วันเสาร์, มกราคม 23, 2559

Spotlight: แสงสว่างจากความจริง


คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Spotlight เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูวีรกรรมของสื่อมวลชนในความมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะตีแผ่ความจริง ตลอดจนความกล้าหาญที่จะยืนหยัดอยู่ข้างความถูกต้องท่ามกลางกระแสเสียดทานจากรอบข้าง หลังจากค้นพบว่าบาทหลวงคาทอลิกรายหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศเด็กหลายคนในหลายเขตแพริชตลอดเวลา 30 ปี โดยที่พระชั้นผู้ใหญ่ระดับคาร์ดินัลมีส่วนรู้เห็น แต่แทนที่จะตัดสินลงโทษคนผิดขั้นเด็ดขาด เขากลับแค่สั่งย้ายพระรูปนั้น ยังผลให้วงจรอุบาทว์ดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับจำนวนเหยื่อที่เพิ่มมากขึ้น ซ้ำร้ายเมื่อยิ่งขุดคุ้ยลึกลงไปจากการได้พูดคุยกับ ฟิล ซาเวียโน (นีล ฮัฟ) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือเหยื่อทารุณกรรมทางเพศโดยน้ำมือของบาทหลวง การณ์ปรากฏว่า “ปลาเน่า” ในเข่งไม่ได้มีแค่ตัวสองตัว และคดีแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ฉากที่สะท้อนอารมณ์ตื่นตะลึงของการค้นพบได้อย่างชัดเจน คือ เมื่อ ริชาร์ด ไซป์ (ให้เสียงโดย ริชาร์ด เจนกินส์) อดีตบาทหลวงที่ทำงานในศูนย์บำบัดของคริสตจักร โทรเข้ามายังออฟฟิศของทีมงานสปอตไลต์ แจกแจงข้อมูลจากผลการศึกษาของเขาตลอดหลายทศวรรษว่า 6% ของบาทหลวงทั้งหมดมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ช็อตเริ่มต้นด้วยภาพโคลสอัพโทรศัพท์ ก่อนจะค่อยๆ ถอยออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเห็นเหล่าสมาชิกของทีมสปอตไลต์นั่งล้อมรอบโต๊ะ ตั้งใจฟังคำอธิบายของไซป์อย่างจดจ่อ นอกจากนี้ช็อตดังกล่าวยังช่วยสะท้อนให้เห็นรูปธรรมของเป้าหมายที่ มาร์ตี้ แบรอน (เลียฟ ชไรเบอร์) ต้องการ นั่นคือ แสดงให้เห็นภาพรวมของระบบ วิธีปฏิบัติของคริสตจักรเพื่อไม่ให้บาทหลวงต้องความผิดโดนตั้งข้อหา แทนการแฉรายชื่อบาทหลวง ซึ่งอาจสร้างกระแสฮือฮาได้พักใหญ่ แต่ย่อมไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย แบรอนต้องการให้ทีมงานสปอตไลต์พิสูจน์ให้ได้ว่า คาร์ดินัลลอว์ (เลน คารัว) มีส่วนรู้เห็น และจงใจใช้เงินปิดปากเหยื่อเคราะห์ร้าย พร้อมทั้งปล่อยให้เหล่าคนผิดกลับมาประจำเขตแพริชซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หนังดำเนินเหตุการณ์ในเมืองบอสตัน ซึ่งประชากรเกินครึ่งเป็นคริสเตียนและส่วนใหญ่ก็นับถือนิกายโรมันคาทอลิก กระแสเสียงข้างมากยังผลให้วัฒนธรรมปกปิดความลับสามารถดำเนินต่อไปได้ เมื่อ เบน แบรดลีย์ จูเนียร์ (จอห์น สแลทเทอรี) ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีนักบวชมากถึง 90 คนในบอสตันที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เหตุใดถึงไม่มีใครพูดอะไรเลย ไมค์ เรเซนเดส (มาร์ค รัฟฟาโล) จึงยกสถานการณ์ในยุคนาซีเรืองอำนาจขึ้นมาเปรียบเทียบ เมื่อชาวเยอรมันส่วนใหญ่เลือกจะนิ่งเฉยต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจำนวนหลายล้านคน ข้อกล่าวหาของไมค์อาจฟังดูหนักหน่วงเกินไปหน่อยจนเบนต้องออกปากเตือนเขาว่าอย่าไปเผลอพูดแบบนี้ต่อหน้าสื่อ แต่มันก็ใช่จะเลื่อนลอยเสียทีเดียว ความชั่วร้ายสามารถดำรงอยู่ได้ เมื่อผู้คนต่างมืดบอดต่อสามัญสำนึกและความถูกต้อง โดยหนึ่งในนั้น คือ พีท คอนลีย์ (พอล กิลฟอยล์) ซึ่งเลือกจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ พร้อมแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ว่าบาทหลวงเหล่านั้นก็แค่ปลาเน่าไม่กี่ตัว และคริสตจักรได้สร้างคุณประโยชน์มากมายให้บ้านเมืองผ่านงานการกุศล ราวกับว่าตัวเลขเงินบริจาคจะสามารถผ่อนบรรเทาความทุกข์ หรือเรียกคืนความไร้เดียงสาแห่งวัยเยาว์กลับคืนมาให้บรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้

ส่วนตัวละครทนายความที่มองในมุมหนึ่งก็อาจไม่แตกต่างจาก อดอล์ฟ อิชมันน์ นายทหารนาซีระดับสูงที่ออกแบบค่ายกักกันชาวยิวในยุโรปตะวันออกเท่าใดนัก ได้แก่ อีริค แม็คลีช (บิลลี ครูดับ) กับ จิม ซัลลิแวน (เจมี เชอริแดน) คนแรกเลือกจะหาส่วนแบ่งรายได้จากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายด้วยการทำข้อตกลงเรียกร้องค่าเสียหาย (หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินปิดปาก) กับคริสตจักรแทนการนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล ขณะที่คนหลังรับว่าความให้เหล่าจำเลยในชุดนักบวชหลายสิบคน แม้จะตระหนักดีว่าพวกเขากระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา ทั้งสองคนมักจะยกจรรยาบรรณในอาชีพมาเป็นข้ออ้างบังหน้าเพื่อปฏิเสธการให้ข้อมูลใดๆ กับทีมงานสปอตไลต์ “ฉันแค่ทำงานของฉันจิมกล่าวกับ ร็อบบี้ โรบินสัน (ไมเคิล คีตัน) เมื่อโดนฝ่ายหลังบุกมาถึงบ้านเพื่อให้ช่วยยืนยันรายชื่อนักบวชต้องความผิดที่เขาเคยว่าความให้ เช่นเดียวกับอิชมันน์ ทั้งสองไม่ใช่ปีศาจร้าย หรือมีปัญหาทางจิต หากแต่โง่เขลาเกินกว่าจะคิดแทนตัวเอง แล้วตัดสินสถานการณ์จากมุมมองอันคับแคบ (เงินและอาชีพการงาน) โดยละเว้นอุดมการณ์ หรือหลักศีลธรรมสากล

ถึงแม้บรรดาบาทหลวงที่กระทำทารุณทางเพศเด็กจะเป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดเรื่องราวทั้งหมด แต่หนังดูจะไม่แสดงท่าทีสนใจพวกเขาสักเท่าไหร่ คนดูได้ทำความรู้จักพวกเขาเพียงผิวเผินจากปากคำของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย โดยคนเดียวที่มีโอกาสเปิดเผยหน้าตา คือ โรนัลด์ พาควิน (ริชาร์ด โอรู้ค) อดีตบาทหลวงซึ่ง ซาชา ไฟเฟอร์ (ราเชล แม็คอดัมส์) บังเอิญเจอระหว่างการตระเวนสัมภาษณ์เหยื่อ จริงอยู่เขาอาจยอมรับว่าตัวเองมีเพศสัมพันธ์กับเด็กโดยไม่แสดงความรู้สึกสำนึกผิด หรือเศร้าเสียใจใดๆ ต่อการกระทำในอดีต แต่หนังกลับไม่ได้พยายามวาดภาพเขาเป็นวายร้ายแม้แต่น้อย แถมยังนำเสนอข้อแก้ตัวกลายๆ ให้เขาด้วยว่าบางทีสาเหตุที่เขากระทำแบบนั้นอาจเพราะตัวเองก็เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน เช่นเดียวกับแบรอนและทีมสปอตไลต์ เป้าโจมตีของหนังหาใช่ตัวผู้กระทำผิดรายบุคคล หากแต่เป็นภาพรวมของระบบกับเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดรอบข้าง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้สร้างบาปแผลแก่คนบริสุทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่กลุ่มที่มีส่วนร่วมโดยตรงอย่างคาร์ดินัลลอว์ หรืออีริค แม็คลีช และ จิม ซัลลิแวน ไปจนถึงกลุ่มที่ยืนเชียร์อยู่ข้างสนามอย่าง พีท คอนลีย์

