วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 20, 2559

หนังแห่งความประทับใจ


หนัง

พี่ชาย My Hero: น่าทึ่งที่หนังรักษาสมดุลระหว่างอารมณ์เสียดสี เยาะหยันกับความเป็นโศกนาฏกรรมในเรื่องราวได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องเสียสละอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่ออีกอย่าง ด้วยเหตุนี้ในฉากจบของหนัง เราถึงรู้สึกเศร้าสร้อย สะเทือนใจกับชะตากรรมของพี่ชาย และความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของเขาต่อระบบอันบูดเบี้ยว อยุติธรรม แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเจ็บแสบอย่างประหลาดกับ ชัยชนะ ของน้องชาย ซึ่งหากมองดีๆ ก็ไม่แตกต่างจากการศิโรราบในอีกรูปแบบหนึ่ง

อนธการ The Blue Hour: ผีถูกใช้เป็นสัญญะได้อย่างชาญฉลาดในหนังเกย์ที่มองเผินๆ อาจเหมือนล้าหลัง แต่ความจริงกลับหัวก้าวหน้าและทรงพลังอย่างมาก มันจู่โจมบรรทัดฐานรักต่างเพศ ตลอดจนสังคมชายเป็นใหญ่แบบเป็นรูปธรรม (ผีบังตา การฆ่าล้างครอบครัว) และไม่ปรานีปราศรัย พร้อมกับนำเสนอความหวังผ่านปัจเจกนิยม (เกมดำน้ำ) ซึ่งเป็นทางออกเดียวต่อความไม่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญ หนังยังได้ผลยอดเยี่ยมทั้งในแง่การสะท้อนสังคมมากพอๆ กับการวิเคราะห์ตัวละคร

The Assassin: วิจิตรงดงาม พร้อมแฝงอารมณ์หม่นเศร้าได้อย่างนุ่มละมุน ลุ่มลึก มันเป็นทั้งหนังที่เดินตามขนบของหนังกำลังภายในและแหกกฎแบบไม่แคร์สื่อในเวลาเดียวกัน จุดเด่นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องราว ซึ่งค่อนข้างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา หากอยู่ตรงโครงสร้างการจัดเรียงเรื่องราวแบบเว้นช่องว่างของโหวเสี่ยวเชี่ยน ตลอดจนการปั้นแต่งภาพแต่ละเฟรมให้เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ความหมาย และอารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ภายใน

Mad Max: Fury Road: ขั้วตรงข้ามของ The Assassin เมื่อทุกอย่างถูกปาใส่หน้าคนดูอย่างบ้าระห่ำชนิดแทบไม่เหลือช่วงเวลาให้หยุดพักหายใจ เสน่ห์ของหนังหาได้จำกัดอยู่แค่ทักษะการทำหนังสไตล์คลาสสิกที่เปี่ยมประสิทธิภาพ พลังการแสดงอันหนักแน่นโดยเฉพาะ ชาร์ลิซ เธรอน กับ ทอม ฮาร์ดี้ ซึ่งเข้าคู่ได้อย่างเหมาะเจาะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารัตถะอันร่วมสมัยเกี่ยวกับสังคมอุดมคติกับความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย

Snap: เจ็บ.จน.จุก #อดีตคือประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นใหม่

นักแสดงชาย

แม็ท เดมอน (The Martian) บทนี้เปรียบเหมือนขนมกรุบกรอบสำหรับเดมอน ซึ่งเล่นตลกได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้ดรามา แม้จะไม่ค่อยมีใครให้โอกาสก็ตาม แต่พลังดาราและเสน่ห์เฉพาะตัวได้ช่วยยกระดับผลงานขึ้นไปอีกขั้น

เบนิซิโอ เดล โทโร (Sicario) รังสีอำมหิตแผ่ซ่านทั่วทุกอณูโดยไม่จำเป็นต้องพูดอธิบายให้มากความ แค่เห็นแวบแรกเราก็สัมผัสได้แล้วว่าไอ้หมอนี่ ของจริง และถ้ามันอยากได้ข้อมูลอะไร ทางที่ดีให้รีบสารภาพไปเถอะถ้าไม่อยากเจ็บตัว

โคลิน ฟาร์เรลล์ (The Lobster) เมื่อหนุ่มหล่ออันตรายสลัดคราบได้อย่างหมดจดเพื่อมารับบทเป็นพ่อหมีสุดเซื่องผู้โหยหาความโรแมนติกในโลกที่เต็มไปด้วยการเยาะหยันและแบ่งแยก

โรเบิร์ต เดอ นีโร (The Intern) น่ารัก อบอุ่น ในแบบที่เราไม่ค่อยได้เห็น ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับบทที่สร้างชื่อเสียงให้เขาจากหนังอย่าง Taxi Driver และ Raging Bull จริงๆ ถ้าเราสามารถแก่ชราได้สง่างามเหมือนเบนก็คงดีไม่น้อย (แต่สุดท้ายคงลงเอยเหมือนป้าหื่นเพื่อนบ้านซะมากกว่า)

ไรอัน เรย์โนลด์ (The Voices) เวลาได้บทที่เข้าทาง เขาก็สามารถแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ได้ ไม่เสียแรงที่แอบเชียร์มาตั้งแต่ตอนเล่นซิทคอม Two Guys, a Girl and a Pizza Place

นักแสดงหญิง

อลิซาเบ็ธ แบงค์ (Love & Mercy) ยอมรับว่าเซอร์ไพรซ์มากกับงานแสดงอันเปล่งประกายของเธอในหนังเรื่องนี้ เธอทำให้คนดูสามารถสัมผัสได้ชัดเจนถึงความรักและความเมตตาอันเต็มเปี่ยมต่อ ไบรอัน วิลสัน ไม่ใช่ในฐานะชายคนรักเท่านั้น แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์อีกด้วย

เอมี ไวน์เฮาส์ (Amy) เคยนึกหวาดกลัวอยู่กลายๆ ตอนรับรู้ข่าวสารพัดวีรกรรมความหยำเปของเธอผ่านสื่อ แต่พอดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอยากจะเข้าไปกอด กอบกู้จิตใจที่แตกสลายของเธอ

เจสซิก้า แชสเทน (Crimson Peak) อีเจ๊นี่น่ากลัวยิ่งกว่าผีทุกตัวรวมกัน และนางดูจะเป็นนักแสดงคนเดียวที่เข้าถึงโทนอารมณ์แท้จริงของหนังซึ่งยกระดับความน้ำเน่า ความโฉ่งฉ่างขึ้นไปจนเกือบจะเป็นการล้อเลียน

จูลีแอนน์ มัวร์ (Still Alice) ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็พลางให้นึกปลงอนิจจัง เมื่อศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในที่สุดก็จำเป็นต้องหลีกทางให้การเสื่อมถอยของสังขารโดยไม่อาจหลบเลี่ยง

คีรา ไนท์ลีย์ (The Imitation Game) ชอบทุกครั้งเวลาเธอเล่นเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า เข้มแข็ง แต่ก็ซ่อนความเปราะบางเอาไว้ ที่สำคัญสำเนียงอังกฤษของเธอช่างเสนาะเพราะหู ช่วยให้บทพูดที่จงใจไปหน่อยในฉากสุดท้ายดูมีคลาสและทรงพลังได้อย่างเหลือเชื่อ

ความคิดเห็น


ปีนี้เป็นปีที่ผมดูหนังน้อยลงมากโดยเฉพาะหนังในโรง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะหน้าที่การงานซึ่งวุ่นวายมากขึ้นจนหาเวลาว่างได้น้อยลง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาผมมีปัญหาด้านสุขภาพรุมเร้าพอควร และหนึ่งในคำแนะนำของคุณหมอ คือ ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ผมเลยต้องเสียสละเวลาส่วนหนึ่งเพื่อดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรืออย่างน้อยก็ไม่เจ็บป่วยอะไรไปมากกว่านี้ แต่ลึกๆ ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีนัก เพราะเวลางานยุ่งทีไร ก็ชอบเอามาเป็นข้ออ้างไม่ไปออกกำลังกายอยู่เสมอ บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผม อินกับหนังเรื่องฟรีแลนซ์ แม้ว่าโรคภัยของผมจะไม่ได้เกิดจากการหักโหมทำงานหนัก แต่น่าจะเกิดจากสังขารเป็นหลักมากกว่า เพราะคนเราพอเริ่มแก่ตัว โรคภัยไข้เจ็บก็ย่อมถามหาเป็นธรรมดา เป็นโน่นเป็นนี่ง่ายขึ้น ซ้ำร้ายยังหายช้าอีกต่างหาก พอต้องหาสมดุลให้กับชีวิต เพื่อมันจะได้ดำเนินต่อไปโดยไม่ลำบากยากเข็ญ ผมเลยตัดสินใจเลือกดูเฉพาะหนังที่อยากดูก่อน แล้วลดทอนหนังเบี้ยบ้ายรายทางประเภทดูเพื่อฆ่าเวลาลงบ้าง (ฉะนั้นถ้าตาราง in view ของผมจะเว้นว่างมากไปหน่อยก็ต้องขออภัยอย่างสูง) แต่ไม่ว่ายังไงหนังก็คงจะเป็นส่วนสำคัญของชีวิตผมต่อไปเหมือนอย่างที่มันเป็นมาตลอดเวลาหลายทศวรรษ

Legend: โฉมงามกับเจ้าชายอสูร


ช่วงปีสองปีมานี้ดูเหมือนประวัติชีวิตและผลงาน หรือที่หลายคนอาจเรียกว่า ตำนานของสองพี่น้องฝาแฝด เรจินัลด์ เรจจี้ เครย์ กับ โรนัลด์ รอนนี เครย์ อดีตมาเฟียที่เคยครองความยิ่งใหญ่ในย่านอีสต์เอนด์ของลอนดอนระหว่างช่วงทศวรรษ 1950-1960 จะกลับมาอยู่ในสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง โดยนอกจากหนังเรื่อง Legend แล้ว ยังมีสารคดี The Krays: the Prison Years ที่ออกฉายทางช่องดิสคอฟเวอรี ตามมาด้วยสารคดี The Krays: Kill Order ซึ่งออกวางจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี เช่นเดียวกับหนังทุนต่ำเรื่อง The Rise of the Krays ที่เข้าฉายไปเมื่อปีก่อน และภาคต่อซึ่งกำลังจะเข้าฉายในปีนี้เรื่อง The Fall of the Krays นี่ยังไม่รวมถึงหนังสือ One of the Family เขียนโดย มอรีน แฟลนาแกน อดีตนางแบบที่เคยทำผมให้แม่ของพี่น้องเครย์ทุกสัปดาห์ ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ไปเมื่อช่วงฤดูร้อน

