วันศุกร์, มีนาคม 18, 2559

oscar 2016: ตัวเลือกที่ทุกคนเห็นพ้อง


หลังจาก The Revenant คว้าสองรางวัลใหญ่บนเวที BAFTA และ อเลฮานโดร จี. อินาร์ริตู ยังได้รางวัล DGA ไปครองดูเหมือนกระแสในช่วงโค้งสุดท้ายจะเทไปยังฝั่ง The Revenant อย่างเห็นได้ชัด และนักวิเคราะห์ออสการ์หลายคนก็เริ่มเปลี่ยนข้างด้วยการสละเรือ Spotlight ซึ่งเป็นตัวเก็งอันดับแรกมาตั้งแต่ต้น แต่จากผลในคืนวันประกาศรางวัล เห็นได้ชัดว่าวิธีลงคะแนนแบบ “เรียงลำดับส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อหนังมหากาพย์ท่องป่าของอินาร์ริตู ซึ่งอาจมีคนเลือกเป็นเบอร์หนึ่งมากกว่าใคร แต่ขณะเดียวกันก็น่าจะมีคนชิงชังจำนวนไม่น้อย ถึงขนาดใส่เอาไว้เป็นอันดับ 7 หรือ 8 ตรงข้ามกับ Spotlight หนังซึ่งแทบจะไม่มีใครเกลียดชัง ฉะนั้นแม้มันจะได้คะแนนอันดับหนึ่งน้อยกว่าเรื่องอื่นอย่าง The Revenant หรือกระทั่ง The Big Short แต่สุดท้ายก็สามารถตีตื้นขึ้นมาได้จากคะแนนอันดับ 2 และ 3

นี่ถือเป็นครั้งที่สามในรอบ 4 ปีที่สองรางวัลสูงสุดถูกแบ่งให้หนังสองเรื่อง จากปรากฏการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นนานๆ ครั้งในอดีต ตอนนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง นอกจากนี้การเฉลี่ยรางวัลยังทำให้ยุคสมัยของการ “กวาดเรียบกลายเป็นเรื่องยากมาก ดังจะเห็นได้ว่าในรอบ ปีที่ผ่านมา หนังที่ได้ออสการ์เยอะสุด คือ The Artist (5 รางวัล) ขณะที่ Birdman กับ The King’s Speech ได้ไปคนละ 4 รางวัล 12 Years a Slave กับ Argo ได้ไปคนละ 3 รางวัล ส่วน Spotlight ก็กลายเป็นหนังเรื่องแรกนับจาก The Greatest Show on Earth (1953) ที่ได้ออสการ์แค่ 2 รางวัล แถมยังเป็นรางวัลในสาขาเดียวกันด้วย นั่นคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

สองตัวแปรที่ทำร้าย The Revenant คือ การพลาดเข้าชิง “นักแสดงกลุ่มของ SAG และการที่บทภาพยนตร์ไม่ได้เข้าชิงออสการ์ ข้อหลังอาจไม่เป็นปัญหาหากหนังเป็นมหากาพย์แห่งความบันเทิงในระดับเดียวกับ Titanic แต่ The Revenant ไม่ใช่ขวัญใจมวลชนขนาดนั้น ถึงแม้มันจะทำเงินได้เหนือความคาดหมายก็ตาม เพราะหลายคนคิดว่ามันค่อนข้างน่าเบื่อเสีย เนื้อเรื่องไม่คืบหน้าไปไหน ส่วนบรรดานักวิจารณ์เองก็ไม่ค่อยจะปราณีตัวหนังสักเท่าไหร่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับหนังเข้าชิงออสการ์รางวัลสูงสุดเรื่องอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การพลาดเข้าชิง SAG น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ The Revenant พลาดออสการ์ เพราะมันบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหนังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนมากเท่าที่ควรจากกลุ่มนักแสดง ซึ่งเป็นกรรมการกลุ่มใหญ่สุดของสถาบัน อีกทั้งเมื่อการประกาศผลเริ่มต้นขึ้น และปรากฏว่า Mad Max: Fury Road เดินหน้ากวาดรางวัลทางด้านเทคนิคมาครองแบบไม่แบ่งให้ใคร ลางหายนะก็ยิ่งชัดเจนว่าหนังของอินาร์ริตูคงยากจะคว้ารางวัลสูงสุดมาครอง

นอกเหนือจากสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นการขับเคี่ยวกันอย่างสูสีแล้ว (เพราะไม่มีใครรู้แน่ว่าหวยจะไปออกที่ Spotlight หรือ The Revenant หรือ The Big Short) รางวัลอื่นๆ ดูเหมือนจะดำเนินไปตามโผเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ยังพอมีเซอร์ไพรส์ เรียกเสียงฮือฮาได้บ้างเป็นครั้งคราว และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าผลรางวัลโดยรวมค่อนข้างน่าพอใจในระดับหนึ่ง หนังหลายเรื่องต่างได้รางวัลปลอบใจไปครองคนละตัวสองตัว หรือหกตัวในกรณีของ Mad Max: Fury Road ที่พลาดรางวัลผู้กำกับไปอย่างน่าเสียดาย (แต่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจโดยผู้แพ้ที่เจ็บหนักสุดคงหนีไม่พ้น The Martian ซึ่งไม่ได้รางวัลเลยจากการเข้าชิง 7 สาขา เช่นเดียวกับ Carol ซึ่งทำสถิติ 6-0 ตามความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้หนังของ ท็อด เฮย์นส์ เรื่อง Far From Heaven ก็เคยเข้าชิง 4 สาขา และฟาดแห้วไปกินทั้งหมดเช่นกัน

จะว่าไปเฮย์นส์กับออสการ์คงไม่ถูกโฉลกกันเท่าไหร่ เพราะหนังที่เขากำกับยังไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์มาครองเลยสักรางวัล รวมถึงการเข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เคท แบลนเช็ตต์) จาก I’m Not There และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมจาก Velvet Goldmine

สำหรับงานโดยรวมปีนี้ถือว่าอยู่ในระดับสอบผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่านี่เป็นปีที่หนักหนาสาหัสพอควรจากประเด็น OscarSoWhite สุดอื้อฉาว ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะลดราวาศอก และพิธีกร คริส ร็อค ก็ตัดสินใจถูกด้วยการพุ่งชนประเด็นดังกล่าวแบบไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมตั้งแต่เริ่มแรก

ขอต้อนรับสู่งานประกาศผลรางวัลออสการ์ หรือที่รู้จักกันในนามรางวัลตัวเลือกของคนผิวขาว” ประโยคเกริ่นนำของเขาสามารถเรียกเสียงหัวเราะได้พอควร แต่ร็อคไม่ใช่ดาวตลกที่เน้น “เพลย์เซฟ” แบบ เอลเลน ดีเจเนอเรส ฉะนั้นรับประกันได้ว่ามุกตลกของเขาจะยิ่งเริ่มคาบเกี่ยวระหว่างการหยอกเอินกับกัดเจ็บเลือดอาบมากขึ้น เช่น เมื่อเขาตั้งข้อสังเกตว่าทำไมประเด็นของออสการ์เหยียดคนผิวดำถึงเพิ่งจุดติดรุนแรงในปีที่ 88 ของการจัดงาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้สักประมาณ 70 กว่าครั้งได้ ก็แทบจะไม่มีนักแสดงผิวดำเข้าชิงออสการ์เป็นปกติอยู่แล้ว เหตุผลของร็อค คือ เพราะคนผิวดำยุค 50 หรือ 60 มีประเด็น “จริงจังให้ประท้วงมากกว่า “เรามัวแต่วุ่นอยู่กับการโดนข่มขืนและประหารโดยศาลเตี้ยเกินกว่าจะมานั่งลุ้นว่าใครได้รางวัลสาขากำกับภาพ เวลายายของคุณห้อยต่องแต่งอยู่บนต้นไม้ มันยากที่จะใส่ใจว่าใครจะได้เข้าชิงสาขาหนังสารคดีขนาดสั้น