คริสตจักรมีเพื่อนเยอะ มิทช์ แกราบีเดียน (สแตนลีย์ ทุคชี) ให้เหตุผลว่าทำไมการจะเอาผิดคริสตจักรจึงเต็มไปด้วยอุปสรรคในเมืองอย่างบอสตัน เช่น เมื่อผู้พิพากษาสั่งห้ามเปิดเผยบันทึกคดี หรือเอกสารข้อมูลในศาลเกิดล่องหนไปอย่างไร้ร่องรอย ดูเหมือนทุกคนที่รู้เรื่องราวต่างพากันช่วยปกปิดความลับไม่ว่าจะเพื่อปกป้องสถาบัน หรือหลีกเลี่ยงความเดือดร้อนในลักษณะเดียวกับวัฒนธรรมมาเฟียก็ตาม เหยื่อคนหนึ่งยืนยันกับ ซาชา ไฟเฟอร์ ว่าเธอถูกกดดันให้ต้องหุบปากเงียบไม่ใช่จากคริสตจักรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาผองเพื่อนร่วมเขตแพริชอีกด้วย

ไม่มีใครหลุดพ้นจากความแปดเปื้อนได้แม้กระทั่ง บอสตัน โกลบ และ ร็อบบี้ โรบินสัน ซึ่งค้นพบว่าตนเคยเขียนข่าวเกี่ยวกับบาทหลวงประพฤติผิดจำนวน 20 คนมาแล้ว แต่ไม่ได้ตามเรื่องต่อ และเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีเขาเองก็พลอยลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าตนเองเคยเขียนข่าวดังกล่าว หรือเคยรับรู้ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในเมืองบ้านเกิดของตัวเอง ข้อมูลจากแม็คลีชและซาเวียโนเคยถูกส่งมายังหนังสือพิมพ์แล้ว แต่ไม่เคยถูกนำไปใช้ บางทีอาจเป็นเพราะมีคนพยายามจะฝังกลบเรื่องนี้ แล้วในเวลานั้นก็ไม่มีใครคิดทักท้วงหรือตั้งข้อสงสัย หรือบางทีอาจเป็นเพราะเขาอยู่ใกล้เกินไปจนขาดวิสัยทัศน์ในมุมกว้าง (จิม ซัลลิแวน ถามร็อบบี้ในฉากหนึ่งตอนท้ายเรื่องว่าเขามัวไปมุดหัวอยู่ไหนมาถึงเพิ่งรู้เรื่อง ทั้งที่เหตุการณ์ในหลายกรณีเกิดขึ้นข้างใต้จมูกเขาเลยด้วยซ้ำ ณ โรงเรียนมัธยมที่เขาเคยเรียน ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับตึกที่เขาทำงานอยู่ในปัจจุบัน) และต้องอาศัยสายตาคนนอกอย่างแบรอน (ชาวยิวจากเมืองไมอามี) และแกราบีเดียน (อาร์มีเนียน) ถึงจะสามารถมองเห็นปัญหา

Spotlight ให้ความสำคัญกับการแจกแจงขบวนการสร้างสรรค์บทความในแบบเดียวกับ Zodiac ให้ความสำคัญกับการแจกแจงขบวนการสืบสวนคดีฆาตกรรม เริ่มต้นจากการจุดประเด็นโดย มาร์ตี้ แบรอน ในห้องประชุม ตามมาด้วยการสัมภาษณ์เหยื่อ รวมถึงทนายความที่เกี่ยวข้อง การรวบรวมข้อมูลจากข่าวตัดในห้องสมุด การตัดสินใจเลือกประเด็นที่จะนำเสนอ การหาแหล่งข่าวเพื่อยืนยันข้อมูล จนกระทั่งขั้นตอนลงมือเขียน ตลอดจนการวางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะตามมา ทั้งหมดอาจฟังดูน่าเบื่อ แต่ผู้กำกับ/ร่วมเขียนบท ทอม แม็คคาธีย์ มีลูกล่อลูกชนมากพอจะตรึงคนดูให้ติดตามเรื่องราวได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสลับบทสัมภาษณ์เหยื่อของซาชากับไมค์ หรือการหลอกคนดูด้วยอารมณ์ระทึกขวัญเล็กๆ เช่น ฉากที่ แม็ท คาร์รอล (ไบรอัน ดีอาร์ซีย์ เจมส์) ค้นพบว่าสถานบำบัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านของเขา และฉากที่ไซป์เตือนไมค์ทางโทรศัพท์ว่าเขาอาจโดนอำนาจมืดของคริสตจักรเล่นงาน

นอกจากหนังจะเชิดชูคุณค่าของสื่อมวลชนต่อสังคมในฐานะแสงสว่าง ซึ่งเปิดเผยให้เห็นความจริงท่ามกลางภาพลวงตาและความมืดมิดแล้ว (หนึ่งในฉากสุดแสบสันต์เป็นตอนที่แบรอนตอกกลับคาร์ดินัลว่า หนังสือพิมพ์จะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อมันเป็นอิสระจากสถาบันต่างๆ ไม่ใช่ จับมือร่วมกันตามข้อเสนอของเขา) มันยังเปรียบดังการคารวะสไตล์การทำข่าวอย่างสร้างสรรค์ เน้นความหนักแน่นของข้อมูล ความรอบด้าน ความถูกต้องอีกด้วย โดยศาสตร์ดังกล่าวดูเหมือนกำลังจะสูญหายไปพร้อมๆ กับความตกต่ำของสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกยุคดิจิตอล (ช่วงต้นเรื่องจะสังเกตได้ถึงความสั่นคลอนที่ บอสตัน โกลบ หลังมันถูกขายกิจการให้กับ นิวยอร์ก ไทมส์ พนักงานไม่แน่ใจว่าจะโดนไล่ออกหรือไม่ เมื่อบรรณาธิการคนใหม่ถูกส่งตัวมาควบคุมการทำงานและตัดค่าใช้จ่าย) ซึ่งมักจะให้ความสำคัญกับข่าวที่หวือหวา ฉับไว เหนือข่าวที่ถ้วนถี่ ลุ่มลึก รอบด้าน (ภาพสะท้อนการทำข่าวยุคใหม่สามารถหาดูได้จากหนังอย่าง Nightcrawler) หนังเน้นย้ำอยู่หลายครั้งว่าความสำเร็จในการเปิดโปงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคริสตจักรของทีมงานสปอตไลต์ ซึ่งทำให้พวกเขาคว้ารางวัลพูลิทเซอร์มาครองในปี 2003 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรอเวลาเพื่อข้อมูลที่ครบถ้วนสูงสุด เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง


วิกฤติศรัทธาเริ่มก่อตัวให้เห็นแม้กระทั่งในหมู่นักข่าวสปอตไลต์เอง ซึ่งไม่ได้เป็นคริสเตียนที่เคร่งครัดแต่อย่างใด การตระหนักถึงความโหดเหี้ยม จอมปลอมของคริสตจักร ซึ่งพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเขี่ยสิ่งของสกปรกไปเก็บไว้ใต้พรมด้วยหวังว่าจะรักษาภาพลวงแห่งความบริสุทธิ์ต่อไป ได้บั่นทอนศรัทธาอันบอบบางให้ยิ่งอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเลือกยึดติดกับสถาบัน (โบสถ์/คริสตจักร) ซึ่งประกอบขึ้นด้วยมนุษย์ และข้อเท็จจริงหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ คือ มนุษย์ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้ ชัยชนะแท้จริงของทีมงานสปอตไลต์จึงไม่ใช่การเล่นงานคาร์ดินัลลอว์ (จริงๆ แล้วจากข้อมูลในเครดิตตอนท้ายลอว์กลับได้ดิบได้ดีเสียด้วยซ้ำ) หากแต่เป็นการทำลายกำแพงแห่งภาพลวง บรรยากาศของความลับ และการเก็บกด ด้วยเหตุนี้ ฉากสุดท้ายของ Spotlight จึงเต็มไปด้วยอารมณ์อิ่มเอิบ ชื่นใจ ไม่ใช่จากความสำเร็จ หรือชื่อเสียง แต่เป็นเพราะบทความของพวกเขามีส่วนช่วยให้เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายหลุดพ้นจากความละอายใจและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป   