มีตอนหนึ่งแฟลนาแกนเล่าว่ารอนกับเรจจี้เกลียดชังหนังเวอร์ชั่น 1990 เรื่อง The Krays (แม้พวกเขาจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 255,000 ปอนด์ และพี่ชายพวกเขา ชาร์ลี จะรับตำแหน่งที่ปรึกษาในกองถ่ายก็ตาม) เพียงเพราะมันมีฉากที่แม่พวกเขา ไวโอเล็ต (รับบทโดย บิลลี ไวท์ลอว์) พูดคำหยาบ แม่ของเราไม่เคยสบถคำหยาบสักครั้งในชีวิต รอนนีบอกกับแฟลนาแกน (ตอนหนังออกฉายเรจจี้ยังอยู่ในเรือนจำ ส่วนรอนนีก็อยู่ในโรงพยาบาลโรคจิต)

ข้อเท็จจริงดังกล่าวชวนให้น่าขนลุกอยู่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาว่าผู้หญิงที่พูดจาอ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อยคนนี้สามารถเลี้ยงดูลูกชายให้เติบใหญ่เป็นอันธพาลจอมโหดได้อย่างไร ใน Legend ไวโอเล็ตมีโอกาสโผล่หน้ามาปรากฏบนจอเพียงสองสามฉาก (รับบทโดย เจน วู้ด) เธอดูน่ารักใคร่เหมือนคุณป้าใจดี ยกชากับเค้กมาเสิร์ฟลูก และต้อนรับเพื่อนๆ ของลูกอย่างเป็นกันเอง ขณะพวกเขากำลังปรึกษาหาทางกลบเกลื่อนร่องรอยคดีฆาตกรรมลับหลังเธอ เธอดูเหมือนแม่บ้านไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่ยังคิดว่าลูกของเธอเป็นหนูน้อยน่ารัก น่าทะนุถนอม และต้องดูแลยามเขาเจ็บไข้ได้ป่วย

ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เขาก็เป็นน้องแก คำพูดส่งท้ายที่ไวโอเล็ตบอกกับเรจจี้บ่งชี้ชัดเจนว่าเธอตระหนักในอาชีพของลูกๆ และท่ามกลางรอยยิ้มกับความเป็นห่วงเป็นใย มันคือการยื่นคำขาด ฉากดังกล่าวยังบ่งชี้ให้เห็นลักษณะการเลี้ยงลูกของเธออีกด้วย เธอปกป้องพวกเขาอย่างมืดบอด มองว่าพวกเขาเป็นคนพิเศษ และพร้อมจะหลับตาสองข้างเวลาพวกเขาทำผิด แน่นอนการดูแลลูกๆ ราวกับไข่ในหินของเธอทำให้สองพี่น้องอาศัยอยู่ในโลกแคบๆ ที่ปิดล้อม พวกเขารักและผูกพันกันแบบแนบแน่น (รอนนีเคยให้สัมภาษณ์ว่า เรามีแม่ของเรา พวกเรามีกันและกัน ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีใครอื่นอีก”) แต่ความยินดีที่จะให้อภัยโดยปราศจากเงื่อนไขและมองข้ามความผิดพลาดของไวโอเล็ตมีส่วนผลักดันให้ฝาแฝดเครย์เชื่อว่าพวกเขาสามารถทำอะไรก็ได้ และไม่ต้องแบกรับผลที่จะตามมา

สองพี่น้องเครย์น่าจะค่อนข้างพอใจกับภาพลักษณ์ของไวโอเล็ตในหนังเวอร์ชั่นนี้ เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ของพวกเขาผ่านงานแสดงของ ทอม ฮาร์ดี้ ซึ่งดูน่าหวาดหวั่น ชวนให้เกรงขามกว่า แกรี เคมพ์ กับ มาร์ติน เคมพ์ สองพี่น้องจากวง Spandau Ballet ในเวอร์ชั่นเก่าหลายเท่าตัว แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาอาจไม่ถูกใจกับหลากหลายรายละเอียดที่ถูกบิดเบือน ดัดแปลงจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดทอนน้ำหนักเกี่ยวกับที่มา ความเป็นไปของแก๊งตระกูลเครย์ตามธรรมเนียมหนังประวัติอาชญากร ให้ตัวละครอย่าง ฟรานเซส เชีย (เอมิลี บราวนิง) ภรรยาคนแรกของเรจจี้ เป็นคนเล่าเรื่อง และเปลี่ยนแนวทางหนังแก๊งสเตอร์ให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมรักในโลกแห่งอาชญากรรม ด้วยเหตุนี้ ตำนาน ในชื่อหนังตามความต้องการของผู้กำกับ/เขียนบท ไบรอัน เฮลเกแลนด์ จึงไม่ได้หมายถึงชื่อเสียงของสองพี่น้องเครย์ในวงการมาเฟียเท่านั้น แต่ยังกินความรวมไปถึงโศกนาฏกรรมรักระหว่างเรจจี้กับฟรานเซสอีกด้วย

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เฮลเกแลนด์ยินดีที่จะแก้ไขประวัติศาสตร์ หรือตีความเพิ่มเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ทุกอย่างลงล็อก เช่น ฉากสังหาร แจ๊ค แม็ควิตตี้ ที่เผลอปากพล่อยเกี่ยวกับฟรานเซส จนเรจจี้เกิดบันดาลโทสะ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเรจจี้วางแผนจะฆ่าแจ๊คตั้งแต่แรก และล่อลวงเขามางานปาร์ตี้โดยมีรอนนีคอยสนับสนุน หรือเมื่อฟรานเซสเล่าตบท้ายว่าเรจจี้พกตั๋วเครื่องบินที่เขาซื้อให้เธอติดตัวจนวันสุดท้ายของชีวิต (เขาติดคุก 33 ปีในข้อหาฆ่าแม็ควิตตี้) แต่หนังไม่ได้หลุดปากเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าเรจจี้มีแนวโน้มเป็นไบเซ็กชวล (ลือกันว่าเขามีสัมพันธ์บางอย่างกับพี่ชายฟรานเซส) และเขาแต่งงานใหม่กับ โรเบอร์ตา โจนส์ ในปี 1997 สามปีก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

ไม่ต้องสงสัยว่าเรจจี้หลงรักฟรานเซสอย่างจริงใจ และการตายของเธอก็ทำให้เขาหดหู่ ซึมเศร้าอยู่นาน แต่นั่นดูจะยังไม่เพียงพอสำหรับเฮลเกแลนด์ เขาต้องการความซาบซึ้งตรึงใจและรักยืนยงในระดับเดียวกับ Romeo & Juliet (ฉากหนึ่งเราจะเห็นเรจจี้ปีนป่ายท่อน้ำเพื่อไปขอฟรานเซสแต่งงานบนระเบียง) เขาจึงเลือกจะใส่สีเติมไข่ลงไปอีกนิดหน่อย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่านั่นเป็นรากฐานของตำนานทั้งหลาย

เห็นได้ชัดว่าเฮลเกแลนด์ต้องการวาดภาพสองพี่น้องให้เป็นขั้วตรงข้าม เรจจี้คือเจ้าชาย มีสติ มีเหตุผล และปรารถนาจะล้างตัวฟอกตนให้เป็นนักธุรกิจ แผ่ขยายอำนาจจากย่านชนชั้นแรงงานอย่างอีสต์เอนด์ไปสู่ย่านชนชั้นกลางอย่างเวสต์เอนด์ ส่วนรอนนีคืออสูร ดิบ เถื่อน บ้าคลั่ง หลงใหลความรุนแรงและโลกแห่งอาชญากรรม โลกของเรจจี้กับฟรานเซสเต็มไปด้วยโรแมนซ์ อารมณ์อ่อนหวาน การแต่งงาน ส่วนโลกของรอนนีกับเท็ดดี้ (ทารอน เอเกอร์ตัน) ก็เต็มไปด้วยเรื่องเพศ การใช้กำลัง และปาร์ตี้เซ็กซ์หมู่ เรจจี้ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นบน ผันตัวให้เป็นที่ยอมรับของ คนวงกว้าง แต่รอนนีกลับไม่แคร์เหล่าผู้ดีตีนแดง หรือไฮโซปลอมเปลือกทั้งหลาย เขาพร้อมจะกระชากหน้ากากเหล่านั้นออก แล้วลากพวกเขาลงมาคลุกโคลนตมในโลกปิดแคบเบื้องล่างดังจะเห็นได้จากกรณีอื้อฉาวของลอร์ดบูธบี

ปัญหาของฟรานเซส คือ เธอตกหลุมรักเจ้าชาย และไม่อาจทำใจยอมรับอสูรได้ จิตใจเธอไม่แข็งแกร่งพอจะรับมือกับรอนนี ซึ่งไม่ได้เป็นแค่พี่น้องฝาแฝดของเรจจี้เท่านั้น แต่ยังเป็น ส่วนหนึ่ง ของเขาอีกด้วย (สมัยเด็กๆ ไวโอเล็ตอาจตั้งชื่อพวกเขาแยกจากกัน แต่เธอชอบเรียกลูกๆ ว่า ฝาแฝด แทนที่จะเรียก เรจจี้กับรอนนี เธอแต่งตัวพวกเขาด้วยชุดเหมือนกันจนดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร มีเพียงเธอเท่านั้นที่แยกออก รากฐานการเลี้ยงดูดังกล่าวทำให้ญาติสนิทหลายคนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาเป็นคนๆ เดียวไม่ใช่สองคน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมรอนนีถึงไม่ชอบขี้หน้าฟรานเซส มันไม่ใช่อคติส่วนตัว แต่เขาไม่ชอบใครก็ตาม ไม่ว่าหญิงหรือชาย ที่จะมาแย่งความสนใจของพี่ชายไปจากเขา เมื่อมองในจุดนี้การเลือกนักแสดงคนเดียวมารับบทสองพี่น้องจึงถือเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด และแน่นอนว่าเทคนิคภาพยนตร์ก็ช่วยให้มันเป็นไปได้กว่าเมื่อสัก 20 ปีก่อน) หนังแสดงให้เห็นว่าเรจจี้มีส่วนของรอนนีซ่อนอยู่ภายใน และทุกครั้งที่มันเผยตัว เช่น เมื่อเขาซ้อมน้องชายจนสะบักสะบอมโทษฐานทำผับเจ๊งระหว่างที่เขารับโทษอยู่ในคุก หรือเมื่อเขาใช้กำลังขืนใจภรรยา ฟรานเซสก็ยิ่งตระหนักว่าเธอไม่อาจแยกเจ้าชายกับอสูรออกจากกันได้ แม้ว่าจะพยายามแค่ไหน เธอโน้มน้าวให้เรจจี้ล้างมือจากวงการมาเฟีย แล้วมาบริหารผับอย่างเดียว แต่เช่นเดียวกับรอนนี เขาหลงใหลโลกใต้ดินจนยากจะถอนตัว

