วันเสาร์, เมษายน 25, 2558

Nightcrawler: เรื่องจริงผ่านจอ


บนทีวีมันดูเหมือนจริงมากเลยลู บลูม (เจค จิลเลนฮาล) หัวขโมยที่ผันตัวมาเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ โดยหากินกับภาพข่าวอาชญากรรม อุบัติเหตุ และฆาตกรรมเป็น (ในวงการเรียกคนพวกนี้ว่า ไส้เดือนดินเพราะมักจะโผล่ออกมาหากินตอนกลางคืนเช่นเดียวกัน) ให้ความเห็นถึงฉากหลังของรายการข่าว ซึ่งเป็นภาพถ่ายขนาดใหญ่ของเมืองแอลเอในยามค่ำคืน แต่คำพูดดังกล่าวสามารถใช้อธิบายปรัชญาในการนำเสนอ ข่าวทางโทรทัศน์ได้อีกด้วย กล่าวคือ มันดูเหมือนจริง แต่ไม่ใช่ความจริง หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ล้วนถูกคัดกรอง แต่งแต้ม และสร้างเรื่องราวไม่ต่างจากความบันเทิงบนจอภาพยนตร์

ผมให้ความสำคัญกับการจัดวางเฟรมภาพ เพราะการจัดวางเฟรมภาพที่เหมาะสมไม่เพียงจะดึงดูดสายตาของผู้ชมเท่านั้น แต่ยังทำให้พวกเขาจับจ้องภาพนานยิ่งขึ้น และลดกำแพงระหว่างคนดูกับบุคคลในภาพคำพูดของบลูมเหมือนหลุดมาจากตำราเทคนิคภาพยนตร์ขั้นพื้นฐาน แต่เขานำมาดัดแปลงใช้กับการถ่ายภาพข่าว ซึ่งความจริง ควรจะมีความสำคัญเหนืออื่นใด กระนั้นจะมีประโยชน์อะไรถ้าความจริงไม่กระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ไม่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม ด้วยเหตุนี้ บลูมจึงไม่ลังเลที่จะจัดวางรูปภาพบนตู้เย็นของเหยื่อที่โดนระดมยิงกลางดึก เพื่อเพิ่มดรามาให้รอยกระสุนบนตู้เย็น เขาเริ่มจากการบิดเบือนเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะขยายความใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมื่อบลูมลากร่างของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชนมายังจุดที่ เหมาะสมเพื่อให้เขาสามารถจัดวางเฟรมภาพได้อย่างลงตัว และดึงดูดสายตาของผู้ชม โดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่มั้ย หรือฉุกคิดว่าการกระทำดังกล่าวอาจสร้างความลำบาก สับสนให้กับตำรวจในการวิเคราะห์จุดเกิดเหตุ สำหรับบลูมเหยื่อเคราะห์ร้ายเป็นแค่อุปกรณ์ประกอบฉากเพื่อสร้างเรื่องราว ก่อนเขาจะนำเรื่องราวดังกล่าวไปขายต่อเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงิน

ความเลือดเย็น ปราศจากมนุษยธรรม หรือกระทั่งสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานของตัวละครตัวนี้สะท้อนชัดตั้งแต่ฉากแรก เมื่อเขาลักลอบเข้าไปในเขตหวงห้าม แล้วตัดรั้วตะแกรงเหล็กไปขายต่อ จากนั้นก็ยังมีหน้าไปรบเร้าของานทำจากช่างรับเหมา ซึ่งตอบกลับว่า ฉันไม่รับหัวขโมยมาทำงานด้วยหรอกทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเขายึดมั่นในศีลธรรมหรืออะไร (อย่างน้อยเขาก็หัวการค้าพอจะยินดีรับซื้อของโจรในราคาถูก) แต่เป็นเพราะเขาไม่สามารถไว้ใจหัวขโมยได้ต่างหาก การเพิกเฉยต่อความถูกต้อง หรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในโลกแห่งทุนนิยมและการแข่งขัน เมื่อใดก็ตามที่ประเด็นในแง่จริยธรรมถูกยกขึ้นมาคัดง้าง มันจะถูกสอยร่วงอย่างอนาถด้วยทัศนคติเชิงเย้ยหยัน เช่น เมื่อนีน่า (เรเน รุสโซ) ถามฝ่ายกฎหมายของสถานีโทรทัศน์ว่าเธอสามารถโชว์คลิปฆาตกรรมหมู่ออกอากาศได้หรือไม่ หมายถึงในเชิงกฎหมายน่ะเหรอลินดา (แอนน์ คูแซ็ค) ถาม ก่อนจะโดนนีนาประชดกลับว่า เปล่า ในเชิงศีลธรรมล่ะมั้ง เออสิ ในเชิงกฎหมายจากนั้นเมื่อแฟรงค์ (เควิน ราห์ม) ทักท้วงว่าคลิปดังกล่าวไม่เหมาะจะนำมาเผยแพร่ มองในแง่จรรยาบรรณนักข่าว หรือกระทั่งรสนิยมอันดีของการนำเสนอข่าว นีนาก็ยกเรตติ้งมาเป็นข้ออ้างว่าเลือดและความรุนแรงสามารถดึงดูดคนดูได้จริง ที่นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย... ต่อให้โดนปรับ ฉันก็ยอม

Nightcrawler ผลงานกำกับเรื่องแรกของ แดน กิลรอย ซึ่งเริ่มต้นสร้างชื่อเป็นที่รู้จักในวงการจากการเขียนบทหนังอย่าง Two for the Money, The Fall และ The Bourne Legacy โดยเรื่องหลังสุดเขาเขียนบทร่วมกับพี่ชายผู้กำกับ/นักเขียนบท โทนี กิลรอย เป็นภาพยนตร์ที่วิพากษ์วงการโทรทัศน์อย่างเจ็บแสบในขนบเดียวกับหนังอย่าง Network (1976) ความเป็นมืออาชีพอย่างเลือดเย็นและมืดบอดของนีนาก็ไม่ต่างจากไดแอนนา (เฟย์ ดันนาเวย์) ซึ่งยึดถือเรตติ้งเหนือความถูกต้อง หรือศีลธรรมจรรยาใดๆ โดยหนังได้ยกระดับแง่มุมดังกล่าวไปจนถึงขั้นน่าหัวเราะในฉากสุดท้ายเมื่อลูนำคลิปเด็ดมาให้นีนา ซึ่งเหมือนจะแปลกใจและเห็นใจกับ ความสูญเสียของลูอยู่ชั่วแวบ แต่โศกนาฏกรรมบนจอทีวี (ฟรีซเฟรมใบหน้าของ ริค (ริซ อาห์เม็ด) จ้องมองตรงมายังกล้อง) ในแบ็คกราวด์กลับยั่วล้อกับโฟร์กราวด์ ซึ่งเป็นภาพ two-shot ระยะประชิดของลูกับนีนาจ้องมองกันแบบเดียวกับฉากโรแมนติกในหนังรัก ฉันประทับใจมาก มันวิเศษสุดจริงๆเธอกล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ราวกับคลิปแห่งความตายและหายนะดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับเครื่องประดับงดงามที่ชายคนรักนำมามอบให้เธอด้วยความเสน่หา และสำหรับลู ผู้ช่วยอย่างริคก็ไม่ต่างอะไรกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากอุบัติเหตุรถชนในช่วงต้นเรื่อง นั่นคือ เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากที่เขาจะลากไปไหนก็ได้ตามใจชอบเพื่อให้ได้เรื่องราวตามที่เขาต้องการ