Oscar 2016: กลุ่มตัวเก็งเริ่มปรากฏ


ว่ากันว่าปีนี้น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ออสการ์ยากแก่การคาดเดา เพราะดูเหมือนไม่มีหนังเรื่องไหน เข้าทาง และลงล็อกออสการ์แบบเป๊ะๆ สักเรื่องเดียว เหล่าตัวเก็งช่วงปลายปีหลายเรื่องทยอยกันฉายให้นักวิจารณ์ชม แต่ไม่มีเรื่องใดกวาดคำชมแบบปราศจากรอยด่างพร้อย The Revenant เต็มไปด้วยความรุนแรงและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากไป จนมองไม่ออกว่าสมาชิกที่เป็นผู้หญิงจะชื่นชอบหนังขนาดโหวตให้มันติดอันดับหนึ่งได้ โอกาสที่ อเลฮานโดร อินาร์ริตู จะคว้าออสการ์ตัวที่สองติดต่อกันจึงค่อนข้างโหดหินไม่น้อย แต่เขาก็ยังถือเป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ ในการเข้าชิง ส่วน Joy ของ เดวิด โอ รัสเซลล์ ลูกรักของออสการ์ในช่วงสามสี่ปีหลังจากคอมโบ The Fighter, Silver Linings Playbook และ American Hustle ก็ดูเหมือนจะได้รับคำวิจารณ์ไม่สู้ดีนัก โอกาสเข้าชิงสาขาหลักคงเหลือเพียง เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ คนเดียว ซึ่งก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าร้อยเปอร์เซ็นต์แบบเต็มปากสักเท่าไหร่ เนื่องจากปีนี้การแข่งขันในสาขานำหญิงค่อนข้างเข้มข้น ส่วนหนังเรื่องล่าสุดของ เควนติน ตารันติโน อย่าง The Hateful Eight แม้จะได้คำชมไม่น้อยจากนักวิจารณ์ตามมาตรฐาน แต่หลายคนต่างเห็นพ้องว่ามันไม่ใช่ผลงานระดับเดียวกับ Pulp Fiction หรือแม้กระทั่ง Inglourious Basterds

ด้วยเหตุนี้บรรดาตัวเก็งช่วงแรกอย่าง Spotlight ซึ่งออกนำไปก่อนใครนับแต่เปิดฉายที่เทศกาลหนังเทลลูไรด์ Carol ซึ่งเปิดตัวในช่วงต้นปีที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ Mad Max: Fury Road ซึ่งเข้าฉายในช่วงซัมเมอร์ และ The Martian ซึ่งฉายวงกว้างในเดือนตุลาคม จึงเริ่มลงหลักปักฐานแน่นหนาขึ้น โดยเฉพาะเรื่องแรกที่ตอนนี้กลายเป็นเต็งหนึ่งแบบปราศจากข้อโต้แย้งหลังกวาดรางวัลนักวิจารณ์ไปครองมากสุด และมี ออร่าหนังออสการ์แบบที่เรื่องอื่นไม่มี กล่าวคือ มันเป็นหนังที่ทุกคนสามารถชื่นชอบได้ในวงกว้าง ต่างจาก Mad Max: Fury Road ที่เป็นไซไฟและแปลกแปร่งเกินไปสำหรับรสนิยมหัวโบราณของออสการ์ ขณะที่ The Martian เองก็ดูเบาบางเกินไป ดูเป็นหนังสำหรับมวลชนมากกว่าหนังรางวัล ส่วนเรื่อง Carol หลายคนเคยตั้งข้อกังขาว่ามันอาจไปไม่ถึงดวงดาวเนื่องจากปฏิกิริยาที่คานส์ไม่ได้เลอเลิศนัก หลายคนชื่นชมหนัง แต่ไม่ได้ หลงรัก หนัง และอารมณ์โดยรวมของหนังก็ค่อนข้างลุ่มลึก เปี่ยมนัยยะในลักษณะเดียวกับ Far From Heaven หนังดังเรื่องก่อนหน้าของ ท็อด เฮย์นส์ ซึ่งเคยถูกคาดการณ์ว่าจะได้เข้าชิง แต่ก็พลาดไปอย่างหวุดหวิด คราวนี้เสียงสนับสนุนจากนักวิจารณ์กับลูกโลกทองคำน่าจะมากพอในการส่งมันให้ติดโผออสการ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราอาจต้องรอดูรายชื่อผู้เข้าชิงจากสมาคมผู้อำนวยการสร้าง (PGA) และสมาคมผู้กำกับ (DGA) เพื่อยืนยันความแน่นอนอีกที

เช่นเคยรางวัลนักวิจารณ์ไม่สามารถรับประกันการเข้าชิงได้มากเท่ากับเสียงสนับสนุนจากคนในวงการ ซึ่งก็คือบรรดารางวัลของสมาคมต่างๆ ที่จะทยอยประกาศในช่วงเดือนมกราคม แต่อย่างน้อยรางวัลนักวิจารณ์ก็มีส่วนช่วยให้คนหันมาสนใจหนังบางเรื่อง นักแสดงบางคน ซึ่งอาจถูกหลงลืม หรือไม่ได้รับความสนใจจากเหล่าคณะกรรมการออสการ์เท่าที่ควร และการคว้ารางวัลนักวิจารณ์ก็อาจกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กรรมการบางคนเลือกหยิบสกรีนเนอร์หนังเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาดูในช่วงเทศกาลวันหยุดท่ามกลางกองสกรีนเนอร์นับร้อยเรื่อง ซึ่งพวกเขาไม่มีเวลาพอจะหยิบมาดูครบทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่ากรรมการจะตัดสินจากการได้ชมหนังเรื่อง หรือการแสดงของคนนั้นๆ แม้ในโลกแห่งความเป็นจริง เราทุกคนต่างตระหนักดีว่าการเลือกใครให้ได้รางวัล หรือได้เข้าชิงอาจมีเหตุผลแค่ ฉันชอบคนนี้ หรือ ฉันเคยร่วมงานกับเขาและเขาเป็นคนน่าคบหา เท่านั้นเองจริงๆ

Brooklyn เป็นหนังที่ถูกมองว่าน่าจะถูกใจกรรมการออสการ์ หลังสร้างเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยที่เทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อช่วงต้นปี จนนำไปสู่สงครามระหว่างสามบริษัทเพื่อแย่งซื้อหนังมาจัดจำหน่าย ได้แก่ ไวน์สตีน คอมปานีย์โฟกัส ฟีเจอร์ส และ ฟ็อกซ์ เซิร์จไลท์ โดยฝ่ายหลังสุดเป็นผู้คว้าชัยชนะมาครองด้วยจำนวนเงินมากถึง 9 ล้านเหรียญ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสถิติสูงสุดของประวัติศาสตร์ซันแดนซ์ แต่กระแสช่วงโค้งสุดท้ายของหนังกลับแผ่วลงจนน่าใจหายเมื่อมันหลุดโผทั้ง SAG นักแสดงกลุ่ม ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก และลูกโลกทองคำหนังยอดเยี่ยม (ดรามา) ซึ่งจุดนี้บ่งชี้จุดอ่อนของหนังชัดเจนและมีโอกาสจะชวดการเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปอย่างหวุดหวิด

