วันจันทร์, ธันวาคม 14, 2552

The Twilight Saga: New Moon: ลูกหลานแห่งเมืองสเตปฟอร์ด!?


ถ้าหนังสือชุด Twilight ของ สเตฟานี เมเยอร์ ไม่เกิดขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในระดับลูกๆ พ่อมดน้อย แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ แล้วละก็ มันคงถูกหลงลืมไปพร้อมๆ กับนิยายโรแมนซ์อีกจำนวนมาก ที่วาดฝันให้ตัวละครเพศหญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนอ่านหลักของนิยายประเภทนี้ ได้ประสบพบเจอกับเทพบุตรที่สมบูรณ์แบบแสนเลอเลิศ แล้วได้ครองรักกับเขาแบบชั่วนิรันดร หลังฟันฝ่าผ่านอุปสรรคนานัปการ ตรงกันข้าม ยอดขายแบบถล่มทลายมากกว่า 85 ล้านเล่มทั่วโลกได้ส่งผลให้มันตกเป็นเป้าสายตาของทุกคนรอบข้าง ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

แม็ก คาบ็อต ผู้แต่งนิยายเรื่อง The Princess Diaries เคยตอบคำถามของแฟนหนังสือ ซึ่งเขียนมาถามความเห็นเธอต่อนิยายชุดนี้ว่า “ตอนแต่งงานฉันยังไม่ยอมเปลี่ยนนามสกุลตามสามีเลย คุณคิดจริงๆ หรือว่าฉันจะชอบเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวที่อยากจะเปลี่ยนสายพันธุ์ตัวเองตามผู้ชาย อย่าหาว่าดูถูกกันเลยนะ แต่ในฐานะเฟมินิสต์ฉันยอมรับไม่ได้จริงๆ”

ไม่เพียงเท่านั้น บางคนยังตั้งข้อสังเกตถึงรากเหง้าแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเบลลา (คริสเตน สจ๊วต) กับ เอ็ดเวิร์ด (โรเบิร์ต แพ็ททิสัน) ว่ามีส่วนคล้ายคลึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่มักจะนำไปสู่ความรุนแรงภายในครอบครัว (1) เด่นชัดสุดจากวิธีที่เอ็ดเวิร์ดพยายามควบคุมบงการทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่กีดกันเธอไม่ให้คบหาเจค็อบ (เทเลอร์ เลาท์เนอร์) จนเบลลาค่อยๆ เหินห่างจากพ่อและเพื่อนฝูง ปฏิเสธที่จะแปลงเธอเป็นแวมไพร์ (ซึ่งจะทำให้เธอเป็นอมตะและมีพลังวิเศษ) ด้วยเหตุผลว่าต้องการ “ปกป้อง” เธอ ไปจนถึงสะกดรอยเธอตลอดเวลา คอยสอดส่องแม้กระทั่งเวลาเธอหลับ (ใน The Twilight Saga: New Moon เขาถึงขั้นสั่งให้น้องสาวใช้พลังวิเศษเฝ้าตรวจสอบความเป็นไปของหญิงคนรัก) สุดท้ายแล้ว เบลลาจึงต้องหวังพึ่งพิงเอ็ดเวิร์ด และเมื่อเขาจากไป เธอก็ไม่อาจดำเนินชีวิตตามปกติได้

อย่างไรก็ตาม สเตฟานี เมเยอร์ ไม่ได้ยอมโดนรุมถล่มอยู่ฝ่ายเดียว เธอออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของกลุ่มเฟมินิสต์ว่า นิยายชุด Twilight โฟกัสไปยัง “ทางเลือก” ของเบลลา ซึ่งเธอมองว่าเป็นรากฐานสำคัญของเฟมินิสต์ยุคใหม่ ส่วนภาวะ “ผู้หญิงตกอยู่ในอันตราย ต้องรอให้ผู้ชายวิ่งมาช่วยเหลือ” ก็มีสาเหตุมาจากความเป็นมนุษย์ของเบลลา ส่งผลให้เธอปราศจากพลังที่จะต่อกรกับเหล่าแวมไพร์ พร้อมทั้งตบท้ายว่า “เพียงเพราะเบลลาไม่ได้เป็นกังฟูและชอบทำอาหารให้พ่อทานก็ไม่ได้หมายความว่าเธอสมควรจะถูกต่อว่าต่อขานแบบนั้น” บางทีประโยคดังกล่าวอาจสื่อนัยยะซ้อนทับอีกชั้นหนึ่งว่า เพียงเพราะเมเยอร์แต่งนิยายโดยวางสถานะทางเพศของตัวละครหญิงชายในรูปแบบ “อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง” ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะยกย่องชายเป็นใหญ่เสมอไป

ข้อแก้ต่างข้างต้นอาจลดแรงกระแทกในแง่ เบลลา = แอนตี้เฟมินิสต์ ลงได้บ้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่นิยายและหนังแนวโรแมนซ์-แฟนตาซี ซึ่งมีผู้หญิงเป็นตัวเดินเรื่อง (แม้ภายในจะสอดแทรกการเทิดทูนตัวละครเพศชายเอาไว้ไม่น้อย) สามารถทำเงินถล่มทลายท่ามกลางตลาดที่ถูกถือครองโดยการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่และหนังแอ็กชั่น ย่อมถือเป็นเรื่องน่ายินดี ที่สำคัญ ถ้าใครสักคนจะเลือกรักโรแมนติกเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง (ครอบครัว การศึกษา เพื่อน ฯลฯ) มันคงไม่ได้หมายความว่าเธอคนนั้นต่อต้านการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศเสมอไป กล่าวอีกอย่าง คือ ผู้หญิงที่เลือกจะสร้างครอบครัว เป็นแม่ศรีเรือน กับผู้หญิงที่ก้มหน้าไต่เต้าในอาชีพการงานจนประสบความสำเร็จล้วนอ้างสิทธิ์ความเป็น “เฟมินิสต์” ได้มากพอๆ กัน ตราบใดที่พวกเธอ “เลือก” เส้นทางนั้น

จริงอยู่สำหรับบางคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองผ่านบริบทร่วมสมัย) การตัดสินใจของเบลลาอาจดู “ไม่ฉลาด” สักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยเธอก็ใช้สิทธิ์ที่จะเลือกอย่างเต็มที่ และกล่าวได้ว่าทางเลือกของเธอนั้นค่อนข้างกล้าหาญ เมื่อพิจารณาจากแรงกดดันรอบข้างที่ย่อมต้องการให้เธอดำเนินชีวิตแบบมนุษย์ปกติทั่วไป (เรียนจบ ทำงาน คบหาผู้ชายดีๆ สักคนที่ไม่ใช่สัตว์ประหลาด แต่งงาน แล้วสร้างครอบครัวจนกระทั่งแก่เฒ่า) การกำหนดขอบเขตว่าเฟมินิสต์ต้องทำอย่างนี้ ห้ามทำอย่างนั้น ออกจะเป็นการเดินย้ำซ้ำรอยกลยุทธ์ดั้งเดิมของสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งพยายามเลือกสิ่งต่างๆ แทนผู้หญิง โดยขีดข้อจำกัดว่าพวกเธอสามารถทำอะไรได้บ้าง ตั้งแต่เรื่องอาชีพการงาน (ผู้หญิงเป็นนักบินอวกาศไม่ได้หรอก) ไปจนถึงวิถีชีวิตประจำวัน (ผู้หญิงไม่ควรแสดงกิริยาอาการแบบนั้น)

กระนั้นข้อกล่าวหาของกลุ่มเฟมินิสต์ก็ใช่ว่าจะหลักลอยเสียทีเดียว เพราะคำอธิบายของเมเยอร์ยังไม่อาจสร้างความกระจ่างต่อสถานะ “ถูกกระทำ” และบุคลิกปวกเปียก เปราะบางของเบลลา (ในที่นี้เราจะไม่พูดถึงความอ่อนแอเชิงกายภาพจากการที่เบลลาต้องรอคอยความช่วยเหลือของแวมไพร์หน้าหล่อ/มนุษย์หมาป่าซิกแพ็คตลอดศก เนื่องจากนิยายมีข้ออ้างไว้แล้วว่าเธอเป็นแค่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ปราศจากทักษะป้องกันตัว) เธอมุ่งมั่น แน่วแน่ในทางเลือกของตน แต่น่าประหลาดว่าคนที่จะชี้ชาดสุดท้ายกลับเป็นผู้ชายวันยันค่ำ เช่น เธออยากเข้าพวกแวมไพร์ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเอ็ดเวิร์ดต้องการปกป้อง “จิตวิญญาณ” ของเธอ เธออยากมีเซ็กซ์กับเขา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะฝ่ายชายกลัวจะเผลอทำร้ายเธอ เธออยากยืนหยัดเคียงข้างชายคนรักโดยไม่หวั่นเกรงอันตรายใดๆ แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ (อีกเช่นเคย) เมื่อเขาตัดสินใจทิ้งเธอไปโดยอ้างว่าเพื่อสวัสดิภาพของเธอเอง สรุป คือ เบลลามีโอกาสได้เลือกจริง แต่กลับไม่สามารถบรรลุทางเลือกใดๆ เลย นอกเสียจากจะได้รับความเห็นชอบจากเพศชายก่อน... ถ้านี่ถือเป็นเฟมินิสต์ยุคใหม่ มันก็คงเป็นการก้าวถอยหลัง (บางทีอาจไปไกลถึงยุค 1950 โน่นเลย) มากกว่าเดินหน้า

ภาวะง่อยเปลี้ยของเบลลายิ่งปรากฏเด่นชัดใน The Twilight Saga: New Moon โดยหลังจากโดนเอ็ดเวิร์ดทอดทิ้ง เธอก็ไม่เป็นอันกินอันนอน แปลกแยกจากครอบครัว เพื่อนฝูง ไม่พูดจา หรือมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับใคร แล้วใช้เวลาส่วนใหญ่หมกตัวอยู่ในห้องนอน ยิ่งไปกว่านั้น เธอสามารถก้าวข้ามอารมณ์หดหู่และสภาพแบบศพตายซากก็ต่อเมื่อค้นพบความรักจากผู้ชายแสนดีอย่างเจค็อบ ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าเบลลาไม่อาจยืนบนลำแข้งของตัวเองได้เลย เธอต้องการความช่วยเหลือทั้งทางกายและทางใจจากตัวช่วยภายนอก (ซึ่งแน่นอนว่ามักจะเป็นผู้ชาย) ตลอดเวลา จนพาลให้นึกสงสัยว่าเบลลาในช่วงต้นเรื่องของ Twilight หายหัวไปไหน (เด็กสาวที่แข็งแกร่งขนาดตัดสินใจเดินทางข้ามรัฐตามลำพังมาอยู่กับพ่อที่ห่างเหินกันไปหลายปีเพื่อแม่จะได้มีเวลาอยู่กับคนรักใหม่) หรือบางทีการได้เจอผู้ชาย “เพอร์เฟ็กต์” สักคนก็อาจเปลี่ยนแปลงผู้หญิงได้ขนาดนี้

อันที่จริง ภาพลักษณ์ “ผู้หญิงทำครัว ผู้ชายกินเบียร์ ล่าสัตว์” ในนิยายชุด Twilight ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า สเตฟานี เมเยอร์ เป็นมอร์มอนที่เคร่งศาสนา และคงเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เก็บรักษาบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่นราวสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์ สิ่งที่น่าประหลาดใจ คือ กระแสความนิยมชนิดทะลักจุดแตกของนิยายชุดนี้ในยุคสมัยที่ผู้หญิงสามารถฝันจะทำอาชีพอะไรก็ได้ แม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ในบทความ Twilight Sinks Its Teeth Into Feminism ลีโอนาร์ด แซ็กซ์ พยายามหาคำตอบโดยบอกว่าสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ Twilight ผสานฉากหลังที่ร่วมสมัย (เบลลาชอบดู The Simpsons) เข้ากับแนวคิดอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับบทบาททางเพศได้อย่างกลมกลืน (ผู้ชายกล้าหาญ เป็นสุภาพบุรุษ ผู้หญิงชอบทำงานบ้านและบอบบาง) ซึ่งหาได้ยากในหนังสือสำหรับเด็ก หรือวรรณกรรมเยาวชนยุคใหม่ นอกจากนี้ เขายังนำเสนอแนวคิดว่าบางทีบทบาททางเพศอาจไม่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมมากเท่ายีนบางอย่างในร่างกาย (2)

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าเมเยอร์เข้าใจกลุ่มคนอ่านว่าต้องการอะไร นิยายของเธอจึงอัดแน่นไปด้วยหลากหลายแฟนตาซีเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองปม Cinderella Complex (3) (ความสัมพันธ์ของเบลลากับชายหนุ่มสองคนในเรื่อง) หรือการให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาณ รักโรแมนติก เหนือกิเลสตัณหาและโลกแห่งความเป็นจริง ใน The Twilight Saga: New Moon เจค็อบเปรียบเสมือนตัวแทนของเนื้อหนังมังสา ส่วนเอ็ดเวิร์ดเป็นตัวแทนของความงามในอุดมคติ เมื่อเขาถอดเสื้อ คนดูจะไม่ได้เห็นกล้ามท้องได้รูป หากแต่เป็นประกายเพชรยามต้องแสงแดด ซึ่งให้ความรู้สึกเหนือจริงดุจพระเจ้า เมื่อเทียบกับเจค็อบแล้ว เอ็ดเวิร์ดจึงสร้างความรู้สึกคุกคามน้อยกว่า เพราะเขาเป็นเทพบุตรที่จะทะนุถนอมผู้หญิง และช่วยรักษาพรหมจรรย์ของหล่อนไว้จนกว่าจะถึงวันวิวาห์ (อิทธิพลจากมอร์มอน?) ดังนั้นคุณจึงสามารถลุ่มหลงและเปิดเผยความรู้สึกได้ โดยไม่ต้องหวั่นเกรงการถูกข่มขืน หรือท้องก่อนแต่ง สำหรับเด็กสาววัยรุ่น คุณจะขออะไรไปมากกว่านี้ได้อีกล่ะ

ในยุคสมัยของ Buffy the Vampire Slayer มุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายจากนิยายของเมเยอร์ออกจะล้าสมัยและน่าเป็นห่วง (ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อทัศนคติของเด็กสาวรุ่นไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน) อยู่บ้าง ทว่ามองในแง่ดี The Twilight Saga: New Moon จบลงด้วยการผูกปมเกี่ยวกับความสามารถพิเศษบางอย่างของเบลลา (แวมไพร์กลุ่มโวลตูรีไม่อาจใช้พลังจิตทำร้ายเธอได้) บางทีการเดินทางของเบลลาอาจมุ่งหน้าไปในรูปแบบเดียวกับการเรียกร้องสิทธิ์ของผู้หญิง นั่นคือ เริ่มต้นด้วยการถูกจำกัด กีดกันรอบด้าน ก่อนสุดท้ายจะได้แต่งงานกับชายคนรัก เข้าร่วมในครอบครัวที่ร่ำรวย ทรงอำนาจ พร้อมค้นพบพลังวิเศษที่จะทำให้เธอเก่งกาจไม่แพ้ (หรืออาจจะเหนือกว่า) แวมไพร์ตนใด... ทีนี้ ถ้าเพียงแต่เธอจะใช้พลังวิเศษสยบผู้ชายทุกคน แล้วบังคับพวกเขา (โดยเฉพาะฝูงหมาป่าซิกแพ็ค) มาเป็นทาสรักในฮาเร็ม มันคงจะสาสมไม่น้อยกับการกดขี่เพศหญิงมาตลอดเวลาหลายร้อยหลายพันปี แต่อย่างว่านั่นคงไม่ใช่ Twilight แบบที่ผู้หญิงนับล้านหลงใหลมาตลอดหลายปีเป็นแน่

หมายเหตุ

(1) ตามสถิติจะพบว่าสามีที่ชอบใช้กำลังมักมีรูปแบบหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยหลายคนในช่วงแรกจะแลดู “สมบูรณ์แบบ” มาก ทั้งโรแมนติก ทั้งแสนดี แถมยังอยากใช้เวลาอยู่กับคุณให้มากที่สุด แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการสร้างฉากเพื่อให้ตนสามารถ “กุมบังเหียน” ความสัมพันธ์ได้แบบเต็มร้อย จนเขากลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ทำให้คุณไม่คิดหลบหนีเพราะหวาดหวั่นต่ออนาคตข้างหน้า โดยลางบอกเหตุร้ายก็เช่น เขาไม่อยากให้คุณใช้เวลาอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัว เพราะเขาอยากอยู่กับคุณตลอดเวลา เพื่อค่อยๆ ตัดขาดคุณจากโลกภายนอก แต่กุญแจสำคัญ คือ การควบคุม โดยเขาจะเป็นคนตัดสินใจทุกสิ่งทุกอย่าง

(2) “จากผลการค้นคว้าวิจัยพบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ผมสัมภาษณ์ทั้งในสหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เชื่อว่าธรรมชาติทางเพศของมนุษย์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด พวกเขาโหยหาหนังสือที่จะสะท้อนแนวคิดข้างต้น ตลอดสามทศวรรษของความเชื่อฝังหัวในหมู่ผู้ใหญ่ว่าเพศไม่ใช่เรื่องสำคัญ และชายหญิงล้วนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันหาได้ผลิตเฟมินิสต์ที่ไม่ต้องการผู้ชาย แต่กลับกลายเป็นเด็กสาวที่หลงใหลผู้ชายยุคเก่าและบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมของผู้หญิง เช่นเดียวกัน การเพิกเฉยความแตกต่างทางเพศไม่ได้ทำให้เด็กผู้ชายยุคใหม่ชอบเปิดเผยอารมณ์ หรือหันมาทำงานบ้านมากขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม จำนวนเด็กหนุ่มที่ชอบใช้เวลาว่างเล่นเกม Grand Theft Auto หรือเล่นเน็ตเพื่อหาหนังโป๊ดูกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” จากบทความ Twilight Sinks It’s Teeth Into Feminism โดย ลีโอนาร์ด แซ็กซ์

(3) ในทางจิตวิทยา ได้มีการคิดค้นคำว่า Cinderella Complex ขึ้นมาสำหรับอธิบายแรงปรารถนาที่จะพึ่งพิง หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนอื่น และหวาดกลัวการยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในหมู่เพศหญิง แถมยังจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จุดกำเนิด คือ ตัวเอกในนิทานเรื่อง Cinderella ซึ่งเป็นผู้หญิงสวย ฉลาด และสุภาพอ่อนโยน แต่กลับไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องรอคอยความช่วยเหลือจากพลังภายนอก (เจ้าชาย) มาทำให้เธอได้พบกับความสุข สมหวัง ส่วนตัวละครผู้หญิงที่ทรงพลังและเข้มแข็งกลับถูกวาดภาพให้เป็นนางมารร้ายที่ควรค่าแก่การเกลียดชัง (แม่เลี้ยง)

วันเสาร์, กันยายน 26, 2552

Short Replay: Hedwig and the Angry Inch


ถ้าจะมีหนังเพลงสักเรื่องที่เหมาะกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ศตวรรษใหม่ หนังเรื่องนั้นคงได้แก่ Hedwig and the Angry Inch ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาวะร่วมสมัยของเพศสถานะและบทบาททางเพศอันลื่นไหล คลุมเครือได้อย่างชัดเจน ผ่านเรื่องราวของเด็กหนุ่มชาวเยอรมันตะวันออก แฮนเซล (จอห์น คาเมรอน มิทเชลล์) ที่ตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศเพื่อจะได้แต่งงานไปกับนายทหารชาวอเมริกันและหลบหนีออกจากระบบคอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายการผ่าตัดเกิดความผิดพลาดร้ายแรง ส่งผลให้ แฮนเซล (ผู้ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเฮ็ดวิก) เหลือเศษเสี้ยวความเป็นชายอยู่หนึ่งนิ้ว (ที่มาของชื่อหนัง) และกลายสภาพเป็นมนุษย์ “กึ่งกลาง” จะหญิงก็ไม่ใช่ จะชายก็ไม่เชิง... หรือทั้งหญิงและชายในร่างเดียวกัน

ความสับสนทางเพศสภาวะในหนังค่อยๆ ทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อสามีของเฮ็ดวิกหนีตามผู้ชายไป ส่วนเฮ็ดวิกกลับหันไปอยู่กินกับ ยิทซัค กะเทยแต่งหญิงและสมาชิกร่วมวงดนตรีร็อค (รับบทโดยนักแสดงหญิง มิเรียม ชอร์) หนังดูเหมือนจะสื่อเป็นนัยยะว่ายิทซัคต้องบิดเบือนตัวตนและรับบทเป็น “สามี” เพื่อเฮ็ดวิก ก่อนสุดท้ายจะถูกปลดปล่อยเป็นอิสระในฉากเพลง Midnight Radio เมื่อเฮ็ดวิคสลัด “เครื่องปรุงแต่ง” แห่งเพศหญิงของตนทิ้ง แล้วยื่นวิกผมให้ยิทซัค ซึ่งต่อมากลายสภาพเป็นกะเทยแต่งหญิงสุดเจิดจรัสแบบที่เขาต้องการและโหยหามาตลอดชีวิต

สภาพสังคมและระบบวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนขึ้นทำให้การแบ่งแยกอย่างชัดเจน (ขาว-ดำ ชาย-หญิง) ที่เคยใช้ได้ผลในยุคเก่าก่อนถูกพังทลายลงเฉกเช่นกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งเคยแบ่งตะวันออกจากตะวันตก คอมมิวนิสต์จากทุนนิยม รวมถึงแนวคิดของ “คู่แท้” หรือ soul mate (เพลง The Origin of Love) เมื่อชายต้องออกตามหาครึ่งแห่งหญิงที่หายไป ส่วนหญิงก็ต้องออกตามหาครึ่งของชายที่หายไป... แล้วมนุษย์ที่ชายก็ไม่ใช่ หญิงก็ไม่เชิงอย่างเฮ็ดวิกล่ะ? Hedwig and the Angry Inch ปิดฉากลงอย่างสอดคล้องด้วยบทสรุปแบบเปิดที่คลุมเครือและเซอร์เรียลเล็กๆ เป็นภาพการถือกำเนิดครั้งใหม่ของเฮ็ดวิกในสภาพเปลือยเปล่า ไม่แน่ชัดทางเพศ แต่เติมเต็ม (ผ่านรอยสักที่ก่อนหน้านี้มีเพียงครึ่งเดียว) ฉากจบดังกล่าวเหมือนจะเป็นการป่าวประกาศว่าบางทีพระเจ้าไม่ได้แบ่งแยกมนุษย์ แต่กลับหลอมรวมให้มนุษย์สมบูรณ์พร้อมในตัวเองแล้ว

วันพุธ, กันยายน 09, 2552

Bruno: เรากำลังหัวเราะอะไร?


ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หลังจากความสำเร็จอันล้นหลามและพูดได้เต็มปากว่าเหนือความคาดหมายของ Borat: Cultural Learnings of America for Make Benefit Glorious Nation of Kazakhstan ทั้งในแง่รายได้รวมถึงเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ ดารา/ดาวตลก ซาชา บารอน โคเอน และผู้กำกับ แลร์รี่ ชาร์ลส์ จะเลือกเดินย้ำรอยเดิมตนเองใน Bruno ซึ่งกล่าวได้ว่าใกล้เคียงกับการเป็น “รีเมค” มากกว่า “ภาคต่อ” ไม่ว่าจะมองในแง่สไตล์ รูปแบบนำเสนอ หรือกระทั่ง “พล็อต” ซึ่งนั่นหมายถึง ถ้าคุณทราบว่าการเดินทางตามความฝันของโบรัตลงเอยอย่างไร คุณก็จะสามารถคาดเดาได้ไม่ยากเช่นกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างบรูโน่ (โคเอน) กับลุทซ์ (กุสตัฟ ฮัมมาร์สเตน) จะจบลงแบบไหน ความประหลาดใจเดียวคงอยู่ตรงฉากหลังของบทสรุปดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเรียกเสียงฮาได้สมประสงค์แล้ว ยังช่วยสรุปจุดมุ่งหมายของหนังทั้งเรื่องอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเสียงตอบรับของ Bruno จะตรงกันข้ามกับ Borat อย่างสิ้นเชิง หนึ่งในสาเหตุสำคัญคงมาจากการที่ตัวละครเอกใน Bruno หยิบยื่นรสนิยมทางเพศของตน (ซึ่งยังถือเป็นรสนิยมของชนกลุ่มน้อย) ใส่หน้าคนดูในระยะประชิดราวกับหนังสามมิติ โดยถ้าจะเปรียบ บรูโน่คงเป็นเหมือนเบ้าหลอมของทุกภาพลักษณ์เหมารวมเกี่ยวกับรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นอาการหมกมุ่นเรื่องเซ็กซ์ คนดัง แฟชั่น ลุ่มหลงในเรื่องหน้าตา ชื่อเสียงเงินทอง รวมเลยไปถึงบุคลิก “มีนอ” ชนิดที่ใครเห็นก็ต้องหัวเราะ หรือเบือนหน้าหนี

และคงเป็นเพราะสาเหตุนี้กระมัง หนังจึงตกเป็นเป้าโจมตีของทั้งกลุ่มรักต่างเพศและรักร่วมเพศ โดยฝ่ายแรกไม่ชอบใจที่ถูกยัดเยียดสิ่งที่พวกเขาไม่พึงประสงค์จะรับชม หรือมากเกินกว่าทนรับไหว และบางคนอาจก้าวไปไกลถึงขั้นกล่าวหาว่ามันเป็นความพยายามจะล้างสมองคน ซึ่งนั่นถือเป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระและขาดแคลนหลักตรรกะสิ้นดี ไม่ใช่เพียงเพราะประเด็น “เราสอนคนให้เป็นเกย์/หายจากการเป็นเกย์ได้หรือ” เท่านั้น แต่เพราะใครก็ตามที่ได้ดูหนังและอยากจะเลียนแบบคนอย่างบรูโน่นั้นคงสติไม่ค่อยเต็มสักเท่าไหร่ ส่วนฝ่ายหลังกลับเห็นว่าหนัง “ล้อเลียน” รักร่วมเพศด้วยการทำให้เกย์ดูน่ารังเกียจ น่าหัวเราะเยาะ และตอกย้ำอคติทุกอย่างต่อรักร่วมเพศ

ข้อกล่าวหาของกลุ่มรักร่วมเพศพอมีมูลอยู่บ้างตรงที่ เป้าหมายหลักของเสียงหัวเราะใน Bruno พุ่งเป้าไปยังตัวละครเอกจริง หาใช่เหล่า “คนจริง” ทั้งหลายอย่างที่เผลอเข้าใจกัน แต่คำถามที่ตามมา คือ เรากำลังหัวเราะในความเป็นเกย์ของบรูโน่ หรือพฤติกรรมอันร้ายกาจของเขากันแน่ และการปรากฏตัวของบรูโน่สามารถทำให้คนทั่วไปรังเกียจรักร่วมเพศมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือ ในเมื่อเห็นได้ชัดว่าเขาไม่ใช่ “ตัวแทน” ของเกย์จากโลกแห่งความเป็นจริงมากไปกว่าสี่สาวใน Sex and the City เป็นตัวแทนของหญิงโสดจากเมืองนิวยอร์ก

จะมีเกย์ (หรือมนุษย์) คนไหนบ้าพอไปเรียนศิลปะป้องกันตัว แล้วขอให้ครูฝึกสาธิตวิธีรับมือกับผู้ร้ายที่ใช้ดิลโด้เป็นอาวุธ หรือพยายามอ่อยพรานล่าสัตว์มาดแมนด้วยการแก้ผ้าไปยังเต็นท์ของเขาตอนกลางดึกพร้อมข้ออ้างว่า “หมีกินเสื้อผ้าไปหมด เหลือแต่ถุงยางอนามัยไว้ ขอนอนด้วยคนสิ” หรือทำรายการทีวีโชว์อวัยวะเพศตัวเองส่ายดุกดิกไปมาตามจังหวะเพลง พร้อมกับใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกให้มันขมิบปากพูด!?! ฯลฯ

แทนความสมจริง พูดได้ว่าบรูโน่เป็นเหมือนตัวละครที่สะท้อนอคติต่อรักร่วมเพศให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า เขา “ใหญ่ เยอะ มาก และโอเวอร์” กว่าความเป็นจริงไปหลายขุม ดังจะเห็นได้จากฉากสารพัดกิจกามระหว่างเขากับแฟนหนุ่มชาวเอเชีย (คลิฟฟอร์ด บานาเกล) ซึ่งให้ความรู้สึกชวนอุจาดและน่าขนลุกเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ในชีวิตจริง รักร่วมเพศหาได้วิตถารมากไปกว่ารักต่างเพศสักเท่าไหร่ (ส่วน “เครื่องจักร” ที่บรูโน่ใช้บริการแฟนหนุ่มก็ไม่ได้ต่างจากเครื่องจักรที่ จอร์จ คลูนีย์ สร้างให้ภรรยาเขาใน Burn After Reading มากนัก) เช่นเดียวกัน เกย์หลายคนอาจไม่พิสมัยการร่วมเพศทางทวารหนัก ขณะที่ชายหญิงหลายคู่ชื่นชอบกิจกรรมดังกล่าว แต่แน่นอน บรูโน่ในหนังหมกมุ่นกับประตูหลังถึงขนาดไป “เสริมสวย” ที่ร้าน นอกจากนี้ อีกหนึ่งอคติของรักต่างเพศ (โดยเฉพาะเพศผู้) ต่อรักร่วมเพศ คือ อาการวิตกจริตจากหลักคิดง่ายๆ ว่าในเมื่อเกย์ชอบไม้ป่าเดียวกัน ฉะนั้น ผู้ชายทุกคนจึงสามารถตกเป็นเหยื่อกามของเหล่าเกย์หื่นเพศรสได้หมด (ไม่ว่าหนังหน้าผู้นั้นจะเป็นเช่นใด) เช่นเคย บรูโน่ช่วยสะท้อนอคติดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านฉากที่เขาพยายามล่อหลอกผู้ชายแทบทุกคนขึ้นเตียงตั้งแต่พรานล่าสัตว์ ชายหนุ่มในกลุ่มสวิงกิ้ง ไปจนถึงนักการเมืองวัย 73 ปี!

นัยยะตรงนี้เองที่ช่วยพิสูจน์ให้เห็นความเข้าใจผิดของกลุ่มพิทักษ์สิทธิชาวเกย์ ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน Bruno ว่าจริงๆ แล้วคนดูไม่ได้กำลังหัวเราะความเป็นเกย์ของบรูโน่ (ยอมรับเถอะว่าทุกอย่างที่บรูโน่ทำไม่ได้อิงแอบโลกแห่งความจริงเลยสักนิด) แต่กำลังหัวเราะอคติเกี่ยวกับรักร่วมเพศทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นแค่ความคิด แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นภาพให้เห็นจะๆ แบบไม่มีมิดเมี้ยนอีกต่างหาก

เป็นไปได้ไหมที่จะมีคนดู Bruno จบ แล้วเดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์ชิงชังรักร่วมเพศ

แน่นอน ทว่านั่นคงไม่ได้เกิดจากตัวหนังไปเบี่ยงเบนความคิดเขา แต่เป็นเพราะเขารู้สึกเช่นนั้นอยู่ก่อนแล้ว และ Bruno เพียงแค่ไปกระตุ้นต่อมดังกล่าวให้บวมเป่งขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติ มนุษย์มักเลือกจะเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ แล้วใช้เวลาค้นหาทุกอย่างมายืนยันความเชื่อนั้น แม้ว่าบางครั้งจะต้องลงทุนบิดเบือนขาวให้เป็นดำก็ตาม อันที่จริงสมมุติฐานนี้สามารถใช้อธิบายวิกฤติจากอคติได้แทบทุกประเภท ไม่เฉพาะแค่อคติต่อรักร่วมเพศ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งบรูโน่แนะนำหนทางแก้ปัญหาง่ายๆ (ตามสไตล์เขา) ไว้ว่า “หันไปฆ่าคริสเตียนแทนดีกว่า”

การนำเสนอภาพรักร่วมเพศแบบสุดลิ่มทิ่มตา จนมันหาใช่ “ความรักที่ไม่อาจเอ่ยนาม” อีกต่อไป และฉีกกฎ “ไม่ถาม อย่าบอก” ชนิดไม่เหลือชิ้นดี (เมื่อบรูโน่ไปฝึกทหาร ทุกคนที่ไม่ได้หูหนวกตาบอดคงดูออกว่าเขาเป็นเกย์โดยไม่จำเป็นต้องถามให้เสียเวลา) ส่งผลให้ตัวหนังเรื่อง Bruno ไม่ต่างจากไคล์แม็กซ์ในช่วงท้าย (กระนั้นคนดูหนังคงไม่ช็อกเท่าคนดูมวยปล้ำในฉากดังกล่าว เพราะอย่างน้อยเราก็รู้มาก่อนว่ามันเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร) นั่นคือ เป็นแบบทดสอบว่าคุณพร้อมรับความแตกต่างมากแค่ไหน และด้วยเหตุนี้เอง Bruno จึงสมควรได้รับเสียงชื่นชมจากชุมชนชาวเกย์มากกว่าก้อนหิน เพราะมันเป็นการตบหน้าสังคมรักต่างเพศ ที่ยืนกรานจะให้เกย์อยู่แต่ในมุมมืด พร้อมประกาศการมาถึงของรักร่วมเพศแบบเอิกเกริก จริงอยู่บรูโน่อาจเลวร้าย น่ารำคาญ หลงตัวเอง และน่าหัวเราะเยาะ แต่อย่างน้อยเขาก็มั่นใจ ภูมิใจในความเป็นเกย์ถึงขั้นกล้าประกาศตนบนเวทีมวยปล้ำ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยกลุ่มคนที่ตั้งตนเป็นอริกับเขา สุดท้ายแล้ว นี่ไม่ใช่หรือที่บรรดาเกย์หัวก้าวหน้าต้องการเรียกร้อง... สิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยและเท่าเทียม

นอกเหนือจากกลิ่นอายกะเทยที่รุนแรงเกินมาตรฐานหนังกระแสหลักและบุคลิกไม่น่าพิสมัยของตัวละครเอกแล้ว (โบรัตอาจเหยียดเพศหญิงและคนยิว แต่ท่าทางใสซื่อ บริสุทธิ์ และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ก็ทำให้เขาดู “น่ารัก” กว่าเกย์กวนบาทาอย่างบรูโน่) อีกหนึ่งสาเหตุที่อาจส่งอิทธิพลให้ Bruno ไม่ป็อปปูล่าในหมู่นักวิจารณ์และคนดูหนังมากเท่า Borat คือ ข้อกล่าวหาว่าหนัง “ไม่จริงใจ” จากการเตี๊ยมและซักซ้อมล่วงหน้า รวมถึงความรู้สึกว่าหนังกำลังดูแคลน “คนจริง” บางกลุ่มที่ถูกหลอกให้มาเป็นตัวตลก โดยหนึ่งในฉากที่สร้างปัญหาสูงสุดเห็นจะได้แก่ ตอนบรูโน่ไปออกรายการ The Richard Bey Show ซึ่งในความเป็นจริงรายการดังกล่าวเลิกผลิตมานานหลายปีแล้ว

สองคำถามที่แวบเข้ามาในหัวผมเกี่ยวกับข้อกล่าวหาข้างต้น คือ ฉากดังกล่าวจะตลกน้อยลงไหม ถ้ามีการใช้นักแสดงทั้งหมดเหมือนในหนัง Mockumentary ทั้งหลาย และ จริงหรือที่เรากำลังหัวเราะเหล่าคนดูผิวดำ ซึ่งแสดงท่าทีโกรธแค้น (อย่างมีเหตุผล) ต่อพฤติกรรมชั่วร้ายของบรูโน่ ปฏิกิริยาดังกล่าวสะท้อนแนวคิดเหยียดเกย์ หรือแค่สามัญสำนึก ซึ่งเป็นสิ่งที่บรูโน่ขาดแคลน (แต่เหมือนจะไม่รู้ตัว) กันแน่

จริงอยู่ ผู้ชมในห้องส่งบางคนอาจส่งเสียงโห่ เมื่อบรูโน่บอกว่าลูกบุญธรรมของเขาเป็น “แม่เหล็กดึงดูดปิกาจู้” และเขากำลังมองหาผู้ชายสักคนมาครองคู่ (Homophobia? คงมีส่วน เซอร์ไพรซ์? ไม่เลย เมื่อพิจารณาจากประเภทของรายการทีวี) แต่ปฏิกิริยาไม่เป็นมิตรอย่างรุนแรง (“แกสมควรไปลงนรก”) ดูเหมือนจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อบรูโน่บอกว่าเขาแลกเด็กกับไอพ็อด ตั้งชื่อเด็กว่าโอเจ แล้วโชว์ภาพเขากับเด็กทารกในอ่างอาบน้ำโดยมีแบ็คกราวด์เป็นชายสองคนกำลังร่วมรักกัน ประการแรก ผมคิดว่าปฏิกิริยาสติหลุดของกลุ่มคนดูไม่ได้มีรากฐานมาจากอาการเกลียดกลัวเกย์มากไปกว่าอาการต่อมศีลธรรมแตกอันเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบรูโน่ พวกเขาคงเกรี้ยวกราดมากพอๆ กันถ้าแบ็คกราวด์ในรูปถ่ายนั้นเป็นภาพชายหญิงร่วมรักกัน ที่สำคัญ รายการประเภทนี้คาดหวังให้คนดูแสดงปฏิกิริยารุนแรงอยู่แล้ว และคนดูที่มาออกรายการก็พร้อมเสมอที่จะเล่นตามบท (ถ้าคุณเคยดูรายการทีวีของ เจอร์รี่ สปริงเกอร์ คุณจะเข้าใจ) ราวกับในห้องส่งมีป้ายไฟกะพริบเขียนว่า “ตะโกนด่า” หรือ “ขว้างเก้าอี้” ควบคู่กับป้าย “ปรบมือ”

ประการต่อมา ผมคิดว่าหัวใจหลักของอารมณ์ขันในฉากนี้ไม่ได้อยู่ตรงปฏิกิริยาคนดูในห้องส่ง หากแต่เป็นท่าทีไม่อินังขังขอบของบรูโน่ต่างหาก เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าพฤติกรรมต่างๆ ของตนนั้นชั่วร้ายแค่ไหน และตัวหนังเองก็สนับสนุนมุกดังกล่าวได้อย่างยอดเยี่ยม ดังจะเห็นได้จากฉากที่เด็กทารกถูกพรากไปจากบรูโน่ แล้วหนังพยายามเค้นอารมณ์ “ดราม่า” ด้วยการตัดแฟลชแบ็คไปยังภาพ “ความทรงจำดีๆ” ของเขากับลูกบุญธรรม เช่น เมื่อเขานำเด็กออกมาจากกล่องกระดาษ ณ จุดรับกระเป๋าของสนามบิน หรือเมื่อเขาพาเด็กซ้อนมอเตอร์ไซค์ แล้วขี่ตัดหน้ารถบรรทุก ฯลฯ มันแสดงให้เห็นว่า “ตัวตลก” เอกของ Bruno ไม่ใช่กลุ่ม “คนจริง” ทั้งหลาย หากแต่เป็นบรูโน่ต่างหาก

เนื่องจากหนังพึ่งพิงปฏิกิริยาสดๆ น้อยยิ่งกว่า Borat ผมจึงไม่เห็นความแตกต่างว่าการ “เซ็ท” ฉาก หรือไม่ “เซ็ท” ฉากจะส่งผลต่อภาพรวมใดๆ ของหนัง ประสิทธิภาพของอารมณ์ขัน หรือกระทั่ง “ความจริงใจ” ของคนสร้าง ในเมื่อบรูโน่ล้วนเป็นคนแบกรับมุกตลกแทบทั้งหมดไว้บนบ่าเพียงคนเดียว (คนดูจะขำหรือไม่ขำก็ขึ้นอยู่กับทักษะการแสดงของโคเอน หรือไอเดียของเขาในการสรรหาพฤติกรรมแรงๆ มาให้บรูโน่ทำ) ไม่ว่าจะเป็นตอนเขาไปเรียนศิลปะการป้องกันตัว (ครูฝึกตีหน้าตาย) หรือตอนเขาทอดสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กให้ รอน พอล ด้วยกลเม็ดที่ลุ่มลึกพอๆ กับหนัง พจน์ อานนท์ (นักการเมืองวัยชราแสดงท่าทางโกรธขึ้ง) หรือตอนเขาร่วมรักทางปากกับวิญญาณ (คนทรงตีหน้าตาย) ตลอดเวลาเราหัวร่องอหายไปกับพฤติกรรมบ้าๆ บอๆ ของบรูโน่ หาใช่ปฏิกิริยาของเหยื่อที่โดนบรูโน่จู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัว

Bruno อาจน่าผิดหวังในการฉีกหน้ากาก Homophobia (จุดที่สร้างเซอร์ไพรซ์เล็กๆ คือ การล้อเลียนวัฒนธรรมของดารา ตลอดจนอาการหลงใหลชื่อเสียง ผ่านฉากฮาๆ อย่างตอน พอลล่า อับดุล พูดถึงเรื่องมนุษยธรรม ขณะนั่งบน “เก้าอี้คนเม็กซิกัน” และตอนบรูโน่สัมภาษณ์เหล่าคุณแม่ทั้งหลายที่ยินยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกของตนได้เข้าวงการบันเทิง แม้กระทั่งศัลยกรรม!) แต่อย่างน้อยมันก็ยังประสบความสำเร็จในการเรียกเสียงหัวเราะอย่างต่อเนื่อง (แน่นอน แม้จะไม่มากเท่า Borat) และบางทีแค่นั้นอาจถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับหนังตลกสักเรื่อง

Short Replay: Five Easy Pieces


นี่เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับ บ็อบ ราเฟลสัน อย่างไม่ต้องสงสัย และหนึ่งในบทบบาทการแสดงที่ดีที่สุดของ แจ๊ค นิโคลสัน ผู้สวมวิญญาณเป็น โรเบิร์ต ดูเปีย หนุ่มขบถที่สับสนหลงทาง ภายในอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ขุ่นเคือง โศกเศร้าได้อย่างน่าอัศจรรย์ โรเบิร์ตมองตัวเองเป็นเหมือนแกะดำในครอบครัวศิลปินชนชั้นกลาง พร้อมกับหันหลังให้พรสวรรค์ทางด้านเปียโนเพื่อมาทำงานเป็นกรรมกรขุดเจาะบ่อน้ำมัน เร่ร่อน ไร้จุดหมาย และไม่คิดจะลงหลักปักฐาน แม้แต่กับสาวเสิร์ฟ (คาเรน แบล็ค) ที่รักเขามากจนพร้อมจะมองข้ามทุกข้อเสียของเขา

ฉากเด่นซึ่งทุกคนจดจำได้ไม่ลืมเป็นตอนที่โรเบิร์ตปะทะคารมกับพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร (เขาอยากได้ขนมปังปิ้งเปล่าๆ แต่สาวเสิร์ฟกลับยืนกรานให้เขาสั่งตามเมนู ซึ่งมีแต่แซนด์วิชสลัดไก่) หลายคนวิเคราะห์ว่าฉากดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณขบถในช่วงปลายทศวรรษ 1960 (หนึ่งปีก่อนหน้า แจ๊ค นิโคลสัน เริ่มสร้างชื่อเสียงจาก Easy Rider ซึ่งเป็นหนังตัวแทนยุคบุปผาชน) อย่างไรก็ตาม ฉากที่ติดตาผมมาจนทุกวันนี้กลับเป็นฉากที่โรเบิร์ต พยายามจะอธิบายความรู้สึก ตลอดจนเส้นทางชีวิตที่เขาเลือกกับพ่อ ผู้เป็นนักเปียโนชื่อดังและกำลังใกล้ตาย แต่ไม่อาจเรียบเรียงประโยคให้ปะติดปะต่อกันได้ ก่อนจะระเบิดอารมณ์เป็นน้ำตาและเสียงสะอื้นไห้ รวมไปถึงฉากจบ ซึ่งทำให้คนดูหัวใจสลาย

เกือบ 40 ปีผ่านไป Five Easy Pieces ได้รับยกย่องให้เป็นผลงานคลาสสิกตลอดกาล เนื่องจากมันอัดแน่นไปด้วยแง่มุมสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และสุนทรียศาสตร์แห่งภาพยนตร์ ถึงขนาดผู้กำกับหลายคนยังแสดงความชื่นชอบอย่างออกนอกหน้าตั้งแต่สองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน, ลาร์ ฟอน เทรียร์ ไปจนถึง อิงมาร์ เบิร์กแมน

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 27, 2552

Short Replay: Full Metal Jacket


ถึงแม้จะไม่ใช่ผลงานที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อเอ่ยนามผู้กำกับระดับตำนานอย่าง สแตนลีย์ คูบริค แถมมันยังเปิดตัวค่อนข้างล่าช้า หลังกระแสหนังสงครามเวียดนามเดินทางผ่านจุดสูงสุดของ Apocalypse Now และ Platoon ไปแล้ว แต่ Full Metal Jacket หาได้ขาดแล้งพลังสร้างสรรค์ หรือสารใหม่ๆ ในการนำเสนอเสียทีเดียว

หนังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนอย่างค่อนข้างชัดเจน ครึ่งแรกโฟกัสไปยังการฝึกทหารในฐานทัพนาวิกโยธิน โดยเหยื่ออันโอชะของครูฝึกจอมโหด (ลี เออร์เมย์) คือ พลทหารรูปร่างอวบอ้วนที่ไม่เอาไหนจนกลายเป็นตัวถ่วงของทุกคน (วินเซนท์ ดี’โอโนฟริโอ) ปมขัดแย้งดังกล่าวพลิกผันไปมาและทวีความกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ (พลทหารเริ่มแสดงพรสวรรค์ทางด้านแม่นปืน แต่ขณะเดียวกันสติของเขาก็เริ่มหลุดลอยไปไกลเกินเยียวยา) ก่อนจะมาระเบิดออกในฉากนองเลือดสุดหลอน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดทางอารมณ์ของหนังด้วย และเพราะเหตุนี้กระมัง ครึ่งหลังของหนัง ที่โฟกัสไปยังการผจญภัยในเวียดนามของพลทหารเจ้าของฉายา โจ๊กเกอร์ (แม็ทธิว โมดีน) จึงโดนค่อนแคะว่าไร้เป้าหมาย น่าเบื่อ และขาดอารมณ์ร่วม แม้กระทั่งในฉาก (ที่ควรจะเป็น) ไคล์แม็กซ์ของหนัง... แต่จริงๆ แล้วนั่นเป็นจุดอ่อน หรือความจงใจของคูบริคกันแน่

ถ้าครึ่งแรกสะท้อนความมุ่งมั่น แน่วแน่ของครูฝึกโรคจิต ครึ่งหลังคงสะท้อนบุคลิกไร้ตัวตน ไร้จุดหมายของโจ๊กเกอร์ (คนดูไม่มีโอกาสรู้ชื่อจริงของเขาด้วยซ้ำ) ผู้ติดเหรียญสัญลักษณ์สันติภาพไว้ที่เสื้อ แต่เขียนหมวกทหารว่า “เกิดมาฆ่า” ผู้เหมือนจะเป็นเพื่อนคนเดียวของไพล์ แต่ก็ลงไม้ลงมือกับเขาอย่างรุนแรง ผู้อาจมีชีวิตยืนยาว แต่กลับลงเอยไม่ต่างจากซากศพ แน่นอน สงครามคือนรก เป็นความบ้าคลั่งที่ไร้แก่นสาร แต่ Full Metal Jacket ก้าวไปอีกขั้นด้วยการบอกว่าความเลวร้ายทั้งหลายเริ่มต้นก่อนกระสุนนัดแรกจะถูกยิงออกไปด้วยซ้ำ มันเริ่มต้นขึ้นในโรงเรียนทหาร เมื่อคุณถูกล้างสมองให้ละทิ้งปัจเจกภาพ แล้วทำและคิดทุกอย่างตามคำสั่ง จนกระทั่งกลายสภาพเป็นเครื่องจักรสังหารที่ไร้จิตวิญญาณ

