วันอาทิตย์, สิงหาคม 16, 2558

Southpaw: ความเป็นชายอันเปราะบาง


เวทีมวยเป็นหนึ่งในสนามประลองความเป็นชายที่ยิ่งใหญ่และโดดเด่นสูงสุด เพราะการชกมวยไม่เพียงแต่จะเป็นกีฬาที่ดุเดือด เลือดสาด เน้นการเผชิญหน้าแบบตัวต่อตัวเท่านั้น กระทั่งเหล่าคนดูเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย ก็ล้วนคาดหวังว่าจะได้เห็นความรุนแรง ความหายนะ ความเจ็บปวด และจะรู้สึกพึงพอใจสูงสุดก็ต่อเมื่อนักมวยสามารถน็อกคู่ต่อสู้ให้ล้มลงไปกองกับพื้นได้สำเร็จ การชกในสไตล์ตั้งการ์ดป้องกันตัวเอง แย็บทำคะแนน หรือถอยหลบหมัดอาจถูกมองว่าเป็นการชกแบบคนขี้ขลาด เนื่องจากมันไม่ตอบสนองสัญชาตญาณดิบของทั้งนักมวยเองและเหล่าคนดู

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม บิลลี โฮป (เจค จิลเลนฮาล) เจ้าของแชมป์โลกรุ่นไลท์เฮฟวีเวท ถึงกลายเป็นขวัญใจมวลชน เพราะเขาไม่เพียงจะต่อยชนะ ล้มคว่ำคู่ต่อสู้ได้เท่านั้น แต่สไตล์การชกแบบเดินหน้าชน ใช้หมัดแลกหมัดของบิลลียังตอบสนองวิญญาณกระหายเลือดของคนดูได้อย่างเต็มอิ่ม เขาไม่คิดจะตั้งการ์ด ใช้ฟุตเวิร์คหลบหลีก แต่กลับเดินหน้าไปรับหมัดอย่างไม่เกรงกลัว พร้อมหาจังหวะน็อกคู่ต่อสู้ด้วยหมัดซ้าย ซึ่งเป็นทีเด็ดของเขา บิลลี่เลือกจะใช้ความเจ็บปวดเป็นแรงผลักดัน ใช้มันกระตุ้นความโกรธแค้น แล้วระบายมันออกมาผ่านการใช้กำลัง สำหรับเขากีฬาชกมวยก็เหมือนแบบทดสอบความอดทน และเวทีมวยก็แทบจะไม่ต่างจากสนามประลองโคลอสเซียมของเหล่านักรบแกลดิเอเตอร์ในยุคโรมันเรืองอำนาจ ใครทนรับหมัดได้มากกว่า ทนเลือดไหลได้มากกว่า คนนั้นย่อมมีสิทธิ์เป็นผู้ชนะ จากข้อมูลของนักพากย์ข้างเวที แทบไม่มีนัดใดที่บิลลี่ไม่ต้องเสียเลือด หรือสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ในสภาพที่ไม่สะบักสะบอม แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่เขา ชนะ แม้ว่ามันจะเป็นชัยชนะซึ่งปราศจากชั้นเชิง หรือความสง่างามก็ตาม

สไตล์การชกดังกล่าวพัฒนามาจากแบ็คกราวด์ในย่านสลัม เฮลส์ คิทเช่น ที่บีบบังคับให้เด็กกำพร้าอย่างบิลลี่ต้องปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องจนกระทั่งกลายมาเป็นนักชกระดับโลก ความอดทนต่อชีวิตอันยากลำบากพัฒนามาเป็นสไตล์การชกแบบไม่กลัวหมัด และสภาพร่างกายอันแข็งแกร่ง อึดถึก บางทีความโกรธแค้นในชะตากรรมก็เหมือนการทนรับหมัดคู่ต่อสู้เพื่อรอเวลาสวนกลับ มันเป็นแรงผลักดันให้เขากระหายความสำเร็จ กระหายชัยชนะ และเมื่อวันนั้นมาถึง เขาก็กอบโกยมันอย่างตะกรุมตะกราม ดังจะเห็นได้ไลฟ์สไตล์ในลักษณะ สามล้อถูกหวย ทั้งจากคฤหาสน์หลังมหึมา บรรดา ทีมงานที่รายล้อมหน้าหลัง และการซื้อนาฬิกาฝังเพชรแจกเพื่อนราวกับเป็นของเล่นย่านสำเพ็ง

