วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 23, 2560

หนังแห่งความประทับใจ


Tangerine - โลกนี้อยู่ยาก น่าจะเป็นนิยามที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้ที่สุด ไม่ใช่แค่เพราะชะตากรรมน่ารันทดของเหล่าตัวละครชายขอบเท่านั้น แต่ยังกินความรวมไปถึงความลื่นไหลทางเพศจนยากจะตีตรา หรือจัดแยกประเภทอีกต่อไป (กะเทยแต่งหญิงขายตัวด้วยการให้ลูกค้า ซึ่งเป็นชายที่แต่งงานมีเมียแล้ว อมของลับ??!!) หนังตลกเฮฮา ทำให้หัวเราะสลับเหวอได้อย่างน่าทึ่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ขาดแคลนช่วงเวลาร้าวราน หรือบาดลึกกินใจแบบไม่ต้องบีบเค้น หนึ่งในนั้นคือฉากจบอันงดงาม ลงตัว

Carol - พูดถึงภาวะตกหลุมรักได้วาบหวาม ละเอียดอ่อน เปี่ยมอารมณ์ ทั้งในส่วนของความอิ่มเอิมและเจ็บปวดรวดร้าว มองจากภายนอกอาจแลดูเหมือนหนังหัวโบราณ แต่เนื้อแท้แล้วกลับพูดถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศได้หัวก้าวหน้าไม่น้อย แม้ว่าจะดัดแปลงมาจากนิยายที่เก่าเกินครึ่งศตวรรษ เคท แบลนเช็ตต์ สวยสง่างามมาก ฉากที่เธอตัดสินใจเลือก ตัวเองแทนที่จะยอมตามสามีใจแคบซึ่งจับลูกเป็นตัวประกันถือเป็นความกล้าหาญอย่างเหลือเชื่อ เมื่อพิจารณาจากบริบทแห่งยุคสมัย

Embrace of the Serpent - พูดถึงประเด็นใหญ่โตเกี่ยวกับการสูญหายของอารยธรรมและอิทธิพลอาณานิคมด้วยท่าทีซึ่งปราศจากการสั่งสอน แต่ให้ความรู้สึกถึงสโคปของหนังผจญภัยคลาสสิก ต่างกันแค่คราวนี้พระเอกไม่ใช่คนขาวที่เข้าไปชื่นชม กลมกลืนกับอารยธรรมต่างแดน แต่เป็นคนพื้นเมืองซึ่งมองดูคนขาวด้วยสายตาไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ

After the Stormความเจ็บปวดของหนังเรื่องนี้ คือ ทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อให้โลกจดจำ มีพรสวรรค์พิเศษ หรือกระทั่งเป็นที่รักของคนรอบข้าง บางคนก็เกิดมาเป็นแค่นักเขียนที่ไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นสามี/ลูก/พ่อที่ไม่เอาไหน แล้วก็ไม่มีศักยภาพพอจะพัฒนา ไต่เต้าให้เป็นอะไรได้มากกว่านั้น แม้จะพยายามแค่ไหนแล้วก็ตาม มันไม่ใช่ความผิด มันก็แค่ชีวิต

La La Land - เพลิดเพลินเจริญใจ ชอบการออกแบบฉากเพลง/เต้นรำแต่ละฉากที่ไม่ใช้การตัดต่อเป็นหัวใจหลัก (ส่วนใหญ่จะเป็น long take เช่น ฉากเปิดเรื่องและฉากเต้นแท็ปแต่ใช้การเคลื่อนไหวของนักแสดง การออกแบบท่าเต้นให้เข้าจังหวะเพลง ส่วนเนื้อหาก็รักษาสมดุลระหว่างความเจ็บปวดกับความโรแมนติกได้อย่างกลมกล่อม ทำให้ไม่รู้สึกว่ามันเป็นหนังเพลงโลกสวยระดับ The Sound of Music แต่ก็ไม่ได้มืดหม่นหดหู่ในระดับ Cabaret เสียทีเดียว

นักแสดงชาย

ไมเคิล คีตัน (Spotlight) ชอบการแสดงของเขาในเรื่องนี้มากกว่าใน Birdman ซะอีก อาจไม่มีฉากโชว์แบบ มาร์ค รัฟฟาโล แต่ลุ่มลึก หนักแน่น และน่าเชื่อถือมากๆ