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 13, 2552

Short Replay: La Femme Nikita


อย่าไปสนใจเวอร์ชั่นรีเมคที่อ่อนด้อยกว่าของ จอห์น แบดแฮม (Point of No Return) เพราะ La Femme Nikita เวอร์ชั่นดั้งเดิมของ ลุค เบสซอง ถือว่าสมบูรณ์แบบจนไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดมันถึงกลายเป็นผลงานสร้างชื่อเสียงระดับโลกให้เบสซอง หนังมีส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความเป็นแอ็กชั่น-ทริลเลอร์และบทสำรวจสภาพจิตใจของตัวละคร ซึ่งภาพยนตร์แอ็กชั่นส่วนใหญ่ของฮอลลีวู้ดมักจะมองข้าม เรื่องราวของนักโทษสาว ที่ได้รับโอกาสรอดพ้นโทษประหารด้วยการเข้าฝึกเป็นนักล่าสังหารของหน่วยงานรัฐ แต่โชคดังกล่าวกลับกลายเป็นเสมือนกรงขัง เมื่อเธอได้พบรักกับชายหนุ่มแสนดี ที่ไม่รู้ว่าอาชีพแท้จริงของสาวคนรักน่าสะพรึงเพียงใด

แอนน์ ปารีโญ รับบทนำได้อย่างทรงพลัง น่าเชื่อถือในทุกฉาก ทุกการพลิกผันทางอารมณ์ แม้ว่าความเป็นไปได้ของเรื่องราวจะดูเกินจริงมากแค่ไหนก็ตาม เช่น ฉากระทึกขวัญซึ่งเธอต้องลอบสังหารบุคคลสำคัญในห้องน้ำ ท่ามกลางเวลาอันจำกัดจำเขี่ย ความรู้สึกแรกของคนดูต่อตัวละครที่เธอรับเล่น คือ บุคลิกอันโหดเหี้ยม เย็นชา หรือบางทีอาจถึงขั้นเฉยเมยต่อโลกและความรุนแรงรอบข้าง แต่เมื่อหนังดำเนินไป ปารีโญกลับทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงด้านที่อ่อนโยน เปราะบาง ตลอดจนความเป็นหญิงภายใต้ภาพลักษณ์แข็งแกร่งภายนอกอย่างน่าอัศจรรย์ ส่งผลให้เราอดไม่ได้ที่จะลุ้นเอาใจช่วยเธอให้พบทางออกต่อสถานการณ์เลวร้าย ซึ่งดูมืดมน สิ้นหวัง

วันจันทร์, กรกฎาคม 27, 2552

Short Replay: Dancer in the Dark


ลาร์ ฟอน เทรียร์ อาจเชื่อจริงๆ ว่าเขาเป็น “ผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก” และคงมีคนหลายคนพร้อมจะสนับสนุนความคิดนั้น แม้ว่าหนังของเขามักจะเรียกเสียงโห่ได้มากพอๆ กับเสียงปรบมือ แต่สองสิ่งที่เราคงปฏิเสธไม่ได้ คือ ฟอน เทรียร์ ไม่ใช่ผู้กำกับ “ขี้ขลาด” และหนังทุกเรื่องของเขาก็ไม่เคย “น่าเบื่อ” ตรงกันข้าม มันท้าทายความรู้สึกคนดูอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้คนดูตั้งคำถาม โต้เถียง และนำเสนอความแปลกใหม่ ตลอดจนความกล้าหาญที่จะทดลอง

Dancer in the Dark เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากคานส์ ถือเป็นหนังปิดไตรภาค “หัวใจทองคำ” ของผู้กำกับชาวเดนมาร์กต่อจาก Breaking the Waves และ The Idiots เล่าถึงวิบากกรรมของโอชิน เอ๊ย เซลมา (บียอร์ก) สาวโรงงานที่กำลังจะตาบอดและเหลือเป้าหมายเดียวในชีวิต คือ เก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ (ใส่กระป๋องสังกะสี) เพื่อให้ลูกชายได้ผ่าตัดดวงตาและหลุดพ้นจากความทุกข์แบบเดียวกับเธอ ถ้าคุณเคยดูละครหลังข่าวมาบ้าง คุณคงพอเดาออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเงินก้อนนั้น และถ้าคุณคิดว่าบทสรุปของเบสใน Breaking the Waves เศร้าสลดมากพอแล้ว คุณจะต้องมาเห็นสิ่งที่เซลมาเผชิญในหนังเรื่องนี้ ซึ่งใช้นิยาม “ชีวิตบัดซบ” ได้เป็นอย่างดี

ภาพสั่นส่ายเพื่อสร้างอารมณ์สมจริงเหมือนหนังสารคดีให้ความรู้สึกตัดกันแบบฉึบฉับกับพล็อตเรื่องสไตล์เมโลดราม่า ประเภทคนดีก็ดีใจหาย คนร้ายก็ชั่วช้าสารพัน รวมไปถึงฉากร้องเพลงเต้นรำ ซึ่งเน้นตั้งกล้องนิ่งและเพิ่มสีสันให้ฉูดฉาด การวางฉากหลังให้เป็นกรุงวอชิงตัน (และต่อมายังสร้างหนังอย่าง Dogville และ Manderlay) ส่วนตัวละครเอกเป็นชาวต่างชาติที่ความฝันแบบอเมริกันถูกเหยียบย่ำทำลายส่งผลให้ ฟอน เทรียร์ ถูกวิพากษ์ว่าเขาไม่เพียงจะแอนตี้ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังแอนตี้อเมริกาอีกด้วย (ล่าสุดเขาเพิ่งประกาศตัวผ่านเครดิตหน้าจอในหนังใหม่ว่า Lars von Trier - Antichrist)

วันอังคาร, กรกฎาคม 07, 2552

Short Replay: Hostel


การถือกำเนิดขึ้นของ Hostel ได้ส่งผลให้หนังสยองขวัญยุคใหม่เริ่มแตกหน่อตระกูลย่อยออกเป็นภาพยนตร์ “ทรมานกระสัน” หรือ Torture Porn คำนิยามซึ่งคิดค้นขึ้นโดย เดวิด อีเดลสไตน์ แห่ง New York Magazine สำหรับอธิบายผลงานหนังซึ่งเต็มไปด้วยภาพการทรมานสารพัดวิธี การเฉือนอวัยวะ ตลอดจนการฆ่าแบบแปลกๆ ราวกับจะชักชวนคนดูให้กลายเป็นพวกซาดิสต์ ชื่นชอบความรุนแรง เช่น Hostel ทั้งสองภาค, Saw ทั้งห้าภาค, Wolf Creek, The Devil’s Reject หรือกระทั่ง The Passion of the Christ

อีไล รอธ ผู้กำกับ Hostel ให้สัมภาษณ์หลายครั้งหลายคราว่าหนังของเขาเป็นเสมือนบทวิพากษ์การทรมานนักโทษชาวอีรักในคุกอาบูการิบ แต่น่าแปลกตรงที่ “เหยื่อ” ในหนังของเขากลับเป็นกลุ่มชายชาวอเมริกัน ซึ่งเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างแดน (สโลวาเกีย) แล้วถูกหลอกล่อไปสู่ความสยองโดยสมาคมลับที่นิยมจับนักท่องเที่ยวมาให้พวกเศรษฐีทรมานเล่น จนสุดท้ายเหยื่อรายหนึ่งตัดสินใจลุกขึ้นสู้ พร้อมกับล่าสังหารพวกพรานมนุษย์เหล่านั้นอย่างสาสม น่าคิดว่าพล็อตเรื่องและการนำเสนอของรอธ ซึ่งโน้มนำให้คนดูเอาใจช่วยตัวละครเอก (ชายผิวขาว) พร้อมทั้งรู้สึก “สะใจ” เมื่อเขาตอบโต้ความรุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เป็นเสียง “วิพากษ์” นโยบายต่างประเทศของ จอช บุช หรือสนับสนุนความพยายามจะสร้างภาพลักษณ์บริสุทธิ์ให้กับอเมริกากันแน่ บางทีความไร้เดียงสาของรอธต่อประวัติศาสตร์การเมืองอาจสะท้อนชัดผ่านคำสัมภาษณ์ที่ว่า “ทุกคนรักอเมริกันชน พวกเราป็อปปูล่ามาก ใครๆ ก็ชอบหนังของเรา พวกเขารักเรา เราคอยช่วยเหลือทุกคน... ทันใดนั้น จอช บุช ขึ้นครองอำนาจ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เราเริ่มรู้สึกได้ถึงความเกลียดชัง... เหมือนทุกคนอยากจะฆ่าพวกเรา และหนังเรื่อง Hostel ได้นำความกลัวนั้นมานำเสนอ”

วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 25, 2552

Drag Me to Hell: ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ


ถึงแม้ตัวผู้กำกับ แซม ไรมี ซึ่งร่วมเขียนบท Drag Me to Hell กับพี่ชาย อีวาน ไรมี จะยอมรับว่าทุกอย่างเป็นเพียงเหตุบังเอิญที่เนื้อหาในหนังดันไปสอดคล้องกับภาวะวิกฤติทางการเงินในอเมริกาอย่างเหมาะเจาะ เพราะเขาเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับวิบากกรรมของพนักงานปล่อยเงินกู้เอาไว้ตั้งหลายปีมาแล้ว ก่อนจะเพิ่งนำมันมาดัดแปลงเป็นบทหนังโดยไม่ได้ใส่ใจกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่มากนัก (แน่ล่ะ ในฐานะผู้กำกับหนังไตรภาคชุด Spider-Man ที่ทำเงินทั่วโลกมากกว่าพันล้าน เขาคงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะตกงาน หรือไม่มีปัญญาจ่ายค่าผ่อนบ้าน) ทว่าหลายคนคงอดนึกไม่ได้ว่า Drag Me to Hell ช่างเข้าฉายได้ถูกจังหวะเสียนี่กระไร หลังวิกฤติซับไพรม์เริ่มพ่นพิษไปทั่วโลก

น่าสนใจตรงที่ Drag Me to Hell ดูเหมือนจะนำเสนอมาตรวัดทางศีลธรรมแบบง่ายๆ และตรงไปตรงมาว่า ธนาคาร = ซาตานใจเหี้ยม ลูกหนี้ = เหยื่อผู้น่าสงสาร หรือพูดอีกอย่าง คือ ทุนนิยมทำให้มนุษย์ผุกร่อน โลภโมโทสัน และสุดท้ายย่อมลงเอยด้วยการตกนรกหมกไหม้ ดังจะเห็นได้จากบทสรุปของหนัง ตลอดจนความเห็นของไรมีต่อตัวละครหลักอย่าง คริสติน บราวน์ (อลิสัน โลห์แมน)(1) อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาเมื่อดูหนังจบ คือ สมควรแล้วหรือที่บาปทั้งหมดจะตกอยู่บนบ่าของคริสติน และสมควรแล้วหรือที่เธอต้องทนทุกข์กับการทรมานทั้งหลายเหล่านั้น

หากลองสมมุติสถานการณ์งัดข้อระหว่างคริสตินกับคุณนายกานุช (ลอร์นา ลาเวอร์) ว่าเป็นเหมือนกรณีตัวอย่างหนึ่งในร้อยในพันกรณี ซึ่งต่อมาค่อยๆ ทับถมจนสร้างปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาคให้แก่ประเทศอเมริกา เราจะพบว่าคริสตินไม่สมควรต้องรับการลงทัณฑ์ (จนสุดท้ายถูกกระชากลงนรก) จากการตอบปฏิเสธคำขอร้องของหญิงชรา เพราะพนักงานปล่อยกู้ที่รับผิดชอบต่อหน้าที่คนใดก็ย่อมกระทำแบบเดียวกัน จริงอยู่พฤติกรรมดังกล่าวอาจดูแล้งน้ำใจ ในเมื่อเจ้านายของเธอ (เดวิด เพย์เมอร์) ก็บอกแล้วว่าเธอสามารถตอบตกลงยอมผ่อนปรน (เป็นครั้งที่สาม) ได้ เธอมีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ แต่กระนั้นเขาก็ไม่วายสื่อนัยอย่างเด่นชัดว่า หากต้องการเลื่อนตำแหน่ง เธอควรมีบุคลิกเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเฉกเช่นนักธุรกิจ ซึ่งย่อมต้องเห็นแก่ประโยชน์และผลกำไรของธนาคารเป็นหลัก... มันคือสัจธรรมแห่งโลกทุนนิยม แล้วที่สำคัญ แซม ไรมี ผู้กำกับที่เติบโตมาจากการสร้างสยองทุนต่ำ ก่อนจะไต่เต้าจนมากุมบังเหียนหนังสตูดิโอฟอร์มยักษ์ เชื่อจริงๆ หรือว่าความทะเยอทะยานในอาชีพการงานถือเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่คำสาปแช่ง ก่นด่า

การที่หญิงชรากำลังจะโดนยึดบ้านไม่ใช่ความผิดของคริสติน และการผ่อนผันเป็นหนที่สามก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ในเมื่อเห็นได้ชัดว่าหญิงชราสุขภาพไม่ดี และขาดรายได้ที่แน่นอน หรือวินัยทางการเงิน มิเช่นนั้นแล้วเธอจะมาขอผ่อนผันเป็นรอบที่สามไปทำไม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติซับไพรม์ในอเมริกามีรากฐานมาจากความโลภของนักลงทุน ตลอดจนสถาบันการเงินต่างๆ (2) ที่ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ขอกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (เฉกเช่นคุณนายกานุช) เพราะพวกเขามั่นใจว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือหลักประกันที่ผู้กู้นำมาค้ำไว้จะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสามารถชดเชยความเสี่ยงได้ แต่หนึ่งในปัจจัยที่พวกเราส่วนมากมักจะมองข้าม คือ บรรดาลูกหนี้ทั้งหลาย กับพฤติกรรมนำเงินอนาคตมาใช้แบบเกินตัว (3) ของพวกเขา ทั้งนี้เพราะเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มแผลงฤทธิ์ (ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ) จนลูกหนี้ต้องเสียบ้าน ถูกธนาคารยึดทรัพย์สิน มันเลยดูเหมือนว่าพวกเขาตกเป็น “เหยื่อ” จากสถานการณ์ทั้งหมด

พูดง่ายๆ ก็คือ อเมริกันชนจำนวนไม่น้อย รวมเลยไปถึงคุณนายกานุช อาศัยอยู่ในบ้านที่พวกเขาไม่มีปัญญาจ่าย ฉะนั้นถ้าธนาคารมีความผิดในข้อหาโลภโมโทสันจากการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้เครดิตต่ำเพื่อหวังดอกเบี้ยส่วนต่าง หรือค้ากำไรจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจกล่าวได้ว่าลูกหนี้เหล่านั้นก็โลภโมโทสันไม่แพ้กันที่ฝันอยากมีบ้านทั้งๆ ที่รายได้ของพวกเขาไม่เอื้ออำนวย (กรณีของคุณนายกานุชยิ่งถือเป็นเรื่องน่าประหลาด เมื่อพิจารณาถึงความผูกพันต่อบ้านหลังนี้ ซึ่งเธออ้างว่าไม่อยากเสียไปเพราะอยู่มานานหลายสิบปี และรากเหง้า “ยิปซี” ของเธอ)

กลับมายังคำถามก่อนหน้า แน่นอน คริสติน บราวน์ อาจไม่ใช่นางฟ้านางสวรรค์ แต่เห็นได้ชัดว่าบทลงโทษของเธอหนักหนาสาหัสเกินหน้า “ความผิด” ไปหลายเท่า (หากคุณเห็นว่าการไม่ยอมช่วยซื้อพวงมาลัยจากเด็กข้างถนนตามสี่แยก ทั้งที่คุณอยู่ในฐานะที่ช่วยได้ เป็นความผิด) บางคนอาจมองความไม่ชอบด้วยเหตุผลทางศีลธรรมดังกล่าวเป็นเหมือนจุดอ่อนสำคัญ ซึ่งข้อกล่าวหานั้นคงมีน้ำหนัก หากเราอยู่ในชั้นเรียนวิชาอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ หรือหนังในอดีตของไรมีที่เน้นวิพากษ์ระบบศีลธรรมของมนุษย์อย่าง A Simple Plan ตรงกันข้าม มองในเชิงทักษะทางภาพยนตร์แล้ว การที่คริสติน “ไม่สมควร” ถูกทรมานต่างๆ นานากลับกลายเป็นจุดแข็งที่โน้มน้าวคนดูให้คอยเอาใจช่วยเธอ นอกจากนี้ ข้อบกพร่องแห่งความเป็น “มนุษย์” ของเธอ (โกหกด้วยการป้ายความผิดให้เจ้านาย/ธนาคาร หวังจะเอาตัวรอดด้วยการยกคำสาปให้ผู้อื่น บูชายัญแมวน้อยน่ารัก) ยิ่งทำให้คนดูสามารถอินกับเธอได้มากขึ้นอีก (ใครบ้างจะไม่ทำ หรืออย่างน้อยก็คิดจะทำแบบเธอ หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน)

แม้ในคำสัมภาษณ์ ไรมีจะแสดงท่าทีชิงชังตัวละครอย่างคริสติน แต่ขณะเดียวกันบทหนังของเขากลับพยายามผลักดันให้เธอดูน่าเห็นอกเห็นใจผ่านหลากหลายสถานการณ์เชิงเมโลดราม่า ไม่ว่าจะเป็นการโดนพ่อแม่ของแฟนหนุ่มผู้ร่ำรวย (จัสติน ลอง) รังเกียจเดียดฉันท์เนื่องจากประวัติภูมิหลัง หรือการที่เธอกำลังจะโดนข้ามหัวในที่ทำงานเพียงเพราะคู่แข่งขัน (เรจจี้ ลี) เลียเจ้านายได้คล่องแคล่วกว่า และเมื่อมีโอกาสจะส่งต่อคำสาปไปยังคนอื่น (ที่สมควรยิ่ง) อย่างสตู เธอกลับไม่สามารถทำได้ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่าลึกๆ แล้วคริสตินไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำเสียทีเดียว

อันที่จริง คริสตินก็ไม่ต่างจากตัวละครส่วนใหญ่ในหนังสยองขวัญทั้งหลาย ซึ่งมักจะถูกกระทำรุนแรงในแบบที่พวกเขาไม่สมควรโดน (อาจยกเว้นเพียง ปารีส ฮิลตัน ใน House of Wax) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าตัวละครเพศหญิง โดยใครก็ตามที่เคยชม The Evil Dead ผลงานสร้างชื่อเรื่องแรกของไรมี คงไม่มีวันลืมฉากชวนสยองเมื่อหญิงสาวนางหนึ่งถูกต้นไม้ “ข่มขืน” จนสะบักสะบอม ใน Drag Me to Hell ไรมียังคงสนุกกับการ “ล่วงละเมิด” ตัวละครหญิง คราวนี้ผ่านทางช่องปาก ด้วยการให้สารพันสรรพสิ่งพากันหลุด/พยายามแทรกตัวเข้าไปในปากของคริสติน ตั้งแต่แมลงวัน น้ำยาอาบศพ ผ้าเช็ดหน้า ไปจนถึงแขนทั้งท่อน! อย่างไรก็ตาม การล่วงละเมิดใน Drag Me to Hell ยังสื่อนัยยะบางอย่างเพิ่มเติมด้วย เมื่อเราพิจารณาสถานะของผู้ข่มขืน (ตัวแทนของคนชั้นล่างผู้ยากไร้) กับผู้ถูกข่มขืน (ตัวแทนของทุนนิยม/ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่) ตลอดจนการพลิกกลับตาลปัตรทางสถานะของพวกเขา (ฝ่ายหลังเริ่มต้นด้วยการ “ย่ำยี” ฝ่ายแรกก่อน จนต่อมาจึงถูกแก้แค้น) แง่มุมที่ว่าส่งผลให้หนังใกล้เคียงกับภาพยนตร์แนว Rape/Revenge เช่น Deliverance และ I Spit on Your Grave ซึ่งล้วนนำเสนอแนวคิดความขัดแย้ง/แบ่งแยกระหว่างเมือง-ชนบทเอาไว้อย่างเด่นชัดเช่นกัน

หนังปูพื้นให้เห็นว่าคริสตินเคยเป็นสาวบ้านนอกร่างอวบอ้วน แต่ปัจจุบันเธอต้องการจะ “กลมกลืน” กับแวดวงชนชั้นกลาง (แล้วปีนบันไดทางสังคมด้วยการคบหากับแฟนหนุ่มฐานะดี?) โดยในฉากหนึ่งคนดูจะเห็นเธอฟังเทปการฝึกออกเสียงเพื่อกำจัดสำเนียงชาวใต้ เธอไต่เต้าอยากเลื่อนตำแหน่ง เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยสร้างความประทับใจให้กับพ่อแม่ของแฟนหนุ่ม แต่ความพยายามจะฟันฝ่าเพื่อความก้าวหน้าทำให้เธอลืมนึกเมตตาหญิงชรา ผู้อาจสะกิดใจให้เธอนึกถึงอดีตอันยากลำบากที่เธออยากจะลืม ด้วยเหตุนี้ บางทีความผิดของคริสตินอาจไม่ใช่การปฏิเสธคำขอของคุณนายกานุช หากแต่เป็นการหลงลืมรากเหง้าของตัวเอง แล้วขายวิญญาณให้กับสังคมเมืองและระบบทุนนิยมต่างหาก

ตลอดทั้งเรื่อง แซม ไรมี พยายามช็อกคนดูด้วยสารพัดเสียงประกอบ ดนตรีเร้าอารมณ์ เมคอัพชวนแขยง ฯลฯ แต่ดูเหมือนเขาจะมาประสบความสำเร็จสูงสุดสมดังประสงค์เอาในฉากสุดท้าย เมื่อคริสตินสารภาพความจริงกับแฟนหนุ่มที่สถานีรถไฟ เธอยอมรับเป็นครั้งแรกโดยไม่อ้างกฎของธนาคาร หรือคำสั่งของเจ้านายว่าเธอสามารถจะผ่อนผันให้หญิงชราได้ แต่ก็ไม่ทำ มันเป็นความหาญกล้าที่ควรค่าแก่การตบรางวัลก้อนใหญ่ (เช่น ได้ลงเอยอย่างมีความสุขกับหนุ่มรูปหล่อ ฐานะดี แถมยังมีน้ำใจงาม) แต่ผลลัพธ์ซึ่งไรมีเตรียมไว้ให้เธอกลับอยู่สุดขั้วอีกด้านหนึ่ง ดุจเดียวกับชะตากรรมของ มาเรียน เครน ใน Psycho หลังเธอสำนึกผิดและตัดสินใจจะนำเงินที่ขโมยมาไปคืน หรือ แอชลีย์ วิลเลียมส์ ใน The Evil Dead หลังเขาคิดว่าสามารถทำลายอาถรรพ์แห่งหนังสือมนตร์ดำได้แล้ว

บทสรุปดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่าสำนึกแห่งบาปนั้นอาจไม่ได้ตามมาด้วยการให้อภัยและการเริ่มต้นใหม่เสมอไป ส่วนความดีก็อาจไม่ถูกตอบแทน และบางครั้งความชั่วร้ายฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่ยอมตาย...

