วันศุกร์, พฤษภาคม 27, 2559

Demolition: รีโนเวทชีวิต


ด้วยเหตุผลบางอย่าง ทุกสิ่งกลายเป็นอุปมา เดวิส (เจค จิลเลนฮาล) เขียนระบายความรู้สึกในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขาส่งไปร้องเรียนกับฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทตู้หยอดเหรียญ หลังจากตู้หยอดเหรียญเครื่องหนึ่งที่โรงพยาบาลไม่จ่ายเอ็มแอนด์เอ็มให้เขา เดวิสอยู่ที่โรงพยาบาลหลังประสบอุบัติเหตุรถชน ซึ่งคร่าชีวิตภรรยา จูเลีย (เฮทเธอร์ ลินด์) ขณะเขากลับได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย งานศพ การปลอบประโลม ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป โดยที่เดวิสเองก็ไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไมเขาถึงไม่โศกเศร้า หรือกระทั่งเสียน้ำตาสักหยดให้การจากไปอันน่าใจหาย

เขาเกลียดภรรยา หรือหมดรักเธอมาเนิ่นนานแล้วงั้นหรือ

เศษเสี้ยวเดียวที่หนังเปิดโอกาสให้คนดูพอจะรู้จักกับคนทั้งสอง คือ ฉากเปิดเรื่อง ซึ่งอาจสะท้อนถึงความสัมพันธ์หมางเมิน เหินห่าง จนทุกอย่างแลดูเป็นกิจวัตรอยู่บ้าง (ในเชิงเทคนิคภาพยนตร์ หนังจงใจตัดสลับไปมาระหว่างภาพโคลสอัพของสองตัวละครตลอดบทสนทนาร่วมกัน ไม่มีภาพ two shot จากด้านหน้ากระจกรถ หรือช็อตข้ามไหล่ ราวกับพวกเขาต่างคนต่างอยู่ในโลกส่วนตัว โดย 2-3 ครั้งที่ทั้งสองได้อยู่ร่วมช็อตเดียวกัน กล้องจะอยู่เบาะหลังทำให้เราเห็นศีรษะเดวิสจากด้านหลัง และใบหน้าจูเลียสะท้อนผ่านกระจกส่องหลัง หรือไม่ก็เป็นภาพโคลสอัพจูเลีย ซึ่งมีมือของเดวิสยื่นโทรศัพท์ไปทางภรรยาเป็นแค่โฟร์กราวด์เลือนลาง) แต่ในเวลาเดียวกัน เยื่อใย ความผูกพันยังคงส่งกลิ่นอายให้สัมผัสได้จางๆ จากมุกแซวตบท้ายของจูเลีย ซึ่งเดวิส เก็ท” (และคนดูจะรับรู้จากภาพแฟลชแบ็ค) ก่อนช่วงเวลามรณะจะพรากเธอจากเขาไปตลอดกาล

เปรียบไปแล้วชีวิตแต่งงานของทั้งสองก็คงไม่ต่างจากรอยรั่วในตู้เย็น ซึ่งเดวิสเพิกเฉย ปล่อยให้คาราคาซังจนระยะห่างของพวกเขาถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในฉากหนึ่ง เดวิสเดินทางไปตรวจสุขภาพเนื่องจากอาการด้านชาครึ่งซีกบนของร่างกาย เมื่อหมอถามว่าเป็นมานานแค่ไหน คำตอบของเขา คือ 10-12 ปี ไม่ใช่หลังอุบัติเหตุ หรือถ้าพูดอีกอย่าง เขารู้สึกว่าตัวเองอยู่ในโหมดออโต้ไพลอตมาได้ระยะหนึ่งแล้ว จากนั้นภาพจินตนาการในหัวเดวิสก็เผยให้เห็นว่าหัวใจเขาถูกหนอนผีเสื้อกลางคืนกัดกินจนเป็นรอยแหว่ง... บางทีนี่กระมังที่ทำให้เขาด้านชาต่อการสูญเสีย?

