วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 16, 2558

พี่ชาย My Hero: ตราบาปของผู้ชนะ


ความจริงแล้วผมมีความรู้สึกว่าชื่อเดิมของหนังเรื่องนี้ นั่นคือ How to Win at Checkers (Every Time) ดูเหมือนจะสามารถสื่อสารใจความสำคัญของหนังได้ชัดเจน ตรงประเด็น (แต่แน่นอนว่าคงไม่ค่อยเชิญชวนในแง่การตลาดสักเท่าไหร่) กว่าชื่อใหม่อย่าง พี่ชาย My Hero และที่สำคัญมันยังไม่ได้ไปคล้ายคลึงกับชื่อหนังไทยเกาะกระแสวายเมื่อปีก่อนเรื่อง พี่ชาย My Bromance จนอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ชมทั่วไปอีกด้วย จริงอยู่ว่าสำหรับ โอ๊ต (อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล) หลังจากสูญเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่ยังเล็กจนต้องย้ายมาอาศัยอยู่บ้านป้า เขาย่อมมองเห็นพี่ชาย (ถิร ชุติกุล) เป็นเหมือนฮีโร เพราะเอกถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องทำหน้าที่เหมือนพ่อคนที่สอง คอยเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนน้องชาย และพร้อมกันนั้นก็ต้องหาเงินมาคอยจุนเจือครอบครัว แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป มุมมองของโอ๊ตและของคนดูต่อตัวละครอย่างเอกกลับค่อยๆ แปรเปลี่ยน เขาหาใช่วีรบุรุษ ซึ่งถูกยกย่อง เชิดชู หรือสดุดีในแบบที่ชื่อหนังโน้มนำไปทางนั้นแต่อย่างใด บางทีถ้าหนังถูกตั้งชื่อใหม่ว่า พี่ชาย My Tragic Hero มันอาจสื่อสารอารมณ์ได้ชัดเจนกว่า

จุดหักเหสำคัญของเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อเอกต้องไปเกณฑ์ทหารและเสี่ยงดวงด้วยการจับใบดำใบแดง โดยก่อนหน้านี้หนังได้ปูพื้นให้เห็นปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เพื่อตอกย้ำความเสี่ยงของอาชีพทหาร ขณะเดียวกันเอกก็ยังต้องเป็นห่วงอีกด้วยว่าใครจะคอยดูแลน้องชาย ถ้าเขาต้องไปเข้าประจำการและเงินเดือนทหารอันน้อยนิดจะพอสำหรับประคับประคองครอบครัวให้อยู่รอดได้มั้ย เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับใจ๋ (จิณณะ นวรัตน์) แฟนหนุ่มวัยเดียวกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ เพราะพ่อแม่เขาได้จัดการติดสินบนผู้มีอิทธิพลเรียบร้อยแล้ว เพื่อรับประกันว่าลูกชายจะต้องจับได้ใบดำ

หนังได้แรงบันดาลใจจากสองเรื่องสั้นของ รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ คือ At the Café Lovely ซึ่งครอบคลุมในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้อง และ Draft Day ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการจับใบดำใบแดง โดยการดัดแปลงของผู้กำกับชาวอเมริกัน-เกาหลี จอช คิม ให้สองตัวละครเอกจาก Draft Day เป็นคู่รักกันแทนที่จะเป็นแค่เพื่อนสนิท นอกจากจากช่วยเพิ่มระดับความเข้มข้นทางด้านอารมณ์ให้หนักหน่วงขึ้นแล้ว มันยังสื่อนัยยะให้เห็นการ ชำเราทางชนชั้นได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากสำคัญช่วงท้ายเรื่อง เมื่อโอ๊ตค้นพบว่าพี่ชายเขาสิ้นหวังขนาดสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อแลกกับเงินห้าพันบาท