ร็อคเปรียบเทียบแนวคิดเหยียดผิวในฮอลลีวู้ดว่าเป็นเหมือนการกีดกันในสโมสรของนักเรียนหญิง เราชอบเธอนะ รอนด้า แต่เธอไม่เหมาะกับแคปปาแต่ในทางกลับกันเขาก็ไม่ได้ปล่อยให้คนจุดไฟหลุดรอดไปง่ายๆ ด้วยการจิกกัดสองสามีภรรยาตระกูลสมิธว่า “ผมเข้าใจที่เธอ (จาดา) โมโห มันไม่ยุติธรรมที่วิลแสดงดีขนาดนี้ (ใน Concussion) แต่ไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง เธอพูดถูก แต่มันก็ไม่ยุติธรรมเหมือนกันที่วิลได้ค่าตัว 20 ล้านเพื่อเล่นหนังอย่าง Wild Wild West

บทพูดในช่วงเปิดตัวของ คริส ร็อค ค่อนข้างได้ผลในแง่การเรียกเสียงหัวเราะ แม้มุกตลกจะค่อนข้างปราศจากความหลากหลาย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าขำเมื่อพิจารณาว่าประเด็นสำคัญของงานคืนนี้ คือ ความหลากหลาย น่าสังเกตว่าบทพูดเปิดงานของเขาโฟกัสไปยังประเด็นสีผิวเป็นหลัก และเฉพาะเจาะจงที่ “ขาวกับดำแทนการเหมารวมไปถึงละติน เอเชีย ฯลฯ เขาโฟกัสไปยังคนที่ไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง (ซึ่งในแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของฮอลลีวู้ดในวงกว้าง เมื่อดาราออสการ์อย่าง เจมี ฟ็อกซ์ ไม่ได้รับข้อเสนอให้เล่นบทดีๆ มากเท่ากับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) แทนที่จะเฉลิมฉลองผู้เข้าชิง ที่สำคัญ เสียงเรียกร้อง “ความหลากหลายของเขายังออกจะย้อนแย้งกับแก๊กตลกในช่วงกลางงาน เมื่อร็อคล้อเลียนภาพลักษณ์แบบเหมารวมของชาวเอเชีย (ขยัน เก่งเลข) ด้วยการแนะนำกลุ่มอาตี๋อาหมวยตัวน้อยๆ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการคำนวณคะแนนเพื่อหาผู้ชนะของบริษัท ไพรซ์ วอเตอร์เฮาส์ ก่อนจะสรุปตบท้ายว่า “ถ้าใครรู้สึกว่ามุกนี้เป็นการเหยียดเชื้อชาติละก็ ให้ทวีตข้อความบนโทรศัพท์ ซึ่งเด็กพวกนี้เป็นคนประกอบเช่นกัน

ความสนุกสนานของการถ่ายทอดสดดูจะพีคสุดในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก ก่อนพลังงานจะเริ่มลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากมุกตลกที่ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องสีผิวไม่เลิกรา แม้ในระหว่างทางจะมีดาราหลายคนมาช่วยเพิ่มสีสันให้กับการประกาศรางวัลได้บ้าง เช่น เมื่อ ไรอัน กอสลิง จับคู่มากับ รัสเซล โครว หรือ ทีนา เฟย์ กับ สตีฟ คาเรล แต่บางครั้งความพยายามตลกก็ไม่ค่อยจะได้ผลเท่าใดนัก เช่น กรณีของ ซาชา บารอน โคเฮน ที่ออกมาแนะนำหนังเรื่อง Room แล้วพล่ามออกนอกเรื่องไปไกลถึงประเด็นความหลากหลาย แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยการเปรียบเทียบมีเนียนกับคนเอเชีย หรือ เมื่อ ซาราห์ ซิลเวอร์แมน พยายามจะเล่นมุกตลกเกี่ยวกับ เจมส์ บอนด์ ด้วยการบอกว่า 007 ห่วยแตกเรื่องบนเตียง เพราะผู้หญิงแทบทุกคนที่มีเซ็กซ์กับเขา ต่างพยายามจะฆ่าเขาในเวลาต่อมา

ไฮไลท์ของงานน่าจะอยู่ตรงการคว้าออสการ์มาครอง (ตามความคาดหมาย) เป็นครั้งแรกของดิคาปริโอและ เอนนิโอ มอร์ริโคเน ซึ่งแน่นอนว่าได้เสียงตอบรับเป็นการ standing ovation แต่ตำแหน่งเจ้าของคำกล่าวบนเวทีที่น่าจดจำสุดกลับตกเป็นของ ชาร์มีน โอเบด-ชินอย ซึ่งได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นจากเรื่อง A Girl in the River: The Price of Forgiveness โดยหนังบอกเล่าชีวิตของเด็กสาวอายุ 18 ปีที่รอดตายจาก “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติเมื่อลุงกับพ่อของเธอพยายามฆ่าเธอด้วยการยิงที่หน้า แล้วผลักตกแม่น้ำเพียงเพราะเหตุผลว่าเธอตกหลุมรักกับชายหนุ่มที่พวกเขาไม่เห็นชอบ และพยายามจะหนีตามกันไป “นายกรัฐมนตรีของปากีสถานบอกว่าเขาจะเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับการฆ่าเพื่อรักษาเกียรติหลังได้ชมหนังเรื่องนี้ชินอยกล่าว “นี่ล่ะพลังของภาพยนตร์


All about Stats

* นี่ถือเป็นปีแรกนับจาก 2009 เมื่อ PGA เปลี่ยนมาใช้ระบบนับคะแนนแบบ เรียงลำดับตัวเลือกแบบเดียวกับออสการ์ ที่รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ PGA กับออสการ์ไม่ตรงกัน โดยเวทีแรกมอบหนังเยี่ยมให้กับ The Big Short ส่วนเวทีหลัง Spotlight กลับเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะไปครอง

* Mad Max: Fury Road เป็นหนังไซไฟเรื่องแรกที่ได้รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายนับจาก Star Wars (1977) โดยก่อนหน้านี้ เจนนี บีแวน เคยชนะออสการ์จากหนังพีเรียดเรื่อง A Room with a View (1985)

* เอ็มมานูเอล ลูเบซกี้ กลายเป็นผู้กำกับภาพคนแรกและคนเดียวที่ได้ออสการ์สามปีซ้อน ก่อนหน้านี้เขาถือครองสถิติร่วมกับ จอห์น โทล (Legends of the Fall กับ Braveheart) ลีออน แชมรอย (Wilson กับ Leave Her to Heaven) และ วินตัน ฮอช (Joan of Arc กับ She Wore a Yellow Ribbon)

* ชัยชนะครั้งแรกจาก The Hateful Eight ทำให้ เอนนิโอ มอร์ริโคเน กลายเป็นผู้ชนะที่อายุมากสุด คือ 87 ปี โดยนักแสดงอายุมากสุดที่ได้ออสการ์ คือ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (Beginners) อายุ 82 ปี ส่วนผู้กำกับอายุมากสุดที่ได้ออสการ์ คือ คลินต์ อีสต์วู้ด (Million Dollar Baby) อายุ 74 ปี

* Writing’s on the Wall เป็นเพลง เจมส์ บอนด์ เพลงที่สองที่ได้ออสการ์ต่อจาก Skyfall ส่วนอีกสามเพลงที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิง คือ Live and Let Die, Nobody Does It Better (จากเรื่อง The Spy Who Loved Me) และ For Your Eyes Only