หนังตอกย้ำสถานะ หนึ่งคนในสองร่าง ได้อย่างชัดเจนอีกครั้งในช่วงท้ายเรื่อง หลังเรจจี้ฆ่าแม็ควิตตี้อย่างโหดเหี้ยมต่อหน้าแขกเหรื่อในงานปาร์ตี้ รอนนีเฝ้ามองเหตุการณ์อย่างงุนงงก่อนจะเอ่ยปากถามว่าเขาทำแบบนั้นทำไม คำตอบจากเรจจี้ คือ เพราะฉันฆ่าแกไม่ได้ ถึงจะอยากแค่ไหนก็ตาม ประโยคดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนเปลือกในทางเรื่องราวเท่านั้น (เรจจี้อยากฆ่าน้องเพราะเขาเป็นตัวสร้างความวุ่นวายมาโดยตลอด ทำให้มีปัญหาต้องคอยตามแก้พัลวัน) แต่ยังสะท้อนความนัยถึงการที่เขาไม่อาจกำจัดอสูรในตัวออกไปได้อีกด้วย เขาพยายามจะควบคุมมัน แบบเดียวกับที่เขาพยายามจะควบคุมรอนนีให้ประพฤติตัวอยู่ในกรอบ แต่สุดท้ายทั้งสองอย่างก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

เมื่อไม่อาจทำใจรับมือกับอสูรร้าย การแต่งงานจึงกลายเป็นกรงขังสำหรับฟรานเซส ความรักไม่ได้ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจอสูรให้อ่อนโยน แล้วกลับคืนสู่ร่างอันแท้จริง ตรงกันข้าม เจ้าชายเป็นเพียงเปลือกนอกที่ถูกใช้สำหรับล่อลวงเธอกลับเข้ากรงขัง เช่น เมื่อเขาโผล่มาอ้อนวอนขอคืนดี พร้อมข้อเสนอให้ไปฮันนีมูนรอบสอง แล้วคุณจะเห็นว่าผมเปลี่ยนตัวเองได้ เรจจี้พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล หนักแน่น แบบที่เขาเคยให้สัญญากับเธอว่าจะไม่กลับไปเข้าคุกอีก... ฟรานเซสเคยเชื่อเขา แต่ไม่อีกต่อไป เธอตระหนักดีว่าทางเดียวที่จะค้นพบอิสรภาพอย่างแท้จริง คือ ความตาย

น่าสนใจว่าในความเป็นหนังรัก Legend ไม่ได้เชิดชูความรักอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู มันไม่มีพลังในการเอาชนะ ไม่มีพลังในความเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยหนังเลือกจะเดินหน้าในลักษณะของโศกนาฏกรรมกรีก เมื่อทุกชีวิตถูกขีดเส้นมาแล้ว และไม่ว่าจะพยายามดิ้นรนแค่ไหน คุณก็ไม่อาจหลีกหนีจากชะตากรรมได้ เช่นเดียวกันในความเป็นหนังอาชญากรรม Legend ก็ดูจะไม่ได้มุ่งเน้นสั่งสอนศีลธรรมสักเท่าไหร่ จริงอยู่ สุดท้ายสองพี่น้องเครย์ก็ต้องชดใช้กรรมที่ก่อไว้อย่างสาสม แต่คนดูกลับไม่รู้สึกถึงพลังของสารัตถะในทำนองธรรมะย่อมชนะอธรรม (ตำรวจถูกล้อเลียนเป็นตัวตลกด้วยซ้ำในช่วงต้นเรื่อง) หรือความโลภโมโทสันและบ้าคลั่งอำนาจย่อมนำไปสู่หายนะแบบที่พึงเห็นในหนังมาเฟียทั้งหลาย ตรงข้ามสองพี่น้องเครย์ถูกวาดภาพให้เป็นเหมือนสัตว์ป่าที่ไม่อาจต่อต้านสัญชาตญาณดิบ พวกเขาไม่ได้เข้ามาทำอาชีพมาเฟียเพื่อเงิน แต่เป็นเพราะกระหายอะดรีนาลีน ความรุนแรงแบบเดียวกับพวกเขาคุ้นเคยจากอาชีพก่อนหน้า (นักมวย) และแน่นอนชื่อเสียง การยอมรับ ซึ่งอย่างหลังทำให้พวกเขาเป็นมาเฟียที่ล้มเหลว แต่ยังเป็นตำนานที่มีลมหายใจ

อาชีพแบบพวกเรา ชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องดี ความไร้ตัวตนคือเป้าหมาย ตัวแทนของเจ้าพ่อมาเฟียจากฝั่งอเมริกาแนะนำเรจจี้ เมื่อเห็นข่าวอื้อฉาวของน้องชายเขากับลอร์ดบูธบีในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่การถูกบ่มเพาะมาแต่เด็กว่าเป็น คนพิเศษ โดยแม่ที่ภูมิใจในทุกอย่างที่พวกเขาทำส่งผลให้สองพี่น้องเครย์กระหายความสนใจ (การประกาศตนว่าตัวเองเป็นรักร่วมเพศ หรือรักร่วมสองเพศก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มความพิเศษให้ตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่พฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ) พี่น้องเครย์อยากให้ทุกคนรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ซึ่งนั่นย่อมรวมไปถึงตำรวจด้วย การบุกยิงศัตรูในที่สาธารณะ ท่ามกลางพยานนับสิบคนคือบทพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นมาเฟียที่ห่วยแตก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขากลายเป็นตำนาน (ปัจจุบันจะมีการจัดทัวร์ อาณาจักรเครย์ ทุกสัปดาห์ โดยเริ่มต้นที่ผับ บลายด์ เบกเกอร์ ซึ่งรอนนีบุกไปยิง จอร์จ คอร์เนล ในปี 1966) หนังสือหลายเล่มถูกเขียนเกี่ยวกับพวกเขา ชื่อพวกเขาถูกนำไปอ้างอิงในเพลง ทรัพย์สมบัติของพวกเขาถูกนำไปประมูลด้วยราคาสูงลิ่ว ผมคิดว่าพวกเขาทำเงินในคุกได้มากกว่าตอนอยู่นอกคุกซะอีก แพ็ทริค เฟรเซอร์ ลูกชายของมาเฟีย แฟรงกี้ เฟรเซอร์ กล่าว

ตอนที่หนังเรื่อง The Krays ออกฉาย สองพี่น้องเครย์ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พวกเขาให้ความสำคัญกับ แบรนด์ มากกว่าชีวิตที่เหลืออยู่ เพราะถ้าเรจจี้เอาจริงเรื่องการขอลดโทษ เขาก็ควรจะแสดงท่าทีเสียใจต่ออาชญากรรมที่เขาก่อแล้วไม่ทำตัวให้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน ดูเหมือนหนังและเรื่องจริงจะมาบรรจบกันได้อย่างดงาม ณ จุดนี้ เพราะชีวิตในคุกที่เหลืออยู่ของเรจจี้ลงเอยแบบเดียวกับคำกล่าวของฟรานเซสในตอนท้ายเรื่อง นั่นคือ... กลายเป็นแค่วิญญาณของอดีต

Oscar 2016: บนเส้นทางสามแพร่ง


หลังจากเวทีลูกโลกทองคำ สมาพันธ์นักแสดง (SAG) และสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้าง (PGA) ประกาศผล ออสการ์ปีนี้ก็ยิ่งลุ้นสนุกและยากต่อการคาดเดามากขึ้นอีก The Revenant เริ่มต้นเซอร์ไพรส์ทุกคนก่อนด้วยการวิ่งแซงโค้งคู่แข่ง กวาดรางวัลหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำ เอาชนะตัวเต็งอย่าง Spotlight และ จอร์จ มิลเลอร์ ไปแบบหักปากกาเซียน แถมในสัปดาห์ต่อมาหนังยังได้เข้าชิงออสการ์สูงสุด (12 รางวัล) และทำเงินได้น่าประทับใจบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ อีกด้วย จนหลายคนเริ่มสับรางมาคาดเดาว่าหนังมหากาพย์เลือดสาดกลางหิมะของ อเลฮานโดร อินนาร์ริตู เรื่องนี้จะเป็นฝ่ายกำชัยบนเวทีออสการ์ในท้ายที่สุด

แต่แล้ว PGA กลับช็อกทุกคนถ้วนหน้าด้วยการประกาศให้ The Big Short เป็นหนังยอดเยี่ยม เวทีนี้ถือว่ามีภาษีดีกว่าลูกโลกทองคำหลายเท่าตัว เพราะนอกจากมันจะเป็นการโหวตของคนในวงการภาพยนตร์ (และหลายคนในนั้นก็ควบตำแหน่งกรรมการออสการ์) ไม่ใช่นักข่าวต่างประเทศแค่หยิบมือ ตามสถิติแล้วหนังยอดเยี่ยมของเวทีนี้ก็มักจะเดินหน้าคว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์ไปครอง โดยต้องย้อนกลับไปถึงปี 2006 จึงจะพบกับความไม่สอดคล้อง เมื่อ PGA ให้ Little Miss Sunshine ได้รางวัล ขณะที่ออสการ์ให้ The Departed (พึงสังเกตว่า Little Miss Sunshine เป็นหนังในโทนเบาสมองแบบเดียวกับ The Big Short แม้ว่าเรื่องหลังจะมีน้ำหนักมากกว่าเยอะตรงที่มันพูดถึงประเด็นตึงเครียด ให้อารมณ์ร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกากำลังใกล้เข้ามา)

อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม คือ นับแต่ปี 2009 เป็นต้นมา PGA ใช้การนับคะแนนแบบเดียวกับออสการ์ นั่นคือ เรียงลำดับตัวเลือก ขณะเวทีอื่นยังใช้การนับคะแนนแบบ 1 เรื่อง 1คะแนน กล่าวคือ กรรมการจะเลือกผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว ใครหรือหนังเรื่องอะไรได้รับคะแนนโหวตสูงสุดก็ชนะ ซึ่งการตัดสินสาขาอื่นๆ ทั้งหมดบนเวทีออสการ์ก็จะใช้หลักการนี้ ยกเว้นเพียงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งกรรมการจะต้องเรียงลำดับผู้เข้าชิงตามความชอบ หนังเรื่องใดที่มีคนโหวตให้ติดอันดับ 1 มากกว่า 50% จะคว้าชัยชนะไปครอง แต่ถ้าไม่มีเรื่องไหนทำได้ หนังที่ได้รับการโหวตให้อันดับหนึ่งน้อยสุดจะถูกนำมานับคะแนนใหม่โดยดูจากอันดับสองเป็นหลัก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผู้ชนะ

ความแรงของ The Big Short ที่ PGA ทำให้นักทายผลหลายคนกระโดดลงจากเรือ Spotlight และ The Revenant แล้วเปลี่ยนมายืนเคียงข้างหนังวิกฤติซับไพรม์ของ อดัม แม็คเคย์ แทน เนื่องจากมันเป็นเรื่องเดียวที่สามารถต่อกรกับ Spotlight ได้บนเวที SAG ซึ่งThe Revenant ไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม (ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเวทีนี้) ขณะเดียวกัน ฟากที่เชียร์ Spotlight ก็มองว่า SAGคือ ฐานที่มั่นสุดท้าย หาก Spotlight ไม่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดมาครอง มันก็จะถือเป็นตะปูตอกปิดฝาโลงอย่างแน่นอน