หมายเหตุ

1) “เธอเป็นตัวละครที่เลวทรามต่ำช้า แต่เธอคิดว่าตัวเองเป็นคนดี ผมหวังว่าคนดูก็จะเชื่อตามภาพลวงนั้นด้วยเพราะเธอมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คนดูสามารถเข้าถึงได้ เธอขยันไปทำงานทุกวัน เธออ่อนหวานกับคนรอบข้าง เธอมารยาทดี และมีเสน่ห์ดึงดูดใจ แต่เมื่อถูกต้อนให้จนตรอก เธอเลือกจะใจร้ายกับหญิงชราเพื่อประโยชน์ของตัวเอง บาปของเธอคือความโลภ และเธอก็หลบซ่อนอยู่หลังข้ออ้างว่าเป็นกฎของธนาคาร ผมจงใจทำให้หญิงชราหน้าตาน่าเกลียด เพราะผมอยากให้คนดูพูดว่า ‘ใช่แล้ว อย่าผ่อนผันแล้วรีบไล่หล่อนออกไป’ ผมหวังว่าเมื่อคนดูตัดสินใจร่วมกับเธอ พวกเขาจะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นต่อมาสมควรจะเกิดขึ้นกับพวกเขาด้วย เพราะเราต่างพากันเห็นชอบการตัดสินใจของเธอ” (แปลและเรียบเรียงจาก Sam Raimi Interview for Drag Me to Hell โดย มาลิ เอล์ฟแมน วันที่ 27 พฤษภาคม 2009 ในเว็บไซท์ http://screencrave.com)

2) ปกติสถาบันการเงินทั่วไปจะไม่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้กลุ่มซับไพรม์ ซึ่งมีเครดิตทางการเงินต่ำกว่ามาตรฐาน (ขาดรายได้แน่นอน ผิดชำระหนี้บ่อย ฯลฯ) จึงมีการตั้งบริษัทอิสระมาปล่อยกู้แทน ส่วนเงินที่นำมาปล่อยกู้ก็ใช้วิธีออกตราสารหนี้ แล้วใช้อสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้นั่นแหละค้ำประกันตราสารหนี้อีกที หากมีปัญหาลูกหนี้ผิดชำระหนี้ บริษัทเหล่านั้นก็ขายอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้เพื่อนำเงินไปจ่ายคืนให้คนที่ซื้อตราสารหนี้ ปัญหาช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือ มีลูกหนี้ซับไพรม์เกิดขึ้นมาก เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการขายตราสารหนี้ออกไปทั่วโลก พอมาปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มไม่ค่อยดี ซับไพรม์เริ่มไม่จ่ายหนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ตกเอาตกเอา บริษัทที่ปล่อยกู้เลยเจอ 2 เด้ง เด้งแรก ถูกเบี้ยวหนี้ เด้งที่สอง อสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ราคาต่ำลง เงินเลยชักขาดมือ ไม่สามารถจ่ายเงินให้กับผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ผลก็คือ พวกที่ซื้อตราสารหนี้ซับไพรม์เหล่านี้ เช่น กองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ขาดทุนยับเยินจากตราสารหนี้ที่ถือไว้ (คัดลอกจากบทความ “ปัญหาซับไพรม์” คอลัมน์ เดินหน้าชน โดย เสาวรส รณเกียรติ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2550)

3) เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันการเงินก็แข่งกันทำตลาดด้วยการเชิญชวนผู้กู้ให้มาใช้บริการกับตนเองโดยเสนอวงเงินกู้ที่สูงขึ้นตามราคาประเมินของบ้านที่เพิ่มขึ้น เช่น เดิมกู้ในวงเงิน 2 ล้านบาทเพื่อซื้อบ้านราคา 2.5 ล้านบาท อาจจะผ่อนไปบางส่วนจนเงินต้นเหลือ 1.8 ล้านบาท วันดีคืนดีผู้ให้กู้ใจดีเหล่านี้ก็มาเสนอวงเงินกู้ให้ 3 ล้านบาทตามราคาประเมินใหม่ ผู้กู้ก็ไม่รังเกียจเพราะได้เงินเพิ่มมาอีกตั้ง 1.2 ล้านบาท จึงไปกู้รายใหม่มาโปะรายเดิม แถมมีเงินเหลืออีก อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันทั้งหลายซึ่งเคยชินกับการใช้เงินอนาคตกลับนำเงินสินเชื่ออีก 1.2 ล้านบาทที่ได้เพิ่มมาไปใช้จ่าย ซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ทีวีจอแบนเครื่องใหม่ เครื่องเสียงสุดหรู รถยนต์คันใหม่ เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (คัดลอกจากบทความ “ซับไพรม์พ่นพิษ หยุดเศรษฐกิจโลก” โดย ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์ วันที่ 25 ธันวาคม 2008 ในเว็บไซท์ http://www.vcharkarn.com)

วันจันทร์, มิถุนายน 22, 2552

ทำความเข้าใจ The Reader (2)


ถ้า The Reader ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังหารหมู่ชาวยิว งั้นเนื้อหาจริงๆ ของมันต้องการพูดถึงอะไร

สิ่งที่เหมือนจะปรากฏเพียงนัยยะจางๆ ในหนังสือของ เบิร์นฮาร์ด ชลิงค์ ถูกแสดงออกเป็นรูปธรรมชัดเจนในเวอร์ชั่นหนังของ สตีเฟน ดัลดรี้ นั่นคือ ความพยายามจะเล่าเรื่องราวของคนสองคน ต่างยุคต่างสมัย ต่างเพศต่างวัย ต่างระดับการศึกษา การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม แต่สุดท้ายต้องมาลงเอยด้วยชะตากรรมสุดแสนระทมทุกข์แบบเดียวกัน (ในฉากหนึ่งหนังได้ตัดสลับภาพของสองตัวละครเอกขณะกำลังแต่งตัวเพื่อเตรียมไปรับฟังคำพิพากษาที่ศาล) ชะตากรรมซึ่งถูกกำหนดโดยความอ่อนแอ ขลาดเขลา และเย่อหยิ่งแห่งมนุษย์

ฉากสำคัญฉากหนึ่งในหนังสือเป็นบทสนทนาระหว่างไมเคิลกับพ่อ หลังจากคนแรกล่วงรู้ความลับของฮันนาและไม่แน่ใจว่าเขาควรจะทำเช่นไร คนหลัง (เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ในเวอร์ชั่นหนัง) แนะนำให้ไมเคิลไปพูดคุยกับ “เพื่อนคนนั้น” โดยตรง แทนที่จะนำข้อมูลไปบอกผู้พิพากษาลับหลัง เมื่อเห็นได้ชัดว่าคนๆ นั้นต้องการปกปิดข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับสุดยอด ทั้งนี้เนื่องจากเขา (พ่อของไมเคิล) เชื่อในเรื่องเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในฐานะปัจเจกชน เขาไม่เห็นด้วยที่ใครจะไปเจ้ากี้เจ้าการบอกว่าอะไรดีสำหรับคนๆ หนึ่ง โดยไม่ปล่อยให้คนๆ นั้นเลือกเองว่าอะไรเป็นสิ่งดีสำหรับตัวเขา

ในเมื่อมนุษย์มีสิทธิ์เสรีภาพที่จะตัดสินใจ เขาก็จำเป็นต้องทนรับผลลัพธ์ที่ตามมา และบ่อยครั้งเราจะพบว่ามนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจถูกเสมอไป

ความไม่รู้หนังสือของฮันนาทำให้เธอถลำลึกสู่ความผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากสลัดทิ้งโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน ตามมาด้วยการเข้าร่วมกับกองทัพนาซี จนต่อมาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่สามารถสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครได้ เพราะทั้งอับอายเรื่องที่ตัวเองไม่รู้หนังสือและเป็นอดีตนาซี ก่อนสุดท้ายจะลงเอยด้วยการ “จำยอม” ติดคุกไปตลอดชีวิต โดยบางทีชะตากรรมหลังสุดอาจเป็นความจงใจของเธอที่จะลงโทษตัวเอง ดังจะเห็นได้ว่าฮันนานั้นยังจำปม “ไฟไหม้โบสถ์” ได้ไม่ลืม ผ่านนัยยะของฉากหนึ่งที่ปรากฏในหนัง แต่ไม่ใช่ในหนังสือ ขณะเธอถีบจักรยานไปเที่ยวชนบทกับไมเคิล

กระนั้นก็ตามหนัง (และหนังสือ) ไม่ได้วาดภาพให้เธอ “สำนึกบาป” หรือพยายามจะหาทางไถ่โทษให้เธออย่างชัดเจนนัก ซึ่งนั่นถือเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่งของ The Reader คนดูอาจนึกสงสารเธอ (ซึ่งจุดนี้เองนำไปสู่เสียงก่นด่าจากทั่วสารทิศ ส่วนใหญ่คงเนื่องมาจากคนเหล่านั้นไม่ต้องการให้นาซีได้รับความเห็นอกเห็นใจใดๆ) แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจลืมได้เช่นกันว่าเธอก่ออาชญากรรมอันเลวร้ายไว้ ฮันนาในช่วงท้ายเรื่องไม่ได้กลายสภาพเป็นแม่พระ หรือถ้าจะให้ใกล้เคียงก็องคุลิมาน เมื่อไมเคิลถามเธอว่าคิดถึงอดีต (ที่ก่อกรรมไว้กับชาวยิว) บ้างไหม คำตอบของฮันนา คือ “คนตายก็ยังคงตายอยู่” ซึ่งนั่นเป็นสัจธรรม แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้ช่วยให้คนดูรัก หรือเห็นใจเธอมากขึ้น เช่นเดียวกับปฏิกิริยาอันเย็นชาของเหยื่อที่รอดชีวิตอย่าง ลานา มาเธอร์ (รับบทโดย ลีน่า โอลิน) ในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งเหมือนจะเป็นการตอกย้ำคนดูไม่ให้ลืมว่าฮันนาเคยกระทำอะไรไว้ และลำพังแค่ความตายของเธอ หรือเงินสะสมในกระป๋องชาย่อมไม่อาจลบล้างทุกสิ่งได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะพยายามหาคนผิดมาลงโทษมากแค่ไหน คนตายก็ยังคงตายอยู่... หรือมิใช่

วิกฤติของไมเคิลเริ่มต้นเมื่อเขาทราบว่าฮันนาก่ออาชญากรรมร้ายแรงเอาไว้ ความอับอายทำให้เขาไม่กล้าเผชิญหน้าเธอ (ปมดังกล่าวสร้างอารมณ์ร่วมให้ชาวเยอรมันรุ่นหลังจำนวนไม่น้อย เมื่อพวกเขาต้องรับมือกับข้อเท็จจริงว่าพ่อแม่ของตนมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ชาวยิว) แล้วช่วยเหลือเธอจาก “ความมืดบอด” การตัดสินใจไม่กระทำใดๆ ของไมเคิลส่งผลให้ฮันนาต้องจำคุกตลอดชีวิต และความรู้สึกผิดบาปดังกล่าวก็กัดกร่อนเขามาตลอด ทำลายความสัมพันธ์ของเขากับทุกคนรอบข้าง

เธอทำร้ายเขาด้วยการปิดกั้น เขาทำร้ายเธอด้วยการนิ่งเงียบ เธอเข้าร่วมพรรคนาซีเพราะตอนนั้นมันเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เขาไม่กล้าแสดงความเห็นใจต่อนาซีเพราะตอนนั้นนาซีเปรียบเหมือนปีศาจร้าย หรือกลุ่มแม่มดที่ถูกตามล่าเพื่อนำมาเผาประจานทั้งเป็น พวกเขาเสียสละความเป็นปัจเจก (ความรักระหว่างคนสองคน) เพียงเพื่อจะสามารถลื่นไหลไปตามสังคมโดยไม่ขัดแย้ง มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่อ่อนแอ เพราะแม้จะตระหนักว่าอะไรเป็นความถูกต้อง บางครั้งพวกเขาก็ไม่หาญกล้าพอจะลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้ หรือเปลี่ยนแปลง

กระนั้นคนเขียนบท เดวิด แฮร์ ก็ยังหลงเหลือความหวังต่อมนุษย์อยู่ ด้วยเหตุนี้ในฉากจบที่เขียนขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ คนดูจึงได้เห็นไมเคิลเรียนรู้จากฮันนา ผู้ลุกขึ้นมาเอาชนะความไม่รู้หนังสือของตน แล้วเปิดเผยความลับบางอย่างที่เขาปกปิดไว้ตลอดเวลาหลายปีให้ลูกสาวฟัง สำหรับฮันนา การเรียนรู้อาจมาถึงช้าเกินไป (เมื่อเธอตระหนักว่าไมเคิลไม่สามารถให้อภัยเธอ แล้วมองเห็นเธอเป็นแค่ ฮันนา ชมิดท์ เหมือนในอดีตได้ ความตายจึงกลายเป็นทางเลือกเดียว) แต่สำหรับไมเคิล บางทีการเรียนรู้อาจทำให้เขาค้นพบความสงบสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต

วันอังคาร, พฤษภาคม 19, 2552

Short Replay: Cinema Paradiso


ผลงานสร้างชื่อให้กับ จูเซ็ปเป้ ทอร์นาทอเร เรื่องนี้โอบกอดอารมณ์ ความรู้สึก และความอ่อนหวานนุ่มละมุนอย่างหมดหัวใจ จนคนที่มองโลกและชีวิตแบบเย้ยหยันอาจ “เลี่ยน” หรือ “คลื่นเหียน” ได้ง่ายๆ แต่หากคุณยังมีศรัทธาต่อมนุษย์ ความรัก มิตรภาพ รวมเลยไปถึงมนตร์เสน่ห์แห่งภาพยนตร์หลงเหลืออยู่ คุณจะสามารถหลงรัก Cinema Paradiso ได้ไม่ยาก พล็อตหลักของหนังเล่าถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างเด็กชายโตโต้ (ซัลวาทอเร คาสซิโอ) กับพนักงานคุมเครื่องฉายในโรงหนัง (ฟิลลิป นัวเร็ต) ณ เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศอิตาลีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โตโต้หลงใหลภาพยนตร์ และเมื่อเขาไม่อาจค้นหาความรัก ความอบอุ่นจากครอบครัวได้ โรงหนัง ซิเนม่า พาราดิสโซ จึงกลายเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของเขา ส่วนอัลเฟรโด้ ชายชราที่ยอมให้เขาเข้ามาป้วนเปี้ยนในห้องฉายหนังได้ตามปรารถนา ก็เปรียบดังพ่อแท้ๆ ที่เข้าใจเขา หนึ่งในกิจกรรมโปรดของโตโต้ คือ พยายามแอบขโมยเศษฟิล์มของฉากเข้าพระเข้านางที่ถูกตัดออก (ทุกครั้งก่อนหนังเข้าฉาย บาทหลวงของโบสถ์จะมานั่งเซ็นเซอร์ฉาก “ล่อแหลม” ทั้งหลาย)

หนังเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ปัจจุบัน เมื่อโตโต้เติบใหญ่เป็นผู้กำกับชื่อดังและได้รับแจ้งข่าวการเสียชีวิตของอัลเฟรโด้ ก่อนจะปิดฉากลงอย่างงดงาม ในฉากจบที่ยอดเยี่ยมที่สุดฉากหนึ่งของโลกภาพยนตร์ เมื่อโตโต้นั่งชื่นชมของขวัญที่เพื่อนวัยชราทิ้งไว้ให้ด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบและตื้นตัน... เช่นเดียวกับผู้ชม

วันพฤหัสบดี, มีนาคม 19, 2552

Short Replay: หอแต๋วแตก


เป็นเรื่องน่าตลกที่คุณจะสามารถเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปใน หอแต๋วแตก จากการอ่านข่าวแจกของค่ายหนังตรงหัวข้อ “เรื่องย่อ” ได้มากกว่าการนั่งดูหนังตลอดทั้งเรื่องเสียอีก อาจเรียกว่าเป็นอคติส่วนตัวก็ได้ แต่ผมชื่นชอบหนังของ พจน์ อานนท์ ที่ “ไร้สาระ” โดยไม่ต้องพยายามมากกว่าผลงานจงใจยัดเยียดสาระของเขา เพราะเราทุกคนต่างก็รู้กันดีว่าเขาค่อนข้างหนักมือและไร้จินตนาการแค่ไหนในการนำเสนอสาระสู่คนดู ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงสามารถนั่งชม หอแต๋วแตก ได้โดยไม่ต้องตีหน้าเหยเก เหมือนเวลา พจน์ อานนท์ พยายาม “ทำซึ้ง” หรือ “สั่งสอน” คนดูอย่างเถรตรง (ดูตัวอย่างได้จากบางฉากใน ว๊ายบึ้ม! เชียร์กระหึ่มโลก) ตรงกันข้าม หลายครั้งผมรู้สึกสนุกไปกับมุกปัญญาอ่อน หรือคุณสมบัติ “ห่วยจนตลก” ของหนัง ไม่ว่าจะเป็นในแง่คุณภาพของงานสร้าง (ฉากปาทุเรียนปลอมเห็นแล้วนึกว่ากำลังดูหนังของ เอ็ด วู้ด อยู่!) หรือการเล่าเรื่องที่ไม่ปะติดปะต่อ ไร้ชั้นเชิง และปราศจากความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น

เหตุการณ์ใน หอแต๋วแตก ให้ความรู้สึกเหมือนเกิดขึ้นในโลกคู่ขนานกับความเป็นจริง เพราะอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การที่โคย (วีรดิษฐ์ ศรีมาลัย) มีพ่อ/แม่เป็นกะเทยแต่งหญิง แต่กลับไม่เห็นมันเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร เช่นเดียวกับบรรดาผู้เช่าหอพัก ซึ่งดูแลโดยสามกะเทยสาวใหญ่ที่ชอบแต่งตัวเหมือนตัวละครที่หลุดมาจากหนังเรื่อง The Adventures of Priscilla, Queen of the Desert (ในชีวิตจริง ผมว่าพวกเธอน่าจะทำให้ผู้เช่าวิ่งหนีได้มากกว่าผีสาวปะแป้งหน้าขาวเสียอีก!) หรือกระทั่งข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเธอเคยเป็นเจ้าของค่ายมวยมาก่อน (อันนี้ผมอ่านเจอจากเรื่องย่อ เพราะตอนดูหนังผมไม่ยักกะรู้เลยว่าพวกเธอเคยเป็น “อดีตเจ้าของค่ายมวยแต่โดนโกง เลยมาร่วมลงทุนสร้างหอพักชาย”) นอกจากนี้ หนังยังเล่นสนุกกับการขายเรือนร่างเพศชายแบบที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนักในหนังผีหรือหนังตลก โดยกระทั่งฉากข่มขืน กล้องก็ยังเน้นแทนสายตาหญิงสาวผู้ถูกกระทำ (ซึ่งสวมเสื้อผ้ามิดชิด) มากกว่ากลุ่มนักข่มขืนหนุ่มแน่น หน้าตาดี (แถมเปลือยท่อนบนกันถ้วนทั่ว) สำหรับผลงานกระแสหลัก จะเรียกว่านั่นเป็นการแหกกฎที่กล้าหาญก็คงไม่ผิดนัก รวมเลยไปถึงการเอาปลัดขิกมาล้อเล่นเป็นเหมือนดิลโด้ด้วย (ไสยศาสตร์แบบไทยๆ กับป็อปคัลเจอร์ของฝรั่ง เช่น การล้อเลียน Brokeback Mountain ดูจะกลมกลืนไปกันได้ในหนังอย่างหอแต๋วแตก) และหากพิจารณาจากเพศสภาพของเหล่าตัวละครเอก มันก็ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเสียด้วย

วันอังคาร, มีนาคม 10, 2552

Short Replay: Manhattan


ผมเป็นแฟนหนังของ วู้ดดี้ อัลเลน และ Manhattan ก็ยังคงดำรงตำแหน่งสูงสุดในหัวใจเสมอมา (และคงตลอดไป) แม้ผมจะหลงรักหนังเรื่องอื่นๆ ของเขาอีกหลายเรื่องไม่แพ้กัน และแม้ผมจะไม่แน่ใจว่ามันเป็นหนังที่ “ดีที่สุด” ของอัลเลนหรือไม่ สาเหตุที่มัน “โดนใจ” ผมค่อนข้างมีความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อย รวมไปถึงช่วงเวลา ณ ขณะที่ได้ชมหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก มันอุดมไปด้วยความงดงามของทัศนียภาพรอบเมืองแมนฮัตตัน (งานถ่ายภาพขาวดำที่น่าประทับใจที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมเคยได้ดูมา) และเพลงประกอบสุดแสนไพเราะของ จอร์จ เกิร์ชวิน จนทำให้คนดูรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกแห่งความฝันโรแมนติก แต่อัลเลนได้คานน้ำหนักไว้ด้วยการสะท้อนสภาวะ “สมจริง” ของเหล่าตัวละคร รวมถึงวิกฤติทางจิตใจของพวกเขา จนคนดูสามารถ “อิน” ไปกับเรื่องราวได้โดยตลอด

ทีเด็ดของ Manhattan ซึ่งได้ใจผมไปเต็มๆ คือ ฉากสุดท้ายของหนัง เมื่อไอแซ็ค (อัลเลน) เดินทางมาพบ เทรซี่ (เมเรียล เฮมมิ่งเวย์ ในการแสดงที่สุดแสนมหัศจรรย์) คู่รักวัย 17 ปีของเขาที่สนามบินขณะเธอกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลาหกเดือน (ก่อนหน้านี้ เขาพยายามจะสลัดเธอทิ้ง พร้อมทั้งหาเหตุผลสารพัดมาสนับสนุนให้เธอเดินทางไปต่างประเทศ เพราะเขาดันไปตกหลุมรักกับหญิงสาวอีกคนซึ่งมีวัยไล่เลี่ยกัน รับบทโดย ไดแอน คีตัน แต่สุดท้ายมันก็ไปไม่รอด) เขาไม่อยากให้เธอจากไป พยายามอ้อนวอน ฉุดรั้งเธอไว้ เพราะกลัวว่าเวลาหกเดือนแห่งประสบการณ์แปลกใหม่จะทำให้เธอกลายเป็นอีกคนหนึ่ง (“ผมไม่อยากให้สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับคุณต้องแปรเปลี่ยนไป”) เธอจะได้เจอดารา ผู้กำกับมากหน้าหลายตา ได้ไปทานอาหารกลางวันกับคนเหล่านั้น และสุดท้ายความสัมพันธ์ของเขากับเธอคงต้องจบลง... คำตอบของเด็กสาววัยทีน (ซึ่งกลายเป็นคำพูดสรุปสุดท้ายของหนัง) คือ “หกเดือนก็ไม่ได้เนิ่นนานอะไร ใช่ว่าทุกคนจะต้องเหลวแหลกเสียเมื่อไหร่ หัดมีศรัทธาในมนุษย์บ้างสิ”... ใช่เลย บางทีนั่นแหละคือสิ่งที่เราควรจะทำ

วันเสาร์, มีนาคม 07, 2552

ออสการ์ 2009: ชัยชนะของเด็กสลัม


งานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 ผ่านพ้นไปโดยปราศจากเซอร์ไพรซ์ในแง่ของผลรางวัล หนังอิสระทุนต่ำที่เกือบจะถูกส่งตรงลงตลาดหนังแผ่นอย่าง Slumdog Millionaire กวาดรางวัลไปครองมากสุดตามคาด รวมทั้งสิ้น 8 รางวัล ทำสถิติเทียบเท่า Amadeus (1984) Gandhi (1982) Cabaret (1972) My Fair Lady (1964) On the Waterfront (1954) From Here to Eternity (1953) และ Gone with the Wind (1939) นอกจากนี้ Slumdog Millionaire ยังกลายเป็นหนังเรื่องที่สี่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาการแสดงเลย ตามหลัง Gigi (1958) The Last Emperor (1987) และ The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)

ที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้หนังของ แดนนี่ บอยล์ เพิ่งกวาดรางวัลของสมาพันธ์ต่างๆ มาครองแบบครบถ้วน ชนิดไม่เคยมีหนังเรื่องใดทำได้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง นักแสดง ผู้กำกับภาพ คนตัดต่อ คนเขียนบท นักออกแบบงานสร้าง และกระทั่งสมาพันธ์นักออกแบบเครื่องแต่งกาย (สองรางวัลหลังในสาขาภาพยนตร์ร่วมสมัย) นอกเหนือไปจากนั้น มันยังชนะรางวัลสูงสุดบนเวทีลูกโลกทองคำและ BAFTA ด้วย