น่าประหลาดใจที่ว่าถึงแม้ พี่ชาย My Hero จะเดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังเกย์และเลสเบี้ยนมาแล้วทั่วโลก แต่ตัวหนังโดยเนื้อแท้จริงๆ กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อประเด็น หรือการสำรวจตัวตนแบบรักร่วมเพศมากนัก ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็ถือเป็นคุณลักษณะหัวก้าวหน้าอยู่เช่นกัน กล่าวคือ สภาพสังคมในหนังดูเหมือนจะถูกนำเสนอว่าก้าวข้ามรสนิยมทางเพศไปแล้ว ตัวละครผู้ชายสองคนสามารถรักกัน คบหากันได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ถูกล้อเลียน ต่อต้าน และพวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญความสับสน หรือปมขัดแย้งใดๆ ภายในจิตใจ ความรักระหว่างชายสองคนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นธรรมชาติที่ทุกคนยอมรับ ตรงข้ามกับช่องว่างระหว่างชนชั้น ซึ่งยังคงดำรงอยู่ และดูเหมือนจะยิ่งฝังรากลึก ดังจะเห็นได้ว่าป้าของเอกไม่เห็นชอบในความสัมพันธ์ระหว่างหลานชายกับใจ๋ ไม่ใช่เพราะทั้งคู่เป็นผู้ชาย แต่เพราะทั้งคู่มีพื้นฐานทางชนชั้นแตกต่างกันมากเกินไป ซึ่งหนังก็ตอกย้ำให้เห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ

เอกเปรียบเสมือนตัวแทนของชนชั้นล่างประเภทหาเช้ากินค่ำ และรูปลักษณ์ภายนอกของเขายังสะท้อนความเป็น ไทยผ่านผิวที่ค่อนข้างคล้ำและใบหน้าคมเข้ม ขณะที่ใจ๋เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางเชื้อสายจีนผิวขาวที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง บ้านของคนหนึ่งให้ความรู้สึกแบบชนบท ทั้งทุ่งหญ้า เกมกระดานหมากฮอส และเล้าไก่ ส่วนบ้านของอีกคนก็ให้ความรู้สึกแบบคนเมืองที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวก เกมทันสมัย และความโอ่อ่า (ด้วยเหตุนี้การที่โอ๊ตเติบใหญ่กลายเป็น โทนี รากแก่น จึงถือว่ามีน้ำหนักสอดคล้องไปกับเนื้อหาได้อย่างกลมกลืนมากกว่าจะมองว่าเป็นความไม่สมจริง) ความแตกต่างทางด้านวัตถุ หรือรูปลักษณ์ภายนอกหาใช่อุปสรรคเมื่อคู่รักใช้เวลาเป็นส่วนตัวร่วมงาน แต่มันกลับกลายเป็นปัญหาคุกคามเมื่อพวกเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

สำหรับฟันเฟืองเล็กๆ ในสังคมแห่งทุนนิยมที่ไร้เรี่ยวแรง ไร้เส้นสาย และที่สำคัญที่สุดไร้เงินทุนอย่างเอก เขาไม่สามารถต้านทาน หรือมองเห็นช่องทางซิกแซ็กออกจากระบบ กฎเกณฑ์ซึ่งตั้งขึ้นโดยชนชั้นสูงได้ ตัวช่วยเดียวที่ป้าของเขาพอจะหามาให้ได้ คือ เครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการบนบานศาลกล่าวทั้งหลาย ซึ่งหนังเหมือนจะนำเสนอในเชิงล้อเลียนตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องว่าไม่เคยทำให้ชีวิตของใครดีขึ้นได้จริงๆ แต่ความเจ็บปวดอยู่ตรงที่สิ่งเหล่านั้นดูจะเป็นความหวังเดียวของเหล่าประชาชนผู้ไม่ค่อยมีอันจะกินซึ่งต้นทุนชีวิตต่ำและเหลือทางเลือกอยู่ไม่มากนัก แม้ว่ามันจะเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ เพียงใดก็ตาม

ถ้าตัวละครอย่างเอกจะเป็นฮีโร เขาก็คงเป็นฮีโรที่น่าเศร้า เพราะถึงแม้จะเต็มไปด้วยคุณสมบัติดีงาม แต่เขาก็ไม่อาจก้าวข้ามชะตากรรม ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้าไม่ว่าจะโดยพระเจ้า พลังเหนือธรรมชาติ หรือวิถีบิดเบี้ยวของสังคมแห่งทุนนิยมก็ตาม ด้วยเหตุนี้ บทสรุปของเอกทั้งระหว่างขั้นตอนการจับใบดำใบแดงและผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากต่อการคาดเดา