ไรอัน กอสลิง (The Nice Guys) ถ้าได้ดูพวกคลิปสัมภาษณ์เวลาออกรายการต่างๆ จะเห็นว่ากอสลิงเป็นคนตลก แต่ไม่รู้ด้วยเหตุอันใด เขากลับสร้างชื่อเสียงบนจอเงินจากบทดาร์คๆ ฆาตกรโรคจิต หรือไม่ก็ผู้ชายมีปมเป็นหลัก หนังเรื่องนี้ (และอาจรวมถึง La La Land ด้วยก็ได้) ใกล้เคียงกับบุคลิกจริงของกอสลิงมากขึ้น โดยอัพดีกรีความบ้าบอคอแตกขึ้นไปอีกขั้น และเขาก็ลื่นไหลกับบทได้อย่างเป็นธรรมชาติ

เจค็อบ เทรมเบลย์ (Room) น้องควรจะได้เข้าชิงออสการ์ เล่นดีกว่าแม่ (ในเรื่อง) ที่ได้ออสการ์ไปอีก

เบลค เจนเนอร์ (Everybody Wants Some!!) อาจไม่ได้โชว์ฝีมืออะไรมาก แต่ผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ เลือกเขามาได้เหมาะกับบทดีจัง ส่วนผสมระหว่างความหื่น ความห่าม และความอ่อนหวาน อินโนเซนต์ เขาดูน่าเชื่อถือทั้งในฉากบ้าๆ บอๆ เวลาอยู่กับกลุ่มเพื่อนผู้ชายและในฉากโรแมนติกเปี่ยมมนตร์เสน่ห์ตามสไตล์ลิงค์เลเตอร์

เจค จิลเลนฮาล (Demolition) รางวัลเล่นดีเกินหน้าหนังฝ่ายชาย

นักแสดงหญิง

ชาร์ล็อต แรมปลิง (45 Years) ฉากงานเลี้ยงตอนท้ายนี่ถือเป็นไฮไลท์ทางการแสดงเลยทีเดียว เริ่มต้นด้วยการพยายามปั้นหน้ายิ้มแย้ม มีความสุขท่ามกลางแขกเหรื่อ ก่อนน้ำแข็งจะเริ่มค่อยๆ ละลาย ปริแตก และพังทลายจนไม่เหลือซากในช็อตสุดท้าย

คริสเตน สจ๊วต (Equals) ติดใจเธอมานานตั้งแต่ Into the Wild รู้สึกมาตลอดว่าผู้หญิงคนนี้ มีของแม้เธอจะโดนล้อเลียนจากคนทั่วไปว่ามีหน้าเดียวหลังไปเล่นหนังชุด Twilight ก็ตาม ดีใจที่เธอกลับมาได้ แล้วกลับมาแบบสวยสดงดงามซะด้วย

อันยา เทย์เลอร์-จอย (The Witch) บทหนักหนาสาหัสไม่น้อยสำหรับนักแสดงหน้าใหม่ แต่น้องทำได้และทำได้ดีเกินคาด

ลอรา ลินนีย์ (Nocturnal Animals) ออกมาฉากเดียว แต่ติดตราตรึงใจมาก ไม่ใช่แค่เพราะทรงผมหม่อมหญิงแม่เท่านั้น แต่จากการจับบุคลิกตัวละครได้อย่างแม่นยำ เธอดูตื้นเขิน ปลอมเปลือก แต่ในเวลาเดียวกันก็เข้าใจลูกสาวตัวเองอย่างถึงแก่น