Slumdog Millionaire ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของ ฟ็อกซ์ เซิร์ชไลท์ บนเวทีออสการ์หลังเคยเฉียดๆ มาสองปีติดกันจาก Little Miss Sunshine และ Juno ทุกคนในงานดูจะมีความสุขกับผลลัพธ์ที่ออกมาไม่น้อย สังเกตได้จากการลุกขึ้นยืนปรบมือให้ทีมงานรวมทั้งเหล่านักแสดงเด็กๆ เมื่อหนังคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง มีคนวิเคราะห์ว่าเหตุที่ Slumdog Millionaire ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามบนเวทีออสการ์ ไม่ใช่เพราะมันเป็นผลงานที่ “ดีที่สุด” แต่เพราะมันสอดคล้องกับอารมณ์ของคนอเมริกัน ณ เวลานี้มากที่สุด ตั้งแต่ไอเดียที่ว่าเงินไม่ได้นำมาซึ่งความสุข ความรักมีชัยเหนือทุกสิ่ง และการที่ผู้ชายตัวเล็กๆ ในสังคมสามารถเอาชนะทุกคนได้ด้วยการเล่นตามกฎ ที่สำคัญ มันเป็นหนังซึ่งให้ “ความหวัง” อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งหมดนี้เอง (บวกกับคุณภาพอันน่าพึงพอใจของหนัง) ส่งผลให้ Slumdog Millionaire เอาชนะเหนืออุปสรรคหลากหลายไม่ต่างจากตัวละครเอกอย่างจามาล (ความเป็นหนังอินดี้/พูดภาษาฮินดูครึ่งเรื่อง/กำกับโดยคนอังกฤษ/นำแสดงโดยคนอังกฤษและอินเดีย/เข้าชิงออสการ์มากเป็นอันดับสอง/ไม่ได้เข้าชิงสาขาการแสดงเลย)

เซอร์ไพรซ์เดียวของงาน คือ การคว้ารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมมาครองของ Departures (ญี่ปุ่น) โดยเบียดคู่แข่งตัวเก็งอย่าง Waltz with Bashir (อิสราเอล) และ The Class (ฝรั่งเศส) ไปแบบชวนกังขา อย่างไรก็ตาม เซียนออสการ์หลายคนคาดเดาไว้แล้วว่าอาจเกิดเหตุการณ์ล็อกถล่ม เนื่องจากสาขานี้เรียกร้องให้กรรมการทุกคนต้องดูหนังที่ได้เข้าชิงครบทั้งห้า ซึ่งส่วนใหญ่ที่ทำได้ (เพราะมีเวลาว่าง) มักเป็นสมาชิกอายุมาก ที่อาจ “เย็นชา” ต่อความแปลกใหม่ ท้าทายของ Waltz with Bashir และชื่นชอบอารมณ์อบอุ่น อ่อนหวานใน Departures

การเมืองบนเวทีออสการ์

หลังความพ่ายแพ้ของกลุ่มรักร่วมเพศในการคว่ำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย (Proposition 8) ซึ่งระบุให้การแต่งงานเป็นสิทธิอันชอบธรรมของ “ชายกับหญิง” เท่านั้น (หมายความว่าเกย์หรือเลสเบี้ยนจะไม่สามารถแต่งงานโดยถูกต้องตามกฎหมายในแคลิฟอร์เนีย) ชัยชนะของ Milk บนเวทีออสการ์ ดูเหมือนจะเป็นการแก้เผ็ดเล็กๆ น้อยๆ ของเหล่าประชาชนหัวเสรีนิยม (หรือตามคำพูดของ ฌอน เพนน์ “you commie homo-loving son of guns”) เนื่องจากไคล์แม็กซ์ช่วงท้ายเรื่องของ Milk โฟกัสไปยังการต่อสู้ของ ฮาร์วีย์ มิลค์ เพื่อคว่ำ Proposition 6 เมื่อปี 1978 ซึ่งจะกีดกันไม่ให้รักร่วมเพศทำงานเป็นครูในสถาบันการศึกษา

คนแรกที่ฉวยโอกาสตบหน้ากลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งรณรงค์ให้ทุกคนโหวตรับ Proposition 8 (เดินนำแถวมาแต่ไกลโดยโบสถ์คาทอลิก) ได้แก่ ดัสติน แลนซ์ แบล็ค เจ้าของรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก Milk

“ตอนผมอายุ 13 ปี พ่อกับแม่ตัดสินใจย้ายพวกเราออกจากชุมชนมอร์มอนที่เคร่งศาสนาในซานแอนโตนีโอ รัฐเท็กซัสมายังรัฐแคลิฟอร์เนีย จากนั้นผมก็ได้ยินเรื่องราวของ ฮาร์วีย์ มิลค์ ซึ่งทำให้ผมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งผมจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเปิดเผย บางทีอาจตกหลุมรักและแต่งงานกับใครสักคน ผมอยากจะขอบคุณแม่ ผู้รักผมแบบที่ผมเป็นเสมอมาท่ามกลางแรงกดดันจากรอบข้าง แต่เหนืออื่นใด หากฮาร์วีย์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงอยากให้ผมพูดกับเด็กชายเด็กหญิงรักร่วมเพศ ซึ่งเคยถูกโบสถ์ หรือรัฐบาล หรือครอบครัวของตนดูหมิ่นว่าด้อยค่า ผมอยากจะบอกเขาและเธอทั้งหลายเหล่านั้นว่าพวกคุณสวยงาม สมบูรณ์ และไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร พระเจ้ารักคุณทุกคน ผมขอสัญญาว่าอีกไม่นาน เราจะมีสิทธิเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ ขอบคุณพระเจ้า ที่มอบ ฮาร์วีย์ มิลค์ แก่พวกเรา”

เกือบสามชั่วโมงต่อมา ฌอน เพนน์ ได้ดับฝัน มิคกี้ รู้ก และออกมารับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Milk (เขากลายเป็นนักแสดงชายคนที่ 9 ที่ได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำสองครั้งตามหลัง เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อีส, แจ๊ค นิโคลสัน, ทอม แฮงค์, ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, มาร์ลอน แบรนโด, แกรี่ คูเปอร์, เฟรดิค มาร์ช และ สเปนเซอร์ เทรซี่) พร้อมกับตอกย้ำในสิ่งเดียวกัน แต่ด้วยท่าทีชัดเจน แข็งกร้าวกว่า

“ใครก็ตามที่ขับรถเข้ามาในงานคืนนี้คงเห็นสัญญาณแห่งความเกลียดชัง (หน้างานมีการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรักร่วมเพศ) ผมคิดว่านี่ถือเป็นเวลาอันเหมาะสมสำหรับกลุ่มคนที่โหวตต่อต้านการแต่งงานของรักร่วมเพศ ในการทบทวนพฤติกรรมของตนแล้วนึกละอายใจ รวมทั้งความละอายใจในแววตาของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน หากพวกเขายังคิดจะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวต่อไป เราจำเป็นต้องมอบสิทธิเท่าเทียมกันให้แก่ทุกคน”

อย่างไรก็ตาม มองเผินๆ ออสการ์อาจดูเหมือนจะ homo-loving จริง อย่างน้อยก็ในส่วนของสาขาการแสดง (เพนน์, ทอม แฮงค์ จาก Philadelphia, วิลเลียม เฮิร์ต จาก Kiss of the Spider Woman และ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน จาก Capote) แต่หากพูดถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้ว นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ความพ่ายแพ้แบบเหนือความคาดหมายของ Brokeback Mountain และเป็นไปตามความคาดหมายของ Milk ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ารักร่วมเพศคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์มาครอง... ถ้าไม่นับรวมหนังอย่าง Ben Hur และ The Lord of the Rings: The Return of the King น่ะนะ!?!


ความสุขของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์

ข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างสองผู้อำนวยการสร้างขาใหญ่ในวงการอย่าง สก็อตต์ รูดิน (No Country for Old Men) กับ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (Shakespeare in Love) เกี่ยวเนื่องกับกำหนดการฉาย The Reader (คนแรกอยากให้หนังฉายปี 2009 ส่วนคนหลังอยากเร่งดันหนังให้เข้าฉายปี 2008 เถียงกันไปมา สุดท้ายรูดิน ซึ่งมีหนังเก็งออสการ์สองเรื่องอยู่แล้วอย่าง Doubt กับ Revolutionary Road จึงประกาศถอนชื่อออกจากเครดิตหนัง The Reader) ส่งผลให้หลายคนคาดเดาว่าใครจะทำคะแนนนำบนเวทีออสการ์ เมื่อทั้งสองขับเคี่ยวกันมาแบบหายใจรดต้นคอในสองสาขาสำคัญ นั่นคือ นักแสดงนำหญิง (เมอรีล สตรีพ vs เคท วินสเล็ท) กับ นักแสดงสมทบหญิง (ไวโอลา เดวิส vs เพเนโลปี้ ครูซ)

ในยกแรกของการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง ไวน์สไตน์ชนะไปก่อนจากการที่ The Reader ทิ้งห่างหนังทั้งสองเรื่องของรูดินแบบไม่เห็นฝุ่น แล้วเข้าชิงออสการ์สาขาใหญ่ๆ อย่างถ้วนทั่ว (หนัง/กำกับ/บท/นำหญิง) ส่วนในยกสองหลายคนเริ่มคาดเดาว่าไวน์สไตน์อาจสมหวังในสาขานำหญิง แต่ต้องผิดหวังในสาขาสมทบหญิง หลัง ไวโอลา เดวิส หรือกระทั่ง เอมี่ อดัมส์ เริ่มจะทำคะแนนกวดตัวเก็งอย่างครูซมาแบบกระชั้นชิด (บริษัทของไวน์สไตน์รับจัดจำหน่าย Vicky Cristina Barcelona) แต่สุดท้าย ไวน์สไตล์ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขายังเป็นมือหนึ่งในการล็อบบี้หนัง/นักแสดงสู่ความยิ่งใหญ่บนเวทีออสการ์

เพเนโลปี้ ครูซ กลายเป็นนักแสดงหญิงคนที่ 4 ที่คว้ารางวัลออสการ์มาครองจากการรับบทในหนังของ วู้ดดี้ อัลเลน ตามหลัง ไดแอนน์ วีสต์ (สองครั้งจาก Hannah and Her Sisters และ Bullets Over Broadway) มีร่า ซอร์วีโน่ (Mighty Aphrodite) และ ไดแอน คีตัน (สาขานักแสดงนำหญิงจาก Annie Hall) ส่วนนักแสดงชายเพียงคนเดียวที่ชนะรางวัลออสการ์จากการเล่นหนังของอัลเลน คือ ไมเคิล เคน จาก Hannah and Her Sisters

“บอกได้เลยว่าฉันต้องการเวลามากกว่า 45 วินาที เคยมีใครเป็นลมบนนี้มาก่อนหรือเปล่า เพราะฉันอาจเป็นคนแรก” ครูซกล่าวเมื่อขึ้นรับรางวัล ก่อนจะยอมรับว่าเธอชอบดูงานประกาศผลรางวัลออสการ์มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ

เคท วินสเล็ท ก็เป็นแฟนรางวัลออสการ์มานานแล้วเช่นกัน “ฉันคงโกหก ถ้าบอกว่าไม่เคยฝึกพูดแบบนี้มาก่อนหน้ากระจกในห้องน้ำ ขณะนั้นฉันคงอายุประมาณแปดขวบได้ และใช้ขวดแชมพูแทนรางวัลออสการ์ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ขวดแชมพูแล้ว!” จากนั้นเธอก็กล่าวขอบคุณ สตีเฟ่น ดัลดรี้ สองผู้อำนวยการสร้างที่ลาโลกไปแล้ว แอนโทนีย์ มินเกลลา กับ ซิดนีย์ พอลแล็ค ตลอดจนพ่อแม่ของเธอ (เธอขอให้พ่อผิวปาก จะได้รู้ว่าเขานั่งอยู่ตรงไหน ซึ่งเขาก็ทำตาม) ก่อนจะตบท้ายว่า “ฉันอยากขอบคุณนักแสดงนำหญิงทุกคนที่เข้าชิง ฉันคิดว่าพวกเราคงไม่อยากเชื่อว่าจะได้มาอยู่ร่วมสาขาเดียวกันกับ เมอรีล สตรีพ ขอโทษทีนะ เมอรีล แต่คุณต้องทนรับมันไป!”

วินสเล็ทคว้ารางวัลออสการ์มาครองในที่สุด หลังจากพลาดหวังมาแล้ว 5 ครั้ง ส่วน เมอรีล สตรีพ พลาดรางวัลจากการเข้าชิงเป็นครั้งที่ 11 ติดต่อกัน (เธอได้ออสการ์ตัวที่สองจาก Sophie’s Choice เมื่อปี 1983 จากการเข้าชิงครั้งที่ 4 และออสการ์ตัวแรกจาก Kramer vs. Kramer เมื่อปี 1980 จากการเข้าชิงครั้งที่สอง) เธอทำสถิติเป็นนักแสดงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ 15 ครั้ง (สมทบ 3 นำ 12)

ยกเครื่องการจัดงาน

แม้ผลรางวัลจะปราศจากเซอร์ไพรซ์ แต่งานแจกรางวัลปีนี้กลับเต็มไปด้วยความแปลกใหม่ เริ่มตั้งแต่การออกแบบเวทีให้ใกล้ชิดคนดู... มาก การประดับตกแต่งเวทีด้วยม่านคริสตัลส่องประกายต้องแสงไฟระยิบระยับ (ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ บิล คอนดอน) รวมไปถึงการมอบตำแหน่งพิธีกรให้แก่ ฮิวจ์ แจ๊คแมน ซึ่งไม่ใช่ดาวตลก หรือพิธีกรรายการทอล์คโชว์เหมือนพิธีกรคนก่อนๆ แต่เป็นนักแสดงมากฝีมือ ที่เคยผ่านประสบการณ์ทำนองนี้มาบ้างแล้ว (พิธีกรรายการแจกรางวัลโทนี่)

เมื่อผู้กำกับ Dreamgirls มาจับมือร่วมกับนักแสดงนำจาก The Boy from Oz เวทีออสการ์จึงแทบจะถูกเปลี่ยนเป็นเวทีบรอดเวย์ เริ่มต้นด้วยการแนะนำหนังเด่นๆ ของการประกวดเป็นเสียงเพลง (ไฮไลท์คือตอนที่แจ๊คแมนดึงเอา แอนน์ แฮทธาเวย์ จากที่นั่งแถวแรกมาร่วมแสดงในฉากจำลองของ Frost/Nixon โดยรับบทเป็น ริชาร์ด นิกสัน) ก่อนช่วงกลางรายการแจ๊คแมนจะประกบคู่ บียอนเซ่ ซึ่งกลายเป็นขาประจำงานออสการ์ไปแล้ว เพื่อสดุดีหนังเพลงในอดีต พร้อมด้วย อแมนด้า ซีย์ฟรายด์ ประกบ โดมินิค คูเปอร์ คู่พระนางจาก Mamma Mia! และ แซ็ค เอฟรอน ประกบ วาเนสสา ฮัดเจนส์ คู่พระนางจาก High School Musical 3 (ความพยายามล่าสุดของออสการ์ที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น หลังจากเชิดใส่ The Dark Knight?) พวกเขาร้องเมดเลย์เพลงดังในสไตล์ Moulin Rouge! ภายใต้การออกแบบของ แบซ เลอห์มาน (เวอร์ๆ แบบนี้จะใครซะอีก)

โดยภาพรวม แจ๊คแมนทำหน้าที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจ แม้จะหายหน้าหายตาไปเลยในช่วงกลางรายการ เขาอาจปล่อยมุกไม่มากเท่าพิธีกรคนก่อนๆ แต่หลายมุกได้ผลดี เช่น “ทุกอย่างถูกลดขนาดลงเพราะพิษเศรษฐกิจ ปีหน้าผมจะแสดงนำในหนังเรื่อง New Zealand” หรือตอนเขาตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการเข้าชิงมากถึง 15 ครั้งของ เมอรีล สตรีพ ก่อนจะสรุปว่า “สงสัยจะใช้สเตียรอยด์” จุดเด่นของแจ๊คแมนคงอยู่ตรงความเป็นธรรมชาติ ลื่นไหล และเป็นกันเอง (พิธีกรคนอื่นคงไม่กล้าลงไปนั่งตัก แฟรงค์ แลงเจลลา หรอก!) เขาร้องเพลงและหยอกล้อคนบันเทิงอย่างน่ารัก น่าชัง ไม่คุกคามความรู้สึกใคร จนทำให้คนดูพร้อมใจกันลุกขึ้นยืนปรบมือให้เขา

อีกไอเดียที่น่าสนใจ คือ การไล่ประกาศรางวัลตามขั้นตอนถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งให้ความรู้ไปในตัว เริ่มต้นจากขั้นตอนเขียนบทภาพยนตร์ ไปจนถึงขั้นตอนหลังการถ่ายทำ เช่น ลำดับภาพและดนตรีประกอบ ส่วนไอเดียใหม่ที่โดยวิพากษ์ว่าไม่เวิร์กสุดคงได้แก่การให้ ควีน ลาติฟาห์ มาร้องเพลงระหว่างช่วงรำลึกถึงผู้ที่จากไป เพราะเวทีถูกแบ่งความเด่นไปจากกลุ่มคนที่เราควรจะ “รำลึก” ถึง

ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดสุดเกิดขึ้นระหว่างช่วงประกาศรางวัลสาขาการแสดง โดยแทนที่จะตัดคลิปจากหนังมาเปิดโชว์เหมือนเคย ทีมงานได้เปลี่ยนเป็นการเชิญอดีตผู้ชนะในสาขานั้นๆ มากล่าวสรรเสริญผู้เข้าชิงแทน เทคนิคดังกล่าวได้ผลดีเยี่ยม หากคุณจับคู่ได้เหมาะเจาะ และหากคนพูดเตรียมตัวมาดี เช่น เมื่อ เชอร์ลีย์ แม็คเลน (Terms of Endearment) พูดถึง แอนน์ แฮทธาเวย์ เมื่อ คิวบา กูดดิ้ง จูเนียร์ (Jerry Maguire) พูดถึง โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ หรือเมื่อ โรเบิร์ต เดอ นีโร (Raging Bull) พูดถึง ฌอน เพนน์ แต่บางครั้งมันกลับให้อารมณ์น่าอับอายและประดักประเดิดเสียมากกว่า เช่น เมื่อ เอเดรียน โบรดี้ (The Pianist) พูดถึง ริชาร์ด เจนกินส์ หรือน่าหัวเราะ (ขื่นๆ) แบบไม่ตั้งใจ เช่น เมื่อ ไมเคิล ดั๊กลาส (Wall Street) ชื่นชม แฟรงค์ แลงเจลลา ว่า เขาทำให้นักแสดงคนก่อนๆ ที่เคยรับบท ริชาร์ด นิกสัน ดูไร้ความหมายไปเลย ขณะยืนอยู่ข้าง แอนโธนีย์ ฮ็อปกิ้นส์ ผู้เคยเข้าชิงออสการ์จาก Nixon

ถึงความยาวของงานจะยังคงเกินสามชั่วโมง (ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากจำนวนรางวัลค่อนข้างมาก) แต่ทีมงานก็ได้พยายามลดทอนขบวนการทุกอย่างลงเพื่อไม่ให้งานลากยาวถึงสี่ชั่วโมง เช่น ลดจำนวนผู้ประกาศรางวัล ตัดหนังสั้นของ เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ (Capote) ออกในนาทีสุดท้าย ขณะที่ ซิด เกนิส ประธานสถาบัน ก็ได้มอบของขวัญให้ทุกคนเนื่องในโอกาสที่เขาจะดำรงตำแหน่งเป็นปีสุดท้ายด้วยการไม่ขึ้นพูดอะไรบนเวที ทั้งหมด ผนวกเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ได้ช่วยให้โชว์โดยรวมดูกระชับ ฉับไว เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา จนผู้ร่วมงานหลายคนอดไม่ได้ที่จะออกปากชม ทั้งบนเวที อาทิ แดนนี่ บอยล์ (“มันเป็นโชว์ที่สวยงามมาก ผมไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรเวลาอยู่บนหน้าจอทีวี แต่ถ้าคุณอยู่ในงาน คุณจะเห็นว่ามันยอดเยี่ยมเหลือเกิน ขอปรบมือให้กับทีมงานทุกคน”) และหลังเวที อาทิ สตีเฟ่น ดัลดรี้ “เป็นโชว์ที่ยอดเยี่ยมมาก ดีกว่าปกติประมาณสิบเท่า และผมคิดว่า แบซ เลอห์มาน คือ อัจฉริยะ”

ไฮไลท์ชวนหัว

• การโต้ตอบกันระหว่าง ทีน่า เฟย์ กับ สตีฟ มาร์ติน ก่อนประกาศรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ใครอยากให้พวกเขามาจัดออสการ์ร่วมกันในปีหน้าบ้าง ยกมือขึ้น!)

เฟย์: กล่าวกันว่า การเขียนเปรียบเสมือนการมีชีวิตเป็นอมตะ
มาร์ติน: คนที่กล่าวคำนั้น... ตายไปแล้ว
เฟย์: เราทุกคนตระหนักดีถึงความสำคัญของงานเขียน เพราะหนังที่ดีทุกเรื่องล้วนเริ่มต้นจากบทที่ดี
มาร์ติน: หรือไอเดียเก๋ๆ สำหรับเขียนบนโปสเตอร์
เฟย์: นักเขียนทุกคนเริ่มต้นจากหน้ากระดาษเปล่า
มาร์ติน: และทุกหน้ากระดาษเปล่า... ครั้งหนึ่งเคยเป็นต้นไม้มาก่อน
เฟย์: ต้นไม้ทุกต้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นแค่เมล็ดพืชเม็ดเล็กๆ
มาร์ติน: และทุกเมล็ดพืชเม็ดเล็กๆ ครั้งหนึ่งเคยถูกนำมายังโลกมนุษย์โดย เอเลี่ยน คิง รอนเดอเลย์...
เฟย์: สตีฟ ไม่มีใครอยากได้ยินเกี่ยวกับศาสนาที่เรากุขึ้นเองหรอก

• หนังสั้นฝีมือการกำกับของ จัดด์ อพาโทว (Knocked Up) นำแสดงโดย เซธ โลแกน กับ เจมส์ ฟรังโก้ คู่หูนักดูดกัญชาใน Pineapple Express พวกเขาเริ่มต้นด้วยการล้อเลียนกรรมการออสการ์ที่มักจะมองข้ามหนังตลก (ฟรังโก้: “เวลาดูหนัง ฉันชอบให้ระดับสติปัญญาถูกท้าทาย ฉันอยากดูเด็กหนุ่มร่วมเพศกับนาซี!”) จากนั้นก็หัวร่องอหายแบบหยุดไม่ได้ขณะดูฉากตัวละครโต้เถียงกันในหนังอย่าง Doubt และ The Reader ก่อนสุดท้ายจะปล่อยมุกเด็ดด้วยการให้ เจมส์ ฟรังโก้ นั่งดูหนังเรื่อง Milk ที่เขารับบทเป็นคู่รักเกย์ของ ฌอน เพนน์

• เมื่อ แจ๊ค แบล็ค ขึ้นมาประกาศรางวัลภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยมกับ เจนนิเฟอร์ อนิสตัน (พึงสังเกตว่ากล้องตัดภาพไปยังแบรงเจลิน่าถึงสองครั้ง! ใครบอกออสการ์มีรสนิยมอันดี?)