เช่นเดียวกัน เมื่อแฟรงค์บอกว่าคลิปฆาตกรรมหมู่นั้นแท้จริงแล้วเป็นสงครามช่วงชิงยาเสพติด และเหยื่อสังหารก็หาใช่ผู้มีอันจะกินที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่เป็นพ่อค้ายารายใหญ่ต่างหาก นีนากลับบอกปัดข้อมูลอย่างไม่ใยดีโดยอ้างว่า ความจริง ดังกล่าวเบี่ยงเบนผู้ชมออกจากเรื่องราวที่เธอต้องการนำเสนอ ซึ่งก็คือ โหมกระพือความหวาดกลัวในหมู่ชนชั้นกลางย่านชานเมืองว่าภัยอาชญากรรมจากเมืองหลวงกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ เพราะความกลัวนี่เองที่จะทำให้พวกเขาเปิดทีวีมาดูข่าวช่อง KWLA เพื่อเกาะติดสถานการณ์ และเธอต้องคอยโยนฟืนเพื่อหล่อเลี้ยงเชื้อเพลิงแห่งความกลัวนั้น รวมถึงสันดานดิบของมนุษย์ที่หลงใหลหายนะและความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ เวลาที่เธอสั่งให้คนอ่านข่าวพูดย้ำว่าคลิปที่กำลังจะเปิดอาจชวนให้เสียวไส้และเห็นเลือดแบบจะๆ (นอกเหนือไปจากการเน้นว่า ฆาตกรยังลอยนวลอยู่หรือ ลงมืออย่างโหดเหี้ยม”) มันจึงเป็นทั้งคำเตือนและคำเชื้อเชิญไปในตัว

ภาพสะท้อนของสื่อมวลชนใน Nightcrawler บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าบนโลกแห่งการแข่งขันเพื่อแย่งชิงเรตติ้ง ความจริง หรือข้อเท็จจริงหาใช่เป้าหมายสูงสุดอีกต่อไป หากแต่เป็นการขยายผลทางอารมณ์ หรือกระทั่งความบันเทิงไม่ต่างจากการชมภาพยนตร์ ฉันอยากได้ภาพข่าวที่คนดูไม่อยากเปลี่ยนช่องหนี... แบบที่นายสัญญากับฉันไว้นีนาระเบิดอารมณ์ใส่ลูในฉากหนึ่ง หลังพบว่าคลิปที่เขานำมาเสนอขายไม่มีอะไรเรียกคนดูได้เลย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทันทีที่สบโอกาส ลูจึงรีบสวมบทบาทเป็นผู้กำกับหนังด้วยการเก็บงำข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายในเหตุฆาตกรรมหมู่ จากนั้นก็สืบหาเบาะแสเกี่ยวกับเขา แล้วจัดฉากให้เกิดการดวลยิงกลางเมือง และขับรถไล่ล่าแบบเดียวกับในหนังแอ็กชั่นของฮอลลีวู้ด ซึ่งแน่นอนว่าตอบสนองความต้องการของสถานี KWLA ได้อย่างสมบูรณ์ ดังสำนวน ถ้าเลือดตกยางออกก็ได้ขึ้นหน้าหนึ่งหรือตามคำเปรียบเปรยของนีนาว่าให้นึกถึงภาพ ผู้หญิงถูกเชือดคอที่วิ่งกรีดร้องไปตามท้องถนนกล่าวคือ ไม่เพียงภาพข่าวต้องเลือดทะลักเท่านั้น แต่ต้องเป็นเลือดของคนรวย คนชั้นกลางอีกด้วย ไม่ใช่เลือดของพวกพ่อค้ายา ซึ่งฆ่ากันตายเป็นรายวันอยู่แล้ว และที่สำคัญ ภาพข่าวนั้นจะต้องกรีดร้องเรียกความสนใจจากผู้คน

ฉันคิดว่าลูเป็นแรงบันดาลใจให้เรากล้าที่จะไขว่คว้าดวงดาวคำกล่าวของนีนาฟังเผินๆ เหมือนคำพูดที่กระตุ้นให้คนกล้าจะสู้เพื่อความฝัน กล้าจะทะเยอทะยาน แต่เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ลูทำเพื่อให้บรรลุความฝันของการมีทีมข่าวเป็นของตัวเอง คำพูดข้างต้นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความโลภ กระหายเรตติ้งจนไม่คำนึกถึงผลกระทบใดๆ ทั้งในแง่จริยธรรม หรือความถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นบทสรุปรวมไปถึงโลกแห่งทุนนิยมยุคใหม่ ซึ่งทุกคนต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดอีกด้วย

ลูเปรียบเสมือนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรียนรู้ทุกอย่างจากอินเทอร์เน็ต จากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืนโดยปราศจากปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ความชวนสะพรึงของตัวละครอย่างลู (นอกเหนือไปจากรูปกายภายนอก ซึ่งมีสภาพไม่แตกต่างจากดวงวิญญาณที่อดหลับอดนอนมานานหลายเดือน ดวงตาปูดโปนและจมลึกในเบ้าตาของเขาเบิกโพลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อจับจ้องสิ่งต่างๆ อย่างจดจ่อ) ไม่ใช่เพียงเพราะเขาสิ้นไร้สำนึกผิดชอบชั่วดีเท่านั้น แต่ยังขาดทักษะในการเข้าสังคมอย่างน่าตกใจ เขามองทุกอย่างเป็นการต่อรองเชิงธุรกิจ และไม่รีรอที่จะใช้สถานการณ์เป็นต่อเพื่อเอารัดเอาเปรียบอีกฝ่าย เช่น เมื่อเขาแบล็คเมลให้นีนายอมหลับนอนด้วย หลังตระหนักว่าเธอต้องพึ่งพาภาพข่าวเรียกแขกของเขาเพื่อกระตุ้นเรตติ้งให้กับรายการและโน้มน้าวสถานีให้ต่อสัญญาจ้างเธอ พอฝ่ายหลังทักท้วงว่าคนเป็นเพื่อนกันเขาไม่ทำแบบนี้ ลูค้านกลับแบบหน้าตายด้วยการบอกว่า เพื่อนก็เหมือนของขวัญที่คุณมอบให้กับตัวเองสำหรับลู มนุษย์ควรค่ากับการคบหาก็ต่อเมื่อเขาหรือเธอมีประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เฉกเช่นนีนา ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกให้เขาไต่สู่โลกแห่งรายการข่าวทางทีวี มิเช่นนั้นแล้วเขาก็จะไม่ให้ความใส่ใจ เช่นปฏิกิริยาของเขากับคู่แข่งทางการค้าอย่าง โจ (บิล แพ็กซ์ตัน) หรือไม่ก็กำจัดทิ้งอย่างไร้เยื่อใยหากบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามต่อความก้าวหน้าอย่างเช่นกรณีของริค