สุดท้ายแล้ว Spotlight ยังรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ด้วยการคว้ารางวัลสูงสุดบนเวที SAG  ทำให้ความเป็นไปได้บนเวทีออสการ์ยังดูคลุมเครือ การขับเคี่ยวกันระหว่าง Spotlight และ The Big Short ถือว่าสูสีตีคู่กันมามากๆ โดยมี The Revenant เป็นตัวสอดแทรกที่สำคัญ (การพลาดเข้าชิง SAG สาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมถือเป็นจุดอ่อนของหนัง เพราะภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้ออสการ์ โดยไม่ได้เข้าชิง SAG สาขานักแสดงกลุ่ม คือ Braveheart) และสถานการณ์คงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป หาก จอร์จ มิลเลอร์ คว้ารางวัลสมาพันธ์ผู้กำกับไปครองตามความคาดหมาย แต่ถ้า ทอม แม็คคาธีย์ หรือแม็คเคย์ หรืออินนาร์ริตู สามารถพลิกกลับมาชนะได้ นั่นย่อมเพิ่มแต้มต่อให้กับหนังของพวกเขาได้หลายเท่าตัว และอาจกลายเป็นไพ่ไม้ตายที่จะนำไปสู่ชัยชนะบนเวทีออสการ์ได้เลย

แต่มองจากแนวโน้มในตอนนี้ มีโอกาสค่อนข้างสูงว่าสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับจะตกเป็นของหนังคนละเรื่อง โดยรางวัลแรกน่าจะตกเป็นของ Spotlight ส่วนรางวัลหลังเป็นของ Mad Max: Fury Road ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง นี่จะถือเป็นครั้งที่สามในรอบสี่ปีที่เกิดการแบ่งสองรางวัลใหญ่ หลังจาก Argo/Life of Pi และ 12 Years a Slave/Gravity เมื่อสามและสองปีก่อนตามลำดับ

สาเหตุที่ทำให้ Spotlight ยังถือไพ่เหนือคู่แข่งอยู่บ้างเล็กน้อย ก็คือ มันเป็นหนังที่คนส่วนใหญ่สามารถ เห็นชอบได้ไม่ยาก แม้บางคนอาจจะแค่ชื่นชม แต่ไม่รัก บางคนอาจเห็นว่ามันไม่ค่อยคู่ควร ไม่ยิ่งใหญ่ หรือขาดเอกลักษณ์แห่งภาพยนตร์ แต่มีน้อยคนนักที่จะเกลียดหนังเรื่องนี้ ซึ่งเราไม่อาจพูดแบบเดียวกันได้กับหนังโชว์พราวด์อย่าง The Revenant และหนังยียวนกวนบาทาอย่าง The Big Short สิ่งเดียวที่ทำให้ Spotlight ไม่กลายเป็นเต็งหนึ่งแบบชัดเจนอย่าง Argo ก็คือ การที่หนังไม่พยายามจะขยี้อารมณ์ ทำให้คนดูซาบซึ้ง หรือลุ้นระทึกจนออกนอกหน้า  แต่ขณะเดียวกัน ความราบเรียบแบบมีรสนิยมดังกล่าวก็มีส่วนทำให้หนังกลายเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ และนั่นก็น่าจะมีแรงมากพอในการฉุดให้มันเป็นหนังออสการ์ตามไปด้วยแบบเดียวกับ No Country for Old Men และ The Hurt Locker

จอร์จ มิลเลอร์ มีแต้มต่อเหนือคู่แข่งคนอื่นๆ ตรงบารมี ความยอมรับนับถือในวงการ แถมเขายังไม่เคยเข้าชิงในสาขานี้มาก่อนอีกด้วย แม้จะเวียนว่ายอยู่ในวงการมานานหลายสิบปี คนเดียวที่พอจะเทียบเคียงกับเขาได้ในแง่บารมี คือ อินนาร์ริตู แต่เขาเพิ่งคว้าชัยชนะมาครองเมื่อปีก่อน คำถาม คือ ออสการ์พร้อมจะยกเขาขึ้นเทียบชั้น จอห์น ฟอร์ด (The Grapes of Wrath กับ How Green Was My Valley) และ โจเซฟ แอล. แมนคีวิคซ์ (A Letter to Three Wives กับ All About Eve) แล้วหรือในฐานะผู้กำกับรางวัลออสการ์สองปีซ้อน

ส่วนบรรดามือใหม่อีกสามคนที่เหลือ แม็คเคย์น่าจะมีภาษีดีกว่าเพื่อนตรงที่หนังของเขาค่อนข้างเน้นสไตล์การเล่าเรื่องที่หวือหวา และอาจพลิกเป็นผู้ชนะได้ หากกรรมการชื่นชอบ The Big Short มากพอ แต่เช่นเดียวกับ Mad Max: Fury Road หนังของเขาต้องเอาชนะอคติต่อตระกูลหนังของเหล่ากรรมการออสการ์ ซึ่งนิยมมองข้ามหนังตลกและหนังแอ็กชั่น หากมองจากการเข้าชิง SAG สาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม เห็นได้ชัดว่าหนังเขา (เช่นเดียวกับ Spotlight ของแม็คคาธีย์) เป็นที่ชื่นชอบของกรรมการกลุ่มนักแสดง แต่หากมองไปยังกรรมการกลุ่มอื่นๆ The Big Short ก็ยังถือว่าเสียเปรียบ Mad Max: Fury Road อยู่นิดหน่อย เพราะหนังของมิลเลอร์ได้เข้าชิงมากถึง 10 สาขา แม้จะไม่มีในสาขาการแสดงเลยก็ตาม แต่นั่นแสดงให้เห็นว่ามันเป็นที่ชื่นชอบโดยรวมของกรรมการในทั่วทุกภาคส่วน

สำหรับสาขานักแสดง ตัวเก็งที่ยากจะพลิกล็อกในตอนนี้ คือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Revenant) และ บรี ลาร์สัน (Room) ซึ่งต่างก็คว้า SAG ไปครองตามความคาดหมาย คู่แข่งเพียงคนเดียวของดิคาปริโอ คือ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ แต่ Steve Jobs ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของกรรมการมากเท่ากับ The Revenant ฉะนั้น โอกาสของเขาจึงพลอยต่ำเตี้ยลงตามไปด้วย ส่วนการติด 1 ใน 8 สาขาหนังเยี่ยมของ Brooklyn ก็น่าจะช่วยต่อลมหายใจให้เซอร์ชา โรแนน มีความหวังมากขึ้น แม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม เนื่องจากบทของเธอไม่ได้เน้นฉากปล่อยของ ปล่อยแสงมากเท่ากับลาร์สัน อีกคนที่ตอนแรกถูกมองว่าอาจจะเป็นม้ามืดในโค้งสุดท้ายก็คือ ชาร์ล็อต แรมปลิง (45 Years) แต่หลังจากสถานการณ์ปากพาจนในประเด็น OscarSoWhite โอกาสน้อยนิดของเธอก็พลอยหายวับไปกับตา แม้ว่าหากพิจารณาในแง่คุณภาพของงานแสดงล้วนๆ แล้ว อาจพูดได้ว่าเธอเองก็ไม่เป็นสองรองใคร ปัญหาอยู่ตรงที่หนังของเธอมีคนได้ดูไม่มากพอ ส่วนการแสดงของเธอก็เน้นแง่มุมลึกซึ้ง เปิดช่องต่อจินตนาการค่อนข้างสูง ไม่ใช่การระเบิดอารมณ์แบบตรงไปมาตรงมา ซึ่งจะเข้าทางออสการ์มากกว่า

ไอดริส เอลบา คว้า SAG สาขานักแสดงสมทบชายไปครอง แต่เขาไม่ได้เข้าชิงออสการ์ ฉะนั้นตำแหน่งตัวเก็งจึงตกเป็นของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ซึ่งคว้าลูกโลกทองคำมาครอง แต่โอกาสที่คุณลุงร็อกกี้จะถูกแย่งรางวัลในนาทีสุดท้ายก็เป็นไปได้เช่นกัน ทั้งจากขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง มาร์ค ไรแลนซ์ (Bride of Spies) และ มาร์ค รัฟฟาโล (Spotlight) คนแรกมีเครดิตรางวัลยาวเหยียดจากแวดวงละครเวที แต่ค่อนข้างโนเนมในแวดวงภาพยนตร์ ส่วนคนหลังเรียกได้ว่าเป็นลูกรักออสการ์ แต่ยังไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง ซึ่งนั่นถือเป็นข้อได้เปรียบ เช่นเดียวกับการอยู่ในหนังเต็งหนึ่งอย่าง Spotlight


สาขาที่น่าจะขับเคี่ยวกันสนุก คือ สมทบหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งเต็งหนึ่ง อลิเซีย วิแคนเดอร์เพิ่งคว้า SAG ไปครอง แต่ก็อย่าเพิ่งมองข้าม รูนีย์ มารา เจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเมืองคานส์ เนื่องจาก Carol เป็นที่ชื่นชอบของกรรมการมากพอจะได้เข้าชิงมากถึง 6 สาขา และบทของเธอก็มีน้ำหนักระดับ ดารานำ แบบเดียวกับวิแคนเดอร์ใน The Danish Girl เช่นกัน ข้อได้เปรียบหลักของวิแคนเดอร์อยู่ตรงที่ปีนี้เป็นปี แจ้งเกิด ของเธอ โดยเธอยังฝากผลงานน่าประทับใจเอาไว้ในหนังอีกเรื่องอย่าง Ex-Machina ที่สำคัญ บทภรรยาอมทุกข์เรียกได้ว่าเป็นบทที่เข้าทางออสการ์ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของ เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี (A Beautiful Mind) และ มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน (Pollock)ในอดีต


OscarSoWhite Controversy

ทันทีที่รายชื่อนักแสดงที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ 20 คนถูกประกาศ และเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ทั้งหมดล้วนเป็นนักแสดงผิวขาว กระแสความโกรธเกรี้ยวจากเหล่าคนผิวสีก็เริ่มแพร่กระจาย แล้วลุกลามเป็นไฟป่าในเวลาอันรวดเร็ว นำไปสู่การประกาศคว่ำบาตรงานออสการ์ของผู้กำกับ สไปค์ ลี และนักแสดง จาดา พิงเค็ตต์ สมิธ (สามีของเธอ วิล สมิธ ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ ซึ่งมี 10 ที่ว่างสำหรับสาขานำชาย แต่เขาไม่ติด 1 ใน 5 บนเวทีออสการ์) โดยพวกเขาไม่ได้หงุดหงิดกับการมองข้ามนักแสดงผิวสีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการหลุดโผสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ Straight Outta Compton (รางวัลเดียวที่หนังได้เข้าชิง คือ สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งนักเขียนบททั้งสี่คนเป็นผิวขาว) และ Creed หนังที่กำกับและนำแสดงโดยชายผิวสี แต่คนเดียวที่ได้เข้าชิงกลับเป็น ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน

ข้อหา เหยียดผิว ถูกโยนใส่สถาบันและกรรมการออสการ์อย่างอยุติธรรม ทั้งที่ต้นตอปัญหาที่แท้จริงคืออุตสาหกรรมในภาพรวมที่ไม่เปิดโอกาสให้คนผิวสีมากกว่า ถามว่าเป็นไปได้ไหมนี่กรรมการบางคนอาจมีอคติทางสีผิว เมื่อต้องเลือกผู้เข้าชิง คำตอบ คือ ก็เป็นไปได้ แต่คงไม่มากไปกว่าอคติต่อรักร่วมเพศ ผู้หญิง หรือหนังในบางแนวทาง เพราะต้องไม่ลืมว่าออสการ์เป็นการตัดสินรางวัล ซึ่งอาศัยความคิดเห็นเป็นหลัก ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิดชัดเจนเหมือนการบวกลบเลข บางคนอาจเห็นว่าหนังเรื่องนี้ดี แต่อีกคนกลับมองว่ามันห่วยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือบางคนอาจจะไม่ได้ดูหนังด้วยซ้ำ แต่โหวตเอาจากชื่อคนรู้จัก หรือเพื่อนในวงการที่เคยร่วมงานกันมา แล้วไหนจะมีเรื่องการดูหนัง หรือเข้าถึงหนังของกรรมการเข้ามาเป็นปัจจัยอีก แปลกหรือที่นักแสดงจากหนังอย่าง Tangerine จะไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง ในเมื่อกรรมการส่วนหนึ่งอาจไม่เคยได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะหยิบสกรีนเนอร์ขึ้นมาดูเลย

มองจากสถิติแล้ว นักแสดงคนเดียวที่ น่าจะ ได้เข้าชิง แต่พลาดท่าตกรอบไปแบบสุดเซอร์ไพรส์ คือ ไอดริส เอลบา เพราะเขาได้เข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำ SAG และ BAFTA เขาวืดได้ยังไง เห็นได้ชัดว่าคนที่มาแทนที่เขา คือ ทอม ฮาร์ดี้ และ มาร์ค รัฟฟาโล ซึ่งอยู่ในหนังที่กรรมการส่วนใหญ่ชื่นชอบและเป็นตัวเต็งลำดับต้นๆ บนเวทีออสการ์ ไม่ใช่หนังเล็กๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่าง Beasts of No Nation ปรากฏการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนไหม แน่นอนที่สุด ที่จริง มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 นี่เอง เมื่อ เดเนียล บรูห์ล (Rush) ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ SAG และ BAFTA แบบครบถ้วนในสาขาเดียวกัน แต่กลับไม่ได้เข้าชิงออสการ์ ใครเป็นคนขโมยตำแหน่งเขาไปน่ะเหรอ โจนาห์ ฮิล จาก The Wolf of Wall Street หนังที่เพิ่งเข้าฉายช่วงปลายปี และกลายเป็นหนังฮ็อตฮิตในหมู่กรรมการแบบเดียวกับ The Revenant ใช่แล้ว มันคือการมองข้ามที่น่าตกใจ แต่นั่นใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับนักแสดงผิวขาว

ใครก็ตามที่ติดตามงานแจกรางวัลออสการ์มาก่อนย่อมตระหนักดีว่า Straight Outta Compton ไม่ใช่หนังที่ต้องรสนิยมของกรรมการออสการ์ และการที่มันหลุดจากโผ 1 ใน 8 เรื่องก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ความจริง การหลุดโผของ Carol ยังน่าตกใจกว่าด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่ง Creed ซึ่งหนังเข้าทางออสการ์มากกว่า แถมยังเชื่อมโยงไปถึงหนังที่คว้ารางวัลออสการ์มาก่อนอย่าง Rocky อีกด้วย แต่ทางสตูดิโอดูจะตระหนักถึง ศักยภาพ ของ Creed ช้าเกินไป และไม่ได้โปรโมตมันอย่างหนักหน่วงเท่าที่ควรจะเป็น ต้องไม่ลืมว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่หนัง หรือนักแสดงคนหนึ่งๆ จะได้เข้าชิงออสการ์ และคุณภาพของผลงานก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยเท่านั้น (คุณภาพซึ่งแปรผันไปตามมุมมองของแต่ละคน) มองเช่นนี้แล้ว คุณจะพบว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่สตอลโลน นักแสดง/ดาราชื่อดังที่สั่งสมประสบการณ์มานานหลายสิบปี และมีเครดิตเคยเข้าชิงออสการ์มาก่อนในสาขานักแสดงนำชายจะได้เข้าชิงจาก Creed แต่ไม่ใช่นักแสดงหนุ่มโนเนมอย่าง ไมเคิล บี จอร์แดน กับสาขาซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขันเข้มข้นของซูเปอร์สตาร์อย่าง แม็ท เดมอน และ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ    

จริงอยู่ว่าหากสัดส่วนกรรมการออสการ์เปลี่ยนแปลงไป (รับคนผิวสีมากขึ้น รับผู้หญิงมากขึ้น ลดทอนชายแก่ผิวขาวลง รับคนหนุ่มสาวมากขึ้น) บางทีภาพรวมของผู้เข้าชิงออสการ์อาจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และนั่นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สถาบันพยายามทำกับการปรับกฎครั้งใหญ่หลังเกิดประเด็นอื้อฉาวเรื่องความหลากหลายขึ้น แต่สุดท้ายแล้วทุกปีก็จะต้องมีคนหรือหนังที่สมควรได้เข้าชิงแต่ไม่ได้เข้าชิงเสมอ

ออสการ์เป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งของเครื่องจักรขนาดยักษ์ที่ชื่อว่าฮอลลีวู้ด และความก้าวหน้า แม้ว่าจะเชื่องช้าไปหน่อย ก็กำลังคืบคลานอย่างต่อเนื่อง ไม่เชื่อก็ดูตัวอย่างได้จากทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอเมริกาตอนนี้ ซึ่งนำแสดงโดยผู้ชายผิวดำ ผู้หญิง และผู้ชายเชื้อสายละติน ที่สำคัญ อย่าลืมว่ารายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาพรวมเท่านั้น มันไม่ใช่ทุกอย่าง ไม่ใช่ที่สุด และไม่ใช่บทพิสูจน์ที่ไร้ข้อกังขา คนที่น่าจะตระหนักความจริงข้อนี้ดีกว่าใคร คือ สไปค์ ลี เพราะหนังที่ไม่ได้เข้าชิงออสการ์ของเขาเรื่อง Do the Right Thing ปัจจุบันยังคงถูกพูดถึง ยกย่อง และถกเถียงในชั้นเรียน แต่แทบจะไม่มีใครจดจำหนังที่ชนะรางวัลออสการ์ในปีนั้นอย่าง Driving Miss Daisy ได้แล้ว


Nominee Reactions

* “ครั้งแรกที่เควนตินขอให้ผมแต่งสกอร์สำหรับหนังคาวบอยเรื่องใหม่ของเขา ผมตอบปฏิเสธ แต่คุณตารันติโนเป็นคนเจ้าเล่ห์ เขาทิ้งบทภาพยนตร์ไว้ให้ภรรยาผมอ่าน เพราะเขารู้ว่าใครเป็นนายใหญ่ในบ้านหลังนี้ มาเรียคิดว่า The Hateful Eight ยอดเยี่ยมมาก เธอบอกว่าผมต้องทำสกอร์ให้หนังเรื่องนี้โดยปราศจากข้อแม้ใดๆ ผมดีใจที่ตอบตกลงในที่สุด การได้ร่วมงานกับนักสร้างหนังชั้นยอดอย่างเควนตินถือเป็นความสนุกสนาน เขาเพิ่งจะอายุหนึ่งขวบตอนผมแต่งสกอร์ A Fistful of Dollars ให้กับ เซอร์จิโอ เลโคเน ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ผมขอน้อมรับเกียรติครั้งนี้ในนาม เควนติน ตารันติโน บริษัท ไวน์สตีน คัมปานี และนักแสดงกับทีมงานทุกคน และแน่นอนผมต้องขอบคุณภรรยาที่ชาญฉลาดของผม มาเรีย เอนนิโอ มอร์ริโคเน (เข้าชิงสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจาก The Hateful Eight)

* “ฉันรู้สึกซาบซึ้งและตื่นเต้นที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง ขอบคุณสถาบันที่ให้เกียรติหนังเรื่อง 45 Years การได้ทำหนังร่วมกับ ทอม คอร์ทเนย์ นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ และผู้กำกับ แอนดรูว์ เฮก ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง และฉันดีใจเมื่องานที่ทุกคนทุ่มเทแรงกายแรงใจกันอย่างหนักในทั่วทุกส่วนได้รับเกียรติจากเพื่อนๆ ของเราและเพื่อนร่วมอาชีพในสถาบัน ชาร์ล็อต แรมปลิง (เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงจาก 45 Years)

* “ทันทีที่ผมได้เห็นการแสดงอันน่าทึ่งของ เซอร์ชา โรแนน ใน Brooklyn ผมรู้เลยว่าเธอจะต้องถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ และเธอก็อาจจะช่วยลากพวกเราอีกสองสามคนไปถึงจุดนั้นด้วย มันเป็นหนังที่พวกเราทุกคนภูมิใจ นี่ถือเป็นการให้เกียรติขั้นสูงสุด ผมอยากจะขอสดุดีเป็นพิเศษแด่ ภรรยาผู้แข็งแกร่งและไม่ยอมแพ้ของผม อแมนดา โพซีย์ และคู่หูผู้อำนวยการสร้างของเธอ ฟีโนลา ดวาย ซึ่งช่วยกันผลักดัน ปลุกปั้นหนังเรื่องนี้อยู่นานหลายปีนิค ฮอร์นบี (เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงจาก Brooklyn)

* “ถ้าคุณบอกว่าผมจะได้เข้าชิงออสการ์เมื่อหนึ่งเดือนก่อนละก็ ผมคงพูดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากๆๆ มันวิเศษอย่างยิ่งที่พวกเราหลายคนได้รับเชิญให้ไปร่วมงานในปีนี้ จอร์จ มิลเลอร์ (เข้าชิงสาขากำกับภาพยนตร์จาก Mad Max: Fury Road)

* “เราเปิดแชมเปญราคาถูกดื่มฉลองการเข้าชิงไปแล้ว นักทำหนังหลงใหลการได้เป็นศูนย์กลางความสนใจ แต่เราไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้เพื่อหวังรางวัล เราทำหนังเรื่องนี้เพื่อคนดูทั่วโลก แต่ก็เป็นเรื่องน่าชื่นใจที่เพื่อนร่วมสายอาชีพของคุณให้การยอมรับในผลงานของคุณ มาร์ค เบอร์ตัน (เข้าชิงสาขาอนิเมชันขนาดยาวจาก Shaun of the Sheep Movie)

