัน จับมันกดคว่ำหน้ากับพื้นได้สำเร็จ แต่คุณไม่มีวันได้ครอบครองมัน เพราะสิ่งที่คุณต้องการไม่ได้อยู่ในนั้นตั้งแต่แรกแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะมีทรัพย์สมบัติมหาศาลแค่ไหน คว้าเหรียญทองมาครองมากมายเพียงใด สุดท้ายพวกมันก็ไม่อาจเติมเต็มช่องว่างภายในได้

Short Comment: The Imitation Game



คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า The Imitation Game เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงและเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของ อลัน ทัวริง บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ มากกว่าจะเป็นหนังที่มุ่งเน้นสำรวจแง่มุมอันลึกลับซับซ้อนเกี่ยวกับอัจฉริยบุคคลผู้จบชีวิตอย่างน่าเศร้าขณะมีอายุเพียงแค่ 41 ปี ทั้งนี้เนื่องจากคนเขียนบทภาพยนตร์ เกรแฮม มัวร์ เลือกจะเล่าเรื่องในรูปแบบของเกมปริศนาอักษรไขว้ แล้วตัดสลับสามช่วงเวลาในชีวิตของ อลัน ทัวริง เข้าด้วยกัน ได้แก่ ช่วงวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยม ช่วงวัยหนุ่มระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วงหนึ่งปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เพื่อสร้างอารมณ์ฉงนสงสัย ชวนให้ติดตามในสไตล์หนังลึกลับ สืบสวนสอบสวน ข้อมูลค่อยๆ ถูกเปิดเผย แสดงให้เห็นจุดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยแต่ละส่วนล้วนซ้อนทับ หรือส่งผลกระทบต่อกันเหมือนความสัมพันธ์ของตัวอักษรในเกมปริศนา

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่ได้รับน้ำหนักสูงสุด คือ ชีวิตช่วงวัยหนุ่ม เมื่อ อลัน ทัวริง (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์) ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมทีม ซึ่งประกอบไปด้วยนักภาษาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักแข่งหมากรุกระดับแนวหน้าของประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมกันค้นหาวิธีถอดรหัสอีนิกมาที่กองทัพนาซีใช้ในการสื่อสาร

บุคลิกเย่อหยิ่ง ทะนงตน ตลอดจนขาดทักษะการเข้าสังคมอย่างรุนแรงทำให้ทัวริงไม่เป็นที่ชื่นชอบของสมาชิกคนอื่นในทีมเท่าใดนัก ยกเว้น โจน คลาค (คีรา ไนท์ลีย์) สมาชิกหญิงเพียงคนเดียวของกลุ่ม ความสัมพันธ์ระหว่างคลาคกับทัวริงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่เพราะทั้งสองมีระดับสติปัญญาทัดเทียมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะพวกเขาถูกจัดอยู่หมวด ชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน คนหนึ่งมีรสนิยมรักร่วมเพศ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นความผิดตามกฎหมาย  ส่วนอีกคนเป็นหญิงสาวที่พยายามจะพิสูจน์ความสามารถของตัวเองในโลกที่ชายเป็นใหญ่ (ในฉากเปิดตัว คลาคถูกเข้าใจผิดว่ามาสมัครตำแหน่งเลขา แถมยังถูกดูแคลนซ้ำสองด้วยข้อกล่าวหาว่าเธอไม่ได้ไขปริศนาอักษรไขว้ด้วยตัวเอง) ขณะทุกคนรอบข้างโดยเฉพาะพ่อแม่เธอคาดหวังแค่ให้เธอได้ออกเหย้าออกเรือนเหมือนหญิงสาวปกติทั่วไป

ถึงแม้พล็อตหลักของ The Imitation Game จะพูดถึงเรื่องเฉพาะเจาะจงและจำกัดอยู่กับยุคสมัยอย่างการถอดรหัสอีนิกมาของนาซี แล้วค้นหาความหมายที่แท้จริงในข้อความที่มองจากเปลือกนอกเป็นเพียงรายงานสภาพอากาศธรรมดา แต่ในเวลาเดียวกัน ประเด็นสากลอย่างสิทธิสตรี ตลอดจนอคติทางเพศ ซึ่งคนดูร่วมสมัยน่าจะเข้าถึงได้ไม่ยาก ก็ถูกสอดแทรกไว้อย่างกลมกลืน เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์ล้วนดำรงชีวิตประจำวันอยู่ท่ามกลางรหัสลับมาโดยตลอด หลายครั้งเราพูดอย่างหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วอาจหมายความถึงอีกอย่างหนึ่ง ประโยคที่ว่า เราจะไปกินข้าวกลางวันกันจึงเป็นเหมือนคำเชิญชวนอยู่กลายๆ ขณะเดียวกัน ผมไม่ได้แคร์คุณ แท้จริงแล้วก็อาจมีความหมายตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง อลัน ทัวริง ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางรหัสลับมาตลอด ไม่เฉพาะกับแค่หน้าที่การงานเท่านั้น แต่ยังกินความรวมไปถึงชีวิตส่วนตัวอัน แตกต่างของเขาอีกด้วย ดังจะเห็นได้ในฉากที่ครูใหญ่เรียกเขา (อเล็กซ์ ลอว์เธอร์) ไปพบเพื่อแจ้งข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของ คริสโตเฟอร์ มอร์คอม (แจ๊ค แบนนอน) เด็กหนุ่มที่เขาหลงรัก แต่สุดท้ายทัวริงกลับยืนกรานว่าเขาไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับคริสโตเฟอร์เท่าไหร่

คนธรรมดาคงไม่มีวันทำได้หรอกคลาคกล่าวถึงความสำเร็จของทัวริง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเพราะเขากล้าจะคิดนอกกรอบ และไม่เกรงกลัวที่จะเดินหน้าไปตามเส้นทางนั้น (นอกเหนือไปจากหัวสมองอันฉลาดล้ำเลิศของเขา) น่าเศร้าตรงที่ความสำเร็จดังกล่าวกลับถูกรัฐบาลปกปิดเป็นความลับอยู่นานหลายทศวรรษ ในขณะที่ความแตกต่างในรสนิยมทางเพศถูกนำมาใช้ตัดสินเขาอย่างอยุติธรรม