เอมิลี บลันท์ (The Girl on the Train) รางวัลเล่นดีเกินหน้าหนังฝ่ายหญิง

ความคิดเห็น

ช่วงปลายปีผมรู้สึกเศร้าใจเมื่อได้เห็นรอบฉายหนังเรื่อง ถึงคน...ไม่คิดถึงกับ ปั๊มน้ำมันซึ่งกระปริบกระปรอยอยู่แค่ไม่กี่โรง แถมแต่ละโรงก็ฉายอยู่ราวสองสามรอบเห็นจะได้ จากนั้นพอถึงสัปดาห์ที่สองก็แทบจะถูกถอดออกจากโปรแกรมจนหมด ทั้งสองเรื่องผมสามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นหนังไทย (กระแสหลัก) น้ำดีไม่กี่เรื่องของปีนี้ ที่ผู้สร้างตั้งใจ พิถีพิถัน และกลั่นกรองจากความรัก ความเชื่อในสิ่งที่พวกเขาเล่ามากกว่าแค่เพื่อหวังโกยเงิน (ส่วนในแง่คุณภาพนั้นก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้) พวกมันไม่ควรถูกกระทำย่ำยีในลักษณะนี้ ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะให้พวกมันต้องเข้าฉายถึงขั้นปูพรมทั่วประเทศ แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีที่ทางให้พวกมันได้เจริญงอกงามบ้าง

ทุกวันนี้เรามีโรงหนังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดนับร้อยนับพัน กระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง แต่ดูเหมือนทางเลือกของคนดูนับวันจะน้อยลงๆ ทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่ได้อาศัยอยู่ใจกลางเมืองใหญ่ หลายครั้งผมนึกสงสัยว่าเราจำเป็นต้องฉายหนังจำพวก The Avengers หรือ Fast and Furious กันทุก 15 นาทีเลยเหรอ มีกี่คนที่ตัดสินใจดูเพียงเพราะปราศจากตัวเลือกที่ดีกว่า หรือหนังเรื่องอื่นที่อยากดูไม่มีรอบเวลาที่สะดวก

ผมรู้สึกเศร้าใจหนักยิ่งกว่าเมื่อมีคนออกมาเรียกร้องพื้นที่ให้หนังไทย รวมถึงหนังต่างประเทศจากค่ายหนังอิสระในโรงภาพยนตร์ ซึ่ง เช่นเดียวกับแวดวงธุรกิจอื่นๆ อีกหลายอย่างในประเทศนี้ เต็มไปด้วยการผูกขาด เนื่องจากรัฐปล่อยให้กระทำการได้อย่างเสรีโดยปราศจากกฎข้อบังคับใดๆ เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรม หรือเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น การที่เจ้าของร้านหนังสือก็สามารถทำหนังสือมาขายเองได้ หรือ เจ้าของโรงหนังก็สามารถสั่งหนัง ทำหนังมาฉายเองได้ตามสะดวก (ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าหนังอย่าง หลวงพี่แจ๊สจะประสบปัญหาหาโรงฉายไม่เจอแบบหนังสองเรื่องข้างต้น) กระแสของผู้คนส่วนใหญ่กลับรุมก่นด่าคนเรียกร้องราวกับพวกเขากำลังจะมาปล้นสิทธิเสรีภาพในการดูหนังจาก มาร์เวล สตูดิโอ

บ้างก็บอกว่าหนังไทยห่วยแตก ใครจะยอมเสียเงินไปดู ปล่อยให้มันตายๆ ไปเถอะ (พร้อมกับยอมรับว่าตัวเองเลิกดูหนังไทยมาตั้งแต่ แฟนฉัน”) ราวกับว่าเมืองไทยมีแต่หนังอย่าง หลวงพี่แจ๊สบ้างก็บอกว่าโรงหนังเป็นธุรกิจ สินค้าอะไรวางขายไม่ได้ จะเอามาตั้งโชว์ให้เปลืองพื้นที่ เสียโอกาสการขายทำไม ราวกับว่าตอนนี้โรงหนังกำลังเสี่ยงต่อการล่มจมเพราะพวกเขาไม่สามารถทำกำไรใดๆ หรือหาหนทางอื่นในการปัดภาระค่าใช้จ่ายได้เลย ราวกับว่าภาพยนตร์ไม่มีคุณค่าอื่นใดอีกเลยนอกเหนือจากสร้างขึ้นเพื่อหาทางทำกำไรกลับคืน

แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจที่สุด คือ ก่อนหน้านั้นไม่นานมีคนออกมาวิจารณ์ร้านสะดวกซื้อซึ่งมีสาขามากที่สุดในประเทศว่าจงใจกำจัดคู่แข่ง (บริษัทผลิตขนมปังแห่งหนึ่ง) ด้วยการผลิตสินค้าเลียนแบบแล้วนำมาวางขายในตำแหน่งที่ดีกว่า พร้อมกับผลักสินค้าคู่แข่งไปอยู่ในจุดอับ หรือไม่ก็สั่งของเข้าร้านแบบกระปริบกระปรอย กระแสของผู้คนส่วนใหญ่กลับมุ่งโจมตีร้านสะดวกซื้อกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่เห็นมีใครแก้ต่างว่าถ้าคุณทำขนมปังออกมาอร่อย ยังไงก็ต้องมีคนซื้อกินอยู่แล้ว การผูกขาดและทุนนิยมกลายเป็นความเลวร้ายขึ้นมาในฉับพลัน


ก็นั่นแหละครับท่านผู้ชม เราอยู่ในสังคมที่ภาพยนตร์ไม่มีค่าพอจะต่อสู้เพื่อให้มันอยู่รอดมากเท่าขนมปัง 

วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 12, 2560

La La Land: แด่เปลวไฟแห่งความฝัน


ทำไมพี่ถึงพูดว่า โรแมนติกเหมือนมันเป็นคำน่ารังเกียจเซบาสเตียน (ไรอัน กอสลิง) ตอบโต้พี่สาว (โรสแมรี เดอวิท) ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่อง เธออยากให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่เสียที แล้วหางานทำที่มั่นคงเป็นหลักแหล่ง แทนการหมกมุ่นอยู่กับดนตรีแจ๊ส ดั้งเดิมที่กำลังจะตายและใช้หาเงินเป็นกอบเป็นกำไม่ได้ แม้ว่ามันจะมีคุณค่าต่อจิตใจแค่ไหนก็ตาม ใบแจ้งหนี้มันไม่โรแมนติกหรอกเธอแขวะเขากลับ ก่อนจะพยายามยัดเยียดให้น้องชายยอมไปดูตัวหญิงสาวซึ่งไม่ชอบเพลงแจ๊ส นั่นคงเป็นอีกอย่างที่ไม่ค่อยโรแมนติกพอๆ กับใบแจ้งหนี้ เพราะมันดู เบสิกมากเกินไป ถ้าเธอลงเอยกลายเป็นคู่ชีวิตของเขาผ่านการแนะนำของพี่สาว

สถานการณ์โรแมนติกก็เช่น หญิงสาว (ที่ไม่ชอบเพลงแจ๊สเหมือนกัน) กำลังจะกลับจากงานปาร์ตี้น่าเบื่อ ระหว่างทางเธอบังเอิญได้ยินเสียงเปียโนดังแว่วมาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ที่นั่นเธอพบชายหนุ่มกำลังบรรเลงเพลงอย่างดื่มด่ำ เธอสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์หลงใหลของเขาในทุกตัวโน้ต ต่างกับเจ้าของร้านอาหาร ซึ่งอยากให้เขาเล่นเพลงตามเทศกาลเหมือนตู้กดเพลง ไม่ใช่ด้นสดตามอารมณ์ศิลปิน ความหงุดหงิดที่โดนไล่ออกจากงานเพราะไม่ยอมทำตาม คำสั่งทำให้เขาไม่แยแสแม้แต่จะทักทายหญิงสาว ซึ่งตรงเข้ามาพูดคุยกับเขา... แต่แน่นอนนั่นไม่ใช่ครั้งแรก หรือครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองได้พบกัน

ตลกดีเนาะที่เราบังเอิญเจอกันอยู่เรื่อยมีอา (เอ็มมา สโตน) ตั้งข้อสังเกตกับเซบาสเตียน หลังเจอเขาอีกเป็นครั้งที่สามในงานปาร์ตี้ ความโรแมนติกอยู่ตรงนัยยะแห่งชะตาฟ้าลิขิต หรือพรหมบันดาลในทำนองว่าคนที่เกิดมาคู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วคลาดกัน ดังนั้นถึงแม้ในครั้งแรกและครั้งที่สองจังหวะชีวิตของพวกเขาจะยังไม่ลงตัว แต่สวรรค์ก็ดลใจให้มีครั้งที่สามตามมาเพื่อโอกาสแก้ตัว