แต่โอ๊ตแตกต่างจากพี่ชายตรงที่เขาพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักแห่งชะตากรรม แม้จะต้องอาศัยวิธี สกปรกก็ตาม ความขันขื่นอยู่ตรงที่พฤติกรรมดังกล่าวของโอ๊ตนั้นเรียกได้ว่าปราศจากความชอบธรรมมากพอๆ กับพฤติกรรมรีดไถของมาเฟียท้องถิ่น (โกวิท วัฒนกุล) หรือกระทั่งการติดสินบนของพ่อแม่ใจ๋ แต่สุดท้ายเขากลับกลายเป็นคนเดียวที่ได้รับการลงทัณฑ์ ขณะคนอื่นๆ กลับสามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมได้อย่างเปิดเผย และคอรัปชันบางประเภทก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับเลือกจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เนื่องจากพวกเขาอยู่ในสถานะได้เปรียบ หรือไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยตรง

บุคลิกไม่ยอมจำนนของโอ๊ตสะท้อนชัดในฉากที่เขาลงทุนซื้อหนังสือสอนวิธีเล่นหมากฮอสให้ชนะทุกตาเพื่อจะได้ค้นหาแต้มต่อเหนือพี่ชายในเกมการเดิมพัน และในที่สุดก็ได้รับผลตอบแทนเป็นชัยชนะสมดังตั้งใจ ไคล์แม็กซ์ของหนังหากมองผ่านเลนส์ของแนวทาง coming-of-age คือ เมื่อเอกตัดสินใจพาน้องชายไปทัวร์ที่ทำงานของเขาในค่ำคืนหนึ่ง ซึ่งให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการออกไปผจญภัยของเหล่าเด็กๆ ใน Stand By Me เพื่อค้นหาศพเหยื่อที่ถูกรถไฟชนในป่า (ฉากหลังของหนังซึ่งให้อารมณ์ชนบทมาโดยตลอดกลับแปรเปลี่ยนเป็นกรุงเทพในฉับพลัน โดยยั่วล้อไปกับการล่มสลายแห่งวัยเยาว์ได้อย่างเหมาะเจาะ) ค่ำคืนนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของโอ๊ตไม่ใช่เพียงเพราะเขามีโอกาสเข้าไปคลุกคลีวงในกับโลกมืดของเซ็กซ์และยาเสพติดเท่านั้น แต่มันยังเป็นค่ำคืนที่ภาพลักษณ์ดุจวีรบุรุษของเอกในจินตนาการของน้องชายต้องพังทลายลงอย่างราบคาบ เด็กชายได้เห็นพี่ชายเขาในสภาพที่พ่ายแพ้หมดรูป ศักดิ์ศรี หรืออุดมการณ์ถูกปลดเปลื้องจนสูญสิ้นด้วยอารมณ์จนตรอกผสานกับความเจ็บแค้นต่อชะตากรรม

ในท้ายที่สุดสิ่งที่โอ๊ตได้เรียนรู้หาใช่คุณค่าสูงส่งของความซื่อสัตย์ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดเหี้ยมการเล่นตามกฎหาได้ลงเอยด้วยความสุขสมหวัง หรือชัยชนะเสมอไป หนังอาจไม่ได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่หากสังเกตจากคอนโดหรูที่โอ๊ตวัยหนุ่ม (โทนี รากแก่น) พักอาศัยอยู่ มอเตอร์ไซค์ราคาแพงที่เขาขับ และท่าทีไม่ยี่หระใดๆ ของเขาในการจับใบดำใบแดง คนดูก็จะพลันตระหนักได้ว่าโอ๊ตก้าวพ้นจากสถานะผู้แพ้มาเป็นผู้ชนะในที่สุด แต่เช่นเดียวกับใจ๋ เขาไม่ได้ยินดีเสียทีเดียวที่รอดพ้นจากการปล่อยชะตากรรมไว้กับดวง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ และยังคงถูก หลอกหลอนด้วยความฝันเกี่ยวกับคืนนั้น มันเปรียบเสมือนความรู้สึกผิดของชนชั้นกลาง เมื่อพวกเขาตระหนักดีถึงความไม่เท่าเทียมกัน และส่วนหนึ่งก็อาจนึกเห็นใจ สงสารชนชั้นล่างที่จำต้องอดทนกับการกดขี่ กับความอยุติธรรม กับชีวิตที่สิ้นไร้ทางเลือก แต่ขณะเดียวกันก็อ่อนแอ เห็นแก่ตัวเกินกว่าจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง เพราะพวกเขาเสพติดในอภิสิทธิ์และชัยชนะ... ก็ใครบ้างล่ะที่อยากจะพ่ายแพ้ไปตลอด