หลังจากเวลาผ่านไป 60 ปีสาเหตุการตายของ อลัน ทัวริง ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ สมมุติฐานแรกเชื่อว่าเขาฆ่าตัวตายจากการกินไซยาไนด์เพราะเหลืออดกับขั้นตอนการรักษาอาการรักร่วมเพศด้วยการฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเข้าร่างกายตามคำสั่งศาลตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา (เขาเลือกวิธีนี้แทนโทษจำคุกเพื่อรักษาหน้าที่การงานในมหาวิทยาลัยและการเข้าถึงต้นแบบคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก หรือที่รู้จักกันในนาม เครื่องจักรทัวริงหรือ คริสโตเฟอร์ในหนัง) นอกจากนี้ตำรวจยังพบแอปเปิ้ลที่ถูกกินไปครึ่งลูกตกอยู่ข้างเตียง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะทัวริงต้องการจำลองฉากใน Snow White and the Seven Dwarfs หนังการ์ตูนเรื่องโปรดของเขา แต่จากการตรวจสอบกลับไม่พบสารไซยาไนด์ในแอปเปิ้ลลูกนั้น ส่วนอีกสมมุติฐานโต้แย้งว่าทัวริงน่าจะเสียชีวิตจากการสูดดมไซยาไนด์โดยบังเอิญมากกว่า เนื่องจากเขาไม่ได้แสดงท่าทีซึมเศร้า หรือหดหู่ใดๆ อีกทั้งยังรับมือกับขั้นตอนการฉีดฮอร์โมนอย่างมีอารมณ์ขัน เขาจดตารางงานที่ต้องสะสางหลังหมดวันหยุดยาวเอาไว้ ซึ่งนั่นไม่น่าจะใช่พฤติกรรมของคนที่กำลังวางแผนฆ่าตัวตาย และที่สำคัญทัวริงมีนิสัยชอบกินแอปเปิ้ลก่อนเข้านอนเป็นประจำอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพบแอปเปิ้ลถูกกัดไปครึ่งลูกตกอยู่ข้างเตียง

อลัน ทัวริง อาจเปรียบเสมือนซูเปอร์ฮีโร่ผู้ถอดรหัสลับอีนิกมาได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนสาเหตุการตายของเขาจะยังคงเป็นปริศนาที่ปราศจากคำตอบต่อไป

Oscar 2015: จากขวัญใจนักวิจารณ์สู่ตัวเก็งออสการ์


นับแต่เปิดฉายแบบจำกัดโรงในเดือนกรกฎาคม หนังเรื่อง Boyhood ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ หนึ่งในผู้นำกระแส อเมริกัน อินดี้ ช่วงต้นทศวรรษ 90 ก็ถูกสถาปนาให้เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งบนเวทีออสการ์ แม้ว่าเนื้อหาของหนังจะห่างไกลจากมาตรฐาน หนังออสการ์อยู่มากโข กล่าวคือ มันไม่ได้พูดถึงประเด็นยิ่งใหญ่อย่างการเหยียดชนชั้น หรือเชื้อชาติ ไม่ได้มีงานสร้างอลังการ วิจิตรบรรจง และไม่ได้มอบความบันเทิงสไตล์ ฮอลลีวู้ดสำหรับกลุ่มคนดูในวงกว้าง แต่ข้อได้เปรียบที่ช่วยเพิ่มน้ำหนัก หรือ ความสำคัญให้ Boyhood นำหน้าผลงานชิ้นอื่นของลิงค์เลเตอร์ ซึ่งไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาหลักๆ นอกเหนือไปจากบทภาพยนตร์ แม้ว่ามันจะถูกยกย่องชื่นชมจากนักวิจารณ์มากแค่ไหนก็ตาม ได้แก่ การถ่ายทำหนังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน 12 ปี ส่งผลให้คนดูได้เห็นนักแสดงในเรื่องเติบใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมต่อหน้าต่อตาภายในเวลาสองชั่วโมงกว่า การทดลองดังกล่าวถูกยกย่องให้เป็นหลักไมล์แห่งประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ ต้องอาศัยการทุ่มเท ความเชื่อมั่น ตลอดจนมีโชคเข้าข้างอยู่ไม่น้อย (โครงการคงต้องพับเก็บหากนักแสดงเกิดเสียชีวิตกะทันหัน หรือหมดความสนใจ) และในเวลาเดียวกันก็ช่วยสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เนื่องจาก Boyhood เป็นหนังที่คนส่วนใหญ่ หลงรักจึงทำให้มันถือแต้มต่อเหนือคู่แข่งสำคัญซึ่งมีทั้งคนยกย่องและชิงชังอย่าง Birdman อยู่เล็กน้อย แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วผลงานชิ้นโบว์แดงของ อเลฮานโดร อินญาร์ริตู เรื่องนี้จะลงเอยด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากกว่าก็ตาม โดยกะคร่าวๆ ก็น่าจะเข้าชิงประมาณ 9 สาขาเป็นอย่างน้อย (หนัง ผู้กำกับ นำชาย สมทบชาย สมทบหญิง กำกับภาพ บทดั้งเดิม ลำดับภาพ และออกแบบงานสร้าง) ขณะที่ Boyhood คงลงเอยด้วยการเข้าชิงแค่ 6 สาขา (หนัง ผู้กำกับ สมทบชาย สมทบหญิง บทดั้งเดิม และลำดับภาพ) ไม่น่าแปลกหาก Birdman จะได้เสียงสนับสนุนจากกรรมการกลุ่มนักแสดงอย่างท่วมท้น ทั้งนี้เพราะมันเป็นหนังที่พูดถึงศิลปะการแสดงและชีวิตของนักแสดง แต่ในเวลาเดียวกันการที่หนัง ซึ่งมีดาราหลักๆ ทั้งหมดแค่ 4 คนได้เข้าชิงสาขา นักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมของสถาบัน SAG ก็บ่งบอกอยู่ในทีว่านักแสดงชื่นชอบผลงานกำกับของลิงค์เลเตอร์ไม่แพ้กัน