ไม่ต้องสงสัยว่า La La Land เป็นหนังที่เฉลิมฉลองความโรแมนติกอย่างสุดติ่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้มองข้ามความจริงอันเจ็บปวดของชีวิต ความโรแมนติกในหนังถูกถ่ายทอดออกมาสองรูปแบบผ่านพล็อตสองพล็อต ซึ่งคลี่คลายในลักษณะสวนทางกันอยู่ในที  นั่นคือ พล็อตความรักทำนองพ่อแง่แม่งอนกับพล็อตอาชีพทำนองฝันให้ไกลไปให้ถึง โดยเพลงทั้งหมดในหนังก็สามารถจัดแบ่งหมวดหมู่คร่าวๆ ได้เป็นสองประเภทเช่นกัน ได้แก่ กลุ่มความรัก (A Lovely Night, City of Stars, Start a Fire) และกลุ่มความฝัน (Another Day of Sun, Someone in the Crowd, Audition) กระนั้นมีข้อสังเกตว่าเพลง Someone in the Crowd อาจคาบเกี่ยวระหว่างสองกลุ่ม เพราะเนื้อเพลง ซึ่งพูดถึงการรอคอยวันที่จะถูก “ค้นพบโดยใครสักคนอาจหมายความถึงแมวมองดารา หรือรักแท้ก็ได้  

สองพล็อตนี้ดูจะพัฒนาขึ้นลงในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ขณะที่อาชีพในฝันของมีอากับเซบาสเตียนกำลังลุ่มๆ ดอนๆ คนหนึ่งไปทดสอบบททีไรก็พบเจอแต่ความผิดหวัง อีกคนปราศจากรายได้ที่แน่นอน อย่าว่าแต่จะเก็บเงินเปิดผับแจ๊สเลย ลำพังแค่ให้พอกินอยู่เป็นเดือนๆ ยังลำบาก และต้องกล้ำกลืนฝืนใจรับจ้างเป็นมือคีย์บอร์ดเล่นเพลงป็อปย้อนยุคตามงานปาร์ตี้ ความรักของทั้งสองกลับค่อยๆ เบ่งบาน หยั่งรากลึกเนื่องจากอารมณ์ร่วมของศิลปิน (ต่างวงการ) ที่หลงใหลในศาสตร์และสุนทรียะ รวมไปถึงความพยายามดิ้นรนอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตนเอง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมมีอาถึงเลือกจะทิ้งเกร็ก (ฟิน วิทล็อค) ไปหาเซบาสเตียน เธอรู้สึกไม่เข้าพวก เบื่อหน่ายเมื่อต้องทนฟังบทสนทนาธุรกิจบนโต๊ะอาหาร หรือเสียงบ่นเกี่ยวกับความสกปรกในโรงหนัง แต่กลับสนใจฟังเซบาสเตียนสาธยายประวัติดนตรีแจ๊ส แม้เธอจะเคยออกตัวตั้งแต่แรกว่าไม่ชอบเพลงแจ๊ส ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำคนก็จะชอบเธอกล่าว เช่นเดียวกัน เซบาสเตียนเองก็สามารถฟังมีอาสาธยายความผูกพันของเธอต่อโลกของภาพยนตร์ได้อย่างไม่มีเบื่อ อีกทั้งยังชวนเธอไปดูหนังคลาสสิกเรื่อง Rebel Without a Cause เพื่อ ศึกษาและเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบบทรอบสองด้วย

พวกเขาไม่ได้เข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะเพียงเพราะต่างเข้าใจหัวอกของ คนโง่ผู้เฝ้าฝันเท่านั้น แต่ยังคอยหล่อเลี้ยงความฝันของอีกฝ่ายให้ลุกโชติช่วง ไม่มอดดับไปพร้อมกับ หัวใจที่บอบช้ำเมื่อเซบาสเตียนทำท่าจะเอนหลังผ่อนคลายอยู่ใน คอมฟอร์ท โซน ที่ คีธ (จอห์น เลเจนด์) จัดหามาให้ มีอาเป็นคนที่คอยเตือนสติให้เขาหวนคืนสู่เส้นทางฝันและจริงใจกับตัวเอง เมื่อมีอาหมดเรี่ยวแรงที่จะต่อสู้ รับมือกับคำปฏิเสธและความอับอายครั้งแล้วครั้งเล่า เซบาสเตียนเป็นคนที่ฉุดเธอขึ้นจากหุบเหวแห่งความหดหู่ สิ้นหวัง ทำให้เธอกล้าจะลุกขึ้นมาสู้เพื่อความฝันอีกครั้ง และสุดท้ายแล้วทั้งสองล้วนบรรลุความฝันตามปรารถนา เธอกลายเป็นนักแสดงโด่งดัง ส่วนเขาก็เปิดผับแจ๊สที่ประสบความสำเร็จ แต่ความสัมพันธ์กลับต้องดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด

อารมณ์หวานปนเศร้าของฉากจบเกิดจากการที่ตัวละครต้องพลัดพราก ไม่ลงเอยอย่างมีความสุข แต่ขณะเดียวกันพวกเขาต่างก็บรรลุความฝันที่วิ่งไล่ไขว่คว้ามาตลอด “ฉันจะรักคุณไปตลอด” มีอากล่าวกับเซบาสเตียน “ผมก็จะรักคุณไปตลอด” เขาตอบเธอก่อนต่างฝ่ายจะแยกย้ายกันไปทำตามความฝัน สายตาและรอยยิ้มที่ทั้งสองมอบให้กันในฉากสุดท้ายไม่เพียงสะท้อนความรักระหว่างหนุ่มสาว แต่ยังเป็นความรักระหว่างคนโง่ผู้เฝ้าฝัน ซึ่งตระหนักดีว่าพวกเขาคงไม่สามารถมายืน ณ จุดนี้ได้ หากปราศจากกำลังใจ ตลอดจนแรงผลักดันของอีกฝ่าย

มองทาจในตอนท้ายเปรียบเสมือนการคารวะมนตร์เสน่ห์แห่งโลกภาพยนตร์ทั้งในเชิงรูปธรรม และในฐานะความบันเทิงเพื่อปลอบประโลมจิตใจผ่านภาพปะติดปะต่อความฝันในห้วงคำนึง เมื่อเรื่องราวทุกอย่างในอดีตที่ผ่านมาล้วนลงเอยอย่างสุขสันต์ (เซบาสเตียนไม่ได้เมินเฉยมีอาในการเจอกันครั้งที่สอง ละครโชว์เดี่ยวของมีอามีคนดูมาร่วมชื่นชมเนืองแน่น หนึ่งในนั้น คือ เซบาสเตียน ซึ่งไม่ได้ติดงานจนมาดูละครไม่ทัน ทั้งสองเดินทางไปปารีสด้วยกันหลังมีอาได้ข้อเสนอให้เล่นหนัง ฯลฯ) แต่น่าเศร้าตรงที่ชีวิตจริงไม่ได้ลงตัว เปี่ยมสุขเฉกเช่นภาพยนตร์ หลายครั้งเราจำเป็นต้องเสียสละบางสิ่งเพื่อแลกกับโอกาส เสียสละความสัมพันธ์เพื่อแลกกับความฝัน เหมือนการที่มีอาเลือกไปปารีส ขณะเซบาสเตียนก็ตัดสินใจอยู่แอลเอทำงานของเขาต่อไป

เรื่องราวทำนองเดียวกันเคยปรากฏให้เห็นมาแล้วในผลงานสร้างชื่อชิ้นก่อนของ เดเมียน ชาเซลล์ แต่อารมณ์ที่ได้ดูจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ แอนดรูว์ (ไมส์ เทลเลอร์) ใน Whiplash มีบุคลิกที่ก้ำกึ่งระหว่างมุ่งมั่นกับบ้าคลั่ง และความทุ่มเทของเขาเพื่อเป็นมือกลองวงแจ๊สก็หมิ่นเหม่อยู่บนเส้นลวดบางๆ ระหว่างการทำตามความฝันกับการเอาชนะ/โอ้อวดตน ดังนั้นเมื่อเขาตัดสินใจบอกเลิกแฟนสาวอย่างไม่แยแสด้วยเหตุผลว่าเขาไม่มีเวลาสำหรับความสัมพันธ์ เพราะต้องทุ่มเทเวลาทุกนาทีให้กับการซ้อม คนดูก็อดคิดแบบเดียวกับแฟนสาวของเขาไม่ได้ว่า “มึงบ้ารึเปล่าถึงแม้โดยพื้นฐานแล้วนั่นถือเป็นเหตุผลแบบเดียวกันที่ทำให้มีอากับเซบาสเตียนต้องแยกทาง ทั้งสองเลือกจะเสียสละความรักเพื่อถนอมความฝัน เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่นิยามตัวตนของพวกเขา