ตัวละครอย่างลูนอกจากจะสะท้อนความเย็นชา ฟอนเฟะแห่งโลกของธุรกิจแล้ว (ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่แวดวงรายการข่าวทางโทรทัศน์เท่านั้น) มันยังวิพากษ์ความฉาบฉวยแห่งวิถีชีวิตยุคใหม่ และเป็นหนึ่งในภาพล่มสลายของความฝันแบบอเมริกันอีกด้วย ตลอดทั้งเรื่องคนดูจะเห็นลูพูดพล่ามข้อมูลต่างๆ ที่เขาเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต จากการอ่านหนังสือ หรือบทความประเภท self-help ทั้งหลาย (เขายอมรับว่าไมได้เข้าเรียนตามระบบการศึกษาทั่วไป) แต่หาได้ซึมซับแก่นจริงๆ ของความรู้เหล่านั้นแม้แต่น้อย เขาเป็นเหมือนเป็ดที่อวดอ้างว่ารู้เรื่องสารพัด แต่ไม่รู้จริงเลยสักอย่าง เพราะสุดท้ายทั้งหมดนั้นลงเอยด้วยการเป็นเพียงข้อมูลสำหรับใช้ในการต่อรอง ดังจะเห็นได้จากฉากที่เขาพยายามอัพราคาจักรยานที่ขโมยมากับเจ้าของร้านค้า ก่อนจะถูกหักหน้าว่า ไม่มีจักรยานคันไหนมีเกียร์ถึง 37 เกียร์ซะหน่อยแต่ความขาดแคลนในเชิงลึกของลูสามารถชดเชยได้ด้วยพรสวรรค์ของการเจรจาต่อรอง ซึ่งนั่นดูจะเป็นปัจจัยจำเป็นเพียงหนึ่งเดียวสู่หนทางแห่งอนาคต ความสำเร็จของลูในตอนท้ายพิสูจน์ให้เห็นว่าในโลกแห่งทุนนิยมยุคใหม่ ไม่มีใครให้ความสำคัญกับแก่นแท้ หรือข้อเท็จจริงอีกต่อไป และศีลธรรม หรือจรรยาบรรณก็เป็นหัวข้อที่สงวนไว้ถกเถียงแค่ในชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเท่านั้น

Short Comment: Cinderella


ท่ามกลางกระแสความนิยมของหนังชุด Twilight และ 50 Shades of Grey ซึ่งพลิกตลบแนวคิดเกี่ยวกับเฟมินิสต์ให้ย้อนไปสู่ยุคกลางด้วยการเทิดทูนบูชาเพศชายในฐานะผู้ปกป้องคุ้มภัยและมีอำนาจเหนือหัว ความคิดที่จะนำเอาเทพนิยายอย่าง Cinderella มาดัดแปลงสร้างใหม่จึงถือเป็นเรื่องเข้ายุคเข้าสมัยอยู่พอสมควร เมื่อพิจารณาว่าตัวละครเอกในเทพนิยายเรื่องนี้คือที่มาของคำศัพท์ทางจิตวิทยาสำหรับอธิบายภาวะปรารถนาที่จะพึ่งพิงผู้อื่น ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และหวาดกลัวที่ยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง (Cinderella Complex)

และเพื่อให้อินเทรนด์สมบูรณ์แบบผู้กำกับ เคนเน็ธ บรานาห์ และคนเขียนบท คริส ไวท์ซ เลือกจะยึดตามเรื่องราวตามการ์ตูนฉบับ วอลท์ ดิสนีย์ เป็นหลัก แทนการดัดแปลงใหม่ให้ได้กลิ่นอายเฟมินิสต์แบบแข็งทื่อ (ตัวละครเอกเพศหญิงมีความเป็นผู้นำและเข้มแข็งแบบนักรบ) อย่าง Mirror, Mirror และ Snow White and the Huntsman หรือล่าสุด Maleficent เพราะแนวคิดดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นสารตกค้างจากทศวรรษ 1990s ไปแล้ว ยุคสมัยที่ เธลมา กับ หลุยส์ ทนความเลวกว่าหมาของผู้ชายไม่ไหวจนต้องลุกขึ้นมาอาละวาดให้สาแก่ใจ (อันที่จริง Maleficent ยังยึดตามแนวคิดดังกล่าวอยู่พอสมควร) ความโกรธขึ้ง อัดอั้นตันใจจากเก่าก่อนถูกแปรเปลี่ยนเป็นแฟนตาซีย้อนยุค เมื่อเหล่าผู้หญิงสมัยใหม่ เลือกจะเป็นเบี้ยล่างของผู้ชายที่เข้มแข็ง (ไม่ว่าในแง่กายภาพ หรือสถานะทางการเงิน) แต่ขณะเดียวกันก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ (หรือบุคลิกน่าขนลุก ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน)

การกระทำดังกล่าวอาจพูดได้ว่าเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของ Cinderella เวอร์ชั่นนี้ กล่าวคือ มันแทบจะสิ้นไร้ความคิดสร้างสรรค์ หรือความกล้าหาญ (ย้อนแย้งกับคำพูดที่แม่บอกกล่าวซินเดอเรลลาก่อนตาย ซึ่งถูกเน้นย้ำในหนังอยู่หลายครั้ง) แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักดีว่าตัวเองต้องการอะไร และไม่พยายามอวดอ้าง หรือสวมบทบาทเป็นอย่างอื่นที่มากมายกว่านั้น ที่สำคัญ การพยายาม ดัดแปลงหรือสร้างเรื่องขึ้นใหม่ย่อมเสี่ยงต่อการทำลายเสน่ห์ดั้งเดิมของตัวละคร (ไม่เชื่อก็ลองดู Maleficent เป็นตัวอย่าง) และเรื่องราวคลาสสิก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสามารถดึงดูดอารมณ์ร่วมของผู้คนจำนวนมากได้ มิเช่นนั้นแล้วมันคงไม่เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การบอกว่า Cinderella เวอร์ชั่นนี้ปราศจากความแปลกใหม่ใดๆ เลยก็อาจไม่ค่อยยุติธรรมนัก เพราะถึงแม้อารมณ์แฟนตาซีพาฝันของหนังจะบรรลุจุดประสงค์ตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณงานสร้างอันประณีตบรรจงและตอบโจทย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ขณะเดียวกันบทหนังก็มีความพยายามจะอุดช่องโหว่บางจุดในแง่เรื่องเล่าได้ดี เช่น การให้เวลาเล็กน้อยสำหรับอธิบายความดีงามของซินเดอเรลลา (ลิลลี เจมส์) ตลอดจนความชั่วร้ายของแม่เลี้ยง (เคท แบลนเช็ตต์) ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนตัวละครเอกในนิยาย เฮนรี เจมส์ (The Wings of the Dove) โดยเมื่อต้องเลือกระหว่างความรักกับเงินทอง เธอก็ไม่รีรอที่จะเลือกอย่างหลังแล้วแต่งงานไปกับพ่อของเอลลา (เบน แชปลิน) เพื่อความอยู่รอดของตนเองกับลูกสาวอีกสองคน (ซึ่งไม่ฉลาดหรือสวยงามพอจะหาคู่ครองดีๆ ได้) เนื่องจากผู้หญิงในยุคนั้นปราศจากตัวเลือกมากมายนัก นอกจากนี้ ความรักระหว่างซินเดอเรลลากับเจ้าชาย (ริชาร์ด แมดเดน) ก็ดูจะมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อเขาได้พบเจอเธอก่อนงานเลี้ยงเต้นรำ และรู้สึกชื่นชมจิตใจอันเปี่ยมเมตตาของหญิงสาว รวมไปถึงความกล้าที่จะแหกกฎประเพณี ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเองก็ปรารถนาจะทำให้ได้เช่นกัน หลังจากถูกบิดายืนกรานให้แต่งงานกับเจ้าหญิงจากแดนอื่นเพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักรแทนการเลือกคู่ครองจากความรัก