แม้จะเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ กวาดคำชมมาได้ถ้วนทั่ว แต่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Brooklyn ไม่ค่อยปังในช่วงเทศกาลแจกรางวัลอาจเป็นเพราะฟ็อกซ์มีหนังตัวเก็งในมือมากไปจนโปรโมต หรือผลักดันได้อย่างไม่ทั่วถึง โดยนอกจากหนังดรามาเกี่ยวกับสาวชาวไอริชที่อพยพมายังประเทศอเมริกาแล้ว พวกเขายังมี Joy กับ The Martian (ฟ็อกซ์ โมชัน พิคเจอร์สและ The Revenant (นิว เรเจนซีให้ต้องดูแลอีกด้วย จะเห็นได้ว่าช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเป็นยุคทองของสตูดิโอฟ็อกซ์บนเวทีออสการ์อย่างแท้จริง หลังคว้าชัยชนะได้สองปีติดจาก 12 Years a Slave และ Birdman หากปีนี้พวกเขาทำสำเร็จอีกครั้งก็จะทำสถิติเทียบเท่า ยูไนเต็ด อาร์ติส (One Flew Over the Cuckoo’s Nest, Rocky, Annie Hall จากปี 1975-1977) และ ดรีมเวิร์คส์ (American Beauty, Gladiator, A Beautiful Mind จากปี 1999-2001ภาวะงานล้นมือส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฟ็อกซ์ไม่คาดหวังว่า The Martian จะมีบทบาทสำคัญบนเวทีออสการ์ พวกเขามองว่ามันเป็นแค่หนังเพื่อการค้าฟอร์มใหญ่ แต่พอกระแสตอบรับจากนักวิจารณ์เริ่มพุ่งทะยานเหนือความคาดหมายที่โตรอนโต ขณะเดียวกันตัวหนังก็ทำเงินถล่มทลายบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ ทันใดนั้นโอกาสจะคว้าออสการ์ตัวแรกมาครองของ ริดลีย์ สก็อต ก็พลันสว่างสดใสขึ้นมาในชั่วข้ามคืน



หนังยอดเยี่ยม

ทันทีที่รายชื่อผู้เข้าชิงของสมาคมนักแสดง (SAG) ประกาศออกมา บรรดาเซียนออสการ์ทั้งหลายต่างออกอาการเงิบกันถ้วนหน้า เมื่อบรรดาหนังดังหนังเต็งทั้งหลายหลุดโผสาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม ซึ่งมีค่าเทียบเท่ากับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กันถ้วนทั่ว รวมไปถึงความป็อปปูลาร์แบบฉับพลันของ Trumbo (เข้าชิงสามสาขา) และ เฮเลน เมียร์เรน (เข้าชิงนำหญิง-สมทบหญิง) ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อน หลายเรื่องมีคำอธิบายที่พอเข้าใจได้ เช่น The Hateful Eight ทำสกรีนเนอร์ส่งกรรมการไม่ทัน ส่วนสกรีนเนอร์ของ Joy กับ The Revenant แม้จะถูกส่งถึงมือกรรมการครบถ้วน แต่ในเวลาที่กระชั้นค่อนข้างมาก จึงเป็นไปได้สูงว่ากรรมการหลายคนอาจยังไม่ได้ดู แต่การที่ The Revenant มี ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ หลุดเข้าชิงนำชาย ก็แสดงว่ามีกรรมการจำนวนมากพอที่ได้ดูหนัง แต่พวกเขาอาจไม่เห็นว่าหนังเหมาะจะเข้าชิงในสาขาสูงสุด เพราะอย่างที่เข้าใจกัน The Revenant อาจไม่ค่อยถูกโฉลกกับกลุ่มกรรมการผู้หญิง หรือกรรมการอาจเห็นว่าหนังไม่ค่อยเหมาะกับคำว่า ensemble และดูเป็นการฉายเดี่ยวของดิคาปริโอมากกว่า เขาจึงหลุดเข้าชิงได้แค่คนเดียว เหมือนที่พวกเขามองหนังอย่าง Gravity แม้ว่านั่นอาจเป็นตัวเปรียบเทียบที่สุดโต่งไปหน่อย

หนังที่คาดว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของ Spotlight แต่กลับหลุดโผไปแบบสุดช็อก คือ The Martian และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น แม็ท เดมอน ยังไม่ติดนำชายอีกด้วย นั่นพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า The Martian ไม่ใช่หนังที่เหล่านักแสดงชื่นชอบเหมือนกับนักวิจารณ์ และตอนนี้โอกาสที่มันจะคว้าออสการ์ไปครองก็แทบจะเรียกได้ว่าดับสูญกันเลยทีเดียว เพราะหนังเรื่องสุดท้ายที่ได้ออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขานักแสดงกลุ่มของ SAG คือ Braveheart ซึ่งถือเป็นปีแรกของการแจกรางวัลโดยผู้ชนะสาขานี้ในปีนั้น คือ Apollo 13

นอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินผู้ชนะแล้ว (อย่าลืมว่านักแสดงคือกลุ่มกรรมการออสการ์ที่ใหญ่ที่สุด แม้ว่ากรรมการ SAG กับกรรมการออสการ์จะเหลื่อมกันอยู่นิดหน่อยก็ตาม พูดง่ายๆ คือ กรรมการ SAG อาจไม่ใช่กรรมการออสการ์ แต่กรรมการออสการ์ส่วนใหญ่จะเป็นกรรมการ SAG ด้วย นอกจากนี้ในแต่ละปีกรรมการที่ทำหน้าที่คัดสรรผู้เข้าชิงของ SAG จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดโดยใช้การสุ่มเลือกตัวแทนจากเหล่าสมาชิกจำนวนสี่พันกว่าคน ซึ่งมีทั้งนักแสดงในวงการหนังและวงการทีวี ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่ภาพสะท้อนรสนิยมของสมาคมโดยรวมเสียทีเดียว ส่วนในขั้นตอนการตัดสินสมาชิกทั้งหมดจะมีสิทธิ์โหวต) รายชื่อผู้เข้าชิง SAG ยังมีอิทธิพลต่อการคาดเดาผู้เข้าชิงอีกด้วย แต่มองจากรายชื่อ best ensemble ที่ค่อนข้างแปลกแปร่งในปีนี้แล้ว มีโอกาสค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกันที่ 2015 จะเป็นปีแรกนับจากปี 2007 ที่ 5 ชื่อผู้เข้าชิงนักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมสอดคล้องกับออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแค่เรื่องเดียว และเรื่องนั้นได้แก่ Spotlight ที่หลายคนกะเก็งกันว่าน่าจะกลายเป็นผู้ชนะในที่สุด เช่นเดียวกับ No Country for Old Men (ปีนั้นอีก 4 เรื่องของ SAG คือ 3:10 to Yuma, American Gangster, Hairspray และ Into the Wild ส่วนออสการ์เลือก Atonement, Juno, Michael Clayton และ There Will Be Blood)

เนื่องจากออสการ์ในปัจจุบันมีผู้เข้าชิงได้มากกว่า 5 เรื่องในสาขาหนังยอดเยี่ยม จึงเป็นไปได้สูงว่าอาจมีหนังหนึ่งหรือสองเรื่องใน best ensemble ของ SAG หลุดเข้าชิงสาขาสูงสุดได้ โดยเรื่องที่มีโอกาสสูงสุด คือ The Big Short รองลงมาคงได้แก่ Beasts of No Nation เพราะสองเรื่องนี้ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับ Trumbo ส่วน Straight Outta Compton เป็นหนังที่ไม่น่าจะถูกจริตกับรสนิยมกรรมการออสการ์สักเท่าไหร่ แม้ว่ามันจะได้แรงผลักดันอีกกระแสจากการติด AFI สิบหนังยอดเยี่ยมแห่งปีก็ตาม (อีก 9 เรื่องได้แก่ The Big Short, Bridge of Spies, Carol, Inside Out, Mad Max: Fury Road, The Martian, Room, Spotlight และ Star Wars: The Force Awakens)

ลูกโลกทองคำช่วยเรียกคืนกฎระเบียบกลับมาอีกครั้งหลังความวุ่นวายของ SAG โดยเหล่าตัวเก็งออสการ์ทั้งหลายต่างทำผลงานได้น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็น The Martian, Carol, Mad Max: Fury Road และ The Revenant ซึ่งสี่เรื่องนี้บวกกับ Spotlight น่าจะเป็นกลุ่มตัวเก็งหลัก หากออสการ์ยังจำกัดการเสนอชื่อแค่ 5 เรื่อง ถัดจากนี้ไปหนังที่มีโอกาสติดไล่เรียงตามความเป็นไปได้ คือ Room, The Big Shot, Inside Out และ Bridge of Spies

หนังสองเรื่องที่ถูกคาดการณ์ในตอนแรกว่าจะหลุดเข้าชิงในสาขาใหญ่อย่าง Steve Jobs และ The Danish Girl ค่อยๆ หล่นหายไปจากกระแส เรื่องแรกเหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะมันถูกมองว่า ล้มเหลว บนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ ขณะที่เรื่องหลังได้รับคำวิจารณ์ไม่ค่อยสู้ดีนัก นอกจากนี้ หนังอีกสองเรื่องที่หลุดจากกระแสไปอย่างน่ามึนงง คือ Brooklyn และ Creed แม้ว่าพวกมันจะได้รับคำวิจารณ์ดีมาก ทำเงินน่าพอใจ แต่กลับไม่ได้เสียงสนับสนุนเท่าที่ควรจากลูกโลกทองคำและ SAG จนโอกาสหลุดเข้าชิงหนังยอดเยี่ยมถือว่าค่อนข้างริบหรี่
               