Love & Mercy: ทั้งหมดที่เราต้องการคือความรัก


บางทีเสียงที่ ไบรอัน วิลสัน สมาชิกคนสำคัญของวง The Beach Boys ได้ยินในหัวอาจเป็นทั้งเสียงสวรรค์ที่ช่วยให้เขาคิดสร้างสรรค์ผลงานเพลงระดับคลาสสิกขึ้นหิ้ง (แต่มาก่อนกาลเพราะมันไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางด้านพาณิชย์สักเท่าไหร่ แม้ว่าปัจจุบันมันจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในฐานะหนึ่งในอัลบั้มที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของวงการเพลง) อย่าง Pet Sounds และเป็นเหมือนคำสาปให้เขาตกนรกทั้งเป็นในแง่ชีวิตส่วนตัว เพราะความหมกมุ่นในอันที่จะถ่ายทอดเสียงในหัวออกมาทำให้เขาแปลกแยกจากพี่น้องร่วมวง ภรรยากับลูกๆ จนกระทั่งรวมเลยไปถึงโลกแห่งความเป็นจริง โดยมียาเสพติดเป็นตัวกระตุ้นให้เขายิ่ง ป่วย หนักและถอนตัวออกจากสังคม

Love & Mercy เป็นหนังในแนวทางชีวประวัติคนดังที่แตกต่างจากหนังชีวประวัติทั่วไปแบบที่เราคุ้นเคย กล่าวคือ หนังไม่ได้แฟลชแบ็คเรื่องราวย้อนไปไกลถึงช่วงวัยเด็กของวิลสัน (แต่คนดูก็สามารถเก็บเกี่ยวเศษเสี้ยวเล็กๆ น้อยๆ ได้บ้างผ่านทางสนทนา หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร) ซ้ำยังสรุปรวบยอดการก้าวขึ้นสู่ความนิยมสูงสุดของ The Beach Boys เอาไว้ตั้งแต่ในช่วงสิบนาทีแรกอีกด้วย ขณะที่หนังแนวนี้ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้รูปธรรม ความสำเร็จ เป็นไคล์แม็กซ์เพื่อให้คนดูได้เดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์อิ่มเอิบใจ แต่เนื่องจาก Love &  Mercy ดูจะให้ความสนใจกับการพาคนดูไปรู้จัก ไบรอัน วิลสัน ในแนวลึกและรอบด้านมากกว่าพาคนดูไปรู้จัก The Beach Boys ในแนวกว้าง สมาชิกร่วมวงคนอื่นๆ รวมถึงความสำเร็จของวงจึงกลายเป็นแค่ส่วนประกอบรอบนอก

นอกจากนี้ แทนการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ไปตามช่วงเวลา หนังกลับเลือกจะตัดสลับไปมาระหว่างช่วงเวลาของไบรอันในวัยหนุ่ม (พอล ดาโน) ขณะเขาสร้างสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซอย่างอัลบั้มเพลง Pet Sounds และซิงเกิลเพลง Good Vibrations กับไบรอันในวัยกลางคน (จอห์น คูแซ็ค) ขณะเขาใช้ชีวิตโดดเดี่ยว แปลกแยกจากครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหาย ท่ามกลางการควบคุม/คุกคามอย่างใกล้ชิดของจิตแพทย์  ดร.ยูจีน แลนดี (พอล จิอาแม็ตติ) จนกระทั่งเขาได้พบกับ เมลินดา เลดเบตเตอร์ (อลิซาเบธ แบงค์ส) เซลขายรถสาวสวยที่ช่วยเหลือเขาให้รอดพ้นจากเงื้อมเงาบงการของแลนดี และแต่งงานอยู่กินกับเขามาจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้หนังจะเชื่อมโยงเรื่องราวในสองส่วนเข้าด้วยกันได้อย่างราบรื่น กลมกลืน แต่น่าสังเกตว่าเรื่องราวในสองช่วงเวลาดังกล่าวแทบจะดำเนินไปในทิศทางที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง โดยช่วงวัยหนุ่ม(ฉากหลังคือทศวรรษ 1960) หนังโฟกัสไปยังขบวนการสร้างสรรค์ ตลอดจนอัจฉริยภาพของวิลสันที่จะพัฒนาแนวทางสนุกสนานของดนตรีโต้คลื่นชายหาดแบบที่สร้างชื่อให้กับ The Beach Boys ไปสู่ผลงานทดลองที่แปลกใหม่ ซับซ้อนขึ้น และท้าทายประเพณีเดิมๆ หลังต้องเผชิญกระแสการแข่งขันจากวงดนตรีหัวก้าวหน้าอย่าง The Beatles ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไบรอันกับภรรยาคนแรก มาริลีน (อีริน ดาร์ค) และลูกสาวสองคนกลับถูกกล่าวถึงเพียงผ่านๆ