* ชาร์มีน โอเบด-ชินอย เป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้ารางวัลในสาขาหนังสารคดีขนาดสั้นมาครองสองครั้ง จาก Saving Face (2011) และ A Girl in the River: The Price of Forgiveness (2015) โดยสามคนที่ทำสำเร็จก่อนหน้า คือ วอลต์ ดิสนีย์ (Alaskan Eskimo กับ Men Against the Artic) ชาร์ลส์ อี กูเกนไฮม์ (The Johnstown Flood กับ A Time for Justice) และ โรบิน เลห์แมน (Don’t กับ End of the Game)

* อเลฮานโดร จี. อินาร์ริตู กลายเป็นผู้กำกับคนที่สามที่คว้ารางวัลออสการ์มาครองได้สองปีซ้อนหลังจาก จอห์น ฟอร์ด (The Grapes of Wrath กับ How Green Was My Valley ในปี 1940-1941) และ โจเซฟ แอล แมนคีวิคซ์ (A Letter to Three Wives และ All About Eve ในปี 1949-1950) แต่ยังไม่มีใครกำกับหนังที่ได้รางวัลออสการ์สูงสุดสองปีซ้อน

* ทอม ฮูเปอร์ กลายเป็นผู้กำกับคนแรกที่สามารถส่งนักแสดงให้คว้ารางวัลออสการ์ได้สามเรื่องซ้อน หลังจาก โคลิน เฟิร์ธ (นำชาย) ใน The King’s Speech แอนน์ แฮธาเวย์ ใน Les Miserables และ อลิเซีย วิแคนเดอร์ ใน The Danish Girl ต่างก็ได้ออสการ์ไปนอนกอดกันถ้วนหน้า

* Spotlight ทำสถิติเป็นหนังออสการ์ที่ได้รางวัลน้อยที่สุดอันดับสอง (สองรางวัล) เทียบเท่า Wings (1927) ซึ่งได้เข้าชิง 2รางวัล All Quiet on the Western Front (1930) ซึ่งได้เข้าชิง 4 รางวัล You Can’t Take It with You (1938) ซึ่งได้เข้าชิง 7 รางวัล Rebecca (1940) ซึ่งได้เข้าชิง 11 รางวัล และ The Greatest Show on Earth (1952) ซึ่งได้เข้าชิง 5 รางวัล ส่วนสถิติต่ำสุด คือ การคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองแค่รางวัลเดียว ยังคงตกเป็นของหนังสามเรื่อง ได้แก่ The Broadway Melody (1929) ซึ่งได้เข้าชิง 3 รางวัล Grand Hotel (1932) ซึ่งได้เข้าชิง 1 รางวัล และ Munity on the Bounty (1935) ซึ่งได้เข้าชิง 8 รางวัล

* Ex Machina กลายเป็นหนังเรื่องแรกที่ไม่ได้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยม แต่สามารถคว้าชัยชนะในสาขาเทคนิคพิเศษด้านภาพมาครองเหนือคู่แข่งที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่าง Mad Max: Fury Road และ The Revenant โดยครั้งล่าสุดที่ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คือ 45 ปีก่อน เมื่อ Tora! Tora! Tora! คว้าชัยชนะเหนือ Patton


Surprises of the Night

* หลายคนคาดการณ์ว่า Mad Max: Fury Road น่าจะกวาดรางวัลทางด้านเทคนิคมาครองมากที่สุด แต่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะสามารถคว้ามาได้ถึง 6 รางวัล รวมถึงสาขาที่การแข่งขันค่อนข้างสูงอย่างลำดับภาพยอดเยี่ยม (ตัวเก็งอันดับหนึ่ง คือ The Big Short เพราะกรรมการขึ้นชื่อมาตลอดว่านิยมมอบรางวัลให้กับหนังที่ ตัดเยอะสุด แต่ขณะเดียวกันเทียบกับสถิติในปีก่อนๆ หนังแอ็กชั่นดูเหมือนจะได้เปรียบในสาขานี้อยู่เล็กน้อย ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของ The Bourne Ultimatum, The Hurt Locker, The Girl with the Dragon Tattoo และ Argo) หรือสาขาที่ค่อนข้างก้ำกึ่ง สูสีอย่างออกแบบเครื่องแต่งกาย บันทึกเสียง และตัดต่อเสียง

* สองตัวเก็งในสาขาเทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม คือ Mad Max: Fury Road และ Star Wars: Episode VII – The Force Awakens โดยเรื่องแรกอาจเสียเปรียบตรงที่หนังไม่ได้ใช้เทคนิคด้านภาพเยอะแยะมากมายนอกเหนือจากฉากพายุทะเลทราย ส่วนใหญ่จะเป็นงานสตั๊นท์และเทคนิคที่จับต้องเสียมากกว่า แต่มันได้เปรียบตรงเป็นหนังเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกรรมการบางครั้งก็มักจะเลือกจากภาพรวมของหนังมากกว่าเจาะจงไปยังผลงาน ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์บางคนมองว่ากรรมการอาจจะอยากให้รางวัลกับ Star Wars เพราะมันเป็นหนังที่หลายคนชื่นชอบ โกยเงินมหาศาล และสาขานี้ดูน่าจะมีความเป็นไปได้สูงสุด แต่ผลกลับปรากฏว่าหนังอินดี้ฟอร์มเล็กอย่าง Ex Machina (ซึ่งได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์อย่างอบอุ่น) คว้าชิ้นปลามันไปกินท่ามกลางเสียงเฮจากกลุ่มกองเชียร์จำนวนมหาศาล (ราคาต่อรองที่มันจะได้รางวัลอยู่ที่ 80 ต่อ 1) มันกลายเป็นผู้ชนะที่ทำเงินได้น้อยที่สุดนับแต่ Innerspace เมื่อปี 1987 โดย Ex Machina ทำเงินในอเมริกาได้ 25.4 ล้านเหรียญ ส่วน Innerspace ทำเงินในอเมริกาได้ 25.8 ล้านเหรียญ ชัยชนะในครั้งนี้น่าประทับใจตรงที่ปกติกรรมการออสการ์มักจะเน้นให้รางวัลหนังที่ใช้เอฟเฟ็กต์เยอะมากกว่าหนังที่สอดแทรกเทคนิคพิเศษได้อย่างกลมกลืน แล้วทำงานรับใช้เนื้อเรื่องมากกว่าเรียกร้องความสนใจจากคนดู เช่น ชัยชนะของ Forest Gump หรือ Death Becomes Her เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

* ตอนที่ Writing’s on the Wall หลุดเข้าชิงเป็น 1 ใน 5 เพลงยอดเยี่ยม หลายคนก็ดูจะไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เมื่อเพลงดังบางเพลงอย่าง Love Me Like You Do และ See You again โดนแทนที่โดยเพลง เจมส์ บอนด์ ที่ค่อนข้างน่าเบื่อและแห้งแล้งชีวิตชีวา หลังจบการแสดงสุดอลังการ เล่นใหญ่จัดเต็มของ เลดี้ กาก้า บนเวทีออสการ์ หลายคนค่อนข้างมั่นใจว่าเพลง Til It Happens to You ของเธอ ซึ่งเป็นตัวเก็งมาตั้งแต่แรก น่าจะคว้ารางวัลไปครองในที่สุด (ผู้ชมในงานลุกขึ้นยืนปรบมือให้เธอ และหลายคนน้ำตาคลอเบ้าแบบเดียวกับการแสดงเพลง Glory เมื่อปีก่อน) แต่ปรากฏว่า แซม สมิธ กลับได้ชัยชนะไปแบบเหนือความคาดหมาย ต้องยอมรับว่าประวัติการเข้าชิงเป็นครั้งที่ 8 แต่ยังไม่เคยได้รางวัลของ ไดแอน วอร์เรน คนแต่งเพลง ชื่อเสียงของ เลดี้ กาก้า การแคมเปญอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการเล่นกับประเด็นสำคัญอย่างข่มขืน (หนังสารคดีเรื่อง The Hunting Ground พูดถึงหลากหลายเหตุการณ์ทารุณทางเพศในหอพักของมหาวิทยาลัย) ไม่ได้ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับเพลงอย่างที่หลายคนคาดหวังไว้