แบล็ค: ผมทำเงินจากหนังการ์ตูนมากกว่าหนังคนแสดง
อนิสตัน: จริงเหรอ? ตอนฉันพากย์เสียงให้ The Iron Giants ไม่เห็นได้เงินเยอะเลย คุณพอจะมีคำแนะนำไหม
แบล็ค: แน่นอน ทุกปีผมจะพากย์เสียงให้การ์ตูนของดรีมเวิร์กส์ แล้วเอาเงินทั้งหมดที่ได้ไปพนันว่าการ์ตูนของพิกซาร์จะได้ออสการ์

• เบน สติลเลอร์ เลียนแบบภาพลักษณ์ของ วาควิน ฟีนิกซ์ ในรายการ เดวิด เลตเตอร์แมน (เคี้ยวหมากฝรั่ง สวมแว่นดำ หนวดเครารุงรัง และมีท่าทางเหม่อลอยเหมือนกำลังเมายา) ขณะออกมาประกาศรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมกับ นาตาลี พอร์ตแมน (ว่ากันว่าสภาพ “กึ่งเสียสติ” ของฟีนิกซ์ในวันนั้นทำให้คนดูอยากจะร้องว่า What the f***? ไม่ต่างจากตอน ทอม ครูซ ลุกขึ้นกระโดดบนโซฟาในรายการ โอปร้า วินฟรีย์ โดยก่อนหน้าเพียงหนึ่งวัน วาควินผู้เคยเข้าชิงออสการ์จาก Gladiator (สมทบชาย) Walk the Line (นำชาย) และล่าสุดเพิ่งประกาศอำลาวงการหนังเพื่อไปเป็นนักร้องเพลงแร็พ ก็ถูกล้อเลียนในงานแจกรางวัล Independent Spirit Awards เช่นกัน)

พอร์ตแมน: คุณเป็นอะไรของคุณ
สติลเลอร์: ไม่มีอะไร ผมแค่อยากเกษียณตัวเองจากการเป็นดาราตลก
พอร์ตแมน: คุณดูเหมือนคนงานในโรงงานผลิตยาของชาวยิว... แล้วคุณอยากทำอะไร
สติลเลอร์: ไม่รู้สิ... ผม... บางที... อาจจะ... (มองไปรอบๆ เวที) กำกับภาพ

รายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

ภาพยนตร์: Slumdog Millionaire (Fox Searchlight)
กำกับภาพยนตร์: แดนนี่ บอยล์ (Slumdog Millionaire)
นักแสดงนำชาย: ฌอน เพนน์ (Milk)
นักแสดงนำหญิง: เคท วินสเล็ท (The Reader)
นักแสดงสมทบชาย: ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight)
นักแสดงสมทบหญิง: เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona)
บทภาพยนตร์ดั้งเดิม: ดัสติน แลนซ์ แบล็ค (Milk)
บทภาพยนตร์ดัดแปลง: ไซมอน บาวฟอย (Slumdog Millionaire)
ภาพยนตร์ต่างประเทศ: Departures (ญี่ปุ่น)
ภาพยนตร์สารคดี: Man on Wire
ภาพยนตร์การ์ตูน: Wall-E
กำกับศิลป์: โดนัลด์ เกรแฮม เบิร์ท, วิคเตอร์ เจ. โซลโฟ (The Curious Case of Benjamin Button)
กำกับภาพ: แอนโธนีย์ ดอด แมนเทิล (Slumdog Millionaire)
ลำดับภาพ: คริส ดิกเคน (Slumdog Millionaire)
ออกแบบเครื่องแต่งกาย: ไมเคิล โอ’คอนเนอร์ (The Duchess)
ภาพยนตร์ขนาดสั้น: Spielzeugland (Toyland)
ภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้น: Smile Pinki
ภาพยนตร์การ์ตูนขนาดสั้น: La Maison en Petis Cubes
แต่งหน้า: เกร็ก แคนนอม (The Curious Case of Benjamin Button)
ดนตรีประกอบ: เอ.อาร์. ราห์แมน (Slumdog Millionaire)
เพลงประกอบ: Jai Ho (SLumdog Millionaire)
ตัดต่อเสียง: ริชาร์ด คิง (The Dark Knight)
บันทึกเสียง: เอียน แท็บ, ริชาร์ด ไพรค และ เรซัล พูคัตตี้ (Slumdog Millionaire)
เทคนิคพิเศษด้านภาพ: อีริค บาร์บา, สตีฟ พรีค, เบิร์ท ดัลตัน และ เคร็ค บาร์รอน (The Curious Case of Benjamin Button)

วันจันทร์, มีนาคม 02, 2552

Happy-Go-Lucky: ความสุขตามมุมมอง


ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นคนมองโลกแง่ร้ายโดยสันดาน หรือเริ่มคุ้นเคยกับหนังฮอลลีวู้ดมากเกินไป เพราะหลายครั้งหลายคราระหว่างนั่งชม Happy-Go-Lucky ผมเอาแต่คาดเดาถึงชะตากรรมอันเลวร้ายต่างๆ นานาอันจะเกิดแก่ผู้หญิงอารมณ์ดีและร่าเริงเกินเหตุอย่างป๊อปปี้ (แซลลี่ ฮอว์กินส์) ไม่ว่าจะเป็นตอนเธอไปหาหมอเพื่อรักษาอาการปวดหลัง (พิการ! อัมพาต!) ตอนเธอเรียนขับรถ (อุบัติเหตุ!) หรือตอนเธอเดินเข้าไปในย่านเสื่อมโทรมแล้วพูดคุยกับชายจรจัดสติไม่ดี (ฆ่า! ข่มขืน!)

แต่สุดท้ายป๊อปปี้ก็รอดพ้นจากแรงปรารถนาใฝ่ต่ำของผมได้หมด (เอ๊ะ นี่ถือเป็นการสปอยล์หนังหรือเปล่า) อันที่จริง ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่น่าแปลกใจ ถ้าคุณไม่เผลอหลงลืมไปว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ ไมค์ ลีห์ ซึ่งนิยมถ่ายทอดเรื่องราวในสไตล์ “เสี้ยวชีวิต” ของคนอังกฤษระดับล่าง เน้นความสมจริง เป็นธรรมชาติผ่านขบวนการ “ด้นสด” ส่งผลให้ตลอดทั้งเรื่องคนดูจะได้เฝ้าสังเกตการณ์กิจกรรมประจำวันของป๊อปปี้ (ไปสอนหนังสือเด็ก เรียนขับรถ เที่ยวผับ เรียนเต้นฟลามิงโก้ ออกเดท ฯลฯ) โดยปราศจากการสร้างปมขัดแย้ง จุดพลิกผัน หรือพัฒนาการในเชิงเรื่องราวที่เด่นชัด ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้ายๆ ชีวิตของเราทุกคนนั่นแหละ (คงยากหน่อย หากจะต้องแบ่งหนังออกเป็น 3 องก์ตามโครงสร้างการเขียนบทแบบคลาสสิกของ ซิด ฟิลด์)

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางลักษณะ “เล่าไปเรื่อย” และชุดเหตุการณ์ที่เหมือนจะไร้ความสัมพันธ์กัน คนดูกลับมีโอกาสได้รู้จักตัวละครอย่างรอบด้าน นั่นถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เมื่อคุณต้องการนำเสนอตัวละครอย่างป๊อปปี้ ซึ่งมีบุคลิกคล้ายเด็กๆ ดังจะเห็นได้จากการยืนกรานให้ทุกคนเรียกชื่อเล่นแทนชื่อจริง (พอลีน) หรือวิธีที่เธอสวมถุงกระดาษคลุมหัว แล้วกระพือแขนร่วมกับเด็กอนุบาลในชั้นเรียนอย่างสนุกสนาน หรือการเลือกเล่นแทรมโพลีนเป็นงานอดิเรก หรือกระทั่งเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ นอกจากนี้ ขณะเรียนเต้นฟลามิงโก้ ป๊อปปี้ยังขยับแข้งขาอย่างประดักประเดิด ราวกับเธอไม่อาจควบคุมมันให้เป็นระเบียบ หรือดูสง่างามได้เฉกเช่นวัยรุ่นที่กำลังรับมือกับพัฒนาการทางกาย

ที่สำคัญ ทัศนคติมองโลกแง่ดีของเธอ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมให้เมฆฝนใดๆ มาบดบังแสงแดดอันสดใส (เมื่อจักรยานของเธอถูกขโมยในตอนต้นเรื่อง แทนที่จะโกรธแค้นต่อชะตากรรม หรือความอยุติธรรม เธอกลับสรุปตบท้ายง่ายๆ แค่ “เรายังไม่มีโอกาสได้บอกลากันเลย” จากนั้นก็พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการเริ่มต้นเรียนขับรถ!?!) ได้สะท้อนให้เห็นมุมมองแบบผ้าขาว ซึ่งปราศจากท่าทีเย้ยหยัน หรือบาดแผลบอบช้ำจากการผ่านโลกมามากเฉกเช่นผู้ใหญ่ทั่วไป ความน่าอัศจรรย์ของตัวละครอย่างป๊อปปี้อยู่ตรงที่ ไมค์ ลีห์ หาได้ประคบประหงมเธอเหมือนไข่ในหิน ปกป้องเธอจากโลกแห่งความจริงอันโหดร้าย ตรงกันข้าม ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน (หรือไม่กี่นาทีบนจอหนัง) ความเฮงซวยนานัปการถูกโยนเข้าใส่เธอจนรับแทบไม่ทัน ตั้งแต่ถูกขโมยรถจักรยาน ถูกบิดกระดูกสันหลัง ไปจนถึงถูกครูสอนขับรถโรคจิตดุด่า ก่อนต่อมาจะแอบสะกดรอยตาม ทั้งหมดนี้ยิ่งส่งผลให้ความเด็ดเดี่ยวของเธอที่จะยิ้มรับทุกปัญหาช่างดูน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก

ป๊อปปี้คงกลายเป็นตัวละครที่ไร้เดียงสา น่ารำคาญ เป็นเด็กไม่รู้จักโต หรือกระทั่งพวกหลอกตัวเอง หากลีห์และฮอว์กินส์ไม่เผยให้เห็นอีกแง่มุมของหญิงสาวว่าเธอ “ตระหนัก” ถึงความโหดร้ายของโลกแห่งความจริงเป็นอย่างดีจากแววตาที่เธอเฝ้ามอง นิค (แจ๊ค แม็คเกรียชิน) รังแกเพื่อนร่วมชั้นเพื่อระบายความโกรธขึ้งภายใน ตลอดจนวิธีที่เธอรับมือกับปัญหาอย่างอ่อนโยน นุ่มนวล จนกระทั่งค้นพบรากเหง้าในที่สุด

อีกฉากหนึ่งซึ่งถ่ายทอดข้อความเดียวกัน แต่ให้อารมณ์เชิงสัญลักษณ์มากกว่า เป็นตอนที่ป๊อปปี้เดินดุ่มเข้าไปในย่านเสื่อมโทรมตามลำพัง หลังจากได้ยินเสียงพร่ำบ่นของใครบางคนดังแว่วมา มันเป็นสถานที่ซึ่งผู้หญิงสติดีๆ คงไม่กล้าย่างกรายเข้าไป ข้อเท็จจริงดังกล่าวดังก้องในหัวป๊อปปี้ แต่หาได้หยุดยั้งเธอไม่ ปรากฏว่าเสียงพร่ำบ่นนั้นเป็นของชายจรจัด (สแตนลีย์ ทาวน์เซนด์) ร่างใหญ่ ท่าทางน่าเกรงขาม แววตาของป๊อปปี้ส่ออาการหวาดกลัว ไม่แน่ใจ และสับสน (เธอถึงขนาดพูดกับตัวเองว่าเธอมาทำบ้าอะไรที่นี่) แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็ไม่อาจละสายตาจากเขาได้ ชายจรจัดพร่ำพูดไม่ได้สรรพ เธอพยายามโต้ตอบเท่าที่ทำได้ และทุกครั้งที่เขาพูดว่า “รู้ใช่ไหม” เธอจะตอบกลับว่า “ค่ะ ฉันรู้” ด้วยน้ำเสียงจริงจังและจริงใจ

ฉากชวนพิศวงดังกล่าวทำให้คนดูตระหนักว่า ป๊อปปี้เข้าใจ รวมทั้งรับรู้ถึงความเลวร้ายอย่างที่สุดบนโลกใบนี้ (เราคงทึกทักได้ว่าชายจรจัดน่าจะผ่านเคราะห์กรรมแห่งชีวิตมามากมายกว่าจะมายืนอยู่ตรงนี้ ในสภาพกึ่งเสียสติ ไร้บ้าน ไร้คนห่วงใย) ฉะนั้น ความสุขและความร่าเริงของเธอจึงหาใช่เกราะป้องกันตัวเองจาก “ความเป็นจริง” หากแต่เป็นธรรมชาติในเบื้องลึกต่างหาก นอกจากนี้ เธอเองก็เด็ดเดี่ยวพอจะไม่ยอมปล่อยให้ความหมองหม่นรอบตัวมาบ่อนทำลายสปิริตนั้น พร้อมทั้งยังใส่ใจเฝ้าสังเกตและรับฟังความเจ็บปวดจากทุกคนรอบข้าง แล้วพยายามแบ่งปันแสงสว่างบางส่วนให้พวกเขาด้วย

นักมองโลกด้วยแววตาเยาะหยันแสดงท่าทีชิงชิงตัวละครอย่างป๊อปปี้ พร้อมทั้งกล่าวหาว่าเธอเป็น “เผด็จการทางอารมณ์” ซึ่งในความเห็นของผมคิดว่าไม่ค่อยยุติธรรมต่อป๊อปปี้นัก เนื่องจากหนัง Happy-Go-Lucky ได้แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าเราทุกคนล้วนพยายามยัดเยียด “มุมมอง” ของตนกับคนรอบข้างทั้งนั้น หากป๊อปปี้มีความผิดที่พยายามจะทำให้คนอื่นร่าเริงเหมือนตัวเอง เฮเลน (คาโรไลน์ มาร์ติน) ก็ควรโดนตัดสินโทษในลักษณะเดียวกัน เมื่อเธอพยายามสั่งสอนน้องสาวให้รู้จักโต หาซื้อบ้านเป็นหลักแหล่ง (แทนที่จะเช่าเขาอยู่) แล้วลงหลักปักฐานกับผู้ชายสักคนเพื่อสร้างครอบครัว (เหมือนเธอ)

เฮเลน: ฉันแค่อยากให้เธอมีความสุข
ป๊อปปี้: แต่ฉันก็มีความสุขอยู่แล้ว!
เฮเลน: ไม่ต้องมาเกทับกันได้ไหม!

อารมณ์ขันร้ายๆ ของลีห์ในฉากดังกล่าวอยู่ตรง เฮเลนต่างหากที่พยายาม “เกทับ” ทุกคนด้วยการพาเดินชมบ้านหลังใหม่ สวนดอกไม้ รวมไปถึงลูกในท้อง และสามี ซึ่งเธอพยายามควบคุมให้อยู่ในโอวาท ทั้งหมดเหล่านี้น่าจะช่วยให้เธอค้นพบความสุขที่ค้นหา แต่ก็ไม่เสมอไป ความหงุดหงิดใจของเธอ คือ ป๊อปปี้ผู้เหมือนจะไม่มีอะไร (ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสุข) เลย วันๆ เอาแต่เที่ยวสนุกตามผับ ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีบ้าน ไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน กลับค้นพบความสุขของชีวิต

การปะทะกันของสองขั้วตรงข้าม โดยต่างฝ่ายก็พยายามโน้มน้าวอีกฝ่ายให้หันมาอยู่ฝ่ายเดียวกับตนปรากฏชัดในทุกฉากที่ป๊อปปี้ต้องเรียนขับรถกับ สก๊อตต์ (เอ็ดดี้ มาร์แซน) ชายหนุ่มที่ถูกชีวิตโบยตีจนไม่เหลือที่ว่างสำหรับรอยยิ้ม หรือการมองโลกแง่ดี บทเรียนแรกของเขาในการขับรถ คือ จงคาดหวังความเลวร้ายอย่างที่สุดเสมอ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจถูกบดขยี้โดยรถบรรทุก 18 ล้อในทุกขณะจิต! อันที่จริง การเตือนผู้ขับไม่ให้ประมาทและระแวดระวังตลอดเวลาถือเป็นบทเรียนที่เหมาะสม แต่ขณะเดียวกัน (ด้วยน้ำเสียง การเลือกใช้คำและตัวอย่าง) มันก็สะท้อนให้เห็นทัศนคติต่อโลกของสก็อตต์จนหมดเปลือก หากเป็นมนุษย์ปกติ เขาหรือเธอคงเผ่นหนีตั้งแต่วันแรกที่ได้นั่งร่วมรถคันเดียวกับสก็อตต์ แล้วเฝ้าฟังเขาก่นด่าระบบการศึกษา ดูถูกคนดำ สบถคำหยาบใส่ทุกอย่างรอบข้าง และสาธยายทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานา ทว่าสำหรับป๊อปปี้ สก็อตต์เปรียบเสมือนความท้าทายขั้นสูงสุด เป็นบททดสอบความมุ่งมั่นของเธอ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงตอบโต้เสียงตะคอกของเขาด้วยเสียงหัวเราะ คำหยอกล้อ และการดื้อดึงไม่ยอมหลวมตัวเข้าสู่โลกมืด

ความแตกต่างระหว่างทั้งสอง คือ ฝ่ายหนึ่งเลือกจะจมจ่อมอยู่ในโลกส่วนตัว ส่วนอีกฝ่ายกลับใส่ใจคนอื่นๆ รอบข้าง รวมทั้งพยายามเข้าใจพวกเขา โดยหลังจากค้นพบว่านิคระบายความโกรธแค้นที่โรงเรียน เพราะเขาถูกกระทำรุนแรงที่บ้าน ป๊อปปี้จึงเอ่ยปากถามสก็อตต์ในฉากหนึ่งว่าเขาเคยถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนหรือเปล่า ท่าทีนิ่งเงียบของฝ่ายชายเหมือนจะเป็นคำตอบอยู่กรายๆ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า ไมค์ ลีห์ จะโทษสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว เนื่องจากธรรมชาติของเราเองย่อมมีส่วนในการ “ปลุกปั้น” ตัวตนเช่นกัน มิเช่นนั้นแล้ว ป๊อปปี้จะต่างจากพี่สาวและน้องสาวของเธอถึงเพียงนี้ได้อย่างไร

นั่นเองนำไปสู่ประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของมุมมอง ซึ่งลีห์เคยนำเสนอมาแล้วใน All or Nothing (แต่ภาพรวมทางอารมณ์ของหนังทั้งสองถือว่าสวนทางกันอย่างยิ่ง) โดยหากป๊อปปี้เป็นตัวแทนของ “น้ำเหลืออยู่อีกครึ่งแก้ว” สก็อตต์ก็คงเป็นตัวแทนของ “น้ำหมดไปแล้วครึ่งแก้ว” พวกเขาล้วนแสดงปฏิกิริยาไปตาม “โลกแห่งความจริง” หรือธรรมชาติของตนเอง เธอหยอกล้อเขาเพื่อหวังให้เขาลดทอนความเครียดลงบ้าง เขา (ซึ่งคงไม่คุ้นเคยกับความเป็นมิตร) มองว่าเธอกำลังให้ท่า เมื่อจับได้ว่าเขาอาจจะเหยียดรักร่วมเพศมากพอๆ กับคนผิวสี เธอจึงแกล้งพูดเล่นราวกับว่าเธอเป็นคู่รักของเพื่อนหญิงร่วมห้อง เขา (ซึ่งคงไม่คุ้นเคยกับอารมณ์ขัน) ตีความว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน จึงรู้สึกโกรธแค้น เสียใจ เมื่อเธอปรากฏตัวในวันหนึ่งพร้อมแฟนหนุ่ม จนนำไปสู่การระเบิดอารมณ์และจุดแตกหัก

ป๊อปปี้: ฉันแค่อยากทำให้คุณมีความสุข
สก็อตต์: ก่อนหน้านี้ผมก็มีความสุขอยู่แล้ว!

จากประสบการณ์เกี่ยวกับสก็อตต์ ป๊อปปี้พลันตระหนักว่า แม้จะพยายามสักเพียงใด เธอก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนมีความสุขได้ พร้อมกันนั้น มันยังทำให้คนดูเริ่มตั้งคำถามต่อคำว่า “ความสุข” ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสก็อตต์ ซึ่งคุ้นเคยกับความเลวร้าย ด้านมืด และความโดดเดี่ยว จนเขาตีความเจตนารมณ์ของป๊อปปี้ มนุษย์ที่อยู่คนละโลกแห่งความจริง ผิดไปหลายร้อยโยชน์ บางทีสำหรับสก็อตต์ ความสุขคือการเวียนว่ายอยู่ในโลกอันหยาบกระด้าง เต็มไปด้วยความหมองหม่นแบบที่เขาคุ้นเคย เพราะอย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องรับมือกับความเปราะบางทางอารมณ์จากการตกหลุมรัก หรือความเจ็บปวดจากความผิดหวัง ช้ำใจ

ในฉากสุดท้ายของหนัง โซอี้ (อเล็กซิส เซเกอร์แมน) ได้แนะนำให้เพื่อนของเธอเลิกทำตัว “ดีเกินไป” เสียทีเพราะเธอไม่สามารถจะทำให้ทุกคนมีความสุขได้ “แต่มันไม่ได้ทำอันตรายใครไม่ใช่เหรอ ถ้าเราจะลองพยายามดู” คือ คำตอบของป๊อปปี้ สำหรับผ้าที่ยังค่อนข้างขาวอย่างนิค การยื่นมือเข้าไปช่วยของเธออาจเป็นประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับดวงวิญญาณที่ดำมืดเกินเยียวยาอย่างสก็อตต์ บางทีมันอาจให้โทษมากกว่าคุณ เพราะคนบางคนก็มีความสุขอยู่กับด้านมืด การเยาะหยัน และไม่ชอบให้ใคร “เกทับ” ด้วยใบหน้าระรื่น

วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 21, 2552

ทำความเข้าใจ The Reader (1)


ตลอดช่วงเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาในอเมริกา หนังเรื่อง The Reader ดูเหมือนจะโดนกระแสต่อต้านกลุ้มรุมแทบทุกวันจนสะบักสะบอมเกินเยียวยา สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะตัวหนังดันหลุดเข้าชิงออสการ์สาขาสำคัญๆ แทนตัวเก็งที่หลายคนคาดหวังอยากจะเห็นอย่าง The Dark Knight (ไม่เช่นนั้น มันก็คงเลือนหายไปจากความสนใจของคนทั่วไปเหมือนหนังหวังกล่องอีกหลายเรื่องของไวน์สไตน์อย่าง Bobby และ Breaking and Entering) แต่ขณะเดียวกัน หลายสิ่งหลายอย่างในหนังก็เหมือนจะ “ล่อเป้า” ให้คนสาดใส่อารมณ์ได้อย่างมากมาย

ต้องยอมรับว่าผมเดินเข้าไปชม The Reader ด้วยความคาดหวังค่อนข้างต่ำ แม้จะได้อ่านหนังสือแล้วและชื่นชอบมันไม่น้อยก็ตาม เนื่องจากกระแสแง่ลบและคำวิจารณ์โดยรวมจากเมืองนอก ซึ่งค่อนข้างก้ำกึ่งไปทางย่ำแย่ แต่ความคิดแรกที่แวบเข้ามาในหัวผมหลังจากดูหนังจบ คือ ตัวหนังไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนพยายามจะวาดภาพให้มันเป็น ผมคิดว่าหนังยังมีข้อบกพร่องปรากฏให้เห็นอยู่บ้างในเชิงเทคนิคและการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างขาดๆ เกินๆ บางทีก็ดูรวบรัดจนไร้พลังโน้มน้าว แต่จุดแข็งของหนังอยู่ตรงประเด็นอันชวนค้นหา และท่าทีในการนำเสนอ ซึ่งไม่ได้พยายามยัดเยียด หรือมอบคำตอบสำเร็จรูป ตรงกันข้าม มันต้องการกระตุ้นให้คนดูตั้งคำถามเสียมากกว่า และบางทีนั่นเองอาจเป็นสาเหตุให้หนังถูกโจมตีรอบด้าน ทั้งจากข้อหาที่ปราศจากมูล และข้อหาที่พอจะมีมูลอยู่บ้าง

ประเด็นหลักๆ ของข้อโจมตีที่ผมพอจะสรุปได้ คือ (1) หนังใช้ภาพลักษณ์ของ “ผลงานศิลปะ” และฉากโป๊เปลือยเพื่อสร้างความน่าเห็นใจให้ตัวละครน่ารังเกียจอย่างฮันนา ส่งผลให้มันเป็นหนังที่ “ไม่ซื่อสัตย์” และ “หลอกลวง” (2) The Reader เปรียบเสมือนข้อแก้ต่างให้กับชาวเยอรมันยุคนาซีเรืองอำนาจว่า พวกเขาไม่มีส่วนรู้เห็นกับพฤติกรรมของฮิตเลอร์ และ (3) การใช้ปมเกี่ยวกับ “ไม่รู้หนังสือ” มาเบี่ยงเบนคนดูให้หลงลืมอาชญากรรมอันเลวร้ายของตัวละครเอก นอกจากนี้ บางคนยังก้าวไปไกลถึงขั้นกล่าวหา The Reader ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะทำให้การสังหารหมู่ชาวยิวกลายเป็นเพียงตำนานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง!