คงไม่เป็นการสปอยล์หนังจนเกินไป หากจะบอกว่าสุดท้ายแล้วทุกวิกฤติความขัดแย้งก็สามารถคลี่คลายได้อย่างงดงาม (และง่ายดาย) ความรักถูกเฉลิมฉลองผ่านฉากแต่งงานอันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับเมตตาธรรม เมื่อซินเดอเรลลาหันไปบอกแม่เลี้ยงของเธอก่อนจะตามเจ้าชายกลับไปยังพระราชวังว่า ฉันยกโทษให้คุณ”… หลังจากต้องทนทรมานจากการถูกกลั่นแกล้งสารพัดและโดนดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา  คำพูดดังกล่าวช่างฟังดูทรงพลังและยิ่งใหญ่เหนือกว่าความรักใดๆ ระหว่างเจ้าชายผู้สูงศักดิ์กับหญิงสาวสามัญชน

Oscar 2015: Everything Is Not Awesome


ก่อนจะถึงวันงานประกาศรางวัลออสการ์ปีนี้ หลายคนคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเรตติ้งคงจะดิ่งลงเหวจากปีก่อนอย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาจากรายชื่อหนัง เรื่องที่ได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาสูงสุด เนื่องจากมีแค่ American Sniper เรื่องเดียวเท่านั้นที่เข้าข่ายหนังฮิตอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกับปีก่อนซึ่งมีหนังทำเงินเกิน 100 ล้านเหรียญในอเมริกาเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมากถึง 4 เรื่อง ได้แก่ Gravity, American Hustle, The Wolf of Wall Street และ Captain Phillips ส่วนปีนี้รายชื่อหนังออสการ์ดูเหมือนหลุดมาจากเวที Independent Spirit Awards ซะมากกว่า (โดยสี่เรื่องที่ได้เข้าชิงซ้ำกันของสองเวทีนี้ได้แก่ Birdman, Boyhood, Selma และ Whiplash) จนกระทั่งพิธีกร นีล แพ็ทริค แฮร์ริส แซวว่า ขอต้อนรับเข้าสู่งานแจกรางวัลออสการ์ หรือในความคิดผม งานแจกรางวัล Dependent Spirit Awards

และผลลัพธ์ก็ไม่เกินการคาดเดาสักเท่าไหร่ เมื่อปรากฏว่างานแจกรางวัลออสการ์ปีนี้ทำยอดเรตติ้งต่ำสุดในรอบ ปี โดยมีจำนวนผู้ชมการถ่ายทอดสดแค่ 36.6 ล้านคน หล่นจากเมื่อปีก่อน 18% (ยอดผู้ชม 43.7 ล้านคนของปีก่อนถือเป็นยอดผู้ชมสูงสุดในรอบ 10 ปีซ้ำร้ายกลุ่มคนที่อุตส่าห์เปิดมาชมการถ่ายทอดสดกลับถูกลงโทษด้วยการต้องทนนั่งชมงานแจกรางวัลออสการ์ที่น่าเบื่อที่สุดในรอบ 4 ปีอีกต่างหาก จริงอยู่ว่าบทบาทพิธีกรของแฮร์ริสในครั้งนี้อาจไม่ใช่หายนะขั้นสุดเหมือนกับปี 2011 ซึ่งมี แอนน์ แฮทธาเวย์ กับ เจมส์ ฟรังโก้ เป็นพิธีกรร่วมกัน แต่ดูเหมือนว่าเครดิตสุดหรูของเขาจากการเป็นพิธีกรในงานแจกรางวัลโทนี่และเอ็มมี่เป็นเวลาหลายปีกลับไม่อาจช่วยให้เขาสามารถดำเนินรายการได้อย่างสนุกสนาน ราบรื่น หรืออย่างน้อยก็กระชับฉับไว

นอกจากนี้ กรรมการออสการ์ก็ไม่คิดจะช่วยเหลือแฮร์ริสแต่อย่างใดด้วยการเดินหน้ามอบรางวัลให้กับเหล่าตัวเก็งทั้งหลายอย่างถ้วนหน้าจนทำให้ตลอดทั้งงานแทบจะปราศจากการพลิกโผอย่างสิ้นเชิง โดยอาจยกเว้นเพียงเซอร์ไพรซ์เล็กๆ อย่างชัยชนะของ Big Hero 6 เหนือ How to Train Your Dragon 2 ซึ่งไม่นานก่อนหน้านี้เพิ่งจะกวาดรางวัล Annie มาครองถึง 6 รางวัลจนเปลี่ยนสถานะกลายเป็นเต็งหนึ่งไปโดยปริยาย แต่นั่นก็ไม่ถือเป็นปรากฏการณ์ล็อกถล่มมากเท่ากับการที่ The Lego Movie พลาดการเข้าชิงสาขานี้ (มันคว้าชัยชนะบนเวที BAFTA) หรือถ้า The Tale of the Princess Kaguya คว้ารางวัลมาครอง แต่นั่นคงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เมื่อพิจารณาว่ากรรมการกลุ่มนี้เคยมอบรางวัลออสการ์สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมให้กับ Brave และ Frozen

รางวัลในสาขาการแสดงสอดคล้องกับเวที SAG อย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับสองรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยมที่เป็นไปตามโผของ PGA และ DGA ตามลำดับ หลายคนตั้งความหวังอย่างมืดบอดว่า Boyhood จะสามารถฉกรางวัลหนึ่งรางวัลใดจาก Birdman มาได้ (ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยกสาขาหนังและผู้กำกับเป็นปีที่สามติดต่อกัน) ถึงแม้ว่าเรื่องหลังจะตอกตะปูปิดฝาโลงเรื่องแรกไปเรียบร้อยแล้วด้วยการคว้ารางวัล DGA, SAG และ PGA มาครองแบบครบถ้วนในสไตล์เดียวกับ Slumdog Millionaire ทั้งนี้เพราะพวกเขาเชื่อว่า Boyhood มีหมัดเด็ดตรงที่มัน “ได้อารมณ์” มากกว่า และหนังของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู ก็ค่อนข้างก้ำกึ่งในแง่ที่มีทั้งคนชอบและคนเกลียด แต่ข้อบกพร่องทางตรรกะดังกล่าวอยู่ตรงที่พวกเขากำลังมองไปยังปฏิกิริยาจากกลุ่ม นักวิจารณ์ ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีกว่าไม่ใช่คนโหวตให้คะแนนรางวัลออสการ์ ขณะที่เสียงจากคนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระบุชัดว่าพวกเขาชื่นชอบ Birdman มากกว่า Boyhood แบบเป็นเอกฉันท์โดยสังเกตได้จากรางวัลของสมาพันธ์ต่างๆ (อีกหนึ่งตัวแปรที่สร้างความไขว้เขวได้ไม่น้อย คือ รางวัล BAFTA ของฝั่งอังกฤษซึ่งเดาทางออสการ์ได้ถูกต้องมาหลายปีติดกัน เพราะปรากฏว่า Boyhood และ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ สามารถคว้าชัยชนะบนเวทีนี้มาครองได้สำเร็จเช่นเดียวกับลูกโลกทองคำและ Critics Choice Award)