* “ผมรู้สึกเหมือนทุกอย่างเวียนมาบรรจบที่จุดเริ่มต้น มันยิ่งใหญ่มากที่ตัวละครซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้ผมก้าวหน้าในอาชีพมาตลอดเวลาหลายปีกลายเป็นที่ยอมรับ และสามารถสืบสานตำนานต่อไปยังคนรุ่นหลัง ไรอัน คูเกลอร์ เป็นผู้กำกับที่เปี่ยมพรสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย ผมรู้สึกประหลาดใจอยู่เหมือนกันเมื่อได้เห็นว่าเขากระตือรือร้นแค่ไหนกับหนังเรื่องนี้ ทั้งที่เขาเพิ่งจะลืมตามาดูโลกได้ไม่นานตอนที่ Rocky IV ออกฉาย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายจาก Creed)

* “ผมหวังว่าการที่หนังเรื่องนี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปเกี่ยวกับ เอมี ไวน์เฮาส์ เพราะบางครั้งเธอถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นด้านที่ฉลาด ตลก และเฉียบคมของเธอ น่าดีใจที่ตอนนี้เธอได้รับความรักมากมาย แต่ก็น่าเศร้าที่ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากเธอเสียชีวิตไปแล้ว” อาซิฟ คาเพเดีย (เข้าชิงสาขาหนังสารคดีขนาดยาวจาก Amy)

* “ถือเป็นวันที่ฉันใช้ร่างกายหนักมาก ฉันเหนื่อยล้าจากการปีนเขาตลอดวันท่ามกลางแดดร้อนของออสเตรเลีย ฉันคิดว่ามันคงเป็นวันที่เหมาะจะรับมือกับข่าวใหญ่แบบนี้ เพราะเวลาร่างกายคุณเหนื่อยอ่อน คุณอาจไม่รู้สึกตื่นเต้นมากนัก แต่ฉันกลับตัวสั่นไปหมด แล้วก็เริ่มน้ำตาไหลตอนเห็นชื่อ เลนนี อับราฮัมซัน เข้าชิงผู้กำกับ เขาคู่ควรอย่างยิ่ง ฉันตื่นเต้นมากที่เห็นชื่อเขาติดหนึ่งในห้าบรี ลาร์สัน (เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงจาก Room)

* “ผมอยู่ในลอนดอนตอนได้ข่าวดี เราทุ่มเทกันอย่างหนักเพื่อหนังเรื่องนี้ และการเป็นที่ยอมรับของสถาบันมีความหมายอย่างมากสำหรับผมและเหล่าเพื่อนร่วมงาน คืนนี้แชมเปญกับเหล้าจัดเต็มแน่นอน!” อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินนาร์ริตู (เข้าชิงสาขากำกับภาพยนตร์จาก The Revenant)

* “ฉันเพิ่งตื่นนอนและพยายามจะเปิดดูการถ่ายทอดสด แต่พอถึงสาขานักแสดงสมทบหญิง จู่ๆ สัญญาณ wi-fi ของฉันก็ดับ พอเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ฉันรู้สึกประหม่าที่จะกดรับสาย ฉันอยากขอบคุณสถาบันอย่างสุดซึ้งสำหรับเกียรติในครั้งนี้ การมีชื่อเข้าชิงร่วมกับนักแสดงหญิงชั้นยอดเหล่านี้ทำให้ฉันรู้สึกต่ำต้อย การมีส่วนร่วมปลุกปั้น The Danish Girl ให้เป็นภาพโลดแล่นบนจอถือเป็นเหมือนของขวัญล้ำค่า ส่วนการได้เข้าชิงออสการ์คือความน่าตื่นเต้นอย่างที่สุดอลิเซีย วิแคนเดอร์ (เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบหญิงจาก The Danish Girl)


Snubs and Surprises

* กรรมการในสายอนิเมชันยังคงแหวกแนวและรักษามาตรฐานรสนิยมอันดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยแทนที่จะเสนอชื่อหนังกระแสหลักแบบ The Good Dinosaur และ The Peanuts Movie ให้เข้าชิง พวกเขากลับเลือกอนิเมชันที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักจากบราซิลอย่าง Boy and the World และผลงานของ สตูดิโอ จิบลิ อย่าง When Marnie Was There (เรื่องหลังอาจไม่เซอร์ไพรส์มากนักเนื่องจากจิบลิดูจะเป็นขาประจำบนเวทีออสการ์มาสักพักแล้ว) มาแทนที่

* ถึงแม้ The Walk จะล้มเหลวบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ แต่งานเทคนิคด้านภาพของหนังได้เสียงสรรเสริญแบบทั่วหน้า และหลายคนก็คาดว่าจะได้เห็นชื่อมันบนเวทีออสการ์ แต่สุดท้ายกลับถูกเบียดจนตกรอบโดย Ex Machina หนังอินดี้เล็กๆ ซึ่งกวาดคำชมได้แบบถ้วนทั่วและยังหลุดเข้าชิงในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมอีกด้วย นี่ถือเป็นแนวโน้มที่ดีเมื่อหนังซึ่งขับเคลื่อนด้วยเรื่องราวอันชาญฉลาด แต่ก็มีงานด้านเอฟเฟ็กต์ระดับสุดยอดได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงแทนหนังขายเอฟเฟ็กต์ฟอร์มยักษ์ที่มักจะครองพื้นที่ในสาขานี้มาตลอด

* หลังจากพลาดเข้าชิงรางวัลสำคัญๆ อย่างครบถ้วนทั้งลูกโลกทองคำ SAG หรือแม้กระทั่งรางวัลที่น่าจะเป็นของตายอย่าง BAFTA ในที่สุดออสการ์ก็ตัดสินใจหยิบยื่นโอกาสให้กับ ชาร์ล็อต แรมปลิง (45 Years) ได้เข้าชิงในสาขานำหญิง แม้ว่าการแสดงของเธอจะไม่ค่อยเข้าทางออสการ์มากนัก นี่ถือเป็นอีกครั้งที่ออสการ์เลือกผู้เข้าชิงได้อย่างเปี่ยมรสนิยมเช่นเดียวกับกรณีของ มาริยง โกติยาร์ด (Two Days, One Night) และ เอ็มมานูเอล ริวา (Amour)

* ดูเหมือนว่ากรรมการออสการ์จะไม่ถูกโฉลกกับหนัง ท็อดด์ เฮย์นส์ และนี่ก็เป็นอีกครั้งหลังจาก Far From Heaven ที่หนังของเขาถูกเชิดใส่ในสาขาใหญ่ๆ อย่างหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม แม้ว่าจะกวาดคำชมจากนักวิจารณ์มาครองแบบเป็นเอกฉันท์ (ทั้ง Carol และ Far From Heaven ได้รางวัลสูงสุดจากสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก) บางทีหนังของเขาอาจมีความเป็นหญิงมากเกินกว่าเหล่าผู้ชายแก่ผิวขาว ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่สุดในสถาบัน จะสามารถเข้าถึงได้ หรือบางที Carol อาจ เลสเบี้ยน เกินไป หรือ เย็นชา เกินไปสำหรับเหล่ากรรมการที่ต้องการความรักแบบชายหญิงและอารมณ์โฉ่งฉ่าง ประเภทบีบน้ำตาเป็นถัง

* หลายคนคาดการณ์ว่า ริดลีย์ สก็อตต์ อาจจะคว้าออสการ์มาครองได้เป็นครั้งแรกจาก The Martian หลังจากเคยเข้าชิงมาแล้วสามครั้ง (Thelma & Louise, Gladiator, Black Hawk Down) จนกระทั่งวันประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ เมื่อเขาถูกแทนที่ด้วย เลนนี อับราฮัมซัน (Room) บางคนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะสก็อตต์ถูกมองว่าเป็น มือปืนรับจ้าง มากกว่าจะเป็นคนผลักดันโครงการในแบบเดียวกับ จอร์จ มิลเลอร์ หรือ อเลฮานโดร อินนาร์ริตู และหนังของเขาก็ให้อารมณ์ของผลงานสตูดิโอชั้นยอดมากกว่าจะเกิดจากจินตนาการอันบ้าคลั่งของผู้กำกับ

* กรรมการออสการ์ไม่สนใจความดังของเพลงเมื่อต้องเลือกผู้เข้าชิงในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดังจะเห็นได้จากการมองข้ามเพลงยอดฮิตติดชาร์ตอย่าง See You Again จากหนังเรื่อง Furious 7 แถมยังเลือกเพลงที่ดังน้อยกว่าจาก Fifty Shades of Grey ให้เข้าชิงแทนเพลงที่ถูกเปิดกรอกหูคนฟังแทบทุกวันอย่าง Love Me Like You Do

* Crimson Peak อาจไม่ประสบความสำเร็จในแง่การทำเงิน หรือคำวิจารณ์มากเท่าไหร่ แต่ผลงานการออกแบบงานสร้างและเครื่องแต่งกายอันสุดแสนวิจิตร เปี่ยมจินตนาการของหนังเรื่องนี้ถือเป็นความโดดเด่นจนเชื่อกันว่าน่าจะสามารถหลุดเข้าชิงออสการ์ได้ แต่กรรมการออสการ์อาจไม่มีเวลา หรือขี้เกียจเกินกว่าจะดูหนังเรื่องอื่นๆ แล้วสุ่มเลือกเอาจากหนังดังที่ได้เข้าชิงในสาขาใหญ่ๆ อย่าง The Revenant แทน

* สมมุติฐานดังกล่าวอาจนำมาดัดแปลงใช้ได้เช่นกันกับสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เมื่อ ไอดริส เอลบา (Beasts of No Nation) หลุดจากโผแบบพลิกความคาดหมาย แล้วถูกแทนที่โดยนักแสดงจากหนังในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่าง ทอม ฮาร์ดี้ (The Revenant) ซึ่งไม่เคยมีชื่อติดเข้าชิงในสถาบันใดมาก่อน


For the Record

* ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือสารคดีของ ไมเคิล ลูอิส ทั้งสามเรื่องล้วนถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาสูงสูดอย่างครบถ้วน ตั้งแต่ The Blind Side จนถึง Moneyball และ The Big Short โดยสองเรื่องหลังอำนวยการสร้างโดย แบรด พิทท์ ซึ่งทำสถิติได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่สาม (เขาควบตำแหน่งอำนวยการสร้างและนำแสดงใน Moneyball) และเคยคว้ารางวัลมาแล้วเมื่อสองปีก่อนจาก 12 Years a Slave

* เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 25 ปี ทำสถิติเป็นนักแสดงอายุน้อยที่สุดที่ได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สี่หลังจาก Winter’s Bones, Silver Linings Playbook และ American Hustle ลบสถิติเดิมของ เจนนิเฟอร์ โจนส์ ซึ่งเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 4 ในปี 1947 ขณะอายุได้ 27 ปี น่าสังเกตว่านอกจากทั้งสองจะชื่อเจนนิเฟอร์เหมือนกันแล้ว สถิติดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้จากความช่วยเหลือของบุคคลชื่อเดียวกันอีกด้วย โดยกรณีของลอว์เรนซ์ คือ ผู้กำกับคู่ขวัญ เดวิด โอ รัสเซลล์ ซึ่งกำกับหนังสามเรื่องหลังที่เธอได้เข้าชิง ส่วนกรณีของโจนส์ คือ โปรดิวเซอร์ เดวิด โอ. เซลซ์นิค ซึ่งอำนวยการสร้างหนังสองเรื่องที่เธอได้เข้าชิง (Since You Went Away และ Duel in the Sun) โจนส์คว้าออสการ์มาครองจากการเข้าชิงครั้งแรกใน The Song of Bernadette ส่วนครั้งที่สามของเธอเป็นการเข้าชิงจาก Love Letters ความน่าทึ่งของโจนส์ คือ เธอเข้าชิง 4 ปีติดต่อกัน (1944-1947) ก่อนจะได้เข้าชิงเป็นครั้งสุดท้าย (ครั้งที่ 5) ในปี 1956 จากเรื่อง Love Is a Many-Splendored Thing

* จอห์น วิลเลียมส์ หรือ เมอรีล สตรีพ แห่งวงการประพันธ์เพลง ทำลายสถิติที่เขาครองคู่กับ อัลเฟร็ด อี นิวแมน (1900-1970) ด้วยการเข้าชิงในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 44 เขาเคยชนะมาแล้ว 5 ครั้งจาก Fiddler on the Roof, Jaws, Star Wars, E.T. The Extra-Terrestrial และ Schindler’s List

* Carol กลายเป็นหนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงมากที่สุด (6 รางวัล) แต่พลาดเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยนับจากสถาบันขยายผู้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สถิติเดิมเป็นการครองตำแหน่งร่วมกันที่ 5 รางวัลของหนังสามเรื่อง คือ The Girl with the Dragon Tattoo, Skyfall และ Foxcatcher ส่วนสถิติสูงสุดย้อนกลับไปถึงยุคที่ออสการ์มีผู้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมแค่ 5 เรื่องยังคงเป็นของ They Shoot Horses Don’t They (1969) ซึ่งเข้าชิงทั้งหมด 9 รางวัล แต่ไม่ใช่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

* หลังจาก Gone with the Wind หนังเรื่อง Star Wars: The Force Awakens กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในอเมริกา แต่ไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาสูงสุด ตรงข้ามกับเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ถือครองสถิติหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลอย่าง The Ten Commandments, The Sound of Music, Jaws, Star Wars, E.T. The Extra-Terrestrial, Titanic และ Avatar เพราะทุกเรื่องล้วนได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้งสิ้น

* Mad Max: Fury Road เป็นหนังคนแสดงภาคต่อเรื่องแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดยที่หนังภาคก่อนหน้าไม่เคยเข้าชิง อันที่จริง หนังชุด Mad Max ไม่เคยเข้าชิงออสการ์เลยแม้แต่สาขาเดียวจนกระทั่งในปีนี้ ส่วนหนังภาคต่อเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์ทั้งที่ภาคก่อนหน้าไม่เคยเข้าชิง คือ Toy Story 3 (ภาคแรกของ Toy Story ได้รับออสการ์พิเศษก่อนหน้าที่จะมีการเพิ่มสาขาอนิเมชันยอดเยี่ยม)

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 01, 2559

45 Years: รักแท้ หรือแค่หมอกควัน

 
ความสัมพันธ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปราะบาง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นเมื่อคุณต้องประคับประคองความรักและฟูมฟักความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ต่อให้เวลาผันผ่านไปนานแค่ไหน จนเชื่อว่าพิสูจน์ความจริงแท้ของรักนั้นได้ชัดเจนเพียงใด ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง คือ ความสัมพันธ์กอปรขึ้นด้วยปัจเจกชนสองหน่วย แยกต่างหากเป็นเอกเทศ คุณอาจรักใครสักคน ไว้ใจใครสักคนได้อย่างหมดใจ แต่คุณไม่มีทางรู้จักเขาได้อย่างแท้จริง คุณไม่มีทางล่วงรู้ คาดเดาความคิดเขาได้ หรือความลับซึ่งเขาไม่เคยเปิดเผยให้ใครฟัง แม้กระทั่งคู่ครองที่อยู่กินร่วมกันมานาน 45 ปี

คงไม่มีใครจะเข้าใจสัจธรรมดังกล่าวได้ดีไปกว่า เคท เมอร์เซอร์ (ชาร์ล็อต แรมปลิง) เมื่อเช้าวันหนึ่งสามีของเธอ เจฟ เมอร์เซอร์ (ทอม คอร์ทเนย์) ได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่ในสวิสเซอร์แลนด์ แจ้งว่าพวกเขาพบศพแคทเทีย หญิงคนรักเก่าของเจฟ ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกเขาในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เคทรู้จักแคทเทียในฐานะคนรักเก่าของสามี แต่เธอไม่ทราบรายละเอียดอื่นใด นอกเหนือจากชื่อ ไม่เคยกระทั่งเห็นหน้าด้วยซ้ำ ทุกอย่างเกิดขึ้นและจบลงก่อนเธอกับเจฟจะรู้จักกัน เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าหน้าที่บันทึกชื่อเขาในฐานะญาติใกล้ชิดที่สุดของแคทเทีย และทั้งสองก็บอกใครต่อใครว่าแต่งงานเป็นสามีภรรยากันแล้ว ข้อมูลนี้สร้างความประหลาดใจให้เคทไม่น้อย ไม่ใช่เพียงเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สามีซึ่งอยู่กินด้วยกันมาเกือบ 50 ปีไม่เคยเล่าให้เธอฟังมาก่อน  ฉันจะโกรธในเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเราจะเจอกันได้ยังไงจริงมั้ย... แต่ก็นะเคทตอบสามี เมื่อเขาสัมผัสได้ว่าเธอไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผนวกกับท่าทีของเจฟก่อนหน้าที่อยากเดินทางไปดูศพเธอ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเคทซึ่งไม่เห็นความจำเป็น เพราะสุขภาพของเจฟเองไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางไกล หรือเดินขึ้นภูเขาสูงชัน เพียงเพื่อไปดูศพที่ว่ากันว่าน่าจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แทบไม่เน่าเปื่อยเนื่องจากความหนาวเย็น

ไม่ต้องสงสัยว่าศพในสภาพ “แช่แข็งของแคทเทียหาใช่จะเป็นเพียงตัวแทนความรักอุดมคติ ที่งดงาม ร้อนลุ่ม เพราะมันถูกพลัดพรากไปอย่างฉับพลันก่อนทุกอย่างจะกลายเป็นความคุ้นชิน หรือกิจวัตรเท่านั้น แต่มันยังเปรียบดังสัญลักษณ์แทนวัยเยาว์สำหรับเจฟอีกด้วย ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่องเขารำพึงให้ภรรยาฟังว่า ณ ตอนนี้ แคทเทียคงจะยังดูสาว เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์มุ่งมั่นเหมือนเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อน ส่วนเขากลับกลายเป็นตาแก่หนังเหี่ยว ที่อุดมการณ์อ่อนเปลี้ยไม่ต่างจากเพื่อนร่วมงานที่เขาก่นด่าว่าได้ละทิ้งความเป็นซ้าย แล้วหันมาบูชาทุนนิยมแบบสุดโต่ง

มนุษย์ไม่เคยพอใจกับปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะมองอดีตด้วยสายตาหวนไห้ ถวิลหา แถมบ่อยครั้งก็มักจะบิดเบือนมันให้สวยงาม เลอค่าเกินจริง เพราะมันเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจครอบครอง หรือเรียกกลับคืนมาได้ เมื่อเจฟสรรเสริญแคทเทียว่าเปรียบเหมือนดอกไวโอเล็ตที่ผุดขึ้นท่ามกลางหิมะด้วยความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เปี่ยมด้วยเป้าหมายในชีวิต แล้วถูกเคทตอกกลับว่าเขาก็แค่กำลังวิ่งไล่หญิงสาวที่ยินดีมีใจ และการปีนเขาก็ไม่ใช่เรื่องจะมาคุยโม้ว่าเป็นความกล้าหาญอะไรได้ เจฟกลับเมินเฉยความเห็นของภรรยา และพูดสรุปด้วยประโยคง่ายๆ ว่า คุณไม่รู้จักเธอ

คำถามที่ผุดขึ้นตามมา คือ แล้วเจฟล่ะ “รู้จักแคทเทียมากแค่ไหน หรือเขาแค่กำลังหลงใหลในสิ่งที่แคทเทียเป็นตัวแทน นั่นคือ ถนนเส้นที่เขาไม่ได้เลือก หรือไม่มีโอกาสได้เลือกเพราะชะตากรรมกระชากมันไปจากเขา (ในฉากหนึ่งเมื่อถูกภรรยาถามจี้ เจฟก็ยอมรับเกือบจะทันทีว่าหากแคทเทียไม่ประสบอุบัติเหตุเสียก่อน เขาคงแต่งงานกับเธอไปแล้ว) และความหวังแห่งวัยเยาว์ที่เขาไม่อาจเรียกคืนกลับมา

ประเด็นหนึ่งซึ่งหนังให้ความสนใจ ได้แก่ เราสามารถ “รู้จัก ใครสักคนได้อย่างแท้จริงหรือ เพราะถึงแม้จะลงหลักปักฐานร่วมกันมาเกินครึ่งชีวิต เคทกลับพบว่ายังมีอีกด้านของเจฟที่เธอไม่รู้จักแม้แต่น้อย ในฉากหนึ่งเธอตั้งข้อสังเกตว่ามันแปลกดีที่เจฟไม่เคยเล่าถึงการตายของแคทเทียให้เธอฟัง ส่วนเธอก็ไม่เคยพูดถึงความตายของแม่เธอให้เขาฟังตลอดหลายสิบปีที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา ทั้งที่สองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่มันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ทั้งสองจะมาพบรักกัน ในแง่หนึ่งมันพิสูจน์ให้เห็นว่าคู่รักแต่ละคนล้วนมีอดีต มีสัมภาระทางอารมณ์ที่แบกไว้บนบ่าก่อนหน้าจะมาเป็น เรา และบางครั้งมันก็อาจกลายเป็นกำแพงที่มองไม่เห็น ขวางกั้นคุณไม่ให้ก้าวข้ามไปอีกฟากได้

เงาแห่งอดีตก้าวเข้ามาครอบงำเจฟ ดึงดูดเขากลับไปหาหนังสือเล่มเดิมที่เคยอ่าน เพลงเพลงเดิมที่เคยฟัง กระทั่งหนังสือที่เขายืมจากห้องสมุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็สะท้อนภาวะหมกมุ่นของเขาต่อแคทเทียและอดีต (หนังสื่อเป็นนัยว่าเจฟเคยเป็นนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ในยุคบุปผาชน) เคทพยายามจะดึงเขาให้กลับมาสู่โลกแห่งปัจจุบันในฉากที่ทั้งสองหวนรำลึกความหลังร่วมกัน จนต่อมานำไปสู่ฉากเซ็กซ์อันล้มเหลว (ณ จุดหนึ่งเธอพยายามบอกให้เขาลืมตามองเธอ แต่เขากลับถลำลึกไปไกลเกินกว่าจะกลับมาได้) จากนั้นในฉากถัดมา เจฟก็ยิ่งดำดิ่งลงสู่อดีตด้วยการตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อไปสำรวจรูปภาพเก่าๆ ของแคทเทียในห้องใต้หลังคา