* ทุกคนคิดว่ากรรมการจะเลือกย้อนรอยประวัติศาสตร์กับ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในวงการมานาน แต่ดูเหมือนการพลาดเข้าชิง SAG จะบ่งบอกแนวโน้มบางอย่างว่าเขาไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนในวงการมากนัก และผลงานการแสดงของเขาก็ไม่โดดเด่นเทียบเท่า มาร์ค ไรแลนซ์ ซึ่งเป็นขวัญใจรางวัลนักวิจารณ์ (ผู้ชนะรางวัล SAG คือ ไอดริส อัลบา จาก Beasts of No Nation แต่เขาไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์) แถมหนังที่ไรแลนซ์นำแสดงยังเข้าชิงในสาขาหนังยอดเยี่ยมอีกด้วย ขณะที่สตอลโลนเป็นตัวแทนคนเดียวจาก Creed ที่ได้เข้าชิง บางทีกระแส OscarSoWhite อาจส่งผลกระทบต่อคะแนนของเขา (กรรมการบางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือ ถ้าจะโหวตให้นักแสดงผิวขาวเพียงคนเดียวใน Creed โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักแสดงคนนั้นลืมจะกล่าวขอบคุณผู้กำกับผิวดำตอนเขาก้าวขึ้นไปรับรางวัลลูกโลกทองคำ) ขณะเดียวกันผลงานโดยรวมที่ผ่านมาของสตอลโลนก็ไม่กระตุ้นอารมณ์ให้ผู้คนอยากเฉลิมฉลอง หรือสดุดีเขาในแบบเดียวกับ เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) สักเท่าไหร่


Best Moments

* ดาวตลก หลุยส์ ซี.เค. เรียกเสียงฮาได้หนักสุดเมื่อเขาออกมาประกาศรางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม “นี่เป็นรางวัลเดียวในงานที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตคน... ออสการ์ในสาขาอื่นๆ คงไปวางโชว์อยู่ในแมนชั่นสุดหรู ในบ้านของคนที่มีสหภาพแรงงานมั่นคง และมีงานทำตลอด แต่นี่เป็นสาขาสารคดีขนาดสั้น มันไม่ใช่สารคดีขนาดยาวด้วยซ้ำ ซึ่ง อัล กอร์ ก็เคยได้ หรือ ไมเคิล มัวร์ คุณไม่สามารถหาเงินสักบาทได้จากการเข้าชิงสาขานี้ คนพวกนี้ไม่มีวันร่ำรวยตลอดชั่วชีวิต ฉะนั้นออสการ์จึงมีความหมายต่อพวกเขามาก เพราะสิ่งเดียวที่พวกเขาทำ คือ บอกเล่าเรื่องราวที่สำคัญ จริงอยู่พวกคุณก็ทำ แต่พวกคุณก็ได้เงินได้ทองด้วย แต่สำหรับคนพวกนี้ออสการ์จะเดินทางกลับบ้านไปในรถ ฮอนด้า ซีวิค ออสการ์จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาได้รับในชีวิต ทำให้พวกเขากังวลจนนอนไม่หลับหากต้องเก็บมันไว้ในอพาร์ตเมนต์โกโรโกโส”... โน้ตถึงผู้จัดงานออสการ์ ได้โปรดพิจารณาเขาเป็นตัวเลือกสำหรับงานพิธีกรในปีหน้าด้วย

* เสียงร้องอันไพเราะของ เดฟ โกรห์ล จากวง Foo Fighter ในเพลง Blackbird ของ The Beatles เวอร์ชั่นกีตาร์อะคูสติกช่วยสร้างบรรยากาศหวานปนเศร้าในช่วง In Memoriam ได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะคนดูไว้อาลัยถึงศิลปินชั้นยอดอย่าง อลัน ริคแมน, เดวิด โบวี และ คริสโตเฟอร์ ลี สิ่งเดียวที่อาจทำให้ช่วงเวลานี้ด่างพร้อย คือ การตกหล่นชื่อของ ฌาคส์ รีแวตต์ (La belle noiseuse, Celine and Julie Go Boating) นักทำหนังระดับตำนานชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2016

* เลดี้ กาก้า แทบจะกลายเป็นขาประจำบนเวทีออสการ์ไปแล้ว และในปีนี้การแสดงของเธอก็ยังคงเรียกแขกได้เช่นเคย ทำให้ผู้ชมทั้งฮอลลุกขึ้นยืนปรบมือจากการครวญเพลง Til It Happens to You ด้วยพลังเสียงที่มั่นใจ ทรงพลัง โดยเธอได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากเหล่าเหยื่อข่มขืนทั้งชายและหญิงที่เดินออกมาจากด้านหลังเวทีเพื่อสนับสนุนการหยุดใช้กำลังทางเพศ

* คลิปวิดีโอที่เรียกเสียงฮาได้มากสุดคงหนีไม่พ้นคลิปล้อเลียนฮอลลีวู้ดด้วยการให้นักแสดงผิวสีมาเล่นหนังดังบนเวทีออสการ์ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น วูปปี้ โกลด์เบิร์ก ที่มาช่วย เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ โฆษณาขายม็อบถูพื้นใน Joy เลสลี โจนส์ เล่นงาน ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ใน The Revenant จนสะบักสะบอมเพราะไม่เขาไม่ยอมโทรกลับ เทรซี มอร์แกน รับบทกะเทยแต่งหญิงที่ชอบกินขนมเดนิชใน The Danish Girl หรือ คริส ร็อค เล่นเป็นนักบินอวกาศที่ เจฟฟ์ เดเนียลส์ กับ คริสเตน วิก ใน The Martian ไม่อยากช่วยเหลือ


What is a Merkin?

ระหว่างขึ้นมากล่าวแนะนำรางวัลแต่งหน้าทำผม จาเร็ด เลโต บอกว่า “หากปราศจากอัจฉริยภาพของเหล่าเมคอัพอาร์ติสและช่างทำผม เราคงไม่มีทางอินไปกับเรื่องราวในหนังคลาสสิกอย่าง The Godfather, The Elephant Man, Raging Bull และ Magic Mike 2… พวกเขาสมควรได้รับรางวัลจากการต้องทนรับมือกับเหล่านักแสดงเรื่องมาก นี่ยังไม่ต้องพูดถึงบรรดาอวัยวะเทียม วิกผม และเมอร์กิน... ถ้าคุณกำลังหัวเราะอยู่ ได้โปรดอธิบายกับคนที่นั่งข้างๆ ด้วย แต่ถ้าคุณไม่ขำ ก็ลองเซิร์จกูเกิลคำว่าเมอร์กินดูเมอร์กิน คือ วิกขนเพชรที่นักแสดงจะใส่เวลาเข้าฉากโป๊เปลือย บ่อยครั้งเมอร์กินมักถูกใช้ในหนังตลกเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ เช่น Sex and the City และ Scary Movie แต่หลายครั้งเมอร์กินช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักแสดงเวลาต้องเข้าฉากเปลือย ทำให้พวกเธอรู้สึกไม่ ตัวเปล่าเสียทีเดียว รูนีย์ มารา ใส่เมอร์กินระหว่างถ่ายทำ The Girl with the Dragon Tattoo เพื่อปกป้องจุดซ่อนเร้นของร่างกาย โดยเธออธิบายว่ามันเป็นเหมือน บิกินีขนเฟอร์” 