สุดท้าย Boyhood จึงลงเอยด้วยสภาพน่าอนาถเช่นเดียวกับ The Social Network และบางทีอาจจะย่ำแย่กว่าด้วยซ้ำเนื่องจากสุดท้ายหนังสามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้แค่สาขาเดียวเท่านั้น นั่นคือ นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม มันเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่ากรรมการออสการ์ไม่ชอบถูกชี้นำว่าควรจะเลือกอะไร และการถูกสถาปนาให้เป็นตัวเก็งก่อนใครอื่นหาใช่จะเป็นข้อได้เปรียบเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังที่นำเสนอเรื่องราวอย่าง เจียมเนื้อเจียมตัวไม่มีดรามารุนแรง ไม่มีไคล์แม็กซ์ ไม่มีฮีโร่ที่คนดูคุ้นเคยแบบ Boyhood เพราะนั่นทำให้หนังเสี่ยงต่อการคาดหวังอันสูงลิ่ว และนำไปสู่ความรู้สึกทำนองว่า แค่เนี้ยเหรอหลังจากดูจบ อันที่จริง ถ้าตัดแง่มุมการถ่ายทำนาน 12 ปีออก Boyhood ก็แทบไม่ต่างจากหนังอินดี้เรื่องอื่นๆ ของลิงค์เลเตอร์ นั่นคือ สวนทางกับ หนังออสการ์อย่างแรง ฉะนั้น การที่มันสามารถหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญๆ ได้มากขนาดนี้ แทนที่จะเป็นแค่ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเหมือนกับ Before Sunset และ Before Midnight ก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดแล้ว

ถ้า Boyhood เป็นสุดทางของ minimalism คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า Birdman ยืนอยู่สุดขอบตรงข้ามในความเป็น maximalism ขณะที่ลิงค์เลเตอร์ถ่ายทอดเหตุการณ์โดยไม่เรียกร้องความสนใจ นำเสนอให้เห็นความงามในสิ่งเรียบง่ายและธรรมดาสามัญ อินญาร์ริตูกลับเดินหน้าโชว์ออฟทุกอย่างแบบสุดพลัง ตั้งแต่ตัวละครที่เปี่ยมสีสัน เอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร การถ่ายทำอันหวือหวาให้ดูเหมือนปราศจากการตัดภาพ ไปจนถึงส่วนผสมย้อนแย้งระหว่างความจริงกับภาพจินตนาการที่เรียกร้องความสนใจจากคนดู ฉะนั้นเมื่อต้องเลือกระหว่าง เยอะกับ น้อยก็ไม่น่าแปลกที่ดินแดนผลิตฝันอย่างฮอลลีวู้ดจะเลือกอย่างแรก ที่สำคัญ คุณคิดว่าเหล่าบุคคลซึ่งทำงานอยู่ในวงการบันเทิง ใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสี อีโก้ ความสนใจจากคนรอบข้าง ชื่อเสียง และความมั่งคั่งจะ อินกับเนื้อหาประเภทใดมากกว่ากันระหว่างบทเฉลิมฉลองความธรรมดาสามัญของชีวิต หรือบทฉลองความทะเยอทะยานของศิลปินที่ปรารถนาความยิ่งใหญ่และการยอมรับ... ถ้านับรวมกับ The Artist และ Argo ชัยชนะของ Birdman พิสูจน์ให้เห็นว่าฮอลลีวู้ดเป็นดินแดนแห่งความลุ่มหลงตัวเองอย่างแท้จริง (ในทางกลับกัน หนังเกี่ยวกับวงการบันเทิงอย่าง The Player ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน ไม่มีวันเป็นที่ยอมรับบนเวทีออสการ์เพราะมันประณามฮอลลีวู้ดว่าเป็นดินแดนที่ฟอนเฟะทางศีลธรรมและความคิดสร้างสรรค์)

พูดถึงการจัดงานแจกรางวัลในปีนี้ต้องยอมรับว่าภาพรวมค่อนข้างขาดแคลนอารมณ์ขันอยู่พอสมควร สาเหตุหลักน่าจะมาจากเหตุผลที่ว่า นีล แพ็ทริค แฮร์ริส ไม่ใช่ดาวตลก และหลายครั้งจังหวะการเล่นมุกของเขาออกมาแป้กมากกว่าหัวร่องอหาย เช่น เมื่อเขาเปรียบเทียบ โอปรา วินฟรีย์ กับ American Sniper ซึ่งกำลังทำเงินถล่มทลายบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ (และลงเอยด้วยการต้องอธิบายมุกตัวเองว่า เพราะคุณรวย”) หรือแก๊กฝืดอันยืดเยื้อยาวนานเมื่อเขาขอให้ ออกเทเวียร์ สเปนเซอร์ คอยเฝ้าตู้คำทำนายออสการ์ ซึ่งบางคนถึงขั้นจิกกัดว่ามันเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์เหมารวมและเจือไปด้วยอารมณ์เหยียดสีผิว (สเปนเซอร์คว้าออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมมาครองจากบทสาวรับใช้ผิวดำในหนังเรื่อง The Help) บางทีมุกประเภทที่เขาเตือนสเปนเซอร์ว่า ห้ามแอบไปกินขนมหรือล้อเลียนความแก่ของ โรเบิร์ต ดูวัล อาจจะพอเอาตัวรอดไปได้ หากเขามีบุคลิกน่ารัก เป็นกันเองแบบ เอลเลน ดีเจเนอเรส พิธีกรเมื่อปีก่อน แต่ท่าทางมั่นใจ ดูหยิ่งๆ เหมือนหลงตัวเองนิดๆ ของเขา (ซึ่งคงติดมาจากการรับบทเสือผู้หญิงในซีรีย์ How I Met Your Mother) ทำให้มุกเหล่านั้นดูเป็นการจิกกัดแบบเจ็บจริงมากกว่าจะดูน่าขัน


โดยปกติแล้ว เมื่อพิธีกรไม่ใช่ดาวตลก ทีมงานเบื้องหลังก็มักจะคัดเลือกคนแจกรางวัลอย่าง เบน สติลเลอร์, ทีนา เฟย์, วิล เฟอร์เรล หรือ (ในยุคหนึ่ง) จิม แคร์รี มาชดเชยในแง่อารมณ์ขัน แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะปีนี้ออสการ์โดนกระแสโจมตีเรื่องโปรคนขาวหรืออย่างไร (นี่เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1998 ที่นักแสดง 20 คนซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ล้วนเป็นคนผิวขาวทั้งหมด) จนแฮร์ริสต้องกล่าวเปิดงานด้วยการแซวว่า คืนนี้เราจะมอบรางวัลให้กับคนทำงานในฮอลลีวู้ดที่ยอดเยี่ยมและขาวเด่นที่สุด เอ๊ย โทษที โดดเด่นที่สุดผู้จัดจึงคัดเลือกคนประกาศรางวัลเป็นเหล่านักแสดงผิวดำหลายคน แต่คนที่ตลกที่สุดที่พวกเขาสามารถสรรหามาได้ คือ เควิน ฮาร์ท ซึ่งแน่นอนว่าคนดูนอกอเมริกาส่วนใหญ่ไม่น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาสักเท่าไหร่ มุกตลกระหว่างเขากับ แอนนา เคนดริค อาจเรียกรอยยิ้มได้บ้าง แต่ไม่น่าจดจำอะไรเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับบทเพลงเปิดตัวของแฮร์ริส ซึ่งเขาใช้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาหลายงานแล้ว แต่ความตลก เฉียบคม และลงตัวห่างไกลจากบทเพลงเปิดตัวของเขาในงานแจกรางวัลโทนีเมื่อปี 2011 อยู่หลายขุม