ตัวเก็ง: Spotlight, The Martian, The Revenant, Carol, Mad Max: Fury Road

ตัวสอดแทรก: Bridge of Spies, Brooklyn, Inside Out, The Big Shot, Room


ผู้กำกับยอดเยี่ยม

มองจากสถานการณ์ในตอนนี้ สามผู้กำกับที่น่าจะนอนมาค่อนข้างแน่ คือ ทอม แม็คคาร์ธีย์, ริดลีย์ สก็อต และ จอร์จ มิลเลอร์ คนแรกเป็นน้องใหม่ที่บารมีอาจไม่มาก แต่หนังของเขาเป็นเต็งหนึ่งในสาขาสูงสุด ส่วนสองคนหลังล้วนแล้วแต่มากด้วยประสบการณ์ มีเครดิตสวยงามในอดีต และที่สำคัญต่างยังไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครอง อีกสองคนที่น่าจะหลุดเข้าชิงได้ไม่ยาก คือ อเลฮานโด อินาร์ริตู และ ท็อด เฮย์นส์ ซึ่ง 5 คนนี้ตรงกับรายชื่อผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โดยสถิติแล้วความเป็นไปได้ดังกล่าวถือว่าน้อยมาก งั้นใครล่ะที่จะมาเป็นตัวสอดแทรก และใครที่อาจหลุดจากวงโคจร

หากมองตัวหนังเป็นหลัก เป็นไปได้ว่า ท็อด เฮย์นส์ มีความเสี่ยงสูงกว่าใคร เพราะหนังของเขาไม่มีการกระตุ้นอารมณ์ หรือเรียกน้ำตาเด่นชัด (ซึ่งในจุดนี้ Room ของ เลนนี อับราฮัมซัน น่าจะได้เปรียบและเข้าทางกรรมการออสการ์มากกว่า) กระนั้นตัวสอดแทรกในเวลานี้นอกเหนือจากขาประจำอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก แล้วดูเหมือนจะเต็มไปด้วยเด็กใหม่ที่บารมีไม่แข็งแกร่งพอจะเบียดเข้ามายืนเป็นหนึ่งในห้าได้ อย่างไรก็ตาม หาก เบห์น ไซท์ลิน (Beasts of the Southern Wild) สามารถทำสำเร็จได้เมื่อสามปีก่อน ก็ไม่แปลกอะไรหากอับราฮัมซันจะทำสำเร็จได้เช่นกันในปีนี้ ปัจจัยสำคัญ คือ ถ้ากรรมการชอบหนังของคุณมากพอ คุณก็ย่อมมีโอกาสเข้าชิง แม้ว่าคุณจะโนเนม หรือกระทั่งกำกับหนังที่พูดภาษาต่างประเทศก็ตาม (จุดน่าเป็นห่วงเพียงอย่างเดียว คือ มีกรรมการได้ดู Room มากพอหรือไม่) อย่างไรก็ตาม ภาพรวมจะปรากฏชัดเจนขึ้นหลังจาก DGA ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง แต่พึงระลึกไว้ว่ารายชื่อดังกล่าวไม่สามารถส่งอิทธิพลใดๆ กับการเข้าชิงรางวัลออสการ์ เนื่องจากมันจะถูกประกาศออกมาหลังเลยกำหนดโหวตผู้เข้าชิงออสการ์ไปแล้ว

อีกหนึ่งตัวสอดแทรกที่น่าสนใจ คือ อดัม แม็คเคย์ จาก The Big Short หนังซึ่งอาจไม่ได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์มากนัก แต่กระแสความฮิตของมันกลับค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากติด 1 ใน 5 สาขานักแสดงกลุ่มของ SAG ติด 1 ใน 5 หนังยอดเยี่ยม (เพลง/ตลก) ของลูกโลกทองคำ และติด 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปีของ AFI ปัญหาสำคัญของ The Big Short อยู่ตรงที่มันเป็นหนังตลก และอาจถูกมองว่าเบาหวิวไปหน่อยสำหรับเวทีออสการ์ ถึงแม้ว่าโดยแก่นของเรื่องแล้วจะโฟกัสไปยังประเด็นหนักหน่วง นั่นคือ การล่มสลายของเศรษฐกิจในอเมริการะหว่างวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ นอกจากนี้ หนังยังอาจจะขาดสิ่งที่เรียกง่ายๆ ว่า คุณค่าทางโปรดักชั่น ซึ่งจะดึงดูดกรรมการจากหลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปวางเทียบกับหนังพีเรียดประณีตวิจิตรอย่าง Carol หรือ Brooklyn กล่าวคือ หนังอาจได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักแสดง คนเขียนบท และบางทีอาจเป็นคนตัดต่อ แต่ไม่ใช่กลุ่มผู้กำกับ ผู้กำกับภาพ คนออกแบบงานสร้าง ฯลฯ ฉะนั้นโอกาสที่มันจะติดรายชื่อหนังยอดเยี่ยมจึงสูงกว่าสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม กระนั้นแม็คเคย์ก็ถือเป็นตัวสอดแทรกที่ไม่ควรมองข้าม

เควนติน ตารันติโน มีโอกาสแค่ไหน มองจากกระแสของหนังในเวลานี้ต้องยอมรับว่าเปอร์เซ็นต์ไม่น่าจะมากนัก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าหนังของเขาจะได้เสียงตอบรับดีแค่ไหน เมื่อเปิดฉายในวงกว้างช่วงเทศกาลคริสต์มาส เพราะสุดท้ายเขาอาจทำสำเร็จได้แบบเดียวกับ Inglourious Basterds แต่ตอนนี้ความเป็นไปได้ที่สูงกว่า คือ มันน่าจะลงเอยด้วยการเข้าชิงสาขาการแสดง (โอกาสสูงสุดน่าจะเป็น เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) บทภาพยนตร์ และงานกำกับภาพสุดอลังการด้วยฟิล์มในระบบ 70 มม. ของ โรเบิร์ต ริชาร์ดสัน

ตัวเก็ง: จอร์จ มิลเลอร์ (Mad Max: Fury Road), ริดลีย์ สก็อต (The Martian), ทอม แม็คคาร์ธีย์ (Spotlight), อเลฮานโดร อินาร์ริตู (The Revenant), ท็อด เฮย์นส์ (Carol)

ตัวสอดแทรก: สตีเวน สปีลเบิร์ก (Bridge of Spies), เลนนี อับราฮัมซัน (Room), อดัม แม็คเคย์ (The Big Short)


นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

มีมล้อเลียน ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ที่ชวดรางวัลออสการ์มาปีแล้วปีเล่าอาจต้องถึงกาลสิ้นสุดในปีนี้ เมื่อนักแสดงหนุ่มจาก Titanic กลับมาพร้อมกับผลงานเหยื่อล่อออสการ์ตัวโตอย่าง The Revenant ที่ได้คำชมค่อนข้างมาก พร้อมด้วยเรื่องราวความวุ่นวายเบื้องหลังการถ่ายทำชนิดที่เหมาะจะเอาไปสร้างเป็นหนังสารคดีสนุกๆ ได้อีกเรื่องเลย โดยเฉพาะการยืนกรานของอินาร์ริตูที่จะถ่ายหนังทั้งเรื่องโดยใช้แสงธรรมชาติ จนส่งผลให้ทุนสร้างหนังบวมเพิ่มขึ้นถึง 35 ล้าน และเพิ่มความกดดันอย่างหนักให้ฝ่ายสตูดิโอในการถอนทุนคืนจากหนังที่ค่อนข้าง “ขายยากแถมยังมีความยาวถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง ดิคาปริโอคว้ารางวัลนักวิจารณ์มาครองมากสุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งคนอื่นๆ เขาได้เข้าชิงลูกโลกทองคำและ SAG อย่างครบถ้วน ผนวกกับเครดิตอันยาวนานจากการเข้าชิง 4 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้รางวัล ทั้งหมดน่าจะช่วยผลักดันให้เขาคว้าออสการ์ตัวแรกมาครองได้สำเร็จ