นี่ถือเป็นหนังเรื่องที่สองติดต่อกันที่ เจค จิลเลนฮาล ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายอย่างสุดโต่งหลังจาก Nightcrawler เมื่อปีก่อน แต่เรียกได้ว่าในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง โดยคราวนี้เขาต้องเข้ายิม กินโปรตีนเพื่อเร่งกล้ามแทนการลดน้ำหนักจนหน้าซูบ แต่น่าสังเกตว่าทั้งสองบทล้วนเป็นงานแสดงที่อาศัยแง่มุมเชิงกายภาพค่อนข้างหนักหน่วง ไม่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หรือทรงผมเท่านั้น แต่รวมไปถึงลักษณะการพูด หรือกระทั่งท่าเดินอีกด้วย ถ้าเปรียบตัวละครเอกใน Nightcrawler ว่าไม่ต่างจากหมาป่าคาโยตี้ ซึ่งเจ้าเล่ห์ คิดคำนวณแผนการในหัวอย่างละเอียดรอบคอบ และชื่นชอบการไล่ล่าเหยื่อในยามค่ำคืน ตัวละครเอกใน Southpaw ก็คงไม่ต่างจากลิงยักษ์ที่แข็งแรง บึกบึน แต่ในเวลาเดียวกันก็ทื่อมะลื่อ และถนัดใช้กำลังมากกว่าใช้สมอง อิริยาบถของจิลเลนฮาลสะท้อนให้เห็นบุคลิกแบบมนุษย์ถ้ำ ทั้งท่าเดินห่อไหล่ ลักษณะการพูดที่ติดๆ ขัดๆ เหมือนเขาต้องใช้เวลากว่าจะสรรหาถ้อยคำแต่ละคำมาเชื่อมต่อให้เป็นประโยค มันทำให้นึกถึงงานแสดงของ แชนนิง ตาตั้ม ใน Foxcatcher แต่อาจจะแตกต่างกันตรงที่บิลลีเป็นตัวละครที่เย่อหยิ่งและเปี่ยมความมั่นใจมากกว่า มาร์ค ชูลท์ซ หลายเท่าตัว เขาจัดวางอีโก้กับความเป็นชายใส่กรอบ พร้อมทั้งแบกติดตัวไปทุกที่

เมื่อภรรยา มอรีน (ราเชล แม็คอดัมส์) ทักท้วงว่าสไตล์การชกแบบไม่กลัวหมัดจะทำให้เขากลายเป็นเอ๋อก่อนลูกสาวจะเรียนจบมหาวิทยาลัย ปฏิกิริยาแรกของบิลลี คือ ยกบุญคุณขึ้นมาอ้าง โดยตอกกลับว่าสาเหตุที่พวกเขามีชีวิตสุขสบาย อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ ส่วนลูกสาวก็ได้เข้าโรงเรียนดีๆ ไม่ได้เป็นเพราะสไตล์การชกแบบนี้หรอกหรือ อีโก้นักมวยของบิลลีดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ เปราะบางไม่แตกต่างต่างจากอีโก้ของการเป็นหัวหน้าครอบครัว และแน่นอนว่าอีโก้ดังกล่าวกำลังจะนำพาเขาไปพบกับหายนะครั้งใหญ่