มองโดยเผินๆ แล้ว 45 Years อาจเป็นหนังที่ค่อนข้างเรียบง่ายในแง่เทคนิคภาพยนตร์ ตลอดจนวิธีการนำเสนอ ซึ่งเน้นการใช้ลองเทค การเคลื่อนกล้องอย่างเชื่องช้า และการเล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลาโดยปราศจากแฟลชแบ็ค แต่หลายครั้งคนดูจะสังเกตเห็นความละเอียดอ่อนในเชิงเทคนิค ซึ่งมีส่วนช่วยสื่อความหมาย หรือเร่งระดับความเข้มข้นทางอารมณ์ได้อย่างลุ่มลึก เช่น กลิ่นอายตามแนวทางหนังสยองขวัญถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงพลังคุกคามของการตายในอดีต ไม่ว่าจะเป็นความลับที่ซุกซ่อนอยู่ในห้องใต้หลังคา เสียงพื้นลั่นเอี๊ยดอ๊าด เสียงหมาเห่าเตือนภัยขณะเคทกำลังจะขึ้นไปเผชิญกับ “วิญญาณ” ของแคทเทีย หรือประตูที่ขยับปิดเอง หนังไม่ใช้ดนตรีในการเร้าอารมณ์ ฉะนั้นเสียงประกอบจึงถูกขับให้โดดเด่น และบางครั้งก็มีผลในการเร้าอารมณ์อยู่ไม่น้อย เช่น การใส่เสียงเครื่องฉายสไลด์ในช่วงเครดิตต้นเรื่องเพื่อชี้นำอารมณ์ในฉากที่เคทค้นพบความจริงเกี่ยวกับแคทเทีย ขณะเดียวกันการใส่แบ็คกราวด์เป็นเสียงนาฬิกาเดินในหลายๆ ฉากก็ช่วยขับเน้นเนื้อหาที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน (เคทบอกสามีว่าเธอคิดจะซื้อนาฬิกาข้อมือให้เขาเป็นของขวัญวันครบรอบแต่งงาน แต่เจฟกลับตอบว่า ผมไม่ชอบที่จะรู้เวลา”) อีกทั้งยังสะท้อนรูปแบบการเล่าเรื่องได้อย่างเหมาะเจาะ (หนังแบ่งเรื่องราวเป็นบทไล่เรียงตามวันจนกระทั่งไปสิ้นสุดยังงานเลี้ยงฉลองวันครบรอบแต่งงาน)

เนื่องจากประเด็นของหนังพูดถึงการไม่อาจเข้าถึงกันได้ระหว่างคนสองคน หลายช็อตในหนังจึงเป็นการถ่ายผ่านกรอบหน้าต่างบ้าน กระจกรถ หรือไม่ก็ถ่ายใบหน้าตัวละครจากภาพสะท้อนบนกระจกตู้ยา หรือกระจกห้องน้ำ นอกจากนี้ หนังยังนิยมแช่ภาพโคลสอัพตัวละครด้วยช็อตในลักษณะถ่ายข้ามไหล่ โดยไม่ตัดภาพสลับไปมาเพื่อให้สอดคล้องตามจังหวะบทพูด หรือตัดสลับเพื่อนำเสนอปฏิกิริยาของคู่สนทนา ฉะนั้นอารมณ์ที่ได้จึงรู้สึกคล้ายตัวละครกำลังพร่ำพูดกับตัวเองมากกว่าจะเป็นการเปิดใจให้อีกฝ่ายรับฟัง เหมือนต่างฝ่ายต่างก็จมดิ่งอยู่กับโลกส่วนตัว ความคิดส่วนตัว เจฟกับอารมณ์ถวิลหาอดีต เคทกับความเคลือบแคลงสงสัย จนต่างฝ่ายไม่อาจสื่อสารถึงกันได้

ที่สำคัญ การยืนกรานที่จะไม่แฟลชแบ็คไปยังเหตุการณ์ในอดีต หรือรีดเค้นฉากที่จะให้คำอธิบายชัดเจนออกจนแทบจะหมดสิ้น ส่งผลให้คนดูตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเคท ซึ่งเป็นตัวละครหลักของหนัง (ตรงกันข้ามกับเรื่องสั้น In Another Country ต้นแบบของหนังเรื่องนี้ที่ใช้ตัวละครฝ่ายชายเป็นคนดำเนินเรื่อง) กล่าวคือ เช่นเดียวกับเธอ เราไม่อาจรู้แน่ว่าอะไรเป็นเหตุผลแท้จริงที่ทำให้เคทกับเจฟไม่มีลูกด้วยกัน ไม่มีรูปถ่ายร่วมกัน มันเป็นอย่างที่เคทตั้งข้อกล่าวหาหรือเปล่า เพราะเจฟยังรักแคทเทีย ยังรู้สึกผิดต่อเด็กในท้องที่ตายไป ส่วนเคทก็เป็นเพียงตัวแทนซึ่งสุดท้ายแล้วไม่อาจทดแทนได้ (ชื่อที่คล้ายคลึงกันและสีผมที่เหมือนกันของทั้งสองทำให้สมมุติฐานดังกล่าวพอจะมีมูลอยู่ไม่น้อย) และเมื่อไม่อาจรู้แน่ จินตนาการย่อมเตลิดเปิดเปิงไปไกล ทั้งสำหรับเคทและคนดู จนเราเริ่มสงสัยว่าแผลที่นิ้วเจฟนั้นเกิดจากความพยายามจะซ่อมลูกลอยในห้องน้ำจริงตามที่เขาอ้าง หรือว่ามันเป็นแผลจากการไปค้นหาของในห้องใต้หลังคา

แอนดรูว์ เฮก เป็นผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ชาวอังกฤษ เขาเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักจากหนังเรื่อง Weekend เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของหนุ่มอังกฤษสองคนที่พบกันในบาร์เกย์โดยต่างคาดหวังเพียงเซ็กซ์ข้ามคืนและประสบผลสำเร็จตามเป้าประสงค์ แต่ในเวลาต่อมาพวกเขากลับได้ทำความรู้จัก ถกเถียง และแลกเปลี่ยนความคิดจนรู้สึกเชื่อมโยงผูกพันกันทางอารมณ์ตลอดช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก่อนฝ่ายหนึ่งจะต้องเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกาเป็นเวลาสองปี น่าสนใจว่า Weekend แม้จะจบลงด้วยการลาจากที่สถานีรถไฟ (อิทธิพลโดดเด่นจาก Brief Encounter ซึ่งเป็นหนังสุดโปรดของเฮก) แต่อารมณ์ที่อ้อยอิ่งอยู่ในอากาศกลับเต็มไปด้วยความหวัง ความอิ่มเอมของการ มองไปข้างหน้า ถึงความเป็นไปได้ต่างๆ นานาในอนาคต ในทางตรงกันข้าม 45 Years จบลงด้วยงานฉลองครบรอบแต่งงาน แต่ความรู้สึกสุดท้ายกลับอัดแน่นไปด้วยความขมขื่น เจ็บแค้น เศร้าสร้อย อันเป็นผลจากการ มองย้อนหลัง ถึงความเป็นไปได้ต่างๆ นานาในอดีต

หนึ่งในตัวละครเอกของ Weekend กำลังทำโปรเจ็กต์อาร์ตชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสำรวจช่องว่างระหว่างตัวตนที่แท้จริงของคนเรากับตัวตนที่พวกเขาต้องการจะเป็น โดยพิสูจน์จากบุคลิกที่เราสร้างขึ้นเวลาพบเจอใครสักคนเป็นครั้งแรก อาจพูดได้ว่า 45 Years เปรียบได้กับภาคต่อของ Weekend ไม่เพียงในแง่ที่มันพูดถึงความสัมพันธ์ ซึ่งก้าวผ่านช่วงเวลายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ผ่านสุขมาหลายสิบปีหลังภาวะตกหลุมรักเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพขยายอันเด่นชัดของประเด็น ช่องว่าง ระหว่างสองตัวตนดังกล่าวอีกด้วย

ความแตกต่างของ 45 Years เมื่อเทียบกับหนังคนแก่ทั่วไปอยู่ตรงนัยยะที่ว่าวัยชราหาได้มาพร้อมกับความสงบ หรือการปลงตก ปล่อยวาง และความสัมพันธ์ที่ดูราบรื่น มีความสุข ก็อาจสั่นคลอนได้อย่างง่ายดายด้วยจดหมายเพียงหนึ่งฉบับ เคทอาจไร้เหตุผลในความรู้สึกหึงหวง น้อยใจ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันอารมณ์เหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เมื่อปรากฏว่าทุกอย่างที่เธอสร้างขึ้นมา หรือเชื่อมั่นว่าจริงแท้เริ่มสูญเสียคุณค่าไปพร้อมกับความจริงที่ค้นพบ

หลังจากเคทได้ระบายความรู้สึกคับข้องใจในคืนก่อนวันงาน ดูเหมือนเจฟเองก็เริ่มจะมองเห็นความไม่เป็นธรรมที่เขาปฏิบัติต่อเธอ และพยายามชดเชยด้วยการตื่นแต่เช้ามาทำอาหาร ออกไปเดินเล่นเป็นเพื่อนเธอ รวมถึงสุนทรพจน์อันซาบซึ้ง กินใจในงานเลี้ยงฉลอง เขาพยายามจะไต่กลับขึ้นมาจากอดีต ขณะที่เคทกลับล่องลอยไปสู่ห้วงคิดคำนึงส่วนตัว เช่นเดียวกับคำกล่าวของเธอก่อนหน้านี้ แคทเทียได้สร้างมลทินให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งกับเพลง Smoke Gets In Your Eyes ซึ่งเธอเคยมองว่าเป็นเพลงของเรา เพลงที่เธอร้องคลออย่างมีความสุขในช่วงต้นเรื่อง เพลงที่ทั้งสองใช้เปิดฟลอร์ในฐานะสามีภรรยาเมื่อ 45 ปีก่อน แต่เมื่อได้เฝ้าฟังเนื้อเพลงอย่างละเอียดอีกครั้ง มันหาใช่เพลงเฉลิมฉลองความรักแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพลงเศร้าที่คร่ำครวญถึงความสูญเสีย มันไม่ใช่เพลงของเรา แต่เป็นเพลงของเขาและเธอ ทันใดนั้นอารมณ์ทั้งหลายก็พลันทะลักล้น ทุกอย่างที่เคทเชื่อมั่น เฝ้าฟูมฟักมาตลอดหลายสิบปีกลับพังทลาย... และรอยยิ้มใดก็ไม่อาจปกปิดหยาดน้ำตา ยามรักร้างลาจากไกล