คนที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งสำคัญในช่วงโค้งแรกอย่าง เอ็ดดี้ เรดเมย์น แชมป์เก่าจาก The Theory of Everything เริ่มหลุดจากจอเรดาร์หลัง The Danish Girl ได้เสียงตอบรับไม่สู้ดีนักจากเหล่านักวิจารณ์ แถมหลายคนยังแสดงความเห็นว่าเรดเมย์นโดนเพื่อนนักแสดงร่วมจออย่าง อลิเซีย วิแคนเดอร์ ขโมยซีนไปต่อหน้าต่อตาอีกด้วย แน่นอนบทผู้ชายที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศถือเป็นบทเหยื่อล่อออสการ์ระดับตัวพ่อตัวแม่ อาจจะมากกว่าบทนักฟิสิกส์ที่ป่วยเป็นโรคเอแอลเอสซึ่งทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์มาครองเสียด้วยซ้ำ แต่การที่เรดเมย์นเพิ่งได้ออสการ์ไปเมื่อปีก่อนย่อมลดทอนโอกาสในปีนี้ของเขาลงตามไปด้วย การแสดงและหนังของเขาจำเป็นต้อง พิเศษ เหนือระดับมาตรฐานอย่างแท้จริงถึงจะมีโอกาสคว้าออสการ์ตัวที่สองติดต่อกัน โดยคนสุดท้ายที่ทำสำเร็จ คือ ทอม แฮงค์ นักแสดงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นขวัญใจชาวอเมริกันและถูกนำไปเปรียบเทียบกับ เจมส์ สจ๊วต ส่วนหนังที่ทำให้เขาคว้าออสการ์มาครองเป็นปีที่สองติดต่อกันอย่าง Forest Gump ก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม

ตอนนี้คู่แข่งสำคัญของดิคาปริโอน่าจะได้แก่ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ แต่ข้อเสียเปรียบของฟาสเบนเดอร์อยู่ตรงที่ Steve Jobs กลายเป็นหนังต้องรอยมลทินไปแล้วจากการล้มคว่ำแบบไม่เป็นท่าในแง่การทำเงิน โอกาสคว้ารางวัลของเขาจึงพลอยตกต่ำตามไปด้วย และหากสังเกตให้ดีจะพบว่าผู้ชนะสาขานี้ในช่วง 13 ปีหลัง มีเพียงสองคนเท่านั้นที่ได้รางวัลจากหนังซึ่งไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขาสูงสุด นั่นคือ เจฟฟ์ บริดเจส จาก Crazy Heart และ ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ จาก The Last King of Scotland ฉะนั้นถ้า Steve Jobs หลุดเข้าชิงหนังเยี่ยมได้สำเร็จ โอกาสของฟาสเบนเดอร์ก็น่าจะสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่การเข้าชิง นอกจากสามตัวล็อกข้างต้นแล้ว อีกสองตำแหน่งที่เหลือคงเป็นการขับเคี่ยวกันมันหยด แรกทีเดียว แม็ท เดมอน ถือเป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ แต่เมื่อเขาพลาดท่าบนเวที SAG เช่นเดียวกับการที่ The Martian ไม่ได้เข้าชิงสาขา ensemble ราศีของเขาก็พลอยมืดดับตามไปด้วย การเข้าชิงลูกโลกทองคำอาจช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีคืนมาได้บ้าง แต่นั่นก็หาใช่แต้มบวกมากมายนักเนื่องจากมันเป็นการเข้าชิงในสาขาหนังเพลง/ตลก หลายคนเชื่อว่าสาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะบทของเดมอนไม่เอื้อให้ “เขมือบซีนมากมายเท่าไหร่ และเขาก็ทำทุกอย่างให้ดูง่ายดาย เบาสบาย (ตามโทนอารมณ์โดยรวมของหนัง) จนไม่เตะตาคณะกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งคนสำคัญอย่าง จอห์นนี เด็บบ์ (Black Mass) ซึ่งลงทุนแปลงโฉมจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม และ ไบรอัน แครนสตัน (Trumbo) ซึ่งรับบทเป็นคนจริงในประวัติศาสตร์ อาหารโปรดสุดโอชะของเหล่ากรรมการออสการ์

เด็บบ์ชวดการเข้าชิงบนเวทีลูกโลกทองคำอย่างน่าประหลาด เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าเวทีนี้บ้าดาราขนาดไหน (แน่นอน เขาถูกแทนที่ด้วยดาราใหญ่อีกคนอย่าง วิล สมิธ จาก Concussion) แต่เด็บบ์เป็นลูกรักของออสการ์ในระยะหลัง การเข้าชิงจากบทบาทที่ไม่ได้น่าประทับใจสักเท่าไหร่อย่าง Finding Neverland และ Sweeny Todd: The Demon Barber of Fleet Street คือ บทพิสูจน์ที่ชัดเจน ฉะนั้นเขาคงหลุดรอดเข้ามาเป็นหนึ่งในห้าได้ เช่นเดียวกับเดมอน ซึ่งได้เข้าชิงครั้งล่าสุดจากสาขาสมทบชายใน Invictus เมื่อ 6 ปีก่อน แครนสตันถือเป็นตัวสอดแทรกที่น่ากลัวมาก เนื่องจากเขาได้เข้าชิงครบถ้วนทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ (หนังดรามาแม้สถิติดังกล่าวจะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การเข้าชิงได้มาก แต่หาได้รับประกันเสมอไป เพราะเมื่อปีก่อน เจค จิลเลนฮาล (Nightcrawler) เคยเจ็บปวดมาแล้ว (เขาได้เข้าชิงทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ แต่ออสการ์กลับเลือก แบรดลีย์ คูเปอร์ จาก American Sniper มาแทน) ที่สำคัญ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แครนสตันเป็นผลงานในแวดวงทีวี (Breaking Bad) เขาอาจถูกมองว่าเป็นแค่นักเตะดิวิชันหนึ่ง และยังไม่พร้อมสำหรับพรีเมียร์ลีก เหมือนกับดาราที่โตมากับซิทคอมอย่าง เจนนิเฟอร์ อนิสตัน (Cake) เมื่อปีก่อน ซึ่งถูกออสการ์แทนที่ด้วย มาริยง โกติญาร์ด (Two Days, One Night)

ตัวเก็ง: ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Revenant), แม็ท เดมอน (The Martian), ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ (Steve Jobs), จอห์นนี เด็บ (Black Mass), เอ็ดดี้ เรดเมย์น (The Danish Girl)

ตัวสอดแทรก: ไมเคิล เคน (Youth), ไมเคิล บี. จอร์แดน (Creed), ไบรอัน แครนสตัน (Trumbo)


นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

สามคนที่น่าจะเข้าชิงออสการ์ค่อนข้างแน่นอน คือ เคท แบลนเช็ตต์ (Carol) บรี ลาร์สัน (Room) และ เซียชา โรแนน (Brooklyn) เพราะพวกเธอล้วนได้เข้าชิง SAG และลูกโลกทองคำอย่างครบถ้วน สองคนหลังยังเดินหน้ากวาดรางวัลสมาคมนักวิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะต้องฟาดฟันกันแย่งรางวัลออสการ์ในท้ายที่สุด เนื่องจากแบลนเช็ตต์ เช่นเดียวกับเรดเมย์น เพิ่งได้รางวัลไปเมื่อปีก่อน แถมยังเป็นออสการ์ตัวที่สองของเธอด้วย โอกาสในปีนี้ของเธอจึงลดน้อยถอยลงตามลำดับ และอย่างที่ทราบกันมาตลอด ออสการ์มักชื่นชอบที่จะให้นักแสดงนำชายรอคอยจนแก่หง่อมก่อนจะมอบรางวัลให้พวกเขา (ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเพียงเรดเมย์นคนเดียวเท่านั้นที่เข้าข่ายคนหนุ่ม) แต่กลับหลงใหลในความสาวความสวยของเหล่านักแสดงนำหญิง (รีส วิทเธอร์สพูนมาริยง โกติยาร์ดเคท วินสเล็ทนาตาลี พอร์ตแมนเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ แต่หากย้อนไปไกลกว่า 10 ปี อัตราส่วนจะมากกว่า 50-50 เสียด้วยซ้ำ) ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกหากมองว่ากรรมการกลุ่มใหญ่ของออสการ์เป็นชายแก่ผิวขาว (โดยถ้าจะเทียบเป็นบุคคลง่ายๆ ก็ให้นึกถึง แจ๊ค นิโคลสัน เป็นตัวอย่าง) ฉะนั้นโอกาสที่โรแนนหรือลาร์สันจะได้ออสการ์จากการเข้าชิงเป็นครั้งที่สอง (สำหรับคนแรก) และครั้งแรก (สำหรับคนหลัง) จึงถือว่าสูงกว่าการคว้าออสการ์ตัวที่สามของแบลนเช็ตต์