เมื่อเขาโดนตะปูยาวหลายนิ้วแทงทะลุเท้า เดวิสร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด แต่ในเวลาเดียวกันก็ดีใจที่ตนเองยังสามารถรู้สึกรู้สาเหมือนคนอื่นๆ ต่อมาเมื่อคริส (จูดาห์ ลูอิส) ถามเขาว่ารู้สึกอย่างไรที่โดนยิง (ขณะสวมเสื้อเกราะกันกระสุน) คำตอบของเดวิส คือ มันเจ็บ... แต่เป็นเจ็บแบบสะใจ

การอุปมา เปรียบเปรย แทนค่าความรู้สึก หรือปมปัญหา ซึ่งซับซ้อน ลึกลับ ยากจะอธิบายด้วยสิ่งต่างๆ อันเป็นรูปธรรมของหนังไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะเมื่อเดวิสตัดสินใจว่าถึงเวลาเสียทีที่เขาควรจะลุกขึ้นมาสำรวจตรวจสอบชีวิตอย่างจริงจัง เพื่อทำความเข้าใจชีวิตสมรส ความสัมพันธ์ รวมเลยไปถึงตัวเอง เขาจึงนำคำบอกเล่าของพ่อตา ฟิล (คริส คูเปอร์) ที่ว่า ถ้าอยากซ่อมอะไร ให้รื้อทุกอย่าง แล้วดูว่ามีสิ่งใดบ้างที่สำคัญ จากนั้นค่อยประกอบมันกลับเข้าไปใหม่มาปฏิบัติชนิด ตรงตามตัวอักษรจนกลายเป็นที่มาของชื่อหนัง แต่ในเวลาเดียวกัน พฤติกรรมประหลาดสุดโต่งของเดวิสก็ค่อยๆ ผลักไสคนรอบข้างออกห่าง โดยเฉพาะฟิล ซึ่งเข้าใจว่าเขาเสียสติไปแล้ว

Demolition เป็นผลงานกำกับเรื่องที่สองติดต่อกันของ ฌอง-มาร์ค วัลลี ที่พูดถึงการดิ้นรนเพื่อรับมือกับความสูญเสียหลังจาก Wild เมื่อปีก่อน ในเรื่องนั้นชีวิตของ เชอรีล (รีส วิทเธอร์สพูน) พลันเสียศูนย์และเริ่มดิ่งลงเหวอย่างต่อเนื่องหลังจากแม่ของเธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เช่นเดียวกัน หนังได้เปรียบเปรยการก้าวผ่านวิกฤติด้วยรูปธรรมของการเดินป่าบนเส้นทางอันยาวไกล สุดแสนทรหด มันเป็นวิธีที่เชอรีลเลือกเพื่อให้เวลาตัวเองได้ทบทวนชีวิต แล้วจัดระเบียบครั้งใหม่ สัมภาระทางอารมณ์ที่เธอแบกไว้ก็ไม่ต่างจากแบ็คแพ็คขนาดมหึมา ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้เธอเดินทางด้วยความยากลำบาก และใช้เวลามากเกินควร แต่เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะปลดเปลื้องสิ่งของไม่จำเป็นออกจากเป้ การเดินทางก็เริ่มราบรื่นขึ้นจนสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ในที่สุด ไม่ต่างจากการเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความโกรธแค้นต่อพระเจ้า ต่อชะตากรรม และทำใจยอมรับความเจ็บปวด โศกเศร้า ซึ่งช่วยให้เธอค้นพบความสงบสุขทางจิตใจ พร้อมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

ความแตกต่างสำคัญน่าจะอยู่ตรงที่อุปมาในผลงานชิ้นใหม่ออกจะหนักมือและดูเสแสร้งไปสักหน่อย มันเป็นเรื่องหนึ่งที่คนเราจะ พักยก ชีวิตไปเดินป่าเป็นระยะทาง 1,100 ไมล์เพื่อพยายามค้นหาตัวเอง (แน่นอนการที่ Wild สร้างจากเรื่องจริงช่วยเพิ่มน้ำหนักให้มันได้ไม่น้อย) แต่การทุบทำลาย รื้อถอนบ้านหรูเพียงเพราะคุณสับสนกับชีวิตมันค่อนข้างจะเกินกว่าเหตุ และก้าวข้ามเส้นแห่งความสมจริง น่าเชื่อถือ ไปสู่ความไร้สาระ