Memorable Quotes

*  “โทรหาแม่ของคุณ โทรหาพ่อของคุณ ถ้าคุณโชคดีที่พ่อกับแม่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ โทรหาพวกเขา อย่าอีเมล อย่าส่งข้อความทางมือถือ แต่ให้โทรหา แล้วบอกรักพวกเขา ขอบคุณพวกเขา รับฟังพวกเขาตราบเท่าที่พวกเขายังอยากจะพูดคุยกับคุณ เจ. เค. ซิมมอนส์ เจ้าของรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Whiplash

*  “ผู้เข้าชิงแต่ละคนในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมล้วนได้พิสูจน์ฝีมือเป็นที่ประจักษ์และมอบการแสดงที่ทรงพลัง พวกเธอทั้งสี่คนเป็นผู้หญิง และอีกคนเป็นกฎข้อบังคับตามที่ระบุไว้ในกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย... เมอรีล สตรีพ จาเร็ด เลโต กล่าวแนะนำผู้เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (สตรีพทำลายสถิติตัวเองด้วยการเข้าชิงเป็นครั้งที่ 19 จาก Into the Woods)

*  “เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ ไม่ใช่แค่ชื่อที่เจ๋งที่สุดในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นเสียงที่คุณจะได้ยินเวลาขอให้ จอห์น ทราโวลต้า พูดชื่อ เบน แอฟเฟล็ค นีล แพ็ทริค แฮร์ริส

*  “ฉันเคยอ่านบทความหนึ่งที่บอกว่าการชนะรางวัลออสการ์จะช่วยให้อายุยืนขึ้น 5 ปี ถ้ามันจริงละก็ ฉันอยากจะขอบคุณคณะกรรมการเพราะสามีฉันอายุน้อยกว่าฉัน จูลีแอนน์ มัวร์ เจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Still Alice

*  “แด่ผู้หญิงทุกคนที่เคยเป็นแม่คน เหล่าผู้เสียภาษี และประชาชนในประเทศ เราได้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันให้กับทุกคนแล้ว ถึงเวลาเสียทีสำหรับความเท่าเทียมกันทางด้านรายได้และสิทธิเท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิงในประเทศอเมริกา แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ เจ้าของรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Boyhood

*  “เราทำหนังขาวดำเกี่ยวกับความจำเป็นของการนิ่งเงียบและถอยห่าง แต่ตอนนี้เรากลับมายืนอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของความตื่นเต้นและอึกทึกครึกโครม มันยอดเยี่ยมจริงๆ ชีวิตช่างเต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจ พาเวล พาวลิโควสกี้ เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจาก Ida

*  “หนังเรื่องนี้เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน แต่กล่าวได้ว่า Selma พูดถึงอารมณ์ร่วมแห่งปัจจุบัน เราอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการจองจำมากที่สุดในโลก ทุกวันนี้มีคนผิวดำถูกจองจำมากกว่าในยุคค้าทาสเมื่อปี 1850 เสียอีกจอห์น เลเจนด์ เจ้าของรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Selma


Simply the Best

*   หนึ่งในสุนทรพจน์ที่โดดเด่นสุดของงาน คือ คำกล่าวขอบคุณระหว่างขึ้นรับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมของ เกรแฮม มัวร์ จากหนังเรื่อง The Imitation Game “อลัน ทัวริง ไม่เคยได้มายืนบนเวทีและจ้องมองไปยังใบหน้าสวยๆ หล่อๆ ทั้งหลายเหมือนผมในตอนนี้ นั่นถือเป็นความอยุติธรรมสูงสุดเท่าที่ผมเคยประสบพบเจอ ฉะนั้นผมอยากจะใช้เวลาช่วงสั้นๆ นี้บอกเล่าอะไรบางอย่าง ตอนอายุ 16 ปี ผมเคยพยายามฆ่าตัวตาย เพราะคิดว่าตัวเองแปลกประหลาด ผมรู้สึกแตกต่างและแปลกแยก แต่สุดท้ายผมกลับได้มายืนอยู่ที่นี่ ผมอยากให้เด็กๆ ทุกคนที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกประหลาด แตกต่าง หรือไม่เข้าพวกได้ตระหนักว่า ใช่ พวกเธอเป็นแบบนั้นจริง จงยอมรับในความแปลก ยอมรับในความแตกต่างของตัวเอง และวันหนึ่งเมื่อถึงคราวที่เธอได้มายืนอยู่บนเวทีบ้าง ขอให้เธอช่วยบอกกล่าวข้อความนี้ต่อๆ ไปหลายคนที่ได้ฟังพากันตีความไปว่ามัวร์กำลังพูดถึงรสนิยมรักร่วมเพศของตนเอง (เมื่อพิจารณาร่วมกับพฤติกรรมออกสาวของเขาก็ยิ่งช่วยให้สามารถฟันธงได้อย่างแน่ใจ) แต่มัวร์กลับยืนยันกับสื่อมวลชนว่าเขาไม่ใช่เกย์!!?? นั่นกลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจยิ่งกว่าผลรางวัลใดๆ ตลอดทั้งงาน

*  ถึงแม้ The Lego Movie จะพลาดเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมอย่างผิดคาด แต่โชว์เพลง Everything Is Awesome ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน บ้าคลั่ง และพลังงาน จนทำให้ตลอดช่วงเวลาเกือบ 5 นาทีนั้น ทุกอย่างช่างดีเลิศประเสริฐศรีไปหมดจริงๆ โดยเฉพาะไฮไลท์ในตอนท้ายเมื่อแบทแมนปรากฏตัวเป็นนักร้องรับเชิญ พร้อมๆ กับการที่เหล่าแดนเซอร์ในชุดคนงานก่อสร้างและนักบินอวกาศเดินลงจากเวทีไปแจกออสการ์เลโก้ให้เหล่าดาราดังด้านหน้าเวที ปฏิกิริยาดีใจจนออกนอกหน้าของ โอปรา วินฟรีย์ น่าจะเรียกรอยยิ้มจากคนดูได้อย่างถ้วนทั่ว เช่นเดียวกับใบหน้าปลื้มปริ่มของ เอ็มมา สโตน ขณะถือออสการ์เลโก้ในมือระหว่างการประกาศรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

*  แก๊กเดียวที่เรียกเสียงหัวเราะอย่างได้ผลของ นีล แพ็ทริค แฮร์ริส คือ การล้อเลียนฉากดังในหนังเรื่อง Birdman เมื่อเขาต้องเดินมารับหน้าที่พิธีกรด้านหน้าเวทีโดยสวมกางเกงในสีขาวแค่ตัวเดียว (พร้อมกันนั้นก็แวะแซว Whiplash ระหว่างทางด้วยการสั่งให้ ไมลส์ เทลเลอร์ หยุดตีกลอง และพูดว่า ไม่ใช่จังหวะของฉัน”) “นักแสดงเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติเขากล่าวปิดท้าย