กระสุนเพียงนัดเดียวทำให้ชีวิตของ บิลลี โฮป ถูกน็อกลงไปนอนนับสิบ ความเปราะบางแห่งความเป็นชายยังผลให้เขาบันดาลโทสะแทนที่จะเดินหนีตามคำแนะนำของมอรีนจากถ้อยคำดูถูก เหยียดหยามอันซ้ำซาก และคาดเดาได้ของนักมวยปากสุนัขอย่าง มิเกล เอสโคบาร์ (มิเกล โกเมซ) ตัวละครซึ่งถูกสร้างขึ้นมาให้มีมิติความเป็นมนุษย์มากพอๆ กับวายร้ายในละครหลังข่าว (เขาไม่ได้แค่ยียวนกวนบาทาเท่านั้น แต่ในช่วงท้ายของหนังคนดูยังจะได้เห็นว่าเขาเป็นนักมวยที่ปราศจากสปิริตนักกีฬาอีกด้วย ) ภายในชั่วพริบตา บิลลีสูญเสียทุกอย่าง ภรรยา ลูกสาว อาชีพการงาน บ้าน รถ ทรัพย์สมบัติ และเหล่าบริวาร ซึ่งห้อมล้อมเขาดุจเดียวกับปลิงดูดเลือด จนสุดท้ายสถานการณ์ถึงขั้นบีบบังคับให้เขาต้องกล้ำกลืนศักดิ์ศรีและอีโก้ แล้วรับทำงานเป็นภารโรงในโรงยิมเก่าๆ ของ ติตัส วิลส์ (ฟอร์เรสต์ วิทเทเกอร์) เพื่อโอกาสที่จะได้ลูกสาวกลับคืนมา

บทภาพยนตร์ของ เคิร์ท ซัตเทอร์ ยืนกรานที่จะดำเนินตามรอยสูตรสำเร็จในทุกย่างก้าว จนไม่ต้องคาดเดาให้เสียเวลาว่าสุดท้ายแล้วหนทางการไถ่บาปของบิลลีจะลงเอยอย่างไร หรือเขาจะมีโอกาสได้ประชันฝีมือกับเอสโคบาร์บนเวทีมวยหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้กำกับ แอนตวน ฟูคัว (Training Day, The Equalizer) ก็ไม่ได้ขึ้นชื่อในเรื่องความลุ่มลึกมากพอจะยกระดับฉากบีบคั้นอารมณ์ที่จำเจ เช่น เมื่อศาลสั่งให้ลูกสาวของบิลลีต้องไปอยู่ในความดูแลของรัฐ เนื่องจากพ่อเด็กมีพฤติกรรมและสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง ให้ดูน่าเชื่อถือ หรือสะเทือนอารมณ์ อย่างไรก็ตาม ฟูคัวชดเชยช่องว่างดังกล่าวด้วยการเล่าเรื่องที่ฉับไว กระตือรือร้น ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับงานแสดงในระดับเหนือมาตรฐานของเหล่าดารานำทั้งหลาย จึงส่งผลให้ Southpaw กลายเป็นความบันเทิงที่ชวนติดตามอยู่บ้าง แม้จะไม่ใช่ในระดับเดียวกับต้นแบบสูตรสำเร็จอย่าง Rocky ก็ตาม

เช่นเดียวกับ Rocky ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของฟูคัวพูดถึงประเด็นการฟันฝ่าอุปสรรคสู่ความสำเร็จ การค้นพบศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน และการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเอาชนะคำสบประมาท ถ้าหนังโฟกัสไปยังเรื่องราวการไต่เต้าของบิลลีจากนักมวยยากไร้มาเป็นแชมป์โลก โดยมีพล็อตเสริมเป็นความรักระหว่างเขากับมอรีน หนังคงแทบไม่ต่างกับการรีเมค Rocky โดยมีฉากหลังที่ร่วมสมัยกว่า  แต่เนื่องจากหนังเลือกจะเริ่มต้นเมื่อชีวิตของบิลลีกำลังยืนอยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพการงาน (ซึ่งอาจตีความให้เป็นภาคต่อของ Rocky ได้ไม่ยาก) ท้ายที่สุดมันจึงมีส่วนผสมของนิทานอุทาหรณ์ สั่งสอนศีลธรรมและค่านิยมแบบดั้งเดิมทำนองว่าชื่อเสียง เงินทอง และเกียรติยศนั้นเป็นของนอกกาย มันอาจหลั่งไหลเข้ามาได้อย่างรวดเร็วและเหือดหายไปในพริบตา พวกมันหาใช่แก่นแท้สำหรับใช้ยึดเหนี่ยวเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งทั้งหมดหาใช่สารที่แปลกใหม่ หรือถูกนำเสนออย่างทรงพลังมากนัก โดยคนดูสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่าผู้จัดการหิวเงินของบิลลี (ฟิฟตี้ เซนต์) ซึ่งพยายามยัดเยียดสัญญาการชกนัดต่อไปให้เขาโดยไม่แคร์ว่าสุขภาพร่างกายและจิตใจของลูกค้าเขาอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมลงแข่งหรือไม่ จะมีปฏิกิริยาเช่นใดเมื่อปรากฏว่าบิลลี่ไม่เหลือเงิน หรือผลประโยชน์ให้เขาสูบอีกต่อไป  