แต่ก่อนจะมองข้ามช็อตไปถึงวันงาน สองตำแหน่งว่างที่เหลืออยู่ถือว่ายากเย็นเกินกว่าจะคาดเดา สาเหตุสำคัญเนื่องจากความสับสนในสาขานำหญิง-สมทบหญิงของตัวเก็งสองคน เริ่มจาก รูนีย์ มารา ซึ่งเล่นเป็นคนรักของแบลนเช็ตต์ใน Carol แต่ถูกสตูดิโอผลักดันในเข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบหญิงเพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งคะแนนกันเอง (ตัวเลือกนี้น่าจะถูกนำไปใช้ได้เช่นกันกับหนังเรื่อง Spotlight ในสาขานักแสดงสมทบชาย) และกลยุทธ์ดังกล่าวก็ได้ผลยอดเยี่ยมที่ SAG แต่มาราคว้ารางวัลนำหญิงจากเมืองคานส์มาครอง ก่อนจะถูกผลักให้เข้าชิงในสาขานำหญิงเช่นกันบนเวทีลูกโลกทองคำ ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่เธอจะถูกออสการ์อัพเกรดให้มาอยู่สาขานี้เช่นเดียวกับวินสเล็ทจาก The Reader (ชิงสมทบที่เวที SAG แต่ชิงนำที่เวทีออสการ์) ประเด็นนี้อาจไม่ใช่วิกฤติให้คิดหนักสำหรับกรรมการลูกโลกทองคำ เนื่องจากพวกเขามี 10 ตำแหน่งว่าง (หนังเพลง/ตลก 5 หนังดรามา 5) แต่เมื่อตำแหน่งว่างถูกลดทอนให้เหลือแค่ครึ่งเดียวบนเวทีออสการ์ มาราย่อมเสี่ยงต่อการตกสำรวจ หากเธอถูกแบ่งคะแนนไปมาในสองสาขา และยังแย่งคะแนนกันเองกับแบลนเช็ตต์ในกรณีที่กรรมการอยากกระจายรางวัลให้ไปทั่วถึงหนังทุกเรื่อง (โอกาสชนะของเธอค่อนข้างน้อยหากติดนำหญิง แต่สถานการณ์จะพลิกเป็นนำทันทีหากเธอติดสมทบหญิง เพราะข้อได้เปรียบของน้ำหนักบทที่มากกว่า “สมทบ”)

อีกกรณี คือ อลิเซีย วิแคนเดอร์ จาก The Danish Girl ซึ่งเข้าชิงในสาขานำหญิงบนเวทีลูกโลกทองคำเช่นกัน แต่ติดสมทบหญิงที่ SAG โดยปัญหาหลักที่แตกต่างออกไปของวิแคนเดอร์ คือ เธอมีผลงานที่โดดเด่นอีกเรื่องอย่าง Ex-Machina ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการกระจายคะแนนจนหลุดจากโผ

สาเหตุหลักที่ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ หลุดจากโผ SAG น่าจะเป็นเพราะกรรมการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดู Joy ซึ่งแม้จะได้คำวิจารณ์โดยรวมไม่ดีเท่า Silver Linings Playbook และ American Hustle แต่ลอว์เรนซ์ก็โอบอุ้มหนังไว้ได้อย่างน่าชื่นชม จนกล่าวได้ว่าเธอคือสิ่งที่ดีที่สุดของหนัง ฉะนั้นโอกาสเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สี่ของเธอคงอยู่แค่เอื้อม ถ้ามารากับวิแคนเดอร์ถูกผลักไปเป็นดาราสมทบได้สำเร็จตามความประสงค์ของสตูดิโอ นั่นหมายความว่ายังเหลือตำแหน่งว่างอีกหนึ่งที่ ซึ่งไม่น่าจะตกเป็นของ เฮเลน เมียร์เรน (Woman in Gold) หรือ ซาราห์ ซิลเวอร์แมน (I Smile Back) ตามความเห็นของกรรมการ SAG เพราะเรื่องแรกได้คำวิจารณ์ก้ำกึ่ง ค่อนไปทางย่ำแย่ (สาเหตุเดียวที่เมียร์เรนได้เข้าชิงคงเป็นเพราะเธอพูดภาษาอังกฤษสำเนียงเยอรมัน) ขณะที่หนังเรื่องหลังก็น่าจะลับแลเกินไป และซิลเวอร์แมนก็เป็นดาวตลกที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนักในวงการหนัง คำวิจารณ์สวยหรูของหนังเรื่อง 45 Years และบารมีของ ชาร์ล็อต แรมปลิง จากการเวียนว่ายอยู่ในวงการมานานกว่า 40 ปีน่าจะช่วยผลักดันให้เธอหลุดเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกได้สำเร็จ แน่นอนการได้รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์มาครองสองสามสถาบันย่อมช่วยอัพเกรดโปรไฟล์เธอให้เป็นที่จับตามองมากขึ้นด้วย

ตัวเก็ง: เซียชา โรแนน (Brooklyn), บรี ลาร์สัน (Room), เคท แบลนเช็ต (Carol), เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Joy), ชาร์ล็อต แรมปลิง (45 Years)

ตัวสอดแทรก: ชาร์ลิซ เธรอน (Mad Max: Fury Road), อลิเชีย วิแคนเดอร์ (The Danish Girl), รูนีย์ มารา (Carol)


นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

อาจกล่าวได้ว่าสาขาที่แน่นขนัดที่สุดในปีนี้ คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เพราะลำพังแค่ ไมเคิล คีตันเลียฟ ชรีเบอร์ และ มาร์ค รัฟฟาโล ใน Spotlight เรื่องเดียว กรรมการก็แทบจะตัดสินใจไม่ได้แล้วว่าควรจะเลือกใครให้เข้าชิงดี ซึ่งบางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งสามถึงหลุดโผ SAG และลูกโลกทองคำไปอย่างครบถ้วน เรียกได้ว่าพลิกความคาดหมายของทุกคน โดยเฉพาะในกรณีของคีตันกับรัฟฟาโลที่บทโดดเด่นกว่าใคร แล้วนี่เรายังไม่พูดถึงหนังรวมดาราอย่าง The Big Short และบรรดาผู้ชายอีก 7 คนใน The Hateful Eight ซึ่งน่าจะขับเคี่ยวกันสนุกตามสไตล์หนัง เควนติน ตารันติโน อีกด้วย สำหรับกรณีของ Spotlight มีบางคนเสนอทางออกให้กับสตูดิโอ โดยแทนที่จะส่งทุกคนเข้าชิงในสาขาสมทบชาย พวกเขาควรผลักดันคีตัน ซึ่งมีน้ำหนักบทมากสุดให้เข้าชิงสาขานำชายเพื่อเปิดโอกาสให้รัฟฟาโล หรือชรีเบอร์ได้สอดแทรกขึ้นมา และมองจากคุณภาพของเนื้องานแล้ว มันอาจไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ประการใดสำหรับคีตันที่กำลังมือขึ้นและอาจมีโอกาสหลุดเข้าชิงในสาขานำชาย ดังจะเห็นได้ว่าสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์กก็มอบรางวัลให้เขาในสาขานำชายเช่นกัน

หายนะอันเกิดแก่บรรดานักแสดงหนุ่มใน Spotlight ช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า โรดไซด์ แอทแทร็กชัน (Love & Mercy) ตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ผลักดัน จอห์น คูแซ็ค ให้เข้าชิงในสาขานำชาย และ พอล ดาโน ในสาขาสมทบชาย เพราะถึงแม้ดาโนจะพลาดเข้าชิง SAG แต่เขาก็ยึดตำแหน่งหนึ่งในห้าบนเวทีลูกโลกทองคำได้สำเร็จ และมีโอกาสจะหลุดทะลุไปถึงออสการ์ได้ไม่ยากเมื่อเทียบกับ จาค็อบ เทรมเบลย์ (Room) ซึ่งได้เข้าชิง SAG เวทีประกวดที่มักจะเมตตานักแสดงเด็กเป็นพิเศษดังจะเห็นได้จากการเข้าชิงของ เฟร็ดดี้ ไฮห์มอร์ (Finding Neverland) และ ดาโกต้า แฟนนิง (I Am Sam) ในอดีต แต่เทรมเบลย์ก็ไม่ควรถูกมองข้าม เนื่องจากหนังของเขาถือว่ามีโอกาสเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมค่อนข้างสูง ที่สำคัญ นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่างชื่นชมความสามารถของหนูน้อยคนนี้กันอย่างถ้วนทั่ว