ความขัดแย้งหลักในเรื่องราวช่วงนี้ คือ แนวทางดนตรีของไบรอันดูจะไม่สอดคล้องกับแนวคิดของเพื่อนร่วมวงสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะ ไมค์ เลิฟ (เจค เอเบล) ซึ่งปรารถนาจะให้ The Beach Boys กลับไปทำดนตรีแบบที่เคยสร้างชื่อเสียงให้พวกเขาในอดีต พร้อมกันนั้นเขายังรู้สึกอีกด้วยว่าผลงานเพลงที่ออกมามีบุคลิกของ ไบรอัน วิลสัน มากกว่า The Beach Boys จนแทบจะเป็นอัลบั้มเดี่ยวของไบรอันก็ว่าได้ และยอดขายที่ตกต่ำของ Pet Sounds ก็เป็นเหตุผลเดียวที่เลิฟนำมาใช้ฟาดฟันกับไบรอัน ผู้ตระหนักดีว่าเพลงชายหาดแบบ I Get Around นั้นผ่านพ้นยุคสมัยไปแล้ว ที่สำคัญมันไม่ใช่ ตัวตนของเขาอีกต่อไป (เราไม่ใช่นักโต้คลื่น และพวกนักโต้คลื่นก็ไม่ฟังเพลงของเรา”) เพราะเช่นเดียวกับ The Beatles เขาปรารถนาจะให้ดนตรีและเนื้อหาในผลงานค่อยๆ เติบโต มีความเป็นผู้ใหญ่ไปพร้อมกับเขา ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่เพียงเพราะยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

ความหมกมุ่นกับโลกส่วนตัวและเสียงในหัวของไบรอันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเขาปฏิเสธไม่ยอมไปร่วมทัวร์คอนเสิร์ตกับสมาชิกคนอื่นๆ ในวงเพื่อจะได้มีเวลาแต่งเพลงชุดใหม่ตามลำพัง โดยหนึ่งในไฮไลท์ของหนัง คือ ฉากที่ไบรอันขนทีมนักดนตรีมายังห้องสตูดิโอเพื่อสร้างสรรค์อัลบั้ม Pet Sounds การได้เห็นเขาอธิบายโน้ตเพลง ปรับแต่งคีย์เปียโน และเรียบเรียงแต่ละสรรพเสียงให้กลายเป็นท่วงทำนอง ซึ่งฟังดูเรียบง่าย จับใจ แต่แฝงไว้ด้วยความซับซ้อนอย่างเหลือเชื่อ เปรียบได้กับการเข้าไปสัมผัสขบวนการทำงานของศิลปินในระยะประชิด ณ ช่วงขณะที่เขามีอิสระและความมั่นใจเต็มเปี่ยม

แต่ไม่นานความสงบของคลื่นลมมรสุมก็ค่อยๆ เลือนหายไป เมื่อไบรอันเริ่มสูญเสียการควบคุม แล้วค่อยๆ ถอยร่นเข้าหายาเสพติดและป้อมปราการที่ไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ หนังส่วนนี้จบลงเมื่อสภาพจิตใจของไบรอันหลุดออกจากวงโคจรแห่งโลกความเป็นจริง แล้วเริ่มล่องลอยไปสู่ดินแดนอันไกลโพ้น