ความน่าสนใจของ Southpaw ไม่ได้อยู่ตรงการกลับมาทวงแชมป์โลกรุ่นไลท์เฮฟวีเวทคืนจาก มิเกล เอสโคบาร์ ซึ่งเป็นพล็อตภาคบังคับที่คนดูสามารถมองเห็นผลลัพธ์ได้ตั้งแต่ไก่โห่ แต่เป็นการเดินทางของ บิลลี โฮป ไปสู่สถานะนักมวยที่เก่งขึ้นและมนุษย์ที่ละเอียดอ่อนขึ้นในเวลาเดียวกัน (สองแง่มุมดังกล่าวสะท้อนผ่านรอยสักบนแขนของเขา ซึ่งมีคำว่า นักสู้ ควบคู่กับ คุณพ่อ”) ติตัส วิลส์ สอนให้เขาฉลาดชก รู้จักยกหมัดตั้งการ์ด รู้จักการแย็บทำคะแนน รู้จักฟุตเวิร์ค และความว่องไว ซึ่งจะทำสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อบิลลียินยอมลดทอนอีโก้ ตลอดจนความเชื่อแบบมนุษย์ถ้ำดั้งเดิมในการใช้กำลังพุ่งเข้าชนปัญหา มอรีนเป็นคนแรกที่ย้ำเตือนให้บิลลีทบทวนว่าเขาไม่อาจชกมวยเพียงเพื่อตอบสนองตัวเองได้อีกต่อไป เขาไม่อาจคิดเพียงว่าตัวเองยังทนรับหมัดคู่ต่อสู้ได้อีก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมา

บิลลีดำเนินชีวิตในลักษณะเดียวกับกลยุทธ์การชกบนเวทีมวย นั่นคือ ปราศจากแท็กติก หรือแผนการเล่น ปราศจากมาตรการป้องกันภัย หรือวิธีหลบหลีก เขาปล่อยการตัดสินใจทุกอย่างไว้กับมอรีน ฉะนั้นเมื่อไม่มีเธอ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ชีวิตของเขาจะพังทลายลงอย่างรวดเร็ว ในท้ายที่สุด บิลลีไม่เพียงจะต้องเรียนรู้วิธีการชกแบบใหม่เท่านั้น แต่เขายังต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบใหม่อีกด้วย ความรับผิดชอบของเขาไม่ได้จบอยู่แค่การหาเงินมาจุนเจือครอบครัวอีกต่อไป แต่เขาจะต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับไลลา (อูนา ลอว์เรนซ์) ซึ่งในวัยนี้ไม่ได้เรียกร้องที่จะมีคฤหาสน์หลังโต หรือกินอาหารหรูหราแต่อย่างใด เธอแค่ต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากคนเป็นพ่อเท่านั้น

สุดท้ายชัยชนะที่แท้จริงของ บิลลี โฮป หาใช่การแย่งชิงเข็มขัดแชมป์โลกกลับคืนมา หากแต่เป็นช่วงเวลาอบอุ่น เป็นส่วนตัวระหว่างสองพ่อลูกในห้องล็อกเกอร์แคบๆ ซึ่งเปี่ยมคุณค่ายิ่งกว่าชื่อเสียง นักข่าว และแสงแฟลชนับร้อยที่รอต้อนรับเขาอยู่ด้านนอกมากมายนัก