*  ถ้าโชว์เพลงของคุณสามารถทำให้เหล่าผู้ชมหลั่งน้ำตาด้วยความซาบซึ้งได้ละก็ (สองในนั้น คือ เดวิด โอเยลโลโอ และ คริส ไพน์) นั่นหมายความว่าคุณกำลังเดินมาถูกทางแล้ว ความอลังการของฉาก ซึ่งจำลองเหตุการณ์สำคัญในหนังเรื่อง Selma มาไว้บนเวที ผนวกเข้ากับพลังแห่งเนื้อเพลงอันเปี่ยมความหมายและกระทบจิตใจ ขับกล่อมโดยน้ำเสียงอันทรงพลังของ จอห์น เลเจนด์ และ คอมมอน ส่งผลให้โชว์เพลง Glory กลายเป็นหนึ่งในช่วงเวลาอันน่าจดจำของงานออสการ์ปีนี้

*  เลดี้ กาก้า อาจโด่งดังจากเพลงแดนซ์สนุกสนานและเสื้อผ้าหลุดโลกที่เธอชอบสวมใส่ไปร่วมงานแจกรางวัลต่างๆ จนกระทั่งหลายคนหลงลืมไปว่าเธอเป็นนักร้องระดับแนวหน้าคนหนึ่ง และพรสวรรค์ดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพเพื่อเฉลิมฉลองหนังเรื่อง The Sound of Music เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี เธอก้าวขึ้นมาร้องเพลงเมดเลย์ The Sound of Music, My Favorite Things, Edelweiss และ Climb Every Mountain ในคีย์เสียงสูงได้อย่างหมดจดงดงาม จนแม้แต่ต้นตำรับอย่าง จูลี แอนดรูว์ส ยังต้องเอ่ยปากชม


WTF Moments

*  ประเด็นว่าใครบ้างที่ถูกหลงลืมไปจากคลิป In Memoriam ดูเหมือนจะสร้างกระแสฮือฮาได้แทบทุกปี แม้ว่าทางผู้จัดจะออกมากล่าวอ้างอยู่เสมอว่าพวกเขาไม่สามารถใส่ ทุกคน เอาไว้ในคลิปได้ทั้งหมดก็ตาม และปีนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน เมื่อชื่อของ โจน ริเวอร์ส เกิดหล่นหายไประหว่างทางจนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลายคนเชื่อว่าทางผู้จัดตัดสินใจถอดชื่อของริเวอร์สออกเพียงเพราะเห็นว่าเธอโด่งดังเป็นที่รู้จักในฐานะพิธีกรและดาวตลกมากกว่านักแสดงหรือนักทำหนัง แม้ว่าธรรมเนียมการสัมภาษณ์ดาราบนพรมแดงในงานออสการ์ของเธอจะขึ้นชื่อจนเรียกได้ว่าพลิกโฉมวงการกันเลยทีเดียว แต่เหตุผลดังกล่าวกลายเป็นเรื่องสองมาตรฐานตรงที่ในปี 2004 ออสการ์กลับเคยรำลึกถึงการจากไปของ จอห์นนี คาร์สัน ซึ่ง ไม่เคยสร้างหรือแสดงหนังเลยแม้แต่เรื่องเดียว” (ตรงข้ามกับริเวอร์ส) ถึงขนาดแบ่งช่วงเวลาพิเศษในงานให้ (ขณะที่นักแสดงระดับตำนานอย่าง มาร์ลอน แบรนโด ยังแค่ถูกรวมเอาไว้ในคลิป In Memorial เฉกเช่นคนอื่นๆ) ทั้งที่เขาเองก็สามารถถูกจัดไว้ในหมวดเดียวกับริเวอร์สได้เช่นกัน แต่อาจมีภาษีดีกว่าหน่อยตรงที่เขาเคยเป็นพิธีกรงานออสการ์มาห้าครั้ง... บางทีก็น่าคิดว่าถ้าริเวอร์สเป็นผู้ชาย เธอจะถูกมองข้ามเยี่ยงนี้หรือไม่

*  “ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทั้งหลาย ได้โปรดปรบมือต้อนรับเพื่อนสุดที่รักของฉัน กลอม กาซินโก ไอดีนา เมนเซล กล่าวเปิดตัว จอห์น ทราโวลต้า เพื่อเป็นการ เอาคืน ที่เขาพูดชื่อเธอผิดเป็น อเดล ดาซีม ในงานออสการ์คราวก่อน ผมสมควรโดนแล้ว แต่เธอนี่สิ แม่สาวน้อยที่น่ารัก แสนสวย เปี่ยมพรสวรรค์อย่างร้ายกาจของฉัน ไอดีนา เมนเซล... ถูกแล้วใช่มั้ย ทราโวลต้าตอบกลับด้วยคำหวานเพื่อเป็นการไถ่บาปครั้งก่อน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เขาไม่ได้พูดเปล่า แต่ดันใช้มือลูบไล้ใบหน้าของเมนเซล พลางยื่นหน้าเข้าไปใกล้ชนิดหายใจรดต้นคออีกด้วย เขาคงต้องการแสดงท่าทีรักใคร่ ชื่นชม แต่ดูไปดูมากลับเอนเอียงไปทางน่ากลัว และชวนให้ขนลุกมากกว่าจะน่ารัก (ในระหว่างนั้นเมนเซลก็พยายามปั้นหน้ายิ้มแย้มอย่างกล้าหาญ) เหมือนเขาพยายามจะกลับมาสวมบทบาทเป็นเอ็ดนาในหนังเรื่อง Hairspray ยังไงยังงั้น ที่สำคัญ วีรกรรมแปลกประหลาดของทราโวลต้ายังไม่จบลงแค่นั้น เพราะตอนเหล่าดารากำลังเดินพรมแดง จู่ๆ เขาก็โผล่ไปหอมแก้ม สการ์เล็ต โจแฮนสัน แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยอีกด้วย เล่นเอาดาราสาวสุดเซ็กซี่จากหนังเรื่อง The Avengers ทำหน้าไม่ถูก (และแน่นอนว่าภาพดังกล่าวถูกเอาไปล้อเลียนทันทีในเช้าวันรุ่นขึ้น)

*  เกิดอะไรขึ้นกับ เทอร์เรนซ์ โฮเวิร์ด ระหว่างการแนะนำหนังสามเรื่อง (Whiplash, The Imitation Game, Selma) ที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะมีหลายจังหวะที่เขานิ่งเงียบเป็นเวลานาน เหมือนพยายามจะกล้ำกลืนความรู้สึกตื้นตันที่กำลังท่วมท้น หรือบางทีอาจเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคของจอป้อนบทพูดก็เป็นได้ ถ้าเขาพยายามจะพิสูจน์ทักษะทางการแสดงเพื่อเรียกร้องขอบทดีๆ นอกเหนือจากบทสมทบในหนังอย่าง Iron Man ละก็ ต้องถือว่าเขาโอเวอร์แอ็คไปหลายช่วงตัว แต่ถ้าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคก็ต้องถือว่าเขาแก้สถานการณ์ได้อย่างย่ำแย่ เพราะการนิ่งเงียบเป็นเวลานานหลายช่วงสร้างความอึดอัดให้กับผู้ชม นอกจากนี้ มันยิ่งทำให้งานอืดอาดยืดเยื้ออย่างไม่จำเป็น