สามคนที่ได้เข้าชิงทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ คือ มาร์ค ไรแลนซ์, ไอดริส เอลบา และ ไมเคิล แชนนอน พวกเขาน่าจะกลายเป็นตัวเก็งไปโดยอัตโนมัติ แต่ในกลุ่มนี้ หากจะมองหาจุดอ่อนคงหนีไม่พ้น ไมเคิล แชนนอน สาเหตุหลักเป็นเพราะหนังอินดี้ของเขาอาจเข้าไม่ถึงกรรมการกลุ่มใหญ่ได้มากเท่า Bridge of Spies หรือกระทั่ง Beasts of No Nation ซึ่งพลิกโผติดสาขาสูงสุดของ SAG 

อีกคนที่น่าจะมีโอกาสหลุดเข้าชิงออสการ์ค่อนข้างมาก คือ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ซึ่งกลับมารับบท ร็อคกี้ บัลบัว อีกครั้งหลังจากล่าสุดใน Rocky Balboa เมื่อปี 2006 และผลงานของเขาใน Creed ก็ได้เสียงตอบรับแง่ดีจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น  ถ้าเขาได้เข้าชิงออสการ์ สตอลโลนจะกลายเป็นนักแสดงคนที่ 6 ที่ได้เข้าชิงออสการ์สองครั้งจากการรับบทเป็นตัวละครเดิมต่อจาก บิง ครอสบี (Going My Way กับ The Bells of St. Mary’s) พอล นิวแมน (The Hustler กับ The Color of Money) อัล ปาชิโน (The Godfather กับ The Godfather Part II) ปีเตอร์ โอทูล (Becket กับ The Lion in Winter) และ เคท แบลนเช็ตต์ (Elizabeth กับ Elizabeth: The Golden Age) ที่สำคัญ เขาจะทำลายสถิติทิ้งช่วงห่าง 25 ปีของนิวแมนนับจาก The Hustler มายัง The Color of Money อีกด้วย เพราะเป็นเวลา 39 ปีแล้วนับจากสตอลโลนได้เข้าชิงออสการ์สาขานำชายจาก Rocky

ก้างขวางคอสำคัญของสตอลโลนนอกเหนือจากสามนักแสดงของ Spotlight และเจ้าหนูจาก Room แล้ว ยังได้แก่ คริสเตียน เบล ซึ่งได้เข้าชิงทั้ง SAG และ ลูกโลกทองคำ เวทีแรกในสาขานักแสดงสมทบ ส่วนเวทีหลังในสาขานักแสดงนำชาย (หนังเพลง/ตลกเพราะในเวลานี้ต้องยอมรับว่า The Big Shot มีภาษีดีกว่า Creed หลายเท่า ทั้งจากการติดนักแสดงกลุ่มบนเวที SAG และหนึ่งใน 10 หนังแห่งปีของ AFI ขณะที่ Creed ซึ่งได้คำวิจารณ์สวยหรูและทำเงินน่าพอใจ กลับไม่ติดโผทั้งสองเวที

ตัวเก็ง: มาร์ค ไรแลนซ์ (Bridge of Spies), ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Creed), ไอดริส เอลบา (Beasts of No Nation), ไมเคิล แชนนอน (99 Homes), พอล ดาโน (Love & Mercy)

ตัวสอดแทรก: คริสเตียน เบล (The Big Short), มาร์ค รัฟฟาโล (Spotlight), ไมเคิล คีตัน (Spotlight), จาค็อบ เทรมเลย์ (Room)


นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

สาขานี้จะปิดจ๊อบได้ไม่ยาก หากกรรมการยอมเชื่อฟังตามสตูดิโอแล้ววาง อลิเซีย วิแคนเดอร์ กับ รูนีย์ มารา ไว้ในหมวดสมทบหญิง โดยเมื่อผนวกกับเต็งจ๋าอีกสองคนอย่าง เคท วินสเล็ท และ ราเชล แม็คอดัมส์ ซึ่งต่างก็ได้เข้าชิงทั้ง SAG และ ลูกโลกทองคำอย่างครบถ้วน ก็จะเหลือตำแหน่งว่างให้แย่งชิงอีกแค่ที่เดียว และนั่นคงเป็นสงครามระหว่าง เฮเลน เมียร์เรน ซึ่งได้เข้าชิงควบทั้งลูกโลกและ SAG แต่หนังของเธออาจไม่เป็นที่ต้อนรับของนักวิจารณ์มากเท่าไหร่ กับ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ ลูกสาวคนโปรดของนักวิจารณ์ที่ห่างหายจากจอเงินไปเป็นเวลานาน ก่อน เควนติน ตารันติโน จะชุบชีวิตให้เธออีกครั้ง (เหมือนที่เขาเคยทำให้กับ จอห์น ทราโวลต้าแพม เกรียร์, โรเบิร์ต ฟอร์สเตอร์ และ เดวิด คาร์ราดีน) กับผลงานกำกับชิ้นล่าสุดเรื่อง The Hateful Eight จริงอยู่ว่าภาษีของเมียร์เรนบนเวทีออสการ์ดีกว่าลีห์หลายเท่า (คนแรกได้เข้าชิง 4 ครั้ง ได้รางวัล 1 ครั้ง ส่วนคนหลังยังไม่เคยเข้าชิงเลยสักครั้งแต่อย่าลืมว่าออสการ์ก็เคยเขี่ยเมียร์เรนทิ้งมาแล้วตอนที่เธอได้เข้าชิงนำหญิง SAG และลูกโลกทองคำจาก Hitchcock (ออสการ์เลือก เอ็มมานูเอล ริวา จาก Amour และ คัวแวนจาเน วอลลิส จาก Beasts of the Southern Wild มาแทนที่)

น่าเสียใจแทน คริสเตน สจ๊วต ที่จะปิดฉากการคัมแบ็คได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากเธอสามารถหลุดเข้าชิงออสการ์ได้สำเร็จ หลังจากต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดี “เล่นหน้าเดียว มาตลอดเวลาหลายปีนับจากความโด่งดังของหนังชุด Twilight ทั้งที่เธอมีศักยภาพสูงกว่านั้นมากมายนัก และพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนในผลงานยุค post-Twilight อย่าง Camp X-Ray, Still Alice และ Clouds of Sils Maria ซึ่งทำให้เธอคว้ารางวัลนักวิจารณ์มาครองได้สองสามแห่ง พร้อมกับสร้างสถิติเป็นนักแสดงอเมริกันคนแรกที่ได้รางวัลซีซาร์ (ออสการ์ของฝรั่งเศสมาครองเมื่อปีก่อน (หนังเพิ่งเข้าฉายในอเมริกาปีนี้ เธอจึงมีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์ในปีนี้)

ตัวสอดแทรกคนสุดท้ายของสาขานี้ต้องเรียกว่าเป็นขาใหญ่เลยทีเดียว นั่นคือ เจน ฟอนด้า ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้ว ครั้ง คว้าชัยมาครอง 2 ครั้งในสาขานำหญิงจาก Klute และ Coming Home บทของเธอใน Youth อาจถูกจำกัดไว้แค่ไม่กี่ฉาก แต่โดดเด่นจนขโมยซีนทุกคนแบบราบคาบ ลูกโลกทองคำยกให้เธอเป็นหนึ่งในห้า เพราะวิแคนเดอร์กับมาราถูกผลักไปเป็นนำหญิงเรียบร้อย แต่บนเวทีออสการ์ฟอนด้าอาจจำเป็นต้องแข่งขันกับทั้งสองโดยตรงเช่นเดียวกับเวที SAG

ตัวเก็ง: อลิเซีย วิแคนเดอร์ (The Danish Girl), เคท วินสเล็ท (Steve Jobs), เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ (The Hateful Eight), ราเชล แม็คอดัมส์ (Spotlight), รูนีย์ มารา (Carol)

ตัวสอดแทรก: คริสเตน สจ๊วต (Clouds of Sils Maria), เจน ฟอนด้า (Youth), เฮเลน เมียร์เรน (Trumbo)