ในความเห็นของผม The Reader ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิว นาซี หรือกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ฉะนั้น ข้อกล่าวหาทั้งหลายข้างต้นจึงถือเป็นการโจมตีไม่ถูกจุด (แม้ข้อสังเกตบางอย่างจะมีมูลฐานและมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อยก็ตาม) และออกจะไม่ค่อยยุติธรรมต่อตัวหนังสักเท่าไหร่ แต่ก่อนจะไปพูดถึงประเด็นหลักของหนัง ผมอยากจะนำเสนอความคิดเห็นพอสังเขปเกี่ยวกับข้อโจมตีทั้งหลายข้างต้น

ปฏิกิริยาแง่ลบของ The Reader ทำให้ผมนึกถึง ฮันนาห์ อาเรนท์ ผู้เคยใช้วลี “the banality of evil” (ความชั่วร้ายอันแสนสามัญ) อธิบายพฤติกรรมของ อดอล์ฟ อิชมันน์ นายทหารนาซีระดับสูงที่ออกแบบค่ายกักกันชาวยิวในยุโรปตะวันออกและวางแผนการสังหารหมู่เพื่อแก้ “ปัญหาชาวยิว” ให้กับฮิตเลอร์ โดยวลีดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากรอบข้าง โดยเฉพาะจากกลุ่มต่อต้านนาซี ซึ่งต้องการวาดภาพให้นาซีเป็นพวกมีปัญหาทางจิตและแตกต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไป (ส่วนมุมมองของอาเรนท์ต่ออิชมันน์ คือ เขากระทำการดังกล่าวเพียงเพราะต้องการเลื่อนตำแหน่งในกองทัพ หาใช่เพราะเขาเหยียดชาวยิวหรือมีสภาพจิตบกพร่อง) อาเรนท์เลือกใช้วลีดังกล่าวไม่ใช่เพื่อเรียกร้องความเห็นใจให้กับอิชมันน์ แต่เพื่อสะท้อนแง่มุมว่าอิชมันน์ไม่ได้ “สนุก” กับการฆ่า ความเกลียดชังหาใช่เหตุผลที่ผลักดันเขาให้สังหารหมู่ชาวยิว แต่เป็นเพราะเขา “มืดบอด” เกินกว่าจะตระหนักในศีลธรรม สามัญสำนึก หรือความถูกต้องต่างหาก เขาทำตามคำสั่งโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา

ไม่มีใครเถียงว่าปรากฏการณ์สังหารหมู่ชาวยิวถือเป็นความเลวร้ายสูงสุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญ ทุกอย่างช่างชัดเจนเหลือเกินว่า ยิว = เหยื่อผู้น่าสงสาร และ นาซี = ปีศาจร้าย ดังนั้น ใครก็ตามที่พยายามจะมอบ “ความเป็นมนุษย์” ให้เหล่านาซีจึงย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียงคัดค้าน ต่อต้าน

จะว่าไปแล้ว ตัวละครอย่าง ฮันนา ชมิดซ์ ก็คงไม่แตกต่างจาก อดอล์ฟ อิชมันน์ สักเท่าไหร่ เธอเข้าไปมีส่วนร่วมในกองทัพนาซี (ซึ่งต้องไม่ลืมว่าขณะนั้นเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นรัฐบาลของประเทศ) เพราะความโง่เขลา มืดบอดต่อสามัญสำนึก เธอมองไม่เห็น “ภาพรวมในมุมกว้าง” ของสถานการณ์ แล้วตัดสินทุกอย่างจากเพียงเบื้องหน้า เช่น เธอตัดสินใจไม่เปิดประตูโบสถ์ เพราะตอนนั้นเธอคิดเพียงว่าตนเองเป็นผู้คุม และหน้าที่ของผู้คุม ก็คือ ต้องไม่ปล่อยให้นักโทษหลบหนี หรือก่อความวุ่นวาย ศีลธรรมหรือความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์หาได้แวบเข้ามาในหัวสมองของเธอไม่

เราสามารถด่าทอได้ว่าเธอโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม หรือกระทั่งตัดสินว่าเธอมีความผิดจริงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ (ในแง่ความเป็นหนัง) มันจะได้ประโยชน์อะไรนอกจากความสะใจ จากความรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีระบบระเบียบทางศีลธรรมหลงเหลืออยู่ (อย่างไรก็ตาม หนังได้ตั้งคำถามต่อ “ความยุติธรรม” ดังกล่าว โดยเตือนคนดูให้ตระหนักว่าฮันนากับกลุ่มผู้คุมหญิงเหล่านี้เป็นเพียงแค่ “แพะบูชายัน”)

คำถามที่ผมนึกสงสัย คือ การที่เราพยายามจะ “ทำความเข้าใจ” เธอ หรือเหล่านาซีคนอื่นๆ นั้นมันกลายเป็นความผิดไปด้วยตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะเหล่าเสียงคัดค้าน The Reader เท่าที่ผมได้อ่านๆ มา ส่วนใหญ่ล้วนแสดงความเห็นในลักษณะเดียวกับเพื่อนนักศึกษาของไมเคิล นั่นคือ “มีอะไรต้องทำความเข้าใจกันอีก” และ “ถ้าเป็นผม ผมจะยิงพวกมันให้หมดทุกคน!”

การตัดสินคนเป็นเรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง หลังจากช่วงเวลาได้ผันผ่านไประยะหนึ่งแล้ว หากคุณไม่ได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน ไม่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน หรือไม่ได้รับ/ขาดโอกาสแบบเดียวกัน

ไม่เชื่อ ลองนึกภาพตัวเองมีชีวิตอยู่ในยุคนาซีเรืองอำนาจดูสิ คุณจะกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวแบบตัวเอกใน Sophie Scholl: The Final Days ซึ่งนับแล้วคงเป็นแค่ 1% ของชาวเยอรมันยุคนั้น หรือคุณจะนิ่งเงียบเฉกเช่นชาวเยอรมันอีกกว่า 80% จริงอยู่ คุณอาจคิดว่าคุณคงไม่มีวันเข้าร่วมกองทัพนาซีอย่างฮันนาแน่ๆ เพราะมันเป็นความบ้าคลั่งที่ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว... แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันชัดเจนจริงหรือ (อย่าลืมว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อนชาวอเมริกันจำนวนมากก็เคยแสดงความเห็นชอบให้ใช้กำลังทหารรุกรานประเทศอิรักมาแล้ว เพราะตอนนั้นพวกเขาคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันชัดเจน แต่ตอนนี้พวกเขากลับเริ่ม “Doubt”)

ทุกวันนี้ความวุ่นวายทั้งหลายไม่ได้เกิดจากการที่เรา “ตัดสิน” แทนที่จะพยายาม “ทำความเข้าใจ” หรอกหรือ

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 16, 2552

Oscar 2009: Best Picture


The Curious Case of Benjamin Button

เบื้องหน้า: ท่ามกลางพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาที่กำลังโหมกระหน่ำอยู่นอกโรงพยาบาล คาโรไลน์ (จูเลีย ออร์มอนด์) ได้อ่านบันทึกของชายคนหนึ่งให้แม่ผู้กำลังจะลาจากโลกนี้ไปฟัง เขามีชื่อว่า เบนจามิน บัตตัน (แบรด พิทท์) ชายที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้รูปการณ์อันผิดปรกติ โดยในวันนั้น (11 พฤศจิกายน 1918 วันสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) คุณหมอทำคลอดบอกว่าสภาพร่างกายเขาเสื่อมโทรมและอ่อนแอไม่ใช่แบบเดียวกับเด็กแรกเกิดทั่วไป แต่ในลักษณะเดียวกับชายชราวัยใกล้ฝั่ง

แต่เบนจามินกลับไม่ตาย เขาถูกพ่อผู้ร่ำรวยทอดทิ้งและได้รับการอุ้มชูเลี้ยงดูโดย ควีนนี่ (ทาราจี พี. เฮนสัน) พนักงานผิวดำประจำบ้านพักคนชราในนิวออร์ลีนส์ จากนั้นสภาพร่างกายของเขาก็เริ่มย้อนกลับ เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เขาดูเหมือนตาแก่บนเก้าอี้รถเข็น สวมแว่นตาหนาเตอะ เขาฝึกเรียนเปียโน แล้วเริ่มสนิทชิดเชื้อกับ เดซีย์ ฟูลเลอร์ เด็กหญิงซึ่งต่อมากลายเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวของเขา

ในช่วงวัยรุ่น เบนจามิน ซึ่งมีหน้าตาคล้ายชายวัย 60 ปี ได้ทำงานบนเรือโยงของกัปตันไมค์ (จาเร็ด แฮร์ริส) เรียนรู้การดื่มเหล้าและเพศสัมพันธ์ จนเมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่มเต็มตัว (ในสภาพชายวัย 50 ปี) เขาก็เดินทางไปรัสเซีย แล้วสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ อลิซาเบ็ธ แอ็บบ็อต (ทิลด้า สวินตัน) ภรรยาของพ่อค้าชาวอังกฤษ ก่อนจะกลับมาหาเดซีย์ (เคท บลันเช็ตต์) ซึ่งขณะนี้เติบใหญ่เป็นนักเต้นผู้เปี่ยมความทะเยอทะยาน

ขณะเขายิ่งหนุ่มแน่นขึ้น ส่วนเธอก็ยิ่งแก่ตัวลง ช่วงเวลาแห่งความมหัศจรรย์ถือกำเนิด เมื่อพวกเขาบรรจบพบกันตรงกึ่งกลางของชีวิต แต่น่าเศร้าที่เวลาไม่อาจหยุดนิ่งให้เราดื่มด่ำได้ตลอดไป

เบื้องหลัง: การแก่ชราไปตามวัยถือเป็นประเด็นที่ฮอลลีวู้ดมักจะหลีกเลี่ยงมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นับจาก สตีเวน สปีลเบิร์ก และ จอร์จ ลูคัส พิสูจน์ให้เห็นขุมทองขนาดใหญ่ในดินแดนเนเวอร์แลนด์ หรือโลกแห่งจินตนาการของวัยเด็ก สถานที่ซึ่งความอ่อนเยาว์ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ส่วนความตายกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขาน ด้วยเหตุนี้ การปรากฏตัวขึ้นอย่างฉับพลันของหนังสตูดิโอฟอร์มยักษ์เรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งพูดถึงความไม่จีรังแห่งชีวิตมนุษย์ ผ่านเทคนิคดิจิตอลอันลึกล้ำ ซับซ้อน ที่ฮอลลีวู้นิยมใช้ชุบชีวิตความเป็นเด็ก จึงถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

บทหนังที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นปี 1922 ขนาด 9,000 คำของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิทซ์เจอรัลด์ เริ่มวนเวียนอยู่ในแวดวงนับแต่ทศวรรษ 1980 เมื่อ โรบิน สวิคอร์ด (Little Women) เขียนร่างแรกให้ผู้อำนวยการสร้าง เรย์ สตาร์ค และได้รับความสนใจจากหลายคนตั้งแต่สปีลเบิร์กไปจนถึง เดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งขณะนั้นยังทำงานเป็นช่างเทคนิคพิเศษใน ILM ของลูคัส

“ผมคิดว่าบทหนังงดงามมาก มันเป็นหนังรักที่ยิ่งใหญ่” ฟินเชอร์เล่า “แต่ตอนนั้นผมสนใจโครงการอื่นอยู่” การณ์ปรากฏในเวลาต่อมาว่า โครงการที่เขาสนใจนั้นดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอารมณ์ตึงเครียดและความรุนแรงตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษ อาทิ Se7en, Fight Club, Panic Room และ Zodiac อย่างไรก็ตาม The Curious Case of Benjamin Button ยังคงเวียนว่ายต่อไป แต่คราวนี้บทถูกเขียนขึ้นใหม่โดย อีริค ร็อธ เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Forrest Gump ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้กำกับหลายคน หนึ่งในนั้นคือ สไปค์ จอนซ์ เพื่อนสนิทของฟินเชอร์ ก่อนมันจะมาลงเอยบนโต๊ะทำงานของฟินเชอร์อีกครั้ง คราวนี้ผ่านทีมโปรดิวเซอร์อย่าง แคธลีน เคนเนดี้ และ แฟรงค์ มาร์แชล

ความเป็นหนังพีเรียด ถ่ายทำในหลายโลเกชั่น ทีมนักแสดงกลุ่มใหญ่ และเทคนิคพิเศษสุดแสนวุ่นวาย ทำให้ทุกคนตระหนักดีว่าโครงการนี้ต้องมีราคาแพงแน่นอน หลายปีจึงผ่านไปโดยปราศจากความคืบหน้าจนกระทั่ง แบรด พิทท์ ซึ่งเคยร่วมงานกับฟินเชอร์ใน Se7ven และ Fight Club แสดงท่าทีสนใจ ทุนสร้าง 135 ล้านดอลลาร์ดูจะมีความเป็นไปได้เนื่องจากข้อเสนอให้ยกเลิกภาษีของรัฐนิวออร์ลีนส์ “ทันทีที่ผมแก้ฉากหลังจากบัลติมอร์เป็นนิวออร์ลีนส์” ร็อธกล่าว “ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปอีกทางหนึ่ง เพราะกระทั่งก่อนเกิดเหตุพายุถล่ม นิวออร์ลีนส์เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

บทหนังของร็อธแทบจะไม่เหลือเค้าเดิมของเรื่องสั้น หรือบทร่างแรกของสวิคอร์ดเลย “นอกจากแก่นหลักของหนังและชื่อตัวละครตัวสองตัว” ร็อธกล่าว “โรบินเป็นคนตั้งชื่อนางเอกของเรื่องว่าเดซีย์ เพื่อคารวะ The Great Gatsby ของฟิทซ์เจอรัลด์ ตัวละครอย่างควีนนี่ห่างไกลจากพี่เลี้ยงในเรื่องสั้นมาก เพราะฟิทซ์เจอรัลด์เขียนให้พ่อแม่ของเบนจามินยังมีชีวิตอยู่ แต่ในหนังเขาสูญเสียพ่อแม่ในสายเลือดไป”

นอกจากนี้ บทของควีนนี่ยังถูกอัพเกรดความสำคัญขึ้นอย่างชัดเจน “ในเรื่องสั้นเธอเป็นแค่พี่เลี้ยง” ทาราจี พี. เฮนสัน ผู้รับบทควีนนี่ กล่าว “แต่ร็อธเปลี่ยนให้เธอกลายเป็นเหมือนคุณแม่บุญธรรมของเบนจามิน สำหรับฉัน ฉากที่เธอบอกกับเบนจามินว่า บางครั้งผู้คนจะตัดสินเขาจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ให้ความรู้สึกเหมือนผู้หญิงผิวดำกำลังสั่งสอนลูกชายผิวดำมากๆ ฉันเคยพูดแบบเดียวกันนี้กับลูกชายหลายครั้ง มันเป็นฉากที่อ่อนโยนและน่ารักที่สุด”


Frost/Nixon

เบื้องหน้า: ฤดูร้อนปี 1977 การออกอากาศบทสัมภาษณ์ ริชาร์ด นิกสัน (แฟรงค์ แลนเกลลา) โดยนักข่าวชาวอังกฤษ เดวิด ฟรอสต์ (ไมเคิล ชีน) สามารถเรียกเรตติ้งได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของรายการข่าวในอเมริกา โดยมีผู้ชมกว่า 45 ล้านคนกดรีโมทมาฟังความคิดเห็นของอดีตประธานาธิบดี ด้วยความอยากรู้ว่าเขาจะเอ่ยอะไรถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดจนส่งผลให้เขาต้องหลุดออกจากตำแหน่ง พวกเขาตั้งตาชมเป็นเวลาสี่วัน ขณะนิกสันกับฟรอสต์ปะทะคารมกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ราวกับกำลังขึ้นชกไฟท์สำคัญโดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน ทั้งสองตระหนักดีว่าผลลัพธ์ไม่มีทางเสมอตัว... และเพียงคนเดียวเท่านั้นจะกลายเป็นผู้ชนะ

การถ่ายทอดดังกล่าวได้ชุบชีวิตรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมือง และสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนทั่วประเทศ เมื่อนิกสันเผลอพูดประโยคเด็ดออกมาโดยเขาเองก็คงไม่ตระหนักว่ามันสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเขามากเพียงใด

ชายทั้งสองล้วนกำลังค้นหาหนทางไถ่บาป ฟรอสต์เป็นนักข่าวและนักล้อเลียนการเมืองชื่อดัง แต่กำลังตกต่ำอย่างหนักจนต้องไปทำรายการอย่าง David Frost Presents the International Guinness Book of World Records เขาสูญเสียพลังดึงดูดผู้ชมและต้องหาเงินให้ได้ 2 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดรายการสัมภาษณ์นิกสัน ส่วนอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็กำลังปลีกวิเวกเพื่อหลบเลียแผลหลังคดีอื้อฉาววอเตอร์เกทบีบให้เขาต้องลาออกจากทำเนียบขาว ทั้งสองมองเห็นการสัมภาษณ์เป็นเหมือนโอกาสที่จะแก้ตัว แล้วหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง

เบื้องหลัง: สามปีหลังจากทำหนังอย่าง Cinderella Man ผู้กำกับ รอน โฮเวิร์ด ได้หวนคืนสู่สังเวียนมวยอีกครั้ง (ในเชิงสัญลักษณ์) โดยคราวนี้เป็นการปะทะกันของพิธีกรข่าวชาวอังกฤษ เดวิด ฟรอสต์ กับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน บนเวทีสัมภาษณ์ครั้งประวัติศาสตร์ พวกเขาทั้งสองล้วนมีทีมพี่เลี้ยงที่จะคอยป้อนข้อมูลและตระเตรียมความพร้อมสำหรับการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ เหลือเพียงสองสิ่งที่ดูเหมือนจะขาดหายไป คือ กรรมการห้ามมวยและคนพากย์ข้างสนาม

“ทั้งสองมีความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน พวกเขาไม่ได้เกลียดกัน แต่พวกเขาต้องเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้” โฮเวิร์ดกล่าวระหว่างการถ่ายทำในเดือนกันยายนปีก่อน เมื่อทีมงานของเขาได้รับอนุญาตให้เดินทางไปถ่ายทำในบ้านพักตากอากาศของนิกสันที่ซานเคลเมนเต้ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์จาก A Beautiful Mind เล่าว่า เขาตัดสินใจเดินทางไปชมละครเวทีเรื่องนี้ที่ลอนดอน หลังได้ยินเสียงร่ำลือหนาหูทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ถึงความยอดเยี่ยมของนักแสดง รวมถึงบทละครของ ปีเตอร์ มอร์แกน (The Queen) ซึ่งดัดแปลงคร่าวๆ จากบันทึกชีวิตของฟรอสต์เรื่อง Frost/Nixon: Behind the Scenes of the Nixon Interviews และทันทีที่ชมละครจบ โฮเวิร์ดก็โทรศัพท์หาผู้อำนวยการสร้างคู่ใจ ไบรอัน เกรเซอร์ เพื่อบอกว่าเขาอยากทำ Frost/Nixon เป็นภาพยนตร์

บ่อยครั้งนักทำหนังนิยมสร้างฉากหลังขึ้นใหม่เพื่อประหยัดต้นทุน เช่น การจำลองค่ายผู้อพยพอัฟกานิสถานที่ลอสแองเจลิสใน Charlie Wilson’s War หรือการจำลองทุ่งน้ำมันของแคลิฟอร์เนียที่เท็กซัสใน There Will Be Blood แต่โฮเวิร์ดกลับรีบกระโดดคว้าโอกาสที่จะได้ถ่ายหนังในสถานที่จริง แม้ว่ามันจะส่งผลให้งบประมาณต้องบานปลายก็ตาม เจ้าของคนปัจจุบันของบ้านริมทะเลที่นิกสันเคยอาศัยอยู่กล่าวว่า ไม่เคยมีกองถ่ายหนังเรื่องไหนได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำมาก่อน “เราต้องเดินเรื่องกันวุ่นวายมากๆ” นักออกแบบงานสร้าง ไมเคิล คอเคนบลิธ กล่าว แต่ความรู้สึกสมจริงของบรรยากาศ ซึ่งทีมงานสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่นาทีแรกที่ก้าวผ่านประตูเข้าไป ถือได้ว่าคุ้มค่าความลำบากเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสมจริงทั้งหลาย Frost/Nixon ไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกับหนังสารคดี ตรงกันข้าม มันผสมผสานการตีความ บทพูดที่เขียนขึ้นใหม่ และบทสัมภาษณ์จริงๆ ที่ออกอากาศ เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนเพื่อเร้าอารมณ์ดราม่า รวมถึงเพื่อสะท้อนให้เห็นประเด็นที่ใหญ่โตขึ้น นั่นคือ อำนาจ ความหยิ่งทะนง และชื่อเสียง การเมืองอาจเป็นจุดสำคัญของเรื่องราว แต่ Frost/Nixon ให้ความสนใจกับจิตวิทยามากกว่าการวิพากษ์รัฐบาล “ทั้งสองเป็นคนรักสันโดษ” โฮเวิร์ดอธิบายตัวละครเอกของเขา “แต่พร้อมจะก้าวกระโดดมายืนกลางเวที ณ นาทีสำคัญ และช่วงเวลาดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของพวกเขา”

การได้สองนักแสดงจากละครเวทีมารับบทเดิมทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับโฮเวิร์ด พวกเขาตัดสินใจหยุดเล่นละครเพียงสี่วันก่อนหนังเปิดกล้อง กระนั้นโฮเวิร์ดไม่ต้องการจะคัดลอกละครเวทีทั้งดุ้นมาไว้บนแผ่นฟิล์ม “ผมรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดอยู่ตรงการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองตัวละครเอกกับทีมงานให้ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บทละครไม่ได้เน้นย้ำ” ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะปล่อยให้ เจมส์ เรสตัน จูเนียร์ (พี่เลี้ยงทางฝั่งฟรอสต์) กับ แจ๊ค เบรนแนน (พี่เลี้ยงทางฝั่งนิกสัน) เป็นคนเล่าเรื่องเหมือนในละคร โฮเวิร์ดได้เปลี่ยนพวกเขาเป็นตัวละครสำคัญในหนัง รับบทโดย แซม ร็อคเวล และ เควิน เบคอน ตามลำดับ


Milk

เบื้องหน้า: ฮาร์วีย์ มิลค์ (ฌอน เพนน์) พบรักกับ สก็อตต์ สมิธ (เจมส์ ฟรังโก้) ที่สถานีรถไฟใต้ดิน ก่อนทั้งสองจะย้ายไปเปิดร้านขายกล้องถ่ายรูปในย่านแคสโตรของเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งขณะนั้น (ปลายทศวรรษ 1970) เปรียบเสมือนนครเมกกะแห่งรักร่วมเพศ มิลค์เริ่มก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกันของเกย์และเลสเบี้ยน ก่อนความทะเยอทะยานทางการเมืองจะครอบงำเขา แล้วทำลายสายสัมพันธ์รักระหว่างเขากับสมิธ โดย ในช่วงเดียวกันนี้ มิลค์ยังมีโอกาสได้รู้จัก แดน ไวท์ (จอช โบรลิน) นักการเมืองขวาจัดที่ต่อต้านรักร่วมเพศ และชิงชังความป็อปปูล่าของมิลค์

หลังจากล้มเหลวมาสามครั้งติดๆ กัน ในที่สุดมิลค์ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะผู้ตรวจการแห่งซานฟรานซิสโก ชัยชนะดังกล่าวทำให้เขากลายเป็นนักการเมืองอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยตัวต่อสาธารณชนว่าเป็นรักร่วมเพศ ด้วยแรงสนับสนุนจากคู่รักคนใหม่ แจ๊ค ลิรา (ดิเอโก ลูนา) มิลค์ดำเนินการผลักดันกฎหมายเพื่อช่วยไม่ให้เกย์และเลสเบี้ยนถูกไล่ออกจากงานเพียงเพราะอคติทางเพศ พร้อมกันนั้นเขาก็รณรงค์คว่ำร่างกฎหมายที่ห้ามไม่ให้รักร่วมเพศมีอาชีพเป็นครู แนวทางการต่อสู้ของมิลค์สร้างความไม่พอใจให้กับไวท์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฝ่ายหลังตัดสินใจลาออกจากคณะผู้ตรวจการ

ต่อมาไวท์ได้พยายามจะขอร้องให้นายกเทศมนตรี จอร์จ มอสโคน (วิคเตอร์ การ์เบอร์) คืนตำแหน่งเดิมให้เขา แต่เสียงโน้มน้าวของมิลค์ส่งผลให้มอสโคนตอบปฏิเสธคำขอ โดยหารู้ไม่ว่านั่นจะกลายมาเป็นเสมือนคำสั่งประหารของเขาและมิลค์

เบื้องหลัง: หลายปีก่อนลงมือถ่ายทำ Milk เวอร์ชั่นปัจจุบัน ผู้กำกับ กัส แวน แซนท์ เคยจินตนาการภาพมิลค์ แต่งตัวเป็น โรนัลด์ แม็คโดนัลด์ ขณะไวท์ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะ “จิตตก” จากการบริโภคน้ำตาลเข้าไปมากเกิน มองเห็นตัวเองเป็นนายอำเภอก่อนยิงนายกเทศมนตรีมอสโคนกับฮาร์วีย์เสียชีวิต (ในคำแก้ต่างชั้นศาล ทนายของไวท์อ้างว่าลูกความเผชิญความเครียดและความเปลี่ยนแปลงของเคมีในร่างกายจากการกินอาหารขยะเข้าไปเป็นจำนวนมากก่อนวันเกิดเหตุ มันกลายเป็นที่มาของคำว่า “Twinkie defence” อันลือลั่น) แวน แซนท์เรียกเวอร์ชั่นดังกล่าวว่าเป็น Milk ฉบับ ชาร์ลี คอฟแมน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้กำกับรักร่วมเพศอย่างแวน แซนท์จะได้รับข้อเสนอหลายครั้งให้นำเรื่องราวของมิลค์มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เริ่มต้นจากยุคแรกๆ ภายใต้การผลักดันของ โอลิเวอร์ สโตน ซึ่งแวน แซนท์ขอถอนตัวออกมาเนื่องจากมีความเห็นแตกต่างในเรื่องบท จนกระทั่งเวอร์ชั่นแม็คโดนัลด์ข้างต้นที่เขาเขียนบทเอง ก่อนจะมาลงเอยด้วยเวอร์ชั่นล่าสุดฝีมือของมือเขียนบทวัย 34 ปี อดีตมอร์มอนเคร่งศาสนา ดัสติน แลนซ์ แบล็ค ที่เน้นแง่มุมการต่อสู้ทางการเมืองของมิลค์เป็นหลัก (เนื้อหาเกี่ยวกับ Twinkie defence และโทษจำคุกเจ็ดปีของไวท์ถูกผลักให้กลายเป็นเพียงคำบรรยายก่อนเครดิตท้ายเรื่อง)

แม้การเมืองจะเป็นหัวใจแห่งเรื่องราว แต่ Milk แตกต่างจากหนังชีวิตประวัติ “ฮีโร่แห่งมวลชน” ทั่วๆ ไปอยู่ไม่น้อย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะบุคลิกเปี่ยมสีสันของมิลค์ ส่วนอีกสาเหตุเกิดจากการสะท้อนความสนใจหลักของแวน แซนท์ นั่นคือ ชีวิตและความผูกพันของเหล่าคนชายขอบ ใกล้เคียงกับหนังในยุคแรกของแวน แซนท์อย่าง Drugstore Cowboy และ My Own Private Idaho

ช่วงสุดท้ายของ Milk โฟกัสไปยังสงครามคว่ำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1978 (Prop.6) ซึ่งจะกีดกันไม่ให้รักร่วมเพศมีอาชีพเป็นครูในสถานบันการศึกษาของรัฐ (ผลลัพธ์คือมิลค์ประสบชัยชนะ) แต่สามสิบปีต่อมา Prop.8 ซึ่งห้ามไม่ให้รักร่วมเพศแต่งงานกัน กลับถูกเห็นชอบจากมวลชนท่ามกลางความไม่พอใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยนจำนวนมาก ในยุคของ บารัค โอบามา หนังอย่าง Milk สะท้อนให้เห็นแง่มุมการมองโลกแง่ดีที่คล้ายคลึงกันบางอย่าง โดยเช่นเดียวกับโอบามา มิลค์ใช้เรื่องราวส่วนตัวเพื่อผลักดันประเด็นทางการเมือง กระตุ้นให้พันธมิตรของเขาออกจากเงามืดมาแสดงพลัง นอกจากนี้ เขายังกล่าวเชิดชูความหวังในการปราศรัยหลายครั้งด้วย “ผมรู้ว่าเราไม่สามารถมีชีวิตโดยอาศัยความหวังเพียงอย่างเดียว แต่หากปราศจากมัน ชีวิตของเราก็ไร้ค่า”

มิลค์ได้ท้าทายระบบความคิดแบบดั้งเดิมทางการเมือง “เขาเป็นนักอุดมคติ” แวน แซนท์ เจ้าของผลงานเชิงทดลองอย่าง Gerry, Elephant, Last Days และ Paranoid Park กล่าว “เขาพูดในสิ่งที่กระทั่งผู้สนับสนุนเขายังไม่กล้าแม้แต่จะฝัน เช่น เกย์ก็สามารถเป็นนักการเมืองระดับแนวหน้าได้” และเขาก็พิสูจน์คำพูดดังกล่าวในฉากหนึ่งด้วยการสลัดภาพลักษณ์แบบฮิปปี้ทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นกางเกงยีน ผมหางม้า หนวดเครา และมาดเซอร์ๆ แล้วหันมาสวมชุดสูทสามชิ้นอย่างเป็นทางการแทนเพื่อสร้างการยอมรับในวงกว้าง

จากความเห็นของผู้อำนวยการสร้าง บรูซ โคเฮน Milk เป็นผลงานที่แวน แซนท์คลุกเคล้าสไตล์หนังทดลองแบบ Elephant เข้ากับแนวทางของหนังในกระแสหลักอย่าง Good Will Hunting ได้อย่างลงตัว “มันให้ความรู้สึกของมหากาพย์ทางการเมือง แต่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของกัสยังคงโดดเด่น เขาทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังประสบเรื่องราวเหล่านั้นมากกว่าแค่เฝ้ามองมัน”


The Reader

เบื้องหน้า: วันหนึ่งในปี 1958 เด็กชายวัย 15 ปี ไมเคิล เบิร์ก (เดวิด ครอส) เกิดป่วยหนักระหว่างทางกลับบ้าน เขาได้รับความช่วยเหลือจาก ฮันนา ชมิทซ์ (เคท วินสเล็ท) สาววัย 36 ปีที่ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินบนรถราง ทั้งสองลงเอยด้วยการสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งเป็นเวลาหลายเดือน โดยเธอสอนเขาให้รู้จักโลกแห่งกามารมณ์ ส่วนเขาก็ตอบแทนด้วยการอ่านหนังสือให้เธอฟังตามคำขอ จนกระทั่งฮันนาหายตัวไปอย่างลึกลับโดยไม่กล่าวลา สร้างความรู้สึกเจ็บปวดแบบฝังลึกให้แก่ไมเคิล

แปดปีต่อมา ขณะเป็นนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย ไมเคิลได้เดินทางไปยังศาลเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการพิพากษาคดีของเหล่าอดีตนาซี ที่นั่น เขาได้พบฮันนาโดยบังเอิญ เธอตกเป็นจำเลยในข้อหาอาชญากรสงคราม เนื่องจากระหว่างช่วงนาซีเรืองอำนาจเธอเคยรับตำแหน่งยามคุมค่ายกักกัน และคืนหนึ่งปล่อยให้เหล่านักโทษชาวยิวจำนวนมากถูกไฟครอกตายในโบสถ์ เขาเดินทางไปฟังการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งค้นพบความลับบางอย่างเกี่ยวกับฮันนา ความลับที่อาจช่วยให้เธอพ้นโทษสูงสุด ความลับที่สร้างความละอายอย่างใหญ่หลวงแก่ฮันนาและผลักดันให้เธอกระทำทุกอย่างเพื่อปกปิดมันไว้

แต่เขาควรจะยื่นมือเข้าไป “ตัดสินใจ” แทนเธอด้วยการเปิดเผยความลับนั้นหรือ

เบื้องหลัง: นิยายขายดีเรื่อง The Reader ของ เบอร์นาร์ด ชลิงค์ ถือเป็นปรากฏการณ์แห่งแวดวงวรรณกรรมในประเทศเยอรมัน ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ 39 ภาษา ขายได้ในอเมริกากว่า 1 ล้านเล่ม และถูกบรรจุเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในโรงเรียนมัธยม “ไม่มีชาวเยอรมันคนใดที่ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้” ผู้กำกับ สตีเฟ่น ดัลดรี้ กล่าว ผู้กำกับชาวเยอรมันหลายคนสนใจอยากดัดแปลง The Reader เป็นภาพยนตร์ แต่ชลิงค์ต้องการให้เรื่องราว ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงความรู้สึกผิดบาปของชาวเยอรมันจากประวัติศาสตร์นาซีกลายเป็นหนัง “นานาชาติ”

“ชลิงค์อยากให้หนังพูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาเยอรมัน” ดัลดรี้อธิบาย “ประเด็นคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในยุคสมัยหลังสงครามล้างเผ่าพันธุ์ การใช้ชีวิตท่ามกลางตราบาปแห่งอดีต หรือคำถามที่ว่าคุณจะสามารถรักคนที่เคยทำกระทำความผิดร้ายแรงมาก่อนได้อย่างไร และเมื่อคุณค้นพบว่าเขาคนนั้นเคยทำอะไรมา ความรักของคุณจะเหือดหายไปด้วยไหม ประเด็นคำถามเหล่านี้อาจโดนใจชาวเยอรมันเป็นพิเศษ แต่ผมเชื่อว่ามันสามารถก้าวข้ามเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ได้”

แรกทีเดียวลิขสิทธิ์ในการสร้าง The Reader ตกอยู่ในมือของ แอนโธนีย์ มินเกลลา ซึ่งตั้งใจจะดัดแปลงมันเป็นภาพยนตร์ด้วยตัวเอง แต่ตลอดหลายปีแห่งความไม่คืบหน้าใดๆ ดัลดรี้ ซึ่งรู้จักมินเกลลาเป็นการส่วนตัว พยายามเซ้าซี้ขอทำแทน พร้อมกระแตง เดวิด ฮาร์ คนเขียนบทซึ่งเคยร่วมงานกันใน The Hours ติดมาด้วย จนสุดท้ายเจ้าของรางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The English Patient ก็ยอมตามคำขอ พร้อมโยกมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างร่วมกับ ซิดนีย์ พอลแล็ค (ทั้งคู่เสียชีวิตก่อนหนังจะเสร็จสมบูรณ์)

นอกเหนือจาก เคท วินสเล็ท, ลีนา โอลิน (รับบทเหยื่อรอดชีวิตจากค่ายกักกัน) และ เรฟ ไฟนส์ (รับบทไมเคิลตอนโต) แล้ว นักแสดงส่วนใหญ่ล้วนเป็นดาราดังชาวเยอรมัน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่น กระทั่งบรรดาตัวประกอบเดินผ่านหน้ากล้องยังมีแฟนๆ มาขอลายเซ็นระหว่างการถ่ายทำ ตรงกันข้าม ตัวเอกของเรื่องอย่าง เดวิด ครอส กลับเป็นนักแสดงหน้าใหม่ถอดด้าม โดยเขายังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมในเมืองบ้านนอกเล็กๆ ตอนถูกคัดเลือกให้มารับบทนำและที่สำคัญ ยังอายุไม่ครบ 18 ปี ส่งผลให้ดัลดรี้ต้องตัดสินใจรอคอยจนกระทั่งเขาอายุครบเกณฑ์ก่อนจึงค่อยเริ่มเปิดกล้อง เนื่องจากหนังมีฉากเซ็กซ์ร้อนแรงและเปิดเผยค่อนข้างมากจนอาจมีปัญหาทางกฎหมายตามมา หากนักแสดงที่รับบทไมเคิลยังเป็นผู้เยาว์ นอกจากนี้ ครอสยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้อีกด้วย การเตรียมตัวหลักๆ ของเขาจึงได้แก่ ลงคอร์สเรียนพูดภาษาอังกฤษ

การต้องพูดภาษาที่คุณไม่คุ้นเคยต่อหน้ากล้องและทีมงานจำนวนมากถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณต้องทำมันขณะเปลือยกายหมดจด แล้วมี เคท วินสเล็ท ในสภาพนุ่งลมห่มฟ้าซุกไซ้ไปมา!!

กระแสอื้อฉาวเริ่มต้นขึ้นหลังจากหนังปิดกล้องไปแล้ว เมื่อ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (บริษัทของไวน์สไตน์เป็นคนจัดจำหน่าย The Reader) ขอร้องให้ดัลดรี้ส่งหนังในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ทันกำหนดการเข้าชิงออสการ์และลูกโลกทองคำ ดัลดรี้ค้านหัวชนฝา บอกว่าเขาไม่มีทางตัดหนังเสร็จตามกำหนดแน่นอน (ขั้นตอนตัดต่อทำได้ช้าเนื่องจากในเวลาเดียวกันดัลดรี้ต้องคอยซักซ้อมเหล่านักแสดงในละครเพลง Billy Elliot ให้พร้อมสำหรับการเปิดตัวที่บรอดเวย์) สก็อตต์ รูดิน หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างสนับสนุนเขา แต่ไวน์สไตน์ไม่ยอมแพ้ แม้กระทั่งเมื่อข่าวหลุดรอดไปถึงหูของสื่อมวชน ตามมาด้วยการประกาศถอนชื่อออกจากหนังของรูดิน น้อยคนนักที่จะกล้างัดข้อกับไวน์สไตน์ แต่ดัลดรี้ยึดมั่นในสัญชาตญาณทางศิลปะของเขา จนสุดท้ายไวน์สไตน์ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนผัน “ผมมีเวลาเพิ่มมาอีกหนึ่งเดือนในการตัดหนังให้เสร็จ พร้อมทั้งได้ทีมงานชั้นยอดมาช่วยเหลือ ต้องบอกว่าผมรู้สึกสุขใจมากๆ” ดัลดรี้กล่าว


Slumdog Millionaire

เบื้องหน้า: จามาล มาลิค (เดฟ เพเทล) เด็กกำพร้าวัย 18 ปีจากสลัมมุมไบ กำลังค้นพบประสบการณ์แห่งชีวิตที่เขาจะไม่มีวันลืม ทั่วทั้งประเทศต่างจ้องมองเขาเป็นตาเดียว เมื่อเขาเหลือคำถามต้องตอบอีกเพียงหนึ่งข้อ ก่อนจะชนะเงินรางวัล 20 ล้านรูปีในรายการ Who Wants To Be A Millionaire? ของประเทศอินเดีย แต่พอรายการพักเบรกเพื่อเตรียมถ่ายต่อในวันรุ่งขึ้น ตำรวจกลับบุกเข้ามาจับเขาเนื่องจากสงสัยว่าเขากำลังเล่นโกง

เด็กข้างถนนจะรู้เรื่องมากมายเช่นนี้ได้อย่างไร?

ด้วยต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ จามาลจึงเล่าเรื่องราวชีวิตในสลัมของเขากับน้องชายให้นายตำรวจฟัง การผจญภัยบนท้องถนนของพวกเขา การเผชิญหน้าแก๊งอันธพาล และการพบเจอ ลาติกา (ไฟรดา พินโต) หญิงสาวที่เขาหลงรักและต้องสูญเสียเธอไป แต่ละบทในหนังชีวิตของเขาล้วนเฉลยให้เห็นกุญแจ ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการตอบคำถามแต่ละข้อของรายการเกมโชว์ได้อย่างชัดแจ้ง

จากนั้นนายตำรวจก็พลันสงสัยว่าเด็กหนุ่ม ผู้ไม่เคยปรารถนาจะรวยล้นฟ้าอย่างเขา มาทำอะไรในรายการเกมโชว์นี้? เมื่อวันใหม่เริ่มต้นขึ้น และจามาลได้กลับมาตอบคำถามสุดท้ายในรายการ นายตำรวจพร้อมทั้งคนดูอีก 60 ล้านคนกำลังจะค้นพบคำตอบต่อคำถามดังกล่าว

เบื้องหลัง: ส่วนใหญ่เรามักเคยได้ยินแต่คำว่า product placement (การโปรโมตสินค้าในหนัง) แต่ Slumdog Millionaire กลับต้องสูญเงินจำนวนมากเพื่อทำ product displacement เมื่อบริษัท เมอร์ซีเดส-เบนซ์ ยืนกรานให้ทีมงานถอดยี่ห้อรถออกจากหลายฉากในหนังเพราะพวกเขาไม่ต้องการให้ชื่อเสียงสินค้าไปข้องเกี่ยวกับสลัมมุมไบ “เราเลือกใช้รถเบนซ์เพราะตัวละครเป็นพวกมาเฟีย” ผู้กำกับ แดนนี่ บอยล์ ให้สัมภาษณ์ “แต่การจะทำแบบนั้นได้ เราต้องได้รับอนุญาตก่อน และพวกเขาก็ตอบปฏิเสธ”

น่าตลกตรงที่ เมอร์ซีเดส-เบนซ์ กลับไม่มีปัญหา ถ้าโลโก้เดียวกันนั้นจะไปปรากฏบนรถมาเฟียที่จอดอยู่หน้าแมนชั่นสุดหรูกลางกรุงนิวยอร์กเฉกเช่นในหนังฮอลลีวู้ดหลายๆ เรื่อง

นอกจากนี้ ทีมงานยังประสบปัญหากับบริษัทน้ำอัดลมยี่ห้อดังอีกด้วย “ในฉากหนึ่งมีคนเสนอน้ำอัดลมให้พวกเด็กๆ ตามกองขยะ ไม่เพียงพวกเขาจะปฏิเสธไม่ให้ใช้โลโก้เท่านั้น แต่เรายังต้องระบายทับฉลากบนขวดอีกด้วย สุดท้ายเราต้องเสียเงินไปหลายพันปอนด์เพื่อระบายทับยี่ห้อน้ำอัดลม ซึ่งอันที่จริงควรเป็นตัวแทนของการรวมทุกคนบนโลกเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่หรือ” บอยล์กล่าว

แรกทีเดียว Slumdog Millionaire วางแผนสร้างเป็นหนังพูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง จนกระทั่งบอยล์เดินทางไปมุมไบ แล้วพบว่าเด็กชายคนที่เขาอยากให้มารับบทเป็นจามาลวัยเด็กมากที่สุด นั่นคือ อายุช มาเฮช คีเดคาร์ พูดได้แต่ภาษาฮินดู (เขาพอจะพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่า) “ผมโทรไปแจ้งข่าวกับทางสตูดิโอว่าเศษหนึ่งส่วนสามของหนังจะพูดภาษาฮินดู” บอยล์เล่า “จำได้ว่าเสียงปลายสายเงียบกริบไปพักหนึ่ง พวกเขาคงคิดว่าผมจิตหลุดไปแล้วและจะเดินทางกลับมาพร้อมหนังเกี่ยวกับโยคะ หรืออะไรทำนองนั้น” อย่างไรก็ตาม บอยล์สร้างความมั่นใจให้กับทางสตูดิโอว่าเขายังมีสติครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมทั้งสัญญาว่าหนังจะ “น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น” หากมีซับไตเติลประกอบ

เพื่อรักษาคำมั่นดังกล่าว บอยล์จึงเสนอไอเดียให้ทำซับไตเติลในรูปแบบคล้ายคำพูดในหนังสือการ์ตูน โดยมันจะล่องลอยอย่างอิสระ ไม่จำกัดตัวเองอยู่ตรงด้านล่างของจอเท่านั้น พร้อมทั้งระบายสีสันสดใส ทั้งนี้เพราะบอยล์ต้องการให้คนดูโฟกัสไปทั่วจอ โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากซับไตเติลแหกกฎในหนังไซไฟของรัสเซียเรื่อง Night Watch (2004) กำกับโดย ทิเมอร์ เบคแมมเบตอฟ

มือเขียนบทชาวอังกฤษ ไซมอน โบฟอย ซึ่งดัดแปลงเรื่องราว “คร่าวๆ” มาจากหนังสือรวมเรื่องสั้น Q&A: A Novel เขียนโดย วิคาส สวารับ เล่าว่าเขาคิดชื่อหนังได้ระหว่างเดินท่องไปตามสลัมมุมไบ แล้วสังเกตเห็นหมาข้างถนนกลุ่มหนึ่งนอนอยู่ในตรอกแคบๆ คับคั่งไปด้วยผู้คน “พวกมันเหมือนจะนอนหลับอยู่ แต่ถ้าสังเกตให้ดี คุณจะเห็นว่าตาข้างหนึ่งของพวกมันเฝ้าเหลือบมองทุกสิ่ง พวกมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนคนชั้นต่ำระดับล่างที่ดูเหมือนไร้ค่า ไม่รู้อะไรเลย แต่ความจริงแล้วกลับเฝ้าสังเกตทุกอย่างรอบตัว และรู้ไปหมดทุกเรื่อง”

ความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งเงินทั้งกล่องของ Slumdog Millionaire เทียบไปแล้วคงไม่ต่างกับนิทานซินเดอเรลล่า เมื่อพิจารณาว่าก่อนหน้านี้หนังทุนสร้าง 15 ล้านเหรียญเกือบโดนส่งตรงไปยังแผงดีวีดีแล้ว หลังจากวอร์เนอร์ สตูดิโอ สั่งปิดบริษัทลูก วอร์เนอร์ อินดีเพนเดนท์ พิคเจอร์ส (เน้นผลิตหนังอาร์ต/หนังอินดี้/ซื้อหนังต่างประเทศ) ซึ่งออกทุนสร้างให้แก่บอยล์ ก่อน ฟ็อกซ์ เซิร์จไรท์ จะเข้ามาช่วยเหลือด้านเงินทุนและการจัดจำหน่าย “มันเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมาก หนังเล่าเรื่องราวของเด็กสลัมที่กลายมาเป็นเศรษฐีเงินล้าน และตัวหนังเองก็ประสบชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน ผมไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ มากเท่านี้มาก่อน” ผู้กำกับเจ้าของผลงานในอดีตอย่าง Trainspotting, Shallow Grave และ Millions กล่าว