จริงอยู่ คนดูสามารถเข้าใจได้ว่าบ้านหลังนั้นคือตัวแทนความฝันแบบอเมริกัน การดิ้นรนเพื่อครอบครองวัตถุราคาแพง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสารพัด ซึ่งไม่ได้ช่วยให้คุณค้นพบความสุขแท้จริง กระจก พื้นผิวเงางาม พื้นที่ว่างโล่งโปร่ง สะท้อนความเย็นชา แข็งทื่อดุจเครื่องจักร ขณะชีวิตดำเนินไปตามครรลองกฎเกณฑ์ ค่านิยมในสังคมที่มุ่งเน้นครอบครอง บูชาเงินทอง (เดวิสทำงานที่บริษัทจัดการลงทุนของพ่อตา ซึ่งสร้างรายได้จากการซื้อกิจการในราคาถูก แล้วขายต่อทำกำไร เช่นเดียวกับตลาดหุ้น พวกเขาได้เงินจากการคำนวณตัวเลข ไม่ใช่จากการสร้างสรรค์ หรือผลิตสิ่งใด มันจับต้องไม่ได้ เป็นแค่รหัสตัวเลขที่โอนถ่ายในอากาศและด้วยเหตุนี้จึงพยายามชดเชยด้วยการใช้เงินซื้อหาสิ่งของต่างๆ โหยหารูปธรรมที่สามารถจับต้องได้ด้วยมือ การลงแรงที่เห็นผลเบื้องหน้า แม้ว่ามันจะเป็นการพังทำลายแทนการก่อสร้างก็ตาม) แตกต่างจากบ้านของ แคเรน (นาโอมิ วัตส์) ซึ่งอาจคับแคบ ดูรกรุงรัง แต่ก็ให้อารมณ์อบอุ่น เป็น บ้าน มากกว่า

ผมเกลียดบ้านหลังนี้ มันมีแต่ข้าวของเงางาม เดวิสกล่าวเมื่อแคเรนออกความเห็นว่าบ้านของเขาเป็นเหมือนบ้านในฝันของคนส่วนใหญ่ แต่การปฏิเสธวิถีชีวิตดั้งเดิมจำเป็นต้องไปไกลถึงขั้นซื้อรถตักดินมาพังบ้านกันเลยหรือ บางทีบทหนังอาจต้องการเดินไต่ไปบนเส้นแบ่งอันง่อนแง่นระหว่างทีเล่นกับทีจริง ซึ่งยากที่จะรักษาสมดุล ในแง่หนึ่งมันพยายามคุมโทนโศกเศร้า หดหู่จนไม่อาจบรรลุสถานะแฟนตาซีเลื่อนลอยของชนชั้นกลาง แต่ขณะเดียวกันก็พิลึกพิลั่น แปลกประหลาดเกินกว่าจะถือเป็นจริงเป็นจัง และนั่นส่งผลให้ ไคล์แม็กซ์ในตอนท้ายขาดพลังโน้มน้าวคนดูให้ซาบซึ้ง อิ่มเอมไปกับการบรรลุสัจธรรมของตัวละคร แม้ เจค จิลเลนฮาล จะพยายามทำหน้าที่ของเขาอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม

ผู้กำกับ ฌอง-มาร์ค วัลลี อัดฉีดลูกเล่นสารพัดเพื่อเพิ่มชีวิตชีวาให้กับเรื่องราวอันคุ้นชิน เช่น ในภาพความฝันสโลว์โมชันของเดวิส เมื่อเขาเดินตรงเข้าหากล้องท่ามกลางฝูงคนที่เคลื่อนไหวย้อนกลับ นอกจากนี้วัลลียังเลือกใช้ลูกไม้เดิมๆ ที่เคยได้ประสิทธิภาพยอดเยี่ยมใน Wild ด้วยการสอดแทรกช็อตแฟลชแบ็คเข้ามาเป็นระยะ เมื่อตัวละครหวนคิดถึงอดีตในชั่วแวบแห่งห้วงคิดคำนึง ดุจเดียวกับชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายรอการถูกประกอบขึ้นใหม่ ต่างกันแค่คราวนี้ไม่มีฉากใดที่สามารถจับต้องเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งหมดเป็นแค่เศษเสี้ยวที่ปราศจากแรงดึงดูดไปสู่ภาพรวมของความสัมพันธ์ หรือพลังทางอารมณ์ คนดูไม่อาจสัมผัสได้ถึงสายใยเชื่อมโยงระหว่างเดวิสกับจูเลีย แบบเดียวกับที่รู้สึกได้ระหว่างเชอรีลกับแม่ของเธอ สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะบทหนังหันไปให้น้ำหนักกับสัมพันธภาพระหว่างเดวิสกับแคเรน พนักงานฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทตู้หยอดเหรียญ ซึ่งได้อ่านจดหมายร้องเรียนของเดวิสแล้วรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ก่อนจะกระโจนไปสู่มิตรภาพระหว่างเดวิสกับคริส ลูกชายวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของแคเรนที่ปราศจากพ่อ ในเวลาต่อมา

หนังไม่ได้นำเสนอพวกเขาในฐานะตัวละครที่จะมาเติมเต็มกันและกัน แล้วลงเอยอย่างมีความสุขในสไตล์โรแมนติก-คอมเมดี้ แต่ในฐานะกลุ่มมนุษย์ผู้แตกร้าว เปราะบาง ไม่อาจเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงภายใน แคเรนคบหาอยู่กับ คาร์ล (ซี.เจ. วิลสัน) เจ้าของบริษัทตู้หยอดเหรียญ ซึ่งเธอไม่ได้หลงรัก แต่ก็ไม่กล้าพอจะเดินจากมา ฉันอยากทำให้ได้แบบคุณ... ซื่อตรงกับความรู้สึก เธอสารภาพกับเดวิสในฉากหนึ่ง ส่วนคริสเองก็กำลังสับสนกับเพศสถานะ ไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบผู้ชายหรือผู้หญิง และหวาดกลัวเกินกว่าจะสำรวจ ตรวจสอบ


เดวิสก็ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ที่หยุดทำงาน ประตูห้องน้ำที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด หรือตู้เย็นที่น้ำหยดตลอดเวลา มีบางอย่างผิดปกติ เขาไม่อาจระบายความโศกเศร้าออกมาได้ เหมือนบางอย่างติดแหง็กอยู่ภายใน และจำเป็นต้องรื้อชิ้นส่วนทั้งหมดออกมาดูเพื่อค้นหาจุดบกพร่อง ทบทวนอดีตเพื่อคลี่คลายปัจจุบันและเปิดโอกาสสู่อนาคต เดวิสพบว่าเขาไม่มีความสุขในชีวิต ในอาชีพการงาน ความสัมพันธ์ของเขากับจูเลียล่มสลายไปพักใหญ่แล้ว ก่อนหน้าจะเกิดอุบัติเหตุด้วยซ้ำ และทางเดียวที่จะซ่อมแซมชีวิต คือ รื้อถอนกิจวัตร หลักปฏิบัติ ซึ่งนำพาเขามายังจุดนี้ เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วสร้างตัวตนใหม่จากความต้องการแท้จริงภายใน... เมื่อนั้นเองเขาถึงจะสามารถวิ่งต่อไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น