เวลาเรานึกถึงหนังเรื่อง Whiplash อารมณ์แวบแรกในหัวคงเป็นความสยอง ความหดหู่ เพราะการไล่ตามความฝันดูจะไม่ใช่อุดมคติที่สุดแสนโรแมนติกอย่างที่เราคุ้นเคย แต่กลับเต็มไปด้วยความอึดถึก หยาดเหงื่อ และบางทีอาจถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อเลยด้วยซ้ำ กระนั้นชาเซลล์เลือกจะจบหนังด้วยความหวังอยู่กลายๆ เพราะแม้อนาคตของแอนดรูว์จะปราศจากบทสรุปแน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจได้ คือ เขามีดีและเปี่ยมพรสวรรค์พอจะบรรลุความฝัน ไม่ใช่ไอ้ขี้แพ้สมบูรณ์แบบอย่าง เซดี้ ฟลัด (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) ใน Georgia (1995) ซึ่งไม่มีวันเป็นนักร้องชั้นยอดแบบพี่สาวของเธอได้ ฉากที่น่าเศร้าที่สุดของหนัง ไม่ใช่ตอนที่แอนดรูว์โดนกดดัน โดนกดขี่ โดนขว้างเก้าอี้ใส่ (แต่ก็ยังยอมทนโดนตะคอกจนร้องไห้ หรือพยายามกระเสือกกระสนออกจากซากรถชนเพื่อไปให้ทันการแข่งครั้งสำคัญ แต่เป็นตอนที่เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียน ตัดสินใจเลิกตีกลอง แล้วปล่อยชีวิตให้ล่องลอยอย่างไร้วิญญาณผ่านกิจวัตรอันซ้ำซาก น่าเบื่อ

ความโรแมนติกของ La La Land ก็ไม่ต่างจาก Whiplash จริงอยู่มีอาอาจเผชิญความผิดหวังและคำปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ลึกๆ แล้วเธอมีพรสวรรค์ที่รอวันจะถูกค้นพบไม่ต่างจากแอนดรูว์ ความแตกต่างคงอยู่ตรงที่พล็อตในส่วนความฝัน (เป็นนักแสดง/เปิดผับแจ๊ส) จบลงอย่างงดงาม หมดจด ไม่ได้คลุมเครือเหมือนในWhiplash

เทียบไปแล้วเซบาสเตียนคงเหมือนตัวแทนของ เดเมียน ชาเซลล์ ทั้งในแง่ความหลงใหลในดนตรีแจ๊ส (นี่เป็นหนังเรื่องที่สามของเขาที่พูดถึงดนตรีแจ๊สหลัง Guy and Madeline on a Park Bench และ Whiplash) และความพร่ำเพ้อถึงอดีตอันหอมหวน (นอกจาก La La Land จะเน้นสดุดีหนังเพลงยุครุ่งเรืองแล้ว มันยังอ้างอิงถึงหนังเก่ามากมาย ตั้งแต่ Rebel Without a Cause ไปจนถึง Casablanca โดยเฉพาะเรื่องหลัง เนื่องจากฉากสุดท้ายของหนังทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ถึงฉาก อินกริด เบิร์กแมน เดินเข้ามาในไนท์คลับของ ฮัมฟรีย์ โบการ์ด แล้วขอให้นักเปียโนเล่น “เพลงของเรา”) เซบาสเตียนไม่ได้แค่อยากเล่นดนตรีแจ๊ส แต่เขายังอยาก “อนุรักษ์แจ๊สดั้งเดิมไม่ให้ล้มหายตายจาก หรือกลายพันธุ์เป็นเพลงกระแสหลักสไตล์ เคนนี จี ที่ใช้เปิดในลิฟต์ ความรู้สึกของชาเซลล์ต่อหนังเพลงยุคเก่าก็คงไม่แตกต่างกัน เพราะรายละเอียดในแทบทุกส่วนของ La La Land ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ภาพ (เน้น long take และถ่าย long shot แทนการตัดภาพถี่ๆ หรือถ่ายเจาะโคลสอัพในสไตล์หนังเพลงยุคใหม่อย่าง Moulin Rouge! และ Chicago) ดนตรี ท่าเต้น หรืองานสร้างโดยรวม ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผมไปถึงภาพวาดตามกำแพงและโปสเตอร์บนผนังห้องล้วนอบอวลไปด้วยกลิ่นอายย้อนยุคจนคนดูสัมผัสได้ แม้ว่าเรื่องราวในหนังจะดำเนินเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันก็ตาม