Worst Feeling after Winning

บางครั้งชัยชนะก็ใช่จะนำมาแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ดังจะเห็นได้จากประสบการณ์ของ แซม สมิธ ในคืนออสการ์ รวมถึงผลกระทบที่ตามมาในวันรุ่งขึ้น เขาเริ่มต้นค่ำคืนได้อย่างกระปรกกระเปรี้ยจากการโชว์เพลง Writing’s on the Wall ที่ไม่ค่อยน่าจดจำ (กระทั่งเขาเองก็ยอมรับกับ BBCว่ามันเป็น ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตผม”) ทุกอย่างเหมือนจะดีขึ้น เมื่อเพลงของเขาคว้ารางวัลมาครองแบบเหนือความคาดหมาย แต่สมิธกลับพลาดท่าด้วยการพูดบนเวทีระหว่างรับรางวัลว่า สองสามเดือนก่อนผมได้อ่านบทความของ เอียน แม็คเคลเลน ที่บอกว่ายังไม่เคยมีเกย์ที่เปิดเผยตัวเองคนไหนได้ออสการ์มาก่อน ถ้านั่นเป็นจริง หรือต่อให้มันไม่เป็นจริงก็ตาม ผมอยากอุทิศรางวัลนี้ให้กับชุมชน LGBT ทั่วโลกคำพูดของเขาก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “ระเบิดลงในโลกออนไลน์ทันที เพราะเขาไม่เพียงเข้าใจความหมายของแม็คเคลเลนผิดเท่านั้น (นักแสดงชาวอังกฤษผู้โด่งดังจากการรับบทเป็นแกนดาล์ฟในไตรภาค The Lord of the Rings และ The Hobbit หมายถึงยังไม่เคยมี นักแสดงเกย์ที่เปิดเผยตัวเองคนไหนเคยได้ออสการ์สาขานำชาย พลางนึกสงสัยว่ามันเป็นเพราะอคติหรือแค่เรื่องบังเอิญ) แต่ยังมืดบอดต่อข้อเท็จจริงอีกด้วย เพราะมีเกย์ หลายคนเคยได้ออสการ์มาแล้ว หนึ่งในนั้นก็เป็นเพื่อนร่วมชาติชาวอังกฤษของสมิธอีกด้วยอย่าง เอลตัน จอห์น ผู้คว้ารางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยมเมื่อปี 1994 จาก Can You Feel the Love Tonight? นี่ยังไม่รวมสาขาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น บิล คอนดอน (Gods and Monsters) อลัน บอล (American Beauty) เปโดร อัลโมโดวาร์ (Talk to Her) ดัสติน แลนซ์ แบล็ค (Milk) โดยคนหลังดูจะออกอาการหงุดหงิดหนักสุดกับความไม่รู้เรื่องรู้ราวของสมิธถึงขนาดโพสต์ลงทวิตเตอร์ในทำนองว่า ถ้าสมิธไม่รู้จักเขาก็น่าจะเลิกส่งข้อความหาคู่หมั้นหนุ่มของเขา (นักกระโดดน้ำชื่อดังชาวอังกฤษ ทอม เดลีย์) ได้แล้ว พร้อมกับแปะลิงก์ตอนเขาได้รับรางวัลออสการ์ลงไปด้วย

แต่อย่าคิดว่าสมิธจะหยุดความสะเหล่อของตัวเองไว้แค่นั้น เพราะหลังจากนักข่าวยกตัวอย่างว่า โฮเวิร์ด แอชแมน เคยได้รางวัลเพลงยอดเยี่ยมจาก Under the Sea และ Beauty and the Beast นักร้องหนุ่มเจ้าของรางวัลแกรมมีก็ตอบว่า ผมน่าจะรู้จักเขา เราน่าจะได้ออกเดทกันโดยหารู้ไม่ว่าแอชแมนเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1991 ด้วยโรคเอดส์ขณะอายุ 40 ปี... บางทีการพูดว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รางวัลนี้ และขออุทิศให้กับชุมชน LGBT ทั่วโลกสั้นๆ ง่ายๆ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับ น่าเสียดายที่ แซม สมิธ ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้


WTF Moments

* ออสการ์ปีนี้พล่ามถึงประเด็น “ความหลากหลายแต่ความหมายจริงๆ คงหยุดอยู่แค่ “คนผิวดำ แทนที่จะกินความรวมไปถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว หรือเพศอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการตัดสินใจของผู้จัดงานที่จะคัดสองเพลงที่ได้เข้าชิงออสการ์ออกจากการแสดงบนเวที หนึ่งในนั้น คือ เพลง Manta Ray (จากหนังเรื่อง Racing Extinction) ของ แอนโทนีย์ เฮการ์ตี้ ศิลปินชายข้ามเพศ (อีกเพลง คือ Simple Song # 3 จากหนังเรื่อง Youth) โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประหยัดเวลาในการออกอากาศ แต่เหตุผลแท้จริงคงเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้โด่งดังเหมือนศิลปินในอีกสามเพลงเสียมากกว่า แม้ว่าทุกเพลงที่ได้รับเลือกให้นำมาร้องบนเวทีล้วนถูกหั่นความยาวออกจากเวอร์ชั่นปกติที่เล่นตามวิทยุ ฉะนั้นหากจะมีการแสดงอีกสองเพลงเพิ่มเข้ามา พวกมันก็น่าจะกินเวลาไม่เกิน 8 นาที ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เมื่อพิจารณาว่าการถ่ายทอดสดทั้งงานยาวนานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง ถ้ามันจะนานขึ้นอีกสัก 8 นาที เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงก็คงไม่เป็นไร หรือถ้าผู้จัดอยากให้งานกระชับจริงๆ ก็น่าจะหาเวลาหั่นซอยเอาจากมุกตลกที่ไม่ค่อยได้ผลของ คริส ร็อค (มันจำเป็นเหรอที่จะต้องรีไซเคิลมุกซ้ำซากประเภทให้เด็กๆ มาเดินขายคุกกี้แบบเดียวกับตอนที่ เอลเลน ดีเจเนอเรส สั่งพิซซาให้ผู้ร่วมงานเมื่อสองปีก่อน)

* สเตซี แดช เป็นนักแสดงผิวสีที่โด่งดังจากหนังเรื่อง Clueless (1995) แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนเธอจะขึ้นชื่อมากกว่าในแง่การแสดงความเห็นทางการเมืองแบบเอียงขวาสุดโต่ง เธอโหวตให้ บารัค โอบามา ในปี 2008 ก่อนจะเปลี่ยนมาอยู่ฝั่งพรรครีพับริกันในปี 2012 และสนับสนุน มิท รอมนีย์ ล่าสุดเธอเพิ่งตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากการเสนอให้ยกเลิกทีวีเคเบิลช่อง BET ซึ่งมุ่งเน้นทำรายการตอบสนองคนผิวดำ (“เราควรกำจัดช่อง BET รางวัล BET Awards และ Image Awards ซึ่งคุณต้องเป็นคนผิวดำเท่านั้นถึงจะมีโอกาสได้รางวัล”) และเทศกาล Black History Month โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นการแบ่งแยกเกินและสองมาตรฐาน “เราทุกคนล้วนเป็นชาวอเมริกันเธอกล่าว สำหรับผู้ชมนอกอเมริกา การปรากฏตัวของเธอบนเวทีออสการ์คงสร้างความงุนงงไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้จักว่าเธอเป็นใคร มีจุดยืนทางการเมืองต่อประเด็นสีผิวอย่างไร และมันเป็นการ “เสียดสีแค่ไหนที่ได้เห็นเธอออกมาพูด “สุขสันต์เดือนแห่งประวัติศาสตร์คนผิวดำแต่ปัญหา คือ ต่อให้คุณเข้าใจแบ็คกราวด์ทุกอย่างครบถ้วน ช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังเข้าข่าย “มุกแป้กสมบูรณ์แบบอยู่ดี และภาพใบหน้าของเหล่าผู้ชมในงานตอนกล้องตัดภาพไปยัง คริสซี ไทเกน หรือ The Weekend ก็น่าจะบ่งบอกทุกอย่างได้ครบถ้วน

รายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

Best Picture: Spotlight
Direction: Alejandro G. Inarritu (The Revenant)
Actor: Leonardo DiCaprio (The Revenant)
Actress: Brie Larson (Room)
Supporting Actor: Mark Rylance (Bridge of Spies)
Supporting Actress: Alicia Vikander (The Danish Girl)
Adapted Screenplay: The Big Short
Original Screenplay: Spotlight
Cinematography: The Revenant
Production Design: Mad Max: Fury Road
Film Editing: Mad Max: Fury Road
Visual Effects: Ex Machina
Costume Design: Mad Max: Fury Road
Makeup: Mad Max: Fury Road
Sound Editing: Mad Max: Fury Road
Sound Mixing: Mad Max: Fury Road
Score: The Hateful Eight
Song: Writing’s on the Wall (Spectre)
Foreign Language Film: Son of Saul (Hungary)
Animated Feature: Inside Out
Documentary Feature: Amy
Animated Short: Bear Story
Documentary Short: A Girl in the River: The Price of Forgiveness
Live Action Short: Strutterer

วันเสาร์, มีนาคม 12, 2559

Anomalisa: ทุกข์ระทมของการดำรงอยู่


ต้นกำเนิดของ Anomalisa เริ่มขึ้นเมื่อปี 2005 จากบทละคร ซึ่งนักแสดงจะนั่งอ่านบทพูดโดยมีซาวด์เอฟเฟ็กต์กับดนตรีจากวงออเคสตราประกอบเรื่องราวเท่านั้น ไม่มีฉาก ไม่มีการ สวมบทบาท แบบเดียวกับละครเวทีทั่วไป ชื่อโครงการนี้ คือ โรงละครแห่งเสียง และคำโฆษณาโดดเด่นบนโปสเตอร์ คือ ทิ้งดวงตาของคุณไว้ที่บ้าน ชาร์ลี คอฟแมน เขียนบทละคร Anomalisa โดยใช้นามแฝง ฟรานซิส เฟรโกลี เพื่ออ้างอิงถึงอาการทางจิตที่เรียกว่า Fregoli delusion โดยคนที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเชื่อว่าตนเองถูกล้อมรอบด้วยบุคคลเดียวกันที่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตา หรือปลอมตัวเป็นคนอื่นๆ

ในเวอร์ชั่นหนังคำว่าเฟรโกลีถูกนำมาใช้เป็นชื่อโรงแรมในเมืองซินซินแนติที่ตัวละครเอก ไมเคิล สโตน (เดวิด ธิวลิส) เดินทางจากลอสแองเจลิสมาพักค้างคืนก่อนจะขึ้นบรรยายในวันรุ่งขึ้น เขาเป็นกูรูในแวดวงการให้บริการลูกค้า และหนังสือของเขาเรื่อง How May I Help You Help Them? ก็เปรียบเสมือนคัมภีร์ไบเบิลสำหรับหน่วยลูกค้าสัมพันธ์ ที่ต้องการเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ หนังเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของไมเคิล และหลังจากเรื่องราวดำเนินไปได้สัก 15 นาที คนดูก็เริ่มสังเกตเห็นว่าตัวละครทุกคน (ยกเว้นไมเคิลกับลิซา) ล้วนมีโครงหน้าเหมือนกันหมด แตกต่างแค่ทรงผม ส่วนสูง น้ำหนัก เพศ ที่สำคัญ พวกเขายังมีเสียงเดียวกันหมด นั่นคือ เสียงของ ทอม นูแนน ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ เบลลา (คนรักเก่าของไมเคิล) พนักงานต้อนรับที่โรงแรม ภรรยากับลูกชายของไมเคิล หรือแม้กระทั่งเมื่อไมเคิลเปิดทีวีไปเจอหนังตลกคลาสสิกเรื่อง My Man Godfrey (1936) ตัวละครทั้งหมดในหนังก็ล้วนมีใบหน้าแบบเดียวกันและให้เสียงพากย์โดยนูแนนเช่นกัน

บางทีคอฟแมนอาจกำลังบอกใบ้ว่าไมเคิลเป็นตัวละครที่มีปัญหาทางจิต อาการบาดเจ็บทางสมองอาจทำให้เขาเห็นภาพหลอนว่าทุกคนเป็นคนๆ เดียวกันหมด และพฤติกรรมหลายอย่างของไมเคิลก็ดูจะเข้าข่ายคนกำลังสูญเสียสติอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขาถามเบลลา ขณะพยายามอธิบายเหตุผลที่เขาถึงทอดทิ้งเธอไปอย่างกะทันหันเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนว่า คุณเปลี่ยนไปมั้ยตอนเราอยู่ด้วยกัน ผมเปลี่ยนคุณหรือเปล่า มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า หรือการบรรยายของเขาในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งเริ่มต้นได้ราบรื่น ก่อนจะค่อยๆ หักเหไปสู่คำถามเชิงปรัชญาอย่างประหลาด เช่น มนุษย์คืออะไร ความเจ็บปวดคืออะไร การมีชีวิตอยู่คืออะไร แล้วลงเอยด้วยการพล่ามออกนอกประเด็นไปไกล (“โลกกำลังล่มสลาย ประธานาธิบดีเป็นอาชญากรสงคราม อเมริกากำลังจะเผชิญกับความวินาศ แต่พวกคุณยังเชื่อเรื่องพระเจ้าผู้สร้างโลกอยู่เลย”) ผมคิดว่าตัวเองมีบางอย่างผิดปกติอย่างรุนแรง เขายอมรับในช่วงท้ายของคำบรรยาย

เหตุผลของความผิดปกตินั้นอาจไม่ปรากฏชัด แต่ลักษณะอาการเป็นสิ่งที่คนดูสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่ฉากแรกของหนัง เมื่อชายแปลกหน้าบนเครื่องบินเผลอจับมือไมเคิลด้วยความกลัวขณะเครื่องกำลังจะลงจอด เขาแสดงท่าทางหงุดหงิดต่อการต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และในเวลาต่อมาก็เลือกจะหยิบไอพ็อดขึ้นมาเปิดเพลงฟังเพื่อหลบเลี่ยงการต้องสนทนา สบตากับผู้คน เขาเหนื่อยหน่ายจนเกือบจะเรียกได้ว่าเจ็บปวด ทรมานกับการต้องทนพูดคุยเรื่องสวนสัตว์กับคนขับแท็กซี่ ซึ่งพยายามทำหน้าที่เป็นไกด์ทัวร์เมืองซินซินแนติทั้งที่ไม่มีใครร้องขอ เสียงทอดถอนหายใจและท่าก้มหน้าบีบจมูกอย่างอ่อนล้าเป็นอิริยาบทเคยชินของไมเคิล ขณะรับมือกับความสามัญ ซ้ำซากแห่งวิถีประจำวัน เขาเหม็นเบื่อชีวิต ตลอดจนกิจวัตรการเดินทางมาบรรยายตามเมืองต่างๆ นั่งเครื่องบิน ขึ้นแท็กซี่ เข้าพักในโรงแรม ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น หรือแปลกใหม่ แม้ว่าทุกคนรอบข้างจะคอยยัดเยียดให้เขากอบโกยความสุข สุนทรีย์แห่งชีวิตมากแค่ไหน ตั้งแต่คนขับแท็กซี่ที่พยายามชักชวนเขาให้ไปเยี่ยมชมสวนสัตว์และลองชิมชิลลี่ของซินซินแนติ (“วันเดียวก็ไปเที่ยวสวนสัตว์ได้ แค่สวนสัตว์เอง และกินชิลลี่ก็แค่ชั่วโมงเดียว”) ไปจนถึงพนักงานรูมเซอร์วิซที่สาธยายออร์เดอร์ สลัดผักกับแซลมอน ง่ายๆ ของไมเคิลให้กลายเป็นอาหารภัตตาคารห้าดาว (“สลัดผักกาดใส่กอร์กอนโซลาชีส พาร์มาแฮม และวอลนัท ราดน้ำสลัดรสเปรี้ยวผสมราสเบอร์รีกับน้ำผึ้ง กับสเต๊กปลาแซลมอนจากแม่น้ำคอปเปอร์ในอลาสก้า เสิร์ฟพร้อมหน่อไม้ฝรั่งอ่อนและซุปเห็ดทรัฟเฟิลดำ”)