วันศุกร์, พฤษภาคม 20, 2559

The Witch: มนต์ดำสู่อิสรภาพ



กระแสความหวาดกลัวเกี่ยวกับแม่มดและมนตร์ดำเริ่มต้นขึ้นในยุโรปตั้งแต่ปลายสมัยกลาง (ศตวรรษที่ 13) และดำเนินต่อมาจนถึงต้นสมัยใหม่ (ศตวรรษที่ 16) ภายใต้อิทธิพลของโบสถ์คาทอลิก ก่อนจะลามปามมายังอเมริกา เมื่อชาวยุโรปอพยพไปตั้งรกรากในแถบนิวอิงแลนด์ (ปัจจุบันกินอาณาบริเวณ 6 รัฐทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา นั่นคือ คอนเนตทิคัต, เมน, เวอร์มอนต์,  นิวแฮมป์เชียร์, โรดไอแลนด์ และแมสซาชูเซตส์) เป็นแห่งแรกในปี 1620 โดยการพิจารณาคดีในข้อกล่าวหาว่าเป็นแม่มดที่เมืองซาเลม รัฐแมสซาชูเซตส์ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 1692 – พฤษภาคม 1693 (20 คนถูกตัดสินประหารชีวิต 14 ในนั้นเป็นผู้หญิง) ถือเป็นการพิจารณาคดีที่โด่งดัง (และอื้อฉาว) ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินและนักเขียนมากมาย

เหยื่อรายแรกต่อปรากฏการณ์ อุปาทานหมู่ ใน 13 อาณานิคม คือ ผู้หญิงชื่อ บริดเจ็ต บิชอป ซึ่งถูกตัดสินว่าผิดจริงในข้อหาเล่นคุณไสยใส่หญิงสาวกลุ่มหนึ่งในเมืองบ้านเกิดของเธอที่ซาเลม โดยหลักฐานคือคำให้การของบรรดาเพื่อนบ้านที่อ้างว่าบิชอปมาที่บ้านแล้วบีบคอและหยิกพวกเธอ นอกจากนี้เธอยังโดนกล่าวหาว่าฆ่าเด็กและทรมานหมูอีกด้วย ขณะเดียวกันเอกสารการสอบสวนในศาลยังระบุว่ามีการตรวจสอบร่างกายจำเลยโดยกลุ่มผู้หญิงท้องถิ่น ซึ่งอ้างว่าบิชอปมี หัวนมที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งในสายตาของพวกเธอถือเป็นหลักฐานชัดเจนว่าเธอสมคบคิดกับซาตาน เช่นเดียวกับผู้หญิงอีกหลายคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในข้อหาเป็นแม่มด หลักฐานที่ใช้มัดตัวบิชอปส่วนมากได้แก่ คำให้การของพยาน ซึ่งแน่นอนว่าไม่อาจยึดถือความถูกต้อง แม่นยำได้เท่ากับพยานวัตถุ เพราะมนุษย์ย่อมเต็มไปด้วยอคติ

แม้ว่า The Witch ผลงานกำกับเรื่องแรกของ โรเบิร์ต เอกเกอร์ส จะดำเนินเหตุการณ์ก่อนช่วงเวลาข้างต้น (ราวปี 1630) เมื่อชาวอังกฤษเพิ่งเดินทางมาตั้งรกรากในนิวอิงแลนด์ได้ไม่นาน แต่มันสะท้อนให้เห็น ร่องรอย ที่เป็นต้นกำเนิดแห่งอุปาทานหมู่ผ่านการกล่าวหาใส่ร้ายกันไปมาระหว่าง โธมาซิน (แอนยา เทย์เลอร์-จอย) กับคู่หูเด็กแฝด เมอร์ซีย์ (เอลลี เกรนเจอร์) และ โจนาส (ลูคัส ดอว์สัน) ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานอันง่อนแง่น ปราศจากพยานวัตถุใดๆ แต่ท่ามกลางความหวาดกลัว ความตื่นตระหนกจากปรากฏการณ์ ประหลาด ทั้งหลาย จากความโดดเดี่ยวของการอยู่ตามลำพัง คำอ้างเหล่านั้นกลับดูน่าเชื่อถือและเป็นไปได้ในความคิดของคนเป็นพ่อแม่อย่าง วิลเลียม (ราล์ฟ อิเนสัน) และ แคทเธอรีน (เคท ดิกกี)