ในทางตรงกันข้ามช่วงชีวิตวัยกลางคน (ฉากหลังคือทศวรรษ 1980) ของไบรอันเน้นย้ำไปยังความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเขากับเมลินดา ณ ช่วงเวลาที่เขาเพิ่งหลุดพ้นจากเหล้า ยาเสพติด และภาวะทำร้ายตัวเองด้วยการกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนน้ำหนักขึ้นพรวดๆ แล้วขังตัวเองอยู่แต่ในห้องนอน แต่ไม่มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานใดๆ ให้เป็นชิ้นเป็นอันได้เนื่องจากฤทธิ์ยาสารพัดชนิดซึ่งแลนดีใช้สำหรับจองจำไบรอัน (เขาวินิจฉัยอย่างผิดๆ ว่าไบรอันป่วยเป็นโรคจิตเภทประเภทหวาดระแวง) หนังในช่วงนี้จึงโฟกัสไปยังการพยายามก้าวออกจากโลกส่วนตัวของไบรอัน พร้อมทั้งยื่นมือมาขอความช่วยเหลือและมิตรไมตรีจากเซลขายรถสาว ซึ่งตอบรับท่าทีดังกล่าวด้วยความลังเล เพราะเมื่อได้พูดคุยกับ ไบรอัน วิลสัน เพียงแค่ไม่กี่นาที เมลินดาก็พลันตระหนักในทันทีว่าเขาผิดปกติจากผู้ชายทั่วไป ด้วยคำพูด วิธีการพูด และภาษาท่าทาง อาจไม่ใช่ในลักษณะที่คุกคาม หรือน่าหวาดหวั่น แต่เกือบจะใกล้เคียงกับส่วนผสมระหว่างทหารผ่านศึกสงครามที่เต็มไปด้วยปมปัญหาทางจิตกับเด็กชายไร้เดียงสา

เขาเล่าถึงประสบการณ์เลวร้ายจากการถูกพ่อลงไม้ลงมือเป็นประจำจนหูดับไปข้างหนึ่งด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง ราวกับมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ที่สำคัญ เขายังเชื่ออีกด้วยว่าการใช้กำลังดังกล่าวช่วยผลักดันให้เขาพยายามมากขึ้น เพื่อจะได้สร้างสรรค์ผลงานชั้นยอดออกมา ฉากที่สะท้อนความรู้สึกทั้งรักทั้งชังระหว่างสองพ่อลูกได้ชัดเจนที่สุดเป็นตอนที่ไบรอันแต่งเพลง God Only Knows และขอความเห็นจากพ่อของเขา (บิล แคมป์) ซึ่งยังเจ็บแค้นไม่หายที่ถูกไล่ออกจากตำแหน่งผู้จัดการวง และไม่รีรอที่จะขัดขาความกระตือรือร้น หรือความภาคภูมิใจของลูกชายทุกครั้งที่มีโอกาส ขณะที่ฝ่ายหลังเอง ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากมายแค่ไหน ลึกๆ แล้วก็ยังคงโหยหาความเห็นชอบจากฝ่ายแรกอยู่ดี ถึงกระนั้นหนังไม่ได้ตั้งใจที่จะลงลึกในแง่จิตวิทยา แต่เป็นการพาคนดูไปสัมผัสเบื้องหลังศิลปินทั้งด้านผลงาน (ช่วงวัยหนุ่ม) และชีวิตส่วนตัว (ช่วงวัยกลางคน) เสียมากกว่า