พิจารณาจากหนังสองเรื่องในกลุ่มผู้นำข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า 2015 คงเป็นอีกปีที่เวทีออสการ์จะคราคร่ำไปด้วยผลงานอินดี้ ซึ่งลงทุนต่ำ เข้าฉายในวงจำกัด และทำเงินพอหอมปากหอมคอ ไม่มีอภิมหาบล็อกบัสเตอร์อย่าง Gravity หรือ Avatar มาเป็นตัวเรียกเรตติ้ง (หนังดังเพียงเรื่องเดียวที่พอจะฝากผีฝากไข้ได้ คือ Gone Girl ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะได้เข้าชิงด้วยซ้ำ เพราะหนังลึกลับแนวสืบสวนสอบสวนหาใช่ของโปรดสำหรับกรรมการออสการ์ ดังจะเห็นได้จากการหลุดโผแบบฉิวเฉียดของ The Girl with the Dragon Tattoo เมื่อสองปีที่แล้ว) ดูเหมือนตัวแทนจากสตูดิโอใหญ่เพียงเรื่องเดียวที่ยังพอจะมีโอกาสแซงหน้าเข้าเส้นชัยในช่วงโค้งสุดท้ายได้สำเร็จ ก็คือ Selma หนังดรามาเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งให้กับคนผิวสีของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ด้วยการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ เริ่มต้นจากเมืองเซลมาไปสิ้นสุดยังเมืองมอนต์โกเมอรี รัฐแอละแบมา (ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีหนังจากสตูดิโอใหญ่เพียงสามเรื่องเท่านั้นที่คว้าชัยชนะสูงสุดบนเวทีออสการ์มาครองได้สำเร็จ นั่นคือ Million Dollar Baby, The Departed และ Argo ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นหนังของค่าย วอร์เนอร์ บราเธอร์ส)

ผลงานของผู้กำกับหญิง เอวา ดูเวอร์เนย์ อาจพลาดการเข้าชิงบนเวที SAG เนื่องจากพาราเมาท์ผลิตสกรีนเนอร์ส่งให้เหล่าสมาชิกไม่ทัน แต่การที่มันสามารถหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญๆ บนเวทีลูกโลกทองคำอย่างครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม สะท้อนให้เห็นเสียงสนับสนุนที่ชัดเจนและหนักแน่น นอกจากนี้ หนังยังเข้าฉายถูกจังหวะอีกด้วยเมื่อกระแสความขัดแย้งจากเหตุการณ์ตำรวจผิวขาวฆ่าชายผิวดำที่ปราศจากอาวุธในกรุงนิวยอร์กยังคุกรุ่นอยู่ อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมา คือ กรรมการพร้อมจะมอบรางวัลสูงสุดให้หนังเกี่ยวกับประเด็นสีผิวเป็นปีที่สองติดต่อกันหรือไม่ หลังจาก 12 Years a Slave เพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง

หากสังเกตจากรางวัลนักวิจารณ์ทั้งหลายจะพบว่ามีหนังสองเรื่องหลักที่เป็นขวัญใจมวลชน (แตกต่างจากปีก่อนที่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตกระหว่าง 12 Years a Slave, Her, Gravity และ American Hustle) ได้แก่ Boyhood และ Birdman โดยฝ่ายแรกถือแต้มต่อเหนืออีกฝ่ายค่อนข้างมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าออสการ์จะเดินตามเส้นทางนี้เสมอไป ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ The Social Network กับ The King’s Speech เมื่อสามปีก่อน เราต้องรอดูในเฟสต่อไปว่าบรรดารางวัลของสมาพันธ์ทั้งหลายจะเดินตามรอยเดียวกับเหล่านักวิจารณ์หรือไม่ โอกาสที่ Selma หรือกระทั่ง The Imitation Game จะแซงหน้าสองตัวเก็ง B1 กับ B2 อาจเริ่มฉายแววในช่วงนี้

หนังยอดเยี่ยม

หลายคนเชื่อว่า 2014 เป็นปีที่การแข่งขันค่อนข้างอ่อนยวบ และมีหนังเข้าขั้นยอดเยี่ยม หรือเข้าทางออสการ์จริงๆ เพียงไม่กี่เรื่อง ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่ารายชื่อเข้าชิงสาขาสูงสุดอาจมีไม่ถึง 9 เรื่องเหมือน 3 ปีที่ผ่านมานับแต่การเปลี่ยนแปลงกฎครั้งใหญ่ โดยผลงาน 3 เรื่องที่ดูเหมือนจะล็อกตำแหน่งไว้แน่นอนแล้ว ได้แก่ Boyhood, Birdman และ Selma ส่วนอีก 2 เรื่องที่น่าจะมีโอกาสเข้าชิงค่อนข้างสูง คือ หนังชีวประวัติ อลัน ทูริง นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษที่ถอดรหัสลับของนาซีได้สำเร็จจนทำให้พันธมิตรมีชัยเหนือเยอรมัน เรื่อง The Imitation Game และ หนังชีวประวัติ สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษที่ได้รับยกย่องให้เป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ แห่งศตวรรษที่ 20 เรื่อง The Theory of Everything แต่พ้นจาก 5 เรื่องนี้ไปแล้วต้องยอมรับว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้

ขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง The Grand Budapest Hotel ซึ่งเข้าฉายไปตั้งแต่ช่วงต้นปีถูกคาดหมายว่าคงโดนหลงลืมไปในที่สุดเมื่อถึงเทศกาลแจกรางวัล อีกทั้งสไตล์หนังของ เวส แอนเดอร์สัน ก็ดูจะไม่ค่อยถูกโฉลกออสการ์สักเท่าไหร่ สังเกตได้จากสถิติในอดีต เมื่อหนังของเขาเคยเข้าชิง 2 ครั้งในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิม (The Royal Tennenbaums กับ Moonlight Kingdom) และอย่างละ 1 ครั้งในสาขาอนิเมชั่นกับดนตรีประกอบ (Fantastic Mr. Fox) ที่สำคัญ ไม่มีเรื่องไหนเคยได้เข้าชิงสาขาออกแบบงานสร้างเลย ทั้งที่มันเป็นจุดเด่นในหนังของ เวส แอนเดอร์สัน แทบทุกเรื่อง The Grand Budapest Hotel ก็ทำท่าจะเดินหน้าไปตามเส้นทางนั้น จนกระทั่งมันประสบความสำเร็จบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ (59 ล้านเหรียญในอเมริกา) ติดโผหนังเยี่ยมของนักวิจารณ์จำนวนมาก และหมัดเด็ดคงอยู่ตรงการหลุดเข้าชิงสาขา นักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมของ SAG (เทียบได้กับสาขาหนังยอดเยี่ยม) ตัดหน้าผลงานปลายปีอย่าง Into the Woods และ Foxcatcher รวมไปถึงติดโผผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำด้วย ส่งผลให้มันมีโอกาสค่อนข้างสูงในการทำสถิติเป็นหนัง เวส แอนเดอร์สัน เรื่องแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ก่อนหน้านี้หนังฟอร์มใหญ่อย่าง Interstellar ได้ถูกจัดวางให้เป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ จนกระทั่งมันเข้าฉายในวงกว้างท่ามกลางเสียงวิจารณ์ค่อนข้างก้ำกึ่งชนิดขาวจัดดำจัด นอกจากนี้รายได้บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศที่อยู่ในขั้นต่ำกว่าเป้าหมายก็ซ้ำเติมความบอบช้ำให้หนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วความหวังของหนังคงไปตกอยู่กับสาขาย่อยๆ เสียมากกว่า อาทิ กำกับภาพ บันทึกเสียง ดนตรีประกอบ และเทคนิคพิเศษด้านภาพ เป็นต้น สมมุติฐานดังกล่าวได้รับการยืนยันชั้นต้นจากการที่หนังหลุดโผ SAG และมีเพียง ฮันส์ ซิมเมอร์ เท่านั้นที่ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ นี่ไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะออสการ์ไม่ค่อยปลื้ม คริสโตเฟอร์ โนแลน มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว หนังเรื่องเดียวของเขาที่เคยเข้าชิงสาขาสูงสุดอย่าง Inception ก็เข้าชิงในปีที่หนังยอดเยี่ยมยังมี 10 เรื่อง แถมเขายังพลาดท่าให้กับสองพี่น้องโคนในสาขาผู้กำกับอีกด้วย (เขาติดโผ DGA แต่ถูกแทนที่ด้วยสองพี่น้องโคนจาก True Grit บนเวทีออสการ์)

หนังตัวเก็งที่โดนยำใหญ่จากเหล่านักวิจารณ์ยิ่งกว่า ได้แก่ Unbroken ของ แองเจลินา โจลี ซึ่งเล่าถึงทุกข์เข็ญและวิบากกรรมสารพัดของ หลุยส์ แซมเปอรินี นักบินอเมริกันที่ถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันของทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การทรมานร่างกายถูกฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเน้นย้ำเพื่อสะท้อนจิตวิญญาณอันแข็งแกร่งของตัวเอกทำให้หนังกลายเป็นความทรมานบันเทิงจนบางคนยกไปเปรียบเทียบกับ The Passion of the Christ ลางร้ายสำคัญของ Unbroken เริ่มฉายแววเมื่อกรรมการลูกโลกทองคำ ซึ่งปกติมักจะแสดงอาการคลั่งดาราอย่างออกนอกหน้า ไม่เสนอชื่อหนังเข้าชิงเลยแม้แต่สาขาเดียว กระนั้นความหวังในการมีชื่อติด 1 ใน 9 ของ Unbroken ก็ยังไม่ถึงกับดับสูญเสียทีเดียว เมื่อปรากฏว่าหนังทำเงินได้น่าพอใจ และน่าจะวิ่งผ่านหลัก 100 ล้านได้ไม่ยาก ความสำเร็จดังกล่าวผนวกกับการติดรายชื่อหนังเยี่ยมประจำปีของทั้ง AFI และ Unbroken ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ชื่นชอบหนัง และการเดินสายโปรโมตอย่างต่อเนื่องของซูเปอร์สตาร์อย่าง แองเจลีนา โจลี น่าจะมีส่วนช่วยเรียกคะแนนเสียงได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม หาก Unbroken สามารถหลุดเข้าชิงสาขาสูงสุดได้จริง มันจะกลายเป็นหนังเรื่องแรกในรอบสามปีนับจาก Extremely Loud and Incredibly Close ที่โกยคำด่าจากนักวิจารณ์มามากพอๆ (หรืออาจจะมากกว่า) คำชม แต่สุดท้ายก็สามารถหลุดเข้าชิงหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ได้สำเร็จ

แรงอัดฉีดจาก NBR อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดัน A Most Violent Year ให้เข้าชิงในสาขาสูงสุด ซึ่งหากรูปการณ์เป็นไปตามนั้น นี่จะถือเป็นหนังเรื่องแรกในรอบ 14 ปีนับจาก Quills ของ ฟิลิป คอฟแมน ที่คว้ารางวัลสูงสุดของ NBR มาครอง แต่กลับหลุดโผหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่สตูดิโอ A 24 เปิดตัวผลงานกำกับชิ้นเยี่ยมของ เจ.ซี. แชนดอร์ เรื่องนี้ล่าช้าเกินไป หนังฟอร์มเล็กที่ปราศจากดาราระดับแม่เหล็กควรเริ่มทยอยเข้าฉายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นอย่างช้า แล้วค่อยๆ สร้างกระแสปากต่อปาก เพราะการส่งหนังเข้าฉายแบบจำกัดโรงในช่วงปลายปีพร้อมหนังฟอร์มใหญ่อีกหลายเรื่อง ซึ่งเปิดฉายแบบปูพรมทั่วอเมริกา ย่อมทำให้หนังจมหายไปท่ามกลางกระแส Unbroken และ Into the Woods และเนื่องจากกรรมการหลายคนไม่มีโอกาสได้ดูหนังตามรอบพิเศษต่างๆ โอกาสที่มันจะได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำย่อมน้อยลงไปด้วย

ตัวเก็ง: Boyhood, Birdman, The Imitation Game, The Theory of Everything, Selma, The Grand Budapest Hotel, Gone Girl, Whiplash, Foxcatcher
ตัวสอดแทรก: Unbroken, Interstellar, Into the Woods, Nightcrawler, American Sniper, A Most Violent Year

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

เช่นเดียวกับสาขาหนังยอดเยี่ยม กลุ่มผู้กำกับที่นอนมา ได้แก่ ลิงค์เลเตอร์, อินญาร์ริตู และดูเวอร์เนย์ เนื่องจากหนังของพวกเขาเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพมากที่สุด บางคนอาจยังไม่แน่ใจว่าดูเวอร์เนย์จะฟันฝ่าบรรดาผู้กำกับชายคนอื่นๆ มาเข้าชิงได้หรือไม่ เพราะเห็นได้ชัดว่ากรรมการสาขานี้ค่อนข้างมีรสนิยมในวงจำกัด (คริสโตเฟอร์ โนแลน เคยเข้าชิง รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมของ DGA มาแล้ว 3 ครั้งจากหนังเรื่อง Memento, The Dark Knight และ Inception แต่เขายังไม่เคยเข้าชิงออสการ์เลย) และหลายครั้งผู้กำกับหญิงก็มักจะถูกกีดกันให้อยู่วงนอก เหมือนกรณี บาร์บรา สไตรแซนด์ กับ Yentl และ The Prince of Tides หรือกรณี แคธรีน บิเกโลว์ กับ Zero Dark Thirty ในปีนี้นอกจาก เอวา ดูเวอร์เนย์ จะมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการทำสถิติเป็นผู้กำกับหญิงผิวดำคนแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์แล้ว หากฟ้าบันดาลให้ แองเจลินา โจลี ถูกเสนอชื่อเข้าชิงพร้อมกันด้วย นี่จะถือเป็นปีทองของผู้กำกับหญิงอย่างแท้จริง แต่โอกาสดังกล่าวคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะซูเปอร์สตาร์สาวต้องเผชิญคู่แข่งสุดหินทั้งในเรื่องฝีมือและประสบการณ์ แถมยังไม่เคยได้เข้าชิงในสาขานี้อีกด้วย คนๆ นั้น ได้แก่ เวส แอนเดอร์สัน ซึ่งน่าจะก้าวเข้ามาเป็นตัวเลือกที่ 4 ได้อย่างไม่ยากเย็น