ความหวาดกลัวส่วนหนึ่งมีบ่อเกิดจากการต้องย้ายมาตั้งรกรากยังโลกใบใหม่ ที่คุกคามความคุ้นเคย ความคล้ายคลึงกันอันอบอุ่นของโลกใบเก่า คนดูจะได้เห็นอินเดียนแดงสองสามคนแค่ในฉากช่วงต้นเรื่อง ขณะวิลเลียมพาครอบครัวออกจากอาณานิคม โดยหลังจากนั้นป่าไม้ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนอารมณ์คุกคามของ ความเป็นอื่น มันเป็นเหมือนสิ่งต่างด้าว แปลกปลอมที่ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เป็นเขตต้องห้ามสำหรับเด็กๆ โดยอันตรายสามารถไล่เรียงตั้งแต่สัตว์ดุร้ายไปจนถึงมนต์ดำของอินเดียนแดง ซึ่งแคทเธอรีนอ้างถึงในฉากหนึ่ง เมื่อพบว่าลูกชายของเธอ เคเล็บ (ฮาร์วีย์ สคริมชอว์) ป่วยเป็นโรคร้ายหลังหายตัวเข้าไปในป่า เด็กรุ่นใหม่อาจไม่สัมผัสถึงสายใยผูกพันโลกใบเก่ามากเท่าคนรุ่นก่อน พวกเขาไม่มีปัญหามากนักกับการถูกเนรเทศออกจากอาณานิคม ซึ่งเป็นเหมือนเศษเสี้ยวของโลกใบเก่าที่พอจะมอบความอุ่นใจ ความรู้สึกปลอดภัยได้บ้าง ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยารื่นเริงบันเทิงใจของสองฝาแฝด ที่ไม่ทุกข์ร้อนกับการถูกแยกโดดเดี่ยวจากเหล่าผู้อพยพอื่นๆ ในอาณานิคม หรือแม้กระทั่งเคเล็บเองก็เหมือนจะจดจำอะไรเกี่ยวกับประเทศอังกฤษไม่ค่อยได้ คนที่เจ็บปวดและปรับตัวเข้าโลกใหม่ไม่ได้มากสุดคงหนีไม่พ้นแคทเธอรีน ซึ่งวิงวอนขอให้สามีพาเธอกลับ บ้าน โดยอ้างว่าเธอไม่อาจสัมผัสความรักของพระเจ้าได้อย่างแจ่มชัดอีกต่อไปนับแต่ย้ายมาอยู่ที่อเมริกา

ศาสนาถูกนำมาใช้ยึดเหนี่ยวเพื่อสร้างความอุ่นใจ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันแปลกแยก แตกต่าง ดังจะเห็นได้ว่าแม้เคเล็บจะไม่ได้คิดถึง บ้านเกิด หรือจดจำเหตุการณ์ในอดีตเมื่อครั้งก่อนจะอพยพมาตั้งรกราก ณ ดินแดนแห่งใหม่ได้ไม่มากนัก แต่เขาก็ยังอดกังวลไม่ได้ว่าซามูเอล น้องชายทารก จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เนื่องจากเขาถือกำเนิดหลังครอบครัวถูกเนรเทศออกจากอาณานิคม และไม่ได้เข้าพิธีศีลล้างบาปในโบสถ์เหมือนคนอื่นๆ

คริสตจักรคาทอลิก ซึ่งปกครองโดยเพศชาย ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการควบคุมผู้หญิงให้อยู่ภายใต้ระบอบชายเป็นใหญ่ กดทับพวกเธอให้เชื่อฟังสามี/พ่อ ดังจะเห็นได้ว่าผู้หญิงที่มีความคิดเป็นผู้นำ หรือแสดงออกถึงความต้องการทางเพศ หรือปรารถนาที่จะเป็นอิสระมักมีโอกาสถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดมากกว่าบรรดาแม่บ้านที่เชื่อฟังสามี ลูกสาวที่อยู่ในโอวาสของพ่อ หรือผู้หญิงที่ปฏิบัติตนตามกรอบจารีตประเพณีแห่งยุคสมัย

เพศสภาพถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อข้อกล่าวหาว่าเป็นแม่มด โดยตามความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาช้านาน (แน่นอนว่าผ่านแนวคิดชายเป็นใหญ่) ผู้หญิงเป็นเพศที่จิตใจอ่อนไหว อ่อนแอ รวมทั้งยังมีสภาพร่างกายที่ เปิดรับ จึงง่ายต่อการหลับนอนกับซาตาน หรือปีศาจ พวกเธอกระตุ้นราคะของเพศชาย และพลังอำนาจดังกล่าวทำให้พวกเขาหวาดกลัว ดังนั้นผู้หญิงสาวสวยจึงมักจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยมากที่สุด เช่นเดียวกับนางผดุงครรภ์และแม่ม่าย เพราะฝ่ายแรกมีอาชีพเกี่ยวข้องกับทารกและการปรุงยาสมุนไพร ส่วนฝ่ายหลังเพราะพวกเธอปกครองตนเองโดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของผู้ชาย ความหวาดกลัวตลอดจนหลงใหลในร่างกายเพศหญิงสะท้อนชัดใน The Witch ผ่านสายตาของเคเล็บ ซึ่งเริ่มแตกเนื้อหนุ่ม และลอบมองร่องอกของพี่สาวตัวเองด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผสมผสานอารมณ์หื่นกระหายและความรู้สึกผิดบาปไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ความลึกลับของช่องคลอด ซึ่งจะขับเลือดออกมาอย่างต่อเนื่องหลังหญิงสาวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็ยังถูกตอกย้ำผ่านภาพชวนสยองของแม่มดที่นำเลือดทารกมาทาตัว หรือภาพแพะที่ขับนมออกมาเป็นเลือด

โธมาซินไม่เพียงจะเปราะบางต่อข้อกล่าวหาว่าเป็นแม่มดจากเรือนร่างภายนอกในฐานะหญิงสาวสวย คุกรุ่นด้วยพลังเย้ายวนทางเพศเท่านั้น แต่เธอยังเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง ไม่ยินยอมต่อชะตากรรมภายใต้อำนาจของเพศชายอีกด้วย เธอไม่ปรารถนาจะไปทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านคนอื่นตามข้อเสนอแนะของแคทเธอรีน ซึ่งกล่าวโทษเธอต่อการจากไปของซามูเอล เมื่อเคเล็บลักลอบเข้าป่าตามลำพังเพื่อไปล่าสัตว์เพื่อหวังจะช่วยพี่สาวไม่ให้ต้องไปเป็นคนรับใช้ เธออาสาจะตามไปด้วย เมื่อถูกกล่าวหาอย่างอยุติธรรมว่าใช้มนต์ดำ เธอเลือกที่จะไม่นิ่งเฉย หรือสงบปากสงบคำ พร้อมกับโต้กลับวิลเลียมว่าเขาปล่อยให้เธอโดนแคทเธอรีนกล่าวหาว่าเป็นขี้โขมย ว่าเขาไม่มีปัญญาหาเลี้ยงครอบครัว ปลูกพืชไม่งอกงาม ล่าสัตว์ไม่ได้ พ่อทำอะไรไม่เป็นนอกจากผ่าฟืน เธอตะโกนต่อว่าเขาด้วยความโกรธ

เธอคุกคามเคเล็บด้วยพลังทางเพศ และคุกคาม ความเป็นชาย ตลอดจนภาพลักษณ์ ผู้นำครอบครัว ของวิลเลียมด้วยบุคลิกไม่เกรงกลัวที่จะพูดความคิดในหัวออกมา ซึ่งนั่นไม่ใช่มาตรฐานสามัญของผู้หญิงในยุคนั้น เนื่องจากอคติทางเพศ ผู้หญิงที่อวดดีหรือหยิ่งจองหองมักถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด เพราะผู้ชายหลายคนในสมัยกลางจนถึงต้นสมัยใหม่ยังมองผู้หญิงเป็นเหมือนสมบัติ หรือแม่วัวสำหรับผลิตลูกสืบสกุล ทั้งโบสถ์คาทอลิกและโปรเตสแตนท์จำกัดการแสดงออกของผู้หญิง พยายามกำราบให้พวกเธอเรียนรู้ที่จะสงบปากสงบคำ เชื่อฟัง และปฏิบัติตามกฎของสมบัติผู้ดี ด้วยคุณสมบัติทั้งหลายที่กล่าวมาของโธมาซิน จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อเธอบรรลุชะตากรรมอันไม่อาจหลีกเลี่ยงในท้ายที่สุด