*  เหตุผลที่ ฌอน เพนน์ ไม่ค่อยถูกเลือกให้เล่นบทตลกปรากฏชัดตอนที่เขาออกมาประกาศรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มุกตลกผิดที่ผิดทาง ผิดจังหวะ และผิดกาลเทศะของเขา (“ใครให้กรีนการ์ดไอ้ระยำต่างด้าวคนนี้วะ”) นอกจากจะไม่ขำแล้ว ยังถูกกล่าวหาว่าเจือความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติอีกด้วย แม้ว่าอินญาร์ริตูจะ เก็ทมุกส่วนตัวดังกล่าวก็ตาม (พวกเขาสนิทสนมจากการร่วมงานกันในหนังเรื่อง 21 Grams) 


Fun Facts

*  Birdman กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกนับจาก Ordinary People เมื่อปี 1980 ที่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดมาครองโดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม และเป็นหนังเรื่องแรกในรอบ 6 ปีที่พลาดรางวัลสูงสุดบนเวที BAFTA แต่สามารถคว้าชัยชนะบนเวทีออสการ์มาครอง โดยเรื่องหลังสุดที่ทำสำเร็จ คือ No Country for Old Men ซึ่งปราชัยให้กับ Atonement บนเวที BAFTA

*  หลังจากได้ออสการ์ตัวแรกมาครองจาก Gravity เมื่อปีก่อน เอ็มมานูเอล ลูเบซสกี้ ก็ทำสถิติเป็นผู้กำกับภาพคนที่สี่ที่คว้าออสการ์สองปีซ้อน โดยคนล่าสุดที่ทำสำเร็จ คือ จอห์น โทล ซึ่งได้ออสการ์กำกับภาพจาก Legends of the Fall (1994) และ Braveheart (1995)

*  นี่ถือเป็นปีที่สองติดต่อกันที่รางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมตกเป็นของผู้กำกับเชื้อสายเม็กซิกัน และปีที่ห้าติดต่อกันที่รางวัลนี้ตกเป็นของผู้กำกับชาวต่างชาติ (หลังจาก ทอม ฮูเปอร์มิเชล ฮาซานาวิเชียสอังลีอัลฟองโซ คัวรอน) โดยผู้กำกับชาวอเมริกันคนสุดท้ายที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง คือ แคธรีน บิกเกโลว์ จาก The Hurt Locker (2009)

*  ชัยชนะของ Ida ทำให้โปแลนด์เสียสถิติที่ถือครองร่วมกับอิสราเอลในฐานะประเทศที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมมากครั้งที่สุด (10 ครั้ง) แต่ไม่เคยได้รางวัล

*  เอ็ดดี้ เรดเมย์น ในวัย 33 ปี เป็นนักแสดงนำชายที่อายุน้อยที่สุดอันดับ 8 เขาแก่กว่า เดเนียล เดย์ ลูว์อิส (ซึ่งอยู่อันดับ 7) เพียงไม่กี่เดือนตอนที่เขาคว้าออสการ์มาครองจากหนังเรื่อง My Left Foot เมื่อปี 1989 ส่วน จูลีแอนน์ มัวร์ ในวัย 54 ปีก็เป็นนักแสดงนำหญิงที่อายุมากที่สุดอันดับ 10 โดยส่วนใหญ่แล้วนักแสดงหญิงที่คว้ารางวัลนี้มาครองจะมีอายุ 29 ปี (8 คน) รองลงมา คือ 33 ปี (6 คน) นักแสดงหญิงอีกคนเดียวที่ได้รางวัลนำหญิงขณะอยู่ในวัย 50 กว่าๆ คือ เชอร์ลีย์ บูธ จากหนังเรื่อง Come Back Little Sheba (1952) โดยตอนนั้นเธออายุ 54 ปีเช่นเดียวกับมัวร์ แต่แก่เดือนกว่า

*  Birdman เป็นหนังตลกเรื่องแรกนับจาก Annie Hall ที่ชนะรางวัลออสการ์โดยปราศจากลูกโลกทองคำในสาขาหนังเพลง/หนังตลก ซึ่งตกเป็นของ The Grand Budapest Hotel (ส่วนในปี 1977 มาสเตอร์พีซของ วู้ดดี้ อัลเลน พลาดท่าให้กับ The Goodbye Girl บนเวทีลูกโลกทองคำ) อีกครั้งเดียวที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น คือ เมื่อ The Sting ได้รางวัลออสการ์ แต่มันไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงลูกโลกทองคำด้วยซ้ำ

*  มีเลนา คาโนเนโร คว้าออสการ์ตัวที่ 4 มาครองในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายจาก The Grand Budapest Hotel การทิ้งช่วงเวลา 39 ปีนับแต่เธอได้เข้าชิงครั้งแรก (จาก Barry Lyndon และคว้ารางวัลมาครอง) จนถึงการเข้าชิงครั้งล่าสุดถือเป็นสถิติสูงสุดในสาขานี้ โดยเจ้าของสถิติเดิม คือ อีดิธ เฮด ที่เข้าชิงครั้งแรกในปี 1948 จาก Emperor Waltz และเข้าชิงครั้งสุดท้ายในปี 1977 จาก Airport 77 นอกจากนี้ออสการ์ตัวที่สี่ยังทำให้คาโนเนโรแซงหน้าสองนักออกแบบเครื่องแต่งกายชั้นนำอย่าง แซนดี้ พาวเวลล์ (ชนะ 3 เข้าชิง 10) และ คอลลีน แอตวูด (ชนะ 3 เข้าชิง 11) ขึ้นไปครองอันดับสามตลอดกาล โดยเป็นรองแค่ อีดิธ เฮด (ชนะ 8 เข้าชิง 35) และ ไอรีน ชาราฟ (ชนะ 5 เข้าชิง 15)

*  นี่ถือเป็นปีแรกนับแต่ออสการ์มีการขยายสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้มากกว่า 5 เรื่องที่ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขาสูงสุด (ทั้งหมด 8 เรื่องในปีนี้) ไม่ต้องกลับบ้านมือเปล่า  


รายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

Picture: Birdman
Director: Alejandro González Iñárritu (Birdman)
Actor: Eddie Redmayne (The Theory of Everything)
Actress: Julianne Moore (Still Alice)
Supporting Actor: J.K. Simmons (Whiplash)
Supporting Actress: Patricia Arquette (Boyhood)
Original Screenplay: Birdman
Adapted Screenplay: The Imitation Game
Documentary Feature: Citizenfour
Foreign Language Film: Ida (Poland)
Animated Feature Film: Big Hero 6
Production Design: The Grand Budapest Hotel
Cinematography: Birdman
Film Editing: Whiplash
Original Score: The Grand Budapest Hotel
Original Song: Glory (Selma)
Costume Design: The Grand Budapest Hotel
Makeup and Hairstyling: The Grand Budapest Hotel
Sound Mixing: Whiplash
Sound Editing: American Sniper
Visual Effects: Interstellar
Animated Short Film: Feast
Live Action Short Film: The Phone Call
Documentary Short Subject: Crisis Hotline: Veterans Press 1