ส่วนที่ว่างสุดท้ายคงตกเป็นของ มอร์เทน ทิลดัม ผู้กำกับชาวนอร์เวย์ ซึ่งคุมอารมณ์ลุ้นระทึกกับการศึกษาสภาพจิตของตัวละครใน The Imitation Game ได้อย่างกลมกลืน แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่อาจประมาทมือเก๋าอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ และ เบนเน็ต มิลเลอร์ ซึ่งเคยผ่านการเข้าชิงสาขานี้มาแล้ว 2 ครั้ง (The Curious Case of Benjamin Button, The Social Network) และ 1 ครั้ง (Capote) ตามลำดับ รวมถึงเด็กใหม่อย่าง เดเมียน เชเซล ที่อาจกลายเป็น เบน ไซท์ลิน (Beasts of the Southern Wild) แห่งปี 2014 ได้ไม่ยาก เมื่อพิจารณาว่าหนังของเขาเป็นที่รักของคนจำนวนมาก และถึงแม้เล่าเกี่ยวกับการฝึกฝนเพื่อเป็นมือกลองเพลงแจ๊สชั้นเลิศ แต่ก็เต็มไปด้วยอารมณ์ลุ้นระทึกและความสยดสยองไม่แพ้หนังสงครามเลยทีเดียว ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นได้จากฝีมือของผู้กำกับอย่างไม่ต้องสงสัย

ตัวเก็ง: ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ (Boyhood), อเลฮานโดร อินญาร์ริตู (Birdman), เอวา ดูเวอร์เนย์ (Selma), เวส แอนเดอร์สัน (The Grand Budapest Hotel), มอร์เทน ทิลดัม (The Imitation Game)
ตัวสอดแทรก: เดวิด ฟินเชอร์ (Gone Girl), เดเมียน เชเซล (Whiplash), เบนเน็ต มิลเลอร์ (Foxcatcher)

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

ถึงแม้จะถูกล้อมรอบด้วยบทคนจริงในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ อลัน ทูริง ไปจนถึง สตีเฟน ฮอว์คิง และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่ ไมเคิล คีตัน กับการสวมบทสมมุติเป็นอดีตนักแสดงชื่อดังที่พยายามจะหวนคืนสู่วงการด้วยการกำกับละครเวที ก็ยังคงดำรงสถานะตัวเก็งอันดับหนึ่งได้อย่างเหนียวแน่นจากการโกยรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบเกือบจะเป็นเอกฉันท์ นอกจากบทดังกล่าวจะสะท้อนชีวิตจริงของคีตัน ซึ่งเคยโด่งดังจากการรับบทเป็นแบทแมน (ในหนังตัวละครของเขาโด่งดังจากการรับบทเป็น เบิร์ดแมน”) อยู่ไม่น้อยแล้ว มันยังมาได้เหมาะเจาะ ถูกจังหวะ ช่วยสร้างเรื่องราวการ คัมแบ็คได้อย่างงดงามเช่นเดียวกับ จอห์น ทราโวลต้า ใน Pulp Fiction และ มิคกี้ รู้ก ใน The Wrestler แต่สุดท้ายคงต้องลุ้นกันต่อไปว่าคีตันจะไปได้ไกลกว่าสองคนนั้นด้วยการคว้าออสการ์มาครองหรือไม่

คู่แข่งของเขาอาจไม่ได้เขี้ยวลากดินด้วยเครดิตสวยหรูในอดีต หรือประสบการณ์เชี่ยวกราก เพราะทุกคนล้วนเป็นมือใหม่บนเวทีออสการ์ทั้งสิ้น แต่ด้วยส่วนใหญ่ล้วนได้บทที่ เข้าทางออสการ์ จากการเล่นเป็นคนจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งย่อมเปิดโอกาสให้โชว์ทักษะการเลียนแบบท่าทาง เสียงพูด ตลอดจนอากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ หรือในบางกรณี เช่น เอ็ดดี้ เรดเมย์น เขาต้องถ่ายทอดภาวะสูญเสียการควบคุมร่างกายทีละขั้น จนกระทั่งกลายเป็นอัมพาตสมบูรณ์แบบ และสามารถสื่อสารอารมณ์ผ่านทางแววตาเท่านั้น ขณะเดียวกันในบางกรณี เช่น เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ และ เดวิด โอเยโลวโอ พวกเขาได้สวมบทเป็นวีรบุรุษ ที่ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรม หรืออคติของสังคม (ในประเด็นรสนิยมทางเพศสำหรับคนแรกและสีผิวสำหรับคนหลัง) ส่งผลให้คนดูอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เอาใจช่วย รวมไปถึงยกย่องในความกล้าหาญของบุคคลเหล่านั้น ส่วนกรณีของ สตีฟ คาร์เรล นั้นการต้องแปลงโฉมด้วยจมูกปลอม (aka นิโคล คิดแมน จาก The Hours) ช่วยให้เขาสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในการสวมวิญญาณบุคคลจริงไปพร้อมๆ กับทำลายภาพลักษณ์ดั้งเดิมของคนดูจนหมดสิ้น ทำให้พวกเขาเชื่อว่าคนที่อยู่บนจอไม่ใช่ดาราตลกจาก The 40-Year-Old Virgin แต่เป็น จอห์น ดู ปองต์ เศรษฐีชาวอเมริกันที่หลงใหลในกีฬามวยปล้ำ

ความเข้มข้นของสาขานี้อยู่ตรงที่คาร์เรลและโอเยโลวโออาจเผชิญภัยคุกคามอย่างหนักจาก เจค จิลเลนฮาล ซึ่งเริ่มวิ่งไล่มาหายใจรดต้นคอ เพราะไม่เพียงแต่งานแสดงของเขาจะถูกยกย่องว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้ใครแล้ว (แถมยังได้คะแนนพิเศษจากการลดน้ำหนักจนหมดหล่อ aka คริสเตียน เบล ใน The Fighter) หนังเรื่อง Nightcrawler ยังถือเป็นของแข็งจากการทำเงินได้น่าพอใจและติดอันดับหนังเยี่ยมแห่งปีของทั้ง AFI และ NBA หากจิลเลนฮาลเบียดเข้าเส้นชัยในโค้งสุดท้ายได้จริง เขาจะกลายเป็นคนเดียวที่เคยผ่านการเข้าชิงออสการ์มาแล้ว แต่ในสาขาสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Brokeback Mountain เมื่อ 9 ปีก่อน อาจพูดได้ว่าการคาดเดาผู้เข้าชิงออสการ์สาขานี้ขาดดัชนีชี้นำที่เหมาะสม เพราะ SAG ตัดสินใจเลือกจิลเลนฮาลก็จริง แต่นั่นน่าจะมีสาเหตุมาจากกรรมการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดูหนังของโอเยโลวโอ ส่วนลูกโลกทองคำก็ปัดภาระด้วยการดัน ไมเคิล คีตัน ไปสาขาหนังเพลง/ตลก ดังนั้นการลุ้นว่าสุดท้ายแล้วใครจะถูกเขี่ยออกในสาขานี้จึงถือเป็นความสนุกมากพอๆ กับการคาดเดาว่าสาขาหนังยอดเยี่ยมจะมีทั้งหมดกี่เรื่อง
               
นักแสดงนำชายถือเป็นสาขาที่แน่นขนัดไปด้วยผลงานคุณภาพ เพราะนอกจากกลุ่มตัวเก็ง 6 คนข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่จำต้องถูกคัดออกเพียงเพราะตัวหนังอยู่ในโทนขบขัน ซึ่งออสการ์มักจะประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง อาทิ เรล์ฟ ไฟนส์ จาก The Grand Budapest Hotel หรือตัวหนังไม่ได้ป็อปปูล่ามากเท่าเรื่องอื่นๆ อาทิ ทิโมธี สปอล เจ้าของรางวัลนำชายที่เมืองคานส์จาก Mr. Turner ออสการ์ ไอแซ็ค จาก A Most Violent Year และ ทอม ฮาร์ดี้ จาก Locke ซึ่งได้เปรียบคู่แข่งอยู่หน่อยตรงที่เขาต้องเล่นอยู่คนเดียวตลอดทั้งเรื่อง ถือเป็นความท้าทายทั้งในแง่การบิวด์อารมณ์และการตรึงคนดูให้อยู่กับเหตุการณ์บนจอโดยไม่รู้สึกเบื่อไปเสียก่อน

ตัวเก็ง: ไมเคิล คีตัน (Birdman), เอ็ดดี้ เรดเมย์น (The Theory of Everything), เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ (The Imitation Game), เดวิด โอเยโลวโอ (Selma), สตีฟ คาร์เรล (Foxcatcher)
ตัวสอดแทรก: เจค จิลเลนฮาล (Nightcralwer), ทิโมธี สปอล (Mr. Turner), เรล์ฟ ไฟนส์ (The Grand Budapest Hotel)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

ในทางตรงกันข้าม ตัวเลือกสำหรับสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมถือได้ว่าค่อนข้างแห้งแล้ง โดย โรซามุนด์ ไพค์ กลายเป็นตัวเก็งลำดับแรกๆ ในช่วงต้นเทศกาลแจกรางวัล แม้ว่าหลายคนจะตั้งแง่กับตัวละครที่เธอรับเล่นใน Gone Girl ว่าเย็นชา ไม่ค่อย น่ารักและปราศจากแง่มุมเปราะบาง หรืออบอุ่นใดๆ ให้สัมผัสได้ ซึ่งนั่นอาจทำลายโอกาสเข้าชิง หรือคว้ารางวัลมาครองของเธอ เพราะสังเกตได้ว่าถึงแม้ตัวละครที่ เคท แบลนเชตต์ รับเล่นใน Blue Jasmine จะไม่ใช่มนุษย์ที่น่าคบหาหรือชื่นชม แต่อย่างน้อยเธอก็ยังมีแง่มุมที่ดูน่าสงสาร (หรือใช้คำว่าน่าสมเพชอาจจะเหมาะสมกว่า) หาใช่วายร้ายสมบูรณ์แบบเหมือนไพค์ใน Gone Girl และที่สำคัญ ไพค์ไม่ได้มีเครดิตยาวเหยียดแบบ เมอรีล สตรีพ จนพอจะสามารถเรียกคะแนนเสียงได้แม้เมื่อหันมารับบทปีศาจร้ายแบบใน August: Osage County

โชคดีสำหรับไพค์ตรงที่เธอไม่ต้องเผชิญการแข่งขันในระดับเดียวกับสาขานำชาย คู่แข่งสำคัญเพียงคนเดียวของเธอ คือ จูลีแอนน์ มัวร์ ซึ่งได้บทที่เรียกร้องความเห็นใจจากคนดูสุดโต่ง นั่นคือ ผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ตามสูตรสำเร็จที่เคยได้ผลดีเยี่ยมมาแล้วกับ จูลี คริสตี้ (Away from Her) และ จูดี้ เดนช์ (Iris) หากเทียบในแง่ภาพรวมของตัวหนังแล้ว Still Alice อาจถือว่าห่างไกลจาก Gone Girl (มีคนกล่าวหาว่ามันเป็นเหมือนหนังทีวีของช่องฮอลมาร์ค) ขณะเดียวกัน คุณภาพของเนื้องานเมื่อเทียบกันแล้วก็อาจกินกันไม่ลงนัก โดยไพค์ถือแต้มต่อเล็กน้อยหากเทียบจากรางวัลนักวิจารณ์ ซึ่งเธอคว้ามาครองมากกว่าใครๆ แต่ท้ายที่สุดแล้ว จูลีแอนน์ มัวร์ ถูกยกให้เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งเนื่องจากเธอสั่งสมการยอมรับนับถือในวงการมานาน มอบบทบาทการแสดงอันน่าจดจำจำนวนมากให้คนดูได้ชื่นชมจากหนังอย่าง Far from Heaven, Safe, The Hours, Magnolia, Boogie Nights และ The End of the Affair แต่กลับยังไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์มาครอง นี่จึงเป็นอีกปีที่ออสการ์จะมอบรางวัลโดยพิจารณาจากความสำเร็จแห่งอาชีพนักแสดง แบบเดียวกับที่เคยมอบให้ เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) และ แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side)

ตัวละครสมทบอีกสองคนที่เหลือ ได้แก่ เฟลิซิตี้ โจนส์ ในบท ภรรยาที่อุทิศตนอยู่เบื้องหลังสามีอัจฉริยะและ รีส วิทเธอร์สพูน ในบทหญิงสาวที่ตัดสินใจออกเดินป่าตามลำพังเป็นระยะทางมากกว่า 1000 ไมล์หลังชีวิตประสบความวิบัติหลากหลาย คนแรกอาศัยกระแสความแข็งแกร่งของหนังเป็นตัวช่วย ส่วนคนหลังถือเป็นการ คัมแบ็คอยู่กลายๆ เพราะนับแต่ได้ออสการ์จาก Walk the Line ชีวิตเธอก็วนเวียนท่ามกลางหนังตลาดห่วยๆ อย่าง This Means War และ Four Christmas กับหนังหวังกล่องที่ไปไม่ถึงเป้าอย่าง Water for Elephants และ Devil’s Knot

อีกตำแหน่งที่เหลือว่างถือเป็นเครื่องหมายคำถามที่ปราศจากคำตอบอยู่พักใหญ่ บางคนเชื่อว่า ฮิลารี สแวงค์ จะคว้าชิ้นปลามันไปครอง หรือไม่ก็อาจจะเป็น เอมี อดัมส์ เพราะทั้งสองคนล้วนเป็นลูกรักออสการ์ ส่วนด้านนักวิจารณ์ก็พยายามผลักดัน มาริยง โกติยาร์ด ซึ่งมอบการแสดงอันน่าจดจำไว้ในหนังถึงสองเรื่องด้วยกัน คือ The Immigrant และ Two Days, One Night แต่สุดท้าย เจนนิเฟอร์ อนิสตัน จากหนังอินดี้ที่แทบจะไม่มีใครรู้จักเรื่อง Cake กลับได้ส้มหล่นไปเต็มๆ เพราะนอกจากการเดินสายโปรโมตอย่างต่อเนื่องแล้ว เธอยังใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับ ชาร์ลิซ เธรอน ใน Monster แต่อาจจะไม่ไปไกลเท่า ด้วยการลดทอนภาพลักษณ์ของดาราหน้าสวยในหนังตลกโรแมนติก แล้วพลิกมาเล่นบทดรามาจริงจัง (พร้อมใช้ประโยชน์จากทักษะด้านการแสดงตลกอย่างถูกจังหวะ) โดยปราศจากเมคอัพ และติดรอยแผลเป็นบนใบหน้าเพื่อบ่งบอก ความกร้านของตัวละครที่พยายามจะแสวงหาหนทางไถ่บาป การที่เธอหลุดเข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำและ SAG ดูเหมือนจะตอกตะปูปิดฝาโลงให้กับความหวังของ มาริยง โกติยาร์ด ซึ่งไม่ว่าจะปล่อยแสง เปล่งพลังมากแค่ไหน (ทั้งในปีนี้และสองปีก่อนหน้าที่เธอลงทุนเปลือยกายและเล่นเป็นคนพิการใน Rust and Bone) ก็ไม่อาจกระตุ้นให้กรรมการออสการ์โหวตให้เธอเข้าชิงได้อีกเลยนับแต่สร้างประวัติศาสตร์กับ La Vie en Rose ในปี 2007

ตัวเก็ง: จูลีแอนน์ มัวร์ (Still Alice), โรซามุนด์ ไพค์ (Gone Girl), รีส วิทเธอร์สพูน (Wild), เฟลิซิตี้ โจนส์ (The Theory of Everything), เจนนิเฟอร์ อนิสตัน (Cake)
ตัวสอดแทรก: มาริยง โกติยาร์ด (Two Days, One Night), ฮิลารี สแวงค์ (The Homesman), เอมี อดัมส์ (Big Eyes)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

สาขานี้ไม่น่าจะเหลืออะไรให้ลุ้นกันอีกแล้ว เมื่อปรากฏว่า เจ.เค. ซิมมอนส์ กับบทครูสอนดนตรีจากนรกในหนังเรื่อง Whiplash ทำท่าจะวิ่งเข้าเส้นชัยแบบม้วนเดียวจบ เนื่องจากเขากวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองเป็นกระบุง และสั่งสมชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่นักแสดงมานานด้วยการรับบทสมทบให้ผู้กำกับคู่บุญ เจสัน ไรท์แมน (แต่นักดูหนังส่วนใหญ่อาจจดจำเขาได้จากบทบรรณาธิการหน้าบูดในหนังชุด Spider-Man) เรียกได้ว่าถึงพร้อมทั้งในแง่คุณภาพของเนื้องานและเครดิต โดยคู่แข่งสำคัญเพียงคนเดียวของเขา คือ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน จาก Birdman ซึ่งผ่านประสบการณ์บนเวทีออสการ์มามากกว่าเพราะเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งในสาขานักแสดงนำชายและสมทบชายยอดเยี่ยมมาแล้วจาก American History X และ Primal Fear ตามลำดับ หลายคนเชื่อว่านอร์ตันสมควรจะคว้ารางวัลมาครองจากการเข้าชิงในครั้งแรกเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายดันถูก คิวบา กูดดิ้ง จูเนียร์ (Jerry Maguire) ฉกออสการ์ไปแบบหน้าตาเฉย เนื่องจากหนังของฝ่ายหลังเป็นที่ยอมรับในวงกว้างและหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญๆ มากกว่า มาคราวนี้งานแสดงของเขายังคงได้รับเสียงยกย่องเช่นเคย แต่ปัญหาของนอร์ตันอยู่ตรงที่เขาเป็นนักแสดงอีโก้จัดและยากที่ร่วมงานด้วย (แทบไม่ต่างจากบทซึ่งเขารับเล่นใน Birdman สักเท่าไหร่) ซึ่งนั่นอาจส่งผลต่อการเรียกเสียงโหวตในวงกว้าง

นักแสดงอีกสองที่น่าจะหลุดเข้าชิงได้ไม่ยากโดยอาศัยบารมีความแข็งแกร่งของตัวหนัง ได้แก่ อีธาน ฮอว์ค จากหนังตัวเก็งอันดับหนึ่งอย่าง Boyhood และ มาร์ค รัฟฟาโล จาก Foxcatcher ทั้งคู่ต่างเคยเข้าชิงในสาขานี้มาแล้วคนละครั้งจาก Training Day และ The Kids Are All Right ตามลำดับ คนแรกอาจได้บทที่ไม่เข้าทางออสการ์มากนัก แถมยังปราศจากฉาก ปล่อยของอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ ซึ่งรับบทคู่กับเขาในหนังเรื่องเดียวกัน แต่ความเป็นธรรมชาติ ลื่นไหลไปกับบทได้อย่างกลมกลืนจนเหมือนไม่ได้ แสดงตลอดจนประสบการณ์ในวงการที่สั่งสมมาเนิ่นนานนับตั้งแต่เล่นหนังเรื่องแรก Explorers คู่กับ ริเวอร์ ฟีนิกซ์ ในปี 1983 ขณะมีอายุแค่ 14 ปีน่าจะมีส่วนช่วยผลักดันเขาให้มีชื่อติดเป็น 1 ใน 5 ได้ไม่ยาก ส่วนคนหลังต้องถือว่าได้บทที่ ส่งมากกว่าจากการแปลงโฉมตัวเองให้เป็นนักมวยปล้ำได้อย่างน่าเชื่อถือ ทั้งการเพิ่มน้ำหนักและการเปลี่ยนลักษณะท่าทางการเดิน

รายชื่อสาขานี้ของเวทีลูกโลกทองคำกับ SAG ตรงกัน 100% ฉะนั้น จึงเป็นไปได้สูงว่าคนสุดท้ายที่จะมีชื่อติดเข้าชิง คือ โรเบิร์ต ดูวัล นักแสดงรุ่นพระกาฬที่เคยผ่านเวทีออสการ์มาแล้ว 6 ครั้ง และคว้ารางวัลมาครองได้ 1 ครั้งในสาขานำชายจากเรื่อง Tender Mercies ใน The Judge เขาต้องรับบทเป็นผู้พิพากษาที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ขณะถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งแน่นอนว่าฉากเด่นไม่ใช่เพียงการปลดปล่อยอารมณ์ในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงฉากที่เขาสูญเสียการควบคุมร่างกายเนื่องจากโรคร้าย จนต้องกล้ำกลืนบุคลิกเย่อหยิ่ง ดื้อรั้นส่วนตัว และยอมรับความช่วยเหลือจากลูกชาย (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์)

ตัวเก็ง: เจ.เค. ซิมมอนส์ (Whiplash), มาร์ค รัฟฟาโล (Foxcatcher), เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Birdman), อีธาน ฮอว์ค (Boyhood), โรเบิร์ต ดูวัล (The Judge)
ตัวสอดแทรก: จอช โบรลิน (Inherent Vice), ทอม วิลคินสัน (Selma), คริสตอฟ วอลท์ซ (Big Eyes)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

เช่นเดียวกัน ผู้ชนะในสาขานี้ดูเหมือนจะถูกล็อกไว้แล้วว่าคงไม่หลุดไปจากมือของ แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ ซึ่งฉายแสงโดดเด่นใน Boyhood พร้อมสรรพด้วยฉากปล่อยของที่เหมาะจะนำไปตัดเป็นคลิปในงานออสการ์ได้อย่างเหมาะเจาะ นอกจากนี้ บทของเธอยังมีน้ำหนักมากถึงขนาดที่สมาคมนักวิจารณ์แอลเอผลักให้ไปคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมอีกด้วย แต่เชื่อได้ว่าปรากฏการณ์แบบ เคท วินสเลท ใน The Reader คงไม่เกิดขึ้นซ้ำสอง (เธอเข้าชิงสมทบบนเวทีลูกโลกทองคำและ SAG แต่ออสการ์กลับผลักให้เข้าชิงในสาขานำหญิง) และเช่นเดียวกับซิมมอนส์ รางวัลนี้จะถือเป็นการยกย่องบทบาทการแสดงมากพอๆ กับสดุดีผลงานชั้นดีในอดีตอย่าง Lost Highway, True Romance และ Ed Wood ถือเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จในอาชีพนักแสดงไปพร้อมๆ กัน

อีกสามคนที่ปรากฏตัวในรายชื่อของทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ นั่นคือ คีรา ไนท์ลีย์, เอ็มมา สโตน และ เมอรีล สตรีพ ก็น่าจะหลุดเข้าชิงได้สบายๆ สำหรับคนหลังสุดนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีไปแล้ว ส่วนคนที่สามารถเบียดเข้าใกล้อาร์เคตต์ได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นไนท์ลีย์ ซึ่งได้บทเด่นและก็เคยผ่านเวทีออสการ์มาแล้ว (เข้าชิงนำหญิงจาก Pride and Prejudice เมื่อ 8 ปีก่อน)

คนสุดท้าย SAG มอบตำแหน่งให้ นาโอมิ วัตต์ จาก St. Vincent กับบทโสเภณีรัสเซียหัวใจทองคำ ซึ่งไม่น่าจะเข้าทางออสการ์เนื่องจากมันเป็นบทในแนวทางตลกและปราศจากความซับซ้อนใดๆ ถึงแม้เธอจะขโมยซีน รวมถึงเสียงหัวเราะของคนดูจาก บิล เมอร์เรย์ ได้อย่างงดงามก็ตาม  กรรมการออสการ์น่าจะเอนเอียงไปทางตัวเลือกของนักวิจารณ์และลูกโลกทองคำมากกว่า นั่นคือ เจสซิก้า แชสเทน จาก A Most Violent Year ซึ่งเป็นขวัญใจคนใหม่ของพวกเขา (นี่จะเป็นการเข้าชิงครั้งที่ 3 ในรอบ 4 ปี) แถมบทของเธอก็เข้มข้นกว่า และอยู่ในหนังซึ่งดูมีภาษีมากกว่า แต่ขณะเดียวกันคนที่ประมาทไม่ได้เลย คือ เรเน รุสโซ อดีตนางเอกระดับแนวหน้าในยุค 90 ซึ่งคัมแบ็คได้อย่างโดดเด่น น่าประทับใจในหนังเรื่อง Nightcrawler ที่สุดท้ายแล้วอาจแข็งแกร่งขนาดแทรกตัวเข้าไปเป็น 1 ใน 9 หนังยอดเยี่ยมได้

ตัวเก็ง: แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ (Boyhood), คีรา ไนท์ลีย์ (The Imitation Game), เอ็มมา สโตน (Birdman), เมอรีล สตรีพ (Into the Woods), เจสซิก้า แชสเทน (A Most Violent Year)
ตัวสอดแทรก: ลอรา เดิร์น (Wild), เรเน รุสโซ (Nightcrawler), นาโอมิ วัตต์ (St. Vincent)