อาจกล่าวได้ว่า God Only Knows เพลงสุดคลาสสิกที่ไบรอันใช้เวลาแต่งแค่ 7 นาที และได้รับยกย่องจาก พอล แม็คคาร์ทนีย์ ให้เป็นเพลงรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ เพลงที่สามารถนิยามตัวตนของ ไบรอัน วิลสัน ได้อย่างชัดเจน ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าสำหรับมาตรฐานในยุค 1960s เพลงนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง และการท้าทายประเพณีดั้งเดิมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใส่คำว่าพระเจ้าลงไปในเนื้อเพลง การเริ่มต้น เพลงรักด้วยประโยค ฉันอาจไม่สามารถรักเธอไปชั่วนิรันดร์ การใช้เครื่องดนตรีผ่าเหล่าผ่ากอ (สำหรับเพลงป๊อป/ร็อคแอนด์โรล) อย่างเฟรนช์ฮอร์น แอคคอร์เดียน วิโอลา และเชลโล ตลอดจนการเลือกใช้คอร์ดที่ซับซ้อน แปลกใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันเนื้อเพลงกลับค่อนข้างเรียบง่าย จริงใจ ตรงไปตรงมา เป็นคำอ้อนวอนขอความรัก พร้อมกับปล่อยตัวปล่อยใจไปกับพลังของความรัก ซึ่งไม่อาจต้านทาน และไม่อาจอยู่โดยปราศจากมันได้ ถึงแม้ในเวลาเดียวกันก็ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าความรักนั้นจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่

ไบรอัน วิลสัน ก็ไม่ต่างจากเพลง God Only Knows เพราะเมื่อมองจากภายนอกเขาเป็นเหมือนความซับซ้อน ความท้าทาย และความเสี่ยง แต่เหล่านั้นกลับเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มความเปราะบาง อ่อนไหว และภาวะพึ่งพิง ซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใน (ท่อนฮุกของเนื้อเพลงร้องว่า ฉันอยู่ได้ยังไงโดยไม่มีเธอ”) เขาอาจเป็นศิลปินที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นมนุษย์ผู้อ่อนแอ ซึ่งโหยหาการยอมรับ และหลักยึดเหนี่ยว โดยสองปีหลังจากเขาสูญเสียพ่อไปในปี 1973 ไบรอันก็เริ่มขลุกตัวอยู่ตามลำพังจนบรรดาญาติพี่น้องต้องขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ เขากระโจนจากเงื้อมเงาของพ่อมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลดำมืดของแลนดี ไร้เรี่ยวแรง ทั้งทางด้านจิตใจและกฎหมาย (แลนดีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีอำนาจส่งตัวเขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต) ที่จะดิ้นรนไปสู่อิสรภาพ จนกระทั่งเขาได้พบกับเมลินดา

อันที่จริงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไบรอันกับเมลินดาสามารถบิดผันให้กลายเป็นความรักสุดแสนโรแมนติกได้ไม่ยากในสไตล์โฉมงามกับเจ้าชายอสูร แต่เนื่องจากบทหนังเน้นย้ำเหตุการณ์ผ่านมุมมองของเมลินดา (เธอเปรียบเสมือนตัวแทนของคนดู) พร้อมทั้งให้น้ำหนักกับ การช่วยเหลือมากกว่า การเติมเต็มอารมณ์อิ่มเอมที่คนดูได้รับในช่วงท้ายจึงหาได้เกิดจากการที่สุดท้ายทั้งสองสามารถเอาชนะอุปสรรคขวากหนาม แล้วลงเอยด้วยกันอย่างมีความสุข หากแต่เกิดจากการค้นพบอิสรภาพของไบรอัน ซึ่งได้มาด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจอย่างไม่ย่อท้อของเมลินดา โดยในฉากหนึ่งเธอสารภาพว่าเธอไม่ได้ต้องการขจัดแลนดีให้พ้นไปจากชีวิตของไบรอันเพียงเพื่อจะเธอได้มีโอกาสคบหากับไบรอันต่อไป แต่เป็นเพราะเธอไม่อาจทนเห็นไบรอันในสภาพนี้ได้ เขาไม่สมควรจะได้รับการดูแลอย่างไร้จรรยาบรรณและมนุษยธรรมเยี่ยงนี้ สุดท้ายแล้ว เช่นเดียวกับเนื้อหาของเพลง Love & Mercy ซึ่งถูกนำมาใช้สำหรับช่วงเครดิตท้ายเรื่อง ความรักที่ได้รับการเชิดชู เฉลิมฉลอง หาใช่ความรักโรแมนติกระหว่างหนุ่มสาว หากแต่เป็นความรักและความกรุณาปรานีระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยลดทอนความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเท่านั้น แต่มันเปรียบได้กับหยาดฝน ซึ่งจะช่วยมอบความชุ่มฉ่ำให้กับโลกทั้งใบได้อีกด้วย