มันน่าเบื่อ ทุกอย่างน่าเบื่อไปหมด ไมเคิลกล่าวหลังเบลลาเอ่ยปากชมโรงแรมสุดหรูที่เขาพักค้างคืนทางโทรศัพท์ จากนั้นในเวลาต่อมาเมื่อทั้งสองพบเจอกันที่บาร์ เขาก็สารภาพกับเธอว่า ผมเหงามาก แต่ความพยายามจะสานสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นลงเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนของเขากลับจบลงอย่างหายนะ

สำหรับคนที่มองโลกด้วยอารมณ์โรแมนติกอาจเห็นว่า Anomalisa เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของวิกฤติวัยกลางคน นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่ล้มเหลวในชีวิตส่วนตัว จนไม่อาจรู้สึกเชื่อมโยงกับใครได้ แม้กระทั่งภรรยากับลูกชาย (“ไม่มีใครที่ผมพูดคุยด้วยได้ เขาโพล่งขึ้นมาระหว่างการบรรยายในช่วงท้ายเรื่อง) เพลง Flower Duet จากโอเปราเรื่อง Lakme ซึ่งไมเคิลเปิดฟังที่สนามบิน ผิวปากบนรถแท็กซี่ (คนขับจำเพลงได้เพราะมันเคยใช้โฆษณาสายการบิน บริติช แอร์เวย์) และฮัมระหว่างอาบน้ำ เป็นเพลงที่สองเสียงร้องสอดประสานกันได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือสิ่งที่เขาปรารถนา คู่ดูเอ็ทที่จะช่วยพาเขาหลบหนีออกจากความซ้ำซาก จำเจ และความโดดเดี่ยวเป็นหนึ่งเดียว

สิ่งแรกในตัวลิซา (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) ที่ดึงดูดไมเคิล คือ เสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ และเมื่อได้เจอตัวจริงจากการวิ่งเคาะห้องพักทีละห้อง เขาก็พบว่าเธอมีใบหน้าแตกต่างจากคนอื่นๆ ด้วย เขาปรารถนาในตัวเธอตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้เห็น เช่นเดียวกับตุ๊กตาหุ่นเกอิชาในร้าน ของเล่น ซึ่งคนขายโฆษณาว่า “It’s quite unusual.” แถมมันยังร้องเพลงโมโมทาโร่ได้ด้วยดังจะเห็นได้จากฉากสุดท้าย (และเสียงร้องก็เป็นเสียงของ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) จากนั้นไม่กี่ฉากต่อมาคนดูก็จะเห็นลิซาร้อง Girls Just Want To Have Fun ให้ไมเคิลฟัง ซึ่งเป็นเพลงฮิตจากอัลบั้ม She’s So Unusual ของ ซินดี้ ลอเปอร์ เมื่อปี 1979[1] หนังพยายามเชื่อมโยงตุ๊กตาหุ่นเกอิชากับลิซาเข้าด้วยกันผ่านรายละเอียดหลากหลาย ตั้งแต่การร้องเพลง รอยแผลข้างดวงตาขวา ไปจนถึงภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาที่ลิซาหลงใหล

การซ้อนทับกันอย่างประหลาดดังกล่าวทำให้บางคนถึงกับตั้งสมมุติฐานว่าลิซาอาจไม่มีตัวตนอยู่จริง และไมเคิลแค่มีเพศสัมพันธ์กับตุ๊กตาเกอิชา (นำไปสู่ข้อสังเกตของดอนนาว่าน้ำที่ไหลออกมาจากตุ๊กตาดูเหมือนน้ำกาม) แต่สมมุติฐานนั้นอาจไม่สามารถอธิบายช็อตสุดท้ายของหนังให้กระจ่างชัด อีกหนึ่งความเป็นไปได้ คือ ตุ๊กตาจักรกลเป็นเหมือนภาพแทนของลิซา เป็นภาพสะท้อนแห่งปัจเจกที่ไม่ธรรมดา แปลกประหลาด แตกต่าง และชวนให้หลงใหล (ในฉากหนึ่งเขาถึงขนาดขอจูบรอยแผลเป็นของลิซา) เป็นทางเลือกที่จะช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความเบื่อหน่าย จำเจ และหดหู่ เป็นหนทางหลุดพ้นจากวังวนแห่งความผิดหวัง แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะชั่วคราว หรือแสนสั้นเพียงใด ภาพสุดท้ายของไมเคิลที่คนดูได้เห็น คือ ภาพเขานั่งอยู่ในงานปาร์ตี้ที่บ้านท่ามกลางแขกเหรื่อ ซึ่งมีใบหน้าและเสียงเดียวกันหมด ดังนั้นเขาจึงเลือกจะจ้องมองไปยังตุ๊กตาเกอิชาที่กำลังร้องเพลงในฐานะเครื่องย้ำเตือนถึงอดีตอันสุขสันต์

มนุษย์มีความจำเป็นพื้นฐานไม่กี่อย่าง เช่น ที่พักอาศัย อาหาร ความต้องการทางเพศ แต่ความจำเป็นของมนุษย์ดูเหมือนจะตอบสนองได้ยากกว่าสัตว์ทั่วไป เพราะเรามีแนวโน้มที่จะเบื่อหน่าย สุดท้ายเราจึงพยายามหาทางแก้ด้วยการเพิ่มความซับซ้อนโดยไม่จำเป็นขึ้นไปอีกขั้น ด้วยหวังว่าความสุข ความพึงพอใจที่ได้รับจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นั่นเป็นที่มาของความหรูหรา ขนมหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล โรงแรมที่มีระบบน้ำร้อนน้ำเย็นเพื่อให้คุณอาบน้ำได้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ปลาแซลมอนจากแม่น้ำคอปเปอร์ในอลาสก้า ไม่ใช่ปลาแซลมอนสามัญทั่วไป และเมื่อคุณเดินเข้าร้านเซ็กซ์ช็อป สิ่งที่สะดุดตากลับกลายเป็นตุ๊กตาจักรกลโบราณ แม้ว่าทั้งหมดเหล่านั้นจะวนเวียนกลับมาตอบสนองแค่ความต้องการพื้นฐานเดิมๆ นั่นคือ ที่พักอาศัย อาหาร และความต้องการทางเพศ

ถ้า Anomalisa เป็นเหมือนหนังรักทั่วไป การค้นพบคนที่ใช่น่าจะช่วยเติมเต็มไมเคิล ทำให้เขาค้นพบ ความสุข และชีวิตลงเอยได้อย่างราบรื่น ซึ่งชั่วขณะหนึ่งนั่นดูจะมีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจู่ๆ ไมเคิลก็เสนอความคิดว่าเขาอยากบอกเลิกภรรยาระหว่างอาหารเช้า แต่นาทีแห่งความสุขสันต์ก็ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อลิซากลับกลายเป็นเหมือนคนอื่นๆ ในสายตาของไมเคิล ทันใดนั้นเสียงของลีห์ก็ค่อยๆ โดนซ้อนทับ ก่อนจะถูกแทนที่โดยเสียงของนูแนนอย่างสมบูรณ์ในท้ายที่สุด นี่คงไม่ใช่ครั้งแรก (และครั้งสุดท้าย) ที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับไมเคิล เชื่อว่าเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนเขาคงเคยหลงใหลเบลลาแบบเดียวกับที่เขาหลงใหลลิซา[2] จนกระทั่งทุกอย่างเปลี่ยนไป ซึ่งในแง่หนึ่งช่วยสะท้อน ปัญหา ของไมเคิลให้กว้างไกลกว่าแค่วิกฤติวัยกลางคน หรือหนุ่มเหงาที่ออกตามหาชิ้นส่วนที่หายไป