ความหดหู่ของเซบาสเตียน คือ การเห็นผับแจ๊สชั้นยอด รุ่มรวยประวัติศาสตร์ต้องปิดตัวลง แล้วแปลงโฉมไปสู่ร้านอาหาร ซึ่งดนตรีสดเป็นแค่เสียงแบ็คกราวด์ ไม่ใช่จุดดึงดูดหลัก แต่นั่นคือสัจธรรมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นวัฏจักรแห่งสังคมทุนนิยม และการหยุดนิ่งแช่แข็งหมายถึงจุดจบอันไม่อาจหลีกเลี่ยง “นายจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในเมื่อยังคร่ำครึแบบนี้คีธเตือนสติเซบาสเตียนในฉากหนึ่ง “นายยึดติดกับอดีต แต่แจ๊สเป็นเรื่องของอนาคตรสนิยมที่ผูกติดกับอดีตแบบไม่ประนีประนอนของเซบาสเตียน ซึ่งหนังนำเสนอว่าเปรียบดังการยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณมากกว่าการไม่รู้จักปรับตัว ปกติมักจะลงเอยด้วยหายนะ ไม่เชื่อก็ลองดูชะตากรรมของตัวละครเอกใน Inside Llewyn Davis เป็นตัวอย่าง

ถามว่าบทสรุปของหนังเมื่อเซบาสเตียนเปิดผับแบบที่เขาต้องการได้สำเร็จ และยังได้รับความนิยมอย่างน่าพอใจถือเป็นฉากจบที่ปลอบประโลมคนดูด้วยความรู้สึกชวนฝัน โรแมนติก แบบเดียวกับหนังเพื่อความบันเทิงที่ La La Land พยายามแยกตัวออกห่างผ่านมองทาจในช่วงท้ายเรื่องหรือไม่... ก็อาจจะใช่

ท่ามกลางกระแสหนังซูเปอร์ฮีโร่เกลื่อนตลาด การเสนอโครงการสร้างหนังเพลงราคา 20 ล้านเหรียญของชาเซลล์ก็คงไม่ต่างจากการเปิดผับแจ๊สแบบดั้งเดิมของเซบาสเตียน มันเสี่ยงต่อหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การคาดหวังความสำเร็จก็ใช่จะเป็นแค่ฝันลมๆ แล้งๆ เสมอไปตราบใดที่คุณ “มีของมีความมุ่งมั่น เพราะสุดท้ายทุกอย่างอาจลงเอยอย่างมีความสุขได้ เหมือนที่มีอาบอก “ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำคนก็จะชอบไม่ว่าคุณจะมีความคิดอย่างไรกับหนังเรื่อง La La Land แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกัน คือ ชาเซลล์รักในสิ่งที่เขาทำอยู่ และความรักนั้นก็สะท้อนออกมาในผลงานได้อย่างชัดเจน ความสำเร็จของหนัง (ตอนนี้ในอเมริกาหนังมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะทำเงินเกิน 100 ล้าน) ในแง่หนึ่งอาจช่วยพิสูจน์คำพูดของมีอาว่าพอจะฟังขึ้นอยู่เหมือนกัน

ชะตากรรมอันมืดหม่นหาไม่ได้เทียบสมการเท่ากับความจริงเสมอไป เพราะดังจะเห็นได้จากกรณีเซบาสเตียน, มีอา รวมไปถึง เดเมียน ชาเซลล์ กับ La La Land บางครั้งฝันก็กลายเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณกล้าบ้าบิ่นพอจะกระโดดลงไปในแม่น้ำแซนหรือไม่