ความน่าสนใจของ The Witch อยู่ตรงที่มันประสบความสำเร็จทั้งในภาคหนังสยองขวัญแบบตรงไปตรงมา ผ่านการสร้างบรรยากาศหลอกหลอนอันเปี่ยมประสิทธิภาพ โดยไม่ได้หวังพึ่งพาจังหวะตุ้งแช่เหมือนหนังสยองขวัญดาษๆ ทั่วไป และในภาคหนังดรามาครอบครัวเจือนัยยะแห่งการวิพากษ์สังคม โดยความคลุมเครือที่ผู้กำกับพยายามหล่อเลี้ยงเอาไว้ตลอดทั้งเรื่องได้ช่วยยกระดับให้มันก้าวข้ามสถานะของผลงานเพื่อความบันเทิงฉาบฉวยขึ้นไปอีกขั้น เช่น ในช่วงต้นเรื่อง คนดูจะไม่ได้เห็นภาพแม่มดขโมยตัวซามูเอลไป (เหล่าตัวละครต่างพยายามปลอบใจกันว่าน่าจะเป็นฝีมือของหมาป่ามากกว่า) ฉากหญิงชราในป่าที่สังหารทารก แล้วนำเลือดมาอาบทั่วตัวจึงอาจเป็นเพียงภาพในจินตนาการอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหวาดกลัว และความเชื่อดั้งเดิม เช่นเดียวกับภาพหลอนที่เคเล็บเห็นระหว่างหลงป่า ความกดดัน เปราะบางในสถานการณ์ที่ตัวละครกำลังเผชิญ (ดิ้นรนตามลำพังท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย) ทำให้เราเริ่มไม่แน่ใจว่าอะไรบ้างที่จริง หรือไม่จริง ไม่แตกต่างจากเมอร์ซีย์ ซึ่งหลงเชื่อคำหลอกของโธมาซินเป็นตุเป็นตะ เธอกับโจนาสอาจไม่ได้จงใจเอาคืนด้วยการใส่ร้ายโธมาซิน แต่เชื่อจริงๆ ตามนั้นแบบเดียวกับเหล่าผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะอุปาทานหมู่ระหว่างช่วงการล่าแม่มด

และความคลุมเคลือที่สำคัญที่สุด คือ ฉากบทสนทนาระหว่างโธมาซินกับซาตานในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งผู้กำกับจงใจไม่ให้คนดูเห็นแพะดำฟิลลิป แต่กลับได้ยินเพียง วอยซ์ โอเวอร์ ที่ดังลอยมา (ให้เสียงโดย วาฮับ ชอดรีย์) ขณะกล้องจับจ้องไปยังโธมาซินเป็นหลักราวกับเธอกำลังสนทนาอยู่กับจิตใต้สำนึกของตัวเอง ซึ่งหากพิจารณาจากชุดเหตุการณ์เลวร้ายที่เธอเพิ่งเผชิญมาติดๆ กัน ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเธอจะสติหลุดจนได้ยินเสียงแว่วจากจิตใต้สำนึก

มองในแง่นิทานพื้นบ้านสยองขวัญ ฉากจบของ The Witch อาจกล่าวได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ของศรัทธาต่อซาตานและมนต์ดำ แต่หากมองในเชิงสัญลักษณ์ว่าแม่มดแท้จริงแล้วหาใช่สตรีผู้ยอมจำนนต่อความชั่วร้าย หรือบุคคลที่หันหลังให้กับพระเจ้า แต่เป็นขบถซึ่งกล้าจะลุกขึ้นยืนหยัดต่อต้านบรรทัดฐานของชายเป็นใหญ่ ต่อจารีตที่กดทับและตีเส้นจำกัดศักยภาพแห่งเพศหญิง ฉากแปลงร่าง ของโธมาซินจึงถือเป็นชัยชนะ เมื่อเธอปลดแอกจากพันธนาการแห่งครอบครัว ธรรมเนียมปฏิบัติ แล้วค้นพบอิสระที่จะไปสัมผัสโลกกว้าง ใช้ชีวิตอันหอมหวาน... และในสภาพเปลือยเปล่า เธอได้ถือกำเนิดใหม่