เรื่องราวการดิ้นรนของไมเคิล คือ ภาพจำลองหลักปรัชญาของ อาร์ธัวร์ โชเปนฮาวเออร์ ผู้เชื่อว่ามนุษย์ติดอยู่ในวัฏจักรอันสิ้นหวังของความต้องการสิ่งต่างๆ การได้ครอบครองสิ่งเหล่านั้น และการอยากได้มากขึ้นไปอีก ซึ่งไม่มีวันจบสิ้นจนกว่าเราจะตายจากไป เมื่อไรก็ตามที่ดูเหมือนว่าเราได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว เราก็เริ่มอยากได้สิ่งอื่น มนุษย์เป็นเช่นนั้น เราไม่เคยรู้จักพอ ไม่เคยหยุดปรารถนาที่จะได้มากกว่าที่เรามี นอกจากนี้ เขายังพูดถึงความจริงในสองแง่มุม นั่นคือ เจตจำนง (Will) และภาพแทน (Representation) อย่างแรกคือแรงขับเคลื่อนที่ไม่มีจุดประสงค์หรือเป้าหมาย เป็นคลื่นพลังรุนแรงที่อยู่ในปรากฏการณ์ธรรมชาติทุกรูปแบบ ผลักดันให้พืชและสัตว์เติบโต รวมถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ ส่วนอย่างหลังคือความจริงที่เราสร้างขึ้นในจิตของเรา สิ่งที่คุณกำลังมีประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสของคุณ[3]

โชเปนฮาวเออร์มองว่ามนุษย์ก็ไม่ต่างจากหุ่นกระบอก ซึ่งปราศจากคนเชิด (ไม่มีพระเจ้า) แต่เดินหน้าด้วยกลไกภายในที่ไม่เคยหยุด กล่าวคือ เราเป็นทั้งนักโทษและผู้ร่วมก่อการของพลังแห่งเจตจำนง บ่อยครั้งมนุษย์จะใช้ชีวิตในโลกของภาพแทนโดยเชื่อว่ามันเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว แต่โชเปนฮาวเออร์เชื่อว่ายังมีความจริงในระดับที่สูงขึ้นไป นั่นคือ โลกแห่งเจตจำนง ซึ่งดำรงอยู่เหนือประสบการณ์คุณ เหนือโลกแห่งสภาพปรากฏ (appearance) นั่นอาจเป็นเหตุผลให้สองผู้กำกับ ชาร์ลี คอฟแมน และ ดุค จอห์นสัน เลือกใช้หุ่นกระบอกโดยไม่คิดจะปกปิดรอยต่อชัดเจนที่แบ่งครึ่งใบหน้า จนบางครั้งมันก็หลุดออกและเผยให้เห็นกลไกภายใน เช่น ในฉากฝันร้ายของไมเคิล ขณะที่รอยต่อคอยย้ำเตือนสถานะ หุ่นกระบอก ของตัวละคร การนำเสนอแต่ละสถานการณ์อย่างสมจริง (โดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้นฉากร่วมรักระหว่างไมเคิลกับลิซา) ผ่านฉากหลังที่สามัญ ชินตา (จนบางคนอาจนึกสงสัยว่าทำไมถึงต้องถ่ายทอดเรื่องราวมาเป็นอนิเมชัน) และบทสนทนาอันเป็นธรรมชาติ กลับเดินหน้าผลักดันหนังไปในทิศทางตรงข้าม นั่นคือ สัมผัสความเป็นมนุษย์ภายใต้พื้นผิวประดิษฐ์

เช่นเดียวกับผลงานศิลปะชั้นยอดอย่างซิมโฟนีของเบโธเฟน ซึ่งโชเปนฮาวเออร์เชื่อว่าสามารถช่วยให้เราเห็นแวบหนึ่งของความจริง หลบหนีจากวัฏจักรอันไม่สิ้นสุดของการดิ้นรนและความปรารถนาได้ในชั่วขณะหนึ่ง Anomalisa ปิดตัวได้งดงามด้วยช็อตสุดท้ายที่เปิดโอกาสให้คนดูได้เห็น ความจริง เพราะมันเป็นช็อตเดียวของหนังที่ไม่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของไมเคิล ด้วยเหตุนี้เราจึงกลับมาได้ยินเสียงของ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ รวมถึงได้เห็นใบหน้าแท้จริงของเอมิลีเป็นครั้งแรก... บางทีทางออกจากวังวนของไมเคิลคือการก้าวข้ามโลกของภาพแทน การหมกมุ่นกับความต้องการ หรือแรงปรารถนาของตัวเอง แล้วตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เชื่อมโยงเราทั้งหมดในโลกแห่งเจตจำนง หลักศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่โชเปนฮาวเออร์เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตน่าอยู่ขึ้น คือ ความเห็นอกเห็นใจกัน (compassion) เพราะเมื่อใดที่คุณตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของแรงขับหนึ่งเดียว และปัจเจกชนดำรงอยู่แค่ในระดับของโลกแห่งภาพแทน เมื่อนั้นคุณก็อาจจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวมากนัก  




[1] ในเวอร์ชั่นละครเสียง เพลงที่ลิซาร้อง คือ My Heart Will Go On ของ ซีลีน ดีออน แต่เนื่องจากทีมงานไม่สามารถขอลิขสิทธิ์เพลงได้ พวกเขาจึงเปลี่ยนมาเลือกเพลงของ ซินดี้ ลอเปอร์ แทน ซึ่งหากพิจารณาจากบุคลิก ไม่ธรรมดาอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของตัวลอเปอร์แล้ว ต้องถือว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเหมาะเจาะลงตัวยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Girls Just Want To Have Fun แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพลงที่แต่งโดย โรเบิร์ต ฮาซาร์ด ผ่านมุมมองของผู้ชายต่อเพศหญิง ก่อนจะถูกนำมาดัดแปลงเนื้อร้องใหม่โดยลอเปอร์จนสุดท้ายกลายเป็นเพลงชาติสำหรับเฟมินิสต์ยุค 1980 ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจินตนาการว่าผู้หญิงที่ขาดความมั่นใจอย่างลิซา (“คุณแน่ใจนะว่าไม่อยากชวนเอมิลี ทุกคนมักชอบเอมิลีมากกว่า”) จะหลงใหลเนื้อเพลงในช่วง “I want to be the one to walk in the sun.” (ฉันอยากเชิดหน้าก้าวเดินอย่างภาคภูมิใจ) และการที่ผู้ชายอย่างไมเคิลประกาศเลือกเธอต่อหน้าเอมิลีนั้นมีความหมายต่อเธอมากแค่ไหน

[2] ลิซาสะดุดล้มระหว่างเดินไปห้องไมเคิล เธอบอกเขาว่ามันเกิดขึ้นเป็นประจำ เบลลาเองก็ดูจะเป็นผู้หญิงซุ่มซ่ามไม่แพ้กันตอนเธอเล่าให้ไมเคิลฟังว่าต้องไปทำฟันปลอมเพราะดันหกล้มหน้ากระแทกม้านั่งซีเมนต์ นอกจากนี้ ตอนไมเคิลถามเบลลาว่า ผมเปลี่ยนคุณหรือเปล่า ก็ยังเปรียบเสมือนภาพสะท้อนเหตุการณ์ที่ไมเคิลพยายามบอกให้ลิซาอย่ากัดส้อม หรือพูดขณะอาหารยังเต็มปาก หรือเจ้ากี้เจ้าการชีวิตเขา

[3] อ้างอิงจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ปรัชญาฉบับกะทัดรัด เขียนโดย ไนเจล วอร์เบอร์ตัน แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร